'ฟุตบอล' กีฬาแห่งการรวมใจคนทั้งชาติ  วิวัฒนาการพันปีที่มีจุดเริ่มจากแดนมังกร

หากพูดถึงกีฬาที่คนทั้งโลกนิยมทั้งเล่นและชม กีฬาประเภทนั้นคงไม่พ้นกีฬา 'ฟุตบอล' ซึ่งเป็นกีฬาเก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก เก่าแก่ขนาดไหน และมาอยู่ในประเทศไทยได้อย่างไร ผมพอจะเรียบเรียงเรื่องให้อ่านกันเพลิน ๆ ได้แบบนี้ 

พอนึกถึงต้นกำเนิดกีฬาฟุตบอล เราคงจะนึกถึงประเทศอังกฤษ ประเทศที่มีทีมฟุตบอลยอดนิยมอยู่หลายต่อหลายทีม แต่คุณรู้ไหม? จุดกำเนิดของฟุตบอลมันกลับมาจากกีฬาที่เล่นกันในประเทศจีนเมื่อตั้งแต่ประมาณ ๒,๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาล 

กีฬาโบราณของจีนที่เชื่อว่ามันคือต้นกำเนิดของฟุตบอลมีชื่อเรียกว่า 'ชู่จีว์' (蹴鞠) จากบันทึก 'สื่อจี้' ของ 'ซือหม่าเชียน' ผู้บันทึกประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่สมัยหวงตี้ (จักรพรรดิเหลือง) มาจนถึงสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก) ได้บันทึกไว้ว่า 'ชู่จีว์' เป็นกิจกรรมเพื่อการผ่อนคลายรูปแบบหนึ่งของประชาชนทั่วไปโดยมีกำเนิดราว ๕,๐๐๐ ปีก่อน ในสมัยก่อนเกิดจักรพรรดิ จากนั้นถูกนำเข้าไปสู่การเล่นเผื่อการผ่อนคลายของทหารในช่วงราว ๒,๕๐๐ ปีก่อนในยุคสงครามระหว่างแคว้นครั้งใหญ่ และมาได้รับความนิยมถึงขีดสุดในยุคราชวงศ์ฮั่น ในช่วง ๒๐๖ ปีก่อนคริสตกาล

'ชู่จีว์' (蹴鞠) มีความหมายตรงตัวว่า 'เตะบอล' โดยมักถูกนำไปเล่นในกองทัพเพื่อเป็นการฝึกทหาร ในสมัยราชวงศ์ฮั่นไปจนถึงยุคสามก๊กกีฬาประเภทนี้ถือว่าเป็นกีฬายอดนิยมเลยทีเดียว เพราะมีการสร้างสนามแข่งขันที่มีในค่ายทหารทุกแห่ง เรียกว่า 'จูซาง' เพื่อไว้ใช้แข่งขันโดยเฉพาะ โดยมีเสาประตูเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว และมีลูกบอลทำจากขนนก กติกาการแข่งขันก็จะคล้าย ๆ ฟุตบอลในปัจจุบันคือ แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย มีผู้เล่นฝ่ายละ ๑๒ คน ห้ามใช้มือสัมผัสลูกบอล แต่ผู้เล่นสามารถกระแทกกัน กอดรัดฟัดเหวี่ยงกันได้ ชิงไหวชิงพริบ ชิงจังหวะเข้าทำประตู มีลักษณะคล้ายกับรักบี้ผสมฟุตบอล ฝ่ายไหนเตะบอลเข้าประตูของคู่แข่งได้มากกว่าฝ่ายนั้นก็คือผู้ชนะ 

ลูกบอลแบบขนนกถูกปรับมาเป็นลูกบอลหนังที่มีอากาศบรรจุไว้ภายในช่วงยุค 'ราชวงศ์ถัง' ซึ่งเป็นช่วงราชวงศ์ที่มีความเป็นปึกแผ่นสูง 'จูซาง' ได้ถูกสร้างไว้อย่างแพร่หลายในนครหลวง 'ฉางอัน' และมารุ่งเรืองถึงขีดสุดในช่วงสมัย 'ราชวงศ์ซ่ง' เพราะมีการแข่งขัน 'ชู่จีว์' ในรูปแบบ Tournament ซึ่งมีการเชียร์กันอย่างเอิกเกริกและเริ่มส่งต่อกีฬาประเภทนี้ไปยังประเทศอื่น ๆ ที่ได้เข้ามาค้าขายในประเทศจีน ณ ช่วงเวลานั้นอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี ไปจนถึงพ่อค้าชาวตะวันตก ซึ่งนักประวัติศาสตร์กีฬาสันนิษฐานว่า 'ชู่จีว์' น่าจะไปถึงยุโรปและพัฒนามาเป็นฟุตบอลในรูปแบบของประเทศอังกฤษในเวลาต่อมา 

จากหลักฐานยืนยันด้วยภาพวาดยุคโบราณ บันทึกและการค้นพบเหรียญบรอนซ์ที่แกะสลักเป็นรูป 'ชู่จีว์' ทำให้ ใน ค.ศ. ๒๐๐๔ การแถลงข่าวของงานมหกรรมฟุตบอลนานาชาติแห่งประเทศจีนครั้งที่ ๓ 'เซปป์ แบลตเตอร์' ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ในขณะนั้นได้ประกาศว่า 'จีนเป็นแหล่งกำเนิดของกีฬาฟุตบอล'

คราวนี้เราข้ามไปที่ฝั่งอังกฤษเพื่อรู้จักกับฟุตบอลที่แพร่หลายในปัจจุบันกันบ้าง โดยนักประวัติศาสตร์ระบุว่าคำว่า Football เกิดขึ้นโดย 'พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๒ แห่งอังกฤษ' เมื่อปี ค.ศ.๑๓๑๔ แต่คำว่า Football นี้กลับเป็นประกาศที่พระองค์ห้ามเล่นกีฬาประเภทนี้ !!! เพราะมันหนวกหูจากเสียงเชียร์และการตะโกนใส่กัน (งั้นก็แสดงว่าเขาเล่นกีฬาแย่งลูกบอลแบบนี้เล่นกันมาก่อนยุคของพระองค์แล้วสิ ???) 

ในยุคแรกกีฬาฟุตบอลของอังกฤษเริ่มต้นขึ้นในสถานศึกษาที่มีสนามหญ้า จนกระทั่งในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๕๗ กลุ่มนักเรียนเก่าในเมืองเชฟฟีลด์ (Sheffield) รวมตัวกันก่อตั้ง 'สโมสรฟุตบอลเชฟฟีลด์” (Sheffield Football Club) ขึ้นเป็นสโมสรฟุตบอลแห่งแรกของอังกฤษและของโลก โดยมีการแข่งขันครั้งแรกระหว่าง 'สโมสรฟุตบอลเชฟฟีลด์' (Sheffield Football Club) กับ กับ 'สโมสรฟุตบอลฮัลลัม' (Hallam football club) ซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกัน ในปี ค.ศ. ๑๘๖๒ 

แต่กระนั้นการแข่งขันฟุตบอลก็ยังมีกติกาสะเปะสะปะไปตามแต่ละพื้นที่แล้วแต่ใครจะยึดถือ เช่น กฎของเคมบริดจ์และกฎของเชฟฟีลด์ ซึ่งสร้างความสับสนให้กับผู้เล่น จนกระทั่ง FA ของอังกฤษถูกจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๖๓ กฎและกติกาของฟุตบอลจึงเริ่มเป็นรูปธรรมจากการประชุมครั้งแรกในกรุงลอนดอน ซึ่งมีตัวแทนจาก ๑๒ สโมสรเข้าร่วม ซึ่งตัวตั้งตัวตีในการประชุมครั้งนั้นก็คือ 'อีเบเนเซอร์ โคบบ์ มอร์ลีย์' (Ebenezer Cobb Morley) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น 'บิดาของสมาคมฟุตบอลและฟุตบอลสมัยใหม่: ซึ่งกติกาและรูปแบบการเล่นฟุตบอลก็ได้พัฒนาขึ้นจากวันนั้นมาจนถึงปัจจุบัน 

โดยการแข่งขันรายการฟุตบอลแรกของอังกฤษและของโลกก็คือการแข่งขันที่ชื่อว่า FA Cup เมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๒ ซึ่งเป็นการแข่งขันในรูปแบบแพ้ตกรอบ แต่กระนั้นก็เป็นการแข่งขันที่ทุกสโมสรตั้งตารอเพื่อเข้าแข่งขัน เพราะมันคือรายการที่สโมสรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ก็มีโอกาสเข้ารอบและตกรอบได้เหมือนกัน ก่อนที่จะเกิดระบบ League ที่มีการแข่งขันเพื่อเก็บสะสมคะแนนแล้วจัดลำดับในเวลาต่อมา

แล้วในประเทศไทยล่ะกีฬาฟุตบอลเข้ามายังไง ? และเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ ? 

กีฬาฟุตบอลในไทยเริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยของ 'พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว' รัชกาลที่ ๕ พระองค์ได้ส่งพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานยาเธอ และข้าราชบริพารไปศึกษาวิชาการด้านต่าง ๆ ที่ประเทศอังกฤษ โดยหนึ่งในนั้นคือ 'ครูเทพ' เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้ที่นำกีฬาฟุตบอลกลับเข้ามาเล่นในประเทศไทยเป็นคนแรก ทั้งยังจัดการแข่งขันฟุตบอลรายการแรกของประเทศไทยระหว่าง 'ทีมชาวบริเตนบางกอก' กับ 'ทีมกรมศึกษาธิการ' ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ โดยใช้กติกาของ FA 

เมื่อเริ่มแรกกีฬาฟุตบอลถูกคัดค้านเป็นอย่างมากด้วยเหตุผลที่ว่า สยามเป็นเมืองอากาศร้อน ทั้งยังก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้เล่น และผู้ชมได้ง่าย ฯลฯ เอาว่าอะไรใหม่ ๆ ก็อย่างนี้แหละมักจะโดนค้านไว้ก่อน แต่หลังจากนั้นทุกคำครหาก็ค่อย ๆ เงียบไป เพราะ 'พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว' รัชกาลที่ ๖ ซึ่งทรงเป็นนักเรียนเก่าจากอังกฤษทรงจัดตั้ง 'สโมสรคณะฟุตบอลสยาม' ซึ่งมีพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงลงแข่งขันเป็นผู้เล่นเอง ทั้งส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระดับประเทศและระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์อีกด้วย โดยรายการนานาชาติรายการแรกของสยามระหว่าง 'ทีมชาติสยาม' กับ 'ทีมราชกรีฑาสโมสร' เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ 

จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งชาติสยามขึ้น โดยทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมี 'เจ้าพระยารามราฆพ' (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นนายกสมาคม ฯ คนแรก 

ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๙ รัชกาลที่ ๖ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่มการแข่งขัน 'การแข่งขันฟุตบอลสำหรับพระราชทานถ้วยทองของหลวง' โดยถ้วยรางวัลทำด้วยทองคำแท้ขึ้น มี ๑๒ ทีมเข้าร่วม ได้แก่ นักเรียนนายร้อยทหารบก, นักเรียนนายเรือ, นักเรียนตำรวจภูธร, นักเรียนสารวัตร, กรมนักเรียนเสือป่าหลวง, เสือป่าเสนากลาง, เสือป่ากองพันพิเศษ รักษาพระองค์, กรมเสือป่าราบหลวง, กรมพรานหลวง, กรมเสือป่าม้าหลวง, กรมทหารมหาดเล็ก และกรมทหารรักษาวังซึ่งต่อมาการแข่งขันนี้จะรู้จักกันในชื่อฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. 

เมื่อแข่งขันกันครบ ๒๙ นัด ผลปรากฏว่า 'สโมสรนักเรียนนายเรือ' ที่กล่าวกันว่า 'เสด็จเตี่ย' กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อดีตนักฟุตบอลโรงเรียนนายเรือของประเทศอังกฤษ คือผู้นำกีฬาลูกหนังเข้าไปสู่รั้วโรงเรียนนายเรือ มีคะแนนเป็นอันดับที่ ๑ จากการลงสนามแบบพบกันหมด จึงได้ครองถ้วยทองของหลวงเป็นสโมสรแรก

จากฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. ซึ่งเรียกว่า 'ถ้วยใหญ่' ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เรายังมีการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานระดับชั้นที่ ๒ ของประเทศไทย โดยจัดการแข่งขันครั้งแรกในปีเดียวกัน โดยสโมสรทหารราชวัลลภ ได้ตำแหน่งชนะเลิศในรายการนี้เป็นสโมสรแรก ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่าการแข่งขันชิง 'ถ้วยน้อย' ก่อนที่การแข่งขันในประเทศไทยจะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย

จนในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ในรัชสมัยของ 'พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร' รัชกาลที่ ๙ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้ขอพระราชทานถ้วยพระราชทานเพิ่มเติม คือ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ค. และ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ง. ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนชื่อ 'ฟุตบอลถ้วยใหญ่' และ 'ฟุตบอลถ้วยน้อย' เป็น ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. และ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ข.

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ สมาคมฟุตบอลฯ ดำเนินการจัดแข่งขัน ฟุตบอลอาชีพในระบบลีกขึ้น โดยผ่านช่วงล้มลุกคลุกคลาน ปรับเปลี่ยน มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ก่อนจะลดบทบาท ลดทอนและพัฒนามาจนเป็นการแข่งขัน 'ไทยลีก' อย่างในปัจจุบัน

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เพียงแค่อยากจะเล่าให้ทุกท่านได้สัมผัสว่า 'ฟุตบอล' มันเป็นอะไรที่มากกว่ากีฬา มันมีแหล่งกำเนิดที่หลากหลายมากกว่าที่เราจะบันทึกสรุปได้ในบทความสั้น ๆ แต่กระนั้นผมก็เชื่อว่ากีฬาชนิดนี้ยังคงเดินหน้าและเติบโตต่อไป ทั้งในเรื่องผลประโยชน์ โอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสแห่งชีวิต ฯลฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น 'ฟุตบอล' คือกีฬาที่ช่วยรวมใจคนทั้งชาติได้ เป็น 'กีฬาที่เป็นมากกว่ากีฬา' ของจริง 


เรื่อง: สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager