Monday, 7 July 2025
COLUMNIST

ขั้วอำนาจโลกเปลี่ยน ไทยต้องเลือกจุดยืนให้มั่น กับความสัมพันธ์ ‘จีน-อเมริกา’ ทิศทางการพัฒนา ‘พลังงาน-ปัญญาประดิษฐ์ AI’ เพื่อรองรับการเติบโต ในอนาคต

(2 ก.พ. 68) เมื่อขั้วอำนาจโลกเปลี่ยน ไทยต้องเลือกจุดยืนให้มั่น 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ระบบขั้วอำนาจโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ไม่ต่างจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาที่ครั้งหนึ่งเคยทำให้แผ่นดินโลกเป็นผืนเดียวกัน ก่อนที่จะแตกออกเป็นทวีปต่างๆ ในปัจจุบัน เมื่อแผ่นดินแยกจากกัน มนุษย์ก็เริ่มสร้างเส้นแบ่งเขตแดน เกิดเป็นรัฐชาติ อารยธรรม และมหาอำนาจที่แย่งชิงอิทธิพลกันเรื่อยมา

โลกเปลี่ยน: จากแผ่นดินเดียวสู่ขั้วอำนาจที่พลิกผัน

เมื่อย้อนมองประวัติศาสตร์ โลกเคยถูกแบ่งออกเป็น "แผ่นดินโลกเก่า" (ยุโรป เอเชีย แอฟริกา) และ "โลกใหม่" (อเมริกา) พร้อมกับการขยายอาณานิคมในศตวรรษที่ 15-19 โลกถูกจัดลำดับใหม่ตามความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การทหาร และการปกครอง โลกเก่าถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางอารยธรรม แต่เมื่อโลกใหม่พัฒนา อเมริกากลายเป็นขั้วอำนาจหลักในศตวรรษที่ 20 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ทว่าทุกยุคย่อมมีจุดพลิกผัน วันนี้สิ่งที่เคยเป็นโลกใหม่อย่างอเมริกา กำลังเผชิญความท้าทายที่บั่นทอนอำนาจของตน ขณะที่โลกเก่าอย่างจีนและอินเดียกำลังกลับมาโดดเด่น เอเชียกำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจและการเมืองโลก อารยธรรมที่มีรากฐานยาวนานกว่า 4,000 ปี กำลังแสดงให้เห็นถึงพลังแฝงที่อาจพลิกขั้วอำนาจโลกในศตวรรษที่ 21

ไทยอยู่ตรงไหนในจังหวะเปลี่ยนขั้วอำนาจโลก??

เมื่อมหาอำนาจเดิมเริ่มถดถอย และมหาอำนาจใหม่กำลังผงาดขึ้น ประเทศไทยในฐานะที่ตั้งอยู่ใจกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำเป็นต้องกำหนดจุดยืนให้ชัดเจน การเป็นรัฐขนาดกลางที่มีความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์กับทั้งจีน อเมริกา และประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไทยอยู่ในจุดที่ต้องเลือกทางเดินอย่างรอบคอบ

1. ความเป็นกลางที่แท้จริงหรือเพียงแค่คำพูด??
ไทยมักใช้ยุทธศาสตร์ "ความเป็นกลาง" ในการรักษาผลประโยชน์ของตน แต่ในโลกที่แบ่งขั้วกันอย่างชัดเจน ไทยจะสามารถรักษาสถานะนี้ได้จริงหรือไม่? หรือสุดท้ายจะถูกบีบให้เลือกข้าง??

2. โอกาสในโลกที่เอเชียกำลังนำ
หากเอเชียก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการเมืองโลก ไทยจะใช้โอกาสนี้อย่างไร? จะกลายเป็นแค่ลูกค้าทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย หรือจะสามารถสร้างความแข็งแกร่งของตัวเองขึ้นมา??

3. ภัยคุกคามจากขั้วอำนาจที่ถดถอย
เมื่ออเมริกาและยุโรปเห็นว่าขั้วอำนาจกำลังเปลี่ยนไป พวกเขาอาจใช้มาตรการกดดันประเทศในเอเชียให้อยู่ในกรอบที่ตนต้องการ ไทยจะรับมือกับแรงกดดันนี้อย่างไร??

การเลือกที่สำคัญ: ไทยต้องเตรียมพร้อม

เมื่อโลกเปลี่ยน ไทยจะไม่สามารถยืนอยู่ตรงกลางได้ตลอดไป การตัดสินใจในวันนี้จะกำหนดอนาคตของประเทศไปอีกหลายทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเสริมสร้างความสัมพันธ์กับขั้วอำนาจใหม่ หรือการปรับยุทธศาสตร์เพื่อรักษาสมดุล ไทยต้องมี "ยุทธศาสตร์ชาติ" ที่ไม่ใช่แค่การตามกระแส แต่ต้องเป็นการกำหนดอนาคตของตัวเองให้มั่นคงและแข็งแกร่งในโลกที่กำลังเปลี่ยนไป

พลังงานและ AI: จุดเปลี่ยนของยุทธศาสตร์ไทยในศตวรรษที่ 21

หลังจากที่เราได้วิเคราะห์ถึงการเปลี่ยนขั้วอำนาจโลก และความจำเป็นที่ไทยต้องกำหนดจุดยืนในยุทธศาสตร์โลก บทต่อไปที่เราต้องเจาะลึกคือ "พลังงาน" และ "AI" ซึ่งเป็นสองปัจจัยหลักที่จะกำหนดอนาคตเศรษฐกิจไทยและโครงสร้างแรงงานในยุคถัดไป

ในเวลานี้ ประชากรส่วนใหญ่ของโลกอยู่ภายใต้กลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งกำลังขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม พวกเขาเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคหลักของโลก โดยมีจีนเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี AI และพลังงานใหม่ ดังนั้น พลังงานและเทคโนโลยีจะเป็นตัวแปรสำคัญ ที่กำหนดว่าใครจะเป็นผู้นำในโลกอนาคต

AI: หัวใจของแรงงานยุคใหม่

AI และหุ่นยนต์จะไม่ใช่เพียงแค่เครื่องมือเสริมของมนุษย์อีกต่อไป แต่มันจะกลายเป็น "แรงงานหลัก" ในทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่แพทย์ ทหาร วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงศิลปิน แม้แต่นักดนตรีก็ต้องเรียนรู้การใช้ AI เป็นเครื่องมือเสริม เพื่อแข่งขันในโลกที่อัลกอริธึมสามารถสร้างผลงานคุณภาพสูงได้

แต่ปัญหาสำคัญที่มาพร้อมกับ AI คือ พลังงาน AI ต้องใช้พลังงานมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการประมวลผลข้อมูลของโมเดล AI หรือการใช้พลังงานในการขับเคลื่อนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หากประเทศไทยจะพัฒนาอุตสาหกรรม AI ของตนเอง ไทยต้องตอบคำถามสำคัญว่า "เราจะหาพลังงานจากที่ไหน??"

พลังงาน : ปัจจัยที่ 5 ของมนุษยชาติ
ในอดีต ปัจจัยสี่ของมนุษย์ประกอบไปด้วย อาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย และเครื่องนุ่งห่ม แต่ในศตวรรษที่ 21 พลังงานไฟฟ้าได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ AI และหุ่นยนต์กำลังกลายเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
เราจะพึ่งพา พลังงานฟอสซิล ต่อไปไม่ได้ เพราะทรัพยากรเหล่านี้กำลังลดลงและก่อให้เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ไทยต้องคิดใหม่เกี่ยวกับโครงสร้างพลังงานของตนเอง ซึ่งตัวเลือกหลักที่กำลังได้รับความสนใจคือ พลังงานนิวเคลียร์

นิวเคลียร์ : พระอาทิตย์เทียมแห่งอนาคตไทย?

ปัจจุบันจีนได้พัฒนาเทคโนโลยี "พระอาทิตย์เทียม" (Artificial Sun) หรือเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันที่สามารถผลิตพลังงานได้มหาศาลโดยไม่ทิ้งกากกัมมันตรังสีแบบพลังงานนิวเคลียร์ฟิชชันแบบเก่า หากเทคโนโลยีนี้สำเร็จ มันจะเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานของโลก อย่างสิ้นเชิง และหากไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ เราจะสามารถสร้างพลังงานสะอาดในปริมาณที่มหาศาลเพื่อรองรับเศรษฐกิจ AI ได้อย่างมั่นคง แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่นิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องง่าย การลงทุนต้องอาศัยวิสัยทัศน์ทางการเมือง และต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการศึกษาควบคู่กันไป

พลังงานสะอาด : เสริมทัพนิวเคลียร์
นอกจากนิวเคลียร์ ไทยควรเสริมด้วย พลังงานขยะ เช่นเดียวกับที่ประเทศสวีเดนทำ การแปลงขยะเป็นพลังงาน ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยสร้างพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ซึ่งมีปริมาณขยะมหาศาลแต่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เต็มที่
หากไทยสามารถสร้างระบบ บูรณาการพลังงาน ที่มีทั้ง พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานขยะ และพลังงานลม ไทยจะสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของตนเอง

การปฏิรูปหน่วยงานรัฐ: กุญแจสู่ยุคพลังงานใหม่
ปัญหาของไทยไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่คือ "ระบบรัฐที่ล้าหลัง" ทุกวันนี้ หน่วยงานพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ยังทำงานแบบแยกส่วน ซึ่งทำให้การพัฒนาพลังงานล่าช้า ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ การออกแบบระบบรัฐใหม่ ที่สามารถ บูรณาการพลังงานและเทคโนโลยี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้นำรัฐบาลในอนาคตจะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจทั้ง AI และพลังงาน ไม่ใช่แค่การบริหารแบบเดิมๆ เพราะพลังงานคือรากฐานของเศรษฐกิจใหม่ และ AI คือแรงขับเคลื่อนของโลกอนาคต หากไม่มีพลังงานที่เพียงพอ AI ก็ไม่มีทางเติบโต และหากไม่มี AI แรงงานมนุษย์ไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ไทยต้องเลือก : จะเป็นศูนย์กลาง AI หรือเพียงผู้ตาม?
ในช่วงปี 2570 เป็นต้นไป ประเทศที่สามารถ จัดการเรื่องพลังงานได้ดี จะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก ไทยจะต้องตัดสินใจว่าจะเป็น ‘ศูนย์กลางอุตสาหกรรม AI ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ หรือจะปล่อยให้ประเทศอื่นแซงหน้าไป

1. เราจะพัฒนานิวเคลียร์หรือไม่??

2. จะใช้พลังงานสะอาดอย่างไรให้คุ้มค่า??

3. ระบบรัฐจะปรับตัวได้ทันหรือไม่??

4. แรงงานไทยพร้อมสำหรับ AI หรือไม่??

คำถามเหล่านี้ต้องการคำตอบที่ชัดเจนจากทุกภาคส่วน เพราะโลกกำลังเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว และไทยจะไม่มีเวลารออีกต่อไป

ครบรอบ 57 ปี ปฏิบัติการ ‘Blue House raid’ ภารกิจลับเกาหลีเหนือส่งทีมลอบสังหารผู้นำเกาหลีใต้

เหตุการณ์ประกาศกฎอัยการศึก (Martial law) ของ Yoon Suk Yeol ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ได้สร้างความตกตะลึงให้กับชาวเกาหลีใต้ ทำให้นึกถึงอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญของสองเกาหลี นั่นก็คือ ‘Blue House raid’ (หรือที่เรียกในเกาหลีใต้ว่า เหตุการณ์วันที่ 21 มกราคม) เป็นปฏิบัติการบุกทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ (Blue House) โดยหน่วยคอมมานโดของเกาหลีเหนือเพื่อสังหาร Park Chung-hee ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น ณ ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ หรือ Blue House ในวันที่ 21 มกราคม 1968 ผลก็คือ หน่วยกล้าตายของกองทัพประชาชนเกาหลี (The Korean People's Army : KPA) ทั้ง 31 นาย ถูกสังหาร จับกุม หรือหลบหนี และตัวประธานาธิบดี Park Chung-hee เองไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด

พลตรี Park Chung-hee (บิดาของ Park Geun-hye ประธานาธิบดีคนที่ 11 ของเกาหลีใต้) ได้ยึดอำนาจรัฐของเกาหลีใต้ด้วยการรัฐประหารเมื่อปี 1961 และปกครองในฐานะเผด็จการทหารจนถึงการเลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 3 ของเกาหลีใต้ในปี 1963 Blue House raid เกิดขึ้นในบริบทของความขัดแย้งในเขต DMZ (เขตปลอดทหาร) ของสองเกาหลี (ระหว่าง ปี 1966–69) หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติเกาหลีใต้ในปี 1967 ผู้นำเกาหลีเหนือได้สรุปว่า การต่อต้านภายในประเทศของ Park Chung-hee ไม่ได้ถือเป็นการท้าทายต่อการปกครองของเขาอีกต่อไป ในวันที่ 28 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม 1967 คณะกรรมการกลางแห่งพรรคแรงงานแห่งเกาหลีได้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ Kim Il-sung ผู้นำเกาหลีเหนือในขณะนั้นจึงแจ้งให้คณะทำงาน "เตรียมให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือในการต่อสู้ของพี่น้องชาวเกาหลีใต้ของเรา" ภายในเดือนกรกฎาคมนั้นเอง หน่วยปฏิบัติการพิเศษคือ หน่วย 124 ซึ่งพึ่งจัดตั้งขึ้นได้ไม่นานของกองทัพประชาชนเกาหลี (KPA) ก็ได้รับมอบหมายให้ทำการลอบสังหาร Park Chung-hee ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้

การตัดสินใจครั้งนี้อาจเป็นผลจากข้อเท็จจริงที่ว่าในปี 1967 กำลังทหารของสหรัฐฯเข้าสู่สงครามเวียดนาม ภายใต้สถานการณ์ที่กองทัพสหรัฐฯต้องทุ่มเทกับสงครามในเวียดนามใต้ จึงน่าจะไม่สามารถใช้มาตรการตอบโต้เกาหลีเหนือได้โดยสะดวก ในปี 1965-68 ความสัมพันธ์เกาหลีเหนือ - เวียดนามเหนือใกล้ชิดมาก และเกาหลีเหนือยังให้ความช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจแก่เวียดนามเหนืออีกด้วย การโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือพยายามที่จะแสดงให้เห็นถึงการจู่โจมของหน่วยกล้าตายในฐานะขบวนการกองโจรต่อต้านของเกาหลีใต้ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกองกำลังเวียดกงในเวียดนามใต้

เกาหลีเหนือเตรียมการด้วยการจัดชายหนุ่ม 31 คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ KPA ให้สังกัดในหน่วย 124 ซึ่งเป็นหน่วยคอมมานโดปฏิบัติการพิเศษ และได้รับการฝึกฝนเป็นเวลาแรมปี และใช้เวลา 15 วันสุดท้ายในการฝึกซ้อมปฏิบัติการตามวัตถุประสงค์ด้วยการจำลอง Blue House เพื่อการฝึกแบบเต็มรูปแบบ ชายที่ได้รับการคัดเลือกมาเป็นพิเศษเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนในการแทรกซึมและเทคนิคการขุดเจาะ อาวุธศึกษา การเดินเรือ การปฏิบัติการทางอากาศ การแทรกซึมแบบสะเทินน้ำสะเทินบก การต่อสู้ด้วยมือเปล่า (โดยเน้นการต่อสู้ด้วยมีด) และการปกปิดซ่อนพราง Kim Shin-jo หนึ่งในสองสมาชิกของหน่วย 124 ผู้รอดชีวิตกล่าวว่า "มันทำให้เราไม่กลัว เพราะไม่มีใครคิดจะมองหาศพเราในสุสาน" การฝึกของพวกเขาหนัก เข้มงวด และมักจะอยู่ในสภาพที่โหดร้าย เช่น การวิ่งด้วยความเร็ว 13 กม. / ชม. (8 ไมล์ต่อชั่วโมง) พร้อมกับสัมภาระหนัก 30 กก. (66 ปอนด์) บนพื้นที่ที่ขรุขระ ซึ่งบางครั้งการฝึกดังกล่าวทำให้เกิดการบาดเจ็บตามเท้าและนิ้วเท้า

ปฏิบัติการโจมตี เริ่มขึ้นด้วยการแทรกซึม วันที่ 16 มกราคม 1968 หน่วย 124 ได้ออกจากค่ายทหารที่ตั้งของหน่วย 124 ที่เมือง Yonsan ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 1968 เวลา 23.00 น. พวกเขาลักลอบเข้าไปในเขตปลอดทหารโดยตัดผ่านรั้วลวดหนามของกองพลทหารราบที่ 2 กองทัพบกสหรัฐฯ พอถึงเวลาตี 2 ของวันรุ่งขึ้นพวกเขาจึงได้ตั้งแคมป์ที่ Morae-dong และ Seokpo-ri ในวันที่ 19 มกราคมเวลา 5.00 น. หลังจากข้ามแม่น้ำ Imjin แล้วก็ตั้งแคมป์พักบนภูเขา Simbong เวลา 14.00 น. มีพี่น้อง Woo สี่คนจาก Beopwon-ri พากันมาตัดฟืนและเดินเข้ามาในที่ตั้งของหน่วย 124 หลังจากการถกเถียงกันอย่างดุเดือดว่าจะฆ่าพี่น้องสี่คนหรือไม่ ที่สุดจึงตกลงใจที่จะทำการอบรมปลูกฝังลัทธิคอมมิวนิสต์ให้แก้พี่น้องสี่คนนี้ และปล่อยตัวทั้งสี่ไปพร้อมคำเตือนอย่างหนักแน่นว่า ห้ามแจ้งตำรวจ อย่างไรก็ตามพี่น้องสี่คนเมื่อถูกปล่อยตัวก็ได้แจ้งการปรากฏตัวของหน่วย 124 ทันทีที่สถานีตำรวจ Changhyeon ในเมือง Beopwon-ri หลังจากหน่วย 124 ได้รื้อที่พักและเพิ่มความเร็วฝีเท้าเป็นมากกว่า 10 กม. / ชม. โดยแบกยุทโธปกรณ์คนละ 30 กก. ข้ามภูเขา Nogo และมาถึงภูเขา Bibong ในวันที่ 20 มกราคม เวลา 07.00 น. ทหาร 3 กองพันจากกองพลทหารราบที่ 25 ของเกาหลีใต้เริ่มค้นหาผู้แทรกซึมบนภูเขา Nogo แต่หน่วย 124 ได้ออกจากพื้นที่ไปแล้ว เมื่อหน่วย 124 เข้าสู่กรุงโซลในคืนวันที่ 20 มกราคมจึงได้แบ่งเป็นหน่วยย่อยเล็ก ๆ ชุดละ 2 - 3 นาย และมารวมกลุ่มกันใหม่ที่วัด Seungga-sa ที่ซึ่งพวกเขาได้เตรียมการขั้นสุดท้ายสำหรับการโจมตี

ในขณะเดียวกันกองบัญชาการสูงสุดของเกาหลีใต้ได้เพิ่มกำลังทหารจากกองทหารพลราบที่ 30 และกองพลทหารพลร่มในการค้นหา และตำรวจเกาหลีใต้ก็เริ่มค้นหาตามเขต Hongje-dong, เขต Jeongreung และภูเขา Bukak ด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้นำมาใช้ทั่วกรุงโซล หัวหน้าหน่วย 124 จึงตระหนักว่า แผนเดิมของพวกเขามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จน้อยมาก จึงได้มีการปรับแผนใหม่ ด้วยการเปลี่ยนมาสวมเครื่องแบบกองทัพบกเกาหลีใต้ (ROKA) ของกองพลทหารราบที่ 26 พร้อมด้วยเครื่องอิสริยาภรณ์ประจำหน่วยซึ่งพวกเขานำมาด้วยอย่างถูกต้อง พวกเขาจัดกำลังและเตรียมที่จะเดินขบวนในช่วงสุดท้ายไปยัง Blue House โดยสวมรอยเป็นทหารเกาหลีใต้ที่กลับมาจากการลาดตระเวนต่อต้านการแทรกซึม เมื่อหน่วย 124 เดินเท้าไปตามถนน Segeomjeong ใกล้กับเขต Jahamun มุ่งหน้าไปยัง Blue House ระหว่างทางได้ผ่านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และที่ตั้งทางทหารของ ROKA หลายหน่วย

เวลา 22.00 น. ของวันที่ 21 มกราคม 1968 หน่วย 124 ได้เข้าใกล้จุดตรวจ Segeomjeong – Jahamun ห่างจาก Blue House เพียงไม่ถึง 100 เมตร ก็ถูกสารวัตร Jongro Choi Gyushik หัวหน้าตำรวจซึ่งเดินเข้ามายังจุดที่หน่วย 124 กำลังเดินเท้าอยู่ และเริ่มตั้งคำถามกับพวกเขา คำตอบของสมาชิกหน่วย 124 ทำให้สารวัตร Choi Gyushik สงสัยจึงชักปืนพกออกมา แต่ถูกสมาชิกของหน่วย 124 ยิงก่อน จากนั้นก็เริ่มทำการยิงและขว้างระเบิดใส่จุดตรวจ หลังจากยิงต่อสู้กันหลายนาที หน่วย 124 ก็ได้สลายตัวแยกย้ายกันไป โดยบางส่วนมุ่งหน้าไปที่ภูเขา Inwang ภูเขา Bibong และ ภูเขา Uijeongbu สารวัตร Choi Gyushik และ Jung Jong-su รองสารวัตรเสียชีวิตระหว่างการยิงปะทะ สมาชิกหน่วย 124 นายหนึ่งถูกจับแต่พยายามฆ่าตัวตาย กว่าจะผ่านคืนนี้ไปมีชาวเกาหลีใต้ 92 คนต้องกลายเป็นผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุปะทะ ในจำนวนนี้มีพลเรือนราว 24 คนที่ติดอยู่บนรถบัสท่ามกลางห่ากระสุน วันที่ 22 มกราคม 1968 ทหารจากกองพลที่ 6 กองทัพบกเกาหลีใต้ได้เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างครั้งใหญ่เพื่อจับกุม/สังหารสมาชิกของหน่วย 124 โดยทหารจากกรมทหารที่ 92 กองพลทหารราบที่ 30 จับกุม Kim Shin-jo ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในบ้านของชาวบ้านใกล้ภูเขา Inwang ทหารจากกองพันที่ 30 กองบัญชาการป้องกันเมืองหลวงได้สังหารหน่วยคอมมานโดอีก 4 นายในเขต Buam-dong และบนภูเขา Bukak

วันที่ 23 มกราคม 1968 ทหารจากกองพันทหารช่างสังกัดกองพลทหารราบที่ 26 ได้สังหารคอมมานโด 124 นายหนึ่งบนภูเขา Dobong และวันที่ 24 มกราคม 1968 ทหารจากกองพลทหารราบที่ 26 และทหารกองพลที่ 1 ได้สังหารหน่วยคอมมานโด 124 อีก 12 นายใกล้เมือง Seongu-ri วันที่ 25 มกราคมหน่วยคอมมานโด 3 นายถูกสังหารใกล้เมือง Songchu วันที่ 29 มกราคม หน่วยคอมมานโดอีก 6 นายถูกสังหารใกล้ภูเขา Papyeong ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในระหว่างการพยายามลอบสังหารครั้งนี้ประกอบด้วย ฝ่ายเกาหลีใต้มีผู้เสียชีวิต 26 คน และบาดเจ็บ 66 คน (พลเรือน 24 คน) ทหารอเมริกัน 4 นายถูกสังหารจากความพยายามที่จะสกัดกั้นผู้แทรกซึมที่พยายามหลบหนีด้วยการข้ามเขตปลอดทหาร สมาชิก 31 นายของหน่วย 124 ถูกสังหารไป 29 นาย Kim Shin-jo ถูกจับ ส่วนอีกคน Pak Jae-gyong สามารถหลบหนีกลับเกาหลีเหนือได้ ศพของสมาชิกหน่วย 124 ที่เสียชีวิตถูกฝังในสุสานทหารเกาหลีเหนือและจีนในเกาหลีใต้

วันที่ 22 มกราคม 1968 กองบัญชาการสหประชาชาติ (UNC) ประจำเกาหลีใต้ ได้ขอให้มีการประชุมคณะกรรมาธิการสงบศึกทางทหาร (MAC) เพื่อหารือเกี่ยวกับการโจมตีครั้งนี้ UNC ขอให้มีการประชุมในวันที่ 23 มกราคม แต่เกาหลีเหนือขอให้เลื่อนออกไปอีกหนึ่งวัน และในวันเดียวกันนั้นเอง เกาหลีเหนือก็ได้ยึดเรือ USS Pueblo (AGER-2) ของกองทัพเรือสหรัฐฯเอาไว้ ดังนั้นการประชุม MAC ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มกราคมจึงไม่เพียงเป็นการพูดคุยหารือกับเรื่องของการโจมตี Blue House เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการจับกุมเรือ USS Pueblo โดยเกาหลีเหนืออีกด้วย การยึดเรือ USS Pueblo ทำให้สหรัฐฯและนานาชาติต้องหันความสนใจจาก Blue House raid ไปในระดับหนึ่ง อีกทั้ง Blue House raid เกิดขึ้นในวันเดียวกันกับที่การรบที่ Khe Sanh เริ่มต้นขึ้นในเวียดนามใต้ และวันที่ 31 มกราคมเกิดการโจมตีที่เรียกว่า ‘การรุกใหญ่ตรุษญวน (Tet Offensive)’ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วเวียดนามใต้ ทำให้การสนับสนุนของสหรัฐฯเกาหลีใต้ในการตอบโต้เกาหลีเหนือจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ในกรุงไซ่ง่อนกองกำลังเวียดกงได้พยายามลอบสังหาร NguyễnVệnThiệu ประธานาธิบดีเวียดนามใต้ที่ Independence Palace (ทำเนียบประธานาธิบดีเวียดนามใต้) แต่ถูกตีโต้กลับอย่างรวดเร็ว 

ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนเห็นว่า ความคล้ายคลึงกันของการโจมตีทั้งสองจุด โดยหน่วยคอมมานโดในจำนวนใกล้เคียงกัน (31 นายในกรุงโซลและ 34 นายในกรุงไซง่อนตามลำดับ) ได้อนุมานว่า ผู้นำเกาหลีเหนือมีความเข้าใจในการปฏิบัติการทางทหารของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ดังนั้นจึงอาจมีความเกี่ยวข้องและต้องการใช้ประโยชน์จากผลการรบในสงครามเวียดนามด้วย ประธานาธิบดี Johnson มองว่าการยึด USS Pueblo และกำหนดเวลาของ ‘การรุกใหญ่ตรุษญวน’ น่าจะมีการประสานงานกันเพื่อเบี่ยงเบนทรัพยากรของสหรัฐฯไปจากเวียดนามใต้ และเป็นการบีบบังคับให้เกาหลีใต้ถอนทหารบกสองกองพลและทหารนาวิกโยธินอีกหนึ่งกรมออกจากเวียดนามใต้ นายพล Charles H. Bonesteel III ผบ. กองกำลังสหรัฐฯประจำเกาหลีใต้ในขณะนั้น กลับเห็นต่างจากประธานาธิบดี Johnson ด้วยว่า เขามองไม่เห็นความเกี่ยวข้องดังกล่าว เขามองว่า Blue House raid ได้รับการวางแผนไว้ในระดับลับสูงสุดในเกาหลีเหนือ ในขณะที่การยึด USS Pueblo ดูเหมือนเป็นเรื่องบังเอิญ ด้วยเพราะเป็นจังหวะที่เกาหลีเหนือได้โอกาสจึงฉวยเอาไว้ได้พอดี

เพื่อตอบโต้ปฏิบัติการ Blue House raid รัฐบาลเกาหลีใต้ได้จัดตั้งหน่วย 684 โดยใช้กำลังจากบรรดานักโทษฉกรรจ์ เพื่อที่จะลอบสังหาร Kim Il-sung ผู้นำเกาหลีเหนือ โดยแลกกับอิสรภาพ อย่างไรก็ตามหลังจากการปรับปรุงความสัมพันธ์ภายในของสองเกาหลี ซึ่งเริ่มหันมาพูดคุยกันด้วยสันติวิธีมากขึ้น ภารกิจการลอบสังหารของหน่วยนี้ก็ถูกยกเลิก และในปี 1971 และพยายามกำจัดหน่วยนี้ทิ้ง เพื่อให้ภารกิจเป็นความลับ จึงทำให้สมาชิกของหน่วย 684 ส่วนใหญ่ถูกสังหาร ในเดือนพฤษภาคม ปี 1972 Kim Il-sung ผู้นำเกาหลีเหนือได้แสดงความเสียใจต่อ Lee Hu-rak หัวหน้าสำนักงานข่าวกรองกลางเกาหลี (KCIA) ระหว่างการประชุมร่วมกันในกรุงเปียงยาง โดยอ้างว่า “Blue House raid เป็นปฏิบัติการที่ถูกวางแผนโดยฝ่ายซ้ายสุดโต่งและไม่ได้สะท้อนถึงเจตนาของเขาหรือของพรรคเลย” หลังจากประธานาธิบดี Park Chung-hee รอดชีวิตจากความพยายามลอบสังหารอื่น ๆ อีกหลายครั้ง และ Yuk Young-soo ภรรยาผู้เป็นมารดาของ Park Geun-hye ประธานาธิบดีคนที่ 11 ของเกาหลีใต้ก็เสียชีวิตจากความพยายามในการลอบสังหารเขาเมื่อ 15 สิงหาคม 1974 ในที่สุดประธานาธิบดี Park Chung-hee ก็ถูก Kim Jae-gyu ผู้อำนวยการ KCIA ยิงเสียชีวิตในปี 1979 ด้วยสาเหตุที่ยังไม่ชัดเจนจนทุกวันนี้ว่า นี่เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นเองหรือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทำรัฐประหารโดยหน่วยข่าวกรองหรือไม่

Kim Shin-jo หนึ่งในสองผู้รอดชีวิตสมาชิกของหน่วย 124 ซึ่งเป็นสมาชิกคนเดียวของหน่วยฯที่ถูกทางการเกาหลีใต้จับไว้ได้ ถูกทางการเกาหลีใต้สอบปากคำเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัว และหลังจากที่เขาได้กลายเป็นพลเมืองของเกาหลีใต้ในปี 1970 พ่อแม่ของเขาก็ถูกประหารชีวิต และทางการเกาหลีเหนือได้ทำการกวาดล้างจับกุมญาติพี่น้องของเขาทั้งหมด ต่อมา Kim Shin-jo ได้กลายเป็นศิษยาภิบาลของโบสถ์ Sungrak Sambong ในจังหวัด Gyeonggi-do เขาแต่งงาน มีบุตรสองคน และยังคงใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่ในเกาหลีใต้จนทุกวันนี้

‘ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ’ หญิงแกร่งแห่งคองเกรส สตรีเชื้อสายไทยผู้พิชิตทุกขีดจำกัดหัวใจแกร่ง

ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกตัวตึง หญิงแกร่งสายเลือดไทยหนึ่งเดียวแห่งสภาคองเกรสสหรัฐ หากติดตามการเมืองอเมริกาในช่วง 10 ปีหลัง นับตั้งแต่สมัยปลายยุคโอบามา เข้าสู่ทรัมป์ 1.0 เปลี่ยนมาเป็น โจ ไบเดน ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยเปลี่ยนถ่ายอำนาจเข้าสู่ทรัมป์ 2.0 หนึ่งในนักการเมืองดาวรุ่งที่มีผลงานโดดเด่นต่อเนื่องมาโดยตลอดคงหนีไม่พ้น วุฒิสมาชิกจากรัฐอิลลินอยส์ สังกัดพรรคเดโมแครต ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ หรือ พี่แทมมี่ของน้อง ๆ คนไทยในอเมริกาท่านนี้นั่นเอง

ใดๆ digest ขอพาผู้อ่านย้อนดูประวัติของคุณแทมมี่สักเล็กน้อย โดยเธอเกิดที่กรุงเทพนี่เองครับ ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2511 เป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกันในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นทหารผ่านศึกชาวอเมริกันสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเวียตนามชื่อ ร้อยเอกแฟรงก์ แอล. ดักเวิร์ธ กับ คุณแม่ชาวไทยเชื้อสายจีนจากเชียงใหม่ชื่อ คุณละไม สมพรไพลิน ในวัยเด็กคุณแทมมี่ต้องย้ายที่อยู่บ่อยครั้งในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากต้องติดตามคุณพ่อซึ่งทำงานเป็นเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ 

ซึ่งจากการที่คุณแทมมี่เคยอาศัยอยู่ในหลายประเทศนี่เอง ทำให้นอกจากใช้อังกฤษเป็นภาษาหลักแล้ว เธอยังใช้ภาษาไทยได้ในระดับดีมาก และภาษาบาฮาซาในระดับสื่อสารได้เข้าใจอีกด้วย ทางด้านการศึกษา คุณแทมมี่ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยและอินโดนีเซียและจบชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา, สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยฮาวายวิทยาเขตมานัว, ปริญญาโทสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน และปริญญาเอกสาขาบริการประชาชนจากมหาวิทยาลัยคาเปลลา คุณแทมมี่เดินตามรอยเท้าคุณพ่อด้วยการเข้ารับราชการทหารในกองทัพสหรัฐ 

ในปี พ.ศ. 2535 และเลือกที่จะเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ และได้เข้าร่วมรบในสงครามอิรักโดยมีหน้าที่ขับเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงยุทโธปกรณ์และนำทหารที่บาดเจ็บจากแนวหน้ามารับการรักษาในแนวหลัง แต่โชคร้ายที่เครื่องเฮลิคอปเตอร์ ที่เธอเป็นนักบินผู้ช่วย ถูกยิงลูกระเบิดเข้ามาในเครื่อง และเกิดระเบิดตรงที่เธอนั่ง ทำให้คุณแทมมี่สูญเสียขาทั้งสองข้างและแขนข้างขวาบาดเจ็บสาหัสทันที อย่างไรก็ตามแพทย์ก็ได้ทำการต่อแขนข้างขวาให้แก่เธอ แต่ก็ทำให้คุณแทมมี่ต้องต้องใช้ขาเทียมทั้งสองข้าง รวมทั้งมีแขนซ้ายที่ใช้การได้ดีเพียงข้างเดียว 

ในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน จากเหตุการณ์ที่ต้องสูญเสียขาทั้งสองข้างไปนี่เองทำให้คุณแทมมี่ เกษียณตัวเองจากตำแหน่งนักบิน แต่ยังคงรับราชการเป็นนายทหารในสังกัดกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิแห่งรัฐอิลลินอยส์ โดยเน้นการทำงานเพื่อทหารผ่านศึกและผันตัวสู่เส้นทางการเมือง ด้วยการลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐอิลลินอยส์ เป็นครั้งแรกในปี 2549 จากนั้นในปี 2552 ได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายกิจการทหารผ่านศึกประจำรัฐ และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐ ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 คุณแทมมี่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสนามใหญ่ และสร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอย่างเต็มภาคภูมิ 

ผลงานอันโดดเด่นและการสร้างประวัติศาสตร์ในฐานะ 'คนแรก' ของคุณแทมมี่นั้นมีอยู่มากมายอาทิเช่น 
- เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตขึ้นกล่าววิพากษ์วิจารณ์นโยบายด้านการทหารและสงครามต่าง ๆ ของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และ ประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์หลายครั้ง

- เป็นหนึ่งในสองตัวเลือกสุดท้ายคู่กับกมลา แฮริสในตำแหน่งรองประธานาธิบดีสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน 
- ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนให้ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการบริหารพรรคเดโมแครต โดยจะอยู่ในตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารพรรคเดโมแครต
- เป็นตัวแทนวุฒิสมาชิกสหรัฐตั้งคำถามและซักฟอกผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะบริหารของประธานาธิบดีหลายครั้ง โดยล่าสุดก็ได้ทำการซักถามว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พีท เฮ็กเซ็ทที่ได้รับการเสนอชื่อโดยทรัมป์อย่างถึงพริกถึงขิงเรื่องการขาดความรู้เกี่ยวกับกลุ่มประเทศอาเซียนนั่นเอง 
- นอกจากการได้รับเหรียญตราเชิดชูเกียรติมากมายจากทั้งกองทัพและรัฐบาลสหรัฐในฐานะทหารผ่านศึกที่กล้าหาญและการอุทิศตัวทำงานเพื่อส่วนรวมแล้ว คุณแทมมี่ยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ชั้นที่ 1 จากรัฐบาลไทยอีกด้วย
- เป็นสุภาพสตรีเชื้อสายไทยคนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาคองเกรสทั้งในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก รวมทั้งเป็นคนแรกที่เกิดในแผ่นดินไทยที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาอันมีเกียรติประวัติยาวนานของสหรัฐอเมริกาแห่งนี้ด้วย
- เป็นบุคคลทุพพลภาพคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาคองเกรส และยังนับเป็นผู้พิการอวัยวะมากกว่าหนึ่งอย่างคนแรกอีกด้วย
- เป็นวุฒิสมาชิกคนแรกที่ให้กำเนิดบุตรในขณะที่ดำรงตำแหน่ง

ทางด้านชีวิตครอบครัว คุณแทมมี่ได้สมรสกับอดีตเพื่อนทหารผ่านศึกในสงครามอิรักพันตรีไบรอัน ดับเบิลยู โบล์สบีย์ เจ้าหน้าที่กองพลสื่อสาร และมีลูกสาวที่น่ารักด้วยกัน 2 คน 

เรื่องราวชีวิตและผลงานของคุณแทมมี่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมายทั่วโลกโดยเฉพาะผู้พิการและผู้มีสายเลือดไทยทุกคน เธอได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดและผลลัพธ์แห่งความพยายามทุ่มเททำงานหนักตามแนวทางอุดมคติแบบ American Dream ว่าเป็นไปได้จริง และที่สำคัญคือในวันนี้คุณแทมมี่ก็ยังคงเปี่ยมไปด้วยพลังและไฟในการทำงานที่ไม่เคยมอดดับลงไป 

ใดๆ digest ขอร่วมส่งกำลังใจให้เธอพร้อมทั้งเฝ้าติดตามความเป็นไปได้มากมายที่คุณแทมมี่จะสร้างให้เกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยครับ

เมื่อ ‘รัฐบาลญี่ปุ่น’ ฉุนขาด ส่งตัดงบช่วยเหลือองค์กรสิทธิสตรี UN หลังแนะยกเลิกกฎสืบทอดราชสมบัติ ต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น

อยู่ ๆ องค์กรสิทธิสตรีก็ไป 'เสือก' เรื่องสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ญี่ปุ่นซะงั้น... งานนี้มีคำว่า " UN ไม่ใช่พ่อ!" แน่ ๆ เอาจริง ๆ นะ สำหรับข้าพเจ้า งานนี้ดูเป็น case study ได้เลย

รัฐบาลญี่ปุ่นโต้เดือด! ไม่แก้กฎสืบราชบัลลังก์ แม้ CEDAW กดดัน

โตเกียว, 29 มกราคม – รัฐบาลญี่ปุ่นออกแถลงการณ์ตอบโต้คณะกรรมการเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (CEDAW) อย่างแข็งกร้าว หลังจาก CEDAW แนะนำให้ญี่ปุ่นแก้ไขกฎมณเฑียรบาลที่กำหนดให้การสืบราชสมบัติเป็นสิทธิของฝ่ายชายเท่านั้น

คำแนะนำดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดย CEDAW เห็นว่ากฎเกณฑ์นี้เป็นการเลือกปฏิบัติต่อสตรีและขัดกับหลักความเสมอภาค อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่ากระบวนการสืบราชสมบัติไม่ใช่สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และถือเป็นเรื่องพื้นฐานทางวัฒนธรรมของประเทศที่องค์กรระหว่างประเทศไม่ควรแทรกแซง

"คุณสมบัติในการขึ้นครองราชย์ไม่ได้รวมอยู่ในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ดังนั้น การจำกัดการสืบราชสมบัติให้เฉพาะฝ่ายชายจึงไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อสตรี" รัฐบาลญี่ปุ่นระบุในแถลงการณ์ พร้อมเน้นย้ำว่าแนวปฏิบัติดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์และความต่อเนื่องของสถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเรียกร้องต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ซึ่งเป็นองค์กรดูแล CEDAW ให้ "ไม่ให้นำเงินที่ญี่ปุ่นบริจาคไปใช้ในกิจกรรมของ CEDAW" พร้อมทั้งยกเลิกกำหนดการเยือนญี่ปุ่นของคณะกรรมการดังกล่าวในปีนี้

ตามข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นบริจาคเงินให้ OHCHR ปีละประมาณ 20-30 ล้านเยน (ราว 4.8-7.2 ล้านบาท) ซึ่งเงินส่วนนี้ที่ผ่านมาไม่เคยถูกนำไปใช้ในกิจกรรมของ CEDAW อย่างไรก็ตาม การที่ญี่ปุ่นระบุเงื่อนไขไม่ให้ใช้เงินบริจาคในกิจกรรมเฉพาะด้านของสหประชาชาติถือเป็นท่าทีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การตอบโต้ครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในจุดยืนที่แข็งกร้าวที่สุดของญี่ปุ่นต่อองค์กรระหว่างประเทศ ท่ามกลางกระแสถกเถียงภายในประเทศเกี่ยวกับอนาคตของระบบสืบราชสมบัติ เนื่องจากปัจจุบัน สมาชิกราชวงศ์ฝ่ายชายที่สามารถสืบราชสมบัติมีจำนวนน้อยลง ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพของสถาบันจักรพรรดิในระยะยาว

แม้จะมีแรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจอธิปไตยภายในของประเทศ และจะไม่เปลี่ยนแปลงกฎมณเฑียรบาลในเร็ว ๆ นี้

อ้างอิง:
NHK News (29 มกราคม 2025)
https://www3.nhk.or.jp/.../20250129/k10014707141000.html...

ในหลวง เสด็จฯ เชียงใหม่ ทรงสืบสานประเพณีแห่งล้านนา สะท้อนสัมพันธ์แนบแน่นสถาบันพระมหากษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

รู้หรือไม่? พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงสืบสานประเพณีแห่งล้านนา ในการเสด็จประพาสเชียงใหม่

การเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปยังจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงการบริหารจัดการพระราชกิจและการสืบสานประเพณีสำคัญของชาติ ทั้งยังตอกย้ำความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

พิธีบายศรีทูลพระขวัญ: การแสดงออกถึงความจงรักภักดีของเจ้านายฝ่ายเหนือ

หนึ่งในจุดเด่นของการเสด็จฯ ครั้งนี้คือพิธีบายศรีทูลพระขวัญ ซึ่งถือเป็นประเพณีที่เจ้านายฝ่ายเหนือจัดขึ้นอย่างวิจิตรเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระมหากษัตริย์ พิธีนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงวัฒนธรรมอันลึกซึ้งของล้านนา แต่ยังแสดงถึงความจงรักภักดีและความผูกพันของเจ้านายฝ่ายเหนือที่มีต่อพระมหากษัตริย์ในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชาติ

พิธีบายศรีที่จัดขึ้นครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากเจ้านายฝ่ายเหนือซึ่งนำขบวนรำบายศรีด้วยความสง่างาม สื่อถึงบทบาทอันสำคัญของเจ้านายฝ่ายเหนือในฐานะผู้สืบทอดประเพณีและตัวแทนความภาคภูมิใจของล้านนา การรำบายศรีไม่เพียงเป็นการต้อนรับพระมหากษัตริย์ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันแนบแน่นที่สืบทอดจากอดีตถึงปัจจุบัน เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ ประมุขสายสกุล ณ เชียงใหม่ และเจ้าอาวรเทวี ณ ลำพูน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ผูกข้อพระหัตถ์ขวาและซ้ายในหลวงและพระราชินี

บทเรียนจากประวัติศาสตร์: ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และล้านนา
เหตุการณ์นี้ชวนให้นึกถึงการเสด็จประพาสเชียงใหม่ในอดีต เช่น รัชกาลที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 2469 ซึ่งพระองค์ได้รับการต้อนรับด้วยขบวนช้างจำนวน 80 เชือกที่ตกแต่งอย่างวิจิตร พร้อมการแสดงรำและดนตรีพื้นบ้านล้านนา เจ้านายฝ่ายเหนือในเวลานั้นได้มีบทบาทสำคัญในการต้อนรับและแสดงความจงรักภักดีแด่พระมหากษัตริย์แต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

ความสำคัญของการจัดการประเพณีที่ยั่งยืน การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการกิจกรรมและประเพณีอย่างยั่งยืน ไม่เพียงเพื่อธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันล้ำค่าของล้านนา แต่ยังตอกย้ำถึงความผูกพันอันแน่นแฟ้นระหว่างเจ้านายฝ่ายเหนือกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นของชาติ

ดังนั้น การเสด็จประพาสเชียงใหม่ครั้งนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการสืบสานประเพณีและความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่มีมายาวนาน ทั้งในด้านวัฒนธรรม ความจงรักภักดี และการบริหารจัดการกิจกรรมสำคัญของชาติ

‘I love you to the moon and back’ ความหมายสุดลึกล้ำที่ซ่อนไว้ในหนังสือนิทาน

วลีนี้ถูกค้นพบจากหนังสือนิทานภาพ 'Guess how much I love you' เขียนโดย Sam McBratney และวาดภาพประกอบโดย Anita Jeram

นิทานเรื่องนี้ดำเนินเรื่องผ่านพ่อลูกกระต่ายคู่หนึ่ง โดยกระต่ายน้อยกับพ่อจะมีการเล่นอยู่อย่างหนึ่งระหว่างกัน คือการแข่งกันบอกรัก ลูกกระต่ายจะบอกรักพ่อไปเรื่อย ๆ แล้วพ่อกระต่ายก็จะตอบกลับด้วยประโยคเดียวกันแต่เพิ่มการลงท้ายให้รู้สึกมากกว่า 

มีอยู่คืนหนึ่งเมื่อกระต่ายน้อยและพ่อกำลังจะเข้านอน แต่ลูกกระต่ายยังไม่อยากนอน จึงชวนพ่อกระต่ายคุย และถามว่า “ทายซิ ทายซิ หนูรักพ่อมากแค่ไหน?” พ่อกระต่ายก็ทำเหมือนทุกทีด้วยการบอกรักลูกกระต่ายกลับ และก็เพิ่มการลงท้ายให้รู้สึกมากกว่าเหมือนเช่นทุกครั้ง ทั้งคู่บอกรักกันไปเรื่อย ๆ จนลูกกระต่ายเริ่มง่วง และก่อนที่จะเข้านอนนั้นก็ได้บอกกับพ่อว่า “หนูรักพ่อเท่ากับต้องเดินทางไปพระจันทร์เลย” พ่อกระต่ายจึงตอบกลับมาว่า “โอ้ มากขนาดนั้นเชียวหรือ นั่นไกลมากเลยนะ ถ้าอย่างนั้น สำหรับพ่อ พ่อก็รักลูกมากเท่ากับเดินทางไป-กลับพระจันทร์นั่นแหละ” หรือ “ I love you right up to the moon and back” ซึ่งก็กลายมาเป็น “I love you to the moon and back” นั่นเอง 

อีกทฤษฎีหนึ่งที่มีการคำนวณอย่างจริงจังก็คือ ใน 1วัน หัวใจของมนุษย์จะสามารถผลิตพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถบรรทุกได้ 20 ไมล์ ดังนั้นถ้ายึดตัวเลขนี้ใน 1 ปีหัวใจจะผลิตพลังงานคิดเป็นระยะทางได้ 7,300 ไมล์ หากมนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ยที่ 70 ปี เท่ากับว่าในชั่วอายุขัยของคนคนหนึ่งหัวใจจะผลิตพลังงานได้สำหรับการเดินทางราว 511,000 ไมล์ การเดินทางไป-กลับดวงจันทร์เป็นระยะทาง 477,710 ไมล์ ดังนั้นการบอกใครสักคนด้วยประโยคนี้ก็อาจแปลได้ว่า เราจะรักคนๆนั้นจนหัวใจสูบฉีดพลังงานจนหมด หรือรักไปจนชั่วชีวิตนั่นเอง 

หากมีใครพูดประโยคนี้กับคุณแล้วคุณตอบกลับไปว่า “to the moon & never back” นั่นคือการตอบรับรักและสัญญาว่าจะไม่แยกจากกันนั่นเอง

จมในละอองฝุ่นและหมอกควันพิษ ภาพสะท้อนจากอดีต ด้วยความคิดเอาแต่ได้

ในวันที่ผมนั่งพิมพ์เรื่องจริง เรื่องนี้อยู่ กรุงเทพฯ และหลาย ๆ จังหวัดในประเทศไทยคงพ้นจากวิกฤติฝุ่น PM2.5 กันไปบ้างแล้วหลังจากเผชิญหน้ากันมาเกือบ 2 สัปดาห์ เนื่องจากอิทธิพลของลมกำลังแรงพัดมาจากด้านตะวันออกเฉียงเหนือทำให้อุณหภูมิลดลง และฝุ่นพิษถูกพัดไปทางด้านประเทศเมียนมา 

ในประวัติศาสตร์ โลกของเราได้เผชิญปรากฏการณ์จากละอองฝุ่นควันพิษมาแล้วหลายครั้ง โดยฝุ่นและควันพิษเหตุแรก ๆ นั้นเกิดขึ้นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น บันทึกของชาวบาบิโลเนียนกว่า 2,500 ปี ระบุว่าพวกเขาเผาน้ำมันแทนไม้ ชาวจีนในช่วง 1,000 ปีก่อนคริสตกาล เป็นชนชาติแรกที่ทำเหมืองถ่านหินและขุดบ่อก๊าซธรรมชาติ แต่ชาติที่ต้องเผชิญมหันตภัยจากฝุ่นพิษอย่างหนักหน่วงที่สุดชาติแรกในโลกคือ สหราชอาณาจักร 

ต้องยอมรับก่อนว่าในฤดูหนาวนั้นสหราชอาณาจักรค่อนข้างสาหัสพอสมควร การเผาเพื่อสร้างความอบอุ่นหรือประโยชน์ในด้านพลังงานอื่น ๆ เป็นสิ่งจำเป็น จนกระทั่งพวกเขาได้มารู้จักถ่านหินซึ่งให้ความร้อนสูงกว่าเชื้อเพลิงอื่น ๆ แต่ใช่ว่าในเบื้องแรกพวกเขาจะไม่ตระหนักถึงหมอกควันที่เกิดจากการเผาถ่านหิน เพราะมีบันทึกว่าในปี ค.ศ. 1272 ได้มีประกาศจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ห้ามเผาถ่านหินเนื่องจากหมอกและควันที่เกิดขึ้นนั้นสร้างมลภาวะให้เกิดขึ้นกับชาวลอนดอน โดยคาดโทษถึงประหารชีวิต แต่นั่นก็ไม่สามารถควบคุมได้จริง เพราะประชาชนจำนวนมากไม่มีทางเลือกอื่น 

