Saturday, 12 October 2024
COLUMNIST

กล่าวหา ‘รัชกาลที่ 9’ กรณีรัชกาลที่ 8 สวรรคต 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ กับ ‘กรณีสวรรคต’ (กรณี ณัฐพล-สมศักดิ์)  

ว่าด้วย ‘คำกล่าวอ้าง’ ของพูนศุข พนมยงค์ ในหนังสือพิมพ์ Observer ปี 2500 เกี่ยวกับประเด็น ‘กรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8’ ที่ปรากฏในวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ใจจริง และบทความของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

1. เนื้อหาของณัฐพล ในหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี (2563) ของณัฐพล ใจจริง หน้า 232 ได้กล่าวถึง เนื้อหาการให้สัมภาษณ์ ‘คำกล่าวอ้างต่อกรณีสวรรคต’ ของพูนศุข พนมยงค์ ภรรยาปรีดี พนมยงค์ ต่อหนังสือพิมพ์ Observer พ.ศ. 2500 ไว้ว่า…

“ต่อมาทูตอังกฤษได้รับรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ออบเซอร์ฟเวอร์ (Observer) ซึ่งลงบทสัมภาษณ์ของพูนศุข พนมยงค์ ภริยาของปรีดีกล่าวตอบข้อซักถามของนักข่าวเกี่ยวกับกรณีสวรรคต โดยเธอแนะนำนักข่าวให้ไปถามบุคคลสำคัญ [ณัฐพลหมายความถึง ในหลวง ร.9 -ทุ่นทำ-ทุ่นแดง] ที่รู้เรื่องดังกล่าว ทูตอังกฤษบันทึกว่าขณะนั้นหนังสือพิมพ์ในไทยได้ใช้เรื่องสวรรคตโจมตีราชสำนักอย่างหนัก เขาเห็นว่ากรณีสวรรคตเป็นเรื่องอ่อนไหวและสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ของสถานทูตฯ รายงานข่าวใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสวรรคตอีก” 

โดยข้อมูลในส่วนนี้ณัฐพลอ้างเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ FO 371/129653, Whittington to Foreign Office, 15 May 1957 ซึ่งเรื่องนี้ได้ปรากฏในวิทยานิพนธ์ การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) ที่เสนอต่อคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดียวกัน ในหน้า 218 ซึ่งมีเนื้อหาที่กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า…

“หากนักข่าวต้องการรู้ความจริงเกี่ยวกับการสวรรคต ควรไปถามพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลปัจจุบัน” 

ต่อมา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้นำไปอ้างต่อในบทความชื่อ ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: พูนศุข พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์กรณีสวรรคต พฤษภาคม 2500’

และยังพบด้วยว่าข้อมูลของณัฐพลนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงบทความ สมศักดิ์ ข้างต้นที่เขาโพสต์ลงในเว็บไซต์ประชาไทเมื่อหลายปีก่อน บทความดังกล่าวมีผู้แชร์ไปมากกว่า 10,000 ครั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสมศักดิ์ได้ระบุว่า

“เดือนพฤษภาคม 2500 ทูตอังกฤษประจำสิงคโปร์ ได้รายงานไปยังลอนดอนว่า ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าว นสพ. The Observer ของอังกฤษที่นั่นว่า…"หากนักข่าวต้องการรู้ความจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตควรไปถามพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลปัจจุบัน"

(อ้างใน ณัฐพล ใจจริง, […] ผมเข้าใจว่า อันที่จริง ท่านผู้หญิงพูนศุขน่าจะให้สัมภาษณ์ The Observer ไว้ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน เพราะในต้นเดือนเมษายนนั้น เธอได้เดินทางมาถึงไทย การสัมภาษณ์น่าจะทำในช่วงที่เดินทางผ่านสิงคโปร์ คุณวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ได้บอกผมว่า เธอได้ค้นคว้าตรวจสอบ The Observer ในช่วงนั้น แต่ไม่พบรายงานการสัมภาษณ์นี้ เธอจึงเดาว่า ทางการอังกฤษอาจจะขอร้องให้ The Observer ยับยั้งการตีพิมพ์รายงานการสัมภาษณ์ดังกล่าวได้ทัน อย่างไรก็ตาม ดร.ณัฐพล ใจจริง บอกผมว่า รายงานของทูตอังกฤษ อ้างถึงคำสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ไปใน The Observer แล้ว)”

2. ข้อค้นพบ

พวกเราทุ่นดำ-ทุ่นแดงมีโอกาสตรวจสอบเอกสารชั้นต้นจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติอังกฤษ FO 371/1/129653 From Bangkok to Foreign Office. 15 May 1957 (หรือที่ณัฐพลอ้างว่า FO 371/129653, Whittington to Foreign Office, 15 May 1957) (วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2500) 

อันเป็นเอกสารฉบับเดียวกับที่ณัฐพลใช้อ้างอิงในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเขา (ภาพประกอบในคอมเมนต์ ต้องขออภัยที่ภาพไม่คมชัด) ซึ่งเอกสารระบุเนื้อความเต็ม ๆ ไว้ดังนี้

“1. ข้าพเจ้าได้รับรายงานว่า Rawle Knox, ซึ่งปัจจุบันน่าจะอยู่ที่พนมเปญ, ได้รายงานว่า หนังสือพิมพ์ ‘Observer’ ได้ทำการสัมภาษณ์พูนศุข พนมยงค์, ซึ่งเธอได้แนะนำว่า, ถ้าเขา [Knox] ต้องการที่จะรู้ความจริงเกี่ยวกับการปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ [ใช้คำว่า regicide] ในปี 1946 [พ.ศ. 2489], เขาควรไปถามพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน; จากนั้นเธอได้กล่าวถึงเรื่อง ‘กรณีของของเจ้าชายสเปน’, ซึ่งเห็นได้ว่ามีนัยที่ชัดเจน

และต่อไปนี้คือข้อความต้นฉบับจาก FO 371/129653, Whittington to Foreign Office, 15 May 1957

(I have received a report that Rawle Knox, at present believed to be in Phnom Penh, has filled a dispatch with the “Observer” covering an interview with Madame Phoonsuk Phanomyong, in which she suggests that, if he really wants to know the truth about the regicide of 1946, he should ask the King; she then referred to “the case of the Spanish Princes”, with obvious implications.)

2. การเผยแพร่เรื่องราวใด ๆ ก็ตามในช่วงเวลานี้, ซึ่งการเมืองภายในประเทศ [ไทย] ขณะนี้ ปรากฏว่ากลุ่มรอยัลลิสต์ถูกโจมตีอย่างหนักจากหนังสือพิมพ์ภาษาไทย, และ [ต่อไป] อาจจะส่งผลสะท้อนกลับอย่างรุนแรงได้. ข้าพเจ้าจะรู้สึกขอบคุณเป็นอย่างสูงถ้าหากคุณสามารถเจรจากับ Knox อย่างเร่งด่วนที่สุด และ, ถ้ารายงานนี้จะใกล้ความจริงอยู่บ้าง, อย่างน้อยลองโน้มน้าวให้เขางดพิมพ์บทความนี้ไว้ก่อน จนกว่าพวกเราจะมีโอกาสได้พูดคุยกันกับเกี่ยวกับประเด็นนี้เมื่อเขาเดินทางกลับมายังกรุงเทพในสัปดาห์หน้า

(The publication of any such story at the present juncture when, for internal political reason the Royalists are under heavy attack in the Thai Press, could have serious repercussions. I should be grateful if you could talk to Knox very urgently and, assuming this report to be anywhere near the truth, try to persuade him at least to have his story held up until we have had an opportunity of discussing the matter with him on his return to Bangkok next week.”

และเมื่อพวกเรา (ทุ่นดำ-ทุ่นแดง) ได้ทำการสอบหลักฐานโดยการประมวลข้อมูลและข้อเท็จจริงเท่าที่เอกสารชั้นต้นจะอำนวยใน ณ ขณะนี้ พบว่าวิทยานิพนธ์ของญัฐพล ใจจริง รวมถึงบทความของสมศักดิ์ เจียมธรสกุล ได้สร้างเรื่องเข้าใจผิดไว้ในประเด็นนี้อย่างน้อย 2 ประเด็น ดังต่อไปนี้

>> ประเด็นที่ 1

เอกสาร FO 371/1/129653 From Bangkok to Foreign Office. 15 May 1957 ได้อ้างถึง ‘โทรเลขจากกรุงพนมเปญ’ ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 (Addressed to Phnom Penh telegram No. 27, 15 May 1957) โดยไม่มีข้อมูลใดระบุถึง ‘สถานทูตอังกฤษในสิงคโปร์’ แต่อย่างใด

นี่ทำให้พวกเราทุ่นดำ-ทุ่นแดงมั่นใจว่า สมศักดิ์คงจะไม่มีโอกาสได้อ่านเอกสารตัวจริงเป็นแน่ เพราะเอกสารฉบับนี้ระบุเพียงว่าสถานทูตอังกฤษในไทยในเวลานั้นคาดกันว่า Rawle Knox (ผู้เขียน/สัมภาษณ์พูนศุข) น่าจะอยู่ในพนมเปญ และกำลังเดินทางกลับมายังกรุงเทพ 

ดังนั้นแล้ว ข้อความที่ปรากฏในบทความของสมศักดิ์ที่ระบุว่า…“เดือนพฤษภาคม 2500 ทูตอังกฤษประจำสิงคโปร์ ได้รายงานไปยังลอนดอนว่า ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าว นสพ. The Observer ของอังกฤษที่นั่น”

โดยการอ้างวิทยานิพนธ์ของณัฐพล จึงเป็น ‘ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน’ เพราะเอกสารชิ้นนี้ (FO 371/1/129653 From Bangkok to Foreign Office. 15 May 1957) ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสิงคโปร์เลยด้วยซ้ำ 

น่าสังเกตว่าความผิดพลาดเหล่านี้ของสมศักดิ์ อาจเป็นเพราะตัวสมศักดิ์ที่ไม่น่าจะได้ตรวจสอบหรืออ่านเอกสารชั้นต้นฉบับนี้ด้วยตัวเอง 

เนื่องเขาก็สารภาพเองว่าข้อมูล (ผิด ๆ) ดังกล่าวเป็นสิ่งที่เขาทราบมาจากณัฐพลอีกทอด จึงกล่าวได้ว่า ‘ความไว้เนื้อเชื่อใจ’ ของสมศักดิ์ต่อณัฐพลในครั้งนี้ย่อมเป็นบทเรียนที่ราคาแพงมากสำหรับชื่อเสียงในเรื่องความชำนิชำนาญในประเด็นสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ของเขา

>> ประเด็นที่ 2
ควรต้องขีดเส้นใต้ย้ำว่า ‘รายงาน/บทความของพูนศุข’ ไม่ได้ถูกตีพิมพ์ใน The Observer ในปี พ.ศ. 2500 (1957) แต่อย่างใด 

เนื่องจากเมื่อลองค้นหาบทความดังกล่าวของหนังสือพิมพ์ Observer ในห้วงเวลาเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2500 (ถ้าจะระบุชัด ๆ คือวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2500) 

เรากลับไม่พบว่าทาง Observer ได้เอาบทความนี้ไปตีพิมพ์ในระยะเวลานั้นตามที่ณัฐพลได้เขียนในวิทยานิพนธ์ของเขาแต่อย่างใด กล่าวสั้น ๆ ได้ว่า ข้อมูลกรณีสวรรคตของพูนศุขนี้ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์จริง ๆ อย่างที่ณัฐพลแอบอ้าง 

เพราะหากสังเกตให้ดี ณัฐพลได้อ้างถึงแต่เพียงเอกสารกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษลงวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 เท่านั้นทั้งในวิทยานิพนธ์และในหนังสือขุนศึกฯ ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าว เป็นไปไม่ได้ที่บทความนี้จะถูกตีพิมพ์ไปแล้ว 

เพราะมีความขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานฉบับต่อมา ได้แก่ DS 1941/1 (A) From Phnom Penh to Foreign Office. 16 May 1957 (ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2500 ซึ่งถูกส่งตรงมาจากกรุงพนมเปญเพียงวันเดียวหลังจากเป็นเรื่องขึ้น) 

น่าสนใจว่าทั้งณัฐพลและสมศักดิ์กลับมิเคยอ้างถึงการมีอยู่ของเอกสารชิ้นนี้เลย ซึ่งรายงานดังกล่าวมีเนื้อความสำคัญ ดังนี้

“1. Knox [ผู้เขียนบทความ] พร้อมที่จะสนทนาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับบทความของเขากับคุณในวันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม เมื่อเขาได้เดินทางมาถึงกรุงเทพ. (บทความดังกล่าวได้ถูกส่งไปไปรษณีย์ไปอังกฤษและจะยังไม่ได้รับการตีพิมพ์จนกว่าจะถึงวันที่ 19 พฤษภาคม), อย่างไรก็ดี จะเป็นการฉลาดกว่า หากคุณจะเข้าพบเขาในทันทีมากกว่าที่จะรอเขาอยู่เฉย ๆ 

2. Knox ดูจะประหลาดใจที่คุณดูตื่นตระหนกและกล่าวว่า Rober Swam หรือ Rivett Carnac น่าจะเป็นผู้ให้ข้อมูลที่น่าตกใจเหล่านั้นไป, ข้อมูลของคุณ, อย่างไรก็ตาม, น่าจะมีส่วนถูกอยู่มาก…”

(ข้อความต้นฉบับคือ…
1. Knox is prepared to discuss his article (which has been mailed and will not be published until May 19) with you on Saturday May 18, when he will be in Bangkok. You may, however, be wise to get hold of him rather than await his [?]

2. Knox was surprised at your consternation and remarked that Robert Swam or Ribett Carnac must have given you an unnecessarily lurid account. Your information would, however, appear to be substantially correct.)

จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารชิ้นนี้ ‘ย้อนแย้ง’ กับสิ่งที่ณัฐพลและสมศักดิ์ได้นำเสนอว่าบทความที่สัมภาษณ์พูนศุขดังกล่าวได้ถูกตีพิมพ์ไปแล้วในช่วง 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 (ถ้าอนุมานว่าตีพิมพ์วันที่ 15 พฤษภาคม หมายความว่าบทความอาจต้องตีพิมพ์ก่อนวันที่สถานทูตอังกฤษจะได้รับรายงาน) 

แต่แท้ที่จริงแล้ว ข้อมูลที่สำคัญระบุว่าบทความนี้ได้ถูกส่งไปรษณีย์ (น่าจะเมลล์อากาศ) ไปยังอังกฤษ และจะยังไม่ได้รับการตีพิมพ์จนกว่าจะถึงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ตามกำหนดเดิม หรือ ทำการงดเผยแพร่ไปก่อน (held up) จนกว่าจะได้รับการถกเถียงถึงประเด็นสวรรคตดังกล่าวที่กรุงเทพฯ 

ซึ่งพวกเขา (เจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษในกรุงเทพและ Knox ผู้เขียนบทความ) ได้นัดคุยกันในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 นี่ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยว่าบทความดังกล่าวจะถูกตีพิมพ์ไปก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ตามที่ณัฐพลอ้าง 

เพราะย่อมจำนนด้วยหลักฐานชิ้นนี้ที่ระบุชัดเจนว่าพวกเขายังไม่ได้ตีพิมพ์ “จนกว่าจะถึงวันที่ 19 พฤษภาคม และ/หรือ ได้รับพูดคุยแลกเปลี่ยนกันก่อนที่กรุงเทพในวันที่ 18 พฤษภาคม”

ท้ายที่สุด แฟ้มเอกสารของอังกฤษในกรณี ‘คำกล่าวอ้าง’ ของพูนศุข พนมยงค์ ในหนังสือพิมพ์ Observer ปี 2500 เกี่ยวกับประเด็น ‘กรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8’ นี้ได้สิ้นสุดลงเพียงแค่เอกสารลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 

ไม่มีรายงานว่าหลังจากเจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษในกรุงเทพและ Knox ผู้เขียนบทความได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในประเด็นสวรรคตในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 นั้นได้รับข้อสรุปเป็นอย่างไร 

แต่ข้อเท็จจริงในเวลานี้ (ตราบใดที่ยังไม่มีการค้นพบข้อมูลหลักฐานใด ๆ มาหักล้าง) คือ ‘รายงาน/บทความของพูนศุข พนมยงค์ ไม่ได้ถูกตีพิมพ์ใน The Observer ในปี พ.ศ.2500 (1957) แต่อย่างใด’ 
ในประเด็นนี้สอดคล้องกับที่สมศักดิ์ก็ได้อ้างว่า “คุณวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ได้บอกผม [สมศักดิ์] ว่า เธอได้ค้นคว้าตรวจสอบ The Observer ในช่วงนั้น แต่ไม่พบรายงานการสัมภาษณ์นี้ เธอจึงเดาว่าทางการอังกฤษอาจจะขอร้องให้ The Observer ยับยั้งการตีพิมพ์รายงานการสัมภาษณ์ดังกล่าวได้ทัน”

จึงกล่าวได้ว่าข้อมูลจากการตรวจสอบของทั้งของเราทุ่นดำ-ทุ่นแดง สอดคล้องกับวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ที่ได้ยืนยันว่าไม่พบบทความดังกล่าวใน The Observer 

อย่างไรก็ดี พวกเราเองก็ได้เห็นต่างกับวิมลพรรณตรงที่ว่าทางการอังกฤษเองคงไม่มีอำนาจไปปิดปากสื่อของเขาได้หากพวกเขาตั้งใจจะพิมพ์จริง ๆ (เป็นธรรมชาติของประเทศประชาธิปไตย) 

และเป็นไปได้มากกว่าว่า หลังจากที่ Knox ได้ถกเถียงในประเด็นสวรรคตที่กรุงเทพในราววันที่ 18 -19 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 แล้ว เขาคงจะเปลี่ยนใจและตัดสินใจระงับการตีพิมพ์บทความดังกล่าวเสียเองในท้ายที่สุด 

พวกเราเชื่อว่า Knox คงจะยอมจำนนด้วยหลักฐานที่หนักแน่นกว่า หลังจากได้ถกเถียงกับสถานทูตอังกฤษในไทย ซึ่งสถานทูตเองก็ระบุเองว่า Knox ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้มาอย่างดี แต่อะไรทำให้ผู้เขียนบทความเองแท้ ๆ เปลี่ยนใจ ‘เท’ ไม่ตีพิมพ์บทความนี้ 

ซึ่งบางกลุ่มในไทยปัจจุบันมองว่าเป็น ‘หลักฐานเด็ด’ หรือ ‘ความจริง’ ในกรณีสวรรคต ? 

คนที่ตอบได้คงมีแต่ Knox เพียงคนเดียว 

ดังนั้น คำอ้างของพูนศุขที่ว่า…

“ถ้าเขา [Knox] ต้องการที่จะรู้ความจริงเกี่ยวกับการปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ ในปี พ.ศ. 2489, เขาควรไปถามพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน” 

จึงกลายเป็นเพียงกระแส ๆ หนึ่งในช่วงไม่กี่วันในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2500 ที่ได้พัดมาและลอยไปในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เพราะแม้แต่ Knox ซึ่งเป็นคนเขียนบทความแท้ ๆ ก็ยังตัดสินใจถอนบทความของเขาออกในนาทีสุดท้าย จึงนับได้ว่าคำอ้างของพูนศุขเช่นนี้เป็นอันใช้ไม่ได้ 

และที่แย่ยิ่งกว่านั้น นักวิชาการไทยบางคน อาทิ สมศักดิ์ และ ณัฐพล กลับเอาเรื่องนี้มาขยายความเป็นตุเป็นตะ ถึงขนาดฟันธงว่าเป็นบทความที่ได้รับการตีพิมพ์จริง ๆ ทั้งที่พวกเขาบางคนยังไม่เคยเห็นเอกสารชั้นต้นที่ว่าหรืออ่านมันอย่างละเอียดแต่อย่างใดเลยด้วยซ้ำ การ ‘กุ’ ข้อมูลทางวิชาการเช่นนี้ เป็นสิ่งที่จะยอมรับไม่ได้ และน่าละอายยิ่ง!!

ป.ล. ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ ได้เสริมว่าในขณะนั้น ยังไม่มี ‘ทูต’ (ambassador) ที่สิงคโปร์ มีแต่ ‘ข้าหลวง’ (commissioner) สมศักดิ์เองก็ผิดพลาดตรงนี้ด้วย!!

กล่าวหา ‘รัชกาลที่ 9’ ท้าทายอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ กับ การตรวจความถูกต้องทางวิชาการของ ณัฐพล ใจจริง

กรณี ‘แผนการเสด็จเยือนชนบทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ณัฐพล ใจจริงอ้างว่ากระทำไปเพื่อท้าทายอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม’

1.ข้อความของณัฐพล
อีกประเด็นหนึ่งที่พวกเราทุ่นดำ-ทุ่นแดง เห็นว่าควรหยิบยกนำมาพูดถึง เพราะประเด็นนี้มีลักษณะโน้มน้าวให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  

นั่นก็คือ ‘แผนการเยี่ยมชนบท’ ของพระราชวงศ์และกลุ่มรอยัลลิสต์ ซึ่ง ณัฐพล ใจจริง ได้อ้างว่ากระทำเพื่อ ‘สร้างความนิยมให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ในการท้าทายอำนาจกับรัฐบาลจอมพล ป.’ 

โดยปรากฏในวิทยานิพนธ์ การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500) ในหน้า 156  ณัฐพลเขียนว่า…“สถานทูตสหรัฐฯรายงานว่า ไม่เพียงแต่ สถาบันกษัตริย์เริ่มต้นการท้าทายอำนาจของ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเท่านั้น แต่ ‘กลุ่มรอยัลสสต์’ ยังมีแผนการสร้างกระแสความนิยม ในพระมหากษัตริย์ให้เกิดในหมู่ประชาชนเพื่อท้าทายอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. ในอีกทางหนึ่ง ด้วยการให้จัดโครงการให้พระองค์เสด็จเยี่ยมประชาชนในชนบท” 

และในหนังสือขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี (2563) ในหน้า 163 ณัฐพลได้กล่าวว่า…“สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เพียงเริ่มต้นท้าทายอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. เท่านั้น กลุ่มรอยัลลิสต์เองยังมีแผนการสร้างกระแสความนิยมในองค์พระมหากษัตริย์ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนเพื่อท้าทายอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. ในอีกทางหนึ่งด้วย”

ทั้งสองส่วนนี้ ณัฐพล ใจจริง ได้อ้างที่มาจากเอกสารชั้นต้นชิ้นเดียวกันจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้แก่ NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4187, Memorandum of Conversation; Kukrit Pramote, George M. Widney, 29 April 1954

2. ข้อค้นพบ
เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเด็นของณัฐพลที่พวกเรา ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ได้ทำการตรวจสอบมา การอ้างอิงหลักฐานของ ณัฐพล ในชิ้นนี้ ก็ผิดพลาดเช่นเคย กล่าวคือ เอกสาร NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4187, Memorandum of Conversation; Kukrit Pramote, George M. Widney, 29 April 1954 มีเนื้อหาระบุเพียงว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชย์ เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรง ‘เสด็จออกชนบท’ (gone to the country) เพื่อไปหาเสียงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับทรรศนะของพระองค์เองเกี่ยวกับกรณีหรือนโยบายใด ๆ (views on an issue) และไม่เคยคิดที่จะทรงแสวงหาชื่อเสียง (publicity กระแสความสนใจจากสาธารณะ) จากการเสด็จออกชนบทด้วย แต่ความคิดของพระองค์เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลก็เป็นที่รับรู้โดยอ้อมผ่านการที่ทรงชะลอการลงพระปรมาภิไธยในร่างกฎหมายฉบับต่าง ๆ (ซึ่งเป็นพระราชอำนาจปกติของระบอบพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ - ทุ่นดำทุ่นแดง)

ข้อความต้นฉบับ (NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4187, Memorandum of Conversation; Kukrit Pramote, George M. Widney, 29 April 1954) คือ 

“I [Geroge M. Widney] asked Kukrit if the general public got to know of the King’s actions and views in such cases where he withheld or delayed royal approval. He was emphatic in saying that the public does, and that this is a source of strength for the King. Kukrit asserted, however, that the King had never “gone to the country” to justify his views on an issue nor had he ever sought to generate publicity for such actions. But his views nevertheless have become well known”

จะเห็นได้ว่าไม่มีข้อความในส่วนใดในเอกสารชิ้นนี้ที่ระบุเนื้อความหรือเบาะแส (hint/clue) ที่ว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เพียงเริ่มต้นท้าทายอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. เท่านั้น กลุ่มรอยัลลิสต์เองยังมีแผนการสร้างกระแสความนิยมในองค์พระมหากษัตริย์ให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนเพื่อท้าทายอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป.” ตามที่ณัฐพลได้กล่าวในผลงานวิชาการทั้ง 2 เล่มของเขาเลย 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประโยคจากเอกสารชั้นต้นที่ระบุว่า “the King had never ‘gone to the country’ to justify his views on an issue nor had he ever sought to generate publicity for such actions” ซึ่งแปลได้ว่า “ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ได้เสด็จไปชนบทเพื่อสร้างความชอบธรรมหรือความนิยมในหมู่ประชาชนแต่อย่างใดเลย”  

คำแปลดังกล่าวเรียกได้ว่า พลิกจากหน้าเมือเป็นหลังมือเลยทีเดียว 

และถ้าณัฐพลยังยืนยันแนวคิดของเขาในประเด็นนี้ ตามหลักวิชาการแล้ว เขาควรจะต้องอ้างเอกสารชิ้นอื่น ที่ไม่ใช่ชิ้นนี้ 

สรุป จุดนี้เองทำให้พวกเชื่อว่า แม้ว่าเอกสารที่ ณัฐพล ใช้อ้างอิง ‘มีอยู่จริง’

แต่เอกสารดังกล่าวกลับมีเนื้อหาที่ ‘ตรงกันข้าม’ กับสิ่งที่เขาได้บรรยายไว้ทั้งในวิทยานิพนธ์และหนังสือ 
หรือเรียกว่าเป็น ‘หนังคนละม้วน’ เลยก็ว่าได้ (เพราะม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในฐานะกลุ่มรอยยัลลิสต์เองยืนยันเองว่าในหลวงไม่ได้ต้องการเสด็จชนบทเพื่อสร้างความนิยม) 

ทั้งนี้ เราไม่แน่ใจว่าเหตุใด ณัฐพล จึงกระทำการเช่นนี้ และอาจารย์ที่ปรึกษา หรือ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ ได้ปล่อยให้ประเด็นดังกล่าวหลุดรอดมาได้อย่างไรเกือบ 10 ปี ?

นอกจากนี้แล้ว เอกสารชั้นต้นฉบับนี้ก็น่าจะให้คำตอบที่หักล้างกับข้อเสนอทางวิชาการของณัฐพลที่ว่า ‘การเสด็จชนบทของในหลวงเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของสหรัฐ’ 

เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีข้อความใด ๆ ในเอกสารชิ้นนี้ที่สามารถตีความหรือโยงใยไปในเรื่องการเสด็จชนบทคือ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์และรอยัลลิสต์กระทำการดังกล่าวในแผนการต่อต้านคอมมิวนิสต์ตามที่งานวิชาการของณัฐพลพยายามโน้มน้าวให้คนอ่านเชื่ออยู่เลย

กล่าวหา ‘ร.9’ จะตั้งพระองค์เจ้าธานีนิวัต เป็นนายกฯ แทน จอมพล ป. 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

การตรวจสอบการใช้หลักฐานอ้างอิงในการเขียนงานวิชาการของ ผศ. ดร. ณัฐพล ใจจริง โดย ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’

ประเด็นที่ 5 เรื่อง การอ้างเอกสารสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยอย่างบิดเบือนเกินจริงว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะตั้งให้พระองค์เจ้าธานี พระยาศรีธรรมาธิเบศ และหลวงสินาดโยธารักษ์เป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพล ป. ในปี พ.ศ. 2494 รวมถึงการอ้างถึง หม่อมเจ้านักขัตรมงคลว่า ทรงมีบทบาทในการให้คำแนะนำในหลวงให้มีท่าทีไม่พอใจรัฐบาล

1. ข้อความของณัฐพล 
ณัฐพลได้ระบุข้อความไว้ในหน้า 113 ของหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี (2563) ว่า “พระองค์ [ในหลวง ร.9] ทรงวิจารณ์คณะรัฐประหารและนายกรัฐมนตรี อีกทั้งมีพระราชดำริที่จะจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ภายหลังเสด็จนิวัติพระนครในปลายปี 2494 โดยมีพระราชประสงค์ให้พระองค์เจ้าธานีนิวัต เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ ผู้เป็นแกนนำสำคัญของกลุ่มรอยัลลิสต์เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนจอมพล ป.”

ณัฐพล ใจจริง ได้เขียนประโยคดังกล่าวโดยอ้างอิงจากรายงานสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

และณัฐพลยังยืนยันถึง ‘ความน่าเชื่อถือ’ ของข้อมูลนี้ไว้ในเชิงอรรถที่ 70 โดยเอกสารของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศที่เขานำมาอ้าง คือ NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Memorandum of Conversation Nai Sang Pathanotai and N.B. Hannah, “29 November 1951 Coup d’Etat” 

ซึ่งเอกสารนี้มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับบันทึกการสนทนาเป็นการส่วนตัว (Memorandum of Conversation) ระหว่าง นายสังข์ พัธโนทัย คนสนิทของ จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี กับ นายเอ็น บี ฮันนาห์ (N. B. Hannah) เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม พ.ศ. 2494 (หลังการปฏิวัติ 2494 เป็นเวลา 1 วัน)

นอกจากนี้แล้ว ณัฐพลได้ขยายความในเชิงอรรถว่า “รายงานการทูตฉบับนี้ระบุว่า สังข์ พัธโนทัย บุคคลใกล้ชิดจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ให้ข่าวกับฮันนาห์ว่า บุคคลที่อยู่เบื้องหลังการให้คำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ให้มีท่าทีไม่พอใจรัฐบาลคือ ม.จ. นักขัตรมงคล กิติยากร ฮันนาห์ได้บันทึกในรายงานว่า ข้อมูลจากสังข์นี้ได้ตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่น ๆ ของเขาแล้วพบว่ามีความแม่นยำ” 

สังเกตให้ดีและกรุณาจำไว้ กับข้อความที่ว่า “ฮันนาห์ได้บันทึกในรายงานว่า ข้อมูลจากสังข์นี้ได้ตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่น ๆ ของเขาแล้วพบว่ามีความแม่นยำ”

และในวิทยานิพนธ์ การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม. ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) ของณัฐพลก็ได้ปรากฏข้อความเช่นเดียวกันในหน้าที่ 114 เชิงอรรถที่ 101 แต่ข้อความแตกต่างเล็กน้อย โดยระบุว่า…
“รายงานฉบับนี้ รายงานว่า สังข์ พัธโนทัย บุคคลใกล้ชิดจอมพล ป. พิบูลสงครามได้แจ้งกับฮันนาห์ว่า บุคคลที่อยู่เบื้องหลังในแนะนำให้พระมหากษัตริย์กลับมาต่อต้านรัฐบาล คือ ม.จ. นักขัตรมงคล กิติยากร ฮันนาห์ได้บันทึกในรายงานว่า ข้อมูลจากสังข์นี้ เขาได้ตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่น ๆ ของเขาแล้วพบว่ามีความแม่นยำ” 

ยังจำได้นะครับ ข้อความที่ว่า "ฮันนาห์ได้บันทึกในรายงานว่า ข้อมูลจากสังข์นี้ เขาได้ตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่น ๆ ของเขาแล้วพบว่ามีความแม่นยำ” 

2. ข้อค้นพบ
2.1 จากการตรวจสอบเอกสารชั้นต้นซึ่งเป็นรายงานสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยฉบับดังกล่าวอย่างละเอียด (ฉบับเดียวกับที่ณัฐพลใช้เขียนวิทยานิพนธ์และแต่งหนังสือ) พบว่า มีข้อความที่ระบุว่าในหลวงทรงวิจารณ์รัฐบาล, คณะรัฐประหาร 2490, จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือ เผ่า ศรียานนท์ จริง รวมไปถึงพระราชประสงค์ของพระองค์ที่จะจัดตั้งรัฐบาลใหม่นำโดยนายกรัฐมนตรีที่ทรงปรารภ (mentioned) ไว้ 3 รายชื่อ ได้แก่ พระองค์เจ้าธานี พระยาศรีธรรมาธิเบศ และหลวงสินาดโยธารักษ์ ก็ได้มีการระบุไว้ในเอกสารนี้ด้วย 

แต่ทว่า ท้ายที่สุด นายเอ็น บี ฮันนาห์ (N. B. Hannah) เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐ (ผู้เขียนรายงานฉบับนี้) ได้มีคำวิจารณ์ในวงเล็บต่อท้ายข้อมูลข้างต้นไว้อย่างชัดเจนว่า…

“รายงานนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าว/แหล่งข้อมูลอื่น หากเป็นจริงดังว่า คงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าคณะรัฐประหารโดยเฉพาะพิบูล (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) คงรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมาก” (This report has not yet been confirmed by any other sources. If there is any truth to this report it is obvious that the coup party and even Phibun would be intensely displeased.) 

นั่นหมายความว่า นายฮันนาห์ (ผู้เขียนรายงานนี้) ก็ยังไม่เชื่อข้อมูลที่สังข์เล่านี้เลย 

แม้เขาจะโปรยในตอนต้นของรายงานนี้ว่า ข้อมูลของสังข์ ‘บางส่วน’ (some respects) มีความถูกต้อง (valid) และได้รับการยืนยัน (confirmed) มาแล้วก็ตาม (ข้อมูลที่ได้รับการยืนยันคือกรณีสาเหตุของการรัฐประหารตัวเองของรัฐบาลจอมพล ป. ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 (โปรดดูย่อหน้าแรกในหน้าแรกของบันทึกการสนทนาประกอบ) 

แต่ข้อมูลในกรณีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะมีพระราชประสงค์จะตั้งนายกรัฐมนตรีนี้ นายฮันนาห์ก็สารภาพไว้เองว่า “เป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน” (has not yet been confirmed by any other sources) และควรบันทึกด้วยว่าข้อมูลเรื่องในหลวงนี้ สังข์เองอ้างว่าเขารู้มาจากเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจอีกทอดหนึ่งด้วย (Phao reported/stated that…..)

สังเกตให้ดีนะครับว่า “สังข์รู้มาจากเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจอีกทอดหนึ่งด้วย (Phao reported/stated that…..)

2.2 ส่วนข้อความที่พาดพึงไปถึง ม.จ. นักขัตรมงคล (พระบิดาของสมเด็จพระพันปีหลวง {หรือ พระบิดาของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง})

นายฮันนาห์ได้เขียนโดยอ้างจากคำพูดของสังข์ พัธโนทัย ว่า…“สังข์กล่าวโทษ ม.จ. นักขัตรมงคล อดีตเอกอัครราชทูตลอนดอน ผู้เป็นพ่อตาและที่ปรึกษาปัจจุบันของในหลวง, ว่าโน้มน้าวให้ในหลวงต่อต้านรัฐบาล” (Sang blames the King’s father-in-law Momchao Nakhat MONGKON, former Ambassador in London and now advisor to the King, for turning him against the Government.) 

ข้อความในส่วนนี้จึงเป็นทัศนคติส่วนบุคคลของสังข์ พัธโนทัย คนสนิทของจอมพล ป. แต่เพียงผู้เดียว ผ่านรอยน้ำหมึกปากกาของนายฮันนาห์ผู้บันทึกการสนทนา 

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงในประเด็น ม.จ. นักขัตรมงคล จะเป็นอย่างไรนั้นไม่มีใครทราบ 

แต่การที่ ณัฐพล ใจจริง นำกรณี 2.1 กับ 2.2 มารวมกันแล้วขยายด้วยข้อความในเชิงอรรถในลักษณะที่ทำให้ผู้อ่านหนังสือ/วิทยานิพนธ์ของเขาเชื่อว่าข้อความเหล่านั้น ‘เป็นความจริง’ เพราะได้รับการยืนยันจากฮันนาห์เอง

ด้วยข้อความที่ณัฐพลเขียนสำทับลงไปเองว่า…“ฮันนาห์ได้บันทึกในรายงานว่า ข้อมูลจากสังข์นี้ได้ตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่น ๆ ของเขาแล้วพบว่ามีความแม่นยำ”  

แต่แท้ที่จริงแล้วข้อมูลในประเด็นทั้ง 2.1 และ 2.2 กลับตรงข้ามที่ฮันนาห์ได้ระบุไว้ในตัวเอกสารเลย ดังที่อธิบายไปข้างต้นแล้ว

ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ ฮันนาห์ได้ระบุย้ำเตือนถึงความ ‘บิดเบือนความจริง’ (misrepresentation) หรือ ‘ความเข้าใจคลาดเคลื่อน’ (misinterpretation) ของสังข์ไว้ในบันทึกหน้าสุดท้ายไว้อีกด้วยว่า…

“โดยทั่วไปแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่ารายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ ในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ค่อนข้างแม่นยำ แต่ก็ยังปรากฏบางกรณีที่ชัดเจนว่า เป็นการบิดเบือนความจริง หรือ การความเข้าที่ใจคลาดเคลื่อนของสังข์เช่นกันด้วย ซึ่งกรณีที่ผิดพลาดเหล่านั้น ส่วนใหญ่ได้ถูกระบุข้อสังเกตไว้ในบันทึกนั้นแล้ว” (In general I believe that this description of the specific events surrounding the November 29 coup is fairly accurate. There are certain obvious cases of misrepresentation and of misinterpretation by Sang. Most of these have been pointed out in the text of the memorandum itself.)

สรุปข้อผิดพลาดของณัฐพล ใจจริง ในประเด็นนี้มีความหนักหนามาก 

เพราะถือว่าเป็นการนำเอกสารชั้นต้นที่มาขยายความเกินจริงในงานวิชาการ รวมถึงการยืนยันข้อความดังกล่าวในเชิงอรรถด้วยข้อมูลที่แทบจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่หลักฐานให้ไว้แทบทั้งสิ้น 

การอาศัยความน่าเชื่อถือของเอกสารการทูตของสหรัฐมาใช้เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในวงการวิชาการ ซึ่งการกระทำนี้อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลวงรัชกาลที่ 9

กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ ทรงมีความคิดจะกำจัดจอมพล ป. 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ กับ การตรวจสอบความถูกต้องในการอ้างอิงทางวิชาการของ ณัฐพล ใจจริง 

‘ประเด็น กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงมีความคิดที่จะกำจัด จอมพล ป.’

1. ข้อความที่กล่าวถึงประเด็นนี้ของ ณัฐพล ใจจริง ในหนังสือ: ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี (ฟ้าเดียวกัน, 2563)

>> จุดที่ 1 หน้า 66

“พระองค์ [กรมขุนชัยนาทนเรนทร] แจ้งกับทูตอังกฤษเป็นการส่วนตัวเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2490 ภายหลังการรัฐประหารว่า ไม่เคยไว้วางใจจอมพล ป. และปรีดี พนมยงค์ เลย ทรงเห็นว่าขณะนั้นรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ที่กลุ่มรอยัลลิสต์ให้การสนับสนุนนั้นถูกคณะรัฐประหารครอบงำ ทรงมีความคิดที่จะกำจัดจอมพล ป.” (ณัฐพล อ้างอิงจาก Nik Mahmud, The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and The Coup (Malaysia: Faculty of Social Sciences and Humanities, Universiti Kebangsaan Malaysia, 1988 หน้า 49.)

ในวิทยานิพนธ์: การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)

>> จุดที่ 1 หน้า 71

“ทรงได้แจ้งกับทูตอังกฤษเป็นส่วนตัวเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2490 ว่า ทรงไม่เคยไว้วางใจ จอมพล ป. และปรีดี พนมยงค์เลย ทรงเห็นว่า ขณะนั้นรัฐบาลควง อภัยวงศ์ที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ให้การสนับสนุนนั้นถูกคณะรัฐประหารครอบงำ ทรงมีความคิดต้องการกำจัดจอมพล ป.” (ณัฐพล อ้างอิงจาก ที่เดียวกัน หน้าเดียวกัน)

2. หลักฐานที่ค้นพบ
จากการตรวจสอบเอกสารที่ ณัฐพล ใจจริง อ้างถึงจากทั้งหนังสือขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี และวิทยานิพนธ์ของเขา ณัฐพลได้เลือกใช้หนังสือของนักประวัติศาสตร์ชาวมาเลเซีย Nik Mahmud คือ The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and The Coup โดยเขาได้อ้างจากหน้า 49 ทั้งในหนังสือ ‘ขุนศึกฯ’ และวิทยานิพนธ์ข้างต้น พบว่า 

ไม่มีคำที่กล่าวใดในหน้า 49 นี้ หรือในส่วนใดจากเนื้อความจากหนังสือตลอดทั้งเล่ม ที่ Nik Mahmud เขียนว่า กรมขุนชัยนาทฯ ทรงมีความคิดที่จะกำจัดจอมพล ป. แต่อย่างใด

เราขอให้ผู้อ่านพิจารณาจากประโยคที่ Nik Mahmud อ้างจากรายงานการเข้าเฝ้ากรมขุนชัยนาทฯ ของ  Sir Geoffrey Thompson ทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ว่า…

“He said that he would never trust Pibul who, like Pridi was very much at the mercy of certain extremely unscrupulous persons. He intimated that the longer the present Cabinet remained dependent upon Pibul for protection, the more difficult they would find it to shake him off.”

แปลได้ว่า “พระองค์ตรัสว่า ทรงไม่เชื่อใจ จอมพล ป. ผู้ซึ่งก็เหมือนกับปรีดี ที่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของพวกคนฉ้อฉล พระองค์ยังทรงตรัสเป็นนัยอีกด้วยว่า ยิ่งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ยังขึ้นอยู่กับความคุ้มครองของจอมพล ป. อีกนานเท่าใด พวกเขาก็จะยิ่งพบว่ามันเป็นการยากยิ่งขึ้น ที่จะสลัดจอมพล ป. ออกไปด้วยเท่านั้น”

จากข้อความข้างต้น สามารถย้อนกลับไปพิจารณาและวิเคราะห์การใช้เอกสารอ้างอิงอย่างวิชาการของณัฐพล ใจจริง ที่สามารถแบ่งได้ 3 ประเด็นย่อย ดังนี้

ประเด็นที่ 1. กรมขุนชัยนาทฯ (ทรง) ไม่เคยไว้วางใจจอมพล ป. และปรีดี พนมยงค์ (อ้างอิงถูกต้อง)

ประเด็นนี้ ณัฐพลอ้างอิงได้อย่างถูกต้อง ตรงตามข้อมูลที่หนังสือของ Nik Mahmud จะเอื้ออำนวย กล่าวคือไม่มีการตีความและขยายความเกินกว่าหลักฐาน ประเด็นนี้จึงไม่เป็นปัญหา

ประเด็นที่ 2. รัฐบาลควง อภัยวงศ์ ที่กลุ่มรอยัลลิสต์ให้การสนับสนุนนั้นถูกคณะรัฐประหารครอบงำ (อ้างอิงถูกบางส่วน)

ประเด็นนี้ ณัฐพลอ้างอิงถูกต้อง ‘เพียงบางส่วน’ (partial) เพราะหนังสือของ Nik Mahmud ในหน้านี้ ระบุเพียงว่า กรมขุนชัยนาทฯ ทรงเชื่อว่า รัฐบาลนายควงถูกคณะรัฐประหารครอบงำจริง แต่ไม่มีเนื้อความใดในเอกสารในส่วนนี้ระบุถึงกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์’ ว่าให้การสนับสนุนรัฐบาลของนายควงเลย ถ้าณัฐพลจะอ้างข้อความตรงนี้ ก็ต้องอ้างจากส่วนอื่นของหนังสือเล่มนี้ที่มีข้อความเช่นนี้ประกอบ จึงสรุปว่าประเด็นที่ 2 นี้ ‘อ้างอิงถูกต้องเพียงครึ่งเดียว’

ประเด็นที่ 3. กรมขุนชัยนาทฯทรงมีความคิดที่จะกำจัดจอมพล ป. (ไม่มีข้อความตามปรากฏ)

สำหรับประเด็นนี้จะเห็นได้ว่า ไม่มีข้อความใดที่จะสนับสนุนข้อความที่ ณัฐพล ใจจริง ระบุว่า ‘กรมขุนชัยนาทฯ ทรงมีความคิดที่จะกำจัดจอมพล ป.’ อยู่เลย พบแต่เพียงการกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ อาจจะพบความยากลำบากในอนาคต ถ้าหากยังคงอาศัยอิทธิพลของจอมพล ป. ต่อไป

หากอนุมานตามข้อความนี้ ก็จะพาไปสู่ทางออกที่ว่า หากคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลควง อภัยวงศ์ ต้องการเป็นอิสระจากจอมพล ป. ก็ต้อง ‘สลัด/กำจัด/ขจัด’ จอมพล ป. ออกไป (shake him off)  

ข้อเสนอเช่นนี้ก็เป็นที่ประจักษ์โดยกระบวนการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ตามวิถีประชาธิปไตยของนายควงในเวลาต่อมา 

การพยายามสลัด/ขจัดอิทธิพลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหาร 2490 ดังกล่าว เป็นผลสำเร็จโดยการชนะเลือกตั้งของนายควงและประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งทั่วไปช่วงต้นปี พ.ศ. 2491 

การเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลต่างชาติสำคัญ ๆ เช่น อเมริกาและอังกฤษ รับรองสถานะของรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการหลังรัฐประหาร 2490 

ต่อมาไม่นานได้เกิด ‘เหตุการณ์จี้ควง’ โดยคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เพื่อบีบนายควงออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นคณะรัฐประหารก็เชิญจอมพล ป. ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายควง 

และในอีก 3 ปีต่อมาจอมพล ป. ก็ได้ทำการรัฐประหารตัวเองเพื่อกระชับอำนาจให้มากขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 

ผลจากการยึดอำนาจครั้งนี้ ทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยยาวนานสืบเนื่องจนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 

ควรบันทึกด้วยว่า การใช้คำว่า ‘กำจัด’ ซึ่งมีความหมายในทางที่ลบกว่า ‘สลัด’ หรือ ‘ขจัด’ ของณัฐพล ใจจริงนั้น เมื่ออ่านผ่าน ๆ อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจไปด้วยว่า กรมขุนชัยนาทฯ ทรงต้องการที่จะ ‘กำจัด’ จอมพล ป. จริง ๆ

ทั้งที่คำดั้งเดิมและบริบทของประโยคนั้น ควรจะใช้คำว่า ‘สลัด’ เสียให้พ้นทางเท่านั้น 

อีกทั้งประธานของคำกริยาดังกล่าว คือ ‘They’ ก็มีนัยหมายถึงบุคคลที่สามคือนายควงและรัฐบาลของเขา ไม่ได้หมายถึงตัวของกรมขุนชัยนาทฯ เองแต่อย่างใด

กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ ทรงค้านตั้ง จอมพล ป. เป็นนายกฯ 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ กับการตรวจสอบงานวิชาการของ ณัฐพล ใจจริง 

ประเด็นที่ 4 ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงไม่พอใจกับการขับไล่ ควง อภัยวงศ์ ลงจากอำนาจ  และค้านการแต่งตั้งจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทน’

1. ข้อความที่กล่าวถึงประเด็นนี้ของ ณัฐพล ใจจริง ใน หนังสือ: ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี (ฟ้าเดียวกัน, 2563)

>>จุดที่ 1 หน้า 73
“เหตุการณ์ชับไล่ควงลงจากอำนาจสร้างความไม่พอใจให้กับกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯ เป็นอย่างมาก พระองค์ทรงคัดค้านอย่างเต็มกำลังเรื่องการแต่งตั้งจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทนควง ทรงพยายามประวิงเวลาการลาออกของควงและคาดการณ์ว่ารัฐบาลจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้นาน สถานทูตรายงานต่อไปว่า พระองค์ทรงมีความเห็นว่าจากนี้ไปมีความเป็นไปได้ว่าสมาชิกวุฒิสภาซึ่งแต่งตั้งโดยคณะผู้สำเร็จราชการและส่วนใหญ่สนับสนุนควงจะลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลจอมพล ป. ในกระบวนการทางรัฐสภา” 

(ณัฐพลอ้างอิงจาก NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 7 April 1948; Stanton to Secretary of State, 8 April 1948, Memorandum of Conversation Prince Rangsit and Stanton, 9 April 1948 และ ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) (กรุงเทพฯ: ช. ชุมนุมช่าง, 2517) หน้า 612)

ในวิทยานิพนธ์: การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)

>> จุดที่ 1 หน้า 77
“เมื่อคณะรัฐประหารยื่นคำขาดให้ควง อภัยวงศ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีลาออกในวันที่ 6 เมษายน 2491 ทันที่ การยื่นคำขาดขับไล่รัฐบาลควงที่ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ให้การสนับสนุนลงจากอำนาจครั้งนี้ สถานทูตสหรัฐฯรายงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พระทัยให้กับกรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการฯเป็นอย่างมาก โดยทรงพยายามให้ความช่วยเหลือ ควง ด้วยการทรงไม่รับจดหมายลาออก และทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารแต่ความพยายามของพระองค์ไม่เป็นผล ทำให้ทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารว่า ‘ปัญหาทางการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย’ 

ทรงกล่าวว่า รัฐบาลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง สถานทูตรายงานต่อไปว่า ทรงมีแผนการที่ใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ’กลุ่มรอยัลลิสต์ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้งและสมาชิกสภาผู้แทนฯของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป’”
(ณัฐพลอ้างอิงจาก ที่เดียวกัน แต่ในวิทยานิพนธ์ไม่มีการอ้างเอกสารของประเสริฐ)

2. หลักฐานที่ค้นพบ

จากการตรวจสอบเอกสารที่ณัฐพล ใจจริง ใช้อ้างอิง คือ เอกสารชั้นต้นจากหอจดหมายเหตุสหรัฐฯ หรือเอกสาร NARA และหนังสือของประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ พบว่า ไม่มีข้อความที่กล่าวว่า “พระองค์ทรงไม่พอพระทัย” และ “คัดค้านอย่างเต็มกำลัง” แต่อย่างใด 

2.1 เราสามารถแยกประเด็นของณัฐพลที่นำเสนอไว้ออกมาได้ 3 ส่วน ดังนี้

2.1.1 ทรงคาดว่าเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะดำรงอยู่ได้ไม่นาน และสมาชิกวุฒิสภาซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนควงจะลงมติไม่ไว้วางใจในกระบวนการรัฐสภา (อ้างอิงถูกต้อง)

ในส่วนประเด็นนี้ณัฐพลกล่าวได้ถูกต้อง โดยจากการตรวจสอบเอกสาร NARA พบว่ามีการระบุข้อความว่า “[…] he anticipated Field Marshal would experience difficulty in forming government […] Rangsit, had insisted cabinet must consist of good men and that not improbable Phibun and his government would be overthrown in few months time […] Attitude of Parliament, particularly Senate, which is largely pro-Khuan, also uncertain and rather than risk vote no confidence […]”

แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า…

“พระองค์ทรงคาดการณ์ว่า จอมพล ป. จะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาล [...] ซึ่งพระองค์เจ้ารังสิตฯทรงย้ำว่า คณะรัฐมนตรีจะต้องประกอบด้วยคนดี และนั่นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามจะไม่ถูกล้มล้างในเวลาไม่กี่เดือนต่อจากนี้ […] สำหรับท่าทีของรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวุฒิสภาซึ่งส่วนมากเป็นพวกนิยมควงนั้นไม่แน่นไม่นอน และอาจลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้”

ดังนั้น ข้อความในส่วนนี้ณัฐพลจึงไม่มีปัญหาในการอ้างอิง

2.1.2 ทรงกล่าวว่า รัฐบาลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง (อ้างอิงถูกต้องบางส่วน)

ข้อความส่วนนี้ปรากฏอยู่ในวิทยานิพนธ์ของณัฐพล ซึ่งแม้จะอ้างถูกต้องในคำพูดที่ว่า รัฐบาลจะถูกโค่นล้มลง แต่เป็นการ ‘คาดการณ์’ (anticipation) ของพระองค์เท่านั้นตามที่ได้กล่าวไว้ใน 2.1.1 มิใช่ว่าพระองค์จะมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด ในส่วนนี้ณัฐพลจึงอ้างอิงถูกต้องเพียงบางส่วน 

2.1.3 จุดอื่น ๆ ที่ไม่ปรากฏในหลักฐานอ้างอิง (ไม่มีข้อความปรากฏ) ในส่วนที่ไม่ปรากฏอยู่ในเอกสารพบว่าในวิทยานิพนธ์มีส่วนนี้อยู่มาก และถึงแม้จะแก้ไขในภายหลังตอนที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี แล้วก็ยังพบข้อความที่ไม่ปรากฏที่มาคงไว้เช่นเดิม คือข้อความที่ว่า…

1. “เหตุการณ์ขับไล่ ควง ลงจากอำนาจสร้างความไม่พอใจให้กับกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯ เป็นอย่างมาก พระองค์ทรงคัดค้านอย่างเต็มกำลังเรื่องการแต่งตั้งจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทนควง ทรงพยายามประวิงเวลาการลาออกของควง”

2. “เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พระทัยให้กับกรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการฯเป็นอย่างมาก โดยทรงพยายามให้ความช่วยเหลือควงด้วยการทรงไม่รับจดหมายลาออก และทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารแต่ความพยายามของพระองค์ไม่เป็นผล ทำให้ทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารว่า ‘ปัญหาทางการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย’”

3. “สถานทูตรายงานต่อไปว่า ทรงมีแผนการที่ใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้งและสมาชิกสภาผู้แทนฯของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป””

4. 2.2 เมื่อพิจารณาจากเอกสารชั้นแรกเพิ่มเติม คือ เอกสารชั้นต้นจากหอจดหมายเหตุสหรัฐฯ ใน NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 7 April 1948 (ผู้เขียนเข้าไม่ถึงเอกสาร) ; Stanton to Secretary of State, 8 April 1948, Memorandum of Conversation Prince Rangsit and Stanton, 9 April 1948 

ทั้งนี้ ได้พบข้อความที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ณัฐพลกล่าวถึง ดังนี้

ข้อความที่ 1 “This group told him coup d’etat party was determined force resignation Khuang government and place Phibun in power. They asked Prince Rangsit name Phibun Prime Minister.”

แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “คนกลุ่มนี้กล่าวกับพระองค์ว่า คณะรัฐประหารมีความประสงค์จะบีบให้รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ลาออก และตั้งจอมพล ป. พิบูลสงครามให้อยู่ในอำนาจ แทนโดยพวกเขาขอให้กรมขุนชัยนาทฯ ทรงเสนอชื่อจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี”

ข้อความที่ 2 “He said he had summoned Phibun to appear before Council and that Field Marshal was accompanied by General Luang Kach, Field Marshal talked at length situation in Siam, menace of Chinese and Communists, and Rangsit said he talked very intelligently.”

แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “พระองค์ทรงเล่าว่าได้เชิญจอมพล ป. เข้าพบก่อนการประชุมของคณะองคมนตรี ซึ่งจอมพลได้เข้าพบพร้อมกับหลวงกาจสงคราม โดยจอมพล ป. ได้อธิบายถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ในสยามอย่างยาวยืด เช่น ภัยคุกคามจากพวกจีนและคอมมิวนิสต์ พระองค์เจ้ารังสิตฯกล่าวแก่ข้าพเจ้า (สแตนตัน) ว่า จอมพล ป. พูดได้อย่างชาญฉลาด” 

ข้อความที่ 3 “Council now faced with problem appointing new prime minister. […] Luang Kach said Phibun obvious man. Rangsit suggested since Phibun was Commander-in-Chief Army, someone else perhaps more suitable as prime minister. Luang Kach in very vehement manner declared military group would accept no one but Phibun.”

แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ขณะนี้คณะองคมนตรีกำลังเผชิญกับปัญหาของการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ […] หลวงกาจ สงครามได้กล่าวว่า ‘จอมพล ป. เป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุด’ แต่พระองค์เจ้ารังสิตฯ ตรัสแนะไปว่าเวลานี้จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ น่าจะมีบุคคลอื่นที่มีความเหมาะสมกว่าที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลวงกาจสงครามจึงประกาศกร้าวด้วยความฉุนเฉียวว่า ‘คณะทหารจะไม่ยอมรับใครเว้นเสียแต่จอมพล ป. เท่านั้น’”

จะเห็นได้ว่า หากณัฐพล ใจจริง อาศัยหลักฐานจากสหรัฐ ฯชิ้นนี้ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ไม่มีส่วนใดของเนื้อหาที่ระบุว่า “กรมขุนชัยนาทฯ ทรงไม่พอใจกับการบังคับควงออกและคัดค้านอย่างเต็มกำลังในการแต่งตั้งจอมพล ป.” อยู่เลย พบเพียงข้อความที่กล่าวแต่เพียงว่า พระองค์ทรงไม่เห็นด้วยหากจอมพล ป. จะเป็นนายกแทนนายควง เพราะจอมพล ป. ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่แล้ว แต่สุดท้ายเมื่อคณะรัฐประหาร 2490 ยืนยันและประสงค์เช่นนั้นกรมขุนชัยนาทฯก็ทรงยอมกระทำตาม 

ควรบันทึกด้วยว่า หากอ่านรายงานฉบับนี้ของสแตนตันโดยละเอียดและวางใจเป็นกลาง จะพบว่า ไม่มีข้อความใดที่กรมขุนชัยนาทฯ บริภาษหรือแสดงความไม่พอใจต่อจอมพล ป. 

แต่การณ์กลับตรงข้ามกัน กล่าวคือ สแตนตันบันทึกไว้ด้วยตนเองว่า กรมขุนชัยนาทฯ ทรงชมจอมพล ป. ไว้หลายจุด อาทิ ทรงกล่าวว่าจอมพล ป. เป็นคนที่พูดได้อย่างชาญฉลาด น่าคล้อยตาม หรือกระทั่งมีคุณสมบัติเหมาะสม 

ดังนั้น หากณัฐพลเชื่อว่ากรมขุนชัยนาทฯ ทรงไม่พอใจจอมพล ป. ในกรณีบีบให้ควงออก ณัฐพลก็ต้องอ้างจากเอกสารฉบับอื่นที่ไม่ใช่ทั้งจากเอกสารสหรัฐฯ 

เพราะในรายงานทั้ง 2 ฉบับนี้ ล้วนมีแต่คำยกย่องชมเชยจอมพล ป. รวมถึงคำเตือนเกี่ยวกับความโลภของบรรดาคนใกล้ชิดของจอมพล ป. ซึ่งไม่ได้หมายถึงตัวจอมพล ป. เองแต่อย่างใด

และเมื่อตรวจสอบหนังสืออีกเล่มที่ถูกอ้าง คือ รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) ซึ่ง ณัฐพล ได้ใส่เป็นเอกสารอ้างอิงเพิ่มเติมจากเอกสารสหรัฐฯ ในหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ก็ไม่พบข้อความส่วนใดที่กล่าวในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน พบเพียงแต่ข้อความว่า…

“คณะอภิรัฐมนตรีได้รับใบลาไว้แล้ว แต่หากว่าในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ยังมิได้มีบัญชาประการใด” (หน้า 612) 

ดังนั้น การอ้างอิงของ ณัฐพล ใจจริง ในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นวิชาการอย่างยิ่ง 
เพราะไม่ได้อาศัยข้อเท็จจริงจากเอกสารต้นฉบับที่ใช้อ้างอิง โดยข้อความในงานวิชาการของเขาทั้ง 2 แห่งข้างต้น ได้ฉายภาพให้บทบาททางการเมืองและการต่อต้านจอมพล ป. ของกรมขุนชัยนาทฯ มีลักษณะเกินจริงและมุ่งประสงค์ร้ายต่อจอมพล ป. ทั้งที่เอกสารที่ใช้อ้างอิงไม่ปรากฏเนื้อหาเช่นนี้เลย

หมายเหตุ: ผู้เขียนไม่สามารถเข้าถึงเอกสาร NARA วันที่ 7 April 1948 ได้ แต่อย่างไรก็ตามเอกสาร NARA ทั้ง 3 ชุดเป็นเอกสารที่ระบุเนื้อหาเดียวกัน ต่างกันเพียงรายละเอียดที่สรุปย่อหรือขยายความเท่านั้น ซึ่งไม่ปรากฏข้อความตามที่ณัฐพลกล่าวอ้างใด ๆ ทั้งสิ้นตลอดทั้ง 2 ฉบับที่ผู้เขียนเข้าถึง

#จุดต่าง ๆ ในวิทยานิพนธ์ณัฐพลใจจริง

จุดที่สาม ได้เคยชี้จุดผิดพลาดในวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง ไปแล้วสองจุด อันได้แก่ 

หนึ่ง การสร้างเรื่องให้กรมขุนชัยนาทฯ เข้าประชุมคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีหลักฐานตามที่ใส่ไว้ในเชิงอรรถ  

สอง การเขียนให้กรมขุนชัยนาทฯรับรองรัฐประหารอย่างแข็งขันโดยไม่มีหลักฐานตามที่ใส่ไว้ในเชิงอรรถ
มาคราวนี้ คือ จุดที่สาม 

ในวิทยานิพนธ์หน้า 77 หัวข้อ 3.5 จอมพลป. กับการล้มแผนทางการเมืองของ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ บรรทัดที่ 8-18 อ. ณัฐพลเขียนว่า…

“ในที่สุด เมื่อคณะรัฐประหารยื่นคำขาดให้ควง อภัยวงศ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีลาออกในวันที่ 6 เมษายน 2491 ทันที การยื่นคำขาดขับไล่รัฐบาลควงที่ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ให้การสนับสนุนลงจากอำนาจครั้งนี้ สถานทูตสหรัฐรายงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอพระทัยให้กับกรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการเป็นอย่างมาก โดยทรงพยายามให้ความช่วยเหลือควงด้วยการทรงไม่รับจดหมายลาออก และทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารแต่ความพยายามของพระองค์ไม่เป็นผล ทำให้ส่งทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารว่า ‘ปัญหาทางการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย’ ทรงกล่าวว่ารัฐบาลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง สถานทูตรายงานต่อไปว่า ทรงมีแผนการที่ใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป” 

เนื้อความตอนนี้ใช้เชิงอรรถที่ 52 โดยอ.ณัฐพลอ้างเอกสาร 3 ชิ้น 

สำหรับข้อความครึ่งแรกที่ อ.ณัฐพลอ้างว่าเป็นรายงานจากสถานทูตสหรัฐความว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอพระทัยให้กับกรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการเป็นอย่างมาก โดย 

(ก) ทรงพยายามให้ความช่วยเหลือควงด้วยการทรงไม่รับจดหมายลาออก และทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารแต่ความพยายามของพระองค์ไม่เป็นผล 

(ข) ทำให้ทรงบริภาษจอมพลป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารว่า ‘ปัญหาทางการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย’

(ค)  ทรงกล่าวว่า "รัฐบาลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง” 

เมื่อตรวจสอบกับเอกสารที่ใช้อ้างอิงทั้ง 3 ชิ้นแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีข้อความดังที่ อ.ณัฐพลเขียนไว้นี้เลย และสำหรับข้อความครึ่งหลังที่ อ.ณัฐพลอ้างว่าเป็นรายงานจากสถานทูตสหรัฐอีกเช่นกันที่ว่า กรมพระยาชัยนาทฯ (ง) “ทรงมีแผนการที่ใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป” 

เมื่อเช็กกับเอกสารที่ใช้อ้างอิงทั้ง 3 ชิ้นแล้วก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อความที่ระบุว่ากรมพระยาชัยนาทฯ ทรงทำการกระทำทั้ง 4 อย่างนี้เลย! อยากจะชวนให้มาดูเอกสารที่ใช้อ้างอิงกันไปทีละชิ้น

เอกสารชิ้นแรก NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, สแตนตันกับรมว.ต่างประเทศ วันที่ 7 เมษายน 2491 เนื้อความที่พอจะเกี่ยวข้องกับกรมพระยาชัยนาทฯ มากที่สุดในเอกสารชิ้นนี้ คือที่เขียนว่า 

“ถึงแม้รัฐบาลตัดสินใจว่าจะไม่มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญจนกว่าจะถึงการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน แรงกดดันจากผู้สำเร็จราชการและประธานวุฒิสภาอาจทำให้ต้องมีการประชุมสภาในเดือนพฤษภาคม เหตุผลคือ ถ้าปราศจากรัฐสภาก็ไม่มีคณะอภิรัฐมนตรี ไม่มีการแต่งตั้งวุฒิสภาชุดใหม่ ไม่มีประธานวุฒิสภาที่จะลงนามในคำสั่งของพระมหากษัตริย์ ไม่มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (tribunal) ที่จะบังคับใช้บทบัญญัติต่าง ๆ เกี่ยวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” 

[“All though government decided no special session parliament advantages pressure from Regency and Senate president may result in May session. Reasons being no Regency council without parliament, no new Senate appointment, no Senate president to countersign orders, no constitutional tribunal to enforce new provisions particularly regards RP's.”] 

