Monday, 29 April 2024
ฝนหลวง

14 พฤศจิกายน ของทุกปี  ‘วันพระบิดาแห่งฝนหลวง’ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง ร.9

วันพระบิดาแห่งฝนหลวง ตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2545 

เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำริโครงการฝนหลวงเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ซึ่งโครงการฝนหลวงนี้ มีประโยชน์ต่อราษฎรเป็นอย่างมาก เพราะเป็นวิธีการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝน ได้ในยามแล้งน้ำ

โครงการฝนหลวง เป็นโครงการในพระราชดำริของในหลวง ร.9 ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยาก ที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้เพื่ออุปโภคและบริโภค รวมไปถึงการใช้ในทางเกษตรกรรม เนื่องจากสภาวะแห้งแล้ง ซึ่งพบได้บ่อยในฤดูหนาวและฤดูร้อน โดยความแห้งแล้งเกิดจากการคลาดเคลื่อนของฤดูตามธรรมชาติ เช่น ฤดูฝนล่าช้าหรือหมดไวกว่าปกติ

ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงศึกษาสภาพอากาศ ลักษณะต่าง ๆ รวมไปถึงภูมิประเทศของไทย ที่อยู่ในภูมิภาคเขตร้อน ทำให้อยู่ในอิทธิพลของมรสุมทวีปเอเชีย โดยเฉพาะมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นฤดูฝนและเป็นฤดูเพราะปลูกประจำปีของประเทศไทย พระองค์จึงดำริว่าจะสามารถดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อให้เกิดฝนตกได้

ดังนั้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้า วิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ จนมั่นพระทัย ใน พ.ศ. 2499 จึงได้พระราชทาน โครงการพระราชดำริ ‘ฝนหลวง’ ให้ ม.ล. เดช สนิทวงศ์ การรับสนองพระราชดำริ

โดยได้ร่วมมือกันระหว่าง ม.ล. เดช สนิทวงศ์, ม.จ. จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ และม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น รับไปดำเนินการศึกษา วิจัย และพัฒนากรรมวิธีการทำฝนให้บังเกิดผลโดยเร็ว ในปีถัดมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าให้เป็นไปได้

จนกระทั่ง พ.ศ. 2512 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งหน่วยบินปราบศัตรูพืช กรมการข้าว เพื่อสนับสนุนโครงการฝนหลวง อีกทั้งในปีเดียวกันนี้เองที่ได้มีการทดลองปฏิบัติจริงบนท้องฟ้าครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 เป็นวันปฐมฤกษ์ในการปฏิบัติการทดลองทำฝนเทียมกับเมฆในท้องฟ้าเหนือภาคพื้นดิน บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยการใช้น้ำแข็งแห้ง (Dry-Ice) ที่ยอดของกลุ่มก้อนเมฆ ปรากฏว่าหลังการปฏิบัติการประมาณ 15 นาที ก้อนเมฆในบริเวณนั้นเกิดมีการรวมตัวกันอย่างหนาแน่นจนเห็นได้ชัด สังเกตได้จากสีของฐานเมฆได้เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเทาเข้ม

ซึ่งผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ เพียงแต่ยังไม่อาจควบคุมให้ฝนตกในบริเวณที่ต้องการได้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานคำแนะนำเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยให้เปลี่ยนพื้นที่ทดลองไปยังจุดแห้งแล้งอื่น ๆ เช่น ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น ด้วยความสำเร็จของโครงการฝนหลวง จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นใน พ.ศ. 2518 ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

‘หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง’ เปิดภารกิจลดฝุ่นพิษภาคเหนือ เน้นช่วยพื้นที่การเกษตร-ไฟป่า เรียกฝนตกกลางดึกสำเร็จ

เมื่อวานนี้ (18 มี.ค. 67) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.แพร่ และ จ.เชียงใหม่ มีภารกิจปฏิบัติการฝนหลวงบรรเทาหมอกควันและสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10 และ PM2.5) โดยใช้เครื่องบิน CASA จำนวน 2 ลำ เครื่องบิน CN จำนวน 1 ลำ ช่วยเหลือพื้นที่ จ.พะเยา แพร่ น่าน

ทั้งนี้ แผนการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงนี้ จะเน้นช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 14 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และมีนโยบายถึงการบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ภาคเหนือ โดยใช้เทคนิคการดัดแปรสภาพอากาศด้วยการโปรยน้ำแข็งแห้ง เพื่อเพิ่มการดูดซับฝุ่นละอองของเมฆให้มากขึ้น

ผลปรากฏว่า วันนี้ (19 มี.ค.67) ฝนที่ตรวจวัดได้จากเรดาร์ บริเวณ จ.พะเยา ในช่วงกลางคืน ในตัวเมืองพะเยาบางแห่งมีฝนตกปานกลาง ถึงหนัก โดยจากการปฏิบัติการฝนหลวง พบมีกลุ่มฝนที่เกิดจากการปฏิบัติการฝนหลวงที่ตกหนักมากที่สุดบริเวณ อ.สอง จ.แพร่ โดยวัดได้จากเรดาร์ มากกว่า 50 มิลลิเมตร ยอดสูงมากกว่า 30,000 ฟุต เส้นผ่านศูนย์กลางกลุ่มฝนมากสุดประมาณ 16 กิโลเมตร และมีอาสาสมัครฝนหลวงส่งภาพฝนตกบริเวณ หมู่ 6 ต.บ้านหนุน อ.สอง จ.แพร่ เพื่อยืนยันฝนตก 

‘กรมฝนหลวง’ เตรียมปฏิบัติการทำฝนหลวงในภาคเหนือ  เริ่ม 11 เม.ย.นี้ หวังช่วยชะล้างฝุ่น PM 2.5 กว่า 50%

(9 เม.ย.67) นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือ ในฐานะที่ตนกำกับดูแลกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งมีภารกิจหลักในการแก้ไขปัญหา จึงสั่งการให้กรมฝนหลวงฯ นำเครื่องบินขึ้นทำฝนหลวง เพื่อดัดแปลงสภาพอากาศของภาคเหนือตอนบนทั้งหมด

“สร้างความมั่นใจว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์พื้นที่ภาคเหนือตอนบนทั้งหมด โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย ปริมาณฝุ่นจะลดลงอย่างต่ำ 50% ของพื้นที่ และในช่วงเวลาเดียวกันจะมีการวางแผนทำฝนหลวงควบคู่ไปด้วย เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงดังกล่าวเหมาะกับการทำฝนหลวง ซึ่งการปฏิบัติการดังกล่าวเรียกว่าเป็นการลดอุณหภูมิของสภาพอากาศ เพื่อให้ฝุ่นในชั้นล่างลอยขึ้นไปด้านบนได้ วิธีนี้จะช่วยให้ฝุ่นลดความแออัดลงได้ถึง 50% เช่นเดียวกัน” นายไชยา กล่าว

นายไชยา กล่าวว่า การทำฝนหลวงมีอุปสรรคต้องใช้น้ำเย็น ในขณะที่ประสิทธิภาพการทำฝนหลวงจริง ๆ ต้องใช้น้ำแข็งแห้ง แต่น้ำแข็งแห้งสามารถผลิตได้ที่เดียวคือที่ จ.ระยอง ดังนั้นการขนย้ายจาก จ.ระยอง มา จ.เชียงใหม่ จึงเป็นปัญหาอุปสรรค เพราะถ้ามีการขนมาประสิทธิภาพอาจลดลง จึงต้องแก้ไขสถานการณ์ด้วยการใช้น้ำเย็น

“ในวันที่ 11 เมษายนนี้ จะขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวงด้วยตนเอง เพราะอยากรู้การทำงานมีขั้นตอนอย่างไร โดยต้องอาศัยเทคนิคการคำนวนทิศทางลม ความชื้นของชั้นบรรยากาศ หากไม่ได้ขึ้นไปด้วยตัวเองก็จะอธิบายกับสังคมไม่ได้ จึงไม่อยากให้ด้อยค่ากรมฝนหลวง เนื่องจากทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีศาสตร์พระราชา และปฏิบัติการฝนหลวงสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้จริง และตอนนี้มีข้อเรียกร้องจากภาคประชาชนหลายพื้นที่ในการทำฝนหลวง” นายไชยา กล่าว

นายไชยา กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมฝนหลวง ขึ้นทำฝนหลวงทุกวันในช่วงสงกรานต์ คาดหวังว่าในช่วงสงกรานต์จะทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เที่ยวกันอย่างมีความสุข ส่วนกรณีที่เกิดข้อสงสัยว่าการทำฝนหลวงจะสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นในระยะยาวได้หรือไม่นั้น ต้นตอของปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นที่หน่วยงานของเรา แต่เรามีหน้าที่สนับสนุน จึงต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกัน รวมทั้งให้ความรู้ และขอความร่วมมือไม่ให้เกษตรกรเผาป่า ซึ่งจะสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

“การทำฝนหลวงไม่ได้ทำให้ฝุ่นทั้งหมดไป เนื่องจากฝุ่นดังกล่าวลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่สามารถลดปริมาณฝุ่นได้อย่างน้อย 50%” นายไชยา กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top