จนมาในศตวรรษที่ 19 สหราชอาณาจักร ได้กลายมาเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ของโลก เพราะในการปฏิวัติอุตสาหกรรม ถ่านหินคือพลังงานปัจจัยหลักที่อยู่ในเกือบทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องจักรไอน้ำ เป็นแหล่งกำเนิดกระแสไฟฟ้า อยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชนไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาหาร เครื่องทำความร้อนในบ้าน ผสมกับภาพปกติของกรุงลอนดอนนั้นมักจะถูกหมอกปกคลุมทั่วเมืองเป็นที่คุ้นเคย ยิ่งอากาศหนาวเย็นลงเท่าไหร่ บ้านเรือนต่าง ๆ ก็โหมใช้ถ่านหินมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะการนำเอาถ่านหินคุณภาพต่ำมาใช้กันเป็นวงกว้าง ซึ่งถ่านหินเหล่านี้มีส่วนประกอบของซัลเฟอร์ไดออกไซด์อยู่ในปริมาณสูง และยังมีคาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ รวมไปถึงสารพิษต่างๆ เมื่อหมอกผสานกับละอองฝุ่นพิษจึงไม่เป็นที่สนใจหรือระแวดระวัง เพราะมันค่อย ๆ สะสมที่ละเล็กน้อยยังไม่เห็นเป็นภาพใหญ่อย่างชัดเจน อีกทั้งละอองฝุ่นและหมอกควันพิษตามปกติก็จะลอยไปในอากาศ ก่อนจะถูกลมพัดพาไปที่อื่น 

จนมาถึงในวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1952 ลอนดอนในเวลานั้นต้องเผชิญกับภาวะความกดอากาศสูง 'anticyclone' ก่อให้เกิดความผกผันของอุณหภูมิ อากาศร้อนถูกดันขึ้นด้านบน แทนที่ด้วยอากาศเย็นที่ควบแน่นไอน้ำเกิดเป็นหมอก ปกคลุมกรุงลอนดอนเหมือนถูกครอบด้วยโดมขนาดใหญ่ ด้านบนก็ไม่มีลมพัด ทำให้อากาศและสารพิษต่างๆ ถูกกดกักไว้ ไม่สามารถลอยตัวขึ้นสู่ท้องฟ้าด้านบน ทำให้เกิดอนุภาคคงค้างอยู่ในอากาศผสมกับหมอกปกติเกิดเป็นหมอกฝุ่นพิษสีอมเหลืองที่เรียกว่า 'หมอกซุปถั่ว' (Pea-Soupers) ที่สร้างปัญหาทางระบบหายใจให้ผู้คนในลอนดอน อีกทั้งยังเกิดเป็นหมอกปกคลุมจนลดวิสัยทัศน์เหลือเพียงแค่การมองเห็นเพียงไม่กี่เมตร ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 9 ธันวาคม ค.ศ. 1952 เพียงแค่ 5 วัน แต่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 12,000 คน เหตุการณ์นี้ได้ชื่อว่า 'Great Smog of London' ซึ่งส่งผลกระทบต่อสหราชอาณาจักรมาอีกหลายปี 

'Great Smog of London' เกิดขึ้นในยุคของนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ว่ากันว่าก่อนจะเกิดเหตุ เอกสารรายงานที่เตือนถึงสถานการณ์ไม่ได้ถูกส่งถึงเชอร์ชิล แต่กลับถูกส่งไปยังผู้นำฝ่ายค้านโดยหนึ่งในทีมงานเลขาที่เปหนอนบ่อนไส้ของเชอร์ชิล เพื่อหวังจะใช้โจมตีเขาให้ลงจากตำแหน่ง ขณะนั้นเขาอายุ 78 ปีแล้ว แต่ยังกุมอำนาจการบริหารไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ การเอาสถานการณ์นี้มาใช้ลดแรงสนับสนุนจึงเป็นอาวุธสำคัญ เพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรีเฒ่าแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกทาง ซึ่งมันก็ได้ผล เพราะนักการเมืองในสภา บุคลากรทางสาธารณสุข ประชาชนบางส่วน เริ่มตั้งคำถามซ้ำเติมด้วยการโจมตีของสื่อ และนักการเมืองฝั่งตรงข้าม ว่าตัวเขาน่าจะแก่จนทำให้เชื่องช้า เงอะงะ เกินกว่าจะมาแก้ไขสถานการณ์แล้วกระมัง 

แต่มีเรื่องเล่ากันว่าหลังจากที่เหตุการณ์ผ่านไปอยู่หลายวัน เจ้าหน้าที่หลายคนของเชอร์ชิลได้หายหน้าไปจากบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ซึ่งเขาได้ทราบว่าเจ้าหน้าที่หลายคนต้องไปโรงพยาบาลเนื่องจากป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ และบางคนได้ประสบอุบัติเหตุจากสภาพวิสัยทัศน์ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทีมเลขาของเขาที่ต้องเสียชีวิตลงเพราะอุบัติเหตุ เขาจึงได้เดินทางไปโรงพยาบาลด้วยตนเอง เพื่อไปให้เห็นกับตาว่าเจ้าฝุ่นพิษจากหมอกควันที่เขามองว่าธรรมดานั้นเป็นตัวการก่อให้เกิดมหันตภัยกับผู้คนจริงหรือไม่? 

นับว่าการตัดสินไปโรงพยาบาลของเชอร์ชิลในครั้งนั้นได้ตอบคำถามให้กับเขา เพราะเขาได้ไปพบความโกลาหลของแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการสูดละอองฝุ่นพิษเข้าไป และผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากอุบัติเหตุ การปล้นจี้ ทำร้ายร่างกาย รวมไปถึงร่างของผู้เสียชีวิตที่มีอยู่จำนวนมาก จากภาพที่ประสบต่อหน้า ทำให้เขาตัดสินใจแถลงข่าวในทันที โดยเขาได้สั่งการให้เพิ่มงบประมาณและจำนวนบุคลากรภายในสถานพยาบาล ยุติการทำงานของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อลดการปล่อยฝุ่นควันสู่อากาศชั่วคราว ปิดโรงเรียน และหยุดสถานประกอบการในบางส่วนเพื่อให้ลดการสูญเสีย 

อ่านกันเพลิน ๆ เหมือน วินสตัน เชอร์ชิล จะเป็นฮีโร่ ซึ่งในข้อมูลหลายชุดก็ไม่ได้ชี้ชัดว่านายกรัฐมนตรีของอังกฤษท่านนี้รู้หรือไม่รู้ถึงปัญหา ถ้าไม่รู้ก็น่าจะพิจารณาได้จากปัญหาอยู่ตรงหน้า แต่กลับเลือกที่จะเมินเฉยเพราะมองว่าสถานการณ์ไม่ได้รุนแรง ถ้ารู้ซึ่งผมเชื่อว่าคนระดับนี้เขาน่าจะรู้เรื่องของละอองฝุ่นและหมอกควันพิษมาตั้งแต่เริ่ม แต่กำลังดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะหากไปแก้ไขแล้วแก้ไม่ถูกจุด แก้ไม่ได้ก็อาจจะทำให้เขากลายเป็นเป้าของนักการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งเอาสุขภาพของประชาชนมาเป็นตัวประกัน หรือถ้าสถานการณ์มันคลี่คลายไปก่อนที่เขาจะทำอะไร ก็เท่ากับไปสร้างปัญหากับเรื่องธรรมดาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ สรุปคือเมื่อเวลาสุกงอมจนได้ที่เขาก็เลยมาจัดการปัญหา ซึ่งปัญหาที่เขาจัดการคือเรื่องของ 'จิตใจ' ที่จัดการด้วยธรรมชาติไม่ได้ ไม่ใช่ 'ละอองฝุ่นและหมอกควันพิษ' ที่เขาน่าจะรู้แล้วว่า 'ลม' จะมาจัดการให้หายไป 

หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้รัฐบาลอังกฤษได้ออกกฎหมาย Clean Air Act (1956) เพื่อควบคุมการปล่อยควันจากโรงงานอุตสาหกรรมและส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น มีการกำหนดมาตรการควบคุมการใช้ถ่านหิน จำกัดการเผาถ่านหินในเขตเมือง ส่งเสริมการให้เกิดการใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทางเลือก แต่กระนั้นผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนั้นก็สั่นคลอนเสถียรภาพด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของสหราชอาณาจักรมาอีกหลายปี

จากเศรษฐกิจพอเพียงของ ร.9 สู่ ‘ลากอม - สวีเดน บทเรียนแห่งความพอดีของโลกตะวันออกและตะวันตก

(27 ม.ค. 68) ในปัจจุบันมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ชอบแอบอ้างแนวคิดสังคมนิยมของสวีเดนมาใช้เป็นเครื่องมือทางวาทกรรม โดยกล่าวหาว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นสิ่งที่ไม่ทันสมัยและไม่สามารถอยู่ร่วมกับสังคมยุคใหม่ได้ แต่สิ่งที่พวกเขาเลือกจะมองข้าม คือรากฐานสำคัญของสวีเดนเองที่สะท้อนความพอเพียงอย่างชัดเจนผ่านแนวคิด "ลากอม" (Lagom) ซึ่งสอดคล้องอย่างมากกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ลากอม : พื้นฐานของความสมดุลในสังคมสวีเดน
"ลากอม" เป็นวิถีชีวิตของชาวสวีเดนที่มุ่งเน้นความพอดีในทุกด้าน ไม่มากไป ไม่น้อยไป ซึ่งถือเป็นหัวใจของความสำเร็จในระบบสังคมนิยมของสวีเดนเอง แนวคิดนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการกระจายความมั่งคั่ง แต่ยังรวมถึงการใช้ชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและสิ่งแวดล้อม

คำว่า "ลากอม" (Lagom) มีรากฐานทางภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ซึ่งช่วยอธิบายว่าทำไมแนวคิดนี้จึงฝังรากลึกในชีวิตของชาวสวีเดนมาตั้งแต่โบราณ

รากของคำว่า "ลากอม" ต้นกำเนิดจากภาษาสวีเดนโบราณ คำว่า "ลากอม" มาจากคำว่า “laget om” ในภาษาสวีเดนยุคเก่า ซึ่งหมายถึง "รอบวง" หรือ "แบ่งปันในกลุ่ม" แนวคิดนี้เกิดจากประเพณีการแบ่งปันทรัพยากรในสังคมยุคก่อน เช่น เมื่อสมาชิกในชุมชนดื่มจากแก้วเดียวกัน ทุกคนจะต้องดื่มในปริมาณที่พอดี เพื่อให้ทุกคนในกลุ่มได้มีส่วนร่วมและได้รับอย่างเท่าเทียม

วิถีชีวิตในสังคมเกษตรกรรม ในอดีต สวีเดนเป็นสังคมเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติและทรัพยากรอย่างจำกัด การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ การใช้ชีวิตแบบ "ลากอม" จึงเกิดขึ้นจากความจำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น การเพาะปลูก การล่าสัตว์ และการเก็บเกี่ยวที่ต้องใช้วิจารณญาณและความพอดี

รากฐานทางจิตวิญญาณและศาสนา แนวคิด "ลากอม" ยังมีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดทางศาสนาคริสต์ในยุโรปเหนือ ซึ่งสอนเรื่องการหลีกเลี่ยงความโลภ (Greed) และการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ชาวสวีเดนถูกปลูกฝังให้เชื่อว่าความสุขที่แท้จริงไม่ได้มาจากการสะสมทรัพย์สิน แต่คือการพอใจกับสิ่งที่ตนมี

การเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ธรรมชาติที่รุนแรงในสวีเดน เช่น ฤดูหนาวอันยาวนาน ทำให้คนในอดีตต้องวางแผนการใช้ทรัพยากรและสร้างสมดุลในชีวิต การไม่ใช้เกินความจำเป็นเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย

ลากอม : รากฐานในวัฒนธรรมร่วมสมัย
ในยุคปัจจุบัน แนวคิดลากอมยังคงมีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมสวีเดน โดยสะท้อนผ่านหลายด้านของชีวิต เช่น:

การออกแบบ (Design): สไตล์สแกนดิเนเวียนที่เรียบง่าย เน้นความพอดีและประโยชน์ใช้สอย
การทำงาน: วัฒนธรรมองค์กรในสวีเดนให้ความสำคัญกับการมีสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว
การบริโภค: การลดการใช้ทรัพยากรอย่างไม่จำเป็น และสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน
บทเรียนจากรากของลากอม สิ่งที่ลากอมสอนเราไม่ใช่แค่การใช้ชีวิตแบบพอประมาณ แต่ยังสอนเรื่อง การคำนึงถึงผู้อื่นและส่วนรวม ซึ่งเป็นแก่นสำคัญของการสร้างสังคมที่สมดุลและยั่งยืน การแบ่งปัน การใช้ชีวิตอย่างมีสติ และการเคารพทรัพยากรธรรมชาติ เป็นหัวใจของแนวคิดที่ช่วยให้ชาวสวีเดนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

ดังนั้น "ลากอม" ไม่ใช่แค่คำพูดหรือแนวคิดในตำรา แต่คือการปฏิบัติจริงที่เชื่อมโยงระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อสร้างชีวิตที่สมดุลและยั่งยืนทั้งในระดับบุคคลและสังคมโดยรวม

ตัวอย่างของลากอมในชีวิตประจำวันของชาวสวีเดน ได้แก่:

การบริโภคอย่างยั่งยืน : ชาวสวีเดนมุ่งเน้นการซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็นและลดของเสีย
การทำงานสมดุลกับชีวิตส่วนตัว : มีการจัดเวลาเพื่อครอบครัวและสุขภาพจิต
ความรับผิดชอบต่อสังคม : ช่วยเหลือเพื่อนบ้านและสนับสนุนการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เศรษฐกิจพอเพียงและลากอม : เส้นทางที่มาบรรจบกัน
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีความคล้ายคลึงกับลากอมในหลายแง่มุม โดยเน้นการพึ่งพาตนเอง การวางแผนชีวิตที่ไม่เกินตัว และการสร้างความสมดุลในชีวิตและธรรมชาติ ความแตกต่างอยู่ที่เศรษฐกิจพอเพียงมีรากฐานจากสังคมเกษตรกรรมและการพัฒนาชุมชน ขณะที่ลากอมเน้นบริบทของสังคมเมืองที่พัฒนาแล้ว แต่ทั้งสองแนวคิดล้วนยึดหลักการเดียวกัน: ความพอดีเพื่อความยั่งยืน

คำเตือน : การบิดเบือนข้อเท็จจริง
สิ่งที่น่ากังวลคือ การที่บางกลุ่มพยายามแอบอ้างสวีเดนในแง่ของสังคมนิยม โดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อโจมตีเศรษฐกิจพอเพียง พวกเขาเลือกเน้นเฉพาะเรื่องของรัฐสวัสดิการ แต่กลับละเลยว่าความสำเร็จของสวีเดนนั้นมีรากฐานจากแนวคิดลากอมซึ่งส่งเสริมความพอเพียงในระดับปัจเจก

การละเลยลากอมในวาทกรรมนี้จึงเป็นการมองสวีเดนเพียงด้านเดียว โดยไม่เข้าใจว่าความยั่งยืนของประเทศนี้ไม่ได้มาจากการแจกจ่ายทรัพยากรเพียงอย่างเดียว แต่คือการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนรู้จักพอประมาณในทุกด้าน

บทสรุป
การยกเอาสวีเดนเป็นตัวอย่างในเรื่องระบบสังคมนิยม จำเป็นต้องเข้าใจถึงรากฐานทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวสวีเดน ซึ่งสะท้อนผ่านแนวคิดลากอม แนวคิดนี้ไม่ได้ต่างจากเศรษฐกิจพอเพียงของไทยในแก่นแท้ หากเราเปิดใจเรียนรู้และมองสิ่งเหล่านี้อย่างสมดุล จะพบว่าทั้งสองแนวคิดล้วนชี้ให้เราเห็นถึงความสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างพอดีและรับผิดชอบ

"ความพอเพียงไม่ได้ถูกผูกขาดโดยชนชั้นหรือชาติใด แต่คือความจริงที่ทุกสังคมควรเรียนรู้และยึดถือร่วมกัน"

การเมืองโลกในมือ Elon Musk : ชายผู้สร้างระเบียบใหม่ด้วยวิสัยทัศน์แห่ง ‘Tony Stark’ สร้างนวัตกรรม!! การใช้เทคโนโลยี เพื่อเปลี่ยนแปลง เกมการเมืองระดับโลก

(26 ม.ค. 68) ในยุคที่ระเบียบโลกเดิมกำลังสั่นคลอน แนวคิดใหม่ที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี ความเป็นผู้นำ และการปรับโครงสร้างประชากรกำลังก้าวขึ้นมาแทนที่ ในศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงนี้คือ Elon Musk ผู้ถูกขนานนามว่า "Tony Stark ในชีวิตจริง" ด้วยความสามารถในการสร้างนวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนแปลงเกมการเมืองระดับโลก

การเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก: จากเสรีนิยมสู่ประชานิยม

ยุคที่เสรีนิยมครองโลกกำลังถูกท้าทายจากแนวคิดประชานิยมและชาตินิยมที่กลับมามีบทบาทอีกครั้ง Musk ไม่ใช่แค่ผู้นำทางเทคโนโลยี แต่ยังเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการเมืองของฝ่ายขวาในโลกตะวันตก เขาได้แสดงการสนับสนุนต่อ Donald Trump และความเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายขวาในยุโรป เช่น พรรค Alternative für Deutschland (AfD) ในเยอรมนี ผ่านการใช้แพลตฟอร์ม X (ชื่อเดิม Twitter) ซึ่ง Musk เป็นเจ้าของ

นอกจากนี้ Musk ยังใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวเพื่อสนับสนุน "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น" ซึ่งช่วยให้เสียงของฝ่ายขวาโดดเด่นขึ้นในเวทีการเมืองโลก ขณะเดียวกัน แนวคิดนี้ยังเป็นตัวเร่งที่ทำให้แนวคิดเสรีนิยมดั้งเดิมเริ่มเสื่อมถอยลง

ประชากรศาสตร์: กุญแจสำคัญในระเบียบโลกใหม่

Musk เน้นว่าการแก้ปัญหาประชากรโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เขาสนับสนุนนโยบายที่กระตุ้นอัตราการเกิด เช่น การให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ครอบครัวที่มีลูก ขณะเดียวกัน Musk ยังเคยวิพากษ์แนวคิด "Woke Culture" ที่รวมถึงประเด็น LGBTQ+ ว่าอาจส่งผลทางอ้อมต่อการลดลงของอัตราการเกิด

แนวคิดของ Musk คือการผลักดันให้รัฐบาลส่งเสริมครอบครัวและสร้างโครงสร้างประชากรที่มั่นคง เพื่อสร้างรากฐานสำหรับอนาคตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน

การรุกสู่ TikTok: ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ และโอกาสของ Elon Musk

สถานการณ์ของ TikTok ในสหรัฐอเมริกาเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสื่อสังคมยอดนิยมที่มีเจ้าของคือ ByteDance บริษัทสัญชาติจีน ได้เผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกแบนในสหรัฐฯ เนื่องจากข้อกังวลด้านความมั่นคง

ล่าสุด ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ได้กำหนดเส้นตายให้ ByteDance ต้องขายกิจการในสหรัฐฯ ภายในเดือนมกราคม 2025 หากไม่ปฏิบัติตาม TikTok จะถูกแบนจากตลาดอเมริกา ท่ามกลางสถานการณ์นี้ มีการคาดการณ์ว่า Elon Musk อาจเป็นผู้ซื้อ TikTok เพื่อหลีกเลี่ยงการแบน ข้อมูลจากรายงานยังระบุว่า จีนเองก็กำลังพิจารณาขายกิจการ TikTok ให้กับ Musk หรือบุคคลสำคัญอื่นๆ เช่น Larry Ellison เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแพลตฟอร์มในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า Musk ได้มีการเสนอซื้อ TikTok แต่นี่คือสัญญาณชัดเจนถึงบทบาทของ Musk ในการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางเทคโนโลยีและการเมือง

เทคโนโลยี: เครื่องมือเปลี่ยนเกมการเมือง

นวัตกรรมที่ Musk สร้างขึ้น เช่น ดาวเทียม Starlink หรือโครงการยานอวกาศ SpaceX ไม่ได้มีแค่บทบาทด้านเทคโนโลยี แต่ยังส่งผลต่อการเมืองโลกโดยตรง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการใช้ Starlink ในสงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งช่วยให้การสื่อสารยังคงดำเนินต่อได้ในพื้นที่สงคราม

เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงแต่แสดงถึงศักยภาพของ Musk ในฐานะนักนวัตกรรม แต่ยังสะท้อนถึงความสามารถของเขาในการสร้างผลกระทบต่อระเบียบโลก

การวางรากฐานระเบียบใหม่

Elon Musk ไม่ใช่แค่นักนวัตกรรม แต่เขาคือผู้วางแผนระเบียบโลกใหม่ที่เน้นการรวมพลังของประชากร เทคโนโลยี และการเมือง การสนับสนุนของเขาต่อแนวคิดประชานิยมและการท้าทายเสรีนิยมทำให้ระเบียบโลกเก่ากำลังถูกเขย่า ขณะเดียวกัน เขาได้สร้างภาพลักษณ์ของผู้นำที่ไม่เพียงแค่แก้ปัญหา แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกอย่างยั่งยืน

บทสรุป
Elon Musk ไม่ได้เป็นเพียง ‘Tony Stark’ ของโลกเทคโนโลยี แต่ยังเป็นสถาปนิกแห่งระเบียบโลกใหม่ การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากแนวคิดที่เน้นการปรับโครงสร้างประชากร การเปลี่ยนสมดุลอำนาจทางการเมือง และการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง Musk กำลังเขียนอนาคตของโลกด้วยมือของเขาเอง

‘Casino’ สถานที่เล่นพนันถูกกฎหมายหากเกิดขึ้นจริง ‘ดี’ หรือ ‘ร้าย’ ต่อสังคมไทย สุดท้ายต้องพิจารณาในทุกมิติ

‘Casino’ กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่สังคมไทยกำลังพูดถึง หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการ ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (ENTERTAINMENT COMPLEX) โดยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำไปปรับปรุงรายละเอียด ก่อนส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ซึ่งรัฐบาลได้ยืนยันว่า ‘ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร’ จะมีการอนุญาตให้เปิด ‘Casino’ ด้วย จะทำให้ประเทศเติบโตและมีตัวเลข GDP สูงขึ้นอย่างมาก และจะทำให้เกิดผลดีให้กับประเทศในอนาคต

‘Casino’ เป็นสถานที่สำหรับการพนัน มักสร้างขึ้นใกล้หรือรวมกับโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก เรือสำราญ หรือแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ‘Casino’ หลายแห่งยังเป็นที่รู้จักในสถานะสถานที่จัดงานบันเทิงแสดงสด อาทิ ละคร คอนเสิร์ต และกีฬา ฯลฯ ‘Casino’ แห่งแรกของยุโรปที่แม้จะไม่ได้เรียกว่า ‘Casino’ แต่มีลักษณะตรงตามคำจำกัดความในปัจจุบันคือ ‘Ridotto’ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ในปี 1638 โดยมติของที่ประขุมใหญ่แห่งสภาเมืองเวนิสเพื่อควบคุมการพนันในช่วงเทศกาลคาร์นิวัล บ่อนแห่งนี้ถูกปิดตัวลงในปี 1774 เนื่องจากสภาเมืองเวนิสได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กิจการของ ‘Ridotto’ ทำให้ประชาชนพลเมืองชาวเวนิสนั้นต่างพากันยากจนลง

ปัจจุบัน การพนันเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกและมี ‘Casino’ อยู่ในเกือบทุกประเทศ สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในการแข่งขัน ‘Casino’ มากที่สุดในโลก ตามข้อมูลของ WorldCasinoDirectory สหรัฐอเมริกามี ‘Casino’ ที่ได้รับอนุญาต 2,147 แห่งและโรงแรม ‘Casino’ 619 แห่งในเมืองการพนัน 920 เมือง ตามข้อมูลของสมาคมการพนันของอเมริกา ตลาดการพนันในสหรัฐอเมริกามีส่วนสนับสนุนต่อเศรษฐกิจเกือบ 261 พันล้านดอลลาร์ต่อปีและรองรับการจ้างงาน 1.8 พันล้านตำแหน่งทั่วประเทศ ตามหลังสหรัฐอเมริกา โรมาเนียเป็นผู้นำในการแข่งขันที่มี ‘Casino’ มากที่สุดในโลก โดยมี ‘Casino’ ทั้งหมด 454 แห่ง ตามมาด้วยสาธารณรัฐเช็ก สเปน และสหราชอาณาจักร โดยมี ‘Casino’ 423, 314 และ 309 แห่ง ตามลำดับ

ศูนย์กลางการพนันสองแห่งของโลกได้แก่ มาเก๊า และลาสเวกัส ‘มาเก๊า’ ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษของจีนเป็นสถานที่เดียวในประเทศจีนที่ ‘Casino’ ถูกกฎหมาย การพนันถูกกฎหมายมาตั้งแต่ทศวรรษ 1850 เมื่อ รัฐบาล โปรตุเกสประกาศให้กิจกรรมในอาณานิคมปกครองตนเองแห่งนี้ถูกกฎหมาย หลังจากการส่งมอบมาเก๊าจากโปรตุเกสให้จีน มาเก๊าและธุรกิจได้เติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2001 เมื่อรัฐบาลยุติการผูกขาดการพนันที่กินเวลานานสี่ทศวรรษของ Stanley Ho มหาเศรษฐีชาวฮ่องกง ด้วยการเข้ามาของ ‘Casino’ ต่างชาติขนาดใหญ่ จากลาสเวกัสและออสเตรเลีย ปัจจุบันมาเก๊าแซงหน้าลาสเวกัสในด้านรายได้จากการพนันในปี 2007 และตั้งแต่นั้นมา มาเก๊าก็เป็นที่รู้จักทั่วโลกในฐานะ 'เมืองหลวงแห่งการพนันของโลก' โดยทำรายได้จากการพนันสูงสุด แซงหน้าเมืองการพนันอื่น ๆ ไปอย่างมาก มาเก๊ามี ‘Casino’ 49 แห่ง และโรงแรม ‘Casino’ อีก 58 แห่ง สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานว่า รายได้ของ ‘Casino’ ในมาเก๊าพุ่งสูงขึ้น 366% เมื่อเทียบเป็นรายปีเป็น 1.93 พันล้านดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม 2023 ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงการพนันเป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของมาเก๊าคิดเป็นประมาณ 50% ของเศรษฐกิจ โดยนักท่องเที่ยวเพื่อการพนันส่วนใหญ่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง

ลาสเวกัส มลรัฐเนวาดา เป็นเมืองที่มี ‘Casino’ มากที่สุดในโลก ข้อมูลจำนวน ‘Casino’ จาก WorldCasinoDirectory ระบุว่า ลาสเวกัสมี ‘Casino’ มากกว่า 170 แห่ง และโรงแรม ‘Casino’ อีกมากกว่า 90 แห่ง ในขณะที่มลรัฐเนวาดาโดยรวมมี ‘Casino’ ที่ได้รับอนุญาต 404 แห่ง และโรงแรม ‘Casino’ รวม 178 แห่งใน 45 เมืองของมลรัฐนี้ ตามรายงานของสมาคมการพนันของอเมริกา มลรัฐเนวาดามีรายได้จากการพนันเชิงพาณิชย์รายเดือน 1.15 พันล้านดอลลาร์ในเดือนเมษายน 2023 เนวาดาจึงเป็นมลรัฐเดียวที่มีรายได้เกิน 1 พันล้านดอลลาร์ในขณะที่รายได้รายเดือนของมลรัฐอื่น ๆ ทั้งหมดในเดือนเดียวกันน้อยกว่า สำหรับ ลาสเวกัสและมาเก๊าจึงเป็นเพียงสองเมืองการพนัน (Casino city) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า ‘Casino’ มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอาชญากรอย่างแน่นอน โดย ‘Casino’ ในลาสเวกัสยุคเริ่มแรกนั้นถูกครอบงำและบงการโดยกลุ่มมาเฟียอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียน และ ‘Casino’ ในมาเก๊าถูกครอบงำและบงการโดยกลุ่มสามก๊ก (Macau Triads) ตามรายงานของตำรวจสหรัฐฯ ระบุว่า อาชญากรรมในพื้นที่ที่มี ‘Casino’ มักเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหรือสามเท่าภายในสามปีหลังจาก ‘Casino’ เปิดทำการ ในรายงานปี 2004 ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ นักวิจัยได้สัมภาษณ์ผู้ที่ถูกจับกุมในลาสเวกัสและเดส์โมนส์ และพบว่าเปอร์เซ็นต์ของนักพนันที่มีปัญหาหรือเป็นโรคในกลุ่มผู้ถูกจับกุมนั้นสูงกว่าประชากรทั่วไปถึงสามถึงห้าเท่า

ท่ามกลางความกังวลของคนในสังคมในเรื่องของ ‘Casino’ ซึ่งจะรวมอยู่ใน “ENTERTAINMENT COMPLEX” นั้น จะส่งผลอย่างไรต่อสังคมไทยโดยรวม จึงเป็นปัญหาและประเด็นพิจารณาที่พี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศจะต้อง พินิจ พิจารณา ไตร่ตรอง และใคร่ครวญ เป็นอย่างดีที่สุด ด้วยเพราะความจริงก็คือ ‘การพนัน’ นั้นเป็นข้อหนึ่งใน 'อบายมุข 6' หรือ วิถีชีวิต 6 อย่าง แห่งความโลภ และความหลงที่ทำให้เกิดความเสื่อม ความฉิบหายของชีวิต อันประกอบด้วย
1. ดื่มน้ำเมา (Addiction to intoxicants) คือ พฤติกรรมชอบดื่มสุราเป็นนิจ
2. เที่ยวกลางคืน (Roaming the streets at unseemly hours) คือ พฤติกรรมชอบเที่ยวกลางคืนเป็นนิจ
3. เที่ยวดูการละเล่น (Frequenting shows) คือ พฤติกรรมชอบเที่ยวดูการแสดงหรือการละเล่นเป็นนิจ
4. เล่นพนัน (Indulgence in gambling) คือ พฤติกรรมชอบ เล่นพนันเป็นนิจ
5. คบคนชั่วเป็นมิตร (Association with bad companions) คือ พฤติกรรมชอบคบหาคนพาลเป็นนิจ
6. เกียจคร้านการงาน (Habit of idleness) คือ พฤติกรรมชอบเกียจคร้านในการงานเป็นนิจ

แม้ว่า รัฐบาลและฝ่ายที่สนับสนุนจะได้หยิบยกประโยชน์มากมายจากการให้มี ‘Casino’ ใน ‘ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร’ แต่พิษภัยและโทษของการพนันนั้นมีมากมายได้แก่ การสูญเสียเงินหรือความเสียหายทางการเงินเป็นความเสียหายจากการพนันเป็นอันดับแรก เมื่อนึกถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการพนัน อย่างไรก็ตาม ยังมีอันตรายประเภทอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้ที่ เล่นพนัน อันตรายเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อผู้ที่ เล่นพนันมากขึ้น เล่นพนันบ่อยขึ้น หรือมีลักษณะอื่น ๆ ที่ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงต่ออันตรายจากการพนันมากขึ้น ความเสี่ยงต่ออันตรายต่าง ๆ ในการ เล่นพนัน ได้แก่ :
1. ความเสียหายทางการเงิน การกัดเซาะการเก็บออม นำไปสู่การล้มละลาย
2. ความขัดแย้งในความสัมพันธ์ การละเลยความสัมพันธ์กับคนสำคัญ ลูก ๆ ญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูง
3. ความทุกข์ทางอารมณ์หรือจิตใจจากการแยกตัวออกจากสังคมปกติ รู้สึกผิด เหงา และโดดเดี่ยว มีการรับรู้ที่ผิดเพี้ยน และอาจกลายเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย
4. ประเด็นด้านสุขภาพ ระดับการดูแลตนเองลดลง การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การใช้สารเสพติดผิดกฎหมาย

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีโอกาสที่จะป่วยด้วยโรคชนิดนี้อีกด้วย ‘โรคติดการพนัน’ (Pathological Gambling หรือ Gambling Disorder) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการ เล่นพนันที่ซ้ำซากและต่อเนื่อง แม้ว่าการพนันจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายในหลายด้านของชีวิตก็ตาม ซึ่งบุคคลในทุกช่วงวัยอาจประสบปัญหาจากโรคติดการพนัน ผู้ที่ประสบปัญหาจากโรคติดการพนันจะมีปัญหาในการควบคุมจิตใจต่อการเล่นพนัน บุคคล ครอบครัว และสังคม ย่อมได้รับผลกระทบจากโรคติดการพนัน

ผู้ที่มีอาการติดการพนันอาจมีช่วงที่อาการทุเลาลง การพนันอาจดูไม่เป็นปัญหาในช่วงที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น โดยอายุที่น้อยกว่าและเพศชายอาจเป็นปัจจัยเสี่ยง แต่อาการของโรคติดการพนันอาจเริ่มได้ในทุกช่วงอายุ ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเริ่ม เล่นพนันในช่วงอายุน้อยกว่าผู้หญิง แต่ผู้หญิงอาจพัฒนาไปสู่ปัญหาการพนันได้เร็วกว่ามาก บาดแผลทางจิตใจและความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม โดยเฉพาะในผู้หญิง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงได้เช่นกัน รายได้ต่ำ การว่างงาน และความยากจนยังเชื่อมโยงกับโรคติดการพนันอีกด้วย ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนคนที่มีปัญหาติดการพนันได้รับการแสดงให้เห็นว่า มีความเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของโอกาสในการ เล่นพนัน

การรักษาโรคติดการพนัน บางคนสามารถเลิกเล่นพนันได้ด้วยตนเอง แต่หลายคนต้องการความช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาการพนันของตนเอง มีเพียง 1 ใน 10 คนที่มีอาการติดการพนันเท่านั้นที่เข้ารับการบำบัด การพนันส่งผลต่อผู้คนในรูปแบบต่าง ๆ การพนันสามารถเปลี่ยนส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับการได้รับรางวัลหรือความตื่นเต้นได้ การรักษาอาการผิดปกติจากการพนันสามารถช่วยย้อนกลับเส้นทางเหล่านี้ให้กลับมาทำงานตามปกติของสมองก่อนเริ่ม เล่นพนันได้ วิธีการที่แตกต่างกันอาจได้ผลดีกว่าสำหรับคนต่างกลุ่ม การบำบัดหลายประเภทถูกนำมาใช้เพื่อรักษาอาการผิดปกติจากการพนัน รวมถึงการบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา การบำบัดแบบจิตวิเคราะห์ การบำบัดแบบกลุ่ม และการบำบัดครอบครัว

การให้คำปรึกษาสามารถช่วยให้ผู้คนเข้าใจในเรื่องของการเล่นพนัน และได้คิดว่า การเล่นพนันส่งผลต่อพวกเขาและครอบครัวอย่างไร นอกจากนี้ยังสามารถช่วยให้ผู้คนพิจารณาทางเลือกและแก้ไขปัญหาได้อีกด้วย ปัจจุบันยังไม่มียาที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับรักษาอาการผิดปกติจากการเล่นพนัน ยาบางชนิดอาจช่วยรักษาอาการที่เกิดร่วมกัน เช่น ภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล การสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อน ๆ อาจมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวจากโรคติดการพนัน

ผลกระทบของ ‘Casino’ ต่อเมืองและชุมชนนั้น แม้จะมีทั้งผลดีและผลเสีย แต่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น บริบทเฉพาะของสถานที่ กฎระเบียบที่ใช้ และวิธีดำเนินงานของ ‘Casino’ ต่อไปนี้คือประเด็นสำคัญบางประการสำหรับทั้งผลดีและผลเสีย :

ประโยชน์ของ ‘Casino’
การเติบโตทางเศรษฐกิจ :
-​การสร้างงาน: ‘Casino’ มักสร้างงานจำนวนมาก ทั้งโดยตรง (เช่น ในอุตสาหกรรมเกม การบริการ) และโดยอ้อม (เช่น ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง การบำรุงรักษา และบริการในท้องถิ่น)

-​การท่องเที่ยว: ‘Casino’ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ช่วยส่งเสริมธุรกิจในท้องถิ่น เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และร้านค้า
-​รายได้จากภาษี: เงินทุนสาธารณะ: ‘Casino’ มีส่วนสนับสนุนรายได้จากภาษีในท้องถิ่นและของรัฐ ซึ่งสามารถนำไปใช้เพื่อบริการสาธารณะ เช่น การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และการดูแลสุขภาพ

การพัฒนาเมือง :
-​การฟื้นฟู: ในบางกรณี ‘Casino’ สามารถนำไปสู่การฟื้นฟูพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นและพื้นที่สาธารณะได้รับการปรับปรุง
-​เพิ่มตัวเลือกความบันเทิง: ​‘Casino’ มักเสนอตัวเลือกความบันเทิงต่าง ๆ รวมถึงการแสดง ร้านอาหาร และสถานบันเทิงยามค่ำคืน ซึ่งช่วยเสริมวัฒนธรรมของเมือง

อันตรายจาก ‘Casino’
-​การติดการพนัน: ปัญหาทางสังคม: การเข้าถึงการพนันที่มากขึ้นอาจนำไปสู่อัตราการติดการพนันที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อบุคคลและครอบครัว รวมถึงความล้มละลายทางการเงินและปัญหาสุขภาพจิต

-​อัตราการเกิดอาชญากรรม: อาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น: การศึกษาวิจัยบางกรณีชี้ให้เห็นว่า ‘Casino’ อาจนำไปสู่อัตราการเกิดอาชญากรรมที่สูงขึ้น รวมถึงการโจรกรรมและอาชญากรรมรุนแรง ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการพนัน
-​การอพยพทางเศรษฐกิจ: ธุรกิจในท้องถิ่น: แม้ว่า ‘Casino’ จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ แต่ก็อาจสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจในท้องถิ่นที่ไม่สามารถแข่งขันกับทรัพยากรและการตลาดของ ‘Casino’ ได้

-​ต้นทุนทางสังคม: ความตึงเครียดในชุมชน: ต้นทุนทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการติดการพนันและปัญหาที่เกี่ยวข้องอาจกดดันทรัพยากรของชุมชน รวมถึงการดูแลสุขภาพและบริการทางสังคม ความไม่เท่าเทียมกัน

-ผลกระทบที่ไม่สมส่วน: ผลกระทบเชิงลบของการพนันมักส่งผลกระทบต่อชุมชนที่มีรายได้น้อยอย่างไม่สมส่วน ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันและการแบ่งชั้นทางสังคมมากขึ้น

‘Casino’ จะมีประโยชน์หรือเป็นอันตรายต่อเมืองและชุมชนมากกว่ากันนั้น ขึ้นอยู่กับว่าผลประโยชน์ที่อาจจะได้รับการจัดการดีเพียงใด และผลกระทบเชิงลบได้รับการบรรเทาลงเพียงใด กฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพ โปรแกรมสนับสนุนชุมชน และโครงการการพนันอย่างรับผิดชอบมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มผลประโยชน์สูงสุด ในขณะที่ต้องลดภัยอันตรายต่าง ๆ ให้เหลือน้อยที่สุด ชุมชนแต่ละแห่งอาจได้รับผลกระทบเหล่านี้แตกต่างกันไป ดังนั้นบริบทในท้องถิ่นจึงมีความสำคัญในการประเมินผลกระทบโดยรวมของ ‘Casino’

ส่วนตัวผู้เขียน ขอน้อมฯ นำ ยึดตามพระราชดำริของล้นเกล้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งปรากฏในพระราชนิพนธ์ ‘ไกลบ้าน’ ด้วยทรงเห็นถึงภัยของการพนัน จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาถึง กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยมีข้อความดังนี้

“จุฬาลงกรณ์ ปร. VITA NOBEL SAN REMO ถึงกรมดำรง ฉันได้ส่งของที่รลึกมอนติกาโล คือเหรียญร้อยแฟรงก์ที่เขาสำหรับเล่นเบี้ยกัน ๓ เหรียญ หม้อมูตรลงยา ๔ หม้อ ตุ้มหู้ไข่นกการเวก ๑ คู่ มาโดยบุกโปสต ขอให้ส่งให้เจ้าสายได้เรียนตำราเล่นเบี้ยอย่างฝรั่งเข้าใจแล้ว ข้อซึ่งเข้าใจกันว่าเล่นไม่น่าสนุกนั้นไม่จริงเลย สนุกยิ่งกว่าอะไร ๆ หมด ถ้าชาวบางกอกรู้ได้ไปเล่นแล้ว ฉิบหายกันไม่เหลือ ถ้าหากว่าไปถึงเมืองเราเข้าเมื่อไร จะรอช้าแต่สักวันเดียวก็ไม่ควร ต้องห้ามทันที ถ้ารู้ถึงผู้ดีเล่นเบี้ยของเรา น่ากลัวอย่างยิ่ง จะดื่มไม่เงย แต่ฉันเปนคนไม่เล่นเบี้ยเลย ยังนึกรู้สึกสนุก ได้จดหมายเรื่องราวมาที่หญิงน้อย เมื่ออยากทราบก็ให้ขอดูเถิด สยามินทร์”

สุดแปลกใจผ่านไป 6 ปี ‘ประชากรเมียนมา’ ยังเท่าเดิม สวนทางตัวเลขทะลักเข้าไทยกว่า 10 ล้านคน บางส่วนรอลุ้นโอนสัญชาติ

ไม่นานมานี้ พลเอก อาวุโส มินอ่องหล่าย ประกาศออกสื่อในที่ประชุมของ SAC ว่า ได้สำรวจสำมะโนประชากรเสร็จสิ้นแล้ว และประชากรทั้งหมดมีเพียง 51 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งก่อนของเมียนมาในปี 2019 พบว่าในปี 2019 ก็มีประชากรเพียง 51.4 ล้านคนเท่านั้น ที่น่าสนใจประการแรกคือ ประชากรไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยตลอด 6 ปีที่ผ่านมา แต่เรื่องนี้พอเข้าใจได้ เพราะจากข้อมูลที่เอย่ามีในมือตอนนี้นับได้ว่าน่าจะชาวเมียนมาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ทั้งเข้ามาแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย รวมถึงพวกที่มาแบบถูกกฎหมายครึ่งเดียวอย่างเช่น ทำวีซ่ามาเรียนแต่ความจริงคือหนีมาอะไรแบบนี้

คำถามคือ คนที่อยู่นอกประเทศเหล่านี้ยังถือว่าเป็นคนสัญชาติเมียนมาไหม

เอย่าได้คำตอบว่าสำหรับคนที่อยู่ต่างประเทศอย่างถูกต้องไม่น่าเป็นห่วงเพราะคนเหล่านี้ได้มีการขึ้นทะเบียนในระบบแล้ว แต่สำหรับคนที่หนีออกไปนอกประเทศนั้น ที่หลายกระแสอ้างว่าคนกลุ่มดังกล่าวจะถูกยกเลิกสัญชาติ และกลายเป็นคนไร้สัญชาติในที่สุด

สุดท้ายคนเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่พยายามที่จะดิ้นรนเพื่อให้ได้สัญชาติในไทย และกลายเป็นปัญหาของประเทศไทยที่ต้องมาโอบอุ้มคนเหล่านี้ เอย่าก็ต้องถามว่ามันใช่เรื่องไหม  และประเทศไทยได้อะไรจากการให้สัญชาติคนเหล่านี้

ล่าสุดมีการเปลี่ยนเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ท่านทูตคนก่อนเคยเป็นผู้ช่วยทูตทหารที่ไทยก่อนจะไปใหญ่โตที่อเมริกาและกลับมาเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทูตครั้งนี้อาจจะมีนัยยะด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ เพราะท่านทูตคนเก่ารู้จักคุ้นเคยกับวิถีไทยเป็นอย่างดี ในขณะที่ท่านทูตคนใหม่นั้นดูทรงแล้วไม่เคยสัมผัสกับวิถีไทยมาก่อน 

เราคงต้องดูว่าการเปลี่ยนผ่านทูตครั้งนี้จะส่งผลอะไรกับเมืองไทยหรือไม่ แต่ดูแล้วเหมือนรัฐบาลไทยขณะนี้ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะก็ตั้งหน้ารับคนต่างด้าวให้ได้สัญชาติไทยถึงขนาดที่คุณเต้ อาชีวะ แฉว่ามีต่างด้าวบางคนที่เคยโดนขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าประเทศมาแล้วแต่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในไทยอย่างสะดวกสบายกับชื่อใหม่ จนน่าสงสัยว่าทั้งตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็ดี ฝ่ายปกครองก็ดีไม่มีการตรวจคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศกันเลยหรือไง

จากชายขอบสู่เบอร์ 2 ทำเนียบขาว เตรียมก้าวสู่ผู้นำการเมืองอเมริกาคนต่อไป

(21 ม.ค. 68) ทำความรู้จัก JD Vance ชายผู้ก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 2 ของทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการและถูกคาดหมายว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการเมืองอเมริกาต่อจากทรัมป์

James David Vance หรือ J.D. Vance เกิดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2527 ที่เมืองมิดเดิลทาวน์ รัฐโอไฮโอ แม้ว่าปัจจุบันจะอายุแค่ 40ปี แต่พี่แว๊นซ์ก็ถือว่าผ่านงานมาอย่างหลากหลายและโชกโชนพอสมควร อาทิเช่น
- ปี 2003 ถึง 2007 ได้เข้าร่วมกับนาวิกโยธินในตำแหน่งนักข่าวสายทหารรวมถึงผ่านการถูกส่งไปทำงานภาคสนามในสงครามอิรักมาแล้วถึง 6 เดือน 
- เคยทำงานเป็นทนายความด้านกฏหมายองค์กรอยู่ระยะสั้นๆก่อนผันตัวมาเป็นนักลงทุนในธุรกิจสตาร์ท-อัพในเวลาต่อมา 
- เป็นผู้เขียนหนังสือขายดีติดอันดับเบสเซลเล่อร์ของนิวยอร์กไทมส์เรื่อง บันทึกความทรงจำ Hilbilly Elergy ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับภาพสะท้อนของคนอเมริกันผิวขาวชายขอบที่เติบโต ใช้ชีวิตและสร้างวัฒนธรรมของตนเองขึ้นในพื้นที่ห่างไกลความเจริญบริเวณเทือกเขาอัพพาลาเชียในอเมริกาเหนือซึ่งเป็นพื้นเพรากเหง้าที่พี่แว๊นซ์เติบโตขึ้นมาในวัยเด็กนั่นเอง หนังสือเล่มนี้ดังจนสุดยอดผู้กำกับหนังแห่งยุคคนหนึ่งอย่าง รอน ฮาวเวิร์ด (ดาวินชีโค้ด, อพอลโล 13) เอาไปสร้างเป็นหนังทาง Netflix มาแล้วในปี 2020
- ได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกของรัฐโอไฮโอ
- ได้รับการแต่งตั้งจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ให้เป็นผู้ร่วมรณรงค์หาเสียงในฐานะว่าที่รองประธานาธิบดีจนชนะการเลือกตั้งร่วมกับทรัมป์และได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน

ในด้านการศึกษานั้นพี่แว๊นซ์ก็ถือว่าไม่ธรรมดาครับ จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอเสตทและมาจบปริญญาโทจากหนึ่งในโรงเรียนกฏหมายที่ถือว่าดีที่สุดในโลกอย่างมหาวิทยาลัยเยล 

ทางด้านครอบครัวนั้น พี่แว๊นซ์แต่งงานแล้วกับ อุชา ชิลูคูรี สาวอินเดีย-อเมริกันที่มีพ่อแม่เป็นชาวอินเดียอพยพและชาวฮินดู อดีตเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่เยล ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 3 คน และเมื่อพี่แว๊นซ์ของเราขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเรียบร้อยแล้ว อุชาก็ได้กลายเป็นสตรีชาวฮินดูคนแรกในประวัติศาสตร์ที่เข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะคู่สมรสของรองประธานาธิบดีและแน่นอนว่าหากจับพลัดจับผลูเกิดอะไรขึ้นกับลุงทรัมป์ทำให้อยู่ไม่ครบเทอมและพี่แว๊นซ์ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี อุชาก็จะขึ้นเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งชาวฮินดูคนแรกของชาวอเมริกันทันที 

พี่แว๊นซ์ถือว่ามีความเจนจัดทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน, การระดมทุนและการลงทุนในธุรกิจสมัยใหม่อย่างสตาร์ท-อัพ และ ไอที รวมไปถึงนโยบายประชานิยมต่างๆที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนยากจน ซึ่งตัวของเขาเองนั้นก็ถือได้ว่าเป็นคนที่มีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนเรื่องการอุทิศตัวเพื่อช่วยเหลือชนชั้นแรงงาน, เป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนชายขอบกับวัฒนธรรมอเมริกันกระแสหลักในปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็มาจากรากเหง้าอดีตแบบคนชายขอบหรือที่เรียกว่า Hilbilly แห่งเทือกเขาอัพพาลาเชียที่พี่แว๊นซ์ได้ต่อสู้ฟันฝ่า ถีบตัวเองขึ้นมาจนประสบความสำเร็จได้นั่นเอง 

ทั้งนี้ทั้งนั้นนักวิเคราะห์การเมืองอเมริกันหลายสำนักได้แสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า เมื่อพี่แว๊นซ์ได้เข้าไปมีบทบาทในทำเนียบขาวแล้วลุงทรัมป์ “จัดให้” มีซีนที่ฉายแสงหรือให้มีจังหวะได้เฉิดฉายบ้างเป็นระยะๆ เขาก็น่าจะทำได้ดี ด้วยความที่เป็นคนออกสื่อแล้วไม่ตายไมค์ พูดจาฉะฉานชัดเจน แถมยังเป็นคนรุ่นใหม่ที่อายุยังน้อย โอกาสที่จะมีอนาคตทางการเมืองสดใสยาวๆไป รวมถึงโอกาสที่จะมีโอกาสเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงชิงตำแหน่ง “เบอร์หนึ่ง” เมื่อลุงทรัมป์หมดวาระลงในอีก 4 ปีข้างหน้าก็มีโอกาสไม่น้อยครับ

