เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของนครลอสแอนเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 24 ราย (14/1/2568) เผาผลาญบ้านเรือนประชาชนไปแล้วนับหมื่นหลัง และส่งผลทำให้ต้องออกคำสั่งอพยพผู้คนหลายแสนคนออกจากพื้นที่ ด้วยสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก มีผืนป่าขนาดใหญ่มากมายโดยเฉพาะในมลรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งเกิดไฟไหม้ป่าเป็นประจำทุกปี
โดยภารกิจในการดูแลรักษาผืนป่า การป้องกันและดับไฟป่าในมลรัฐนี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ ‘กรมป่าไม้และป้องกันอัคคีภัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Department of Forestry and Fire Protection : CAL FIRE)’ เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Natural Resources Agency : CNRA) สหรัฐอเมริกามีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันอัคคีภัยในพื้นที่ต่างๆ ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐรวม 31 ล้านเอเคอร์ รวมถึงการบริหารจัดการป่า ทั้งป่าส่วนบุคคลและป่าสาธารณะภายในมลรัฐ
นอกจากนี้ ‘CAL FIRE’ ยังให้บริการฉุกเฉินด้านต่าง ๆ ใน 36 จาก 58 เทศมณฑลของมลรัฐผ่านสัญญากับรัฐบาลท้องถิ่น ผู้อำนวยการ ‘CAL FIRE’ คนปัจจุบันของกรมคือ Joe Tyler ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดย Gavin Newsom ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2022
นอกจากภารกิจหลักที่สำคัญที่สุดของ ‘CAL FIRE’ คือการต่อสู้และป้องกันไฟป่าบนพื้นที่ป่าของรัฐ 31 ล้านเอเคอร์แล้ว ‘CAL FIRE’ ยังปฏิบัติงานทั้งด้านการดับและป้องกันในพื้นที่ของมลรัฐ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือในการตอบสนองต่อภัยพิบัติและเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย รวมถึงแผ่นดินไหว การกู้ภัยทางน้ำ และการรั่วไหลของวัสดุอันตราย ‘CAL FIRE’ ยังทำหน้าที่ในการบริหารจัดการป่าสาธิตของมลรัฐ 8 แห่งในเรื่องของการปลูกและตัดไม้ สันทนาการ และการวิจัย ส่วนที่ใหญ่ที่สุดและเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดในการปฏิบัติการของ ‘CAL FIRE’ คือการป้องกันอัคคีภัย โดยเฉพาะไฟป่า การปฏิบัติการแบ่งหน่วยออกเป็น 21 หน่วยปฏิบัติการ ซึ่งแบ่งตามเขตพื้นที่ของแต่ละเทศมณฑล หน่วยแต่ละหน่วยประกอบด้วยพื้นที่ของเทศมณฑลหนึ่งแห่งขึ้นไป หน่วยปฏิบัติการแบ่งตามภูมิภาคแคลิฟอร์เนียเหนือหรือภูมิภาคแคลิฟอร์เนียใต้
‘CAL FIRE’ ก่อตั้งขึ้นในปี 1885 เป็นหน่วยดับเพลิงที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ 12,800 นาย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ประจำ 6,100 คน เจ้าหน้าที่ไม่ประจำ (พนักงานจ้างตามฤดูกาล) 2,600 คน ผู้ต้องขัง 3,500 คน สมาชิกกองกำลังอนุรักษ์ อาสาสมัครป้องกันภัยส่วนบุคคล (VIP) 600 คน รวม 12,800 คน พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการปฏิบัติงานมากมาย ด้วยงบประมาณประจำปีที่ได้รับ 4.2 พันล้านเหรียญ (ราว 1.457 แสนล้านบาท) ‘CAL FIRE’ มีศูนย์ฝึกอบรม 2 แห่ง แห่งแรกเป็นสถาบันเดิมคือ ศูนย์ฝึกอบรม CAL FIRE ในเมืองไอโอเน ทางทิศตะวันออกของนครซาคราเมนโต (เมืองหลวงของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย) สถาบันแห่งที่สองตั้งอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรม Ben Clark ในเทศมณฑลริเวอร์ไซด์ทั้งสองศูนย์เป็นที่ตั้งของสถาบันดับเพลิง (Fire Fighter Academy : FFA) เจ้าหน้าที่ดับเพลิงของ CAL FIRE ทุกคนจะต้องผ่านสถาบันนี้ก่อนที่พวกเขาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำ และยังมีสถาบันฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประจำ (Company Officer Academy : COA) ในเมืองไอโอเน เจ้าหน้าที่ประจำบรรจุ/เลื่อนตำแหน่งใหม่ทั้งหมดของ ‘CAL FIRE’ (วิศวกร หัวหน้าหน่วย เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ฯลฯ) จะต้องผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันแห่งนี้ ณ ปี 2017 เงินเดือนเฉลี่ยของนักดับเพลิงประจำ (ซึ่งรวมเงินเดือนพื้นฐาน เงินพิเศษ ค่าล่วงเวลา และสวัสดิการ) เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 148,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,134,120 บาท) เนื่องจากจัดว่าเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงมาก
นอกจากนี้ ‘CAL FIRE’ ยังทำงานร่วมกับกรมราชทัณฑ์และการพัฒนาพฤตินิสัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Department of Corrections and Rehabilitation : CDCR) ใช้ผู้ต้องขังหลายพันคนในทัณฑสถาน 44 แห่งทั่วมลรัฐ หรือที่เรียกว่า ‘โครงการทัณฑสถาน/ค่ายดับเพลิง’ เพื่อทำหน้าที่ในการป้องกันอัคคีภัย การดับเพลิง และโครงการบำรุงรักษาและอนุรักษ์ต่าง ๆ ภารกิจของโครงการนี้คือ ให้การ “สนับสนุนหน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลางในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม และภัยพิบัติจากธรรมชาติหรือที่มนุษย์สร้างขึ้นอื่น ๆ” มีผู้ต้องขังทั้ง ชาย หญิง และเยาวชน มากกว่า 3,000 คนทำงานในโครงการนี้ทุกปี ทั้งหมดเป็นอาสาสมัครของโครงการฯ อาสาสมัครทุกคนได้รับการฝึกอบรมระดับเริ่มต้นเช่นเดียวกับนักดับเพลิงตามฤดูกาลของ ‘CAL FIRE’ มีนักดับเพลิงที่เป็นผู้ต้องขังราว 3,500 คน ทำให้มีนักดับเพลิงที่เป็นผู้ต้องคุมขังคิดเป็นประมาณ 27% ของศักยภาพในการดับเพลิงทั้งหมดของมลรัฐ
หน่วยปฏิบัติการภายใต้ ‘CAL FIRE’ คือหน่วยงานที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อรับมือกับการดับเพลิงในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ โดยมีขนาดและภูมิประเทศที่มีความแตกต่างกัน อาทิ หน่วยปฏิบัติการ Lassen-Modoc-Plumas ครอบคลุมพื้นที่ชนบท 3 แห่ง และประกอบด้วยสถานีดับเพลิง 8 แห่ง ฐานเฮลิคอปเตอร์ 1 แห่ง ค่ายดับเพลิง 3 แห่ง และศูนย์ฝึกอบรมนักดับเพลิงผู้ต้องขัง ทรัพยากรที่ใช้การดับเพลิงประกอบด้วยรถดับเพลิง 13 คัน เฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ รถปราบดิน 3 คัน และเจ้าหน้าที่ดับเพลิงผู้ต้องขัง 14 คน หน่วยนี้ใช้ศูนย์บัญชาการฉุกเฉินร่วมกันกับหน่วยงานของรัฐบาลกลาง รวมทั้งกรมป่าไม้แห่งสหรัฐอเมริกา กรมอุทยานแห่งชาติ และสำนักงานจัดการที่ดิน เป็นศูนย์ปฏิบัติการร่วมระหว่างหน่วยงาน รองรับความร่วมมือ และเอื้อต่อการปฏิบัติงานที่ราบรื่นยิ่งขึ้น พื้นที่นี้มีเขตอำนาจในการปฏิบัติที่กระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ชนบทขนาดใหญ่ตามแนวเขตแดนมลรัฐเนวาดาและโอเรกอน ส่วย Riverside