6 ท่า ‘บริหารสมอง’ ห่างไกลอัลไซเมอร์

“สมอง” เป็นอวัยวะสำคัญของมนุษย์ ประกอบด้วยเซลล์จำนวนนับแสนล้านเซลล์ที่มีการเชื่อมโยงต่อกันด้วยความสลับซับซ้อน สมองเป็นอวัยวะที่มีความยืดหยุ่น ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ตลอดเวลา ยิ่งเซลล์สมองได้รับการฝึกฝนก็ยิ่งทำให้มนุษย์มีความฉลาดในการแก้ปัญหามากขึ้น แต่หากสมองได้รับความเสียหายจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด ได้รับสารพิษหรือมลภาวะ อาจส่งผลให้การเรียนรู้ช้าลง มีปัญหาเรื่องความจำหรือการแก้ปัญหา โดยเมื่อเกิดโรคทางสมองมักส่งผลรุนแรงต่อร่างกาย

สมองแบ่งเป็น 3 ส่วนดังนี้
สมองส่วนหน้า (Forebrain) เป็นส่วนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีหน้าที่เกี่ยวกับการรับข้อมูล รวมทั้งการประมวลผลทางประสาทสัมผัส เช่น การมองเห็น, ภาษา, การสื่อสาร, ความคิด, ความจำ, การตัดสินใจ, การวางแผน, ความมีเหตุผล

สมองส่วนกลาง (Midbrain) มีหน้าที่รับส่งกระแสประสาทระหว่างสมองส่วนหน้าและสมองส่วนท้าย ทั้งยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับรู้การมองเห็น, การเคลื่อนไหวของลูกตา และการได้ยิน

สมองส่วนท้าย (Hindbrain) มีหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อขณะเคลื่อนไหว, ควบคุมการหายใจ, ช่วยประมวลการรับรู้และควบคุมการสั่งงานของสมอง

จะเห็นได้ว่าสมองมีความสำคัญกับระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนั้นการบริหารสมองจึงมีส่วนช่วยให้การเคลื่อนไหว ความคิด ความจำ อารมณ์และการแสดงออกต่าง ๆ เป็นปกติ

เทคนิคการบริหารสมอง 6 ท่า

ท่าที่ 1 ฝึกหายใจ
ในท่านั่งผ่อนคลาย นำมือวางไว้ที่บริเวณใต้ลิ้นปี่ หายใจเข้าทางจมูกช้า ๆ กลั้นลมหายใจสุดท้ายค้างไว้ 3 วินาที แล้วหายใจออกทางปากช้า ๆ ทำซ้ำ 3-5 ครั้ง สมองจะได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่ ช่วยให้การทำงานของสมองดีขึ้น

ท่าที่ 2 นวดขมับ
ใช้ปลายนิ้วนวดคลึงบริเวณขมับเบา ๆ 30 วินาที ท่านี้ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายความเครียดและกระตุ้นการทำงานของสมองซีกซ้ายและขวา

ท่าที่ 3 นวดไหปลาร้า
ใช้ปลายนิ้วนวดคลึงบริเวณไหปลาร้าเบา ๆ 30 วินาที ท่านี้ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนไปสู่สมองดีขึ้น

ท่าที่ 4 จีบนิ้ว
ทำท่าจีบนิ้วมือโดยใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งสัมผัสกัน ทำสลับกันทั้งมือซ้ายและมือขวา 10 ครั้ง โดยขณะทำให้มองมือที่จีบนิ้วด้วย ท่านี้ช่วยฝึกสมาธิและการทำงานประสานกันระหว่างมือและตา

ท่าที่ 5 นิ้วโป้ง นิ้วก้อย
มือซ้ายชูนิ้วโป้ง มือขวาชูนิ้วก้อย จากนั้นหมุนข้อมือสลับกัน 10 ครั้ง เริ่มจากช้าก่อนแล้วค่อยเร็วขึ้น ท่านี้ช่วยฝึกสมาธิ การสั่งการ และความแม่นยำของสมอง

ท่าที่ 6 แตะหู
ใช้มือซ้ายจับติ่งหูขวา มือขวาอ้อมไปจับบนใบหูซ้าย ทำสลับกัน 10 ครั้ง ท่านี้ช่วยฝึกสมองเรื่องสมาธิและการกะระยะที่ถูกต้อง

นอกจากท่าบริหารสมองทั้ง 6 ท่าแล้ว อาจฝึกทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น คิดเลข เล่นเกม ต่อจิ๊กซอว์ ทำงานอดิเรกที่ชอบ รวมทั้งควรพักผ่อนและดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ พยายามผ่อนคลายตัวเองไม่ให้เครียด รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1, บี 6, บี 12 วิตามินซีและวิตามินอี งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ มีส่วนช่วยให้สมองทำงานดีขึ้นและลดความเสี่ยงสมองเสื่อมด้วย


แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงวรพรรณ เสนาณรงค์. (2559). รู้ทันสมองเสื่อม. กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 
- Luk KC, Kehm V, Lee VM, et al. (2012). Pathological alpha-synuclein transmission 
initiates Parkinson-like neurodegeneration in nontransgenic mice. Science. 338 : 949-953.
- สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) Office of Knowledge Management and Development (Public Organization) – OKMD
- คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32