ทำความรู้จัก ‘เดนนิส ลอว์’ ราชันย์สตั๊ดเหินหาวแห่ง ‘โอลด์แทรฟฟอร์ด’ หนึ่งในตำนาน ‘United Trinity’ คนสุดท้ายที่เพิ่งลาลับตลอดกาล

(19 ม.ค. 68) หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รักในเกมฟุตบอล ต่อให้คุณไม่ใช่แฟนบอลของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด อย่างน้อยที่สุดคุณก็ต้องเคยได้ยินเรื่องเล่าขานถึงความเก่งกาจของชายผู้เป็นตำนานสุดยอดดาวยิงคนหนึ่งเท่าที่โลกใบนี้เคยมีมา ผู้เป็นเจ้าของลีลาถล่มประตูที่ดุดัน ถึงลูกถึงคน ทำประตูได้ทุกรูปแบบโดยเฉพาะท่าไม้ตายการกระโดดวอลเลย์ลูกกลางอากาศอย่างสวยงาม รวมไปถึงท่าดีใจอันเป็นเอกลักษณ์ด้วยการยกแขนขวาเหยียดตรงชูมือขึ้นสู่ท้องฟ้า อันเป็นภาพคุ้นตาของแฟนบอลในยุค 60’s ต่อ 70’s และเป็นหนึ่งในสามประสาน ‘United Trinity’ ร่วมกับ เซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ลตัน และ จอร์จ เบส อดีตขุนพลเอกแห่งสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ภายใต้การนำทีมของเซอร์ แมตต์ บัสบี้ นำความสำเร็จมาสู่สโมสรและวงการฟุตบอลอังกฤษอย่างถล่มทลาย สถิติมากมายได้ถูกสร้างขึ้นและคงอยู่อย่างยาวนาน บางสถิติก็ยังไม่ถูกทำลายลงไปได้จนถึงปัจจุบัน 

เนื่องในโอกาสการจากไปของเดนนิส ลอว์ ใดใด Digest ขอน้อมคารวะชายผู้เป็นตำนานท่านนี้ด้วยการบันทึกเรื่องราวของเขาไว้ ณ ที่นี้ครับ 

เดนนิส ลอว์ เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1940 ณ เมืองอเบอร์ดีน ประเทศสก็อตแลนด์ ในครอบครัวชนชั้นแรงงานที่ฐานะไม่สู้ดีนัก โดยเป็นน้องคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 7 คน และในความยากจนนี่เองที่เด็กน้อยเดนนิสได้ค้นพบความหลงใหลในกีฬาฟุตบอลของตัวเองจากการเตะลูกฟุตบอลทำเองจากเศษผ้าเล่นกับบรรดาพี่น้องและเพื่อนฝูง และด้วยพรสวรรค์อันโดดเด่นของเดนนิส ทำให้เขาฉายแสงออกมาจากเพื่อนรุ่นเดียวกันอย่างชัดเจนและในไม่นานก็ถูกค้นพบโดยแมวมองจากสโมสรฟุตบอลอาชีพ ซึ่งทำให้เดนนิสได้มีโอกาสได้ไปทดสอบฝีเท้าและเซ็นสัญญาเป็นนักเตะอาชีพด้วยอายุเพียง 16 ปีเท่านั้น โดยสโมสรที่ค้นพบเดนนิสและเซ็นสัญญาอาชีพด้วยเป็นทีมแรกคือสโมสรฮัดเดอส์ฟิลด์ทาวน์ (อ่านมาถึงตรงนี้ ใครรู้สึกคุ้นๆชื่อสโมสรนี้ ใช่ครับ! นี่คือสโมสรที่หนึ่งในตำนานนักฟุตบอลชาวไทยอย่างพี่ซิโก้ เกียติศักดิ์ เสนาเมืองของเราเคยบินมาค้าแข้งด้วยเป็นเวลาสั้นๆนั่นเอง) ในเวลานั้นกุนซือของฮัดเดอส์ฟิลด์ทาวน์ได้แก่ บิลล์ แชงค์ลี่ ผู้ซึ่งในเวลาต่อมาจะก้าวขึ้นมาเป็นกุนซือระดับอภิมหาตำนานของสโมสรลิเวอร์พูลนั่นเอง ตลอด 4ปีที่ฮัดเดอส์ฟิลด์ทาวน์นี่เองที่เดนนิสได้เริ่มเปล่งประกายความเป็นสุดยอดดาวยิงฟ้าประทานออกมา และทำให้ตัวเขากลายเป็นที่ต้องการของหลายๆสโมสรในอังกฤษ จนกระทั่งเขาได้ย้ายไปอยู่กับสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้เป็นเวลาสั้นๆแค่ 1 ปีด้วยค่าตัวที่สูงที่สุดในเกาะอังกฤษ ณ เวลานั้นที่ 55,000 ปอนด์ ก่อนที่จะถูกสโมสรโตริโน่จากอิตาลีซื้อตัวไปด้วยค่าตัวสูงที่สุดเป็นสถิติโลกในเวลานั้นที่ 110,000 ปอนด์ และทำให้เดนนิสเป็นนักเตะจากสหราชอาณาจักรคนแรกที่ย้ายมาเล่นในภาคพื้นยุโรป แต่ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการปรับตัวหลายๆอย่างในสมัยนั้น ทำให้เดนนิสย้ายกลับมายังเกาะอังกฤษ และสโมสรที่ซื้อเขากลับมาด้วยค่าตัวที่เป็นสถิติโลกอีกเช่นกันที่ 115,000 ปอนด์ ก็คือสโมสรที่ส่งให้เขากลายเป็นตำนานไปตลอดกาลในเวลาต่อมาซึ่งก็คือสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดนั่นเอง

เดนนิสค้าแข้งกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดรวมแล้วทั้งหมด 11 ปี ตั้งแต่ปี 1962 ถึง 1973 ซึ่งตลอดระยะเวลานี้ เขาได้สร้างความสำเร็จและสถิติต่างๆฝากไว้อย่างมากมาย อาทิเช่น

1. สถิติยิงประตูให้สโมสรสูงที่สุดตลอดกาลเป็นอันดับที่ 3 โดยลงเล่นทั้งหมดให้กับยูไนเต็ด 404 นัด ทำไปได้ทั้งหมด 237 ประตู 

2. ได้รับการขนานนามจากแฟนบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดว่าเป็น ‘ราชันย์แห่งเสตร็ทฟอร์ดเอ็นด์’ ซึ่งมีที่มาจากการฉลองการทำประตูของเดนนิสร่วมกับแฟนบอลฝั่งอัฒจันทร์ทีมเหย้าของสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดซึ่งเป็นภาพชินตาของแฟนบอลในยุคนั้น 

3. เดนนิสเป็นสมาชิกคนสำคัญที่นำถ้วยรางวัลมาสู่สโมสรมากมายได้แก่ แชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษ 2 สมัย, แชมป์สโมสรยุโรป 1 สมัย (แม้ว่าจะไม่ได้ลงเล่นนัดชิงชนะเลิศเนื่องจากอาการบาดเจ็บ แต่ก็ถือเป็นผู้มีความสำคัญในการพาทีมเข้าสู่นัดชิงได้สำเร็จ), แชมป์ FA Cup 1 สมัย

4. ในด้านรางวัลส่วนตัว เดนนิส ขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิตนักฟุตบอลระหว่างเล่นให้ยูไนเต็ดด้วยการได้รับรางวัล Ballon D’Or หรือนักเตะยอดเยี่ยมของยุโรปในปี 1964 และเป็นนักเตะชาวสก็อตคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งคงจะเป็นหนึ่งเดียวจากสก็อตแลนด์ไปอีกนานหรืออาจจะตลอดไป 

ในช่วงปลายอาชีพเดนนิสได้ย้ายกลับไปเล่นกับสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้อีกครั้งเป็นระยะเวลาสั้นๆเพียง 1 ปี แต่ก็มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นคือ เดนนิสเป็นผู้ยิงประตูชัยด้วยการตอกส้นให้แมนเชสเตอร์ซิตี้เอาชนะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดไปได้ในนัดท้ายๆของฤดูกาล 1974 ส่งผลให้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดตกชั้นในปีนั้นในที่สุด ซึ่งเดนนิสก็ได้แสดงความเคารพอย่างสูงต่ออดีตสโมสรของเขาด้วยการไม่แสดงการดีใจและมีสีหน้าเสียใจหลังยิงประตูนั้นได้ซึ่งก็นับเป็นเหตุการณ์สุดคลาสสิคเหตุการณ์หนึ่งของโลกฟุตบอลมาจนถึงปัจจุบัน

ในด้านเกียรติประวัติกับทีมชาติสก็อตแลนด์นั้น เดนนิสลงสนามรับใช้ชาติไปทั้งหมด 55นัด โดยยิงไปได้ 30 ประตู รวมถึงการพาสก็อตแลนด์เข้าสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้ทั้งหมด 2 สมัย

ภายหลังจากแขวนสตั๊ดอย่างเป็นทางการในปี 1974 เดนนิสก็ยังคงมีส่วนร่วมกับวงการฟุตบอลที่เขารักอย่างต่อเนื่องด้วยการรับตำแหน่งเป็นทูตฟุตบอลให้กับสโมสรที่เขาผูกพันที่สุดอย่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และออกงานการกุศลเพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งและอื่นๆอย่างสม่ำเสมอ 

เดนนิส ลอว์ จากไปอย่างสงบในคืนวันที่ 17 มกราคม 2025 ที่ผ่านมาด้วยวัย 84 ปีจากอาการป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์และโรคหลอดเลือดสมอง โดยฝากผลงานและตำนานอันยิ่งใหญ่ไว้ให้กับโลกฟุตบอลและโดยเฉพาะแฟนบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ในฐานะ ‘United Trinity’ คนสุดท้าย โดยรูปปั้นของเดนนิสในท่าเหยียดแขนขวาขึ้นสุดพร้อมชี้นิ้วขึ้นสู่ท้องฟ้าอันเป็นท่าฉลองประตูประจำตัวอันคุ้นชินขนาบข้างด้วยสองสหายรักและเพื่อนร่วมทีมอย่างเซอร์ บ็อบบี้ ชาร์ตัน และ จอร์จ เบส หันหน้าเข้าสู่สนามเหย้าของแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดที่ได้รับการขนานนามว่า ‘โรงละครแห่งความฝัน’ จะคงอยู่ตลอดไปตราบนานเท่านาน รวมถึงความสามารถอันเป็นตำนานและคุณูปการต่างๆที่เดนนิส ลอว์สร้างขึ้นและฝากไว้ให้กับคนรุ่นหลังก็จะถูกจดจำและกล่าวขานไปอีกนานแสนนานเช่นกัน 

ด้วยจิตคารวะ

‘CAL FIRE’ ทีมนักสู้ไฟป่าแห่งแคลิฟอร์เนีย เหล่าผู้กล้าผจญเพลิงที่อาสาทำเพื่อส่วนรวม

เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของนครลอสแอนเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 24 ราย (14/1/2568) เผาผลาญบ้านเรือนประชาชนไปแล้วนับหมื่นหลัง และส่งผลทำให้ต้องออกคำสั่งอพยพผู้คนหลายแสนคนออกจากพื้นที่ ด้วยสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก มีผืนป่าขนาดใหญ่มากมายโดยเฉพาะในมลรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งเกิดไฟไหม้ป่าเป็นประจำทุกปี

โดยภารกิจในการดูแลรักษาผืนป่า การป้องกันและดับไฟป่าในมลรัฐนี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ ‘กรมป่าไม้และป้องกันอัคคีภัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Department of Forestry and Fire Protection : CAL FIRE)’ เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Natural Resources Agency : CNRA) สหรัฐอเมริกามีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันอัคคีภัยในพื้นที่ต่างๆ ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐรวม 31 ล้านเอเคอร์ รวมถึงการบริหารจัดการป่า ทั้งป่าส่วนบุคคลและป่าสาธารณะภายในมลรัฐ

นอกจากนี้ ‘CAL FIRE’ ยังให้บริการฉุกเฉินด้านต่าง ๆ ใน 36 จาก 58 เทศมณฑลของมลรัฐผ่านสัญญากับรัฐบาลท้องถิ่น ผู้อำนวยการ ‘CAL FIRE’ คนปัจจุบันของกรมคือ Joe Tyler ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดย Gavin Newsom ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2022

นอกจากภารกิจหลักที่สำคัญที่สุดของ ‘CAL FIRE’ คือการต่อสู้และป้องกันไฟป่าบนพื้นที่ป่าของรัฐ 31 ล้านเอเคอร์แล้ว ‘CAL FIRE’ ยังปฏิบัติงานทั้งด้านการดับและป้องกันในพื้นที่ของมลรัฐ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือในการตอบสนองต่อภัยพิบัติและเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย รวมถึงแผ่นดินไหว การกู้ภัยทางน้ำ และการรั่วไหลของวัสดุอันตราย ‘CAL FIRE’ ยังทำหน้าที่ในการบริหารจัดการป่าสาธิตของมลรัฐ 8 แห่งในเรื่องของการปลูกและตัดไม้ สันทนาการ และการวิจัย ส่วนที่ใหญ่ที่สุดและเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดในการปฏิบัติการของ ‘CAL FIRE’ คือการป้องกันอัคคีภัย โดยเฉพาะไฟป่า การปฏิบัติการแบ่งหน่วยออกเป็น 21 หน่วยปฏิบัติการ ซึ่งแบ่งตามเขตพื้นที่ของแต่ละเทศมณฑล หน่วยแต่ละหน่วยประกอบด้วยพื้นที่ของเทศมณฑลหนึ่งแห่งขึ้นไป หน่วยปฏิบัติการแบ่งตามภูมิภาคแคลิฟอร์เนียเหนือหรือภูมิภาคแคลิฟอร์เนียใต้

‘CAL FIRE’ ก่อตั้งขึ้นในปี 1885 เป็นหน่วยดับเพลิงที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ 12,800 นาย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ประจำ 6,100 คน เจ้าหน้าที่ไม่ประจำ (พนักงานจ้างตามฤดูกาล) 2,600 คน ผู้ต้องขัง 3,500 คน สมาชิกกองกำลังอนุรักษ์ อาสาสมัครป้องกันภัยส่วนบุคคล (VIP) 600 คน รวม 12,800 คน พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการปฏิบัติงานมากมาย ด้วยงบประมาณประจำปีที่ได้รับ 4.2 พันล้านเหรียญ (ราว 1.457 แสนล้านบาท) ‘CAL FIRE’ มีศูนย์ฝึกอบรม 2 แห่ง แห่งแรกเป็นสถาบันเดิมคือ ศูนย์ฝึกอบรม CAL FIRE ในเมืองไอโอเน ทางทิศตะวันออกของนครซาคราเมนโต (เมืองหลวงของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย) สถาบันแห่งที่สองตั้งอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรม Ben Clark ในเทศมณฑลริเวอร์ไซด์ทั้งสองศูนย์เป็นที่ตั้งของสถาบันดับเพลิง (Fire Fighter Academy : FFA) เจ้าหน้าที่ดับเพลิงของ CAL FIRE ทุกคนจะต้องผ่านสถาบันนี้ก่อนที่พวกเขาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำ และยังมีสถาบันฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประจำ (Company Officer Academy : COA) ในเมืองไอโอเน เจ้าหน้าที่ประจำบรรจุ/เลื่อนตำแหน่งใหม่ทั้งหมดของ ‘CAL FIRE’ (วิศวกร หัวหน้าหน่วย เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ฯลฯ) จะต้องผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันแห่งนี้ ณ ปี 2017 เงินเดือนเฉลี่ยของนักดับเพลิงประจำ (ซึ่งรวมเงินเดือนพื้นฐาน เงินพิเศษ ค่าล่วงเวลา และสวัสดิการ) เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 148,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,134,120 บาท) เนื่องจากจัดว่าเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงมาก

นอกจากนี้ ‘CAL FIRE’ ยังทำงานร่วมกับกรมราชทัณฑ์และการพัฒนาพฤตินิสัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Department of Corrections and Rehabilitation : CDCR) ใช้ผู้ต้องขังหลายพันคนในทัณฑสถาน 44 แห่งทั่วมลรัฐ หรือที่เรียกว่า ‘โครงการทัณฑสถาน/ค่ายดับเพลิง’ เพื่อทำหน้าที่ในการป้องกันอัคคีภัย การดับเพลิง และโครงการบำรุงรักษาและอนุรักษ์ต่าง ๆ ภารกิจของโครงการนี้คือ ให้การ “สนับสนุนหน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลางในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม และภัยพิบัติจากธรรมชาติหรือที่มนุษย์สร้างขึ้นอื่น ๆ” มีผู้ต้องขังทั้ง ชาย หญิง และเยาวชน มากกว่า 3,000 คนทำงานในโครงการนี้ทุกปี ทั้งหมดเป็นอาสาสมัครของโครงการฯ อาสาสมัครทุกคนได้รับการฝึกอบรมระดับเริ่มต้นเช่นเดียวกับนักดับเพลิงตามฤดูกาลของ ‘CAL FIRE’ มีนักดับเพลิงที่เป็นผู้ต้องขังราว 3,500 คน ทำให้มีนักดับเพลิงที่เป็นผู้ต้องคุมขังคิดเป็นประมาณ 27% ของศักยภาพในการดับเพลิงทั้งหมดของมลรัฐ

