‘อีสาน ๒๔๙๘’ ต้นกำเนิด ‘ฝนหลวง’ เพื่อปวงชน ความคิดสร้างสรรค์ที่คนรุ่นใหม่บางคน ไม่เคยมี

๑๔ พฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็น ‘วันพระบิดาแห่งฝนหลวง’ ที่มักจะมีทีมงานสัมภเวสีออกมาดิ้น ปรักปรำ และด้อยค่า ‘ฝนหลวง’ เพื่อปวงชนของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยใส่ชุดความคิดที่ว่า “ในหลวงภูมิพลลอกความคิดเรื่องฝนหลวงมาจากฝรั่ง” ให้กับกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าคนรุ่นใหม่ เพื่อด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งชุดความคิดแบบนี้เมื่อใส่เข้าไปแล้วก็ไม่มีการพิสูจน์หรือหาข้อมูลเพิ่มเติม ได้แต่พร่ำบอกต่อกันไปราวกับนกแก้ว นกขุนทอง 

สรุปแล้วก็งงเหมือนกันว่า คนรุ่นใหม่บางคนทำไมถึงคิดกันได้เพียงเท่านี้? 

ถ้าจะเล่าเรื่องการเกิด ‘ฝนหลวง’ ก็อยากจะย้อนเชื่อมโยงไปกับการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรอีสานระหว่างวันที่ ๒-๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ที่เส้นทางเสด็จฯ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้น จะต้องผ่านพื้นที่ทุรกันดารมากมาย ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะถึงจุดหมาย

ระหว่างเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินฯ ในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งยี่ห้อเดลาเฮย์ ซีดานสีเขียว จากจังหวัดนครพนมไปจังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่านจังหวัดสกลนครและเทือกเขาภูพาน พระองค์ได้พบความขัดแย้งกันของความแห้งแล้งในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่พระองค์ต้องทรงแก้ไข 

เรื่องมีอยู่ว่าพระองค์ได้ทรงสอบถามราษฎรเกี่ยวกับความเสียหายทางการเกษตรที่คาดว่าน่าจะเกิดจากความแล้ง แต่กลับกันทรงพบว่า มันเกิดขึ้นจากน้ำท่วม ทั้ง ๆ ที่พื้นที่โดยรอบมีแต่ดินแดงและฝุ่นฟุ้งกระจายไปทั่ว ส่วนพอถึงหน้าแล้งก็ไม่มีฝน ไม่มีน้ำที่สามารถจะใช้เพื่ออุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรได้ ทั้งที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆเป็นกลุ่มก้อน สรุปคืออีสานมีทั้งน้ำท่วมและฝนแล้ง ไม่มีสิ่งที่จะแก้ไขได้...แต่พระองค์ไม่ทรงคิดอย่างนั้น

ด้วยความที่พระองค์ทรงเป็น ‘นวัตกร’ การแก้ปัญหาความขัดแย้งจนเป็นปัญหาปากท้องของราษฎรจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ปัญหาแรกคือน้ำท่วม เพราะการท่วมเกิดขึ้นจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ หรือพื้นที่ชะลอน้ำ เรื่องนี้ถูกแก้ด้วย ‘ฝายน้ำล้น’ และ ‘เขื่อน’ ขนาดเล็ก ๆ เพื่อชะลอและรองรับน้ำ ไม่ให้เกิดการชะล้างหน้าดินและสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร

ส่วนอีกเรื่องคือ ‘ฝน’ เป็นเรื่องที่พระองค์ทรงขบคิดและนำมาต่อยอดเมื่อกลับจากการเสด็จฯ ภาคอีสานแทบจะในทันที 

“...แต่มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้ ก็เคยได้ยินเรื่องการทำฝน ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้ มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้...”

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ซึ่งเป็นวิศวกรประดิษฐ์ควายเหล็ก ที่มีชื่อเสียงเข้าเฝ้าฯ และพระราชทานแนวความคิดนั้น พร้อมๆ กับที่พระองค์ได้ทรงเริ่มต้นลงมือทำการค้นคว้าทดลอง ประดิษฐ์คิดค้น และปฏิบัติการทดลองจริงในท้องฟ้า มิได้ทรงปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ คือทรงหาทั้งคนช่วยคิด ช่วยทำและทรงค้นคว้าพร้อมทรงปฏิบัติเองด้วยเพื่อความรวดเร็ว  

สำหรับการสร้าง ‘ฝนเทียม’ ที่คนรุ่นใหม่ถูกหลอกว่าฝรั่งเขาคิดได้ ในหลวง ร.๙ ไปลอกเขามา เรื่องนี้คนเชื่อต้องมีอคติบังตาขนาดไหน? และต้องไม่ศึกษาหาความรู้เบอร์ไหน? ถึงหลงเชื่อได้ขนาดนั้น 

‘พระองค์ไม่ได้ทรงคิดทดลองสร้างฝนเทียมเป็นคนแรก’ อันนั้นถูกต้อง!! เพราะผู้คิดทดลอง คือ นาย วินเซนต์ เชฟเฟอร์ และ เออร์วิง ลองมัวร์ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยใช้ส่วนประกอบหลักในการสร้างฝนเทียมคือสาร Silver Iodide ที่มีคุณสมบัติทำให้เมฆมีความเย็นเหนือจุดเยือกแข็ง ด้วยการโปรยสารนี้ลงมาจากเครื่องบินหรือปล่อยให้ลมหอบขึ้นไป จะทำให้ไอน้ำเกิดการควบแน่น และหนักมากพอจนตกลงมาเป็นฝน 

ดังนั้นหลักสำคัญของวิธีการนี้คือ ‘ปล่อยให้ลมหอบอนุภาคขึ้นไป’ หรือ ‘ปล่อยอนุภาคลงมา’ นั่นเอง ซึ่งว่ากันตามจริง มันคือ ‘เม็ดฝนตามยถากรรม’ ตามสารเคมีที่ใครก็ทดลองได้ ไม่ได้เป็นสิทธิบัตรทางความคิดอะไร ทั้งยังไม่เหมือนวิธีการทำ ‘ฝนหลวง’ แล้วจะเรียกว่าลอกได้อย่างไร?    

แน่นอนว่า ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักคิดค้นอย่างพระองค์ ทรงต้องทรงอ่านการผลการทดลองนี้เป็นแน่แท้ ตามที่พระองค์ได้พระราชทานแนวความคิดต่อ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ว่า “...เคยอ่านหนังสือ...ทำได้” 

กระนั้น พระองค์จึงทรงคิดค้นและต่อยอดเพื่อให้ ‘ฝน’ ของพระองค์ ‘ควบคุมได้’ ไม่ได้สักแต่เอาสารเคมีไปโปรยเพื่อให้เกิดฝนตามยถากรรม 

ก่อกวน - เลี้ยงให้อ้วน - โจมตี ๓ ขั้นตอนที่พระองค์ทรงทดลอง สู่เทคนิคที่เรียกว่า ‘Super Sandwich’ ลงรายละเอียด จนเกิดเป็น ‘ฝนเทียม’ ที่มีประสิทธิภาพ มากกว่าการโปรยแค่สารเคมีอย่างเดียวอย่างที่ฝรั่งเขาทำกัน ซึ่งกระบวนการสร้าง ‘ฝน’ ของพระองค์ได้รับสิทธิบัตร ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕ เนื่องจากเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นตอนที่สูงขึ้น เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรม 

ทั้งนี้ ‘ฝนหลวง’ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้รับการยอมรับในหมู่นักวิทยาศาสตร์, องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และอุตุนิยมวิทยาระดับโลก จนในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ‘ฝนหลวง’ ก็ได้รับสิทธิบัตรโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนในต่างประเทศ สำนักสิทธิบัตรยุโรป (EPO) ก็ขึ้นทะเบียน ‘ฝนหลวง’ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาตามหมายเลข ‘EP1491088’ อีกทั้งยังมีสิทธิบัตรอยู่ในประเทศอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้าแค่การโปรยสารเคมีบางอย่างลงบนเมฆแล้วเกิด ‘ฝนเทียม’ แต่ควบคุมไม่ได้ มีเม็ดฝนแล้วแต่บุญแต่กรรม ‘ฝนหลวง’ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็คงไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ 

แน่นอนว่า คนรุ่นใหม่ที่อยากด้อยค่าสถาบันฯ ก็คงคิดแต่มุมที่พระองค์ทรงลอกฝรั่งมา ก็วนอยู่แค่นั้น และไม่ได้สำเหนียกรู้เลยว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องผ่านการค้นคว้า ทดลอง จนเกิดเป็นงาน ‘Original’ มันเป็นแบบไหน?

‘ฝนหลวง’ ไม่เพียงแค่ช่วยราษฎรชาวอีสาน แต่ยังช่วยราษฎรในภูมิภาคอื่น ๆ อีกด้วย การคิดค้น ต่อยอดด้วยความสร้างสรรค์ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านทรงทำให้ดูแล้ว เกิดผลจริงแล้ว พิสูจน์ได้ ไม่ใช่ ‘ฝนเทียม’ จากสาร Silver Iodide ที่กระจัดกระจายและไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สร้างสรรค์และพิสูจน์อะไรไม่ได้สักอย่างเดียว


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager