หากจะกล่าวถึงการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระองค์ทรงสืบราชสันตติวงศ์อย่างผิดแผกจากธรรมเนียมปกติ โดยพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ด้วยความเห็นพ้องของที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ ที่ต่อมารู้จักกันภายใต้หลักการ ‘มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ’
ทั้งหลังจากที่พระองค์ทรงครองราชย์แล้วก็ยังทรงตั้ง ‘วังหน้า’ อย่างผิดแผกแตกต่างไปจากยุคก่อน ๆ เพราะพระองค์ทรงตั้งพระปิตุลาของพระองค์ให้ทรงเป็น ‘กรมพระราชวังบวร’ นั่นก็คือ ‘กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ’ นัยว่าเพื่อสร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้นใน ๓ ส่วนสำคัญคือ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งก็เป็นไปได้อย่างราบรื่นตลอดรัชสมัย
แต่กระนั้นในช่วงปลายรัชกาลในคราที่พระองค์ทรงประชวรหนักและอาจจะสวรรคตในอีกไม่นานนัก ทั้ง ‘วังหน้า’ ก็ทรงสวรรคตไปก่อนแล้ว พระองค์ก็ไม่ได้ทรงตั้งใครขึ้น จนมาถึงในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๙๓ พระองค์จึงได้ทรงมีพระราชดำริถึงผู้ที่สืบทอดราชสันตติวงศ์ โดยมีพระราชโองการประกอบพระราชวินิจฉัยก่อนหน้า ให้ขุนนางผู้ใหญ่โดยเฉพาะ ‘ตระกูลบุนนาค’ ตระกูลขุนนางอันดับหนึ่งของแผ่นดิน รับภาระผู้นำในเลือกสรรเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงเพื่ออัญเชิญขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ โดยทรงขอ ‘อย่าให้มีการแตกแยก แก่งแย่งชิงราชบัลลังก์’ (พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์)
ส่วนจะมีพระราชวงศ์พระองค์ไหน ? ที่อยู่ในข่ายได้รับการเลือกสรรให้เป็นผู้สืบราชสมบัติและทำไม? ถึงไม่ได้รับเลือก ผมเรียบเรียงมาให้อ่านกันเพลิน ๆ โดยเริ่มจากผู้ที่ไม่ได้รับเลือกสรรก่อนไปจนถึง ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ ๔ ที่ได้รับการเลือกสรรและอัญเชิญขึ้นครองราชย์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรรณพ กรมหมื่นอุดมรัตนราศี พระนามเดิมว่า ‘หม่อมเจ้าอรรณพ’
พระองค์แรก ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรรณพ กรมหมื่นอุดมรัตนราศี’ พระนามเดิมว่า ‘หม่อมเจ้าอรรณพ’ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ทรงกำกับกรมสังฆการี กรมธรรมการ และกรมมหาดเล็ก มีบทบาทในราชการและเป็นที่โปรดปรานมากกว่าพระโอรสองค์อื่น ๆ ว่ากันว่า รัชกาลที่ ๓ มีพระราชประสงค์อย่างชัดเจนที่จะมอบพระราชบัลลังก์ให้ ด้วยการนำเสนอพระนามท่ามกลางการประชุมพระราชวงศ์และขุนนาง
แต่การณ์ก็ไม่เป็นดังหวังเพราะมีเสียงคัดค้านจากคณะขุนนาง เนื่องจากพระองค์ไม่ใช่พระราชโอรสที่มีพรรษาสูงนัก (อายุ ๓๑ พรรษา) หากเทียบกับพระองค์อื่น ๆ ถ้าข้ามอาวุโสไปก็จะเกิดปัญหา มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถสานประโยชน์ให้เกิดดุลยภาพได้เช่นพระราชบิดา
ทั้งในกลุ่มขุนนางก็ไม่ค่อยมีผู้ใดได้ร่วมงานกันอย่างสนิทชิดเชื้อหรือรู้จักมักคุ้นมากพอที่จะสนับสนุนให้ได้ราชสมบัติ หากได้ขึ้นครองราชย์ก็อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ให้ความเคารพเชื่อถือ ทั้งในกลุ่มพระราชวงศ์และกลุ่มขุนนางเอาได้ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นภัยกับตัวพระองค์เจ้าอรรณพเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ที่ประชุมพระราชวงศ์และขุนนางทั้งหลายจึงมิได้เลือกสรรพระองค์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร พระนามเดิมว่า ‘หม่อมเจ้ามั่ง’
พระองค์ที่สอง ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร’ มีพระนามเดิม ‘หม่อมเจ้ามั่ง’ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับเจ้าจอมมารดานิ่ม พระองค์ทรงกำกับกรมพระอาลักษณ์ ทรงเป็นกวีสำคัญในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดยเป็นผู้รวบรวมและชำระโคลงโลกนิติสำนวนเก่าให้ประณีตและไพเราะมากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะนำไปจารึกลงแผ่นศิลา เพื่อประดับให้ความรู้ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
ซึ่งถ้ามองตามชั้นพระยศของพระองค์ พระองค์เมื่อแรกประสูตินั้นเป็นเพียง ‘หม่อมเจ้า’ หากจะข้ามชั้นพระยศ ‘เจ้าฟ้า’ ซึ่งมีพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๒ ในชั้น ‘เจ้าฟ้า’ ที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ถึง ๒ พระองค์คือเจ้าฟ้ามงกุฎ (ร.๔ ซึ่งขณะนั้นทรงอุปสมบทเป็น ‘วชิรญาณภิกขุ’ อยู่) อีกพระองค์คือเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ คงเป็นการมิบังควรหากจะข้ามไป
ประกอบกับกรมพระยาเดชาดิศรนั้นทรงถูกติติงจากรัชกาลที่ ๓ ว่า “เป็นคนพระกรรณเบา ใครจะพูดอะไรท่านก็เชื่อง่าย ๆ จะเป็นใหญ่เป็นโตไปไม่ได้” อีกทั้งกรมที่พระองค์ทรงดูแลอยู่นั้น มิได้มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมือง แม้จะเคยทรงไปทัพหรือเป็นที่นิยมในหมู่ขุนนางทั้งหลาย แต่นั่นก็ไม่เพียงพอที่กลุ่มพระราชวงศ์และกลุ่มผู้นำขุนนางทั้งหลายจะเลือกสรรให้ท่านได้ครองราชย์
พระองค์ที่สาม ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์’ มีพระนามเดิมว่า ‘พระองค์เจ้าพนมวัน’ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาศิลา ทรงกำกับ กรมพระนครบาล (เวียง) และ กรมคชบาล ซึ่งเป็นกรมที่มีข้าในสังกัดมาก แต่การที่มีไพร่พลสังกัดในกรมจำนวนมากนี้เองที่กลายเป็นชนวนทำให้พระองค์ทรงตกอยู่ในที่นั่งลำบาก คราวแรกพระองค์ได้ถูกพาดพิงจาก ‘กบฏหม่อมไกรสร’ (กรมหลวงรักษ์รณเรศ) ว่าหากกบฏสำเร็จจะตั้งพระองค์เป็นวังหน้าเพราะทรงคุมกรมใหญ่มีบารมีมาก (ดีที่ไม่ซวยติดร่างแหไปด้วยไม่งั้นคงถูกสำเร็จโทษตามหม่อมไกรสรไปเป็นแน่)
คราวที่สองเมื่อ ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ’ สวรรคต พวกข้าในกรมคาดว่าเจ้านายของตนจะได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลฯ แทน ก็เลยคุยเขื่องยกยอนายของตนไปทั่ว เล่นใหญ่จนกลายเป็นความหมั่นไส้ ก่อนที่เหตุการณ์ก็ผลิกผัน เพราะในที่สุด ร.๓ ก็มิได้ตั้งใครเป็นวังหน้า จากเหตุนี้ก็เลยกลายเป็นชนักที่ปักพระขนองของพระองค์อยู่ อีกทั้งล้นเกล้ารัชกาลที่ ๓ ยังได้ทรงตำหนิพระองค์ต่อวงขุนนางไว้ว่า “ไม่รู้จักการงาน ปัญญาก็ไม่สอดส่องไปได้ คิดแต่ละเล่นอย่างเดียว” เพราะพระองค์ทรงโปรดดนตรีปี่พาทย์และการละครเป็นอย่างมาก จนมีโรงละครหลวงที่ใหญ่ติดอันดับของสยามในเวลานั้น
จากเหตุข้าในกรมใฝ่สูงแทนนาย อีกทั้งยังถูกวางไว้ในตำแหน่งคานอำนาจกับเจ้าพระยาพระคลัง (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์) และพระยาศรีพิพัฒน์ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ) พระองค์จึงไม่ได้รับเลือกสรร
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์’ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)
พระองค์ที่สี่ ‘สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์’ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ พระองค์เสด็จฯ กลับไปประทับ ณ พระราชวังเดิม พร้อมพระราชมารดา
เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ ๒๔ พรรษา ได้ทรงบังคับบัญชากรมทหารปืนใหญ่ กรมทหารแม่นปืนหน้า ปืนหลัง และญวนอาสารบแขกอาสาจาม ซึ่งเป็นกองทหารที่สำคัญและมีกำลังคนมาก แต่พระอุปนิสัยชอบสนุกเฮฮา ไม่มีพิธีรีตองอะไร ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระองค์ได้รับการตำหนิจากรัชกาลที่ ๓ ว่า “มีสติปัญญารู้วิชาการช่างและการทหารต่าง ๆ แต่ไม่พอใจทำราชการเกียจคร้าน รักแต่การเล่นสนุก เพราะฉะนั้นจึ่งมิได้ทรงอนุญาต กลัวเจ้านายข้าราชการ...จะไม่ชอบใจ”
อีกอย่างหนึ่งคงไม่พ้นทางฝั่งขุนนางที่คาดกันว่าหากพระองค์ทรงครองราชย์แล้วคงจะทำลายสมดุลแห่งอำนาจเป็นแน่ เนื่องจากพระองค์ทรงหัวก้าวหน้า พูดอังกฤษได้ มีเพื่อนฝรั่งมาก ขุนนางทั้งหลายอาจจะต้องเผชิญขนบใหม่จากพระองค์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำขุนนางก็คงถูกลิดรอนอำนาจบารมีจากการเข้าถึงงานราชการของพระองค์ (ขัดกับคำตำหนิ ???) อย่ากระนั้นเลยเมื่อคิดได้ดังนี้ กลุ่มขุนนางจึงขอไม่เลือกสรรพระองค์โดยให้เหตุผลว่า น่าจะเรียงลำดับอาวุโสตามศักดิ์และสิทธิ์ของ ‘สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า’ โดยขอเลือก ‘เจ้าฟ้ามงกุฎ’ ก่อน หากเจ้าฟ้ามงกุฎไม่ทรงรับจึงจะเลือกสรรเป็นพระองค์
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้ามงกุฎ’ หรือ ‘พระวชิรญาณภิกขุ’ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔)
พระองค์ที่ห้า ‘สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้ามงกุฎ’ หรือ ‘พระวชิรญาณภิกขุ’ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อพระองค์มีพระชนมายุ ๒๑ พรรษา
เมื่อ ร.๓ ขึ้นครองราชย์ด้วยหลักการ ‘มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ’ พระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะดำรงสมณเพศต่อไป ระหว่างผนวชพระองค์ได้ทรงธุดงค์ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ทรงเห็นความเป็นไปต่าง ๆ ของบ้านเมือง รวมไปถึงทรงเห็นความหย่อนยานของพระภิกษุในบางส่วน ทำให้พระองค์ทรงนำมาปรับปรุงโดยยึดพระธรรมวินัยเป็นที่ตั้ง จนเกิดเป็น ‘ธรรมยุกตินิกาย’ ทำให้พุทธศาสนาที่ย่อหย่อนกลับมาแข็งแรงขึ้น เรียบร้อยขึ้น
แต่กระนั้นพระองค์ก็ทรงได้รับการตำหนิจาก ร.๓ ว่า “ถ้าเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จะให้นำธรรมเนียมการห่มผ้าของพระสงฆ์ของพม่ามาใช้” แต่ด้วยความเป็น สมเด็จฯ เจ้าฟ้า มีศักดิ์และมีสิทธิ์ครบ มีความเข้าใจในบ้านเมือง และเข้าใจสถานการณ์แห่งการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่ตะวันตกกำลังรุกคืบมาเป็นอย่างดี อีกทั้งมิได้มีข้อขุ่นข้องหมองใจหรือขัดผลประโยชน์ใด ๆ อันจะทำให้ดุลยภาพแห่งอำนาจสั่นคลอนได้
ที่ประชุมพระราชวงศ์และเหล่าขุนนางจึงพร้อมใจกันเลือกพระองค์เป็นผู้สืบราชสมบัติ ครองราชย์เป็น ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
จะเห็นว่า การสืบราชสันตติวงศ์ทั้งรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ นั้นมิได้เป็นไปตามหลักการ การสืบราชสันตติวงศ์โดยพระราชโอรสพระองค์โตที่เป็น ‘เจ้าฟ้า’ จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่กลับเป็นไปตามหลัก ‘มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ’ ซึ่งมหาชนที่ว่านั้นก็คือ ‘ที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่’
โดยเฉพาะเมื่อครั้งเลือกสรรผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ทรง ‘โปรดอนุญาตให้ตามใจคนทั้งปวงสุดแต่เห็นพร้อมเพรียงกัน’
ทั้งหมดที่ผมเรียบเรียงมานั้น เน้นย้ำความสมดุลแห่งอำนาจ ๓ ฝ่ายคือ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีเรื่องของอำนาจบารมีมาเกี่ยวข้อง หากจะเลือกสรรพระมหากษัตริย์ที่มาลิดรอนดุลยภาพแห่งอำนาจนั้นจึงเป็นการไม่เหมาะสม
โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ที่มีอำนาจบารมีขั้นสุดอย่าง กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาค ซึ่งนำโดย เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต บุนนาค) และพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่กุมอำนาจบริหารแผ่นดินไว้ การจะเลือกสนับสนุนพระราชวงศ์พระองค์ใดขึ้นครองราชย์ย่อมต้องไม่ขัดกับผลประโยชน์ของตน ซึ่งในรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้น ทุกอย่างลงตัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ก็ทรงทราบเหตุแห่งผลประโยชน์ที่อัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์ จึงทรงถ่วงดุลด้วยการอุปราชาภิเษก ‘พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ ๒ ไปพร้อม ๆ กัน โดยทรงอ้างถึงพระชะตาอันแรงกล้า แต่โดยนัยแล้วเชื่อได้ว่านี่คือการวางแผนคานอำนาจของขุนนางตระกูลบุนนาคนั่นเอง เอาไว้ผมจะเรียบเรียงมาให้อ่านกันในครั้งถัด ๆ ไปครับ