หน่วยปฏิบัติการภายใต้ ‘CAL FIRE’ คือหน่วยงานที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อรับมือกับการดับเพลิงในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ โดยมีขนาดและภูมิประเทศที่มีความแตกต่างกัน อาทิ หน่วยปฏิบัติการ Lassen-Modoc-Plumas ครอบคลุมพื้นที่ชนบท 3 แห่ง และประกอบด้วยสถานีดับเพลิง 8 แห่ง ฐานเฮลิคอปเตอร์ 1 แห่ง ค่ายดับเพลิง 3 แห่ง และศูนย์ฝึกอบรมนักดับเพลิงผู้ต้องขัง ทรัพยากรที่ใช้การดับเพลิงประกอบด้วยรถดับเพลิง 13 คัน เฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ รถปราบดิน 3 คัน และเจ้าหน้าที่ดับเพลิงผู้ต้องขัง 14 คน หน่วยนี้ใช้ศูนย์บัญชาการฉุกเฉินร่วมกันกับหน่วยงานของรัฐบาลกลาง รวมทั้งกรมป่าไม้แห่งสหรัฐอเมริกา กรมอุทยานแห่งชาติ และสำนักงานจัดการที่ดิน เป็นศูนย์ปฏิบัติการร่วมระหว่างหน่วยงาน รองรับความร่วมมือ และเอื้อต่อการปฏิบัติงานที่ราบรื่นยิ่งขึ้น พื้นที่นี้มีเขตอำนาจในการปฏิบัติที่กระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ชนบทขนาดใหญ่ตามแนวเขตแดนมลรัฐเนวาดาและโอเรกอน ส่วย Riverside Operational Unit เป็นหน่วยดับเพลิงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ โดยมีสถานีดับเพลิง 95 แห่งและทรัพยากรที่ใช้การดับเพลิงประมาณ 230 รายการ ปฏิบัติการร่วมกับ Riverside County Fire Department ตามสัญญาซึ่งรวมถึงดำเนินการดับเพลิงใน 18 เมืองและ 1 เขตบริการชุมชน สถานีเหล่านี้ 9 แห่งเป็นของมลรัฐ ส่วนที่เหลือเป็นของหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง หน่วยนี้ดำเนินการศูนย์บัญชาการฉุกเฉินของตนเองใน Perris พื้นที่ที่ให้บริการรวมถึงเขตเมืองและชานเมืองของ Inland Empire และชุมชนในเขต Palm Springs พื้นที่ดังกล่าวรวมถึงภูเขาที่มีป่าไม้ลุ่มแม่น้ำโคโลราโดทะเลทรายโมฮาวีและทางหลวงระหว่างรัฐหมายเลข 10 เขต Marin (MRN), Kern (KRN), Santa Barbara (SBC), Ventura (VNC), Los Angeles (LAC) และ Orange (ORC) ได้รับเงินสนับสนุนจาก ‘CAL FIRE’ เพื่อจัดเตรียมการป้องกันอัคคีภัยให้กับพื้นที่รับผิดชอบของมลรัฐภายในเขตเทศมณฑลเหล่านั้น แทนที่จะให้ ‘CAL FIRE’ จัดหาการป้องกันอัคคีภัยโดยตรง และเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “เขตสัญญาเทศมณฑล (Contract counties)”

‘CAL FIRE’ ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหลายระบบในการจัดการการดำเนินงาน อาทิ Altaris CAD ซึ่งเป็นระบบจัดส่งด้วยความช่วยเหลือของคอมพิวเตอร์ผลิตโดย Northrop Grumman ถูกใช้โดยศูนย์บัญชาการฉุกเฉิน (ECC) ของแต่ละหน่วย เพื่อติดตามทรัพยากรและงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งทำได้โดยใช้ระบบระบุตำแหน่งยานพาหนะอัตโนมัติ (AVL) ซึ่งระบุตำแหน่งยานพาหนะ การสื่อสารข้อมูล และการจัดส่งผ่านเทอร์มินัลข้อมูลเคลื่อนที่ (MDT) และระบบสลับเครือข่ายหลายเครือข่ายในยานพาหนะมากกว่า 1,200 คันทั่วทั้งรัฐ หน่วยปฏิบัติการแต่ละหน่วยมีระบบแบบ stand alone ซึ่งรวมถึงข้อมูลที่อยู่และแผนที่โดยละเอียด

ในการดับไฟป่าและภารกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ นั้น ‘CAL FIRE’ มีอากาศยานที่ใช้ในภารกิจรวม 70 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินโปรยน้ำ/สารเคมี 30 ลำ เครื่องบินตรวจการณ์ 16 ลำ และเฮลิคอปเตอร์อีก 24 ลำ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของโครงการบริหารจัดการการบิน (Aviation Management Program) โดยเมื่อมีความจำเป็น ‘CAL FIRE’ จะจัดเช่าอากาศยานเพิ่มเติม เครื่องบินทั้งหมดเป็นของ ‘CAL FIRE’ เอง แต่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการและบำรุงรักษาโดย DynCorp International ซึ่งโครงการฯ นี้เป็นหนึ่งในโครงการปฏิบัติการทางอากาศของหน่วยงานพลเรือน (ที่ไม่ใช่ทางทหาร) ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ประกอบด้วย เครื่องบินบรรทุกน้ำ/สารเคมี Grumman S-2 Tracker (S-2T) ขนาดความจุ 1,200 แกลลอน จำนวน 23 ลำ เครื่องบินบรรทุกน้ำ/สารเคมี Lockheed-Martin C-130H Hercules ขนาดความจุ 4,000 แกลลอน จำนวน 7 ลำ เครื่องบินตรวจการณ์ North American Rockwell OV-10 Bronco จำนวน 14 ลำ และ เฮลิคอปเตอร์ Bell UH-1H Super Huey จำนวน 12 ลำ ปัจจุบัน ‘CAL FIRE’ ได้เริ่มปฏิบัติการบินด้วย เฮลิคอปเตอร์ Sikorsky S-70i Firehawk รุ่นใหม่สำหรับการสนับสนุนการดับเพลิงทางอากาศ รวมถึงการทิ้งน้ำ/สารเคมีดับเพลิง และกำลังวางแผนที่จะจัดหาเฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้ 12 ลำเพื่อทดแทนเฮลิคอปเตอร์ Bell UH-1H Super Huey ที่เก่ามากแล้ว

จากฐานปฏิบัติบิน 13 แห่งและฐานบินเฮลิคอปเตอร์ 10 แห่งของ ‘CAL FIRE’ ที่ตั้งอยู่ทั่วมลรัฐ เครื่องบินโปรยน้ำ/สารเคมีจะสามารถเข้าถึงจุดไฟไหม้ส่วนใหญ่ได้ภายในเวลา 20 นาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เกิดไฟป่า มีการใช้ทั้งเครื่องบินในการบินดับเพลิง และเฮลิคอปเตอร์ในการส่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิง (Helitack) เข้าไปในพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้ และโปรยน้ำและสารเคมีหน่วงไฟลงเพื่อดับไฟ เครื่องบินตรวจการณ์จะทำหน้าที่ในการสั่งการ สังเกตการณ์ และทิ้งสารเคมีหน่วงไฟลงบนพื้นที่เกิดไฟไหม้ด้วย ในอดีต ‘CAL FIRE’ เคยทำสัญญากับ 10 Tanker Air Carrier เพื่อเช่าใช้เครื่องบินดับเพลิงทางอากาศ McDonnell Douglas DC-10-10 (Tanker 911) เป็นเวลา 3 ปี โดยมีค่าใช้จ่าย 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี นอกจากนี้ยังมีการเช่าใช้เครื่องบินดับเพลิงทางอากาศ DC-10-30 เพิ่มเติม (Tanker 911 และ Tanker 912) ในปี 2014 Tanker 910 ได้ถูกปลดระวาง และทุกวันนี้ 10 Tanker Air Carrier ยังคงใช้เครื่องบินดับเพลิงทางอากาศแบบ DC-10-30 ในการปฏิบัติการดับไฟป่าให้ ‘CAL FIRE’

สำหรับบ้านเรา การป้องกันและดับไฟป่าเป็นภารกิจของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ซึ่งจะมี 2 หน่วยงานได้แก่ กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (เขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์) และกรมป่าไม้ (ป่าชุมชนและป่าไม้ในพื้นที่รับผิดชอบ) ทั้ง 2 กรมภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีหน่วยงานอื่น ๆ จากกระทรวงต่าง ๆ ให้การสนับสนุน อาทิ เหล่าทัพต่าง ๆ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ป่าถือเป็น ‘หน้าที่’ ของชาวไทยทุกคน เพราะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ล้วนแล้วแต่เป็นสมบัติที่สำคัญของชาติ จึงถือว่าเป็นสมบัติส่วนรวมของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนด้วย

หากมีความสงสัยว่า เหตุใดไฟป่าจึงรุนแรงขึ้น คำตอบอาจทำให้เราต้องประหลาดใจ แม้ว่า วิทยาศาสตร์จะแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นตัวทวีคูณภัยคุกคามที่เพิ่มความถี่และความรุนแรงของไฟป่า แต่มนุษย์ก็มีส่วนเป็นอย่างมากเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ไฟป่าเกือบ 85% ในสหรัฐอเมริกาเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และหลายกรณีสามารถป้องกันได้ กิจกรรมในชีวิตประจำวันหลายอย่างก็อาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้เช่นกัน สภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น ประวัติการดับเพลิง และปัจจัยอื่น ๆ ทำให้ไฟไหม้รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แต่หากเราอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มักเกิดภัยแล้งหรือไฟป่า เราสามารถช่วยป้องกันภัยธรรมชาติได้โดยปฏิบัติตามแนวทางด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัยได้อย่างง่าย ๆ

วิธีการง่าย ๆ ในการป้องกันไฟไหม้ป่า

1. ไม่จุดพลุไฟ ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและแห้งแล้ง มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่ามาก เชื่อว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นในมลรัฐแคลิฟอร์เนียต้นเดือนที่ผ่านมาเกิดจากการจุดพลุไฟ

2. กำจัดวัสดุที่ใช้ในการสูบบุหรี่อย่างระมัดระวัง ทุกครั้งที่สูบบุหรี่ ให้ราดน้ำที่ก้นบุหรี่แล้วใส่ไว้ในภาชนะกันไฟเพื่อทิ้งอย่างปลอดภัยหลังจากแน่ใจว่าได้ดับไปแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพื้น

3. ดูแลกองไฟที่จุดเองอย่างมีความรับผิดชอบ ก่อนจุดกองไฟหรือกองไฟ ให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมปลอดภัยและไม่มีข้อห้ามจุดไฟในพื้นที่ เมื่อจุดไฟเสร็จแล้ว ให้ดับไฟและรอจนกว่าไฟจะเย็นลงจนสัมผัสได้ก่อนออกจากพื้นที่ตั้งแคมป์ อย่าปล่อยให้กองไฟติดอยู่โดยไม่มีผู้ดูแล

4. ตัดหญ้าก่อนเวลา 10.00 น. หากจำเป็นต้องตัดหญ้า ‘CAL FIRE’ แนะนำให้ทำตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่อุณหภูมิจะถึงจุดสูงสุด แต่หากลมแรงและแห้งเกินไป ให้รอไว้ก่อนจนกว่าจะถึงวันถัดไป ในสภาวะเช่นนี้ ใบมีดโลหะใต้เครื่องตัดหญ้าอาจจุดไฟได้ง่ายหากไปโดนหิน

5. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าท่อไอเสียของรถของคุณอยู่ในระดับที่เหมาะสม ตรวจสอบท่อไอเสียของรถ เลื่อยโซ่ยนต์ เครื่องเป่าใบไม้ ฯลฯ เพื่อให้แน่ใจว่ามีตัวป้องกันประกายไฟติดตั้งอยู่ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์ปล่อยเศษวัสดุที่ติดไฟได้ออกมา และอย่าลืมว่าท่อไอเสียรถยนต์อาจมีอุณหภูมิสูงเกิน 1,000 องศาได้!

6. ขับรถอยู่บนถนนเสมอ แม้การขับรถบนเส้นทางออฟโรดเป็นเรื่องสนุก แต่หากทำในพื้นที่ทุ่งหญ้าหรือพื้นที่ที่มีพุ่มไม้หนาทึบ อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ควรขับบนถนนกรวดและยางมะตอย โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการขับรถออฟโรดในพื้นที่เสี่ยงไฟไหม้ คือเมื่อพื้นดินเฉอะแฉะ เปียกฝน

7. คอยสังเกตเทียนอย่างใกล้ชิด เทียนไขอาจดูไม่เป็นอันตราย แต่เป็นสาเหตุหลักของไฟไหม้บ้าน โดยเปลวไฟสามารถลุกไหม้ได้สูงถึง 1,400 องศา! วิธีที่ดีที่สุดคือใส่เทียนไขในภาชนะที่แข็งแรงและไม่สามารถล้มได้ เช่น ขวดโหล และอย่าทิ้งเทียนไขไว้โดยไม่มีผู้ดูแล

8. สร้างและรักษาพื้นที่ป้องกันได้ หากท่านเป็นเจ้าของบ้าน ควรกำจัดต้นไม้ พุ่มไม้ และพืชพรรณต่าง ๆ  ที่ตายแล้วออกไปให้หมดภายในระยะ 100 ฟุตจากโครงสร้างทั้งหมด การทำเช่นนี้จะช่วยชะลอหรือหยุดการลุกลามของไฟป่าในชุมชนของท่าน นอกจากนี้ ยังช่วยปกป้องนักดับเพลิงในกรณีที่ต้องดับไฟรอบ ๆ บ้านของท่านอีกด้วย

9. การจัดภูมิทัศน์เพื่อป้องกันไฟป่า ด้วยปลูกพืชทนไฟ เช่น ลาเวนเดอร์ฝรั่งเศส เซจ และฟูเชียแคลิฟอร์เนีย ว่านหางจระเข้ ร็อคโรส และไอซ์แพลนเน็ต ฯลฯ ไว้ในการจัดสวน และอาจพัฒนาไปอีกขั้นด้วยการสร้างเขตกัน/ทนไฟ เช่น กำแพงหิน ลานบ้าน ดาดฟ้า ฯลฯ

10. การฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยเกิดไฟป่า และสุดท้าย  การสนับสนุนในการฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยเกิดไฟไหม้ในอดีตถือเป็นวิธีสำคัญในการลดโอกาสหรือความรุนแรงของไฟไหม้ในอนาคต อาทิ โครงการอนุรักษ์ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพันธุ์ไม้ที่สามารถป้องกัน/ต้านทานไฟป่าได้

ยกเคส 'กวาง เดียร์ลอง' ยุติบทบาท Sex Creator ชี้ เป็นอุทาหรณ์ของคนที่ห้วงเวลาหนึ่งเคยหลงผิด

ลองย้ายประเทศแล้วไม่เวิร์ค ...ลองไปให้สุดก็รู้ว่า toxic...นี่แหละครับ บทเรียน ...

นี่ถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคนที่เป็น ‘สามนิ้ว’ แนวคิด ‘woke’ ที่เคยอยาก ‘ย้ายประเทศ’ อยากทำ ‘sexcreator’ จนเป็นกระแส...ออกนอกลู่นอกทางไปก็ไม่น้อย ... จะได้เห็นถึงข้อเสีย ของสิ่ง ๆ นึง แล้วก็ถือว่า อาจจะได้ เด็กดื้อ ที่กลับตัวกลับใจขึ้น

โดยส่วนตัวสำหรับข้าพเจ้าแล้วก็ถือว่าเป็นบทเรียนการเมืองเช่นกัน ใครที่อยากได้อยากทำ ณ ช่วงเวลานึง อาจจะทำร้ายเราในอนาคตได้ การหลงผิดคิดว่าสังคมเรามันไม่น่าอยู่ อยากหนีไปต่างประเทศ กลายเป็นว่าได้เห็นความไม่สิวิไลของเขาเช่นกัน

นั่นแหละครับทุกที่ทุกแห่งจะมีดีมีเสียกันทั้งนั้นแหละ 

บ้านเมืองจะดีขึ้นได้ไม่ใช่เพราะว่าเมืองนอกเมืองนาใครดีกว่าใครหรอกครับ

มันอยู่ที่ว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมดีขึ้นแค่ไหน

ไม่มีใครทำร้ายอนาคตเราได้เท่ากับตัวเราเอง

เรื่องนี้ถือเสียว่าคน ๆ นึงที่เคยออกนอกลู่นอกทาง ได้กลับมาเดินในทางที่เหมาะควรและเป็นบทเรียนให้กับคนอื่นก็นับเป็นเรื่องที่ดี

เรื่องนี้น่าสนใจและหากมีความตั้งใจจริงที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เห็นถึงนัยยะที่ดีของบ้านเมืองในหลายประเด็น...


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top