Operational Unit เป็นหน่วยดับเพลิงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ โดยมีสถานีดับเพลิง 95 แห่งและทรัพยากรที่ใช้การดับเพลิงประมาณ 230 รายการ ปฏิบัติการร่วมกับ Riverside County Fire Department ตามสัญญาซึ่งรวมถึงดำเนินการดับเพลิงใน 18 เมืองและ 1 เขตบริการชุมชน สถานีเหล่านี้ 9 แห่งเป็นของมลรัฐ ส่วนที่เหลือเป็นของหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง หน่วยนี้ดำเนินการศูนย์บัญชาการฉุกเฉินของตนเองใน Perris พื้นที่ที่ให้บริการรวมถึงเขตเมืองและชานเมืองของ Inland Empire และชุมชนในเขต Palm Springs พื้นที่ดังกล่าวรวมถึงภูเขาที่มีป่าไม้ลุ่มแม่น้ำโคโลราโดทะเลทรายโมฮาวีและทางหลวงระหว่างรัฐหมายเลข 10 เขต Marin (MRN), Kern (KRN), Santa Barbara (SBC), Ventura (VNC), Los Angeles (LAC) และ Orange (ORC) ได้รับเงินสนับสนุนจาก ‘CAL FIRE’ เพื่อจัดเตรียมการป้องกันอัคคีภัยให้กับพื้นที่รับผิดชอบของมลรัฐภายในเขตเทศมณฑลเหล่านั้น แทนที่จะให้ ‘CAL FIRE’ จัดหาการป้องกันอัคคีภัยโดยตรง และเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “เขตสัญญาเทศมณฑล (Contract counties)”
‘CAL FIRE’ ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหลายระบบในการจัดการการดำเนินงาน อาทิ Altaris CAD ซึ่งเป็นระบบจัดส่งด้วยความช่วยเหลือของคอมพิวเตอร์ผลิตโดย Northrop Grumman ถูกใช้โดยศูนย์บัญชาการฉุกเฉิน (ECC) ของแต่ละหน่วย เพื่อติดตามทรัพยากรและงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งทำได้โดยใช้ระบบระบุตำแหน่งยานพาหนะอัตโนมัติ (AVL) ซึ่งระบุตำแหน่งยานพาหนะ การสื่อสารข้อมูล และการจัดส่งผ่านเทอร์มินัลข้อมูลเคลื่อนที่ (MDT) และระบบสลับเครือข่ายหลายเครือข่ายในยานพาหนะมากกว่า 1,200 คันทั่วทั้งรัฐ หน่วยปฏิบัติการแต่ละหน่วยมีระบบแบบ stand alone ซึ่งรวมถึงข้อมูลที่อยู่และแผนที่โดยละเอียด
ในการดับไฟป่าและภารกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ นั้น ‘CAL FIRE’ มีอากาศยานที่ใช้ในภารกิจรวม 70 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินโปรยน้ำ/สารเคมี 30 ลำ เครื่องบินตรวจการณ์ 16 ลำ และเฮลิคอปเตอร์อีก 24 ลำ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของโครงการบริหารจัดการการบิน (Aviation Management Program) โดยเมื่อมีความจำเป็น ‘CAL FIRE’ จะจัดเช่าอากาศยานเพิ่มเติม เครื่องบินทั้งหมดเป็นของ ‘CAL FIRE’ เอง แต่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการและบำรุงรักษาโดย DynCorp International ซึ่งโครงการฯ นี้เป็นหนึ่งในโครงการปฏิบัติการทางอากาศของหน่วยงานพลเรือน (ที่ไม่ใช่ทางทหาร) ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ประกอบด้วย เครื่องบินบรรทุกน้ำ/สารเคมี Grumman S-2 Tracker (S-2T) ขนาดความจุ 1,200 แกลลอน จำนวน 23 ลำ เครื่องบินบรรทุกน้ำ/สารเคมี Lockheed-Martin C-130H Hercules ขนาดความจุ 4,000 แกลลอน จำนวน 7 ลำ เครื่องบินตรวจการณ์ North American Rockwell OV-10 Bronco จำนวน 14 ลำ และ เฮลิคอปเตอร์ Bell UH-1H Super Huey จำนวน 12 ลำ ปัจจุบัน ‘CAL FIRE’ ได้เริ่มปฏิบัติการบินด้วย เฮลิคอปเตอร์ Sikorsky S-70i Firehawk รุ่นใหม่สำหรับการสนับสนุนการดับเพลิงทางอากาศ รวมถึงการทิ้งน้ำ/สารเคมีดับเพลิง และกำลังวางแผนที่จะจัดหาเฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้ 12 ลำเพื่อทดแทนเฮลิคอปเตอร์ Bell UH-1H Super Huey ที่เก่ามากแล้ว
จากฐานปฏิบัติบิน 13 แห่งและฐานบินเฮลิคอปเตอร์ 10 แห่งของ ‘CAL FIRE’ ที่ตั้งอยู่ทั่วมลรัฐ เครื่องบินโปรยน้ำ/สารเคมีจะสามารถเข้าถึงจุดไฟไหม้ส่วนใหญ่ได้ภายในเวลา 20 นาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เกิดไฟป่า มีการใช้ทั้งเครื่องบินในการบินดับเพลิง และเฮลิคอปเตอร์ในการส่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิง (Helitack) เข้าไปในพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้ และโปรยน้ำและสารเคมีหน่วงไฟลงเพื่อดับไฟ เครื่องบินตรวจการณ์จะทำหน้าที่ในการสั่งการ สังเกตการณ์ และทิ้งสารเคมีหน่วงไฟลงบนพื้นที่เกิดไฟไหม้ด้วย ในอดีต ‘CAL FIRE’ เคยทำสัญญากับ 10 Tanker Air Carrier เพื่อเช่าใช้เครื่องบินดับเพลิงทางอากาศ McDonnell Douglas DC-10-10 (Tanker 911) เป็นเวลา 3 ปี โดยมีค่าใช้จ่าย 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี นอกจากนี้ยังมีการเช่าใช้เครื่องบินดับเพลิงทางอากาศ DC-10-30 เพิ่มเติม (Tanker 911 และ Tanker 912) ในปี 2014 Tanker 910 ได้ถูกปลดระวาง และทุกวันนี้ 10 Tanker Air Carrier ยังคงใช้เครื่องบินดับเพลิงทางอากาศแบบ DC-10-30 ในการปฏิบัติการดับไฟป่าให้ ‘CAL FIRE’
สำหรับบ้านเรา การป้องกันและดับไฟป่าเป็นภารกิจของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ซึ่งจะมี 2 หน่วยงานได้แก่ กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (เขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์) และกรมป่าไม้ (ป่าชุมชนและป่าไม้ในพื้นที่รับผิดชอบ) ทั้ง 2 กรมภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีหน่วยงานอื่น ๆ จากกระทรวงต่าง ๆ ให้การสนับสนุน อาทิ เหล่าทัพต่าง ๆ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ป่าถือเป็น ‘หน้าที่’ ของชาวไทยทุกคน เพราะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ล้วนแล้วแต่เป็นสมบัติที่สำคัญของชาติ จึงถือว่าเป็นสมบัติส่วนรวมของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนด้วย
หากมีความสงสัยว่า เหตุใดไฟป่าจึงรุนแรงขึ้น คำตอบอาจทำให้เราต้องประหลาดใจ แม้ว่า วิทยาศาสตร์จะแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นตัวทวีคูณภัยคุกคามที่เพิ่มความถี่และความรุนแรงของไฟป่า แต่มนุษย์ก็มีส่วนเป็นอย่างมากเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ไฟป่าเกือบ 85% ในสหรัฐอเมริกาเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และหลายกรณีสามารถป้องกันได้ กิจกรรมในชีวิตประจำวันหลายอย่างก็อาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้เช่นกัน สภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น ประวัติการดับเพลิง และปัจจัยอื่น ๆ ทำให้ไฟไหม้รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แต่หากเราอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มักเกิดภัยแล้งหรือไฟป่า เราสามารถช่วยป้องกันภัยธรรมชาติได้โดยปฏิบัติตามแนวทางด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัยได้อย่างง่าย ๆ
วิธีการง่าย ๆ ในการป้องกันไฟไหม้ป่า
