Friday, 10 May 2024
เรื่องเล่าอ่านเพลิน

‘ในหลวง ร.๙’ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประชาชนภาคอีสาน จุดเริ่มต้น ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ร่วงหล่นจากตำแหน่ง

พอถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ภาพประวัติศาสตร์หนึ่งที่จะวนมาให้เราได้ระลึกถึงกัน ก็คือการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรภาคอีสานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ ๙) ระหว่างวันที่ ๒ - ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรในภาคกลางมาแล้วในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ซึ่งในครั้งนั้นถือว่าเป็นการเสด็จฯ ครั้งประวัติศาสตร์ เพราะไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จฯ ทั่วทั้งภาคอีสานมาก่อน จะมีก็เพียง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่เคยเสด็จฯ ประพาสต้น จังหวัดนครราชสีมาโดยทางรถไฟเป็นการส่วนพระองค์ 

การเสด็จพระราชดำเนินประพาสอีสานและประเทศไทยในครั้งนั้นเกิดขึ้นจากการสนับสนุนของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น 

ทำไม ? จอมพล ป. จึงสนับสนุนการเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร ต่างจังหวัด ของรัชกาลที่ ๙ 

สืบเนื่องจากรัฐบาลพม่าโดยนายกรัฐมนตรีอูนุ ได้กราบบังคมทูลเชิญในหลวงรัชกาลที่ ๙ เยือนสหภาพพม่าเพื่อทรงเปิดการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ‘ฉัฏฐสังคายนา’ แต่ด้วยการกราบบังคมทูลเชิญในครั้งนั้นถือว่าไม่เป็นทางการเนื่องจากไม่ได้เป็นการเชิญโดยประมุขประเทศคือประธานาธิบดีบาอู พระองค์จึงทรงปฏิเสธ 

แต่จอมพล ป.เองก็ต้องการใช้การเสด็จฯ เยือนพม่าในคราวนี้ เพื่อสนับสนุนนโยบายการต่างประเทศ และการเมืองภายในประเทศของตน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงตระหนักดีว่า พระองค์สามารถใช้เรื่องนี้ต่อรองทางการเมืองกับรัฐบาลได้ โดยพระองค์มีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัดเป็นการแลกเปลี่ยนกับการเสด็จฯ เยือนพม่าตามความต้องการของรัฐบาล

การต่อรองนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ จอมพล ป. ต้องการฟื้นฟูบทบาทและกระชับความสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากมองว่าตนเองกำลังสู่ขาลง และการใช้ประโยชน์จากสถาบันฯ จะเป็นโอกาสที่ตนจะมีฐานทางการเมืองที่มั่นคงมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นนอกเหนือจากการเสด็จพระราชดำเนินในที่ต่างๆ แล้ว จอมพล ป.ยัง สนับสนุนให้ฟื้นฟูกรมกองและพระราชพิธีต่างๆ ที่ถูกยุบไปโดยคณะราษฎรขึ้นมาอีกครั้ง แม้บางอย่างจะเป็นไปในแบบย่นย่อก็ตาม

กลับมาเรื่องของการเสด็จพระราชดำเนินประพาสอีสานกันต่อ จากการต่อรองที่เกิดขึ้น ทำให้ จอมพล ป. กุลีกุจอในการวางแผนการเสด็จฯ ของในหลวง ร.๙ ไว้ ๓ ภาค คือ ภาคอีสาน, ภาคกลาง และภาคเหนือตลอดช่วงฤดูแล้งของปี ๒๔๙๘ โดยก่อนที่พระองค์จะเสด็จฯ เยือนภาคอีสาน พระองค์ทรงขอให้รัฐบาลจัดแผนการเสด็จฯ ไปยังบางจังหวัดในภาคกลาง ซึ่งจอมพล ป. ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับสนองพระบรมราชโองการทันทีพร้อมอนุมัติเงินจำนวน 260,000 บาท เพื่อใช้ในการซ่อมแซมที่ประทับ ค่าใช้จ่ายในการเสด็จฯ และค่าพระกระยาหาร … เรียกว่าใจป้ำสุดๆ 

ข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคอีสานได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว การร่ำลือปากต่อปากก็ทำให้แพร่ไปอย่างทั่วถึง ประชาชนแม้ในถิ่นทุรกันดารต่างหอบเสื่อหอบหมอน ข้าวปลาอาหาร จูงลูกจูงหลาน ชักชวนกันมาเฝ้า ทั้งในตัวเมืองที่กำหนดเป็นสถานที่รับเสด็จฯ หรือตามเส้นทางเสด็จผ่านทางถนนและทางรถไฟ อย่างที่สถานีรถไฟนครราชสีมา มีราษฎรมาเฝ้ารับเสด็จเป็นแสนคน โดยเดินทางมาจากอำเภอต่างๆ ทำให้โรงแรมในเมืองทุกแห่งเต็มหมดจนต้องพักกันตามศาลาวัด

“บารมีของในหลวงองค์นี้ล้นเหลือนัก” 
“เหมือนฟ้ามาโปรด” 
“แต่นี้ไปความแห้งแล้งจะหมดไปจากอีสานละ”  
“ฮ้อนปานใดก็ฮีดได้ ขอเห็นเจ้าอยู่หัวคักๆ เถอะ” 

คำเหล่านี้คือ คำพูดจากประชาชนเมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จฯ โดยมีภาพจำตลอดสองข้างทางที่เสด็จฯ นั้น คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่อยากจะชื่นชมพระบารมี แม้มืดค่ำก็ไม่ได้มีความย่อท้อ ทั้งยังตั้งโต๊ะบูชาเรียงรายไว้เป็นแถว จุดธูปเทียน ทำให้แสงเทียนแวววาวอยู่ในความมืดทั้งสองฟากถนน เป็นภาพที่งดงาม ประชาชนต่างนั่งพนมมือขณะที่รถพระที่นั่งผ่าน

ในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ ประวัติศาสตร์ชาติไทยต้องจารึกว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จฯ ไปสักการะพระธาตุพนม และภาพประวัติศาสตร์นึงที่เกิดขึ้น ณ จังหวัดนครพนมนี้ก็คือภาพที่ ในหลวง ร.๙ ทรงหยุดพระราชดำเนินที่แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ วัย ๑๐๒ ปี และโน้มพระองค์ลงจนพระพักตร์แทบแนบชิดศีรษะแม่เฒ่า แย้มพระสรวลด้วยความเมตตา พระหัตถ์แตะมือกร้านของแม่เฒ่าด้วยความอ่อนโยนถือได้ว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงถึงความอ่อนโยนของพระองค์ ที่ทรงน้อมพระองค์ลงสู่ราษฎร อันเป็นข้อหนึ่งในทศพิธราชธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์

การเสด็จฯ เยือนต่างจังหวัดได้เปิดโอกาสให้ประชาชนร้องทุกข์ต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยตรงแทนที่จะยื่นเรื่องผ่านส่วนราชการ ทำให้ข้าราชการได้ตื่นตัวเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ มากขึ้น เรียกได้ว่าไม่เคยเกิดขึ้นผ่านระบบการปกครองของพรรคการเมืองหรือคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ ๒๔๗๕ เป็นต้นมา และในการเสด็จฯ เยือนภาคอีสานในครั้งนี้ รัชกาลที่ ๙ ยังได้ทรงพบกับ กระต่าย โดนสโสฤทธิ์ และ ผุย ชนะนิกร นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรลาว ซึ่งเดินทางข้ามชายแดนมาเข้าเฝ้าฯ พระองค์ที่หนองคายด้วย โดยนายกฯ ลาว ถึงกับประหลาดใจที่คนไทยให้การต้อนรับในหลวงอย่างที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิตนี้ 

แต่คนที่น่าจะประหลาดใจที่สุดน่าจะเป็น จอมพล ป. พิบูลสงคราม เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยือนราษฎรภาคอีสานในครั้งนี้ สำหรับในหลวงรัชกาลที่ ๙ ถือว่าเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของประชาชนให้แก่พระองค์ และสำหรับจอมพล ป. แล้ว การสนับสนุนการเสด็จฯ ในครั้งนี้อาจเป็นนโยบายทางการเมืองที่ผิดพลาด เพราะนอกจากจะไม่สามารถสร้างความนิยมชมชอบตัวเขาในหมู่ประชาชนได้แล้ว กลับกลายเป็นว่าความชอบธรรมทางการเมืองและสังคมของจอมพล ป. กำลังถูกท้าทายจากบทบาทใหม่ของรัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชน ซึ่งกลายเป็นชนวนที่ต่อมาจอมพล ป. ลดงบประมาณการเสด็จพระราชดำเนินภาคเหนือของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ลง 

พร้อมด้วยทัศนคติของจอมพล ป. ที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้น ‘ย่ำแย่ลง’ ตามอุปนิสัยของท่านจอมพล ที่เรียกได้ว่า ‘ขี้อิจฉา’ โดยเฉพาะจุดแตกหักเกิดขึ้นหลังจากงาน ‘งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ’ หนังสือพิมพ์ที่ควบคุมโดย จอมพล ป. และ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์  ที่ชื่อว่า ‘ไทเสรี’ ได้ลงข่าวโจมตีพระราชวงศ์อย่างหยาบคาย (เป็นการพาดหัวข่าวในลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ)

กระแสของสังคมได้โต้กลับหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นอย่างรุนแรง รวมทั้งการอภิปรายโจมตีรัฐบาลอย่างหนักหน่วง ทำให้ความนิยมในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เป็นมาอย่างยาวนาน เสื่อมลงไปอีก ทั้งยังสร้างความโกรธแค้นชิงชัง จอมพล ป. ให้เกิดขึ้นกับประชาชน จนเกิดเป็นการทำรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่มีนักวิชาการตกขอบชอบยกเหตุการณ์นี้ว่าเกิดขึ้นจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทั้งๆ ที่องค์พระมหากษัตริย์ในสมัยจอมพล ป. แทบจะไม่มีพระราชอำนาจใดๆ เลย และบริบททางสังคมและการเมืองในสมัยนั้นต้องการมิ่งขวัญของปวงชนมากกว่าผู้นำเผด็จการที่ชอบแอบอ้างตนและหวังการใช้ประโยชน์จากองค์พระมหากษัตริย์

‘อีสาน ๒๔๙๘’ ต้นกำเนิด ‘ฝนหลวง’ เพื่อปวงชน ความคิดสร้างสรรค์ที่คนรุ่นใหม่บางคน ไม่เคยมี

๑๔ พฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็น ‘วันพระบิดาแห่งฝนหลวง’ ที่มักจะมีทีมงานสัมภเวสีออกมาดิ้น ปรักปรำ และด้อยค่า ‘ฝนหลวง’ เพื่อปวงชนของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยใส่ชุดความคิดที่ว่า “ในหลวงภูมิพลลอกความคิดเรื่องฝนหลวงมาจากฝรั่ง” ให้กับกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าคนรุ่นใหม่ เพื่อด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งชุดความคิดแบบนี้เมื่อใส่เข้าไปแล้วก็ไม่มีการพิสูจน์หรือหาข้อมูลเพิ่มเติม ได้แต่พร่ำบอกต่อกันไปราวกับนกแก้ว นกขุนทอง 

สรุปแล้วก็งงเหมือนกันว่า คนรุ่นใหม่บางคนทำไมถึงคิดกันได้เพียงเท่านี้? 

ถ้าจะเล่าเรื่องการเกิด ‘ฝนหลวง’ ก็อยากจะย้อนเชื่อมโยงไปกับการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรอีสานระหว่างวันที่ ๒-๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ที่เส้นทางเสด็จฯ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้น จะต้องผ่านพื้นที่ทุรกันดารมากมาย ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะถึงจุดหมาย

ระหว่างเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินฯ ในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งยี่ห้อเดลาเฮย์ ซีดานสีเขียว จากจังหวัดนครพนมไปจังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่านจังหวัดสกลนครและเทือกเขาภูพาน พระองค์ได้พบความขัดแย้งกันของความแห้งแล้งในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่พระองค์ต้องทรงแก้ไข 

เรื่องมีอยู่ว่าพระองค์ได้ทรงสอบถามราษฎรเกี่ยวกับความเสียหายทางการเกษตรที่คาดว่าน่าจะเกิดจากความแล้ง แต่กลับกันทรงพบว่า มันเกิดขึ้นจากน้ำท่วม ทั้ง ๆ ที่พื้นที่โดยรอบมีแต่ดินแดงและฝุ่นฟุ้งกระจายไปทั่ว ส่วนพอถึงหน้าแล้งก็ไม่มีฝน ไม่มีน้ำที่สามารถจะใช้เพื่ออุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรได้ ทั้งที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆเป็นกลุ่มก้อน สรุปคืออีสานมีทั้งน้ำท่วมและฝนแล้ง ไม่มีสิ่งที่จะแก้ไขได้...แต่พระองค์ไม่ทรงคิดอย่างนั้น

ด้วยความที่พระองค์ทรงเป็น ‘นวัตกร’ การแก้ปัญหาความขัดแย้งจนเป็นปัญหาปากท้องของราษฎรจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ปัญหาแรกคือน้ำท่วม เพราะการท่วมเกิดขึ้นจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ หรือพื้นที่ชะลอน้ำ เรื่องนี้ถูกแก้ด้วย ‘ฝายน้ำล้น’ และ ‘เขื่อน’ ขนาดเล็ก ๆ เพื่อชะลอและรองรับน้ำ ไม่ให้เกิดการชะล้างหน้าดินและสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร

ส่วนอีกเรื่องคือ ‘ฝน’ เป็นเรื่องที่พระองค์ทรงขบคิดและนำมาต่อยอดเมื่อกลับจากการเสด็จฯ ภาคอีสานแทบจะในทันที 

“...แต่มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้ ก็เคยได้ยินเรื่องการทำฝน ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้ มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้...”

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ซึ่งเป็นวิศวกรประดิษฐ์ควายเหล็ก ที่มีชื่อเสียงเข้าเฝ้าฯ และพระราชทานแนวความคิดนั้น พร้อมๆ กับที่พระองค์ได้ทรงเริ่มต้นลงมือทำการค้นคว้าทดลอง ประดิษฐ์คิดค้น และปฏิบัติการทดลองจริงในท้องฟ้า มิได้ทรงปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ คือทรงหาทั้งคนช่วยคิด ช่วยทำและทรงค้นคว้าพร้อมทรงปฏิบัติเองด้วยเพื่อความรวดเร็ว  

สำหรับการสร้าง ‘ฝนเทียม’ ที่คนรุ่นใหม่ถูกหลอกว่าฝรั่งเขาคิดได้ ในหลวง ร.๙ ไปลอกเขามา เรื่องนี้คนเชื่อต้องมีอคติบังตาขนาดไหน? และต้องไม่ศึกษาหาความรู้เบอร์ไหน? ถึงหลงเชื่อได้ขนาดนั้น 

‘พระองค์ไม่ได้ทรงคิดทดลองสร้างฝนเทียมเป็นคนแรก’ อันนั้นถูกต้อง!! เพราะผู้คิดทดลอง คือ นาย วินเซนต์ เชฟเฟอร์ และ เออร์วิง ลองมัวร์ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยใช้ส่วนประกอบหลักในการสร้างฝนเทียมคือสาร Silver Iodide ที่มีคุณสมบัติทำให้เมฆมีความเย็นเหนือจุดเยือกแข็ง ด้วยการโปรยสารนี้ลงมาจากเครื่องบินหรือปล่อยให้ลมหอบขึ้นไป จะทำให้ไอน้ำเกิดการควบแน่น และหนักมากพอจนตกลงมาเป็นฝน 

ดังนั้นหลักสำคัญของวิธีการนี้คือ ‘ปล่อยให้ลมหอบอนุภาคขึ้นไป’ หรือ ‘ปล่อยอนุภาคลงมา’ นั่นเอง ซึ่งว่ากันตามจริง มันคือ ‘เม็ดฝนตามยถากรรม’ ตามสารเคมีที่ใครก็ทดลองได้ ไม่ได้เป็นสิทธิบัตรทางความคิดอะไร ทั้งยังไม่เหมือนวิธีการทำ ‘ฝนหลวง’ แล้วจะเรียกว่าลอกได้อย่างไร?    

แน่นอนว่า ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักคิดค้นอย่างพระองค์ ทรงต้องทรงอ่านการผลการทดลองนี้เป็นแน่แท้ ตามที่พระองค์ได้พระราชทานแนวความคิดต่อ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ว่า “...เคยอ่านหนังสือ...ทำได้” 

กระนั้น พระองค์จึงทรงคิดค้นและต่อยอดเพื่อให้ ‘ฝน’ ของพระองค์ ‘ควบคุมได้’ ไม่ได้สักแต่เอาสารเคมีไปโปรยเพื่อให้เกิดฝนตามยถากรรม 

ก่อกวน - เลี้ยงให้อ้วน - โจมตี ๓ ขั้นตอนที่พระองค์ทรงทดลอง สู่เทคนิคที่เรียกว่า ‘Super Sandwich’ ลงรายละเอียด จนเกิดเป็น ‘ฝนเทียม’ ที่มีประสิทธิภาพ มากกว่าการโปรยแค่สารเคมีอย่างเดียวอย่างที่ฝรั่งเขาทำกัน ซึ่งกระบวนการสร้าง ‘ฝน’ ของพระองค์ได้รับสิทธิบัตร ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕ เนื่องจากเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นตอนที่สูงขึ้น เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรม 

ทั้งนี้ ‘ฝนหลวง’ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้รับการยอมรับในหมู่นักวิทยาศาสตร์, องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และอุตุนิยมวิทยาระดับโลก จนในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ‘ฝนหลวง’ ก็ได้รับสิทธิบัตรโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนในต่างประเทศ สำนักสิทธิบัตรยุโรป (EPO) ก็ขึ้นทะเบียน ‘ฝนหลวง’ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาตามหมายเลข ‘EP1491088’ อีกทั้งยังมีสิทธิบัตรอยู่ในประเทศอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้าแค่การโปรยสารเคมีบางอย่างลงบนเมฆแล้วเกิด ‘ฝนเทียม’ แต่ควบคุมไม่ได้ มีเม็ดฝนแล้วแต่บุญแต่กรรม ‘ฝนหลวง’ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็คงไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ 

แน่นอนว่า คนรุ่นใหม่ที่อยากด้อยค่าสถาบันฯ ก็คงคิดแต่มุมที่พระองค์ทรงลอกฝรั่งมา ก็วนอยู่แค่นั้น และไม่ได้สำเหนียกรู้เลยว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องผ่านการค้นคว้า ทดลอง จนเกิดเป็นงาน ‘Original’ มันเป็นแบบไหน?

‘ฝนหลวง’ ไม่เพียงแค่ช่วยราษฎรชาวอีสาน แต่ยังช่วยราษฎรในภูมิภาคอื่น ๆ อีกด้วย การคิดค้น ต่อยอดด้วยความสร้างสรรค์ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านทรงทำให้ดูแล้ว เกิดผลจริงแล้ว พิสูจน์ได้ ไม่ใช่ ‘ฝนเทียม’ จากสาร Silver Iodide ที่กระจัดกระจายและไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สร้างสรรค์และพิสูจน์อะไรไม่ได้สักอย่างเดียว

เมื่อใต้ร่มไม้ใหญ่-ผืนป่า-ลำธาร ก่อกำเนิด 'ชีวิต-ทอแสงส่องให้ทั่วหล้า' แล้วเหตุไฉน จึงมีผู้ชี้นำว่า 'ความมืดมิด' คิดว่าเกิดจากร่มไม้ใหญ่

“ถูกปลูกฝังว่าเราควรอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ จนสุดท้ายเรามองไม่เห็นแสงเลย #แล้วเมื่อไหร่เราจะเติบโตสักที” คำคมจากศิลปินท่านหนึ่ง ที่กลายเป็นข้อถกเถียงกันพอสมควรว่าหมายถึงอะไร ศิลปินท่านนั้นหิวแสง หรือกำลังพูดถึงการเติบโตแบบไหน 

ที่ผมเกริ่นมาข้างต้นนั้นช่างมันเถอะ คำคมของศิลปินท่านนั้นก็ช่างมันเถอะ!!!

สำหรับผมต้นไม้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญ ร่มไม้ที่มีอยู่คือความร่มเย็น การอยู่ใต้ร่มไม้เราก็เห็นแสงได้ ซึ่งข้อนี้คงขัดกับสิ่งที่ศิลปินท่านนั้นแสดงความคมแบบทื่อ ๆ ไว้

ความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ที่ปกคลุมช่วยทำให้พืชพรรณเบื้องล่างชุ่มชื้นไม่โดนแสงแดดแผดเผา ประเทศไทยเราต้องการต้นไม้ใหญ่จำนวนมากเพื่อช่วยฟอกอากาศ ช่วยเก็บกักความชุ่มชื้นไว้ในผืนดิน ช่วยอุ้มชูต้นไม้เล็กให้ค่อย ๆ โตเป็นต้นไม้ใหญ่ 

ร่มไม้ใหญ่ที่ผมนึกถึงและอยากเล่าเรื่องราวคงจะเป็นเมื่อครั้งที่ได้ไปทำฝายทดน้ำที่เรียกว่า ‘ฝายแม้ว’ ที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อถวายแก่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในปี ๒๕๔๙ 

ครั้งนั้นผมเริ่มต้นด้วยการสำรวจที่พื้นที่ป่าตามเส้นทางชมธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ซึ่งในวันนั้นผมได้มีโอกาสสัมผัส ‘ป่า’ ที่อุดมไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ โดยการนำทางของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เส้นทางธรรมชาติที่คุณห้ามออกนอกทางเป็นอันขาดไม่งั้นหลงป่าแน่นอน 

เราเดินกันมาได้ราว ๆ ครึ่งชั่วโมง เดินพูดคุยกันแบบสบาย ๆ แม้จะเส้นทางจะมีความลำบากอยู่บ้าง เพราะเป็นทางขึ้น ๆ ลง ๆ แคบบ้าง กว้างบ้าง แต่ไม่มีความรู้สึกว่าร้อนเกินไป หรือเย็นเกินไป ด้วยร่มไม้จากป่าที่ปกคลุม พร้อมกับการได้รู้จักพันธุ์ต้นไม้ไม่คุ้นหู อย่าง น้ำเต้าพระฤาษี แต่ที่สำคัญกว่าผมได้พบกับความจริงที่สำคัญอย่างนึง

เจ้าหน้าที่อุทยานถามผมขณะเดินว่าสังเกตเห็นอะไรในป่าบ้างไหม ? คุณเห็นต้นไม้ที่หนาแน่นมีลักษณะยังไงบ้าง ? ผมนี่งงเลย มันก็ป่า มีต้นไม้แน่น แล้วมันยังไง ? 

ต้นไม้ที่หนาแน่นนั้น หากสังเกตดี ๆ มันมีความเป็นระเบียบเป็นบางส่วน คำว่า ‘บางส่วน’ ที่ว่ามันกินพื้นที่ ‘บางส่วน’ ของภูเขาที่ผมกำลังมองเห็นไม่ใช่บางส่วนเล็ก ๆ แต่มันเป็นบางส่วนที่ค่อนข้างกว้าง ป่าที่เห็นรวม ๆ จะเป็นป่าไม้เต็ง ส่วนที่เป็นระเบียบแทรกอยู่เป็นต้น ‘สัก’ ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะแถวๆ ริมห้วย

ป่าไม้ ‘สัก’ ที่เห็นเป็นระเบียบแต่ปกคลุมไปอย่างกว้างขวางนั้น เจ้าหน้าที่บอกผมว่าแต่เดิมมันเคยเป็นที่ ‘หัวโล้น’ เป็นวง ๆ อยู่ท่ามกลางภูเขา เพราะเกิดจากแผ้วถางทำไร่เลื่อนลอย ลักลอบตัดไม้ และน่าจะขยายวงไปมากกว่านี้ แต่พื้นที่ ‘หัวโล้น’ เหล่านี้ค่อย ๆ หายไปเพราะได้รับการปลูกป่าทดแทน จากการสังเกตของบุคคลผู้หนึ่งที่ได้นั่งเฮลิคอปเตอร์ผ่านไปเมื่อประมาณสัก ๑๐ กว่าปีก่อน

ป่าที่ถูกปลูกขึ้นเพื่อทดแทนป่าที่หายไป โดยเป็นการปลูกพันธุ์ไม้ที่ไม่ได้รบกวนระบบนิเวศเดิม ช่วยรักษาความชุ่มชื้นหน้าดิน และตลอดทางที่เดินผ่านจะเห็นทางน้ำขนาบไปด้วย แม้จะไม่มีน้ำแต่ก็มีความชุ่มน้ำอย่างเห็นได้ชัด

บางส่วนที่มีลำน้ำไหลผ่านผมก็จะเห็นฝายแม้วที่ทำขึ้นจากไม้ไผ่และก้อนหิน ขนาบสองฝั่งลำน้ำเล็กๆ ด้วยต้นไม้ใหญ่ปกคลุม 

‘ในหลวงรัชกาลที่๙’ คือบุคคลผู้นั่งเฮลิคอปเตอร์ผ่านไปในวันนั้น พระองค์ทรงสังเกตเห็นความแหว่งของป่า สีของป่าที่ดูเหมือนคนป่วย พระราชดำริในการปลูกป่าในภาคเหนือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผสมกับการสร้างฝายแม้วเพื่อชะลอและกักเก็บน้ำให้เกิดประโยชน์ต่อการเกษตร เจ้าหน้าที่ท่านนั้นบอกกับผม 

นอกจาก ‘ป่าไม้’ จริง ๆ ที่พระองค์ทรงปลูกแล้ว พระองค์ยังทรง ‘ปลูกป่าในใจ’ ให้เกิดขึ้นใจของปวงชนด้วย ผมก็เป็นหนึ่งคนที่จดจำความร่มเย็นจากป่าที่พระองค์ทรงปลูกไว้ได้อย่างเต็มหัวจิตหัวใจ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระองค์ที่ว่า

“…ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...” 

เรื่องออกจากร่มไม้ใหญ่หรือเรื่องการเติบโต หากยังไม่รู้จัก และจะออกจากร่มไม้ก็ช่างมันเถอะนะครับ ส่วนเจ้าหน้าที่ท่านนั้นก็ได้พูดคุยกับผมมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเพื่อนกัน และส่งข่าวคราวหากันอยู่บ่อย ๆ และเราเห็นตรงกันครับว่า...

บ้านเราต้องมีต้นไม้ มีป่า มีน้ำ แล้วเราถึงจะมี ‘ชีวิต’ ครับ

กบฏ ร.ศ.๑๓๐ คณะก่อการจากนายทหารหนุ่มหัวก้าวหน้า ผู้ไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็น 'ระบอบประชาธิปไตย'

กบฏ ร.ศ.๑๓๐ คณะก่อการผู้ไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็น ‘ระบอบประชาธิปไตย’

เดือนพฤศจิกายนมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ หลายเหตุการณ์ หนึ่งในนั้นคือ ‘การพระราชทานอภัยโทษ’ กบฏ ร.ศ.๑๓๐ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงครองสิริราชสมบัติมาถึงปีที่ ๑๕ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวเป็นอิสระทุกคน รวมเวลาที่ถูกคุมขังจริงรวม ๑๓ ปี

จากเดิมที่มีบทลงโทษ โดยคณะตุลาการศาลทหารตัดสินลงโทษให้จำคุกและประหารชีวิต โดยมี โทษประหารชีวิตหัวหน้าผู้ก่อการจำนวน ๓ คน คือ ร้อยเอก เหล็ง ศรีจันทร์, ร้อยโท จรูญ ณ บางช้าง และ ร้อยตรี เจือ ศิลาอาสน์ และโทษจำคุกแบ่งเป็นตลอดชีวิต ๒๐ คน จำคุกยี่สิบปี ๓๒ คน จำคุกสิบสองปี ๓๐ คน และจำคุกสิบห้าปี ๖ คน แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้มีพระบรมราชวินิจฉัย และได้มีพระบรมราชโองการพระราชทาน ‘อภัยโทษ ละเว้นโทษประหารชีวิต ด้วยทรงเห็นว่า ทรงไม่มีจิตพยาบาทต่อผู้คิดประทุษร้ายแก่พระองค์’

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป จากคำบอกเล่าและบันทึกของผู้ก่อการว่า กบฏ ร.ศ.๑๓๐ เป็นการรวมตัวกันของนายทหารหนุ่มหัวก้าวหน้า ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่มาถูกจับได้เสียก่อน จึงกลายเป็น ‘กบฏ’ ตรงนี้ให้สังเกตตรงความต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ ‘ระบอบประชาธิปไตย’ นะครับ

การรวมตัวกันของคณะนายทหารหนุ่มนี้นำโดย ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) และคณะอีกหลายต่อหลายท่าน โดยมีเหตุเริ่มต้นตามบันทึกจากข้อเขียนใน ‘หมอเหล็งรําลึก ภาคปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ.๑๓๐’ อนุสรณ์ในงานศพ ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อวันอังคารที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๓ โดยพุ่งเป้าไปที่รัชกาลที่ ๖ ขณะเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สรุปความว่า 

“ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีนายทหารต้องถูกเฆี่ยนหลังด้วยเหตุไม่สมควรประกอบด้วย ร้อยเอก โสม พร้อมด้วยนายร้อย นายดาบ และ นายสิบพลทหาร รวม ๕ คน กลางสนามหญ้าภายในกระทรวงกลาโหม เนื่องจากไปมีเหตุวิวาทเรื่องผู้หญิงกับมหาดเล็กของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ซึ่งการเฆี่ยนตามจารีตนครบาลนั้นได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงไม่ยอม ทูลฯ ฟ้องในหลวงรัชกาลที่ ๕ เพื่อให้ลงโทษให้ได้ จนเกิดเป็นวาทกรรมที่ว่า ‘สมเด็จพระยุพราชทรงยืนกรานจะให้เฆี่ยนหลังเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง’” 

แต่เชื่อไหมครับว่าความเป็นจริงที่ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นทางการมันช่างขัดแย้งกับบันทึกนี้!!! 

ความขัดประการแรกขัดกับ ‘ประกาศกระแสพระราชดําริห์ในเรื่อง เป็นลูกผู้ชาย’ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศไว้เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ร.ศ.๑๒๘ โดยมีความตอนหนึ่งระบุว่า “การที่จะลงพระราชอาญาด้วยอาการใดๆ มีตีและขังเป็นต้น ก็ทรงพระราชดําริห์ว่าน่าจะไม่เป็นประโยชน์ เพราะลูกผู้ดีไม่ใช่สัตว์เดียรฉานที่จะบังคับบัญชาได้ด้วยอาญา” ซึ่งความตอนนี้ก็สอดคล้องกับที่ทรงพระราชบันทึกไว้ใน ‘ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖’

ความขัดแย้งประการต่อมาจาก ‘หนังสือยุทธโกษ’ ซึ่งเป็นหนังสือของทหาร และ ‘ประกาศถอดยศนายทหาร ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา’ ทั้งสองฉบับนี้ต่างระบุตรงกันว่า ‘ทหาร’ เป็นฝ่ายทำร้ายมหาดเล็ก ไม่ใช่มหาดเล็กทำร้ายทหารตามที่คณะกบฏ ร.ศ.๑๓๐ อ้าง 

ข้อขัดแย้งต่อมาคือ ผู้ที่ทูลฯ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตการ ‘เฆี่ยน’ นั้นไม่ใช่ ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ’ (รัชกาลที่๖) แต่เป็น ‘พลเอก พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช’ ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ โดยเป็นการลงโทษตาม ‘กฎว่าด้วยอํานาจลงอาญาทหารบก’ ที่มีโทษอยู่ ๗ ประการคือ 

๑.โบย 
๒.จําขัง 
๓.กักขัง 
๔.ยังมืด 
๕.กักยาม 
๖.ทัณฑกรรม 
๗.ภาคทัณฑ์ 

เพราะทหารเหล่านั้นมีความผิดฐานออกนอกกรมกองในเวลาวิกาล แล้วไปวิวาทกับบุคคลพลเรือน เป็นเรื่องผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนเมื่อรัชกาลที่ ๖ ทรงครองราชย์ กฎการโบยนี้ได้ถูกยกเลิกเพราะพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับการโบยตีทหาร 

แต่แค่เริ่มต้นด้วยการเสียศักดิ์ศรีเพราะการ ‘เฆี่ยน’ หรือ ‘โบย’ นั้นมันน่าจะยังไม่เพียงพอ เราก็มาพออีกบันทึกหนึ่งเพื่อยืนยันความชอบธรรมในการจะเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะกบฎ ร.ศ.๑๓๐ มาจากบทความ ‘ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจรีญของประเทศ’ (สะกดตามต้นฉบับ) เขียนโดย ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) นายทหารหัวหน้าคณะผู้ก่อการกบฏ ร.ศ.๑๓๐ ซึ่งใส่ร้ายและยัดเยียดการปกครองโดยกษัตริย์ให้เป็นสิ่งชั่วร้าย ดังระบุว่า

“… การปกครองประเทศตามวิธีนี้ เป็นวิธีที่ร้ายแรงมาก เพราะกระษัตริย์มีอำนาจเต็มที่ โดยอยู่เหนือกฎหมาย กระษัตริย์กระทำการชั่วร้ายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ทำได้ เพราะไม่มีใครขัดขวาง ...ราษฎรที่ไม่มีความผิด กระษัตริย์จะเอามาเฆี่ยนตีหรือฆ่าฟันและจองจำได้ตามความพอใจ ทรัพย์สมบัติแลที่ดินของราษฎรนั้น กระษัตริย์จะเบียดเบียนมาแลกเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวได้โดยไม่มีขีดขั้น อย่างไล่ที่ทำวังเป็นต้น …” 

รวมไปถึงการโจมตีในหลวงรัชกาลที่ ๖ ในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านของการจัดการราชการ เรื่องเสือป่า เรื่องข้าราชบริพารส่วนพระองค์ จนสุดท้ายนอกจากความคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลายมาเป็นการ ‘ลอบสังหาร’ ในหลวงรัชกาลที่ ๖ เพื่อเปลี่ยนกษัตริย์ใหม่ โดยมือสังหารมีที่มาจากการ ‘จับสลาก’

ไหน? ว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบใหม่ ? 

จากคำให้การของคณะกบฏ ร.ศ.๑๓๐ พวกเขาอยากจะเปลี่ยนแปลงทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีข้อสรุปเลยว่าจะเปลี่ยนเป็นระบอบไหน จะเป็นแบบญี่ปุ่นที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญโดยมีการทหารนำ หรือจะเป็นแบบสาธารณรัฐ แบบฝรั่งเศส แต่ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ นอกจากประโยชน์ที่จะเกิดกับตัวพวกคณะเอง

เนื้อหาในการประชุมที่มักจะมีแต่จะยกใครขึ้นเป็นกษัตริย์หรือเป็นประธานาธิบดี เช่น ถ้าเปลี่ยนกษัตริย์ ก็จะทูลเกล้าฯ ถวายราชบัลลังก์แก่ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ’ เพราะพระองค์เป็นทหารสามารถสร้างความเข้มแข็งที่นำโดยทหารได้แน่ (ประชาธิปไตยแบบไหน?) แต่ถ้าเป็นสาธารณรัฐ ประธานาธิบดีก็ต้องเป็น ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์’ หรือจะเอายังไง ? ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะวนอยู่เท่านี้ 

แต่ในมุมกลับกัน เรื่องการปรับเปลี่ยนการปกครองนั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงศึกษาธิการ เร่งรัดจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ ซึ่งมีการจัดแผนการศึกษาแห่งชาติเป็นระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษา แล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ให้ไปสร้างโรงเรียนประชาบาลให้ครบทุกตำบลภายใน ๑๕ ปี นับแต่ทรงครองราชย์ เพื่อที่จะให้การศึกษา ให้ความรู้ด้านการปกครอง อันจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพระราชทานการปกครองท้องถิ่นให้กับราษฎร อันเป็นรากฐานไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่พระองค์เรียกว่า ‘คอนสติตูชั่น’

ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ท่านทรงเข้าพระทัยดีในเรื่องของรูปแบบการปกครองสมัยใหม่ ดังที่ปรากฎในพระราชบันทึกเรื่อง ‘คอนสติตูชั่น’ และ ‘โสเชียลิสม์’ ที่ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ หนึ่งปีก่อนจะเกิดกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ โดยความตอนหนึ่งระบุว่า 

‘คอนสติตูชั่น’ ว่า “ถ้ามีผู้ต้องการ ‘คอนสติตูชั่น’ จริงๆ และเปนไปได้จริง จะเปนคุณอย่างใดฤาไม่ แต่ถ้าแม้ต่างว่ามีคนจำพวก ๑ ซึ่งตั้งใจดีจริง มีความมุ่งดีต่อชาติจริง จะมาร้องฎีกาขึ้นโดยตรง ๆ ขอให้มีคอนสติตูชั่น เราเองจะไม่มีความแค้นเคืองเลย ตรงกันข้าม เราจะยอมพิจารณาดูว่า จะสมควรยอมตามคำขอร้องของคนนั้นฤาไม่ ถ้ามีคอนสติตูชั่นได้จะยิ่งดี...” 

นอกจากนั้นพระองค์ก็เข้าใจลักษณะการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญดังข้อความที่ว่า 

“..คุณแห่งลักษณปกครอง โดยมี ‘คอนสติตูชั่น’..นั้นเปนการตัดความไม่แน่นอนไปได้มาก เพราะอำนาจไม่ได้อยู่ในมือคนๆเดียว ซึ่งแม้ว่าจะดีฤาชั่วปานใดก็เปลี่ยนไม่ได้ ประชาชนได้เสียงในการปกครองชาติบ้านเมืองของตนเอง ...และถ้าแม้จะกล่าวไปแต่โดยทางว่าเปนแบบแผนดีฤาไม่คงไม่มีใครเถียงเลย คงต้องยอมรับว่าดีทั้งนั้น” 

ถ้าคุณอ่านถึงตรงนี้คุณจะเห็นภาพการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในเรื่องของการปรับเปลี่ยนการปกครองของพระมหากษัตริย์ของเรา จากรัชกาลที่ ๕ มารัชกาลที่ ๖ ไปสู่รัชกาลที่ ๗ จนเกิดการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ทุกพระองค์จะมุ่งเน้นให้เกิดการศึกษาและสร้างรากฐานเสียก่อน เพื่อไม่ให้การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั้น ‘เสียของ’ แต่บรรดาผู้อยากเปลี่ยนแปลงไม่เคยมองมุมนี้กันเลย คิดแต่ว่า ‘ยึดอำนาจ’ ก่อน แล้วค่อยคิดทีหลังเสมอ ๆ 

มาถึงตรงนี้ กบฏ ร.ศ. ๑๓๐ เราจะเห็นม่านเทา ๆ จากความไม่ชัดเจนในการก่อการ และการมีข้อมูลที่ช่างย้อนแย้ง เอาแน่เอานอนไม่ได้ จนกลายเป็นหอกทิ่มแทงคณะผู้ก่อการกันเอง แต่เผอิญว่าหอกมันทิ่มมาเร็วกว่าคณะราษฎร ๒๔๗๕ เลยกลายเป็นกบฏ 

แต่ที่พอจะยืนยันได้ กบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ไม่ได้อยากเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็น ‘ระบอบประชาธิปไตย’ จริง ๆ หรอก 

นัยแห่งสยาม!! ไม่มีลอยกระทง ไม่มีนางนพมาศ ในสมัยสุโขทัย แต่เพราะบ้านเมืองเราดี ถึงมีประเพณีขอขมาแม่น้ำอันดีงามนี้เกิดขึ้น

‘นางนพมาศ’ หรือ ‘ท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ ที่เชื่อกันว่า เป็นพระสนมของพระร่วง และได้คิดประดิษฐ์กระทงขึ้นมาเป็นครั้งแรก ตั้งแต่สมัยสุโขทัยนั้น เชื่อว่าหลายท่านคงทราบ อาจจะเคยได้ยิน และหลายท่านก็อาจจะไม่เคยรู้ถึงที่มาที่ไปมาก่อน

จากข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ รวมไปถึงนักวิชาการ และกรมศิลปากรได้ยืนยันว่า นี่เป็นเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓  

‘ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ’ สมมติให้ฉากของเรื่อง เกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศ ว่าเป็นพระสนมเอกของพระร่วง ที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวขึ้น ดังนั้น นางนพมาศจึงเป็นเพียง ‘นางในวรรณคดี’ ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง

โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์คำนำหนังสือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อปี ๒๔๕๗ ว่า 

“ว่าโดยทางโวหาร ใคร ๆ อ่านหนังสือเรื่องนี้ด้วยความสังเกตจะแลเห็นได้โดยง่าย ว่าเปนหนังสือแต่งในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง แต่งในระหว่างรัชกาลที่ ๒ กับที่ ๓ ไม่ก่อนนั้นขึ้นไป ไม่ทีหลังนั้นลงมาเปนแน่ ถ้าจะหาพยาน จงเอาสำนวนหนังสือเรื่องนี้ไปเทียบกับสำนวนหนังสือจาฤกครั้งศุโขไทยหรือหนังสือที่เชื่อว่าแต่งครั้งศุโขไทย เช่น หนังสือไตรภูมิพระร่วงเปนต้น หรือแม้ที่สุดจะเอาไปเทียบกับหนังสือที่แต่งเพียงในชั้นกรุงเก่า ก็จะเห็นได้แน่นอนว่า สำนวนหนังสือเรื่องนางนพมาศเปนหนังสือแต่งใหม่เปนแน่”

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นอะไร ?

การแต่งหนังสือขึ้นมาเพื่อแสดงถึงเรื่องราวประเพณีอันสุดจินตนาการนี้ เพราะบ้านเมืองของเราดี มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำท่า เมื่อมีความอุดมสมบูรณ์ ก็ต้องมีการหลอมรวมจิตใจ การสร้างความปึกแผ่นและการมีส่วนร่วมของคนในชาติ การสร้างกุศโลบายโดยตัวหนังสือและการบอกเล่าจึงเป็นเครื่องมือเพื่อโน้มนำการณ์ดังกล่าว การสร้างประเพณีใหม่บนพื้นฐานพระราชพิธีเดิมจึงได้เกิดเป็นเรื่องราวของการลอยกระทงขึ้น 

สำหรับสุโขทัยแม้ว่า ‘ลอยกระทง’ จะไม่ได้เกิดขึ้นในยุคนั้น แต่ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ก็ปรากฏคำที่เกี่ยวข้องกับการเผาเทียนเล่นไฟ โดยระบุไว้ว่า “เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดเข้ามาดูท่านเผาเทียนเล่นไฟ” (อันนี้ไม่ขอถกเถียงเรื่องของที่มา ที่ไปของหลักศิลาจารึกนะครับ) ซึ่งก็นับเป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกันได้ 

ซึ่งคำว่า ‘เที้ยร’ หมายถึง ‘เทียนบูชา’ และการขอขมาพระแม่คงคา ส่วนคำว่า ‘เล่น’ หมายถึงการทำอะไรให้เป็นที่สนุกเพลิดเพลิน ผนวกกับคำว่า ‘ไฟ’ จึงหมายถึงการทำอะไรให้สนุกสนานเพลิดเพลินด้วยไฟ ซึ่งมีความหมายกว้าง ๆ ว่า ทำบุญไหว้พระก็ได้ เพียงแต่เป็นพิธีใหญ่แตกต่างจากงานปกติ ซึ่งผมอนุมานเอาแบบนี้นะครับ

มาที่ราชพิธีบ้าง ผมว่าหลายท่านคงได้เห็นพระราชพิธี ‘จองเปรียง’ ผ่านละคร ‘พรหมลิขิต’ ไปกันบ้างแล้ว

จากพระราชนิพนธ์ พระราชพิธีสิบสองเดือนของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ระบุว่า พระราชพิธีเหล่านี้เป็นพระราชพิธีสําหรับปฏิบัติในพระนครซึ่งมีมาตั้งแต่อดีต 

พระราชพิธีเหล่านี้เกิดขึ้นจากความเชื่อในด้านไสยศาสตร์ที่มีการนับถือ พระเจ้าต่าง ๆ ในศาสนา พราหมณ์ และส่วนหนึ่งเกิด จากความเชื่อความศรัทธา ในพุทธศาสนาควบคู่กัน ดังนั้นในพระราชพิธีบางอย่าง จึงเป็นการผสมผสานระหว่างพราหมณ์และพุทธ

ในพระราชกําหนดกฎมณเฑียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงพระราชพิธีประจําเดือนทั้ง ๑๒ เดือนไว้ว่า เป็น ‘กิจซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงทําเพื่อเป็นมงคลสําหรับพระนคร ทุกปีมิได้ขาด’

โดยระบุไว้ว่าในเดือน ๑๒ มี ‘พิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม’ โดยแยกเป็น ๒ กิจกรรมที่กระทำในคราวเดียวกันคือ กิจกรรมที่ ๑ จองเปรียงลดชุด ซึ่งทำบนบก และกิจกรรมที่ ๒ ลอยโคม ซึ่งลอยลงน้ำ

สมัยอยุธยา ทั้งเอกสารและวรรณคดีก็ระบุไว้ถึงการ ‘ชักโคม ลอยโคม และแขวนโคม’ ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ก็มีบันทึกไว้ดังนี้ 

“ประชาชนพลเมืองจะแสดงความขอบคุณแม่น้ำ (พระแม่คงคา) ด้วยการตามประทีปโคมไฟขนาดใหญ่ (กลางแม่น้ำ) อยู่หลายคืน…เราจะเห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ…ไปตามกระแสธาร มีขนาดใหญ่ย่อมต่างกันตามศรัทธาปสาทะของแต่ละคน…โดยนัยเดียวกัน เพื่อแสดงความขอบคุณต่อแม่พระธรณี ที่อนุเคราะห์ให้เก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์ในวันต้นๆ ของปีใหม่ชาวสยามก็จะตามประทีปโคมไฟขึ้นอย่างมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง” 

“สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต” 

คำกราบขอขมาแม่พระคงคาต่อความผิดพลั้ง สร้างสิ่งไม่ดีต่อแม่น้ำพร้อมตั้งจิตลอยเคราะห์กรรมไปกับแม่น้ำ แต่ไม่ใช่การล้างบาปที่เรากระทำนะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าลอยกระทงก็จะช่วยล้างบาปไปได้ แต่สิ่งที่ได้จากการขอขมานี้คือการสร้างสำนึกรู้ต่องการกระทำของเราที่ส่งผลต่อสายน้ำ ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการลอยกระทง ลอยประทีป หรือลอยโคมของเรา ย่อมกระทบต่อทุกสิ่งรอบตัว

ไม่ว่า ‘ลอยกระทง’ จะเกิดขึ้นในยุคสมัยไหน สิ่งที่สำคัญที่ควรรู้ก็คือประเพณีนี้เกิดขึ้นเมื่อยุคบ้านเมืองดี เป็นกุศโลบายเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีของคนในครอบครัว ในบ้านเมือง และเพื่อให้รู้จักบุญคุณของแม่น้ำ เพื่อช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาทรัพยากรของประเทศไทยเรา ให้อยู่ต่อไปสืบลูก สืบหลาน

พระแก้วมรกต ถูกอัญเชิญออกจากที่ประดิษฐานกี่ครั้ง ครั้นสมัยรัตนโกสินทร์ และด้วยเหตุอันใด

ในช่วงสักเดือนกว่า ๆ มานี้ ผมได้พูดคุยและสัมภาษณ์นักวิชาการหลายต่อหลายท่านในเรื่อง ‘เมืองมรดกโลกเมืองศรีเทพ’ จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ในระหว่างที่พูดคุยผมก็เกิดนึกถึงเรื่องอื่น ๆ ของจังหวัดเพชรบูรณ์ไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการตั้งนครบาลเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงใหม่เพื่อหนีสงคราม และเรื่องการขนทรัพย์สินอันมีค่าหลาย ๆ อย่างของชาติไปเตรียมไว้ ณ ถ้ำฤาษีสมบัติ ซึ่งทรัพย์สินมีค่านั้น มี ‘พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร’ หรือ ‘พระแก้วมรกต’ รวมอยู่ด้วย 

การอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ สถานที่ต่าง ๆ เคยเกิดขึ้นนับเนื่องเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว ผมไม่ขอเล่าซ้ำ แต่ถ้าจำเพาะมาในยุครัตนโกสินทร์ของเรานี้ ‘พระแก้วมรกต’ เคยถูกอัญเชิญออกจากที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ ‘วัดพระศรีรัตนศาสดาราม’ สักกี่ครั้ง? เคยถูกอัญเชิญออกจากพระบรมมหาราชวังสักกี่ครา? เรื่องนี้แหละ ที่ผมกำลังจะเล่าให้อ่านเพลิน ๆ กัน 

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ‘พระแก้วมรกต’ นั้นแกะสลักมาจากแท่งหินหยกทั้งก้อน ซึ่งไม่ได้มีแต่เพียงองค์พระที่เราเห็นเพียงอย่างเดียว แต่ด้านล่างขององค์พระที่ไม่ได้แกะสลักนั้น เป็นแท่งหินขนาดกว้างใกล้เคียงกับองค์พระคือประมาณ ๔๘ เซนติเมตร ลึกลงไปประมาณ ๒๙ เซนติเมตร สวมลงไปในฐานกลีบบัวคว่ำบัวหงายที่มีทองคำหุ้มอยู่ ถ้าจะอัญเชิญไปไหนก็ต้องเป็นการเฉพาะ เพราะไม่สามารถนำไปตั้งบนพื้นเรียบ ๆ ได้เลย 

การอัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ ออกจากที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถแต่ไม่ได้นำออกจากพระบรมมหาราชวังนั้นเกิดขึ้นทั้งสิ้น ๕ ครั้ง ดังนี้...

ครั้งแรก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มความสูงของบุษบกโดยนำพระแท่นเบญจาสามชั้นหุ้มด้วยทองคำ ที่เคยใช้ประดิษฐานรองรับพระบรมโกศ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ มาถวายเป็นพุทธบูชา เสริมหนุนองค์บุษบกที่ทรงพระแก้วมรกตให้สูงขึ้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ครั้งที่สอง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘พระพุทธปรางค์ปราสาท’ เพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกตในปีพ.ศ. ๒๓๙๘ ครั้นก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์มีพระบรมราชวินิจฉัยว่าปราสาทแห่งนี้มีขนาดเล็กไม่เพียงพอแก่การพระราชพิธีต่าง ๆ จึงนำไปประดิษฐานไว้ภายในพระอุโบสถตามเดิม พระพุทธปรางค์ปราสาทนี้คือ ‘ปราสาทพระเทพบิดร’ นั่นเอง 

ครั้งที่สาม ในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คือในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ เกิดไฟไหม้พระพุทธปรางค์ปราสาทลุกลามไฟโหม เกรงไฟจะไหม้พระอุโบสถวัดพระแก้วไปด้วย จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ พระมหามณเฑียร ชั่วคราว 

ครั้งที่สี่ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในโอกาสครบ ๑๕๐ ปีแห่งการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ในปีพ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นครั้งที่ ๓ ตามรอบการบูรณะคือ ๕๐ ปี จะบูรณะใหญ่ ๑ ครั้ง จึงได้มีการอัญเชิญพระแก้วมรกตออกจากที่ประดิษฐานและทำการถ่ายภาพองค์พระแก้วมรกตเป็นครั้งแรก 

ครั้งที่ห้า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ในคราวบูรณะวัดพระแก้วครบ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ มาแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นการบูรณะซ่อมแซมโครงสร้างบุษบก ซึ่งทรุดตามพื้นอุโบสถจึงต้องอัญเชิญองค์พระแก้วมรกตลงจากบุษบก โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นแม่กองบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ในครั้งนั้น 

ส่วนการอัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ ออกจากที่ประดิษฐานสู่ภายนอกนั้นมีสองเหตุการณ์ที่พอจะเล่าให้อ่านกันได้ ดังนี้...

เหตุการณ์แรก เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๖๓ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ บ้านเมืองของเราได้เกิด “โรคห่า”ระบาด ผู้คนล้มตายไปกว่า ๓๐,๐๐๐ คน วัดต่างๆ มีซากศพของผู้ป่วยโรคห่าทับถมเหมือนกองฟืน ถนนเงียบไร้คนเดิน แม่น้ำก็ไม่สามารถดื่มกินเนื่องจากปนเปื้อน เพราะสมัยนั้นยังไม่รู้วิธีป้องกันหรือกำจัดโรคอย่างเป็นรูปธรรม 

รัชกาลที่ ๒ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบ ‘พระราชพิธีอาพาธพินาศ’ เพื่อปลอบประโลมจิตใจราษฎรและเป็นการปัดรังควานแก่พระนคร ด้วยความเชื่อที่ว่า ‘ห่า’ คือผีร้ายที่ทำให้เกิดโรคระบาด ซึ่งพิธีดังกล่าวประกอบด้วย การยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืนยันฟ้าสาง การอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุธาตุออกแห่ไปรอบพระนคร พระภิกษุทรงสมณศักดิ์ร่วมเจริญพระพุทธมนต์ โปรยทราย ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ทั้งทางบกและทางเรือ ในหลวงรัชกาลที่ ๒ ทรงรักษาศีล ทรงไถ่ชีวิตสัตว์ ทรงปล่อยนักโทษ ห้ามประชาชนฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและให้อยู่แต่ในบ้าน ลดการติดต่อ เว้นระยะห่าง จนเชื้อลดลงและหายไปในที่สุด 

เหตุการณ์ที่สอง ซึ่งเล่ากันว่าเกิดขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ ‘พระแก้วมรกต’ ไม่ได้ถูกอัญเชิญออกจากที่ประดิษฐานโดยพระมหากษัตริย์ แต่ถูกอัญเชิญตามคำสั่งลับของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งต้องการย้ายเมืองหลวงไปยังนครบาลเพชรบูรณ์เพื่อหนีสงคราม 

คำสั่งลับ ‘ปฏิบัติการทองคำ’ ระบุให้ ขนทรัพย์สินของชาติ ทองคำ และ ‘พระแก้วมรกต’ เพื่อหนีสงคราม ปฏิบัติการนี้ไม่มีการบันทึกหรือออกข่าวเป็นทางการ แต่กลับมีพบเห็นเหตุการณ์และบันทึกเรื่องราวที่สามารถปะติดปะต่อกันเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่การขนทรัพย์สินออกจากหัวลำโพงโดยทางรถไฟ จนกระทั่งไปถึงเพชรบูรณ์จึงต่อรถ และขนขึ้นเขาโดยเท้า ไปยัง ถ้ำฤาษี ต.บุ่งน้ำเต้า อ.หล่มสัก โดยอัญเชิญพระแก้วมรกต ใส่ลังไม้สักเดินทอง ขนาดกว้าง ๑ เมตร ยาว ๑.๕๐ เมตร 

ส่วนการอัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ กลับกรุงเทพฯ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยเป็นเรื่องเล่าจากความทรงจำของ ‘พระอุดมญาณโมลี’ (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) ซึ่งท่านได้รับพระบัญชาจาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ให้ไปเป็นสักขีพยานอัญเชิญพระแก้วมรกตจากถ้ำแห่งหนึ่งที่เมืองเพชรบูรณ์กลับไปยังกรุงเทพมหานคร โดยท่านเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า...

“…การอัญเชิญพระแก้วมรกตในครั้งนี้มีทรัพย์สินอย่างอื่นด้วย คือ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ และสมบัติอื่น ๆ อันมีค่าของชาติ โดยมีพิธีการอัญเชิญ มีทหารยืนเข้าแถวเป็นระเบียบ ตั้งแถวเป็นแนวยาวรอรับ มีนายทหาร มีทหารฝรั่งต่างชาติด้วย และมีทหารผิวดำคล้าย ๆ ทหารจากแอฟริการ่วมในพิธีด้วย โดยการอัญเชิญกลับในครั้งนั้น บรรทุกเดินทางโดยขบวนรถยนต์ของทางการทหารกลับกรุงเทพฯ ซึ่งหลวงพ่อก็ไม่ได้กลับพร้อมขบวนรถนั้น โดยในระหว่างนั้นหลวงพ่อได้ไปพักที่วัดมหาธาตุ ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ พักอยู่เป็นเวลาประมาณ ๗ วัน…” 

แม้ว่าหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรของเหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่ได้มีบันทึกอยู่อย่างเป็นทางการ มีเพียงหนังสือแจ้งราชการทางทหารของ พันเอก หาญ อุดมสรยุทธ์ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพื้นที่ จากพยานแวดล้อมที่เป็นชาวบ้าน ตอกย้ำด้วยคำบอกเล่าของพระเถระสายวิปัสสนากรรมฐานหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ก็น่าจะช่วยอนุมานเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้พอสังเขป 

แต่อย่างไรก็ดี เราอาจจะต้องให้ความเป็นธรรมในเหตุการณ์ครั้งหลังสุด เพราะถือว่าเป็นเพียงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์กระซิบ ที่ยังคงต้องหาหลักฐานประกอบให้เกิดความเชื่อมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อความกระจ่างชัดสมบูรณ์มากขึ้นต่อไป

คำสอนจาก ‘พ่อ’ การทำความดีที่ไม่จำเป็นต้องอวดใคร หากความสำเร็จนั้นไซร้ กลายเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริง

‘ปิดทองหลังพระ’ และ ‘สามัคคี’ คำสอนของ ‘พ่อ’ ที่เน้นย้ำการทำความดี สร้างประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยมิได้หวังลาภยศ ผ่านพระพุทธรูปและพระบูชา 

ราวปี พ.ศ. ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระพุทธรูปบูชาพร้อมพระพิมพ์เพื่อบรรจุที่ฐานบัวหงายของพระพุทธรูป เพื่อมอบให้กับจังหวัดและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั่วประเทศ 

‘พระพุทธนวราชบพิตร’ บรรจุพระ ‘พระสมเด็จจิตรลดา’ พระบูชาทรงสร้าง เพื่อความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ 

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯ ให้ นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการกองหัตถศิลป กรมศิลปากร เข้ามาเป็นปั้นหุ่นพระพุทธรูปสำคัญและเป็นผู้แกะแม่พิมพ์พระพุทธรูปพิมพ์นี้ โดยพระองค์ทรงตรวจพระพุทธศิลป์ด้วยพระองค์เอง จนเป็นพอพระราชหฤทัยจึงได้ดำเนินการเททองในวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๙ และโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสำคัญองค์นี้ว่า ‘พระพุทธนวราชบพิตร’ โดยบริเวณฐานบัวหงายขององค์พระจะมี ‘พระสมเด็จจิตรลดา’ บรรจุอยู่ด้วย

เมื่อจัดสร้าง ‘พระพุทธนวราชบพิตร’ แล้วเสร็จ พระองค์จึงทรงพระราชทานไปยังจังหวัดต่างๆ โดยจังหวัดหนองคาย เป็นจังหวัดแรกที่ได้รับพระมหากรุณาพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ในวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐

ในโอกาสนั้นในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสแก่ชาวจังหวัดหนองคาย โดยขออัญเชิญบางตอนมาดังนี้

...พระพุทธนวราชบพิตรองค์นี้ นอกจากจะถือว่าเป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพสูงสุดแล้ว ข้าพเจ้ายังถือเสมือนเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของประเทศไทย และความสามัคคีกลมเกลียวกันของประชาชนชาวไทยอีกด้วย...

...ขออานุภาพแห่งพระพุทธนวราชบพิตร จงปกปักรักษาท่านให้พ้นจากทุกข์ภัยทุก ๆ ประการ บันดาลให้เกิดความสุขสวัสดี มีความก้าวหน้ารุ่งเรืองในการประกอบอาชีพ และมีความสมัครสมานกัน ในอันที่จะร่วมกันสร้างเสริมความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเมืองของเราสืบไป...

‘พระสมเด็จจิตรลดา’ พระพลังแผ่นดิน พระเครื่องที่ไม่ต้องมีพิธีพุทธาภิเษก 

นอกจาก ‘พระสมเด็จจิตรลดา’ ที่บรรจุไว้ใน ‘พระพุทธนวราชบพิตร’ แล้วนั้น ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงสร้างพระพิมพ์ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองอย่างต่อเนื่องมาอีกจำนวนหนึ่ง ให้เป็นขวัญและกำลังใจให้กับ ข้าราชบริพาร ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่ได้สร้างความดี ความชอบและสร้างคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง อย่างไม่ย่อท้อ ท่ามกลางสถานการณ์ของสงครามเย็นที่มีแต่ความหมิ่นเหม่ต่อความมั่นคงของชาติ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๘ - ๒๕๑๓ 

ความพิเศษของ ‘พระสมเด็จจิตรลดา’ เริ่มจากมวลสารที่นำมาจัดสร้าง อันประกอบด้วย... 

มวลสารส่วนพระองค์ อันได้แก่ ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวาย ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรง ‘พระแก้วมรกต’ / เส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา) / สีจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์ / ชันและสีซึ่งทรงขูดจากเรือใบพระที่นั่ง

มวลสารศักดิ์สิทธิ์จากสถานที่ต่างๆ  อันได้แก่ ดอกไม้แห้ง, ผงธูป, เทียนบูชา จากพระพุทธรูปสำคัญต่างๆ เช่น พระแก้วมรกต, พระพุทธชินสีห์, พระพุทธชินราช และจากพระอารามหลวงที่สําคัญ / น้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งนำมาใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก / ดินจากสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งในประเทศอินเดีย เป็นต้น 

ทรงสร้างขึ้นด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง โดยทรงใช้เวลาหลังจากทรงพระอักษร และทรงงานอันเป็นพระราชภารกิจหลัก หลังจากนั้นพระองค์ก็จะทรงกดพิมพ์องค์พระทุกองค์ด้วยพระองค์เองจนดึกดื่น บางครั้งก็ถึงรุ่งสาง รวมสร้างองค์พระ ๒,๕๐๐ องค์ ทุกองค์มีเอกสารส่วนพระองค์ (ใบกำกับพระ) ซึ่งแสดงชื่อ นามสกุล วันที่รับพระราชทาน และหมายเลขกำกับทุกองค์ 

นัยยะสำคัญขององค์พระพิมพ์พระราชทาน ‘พระพลังแผ่นดิน’

เมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ‘พระสมเด็จจิตรลดา’ แก่ผู้ใด พระองค์จะทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้รับพระราชทานว่า... 

“ให้ปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมาแล้วเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ”

“ขณะปิดทองให้ตั้งจิตเป็นสมาธิอธิษฐานขอให้ความดีงามที่มีอยู่ในตัว จงดำรงอยู่ต่อไป และขอให้ยังความเป็นสิริมงคล จงบังเกิดแก่ตัวยิ่งขึ้น อีกทั้งให้ประสบแต่ความสุขความเจริญในทางที่ดีงาม” 

โดยทรงพระราชทานพระบรมราชาธิบายเรื่องการ ‘ปิดทองหลังพระ’ ไว้ด้วยว่า... 

“ที่ให้ปิดทองหลังพระก็เพื่อจะได้เตือนตัวเองว่า การทำความดีไม่จำเป็นต้องอวดใคร หรือประกาศให้ใครรู้ ให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ และถือว่าความสำเร็จในการทำหน้าที่เป็นบำเหน็จรางวัลที่สมบูรณ์แล้ว” 

เมื่อ ‘กม.สูงสุด’ ถูกคณะราษฎรเสกเป็น ‘ของขลัง’ แห่งยุคสมัย อุปโลกน์ให้สูงส่งกว่ากษัตริย์ ทั้งที่สถานะเป็นเพียง ‘กฎหมาย’

การเกิด ‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ นั้นเกิดขึ้นโดยการรังสรรค์ของคณะราษฎร ด้วยการสร้างรัฐธรรมนูญให้มีรูปลักษณ์จับต้องได้ กลายเป็นของขลัง มีพิธีกรรมประกอบ มีพิธีรีตองเฉพาะ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรบูชา มีสถานะที่สูงส่งกว่ากษัตริย์ เพื่อรองรับฐานอำนาจของระบอบใหม่ ทำทุกๆ อย่าง เพื่อให้ประชาชนได้รู้จักรัฐธรรมนูญ

แต่ไม่ทำอย่างเดียวคือ ทำให้ประชาชนได้รู้ว่ารัฐธรรมนูญคือ ‘กฎหมาย’ 

นับจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ มาจนถึงวันที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ความพยายามต่างๆ ของคณะรัฐบาลและคณะราษฎรในการเผยแพร่ ให้ความรู้ เกี่ยวกับการปกครองในระบอบใหม่ โดยมีกฎหมายสูงสุดคือ “รัฐธรรมนูญ” ยังเป็นไปอย่างอิหลักอิเหลื่อ ทั้งนี้เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งภายในคณะราษฎร และระหว่างคณะราษฎรกับคณะรัฐบาล จนนำมาสู่การยึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลจาก ‘พระยามโนปกรณ์นิติธาดา’ มาเป็น ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ 

รัฐบาลคณะนี้โดยการผลักดันของ ‘หลวงวิจิตรวาทการ’ ที่ต้องการเผยแพร่รัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้นมาอีกครั้ง

คณะทำงานนำโดย ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ ได้ร่างแผนการที่จะเผยแพร่แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ รวมถึงการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ การส่งหน่วยโฆษณาการลงพื้นที่ทุกตำบล เพื่อประชาสัมพันธ์ อย่างเป็นรูปธรรม ก่อนจะถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้นด้วย ‘กบฏบวรเดช’ 

เนื่องจากวิธีการให้ความรู้แบบเดิมก่อนเกิดกรณี ‘กบฏบวรเดช’ นั้น ไม่สามารถเข้าถึงและสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนได้ การนำเสนอรัฐธรรมนูญแบบใหม่ของคณะราษฎรจึงเกิดขึ้น 

การปรับให้ ‘รัฐธรรมนูญ’ กลายเป็น ‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์’ คุ้มบ้าน ป้องเมือง ควรค่าแก่การเคารพบูชามีสถานะไม่แตกต่างจาก ‘ของขลัง’ เอาง่ายๆ คือ ‘ความรู้ไม่ต้องมี’ เน้น ‘ความงมงาย’ เข้าไว้ จูงใจคนได้ง่ายกว่า และเมื่อมีความศักดิ์สิทธิ์ก็ต้องได้รับการปกป้อง คุ้มครอง ไม่ให้ใครมาทำลาย 

สร้างให้ ‘รัฐธรรมนูญ’ มีค่าเท่ากับ ‘พระมหากษัตริย์’ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเป็นหน้าที่ของชาติและประชาชนที่ต้องปกป้อง

ในเดือนธันวาคม พ.ศ ๒๔๗๖ รัฐบาลได้จัดตั้ง ‘สมาคมคณะรัฐธรรมนูญ’ โดยมีจุดประสงค์ดำเนินการในด้านการธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ สร้างความสามัคคี อบรมสมาชิก และดำเนินการด้านต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการปกครองด้วยระบอบใหม่ ไม่ให้ใครมาโค่นล้มได้ 

โดย ‘สมาคม’ ประกอบด้วย ๒ องค์กรคือ ‘ชุมนุมใหญ่’ และ ‘คณะกรรมการกลาง’ ซึ่งสมาคมนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของ ‘รัฐธรรมนูญ’ !!! 

หลังจากงานงานฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งบรรดาสมาคมฯ ภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะแม้แต่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ยังต้องทรงเสด็จฯ ทอดพระเนตรงาน ซึ่งก็ตรงกับเจตนารมณ์ที่ชัดแจ้งว่าความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญนั้น แม้แต่พระมหากษัตริย์ยังต้องทรงมาร่วมงานฉลองให้

‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ โดยเฉพาะการสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวเกิดขึ้นจากแนวความคิดของ จำรัส มหาวงศ์นันทน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน ด้วยการเสนอให้มีการสร้าง ‘รัฐธรรมนูญจำลอง’ เป็นสมุดข่อย อัญเชิญไปยังศาลากลางจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นการเผยแพร่รัฐธรรมนูญไปด้วย ซึ่งถ้าจบตรงแค่นี้ก็น่าจะไม่เป็นไรมาก 

แต่คุณจำรัส แกไปเพิ่มมูลค่าความศักดิ์สิทธิ์ด้วยการเสนอให้ ‘รัฐธรรมนูญจำลอง’ นั้นต้องวางอยู่บน “พานแว่นฟ้า” ซึ่งใช้สำหรับวางของสูง แล้วคณะรัฐบาลขณะนั้นก็เอาด้วย เพราะอยากจะทำยังไงก็ได้ให้รัฐธรรมนูญคือสัญลักษณ์สำคัญแทนพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว

รัฐธรรมนูญจำลองจำนวน ๗๐ ชุด เป็นสมุดไทยลงรักปิดทองเป็น ‘รัฐธรรมนูญ’ วางบนพาน 2 ชั้น เป็น ‘พานรัฐธรรมนูญ’ โดยในวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ ได้มีพิธีสมโภช ‘พานรัฐธรรมนูญ’ ก่อนที่จะการส่งมอบให้กับผู้แทนราษฎรแต่ละจังหวัด 

พิธีในครั้งนั้น มีสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการ เป็นประธานในพิธี ทรงเจิมพานรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ประกอบเสียงมโหรีปี่พาทย์ เสียงสวดอำนวยจากพระสงฆ์ ๗๐ รูป มีพิธีเวียนเทียนสมโภช ก่อนจะนำไปประดิษฐานร่วมกับพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ก่อนที่จะ ‘อัญเชิญ’ เพื่อไป ‘ประดิษฐาน’ ยังจังหวัดต่าง ๆ จำนวน ๖๙ ชุดและอีก ๑ ชุด จะประดิษฐานไว้ ณ ที่ทำการใหญ่ของ “สมาคมคณะรัฐธรรมนูญ” พระราชอุทยานสราญรมย์

การอัญเชิญ ‘พานรัฐธรรมนูญ’ ก็เป็นไปอย่างเอิกเกริก ราวกับเป็นสิ่งสำคัญของชาติบ้านเมือง พอไปถึงจังหวัดต่าง ๆ ก็มีการนำขึ้นบุษบกแห่แหนให้ชมกันรอบเมือง ก่อนจะนำไปประดิษฐาน ณ ศาลากลางของจังหวัดนั้นๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าสักการะบูชา ด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และมีการปฏิญาณตนต่อหน้าพานรัฐธรรมนูญ 

จากความ ‘ขลัง’ ระดับจังหวัด ก็กระจายลงไปถึงความ ‘ขลัง’ ระดับอำเภอ ดังที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเห็นว่า “พานรัฐธรรมนูญนี้ถือว่าขลัง เผยแพร่ไปมากเก๊งตามจิตต์วิทยาว่าขลัง หรือสงวนไว้ขลัง ถ้าถือว่าแพร่หลายไปทำให้คนรู้จัก และเลื่อมใสยิ่งขึ้น ก็ควรทำให้แพร่หลายไป” 

‘พานรัฐธรรมนูญ’ ที่ได้รับไปนั้นจะต้องผ่านพิธีกรรม มีพิธีการที่สมเกียรติ เพราะถือเป็นของสูง เวลานำไปจัดงานหรือเพื่อให้ประชาชนสักการะก็ต้องมีพลับพลาสำหรับประดิษฐานอย่างโอ่โถง 

ทั้งหมดเพื่อหวังผลบั้นปลายให้ ‘รัฐธรรมนูญ’ กลายเป็นแหล่งที่มาของอำนาจอันชอบธรรมในระบอบใหม่ เทียบเคียงกับสถานะบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบเก่านั่นเอง 

นอกจากพานที่กล่าวมาแล้ว ‘ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ’ ยังมีมิติครอบคลุมออกไปอย่างหลากหลาย ลึกซึ้ง อย่างเช่น อนุสาวรีย์ก็ไม่ได้มีแค่ ‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’ ถนนราชดำเนินกลาง ก็ยังมี ‘อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ’ ที่ก่อสร้างตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ ๖ แห่ง เช่นที่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ฯลฯ อย่างวัด ก็มี ‘วัดประชาธิปไตย’ (ปัจจุบันคือวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน) 

ยังไม่รวมสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ปรากฏในงานปั้น งานเครื่องหมาย โดยเป็นศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ สื่อถึงระบอบใหม่ ควบคู่ไปกับงานฉลอง ‘รัฐธรรมนูญ’ ที่ยิ่งใหญ่กว่างานฉลองของระบอบเก่า 

จนกระทั่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้นำบ้านเมืองของเราเข้าสู่ยุค ‘เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย’ การยึดเอา ‘รัฐธรรมนูญ’ เป็นของขลัง ของสำคัญ ของชาติจึงค่อยๆ มลายหายไป 

จาก ๑๐ ธันวาคม พ.ศ ๒๔๗๕ มาจนถึง ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ ผ่านไปแล้ว ๙๑ ปี 

ปัจจุบันประชาชนได้รู้แล้วว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ คือ ‘กฎหมาย’ ไม่ใช่ ‘ของขลัง’ ไม่จำเป็นต้อง ‘บูชา’ แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังไม่ได้ฝังรากลึกให้ประชาชนได้ยึดถืออย่างมีสำนึกและเข้าใจอย่างที่มันควรจะเป็น นับเนื่องมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ 

ทำไมนะ ? 

บทเพลงพระราชนิพนธ์แห่งความสุข  จากองค์พระมหากษัตริย์สู่พสกนิกรชาวไทย 

ประเทศไทยของเราเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่จากเดิมที่นับเอาวันที่ ๑ เมษายนของทุกปีเป็นวันปีใหม่แบบของไทยเรา โดยนับเนื่องกันมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งเรามีเพลงประจำปีใหม่ไทยของเราหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ซึ่งแต่งทำนองและเรียบเรียงโดย 'พระเจนดุริยางค์' (ปิติ วาทยะกร) แต่งคำร้องโดย 'ขุนวิจิตรมาตรา' (สง่า กาญจนพันธุ์) โดยมีชื่อเพลงว่า 'เถลิงศก' และเริ่มใช้ขับร้องต้อนรับปีใหม่แบบไทยในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยระบุชัดในเนื้อร้องท่อนนึงว่า...

“วันที่หนึ่งเมษายน ตั้งต้นปีใหม่
แสงตะวันพร่างพรายใส สว่างแจ่มจ้า
เสียงระฆังเหง่งหง่างก้อง ร้องทักทายมา
ไตรรงค์ร่าระเริงปลิว พลิ้วพลิ้วเล่นลม.....” 

แต่ร้องกันได้เพียงแค่ ๖ ปีก็มาถึงยุค ‘เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย’ … ‘จอมพล ป.พิบูลสงคราม’ ที่มีความต้องการให้ประเทศไทยมีความเป็นสากลเหมือนอารยประเทศในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะ ‘วันปีใหม่’ ซึ่งน่าจะนับเอาตามหลักสากล จึงได้ออกกฎหมายและประกาศ ‘พระราชบัญญัติ ปีปฏิทินพุทธศักราช ๒๔๘๓’ โดยยกเลิกปีใหม่แบบเดิมและให้เริ่มนับเอาวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นปีแรกแห่งการนับปีใหม่ตามหลักสากล เพลง 'เถลิงศก' เพลงปีใหม่เดิมก็เป็นอันเลิกใช้ โดยมีเพลงที่อาจจะอนุมานในการร้องหรือเปิดในช่วงปีใหม่ในช่วงของท่านจอมพลก็คือเพลงประกอบการเต้นลีลาศหรือรำวงมาตรฐานโดยวงสุนทราภรณ์ เช่น ‘รื่นเริงเถลิงศก’ / ‘รำวงปีใหม่’

ส่วนบทเพลงสำคัญที่เปรียบเสมือนพรจากฟ้า เป็นของขวัญของปวงชนชาวไทยในทุกวันขึ้นปีใหม่ เกิดขึ้นเมื่อวันส่งท้ายปี พ.ศ. ๒๔๙๔ นั่นก็คือบทเพลงพระราชนิพนธ์ ‘พรปีใหม่’

‘พรปีใหม่’ เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๓ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นบทเพลงที่ส่งต่อความสุขใจ ความปรารถนาดี จากพระองค์ท่าน สู่พสกนิกรชาวไทยของพระองค์ 

หลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จนิวัตประเทศไทยและประทับในประเทศไทยเป็นการถาวร ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ จนถึงวาระขึ้นปีใหม่ครั้งนั้น พระองค์มีพระราชประสงค์จะพระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรด้วยเพลง 

สำหรับบทเพลง ‘พรปีใหม่’ นี้ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ไม่ได้เริ่มต้นแต่งใหม่ทั้งหมดในคืนวันก่อนปีใหม่ปี ๒๔๙๔ - ๒๔๙๕ แล้วนำไปบรรเลงเลยอย่างที่ทุกคนเข้าใจ แต่จริง ๆ แล้วพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองมานานก่อนหน้านั้นแล้วบางส่วน ก่อนจะมาปรับปรุง เพิ่มเติมจนจบ จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทยซึ่งเป็นคำอวยพรปีใหม่ ลงไปจนครบซึ่งก็พอดีกับการจะพระราชทานในค่ำคืนวันนั้นพอดี ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสเล่าเบื้องหลังการพระราชนิพนธ์เพลง ‘พรปีใหม่’ พระราชทานแก่คณะกรรมการโครงการ ‘ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์’ ที่เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ ความว่า...

“...เพลงพรปีใหม่ คนก็ว่าแต่งในวันปีใหม่ หรือวันก่อนวันปีใหม่ แท้จริงแต่งมานาน ก่อนที่จะออกปีใหม่เป็นปีหรือสองปี แล้วก็แต่งแบบทุลักทุเล ตอนนั้นไม่สบาย คืออยู่ที่เมืองนอก ไปมีอุบัติเหตุ หมอบอกว่าห้ามเล่นแซกโซโฟน แต่ว่าท่านจักรพันธ์อยู่ด้วย ก็ให้ท่านเป่าแซกโซโฟน ท่านก็เป่ามีเสียงออกมาได้ แต่ท่านไม่รู้ว่านิ้วจะวางอย่างไร ลงท้ายก็เอานิ้วของเราใส่บนแซกโซโฟน แล้วท่านก็เป่า ลงท้ายท่านก็เล่นแซกโซโฟนได้ และเมื่อหมออนุญาตให้เป่าแซกโซโฟน ก็เลยเริ่มเล่นเป็นเพลงที่แต่งเอาเอง คนหนึ่งเล่นส่วนหลัก แล้วอีกคนก็เล่นต่อสลับกันไปอย่างนี้แล้วจดเอาไว้มาถึงปลายปี ก็เลยนึกว่าเอ๊ะ...เราแต่งเพลงสำหรับให้พรปีใหม่ ก็เอาอันนี้ที่แต่งไว้แล้วมีคนแต่งสองคนไม่รู้ว่าเป็นเพลง ก็มาปรับปรุงให้เป็นเพลงได้…”

เพลงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ที่ได้รับพระราชทานชื่อว่า ‘พรปีใหม่’ เดินทางไปถึงวงดนตรี ๒ วง ในคืนวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งทั้ง ๒ วงกำลังบรรเลงดนตรีส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่อยู่ ๒ แห่ง โดยวงแรกคือวงดนตรีของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงอยู่ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

อีกวงคือวงสุนทราภรณ์ ซึ่งกำลังแสดงอยู่ที่ศาลาเฉลิมไทย เมื่อทั้ง ๒ วงได้รับบทเพลงพระราชนิพนธ์ ก็ได้นำไปเรียบเรียงเพื่อใช้สำหรับการบรรเลงเป็นวงและเตรียมการขับร้องอยู่สักพักก่อนที่จะนำไปบรรเลงและขับร้องเมื่อเข้าสู่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งนอกจากจะสร้างความประหลาดใจจากบทเพลงใหม่ที่ได้รับพระราชทานมาแล้วนั้น ผู้ที่ได้รับชม รับฟัง บทเพลงพระราชนิพนธ์ ‘พรปีใหม่’ ในครั้งนั้น ล้วน ตื่นเต้น ตื้นตัน และปลาบปลื้มไปกับความสุขที่ได้รับพรจากฟ้า จากพระเจ้าแผ่นดินผู้รักผสกนิกรของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง (ผมพิมพ์ไปนึกภาพตามไปยังขนลุกเลย) 

“สวัสดีปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาเราท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาเราท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมหฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ”

นับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ มาถึงปัจจุบัน กว่า ๗๑ ปี ที่ชาวไทยได้ร้องเพลง ‘พรปีใหม่’ ในทุกช่วงเทศกาลฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขและการเดินหน้าต่อไปในทุก ๆ ปีแล้วนั้น เพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ยังแสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ไทยของเรา ที่อยากเห็นปวงชนชาวไทยมีความสุข อยู่ดีกินดี มีความสุขในบ้าน ในเมือง ที่ร่มเย็นด้วยพระบารมี ตลอดทั้งปีใหม่และตลอดไป

รู้จัก กรมหมื่นเทพพิพิธ 'แมวเก้าชีวิต' แห่งกรุงศรีอยุธยา อยู่แห่งหนใด นำพาสิ่งไหนก็ไม่ชนะ มีแต่พังพินาศ

กรมหมื่นเทพพิพิธ 'ลูกพระสนม' ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นเจ้านายนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ชีวิตของพระองค์เต็มไปด้วยสีสัน ทั้งหนีราชภัย ออกผนวช ถูกจับ ถูกเนรเทศ เป็นเจ้าผู้ปกครอง เป็นเชลย พระองค์ สู้กับชีวิต สู้กับอุปสรรค จนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ

กรมหมื่นเทพพิพิธ มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าแขก เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หลังจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศปฏิวัติสำเร็จ ก็ทรงสถาปนาพระราชวงศ์ให้ทรงกรม คือ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าแขก เป็น 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ร่วมกับ เจ้าพี่ เจ้าน้อง อีกหลายพระองค์ โดยเป้าประสงค์ให้สามารถคานอำนาจกับเหล่าบรรดาขุนนางทั้งหลาย แต่ก็ไม่เป็นไปตามที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงคาดไว้...ทำไมล่ะ ? 

ลูกพระสนมพระองค์อื่น ๆ ที่ได้ 'ทรงกรม' และมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ช่วงนี้มีกลุ่ม ที่เรียกกันว่า 'เจ้าสามกรม' คือ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี ซึ่งเจ้าทั้ง ๓ นี้เป็นขั้วตรงข้ามอีก ๓ เจ้าฟ้า 

กลุ่ม ๓ เจ้าฟ้านำโดย 'เจ้าฟ้ากุ้ง' กรมขุนเสนาพิทักษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี และ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต ซึ่งกรมหมื่นเทพพิพิธอยู่ในขั้วนี้ ซึ่งแปลก แต่ก็นับว่าอยู่ถูกขั้ว 

'เจ้าสามกรม' เริ่มต้นความขัดแย้งในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ด้วยการเดินเกมหนักจัดการ 'เจ้าฟ้ากุ้ง' ด้วยการกราบบังคมทูลฟ้องว่า "เจ้าฟ้ากุ้ง เสด็จเข้ามาลอบทำชู้กับเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาลย์ ถึงในพระราชวังเป็นหลายครั้ง" จนเป็นเหตุให้องค์รัชทายาทถูกลงลงพระราชอาญาถึงกับสวรรคต จนว่างวังหน้าอยู่ถึง ๒ ปี 

ส่วน 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ใช้เวลา ๒ ปีที่ว่างนี้ 'ล็อบบี้' เสนาบดีขุนนางผู้ใหญ่ พร้อมกราบบังคมทูลให้ 'เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต' ขึ้นเป็นวังหน้า โดย 'ข้าม' เจ้าฟ้าเอกทัศไป ด้วยความมั่นใจว่าถ้าไม่มีอะไรพลิกผัน 'กรมขุนพรพินิต' ต้องได้เป็น 'พ่ออยู่หัว' แน่ๆ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศก็มีพระราชดำริเห็นชอบ แม้ว่าเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อจะทรงเป็น 'น้อง' ก็ตาม 

เพราะมีบันทึกระบุไว้ว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงมีพระราชดำรัสไว้ครั้งหนึ่งว่า “กรมขุนอนุรักษ์มนตรี(เจ้าฟ้าเอกทัศ)นั้นโฉดเขลาหาสติปัญญาและความเพียรมิได้ ....” ตรัสมอบราชสมบัติให้ 'กรมขุนพรพินิต' กรมหมื่นเทพพิพิธจึงกล้าเปิดหน้าเล่น

แต่เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จสวรรคต ความอลหม่านก็เกิดขึ้น

คือทั้ง ๒ ฝ่าย เริ่มต้นจาก 'กลุ่มสามเจ้าฟ้า' กรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งทรงอยู่ฝ่ายเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ก็เชิญเอาพระแสงดาบ พระแสงกระบี่ และพระแสงง้าวข้างพระที่ ส่งให้ชาวที่เชิญตามเสด็จฯ เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ไปยังพระตำหนักสวนกระต่าย 

ข้างฝ่าย 'เจ้าสามกรม' แสดงการไม่ยอมรับแผ่นดินใหม่ พากันเสด็จฯ เข้าไปในวังบ้าง แล้วเชิญเอาพระแสงบนพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ไปไว้ที่ตำหนักศาลาลวด ฐานที่มั่นของ 'เจ้าสามกรม'

ครั้นเมื่อถึงเวลาเข้าเฝ้าถวายสัตย์ ต่อพอ่อยู่หัวพระองค์ใหม่ ก็ปรากฏว่า “เจ้าสามกรม” ไม่เสด็จฯ มา “กรมขุนอนุรักษ์มนตรี” จึงได้คิดแผน อาราธนาพระราชาคณะ ๕ รูป ก็ไปเจรจากับ “เจ้าสามกรม” เพื่อให้ยินยอมที่จะเข้าเฝ้าถวายสัตย์ต่อหน้าพระพักตร์

แต่เมื่อเจ้าสามกรมยินยอมมาเฝ้าเป็นที่ปรึกษาราชการ 'เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี' ในฐานะที่ปรึกษาจึงทำการจับกุมทั้ง 3 พระองค์แล้วนำไปสำเร็จโทษ 

จบตรงนี้ 'เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต' ก็ได้ครองราชย์เป็น 'พระเจ้าอุทุมพร' ซึ่งถ้ามองเกม กรมหมื่นเทพพิพิธ ก็น่าจะได้อวยยศแน่ๆ แต่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น 

ความซวยครั้งที่ ๑ ของ กรมหมื่นเทพพิพิธ ก็มาเยือน เพราะผ่านไป ๒ เดือน ได้เกิดเหตุการณ์ก็ 'น้อง' ไม่ต้องการบัลลังก์ จึงขอคืนให้พี่ แล้ว 'พระเจ้าอุทุมพร' ก็เสด็จออกผนวช จนรู้จักกันในพระนามว่า 'ขุนหลวงหาวัด' 

ส่วนเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี จึงได้ขึ้นครองราชย์เป็น 'พระเจ้าเอกทัศน์' หรือ 'สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์' ถึงตรงนี้ กรมหมื่นเทพพิพิธก็กลัวพระราชภัย ก็เลยต้องออกผนวชเช่นกัน

แต่ออกบวชไม่นานก็คิดอ่านจะนำเอาพระราชบัลลังก์คืนแก่พระเจ้าอุทุมพร เพราะบรรดาขุนนางน้อยใหญ่มาฟ้องว่า 'พระเจ้าเอกทัศน์' นั้นน่าจะทำให้กรุงศรีฯ ต้องวิบัติ เนื่องจาก ขุนนางพี่น้อง ๒ กร่าง ผู้ใกล้ชิดพ่ออยู่หัว คือ พระยาราชมนตรีบริรักษ์และหมื่นศรีสรรักษ์ มาป่วนงานราชการ จนเละเทะไปหมด 

กรมหมื่นเทพพิพิธก็เลยนำความกราบบังคมทูลพระภิกษุพระเจ้าอุทุมพร เพื่อขอเชิญพระองค์ชิงบัลลังก์พระเจ้าเอกทัศน์ แต่ พระภิกษุพระเจ้าอุทุมพร อาจจะเกรงว่า กรมหมื่นเทพพิพิธ จะล้มกระดานหรือทำการยึดครองบัลลังก์กรุงศรีฯ ซะเอง ก็เลยนำไปฟ้องเรื่องนี้กับ 'พระเจ้าเอกทัศน์' 

ความซวยครั้งที่ ๒ ก็บังเกิดจากหวังดีกลับกลายเป็น 'กบฏ' ถูกจับประหารทั้งแก๊ง แต่โชคดีที่ กรมหมื่นเทพพิพิธถูกเว้นโทษตาย รับแต่โทษเนรเทศไปลังกา ซึ่งในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศท่านได้สร้างวัดและฝังรากหยั่งลึกไว้บ้างแล้ว

'พระเจ้ากรุงลังกา พระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์' ได้ให้การต้อนรับ 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' เป็นอย่างดี เมื่อไปอยู่เกาะลังกาได้ไม่นานนั้น เป็นที่ชื่นชอบของขุนนางและราษฎรมาก เพราะเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง และที่สำคัญทรงเป็นชาวพุทธมาตั้งแต่กำเนิด 

ความซวยครั้งที่ ๓ ของพระองค์ก็มาเยือน เพราะในลังกามีกระแสอยากจะล้มล้าง พระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์ เนื่องจากทรงเป็นชาวทมิฬ ที่นับถือฮินดูมาก่อน พอมานับถือพุทธก็มีวัตรปฏิบัติที่แปลกประหลาด ซึ่งถ้าล้มล้างได้ก็จะนำบัลลังก์ถวายแก่กรมหมื่นเทพพิพิธ !!! 

แต่การล้มล้างยังไม่ทันเกิด  พระเจ้ากิตติศิริราชสิงห์ ทรงทราบข่าว จึงทรงกวาดล้างผู้ไม่หวังดีทั้งหมด ส่วน 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ก็ต้องหนีตามระเบียบเพราะมีสิทธิ์ตายนอกราชอาณาจักรเป็นแน่ 

พระองค์ทรงลงเรือหนีกลับมาเมืองมะริด แต่ต้องถูกกักตัวไว้เพราะต้องโทษเนรเทศ กรมการเมืองก็แจ้งมายังกรุงศรีอยุธยาว่า กรมหมื่นเทพพิพิธเสด็จ ฯ กลับเข้ามา ก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการสั่งให้รับตัวมากักไว้ที่เมืองตะนาวศรี 

ความซวยครั้งที่ ๔ ของพระองค์ก็มาถึงอีกครั้ง เมื่อสงครามเสียกรุงครั้งที่ ๒ ได้อุบัติขึ้น โดย 'พระเจ้ามังระ' ได้มีพระบัญชาให้ 'มังมหานรธา' ยกทัพบุกเข้าเมืองชายแดนกรุงศรีฯ ตั้งแต่ ทวาย มะริด รวมไปถึงตะนาวศรีที่ 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ทรงประทับอยู่  พระองค์ก็เลยต้องหนีเตลิดไปถึงเมืองเพชรบุรี ทางการจึงรายงานขึ้นไปที่กรุงศรีอยุธยา จึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้กรมหมื่นเทพพิพิธไปอยู่เมืองจันทบุรี ขนาดสงครามมาประชิด พระเจ้าเอกทัศก็ยังทรงไม่ไว้วางพระราชหฤทัยให้กรมหมื่นเทพพิพิธกลับกรุงศรี ฯ 

แต่ใช่ว่า 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' จะนิ่งเฉย เพราะมองว่าจะช้า จะเร็วกรุงศรีฯ ก็น่าจะแตก เลยทรงรวบรวมกำลังคนโดยทรงอ้างว่าจะไป 'กู้กรุง' ทำให้มีผู้คนไปร่วมด้วยจำนวนมาก ดังข้อความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า “คนในกรุงเทพมหานครรู้ก็ยินดี คิดกันพาครอบครัวหนีออกจากพระนคร ออกไปเข้าด้วยกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นอันมาก บรรดาหม่อมเจ้าชายหญิง ซึ่งเป็นพระหน่อ ในกรมหมื่นเทพพิพิธ กับทั้งหม่อมห้ามและข้าไทก็หนีออกไปหาเจ้า” 

โดยมีผู้คนจากทั้ง ปราจีนฯ, นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี มาร่วมกันเพื่อ 'กู้กรุง' หลายพันคน กรมหมื่นเทพพิพิธ จึงทรงยกกองกำลังไปตั้งไว้ ณ ปากน้ำโยทกา เมืองนครนายก ซึ่งพระองค์ดำเนินการก่อน 'พระเจ้าตาก' ถึง ๖ เดือน 

แต่ไม่รู้ว่าพระองค์ทำกรรมอะไรไว้ ความซวยครั้งที่ ๕ ก็มาถึง เพราะยังไม่ทันจะไป 'กู้กรุง' พม่าก็ยกทัพมาจัดการจนกระเจิง แต่การนี้บางบันทึกก็บอกว่า กองทัพที่ยกมาปราบกองกำลังกรมหมื่นเทพพิพิธครั้งนี้ ไม่ใช่กองทัพพม่า แต่เป็นกองทัพของพระเจ้าเอกทัศนั่นเอง เพราะกลัวกรมหมื่นเทพพิพิธจะ 'ปฏิวัติ' ยึดอำนาจก็เลยชิงจัดการซะก่อน...ก็ว่ากันไป 

ไม่ว่าจะเป็นกองทัพของใคร พม่าหรือกรุงศรีฯ ผลที่ได้ก็เหมือนกันคือทำให้กรมหมื่นเทพพิพิธต้อง 'หนี' โดยครั้งนี้หนีไป 'เมืองนครราชสีมา'

เมื่อมาถึงเมืองนครราชสี 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ก็ทรงคิดจะชวนเจ้าเมืองนครราชสีมาให้เกณฑ์กองทัพไปรบพม่าอีก แต่พระยานครราชสีมาไม่คิดแบบนั้น ความซวยครั้งที่ ๖ ก็มาเยือนพระองค์ 

เพราะพระยานครราชสีมาคิดจะจับตัว 'กรมหมื่นเทพพิพิธ' ส่งกรุงศรีอยุธยา ตอนแรกพระองค์คิดจะ 'หนี' อีก แต่พระโอรส หม่อมเจ้าประยงค์ ทูลให้ 'สู้' จึงได้ทรงฆ่าเจ้าเมืองนครราชสีมาเหลือแต่หลวงแพ่งน้องชายพระยานครราชสีมาที่หนีไปได้ หลังจากนั้นพระองค์จึงได้เข้าไปตั้งกองกำลังอยู่ในเมืองนครราชสีมา

ความซวยครั้งที่ ๗ มาเยือนอย่างรวดเร็ว เพราะ 'หลวงแพ่ง' มา 'เอาคืน' โดยตีเมืองนครราชสีมาคืนได้สำเร็จ แรกทีเดียวหลวงแพ่งจะฆ่ากรมหมื่นเทพพิพิธ แต่พระพิมายขอชีวิตไว้ ด้วยเห็นว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ที่เหลือรอดอยู่ไม่กี่คนในขณะนั้น ก่อนที่ 'พระพิมาย' จะทูลฯ เชิญ กรมหมื่นเทพพิพิธ ไปเมืองพิมายและยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน สืบพระวงศ์พระเจ้าแผ่นดินต่อไป ซึ่งรู้จักและเรียกกันว่า 'เจ้าพิมาย'

ส่วน 'พระพิมาย' ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็น 'เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แห่งเมืองพิมาย'

หลังจากนั้นไม่นาน 'เจ้าพิมาย' ก็ได้วางแผนจัดการ 'หลวงแพ่ง' ที่ครองเมืองนครราชสีมาที่ไม่ให้เป็นหอกข้างแคร่ โดยใช้โอกาสที่ 'หลวงแพ่ง' ได้เชิญ 'พระพิมาย' เพื่อนเก่า มางานบุญที่บ้าน 'พระพิมาย' เล่นไม่ซื่อถือโอกาสขณะนั่งดูละครเพลินๆ ฆ่าหลวงแพ่งกลางงานบุญนั่นเอง ก่อนนำกองกำลังเข้ายึดเมืองนครราชสีมา อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 

จากการณ์นี้ทำให้ 'เจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธ' ได้เมืองนครราชสีมาเพิ่มเข้ามาอีก จนมีเขตปกครองจนถึงเวียงจันทน์ ด้านใต้จรดกรุงกัมพูชา มีอํานาจเหนืออาณาเขตเมืองนครราชสีมาทั้งหมด เป็นที่รู้จักกันในชื่อ 'ก๊กเจ้าพิมาย'

แต่เวลานั้นเกิด 'เจ้าแผ่นดิน' ขึ้นหลายกลุ่ม เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาสูญสลายไปแล้ว ทำให้ผู้นำท้องถิ่นตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าปกครองบ้านเมืองของตัวเอง ไม่ขึ้นกับใคร นอกจากเจ้าพิมาย ก็มี เจ้าพระพิษณุโลก เจ้าพระฝาง เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตาก)

เจ้าพิมาย 'เป็นเจ้าแผ่นดิน' อยู่ได้ไม่นาน ความซวยครั้งที่ ๘ ก็เข้ามาเยือนเพราะ พระเจ้ากรุงธนบุรีประกาศที่จะรวบรวมหัวเมืองทั้งหลายให้กลับมาเหมือนในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงยกทัพมาเยือน 'เจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธ'

เจ้าพิมายเมื่อทราบข่าวการศึกว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีจะยกทัพขึ้นมาตี จึงให้จัดแต่งนายทัพ นายกอง ออกไปรับศึกที่นอกเมืองนครราชสีมาเป็น ๒ ทัพใหญ่ ผลปรากฏว่า กองทัพเจ้าพิมายถูกตีแตกพ่ายไปทั้งหมด จึงถึงคราวต้องทรง 'หนี' อีกครั้ง โดยทรงตั้งใจจะมุ่งหน้าสู่กรุงเวียงจันทน์ แต่ก็ถูกจับได้ระหว่างทาง และนำตัวกลับมายังกรุงธนบุรี

แรกเริ่ม 'พระเจ้ากรุงธนบุรี' ทรงไม่ปรารถนาจะสำเร็จโทษ แต่ 'เจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธ' ไม่ยอมสวามิภักดิ์ 'พระเจ้ากรุงธนบุรี' จึงตรัสว่า...

"ตัวหาบุญวาสนาบารมีมิได้ ไปอยู่ที่ไหนก็พาพวกผู้คนที่นับถือพลอยพินาศฉิบหายที่นั่น ครั้นจะเลี้ยงไว้ก็จะพาคนที่เชื่อถือบุญพลอยล้มตายเสียอีกด้วย เจ้าอย่าอยู่เลยจงตายเสียครั้งนี้ทีเดียวเถิด อย่าให้เกิดจลาจลในแผ่นดินสืบไปข้างหน้าอีกเลย"

ความซวยครั้งสุดท้ายนี้จึงเป็นอันปิดบัญชีชีวิตนักการเมือง แมวเก้าชีวิต แห่งกรุงศรีอยุธยาไปแต่เพียงเท่านี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top