ตำรวจลับราชวงศ์หมิง หน่วยปราบขุนนางชั่ว  กลายเป็นหน่วยปราบขั้วตรงข้าม จนหมิงต้องล่มสลาย

ถ้าคุณชื่นชอบภาพยนตร์ประวัติศาสตร์จีน โดยเฉพาะเรื่องราวในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. ๑๓๖๘ - ๑๖๔๔) นอกจากเรื่องการขึ้นครองบัลลังก์ของ 'จูหยวนจาง' หรือ 'จักรพรรดิหมิงไท่จู่' (หงอู่) (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๓๖๘ - ๑๓๙๘) จากลูกชาวนา เด็กกำพร้า นักบวช กบฏชาวนา ผู้นำกองทัพ ขึ้นสู่จักรพรรดิ เรื่องราวของพระองค์นั้นนับว่ามีสีสันเป็นอย่างยิ่ง 

เศษเสี้ยวหนึ่งของสีสันในชีวิตของพระองค์ก็คือเรื่องราวของการตั้งหน่วยตำรวจลับ องครักษ์แห่งราชวงศ์หมิง ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญเพื่อใช้จัดการขุนนางฉ้อฉลและคอยปกป้องพระองค์ดังที่ในสมัยฮั่นมีหน่วย 'องครักษ์อวี่หลิน' องครักษ์ที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน เริ่มก่อตั้งในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้หรือ ๑๐๔ ปีก่อนคริสตกาล เช่นเดียวกัน 

ยุคราชวงศ์หมิง ถือว่าเป็นยุคแห่งการตั้งหน่วยตำรวจลับโดยแท้ นัยว่าเพื่อถ่วงดุลกัน แต่ตั้งไป ตั้งมา หน่วยตำรวจลับทั้งหลายกลับกลายเป็นเครื่องมือประหัตประหารกันจนเป็นชนวนเหตุแห่งการล่มสลายของราชวงศ์หมิงในกาลต่อมา 

ซึ่งเรื่องราวของหน่วยตำรวจลับ องครักษ์แห่งราชวงศ์หมิงเหล่านี้ ถูกนำมาสร้างภาพยนตร์จีนอิงประวัติศาสตร์หลาย ๆ เรื่อง ซึ่งจะมีหน่วยอะไรบ้าง ผมนำมาเรียบเรียงให้อ่านกันเพลิน ๆ ดังนี้ครับ 

หน่วยงานตำรวจลับ องครักษ์กลุ่มแรกที่ถูกตั้งขึ้นในราชวงศ์หมิงก็คือ 'องครักษ์เสื้อแพร' (จิ่นอีเว่ย์) เป็นหน่วยองครักษ์พิเศษขึ้นตรงกับองค์จักรพรรดิ ทำหน้าที่อารักขาขบวนเสด็จ ตรวจสอบและจัดการขุนนางรวมถึงกลุ่มอำนาจซึ่งอาจเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ ก่อตั้งขึ้นโดย 'จักรพรรดิหมิงไท่จู่' รัชศกหงอู่ปีที่สิบห้า (ราว ค.ศ. ๑๓๘๒) 

จุดเด่นขององครักษ์เสื้อแพรก็คืออาวุธประจำตัว ได้แก่ 'ดาบซิ่วชุน' (ปักวสันต์) ซึ่งเป็นดาบสัณฐานเหลี่ยมหนึ่งด้านหนา หนึ่งด้านคม ปลายไม่แหลม เน้นการฟาดฟันเพื่อให้ขาด และใช้เพื่อทรมาณ 

จากอาวุธก็มาที่เครื่องแบบเรียกว่าชุด 'เฟยอหวี' (มัจฉาเหิน) ซึ่งเป็นเครื่องแบบเฉพาะของครักษ์เสื้อแพร มีลักษณะเป็นชุดคลุมยาว ปักลายมังกรมัจฉาบิน (นึกถึงปลามังกรเข้าไว้ครับ) ซึ่งมีสีเหลือง - ทอง (ออกทางเข้มกว่า) เพื่อให้รู้ว่าเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อองค์จักรพรรดิ ส่วนองครักษ์เสื้อแพรระดับสูงนั้นจะมีชุดประจำตำแหน่งอีกสองแบบ นั่นคือชุด 'หมั่งฝู' (ปักลายงูเหลือม) และชุด 'โต่วหนิว' (ปักลายวัวมังกร) ซึ่งเป็นเครื่องแบบพระราชทานจากองค์จักรพรรดิ 

องครักษ์เสื้อแพรนั้นเริ่มต้นมีอยู่ราว ๕๐๐ คน ต้องผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มงวด มีผู้รับรองว่าประวัติบริสุทธิ์ ไม่เคยต้องโทษ และต้องผ่านการทดสอบมากมาย โดยรู้จักกันในฐานะ 'นักสืบ' หรือ 'นักจับ' และ 'นักทรมาน' ด้วยภารกิจลับส่วนใหญ่จะเป็นภารกิจสืบสวนสอบสวน ติดตามและจับกุมบรรดาขุนนางที่ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดร้ายแรงหรือมีแผนการชั่วร้าย เช่น ทุจริต หรือก่อกบฏ เป็นต้น สามารถกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผู้ต้องหายอมรับสารภาพ 

วิธีการทรมานผู้ต้องหาขององครักษ์เสื้อแพรนั้นขึ้นชื่อว่า โหดเหี้ยมอำมหิต กล่าวกันว่าเมื่อใดที่องครักษ์เสื้อแพรเคาะประตูบ้าน ก็เตรียมบอกลาคนในบ้านได้เลย แต่มีขึ้นก็ต้องมีลง โดยในปี ค.ศ. ๑๓๙๓ จักรพรรดิหมิงไท่จู่ได้ลดบทบาทขององครักษ์เสื้อแพรลง เนื่องจากเหตุการณ์สอบสวนที่ลุแก่อำนาจ ทำให้เกิดการฆ่าคนไปมากมาย ราว ๔๐,๐๐๐ คน จากการสอบสวนเรื่องแผนการกบฏของ 'หลันหยู' เพียงคดีเดียว นับว่าน่าหวาดผวามาก ๆ 

สืบเนื่องต่อมา ก็มาถึงยุคที่จักรพรรดิตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของขุนนางและขันที ขุนนางกับขันทีผลัดกันขึ้นมาครองอำนาจในราชสำนัก องครักษ์เสื้อแพรก็กลายเป็นมือเป็นเท้าให้โดยผ่านการ 'ซื้อตัว' ขุนนางระดับผู้บัญชาการในสำนักองครักษ์เสื้อแพร เพื่อใช้งานในการกำจัดศัตรูทางการเมืองของตน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชื่อเสียงขององครักษ์เสื้อแพรยิ่งเป็นไปในเชิงลบมากขึ้น แต่กระนั้นในยุคราชวงศ์หมิงยังมีหน่วยงานที่เหมือนกับองครักษ์เสื้อแพรเกิดตามขึ้นมาอีก 

ในรัชสมัยจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (หยงเล่อ) (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๔๐๒ - ๑๔๒๔) พระองค์ได้ยึดครองราชย์บัลลังก์จากจักรพรรดิหมิงฮุ่ยจง (เจี้ยนเหวิน) (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๓๙๘ - ๑๔๐๒) ซึ่งเป็นหลานชายของพระองค์แล้วปราบดาภิเษกตนเองขึ้นปกครองราชวงศ์หมิง หน่วยงานเดิมอย่างองครักษ์เสื้อแพรก็เลยไม่เป็นที่ไว้วางพระทัย อีกทั้งก่อนที่พระองค์จะครองราชย์พระองค์ได้สู้รับกับมองโกลจนได้รับชัยชนะ โดยมีเชลยศึกเด็กได้ถูกตอนเป็น 'ขันที' และในกลุ่มขันทีเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นข้ารับใช้ใกล้ชิดพระองค์มาตั้งแต่ยังไม่ครองราชย์ ไม่แปลกถ้าหลายหน่วยงานของพระองค์จะมี 'ขันที' เป็นผู้บัญชาการ หนึ่งในนั้นคือหน่วยตำรวจลับของพระองค์ที่มีชื่อว่า 'ตงฉ่าง'