1. ไม่จุดพลุไฟ ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและแห้งแล้ง มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่ามาก เชื่อว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นในมลรัฐแคลิฟอร์เนียต้นเดือนที่ผ่านมาเกิดจากการจุดพลุไฟ
2. กำจัดวัสดุที่ใช้ในการสูบบุหรี่อย่างระมัดระวัง ทุกครั้งที่สูบบุหรี่ ให้ราดน้ำที่ก้นบุหรี่แล้วใส่ไว้ในภาชนะกันไฟเพื่อทิ้งอย่างปลอดภัยหลังจากแน่ใจว่าได้ดับไปแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพื้น
3. ดูแลกองไฟที่จุดเองอย่างมีความรับผิดชอบ ก่อนจุดกองไฟหรือกองไฟ ให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมปลอดภัยและไม่มีข้อห้ามจุดไฟในพื้นที่ เมื่อจุดไฟเสร็จแล้ว ให้ดับไฟและรอจนกว่าไฟจะเย็นลงจนสัมผัสได้ก่อนออกจากพื้นที่ตั้งแคมป์ อย่าปล่อยให้กองไฟติดอยู่โดยไม่มีผู้ดูแล
4. ตัดหญ้าก่อนเวลา 10.00 น. หากจำเป็นต้องตัดหญ้า ‘CAL FIRE’ แนะนำให้ทำตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่อุณหภูมิจะถึงจุดสูงสุด แต่หากลมแรงและแห้งเกินไป ให้รอไว้ก่อนจนกว่าจะถึงวันถัดไป ในสภาวะเช่นนี้ ใบมีดโลหะใต้เครื่องตัดหญ้าอาจจุดไฟได้ง่ายหากไปโดนหิน
5. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าท่อไอเสียของรถของคุณอยู่ในระดับที่เหมาะสม ตรวจสอบท่อไอเสียของรถ เลื่อยโซ่ยนต์ เครื่องเป่าใบไม้ ฯลฯ เพื่อให้แน่ใจว่ามีตัวป้องกันประกายไฟติดตั้งอยู่ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์ปล่อยเศษวัสดุที่ติดไฟได้ออกมา และอย่าลืมว่าท่อไอเสียรถยนต์อาจมีอุณหภูมิสูงเกิน 1,000 องศาได้!
6. ขับรถอยู่บนถนนเสมอ แม้การขับรถบนเส้นทางออฟโรดเป็นเรื่องสนุก แต่หากทำในพื้นที่ทุ่งหญ้าหรือพื้นที่ที่มีพุ่มไม้หนาทึบ อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ควรขับบนถนนกรวดและยางมะตอย โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการขับรถออฟโรดในพื้นที่เสี่ยงไฟไหม้ คือเมื่อพื้นดินเฉอะแฉะ เปียกฝน
7. คอยสังเกตเทียนอย่างใกล้ชิด เทียนไขอาจดูไม่เป็นอันตราย แต่เป็นสาเหตุหลักของไฟไหม้บ้าน โดยเปลวไฟสามารถลุกไหม้ได้สูงถึง 1,400 องศา! วิธีที่ดีที่สุดคือใส่เทียนไขในภาชนะที่แข็งแรงและไม่สามารถล้มได้ เช่น ขวดโหล และอย่าทิ้งเทียนไขไว้โดยไม่มีผู้ดูแล
8. สร้างและรักษาพื้นที่ป้องกันได้ หากท่านเป็นเจ้าของบ้าน ควรกำจัดต้นไม้ พุ่มไม้ และพืชพรรณต่าง ๆ ที่ตายแล้วออกไปให้หมดภายในระยะ 100 ฟุตจากโครงสร้างทั้งหมด การทำเช่นนี้จะช่วยชะลอหรือหยุดการลุกลามของไฟป่าในชุมชนของท่าน นอกจากนี้ ยังช่วยปกป้องนักดับเพลิงในกรณีที่ต้องดับไฟรอบ ๆ บ้านของท่านอีกด้วย
9. การจัดภูมิทัศน์เพื่อป้องกันไฟป่า ด้วยปลูกพืชทนไฟ เช่น ลาเวนเดอร์ฝรั่งเศส เซจ และฟูเชียแคลิฟอร์เนีย ว่านหางจระเข้ ร็อคโรส และไอซ์แพลนเน็ต ฯลฯ ไว้ในการจัดสวน และอาจพัฒนาไปอีกขั้นด้วยการสร้างเขตกัน/ทนไฟ เช่น กำแพงหิน ลานบ้าน ดาดฟ้า ฯลฯ
10. การฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยเกิดไฟป่า และสุดท้าย การสนับสนุนในการฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยเกิดไฟไหม้ในอดีตถือเป็นวิธีสำคัญในการลดโอกาสหรือความรุนแรงของไฟไหม้ในอนาคต อาทิ โครงการอนุรักษ์ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพันธุ์ไม้ที่สามารถป้องกัน/ต้านทานไฟป่าได้