Monday, 20 May 2024
เรื่องเล่าอ่านเพลิน

'ฟุตบอล' กีฬาแห่งการรวมใจคนทั้งชาติ  วิวัฒนาการพันปีที่มีจุดเริ่มจากแดนมังกร

หากพูดถึงกีฬาที่คนทั้งโลกนิยมทั้งเล่นและชม กีฬาประเภทนั้นคงไม่พ้นกีฬา 'ฟุตบอล' ซึ่งเป็นกีฬาเก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก เก่าแก่ขนาดไหน และมาอยู่ในประเทศไทยได้อย่างไร ผมพอจะเรียบเรียงเรื่องให้อ่านกันเพลิน ๆ ได้แบบนี้ 

พอนึกถึงต้นกำเนิดกีฬาฟุตบอล เราคงจะนึกถึงประเทศอังกฤษ ประเทศที่มีทีมฟุตบอลยอดนิยมอยู่หลายต่อหลายทีม แต่คุณรู้ไหม? จุดกำเนิดของฟุตบอลมันกลับมาจากกีฬาที่เล่นกันในประเทศจีนเมื่อตั้งแต่ประมาณ ๒,๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาล 

กีฬาโบราณของจีนที่เชื่อว่ามันคือต้นกำเนิดของฟุตบอลมีชื่อเรียกว่า 'ชู่จีว์' (蹴鞠) จากบันทึก 'สื่อจี้' ของ 'ซือหม่าเชียน' ผู้บันทึกประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่สมัยหวงตี้ (จักรพรรดิเหลือง) มาจนถึงสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก) ได้บันทึกไว้ว่า 'ชู่จีว์' เป็นกิจกรรมเพื่อการผ่อนคลายรูปแบบหนึ่งของประชาชนทั่วไปโดยมีกำเนิดราว ๕,๐๐๐ ปีก่อน ในสมัยก่อนเกิดจักรพรรดิ จากนั้นถูกนำเข้าไปสู่การเล่นเผื่อการผ่อนคลายของทหารในช่วงราว ๒,๕๐๐ ปีก่อนในยุคสงครามระหว่างแคว้นครั้งใหญ่ และมาได้รับความนิยมถึงขีดสุดในยุคราชวงศ์ฮั่น ในช่วง ๒๐๖ ปีก่อนคริสตกาล

'ชู่จีว์' (蹴鞠) มีความหมายตรงตัวว่า 'เตะบอล' โดยมักถูกนำไปเล่นในกองทัพเพื่อเป็นการฝึกทหาร ในสมัยราชวงศ์ฮั่นไปจนถึงยุคสามก๊กกีฬาประเภทนี้ถือว่าเป็นกีฬายอดนิยมเลยทีเดียว เพราะมีการสร้างสนามแข่งขันที่มีในค่ายทหารทุกแห่ง เรียกว่า 'จูซาง' เพื่อไว้ใช้แข่งขันโดยเฉพาะ โดยมีเสาประตูเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว และมีลูกบอลทำจากขนนก กติกาการแข่งขันก็จะคล้าย ๆ ฟุตบอลในปัจจุบันคือ แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย มีผู้เล่นฝ่ายละ ๑๒ คน ห้ามใช้มือสัมผัสลูกบอล แต่ผู้เล่นสามารถกระแทกกัน กอดรัดฟัดเหวี่ยงกันได้ ชิงไหวชิงพริบ ชิงจังหวะเข้าทำประตู มีลักษณะคล้ายกับรักบี้ผสมฟุตบอล ฝ่ายไหนเตะบอลเข้าประตูของคู่แข่งได้มากกว่าฝ่ายนั้นก็คือผู้ชนะ 

ลูกบอลแบบขนนกถูกปรับมาเป็นลูกบอลหนังที่มีอากาศบรรจุไว้ภายในช่วงยุค 'ราชวงศ์ถัง' ซึ่งเป็นช่วงราชวงศ์ที่มีความเป็นปึกแผ่นสูง 'จูซาง' ได้ถูกสร้างไว้อย่างแพร่หลายในนครหลวง 'ฉางอัน' และมารุ่งเรืองถึงขีดสุดในช่วงสมัย 'ราชวงศ์ซ่ง' เพราะมีการแข่งขัน 'ชู่จีว์' ในรูปแบบ Tournament ซึ่งมีการเชียร์กันอย่างเอิกเกริกและเริ่มส่งต่อกีฬาประเภทนี้ไปยังประเทศอื่น ๆ ที่ได้เข้ามาค้าขายในประเทศจีน ณ ช่วงเวลานั้นอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี ไปจนถึงพ่อค้าชาวตะวันตก ซึ่งนักประวัติศาสตร์กีฬาสันนิษฐานว่า 'ชู่จีว์' น่าจะไปถึงยุโรปและพัฒนามาเป็นฟุตบอลในรูปแบบของประเทศอังกฤษในเวลาต่อมา 

จากหลักฐานยืนยันด้วยภาพวาดยุคโบราณ บันทึกและการค้นพบเหรียญบรอนซ์ที่แกะสลักเป็นรูป 'ชู่จีว์' ทำให้ ใน ค.ศ. ๒๐๐๔ การแถลงข่าวของงานมหกรรมฟุตบอลนานาชาติแห่งประเทศจีนครั้งที่ ๓ 'เซปป์ แบลตเตอร์' ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ในขณะนั้นได้ประกาศว่า 'จีนเป็นแหล่งกำเนิดของกีฬาฟุตบอล'

คราวนี้เราข้ามไปที่ฝั่งอังกฤษเพื่อรู้จักกับฟุตบอลที่แพร่หลายในปัจจุบันกันบ้าง โดยนักประวัติศาสตร์ระบุว่าคำว่า Football เกิดขึ้นโดย 'พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๒ แห่งอังกฤษ' เมื่อปี ค.ศ.๑๓๑๔ แต่คำว่า Football นี้กลับเป็นประกาศที่พระองค์ห้ามเล่นกีฬาประเภทนี้ !!! เพราะมันหนวกหูจากเสียงเชียร์และการตะโกนใส่กัน (งั้นก็แสดงว่าเขาเล่นกีฬาแย่งลูกบอลแบบนี้เล่นกันมาก่อนยุคของพระองค์แล้วสิ ???) 

ในยุคแรกกีฬาฟุตบอลของอังกฤษเริ่มต้นขึ้นในสถานศึกษาที่มีสนามหญ้า จนกระทั่งในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๕๗ กลุ่มนักเรียนเก่าในเมืองเชฟฟีลด์ (Sheffield) รวมตัวกันก่อตั้ง 'สโมสรฟุตบอลเชฟฟีลด์” (Sheffield Football Club) ขึ้นเป็นสโมสรฟุตบอลแห่งแรกของอังกฤษและของโลก โดยมีการแข่งขันครั้งแรกระหว่าง 'สโมสรฟุตบอลเชฟฟีลด์' (Sheffield Football Club) กับ กับ 'สโมสรฟุตบอลฮัลลัม' (Hallam football club) ซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกัน ในปี ค.ศ. ๑๘๖๒ 

แต่กระนั้นการแข่งขันฟุตบอลก็ยังมีกติกาสะเปะสะปะไปตามแต่ละพื้นที่แล้วแต่ใครจะยึดถือ เช่น กฎของเคมบริดจ์และกฎของเชฟฟีลด์ ซึ่งสร้างความสับสนให้กับผู้เล่น จนกระทั่ง FA ของอังกฤษถูกจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๖๓ กฎและกติกาของฟุตบอลจึงเริ่มเป็นรูปธรรมจากการประชุมครั้งแรกในกรุงลอนดอน ซึ่งมีตัวแทนจาก ๑๒ สโมสรเข้าร่วม ซึ่งตัวตั้งตัวตีในการประชุมครั้งนั้นก็คือ 'อีเบเนเซอร์ โคบบ์ มอร์ลีย์' (Ebenezer Cobb Morley) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น 'บิดาของสมาคมฟุตบอลและฟุตบอลสมัยใหม่: ซึ่งกติกาและรูปแบบการเล่นฟุตบอลก็ได้พัฒนาขึ้นจากวันนั้นมาจนถึงปัจจุบัน 

โดยการแข่งขันรายการฟุตบอลแรกของอังกฤษและของโลกก็คือการแข่งขันที่ชื่อว่า FA Cup เมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๒ ซึ่งเป็นการแข่งขันในรูปแบบแพ้ตกรอบ แต่กระนั้นก็เป็นการแข่งขันที่ทุกสโมสรตั้งตารอเพื่อเข้าแข่งขัน เพราะมันคือรายการที่สโมสรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ก็มีโอกาสเข้ารอบและตกรอบได้เหมือนกัน ก่อนที่จะเกิดระบบ League ที่มีการแข่งขันเพื่อเก็บสะสมคะแนนแล้วจัดลำดับในเวลาต่อมา

แล้วในประเทศไทยล่ะกีฬาฟุตบอลเข้ามายังไง ? และเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ ? 

กีฬาฟุตบอลในไทยเริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยของ 'พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว' รัชกาลที่ ๕ พระองค์ได้ส่งพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานยาเธอ และข้าราชบริพารไปศึกษาวิชาการด้านต่าง ๆ ที่ประเทศอังกฤษ โดยหนึ่งในนั้นคือ 'ครูเทพ' เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้ที่นำกีฬาฟุตบอลกลับเข้ามาเล่นในประเทศไทยเป็นคนแรก ทั้งยังจัดการแข่งขันฟุตบอลรายการแรกของประเทศไทยระหว่าง 'ทีมชาวบริเตนบางกอก' กับ 'ทีมกรมศึกษาธิการ' ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ โดยใช้กติกาของ FA 

เมื่อเริ่มแรกกีฬาฟุตบอลถูกคัดค้านเป็นอย่างมากด้วยเหตุผลที่ว่า สยามเป็นเมืองอากาศร้อน ทั้งยังก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้เล่น และผู้ชมได้ง่าย ฯลฯ เอาว่าอะไรใหม่ ๆ ก็อย่างนี้แหละมักจะโดนค้านไว้ก่อน แต่หลังจากนั้นทุกคำครหาก็ค่อย ๆ เงียบไป เพราะ 'พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว' รัชกาลที่ ๖ ซึ่งทรงเป็นนักเรียนเก่าจากอังกฤษทรงจัดตั้ง 'สโมสรคณะฟุตบอลสยาม' ซึ่งมีพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงลงแข่งขันเป็นผู้เล่นเอง ทั้งส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระดับประเทศและระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์อีกด้วย โดยรายการนานาชาติรายการแรกของสยามระหว่าง 'ทีมชาติสยาม' กับ 'ทีมราชกรีฑาสโมสร' เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ 

จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งชาติสยามขึ้น โดยทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมี 'เจ้าพระยารามราฆพ' (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นนายกสมาคม ฯ คนแรก 

ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๙ รัชกาลที่ ๖ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่มการแข่งขัน 'การแข่งขันฟุตบอลสำหรับพระราชทานถ้วยทองของหลวง' โดยถ้วยรางวัลทำด้วยทองคำแท้ขึ้น มี ๑๒ ทีมเข้าร่วม ได้แก่ นักเรียนนายร้อยทหารบก, นักเรียนนายเรือ, นักเรียนตำรวจภูธร, นักเรียนสารวัตร, กรมนักเรียนเสือป่าหลวง, เสือป่าเสนากลาง, เสือป่ากองพันพิเศษ รักษาพระองค์, กรมเสือป่าราบหลวง, กรมพรานหลวง, กรมเสือป่าม้าหลวง, กรมทหารมหาดเล็ก และกรมทหารรักษาวังซึ่งต่อมาการแข่งขันนี้จะรู้จักกันในชื่อฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. 

เมื่อแข่งขันกันครบ ๒๙ นัด ผลปรากฏว่า 'สโมสรนักเรียนนายเรือ' ที่กล่าวกันว่า 'เสด็จเตี่ย' กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อดีตนักฟุตบอลโรงเรียนนายเรือของประเทศอังกฤษ คือผู้นำกีฬาลูกหนังเข้าไปสู่รั้วโรงเรียนนายเรือ มีคะแนนเป็นอันดับที่ ๑ จากการลงสนามแบบพบกันหมด จึงได้ครองถ้วยทองของหลวงเป็นสโมสรแรก

จากฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. ซึ่งเรียกว่า 'ถ้วยใหญ่' ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เรายังมีการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานระดับชั้นที่ ๒ ของประเทศไทย โดยจัดการแข่งขันครั้งแรกในปีเดียวกัน โดยสโมสรทหารราชวัลลภ ได้ตำแหน่งชนะเลิศในรายการนี้เป็นสโมสรแรก ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่าการแข่งขันชิง 'ถ้วยน้อย' ก่อนที่การแข่งขันในประเทศไทยจะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย

จนในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ในรัชสมัยของ 'พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร' รัชกาลที่ ๙ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้ขอพระราชทานถ้วยพระราชทานเพิ่มเติม คือ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ค. และ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ง. ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนชื่อ 'ฟุตบอลถ้วยใหญ่' และ 'ฟุตบอลถ้วยน้อย' เป็น ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. และ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ข.

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ สมาคมฟุตบอลฯ ดำเนินการจัดแข่งขัน ฟุตบอลอาชีพในระบบลีกขึ้น โดยผ่านช่วงล้มลุกคลุกคลาน ปรับเปลี่ยน มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ก่อนจะลดบทบาท ลดทอนและพัฒนามาจนเป็นการแข่งขัน 'ไทยลีก' อย่างในปัจจุบัน

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เพียงแค่อยากจะเล่าให้ทุกท่านได้สัมผัสว่า 'ฟุตบอล' มันเป็นอะไรที่มากกว่ากีฬา มันมีแหล่งกำเนิดที่หลากหลายมากกว่าที่เราจะบันทึกสรุปได้ในบทความสั้น ๆ แต่กระนั้นผมก็เชื่อว่ากีฬาชนิดนี้ยังคงเดินหน้าและเติบโตต่อไป ทั้งในเรื่องผลประโยชน์ โอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสแห่งชีวิต ฯลฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น 'ฟุตบอล' คือกีฬาที่ช่วยรวมใจคนทั้งชาติได้ เป็น 'กีฬาที่เป็นมากกว่ากีฬา' ของจริง 

ย้อนประวัติศาสตร์ 'สงกรานต์' ในแต่ละชาติ ปรับไปบ้างตามเวลา แต่สุขสันต์มิเคยเปลี่ยน

ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ไทยของเรา สงกรานต์ที่ 'ยูเนสโก' ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ 'สงกรานต์ในประเทศไทย' เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ 

บทความนี้ผมจะเขียนเล่าในมุมที่ไม่ดรามา โดยจะเรียบเรียงเรื่องราวของสงกรานต์ที่น่าสนใจเพื่อให้อ่านกันเพลิน ๆ นะครับ

เริ่มต้นเรื่อง โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าสงกรานต์แบบบ้านเรามาจากอินเดีย แต่คำว่าสงกรานต์เรายืมคำนี้มาจากอินเดียแน่ ๆ เพราะคำว่า 'สงกรานต์' หรือ 'สํกฺรานฺติ' เป็นคำในภาษาสันสกฤตแปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้าย คือการที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งเข้าสู่อีกราศีหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นทุกเดือน แต่จะมีเดือนที่สำคัญมากก็คือเดือนที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า 'มหาสงกรานต์' ซึ่งในช่วงมหาสงกรานต์นี้ ดินแดนชมพูทวีปเขาจะมีเมนูอาหารและกิจกรรมพิเศษ เช่น...

บังกลาเทศ : เขาจะมีการเดินพาเหรดและเมนูพิเศษ 'ปันตาภัต' คือข้าวสวยแช่น้ำที่เสิร์ฟพร้อมปลาทอด กินพร้อมหอมแดงและพริกเขียว คล้าย ๆ ข้าวแช่บ้านเรา 

ศรีลังกา : ชาวพุทธสิงหลและชาวฮินดูทมิฬ จะมีการฉลองปีใหม่ร่วมกัน ผู้คนจะทำความสะอาดบ้าน จุดตะเกียงน้ำมัน และทานเมนูพิเศษ 'คิริภัต' คือข้าวกะทิ 

ส่วนในอุษาคเนย์ : ประเพณีสงกรานต์ในแต่ละแห่งก็จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก เช่น คนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเรียกกันว่า 'สงกรานต์' ทางล้านนาเรียกว่า 'ปี๋ใหม่เมือง' ทางเขมรเรียกว่า 'ซ็องกราน' ส่วนมอญเรียกว่า 'ซงกราน' ทางพม่าเรียกว่า 'ทิงยัน' โดยจุดเชื่อมกันของเทศกาลนี้ ถ้าไม่นับการสาดน้ำ ก็จะมีการรดน้ำประแป้ง การละเล่นพื้นบ้าน การรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป นอกจากนี้ก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ส่วนเรื่องอาหารการกินหรือกิจกรรมที่พิเศษเหมือนชมพูทวีปไหม? มันก็มีอยู่บ้างครับ 

ตัวอย่างเช่นที่ 'พม่า' เขาจะมีเมนูพิเศษคือ 'ม่งโลงเหย่ป่อ' ซึ่งเป็นข้าวเหนียวปั้นไส้น้ำตาล คล้าย ๆ ขนมต้มบ้านเรา ทำกินเฉพาะเทศกาลนี้ พร้อมด้วยมหกรรมสาดน้ำ (ต้องเรียกมหกรรมเพราะสาดยับจริง ๆ) ซึ่งพม่านี้เขามีนิทานเรื่องการสาดน้ำที่ค่อนข้างจะเป็นโศกนาฏกรรม แต่เขาเชื่อว่านี่คือหลักฐานการ 'สาดน้ำ' ที่เก่าที่สุด (ทำไม? มันถึงมาผูกกับการสาดน้ำที่สนุกสนานก็ไม่รู้) 

เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในพงศาวดารพม่าฉบับอูกะลา ในสมัยของ 'พระเจ้านรสีหบดี' หรือ 'พระเจ้าหนีจีน' แห่งพุกาม ที่ชื่อว่าหนีจีน เพราะกองทัพมองโกลของพระเจ้ากุบไลข่านยกมาตีพุกาม พระองค์ต้านไม่ไหวก็เลยหนีลงมาทางพม่าตอนล่าง ซึ่งร่วมสมัยกับ 'พญามังราย' แห่งเชียงใหม่ 'พ่อขุนรามคำแหง' แห่งสุโขทัย และ 'พระยางำเมือง' แห่งพะเยา ซึ่งไม่ได้มีบันทึกเรื่องสงกรานต์ไว้เหมือนพุกาม เรื่องของเรื่องเป็นอย่างนี้ 

พระเจ้านรสีหบดีมีพระเหสีชื่อ 'พระนางพวาซอ' และมีพระสนมอีกหลายองค์ พระสนมที่โดดเด่นคือ 'พระสนมซอลง' และ 'พระสนมซอเม่า' ทุก ๆ สงกรานต์ซึ่งเป็นฤดูเดือนที่อากาศร้อน พระองค์มักเสด็จฯ ลงสรงพระกระยาสนานหรือสระผม บริเวณท่าน้ำเป็นเวลานาน ๆ บ่อย ๆ 

ที่นี้พะองค์คงนึกสนุกและอยากจะหยอกล้อ 'พระสนมซอลง' จึงรับสั่งให้พระสนมองค์อื่น ๆ และนางข้าหลวงสาดน้ำใส่พระสนมซอลงแบบไม่ให้รู้ตัว พอโดนรุมสาดแบบไม่ทันตั้งตัว ผมเผ้าเสื้อผ้าก็เปียกปอนไปหมด จนทำให้พระสนมซอลงรู้สึกอับอาย โดยไม่ได้คิดว่านี่คือการล้อเล่นสาดน้ำในหมู่คนที่คุ้นเคยกัน 

จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พระสนมซอลงคิดแค้น ว่าพระเจ้านรสีหบดีออกอุบายกลั่นแกล้ง จึงคิดจะเอาคืน โดยแอบใส่ยาพิษลงไปในพระกระยาหารของพระเจ้านรสีหบดี (คุณพระ!!!) ซึ่งปกติแล้วหน้าที่ยกพระยาหารขึ้นถวายพระเจ้านรสีหบดีเป็นหน้าที่ของพระสนมซอลง แต่วันนั้นพระสนมซอลงแกล้งป่วย จึงขอร้องให้ 'พระสนมซอเม่า' ทำหน้าที่แทน

ระหว่างที่กำลังเชิญพระกระยาหารขึ้นถวายนั้น ปรากฏว่ามีสุนัขหลวงทรงเลี้ยงตามเห่าพระสนมซอเม่า พระสนมซอเม่าคิดว่ามันคงหิว ด้วยความสงสารจึงแอบนำอาหารบางส่วนโยนให้กิน พอสุนัขหลวงกินมันก็ตายทันที พอความทราบถึงพระเจ้านรสีหบดี พระองค์จึงให้สอบสวน จนได้ความตามจริงว่าพระสนมซอลงลอบวางยาพิษ ผลก็คือ 'พระสนมซอลง' ต้องโทษประหารชีวิต ทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจผิดของพระสนมนั่นเอง

จบแบบโศกนาฏกรรม 

แต่ในประวัติสงกรานต์พม่า ที่มาของการเล่นสาดน้ำในปัจจุบันที่เก่าแก่ที่สุดก็คือการสาดน้ำใส่ 'พระสนมซอลง' นี่แหละ ทั้งยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยพุกามที่เล่าเรื่องราวของการเล่นน้ำสงกรานต์ มีภาพของการเทน้ำจากหม้อน้ำราดใส่กันประกอบอีกด้วย ผมว่ายอมพม่าเขาไปเหอะ นี่ยังไม่รวมภาพใน The Graphic เมื่อ ค.ศ. 1888 ที่ปรากฏคนพม่าสาดน้ำใส่ฝรั่งอังกฤษนะ ซึ่งอันนี้เขาดรามากันไปเยอะแล้ว ผมไม่เล่าล่ะ 

'สงกรานต์พม่า' จัดขึ้นช่วงเดือน 5 (เมษายน) ของไทย พม่าเรียกว่า 'เดือนดะกู' ส่วนสงกรานต์ในภาษาพม่าเรียกว่า 'เหย่บะแวด่อ' (คำว่า 'เหย่' แปลว่า 'พิธีน้ำ' ส่วน 'บะแวด่อ' แปลว่า 'เทศกาล') รัฐบาลพม่ากำหนดประเพณีสงกรานต์ให้ตรงกับวันที่ 13-17 เมษายนของทุกปี ซึ่งสงกรานต์บ้านเขานี้จัดอย่างจริงจัง สาดกันจริงจังแบบไม่มีคำว่า 'ไม่เปียก'

มาที่ 'สงกรานต์ลาว' ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14-16 เมษายนของทุกปี โดยออกเป็น 3 วัน วันแรกเรียกว่า 'วันสังขารล่วง' ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปและเตรียมรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามา วันที่สองเรียกว่า 'วันเนา' ถือเป็นวันแห่งครอบครัว ญาติพี่น้องจะมารวมตัวกันเพื่อบายศรีสู่ขวัญให้แก่ผู้อาวุโส และวันสุดท้ายเรียกว่า 'วันสังขารขึ้น' ถือว่าเป็นวันปีใหม่ที่แท้จริง จะมีการอวยชัยให้พรซึ่งกันและกัน มีการสรงน้ำพระและการแห่นางสังขาร ซึ่งเป็นนางสงกรานต์ของลาวแล้วก็มีการสาดน้ำกันพอกรุบกริบ 

'สงกรานต์กัมพูชา' ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวกัมพูชาเรียกกันว่าเทศกาล “โจลชนัมทเมย” เป็นช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ในแต่ละปีรัฐบาลกัมพูชาอาจจะกำหนดให้จัดขึ้นในวันที่ 13-15 หรือ 14-16 เมษายน มีกิจกรรมคล้าย ๆ กันแบ่งงานสงกรานต์ออกเป็น 3 วัน วันแรกทำบุญตักบาตร มีการขนทรายเข้าวัดเพื่อเตรียมก่อพระเจดีย์ทราย วันที่สองเป็นวันของครอบครัว ช่วงค่ำก็จะมาร่วมกันก่อพระเจดีย์ทราย ส่วนในวันที่สาม จะมีการละเล่นรื่นเริงต่าง ๆ สรงน้ำพระพุทธรูป และรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคล 

'สงกรานต์สิบสองปันนา' สงกรานต์ของชาวไต หรือชาวไท ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน โดยเฉพาะเมืองเชียงรุ่ง จะจัดงานสงกรานต์ในช่วงวันที่ 13-15 เมษายน เรียกว่าเทศกาล 'พัวสุ่ยเจี๋ย' โดยกิจกรรมหลัก ๆ ที่มีในงานสงกรานต์สิบสองปันนาก็คือ 'การแข่งขันเรือมังกร' ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเทศกาลนี้ นอกจากนี้ก็จะมีการ 'ระบำนกยูง' ที่มีความเชื่อว่านกยูงนำพาความโชคดีมาให้ นอกจากนี้ก็ยังมีการร้องรำทำเพลง การเล่นน้ำ และการรดน้ำดำหัวให้กันและกัน 

'สงกรานต์ของประเทศไทย' แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้มีบันทึกการเล่นสาดน้ำเหมือนอย่างของพม่า แต่เทศกาลของเราก็มีความลุ่มลึกอย่างมีนัยยะสำคัญทั้งผูกพันกับการรำลึกถึงบรรพบุรุษ ครอบครัว ด้วยความชุ่มฉ่ำทั้งการสรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัว และธรรมเนียมประกอบที่ดีงามไม่แพ้ใคร ๆ อย่างเช่น... 

ภาคเหนือเรามีพิธีความเชื่อเรื่อง 'ปู่สังกรานต์' หรือ 'ย่าสังกรานต์' จึงเป็นเหตุแห่งการจุดประทัดไล่เคราะห์ นอกจากนี้บางแห่งจะมีการทำขนมที่ไว้เฉลิมฉลองสงกรานต์ คือกาละแม ข้าวเหนียวแดงใส่ถั่วลิสงคั่ว ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวแตน นางเล็ด ไปถวายวัด เพื่อไปเป็นเสบียงส่งไปให้บรรพบุรุษ 

ภาคอีสาน เราก็มีพิธีเสียเคราะห์ที่ใช้กระทงห้อง ใส่อาหารคาว-หวาน ไปทำพิธีในวัดเมือจบจะนำกระทงไปไว้ในป่าหรือทางแพร่งเพื่อเซ่นผีนำเอาสิ่งไม่ดีออกจากตน ตัวอย่างเช่น วัดไชยศรี จ.ขอนแก่น มีการทำบุญอัฐิบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เรียกว่า 'สักอนิจจา' มีการ 'แห่ต้นดอกไม้' ที่นาแห้ว จ.เลย ซึ่งทำถวายเป็นพุทธบูชาเพื่อความเป็นมงคลและสร้างความสามัคคีคนในชุมชน (เห็นไหม? สาดน้ำใส่กันมันแค่ส่วนประกอบ) 

ภาคกลางส่วนใหญ่มักประกอบกิจกรรมทางศาสนาเป็นหลัก นอกจากนั้นก็จะมีงานที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง สงกรานต์มอญ ที่ยังรักษาวัฒนธรรมของชาวรามัญ-ไทย ไว้อย่างงดงาม ทั้งที่ปากเกร็ด จ.นนทบุรี บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร หรืออย่างที่พระประแดง จ.สมุทรปราการ 

ภาคใต้บ้านเราจะเรียกว่า 'วันว่าง' ไม่ทำงาน ไม่ตัดเล็บ ตัดผม ก่อนจะเข้าวัดในวันว่างนี้เพราะเชื่อว่าเทวดาองค์เก่าเมื่อปีก่อนไม่อยู่ จึงต้องพึ่งบารมีพระพุทธก่อนที่วันเถลิงศกจะเข้ามาพร้อมเทวดาองค์ใหม่ก็จะมาประจำเมือง โดยจะแต่งชุดสวย ชุดใหม่ รอรับกันในวันนี้ 

ถึงตรงนี้ที่สงกรานต์คือ กิจกรรมสำคัญที่ผมอยากจะชวนให้ท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่านไปค้นหาและสัมผัสความดีงามเหล่านั้นด้วยตัวของท่านเอง ซึ่งผมเชื่อว่าแม้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะทำให้ประเพณีสงกรานต์เปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ความเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านของปี ความรื่นเริงสนุกสนานและการระลึกถึงบรรพบุรุษ ครอบครัว ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ จะยังคงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่และสืบทอดต่อไปอีกนานเท่านาน สุขสันต์วันสงกรานต์นะครับ

คดีอุกอาจ!! ใช้ 'อาคม' ลอบปลงพระชนม์เชื้อพระวงศ์ แต่มนตราสาปแช่ง มิเป็นผล จึงได้บทลงโทษแค่หลาบจำ

ความเชื่อเรื่องผี สาง เครื่องรางของขลัง โชคชะตา โดยเฉพาะ 'คาถาอาคม' เป็นของคู่บ้านเมืองเรามาอย่างช้านานแล้ว 

อย่างเวทมนตร์คาถาที่ถูกนำมาใช้ในด้านดี เช่น การใช้ในการป้องกันตัว การใช้คาถาอาคมประกอบการปรุงยารักษาโรค การใช้อาคมประกอบการไล่ภูตผีปีศาจโดยใช้หวายเสก (อันนี้มีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ในสมัยอยุธยาด้วย) การอาราธนาสิ่งศักดิสิทธิ์เพื่อปลุกขวัญกำลังใจอย่างการตัดไม้ข่มนามก่อนออกรบซึ่งปรากฏในการณ์ต่าง ๆ 

นอกจากนี้ ก็ยังมีสำหรับใช้เพื่อปากท้องของประชาชนทางด้านการเกษตร อย่างการขอฝน โดยตามบันทึกคำให้การของชาวกรุงเก่าที่ระบุว่า เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาคือ ในช่วงนั้นเกิดภาวะฝนแล้ง ชาวบ้านทำนาไม่ได้ผล เชื่อกันว่าเทวดาเบื้องบนเป็นเหตุให้เกิดฝนแล้ง พระองค์จึงรับสั่งให้พระเถระชั้นผู้ใหญ่ 2 รูป เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเพื่อแก้ไข ซึ่งในบันทึกก็ระบุว่ามีฝนตกลงมาจริง 

เมื่อมีด้านดี ก็ต้องมีด้านไม่ดี อย่างที่เราเรียกกันว่า 'มนต์ดำ' ซึ่งนำมาใช้ในด้านร้ายเช่น การสาปแช่ง การฝังรูปฝังรอย การทำเสน่ห์ยาแฝด การใช้ยาสั่งเพื่อให้เกิดผลตามต้องการไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง หรือหนักที่สุดก็คือการใช้ยาสั่งเพื่อ 'ฆ่า' 

ด้วยเหตุนี้ประเทศของเราถึงมี 'กรมแพทยา' ซึ่งมี 'ผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาคม' เพื่อรักษาโรคที่เกิดจากอาคมหรือมนต์ดำ ทั้งยังเป็นตุลาการสำหรับไต่สวนคดีที่เกี่ยวข้องกับคุณไสยต่าง ๆ โดย 'ศาลหรือตุลาการกรมแพทยา' ซึ่งมีการอ้างกันว่ามีกรมนี้มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม แต่จะมีมาตั้งแต่สมัยนั้นหรือไม่ แต่จากข้อมูลในพระธรรมนูญที่รวบรวมการประทับฟ้องต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายตราสามดวง ที่ตราขึ้นในรัชสมัยของพระเอกาทศรถเมื่อ พ.ศ.2165 มีการระบุถึงการฟ้องร้องกันด้วยเรื่องไสยศาสตร์โดยมีกฎหมายสำหรับรองรับเมื่อมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นด้วย

'กรมแพทยา' นี้ถูกลดบทบาทและอำนาจลงตั้งแต่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 มาจนถึงในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการปฏิรูปหลายอย่างในแผ่นดิน ซึ่งกรมแพทยาก็ถูกยุบลงเพราะถูกมองว่าล้าหลัง ไม่ทันสมัย 

แต่ในช่วงก่อนการปฏิรูปก็มีคดีที่น่าสนใจในเรื่องการใช้ 'มนต์ดำ' ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ใหญ่โตระดับการลอบปลงพระชนม์พระราชวงศ์ชั้นสูงเลยทีเดียว แต่สุดท้ายคดีนี้ก็กลายเป็นคดีด้านคาถาอาคมที่ไม่เกิดผลและน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ 'กรมแพทยา' ถูกยุบไปในที่สุด

เรื่องของเรื่องเป็นแบบนี้ครับ ในปี พ.ศ. 2419 มีคนคิดจะใช้อาคมทำร้าย 'สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์' ผู้สำเร็จราชการในพระราชสำนัก โดยเจ้าอาคมมีชื่อว่า 'เกษ'

ส่วนนาย 'เกษ' จะก่อเหตุด้วยการขุ่นเคืองใดไม่มีปรากฏในบันทึก เพราะเป็นเพียงขั้นพยายามแต่ยังไม่ถึงขั้นลงมือก็โดนจับไปขังคุกเสียก่อน แต่ทว่าแม้อยู่ในคุกเขาก็ไม่ได้มีความสำนึกยังคงเดินหน้าปั้นหุ่นรูปสมเด็จฯ เสกเป่า สาปแช่ง ด้วยมนต์ดำทั้งหลายเพื่อหวังจะฆ่าพระองค์ให้ได้ด้วยอาคมร้าย ทั้งยังได้รับเสียงเชียร์จากคนโทษร่วมคุกอื่น ๆ อีกด้วย 

ซึ่งคดีนี้ถูกนำความขึ้นกราบบังคมทูลในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ทรงวิตกห่วงใยในความปลอดภัยของสมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาถึง 'พระยามหามนตรี' (อ่ำ อมรานนท์) ความว่า...

"ถึง พระยามหามนตรี ด้วยอ้ายเกษที่ไปจำไว้ ณ คุกนั้น กลับทำเล่ห์กลเวทมนตร์ปั้นรูปสมเด็จฯ เสกเป่าต่างๆ นั้น ได้สั่งให้พระพิเรนทร์ให้ไปชำระเอาความได้ในเวลาพรุ่งนี้ แต่อ้ายคนนี้เห็นจะต้องตายเสียหรืออย่างไรให้สูญเสียทีเดียว ถ้ายังอยู่ก็จะเป็นข้อพยาบาทสมเด็จฯ ต่อไปไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่บัดนี้ความวิตกนัก ด้วยเกิดความขึ้นดังนี้ ไม่รู้ว่าพ่อแม่พวกพ้องมันจะคิดร้ายอย่างไรกับสมเด็จฯ ถ้ามีเหตุการณ์สมเด็จฯ เป็นอย่างไรลงแลข้าก็เหมือนแขนขาดตาบอดเป็นสิ้นตัว..... 

"ให้พระยามหามนตรี คิดอ่านรักษาสมเด็จฯ ในเวลานี้อย่าให้มีอันตรายได้ แล้วให้ไปพร้อมด้วยพระพิเรนทรเทพชำระเอาต้นเหตุุความคิดให้สิ้นเชิง ให้ได้เร็วในพรุ่งนี้มะรืนนี้จะได้ให้พระยามหามนตรีมาเฝ้าท่าน วางการไว้ในเวลาค่ำวันนี้ให้เรียบร้อย ถ้ามีเหตุภายนอก พระยามหามนตรีจะต้องเป็นโทษ"....

นอกจากนี้พระพุทธเจ้าหลวงยังทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึง สมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ความว่า...

"ทูลฯ ท่านให้ทราบ ด้วยอ้ายคนนี้มันยังคิดการทำร้ายอยู่เสมอเห็นจะเอาไว้ไม่ได้ต้องตายเสีย ได้สั่งให้พระยามหามนตรีกับพระพิเรนทร์ไปชำระความเอาความจริงให้ได้ในพรุ่งนี้ แต่หม่อมฉันมีความวิตกที่พระองค์ท่านมากนัก ด้วยมันคิดร้ายด้วยเวทมนต์ไม่สำเร็จจะเล่นตรง ๆ ได้สั่งพระยามหามนตรีให้มาคิดระแวดระวัง แต่การภายในสำคัญมากนักขอให้ท่านรักษาพระองค์ให้จงมาก..."

ในเหตุการณ์นี้ แม้ว่าทั้งล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และสมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ จะทรงมีพระราชอำนาจประหารชีวิตคนได้และทรงเห็นว่านาย 'เกษ' สมควรตาย แต่ในที่สุดก็ทรงวินิจฉัยคดีนี้ว่า...

"ซึ่งอ้ายเกษคบคิดกับอ้ายขุนคนโทษด้วยกัน ปั้นรูปสมเด็จฯ กระหม่อมฉัน ให้อ้ายทรัพย์ อ้ายขำ เอาไปฝังป่าช้าทำเวทมนตร์ต่าง ๆ ดังนี้ อ้ายเกษ อ้ายขุน อ้ายทรัพย์ อ้ายขำ ทาสผู้รู้เห็นมีความผิดให้เฆี่ยนอ้ายเกษ อ้ายขุนคนละ 60 ที แล้วจำคุกให้หมั้น อย่าให้เที่ยวไปมาได้ แลให้เฆี่ยนอ้ายทรัพย์ อ้ายขำ คนละ 30 ที เอาตัวจำคุกไว้ปีหนึ่งจึงพ้นโทษ"

โดยรวมก็ถือว่าเป็นโทษที่ไม่หนักทั้ง ๆ ที่เป็นการอาฆาตมาดร้ายเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง แต่สุดท้ายจอมขมังเวทย์และทีมงานก็รอด อาจเพราะทำมนตราสาปแช่ง อย่างไรก็ไม่เป็นผลจริง

(อ้างอิงข้อมูลจาก 'หนังสือมิติลี้ลับในพงศาวดาร' โดย โรม บุนนาค) 

ตำรวจลับราชวงศ์หมิง หน่วยปราบขุนนางชั่ว  กลายเป็นหน่วยปราบขั้วตรงข้าม จนหมิงต้องล่มสลาย

ถ้าคุณชื่นชอบภาพยนตร์ประวัติศาสตร์จีน โดยเฉพาะเรื่องราวในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. ๑๓๖๘ - ๑๖๔๔) นอกจากเรื่องการขึ้นครองบัลลังก์ของ 'จูหยวนจาง' หรือ 'จักรพรรดิหมิงไท่จู่' (หงอู่) (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๓๖๘ - ๑๓๙๘) จากลูกชาวนา เด็กกำพร้า นักบวช กบฏชาวนา ผู้นำกองทัพ ขึ้นสู่จักรพรรดิ เรื่องราวของพระองค์นั้นนับว่ามีสีสันเป็นอย่างยิ่ง 

เศษเสี้ยวหนึ่งของสีสันในชีวิตของพระองค์ก็คือเรื่องราวของการตั้งหน่วยตำรวจลับ องครักษ์แห่งราชวงศ์หมิง ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญเพื่อใช้จัดการขุนนางฉ้อฉลและคอยปกป้องพระองค์ดังที่ในสมัยฮั่นมีหน่วย 'องครักษ์อวี่หลิน' องครักษ์ที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน เริ่มก่อตั้งในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้หรือ ๑๐๔ ปีก่อนคริสตกาล เช่นเดียวกัน 

ยุคราชวงศ์หมิง ถือว่าเป็นยุคแห่งการตั้งหน่วยตำรวจลับโดยแท้ นัยว่าเพื่อถ่วงดุลกัน แต่ตั้งไป ตั้งมา หน่วยตำรวจลับทั้งหลายกลับกลายเป็นเครื่องมือประหัตประหารกันจนเป็นชนวนเหตุแห่งการล่มสลายของราชวงศ์หมิงในกาลต่อมา 

ซึ่งเรื่องราวของหน่วยตำรวจลับ องครักษ์แห่งราชวงศ์หมิงเหล่านี้ ถูกนำมาสร้างภาพยนตร์จีนอิงประวัติศาสตร์หลาย ๆ เรื่อง ซึ่งจะมีหน่วยอะไรบ้าง ผมนำมาเรียบเรียงให้อ่านกันเพลิน ๆ ดังนี้ครับ 

หน่วยงานตำรวจลับ องครักษ์กลุ่มแรกที่ถูกตั้งขึ้นในราชวงศ์หมิงก็คือ 'องครักษ์เสื้อแพร' (จิ่นอีเว่ย์) เป็นหน่วยองครักษ์พิเศษขึ้นตรงกับองค์จักรพรรดิ ทำหน้าที่อารักขาขบวนเสด็จ ตรวจสอบและจัดการขุนนางรวมถึงกลุ่มอำนาจซึ่งอาจเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ ก่อตั้งขึ้นโดย 'จักรพรรดิหมิงไท่จู่' รัชศกหงอู่ปีที่สิบห้า (ราว ค.ศ. ๑๓๘๒) 

จุดเด่นขององครักษ์เสื้อแพรก็คืออาวุธประจำตัว ได้แก่ 'ดาบซิ่วชุน' (ปักวสันต์) ซึ่งเป็นดาบสัณฐานเหลี่ยมหนึ่งด้านหนา หนึ่งด้านคม ปลายไม่แหลม เน้นการฟาดฟันเพื่อให้ขาด และใช้เพื่อทรมาณ 

จากอาวุธก็มาที่เครื่องแบบเรียกว่าชุด 'เฟยอหวี' (มัจฉาเหิน) ซึ่งเป็นเครื่องแบบเฉพาะของครักษ์เสื้อแพร มีลักษณะเป็นชุดคลุมยาว ปักลายมังกรมัจฉาบิน (นึกถึงปลามังกรเข้าไว้ครับ) ซึ่งมีสีเหลือง - ทอง (ออกทางเข้มกว่า) เพื่อให้รู้ว่าเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อองค์จักรพรรดิ ส่วนองครักษ์เสื้อแพรระดับสูงนั้นจะมีชุดประจำตำแหน่งอีกสองแบบ นั่นคือชุด 'หมั่งฝู' (ปักลายงูเหลือม) และชุด 'โต่วหนิว' (ปักลายวัวมังกร) ซึ่งเป็นเครื่องแบบพระราชทานจากองค์จักรพรรดิ 

องครักษ์เสื้อแพรนั้นเริ่มต้นมีอยู่ราว ๕๐๐ คน ต้องผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มงวด มีผู้รับรองว่าประวัติบริสุทธิ์ ไม่เคยต้องโทษ และต้องผ่านการทดสอบมากมาย โดยรู้จักกันในฐานะ 'นักสืบ' หรือ 'นักจับ' และ 'นักทรมาน' ด้วยภารกิจลับส่วนใหญ่จะเป็นภารกิจสืบสวนสอบสวน ติดตามและจับกุมบรรดาขุนนางที่ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดร้ายแรงหรือมีแผนการชั่วร้าย เช่น ทุจริต หรือก่อกบฏ เป็นต้น สามารถกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผู้ต้องหายอมรับสารภาพ 

วิธีการทรมานผู้ต้องหาขององครักษ์เสื้อแพรนั้นขึ้นชื่อว่า โหดเหี้ยมอำมหิต กล่าวกันว่าเมื่อใดที่องครักษ์เสื้อแพรเคาะประตูบ้าน ก็เตรียมบอกลาคนในบ้านได้เลย แต่มีขึ้นก็ต้องมีลง โดยในปี ค.ศ. ๑๓๙๓ จักรพรรดิหมิงไท่จู่ได้ลดบทบาทขององครักษ์เสื้อแพรลง เนื่องจากเหตุการณ์สอบสวนที่ลุแก่อำนาจ ทำให้เกิดการฆ่าคนไปมากมาย ราว ๔๐,๐๐๐ คน จากการสอบสวนเรื่องแผนการกบฏของ 'หลันหยู' เพียงคดีเดียว นับว่าน่าหวาดผวามาก ๆ 

สืบเนื่องต่อมา ก็มาถึงยุคที่จักรพรรดิตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของขุนนางและขันที ขุนนางกับขันทีผลัดกันขึ้นมาครองอำนาจในราชสำนัก องครักษ์เสื้อแพรก็กลายเป็นมือเป็นเท้าให้โดยผ่านการ 'ซื้อตัว' ขุนนางระดับผู้บัญชาการในสำนักองครักษ์เสื้อแพร เพื่อใช้งานในการกำจัดศัตรูทางการเมืองของตน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชื่อเสียงขององครักษ์เสื้อแพรยิ่งเป็นไปในเชิงลบมากขึ้น แต่กระนั้นในยุคราชวงศ์หมิงยังมีหน่วยงานที่เหมือนกับองครักษ์เสื้อแพรเกิดตามขึ้นมาอีก 

ในรัชสมัยจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (หยงเล่อ) (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๔๐๒ - ๑๔๒๔) พระองค์ได้ยึดครองราชย์บัลลังก์จากจักรพรรดิหมิงฮุ่ยจง (เจี้ยนเหวิน) (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๓๙๘ - ๑๔๐๒) ซึ่งเป็นหลานชายของพระองค์แล้วปราบดาภิเษกตนเองขึ้นปกครองราชวงศ์หมิง หน่วยงานเดิมอย่างองครักษ์เสื้อแพรก็เลยไม่เป็นที่ไว้วางพระทัย อีกทั้งก่อนที่พระองค์จะครองราชย์พระองค์ได้สู้รับกับมองโกลจนได้รับชัยชนะ โดยมีเชลยศึกเด็กได้ถูกตอนเป็น 'ขันที' และในกลุ่มขันทีเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นข้ารับใช้ใกล้ชิดพระองค์มาตั้งแต่ยังไม่ครองราชย์ ไม่แปลกถ้าหลายหน่วยงานของพระองค์จะมี 'ขันที' เป็นผู้บัญชาการ หนึ่งในนั้นคือหน่วยตำรวจลับของพระองค์ที่มีชื่อว่า 'ตงฉ่าง'

ตงฉ่าง หรือ สำนักบูรพา ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๔๒๐ ตงฉ่าง เป็นหน่วยลับสำหรับตรวจสอบคดีพิเศษ ทำหน้าที่เหมือนตำรวจลับปฏิบัติภารกิจพิเศษที่ขึ้นตรงต่อองค์จักรพรรดิเช่นกัน ที่สำคัญหน่วยงานอื่นใดก็ไม่สามารถแทรกแซงได้ โดยมีขันทีที่ได้รับความไว้วางพระทัยเป็นหัวหน้าหน่วย ทั้งในหน่วยยังประกอบด้วยขันทีผู้มีวิทยายุทธสูง ด้วยความเป็นขันทีจึงสามารถเข้าวังฝ่ายใน เพื่อทูลข่าวสารแก่จักรพรรดิได้โดยตรง จึงเป็นหน่วยสำคัญที่แม้กระทั่ง 'องครักษ์เสื้อแพร' ก็ต้องกลายมาเป็นมือเท้าทำงานภายใต้การบัญชาการของ 'ตงฉ่าง'

ในช่วงแรกสำนักตงฉ่างก็ทำหน้าที่ได้ดี สามารถสืบหาผู้กระทำความผิดต่อบ้านเมืองมาลงโทษได้ แต่ต่อมา 'ตงฉ่าง' ก็เปลี่ยนไป เมื่อขันทีผู้ใกล้ชิดองค์จักรพรรดิ โดยเฉพาะในสมัยจักรพรรดิหมิงอิงจง (เจิ้งถง / เทียนชุ่น) (ครองราชย์ ๒ ครั้งครั้งแรก ค.ศ. ๑๔๓๕ - ๑๔๔๙ ครั้งที่ ๒ ค.ศ. ๑๔๕๗ - ๑๔๖๔) มีหัวหน้าขันทีชื่อ 'หวังเจิ้น' เริ่มใช้หน้าที่ผู้บัญชาการหน่วยตงฉ่างนี้เป็นช่องทางสั่งสมอำนาจ บารมี และสร้างอิทธิพลให้กับกลุ่มของตน ถึงขั้นสามารถชี้เป็นชี้ตายคนในแผ่นดินได้ มีการทุจริตกันอย่างออกนอกหน้า บรรดาขุนนางที่ต้องการมาขอพบหวังเจิ้น ต้องจ่ายเงินร้อยตำลึงเป็นของขวัญ จะพบองค์จักรพรรดิได้ก็ต้องผ่านทางหวังเจิ้น ทำให้ภายในช่วงระยะเวลา ๗ ปีที่หวังเจิ้นคุมตงฉ่าง เขามีอำนาจ มีเงินและทองรวมกันถึงกว่า ๖๐ โกดัง ขุนนางส่วนใหญ่ต้องคล้อยตามเขา ถ้าขุนนางคนไหนกล้าขัดกับเขา ขุนนางคนนั้นก็จะโดนยัดข้อหาและถูกกำจัด ว่ากันว่า 'ตงฉ่าง' และ 'ขันที' นี่แหละคือชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ราชวงศ์หมิงเสื่อมลง ทั้งยังเป็นหน่วยงานที่คนในราชสำนักหมิงเคียดแค้นและชิงชังมาก ๆ 

ยังไม่จบแค่นี้ เพราะการตั้งหน่วยงานลับแบบนี้ยังไม่จบ ในรัชสมัยของจักรพรรดิหมิงเสียนจง (เฉิงฮว่า) (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๔๖๔ - ๑๔๘๗) ในรัชสมัยนี้ขันทีมีอำนาจและอิทธิพลล้นฟ้า ทั้งองค์จักรพรรดิก็ไม่ค่อยออกว่าราชการและไม่วางพระทัยขุนนาง ราชการต่าง ๆ จึงตกอยู่ในมือขันทีโดยเฉพาะ 'มหาขันทีวังจื๋อ” ขันทีคนสนิทของพระสนม “ว่านกุ้ยเฟย' ผู้ซึ่งดูแลองค์จักรพรรดิมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ โดย 'วังจื๋อ' เพ็ดทูลพระองค์ว่า 'ตงฉ่าง' นั้น ตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลก่อน ๆ ซึ่งพระองค์อาจจะบังคับบัญชาไม่ได้อย่างราบรื่นนัก อย่ากระนั้นเลยพระองค์ควรจะจัดตั้งหน่วยตำรวจลับของพระองค์ขึ้นมาเอง โดยมีเหตุผลหลักก็คือ สอดส่อง ควบคุมตงฉ่างกับองครักษ์เสื้อแพร ทำให้ในปี ค.ศ. ๑๔๗๗ หน่วย 'ซีฉ่าง' หรือ สำนักประจิม จึงเกิดขึ้นมา โดยมี 'มหาขันทีวังจื๋อ' เป็นผู้บัญชาการโดยสามารถออกคำสั่งกับ 'ตงฉ่าง' และ 'องครักษ์เสื้อแพร' ได้ 

เมื่อมี 'ซีฉ่าง' ที่สามารถบัญชาการ 'ตงฉ่าง' และ 'องครักษ์เสื้อแพร' ได้ ความบรรลัยก็บังเกิด เพราะผู้บัญชาการซีฉ่างมีอำนาจมหาศาล ถึงขั้นจับตัวและเข่นฆ่าขุนนาง ชาวบ้านตามอำเภอใจ จนขุนนางและชาวบ้านบริสุทธิ์ต้องตายไปนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะบรรดาขุนนางผู้ซื่อสัตย์ภักดี หากไปขัดขวางการหาผลประโยชน์ ก็จะถูกเล่นงานถึงตาย แถมไม่ปล่อยให้ตายง่าย ๆ ต้องทรมานจนทนไม่ไหว ซ้ำยังต้องบังคับให้ซัดทอดคนอีกนับสิบ นับร้อย มารับการทรมานด้วย ซึ่งถือว่าเป็นความเลวร้ายระดับสุดยอดจริง ๆ 

แต่ 'ซีฉ่าง' มีอายุหน่วยงานที่สั้นเพียง ๕ ปี เพราะในปี ค.ศ. ๑๔๘๒ ขุนนางใหญ่น้อยรวมทั้ง 'ตงฉ่าง' และ 'องครักษ์เสื้อแพร' ได้ถวายรายงานเรื่องการที่วังจื๋อใช้อำนาจมิชอบ ทำให้จักรพรรดิหมิงเสียนจงตัดสินพระทัยยุบ 'ซีฉ่าง' ส่วนวังจื๋อให้ออกจากราชการแล้วยกโทษตายให้กลับไปใช้ชีวิตอยู่บ้านเกิด (รอดได้ไงวะเนี่ย?)