ผมคิดว่าเนื้อความส่วนนี้ชัดเจนในตัวเองว่า ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ อ.ณัฐพล เขียนว่าท่านกระทำเลย และไม่จำเป็นต้องอธิบายความใด ๆ อีก

นอกจากข้อความที่เกี่ยวกับท่านแบบเฉียด ๆ นี้แล้ว ไม่มีที่ใดในเอกสารชิ้นนี้ทั้งสิ้นที่กล่าวว่ากรมพระยาชัยนาทฯ (ก) ทรงพยายามช่วยนายควงโดยไม่รับจดหมายลาออกของเขาและทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของนายควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหาร หรือ (ข) ทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารว่า ‘ปัญหาการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย’ หรือ (ค) ทรงกล่าวว่า ‘รัฐบาลของจอมพล ป.และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง’ หรือ (ง) ทรงมีแผนการที่จะใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป 

เช่นนั้นเรามาดูเอกสารชิ้นถัดไปกัน คือ NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, สแตนตันกับ รมว.ต่างประเทศ วันที่ 8 เมษายน 2491 ในเอกสารชิ้นนี้ก็ไม่มีข้อความที่กล่าวถึง (ก) กรมพระยาชัยนาทฯ ทรงพยายามช่วยนายควงโดยไม่รับจดหมายลาออกของเขา หรือทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของนายควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารเลย 

ตรงกันข้าม เอกสารรายงานว่ากรมพระยาชัยนาททรงถูกจอมพลป. และคณะรัฐประหารบังคับให้เสนอชื่อจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายควง 

โดยจากคำบอกเล่าของพระองค์ที่ถ่ายทอดโดยสแตนตัน เริ่มต้นจากเช้าวันที่ 6 เมษายน 2491 ที่พระองค์เจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริเสด็จมาเยี่ยมพระองค์พร้อมพระชายาและนายพันเอกท่านหนึ่ง และแจ้งให้พระองค์ทราบว่าคณะรัฐประหารตั้งใจจะบังคับให้นายควงลาออกแล้วตั้งจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทน และขอให้พระองค์เสนอชื่อจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมาเมื่อคณะอภิรัฐมนตรีขอพบจอมพล ป.

จอมพล ป. ก็มาพร้อมกับหลวงกาจซึ่งเป็นคนสนิท และหลวงกาจบอกแก่คณะอภิรัฐมนตรีว่าทหารจะไม่ยอมรับใครเป็นนายกรัฐมนตรีนอกจากจอมพล ป. แม้กรมพระยาชัยนาทฯ จะทักท้วงว่านายกรัฐมนตรีควรเป็นคนอื่น เนื่องจากจอมพล ป. เป็นผู้บัญชาการทหารบกอยู่แล้วก็ตาม 

[“He said he had summoned Phibun to appear before Council and that Field Marshall was accompanied by general luang Kach. Field Marshall talked at length situation in Siam, menace of Chinese and communists, and Rangsit said he talked very intelligently. Prince Rangsit described developments which forced resignation Khuang and said Council now faced with problem appointing new Prime Minister. At this juncture Luang Kach said Phibun obvious man. Rangsit suggested since Phibun was Commander-In-Chief Army someone else perhaps more suitable as Prime Minister. Luang Kach in very vehement manner declared military group would accept no one but Phibun.”]

ทำให้ในที่สุดหลังจากที่คณะอภิรัฐมนตรีอภิปรายกันแล้วก็ต้องยอมให้แก่แรงกดดันและเสนอชื่อจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายควง

สำหรับ (ข) ทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหารว่า ‘ปัญหาการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย’ – เอกสารชิ้นนี้รายงานว่ากรมพระยาชัยนาทฯ ทรงกล่าวกับสแตนตันว่า ทรงรู้สึกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นโศกนาฎกรรมสำหรับประเทศสยาม และคนที่เป็นอันตรายร้ายแรงที่สุดต่อประเทศคือกลุ่มผู้ติดตามทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายการเมืองที่รายล้อมรอบตัวจอมพลป. ซึ่งเป็นคนที่ไร้ศีลธรรม 

[“Prince Rangsit described these developments as real tragedy for Siam and said greatest danger lay in group of unscrupulous followers both military and political now surrounding Field Marshall.”] 

สำหรับ (ค) ทรงกล่าวว่า "รัฐบาลของจอมพล ป.และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง" 

- เอกสารชิ้นนี้รายงานเพียงว่า กรมพระยาชัยนาทฯ ทรงกล่าวกับสแตนตันว่าจอมพล ป. ‘น่าจะ’ ประสบความยุ่งยากในการตั้งรัฐบาล” [“He anticipated Field Marshall would experience difficulty in forming government”] 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะพระองค์ยืนกรานกับเขาว่าคณะรัฐมนตรีต้องประกอบด้วยคนดี [“He, Prince Rangsit, had insisted that cabinet must consist of good men.”] 

และทรงยอมรับว่า “ไม่ได้ถึงกับเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียวที่จอมพลป. และรัฐบาลของเขาจะถูกโค่นล้มในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า” [“not improbable Phibun and his government would be overthrown in few months time.”] 

สำหรับ (ง) ทรงมีแผนการที่จะใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป – เอกสารชิ้นนี้รายงานเพียงว่าพระองค์ทรงกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่รัฐสภาโดยเฉพาะวุฒิสภาจะตอบโต้กลับด้วยการลงมติไม่ไว้วางใจจอมพล ป. เนื่องจากท่านทรงทราบองค์ประกอบที่เป็นอยู่ของรัฐสภาและทราบว่าวุฒิสภาส่วนใหญ่สนับสนุนนายควงซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง  ดังนั้นจึงอาจลงมติไม่ไว้วางใจจอมพล ป. 

[“attitude of parliament particularly Senate which is largely pro-Khuang, also uncertain and rather than and risk vote no confidence by fighting parliament”] 

และท่านก็ได้กล่าวตามมาด้วยว่า จอมพล ป. อาจจะเลือกใช้วิธียุบสภาหรืออย่างน้อยก็ยกเลิกวุฒิสภาเพื่อให้รัฐบาลของตนมั่นคงจากการถูกลงมติไม่ไว้วางใจ 

[“Phibun may seek dissolution present parliament or at least of Senate by putting pressure on Supreme State Council which appointed Senate”] 

ซึ่งเท่ากับพระองค์เองก็ตระหนักอยู่แล้วว่ารัฐบาลนี้อาจอยู่รอดได้

ดังที่อ้างไปแล้ว ซึ่งเท่านี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าทรง “มีแผนการที่จะใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ทั้งวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้งและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรนั้น จะเห็นได้จากเอกสารชิ้นต่อไปว่าพระองค์แทบไม่มีศรัทธาเท่าใดนักเสียด้วยซ้ำ 

ดังนั้น กรณีนี้ก็อีกเช่นกันที่ผมอยากจะกล่าวว่า ถ้า อ.ณัฐพลทำงานแบบที่อ้างไว้เกี่ยวกับวิธีวิทยาโดยให้ความสำคัญกับบริบทในการตีความจริง ๆ ก็ควรยกบริบทและปัจจัยแวดล้อมมาชี้ให้เห็นแบบชัด ๆ เลยว่าเพราะเหตุใดจึงควรเชื่อว่าท่านมีการกระทำเช่นนี้จริง โดยไม่ต้องหลบอยู่หลังคำรายงานของสแตนตัน (อีกแล้วครับท่าน)  ซึ่งก็เห็นกันอยู่แล้วว่าความจริงแล้วเขาก็ไม่ได้รายงานแบบนั้นด้วย 

อนึ่ง อยากเสริมว่า ตัวสแตนตันเองเขากล่าวถึงการรัฐประหารครั้งนี้ว่า “เขารู้ว่ารัฐบาลสหรัฐจะมองสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ด้วยความเสียดายอย่างยิ่งว่าเป็นการใช้กำลังโดยพลการ” [“I said I most unhappy at turn of events and knew US government could only view this further instance arbitrary use force with great regret.”] 

แต่คิดว่า อาจารย์ณัฐพลคงไม่สนใจท่าทีของสแตนตันต่อรัฐประหารที่กระทำโดยจอมพล ป. เท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับรัฐประหารที่อาจารย์ยัดเยียดให้ กรมขุนชัยนาทฯ ทรงรับรอง ‘อย่างแข็งขัน’ ใช่ไหม? 

แล้วก็มาถึงเอกสารชิ้นที่สามคือ NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, บันทึกบทสนทนาระหว่างพระองค์เจ้ารังสิตกับสแตนตัน วันที่ 9 เมษายน 1948 เอกสารชิ้นนี้มีเนื้อความซ้ำกับเอกสารชิ้นที่สามค่อนข้างมาก จะมีจุดที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่ไม่มีที่ใดเลยที่สแตนตันรายงานว่ากรมขุนชัยนาททรง (ก) พยายามช่วยนายควงโดยไม่รับจดหมายลาออกของเขา หรือทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของนายควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหาร 

สำหรับ (ข) ทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารว่า “ปัญหาการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย” 

เอกสารชิ้นนี้บันทึกคำกล่าวของพระองค์ว่า ทรงผิดหวังที่จอมพล ป. ไม่สามารถรักษาคำพูดและควบคุมคนของเขาได้ดังที่เคยให้ไว้กับพระองค์และคนอีกหลาย ๆ คนว่า เขาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และทรงกล่าวว่าพระองค์รู้สึกว่า จอมพล ป และผู้สนับสนุนของเขาได้ทำความผิดพลาดที่เป็นอันตรายในการที่จู่ ๆ ก็ไล่รัฐบาลที่พวกเขาเองเป็นผู้สร้างขึ้นและชื่อเสียงของนายพลรวมทั้งเกียรติยศของพวกของเขาจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง 

สำหรับ (ค) ทรงกล่าวว่ารัฐบาลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้ม และ (ง) ทรงมีแผนการที่จะใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์’ ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป 

เอกสารชิ้นนี้รายงานว่าทรงแสดงความคิดเห็นว่ารัฐบาลของจอมพล ป. น่าจะอยู่ได้ไม่กี่เดือน โดยทรงอธิบายว่าจอมพล ป. เป็นคนทะเยอทะยาน และคนรอบ ๆ ตัวเขาก็เป็นแบบเดียวกัน และสิ่งนี้จะย้อนกลับมาทำลายตัวจอมพล ป. เอง และเมื่อสแตนตันสอบถามพระองค์ว่าทรงคิดว่าจอมพล ป. จะสามารถพึ่งการสนับสนุนของรัฐสภาได้มากหรือไม่ ทรงตอบว่าวุฒิสภาส่วนใหญ่ไม่เอาจอมพล ป. แต่สภาผู้แทนราษฎรนั้น พระองค์คิดว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้เพราะสภาแห่งนี้ไม่ใคร่จะมีความรู้ความสามารถเท่าใดนัก 

บวกกับมีการทุจริตคอร์รัปชันด้วย จึงคาดเดาไม่ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนเหล่านั้นเมื่อจอมพล ป. ขอมติไว้วางใจจากพวกเขา และจะไม่ทรงแปลกใจเลยหากมีการเพิ่มแรงกดดันให้คณะอภิรัฐมนตรีต้องยุบวุฒิสภาเป็นอย่างน้อยซึ่งจะลดความเสี่ยงที่พิบูลจะถูกลงคะแนนไม่ไว้วางใจ 

“(I inquired whether he thought Phibun could count on much parliamentary support. Prince Rangsit replied that so far as the Senate was concerned sentiment there was largely anti-Phibun and pro-Khuang. As for the lower house he seemed to think that anything could happen and went on to explain that the caliber of members of the lower house was pretty poor and many of the members open to corruption. He said it was really difficult to say what might happen if Phibun appeared before parliament as now constituted and ask for vote of confidence. He said it would not surprise him if further pressures were brought on the council to dissolve at least the Senate which then would lessen the risk of a non-confidence vote. (It will be recalled that following the coup d’état of November 8 the Senate was appointed by the supreme council of state)”

กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ ทำตัวแทรกแซงการเมืองดุจกษัตริย์ 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

ทำไม 2 ปีกว่า จนบัดนี้ 

ในหนังสือ ‘ขอฝันใฝ่ฯ’ อ.ณัฐพลไม่แก้ ประเด็น ‘กรมขุนชัยนาทฯ แทรกแซงการทำงานของคณะรัฐมนตรี จอมพล ป.’ ที่ อ.ณัฐพลเขียนว่าพระองค์เข้าไปประชุม ครม. แต่ไม่ปรากฏหลักฐานดังกล่าวในแหล่งอ้างอิง? 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 63 หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในหน้าที่ 3 ลงชี้แจงข้อมูลในกรอบแดง ระบุว่า “ขอชี้แจงกรณีข่าวเมื่อปี 1950 (พ.ศ. 2493) ('Post' clarifies article from 1950)” โดยระบุว่า หนังสือพิมพ์ยืนยันว่าเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2493 ไม่เคยรายงานข้อมูลที่นายณัฐพล ใจจริง อ้างอิงในวิทยานิพนธ์การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)

“จากการที่เชิงอรรถ (วิทยานิพนธ์) อ้างอิงถึงข่าวในบางกอกโพสต์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม โดยส่วนหนึ่งระบุว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พยายามขยายบทบาททางการเมือง โดยเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งนำโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี อยู่บ่อยครั้ง โดยการกระทำดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับ จอมพล ป. และตอบโต้ด้วยการขอเข้าร่วมการประชุมองคมนตรีด้วย ...บางกอกโพสต์ขอชี้แจงว่า หนังสือพิมพ์ไม่เคยรายงานข้อมูลดังกล่าวตามที่มีการอ้างอิง รวมถึงนำไปเผยแพร่ในช่องทางอื่นๆ ซึ่งรวมถึงหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ เขียนโดยผู้เขียนคนเดียวกันคือนายณัฐพล รวมถึงในงานเสวนา” นสพ.บางกอกโพสต์ระบุ พร้อมตีพิมพ์ข่าวฉบับเต็มเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2493 ให้อ่านอีกครั้ง

ทั้งนี้ ในหน้าที่ 124 ของหนังสือขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ เขียนโดย ผศ.ดร.ณัฐพล และตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2556 ย่อหน้าหนึ่งระบุข้อความว่า

“การเข้าแทรกแซงการเมืองในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. หลังรัฐประหาร 2490 โดยกรมขุนชัยนาทนเรนทรในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ เพื่อปูทางการเมืองที่ราบรื่นให้แก่สถาบันกษัตริย์ ได้สร้างปัญหาในปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลจนนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งปลายปี 2494 ดังเห็นได้จากหลักฐานที่รวบรวมได้ตั้งแต่ปลายปี 2493 จนถึงก่อนการรัฐประหาร Bangkok Post และรายงานของสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพฯ ได้ระบุข่าวความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลในขณะนั้นว่า ผู้สำเร็จราชการฯ ได้เสด็จเข้ามานั่งเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี ประหนึ่งกษัตริย์เป็นประธานการประชุมคณะเสนาบดีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การดำเนินการก้าวก่ายทางการเมืองของผู้สำเร็จราชการฯ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีรวมทั้งการที่พระองค์แต่งตั้งแต่สมาชิกวุฒิสภาที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเข้าสู่รัฐสภา ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ จอมพล ป.นายกรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐบาลเป็นอย่างมาก...”

ทั้งนี้ นักวิชาการควรช่วยหาคำตอบตรงนี้ และหาทางออกร่วมกัน 
สามารถฟังการบรรยายได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=1-WHryPHPDM 

กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ รับรองรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว  10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ กับ ความถูกต้องทางวิชาการในงานของ ณัฐพล ใจจริง

ประเด็น ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทรรับรองรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว’

1. ข้อความที่กล่าวถึงประเด็นนี้ของณัฐพล ใจจริง ปรากฎในหนังสือ: ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ (ฟ้าเดียวกัน, 2556 และ 2564) พบประเด็นดังกล่าวถึง 5 จุด ดังนี้

>>​จุดที่ 1 หน้า 44

“ควรบันทึกด้วยว่า ภายหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 กรมขุนชัยนาทฯ หนึ่งในสองคณะผู้สำเร็จราชการฯ ได้ลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (ณัฐพล อ้างจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย (กรุงเทพฯ: สมาพันธ์, 2534) หน้า 96-100.

>> จุดที่ 2 หน้า 121
“การรัฐประหารดังกล่าวสำเร็จลงได้ด้วยการให้ความช่วยเหลือของกรมขุนชัยนาทนเรนทร หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการฯ ที่รับรองการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ และลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2490 ด้วยพระองค์แต่เพียงผู้เดียว ปราศจากการลงนามของพระยามานวราชเสวี หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการฯ ที่เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติ” (ณัฐพล อ้างอิงจาก Edwin F. Stanton, Brief Authority: Excursions of a Common Man in an Uncommon World (New York: Harper & Brothers Publishers, 1956, 209-210.)

>>จุดที่ 3 หน้า 122
“ในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 พระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลลงพระปรมาภิไธยยอมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญแล้ว กรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯ ลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2490 แต่เพียงผู้เดียว” (ขอความนี้ ณัฐพลไม่ได้อ้างอิง เพราะเขาเท้าความจากหน้าก่อน)

>>จุดที่ 4 หน้า 168
“ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2490 ของคณะรัฐประหารจะมีปัญหาอันเนื่องมาจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนามไม่ครบถ้วน กล่าวคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จฯ ขณะนั้น เป็นผู้ลงนามแต่เพียงคนเดียว ในขณะที่พระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จฯ อีกคนหนึ่ง ไม่ยอมลงนามด้วย” (ณัฐพล อ้างจาก สุธาชัย, ชิ้นเดียวกัน หน้า 109.)

>>จุดที่ 5 หน้า 228
“วันที่ 9 พฤศจิกายน ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว ทำให้การรัฐประหารนี้ราบรื่น” (ณัฐพล อ้างจาก สุธาชัย, ชิ้นเดียวกัน หน้า 96-100.) 

หนังสือ: ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี (ฟ้าเดียวกัน, 2563)

>>​จุดที่ 1 หน้า 60
“ทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว” (ณัฐพล อ้างจากจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500), (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550) หน้า 96-100. แต่ในงานของ สุธาชัย ไม่มีคำว่า ‘อย่างรวดเร็ว’ ดังที่ปรากฏในหนังสือขอฝันใฝ่ฯ ของ ณัฐพล)

>>จุดที่ 2 หน้า 69 
ปรากฏภาพกรมขุนชัยนาทนเรนทร พร้อมคำอธิบาย ว่า “พระองค์รับรองการรัฐประหาร 2490 อย่างแข็งขัน และทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียว” (ข้อความตรงนี้ ณัฐพลไม่ได้อ้างอิง แต่เป็นการดึงความมาจากข้อความในจุดที่ 1 หน้า 60 และไม่ปรากฏคำว่า ‘อย่างรวดเร็ว’ เช่นกัน)

>> จุดที่ 3 หน้า 266 (‘บทสรุป’ ของหนังสือของ ณัฐพล)
“จอมพล ป. ได้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหารด้วยการรับรองของกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลานั้น ซึ่งลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (ณัฐพล ไม่ได้อ้างอิง เพราะเป็นการสรุป และ ณัฐพล ยังคงย้ำคำว่า ‘อย่างรวดเร็ว’ ในส่วนนี้)

>>จุดที่ 4 หน้า 342 (นามานุกรม)
“ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงหนึ่งเดียวในสามคนที่ลงนามรับรองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2490” (ก็มีความคลาดเคลื่อน! เนื่องจากผู้สำเร็จราชการในขณะนั้นมีสองท่านเท่านั้น) 

ในวิทยานิพนธ์ของณัฐพล 
​วิทยานิพนธ์: การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)

>>​จุดที่ 1 หน้า 63
“ทรงลงพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (ณัฐพล อ้างอิงจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500), (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550) หน้า 96-100.)

2. หลักฐานที่ค้นพบ
​1. จากการตรวจสอบหลักฐานอ้างอิงที่ณัฐพล ใจจริง ใช้เป็นหลัก คือ แผนชิงชาติไทย ของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ณัฐพลได้ใช้ฉบับตีพิมพ์คนละครั้งในการอ้างอิง คือ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 (พิมพ์ปี พ.ศ. 2534) ถูกอ้างอิงในหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ 

ส่วนฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2550) ถูกอ้างอิงในวิทยานิพนธ์ที่ณัฐพลเขียนเสนอแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ​​และเมื่อได้ตรวจสอบเนื้อหาของหนังสือ แผนชิงชาติไทย (ทั้ง 2 ฉบับ) พบว่า สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้เขียนถึงประเด็น ‘ลงนามผู้เดียว’ ไว้จริง แต่ไม่ได้ถึงกับขยายพฤติกรรมของกรมขุนชัยนาทฯ เสียจนเกินจริงถึงขนาดว่าทรง ‘รับรองแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว’ อย่างที่ณัฐพลใช้แต่อย่างใด 
โดย สุธาชัย บรรยายไว้เพียงว่า

“น.อ. กาจ เก่งระดมยิง พร้อมด้วย พ.ท.ถนอม กิตติขจร รีบนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปหาพระวรวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และ พระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา) ซึ่งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการให้ลงพระนามประกาศใช้” 

ในหน้า 97 ในฉบับตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2534 และในฉบับตีพิมพ์ปี พ.ศ.2550 ก็ปรากฏข้อความที่กล่าวเช่นเดียวกันในหน้า 98 และ

​“การประกาศใช้ (รัฐธรรมนูญ) ในวันที่ 9 พฤศจิกายน นั้นมีกรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นผู้สำเร็จราชการที่ลงนามแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น แต่พระยามานวราชเสวี มิได้ลงนามด้วย ถึงกระนั้นก็ยังถือว่ารัฐธรรมนูญนี้ถูกต้องตามการตีความในระยะต่อมา” หน้า 109 ฉบับตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2534 (ข้อความส่วนหลังนี้ ณัฐพล ตัดออกหลังจากได้กล่าวว่าพระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จฯ อีกคนหนึ่ง ไม่ยอมลงนามด้วย)

​จากข้อความต้นฉบับทั้ง 2 ที่ยกมาจะเห็นได้ว่า สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ระบุถึงข้อเท็จจริงเพียงว่า…

1. คณะรัฐประหารต้องการให้ทั้งกรมขุนชัยนาทฯ และพระยามานวราชเสวี ทั้ง 2 พระองค์/ท่านลงนามในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2490 (ฉบับตุ่มแดง)

2. แต่คณะรัฐประหารได้เดินทางไปถึงวังของกรมขุนชัยนาทฯ เพียงพระองค์เดียว และพระองค์ลงนาม (อย่างไม่ได้เต็มใจนัก-รายละเอียดอ่านจากประเด็นรับรองรัฐประหารอย่างแข็งขันในครั้งก่อน)

3. สุธาชัย ระบุเพียงว่าพระยามานวราชเสวีมิได้ลงนามด้วย (แต่ไม่ได้กล่าวถึงเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่ได้ลงนาม)

4. สุธาชัย ยอมรับว่า รัฐธรรมนูญนี้ถูกต้องตามการตีความในระยะต่อมา ​แต่ณัฐพล ใจจริง กลับหยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวมาตีความขยายเสียจนมีความหมายไปคนละทาง!

