Thursday, 18 April 2024
WeeklyColumnist

น้ำมะพร้าวกินแล้วดุ

สวัสดีครับ วันนี้พบกันเป็นครั้งแรก สำหรับการเขียนพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ใกล้ตัว ท่ามกลางกระแสของข่าวสาร และเรื่องราวต่าง ๆ ที่วิทยาศาสตร์จะเข้ามามีบทบาทในการไขข้อปัญหา หรือตอบคำถามเรื่องราวในชีวิตประจำวันที่เราพบเจอได้ ซึ่งผู้เขียนก็จะพาทุกท่านไปพบกับเรื่องราวเหล่านี้เรื่อย ๆ ครับ

ในตอนนี้เราเริ่มจะคุ้นเคยและเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ (New normal) กับโรคอุบัติใหม่ โควิด-19 หลังจากที่เราอยู่กับมันมาปีกว่า และคาดว่าอีกไม่เกิน 2 - 3 เดือนข้างหน้า คนไทยคงได้ฉีดวัคซีนกันอย่างถ้วนหน้าครับ

ในเดือนแห่งความรัก “กุมภาพันธ์” มีกระแสข่าวหนึ่งที่ร้อนแรงขึ้นมา กลายเป็นกระแสท่ามกลางความเครียดเนื่องจากการใช้ชีวิตในยุควิถีใหม่ นั่นก็คือกระแสการดื่มน้ำมะพร้าวทำให้มีความต้องการทางเพศสูงหรือฟิตมาก

ทั้งนี้มีที่มาที่ไปจากการที่คุณป้าท่านหนึ่ง ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจเพื่อขอเลิกกับคุณลุง ซึ่งเป็นสามีวัย 64 ปี เนื่องจากทนไม่ไหว เพราะคุณลุงขอมีอะไรด้วยบ่อย หรือว่าดุมาก (ดุเป็นภาษาฮิตในโซเชียลมีเดียที่แสดงว่ามีความคึกคะนองต่อเพศตรงข้าม) ถึงวันละ 3 – 4 รอบ จนคุณป้าทนไม่ไหวต้องมาแจ้งความขอเลิก โดยมีสาเหตุมาจากการที่คุณลุงดื่มน้ำมะพร้าวบ่อยทำให้มีความต้องการสูง

จากกรณีข่าวดังกล่าวนับว่าเป็นข่าวที่ติดกระแสในโซเชียลมีเดีย อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้น้ำมะพร้าว หรือแม้กระทั่งผลของมะพร้าวที่ขายในตลาด ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเลยทีเดียว ซี่งถ้ามองในแง่ของกระแสการทำการตลาดของน้ำมะพร้าวนี้ นับว่าคุณลุงมาช่วยในการทำการตลาดให้กับน้ำมะพร้าวให้มีความคึกคักขึ้นมาทันทีทันใด ท่ามกลางกระแสความเครียดของคนไทยในสถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ทีนี้เรามาดูตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ กันบ้างครับว่า น้ำมะพร้าวเมื่อดื่มแล้วทำให้คึก หรือมีความฟิตปั๋งตามที่คุณลุงเข้าใจจริงหรือเปล่า?

มะพร้าวเป็นพืชตระกูลปาล์ม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cocos nucifera L. สามารถปลูกได้ในทุกภาคของไทย แต่ส่วนใหญ่จะปลูกมากแถวภาคใต้ คนไทยรู้จักน้ำมะพร้าวดี โดยเฉพาะการใช้น้ำมะพร้าวในการล้างหน้าคนตายก่อนที่จะมีพิธีการฌาปนกิจ ทั้งนี้เนื่องจากเชื่อกันว่าน้ำมะพร้าวเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ มีความสะอาด เพราะอยู่บนต้นที่สูง และมีกะลาในการห่อหุ้มและกักเก็บน้ำ เมื่อนำมาล้างหน้าให้กับผู้ตายจะเป็นการชำระสิ่งที่ไม่ดีออกจากตัวผู้ตาย

นอกจากนั้นน้ำมะพร้าวยังเป็นเครื่องดื่มที่เราคุ้นเคยกันดี เมื่อดื่มแล้วจะทำให้มีความสดชื่น โดยส่วนประกอบของน้ำมะพร้าวประกอบไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเรา มากมาย เช่น เหล็ก โพแทสเซี่ยม แคลเซี่ยม แมงกานีส ฟอสฟอรัส โซเดี่ยม เป็นต้น

จากองค์ประกอบของแร่ธาตุเหล่านี้ ทำให้น้ำมะพร้าวเปรียบเสมือนกับเครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดหนึ่ง เมื่อดื่มเข้าไปจะทำให้เรารู้สึกมีความสดชื่นกระปรี้กระเปร่านั่นเอง

ในทางการแพทย์ยังพบว่าน้ำมะพร้าวมีฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีในเพศหญิงสูง เมื่อดื่มเป็นประจำจะทำให้ผิวพรรณมีความเปล่งปลังสวยงาม

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ได้ระบุถึงข้อดีของน้ำมะพร้าว คือ มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอวัย และยังช่วยชะลอการเกิดอัลไซเมอร์ในวัยชราได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตามยังไม่มีงานวิจัยชิ้นไหนที่บอกได้ว่าการดื่มน้ำมะพร้าวจะทำให้เพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ดีขึ้น ตามที่คุณลุงเข้าใจ ถึงกระนั้นผู้เขียนก็สันนิษฐานว่า จากคุณสมบัติของน้ำมะพร้าวที่มีส่วนประกอบตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องดื่มชูกำลังชนิดหนึ่ง

เมื่อคุณลุงดื่มบ่อย ๆ จึงอาจส่งผลให้มีความฟิตปั๋ง ทำให้มีความต้องการ ‘ดุ’ ตามไปด้วยนั่นเองครับ

‘ความกตัญญู’ เป็นคุณธรรมข้อที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวจีน เป็นหลักปฏิบัติที่มีบทบาทสำคัญในการ ‘สร้างคนจีน’ และ ‘สร้างชาติจีน’ จนกลายเป็นชาติที่กำลังจะก้าวเข้าสู่บทบาทการเป็นอภิมหาอำนาจของโลกยุคใหม่อย่างไร ?....

‘ความกตัญญู’ เป็นคุณธรรมข้อที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวจีน เป็นหลักปฏิบัติที่มีบทบาทสำคัญในการ ‘สร้างคนจีน’ และ ‘สร้างชาติจีน’ จนกลายเป็นชาติที่กำลังจะก้าวเข้าสู่บทบาทการเป็นอภิมหาอำนาจของโลกยุคใหม่อย่างไร ?....

การสร้างชาติ (Nation Building) หรือการสร้างรัฐ (State Building) คือกระบวนการสถาปนากฎระเบียบการปกครองโดยมีศูนย์กลางอำนาจ อันได้แก่รัฐบาลกลางซึ่งเป็นหน่วยการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในอาณาเขตของรัฐชาติ มีอำนาจในการปกครองอาณาเขตและดูแลความเรียบร้อยของประชากรภายใต้กฎเกณฑ์ที่บัญญัติขึ้นโดยผู้มีอำนาจ รวมถึงสร้างระบบจัดเก็บภาษี และดำเนินนโยบายในการบริหารประเทศ

แต่การสร้างชาติที่ผมจะนำมาเล่าในบทความนี้ไม่ใช่การสร้างชาติในเชิงหลักการแบบรัฐศาสตร์จ๋า ๆ หรอกครับ แต่จะพูดถึงการสร้างชาติในที่แง่ของ ‘การสร้างคนในชาติ’ หรือการสร้างมาตรฐานให้กับ ‘ประชากร’ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่องค์ประกอบหลักของรัฐชาติ (ประชากร ดินแดน รัฐบาล อำนาจอธิปไตย) เพื่อให้ประชากรในชาติมีความแข็งแกร่ง มีศักยภาพในการทำงานหนัก รวมถึงทำให้เกิดความรักใคร่สามัคคีกันระหว่างคนในชาติ ด้วยวัฒนธรรมประเพณีอันเป็นทั้งวิถีปฏิบัติและอัตลักษณ์ที่บ่งลักษณะและตัวตนของแต่ละชาติ

สำหรับวัฒนธรรมและระบบจารีตของประเทศจีนในปัจจุบันนั้น หลักๆ แล้วจะยึดตามแนวคิดปรัชญาขงจื๊อที่ว่าด้วย ‘ทฤษฎีการปกครองประเทศให้มีความสงบสุข ทุกคนในชาติเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน’ โดยเนื้อหาสำคัญของปรัชญาขงจื๊อที่ชาวจีนยึดถือในปัจจุบันคือเรื่องคุณธรรมเช่น ความเมตตากรุณา ความกตัญญู ขนบจารีตประเพณี ความยุติธรรม และความซื่อสัตย์ ฯลฯ

โดยคุณธรรมข้อที่ชาวจีนให้ความสำคัญที่สุดคือ ‘ความกตัญญู’ ดังภาษิตจีนที่ว่า

“百善孝为先 - ไป๋ ซ่าน หลี่ เหวย เซียน”

“อันร้อยพันคุณธรรมทั้งปวง ความกตัญญูคืออันดับแรก”

เพราะความกตัญญูคือคุณธรรมที่เป็นรากฐานค้ำจุนประเทศ หากขุนนางกตัญญูต่อจักรพรรดิที่กตัญญูต่อแผ่นดิน เช่นเดียวกับทหารที่จงรักภักดีต่อแม่ทัพ ประหนึ่งบุตรที่กตัญญูต่อบิดามารดา ประเทศชาติย่อมเปี่ยมไปด้วยความสงบสุข สันติ และมั่นคง ซึ่งก็จะวนมาสอดคล้องกับแนวคิดขงจื๊อที่ว่า “ทุกคนในชาติเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน”

หากเข้าใจตรงกันตามนี้ก็คงจะไม่แปลกใจหรอกครับ ที่คนจีนแผ่นดินใหญ่ก็ดี จีนโพ้นทะเลก็ดี จะให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันเป็นตระกูล การใช้แซ่ (สกุล) นำหน้าชื่อเสมอ รวมถึงเผากระดาษหรือทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษทุกครั้งที่ถึงวันตรุษจีน สารทจีน และเทศกาลเชงเม้ง

ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณธรรมความกตัญญูในจีนเคยถูกด้อยค่าลงในยุค ‘ปฏิวัติวัฒนธรรม’ ในช่วงปีค.ศ.1966 - 1976 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ช่วงเวลาสิบปีที่สายสัมพันธ์ในครอบครัวชาวจีนเกิดความร้าวฉานมากที่สุด ด้วยแนวคิดปฏิวัติแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ – เหมาอิสต์ ที่เป็นกระแสแนวคิดใหม่ว่าด้วยสังคมอุดมคติที่มนุษย์ทุกคนต้องมีฐานะเท่าเทียมกัน เยาวชนถูกส่งเสริมให้ตั้งคำถาม จับผิด ตัดสิน และลงโทษบุพการี หากบุพการียังคงยึดถือจารีตเก่าที่โบราณคร่ำครึในสายตาของลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นบรรยากาศที่ไร้ซึ่งความรัก ปราศจากซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างคนในครอบครัว

เมื่อยุคปฏิวัติผ่านพ้นไป คณะผู้บริหารชุดใหม่ขึ้นมาปกครองประเทศ เกิดการปฏิรูปเปิดประเทศ ภาครัฐดำเนินนโยบายค้าขายกับต่างประเทศเพื่อเพิ่มอัตราการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ และลดความเข้มงวดในการยึดหลักการสังคมนิยมซ้ายสุดโต่ง พร้อมทั้งนำศีลธรรมและจารีตเก่าบางประการกลับมาเป็นหลักปฏิบัติและเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชากรในช่วงเวลานั้น

ความกตัญญูถูกชุบชีวิตกลับขึ้นมาอีกครั้งผ่านการ Propaganda ด้วยคำโปรยผ่านสื่อ ไม่ว่าจะทางวิทยุก็ดี โทรทัศน์ก็ดี หรือแม้กระทั่งการนำคุณธรรมกตัญญูไปสร้างเป็นคอนเซปภาพยนตร์ เนื่องจากภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญของคุณธรรมความกตัญญูว่าเป็น “แรงจูงใจ” ให้คนในชาติยึดถือคุณธรรมข้ออื่น ๆ กล่าวคือ เมื่อเรามีจิตคิดกตัญญู เราจะขยันหมั่นเพียรทำงานหนักเพื่อหาเงินเลี้ยงดูและตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ จะไม่กระทำการทุจริตใด ๆ ที่จะเป็นการบ่อนทำลายชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล กลับกัน เราจะอ่อนน้อมถ่อมตน ซื่อสัตย์สุจริต เพื่อแสดงให้ผู้อื่นรู้ว่าพ่อแม่ของเราอบรมบ่มเพาะเรามาเป็นอย่างดี สำหรับเยาวชนก็จะตั้งใจเรียน ตั้งใจสอบ เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ

ซึ่งหากมองในมุมนักปกครอง ถ้าคนส่วนใหญ่ในชาติตั้งใจทำมาหากิน ตั้งใจเรียน ตั้งใจค้าขาย และตั้งใจบริหารกิจการ มันจะไม่ได้แค่หาเงินตอบแทนคุณหรือทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ แต่มันยังจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและผลผลิตมวลรวมให้กับประเทศอีกด้วย ข้อนี้สิครับ ประโยชน์ที่แท้จริงของความกตัญญู ฮ่าฮ่า....

พอจะมองออกบ้างแล้วใช่ไหมครับ ว่าคุณธรรมความกตัญญูมีส่วนในการสร้างคน และสร้างชาติจีนขึ้นมาอย่างไร

จนเมื่อเดือนมกราคมปี ค.ศ.2013 คุณธรรมความกตัญญูในจีนได้ถูกยกระดับขึ้นไปอีกขั้น โดยสภาประชาชนได้ประกาศใช้ ‘กฎหมายกตัญญู’ (李道法 - หลี่เต้าฝ่า) ว่าด้วยข้อบังคับสำหรับสมาชิกครอบครัวที่อาศัยอยู่ห่างจากบ้านเกิดที่มีผู้สูงอายุ ต้องเดินทางกลับบ้านมาเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ บริษัทและองค์กรต่างๆ ก็ต้องยินยอมให้พนักงานลางานกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่

ซึ่งข้อกฎหมายมิได้มีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนว่าต้องกลับบ้านเยี่ยมพ่อแม่ปีละกี่หน ไม่กำหนดแม้กระทั่งโทษทางอาญาหากผู้ใดฝ่าฝืน แต่การวินิจฉัยทั้งหมดให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ซึ่งเคยเกิดกรณีที่คุณแม่วัยชราท่านหนึ่งได้ฟ้องร้องลูก ๆ ของตนเองด้วยข้อหาทอดทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่ยอมกลับบ้านมาดูแลอยู่เป็นเวลาหลายปี คดีความสิ้นสุดลงด้วยคำพิพากษาให้ลูกๆ จ่ายค่าบำรุงรักษา และกลับบ้านมาดูแลคุณแม่วัยชราทุก ๆ 2 เดือน ลองคิดดูสิครับ ว่ามันจะน่าอับอายแค่ไหน ถ้าเพื่อนร่วมงานของเรารู้ว่าเราถูกแม่ตัวเองฟ้องร้องในข้อหา ‘ทอดทิ้งมารดาให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว’

หากมองเผิน ๆ อาจรู้สึกว่า ‘กฎหมายกตัญญู’ ช่างเป็นกฎหมายที่พิลึกพิลั่น แต่จริงๆ กฎหมายข้อนี้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของรัฐบาลจีนในการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งในมิติสุขภาพจิต มิติเศรษฐกิจ และมิติสังคม ที่หลังจากประกาศใช้ก็เกิดกระแสการกลับบ้านไปหาพ่อแม่ในเทศกาลวันหยุด ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่นานภาครัฐยังเพิ่งให้รางวัลและส่งเสริมให้คนทำงานล่วงเวลาในวันหยุด เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด แต่ทุกวันนี้เมื่อถึงช่วงเวลาก่อนจะเข้าสู่วันหยุดยาว สิ่งแรกที่เข้ามาในหัวชาวจีนคือการวางแผนเดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัว

ทั้งหมดที่ว่ามานี้คือเรื่องราวประวัติศาสตร์ของ “ความกตัญญู” อันมีส่วนไม่มากก็น้อยในการสร้างชาติจีนให้เกิดความสันติสุข มั่นคง และก้าวหน้า เป็นจารีตข้อสำคัญที่สุดที่ชาวจีนยังคงยึดถือมาจวบจนปัจจุบัน

ในวันที่จีนกำลังขยายฐานเศรษฐกิจ การค้าขาย และการเมืองจนกำลังจะขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจในโลกยุคใหม่ คนจีนยังคงกตัญญู

'ตัดหนี้​ -​ ต่ออนาคต'​ 'ตารางชีวิต'​ เรื่องใหญ่ที่ต้องเริ่มคิดในยุคโควิด

รู้สึกอับจนหนทางในช่วงวิกฤติโควิด-19 ไหม?

ถ้าใครไม่เคย​ อาจเฉย​ๆ!!

แต่คนที่กำลังประสบอยู่​ นี่มันอาจเป็นอีกช่วงเลวร้ายของชีวิต

คนไม่น้อยต้องตกงาน หางานใหม่ก็ยาก แถมยังมีภาระข้างหลังตามมาอีกเพียบ ไหนจะหนี้บ้าน หนี้รถ และอีกสารพัดหนี้​ เรียกว่างานไม่มี เงินไม่มา​ รอเวลาพาหมดตัว​ เครียดวุ้ย!!

…แล้ววิธีแก้ความอับจนต่อปัญหาแบบไหนที่เหมาะสุดในตอนนี้?

ถ้าคุณเป็นคนที่เข้าใจเรื่องการเงิน หรือโชคดีได้เรียนรู้เรื่องการเงินในระดับหนึ่งจะรับรู้ได้เลยว่าวิกฤติโควิด-19 มันรุนแรงกว่าวิกฤติปี 40 อย่างมาก เพราะมันเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ หรือวิกฤติสุขภาพที่ไปทับซ้อนกับวิกฤติของการเงิน

ความยากของมันเป็นเรื่องของ ‘ความไม่ชัดเจน’ อย่างปี 40 เรารู้ว่าธุรกิจใหญ่ๆ ล้ม เศรษฐีลำบาก แต่คนทั่วไปยังออกไปทำมาหากินได้

กลับกันตอนนี้ โควิด-19 มันทำให้คนกลาง-ล่างขยับตัวยาก​ หลายคนต้องหยุดทุกเรื่อง เศรษฐกิจของฐานนี้ชะงัก​ โดยที่ไม่รู้ว่าเหตุการณ์นี้จะจบลงเมื่อไรด้วย!!

เมื่อมันไม่มีความชัดเจนอะไรเลย 'ทางรอด'​ ของคนทั่วไปแบบหาเช้ากินค่ำ​ มันเลยแคบลง​ แคบลง​ และแคบลง

แต่เอาจริงๆ​ ทุกปัญหาล้วนมีไว้ให้แก้​ อยู่ที่มองออกว่าควรแก้ด้วยวิธีหรือเหตุผลใดแค่นั้น??