ตกมาถึงรัชสมัยจักรพรรดิหมิงเซี่ยวจง (หงจื้อ) (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๔๘๗ - ๑๕๐๕) พระองค์ทรงเอาใจใส่ต่อราชการบ้านเมือง จนการปกครองในยุคนั้นเริ่มที่จะกลับมาเข้าที่เข้าทางบทบาทของหน่วยตำรวจลับเริ่มถูกลดลง ขันทีเริ่มอยู่กับร่องกับรอยมากขึ้น แต่ทว่าพระองค์ครองราชย์ได้เพียง ๑๘ ปี ก็ทรงสวรรคต 

จากที่กำลังจะดีอยู่แล้วพอมาถึงรัชสมัยของจักรพรรดิหมิงอู่จง (เจิ้งเต๋อ) (ครองราชย์ ค.ศ. ๒๐๔๘ - ๒๐๖๔) พระองค์ขึ้นครองราชย์ด้วยพระชันษา ๑๕ ปี พระองค์ไม่เหมือนพระราชบิดาของพระองค์เลยแม้แต่น้อย ไม่เอางานบ้านเมือง ชอบท่องเที่ยว ใช้ชีวิตสำราญและปล่อยให้งานราชการดำเนินการโดยแก๊งขันที โดยมีผู้นำคือ 'หลิ่วจิน' ซึ่งได้จัดตั้ง 'เน่ยฉ่าง' (สำนักฝ่ายใน) โดยมีกองกำลังของตัวเองที่เรียกว่า 'กองแปดพยัคฆ์' ที่ใช้จัดการขั้วตรงข้ามโดยเฉพาะ เป็นหน่วยงานที่โหดเหี้ยมทารุณและใช้อำนาจบาตรใหญ่ยิ่งกว่า 'ตงฉ่าง' กับ 'ซีฉ่าง' เสียอีก 

ช่วงที่ขันที 'หลิวจิ่น' ครองอำนาจ การทุจริตฉ้อฉล การรับสินบนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติ ขุนนางที่เอาใจออกห่างหรือขัดขวางเขาในทางใดทางหนึ่งจะถูกกำจัดอย่างไม่ปรานี ว่ากันว่าในช่วง ๑ ปี เขาสังหารขุนนางตงฉินไปกว่า ๓๐๐ คน ซึ่งเขาเหิมเกริมขนาดที่จะวางแผนชิงบัลลังก์เลยทีเดียว แต่สุดท้ายไม่รอด เขาถูกจับได้และด้วยความกเฬวรากเกินรับ เขาถูกประหารด้วยการแล่เนื้อออกทีละชิ้น ๆ รวมกว่า ๓,๓๕๗ ชิ้น ขณะที่ยังมีลมหายใจท่ามกลางเสียงสาบแช่งของผู้คนเรือนหมื่น ที่อยู่ ณ ลานประหารนั้น 

ต่อมาได้มีการตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมดของ 'หลิวจิ่น' แล้วพบว่าเขามีทองคำมากกว่า ๑๒ ล้านตำลึง มีเงินกว่า ๒๕๐ ล้านตำลึง ซึ่งยังไม่รวมถึงเพชรนิลจินดาและสิ่งมีค่าอื่น ๆ อีกมากมาย ว่ากันว่าทรัพย์สินของเขามีมากกว่าทรัพย์สินของแผ่นดินถึง ๖ เท่า และ 'เน่ยฉ่าง' ก็ถูกยุบไปโดยปริยาย

แต่กระนั้น 'องครักษ์เสื้อแพร' และ 'ตงฉ่าง' ก็ยังไม่ได้ถูกยุบลงแต่อย่างไร ยังคงอยู่ภายใต้การบัญชาการของขันทีซึ่งใกล้ชิดพระจักรพรรดิอยู่นั่นเอง จนมาถึงรัชสมัยของ 'จักรพรรดิหมิงซื่อจง' (ฉงเจิน) (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๖๒๗ - ๑๖๔๔) พระองค์ทรงเห็นว่าตงฉ่างควรจะถูกยุบ แต่ความคิดนี้ถูกขัดขวางโดย 'มหาขันที เว่ย์ จงเสียน' ซึ่งเป็นขันทีผู้กุมอำนาจอยู่ แต่ด้วยความอยากทำตัวเป็นจักรพรรดิ ขันที เว่ย์ จงเสียน จึงถูกปลดและเนรเทศไปอยู่ชายแดน ก่อนที่จะผูกคอตายเพราะกลัวถูกขุนนางที่เคยรังแกตามมาเช็กบิล 

การยุบ 'ตงฉ่าง' จึงเดินหน้าไปได้ จากตงฉ่างก็ตามมาด้วยการยุบหน่วยองครักษ์เสื้อแพร พร้อมกับไล่จัดการพวกขุนนางที่อยู่ข้างเดียวกับ เว่ย์ จงเสียน ไปจนหมด แต่ความเสียหายจากตำรวจลับ องครักษ์เสื้อแพร ตงฉ่าง ซีฉ่าง เน่ยฉ่าง ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมากว่า ๒๗๖ ปี ทั้งยังการกุมอำนาจของขันที ไล่เข่นฆ่าขุนนางตงฉิน และการไม่แก้ไขปัญหาบ้านเมือง จนเกิดเป็นกบฏขึ้นอย่างมากมาย ทำให้ในปี ค.ศ. ๑๖๔๔ ราชวงศ์หมิงก็ถึงกาลอวสาน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย ผู้ไม่มีงานออกพระเมรุ

“—เมื่อฉันได้รับราชสมบัติ ฉันไม่เชื่อว่าฉันจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉันเป็นน้องสุดท้อง แต่ในที่สุดฉันก็ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจนได้ และเมื่อฉันขึ้นครองราชย์นั้น ฉันรู้ดีว่าม่านจวนจะรูดแล้ว แต่ฉันก็คิดอยู่เสมอว่าฉันมีความตั้งใจจะมอบการปกครองให้แก่ราษฎร—”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ทรงมีต่อผู้แทนคณะปฏิวัติที่เข้ามาพบเพื่อถวายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับชั่วคราว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยที่พระองค์มีอยู่ 

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรในครั้งนั้น มิได้มีการอภิวัฒน์ขึ้นอย่างที่พวกเขากล่าวอ้าง อำนาจการปกครองของประชาชน โดยมีรัฐธรรมนูญอย่างเป็นประชาธิปไตยนั้นมิได้เกิดขึ้นจริง มีแค่เพียงการปกครองที่เรียกว่า ‘คณาธิปไตย’ โดยมีเครื่องมือที่เรียกว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ มาใช้รองรับความต้องการของตนก็เท่านั้นเอง 

ซึ่งหลายต่อหลายเหตุการณ์ได้ทำให้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงอึดอัดและทรงผิดหวังอย่างเหลือประมาณ จนพระองค์ต้องทรงเดินทางออกนอกประเทศเพื่อทรงไปรักษาพระวรกาย และส่วนหนึ่งคือการเลี่ยงการใช้พระองค์เป็นเครื่องมือของคณะผู้ก่อการคณะต่าง ๆ ที่ต้องการกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองโดยอ้างพระองค์ ราวกับพระองค์ต้องทรงตกเป็นตัวประกัน โดยเสด็จฯ ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 จนกระทั่งถึงวันที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติใน 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 และทรงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษจวบจนสวรรคต 

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ โดย พ.ศ. 2480 พระองค์ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักเวนคอร์ต ตำบลบิดเดนเดน มณฑลเคนท์ โดยในช่วงนี้พระองค์ทรงพระประชวรมากขึ้นด้วยโรคตัวบิดเข้าไปอยู่ในพระยกนะ (ตับ) แต่แพทย์ได้รักษาจนเป็นปกติ แต่กระนั้นพระอาการประชวรของพระองค์ก็มีการกำเริบหนักบ้าง น้อยบ้าง ประกอบกับโรคทางพระหทัยที่เริ่มพบว่ามีอาการ

พ.ศ. 2482 ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักคอมพ์ตัน ตำบลเวอร์จิเนีย วอเตอร์ เพื่อความปลอดภัยจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากพระตำหนักเวนคอร์ตอยู่ใกล้กับช่องแคบอังกฤษ ซึ่งเป็นเขตป้องกันประเทศของทหาร โดยทำการปิดพระตำหนักไว้แล้วหวังใจว่าเมื่อสงครามสงบจะได้กลับไปพำนักอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในช่วงนี้พระองค์ดำรงพระชนม์ชีพในภาวะสงครามด้วยความยากลำบาก ขาดแคลนอาหาร ทั้งยังต้องระวังภัยทั้งทางอากาศ โดยการอำพรางไฟฟ้าลดความสว่างและความอบอุ่น บางครั้งต้องสวมหน้ากากป้องกันก๊าซพิษ โดยเฉพาะเมื่อถึงฤดูหนาว ทำให้พระสุขภาพทรุดโทรมและทรงประชวรหนักขึ้น 

ปี พ.ศ. 2484 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม พระชะตาชีวิตโหมกระหน่ำพระองค์อีกครั้ง เมื่อทรงทราบว่า พระตำหนักเวนคอร์ตที่ทรงปิดไว้ ถูกยึดครองเป็นที่ทำการของฝ่ายทหารอังกฤษไปแล้ว จึงจะทรงส่งคนไปเก็บสิ่งของมีค่าในพระตำหนัก ก่อนที่จะส่งมอบตำหนักอย่างเป็นทางการ ด้วย ‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี’ พระองค์ทรงอาลัยพระตำหนักนี้มาก ในหลวงรัชกาลที่ 7 จึงทรงมีพระราชดำริจะเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระองค์เอง แต่พระอาการประชวรของรัชกาลที่ 7 ทรุดหนักลง พระบาทบวมอยู่ 2-3 วัน ซึ่งเป็นอาการอันเนื่องมาจากที่ประชวรพระหทัย

ในช่วงเช้าวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงฉลองพระองค์ชุดบรรทมเป็นสนับเพลาแพร และฉลองพระองค์แขนยาว ทรงตื่นพระบรรทมแต่เช้าตรู่ พระอาการดูดีขึ้นมาก ได้รับสั่งกับ ‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ’ ว่าหากอยากจะเสด็จฯ ไปพระตำหนักเวนคอร์ตเพื่อไปจัดการอะไรต่อมิอะไรให้เรียบร้อยก็ทรงไปได้ ไม่ต้องทรงเป็นพระกังวล โดยรับสั่งว่า 

“จะไปไหนก็ได้ ฉันสบายดี....อยู่ได้ ไม่เป็นไร ไม่ต้องห่วง จะอ่านหนังสือพิมพ์” ซึ่งคงไม่มีใครคาดคิดว่านั่นจะคือรับสั่งครั้งสุดท้ายของในหลวงรัชกาลที่ 7 

‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ’ จึงเสด็จฯ ออกไปโดยรถยนต์พระที่นั่งตั้งแต่เวลา 08.00 น. ในหลวง ร.7 ทรงเสวยไข่ลวกนิ่ม ๆ ซึ่งนางพยาบาลประจำพระองค์จัดถวาย ทรงหนังสือพิมพ์แล้วบรรทมต่อ สักพักหนึ่งก็ทรงบ่นว่ามีอาการวิงเวียนไม่สบาย นางพยาบาลจึงลุกไปหยิบยา พอกลับมาอีกที ก็เห็นพระหัตถ์ตกห้อยลงมาอยู่ข้าง ๆ หนังสือพิมพ์ตกอยู่กับพื้น หลับพระเนตรเหมือนกำลังหลับอย่างสบาย ประมาณ 09.00 น. นางพยาบาลจับพระชีพจรดู จึงรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัว ได้สวรรคตเสียแล้ว สิริรวมพระชนม์มายุได้ 48 พรรษา และเป็นเวลา 6 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่พระองค์ทรงสละราชสมบัติ

ส่วนทาง สมเด็จฯ เมื่อรถพระที่นั่งแล่นออกจากพระตำหนักได้สักพักใหญ่ก็ต้องชะลอ แล่นช้าลงเพราะหมอกลงจัด โดยมีคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่า สมเด็จฯ ทรงทอดพระเนตรเห็น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประทับยืนอยู่ ซึ่งออกจะประหลาด ๆ จนทรงสังหรณ์พระราชหฤทัย 

จนกระทั่งตำรวจอังกฤษได้มาสกัดรถพระที่นั่งของสมเด็จฯ เพื่อแจ้งข่าว พระองค์จึงทรงรีบเสด็จฯ กลับพระตำหนักในทันที เมื่อทรงถึงพระตำหนัก พระองค์ทรงควบคุมพระสติอารมณ์ได้อย่างดีเยี่ยม ทรงจัดการพระบรมศพเป็นการภายใน โดยอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐาน ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน โดยรัฐบาลอังกฤษ ได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ในการประดิษฐานพระบรมศพเป็นเวลา 4 วัน ซึ่งตามปกติจะอนุญาตให้เพียง 1 วัน เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้พระประยูรญาติที่อยู่ห่างไกลมาถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งรัชกาลที่ 7 ได้ทรงรับสั่งเกี่ยวกับการแต่งพระบรมศพไว้ว่า 

“ถ้าพระองค์สวรรคตเมื่อไร ให้ทรงพระภูษาแดง และทรงสะพักผ้าขาวผืนเดียวแล้วเอาลงหีบ แล้วจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพโดยเร็ว ไม่ต้องมีพิธีเกียรติยศอย่างใดทั้งสิ้น และขอให้เอาซอไวโอลินไปเล่นเพลงที่พระองค์โปรดเพียงคันเดียวในขณะที่กำลังถวายพระเพลิง”

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ ‘เกิดวังปารุสก์’ ตอนหนึ่งว่า… “ได้ขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพ ซึ่งดูเหมือนบรรทมหลับอยู่ในพระหีบใหญ่บุนวมสีขาว ดูสบายดีกว่าที่จะต้องถูกจัดลงพระบรมโกศอย่างในเมืองไทยเรามากนัก ในห้องตั้งพระศพก็จัดการอย่างดี มีธงมหาราชประดับติดอยู่กับฝา”

ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ได้อัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนรถซึ่งมีธงมหาราชคลุมหีบพระบรมศพ และเชิญพระชัยวัฒน์ไว้ทางเบื้องพระเศียร รถเคลื่อนขบวนออกจากพระตำหนักคอมพ์ตันไปยัง สุสานโกลเดอร์ส กรีน ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงลอนดอน มีรถตามเสด็จประมาณ 5 คัน 

เมื่อถึงสุสาน พบว่ามีผู้มาคอยเฝ้ารับเสด็จฯ อยู่มาก ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ เมื่อเจ้าหน้าที่อัญเชิญหีบพระบรมศพเข้าสู่ฐานตั้ง ผู้ที่ตามเสด็จฯ นั่งเก้าอี้เรียบร้อยแล้ว นายอาร์. ดี. เครก ชาวอังกฤษ ซึ่งเคยรับราชการอยู่เมืองไทย และเป็นพระสหายของ ร.7 ได้อ่านสุนทรพจน์สรรเสริญพระเกียรติคุณ ผู้ที่ไปชุมนุม ณ ที่นั้นเข้าไปถวายความเคารพโดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จฯ เข้าไปถวายบังคมพระบรมศพเป็นพระองค์แรก ตามด้วยพระประยูรญาติและผู้ใกล้ชิดทั้งชาวไทยและต่างชาติ จากนั้นพนักงานกดสวิตช์อัญเชิญหีบพระบรมศพ เลื่อนไปตามรางเหล็กสู่เตาไฟฟ้า 

การพระบรมศพนั้นไม่มีพิธีสงฆ์ใด ๆ เพราะไม่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่ในประเทศอังกฤษในเวลานั้น มีแต่คนไทยซึ่งเคยบวชในพระพุทธศาสนา ได้สวดมนต์ถวายพระราชกุศล แล้วมีการบรรเลงเพลง เมนเดลโซน ไวโอลิน คอนแชร์โต ซึ่งเป็นเพลงที่พระองค์โปรดเป็นพิเศษ ถวายเป็นครั้งสุดท้ายเพียงเท่านั้น

หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นแล้ว พระบรมอัฐิและพระบรมสรีรางคารถูกอัญเชิญกลับไปประดิษฐานยังพระตำหนักคอมพ์ตันอันเป็นที่ประทับของพระองค์จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่สยาม

โดยการอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับสู่สยามนั้นเริ่มต้นในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 กระบวนเกียรติยศจากรัฐบาลอังกฤษอัญเชิญหีบพระบรมอัฐิในหลวงรัชกาลที่ 7 ขึ้นประทับบนเรือวิลเลมรัยส์ เมืองเซาธ์แฮมป์ตัน ทหารกองเกียรติยศ กองทหารราบเบาซอมเมอร์เส็ท ถวายบังคมส่งเสด็จฯ โดย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงรับการถวายความเคารพ โดยพระองค์เสด็จฯ กลับสยามโดยประทับบนเรือลำนี้ เป็นเวลา 23 วัน

กระทั่งวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 เรือภาณุรังสีได้เข้าเทียบเรือวิลเลมรัยส์ แล้วอัญเชิญหีบพระบรมอัฐิมาประดิษฐาน ณ ที่ประทับชั่วคราว ภายในโถงเรือจนถึงกรุงเทพฯ จึงอัญเชิญหีบพระบรมอัฐิขึ้นสู่เรือรบหลวงแม่กลอง แล้วนำพระบรมอัฐิ บรรจุในพระโกศ ประดิษฐานในเรือรบหลวงแม่กลอง หลังจากนั้นกรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสด็จฯ ตาม สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ และอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิลงจากเรือรบหลวงแม่กลอง ขึ้นประทับบนพระราเชนทรยานราชรถเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

โดยประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิเคียงข้าง พระโกศพระบรมอัฐิ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ณ พระที่นั่งพุดตานถม ภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เพื่อประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top