กล่าวคือ เขาระบุเพียงว่ากรมขุนชัยนาทฯ ‘ทรงลงนามเพียงพระองค์เดียว’ เฉย ๆ หรือกระทั่งขยายให้ใหญ่โตไปถึงขั้นว่ากรมขุนชัยนาทฯ ‘ทรงลงนามเพียงพระองค์เดียวอย่างรวดเร็ว’

ซึ่งเกือบทุกจุดที่ ณัฐพล กล่าวในประเด็นนี้ ย้อนกลับสู่การอ้างอิงจากงานเขียน แผนชิงชาติไทย ของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐเท่านั้น (มีอ้างของ Stanton แค่ครั้งเดียว) และในจำนวนหลายครั้งในหน้าหลัง ๆ เป็นการกล่าวถึงแบบลอย ๆ ไม่มีเชิงอรรถหรืออ้างอิงประหนึ่งว่าการที่ ‘กรมขุนชัยนาทฯ ทรงลงนามเพียงพระองค์เดียว’ (อย่างรวดเร็ว) เป็นความจริงหรือเป็นสัจธรรมที่ไม่ต้องได้รับการพิสูจน์หรือตรวจสอบอีกแล้ว

​ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว สุธาชัย ระบุไว้ชัดเจนว่า…
คณะรัฐประหารต้องการให้ผู้สำเร็จราชการทั้ง 2 ลงนาม แต่เมื่อกรมขุนชัยนาทฯ ลงพระนามแล้ว (อย่างไม่ได้เต็มพระทัยนัก) คณะรัฐประหารก็ถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลสมบูรณ์ แต่ด้วยเหตุว่า สุธาชัย ไม่ได้ระบุว่า ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ นี่อาจเป็นช่องว่างให้ ณัฐพล เข้าใจผิดไปเองตามธงในใจที่มีอยู่แล้ว และนำช่องว่างนี้มาตีความขยายจนกลายเป็นคนละเรื่องเดียวกัน

​เมื่อได้ตรวจสอบเอกสารร่วมสมัยในประเด็นย่อยที่ สุธาชัย ไม่ได้ให้คำตอบไว้ว่า ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ 

ในชั้นต้น ได้พบข้อความดังกล่าวอย่างละเอียดในเอกสารร่วมสมัยในเวลานั้น คือ หนังสือสารคดีการเมืองที่ตีพิมพ์ พ.ศ. 2493 ชื่อ ‘ประเทศไทยจะต้องเป็นคอมมูนิสต์’ เขียนโดย คนสภา (นามปากกา) ได้บรรยายถึงเหตุการณ์ ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ ในการปฏิวัติวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ไว้อย่างละเอียดว่า…

ภายใต้คณะของหลวงกาจสงครามพร้อมกำลังนายร้อยทหาร 20 คน เมื่อให้กรมขุนชัยนาทฯ ลงพระนามแล้ว

​“หลังจากนี้คณะผู้แทนรัฐประหารก็ได้มุ่งตรงไปยังบ้านพระยามานวราชเสวี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ถนนสาธร เพื่อจะให้ลงนามด้วยอีกคนหนึ่ง แต่พอเข้าไปถึงบ้านพระยามานวราชเสวีแล้ว พระยามานวราชเสวีไม่เต็มใจลงรับรองรัฐธรรมนูญฉบับนี้

​ชะรอยพระยามานฯ ผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมายจะนึกเหยียดในใจ หรือทราบแล้วแน่ว่า ถ้าลงนามรับรองรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวใต้ตุ่มแดงนี้ อาจจะผิดแน่ ๆ เพราะหาหลักเกณฑ์อะไรไม่ได้ (ชาติเสือต้องไว้ลาย) เลยหลบหนีออกไปทางหลังบ้านเสีย ทำให้ท่านหัวหน้าตุ่มแดงหน้าแห้งกลับมากองอำนวยการ ณ กระทรวงกลาโหม.” (ดูหน้า 284-285)

​รายละเอียดดังกล่าวแยกเป็นข้อเท็จจริงได้ว่า
1. คณะรัฐประหารเดิมทีมีความตั้งใจจะให้ผู้สำเร็จราชการทั้ง 2 พระองค์/ท่าน ลงนามรับรองรัฐธรรมนูญ

2. กรมขุนชัยนาทฯ รับรองแล้ว คณะรัฐประหารจึงออกมาจากวังตอนเวลาตีสองกว่า เพื่อไปบ้านพระยามานวราชเสวีต่อ

3. พระยามานวราชเสวี รู้ตัวก่อน จึงแอบหนีออกจากบ้านไปก่อนที่คณะรัฐประหารจะเดินทางมาถึง

4. คณะรัฐประหารจึงได้มาเพียงแค่พระนามของกรมขุนชัยนาทฯ แต่เพียงพระองค์เดียว

5. ความรับผิดในการรับรองรัฐธรรมนูญจึงมาตกกับกรมขุนชัยนาทฯ ที่ได้ลงนามไปแล้วเพียงพระองค์เดียว

​ทั้ง 5 ประเด็นนี้ โดยเฉพาะข้อที่ 3, 4 และ 5 จึงสามารถตอบคำถามที่ สุธาชัย ค้างไว้ในประเด็นว่า ‘เหตุใดพระยามานวรราชเสวีจึงไม่ได้ลงนาม’ ได้อย่างหมดจด (evidently) การณ์จึงกลับ ‘พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ’ หากเทียบกับข้อความของ ณัฐพล ใจจริง 

ด้วยเหตุนี้ การที่ ณัฐพล พยายามทำให้ผู้อ่านหนังสือของเขาเชื่อว่า ‘กรมขุนชัยนาทฯ ลงนามรับรองรัฐธรรมนูญเพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว’ จึงเป็นการกล่าวไม่หมดและจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทั้งจากหนังสือของสุธาชัยที่เขาอ้าง รวมไปถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่นำมาเสนอนี้ 

การทำการบิดเบี้ยวข้อเท็จจริงโดยอาศัยช่องว่างทางประวัติศาสตร์ย่อมเป็นการอยุติธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องที่วายชนม์ไปแล้ว 

​กล่าวโดยสรุป ณัฐพล ใจจริง พยายามอธิบายประหนึ่งว่า “กรมขุนชัยนาทฯ ทั้งรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขันและรับรองรัฐธรรมนูญเพียงคนเดียว (อย่างรวดเร็ว)” โดยเขาพยายามโยนความรับผิดชอบในการรับรองรัฐประหารให้ตกแก่กรมขุนชัยนาทฯเพียงพระองค์เดียว อย่างที่หลักฐานประจักษ์ว่า ณัฐพลได้ ‘ตอกย้ำ’ บทบาทสำคัญของกรมขุนชัยนาทฯ ในประเด็นข้างต้นเป็นอย่างมาก (นับได้เป็นจำนวนถึง 9 ครั้ง) และทำขนาดถึงว่าต้องนำไปเขียนใส่ไว้ใน ‘บทสรุป’ ของหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี ว่า…

“จอมพล ป. ได้ก้าวเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐประหารด้วยการรับรองของกรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลานั้น ซึ่งลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” (หน้า 266)​

การระบุไว้ใน ‘บทสรุป’ ของหนังสือเช่นนี้ ย่อมจะมองเป็นอย่างอื่นเสียไม่ได้ นอกจาก ณัฐพล พยายามขับให้บทบาทของกรมขุนชัยนาทฯ สูงเด่น ‘ในแง่ลบ’ เพราะทรง ‘ลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 แต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว’ แต่ข้อความดังกล่าวนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่า ‘ไม่เป็นความจริง’

​ดังนั้น ผู้ที่เป็นนักอ่าน หรือนักวิชาการจะทราบดีว่า ในส่วนของบทสรุปของหนังสือวิชาการ มีความสำคัญเพียงใดต่อหนังสือทั้งเล่ม!! ตลอดจนถึงการนำเสนอประเด็นทางวิชาการนั้น ๆ ทั้งที่ข้อเท็จในเหตุการณ์คืนวันที่ 8 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 หลักฐานระบุเพียงว่า

1. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงต้องลุกขึ้นมากลางดึก (ตอนตี 1)
2. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงถูกใช้กำลังบังคับให้ลงนามรัฐธรรมนูญ โดยคณะของหลวงกาจสงครามและ ‘นายร้อย 20 คน’
3. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงไม่เต็มพระทัยที่จะลงนามในรัฐธรรมนูญ 2490 (แต่จำใจต้องกระทำ)
4. กรมขุนชัยนาทฯ ทรงถูกปรักปรำว่าสนับสนุนและต้องรับผิดชอบกับการรัฐประหาร เพียงเพราะเหตุว่าผู้สำเร็จราชการอีกท่านหนึ่งไม่อยู่บ้าน
5. แต่กระนั้น กรมขุนชัยนาทฯ ทรงไม่ได้กระทำรับรองรัฐธรรมนูญเพียงลำพัง เพราะปรากฏว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าว มีผู้รับสนองฯ โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ซึ่งจะกล่าวในวาระต่อไป)

​ควรบันทึกด้วยว่า ณัฐพล ใจจริง ได้พยายามเน้นประเด็น ‘ลงนามรับรองแต่เพียงผู้เดียว’ อย่างยิ่ง 
โดยในหนังสือ ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ นั้น ณัฐพลได้กล่าวถึงประเด็นนี้ ‘5 ครั้ง’ ในหนังสือ ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี กล่าวไว้ ‘3 ครั้ง’ และในวิทยานิพนธ์เพียง 1 ครั้ง 

จะเห็นได้ว่าประเด็นนี้ได้ถูกขยายมากขึ้นและพยายามชี้ให้เห็นถึงบทบาทกรมขุนชัยนาทฯ ว่ามีส่วนในการทำให้รัฐประหาร พ.ศ. 2490 สำเร็จไปได้ และในหนังสือ ขุนศึกฯ นั้นปรากฏว่ามีการกล่าวถึงการรับรอง ‘อย่างรวดเร็ว’ เพียงครั้งเดียวในบทสรุป แต่ไม่ปรากฏในที่อื่น ๆ ด้วย

‘Vasily Arkhipov’ ทหารเรือชาวโซเวียตแห่งวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา ผู้ใช้สติยับยั้งสงครามนิวเคลียร์ และช่วยมนุษยชาติให้รอดพ้นจากวันสิ้นโลก

‘Vasily Arkhipov’ ผู้ที่ช่วยให้โลกใบนี้รอดพ้นจากสงครามนิวเคลียร์

‘มนุษย์’ หรือ ‘Homo sapiens’ ดำรงอยู่เผ่าพันธุ์บนโลกมาประมาณ 300,000 ปี หรือมากกว่า 109 ล้านวัน แต่วันที่อันตรายที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นวันที่เผ่าพันธุ์ของมนุษย์น่าจะเข้าใกล้ความหายนะยิ่งกว่าครั้งใด ๆ ชนิดที่เรียกว่า ‘เกือบล้างโลก’ นั้น เกิดขึ้นเมื่อ 61 ปีที่แล้ว ในวันที่ 27 ตุลาคม 1962 และบุคคลที่น่าจะทำหน้าที่ช่วยโลกให้รอดพ้นจากหายนะมากกว่าใคร ๆ ก็คือ ‘Vasily Aleksandrovich Arkhipov’ นายทหารเรือโซเวียตผู้ที่มีชีวิตอย่างเงียบสงบและเรียบง่าย

Arkhipov เกิดในครอบครัวชาวนาในเมือง Staraya Kupavna ใกล้กับกรุงมอสโก เขาได้รับการศึกษาในโรงเรียนทหารเรือชั้นสูง ‘Pacific Higher’ และเข้าร่วมสงครามโซเวียต–ญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม 1945 โดยปฏิบัติหน้าที่บนเรือกวาดทุ่นระเบิด จากนั้นเขาไปเรียนที่โรงเรียนทหารเรือชั้นสูง ‘Azerbaijan’ และสำเร็จการศึกษาในปี 1947

รัศมีการยิงของขีปนาวุธสหภาพโซเวียตจากคิวบา

ในช่วงวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา ชายผู้นี้เป็นผู้หยุดยั้งวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาไม่ให้กลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ อันที่จริงแล้ว Vasily Arkhipov น่าจะเป็น ‘บุคคลที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่’ เขาเป็นต้นเรือ (Executive officer) แห่งเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ B-59 ของโซเวียต (Hotel-class ballistic missile submarine K-19) ปฏิเสธที่จะเห็นชอบกับคำสั่งของกัปตันที่ให้ยิงตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์ใส่เรือรบสหรัฐฯ อันจะเป็นการจุดชนวนสิ่งที่อาจก่อให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจได้

ในวันนั้น Arkhipov ต้นเรือประจำเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ B-59 ของสหภาพโซเวียตแล่นอยู่ในน่านน้ำสากลใกล้คิวบา ในช่วงที่ความตึงเครียดของวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาถึงจุดสูงสุด ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อเครื่องบินสอดแนม U-2 ของสหรัฐฯ ถ่ายภาพหลักฐานการสร้างฐานขีปนาวุธขึ้นใหม่ในคิวบา ปรากฏว่า ที่ปรึกษาทางทหารโซเวียตกำลังช่วยสร้างฐานยิงดังกล่าว ซึ่งสามารถยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ไปยังแผ่นดินสหรัฐอเมริกาที่อยู่ห่างออกไปไม่ถึง 100 ไมล์ได้อย่างง่ายดาย และสหรัฐฯ อาจไม่สามารถป้องกันได้

เรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ B-59 ของสหภาพโซเวียต

นั่นจึงนำไปสู่การเผชิญหน้าที่ร้ายแรงที่สุดของสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต เป็นเวลา 13 วันแห่งความเสี่ยงสูงระหว่าง 2 มหาอำนาจนิวเคลียร์ ที่ดูเหมือนกำลังจะกลายเป็นก้าวที่ย่างพลาด

เริ่มต้นจาก ‘John F. Kennedy’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ออกคำสั่งในสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘การปิดล้อมคิวบา’ โดยตั้งกองเรือรบนอกชายฝั่งของเกาะ เพื่อป้องกันไม่ให้เรือสินค้าโซเวียต ซึ่งบรรทุกขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ไปยังคิวบา และเรียกร้องให้สหภาพโซเวียตถอนขีปนาวุธที่ติดตั้งในคิวบา

ในวันที่ 27 ตุลาคม 1962 เรือดำน้ำ B-59 ของโซเวียตซึ่งดำอยู่ใต้น้ำมาหลายวัน ถูกไล่ต้อนโดยเรือพิฆาตสหรัฐฯ 11 ลำ และ ‘USS Randolph’ เรือบรรทุกเครื่องบิน โดยเรือรบของสหรัฐฯ ได้เริ่มทิ้งระเบิดน้ำลึกรอบ ๆ เรือดำน้ำ

จุดจบในกรณีนี้ ไม่ใช่แค่ชะตากรรมของเรือดำน้ำและลูกเรือเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโลกทั้งใบด้วย ด้วยพวกเขาถูกตัดขาดจากโลกภายนอก จึงขาดการติดต่อทางวิทยุกับมอสโก ตัวเรือถูกกระแทกด้วยแรงอัดจากการระเบิดของระเบิดน้ำลึก เครื่องปรับอากาศพังเสียหาย อุณหภูมิและระดับคาร์บอนไดออกไซด์ของเรือที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ และข้อสรุปที่ชัดเจนที่สุดสำหรับเจ้าหน้าที่ประจำเรือดำน้ำ B-59 ก็คือ ‘สงครามโลกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว’ แต่สิ่งหนึ่งที่ฝ่ายสหรัฐฯ ไม่รู้ คือ เรือดำน้ำ B-59 มีอาวุธ คือ ‘ตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์’ ขนาด 10 กิโลตัน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเรือได้รับอนุญาตจากมอสโกให้ยิงมันได้โดยไม่ต้องได้รับการยืนยัน

เรือรบสหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดน้ำลึกใกล้เรือดำน้ำ B-59 เพื่อพยายามบังคับให้มันขึ้นสู่ผิวน้ำ และนายทหารระดับสูงของเรือ 2 คน ตกลงตัดสินใจที่จะใช้ ‘ตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์’ ทำลายเรือรบสหรัฐฯ แต่ Arkhipov ต้นเรือปฏิเสธที่จะเห็นด้วยกับคำสั่งใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมเป็นเอกฉันท์จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงประจำเรือ 3 คน แม้ว่าเหตุผลทุกประการที่เชื่อได้ว่า เรือรบสหรัฐฯ กำลังพยายามจะจมพวกเขา

“พวกเราต่างพากันคิดว่า จุดจบมันก็คงแค่นี้แหละ” ‘Vadim Orov’ ลูกเรือของเรือดำน้ำ B-59 ให้สัมภาษณ์กับทาง ‘National Geographic’ ในปี 2016 “เรารู้สึกเหมือนกำลังนั่งอยู่ในถังโลหะซึ่งมีคนใช้ค้อนทุบอยู่ตลอดเวลา”

แม้กระทั่ง ‘Valentin Savitsky’ กัปตันเรือ ซึ่งตามรายงานจากสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ บอกว่า เขาพูดออกมาว่า “เราจะต้องระเบิดพวกมันเดี๋ยวนี้!! ไม่งั้นเราจะตาย แต่เราจะจมพวกมันทั้งหมด เราจะไม่ยอมกลายเป็นความอับอายของกองทัพเรือแห่งสหภาพโซเวียต”

เรือดำน้ำ B-59 กลับขึ้นสู่ผิวน้ำ มุ่งหน้าออกจากคิวบา และแล่นกลับไปยังสหภาพโซเวียต

โชคดีที่ไม่ใช่เพียงแค่ดุลยพินิจของกัปตันแต่เพียงผู้เดียว ในการยิงตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์ แต่เจ้าหน้าที่อาวุโสประจำเรือดำน้ำทั้ง 3 คน ต้องเห็นด้วยทั้งหมด และ Vasily Arkhipov ต้นเรือวัย 36 ปี ได้ปฏิเสธที่จะให้ความยินยอม เขาโน้มน้าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเรือดำน้ำอีก 2 คนว่า แท้จริงแล้วการทิ้งระเบิดน้ำลึกของเรือรบสหรัฐฯ เป็นการกระทำเพื่อส่งสัญญาณให้เรือดำน้ำ B-59 ขึ้นสู่ผิวน้ำ เพราะเรือรบของสหรัฐฯ ไม่มีทางเลือกอื่นที่จะติดต่อสื่อสารกับเรือดำน้ำโซเวียตได้

ดังนั้น หากพวกเขายิงตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์ จะเป็นความผิดพลาดร้ายแรงที่สุด ในที่สุดแล้วเรือดำน้ำ B-59 ต้องกลับขึ้นสู่ผิวน้ำและเดินทางมุ่งหน้าออกจากคิวบา เพื่อแล่นกลับไปยังสหภาพโซเวียต

นาวาอากาศตรี ‘Rudolf Anderson’ นักบิน U-2 ของสหรัฐฯ เป็นผู้เสียชีวิตเพียงรายเดียวในวิกฤติครั้งนั้น

ความกล้าหาญด้วยความเยือกเย็นของ Arkhipov ไม่ได้เป็นจุดสิ้นสุดของวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา ในวันเดียวกันนั้นเอง นาวาอากาศตรี ‘Rudolf Anderson’ นักบิน U-2 ของสหรัฐฯ ก็ถูกยิงตกและเสียชีวิตขณะปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนเหนือคิวบา Anderson เป็นผู้เสียชีวิตรายแรกและรายเดียวในวิกฤติอันเป็นเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ได้ หากประธานาธิบดี Kennedy ไม่ได้สรุปว่า ‘Nikita Sergeyevich Khrushchev’ นายกรัฐมนตรีโซเวียต ไม่ได้เป็นผู้ออกคำสั่งให้ยิงเครื่องบิน U-2 ของสหรัฐฯ

‘John F. Kennedy’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ ‘Nikita Khrushchev’ นายกรัฐมนตรีโซเวียต

การติดต่อพูดคุยอย่างใกล้ชิดครั้งนั้น ทำให้ผู้นำทั้ง 2 ต่างสงบสติอารมณ์ลง พวกเขาเปิดการเจรจาแบบ Backchannel ซึ่งท้ายที่สุด จึงนำไปสู่การถอนขีปนาวุธในคิวบาของสหภาพโซเวียต และการถอนขีปนาวุธของสหรัฐฯ ในตุรกีในเวลาต่อมาเพื่อเป็นการตอบแทน และถือเป็นการสิ้นสุดของการเข้าใกล้จุดจบของโลก ด้วยสงครามนิวเคลียร์มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาจนถึงทุกวันนี้

การกระทำของ Arkhipov สมควรได้รับการยกย่องเป็นพิเศษ เพราะ Arkhipov ติดอยู่ในเรือดำน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยดีเซล ซึ่งอยู่ห่างจากมาตุภูมิหลายพันไมล์ เขาถูกแรงกระแทกจากระเบิดลึกซึ่งอาจทำให้ลูกเรือเสียชีวิตทั้งหมดได้ หากเขายอมรับการตัดสินใจยิงตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์ ก็อาจจะทำให้กองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ กลายเป็นจุล และคร่าชีวิตลูกเรืออเมริกันอีกหลายพันคน ซึ่งนั่นอาจทำให้ประธานาธิบดี Kennedy และนายกรัฐมนตรี Khrushchev ไม่สามารถถอยออกจากขอบเหวแห่งหายนะนี้ได้ และวันที่อันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์ของ มนุษยชาติ อาจเป็นวันสุดท้ายของพวกเราทุกคน

‘Elena’ ผู้เป็นลูกสาว และ ‘Sergei’ หลานชายของ Vasily Arkhipov กับรางวัล ‘The Future of Life Award’

สำหรับความกล้าหาญของเขา จึงทำให้ในปี 2017 Arkhipov เป็นคนแรกที่ได้รับรางวัล ‘Future of Life’ จาก ‘Future of Life Institute’ (FLI) องค์กรไม่แสวงผลกำไร ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเคมบริดจ์ โดย Arkhipov เสียชีวิตลงเมื่อปี 2008 ก่อนที่จะมีข่าวเกี่ยวกับเรื่องราวการกระทำของเขา จนกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

ซึ่ง ‘Max Tegmark’ ประธาน FLI กล่าวในพิธีมอบรางวัลนี้ ว่า “Vasily Arkhipov อาจเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่”

ระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1945

นับตั้งแต่การทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1945 ก็ไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามอีกเลย แต่ในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียทวีความรุนแรงขึ้นจากสงครามในยูเครน จนเริ่มมีการนำประเด็นการใช้อาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมากล่าวถึง

มนุษยชาติจะต้องตระหนักรู้ถึงพลังอันน่าสะพรึงกลัวของ ‘วันสิ้นโลก’ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากอาวุธเหล่านี้ให้ดี ดังเช่น ‘Vasily Arkhipov’ ผู้ซึ่งในช่วงเวลาของการตัดสินใจ ในความเป็นและความตายนั้น เขาตัดสินใจเลือกให้มนุษยชาติ มีชีวิตอยู่มากกว่าการสูญสลายไปจนหมดสิ้น

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

กล่าวหา ‘กรมขุนชัยนาทฯ’ รับรองรัฐประหารอย่างแข็งขัน 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

อาจารย์สมศักดิ์ เจียมฯ -  ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’

จากที่ได้โพสต์การตรวจสอบงานเขียนของ ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง โดย ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ ไปเมื่อโพสต์ก่อนหน้าแล้ว

ต่อกรณีที่ ณัฐพลเขียนบิดเบือนให้ ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทรรับรองรัฐประหารอย่างแข็งขันและรวดเร็ว’ นั้น

ด้านอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้โพสต์ให้ความเห็นต่อข้อความของ Edwin F. Stanton ที่ว่า…

“Later the Prince Regent told me it seemed to be in the best interest of the country to acquiesce in what had been done in order to avoid bloodshed. “As you know,” he told me, “bloodshed is abhorrent to us as Buddhist”

ที่ ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ แปลว่า “ต่อมา The Prince (กรมขุนชัยนาทฯ) ได้ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า มันน่าจะเป็นผลดีแก่ประเทศชาติที่สุด หากจำใจต้องยอมรับในสิ่งที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด ‘อย่างที่คุณก็ทราบดี’ และพระองค์ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่าอีกว่า ‘การนองเลือดเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับเราในฐานะชาวพุทธ’”

ซึ่งย่อมไม่สามารถสื่อว่า กรมขุนชัยนาทฯ รับรองรัฐประหารอย่างแข็งขันได้

แต่อาจารย์สมศักดิ์ ให้ความเห็นแย้ง ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ ว่า “บทบาทของกรมขุนชัยนาทในการรับรองรัฐประหารนั้น เท่าที่ ‘โต้แย้ง’ มา ผมว่ายังอ่อนนะ"

โดยอาจารย์สมศักดิ์เห็นว่าข้อความที่ Edwin Stanton กล่าวว่า กรมขุนชัยนาทฯ ตรัสให้เหตุผลในการจำใจยอมรับรัฐประหารนั้น 

“เป็นการแก้ตัวตามสไตล์ที่เราเห็นกันอยู่”

หลังจากที่ ‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’ ได้อ่านความเห็นดังกล่าวของอาจารย์สมศักดิ์ ก็ได้ส่งข้อความมาถึงผมว่า…

“ทุ่นดำทุ่นแดงได้ฝากมาบอกว่า ให้อาจารย์สมศักดิ์ลองไปอ่านหนังสือ The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and the Coup ของ Nik Mahmud ดู (ได้แนบเอกสารหน้าที่อยากให้อาจารย์ดูมา) หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มเดียวกับที่ณัฐพลใช้ แต่เขาดันตัดวลี ‘โดนจี้’ ออก ลองอ่านนะครับ

“[Prince Rangsit] had been forced practically at the point of a tommy gun”

อาจารย์คิดว่า ประโยคข้างต้น แปลหรือสื่ออะไรครับ ?

แล้วดูประโยคที่ยกมาเองนะครับ ‘acquiesce’ ตาม Cambridge หมายความว่า “to accept or agree to something, often unwillingly”

ถ้าอาจารย์มีอะไรที่มีน้ำหนักและน่าสนใจกว่า ก็โพสต์มาได้เลยครับ 
และพวกเราจะโพสต์แยกถึงอาจารย์อีกอันนะครับ 

ขอบคุณครับ ที่มาร่วมวง

ทุ่นดำ-ทุ่นแดง

กล่าวหา ‘รัชกาลที่ 9’ ทราบแผนรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’

กรณีการกล่าวว่า ‘ในหลวงทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน’ ของ ณัฐพล ใจจริง
ประเด็นสำคัญอีกประเด็น คือ

‘ในหลวง ร.9 ทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน’

ซึ่งณัฐพล กล่าวว่า “โดยหนังสือพิมพ์ไทยร่วมสมัยได้พาดหัวข่าวขณะนั้นว่า ‘ในหลวงรู้ปฏิวัติ 2 เดือนแล้ว’ ทั้งนี้ พล ท.กาจ กาจสงครามให้คำสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ต่อมาว่า เขาได้เคยส่งโทรเลขลับรายงานแผนรัฐประหารให้พระองค์ทรงทราบล่วงหน้า 2 เดือนก่อนลงมือรัฐประหาร”

โดย ณัฐพล อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์เอกราชวันที่ 10 พฤศจิกายน 1947

อย่างไรก็ดี สิ่งที่พวกเราต้องการบอกทุกท่านเป็นอย่างแรกคือ จะเป็นไปได้อย่างไรที่หนังสือพิมพ์เอกราชจะลงข่าวในปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ.1947) ?

เนื่องจากว่า “หนังสือพิมพ์เอกราชถือกำเนิดขึ้นโดยโรงพิมพ์เอกราชได้ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 24 มิถุนายน 2500”!

กล่าวคือ หนังสือพิมพ์ที่ก่อตั้งปี พ.ศ. 2500 จะนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปลงข่าว 10 ปีที่แล้วก่อนการก่อตั้งได้อย่างไร!? 

(ดูประวัติการก่อตั้งจาก พัชราภรณ์ ครุฑเมือง, การดำรงอยู่ของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เอกราช ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม วิทยานิพนธ์นิเทศนศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวารสารสนเทศ ภาควิชาสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552) 

มิหนำซ้ำ เรายังรู้สึกแปลกใจที่ ณัฐพล ใช้ปี ค.ศ. 1947 ในการระบุปี ขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ เขากลับใช้ พ.ศ. ทั้งหมด 

ดังนั้น การอ้างถึง ‘หนังสือพิมพ์เอกราชวันที่ 10 พฤศจิกายน 1947’ ของ ณัฐพลจึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า มีที่มาจากไหนกันแน่ ?  

เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า ไม่เคยปรากฏหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ขึ้นในบรรณพิภพในเวลานั้น ประกอบทั้งการใช้ปี ค.ศ. ที่ไม่ปรากฏความต่อเนื่องสม่ำเสมอ (consistency) กับการเขียนวิทยานิพนธ์ในส่วนอื่น ๆ ของ ณัฐพล

เราจึงสงสัยว่าณัฐพลเอาข้อมูลในส่วนนี้มาจากไหนกันแน่ ? 
หรือถ้ามีจริงทำไมเขาไม่อ้างจากหลักฐานชั้นต้นเช่นในจุดอื่น ๆ ?  

นอกจากนี้ ก่อนการรัฐประหาร 2490 บรรยากาศขณะนั้นก็เป็นที่รับรู้ทั่วไป ดังปรากฏข่าวลือว่าจะต้องมีการรัฐประหารเกิดขึ้นแน่ ๆ ไม่ว่าวันใดวันหนึ่ง 

เนื่องจากสถานภาพของรัฐบาลปรีดี-หลวงธำรงฯ นั้นง่อนแง่นเต็มที่ ประชาชนไม่ให้ความเชื่อถือเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลที่คอร์รัปชันอย่างรุนแรง 

กระแสการรัฐประหารนั้นรุนแรงกระทั่งว่า หลวงธำรงฯ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นถึงกับให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ว่า ‘นอนรอคอยอยู่ที่บ้านก็ไม่เห็นมีปฏิวัติ’

ดังนั้น ไม่ว่าจะใครก็ตามในประเทศไทยหรือนอกประเทศในเวลานั้นก็ย่อมต้องคุ้นเคยกับข่าวรัฐประหารอยู่แล้ว เพราะข่าวนี้เป็นที่รับรู้กันทั่วไปไม่ใช่แค่เฉพาะในแวดวงชนชั้นสูง

เมื่อประมวลทั้งหมดแล้ว เราจึงขอถามกลับไปยัง ณัฐพล ว่า ในหนังสือขุนศึกฯ ที่เขาได้ตัดประเด็นทั้งส่วนทั้งสองนี้ออกไป ย่อมแสดงว่าณัฐพลรู้อยู่แก่ใจใช่หรือไม่ว่าไม่มีน้ำหนักใช่หรือไม่ ? 

ทั้งในประเด็นแรกที่ณัฐพลเชื่ออย่างสนิทใจว่า ‘สมเด็จย่าอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร’

ซึ่งหากณัฐพลต้องการจะให้น้ำหนักแก่สมมติฐานพวกเจ้าสนับสนุนการรัฐประหาร เขาก็ต้องคงเนื้อหาในส่วนนี้ไว้ เพราะได้จะสอดคล้องกับการให้ภาพที่ชัดขึ้นของพวกฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนคณะรัฐประหารโดยดุษฎี (ไม่ใช่มาพบความจริงตอนหลังว่าไม่ได้สนับสนุนแต่ต้น แต่เพราะถูกคณะรัฐประหารใช้ปืนจี้บังคับให้เซนแบบกรมขุนชัยนาทฯ เช่นที่พวกเราได้นำเสนอไปแล้ว) 

อีกทั้งในประเด็นหนังสือพิมพ์เอกราชที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2500 ซึ่งสามารถสาวโยงถึงในหลวงได้โดยตรง แต่ ณัฐพล ก็กลับตัดข้อเสนอสำคัญนี้ทิ้งเสียอย่างน่าแปลกใจ

อย่างไรก็ดี พวกเรามีความกังวลใจว่า สิ่งที่ณัฐพลกระทำไว้ในวิทยานิพนธ์นั้นได้แผ่ขยายออกไปไกลจนมีการอ้างอิงในวิกิพีเดียไปเสียแล้ว ควรบันทึกไว้ด้วยว่าไม่มีใครสามารถแก้ไขข้อมูลในประเด็นสมเด็จย่าสนับสนุนการัรฐประหารนี้ในวิกิพีเดียได้เลยจนบัดนี้ 

เพราะหากเมื่อทำการแก้ไขทีไร ก็มักจะมี ‘มือที่มองไม่เห็น’ แก้กลับให้เป็นข้อมูลของณัฐพลทุกครั้ง 
เราหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่าการกระทำของพวกเรา ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ในครั้งนี้ จะทำให้ทุก ๆ ท่านได้เห็นถึงการใช้หลักฐานและการพิจารณาบริบทแวดล้อมที่รายล้อมอยู่มากขึ้น 

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เขียนข้อมูลวิชาการในฐานะผู้ต้องรับผิดชอบในความผิดพลาดที่ปรากฏขึ้นนี้ด้วย ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

กล่าวหา 'สมเด็จย่า' ทรงอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร 10 ข้อบิดเบือนประวัติศาสตร์ หมายล้มล้างสถาบันฯ

‘ทุ่นดำ-ทุ่นแดง’

กรณีการกล่าวว่า ‘สมเด็จย่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 2490’ และ ‘ในหลวงทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน’ ของ ณัฐพล ใจจริง

กรณีที่พวกเราทุ่นดำทุ่นแดงจะกล่าวถึงในตอนนี้ น่าจะเป็นประเด็นหลักสุดท้ายที่พวกเราจะกล่าวถึง (หากยังไม่มีการตรวจสอบและพบจุดผิดพลาดเพิ่มเติมอีก) ซึ่งประเด็นนี้สำคัญไม่น้อยต่อการวิเคราะห์และประเมินการใช้หลักฐานในการอธิบายประวัติศาสตร์ซึ่งได้ส่งผลมาสู่การพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์และสร้างกระแสความรู้สึกเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์มาจนถึงปัจจุบัน 

ซึ่งต้นเรื่องดังกล่าวพบว่ามีที่มาจากการที่ณัฐพล ใจจริง ได้กล่าวในวิทยานิพนธ์และหนังสือของเขาเรื่อง ‘สมเด็จย่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 2490’ และ ‘ในหลวง ร.9 ทรงทราบแผนการรัฐประหาร 2490 ล่วงหน้า 2 เดือน’ จนเกิดการนำไปสู่การอ้างอิงต่อ ๆ กันอย่างกว้างขวาง โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน โดยพวกเราจะแยกโพสต์ออกเป็นสองโพสต์ โพสต์แรกคือกรณีสมเด็จย่า และโพสต์ที่สองคือกรณีในหลวงทรงรู้การรัฐประหารก่อนล่วงหน้า 2 เดือน

1. ข้อความของณัฐพลในวิทยานิพนธ์ การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2491-2500) หน้า 64 

ณัฐพล ได้ระบุข้อความว่า “สถานทูตอังกฤษได้รายงานผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหารครั้งนี้ [พ.ศ. 2490] ว่า คือ พระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล” (โดยส่วนนี้ ณัฐพล อ้างอิงจาก Nicholas Tarling, “Britain and the Coup 1947 in Siam,” Paper presented to International Association of Historians of Asia, Chulalongkorn University, Bangkok 20-24 May 1996, p. 3.) 

และได้ระบุข้อความต่อจากประโยคข้างต้นว่า “โดยหนังสือพิมพ์ไทยร่วมสมัยได้พาดหัวข่าวขณะนั้นว่า ‘ในหลวงรู้ปฏิวัติ 2 เดือนแล้ว’ ทั้งนี้ พล ท.กาจ กาจสงคราม ให้คำสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ต่อมาว่า เขาได้เคยส่งโทรเลขลับรายงานแผนรัฐประหารให้พระองค์ทรงทราบล่วงหน้า 2 เดือนก่อนลงมือรัฐประหาร” (ณัฐพล อ้างจาก หนังสือพิมพ์เอกราช, 10 พฤศจิกายน 1947)

ส่วนในหนังสือ ขุนศักดินา และพญาอินทรี (2563) ซึ่งหากพิจารณาจากเนื้อหาแล้วก็ควรไปปรากฏอยู่ที่หน้า 61 ซึ่งมีเนื้อหาส่วนเดียวกันกับในวิทยานิพนธ์ แต่ ณัฐพล กลับได้ตัดทิ้งข้อความในทั้ง 2 ประเด็นนี้ออกไป! ซึ่งพวกเราขอให้จำส่วนนี้ไว้ให้ดีเพราะมันจะกลับมามัดการใช้หลักฐานของณัฐพลเสียเอง

2. ข้อค้นพบในหลักฐานชิ้นแรกที่ณัฐพลอ้าง คือ Nicholas Tarling, “Britain and the Coup 1947 in Siam,” หน้าที่ 3 พวกเราได้ตรวจสอบงานชิ้นดังกล่าว โดยในงานชิ้นนี้ได้ระบุข้อความว่า…

“If, as it appeared, the coup was backed by the Princess Mother, Allen noted, ‘it behaves us to be doubly careful in condemning it – since one of its consequences may be something we have all along hoped for, namely the return of the young king […] his absence having been a serious factor in the instability of the country during the last eighteen months’.”

ซึ่งแปลได้ว่า “อย่างไรเสีย, มันดูเหมือนว่า, การรัฐประหารได้รับการสนับสนุนโดยพระราชชนนี, อัลเลนได้บันทึกไว้ว่า, ‘เราเองก็ควรจะระมัดระวังในการประณามการรัฐประหาร เพราะอาจจะทำให้สิ่งที่เราคาดหวังมาตลอด, คือการเสด็จนิวัตพระนครของยุวกษัตริย์ […] การที่พระองค์ไม่ได้ทรงประทับอยู่ในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อที่ความไร้เสถียรภาพตลอด 18 เดือนที่ผ่านมา” โดยในข้อความนี้ Tarling อ้างมาจากเอกสาร F.O.371/65911 [F15065/1565/40] 

พวกเราจึงได้ไปตามเอกสารต้นฉบับดังกล่าวซึ่งเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติประเทศอังกฤษ และพบข้อความในเอกสารชิ้นนี้ ซึ่งระบุว่า…

“Siamese revolution, which appears to be not merely a stroke of ambition [of] … Pibul, but a concerted move supported by the more conservative members of the Royal Family (including no doubt the Princess Mother who controls the King).”

แปลได้ว่า “การปฏิวัติในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าจะมิใช่เป็นเพียงความทะเยอทะยานของหลวงพิบูลอย่างเดียว แต่ยังได้รับการสนับสนุนจากพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่าด้วย (ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่าหมายรวมถึงพระราชชนนี ซึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลยุวกษัตริย์ด้วย)”

เมื่อได้ทำการประมวลพร้อมกับหลักฐานอื่น ๆ ที่ได้ไปสืบค้นเพิ่มเติมมา พวกเราจึงตั้งข้อสังเกตต่อการกล่าวอ้างของญัฐพล ดังนี้

1. ในรายงานของอังกฤษฉบับดังกล่าวเป็นรายงานลงวันที่ 8 Jan 1948 (8 มกราคม 2491) โดย Allen ซึ่งทราบจาก Thompson ทูตอังกฤษ

ซึ่งเป็นการรายงานย้อนหลังหลังการเกิดรัฐประหารได้ 2 เดือนแล้ว และหากสมเด็จย่าทรง ‘อยู่เบื้องหลัง’ ดังที่ณัฐพลกล่าวอ้างจากรายงานฉบับนี้ ก็ควรจะปรากฏรายงานเช่นนี้ออกมาให้เร็วกว่านี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันรัฐประหารหรือหลังจากนั้นไม่นานนัก) 

อีกทั้ง การ ‘support’ ในที่นี้ยังหมายถึงการ ‘ยอมรับ’ ในสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วได้อีกด้วย (de facto) เพราะลองนึกภาพตามจะพบว่าเพียงพระราชชนนีลำพังทำอะไรได้ ในขณะที่อีกฝ่ายของจอมพล ป. มีทั้งปืนและทรัพยากรต่างๆ ? 

อีกทั้งยังพบข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ก่อนหน้านี้แม้แต่ Thompson ยังเคยได้รายงานไปยังกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษในลอนดอนเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2490 (ก่อนการรัฐประหารหลายเดือน) ว่าการกลับมาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตอาชญากรสงครามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น “ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้เลย” (Geoffrey F. Thompson, The British Minister in Bangkok, believed that the prospect of Pibul’s return was by no means unlikely.) 

และทูตอังกฤษยังได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า “พวกรอยัลลิสต์ยังคงหวาดกลัวจอมพล ป. มิเสื่อมคลาย” (The very fear of him still endures in influential [including Royalists] circles here.) จากเอกสาร F.O. 371/63910, Thompson to Bevin 6 April 1947 อ้างใน Nik Mahmud, The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and The Coup, p. 9.

นั่นหมายความว่า การกลับมาของจอมพล ป. (ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม) “ไม่ใช่สิ่งที่พวกรอยัลลิสต์ไทยพอใจนัก” สอดคล้องกับพฤติกรรมของคณะรัฐประหารที่ได้กระทำการบีบบังคับด้วยกำลังแก่กรมขุมชัยนาทฯ ให้ลงพระนามในรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 (ที่พวกเรา ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ได้ชี้ให้เห็นในการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวนี้ที่อาจารย์ไชยันต์ได้โพสต์ไปก่อนหน้านี้แล้ว) 

2. เมื่อได้ทำการตรวจสอบเอกสารชิ้นอื่น ๆ ที่เป็นรายงานทั้งของสหรัฐอเมริกาและของอังกฤษ 

พวกเรากลับไม่พบรายงานอื่น ๆ ที่ระบุว่าพระราชชนนีหรือสมเด็จย่า ‘อยู่เบื้องหลัง’ การรัฐประหารที่จะมาให้น้ำหนักหรือสอดคล้องกับเอกสารชิ้นนี้เลย 

โดยปกติแล้วการทดสอบหลักฐานด้วยการทดสอบไขว้เพื่อยืนยันความถูกต้อง (crossed check) มักย่อมถูกใช้เพื่อวิเคราะห์ว่ามีเอกสารใดบ้างกล่าวตรงกัน และได้รับข้อมูลมาจากแหล่งข่าวเดียวกันหรือไม่ มีการประเมินความน่าเชื่อถืออย่างไร เช่น กรณีที่กรมขุนชัยนาทฯถูกบังคับให้ลงนามรับรองการรัฐประหารที่พวกเรา (ทุ่นดำ-ทุ่นแดง) ได้เอาหลักฐานชั้นต้นของทั้งของไทย อังกฤษและอเมริกามาให้ดูเป็นขวัญตาว่ากล่าวตรงกันว่าทรงถูกบังคับจริง ๆ 

จึงกล่าวได้ว่า รายงานนี้เป็นรายงานฉบับเดียวที่ระบุข้อความที่ว่าสมเด็จย่ามีส่วนเกี่ยวข้อง 

ดังนั้น ผู้ใดมีใจเป็นนักวิชาการก็ควรจะชั่งน้ำหนักให้มาก เพราะหากหากสมเด็จย่าอยู่เบื้องหลังจริง ก็ควรจะมีรายงานฉบับอื่น ๆ ให้รายละเอียดมาด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น 

แต่เรากลับไม่พบหลักฐานต่อเนื่องเหล่านั้นแม้แต่ชิ้นเดียว นอกจากเอกสารในช่วงหลังวันปฏิวัติ/รัฐประหาร สด ๆ ร้อน ๆ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2490 ที่ทางกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้จัดทำรายงานสรุปสถานการณ์การรัฐประหารของไทยในปี 2490 อย่างเป็นภาพรวม โดยระบุว่า “ในความเห็นเบื้องต้น [ของเอกอัครราชทูตอังกฤษในไทย - Thompson] เชื่อว่า การรัฐประหารครั้งนี้ เป็นการเคลื่อนไหวของพวกฝ่ายขวาที่ได้รับการสนับสนุนจากพระบรมวงศานุวงศ์” (His preliminary opinion is that coup d’etat is a right-wing movement supported by Royal Family)  (ที่มา F15065/1565/40, 15 November 1947)

จึงกล่าวได้ว่า ข้อมูลชุดที่ทางกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้รับมานี้ ล้วนแล้วแต่มาจาก Thompson เพียงคนเดียวนั่นเอง และข้อมูลในชุดเดียวกันนี้ก็ได้ไปปรากฏซ้ำในรายงาน F.O.371/65911 [F15065/1565/40] ของ Thompson ในวันที่ 8 มกราคม 2491 หรือเกือบ 2 เดือนหลังจากเอกสารวันที่ 15 พฤศจิกายน 2490 นั้นเอง กล่าวคือ เป็นเอกสารคำพูดแทบจะ copy เลยทีเดียว หากแต่รอบหลังมีการอ้างถึงสมเด็จย่ามาด้วยเท่านั้น!

3. จะเห็นได้ว่าในงานเขียน Tarling ซึ่งได้อ้างอิงจากเอกสารอังกฤษชิ้นเดียวกันนั้น ทาง Tarling เองก็ได้จงใจใส่อนุประโยคว่า “as it appeared” ซึ่งแปลได้ว่า 

“มันดูเหมือนว่า/ดูราวกับว่า” เข้ามาด้วย ซึ่งถ้าหาก Tarling มั่นใจว่าสมเด็จย่ายู่เบื้องหลังจริง เขาก็ไม่จำเป็นต้องเติมประโยคนี้เข้ามาเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือในข้อมูลนี้เลย 

ทั้งนี้ น่าเชื่อว่า Tarling ก็น่าจะเห็นข้อความจากเอกสารชิ้นเดียวกับเรา ที่ระบุเพียงข้อคิดเห็นส่วนตัวของ Thompson (ทูตอังกฤษผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ที่ Tarling นำมาอ้าง และณัฐพลเอามาอ้างต่อ ) ที่สันนิษฐานว่าพระราชชนนีทรงมีส่วนสนับสนุน ด้วยการเลือกใช้คำว่า ‘no doubt’ ที่แปลได้ว่า ‘ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่า…’

4. ควรต้องกล่าวด้วยว่าในเอกสารของอังกฤษเองก็ได้บอกถึงการสนับสนุนหรือการ ‘รับรอง’ ของพระบรมวงศานุวงศ์ไม่ใช่แค่พระราชชนนีเพียงพระองค์เดียว แต่ทำไม ณัฐพล จึงเจาะไปที่พระองค์ (ซึ่งรวมไปถึง Tarling ด้วย)

ซึ่งหากติดตามการอธิบายของณัฐพลให้ดี ก่อนหน้านี้เขาพยายามโยนความผิดในการรับรองรัฐประหารไปให้กรมขุนชัยนาทฯ มาโดยตลอด แต่ในประเด็นนี้ณัฐพลกลับจงใจเลือกที่จะพูดถึงสมเด็จย่าเท่านั้น 

5. ในความเป็นจริงแล้ว พระราชชนนีหรือสมเด็จย่าในขณะนั้น ทรงประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไร้อำนาจและเครือข่ายทางการเมืองใด ๆ (เดิมทรงเป็นสามัญชน) จะให้พระองค์สนับสนุนหรืออยู่เบื้องหลังการรัฐประหารอย่างไร? 

และข้อมูลการสนับสนุนให้พระราชวงศ์เกี่ยวข้องกับการเมืองนี้ กลับย้อนแย้งกับความพยายามของสมเด็จย่าที่พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการเมืองมาตลอด (โปรดอ่าน ‘เจ้านายเล็ก ๆ ยุวกษัตริย์’ ประกอบ)

กรณีในหลวงทรงรู้การรัฐประหาร อ่านต่อไปในโพสต์ถัดไป!!

บทเพลงพระราชนิพนธ์แห่งความสุข  จากองค์พระมหากษัตริย์สู่พสกนิกรชาวไทย 

ประเทศไทยของเราเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่จากเดิมที่นับเอาวันที่ ๑ เมษายนของทุกปีเป็นวันปีใหม่แบบของไทยเรา โดยนับเนื่องกันมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเรามีเพลงประจำปีใหม่ไทยของเราหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ซึ่งแต่งทำนองและเรียบเรียงโดย 'พระเจนดุริยางค์' (ปิติ วาทยะกร) แต่งคำร้องโดย 'ขุนวิจิตรมาตรา' (สง่า กาญจนพันธุ์) โดยมีชื่อเพลงว่า 'เถลิงศก' และเริ่มใช้ขับร้องต้อนรับปีใหม่แบบไทยในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยระบุชัดในเนื้อร้องท่อนนึงว่า...

“วันที่หนึ่งเมษายน ตั้งต้นปีใหม่
แสงตะวันพร่างพรายใส สว่างแจ่มจ้า
เสียงระฆังเหง่งหง่างก้อง ร้องทักทายมา
ไตรรงค์ร่าระเริงปลิว พลิ้วพลิ้วเล่นลม.....” 

แต่ร้องกันได้เพียงแค่ ๖ ปีก็มาถึงยุค ‘เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย’ … ‘จอมพล ป.พิบูลสงคราม’ ที่มีความต้องการให้ประเทศไทยมีความเป็นสากลเหมือนอารยประเทศในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะ ‘วันปีใหม่’ ซึ่งน่าจะนับเอาตามหลักสากล จึงได้ออกกฎหมายและประกาศ ‘พระราชบัญญัติ ปีปฏิทินพุทธศักราช ๒๔๘๓’ โดยยกเลิกปีใหม่แบบเดิมและให้เริ่มนับเอาวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นปีแรกแห่งการนับปีใหม่ตามหลักสากล เพลง 'เถลิงศก' เพลงปีใหม่เดิมก็เป็นอันเลิกใช้ โดยมีเพลงที่อาจจะอนุมานในการร้องหรือเปิดในช่วงปีใหม่ในช่วงของท่านจอมพลก็คือเพลงประกอบการเต้นลีลาศหรือรำวงมาตรฐานโดยวงสุนทราภรณ์ เช่น ‘รื่นเริงเถลิงศก’ / ‘รำวงปีใหม่’

ส่วนบทเพลงสำคัญที่เปรียบเสมือนพรจากฟ้า เป็นของขวัญของปวงชนชาวไทยในทุกวันขึ้นปีใหม่ เกิดขึ้นเมื่อวันส่งท้ายปี พ.ศ. ๒๔๙๔ นั่นก็คือบทเพลงพระราชนิพนธ์ ‘พรปีใหม่’

‘พรปีใหม่’ เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๓ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นบทเพลงที่ส่งต่อความสุขใจ ความปรารถนาดี จากพระองค์ท่าน สู่พสกนิกรชาวไทยของพระองค์ 

หลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จนิวัตประเทศไทยและประทับในประเทศไทยเป็นการถาวร ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ จนถึงวาระขึ้นปีใหม่ครั้งนั้น พระองค์มีพระราชประสงค์จะพระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรด้วยเพลง 

สำหรับบทเพลง ‘พรปีใหม่’ นี้ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไม่ได้เริ่มต้นแต่งใหม่ทั้งหมดในคืนวันก่อนปีใหม่ปี ๒๔๙๔ - ๒๔๙๕ แล้วนำไปบรรเลงเลยอย่างที่ทุกคนเข้าใจ แต่จริง ๆ แล้วพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองมานานก่อนหน้านั้นแล้วบางส่วน ก่อนจะมาปรับปรุง เพิ่มเติมจนจบ จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทยซึ่งเป็นคำอวยพรปีใหม่ ลงไปจนครบซึ่งก็พอดีกับการจะพระราชทานในค่ำคืนวันนั้นพอดี ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสเล่าเบื้องหลังการพระราชนิพนธ์เพลง ‘พรปีใหม่’ พระราชทานแก่คณะกรรมการโครงการ ‘ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์’ ที่เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ ความว่า...

“...เพลงพรปีใหม่ คนก็ว่าแต่งในวันปีใหม่ หรือวันก่อนวันปีใหม่ แท้จริงแต่งมานาน ก่อนที่จะออกปีใหม่เป็นปีหรือสองปี แล้วก็แต่งแบบทุลักทุเล ตอนนั้นไม่สบาย คืออยู่ที่เมืองนอก ไปมีอุบัติเหตุ หมอบอกว่าห้ามเล่นแซกโซโฟน แต่ว่าท่านจักรพันธ์อยู่ด้วย ก็ให้ท่านเป่าแซกโซโฟน ท่านก็เป่ามีเสียงออกมาได้ แต่ท่านไม่รู้ว่านิ้วจะวางอย่างไร ลงท้ายก็เอานิ้วของเราใส่บนแซกโซโฟน แล้วท่านก็เป่า ลงท้ายท่านก็เล่นแซกโซโฟนได้ และเมื่อหมออนุญาตให้เป่าแซกโซโฟน ก็เลยเริ่มเล่นเป็นเพลงที่แต่งเอาเอง คนหนึ่งเล่นส่วนหลัก แล้วอีกคนก็เล่นต่อสลับกันไปอย่างนี้แล้วจดเอาไว้มาถึงปลายปี ก็เลยนึกว่าเอ๊ะ...เราแต่งเพลงสำหรับให้พรปีใหม่ ก็เอาอันนี้ที่แต่งไว้แล้วมีคนแต่งสองคนไม่รู้ว่าเป็นเพลง ก็มาปรับปรุงให้เป็นเพลงได้…”

เพลงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ที่ได้รับพระราชทานชื่อว่า ‘พรปีใหม่’ เดินทางไปถึงวงดนตรี ๒ วง ในคืนวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งทั้ง ๒ วงกำลังบรรเลงดนตรีส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่อยู่ ๒ แห่ง โดยวงแรกคือวงดนตรีของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงอยู่ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

อีกวงคือวงสุนทราภรณ์ ซึ่งกำลังแสดงอยู่ที่ศาลาเฉลิมไทย เมื่อทั้ง ๒ วงได้รับบทเพลงพระราชนิพนธ์ ก็ได้นำไปเรียบเรียงเพื่อใช้สำหรับการบรรเลงเป็นวงและเตรียมการขับร้องอยู่สักพักก่อนที่จะนำไปบรรเลงและขับร้องเมื่อเข้าสู่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งนอกจากจะสร้างความประหลาดใจจากบทเพลงใหม่ที่ได้รับพระราชทานมาแล้วนั้น ผู้ที่ได้รับชม รับฟัง บทเพลงพระราชนิพนธ์ ‘พรปีใหม่’ ในครั้งนั้น ล้วน ตื่นเต้น ตื้นตัน และปลาบปลื้มไปกับความสุขที่ได้รับพรจากฟ้า จากพระเจ้าแผ่นดินผู้รักผสกนิกรของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง (ผมพิมพ์ไปนึกภาพตามไปยังขนลุกเลย) 

“สวัสดีปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาเราท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาเราท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมหฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ”

นับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ มาถึงปัจจุบัน กว่า ๗๑ ปี ที่ชาวไทยได้ร้องเพลง ‘พรปีใหม่’ ในทุกช่วงเทศกาลฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขและการเดินหน้าต่อไปในทุก ๆ ปีแล้วนั้น เพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ยังแสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ไทยของเรา ที่อยากเห็นปวงชนชาวไทยมีความสุข อยู่ดีกินดี มีความสุขในบ้าน ในเมือง ที่ร่มเย็นด้วยพระบารมี ตลอดทั้งปีใหม่และตลอดไป

‘ยุทธการใต้พิภพ’ ปฏิบัติการลับทางทหาร ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ ‘กองทัพสหรัฐฯ’ ต้องร่วมมือกับ ‘มาเฟีย’ เพื่อต่อกรกับฝ่ายอักษะ

‘ยุทธการใต้พิภพ’ (Operation Underworld)
เมื่อกองทัพสหรัฐฯ ต้องร่วมมือกับมาเฟียในการทำสงคราม

‘ยุทธการใต้พิภพ’ (Operation Underworld) เป็นชื่อรหัสลับของปฏิบัติการทางทหาร โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกับกลุ่มมาเฟีย (อิตาเลียน-อเมริกัน) และกลุ่มอาชญากรชาวยิว ตั้งแต่ปี 1942 – 1945 ปฏิบัติการนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบโต้สายลับและนักก่อวินาศกรรมของฝ่ายอักษะ ที่ปฏิบัติการตามท่าเรือชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา เพื่อหลีกเลี่ยงการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานในภาวะสงคราม และเพื่อจำกัดการขโมยเสบียงและอุปกรณ์สงครามที่สำคัญโดยกลุ่มพ่อค้าในตลาดมืด

ความสงสัยเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการก่อวินาศกรรมของกลุ่มมาเฟีย นำไปสู่ปฏิบัติการ ‘Underworld’ ด้วยในช่วง 3 เดือนแรกหลังการโจมตีของญี่ปุ่นที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941 สหรัฐฯ ต้องสูญเสียเรือสินค้า 120 ลำ จากเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำของเยอรมันในสมรภูมิทางทะเล ในมหาสมุทรแอตแลนติก

ต่อมา ในช่วงบ่ายของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1942 เรือเดินสมุทร ‘SS Normandie’ ซึ่งเป็นเรือเดินสมุทรของ ‘ฝรั่งเศส’ ที่ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรยึดได้และดัดแปลงเป็นเรือลำเลียงทหารอเมริกัน ซึ่งถูกระบุว่า มีการวินาศกรรมและจมลงด้วยการลอบวางเพลิงในท่าเรือนิวยอร์ก โดย Albert ‘Mad Hatter’ Anastasia หัวหน้ามาเฟีย เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้รับผิดชอบต่อการก่อวินาศกรรมครั้งนี้

สภาพของเรือเดินสมุทร ‘SS Normandie’ หลังจากไฟไหม้และจมลง

รัฐบาลสหรัฐฯ ออกข่าวว่า การสูญเสียเรือเดินสมุทร SS Normandie เป็นอุบัติเหตุ และไม่มีหลักฐานใดที่เชื่อมโยงสายลับฝ่ายอักษะกับการสูญเสียเรือเดินสมุทร SS Normandie บันทึกของฝ่ายอักษะหลังสงครามอ้างว่า “ไม่เคยมีปฏิบัติการก่อวินาศกรรมเรือเดินสมุทร SS Normandie เกิดขึ้น และฝ่ายสัมพันธมิตรเองก็ไม่เคยมีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่า มีการก่อวินาศกรรมเรือเดินสมุทร SS Normandie ในปี 1954” รายงานการติดต่อระหว่างหน่วยข่าวกรองกองทัพเรือสหรัฐฯ และกลุ่มมาเฟียนิวยอร์ก โดย ‘William B. Herlands’ ก็ไม่ได้กล่าวถึงบทบาทของ Anastasia ในการก่อวินาศกรรมครั้งนั้นแต่อย่างใด

ตลาดปลา Fulton นครนิวยอร์ก ในปี 1936

อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับการก่อวินาศกรรมที่อาจเกิดขึ้นได้ หรือการหยุดชะงักของการทำงานในพื้นที่ท่าเรือ ทำให้นาวาเอก ‘Charles R. Haffenden’ จากสำนักงานข่าวกรองของกองทัพเรือสหรัฐฯ (ONI) เขตกองทัพเรือที่ 3 ในมหานครนิวยอร์ก ต้องจัดตั้งหน่วยรักษาความปลอดภัยพิเศษ เขาจึงได้ขอความช่วยเหลือจาก ‘Joseph Lanza’ ผู้ดูแลตลาดปลา Fulton เพื่อขอรับข่าวกรองต่างๆ เกี่ยวกับบริเวณพื้นที่ท่าเรือนิวยอร์ก เพราะ Lanza ต้องการควบคุมสหภาพแรงงาน และสามารถระบุการดำเนินการเติมเชื้อเพลิงรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการแอบสนับสนุนเรือดำน้ำเยอรมันด้วยความช่วยเหลือจากอุตสาหกรรมประมงตามแนวชายฝั่งแอตแลนติก

‘Meyer Lansky’

เพื่อให้ครอบคลุมกิจกรรมของ Lanza นาวาเอก Haffenden ยังได้เข้าไปพบ ‘Meyer Lansky’ เจ้าของฉายา ‘Mob's Accountant’ หนึ่งในแกนนำของกลุ่ม ‘Jewish Mob’ กลุ่มอาชญากรอเมริกันเชื้อสายยิวของนครนิวยอร์ก ซึ่งก่อนหน้านี้ Lansky เป็นผู้นำการต่อต้านกระทั่งเกิดการปะทะจนสามารถสลายการชุมนุมของ ‘สมาพันธ์เยอรมัน-อเมริกัน’ (German American Bund) ที่สนับสนุนนาซีได้สำเร็จ ซึ่งรวมถึงการชุมนุมครั้งหนึ่งในย่าน Yorkville ถิ่นที่อยู่ของชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมันในเขตแมนฮัตตัน ที่เขาดำเนินการก่อกวนด้วยตัวเอง ร่วมกับผู้ร่วมอุดมการณ์อีก 14 คน

นาวาเอก Haffenden ขอความช่วยเหลือจาก Lansky ในการเข้าถึงตัว ‘Charles ‘Lucky’ Luciano’ แกนนำกลุ่มมาเฟียคนสำคัญ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของ Lansky อีกด้วย โดย ‘Lucky’ Luciano ถูกพิจารณาและตัดสินลงโทษในปี 1936 ในข้อหาบังคับหญิงให้ค้าประเวณีและจัดให้มีการค้าประเวณี หลังจากที่ ‘Thomas E. Dewey’ อัยการเขตได้ติดตามและสอบสวนคดีของ Luciano มาหลายปี ทำให้ Luciano ต้องได้รับโทษจำคุก 30 – 50 ปี ในเรือนจำที่เมือง Dannemora

‘Lucky’ Luciano ตกลงที่จะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วยความหวังว่า จะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำก่อนกำหนด นอกจาก Lansky และพวกแก๊งชาวยิวที่ต้องการแก้แค้นการกดขี่ชาวยิวของนาซีแล้ว ‘Lucky’ Luciano และกลุ่มมาเฟียยังต้องการแก้แค้น ‘Benito Mussolini’ และระบอบฟาสซิสต์ในอิตาลี หลังจากที่ Mussolini สั่งการให้ ‘Cesare Mori’ ผู้ว่าการเมืองปาแลร์โม กำจัดกลุ่มมาเฟียซิซิลีให้สิ้นซาก ภายในปี 1928 พวกฟาสซิสต์ได้จับกุมสมาชิกกลุ่มมาเฟียที่ต้องสงสัยได้กว่า 11,000 คน และขับไล่กลุ่มมาเฟียให้ออกจากซิซิลีอีกเป็นจำนวนมาก รวมถึง ‘Joseph Bonnano’ และ ‘Carlo Gambino’ 2 นายใหญ่ของ 5 ตระกูลมาเฟียด้วย

‘ปฏิบัติการ Husky’ (Operation Husky) ยกพลขึ้นบกซิซิลีของกองกำลังพันธมิตร ในปี 1943

‘Lucky’ Luciano มีส่วนช่วยใน ‘ปฏิบัติการ Husky’ (Operation Husky) การยกพลขึ้นบกซิซิลีของกองกำลังพันธมิตร ในคืนวันที่ 9 กรกฎาคม 1943 โดยกลุ่มมาเฟียซิซิลีได้มีการจัดทำแผนที่ท่าเรือของเกาะ ภาพถ่ายแนวชายฝั่ง และรายชื่อของผู้ติดต่อที่เชื่อถือได้ ภายในกลุ่มมาเฟียซิซิลี ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าที่ต้องการจะเห็น Mussolini ถูกโค่นล้ม ‘Lucky’ Luciano จึงสั่งให้ ‘Calogero Vizzini’ ช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรในการบุกอิตาลีอย่างเต็มที่

Calogero Vizzini จึงกลายเป็นตัวหลักในประวัติศาสตร์ของการสนับสนุนมาเฟียโดยตรงต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ระหว่างปฏิบัติการ Husky นั้น Vizzini ใช้เวลา 6 วันบนรถถังอเมริกัน เพื่อนำทางกองกำลังพันธมิตรผ่านภูเขา และสั่งการให้บรรดากลุ่มมาเฟียซิซิลีของเขาจัดการกำจัดสไนเปอร์ทหารอิตาลีบนภูเขา เพียง 2 สัปดาห์หลังจากปฏิบัติการ Husky เริ่มขึ้น Mussolini ก็ถูกขับออกจากตำแหน่งในวันที่ 25 กรกฎาคม 1943

Charles ‘Lucky’ Luciano ถูกเนรเทศกลับไปยังอิตาลี

และสำหรับความร่วมมือของ ‘Lucky’ Luciano เขาถูกย้ายไปที่เรือนจำ Great Meadow ที่สะดวกและสะดวกสบายมากขึ้น ในเดือนพฤษภาคม 1942 แม้ว่าอิทธิพลของ ‘Lucky’ Luciano ในการหยุดการก่อวินาศกรรมยังไม่มีความชัดเจน แต่เจ้าหน้าที่ของ ONI สังเกตว่า การนัดหยุดงานที่ท่าเทียบเรือหยุดลงหลังจากที่ ‘Moses Polakoff’ ทนายความของ ‘Lucky’ Luciano ได้ติดต่อกับบุคคลลึกลับบางคนที่เชื่อว่า มีอิทธิพลเหนือสหภาพแรงงาน

แม้ว่า Charles ‘Lucky’ Luciano และเหล่ามาเฟียให้การสนับสนุนกองทัพสหรัฐฯ แต่ผลการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ กลับทำให้นักประวัติศาสตร์บางส่วนต้องละทิ้งตำนานบทบาทของ ‘Lucky’ Luciano ในการบุกซิซิลี ตามที่นักประวัติศาสตร์ ‘Salvatore Lupo’ สรุปว่า…

“เรื่องราวเกี่ยวกับมาเฟียที่สนับสนุนกองทัพสัมพันธมิตรในการรุกรานซิซิลี เป็นเพียงตำนานที่ไม่มีรากฐานใด ๆ ในทางตรงกันข้ามมีเอกสารของอังกฤษและอเมริกา เกี่ยวกับการเตรียมการบุกที่สามารถหักล้างการคาดเดานี้ ด้วยอำนาจทางการทหารของกองทัพสัมพันธมิตร ที่มากจนไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการดังกล่าว” นั้นก็เพราะว่า กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ทำการเผาทำลายหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความร่วมมือกับกลุ่มอาชญากรทันที

และในวันเดียวกับวันที่สงครามยุติลง Charles ‘Lucky’ Luciano ได้ยื่นขอผ่อนผันโทษต่อรัฐบาลสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากความร่วมมือของเขากับกองทัพเรือสหรัฐฯ และคำขอของเขาได้รับอนุมัติ และในวันที่ 9 มกราคม 1946 อาชญากรวัยชราคนนี้ ก็ได้รับการปล่อยตัวและถูกเนรเทศออกสหรัฐฯ กลับไปยังอิตาลี และเสียชีวิตลงในปี 1962 ที่เมืองเนเปิลส์

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

‘Akku Yadav’ ชายโฉดชั่วผู้ถูกสตรีนับร้อยรุมประชาทัณฑ์ จนเสียชีวิตคาศาล ผลจากความล้มเหลวของกฎหมาย สู่การแก้แค้นที่โหดที่สุดของอินเดีย


เรื่องราวนี้เกิดขึ้นใน ‘ประเทศอินเดีย’ เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ด้วยอินเดียเป็นประเทศที่มีปัญหาทางสังคมอันเนื่องมาจากวิถีชีวิตผู้คนในประเทศนี้ ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาฮินดู โดยจะยึดถือระบบวรรณะอย่างเคร่งครัด และจะไม่มีการข้ามวรรณะกันเด็ดขาด วรรณะทั้ง 4 นั้นได้แก่ พราหมณ์, กษัตริย์, แพศย์ และศูทร นอกจากนี้ ยังมีคนนอกวรรณะ ซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นที่ต่ำที่สุดในสังคม นั่นคือ ‘จัณฑาล’

ระบบวรรณะในสังคมของอินเดียนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเหลื่อมล้ำของลำดับชนชั้น โดยส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับอาชีพ ซึ่งบางอาชีพจะถือว่าต่ำต้อยมาตั้งแต่ดั้งเดิม เช่น คนกวาดถนนหรือคนเก็บขยะ ซึ่งจะอยู่ในชนชั้นที่ต่ำที่สุดทางสังคม ตามคำสอนเก่าแก่ที่ตกทอดกันมาในอินเดีย ถ้าชาวฮินดูแต่งงานกับคนนอกวรรณะ หรือกินอาหารร่วมกับคนที่วรรณะต่างจากตัวเองจะถือว่าเป็นเรื่องที่บาป ดังนั้น คนอินเดียจึงปฏิบัติและยึดถือเรื่องของวรรณะอย่างเคร่งครัด


ในสลัม ‘Kasturba Nagar’ ซึ่งอยู่นอกเมืองนาคปุระ รัฐมหาราษฏระทางตอนกลางของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นที่อยู่ของ ‘ครอบครัวชาวทลิต’ (Dalit) วรรณะที่ต่ำที่สุดในอินเดีย (ต่ำกว่าจัณฑาล) เป็นชนชั้นของอินเดียที่ถูกตีตราชนิดที่ว่า ‘ห้ามเข้าไปจับต้องยุ่งเกี่ยว’ (Untouchable) โดยชาวทลิตเป็นกลุ่มที่ถูกแยกออกจากวรรณะทั้ง 4 ในศาสนาฮินดู และถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของอวรรณะ หรือ ‘วรรณะที่ 5’ ที่เรียกว่า ‘ปัญจม’ (Panchama)

และในสลัมแห่งนี้ที่มีทรชนขาใหญ่ที่ชื่อ ‘Akku Yadav’ (Bharat Kalicharan) เป็นนักเลง ขโมย โจร นักลักพาตัว นักข่มขืนต่อเนื่อง นักกรรโชกทรัพย์ และเป็นฆาตกรต่อเนื่องอีกด้วย ซึ่งเคยทำร้ายและข่มขืนผู้หญิงมากกว่า 200 คนในสลัมดังกล่าว โดยผู้หญิงเหล่านี้ ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชาวทลิต Dalit จึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิกเฉยละเลย


ตัว Akku Yadav เองก็เกิดและเติบโตขึ้นมาในสลัม Kasturba Nagar แห่งนี้ เป็นลูกชายของคนส่งนม ซึ่งต่อมาเขาได้ก้าวไปสู่ภัยคุกคามในท้องถิ่น โดยเริ่มต้นจากการเป็นอันธพาลตัวเล็ก ๆ มาเป็นมาเฟีย จนในที่สุดก็ได้เป็น ‘ราชาแห่งสลัม’

Yadav ปกครองกลุ่มอาชญากรที่ควบคุมสลัม Kasturba Nagar ด้วยการ ปล้น ทรมาน และฆ่าผู้คนโดยไม่ต้องรับโทษ Yadav ก่ออาชญากรรมเป็นเวลาหลายปีด้วยการสร้างอาณาจักรธุรกิจมืดขนาดเล็ก เขาและสมาชิกแก๊งมักคุกคามและข่มขู่ผู้คนเพื่อกรรโชกทรัพย์ และการขู่กรรโชก รีดไถ รีดไถเงิน ทำร้าย และข่มขู่ผู้ที่ต่อต้านเขา จนกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของ Yadav และสมุน ซึ่งมักจะทำร้ายผู้คนหากพวกเขาไม่ได้จ่ายเงินให้แก่เขา

ในช่วงชีวิตของเขาในฐานะอาชญากร Yadav ได้สังหารบุคคลอย่างน้อย 3 คน ได้ทรมานและลักพาตัวผู้คน บุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้คน และข่มขืนหญิงสาวและเด็กผู้หญิงนับร้อยคน หรือหากพวกเขาทำให้ Yadav โกรธในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เขาก็จะขู่ว่า จะข่มขืนใครก็ตามที่ต่อต้านเขาเป็นพิเศษ

เป็นที่ทราบกันดีว่าเหยื่อข่มขืนของ Yadav จำนวนมากคือ ชาวทลิตซึ่งต้องเผชิญกับความยากลำบาก จากความอยุติธรรมสำหรับคดีล่วงละเมิดทางเพศ โดย Akku Yadav ได้ติดสินบนเพื่อจูงใจให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เพื่อให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านั้นจะปกป้องเขา Yadav ยังคงทำร้ายผู้หญิงต่อไปโดยไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากการกระทำที่ชั่วร้ายและป่าเถื่อนเลย แม้ว่าเหยื่อจะแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะถูกข่มขู่ และ Yadav ก็สามารถรอดพ้นจากการจับกุมได้เสมอ


‘Usha Narayane’ หญิงผู้กล้าหาญคนหนึ่ง รายงานพฤติการณ์และพฤติกรรมของ Yadav ต่อรองผู้บัญชาการตำรวจของเมืองนาคปุระ ด้วยหวังว่าจะได้รับความยุติธรรม แต่กลับมีข่าวที่ชี้ให้เห็นว่า Yadav อาจหลบหนีการลงโทษได้อีกครั้ง วันที่ 6 สิงหาคม 2004 ฝูงชนก็พากันไปที่บ้านของ Yadav แล้วเผาบ้านทิ้ง จนทำให้ Yadav ต้องรีบไปมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอความคุ้มครอง หลังจากที่ตำรวจจับกุม Yadav เพื่อปกป้องตัวเขาเอง ก็มีกำหนดการพิจารณาคดีของเขาในวันที่ 13 สิงหาคม 2004 ในศาลแขวง Nagpur ของอินเดีย ข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วละแวกใกล้เคียง ว่าเขาจะได้รับการปล่อยตัว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงวางแผนที่จะควบคุมตัวเขาไว้ จนกว่าเหตุการณ์จะสงบลงแล้วจึงจะปล่อยตัวเขาไป


วันที่ 13 สิงหาคม 2004 เมื่อการพิจารณาคดีเกิดขึ้นในศาลแขวงนาคปุระหมายเลข 7 ในใจกลางเมืองนาคปุระ ห่างออกไปจากสลัม Kasturba Nagar หลายกิโลเมตร มีผู้หญิงหลายร้อยคนเดินขบวนจากสลัมไปยังศาลโดยถือมีดหันผักและพริกป่น เดินเข้าไปในห้องพิจารณาคดี และนั่งเก้าอี้แถวหน้า Yadav เดินเข้าสู่ศาลอย่างมั่นใจและไม่หวาดหวั่น

เวลาประมาณ 14.30-15.00 น. เมื่อ Yadav ปรากฏตัว เขาเห็นผู้หญิงคนหนึ่งที่เขาข่มขืน Yadav ก็แสดงท่าทีเยาะเย้ยเธอ แล้วเรียกเธอว่า ‘โสเภณี’ และบอกว่าเขาจะข่มขืนเธออีกครั้ง บรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจก็พากันหัวเราะ แต่ผู้หญิงคนนั้นก็เอารองเท้าของเธอตี Yadav เข้าที่ศีรษะ เธอบอก Yadav ว่าเธอจะฆ่าเขา หรือไม่เขาก็จะต้องฆ่าเธอ โดยพูดว่า “เราทั้งคู่ไม่สามารถอยู่บนโลกนี้ด้วยกันได้ ถ้าไม่เป็นฉัน ก็ต้องเป็นตัวแกเอง” และผลการพิจารณาคดีคือ ‘การยกฟ้อง Yadav’


จากนั้น Yadav ก็ถูกรุมประชาทัณฑ์ทันที่ โดยกลุ่มผู้หญิงหลายร้อยคนที่ปรากฏตัวขึ้นในห้องพิจารณาคดี เขาถูกแทงไม่ต่ำกว่า 70 ครั้ง พริกป่นและก้อนหินถูกปาใส่หน้า อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เฝ้าอยู่ก็ถูกปาพริกป่นใส่หน้าด้วย บรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจต่างพากันตกใจกลัวจึงรีบหนีไปจนหมดในทันที หนึ่งในเหยื่อของเขายังตัดอวัยวะเพศของเขาจนขาดด้วย

การรุมประชาทัณฑ์เกิดขึ้นบนพื้นหินอ่อนของห้องพิจารณาคดี ขณะที่เขาเริ่มถูกประชาทัณฑ์ Yadav ซึ่งถูกผงพริกปาใส่หน้าก็ตกใจกลัวมากและตะโกนขึ้นว่า “ยกโทษให้ฉันด้วย ฉันจะไม่ทำแบบนั้นอีก!!” พวกผู้หญิงส่งมีดต่อกันไปรอบ ๆ เพื่อผลัดกันแทงเขา ผู้หญิงแต่ละคนตกลงที่จะแทง Yadav อย่างน้อยคนละ 1 แผล เลือดของเขานองอยู่บนพื้นและกระเซ็นไปทั่วผนังห้องพิจารณาคดี ภายใน 15 นาที Yadav วัย 32 ปี ก็ถึงแก่ความตาย หลังการชันสูตรพลิกศพพบว่า กลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ยังคงทำร้ายศพของเขาต่อ


กลุ่มผู้หญิงเหล่านั้นอ้างว่า การฆาตกรรมนั้นไม่ได้วางแผนไว้ ผู้หญิงคนหนึ่งกล่าวว่า “เราไม่เคยมีการประชุมพูดคุยอย่างเป็นทางการใด ๆ แต่เป็นการบอกปากต่อปาก ว่าเราจะต้องจัดการร่วมกัน” และอวัยวะเพศของเขาก็ถูกตัดออก ผู้หญิงทุกคนอ้างว่าจะรับผิดชอบต่อการฆาตกรรมนี้ และถึงแม้บางคนจะถูกจับกุม แต่ในที่สุดพวกเขาก็พ้นผิด แม้ว่าผู้หญิงหลายร้อยคนจะมีส่วนร่วมในการรุมประชาทัณฑ์

Usha Narayane และคนอื่นๆ ถูกจับในข้อหาฆาตกรรม แต่ต่อมาได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากขาดหลักฐาน ผู้พิพากษา ‘Bhau Vahane’ ยอมรับสถานการณ์ที่ยากลำบากที่ผู้หญิงต้องเผชิญ และความล้มเหลวของตำรวจในการปกป้องพวกเธอ

การตายของ Akku Yadav กลายเป็นหนึ่งในเรื่องราวการแก้แค้นที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดีย และมีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ Netflix ในชื่อ ‘Murder In a court room’

เมื่อ ‘กม.สูงสุด’ ถูกคณะราษฎรเสกเป็น ‘ของขลัง’ แห่งยุคสมัย อุปโลกน์ให้สูงส่งกว่ากษัตริย์ ทั้งที่สถานะเป็นเพียง ‘กฎหมาย’

การเกิด ‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ นั้นเกิดขึ้นโดยการรังสรรค์ของคณะราษฎร ด้วยการสร้างรัฐธรรมนูญให้มีรูปลักษณ์จับต้องได้ กลายเป็นของขลัง มีพิธีกรรมประกอบ มีพิธีรีตองเฉพาะ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรบูชา มีสถานะที่สูงส่งกว่ากษัตริย์ เพื่อรองรับฐานอำนาจของระบอบใหม่ ทำทุกๆ อย่าง เพื่อให้ประชาชนได้รู้จักรัฐธรรมนูญ

แต่ไม่ทำอย่างเดียวคือ ทำให้ประชาชนได้รู้ว่ารัฐธรรมนูญคือ ‘กฎหมาย’ 

นับจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ มาจนถึงวันที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ความพยายามต่างๆ ของคณะรัฐบาลและคณะราษฎรในการเผยแพร่ ให้ความรู้ เกี่ยวกับการปกครองในระบอบใหม่ โดยมีกฎหมายสูงสุดคือ “รัฐธรรมนูญ” ยังเป็นไปอย่างอิหลักอิเหลื่อ ทั้งนี้เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งภายในคณะราษฎร และระหว่างคณะราษฎรกับคณะรัฐบาล จนนำมาสู่การยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลจาก ‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’ มาเป็น ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ 

รัฐบาลคณะนี้โดยการผลักดันของ ‘หลวงวิจิตรวาทการ’ ที่ต้องการเผยแพร่รัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้นมาอีกครั้ง

คณะทำงานนำโดย ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ ได้ร่างแผนการที่จะเผยแพร่แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ รวมถึงการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ การส่งหน่วยโฆษณาการลงพื้นที่ทุกตำบล เพื่อประชาสัมพันธ์ อย่างเป็นรูปธรรม ก่อนจะถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้นด้วย ‘กบฏบวรเดช’ 

เนื่องจากวิธีการให้ความรู้แบบเดิมก่อนเกิดกรณี ‘กบฏบวรเดช’ นั้น ไม่สามารถเข้าถึงและสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนได้ การนำเสนอรัฐธรรมนูญแบบใหม่ของคณะราษฎรจึงเกิดขึ้น 

การปรับให้ ‘รัฐธรรมนูญ’ กลายเป็น ‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์’ คุ้มบ้าน ป้องเมือง ควรค่าแก่การเคารพบูชามีสถานะไม่แตกต่างจาก ‘ของขลัง’ เอาง่ายๆ คือ ‘ความรู้ไม่ต้องมี’ เน้น ‘ความงมงาย’ เข้าไว้ จูงใจคนได้ง่ายกว่า และเมื่อมีความศักดิ์สิทธิ์ก็ต้องได้รับการปกป้อง คุ้มครอง ไม่ให้ใครมาทำลาย 

สร้างให้ ‘รัฐธรรมนูญ’ มีค่าเท่ากับ ‘พระมหากษัตริย์’ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเป็นหน้าที่ของชาติและประชาชนที่ต้องปกป้อง

ในเดือนธันวาคม พ.ศ ๒๔๗๖ รัฐบาลได้จัดตั้ง ‘สมาคมคณะรัฐธรรมนูญ’ โดยมีจุดประสงค์ดำเนินการในด้านการธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ สร้างความสามัคคี อบรมสมาชิก และดำเนินการด้านต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการปกครองด้วยระบอบใหม่ ไม่ให้ใครมาโค่นล้มได้ 

โดย ‘สมาคม’ ประกอบด้วย ๒ องค์กรคือ ‘ชุมนุมใหญ่’ และ ‘คณะกรรมการกลาง’ ซึ่งสมาคมนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของ ‘รัฐธรรมนูญ’ !!! 

หลังจากงานงานฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งบรรดาสมาคมฯ ภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะแม้แต่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ยังต้องทรงเสด็จฯ ทอดพระเนตรงาน ซึ่งก็ตรงกับเจตนารมณ์ที่ชัดแจ้งว่าความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญนั้น แม้แต่พระมหากษัตริย์ยังต้องทรงมาร่วมงานฉลองให้

‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ โดยเฉพาะการสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวเกิดขึ้นจากแนวความคิดของ จำรัส มหาวงศ์นันทน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน ด้วยการเสนอให้มีการสร้าง ‘รัฐธรรมนูญจำลอง’ เป็นสมุดข่อย อัญเชิญไปยังศาลากลางจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นการเผยแพร่รัฐธรรมนูญไปด้วย ซึ่งถ้าจบตรงแค่นี้ก็น่าจะไม่เป็นไรมาก 

แต่คุณจำรัส แกไปเพิ่มมูลค่าความศักดิ์สิทธิ์ด้วยการเสนอให้ ‘รัฐธรรมนูญจำลอง’ นั้นต้องวางอยู่บน “พานแว่นฟ้า” ซึ่งใช้สำหรับวางของสูง แล้วคณะรัฐบาลขณะนั้นก็เอาด้วย เพราะอยากจะทำยังไงก็ได้ให้รัฐธรรมนูญคือสัญลักษณ์สำคัญแทนพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว

รัฐธรรมนูญจำลองจำนวน ๗๐ ชุด เป็นสมุดไทยลงรักปิดทองเป็น ‘รัฐธรรมนูญ’ วางบนพาน 2 ชั้น เป็น ‘พานรัฐธรรมนูญ’ โดยในวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ ได้มีพิธีสมโภช ‘พานรัฐธรรมนูญ’ ก่อนที่จะการส่งมอบให้กับผู้แทนราษฎรแต่ละจังหวัด 

พิธีในครั้งนั้น มีสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการ เป็นประธานในพิธี ทรงเจิมพานรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ประกอบเสียงมโหรีปี่พาทย์ เสียงสวดอำนวยจากพระสงฆ์ ๗๐ รูป มีพิธีเวียนเทียนสมโภช ก่อนจะนำไปประดิษฐานร่วมกับพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ก่อนที่จะ ‘อัญเชิญ’ เพื่อไป ‘ประดิษฐาน’ ยังจังหวัดต่าง ๆ จำนวน ๖๙ ชุดและอีก ๑ ชุด จะประดิษฐานไว้ ณ ที่ทำการใหญ่ของ “สมาคมคณะรัฐธรรมนูญ” พระราชอุทยานสราญรมย์

การอัญเชิญ ‘พานรัฐธรรมนูญ’ ก็เป็นไปอย่างเอิกเกริก ราวกับเป็นสิ่งสำคัญของชาติบ้านเมือง พอไปถึงจังหวัดต่าง ๆ ก็มีการนำขึ้นบุษบกแห่แหนให้ชมกันรอบเมือง ก่อนจะนำไปประดิษฐาน ณ ศาลากลางของจังหวัดนั้นๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าสักการะบูชา ด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และมีการปฏิญาณตนต่อหน้าพานรัฐธรรมนูญ 

จากความ ‘ขลัง’ ระดับจังหวัด ก็กระจายลงไปถึงความ ‘ขลัง’ ระดับอำเภอ ดังที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเห็นว่า “พานรัฐธรรมนูญนี้ถือว่าขลัง เผยแพร่ไปมากเก๊งตามจิตต์วิทยาว่าขลัง หรือสงวนไว้ขลัง ถ้าถือว่าแพร่หลายไปทำให้คนรู้จัก และเลื่อมใสยิ่งขึ้น ก็ควรทำให้แพร่หลายไป” 

‘พานรัฐธรรมนูญ’ ที่ได้รับไปนั้นจะต้องผ่านพิธีกรรม มีพิธีการที่สมเกียรติ เพราะถือเป็นของสูง เวลานำไปจัดงานหรือเพื่อให้ประชาชนสักการะก็ต้องมีพลับพลาสำหรับประดิษฐานอย่างโอ่โถง 

ทั้งหมดเพื่อหวังผลบั้นปลายให้ ‘รัฐธรรมนูญ’ กลายเป็นแหล่งที่มาของอำนาจอันชอบธรรมในระบอบใหม่ เทียบเคียงกับสถานะบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบเก่านั่นเอง 

นอกจากพานที่กล่าวมาแล้ว ‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ ยังมีมิติครอบคลุมออกไปอย่างหลากหลาย ลึกซึ้ง อย่างเช่น อนุสาวรีย์ก็ไม่ได้มีแค่ ‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’ ถนนราชดำเนินกลาง ก็ยังมี ‘อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ’ ที่ก่อสร้างตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ ๖ แห่ง เช่นที่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ฯลฯ อย่างวัด ก็มี ‘วัดประชาธิปไตย’ (ปัจจุบันคือวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน) 

ยังไม่รวมสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในงานปั้น งานเครื่องหมาย โดยเป็นศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ สื่อถึงระบอบใหม่ ควบคู่ไปกับงานฉลอง ‘รัฐธรรมนูญ’ ที่ยิ่งใหญ่กว่างานฉลองของระบอบเก่า 

จนกระทั่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้นำบ้านเมืองของเราเข้าสู่ยุค ‘เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย’ การยึดเอา ‘รัฐธรรมนูญ’ เป็นของขลัง ของสำคัญ ของชาติจึงค่อยๆ มลายหายไป 

จาก ๑๐ ธันวาคม พ.ศ ๒๔๗๕ มาจนถึง ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ผ่านไปแล้ว ๙๑ ปี 

ปัจจุบันประชาชนได้รู้แล้วว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ คือ ‘กฎหมาย’ ไม่ใช่ ‘ของขลัง’ ไม่จำเป็นต้อง ‘บูชา’ แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังไม่ได้ฝังรากลึกให้ประชาชนได้ยึดถืออย่างมีสำนึกและเข้าใจอย่างที่มันควรจะเป็น นับเนื่องมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ 

ทำไมนะ ? 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top