ผมเคยคุยกับพี่หนุ่ม ‘จักรพงษ์ เมษพันธุ์’ แห่ง The Money Coach ซึ่งพี่เขาเป็นโค้ชการเงินสายอินดี้ที่เอาหลักชีวิตมาแชร์​ และในช่วงโควิด-19 ระบาดแรงๆ​ พี่เขาก็แนะนำทางรอดในช่วงวิกฤติไว้ได้น่าสนใจมาก

เขาบอกให้คนที่กำลังลำบาก​ เงินหดหาย​ หนี้กระจาย​ ลอง​ 'กางตารางชีวิต'​ ออกมาก่อน และเริ่มต้นที่วางแผนจัดการเงินของตัวเองใหม่​ สัก 6​ เดือนต่อจากนี้​ (จะมากกว่านี้ก็ยิ่งดี)​

เฮ้ย!! ฟังดูแปลก​ๆ​ ทำไมไม่สอนวิธีให้หาเงินเพิ่มหว่า??

ที่เป็นแบบนั้น​ เพราะคนที่เจอวิกฤติ​ มักจะคิดไม่ออกว่า​ จะหาเงินเพิ่มยังไง​ มันจะมืดแปดด้าน​ แล้วยิ่งสถานการณ์แบบนี้ด้วยยิ่งโคตรยากเข้าไปใหญ่

ฉะนั้นต้องดึงสติให้กลับมามอง​ 'ความจริง'​ แทนว่า​ ในวันที่เงินเริ่มร่อยหรอ​ เราต้องใช้ชีวิตต่อแบบไหนในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้…เราต้องมีค่าใช้จ่ายจำเป็นในแต่ละวันยังไงบ้างจากเงินที่เหลืออยู่​ อันนี้แหละโคตรสำคัญ!!

ยกตัวอย่าง หากเรามีค่ากินอยู่ที่วันละ 200 บาท เดือนนึงก็ต้องเก็บไว้เฉพาะค่ากิน 6,000 บาท ทำแบบนี้ไปยาวๆ​ ใน​ 6​ เดือนข้างหน้า

โดยส่วนตัวแล้ว​ พี่หนุ่มอยากให้เน้นที่ค่ากินอยู่ไว้ก่อน เพราะประสบการณ์ปี 40 บอกเขาว่า ถ้าท้องมันว่าง มันจะทำอะไรต่อไม่ได้ (เรื่องนี้จริง)​

ทีนี้ก็อาจจะมีบางคนมองว่า 'ค่ากินอยู่'​ มันพอจัดการไหว​ แต่ถ้ามีหนี้ติดตัว จะทำยังไง?

สั้นๆ​ เลยครับ​ 'ตัด'​ มันไปเลย!!

สถานการณ์แบบนี้​ สิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิต ต้องตัดออกให้หมด​ เช่น ถ้ามีรถต้องผ่อน​ ขายได้ขาย​ เพราะมันคือภาระ!! กลับมาใช้วิธีเดินทางสาธารณะบ้าง​ อย่าได้อาย!!

ถ้าบ้านของคุณพอจะมีมูลค่า​มหาศาลระดับหนึ่ง การแปลงสินทรัพย์เป็นทุนเก็บไว้ในมือตอนนี้​ ทำมันซะ!! แล้วหาที่อยู่ใหม่ที่อาจจะไม่ดูดีเหมือนเก่า​ แต่เราอยู่กันได้​ ก็ลองซะหน่อย!!

ส่วนบางคนอยู่บ้านเช่า​ นาทีนี้ถ้าไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ก็ไปยกมือไหว้เจ้าของบ้าน แล้วบอกไปตรงๆ เลยว่าเดือนนี้ไม่มีจริงๆ

ถ้าติดหนี้บ้าน หนี้รถ ก็เดินตรงเข้าไปสาขาธนาคารแล้วบอกว่า​ ขอให้ช่วยผ่อนผันหน่อย จะหยุดส่งต้น ส่งดอก กี่เดือนก็ว่าไป หรือจะลดวงเงินผ่อน ลดดอกเบี้ยก็เจรจาเลย

นาทีนี้ทำได้ เชื่อสิ!! แต่ถ้าไม่พูด ก็ต้องทำตามระเบียบ และถ้าทำไม่ได้ แบบนี้แหละจะเสียเครดิต

ถ้าเป็นการออมเงินฝากที่ส่งอยู่ประจำ หรือ ซื้อหุ้นไว้เดือนละเท่าไร ตอนนี้ตัดได้ตัดก่อน เพราะเชื่อเถอะว่าโอกาสเดือดร้อนในอนาคตข้างหน้ามีสูง​ เอาเงินมาใช้เพื่อวันนี้ก่อน

หรืออย่างประกันเนี่ยะ คลาสสิคเลย เพราะบางคนกลัวขาดประกัน แต่จริงๆ แล้วตอนนี้หลายๆ บริษัทเขาให้เราไปเจรจาเพื่อผ่อนปรนได้หมด เช่น ถ้าใครถึงงวดที่จะต้องจ่ายแล้วไม่มีเงินจ่าย ก็ไปบอกเขา เขาให้เลื่อนไป 120 วันหรือ 90 วัน โดยความคุ้มครองยังเหมือนเดิม

ทั้งหมดทั้งมวล มันคือการ​ 'ตัด​เพื่อต่ออนาคต'​ ที่โฟกัสกลับมาสู่ปัจจัยพื้นฐานของการมีชีวิต อันนี้สำคัญจริงๆ​ นะ

แต่ก็อย่างที่บอก​ การที่เราจะรู้ว่าควรทำอะไรกับชีวิตต่อจากนี้​ได้นั้น​ มันต้องกางตารางชีวิตออกมาก่อน แล้วคุณจะรู้ว่าอนาคตต่อจากนี้​ ต้องใช้เงินหรือหาเงินไว้เท่าไร ซึ่งมันอาจจะดึงมาจากเงินเดือน เงินเก็บ เงินจากการขายสินทรัพย์​ หรือคนที่ตกงาน ก็ดึงจากเงินค่าชดเชยตกงานของบริษัท เงินชดเชยจากประกันสังคม หรือเงินเยียวยาจากภาครัฐก็ได้ทั้งนั้น

นาทีนี้ ใครที่กำลัง ‘อับจนหนทาง’ ต้องหายใจลึกๆ มีสติเข้าไว้ แล้วไปหาสมุดหรือกระดาษมากาง จากนั้นมาลองไล่จดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าติดฝาบ้านไว้เลย อย่าใช้สมองจำ เพราะสมองคนเราในยามเจอวิกฤติชีวิต มันจะจำไม่ได้ทุกเรื่อง

ใครจะเชื่อหรือไม่ อันนี้ก็ตามแต่วิจารณญาณ แต่ส่วนตัวผมอยากให้ลองทำ เพราะต้องขอบอกไว้ก่อนเลยว่าภาวะโรคระบาดเนี่ยถ้าเทียบความรุนแรง ก็เป็นรองเพียงแค่สงครามเท่านั้นเองนะขอรับ…

และนั่นก็จะทำให้เราไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติแบบเก่าก่อนอีกนานพอดู...

ศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สู่ การพัฒนาบัณฑิตในยุค Disruptive

กลไกการขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่ Thailand 4.0 ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้านนวัตกรรมนั้น ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติระยาว 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) และแผนการศึกษาแห่งชาติ (2560 - 2579) ต่างก็ให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน

เนื่องจากการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นปัจจัยที่สำคัญในการนำพาประเทศไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยมีเป้าหมายของคุณลักษณะของคนไทย 4.0 ต้องเป็นคนไทยที่มีความรู้ มีทักษะและความสามารถสูง มีจิตสาธารณะรับผิดชอบต่อสังคม เป็นคนไทยที่เท่าทันดิจิทัล และเป็นคนไทยที่มีความเป็นสากล

ซึ่งการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวมีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต การปฏิรูปการเรียนรู้แบบพลิกโฉม การพัฒนาและรักษากลุ่มผู้มีความสามารถสูง ที่เน้นเรื่องของคุณภาพการศึกษา และการศึกษาทุกช่วงวัย สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปอุดมศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศที่เป็นรูปธรรม อันประกอบด้วย การสร้างพลเมืองเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน การปฏิรูปการจัดทำหลักสูตร การปฏิรูปอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา การปฏิรูปกระบวนการและวิธีการจัดการเรียนรู้ การปฏิรูปการวิจัย การกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการส่งเสริมการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา อันเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้แบบพลิกโฉม

ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเข้มแข็งของสังคม ความสมดุลของสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหาร จากปัญหาในการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา รวมถึงการกำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงกับประชาคมโลก ตามแนวคิด “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตบัณฑิต โดยจะต้องมีการพัฒนาหลักสูตรที่มีความทันสมัย มีการบูรณาการการเรียนการสอนที่หลากหลายศาสตร์

รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องบูรณาการการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการ เพื่อตอบสนองความต้องการของโลกสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ยุคโลกาภิวัฒน์ และยุคเศรษฐกิจดิจิทัล อันจะนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21 ที่จะสามารถผลิตบัณฑิตที่มีทักษะและความพร้อมในหลากหลายด้านเพื่อการประกอบอาชีพยุคใหม่ การสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะ ตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ซึ่งประกอบด้วย การปฏิรูปการจัดทำหลักสูตร การปฏิรูปอาจารย์ การปฏิรูปกระบวนการและวิธีการจัดการเรียนรู้ การปฏิรูปการวิจัย การส่งเสริมการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา และการกระจายโอกาสทางการศึกษา ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญ

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหลักสูตรหนึ่ง ที่มีความยึดหยุ่นต่อการจัดการศึกษา นอกจากจะเป็นหลักสูตรในระดับปริญญาตรี ซึ่งผู้เรียนต้องเรียนครบถ้วนตามที่กำหนดในหลักสูตรแล้ว ยังได้มีการออกแบบการเรียนการสอนเป็นแบบชุดวิชา (module) ซึ่งเป็นการเรียนระยะสั้นใช้เวลา 1 ภาคการศึกษา (4 เดือน) ในแต่ละชุดวิชามีลักษณะเป็นวิชาชีพที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง เทียบเท่ากับ 20 หน่วยกิต ผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตรในชุดวิชาที่เลือกเรียน และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพหรือเริ่มต้นธุรกิจใหม่ (start-up) ได้

เนื่องจากการเรียนการสอนในแต่ละชุดวิชาเน้นการปฏิบัติจริงในพื้นที่และการปฏิบัติร่วมกับสถานประกอบการการ (work integrated learning) รวมถึงการนำระบบเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อนำไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ หลักสูตรในระดับประกาศนียบัตรนี้เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างคนไทย 4.0 ซึ่งจะนำไปสู่การ Re-skill & Up-skill และการสร้าง New Skill ใหม่ ให้กับผู้เรียนได้ อันจะเป็นอาชีพได้ ซึ่งจะนำเสนอการเรียนรู้แบบบูรณาการเพื่อการพัฒนาคน ในรูปแบบ Non Degree สู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต ต่อไป


ที่มา : https://sis.ku.ac.th/

เงินกู้เงินออนไลน์ มาแรง!! จับกระแส P2P Lending สินเชื่อออนไลน์ระหว่างบุคคล ทางเลือกใหม่ ‘ผู้ประกอบการ - นักลงทุน’ ในโลกการเงินยุคดิจิทัล

ความก้าวหน้าของธุรกิจ FinTech ในประเทศไทย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในธุรกรรมสินเชื่อ ที่จากเดิมผู้ประกอบการจะต้องไปยื่นขอกู้ยืมสินเชื่อจากธนาคาร ก็สามารถจัดหาเงินจากนักลงทุนหรือผู้ให้กู้ยืมได้เองผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีแพลตฟอร์มทางการเงินทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจับคู่ (Matchmaker) ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือ P2P Lending (peer-to-peer lending) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นด้วยดอกเบี้ยต่ำลง สะดวกรวดเร็วในการอนุมัติรายการ ลดต้นทุนในการดำเนินการ และในขณะเดียวกันนักลงทุนรายย่อยที่มีเงินน้อยก็สามารถเลือกลงทุนและรับผลตอบแทนในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกอบธุรกิจและเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (Peer-to-Peer Lending Platform) ที่ถูกบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุให้ผู้กู้ P2P Lending ต้องเป็นบุคคลธรรมดา ที่มีวัตถุประสงค์ในการกู้เพื่ออุปโภคบริโภค สามารถยื่นขอกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 1.5 - 5 เท่าของรายได้ หรือเพื่อประกอบธุรกิจ ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท

ส่วนผู้ให้กู้อาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ในส่วนของผู้ลงทุนรายย่อย ลงทุนได้ไม่เกินรายละ 500,000 บาทต่อปี หรือผู้ลงทุนสถาบันสามารถลงทุนได้ไม่จำกัดจำนวนเงิน มีเพดานดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 15% ต่อปี บวกด้วยค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้แพลตฟอร์ม (ถ้ามี)

ทั้งนี้ตั้งแต่กลางปี 2563 เป็นต้นมา ธปท. อนุญาตให้มีการทดสอบระบบสินเชื่อออนไลน์ระหว่างบุคคลในวงจำกัดภายใต้ Regulatory Sandbox ขึ้นใน 3 บริษัทผู้ให้บริการ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทสามารถบริหารความเสี่ยงและดูแลผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม จากนั้นจึงจะสามารถยื่นขอใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังเพื่อประกอบธุรกิจในวงกว้างต่อไป

โดย 3 บริษัทผู้ให้บริการดังกล่าว ประกอบด้วย บริษัท ดีพสปาร์คส์ เพียร์ เลนดิ้ง จำกัด (https://www.deepsparkspeerlending.ai/) ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน LoanDD บริษัท เนสท์ติฟลาย จำกัด (https://www.nestifly.com) ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน Share Loan by NestiFly และบริษัท เพียร์ พาวเวอร์ แพลตฟอร์ม จํากัด (https://www.peerpower.co.th) ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชัน Peerpower

จากความสำเร็จของฟินเทคสตาร์ทอัพในธุรกิจ P2P lending ทั่วโลก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และอีกหลายๆ ประเทศในยุโรป รวมทั้งประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ในปี 2564 นี้ จะเกิดกระแส P2P lending ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจ SMEs ที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สะดวกรวดเร็วผ่านช่องทางออนไลน์ และในกลุ่มนักลงทุนรายย่อย

แต่อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของสินเชื่อ P2P lending ที่ผู้กู้ยังคงต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของตน และผู้ให้กู้จะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงสืบเนื่องจากการลงทุนที่จะไม่ได้รับการชำระหนี้จากผู้กู้ที่ผิดนัดชำระ และไม่สามารถยกเลิกหรือเรียกคืนเงินได้ก่อนสัญญาครบกำหนดนั้น อาจเป็นเป็นข้อจำกัดของการขยายตัวของ P2P lending ได้ในคราวเดียวกัน


ที่มา: เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (www.bot.or.th)

ภาวะโลกร้อนกับการบุกเบิกเส้นทางเดินเรือสายใหม่ของจีน

พูดถึงมหาสมุทรอาร์กติกหลายท่านอาจไม่คุ้นว่าอยู่แถวไหน แต่หากบอกว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของหมีขาวและเต็มไปด้วยน้ำแข็งก็น่าจะพอคุ้นกันบ้าง

มหาสมุทรแห่งนี้ถูกจัดอันดับให้เป็นมหาสมุทรที่เล็กที่สุดและอยู่เหนือสุดของโลก ด้วยความหนาวเย็นจึงทำให้บางส่วนเป็นน้ำแข็งตลอดปี และเป็นน้ำแข็งเกือบทั้งหมดในช่วงหน้าหนาว นอกจากนั้นยังเชื่อมทวีปเอเชียกับยุโรปด้วยเส้นทาง Northern Sea Route

Northern Sea Route คือ เส้นทางเดินเรือที่เริ่มจากรัสเซียฝั่งตะวันออกที่อยู่ในเอเชีย แล้วมุ่งหน้าขึ้นเหนือเข้าสู่มหาสมุทรอาร์กติก เลาะริมชายฝั่งของรัสเซียจนถึงฝั่งตะวันตกที่อยู่ในทวีปยุโรป เส้นทางเดินเรือนี้ถูกค้นพบตั้งแต่ปี 1872 แต่เพราะทะเลเป็นน้ำแข็ง จึงแล่นเรือได้เฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมเท่านั้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อน และต้องใช้เรือตัดน้ำแข็งแล่นนำทาง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการเดินเรือในเส้นทางนี้สูงและไม่สะดวกเมื่อเทียบกับเส้นทางอื่น

แต่จากภาวะโลกร้อนในปัจจุบันส่งผลให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายมากขึ้น จนในปี 2017 เรือบรรทุกแก๊สของรัสเซียสามารถเดินเรือผ่านเส้นทางนี้ได้โดยไม่ต้องมีเรือตัดนำแข็งนำขบวน

จากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้จีนเห็นโอกาสในการขยายเส้นทางในการขนส่งสินค้าใหม่จึงประกาศในปี 2018 ว่าจะบุกเบิกเส้นทางสายไหมขั้วโลก (Polar silk road) เพราะหากใช้เส้นทางเดินเรือนี้จะประหยัดระยะเวลาเดินทางจากจีนไปยังท่าเรือรอตเตอร์ดาม ในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เป็นแหล่งกระจายสินค้าที่สำคัญของยุโรปได้ถึง 30 - 40%

นอกเหนือจากเส้นทางการค้าใหม่แล้วจีนยังเข้าถึงแหล่งพลังงานที่สำคัญนั้นก็คือแก๊สธรรมชาติ โดยมีการถือหุ้นโครงการ Yamal ในประเทศรัสเซีย ผ่านทาง China National Petroleum Corp. (CNPC) จำนวน 20% และกองทุน China’s Silk Road อีก 9.9% ซึ่งบริเวณที่ตั้งของโครงการ Yamal นั้น คาดการณ์ว่ามีแก๊สธรรมชาติอยู่ถึง 15% ของทั้งโลก และจีนเองก็เป็นลูกค้ารายใหญ่ การพัฒนาเส้นทางเดินเรือนี้จึงส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้าแก๊สของจีน เมื่อต้นทุนการนำเข้าแก๊สถูกลงก็ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าภายในประเทศ

นอกจากนั้นจีนยังส่งเสริมทางด้านการวิจัยและเทคโนโลยี โดยสถาบันอวกาศและเทคโนโลยีของจีนร่วมมือกับมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็นได้ส่งดาวเทียมสำรวจขึ้นไปบริเวณนี้เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงสภาพของน้ำแข็งและส่งข้อมูลกลับมาเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเดินเรือ

จากเรื่องนี้เราเห็นได้อย่างชัดเจนถึงการวางเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานว่าจะใช้ในการขนอะไร และจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศอย่างไร รวมถึงยังส่งเสริมทางด้านการวิจัยเพื่อนำผลที่ได้มาใช้ในภาคธุรกิจ แล้วคงต้องถามกลับว่าโครงการก่อสร้างพื้นฐานหลายโครงการในไทยมีแผนการที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของชาติชัดเจนแบบนี้หรือไม่

ทำดี ย่อมได้รับผลดีตอบแทน...จากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2435 ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ระหว่าง นักศึกษาวัย 18 ปี HERBERT HOOVER ประธานาธิบดีคนที่ 31 แห่งสหรัฐอเมริกา และ Ignacy Jan Paderewski นักเปียโนชื่อดัง และนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 แห่งสาธารณรัฐโปแลนด์

มนุษย์ธรรมดาส่วนใหญ่คิดเพียงว่า “ถ้าเราช่วยพวกเขาแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับเรา” แต่มนุษย์ซึ่งมีน้ำใจยิ่งใหญ่กลับคิดเพียงว่า “ถ้าเราไม่ช่วยพวกเขาแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเขา”

นักศึกษาวัยเพียง 18 ปี ซึ่งต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียน เขาเป็นเด็กกำพร้า และไม่รู้ว่าจะหาเงินด้วยวิธีไหน แต่แล้วก็บังเกิดความคิดบรรเจิด เขาและเพื่อนจึงตัดสินใจที่จะจัดคอนเสิร์ตเดี่ยวเปียโนของ Ignacy Jan Paderewski นักเปียโนผู้มีชื่อเสียง ณ ขณะนั้น ในมหาวิทยาลัยเพื่อหาเงินมาเป็นทุนการศึกษา

พวกเขาจึงได้ติดต่อ Ignacy J. Paderewski นักเปียโนชื่อดังคนดังกล่าว ซึ่งผู้จัดการของ Paderewski เรียกค่าตัวสำหรับการแสดงเปียโนเป็นเงิน 2,000 ดอลลาร์ เมื่อตกลงกันได้แล้วสองหนุ่มก็เริ่มทำงานเพื่อให้คอนเสิร์ตเปียโนครั้งนี้ประสบความสำเร็จ แต่น่าเสียดายเมื่อวันสำคัญมาถึงพวกเขาขายตั๋วทั้งหมดได้เงินเพียง $ 1600 เท่านั้น ภายหลังการแสดงสองหนุ่มไปพบกับ Paderewski ด้วยความผิดหวัง และอธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ Paderewski โดยพวกเขามอบเงินสดทั้งหมด $ 1,600 กับเช็คมูลค่า $ 400 ให้กับ Paderewski และสัญญาว่าจะ เอาเงินเข้าบัญชีเพื่อเคลียร์เช็คฉบับนั้นให้เร็วที่สุด

“ไม่” Paderewski กล่าว “เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมไม่สามารถยอมรับได้” เขาได้ฉีกเช็คฉบับดังกล่าว และคืนเงินสด $ 1600 และบอกกับสองหนุ่มว่า “นี่คือ เงิน $ 1,600 กรุณาหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แล้วเก็บเงินที่คุณต้องการสำหรับเป็นค่าเล่าเรียน และมอบส่วนที่เหลือให้กับผม” สองหนุ่มต่างประหลาดใจ และขอบคุณ Paderewski อย่างมากมาย แม้ว่า จะเป็นการแสดงน้ำใจเพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า Paderewski เป็นมนุษย์ผู้มีน้ำใจที่ยิ่งใหญ่

ทำไมเขาต้องช่วยคนสองคนซึ่งเขาไม่รู้ด้วยซ้ำ? เราทุกคนต้องเจอสถานการณ์เช่นนี้ในชีวิต และพวกเราส่วนใหญ่จะคิดเพียงว่า “ถ้าเราช่วยพวกเขา แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับเรา” ขณะคนซึ่งมีน้ำใจที่ยิ่งใหญ่กลับคิดว่า “ถ้าเราไม่ช่วยพวกเขา และอะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเขาเล่า” พวกเขาจึงไม่ได้ทำด้วยหวังสิ่งตอบแทน พวกเขาทำเพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ

ต่อมา Paderewski ได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของสาธารณรัฐโปแลนด์ เขาเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ แต่น่าเสียดายที่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มขึ้นโปแลนด์ก็ถูกทำลายจนเหลือเพียงแต่ซากปรักหักพัง ภายหลังสงครามฯจึงมีผู้คนมากกว่า 1.5 ล้านคนที่อดอยากขาดแคลน โปแลนด์ขณะนั้นซึ่งไม่มีเงินและอาหารเพียงพอที่จะเลี้ยงดูผู้คนชาวโปแลนด์ที่อดยอยากหิวโหยเหล่านั้น นายกรัฐมนตรี Paderewski ไม่รู้ว่าจะขอความช่วยเหลือจากที่ไหน เขาจึงได้ติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากองค์การอาหารและการบรรเทาทุกข์แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผู้บริหารคือ HERBERT HOOVER และในเวลาต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯคนที่ 31 HOOVER รีบตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือ และจัดส่งเรือบรรทุกเมล็ดพันธุ์พืชและอาหารจำนวนมากไปเลี้ยงดูชาวโปแลนด์ที่กำลังอดอยากและหิวโหยอย่างรวดเร็ว และสามารถพลิกสถานการณ์ภัยพิบัติได้ในเวลาอันสั้น

หายนะจากความอดอยากขาดแคลนของโปแลนด์จึงผ่านพ้นไป และนายกรัฐมนตรี Paderewski รู้สึกโล่งใจและตัดสินใจที่จะเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปพบกับ HOOVER เพื่อขอบคุณเป็นการส่วนตัว เมื่อพบกันแล้ว นายกรัฐมนตรี Paderewski ก็เริ่มขอบคุณสำหรับความเมตตาอันสูงส่ง แต่ Hoover ก็รีบแทรกขึ้นมาอย่างรวดเร็วว่า “ท่านไม่จำเป็นต้องขอบคุณผมเลย ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านอาจจำเรื่องนี้ไม่ได้ แต่เมื่อหลายปีก่อนท่านได้ช่วยนักศึกษาสองคนให้สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนในขณะที่เรียนในมหาวิทยาลัยได้ และผมเป็นหนึ่งในสองคนนั้น”

…ทำดี ย่อมได้รับผลดีตอบแทน...

ก๊อป MV : ‘แรงบันดาลใจ’ หรือ ‘ลอกเลียนแบบ’

เมื่อวันก่อนผมไปจัดวงเสวนาในคลับเฮาส์ (Clubhouse) พูดคุยกับช่างภาพและผู้ผลิตคอนเทนต์เรื่องปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ และช่วงท้ายก็เปิดโอกาสให้คนฟังได้ขึ้นมาสอบถามกันได้แบบสดๆ

หนึ่งในคำถามที่น่าสนใจ คือ “การถ่ายมิวสิควิดีโอ หรือ MV แล้วมีฉากต่างๆ คล้ายกับ MV ของคนอื่น ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่”

ตอนที่ผมและผู้ร่วมวงเสวนาตอบคำถามนี้ไป ก็สงสัยว่าทำไมมีคนสนใจถามเรื่องการก๊อป MV หลายคน จนกระทั่งหลังจบวงเสวนาในคลับเฮาส์ เพื่อนผมคนหนึ่งได้ส่งข้อความมาบอกผมหลังไมค์ว่า เรื่องก๊อป MV นี้ กำลังเป็นประเด็นร้อนในโซเชียลมีเดียเลย น่าเอามาเขียนอธิบายแบบง่ายๆ ให้คนนอกคลับเฮาส์ได้เข้าใจกันได้ด้วย

ผมก็เลยหยิบเรื่องก๊อป MV กับกฎหมายลิขสิทธิ์มาเขียนเป็นประเดิมในคอลัมน์ของผมเสียเลย

ก่อนที่เราจะบอกว่า MV ที่ทำเลียนแบบนั้น ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เราก็ต้องเข้าใจเสียก่อนว่างานอันมีลิขสิทธิ์นั้นหมายถึงงานแบบใดบ้าง และกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง MV นั้นอย่างไร

โดยหลักการการสำคัญของงานที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ทั้งของไทยและสากลมี 2 ข้อที่เหมือนกัน คือ หนึ่ง งานนั้นจะต้องเป็นงานที่ริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง (Originality) และ สอง งานนั้นจะต้องมีการแสดงออกซึ่งความคิด (Ex-pression of idea)

มาว่ากันที่หลักการแรกกันก่อน ที่บอกว่างานนั้นจะต้องเป็นงานที่ริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง อธิบายแบบง่าย ๆ คือ งานนั้นจะต้องเกิดจากความคิดของตนเอง แต่ก็ไม่จำเป็นว่างานนั้นจะต้องเป็นสิ่งใหม่ หรือไม่เคยมีมาก่อนในโลก เพียงแต่ผู้สร้างสรรค์งานนั้นจะต้องทุ่มเทความรู้ความสามารถ ความชำนาญ ทักษะ สติปัญญาของผู้สร้างสรรค์ลงไปในงานดังกล่าวพอสมควรด้วย

ตัวอย่างเช่น เราเห็นภาพถ่ายที่จุดชมวิวแห่งหนึ่งสวยมาก เราก็อาจจะได้แรงบันดาลใจให้ไปถ่ายภาพนั้นออกมาเหมือนกัน แม้ว่าเราจะไม่ได้ถ่ายภาพจุดชมวิวนั้นเป็นคนแรก แต่เราก็ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการลงมือลงแรงไปที่จุดชมวิวนั้น และกดชัตเตอร์ถ่ายรูปออกมา แบบนี้เราก็ได้รับความคุ้มครองในส่วนของภาพที่เราถ่าย แม้ว่าภาพนั้นจะคล้ายกับภาพจุดชมวิวที่คนอื่นถ่ายก่อนหน้านี้

แต่ถ้าเราเห็นรูปจุดชมวิวของคนอื่นสวย แล้วเราสแกนภาพของเขามาเข้าในคอมพิวเตอร์ของเราเอง แบบนี้จะไม่ถือว่าภาพที่เราสแกนนั้นเป็นลิขสิทธิ์ของเรานะครับ เพราะเป็นการที่เราไปทำซ้ำหรือก๊อปปี้ของคนอื่นมา ไม่ได้เป็นการสร้างสรรค์แต่อย่างใด

ส่วนหลักการที่สองที่บอกว่างานนั้นจะต้องมีการแสดงออกซึ่งความคิด หรือ Expression of idea ขอให้สังเกตให้ดี ๆ ว่าหลักการนี้คุ้มครองเรื่องการแสดงออกซึ่งความคิด แต่ไม่ได้คุ้มครอง ความคิด หรือ idea นะครับ

แปลว่าสิ่งที่เราแค่คิด แต่ไม่ได้แสดงให้มันออกมาเป็นผลงาน ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์

เช่น เราคิดว่าจะแต่งเพลงขึ้นมาสักเพลงหนึ่งซึ่งใหม่มาก เป็นความรักระหว่างคนและหุ่นยนต์ ต่อมาเราไปเล่าไอเดียนี้ให้คนอื่นฟัง ปรากฏว่าคนที่ฟังไปนั้นเอาไอเดียของเราไปแต่งเพลงออกมาในแบบที่เราคิด แบบนี้ก็ไม่ถือว่าเขาละเมิดลิขสิทธิ์ของเราแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่เราคิด หรือ ไอเดียของเรานั้นยังไม่ถูกแสดงออกมาเราจึงไม่มีลิขสิทธิ์ในไอเดียดังกล่าว

แต่ถ้าเราแต่งเพลงความรักระหว่างคนและหุ่นยนต์ออกมาแล้ว ปรากฏว่ามีคนมาเอาเนื้อร้องของเราไปดัดแปลง แบบนี้ก็จะถือว่าคนที่เอาเพลงของเราไปดัดแปลงนั้นละเมิดลิขสิทธิ์ของเรา เพราะได้ลงมือสร้างสรรค์เพลงนั้นออกมาจากความคิดของเราแล้ว

พอเข้าใจหลักการของงานที่จะถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แล้วใช่ไหมครับว่ากฎหมายลิขสิทธิ์จะคุ้มครองงานสร้างสรรค์แบบใด

คำถามถัดมา คือ หากงานสร้างสรรค์นั้น เกิดไปเหมือนหรือคล้ายกับงานของคนอื่นละ แบบนี้จะถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของเขาหรือไม่ ในเรื่องนี้ก็มักจะมีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งอาจจะบอกว่าเป็นการก๊อปปี้งานผิดลิขสิทธิ์แน่ ๆ แต่อีกฝ่ายก็อาจจะบอกว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไหน เขาแต่ได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานแค่นั้นเอง

การที่จะตอบคำถามข้อนี้ได้ ผมอยากให้ย้อนไปอ่านหลักการคุ้มครองการแสดงออกซึ่งความคิดที่ผมอธิบายไปแล้วซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายลิขสิทธิ์บ้านเราที่บัญญัติไว้ว่า

การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์

แปลว่ากฎหมายไม่ได้สนใจว่าความคิดที่เรานำมาสร้างสรรค์นั้นจะมาจากไหน ผู้ที่สร้างสรรค์อาจใช้ความคิดของคนอื่นมาจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์งานของตนเอง หรือใช้งานสร้างสรรค์ของคนอื่นมาเป็นแรงบันดาลใจให้ตนเองก็ได้ ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักสากลที่ใช้ในกฎหมายลิขสิทธิ์ทั่วโลก ไม่ใช่แต่เพียงประเทศไทยเท่านั้น

ทีนี้ ถ้าเราจะพิจารณาถึงกรณีที่ถกเถียงกันในโซเชียลมีเดียว่า MV นั้นเป็นการลอกเลียกแบบหรือได้แรงบันดาลใจ

เราจะใช้อารมณ์หรือกระแสสังคมเป็นตัวตัดสินไม่ได้ เราจะต้องใช้หลักการตามกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ผมอธิบายไว้แล้วมาปรับเข้ากับเหตุการณ์นี้ โดยพิจารณาว่าสิ่งที่ MV ที่ถูกกล่าวหาว่าก๊อปนั้น เป็นการทำซ้ำหรือดัดงานสร้างสรรค์ของผู้อื่นหรือไม่ เช่น เขาเอาเนื้อร้อง ทำนอง หรือเนื้อเรื่องใน MV ต้นฉบับมาเกือบทั้งหมด ซึ่งแบบนี้ MV ที่ก๊อปมาก็จะถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้ที่สร้างสรรค์ MV ต้นฉบับแน่นอน

แต่ถ้าการก๊อปนั้นเป็นเพียงแต่การเอาความคิด หรือ idea การถ่าย MV บางช่วงบางตอนมาจาก MV ต้นฉบับ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้เขาก็อาจจะโต้แย้งได้ว่า MV ของเขาไม่ได้ลอกเลียนแบบนะ เขาเพียงแต่ได้แรงบันดาลใจมาจากไอเดียของ MV ต้นฉบับ ซึ่งทำให้เราก็อาจจะไม่สามารถเอาผิดเขาฐานละเมิดลิขสิทธิ์ได้

ในส่วนของเคสที่เป็นประเด็นนี้ ถ้าเราอยากจะรู้ว่าใครถูก ใครผิดก็คงต้องรอให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายนำเรื่องขึ้นสู่ศาล เพราะแต่ละคดีมันมีข้อเท็จจริงและรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ผมเพียงแต่ฟังข้อเท็จจริงจากที่มีคนมาถามใน Clubhouse เท่านั้นคงไม่สามารถฟันธงให้ได้

สุดท้ายนี้ ในฐานะนักกฎหมายผมก็อยากฝากไว้ว่า แม้บางเรื่องที่เราทำไปนั้นอาจจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ เพราะอาจส่งผลต่อชื่อเสียงหรือภาพลักษณ์ได้ การสื่อสารที่ดีและจริงใจ จะช่วยรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ดีกว่าการตอบแบบแข็งกร้าว และในส่วนของกองเชียร์เอง ก็ต้องระมัดระวังการพูดจาหรือแสดงความเห็นไม่ให้เกินเลย เพราะมิเช่นนั้นแล้วเราอาจจะกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นประมาทเสียเอง

***พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 6 วรรคสอง

ประชาธิปไตยที่แท้จริง คืออะไร?

สภาพอากาศของเมืองไทยเพิ่งเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมนี้แล้ว แต่ที่ร้อนระอุมานานข้ามปี ก็คงเป็นสภาพการทางการเมืองของไทย ความเห็นต่างทางเมืองในครั้งนี้ดูสร้างความร้าวลึกให้สังคมไทย เพราะไม่เพียงสถาบันทางการเมืองเท่านั้นที่ตกเป็นเป้าในการประท้วงในครั้งนี้ แต่เหมือนเป้าหมายของการใช้เสรีภาพนี้ทะลุเลยเถิดไปถึงสถาบันกษัตริย์ สะท้อนจากข้อเรียกร้องล่าสุดของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่มีการเปิดตัวกลุ่มใหม่ในนาม REDEM – ประชาชนสร้างตัว

โดย REDEM นี้ย่อมาจากคำว่า RESTART DEMOCRACY ซึ่งมีประโยคต่อท้ายตามมาติด ๆ ว่า “สร้างประชาธิปไตยให้เกิดใหม่อีกครั้งไปด้วยกัน”

ฟังแล้วก็สงสัยมีคำถามว่านี้ประชาธิปไตยของไทยเราตายไปแล้วหรือจึงต้องมีการเกิดใหม่ แล้วที่เลือกตั้งกันไปคืออะไรกัน…

กลับมาที่ข้อเลือกร้อง 3 ข้อที่กลุ่ม REDEM ระบุว่ากลุ่มตนขอประกาศข้อเรียกร้องที่มีฐานคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเปรียบเสมือนข้อตกลงร่วมกันหากต้องการต่อสู้ในการเคลื่อนไหวของมวลชนในชื่อ “REDEM” ซึ่งจะเป็นบันไดนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ทุกคนมี 1 สิทธิ 1 เสียงที่แท้จริง ดังต่อไปนี้

1.) จำกัดอำนาจสถาบันฯ พอกันทีกับภาษีหลายหมื่นล้านบาทที่ประชาชนต้องจ่ายให้กับสถาบันฯ ทุกๆ ปีในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงต้องอดมื้อกินมื้อ พอกันทีกับอำนาจที่มากล้นจนไม่อาจตรวจสอบได้

2.) ปลดแอกประชาธิปไตยขับไล่ทหารออกจากการเมือง “ไม่ใช่แค่พลเอกประยุทธ์” เพราะนี่คือเครือข่ายนายพลขนาดใหญ่ที่รวมหัวกันเพื่อกัดกินประเทศนี้

3.) ลดความเหลื่อมล้ำด้วยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า (ไม่ใช่สวัสดิการแบบชิงโชค) จัดสรรภาษีอย่างเป็นระบบ นำมาใช้กับการสร้างรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าตั้งแต่เกิดยันตาย เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

กลุ่ม REDEM ระบุว่านี่เป็น 3 ธงใหญ่ที่จะนำพาสังคมไทยไปสู่การเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงให้จงได้

อ่านแล้วก็เกิดคำถามในนามของประชาชน เราก็ย่อมมีสิทธิที่จะตั้งถามกับกลุ่ม REDEM ที่ได้ว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไร?

อย่างข้อแรก หากจำกัดอำนาจสถาบันฯ ได้ ประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือ? และอำนาจที่ต้องการจำกัดนั้น คือ อำนาจเรื่องใด? มีวิธีการในการจำกัดอย่างไร?

ถ้าตั้งธงที่การจำกัดอำนาจของสถาบันฯ ชวนตั้งคำถามต่อว่า อย่างนั้นประเทศที่ยิ่งไม่มีสถาบันกษัตริย์เลยยิ่งจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่…

หันมองประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์แล้วต้องเอียงคอสงสัยอีกว่า จริงหรือที่ประชาธิปไตยจะเบ่งบานในประเทศที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์ หากจะอ้างว่าการจำกัดคือเพียงปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก็น่าตั้งคำถามต่อว่าการปฎิรูปสถาบันหลักของชาติที่มีความเชื่อมโยง ผูกพันกับสังคมและคนไทยมากกว่า 700 ปี นับตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัย กรุงอยุธยา ไล่มาถึงกรุงธนบุรี จนยุคกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน

เรื่องใหญ่เช่นนี้ ควรมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ตลอดจนวิธีการที่ละมุนละม่อมเป็นไปอย่างสันติวิธีและไร้ความรุนแรงที่สุดหรือไม่ มิควรใช้การหักหาญด้วยความหยาบคายก้าวร้าวรุนแรงใช่หรือไม่ และประเด็นสำคัญมากคือต้องเป็นความต้องการร่วมกันหรือมติร่วมกันของมหาชน (Consensus) ทั้งประเทศหรือไม่ ไม่ใช่เพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้วอ้างว่าตนคือตัวแทนของประชาชนทั้งหมดทั้งมวล เพราะท่ามกลางเสียงทัดทานและความเห็นต่างที่จากปรากฎเป็นรอยแยก คงพอพิสูจน์ได้ว่ามีคนไม่เห็นด้วยมากเหลือเกิน

ดังนั้นการที่กลุ่ม REDEM อ้างความต้องการของประชาชนนั้นมีชอบธรรมเพียงใด เป็นการกล่าวอ้างที่เกินจริงหรือไม่?

นอกจากนี้แล้วกลุ่ม REDEM ยังระบุความเชื่อโยงไปถึงภาษีและความอดมื้อกินมื้อของประชาชน โดยระบุจากข้อความที่ว่า…

“พอกันทีกับภาษีหลายหมื่นล้านบาทที่ประชาชนต้องจ่ายให้กับสถาบันฯ ทุกๆ ปีในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงต้องอดมื้อกินมื้อ…”

ประโยคนี้ชวนงงหนักเพราะราวกับว่าเพราะรัฐนำเงินไปใช้จ่ายให้กับสถาบันฯ แต่ละเลยประชาชนจนประชาชนต้องอดมื้อกินมื้อ แถมระบุว่าเป็นประชาชนส่วนใหญ่ด้วยนะที่ต้องอดมื้อกินมื้อ (และสงสัยว่าเอาข้อมูลมาจากไหนว่าประชาชนส่วนใหญ่อดมื้อกินมื้อด้วย) อย่างนี้ถือเป็นเหมารวมกล่าวโทษต่อสถาบันฯอย่างไม่เป็นธรรมเกินไปหรือไม่

ต่อมาในข้อที่ 2 ใจความอยู่ที่การขับไล่ทหารออกจากการเมือง ข้อนี้ต้องพิจารณาออกใช้ชัดเจน ว่าทหารในที่นี้คือ บุคคลที่เป็นปัจเจกชน หรือ ทหารที่เป็นสถาบันทหาร เพราะในโครงสร้างในการบริหารราชการแผ่นดิน เห็นด้วยว่าสถาบันทหารมีบทบาทหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบตามภารกิจเพื่อการรักษาอธิปไตยของประเทศที่ แต่ไม่ควรข้ามเข้ามาในกลไกของวงอำนาจการบริหารประเทศทั้งในฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ

แต่หากทหารในที่นี้เป็นเพียงตัวบุคคลที่ต้องการเข้ามาเล่นการเมือง ก็ย่อมเป็นสิทธิของปัจเจกชนนั้น ๆ โดยหลักแห่งความเสมอภาคเสรีภาพนั้นเองว่า แม้จะเคยทำงานอาชีพใด ๆ หากมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด ก็สามารถเข้ามาในตำแหน่งทางการเมืองได้ เพราะโดยแนวคิดของระบบประชาธิปไตยย่อมไม่มีใครควรกีดกั้นก่อนจากการเข้ามาเป็นนักการเมืองด้วย

แม้จะเคยมีอาชีพอะไรมาก่อน ไม่ว่าจะรับข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พ่อค้า ประชาชน หรือ เกษตรกร ก็ย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้ามาสู่ภาคการเมืองใช่หรือไม่ เพราะทหารคนหนึ่ง ก็คือ ประชาชนคนหนึ่งเช่นกัน และที่สำคัญหากเข้ามาตามกติกาของระบบประชาธิปไตยด้วยแล้ว ทุกฝ่ายต้องยิ่งต้องเคารพกติกาด้วยเช่นกัน

ข้อสุดท้ายที่กลุ่ม REDEM เรียกร้อง คือ การลดความเหลื่อมล้ำด้วยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จัดสรรภาษีอย่างเป็นระบบ นำมาใช้กับการสร้างรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าตั้งแต่เกิดยันตาย เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประเด็นนี้มีความเห็นด้วยอย่างยิ่งว่ารัฐต้องเร่งดำเนินการบริหารจัดการสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อมุ่งสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่การจัดสรรภาษีคือคำตอบสู่การสร้างรัฐสวัสดิการได้จริงหรือไม่

เพราะภาษีเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการบริหารงานทางการคลังของประเทศเท่านั้น และก่อนที่จะพูดถึงการจัดสรรภาษีอย่างเป็นธรรมนั้น ขอชวนมาดูรายได้ภาครัฐกันสักหน่อยว่าไม่ได้มาจากภาษีทางตรงจากประชาชนเพียงทางเดียว ที่เรามักได้ยินคำพูดที่ว่า ‘ภาษีกูๆ’ หรือภาษีประชาชนนั้น หมายถึงอะไร หากหมายถึงภาษีรายได้บุคคลธรรมดาที่ประชาชนต้องเสียให้แก่รัฐประจำทุกปี

โดยการจัดเก็บของกรมสรรพากรนั้น พบว่าข้อมูลล่าสุดจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่าในช่วง ตุลาคม 2560 - พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมารัฐสามารถเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ 222,853 ล้านบาท จากยอดรวมรายได้ที่จัดเก็บได้ คือ 2,450,000 ล้านบาทจากการจัดเก็บภาษีทั้งหมดของกรมสรรพกร กรมศุลกากร และรายได้จากหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมธนารักษ์ เป็นต้น ซึ่งหากคิดเป็นสัดส่วนร้อยละจะพบว่ารายได้ของรัฐที่จัดเก็บได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือประชาชนทั่วๆไปนั้นคิดเป็นเพียง 9.1% จากจำนวนเงินรายได้ที่รัฐจัดเก็บได้ทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นการกล่าวอ้างว่าใดๆ ในโลกล้วนมาจากเงินภาษีของตนนั้น อาจจะต้องคิดใหม่

นอกจากนี้ความจริงสำคัญคือการเป็นรัฐสวัสดิการ (Welfare State) นั้นต้องใช้เงินเยอะมาก ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียนั้นเก็บภาษีได้เกือบ 50% ของ GDP ขณะที่ไทยเก็บภาษีได้ไม่ถึง 20% ของ GDP แล้วเราจะมีรัฐสวัสดิการอย่างที่เหมือนเขาได้หรือไม่

และน่าตั้งคำถามว่าในการลดความเหลี่ยมล้ำในสังคมไทย เราจะจัดสรรภาษีเพียงอย่างเดียว หรือควรพิจารณากลไกอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น การปรับปรุงโครงสร้างภาษีอากรทั้งระบบ การสนับสนุนการออมของประชาชน การพัฒนาบริการทางการเงินให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างทั่วถึง เป็นต้น

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า เพียงแค่การจัดสรรภาษีตามที่กลุ่ม REDEM ระบุคงไม่สามารถนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าได้ เพราะยังมีองคาพยพอีกมากที่ต้องคำนึงถึงหรือไม่

ที่ตั้งคำถามทั้งหมดนี้มิใช่จะปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง หรือ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติบ้านเมือง หรือสนับสนุนเผด็จการ หรือแม้แต่การกล่าวโทษกลุ่ม REDEM ผู้ประท้วงในทางกลับกันต้องขอบคุณที่การเคลื่อนไหวเรียกร้องในครั้งนี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามหรือทบทวนความเป็นไปในบ้านเมืองนี้

หากแต่เพียงอยากให้พวกเราร่วมด้วยช่วยกันคิดและดึงสติกันด้วยเหตุผลอย่างรอบด้านมากขึ้น ชวนทุกคนช่วยกันคิดว่าแทนที่จะหาว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไร เราควรตั้งคำถามใหม่ว่าเราสามารถมีประชาธิปไตยหรือมีการปกครองในแบบที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยได้เองหรือไม่? อย่างไร?

เพราะแท้จริงแล้วประชาธิปไตยก็เป็นเพียงเครื่องมือหรือทางเลือกหนึ่งที่นำประเทศไปสู่จุดหมาย คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีมีสุขใช่หรือไม่ อย่ามัวแต่เพ่งที่เครื่องมือจนละเลยจุดหมายของการปกครอง…เพราะนิ้วที่ชี้ไปที่ดวงจันทร์หาใช่ดวงจันทร์ไม่


อ้างอิงที่มา:

เยาวชนปลดแอก เปิดตัว REDEM ช่องทางออกแบบการเคลื่อนไหว บันไดสู่ ปชต. (matichon.co.th)

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 1/ (ตุลาคม 2560 - พฤษภาคม 2561) จัดทำโดย ส่วนนโยบายรายได้ส้านักนโยบายการคลัง ส้านักงานเศรษฐกิจการคลัง

คอร์รัปชั่น...ไหมครับท่าน ตอนที่ 1

แต่เดิมสังคมไทยเรียกการคอร์รัปชันว่าการ “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” ซึ่งสองคำนี้มีความหมายที่ต่างกันตามผู้เสียหาย กล่าวคือ คำว่า “ฉ้อราษฎร์” หมายถึง โกงประชาชน หรือ การที่เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์ในทางที่มิชอบจากราษฎร ส่วนคำว่าการ “บังหลวง” หมายถึง การที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบต่อหน้าที่อันทำให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของแผ่นดิน หรือแก่ผลประโยชน์ของส่วนรวม โดยทำให้ตนเองหรือบุคคลอื่นได้รับประโยชน์โดยมิชอบ ปัจจุบันเป็นที่เข้าใจกันว่า การฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือ การคอร์รัปชั่น คือ การที่เจ้าพนักงานของรัฐกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใด

คอลัมภ์ สรรสาระ ประชาธรรม เปิดคอลัมภ์ด้วยเรื่องใหญ่ที่เห็นว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ถ่วงความเจริญของประเทศ และองค์กรต่างๆ โดยวิเคราะห์ในมุมเศรษฐศาสตร์ และกรอบวิเคราะห์เชิงสังคม

การคอร์รัปชั่นมีความซับซ้อน ลุ่มลึก และมีพัฒนาการตามระยะเวลา เราอาจคุ้นหูกับการรีดไถ ส่งส่วย จนกระทั่งถึง คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ ในตอนแรกจะกล่าวถึงเพียงสาเหตุเดียว กล่าวคือ ทรัพย์แผ่นดินหรือสาธารณสมบัติ ซึ่งรัฐหรือประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกัน ก็จะเปรียบได้กับการไม่มีเจ้าของ และจะก่อแรงจูงใจให้ผู้มีอำนาจกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบ

ในทางเศรษฐศาสตร์จะพูดถึง “โศกนาฏกรรมของทรัพย์ส่วนรวม (The Tragedy of the Commons)” ซึ่งเป็นบทความที่โด่งดังเขียนโดย การ์เร็ต ฮาร์ดิน (Garett Hardin) ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Science ในปี ค.ศ. 1968 บทความ “The Tragedy of the Commons” โดยมีคำโปรยนำเนื้อหาสั้นๆ ว่า “ปัญหาของมนุษย์ปุถุชน ไม่มีทางออกหรือแก้ไขโดยใช้เทคนิค แต่ต้องทำการปลูกฝังศีลธรรมและความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นพื้นฐาน”

เมื่อสาธารณสมบัติคือการเป็นเจ้าของร่วมกัน จะเปรียบได้กับการไม่มีเจ้าของที่แท้จริง การคอร์รัปชั่นก็เกิดขึ้นจากผู้มีอำนาจที่กระทำการทุจริตประพฤติมิชอบ ยักยอกสาธารณสมบัติไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือพวกพ้อง ทรัพย์ส่วนรวมอาจอยู่ในรูปที่ดินสาธารณะ ที่ดินราชพัสดุ คลองลำรางสาธารณะ คลื่นความถี่ หรือกรรมสิทธิ์ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ที่เมื่อผู้มีอำนาจรัฐกระทำการดังกล่าว ก็ยากที่จะเอาผิดได้

ความยากที่จะเอาผิดนั้น ประกอบด้วย...

(1) ข้อมูล เอกสารหลักฐาน ที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ยากมากๆ แม้ว่าจะมีการกำหนดให้เปิดเผยข้อมูล หรือมีกฎหมายข้อมูลข่าวสาร แต่การได้มาซึ่งข้อมูลก็เป็นต้นทุนที่สูงสำหรับผู้ที่จะเข้าถึงข้อมูล นอกจากนั้น หน่วยงานรัฐหลายแห่งซึ่งมีกฎหมายจัดตั้งและตราบทบัญญัติไว้ เช่น การเปิดเผยงบการเงิน แต่เมื่อหน่วยงานนั้นไม่ดำเนินการ ผู้กำกับดูแลไม่ดำเนินการ ก็ไม่มีการรับผิด (Accountability) หรือมีผู้ยืดอกรับผิดชอบแต่อย่างใด ซึ่งการไม่เปิดเผยงบการเงินนั้นเป็นต้นตอของปัญหาทั้งปวงที่มีรากฐานจากการทุจริตประพฤติมิชอบ

(2) ต้นทุนและผลประโยชน์ อย่าลืมว่า สาธารณประโยชน์นั้นทุกคนได้รับประโยชน์ กรณีเกิดการทุจริตประพฤติมิชอบ ประโยชน์สาธารณะจะตกแก่พวกพ้องตน แต่ผู้รักษาประโยชน์ส่วนรวมในกรณีที่ผู้มีอำนาจกระทำผิดเสียเอง ต้นทุนการดำเนินการนั้นกลับตกอยู่ที่ผู้ร้องทั้งสิ้น หากใช้หลักต้นทุนและผลประโยชน์จะพบว่า ผู้รักษาผลประโยชน์ส่วนรวมจะเป็นผู้เสียสละ และอาจได้รับภัยอันตราย

(3) มายาคติของหน่วยงานที่มีชื่อเสียง หลายต่อหลายครั้งผู้กำกับดูแลหน่วยงานที่มีประวัติศาสตร์แห่งความดีงามเลือกที่จะปกปิดความผิด และช่วยเหลือผู้กระทำทุจริตประพฤติมิชอบเสียเอง เพียงเพราะความพยายามในการรักษาชื่อเสียงของหน่วยงานไว้ และมองว่าหน่วยงานจะมีชื่อเสียหาย ความหลงผิดเช่นนี้ทำให้เกิดความยากที่จะเอาผิดต่อผู้กระทำผิด และยังมีส่วนสนับสนุนผู้กระทำผิดในทางอ้อม

นักประวัติศาสตร์ นักการเมือง และนักเขียนชาวอังกฤษ นามว่า จอห์น เอเมอริช เอดเวิร์ด ดัลเบิร์ก-แอกตัน บารอนแอกตันที่ 1 หรือที่มักเรียกกันว่า ลอร์ดแอกตัน (Lord Acton) ได้กล่าวถ้อยคำที่เป็นที่รู้จักและกล่าวขวัญกันว่า “Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely.” แปลว่า การมีอำนาจนำไปสู่การฉ้อฉล และอำนาจเบ็ดเสร็จจะทำให้ฉ้อฉลแน่แท้ ตอกย้ำว่า การคอร์รัปชั่นนั้นมักพัวพันกับการมีอำนาจและใช้อำนาจนั้นในทางที่ผิด อย่างไรก็ตาม ในทางเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้น หากสมมติว่า รัฐเป็นรัฐที่ดี (Benevolent Government) ก็มักจะสร้างประโยชน์สาธารณะหรือสวัสดิการสังคมที่สูงที่สุด ไม่ว่ารัฐนั้นจะเป็นการปกครองในรูปแบบใด

การแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นนั้น ในทางวิชาการดูจะสอดคล้องกันในเรื่อง พื้นฐานของผู้มีอำนาจ ซึ่งหากเป็นคนดี มีศีลธรรม มีความรู้ดีรู้ชั่ว ก็จะไม่กระทำการทุจริตประพฤติมิชอบ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สังคม ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ความยุ่งยากนั้นอยู่ที่พื้นฐานของแต่ละสังคมเช่นกัน ถ้าสังคมส่วนใหญ่ประกอบด้วยคนที่มีพื้นฐานศีลธรรมและความรู้ดีรู้ชั่ว การได้มาซึ่งคนดี รัฐที่ดี ก็จะไม่ยุ่งยากนัก แต่ในทางกลับกันหากสังคมส่วนใหญ่ประกอบด้วยคนไร้ศีลธรรมจำนวนมาก และคนมีศีลธรรมจำนวนน้อย สังคมนั้นก็มักจะโน้มเอียงไปในทางที่ผิด ดังเช่น บทกลอนของ ‘อภิชาติ ดำดี’ เรื่อง ‘โจรกับพระ’ ดังนี้

“โจร 9 เสียงกับพระ มี 1 เสียง ต่างพร้อมเพรียงชุมนุม ประชุมใหญ่ มีญัตติเร่งรัดตัดสินใจ คืนนี้ไปสวดมนต์หรือปล้นดี? ... เสียงข้างมากต้องมีธรรมนำชีวิต สุจริตเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ เสียงข้างมากไม่มีธรรมส่องนำใจ จะพาชาติบรรลัยในไม่ช้า…”

ศีลธรรมหรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดี จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการขจัดปัญหาการคอร์รัปชั่นและการทุจริตประพฤติมิชอบ สอดคล้องกับพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่า “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

อย่างไรก็ตาม การออกแบบระบบการส่งเสริมคนดี และระบบควบคุมคนไม่ดีนั้น อาจใช้แนวทางเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ได้ ตามแนวทางของนักเศรษฐศาสตร์หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างชุมชนที่มีการรับรู้ต่อประโยชน์สาธารณะ และไม่ทนต่อการทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top