Friday, 29 March 2024
ฝนหลวง

เชียงใหม่ - เปิดปฏิบัติการฝนหลวง ยับยั้งความรุนแรงการเกิดพายุลูกเห็บ ภายใต้ความร่วมมือของกองทัพอากาศ ประจำปี 2565

เมื่อวันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เดินทางมาเป็นประธาน เปิดปฏิบัติการฝนหลวงยับยั้งความรุนแรงการเกิดพายุลูกเห็บ ในความร่วมมือกับกองทัพอากาศ ประจำปี 2565 โดยมี นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, นาวาอากาศเอก วงศ์วิวัติ วัฒนวรางกูร ผู้บังคับการกองบิน 41 และหัวหน้าส่วนงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องประชุมท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41

โดยอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมคณะ ได้มอบนโยบายการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมเจ้าหน้าที่และให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน ณ บริเวณลานจอดท่าอากาศยานทหารกองบิน 41

‘ก.เกษตร’ เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู่แล้ง บรรเทาภัยแล้งทั่วประเทศ

เจ้ากระทรวงเกษตรฯ เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2565 สร้างขวัญและกำลังใจต่อผู้ปฏิบัติงาน พร้อมปล่อยขบวนคาราวานเครื่องบินฝนหลวงออกปฏิบัติภารกิจป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งและภัยพิบัติทั่วประเทศ

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2565 โดยมีผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ สนามบินนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ วันนี้ (3มี..) ว่า

ในขณะนี้หลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศเริ่มมีสถานการณ์ภัยแล้งเกิดขึ้น น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ มีปริมาณน้ำเก็บกักลดลงตามลำดับ และในช่วงฤดูร้อนนี้ มีแนวโน้มของสถานการณ์การเกิดไฟป่า ปัญหาหมอกควัน และปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมไปถึงแนวโน้มการเกิดพายุลูกเห็บในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2565 ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ โดยได้น้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติการป้องกันและช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว

สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2565 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง และสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่าง ๆ ของประเทศ ป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐาน ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป โดยตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงประจำ 5 ภูมิภาค จำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่…

- ภาคเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ตาก

- ภาคเหนือตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.แพร่ และ จ.พิษณุโลก

- ภาคกลาง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.นครสวรรค์ และ จ.กาญจนบุรี

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.อุดรธานี

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.บุรีรัมย์

- ภาคตะวันออก ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.จันทบุรี

- ภาคใต้ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 2 แห่ง ที่ จ.ขอนแก่น และ จ.ระยอง โดยใช้เครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 24 ลำ และได้รับการสนับสนุนเครื่องบินกองทัพอากาศ ชนิด ALPHA JET จำนวน 1 ลำ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีการจัดตั้งปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 4 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อติดตามสถานการณ์และช่วงชิงสภาพอากาศในการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและความต้องการน้ำในบางพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนืออีกด้วย

ทอ.จัดอากาศยานร่วมปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง 

ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ (บก.ทอ.) พล.อ.อ.นภาเดช  ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ  (ผบ.ทอ.) สั่งการให้หน่วยเกี่ยวข้องจัดอากาศยานของกองทัพอากาศ เข้าร่วมการปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2565 โดยร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยเกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งและลดผลกระทบที่เกิดจากพพายุลูกเห็บ 

โดยการปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งในปี 2565 นี้ กองทัพอากาศได้จัดเครื่องบินพร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์สนับสนุนกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในโครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง” จํานวน 3-5 เครื่อง ประกอบด้วย
    
เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2 ก (BT-67) จำนวน 2-3 เครื่อง ในการปฏิบัติการฝนหลวงด้านการป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ
     
เครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 (Alpha Jet) จำนวน 1-2 เครื่อง ในการปฏิบัติการฝนหลวงด้านการยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ 

รวมถึงให้ทุกสนามบินมีความพร้อมในการสนับสนุนและเป็นฐานปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งในขั้นต้นกรมฝนหลวงและการบินเกษตรขอรับการสนับสนุนจำนวน 7 กองบิน ประกอบด้วย 
     
กองบิน 1 จังหวัดนครราชสีมา เป็นที่ตั้งของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดนครราชสีมา
     
กองบิน2 จังหวัดลพบุรี เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง
     
กองบิน 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้
     
กองบิน 21 จังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ตอนล่าง)
     
 กองบิน 23 จังหวัดอุดรธานี เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
     
กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ
     
และ กองบิน 46จังหวัดพิษณุโลก เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ(ตอนล่าง)
 

20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 คณะปฏิบัติการฝนหลวง บินทดลองทำฝนเทียมครั้งแรก บริเวณท้องฟ้าเหนืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

วันนี้ เมื่อ 53 ปีก่อน คณะปฏิบัติการฝนหลวง เริ่มบินปฏิบัติการทดลองฝนเทียมกับเมฆฝนบนท้องฟ้าเป็นครั้งแรก บริเวณท้องฟ้าเหนืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา 

ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวคิด “ทำให้เมฆรวมตัวกันตกลงมาเป็นฝน” เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินภาคอีสาน เมื่อปี 2498 

หลายปีต่อมา ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ได้กลับมากราบบังคมทูลพร้อมกับความคิดเริ่มแรกและความเป็นไปได้ที่จะเริ่มต้นการค้นคว้าทดลอง การประดิษฐ์คิดค้น และการปฏิบัติการค้นคว้าทดลองจริงบนท้องฟ้า โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมี ดร.แสวง กุลทองคำ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และ ม.จ.จักรพันธุ์ เพ็ญศิริจักรพันธ์ อธิบดีกรมการข้าวในขณะนั้นรับใส่เกล้าฯ สนองพระราชประสงค์การปฏิบัติการทดลองจริงบนท้องฟ้าจึงเริ่มต้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ณ สนามบินหนองตะกู วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่องเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

‘ฝนหลวง’ โครงการจากน้ำพระทัย ‘ในหลวง ร.9’ ช่วยคนไทยรอดตายจากฝุ่น PM 2.5

ไม่เฉพาะ 'คนกรุง' ที่รอดตายจากฝุ่น PM 2.5
หากแต่ 'รอดกันทั้งประเทศ'!
เพราะจู่ๆ 'ฝน' ก็ตกลงมาสยบเจ้า PM 2.5 จนพอหายใจ-หายคอกันได้บ้าง
ตกมาแล้ว ๒-๓ วันติด ไม่เฉพาะใน กทม. หากแต่ 'ตกทั่วฟ้า' ทั้ง เหนือ-อีสาน-ตะวันออก-กลาง

และจะตกเป็น 'พระพิรุณปราบฝุ่น' ไปจนกว่า PM 2.5 จะสิ้นฤทธิ์
ผมรู้ได้ไง ใจเย็นๆ...เดี๋ยวบอก!
อ่านนี่ก่อน เมื่อวาน (๕ ก.พ.๖๖) "ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร" ของชัชชาติ ออกข่าว ว่า

"เวลา ๑๕.๐๐ น. ฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง เขตบางซื่อ  บางพลัด พญาไท ดุสิต
เคลื่อนตัวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เเนวโน้มคงที่ ปริมาณฝนสูงสุดเขตราชเทวี 2.0 มม."
แหม…

กทม.ออกข่าวประหยัดข้อมูลจริงนะ น่าจะบอกให้ชัดซักหน่อย ว่า "ฝนมาไง-เป็นไง"?
ตกตามธรรมชาติ หรือผู้ว่าฯ ชัชชาติบันดาล?
ไม่เหมือนตอนหาเสียงเลย

"ทั้งทีม" รู้ทุกเรื่อง พูดเป็นต่อยหอยทุกเรื่อง แต่ตอนทำงานกลับ "อมสาก" ทุกเรื่อง
คนเป็นผู้ว่าฯ เหมือนกัน.....
หมื่นรู้ แสนสัญญา ปานพระวิศณุกรรมอวตารลงเป็นชัชชาติ ปัญหา กทม.ถ้าแก้ไม่ได้ ใครก็ไม่ควรมาเป็นผู้ว่าฯ
ควร "ลาออกไปซะ"!

แล้วเป็นไง กลายเป็น "ผู้ว่าฯ เวรกรรม" ของคนกรุง ร่วมปี ซักเรื่อง...เคยมีที่แก้ได้บ้างมั้ยล่ะ?
"แก้ได้ทุกเรื่อง" มีเรื่องเดียวคือ "แก้ตัว"!
ฝุ่น PM 2.5 มืดคลุมเมือง.......
จนน้ำหู-น้ำตาไหลปนน้ำมูก ไอจามกันค็อกแค็กทั้งกรุง

หน่วยปั้นข่าวยังทะลึ่งออกมาอุ้มไข่ บอกไม่ใช่ฝุ่น แต่เป็น "หมอกหน้าหนาว"!
มันน่า "เจริญพวง" ซะจริงๆ!
ผู้ว่าฯ "สัญญาแลกเกี๊ยะ" ๒๑๔ ข้อ นั่นก็ไม่รู้ไปตามเก็บเกี๊ยะอยู่ที่ไหน?
เห็นแต่ "ทหาร" ออกมาฉีดน้ำล้างถนน-ไล่ฝุ่น
จะไล่ได้-ไม่ได้ ไม่เป็นปัญหา อย่างน้อย ก็ทำให้ชาวบ้านมองเห็น "ที่พึ่ง-ที่หวัง"

ว่ายามมีปัญหา "ทุกปัญหา" ต้องเห็น "ทหาร" ออกมายืนเคียงข้าง คอยปกป้อง-ดูแล ประชาชน
ดีกว่า ไอ้คนที่มีหน้าที่ทำ แต่ไม่ทำอะไรเลย แถมหัวก็ไม่เห็นอีกตะหาก
ใครไม่รู้ "เฉาฉุ่ย" ไว้ตอนเลือกทีมงาน ว่า...
"ดูในแต่ละมิติ อย่างรองผู้ว่าฯ เราก็รู้ว่า มีสำนักอะไรดูแลบ้าง ขอให้มีความหลากหลาย ทั้งประสบการณ์ มีความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

แต่ละคน จะมีความเชี่ยวชาญที่หลากหลายกันไป
สำคัญที่สุดคือ ซื่อสัตย์ โปร่งใส สุจริตที่เราไว้วางใจได้ นอกจากนี้ มีทีมที่ปรึกษาทางเทคนิคอีกกว่า ๓๐-๔๐ คน ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการที่เราปรึกษามา ๒ ปีกว่า
ตอนที่เราปรึกษา....

เราเป็นการเมืองการเลือกตั้ง หลายๆ ท่าน เปิดตัวไม่ได้ พอเราเป็นข้าราชการ กทม.แล้ว เราสามารถเปิดตัวท่านได้"
แล้วไหนล่ะ ผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลาย อยากเห็นจัง
เก่งฉิบ....

แค่ ๗-๘ เดือน บรรดาผู้เชี่ยวชาญของชัชชาติทำให้ กทม.วินาศสันตะโรได้ถึงขนาดนี้?
แล้วตอนนี้ "หึ่ง" ไปหมด
ไอ้ "ซื่อสัตย์ โปร่งใส สุจริตที่เราไว้วางใจได้" ของชัชชาตินั่นน่ะ
"คุณชูวิทย์" ชำระตำนาน "ส่วยตำรวจ" เสร็จเมื่อไหร่
ผมจะนิมนต์มาแฉตำนาน "ส่วย กทม." ตอนนี้บ้าง!!!

ถ้าชัชชาติอยากรู้....
ไปถาม "ประธานที่ปรึกษา" ของท่านดูซิ ว่ารู้เรื่องบ้างมั้ย...ที่ลงไปเก็บส่วยกันถึงในแต่ละเขตนั่นน่ะ?
จริงๆ แล้ว เรื่องฝุ่น PM 2.5 คนกรุงพอเข้าใจได้ว่า มันเป็น "ฝุ่นประจำฤดูกาล"
ต้นปีที จะเป็น "ฤดูเผา" ทั้งเกษตรกรบ้านเราและประเทศเพื่อนบ้าน ฝุ่น PM 2.5 ก็จะปลิวมาทุกปี

ก็บ่นๆ กันไป พอแค่ได้ระบาย
ที่จะไปเค้นคอให้ "ผู้ว่าฯ สัญญาแลกเกี๊ยะ" แสดงอภินิหารแปลงกายเป็นพระพายไปไล่ฝุ่นนั้น
ไม่มีใครเขา "ยึดขยะ" เป็นสรณะถึงขนาดนั้นหรอก!
ที่ผมต้องพูดถึงคณะบริหาร กทม.วันนี้ ไม่ใช่เพราะผิดหวังในตัวพวกท่าน

เพราะรู้ ก็แค่ "กอเอี๊ยะ" ปิดฝีที่ตูด หวังจะให้ดูดหัวออกมานั้น มันสรรพคุณเกินจริง
ที่ต้องพูด สืบเนื่องจากข่าวที่ กทม.สื่อสารถึงชาวบ้านประเด็นฝนตกช่วงฝุ่น PM 2.5 กำลังจะฆ่าคนกรุงนั่นแหละ

กทม.ของชัชชาติ ออกข่าวเพียงว่า....
"๑๕.๐๐ น. ฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง เขตบางซื่อ บางพลัด พญาไท ดุสิต...." แบบนั้นน่ะ

นั่นมันเหมือนการแถลงข่าวของบางประเทศเพื่อนบ้านเมื่อ ๕๐ กว่าปีที่แล้ว "ฝนตกเมื่อไหร่จะบอก"
คนเขาอยากรู้ "ฝนตกช่วงนี้ได้อย่างไร" ตะหาก
จะมาตวัก-ตะบวยบอกทำไมแค่ฝนตก?
ที่ กทม.ออกข่าวแบบนี้ ผิดวิสัยการให้ข้อมูลข่าวสารตามหลัก "การประชาสัมพันธ์" โดยสุจริต ถึงประชาชน ในสถานการณ์ PM 2.5 กำลังคลุมเมือง

มองเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากมองได้ในทางเจตนาเดียวคือ กทม.ต้องการให้ชาวบ้านเข้าใจเอาว่า
"เป็นฝนตกลงมาเองตามธรรมชาติ"!
ซึ่งมันไม่ใช่ และ กทม.ก็รู้อยู่แก่ใจ ว่ามันไม่ใช่ฝนจากฟ้าบันดาลลงมาดับฝุ่นเอง
แต่ก็ กทม.ก็ไม่ยอมบอก "เหตุฝนตก" ให้ประชาชนทราบ
อิจฉา...ซ่อนเร้นเจตนา หรือ กทม.กลัวจะเสียหน้า!?

สู้ปล่อยให้ "ครุมเครือในข้อมูล" อย่างนี้ดีกว่า ยังพอเอา ไปเคลมกับคน ๑.๓ ล้านได้บ้าง
ผมขอบอกให้ทุกคนทราบว่า ฝนที่ตกลงมาดับฝุ่น PM 2.5 ทั้งในกรุงและต่างจังหวัดขณะนี้ คือ
"ฝนหลวง" ครับ....
ไม่ใช่ฝนตกตามธรรมชาติ หรือฝนร้อยห่าชัชชาติบันดาลตกใน กทม.อย่างที่พยายามปกปิดข้อมูลกัน
"ฝนหลวง" คืออะไร?

คือ โครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์
ใน "พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร" รัชกาล ที่ ๙
จุดประสงค์ เพื่อสร้าง "ฝนเทียม" สำหรับบรรเทาความแห้งแล้งให้แก่เกษตรกร เมื่อคราวเสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกร ปี พ.ศ.๒๔๙๘ ในภาคอีสาน

จึงพระราชทานโครงการพระราชดำริฝนหลวงให้ "ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล" ไปดำเนินการ
จึงได้เกิดเป็น "โครงการค้นคว้าทดลอง" ปฏิบัติการ "ฝนเทียม" หรือ "ฝนหลวง" ขึ้น ตราบทุกวันนี้

ที่ฝนตกบรรเทาฝุ่น PM 2.5 ทั้ง เหนือ-อีสาน-ตะวันออก-กลาง และ กทม. ก็จากการบินขึ้นไปปฏิบัติการทำ "ฝนหลวง"
ของ "กรมฝนหลวงและการเกษตร" นั่นเอง!

ฝนหลวงพระราชทาน ‘ดับไฟ-ดับฝุ่น-ดับทุกข์’ ‘คิด-ทดลอง’ ซ้ำๆ ก่อนคนไทยได้รับประโยชน์

ท่ามกลางละอองฝุ่นควันมลพิษ PM 2.5 ปกคลุมจนคล้ายกับอาเพศ 'หมอกมุงเมือง' สะสมตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2566 ไล่เรื่อยตั้งแต่ภาคเหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลางตอนบน และวิกฤติสุดหยุด ณ กรุงเทพมหานคร โดยรอยต่อปลายเดือนมกราคมขึ้นกุมภาพันธ์ พบว่าภาพรวมปริมาณ PM 2.5 ในประเทศเกินค่ามาตรฐาน จนน่าเป็นห่วงปนวิตกต่อสุขภาพทางเดินหายใจประชาชนอย่างยิ่ง

รอคอยกันไปมาจนถึงเวลา 'นักรบฝนหลวง' ต้องออกมากอบกู้สถานการณ์

นอกเหนือจาก 'ฝนหลวง' จะช่วยป้องกัน แก้ไขปัญหาภัยแล้ง ช่วยเติมน้ำให้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ สร้างความชุ่มชื้น ลดไฟป่า แถมยับยั้งการเกิดลูกเห็บได้ผลแล้ว 'ฝนหลวง' ยังช่วยสลายหมอกควัน ลดมลพิษทั้งทางน้ำและในอากาศอีกด้วย

ปริมาณฝนซึ่งตกทั่วกรุงเทพฯ และรอบเขตปริมณฑลช่วงนี้ (5 - 9 กุมภาพันธ์) มีที่มาจากการขึ้นทำฝนหลวงบริเวณอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้น้ำฝนตกใกล้พื้นที่เมืองหลวงมากที่สุด ด้วยไม่สามารถปฏิบัติการทำฝนหลวงในกรุงเทพฯ ได้ เพราะติดข้อจำกัดทางการบิน

ต่อมา 'กรมฝนหลวง' จะดำเนินการ 'ฝนเร่งด่วน' ต่อเนื่องติดต่อถึงห้าวัน โดยตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ขึ้นเฉพาะ เน้นพื้นที่ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคตะวันออก, ภาคกลาง ซึ่งพบว่ามีมวลความกดอากาศสูงแผ่ลงมา ทำให้มีความชื้นสัมพัทธ์เกินกว่า 40 - 50% เอื้อต่อการก่อมวลเมฆได้ผลดี บวกกับสภาพลมช่วยพัดพาเมฆฝนมาตกบนพื้นที่เป้าหมาย

ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญตลอดสองเดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาผลผลิตเหลือใช้ทางเกษตรจำนวนมากของประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับแนวกระแสลมพัดพาเข้ามายังไทยเพิ่มขึ้น คือปัจจัยหลักของปริมาณฝุ่นละอองมลพิษเพิ่มสูง มากกว่าฝุ่นมลพิษที่เกิดจากไทยเราเอง แต่ด้วยการช่วยให้ฝนตกลงมาจะช่วยซับละอองหมอกควันในอากาศจนเจือจางลง

ฝนหลวงเท ดับไฟป่า 'นครนายก' สำเร็จ หลังมีฝนตก ‘เขาแหลม - เขาพระ - เขาตะแบก’

บ่ายนี้มีฝนตก ‘นครนายก’ ช่วยพื้นที่ไฟไหม้ป่าสำเร็จ ขณะเดียวกัน ฝนหลวงฯ ยังอำนวยพื้นที่เกษตร-อ่างเก็บน้ำ ด้วยการขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือไม่มีวันหยุดอีกด้วย

(2 เม.ย.66) นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าและช่วงบ่ายของวันนี้ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ไฟไหม้ป่าบริเวณเขาชะพลูและเขาแหลม จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นการทำงานทุกวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงและหมอกควันจากสถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าว 

โดยเมื่อช่วงเวลาประมาณ 15.30 น. ตรวจสอบจากเรดาร์ฝนหลวงพบว่ามีกลุ่มฝนเคลื่อนตัวเข้าไปยังบริเวณพื้นที่เกิดไฟป่าเขาแหลม, เขาพระ และเขาตะแบก พร้อมกับได้รับรายงานจากอาสาสมัครฝนหลวงและอาสาสมัครกู้ภัยในพื้นที่จังหวัดนครนายก พบว่า มีปริมาณฝนตกปริมาณเล็กน้อย-ปานกลาง เป็นเวลาประมาณ 30 นาที ซึ่งทางกรมฝนหลวงฯ ได้มอบหมายให้หน่วยฯ จันทบุรีติดตามสภาพอากาศทุกวันอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อช่วยเหลือจนกว่าสถานการณ์ไฟไหม้ป่าในพื้นที่จะคลี่คลายลง

20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 คณะปฏิบัติการณ์ฝนหลวง บินทดลองทำฝนเทียมครั้งแรก

คณะปฏิบัติการณ์ฝนหลวง เริ่มบินปฏิบัติการทดลองฝนเทียมกับเมฆฝนบนท้องฟ้าเป็นครั้งแรก บริเวณท้องฟ้าเหนืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ. ปากช่อง จ. นครราชสีมา

ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวคิด “ทำให้เมฆรวมตัวกันตกลงมาเป็นฝน” เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินภาคอีสาน เมื่อปี 2498 

หลายปีต่อมา ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ได้กลับมากราบบังคมทูลพร้อมกับความคิดเริ่มแรกและความเป็นไปได้ที่จะเริ่มต้นการค้นคว้าทดลอง การประดิษฐ์คิดค้น และการปฏิบัติการค้นคว้าทดลองจริงบนท้องฟ้า โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมี ดร.แสวง กุลทองคำ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และ ม.จ.จักรพันธุ์ เพ็ญศิริจักรพันธ์ อธิบดีกรมการข้าวในขณะนั้นรับใส่เกล้าฯ สนองพระราชประสงค์การปฏิบัติการทดลองจริงบนท้องฟ้าจึงเริ่มต้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ณ สนามบินหนองตะกู วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่องเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งให้ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการ และหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลองเป็นคนแรก และเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองเป็นแห่งแรกโดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้ง (dry ice หรือ solid carbon dioxide ) ขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลอง ในขณะนั้น ทำให้กลุ่มเมฆ ทดลองเหล่านั้น มีการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์ของเมฆอย่างเห็นได้ชัดเจนเกิดการกลั่นรวมตัวกันหนาแน่น และต่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็วแล้วเคลื่อนตัวตามทิศทางลมพ้นไปจากสายตาไม่สามารถสังเกตได้ เนื่องจากยอดเขาบัง แต่จากการติดตามผล โดยการสำรวจทางภาคพื้นดิน และได้รับรายงานยืนยันด้วยวาจาจากราษฎรว่า เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด นับเป็นนิมิตหมายบ่งชี้ให้เห็นว่า การบังคับเมฆให้ เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

‘นร.การบิน’ แชร์ประสบการณ์ ร่วมบินใน ‘ภารกิจฝนหลวง’ ช่วยบรรเทาภัยแล้งให้สวนทุเรียนของชาวเกษตรกรชุมพร

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้ TikTok บัญชี ‘Nutcha Memie’ หรือ ‘คุณมี่’ ซึ่งเป็นนักเรียนการบิน ได้ออกมาเล่าประสบการณ์ขณะที่ได้ขึ้นบินสังเกตการณ์ เพื่อดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงครั้งแรก โดยคุณมี่ได้บอกเล่าความรู้สึกต่อภารกิจครั้งนี้ว่า…

“ชาวบ้านที่ชุมพรร้องเรียนกันว่า ทุเรียนจะยืนต้นตายหมดแล้วค่ะ ทําให้มี่เห็นเครื่องบินฝนหลวงมาจอดเรียงกันเต็มไปหมดเลย ซึ่งศิษย์การบินอย่างมี่นั้นตื่นตาตื่นใจมาก โดยเครื่องบินที่ถูกเลือกมาทําภารกิจในวันนี้ คือ ‘คาซ่า’ จริง ๆแล้วฝนหลวงมีเครื่องบินหลายรุ่นมาก แต่ว่าจะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับภารกิจนั้น ๆ พอพี่ช่างเตรียมเครื่องให้เราเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อมาก็จะโหลดสารเคมีขึ้นเครื่อง โดยที่บนเครื่องจะมีนักบิน นักวิชาการ และมีพี่ ๆ ที่ขึ้นไปโปรยสารพอใบพัดเริ่มหมุน มี่ก็เริ่มรู้สึกตื่นเต้นมากเลยค่ะ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ได้ลองนั่งเครื่องบินคาซ่า วันนี้เราจะบินขึ้นมาที่ความสูงประมาณ 6,000 ฟุต พอถึงตําแหน่งที่เราต้องการทําภารกิจ นักบินก็จะส่งสัญญาณ จากนั้นพี่ ๆ ข้างหลังก็จะเริ่มโปรยสารลงมาเลยค่ะ” 

“โดยหลักการคร่าว ๆ ของฝนหลวง คือเราจะบินขึ้นไปโปรยสารเคมีลงมา ซึ่งสารเคมีจะประกอบด้วย เกลือ คลอรีนและน้ำแข็งแห้ง เราจะโปรยมาตามทางที่เราต้องการให้เกิดฝน เพื่อเป็นการล่อเมฆให้เมฆมาเกาะกลุ่มตามทางที่เราได้วางแผนไว้ ซึ่งพอเมฆรวมตัวกันได้ในปริมาณที่พอเหมาะแล้ว พี่เขาจะขึ้นไปอีกรอบหนึ่งค่ะ เพื่อไปโปรยสารเคมีอีกครั้งให้เมฆมันอิ่มตัวแล้วก็ตกลงมาเป็นฝนค่ะ เพราะฉะนั้น เราก็จะได้ฝนตามแนวที่แบบพวกเราต้องการเลยค่ะ” 

“กลายเป็นว่าช่วงนี้มี่เดินตลาดทุเรียนเต็มตลาดชุมพรเลยค่ะ ต้องขอบคุณพี่ ๆ ฝนหลวงที่ให้โอกาสมี่ได้ขึ้นไปบินสังเกตการณ์ในวันนี้ ดีใจมาก ๆ ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี และพี่ ๆ ทุกคนก็น่ารัก ถือว่าเป็นครอบครัวที่อบอุ่นมากเลยค่ะ”

‘อีสาน ๒๔๙๘’ ต้นกำเนิด ‘ฝนหลวง’ เพื่อปวงชน ความคิดสร้างสรรค์ที่คนรุ่นใหม่บางคน ไม่เคยมี

๑๔ พฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็น ‘วันพระบิดาแห่งฝนหลวง’ ที่มักจะมีทีมงานสัมภเวสีออกมาดิ้น ปรักปรำ และด้อยค่า ‘ฝนหลวง’ เพื่อปวงชนของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยใส่ชุดความคิดที่ว่า “ในหลวงภูมิพลลอกความคิดเรื่องฝนหลวงมาจากฝรั่ง” ให้กับกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าคนรุ่นใหม่ เพื่อด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งชุดความคิดแบบนี้เมื่อใส่เข้าไปแล้วก็ไม่มีการพิสูจน์หรือหาข้อมูลเพิ่มเติม ได้แต่พร่ำบอกต่อกันไปราวกับนกแก้ว นกขุนทอง 

สรุปแล้วก็งงเหมือนกันว่า คนรุ่นใหม่บางคนทำไมถึงคิดกันได้เพียงเท่านี้? 

ถ้าจะเล่าเรื่องการเกิด ‘ฝนหลวง’ ก็อยากจะย้อนเชื่อมโยงไปกับการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรอีสานระหว่างวันที่ ๒-๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ที่เส้นทางเสด็จฯ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้น จะต้องผ่านพื้นที่ทุรกันดารมากมาย ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะถึงจุดหมาย

ระหว่างเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินฯ ในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งยี่ห้อเดลาเฮย์ ซีดานสีเขียว จากจังหวัดนครพนมไปจังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่านจังหวัดสกลนครและเทือกเขาภูพาน พระองค์ได้พบความขัดแย้งกันของความแห้งแล้งในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่พระองค์ต้องทรงแก้ไข 

เรื่องมีอยู่ว่าพระองค์ได้ทรงสอบถามราษฎรเกี่ยวกับความเสียหายทางการเกษตรที่คาดว่าน่าจะเกิดจากความแล้ง แต่กลับกันทรงพบว่า มันเกิดขึ้นจากน้ำท่วม ทั้ง ๆ ที่พื้นที่โดยรอบมีแต่ดินแดงและฝุ่นฟุ้งกระจายไปทั่ว ส่วนพอถึงหน้าแล้งก็ไม่มีฝน ไม่มีน้ำที่สามารถจะใช้เพื่ออุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรได้ ทั้งที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆเป็นกลุ่มก้อน สรุปคืออีสานมีทั้งน้ำท่วมและฝนแล้ง ไม่มีสิ่งที่จะแก้ไขได้...แต่พระองค์ไม่ทรงคิดอย่างนั้น

ด้วยความที่พระองค์ทรงเป็น ‘นวัตกร’ การแก้ปัญหาความขัดแย้งจนเป็นปัญหาปากท้องของราษฎรจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ปัญหาแรกคือน้ำท่วม เพราะการท่วมเกิดขึ้นจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ หรือพื้นที่ชะลอน้ำ เรื่องนี้ถูกแก้ด้วย ‘ฝายน้ำล้น’ และ ‘เขื่อน’ ขนาดเล็ก ๆ เพื่อชะลอและรองรับน้ำ ไม่ให้เกิดการชะล้างหน้าดินและสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร

ส่วนอีกเรื่องคือ ‘ฝน’ เป็นเรื่องที่พระองค์ทรงขบคิดและนำมาต่อยอดเมื่อกลับจากการเสด็จฯ ภาคอีสานแทบจะในทันที 

“...แต่มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้ ก็เคยได้ยินเรื่องการทำฝน ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้ มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้...”

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ซึ่งเป็นวิศวกรประดิษฐ์ควายเหล็ก ที่มีชื่อเสียงเข้าเฝ้าฯ และพระราชทานแนวความคิดนั้น พร้อมๆ กับที่พระองค์ได้ทรงเริ่มต้นลงมือทำการค้นคว้าทดลอง ประดิษฐ์คิดค้น และปฏิบัติการทดลองจริงในท้องฟ้า มิได้ทรงปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ คือทรงหาทั้งคนช่วยคิด ช่วยทำและทรงค้นคว้าพร้อมทรงปฏิบัติเองด้วยเพื่อความรวดเร็ว  

สำหรับการสร้าง ‘ฝนเทียม’ ที่คนรุ่นใหม่ถูกหลอกว่าฝรั่งเขาคิดได้ ในหลวง ร.๙ ไปลอกเขามา เรื่องนี้คนเชื่อต้องมีอคติบังตาขนาดไหน? และต้องไม่ศึกษาหาความรู้เบอร์ไหน? ถึงหลงเชื่อได้ขนาดนั้น 

‘พระองค์ไม่ได้ทรงคิดทดลองสร้างฝนเทียมเป็นคนแรก’ อันนั้นถูกต้อง!! เพราะผู้คิดทดลอง คือ นาย วินเซนต์ เชฟเฟอร์ และ เออร์วิง ลองมัวร์ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยใช้ส่วนประกอบหลักในการสร้างฝนเทียมคือสาร Silver Iodide ที่มีคุณสมบัติทำให้เมฆมีความเย็นเหนือจุดเยือกแข็ง ด้วยการโปรยสารนี้ลงมาจากเครื่องบินหรือปล่อยให้ลมหอบขึ้นไป จะทำให้ไอน้ำเกิดการควบแน่น และหนักมากพอจนตกลงมาเป็นฝน 

ดังนั้นหลักสำคัญของวิธีการนี้คือ ‘ปล่อยให้ลมหอบอนุภาคขึ้นไป’ หรือ ‘ปล่อยอนุภาคลงมา’ นั่นเอง ซึ่งว่ากันตามจริง มันคือ ‘เม็ดฝนตามยถากรรม’ ตามสารเคมีที่ใครก็ทดลองได้ ไม่ได้เป็นสิทธิบัตรทางความคิดอะไร ทั้งยังไม่เหมือนวิธีการทำ ‘ฝนหลวง’ แล้วจะเรียกว่าลอกได้อย่างไร?    

แน่นอนว่า ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักคิดค้นอย่างพระองค์ ทรงต้องทรงอ่านการผลการทดลองนี้เป็นแน่แท้ ตามที่พระองค์ได้พระราชทานแนวความคิดต่อ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ว่า “...เคยอ่านหนังสือ...ทำได้” 

กระนั้น พระองค์จึงทรงคิดค้นและต่อยอดเพื่อให้ ‘ฝน’ ของพระองค์ ‘ควบคุมได้’ ไม่ได้สักแต่เอาสารเคมีไปโปรยเพื่อให้เกิดฝนตามยถากรรม 

ก่อกวน - เลี้ยงให้อ้วน - โจมตี ๓ ขั้นตอนที่พระองค์ทรงทดลอง สู่เทคนิคที่เรียกว่า ‘Super Sandwich’ ลงรายละเอียด จนเกิดเป็น ‘ฝนเทียม’ ที่มีประสิทธิภาพ มากกว่าการโปรยแค่สารเคมีอย่างเดียวอย่างที่ฝรั่งเขาทำกัน ซึ่งกระบวนการสร้าง ‘ฝน’ ของพระองค์ได้รับสิทธิบัตร ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕ เนื่องจากเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นตอนที่สูงขึ้น เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรม 

ทั้งนี้ ‘ฝนหลวง’ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้รับการยอมรับในหมู่นักวิทยาศาสตร์, องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และอุตุนิยมวิทยาระดับโลก จนในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ‘ฝนหลวง’ ก็ได้รับสิทธิบัตรโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนในต่างประเทศ สำนักสิทธิบัตรยุโรป (EPO) ก็ขึ้นทะเบียน ‘ฝนหลวง’ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาตามหมายเลข ‘EP1491088’ อีกทั้งยังมีสิทธิบัตรอยู่ในประเทศอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้าแค่การโปรยสารเคมีบางอย่างลงบนเมฆแล้วเกิด ‘ฝนเทียม’ แต่ควบคุมไม่ได้ มีเม็ดฝนแล้วแต่บุญแต่กรรม ‘ฝนหลวง’ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็คงไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ 

แน่นอนว่า คนรุ่นใหม่ที่อยากด้อยค่าสถาบันฯ ก็คงคิดแต่มุมที่พระองค์ทรงลอกฝรั่งมา ก็วนอยู่แค่นั้น และไม่ได้สำเหนียกรู้เลยว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องผ่านการค้นคว้า ทดลอง จนเกิดเป็นงาน ‘Original’ มันเป็นแบบไหน?

‘ฝนหลวง’ ไม่เพียงแค่ช่วยราษฎรชาวอีสาน แต่ยังช่วยราษฎรในภูมิภาคอื่น ๆ อีกด้วย การคิดค้น ต่อยอดด้วยความสร้างสรรค์ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านทรงทำให้ดูแล้ว เกิดผลจริงแล้ว พิสูจน์ได้ ไม่ใช่ ‘ฝนเทียม’ จากสาร Silver Iodide ที่กระจัดกระจายและไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สร้างสรรค์และพิสูจน์อะไรไม่ได้สักอย่างเดียว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top