ตงฉ่าง หรือ สำนักบูรพา ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๔๒๐ ตงฉ่าง เป็นหน่วยลับสำหรับตรวจสอบคดีพิเศษ ทำหน้าที่เหมือนตำรวจลับปฏิบัติภารกิจพิเศษที่ขึ้นตรงต่อองค์จักรพรรดิเช่นกัน ที่สำคัญหน่วยงานอื่นใดก็ไม่สามารถแทรกแซงได้ โดยมีขันทีที่ได้รับความไว้วางพระทัยเป็นหัวหน้าหน่วย ทั้งในหน่วยยังประกอบด้วยขันทีผู้มีวิทยายุทธสูง ด้วยความเป็นขันทีจึงสามารถเข้าวังฝ่ายใน เพื่อทูลข่าวสารแก่จักรพรรดิได้โดยตรง จึงเป็นหน่วยสำคัญที่แม้กระทั่ง 'องครักษ์เสื้อแพร' ก็ต้องกลายมาเป็นมือเท้าทำงานภายใต้การบัญชาการของ 'ตงฉ่าง'

ในช่วงแรกสำนักตงฉ่างก็ทำหน้าที่ได้ดี สามารถสืบหาผู้กระทำความผิดต่อบ้านเมืองมาลงโทษได้ แต่ต่อมา 'ตงฉ่าง' ก็เปลี่ยนไป เมื่อขันทีผู้ใกล้ชิดองค์จักรพรรดิ โดยเฉพาะในสมัยจักรพรรดิหมิงอิงจง (เจิ้งถง / เทียนชุ่น) (ครองราชย์ ๒ ครั้งครั้งแรก ค.ศ. ๑๔๓๕ - ๑๔๔๙ ครั้งที่ ๒ ค.ศ. ๑๔๕๗ - ๑๔๖๔) มีหัวหน้าขันทีชื่อ 'หวังเจิ้น' เริ่มใช้หน้าที่ผู้บัญชาการหน่วยตงฉ่างนี้เป็นช่องทางสั่งสมอำนาจ บารมี และสร้างอิทธิพลให้กับกลุ่มของตน ถึงขั้นสามารถชี้เป็นชี้ตายคนในแผ่นดินได้ มีการทุจริตกันอย่างออกนอกหน้า บรรดาขุนนางที่ต้องการมาขอพบหวังเจิ้น ต้องจ่ายเงินร้อยตำลึงเป็นของขวัญ จะพบองค์จักรพรรดิได้ก็ต้องผ่านทางหวังเจิ้น ทำให้ภายในช่วงระยะเวลา ๗ ปีที่หวังเจิ้นคุมตงฉ่าง เขามีอำนาจ มีเงินและทองรวมกันถึงกว่า ๖๐ โกดัง ขุนนางส่วนใหญ่ต้องคล้อยตามเขา ถ้าขุนนางคนไหนกล้าขัดกับเขา ขุนนางคนนั้นก็จะโดนยัดข้อหาและถูกกำจัด ว่ากันว่า 'ตงฉ่าง' และ 'ขันที' นี่แหละคือชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ราชวงศ์หมิงเสื่อมลง ทั้งยังเป็นหน่วยงานที่คนในราชสำนักหมิงเคียดแค้นและชิงชังมาก ๆ 

ยังไม่จบแค่นี้ เพราะการตั้งหน่วยงานลับแบบนี้ยังไม่จบ ในรัชสมัยของจักรพรรดิหมิงเสียนจง (เฉิงฮว่า) (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๔๖๔ - ๑๔๘๗) ในรัชสมัยนี้ขันทีมีอำนาจและอิทธิพลล้นฟ้า ทั้งองค์จักรพรรดิก็ไม่ค่อยออกว่าราชการและไม่วางพระทัยขุนนาง ราชการต่าง ๆ จึงตกอยู่ในมือขันทีโดยเฉพาะ 'มหาขันทีวังจื๋อ” ขันทีคนสนิทของพระสนม “ว่านกุ้ยเฟย' ผู้ซึ่งดูแลองค์จักรพรรดิมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ โดย 'วังจื๋อ' เพ็ดทูลพระองค์ว่า 'ตงฉ่าง' นั้น ตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลก่อน ๆ ซึ่งพระองค์อาจจะบังคับบัญชาไม่ได้อย่างราบรื่นนัก อย่ากระนั้นเลยพระองค์ควรจะจัดตั้งหน่วยตำรวจลับของพระองค์ขึ้นมาเอง โดยมีเหตุผลหลักก็คือ สอดส่อง ควบคุมตงฉ่างกับองครักษ์เสื้อแพร ทำให้ในปี ค.ศ. ๑๔๗๗ หน่วย 'ซีฉ่าง' หรือ สำนักประจิม จึงเกิดขึ้นมา โดยมี 'มหาขันทีวังจื๋อ' เป็นผู้บัญชาการโดยสามารถออกคำสั่งกับ 'ตงฉ่าง' และ 'องครักษ์เสื้อแพร' ได้ 

เมื่อมี 'ซีฉ่าง' ที่สามารถบัญชาการ 'ตงฉ่าง' และ 'องครักษ์เสื้อแพร' ได้ ความบรรลัยก็บังเกิด เพราะผู้บัญชาการซีฉ่างมีอำนาจมหาศาล ถึงขั้นจับตัวและเข่นฆ่าขุนนาง ชาวบ้านตามอำเภอใจ จนขุนนางและชาวบ้านบริสุทธิ์ต้องตายไปนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะบรรดาขุนนางผู้ซื่อสัตย์ภักดี หากไปขัดขวางการหาผลประโยชน์ ก็จะถูกเล่นงานถึงตาย แถมไม่ปล่อยให้ตายง่าย ๆ ต้องทรมานจนทนไม่ไหว ซ้ำยังต้องบังคับให้ซัดทอดคนอีกนับสิบ นับร้อย มารับการทรมานด้วย ซึ่งถือว่าเป็นความเลวร้ายระดับสุดยอดจริง ๆ 

แต่ 'ซีฉ่าง' มีอายุหน่วยงานที่สั้นเพียง ๕ ปี เพราะในปี ค.ศ. ๑๔๘๒ ขุนนางใหญ่น้อยรวมทั้ง 'ตงฉ่าง' และ 'องครักษ์เสื้อแพร' ได้ถวายรายงานเรื่องการที่วังจื๋อใช้อำนาจมิชอบ ทำให้จักรพรรดิหมิงเสียนจงตัดสินพระทัยยุบ 'ซีฉ่าง' ส่วนวังจื๋อให้ออกจากราชการแล้วยกโทษตายให้กลับไปใช้ชีวิตอยู่บ้านเกิด (รอดได้ไงวะเนี่ย?)

ตกมาถึงรัชสมัยจักรพรรดิหมิงเซี่ยวจง (หงจื้อ) (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๔๘๗ - ๑๕๐๕) พระองค์ทรงเอาใจใส่ต่อราชการบ้านเมือง จนการปกครองในยุคนั้นเริ่มที่จะกลับมาเข้าที่เข้าทางบทบาทของหน่วยตำรวจลับเริ่มถูกลดลง ขันทีเริ่มอยู่กับร่องกับรอยมากขึ้น แต่ทว่าพระองค์ครองราชย์ได้เพียง ๑๘ ปี ก็ทรงสวรรคต 

จากที่กำลังจะดีอยู่แล้วพอมาถึงรัชสมัยของจักรพรรดิหมิงอู่จง (เจิ้งเต๋อ) (ครองราชย์ ค.ศ. ๒๐๔๘ - ๒๐๖๔) พระองค์ขึ้นครองราชย์ด้วยพระชันษา ๑๕ ปี พระองค์ไม่เหมือนพระราชบิดาของพระองค์เลยแม้แต่น้อย ไม่เอางานบ้านเมือง ชอบท่องเที่ยว ใช้ชีวิตสำราญและปล่อยให้งานราชการดำเนินการโดยแก๊งขันที โดยมีผู้นำคือ 'หลิ่วจิน' ซึ่งได้จัดตั้ง 'เน่ยฉ่าง' (สำนักฝ่ายใน) โดยมีกองกำลังของตัวเองที่เรียกว่า 'กองแปดพยัคฆ์' ที่ใช้จัดการขั้วตรงข้ามโดยเฉพาะ เป็นหน่วยงานที่โหดเหี้ยมทารุณและใช้อำนาจบาตรใหญ่ยิ่งกว่า 'ตงฉ่าง' กับ 'ซีฉ่าง' เสียอีก 

ช่วงที่ขันที 'หลิวจิ่น' ครองอำนาจ การทุจริตฉ้อฉล การรับสินบนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติ ขุนนางที่เอาใจออกห่างหรือขัดขวางเขาในทางใดทางหนึ่งจะถูกกำจัดอย่างไม่ปรานี ว่ากันว่าในช่วง ๑ ปี เขาสังหารขุนนางตงฉินไปกว่า ๓๐๐ คน ซึ่งเขาเหิมเกริมขนาดที่จะวางแผนชิงบัลลังก์เลยทีเดียว แต่สุดท้ายไม่รอด เขาถูกจับได้และด้วยความกเฬวรากเกินรับ เขาถูกประหารด้วยการแล่เนื้อออกทีละชิ้น ๆ รวมกว่า ๓,๓๕๗ ชิ้น ขณะที่ยังมีลมหายใจท่ามกลางเสียงสาบแช่งของผู้คนเรือนหมื่น ที่อยู่ ณ ลานประหารนั้น 

ต่อมาได้มีการตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมดของ 'หลิวจิ่น' แล้วพบว่าเขามีทองคำมากกว่า ๑๒ ล้านตำลึง มีเงินกว่า ๒๕๐ ล้านตำลึง ซึ่งยังไม่รวมถึงเพชรนิลจินดาและสิ่งมีค่าอื่น ๆ อีกมากมาย ว่ากันว่าทรัพย์สินของเขามีมากกว่าทรัพย์สินของแผ่นดินถึง ๖ เท่า และ 'เน่ยฉ่าง' ก็ถูกยุบไปโดยปริยาย

แต่กระนั้น 'องครักษ์เสื้อแพร' และ 'ตงฉ่าง' ก็ยังไม่ได้ถูกยุบลงแต่อย่างไร ยังคงอยู่ภายใต้การบัญชาการของขันทีซึ่งใกล้ชิดพระจักรพรรดิอยู่นั่นเอง จนมาถึงรัชสมัยของ 'จักรพรรดิหมิงซื่อจง' (ฉงเจิน) (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๖๒๗ - ๑๖๔๔) พระองค์ทรงเห็นว่าตงฉ่างควรจะถูกยุบ แต่ความคิดนี้ถูกขัดขวางโดย 'มหาขันที เว่ย์ จงเสียน' ซึ่งเป็นขันทีผู้กุมอำนาจอยู่ แต่ด้วยความอยากทำตัวเป็นจักรพรรดิ ขันที เว่ย์ จงเสียน จึงถูกปลดและเนรเทศไปอยู่ชายแดน ก่อนที่จะผูกคอตายเพราะกลัวถูกขุนนางที่เคยรังแกตามมาเช็กบิล 

การยุบ 'ตงฉ่าง' จึงเดินหน้าไปได้ จากตงฉ่างก็ตามมาด้วยการยุบหน่วยองครักษ์เสื้อแพร พร้อมกับไล่จัดการพวกขุนนางที่อยู่ข้างเดียวกับ เว่ย์ จงเสียน ไปจนหมด แต่ความเสียหายจากตำรวจลับ องครักษ์เสื้อแพร ตงฉ่าง ซีฉ่าง เน่ยฉ่าง ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมากว่า ๒๗๖ ปี ทั้งยังการกุมอำนาจของขันที ไล่เข่นฆ่าขุนนางตงฉิน และการไม่แก้ไขปัญหาบ้านเมือง จนเกิดเป็นกบฏขึ้นอย่างมากมาย ทำให้ในปี ค.ศ. ๑๖๔๔ ราชวงศ์หมิงก็ถึงกาลอวสาน


เรื่อง : สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager