‘Hsiao Bi-khim’ ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งรอง ปธน.ไต้หวัน ปี 2024 สตรีผู้มีความตั้งมั่นอันแน่วแน่ในการนำพา ‘ไต้หวัน’ สู่ความรุ่งเรือง

‘Hsiao Bi-khim’ สตรีลูกครึ่งจีน (ไต้หวัน)-อเมริกัน 
ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีไต้หวัน ปี 2024

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ‘Hsiao Bi-khim’ หัวหน้าสำนักงานผู้แทนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป (ในช่วงสามปีที่ผ่านมา) ได้ทำหน้าที่เสมือนเป็นเอกอัครรัฐทูตไต้หวันประจำสหรัฐฯ โดยพฤตินัย (เนื่องจากสรัฐฯ รับรองสถานภาพของสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน) ได้รับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการ ให้เป็นผู้สมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดีของ ‘พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า’ (DPP) ของ ‘Lai Ching-te’ ผู้สมัครในตำแหน่งประธานาธิบดีของการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ปี 2024

Hsiao เกิดที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น มีบิดาเป็นชาวไต้หวัน คือ ‘Hsiao Tsing-fen’ อดีตประธานวิทยาลัยศาสนศาสตร์และเซมินารีไถหนาน และมารดาเป็นชาวอเมริกัน คือ ‘Peggy Cooley’ ครอบครัวของเธอนับถือศาสนาคริสต์ นิกายเพรสไบทีเรียน เธอเติบโตในเมืองไถหนาน ประเทศไต้หวัน โดยสามารถใช้ภาษาจีนกลาง ฮกเกี้ยน และภาษาอังกฤษ จากนั้น เธอได้ย้ายไปสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมมอนต์แคลร์ ในเมืองมอนต์แคลร์ มลรัฐนิวเจอร์ซีย์

Hsiao สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเอเชียตะวันออกศึกษาจากวิทยาลัย Oberlin และปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในสหรัฐอเมริกา

Hsiao เริ่มร่วมงานกับสำนักงานตัวแทนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ในสหรัฐอเมริกา โดยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกิจกรรม เมื่อเดินทางกลับไต้หวัน Hsiao ก็กลายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของพรรค และเป็นตัวแทนของพรรคในการประชุมระหว่างประเทศต่าง ๆ มานานกว่าทศวรรษ

หลังจากที่ ‘Chen Shui-bian’ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีนในปี 2000 Hsiao รับหน้าที่เป็นล่ามและที่ปรึกษาของเขามาเกือบสองปี โดยสถานะสองสัญชาติของเธอทั้งสหรัฐฯ และสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในขณะที่เธอดำรงตำแหน่งในรัฐบาลกลายเป็นประเด็นทางการเมือง จึงทำให้เธอสละสัญชาติสหรัฐฯ ของเธอ ตามที่กฎหมายการจ้างงานข้ารัฐการพลเรือนของไต้หวันกำหนดไว้ในปี 2000

ในเดือนมกราคม ปี 2000 Hsiao ได้ประกาศความตั้งใจที่จะลงสมัครรับตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติไต้หวัน (สภาหยวน) ในนามตัวแทนของพรรค DPP ในฐานะสมาชิกเสริมที่เป็นตัวแทนของเขตเลือกตั้งในต่างประเทศ โดยอ้างถึงประสบการณ์ของเธอในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ต่อมาเธอได้รับเลือกในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในเดือนธันวาคม ปี 2004 Hsiao ได้รับเลือกเข้าสู่สภานิติบัญญัติไต้หวันอีกครั้ง ครั้งนี้เธอเป็นตัวแทนของเขตเลือกตั้งของไทเป ครอบคลุมเขตทางตอนเหนือของ Xinyi, Songshan, Nangang, Neihu, Shilin และ Beitou ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติ เธอดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศ คณะกรรมาธิการโครงการต่าง ๆ และคณะกรรมาธิการวินัยของรัฐสภา

Hsiao ทำงานในประเด็นต่าง ๆ ในสภานิติบัญญัติไต้หวัน โดยเฉพาะสิทธิสตรี สิทธิของชาวต่างชาติในไต้หวัน และสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ Hsiao สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายสัญชาติ เพื่อให้บุคคลที่เกิดมาจากบิดามารดาที่มีสัญชาติไต้หวันอย่างน้อยหนึ่งคน สามารถมีสัญชาติไต้หวันได้โดยไม่คำนึงถึงอายุ และยังได้เสนอและสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมือง เพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติและต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้สนับสนุนสิทธิสัตว์ โดยเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ และยังผลักดันให้มีการผ่านพระราชบัญญัติป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในเดือนมกราคม ปี 2005 อีกด้วย

ในเดือนพฤษภาคม ปี 2005 Hsiao เป็นตัวแทนของพรรค DPP ในการประชุมประจำปีของ ‘Liberal International’ ในกรุงโซเฟีย ประเทศบัลแกเรีย ซึ่งในระหว่างนั้นเธอได้รับเลือกเป็นรองประธานของ Liberal International ด้วย Hsiao ได้กล่าวว่า เธอและตัวแทนของพรรค DPP คนอื่น ๆ ถูกติดตามตลอดการเยือนบัลแกเรีย โดยบุคคลสองคนที่สถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนในกรุงโซเฟียส่งมา

ในเดือนเดียวกันนั้นเอง Hsiao ยังได้เริ่มรณรงค์เพื่อสนับสนุนให้แฟนเบสบอลชาวไต้หวัน เขียนอีเมลถึงทีม ‘New York Yankees’ เพื่อขอให้เก็บผู้เล่นชาวไต้หวัน ‘Chien-Ming Wang’ ไว้ในทีม

Hsiao เป็นหนึ่งในผู้ร่างกฎของพรรค DPP และตกเป็นเป้าหมายของผู้สนับสนุนพรรคบางคน ซึ่งระบุว่า “มีความภักดีไม่เพียงพอ” โดยมีรายการวิทยุที่สนับสนุนเอกราช พากย์เสียงเธอว่า ‘ไชนีสคิม’ ในเดือนมีนาคม ปี 2007 โดยกล่าวหาว่าเธอมีความใกล้ชิดกับอดีตฝ่ายปฏิรูปของพรรค DPP บางคน หลังจากได้รับการปกป้องโดยสมาชิกของพรรค DPP คนอื่น ๆ แต่ Hsiao ไม่ได้รับการเสนอชื่อให้ลงสมัครรับการเลือกตั้งใหม่โดยพรรค DPP ในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติไต้หวัน ในเดือนมกราคม ปี 2008 ด้วยสาเหตุมาจากความขัดแย้งครั้งนั้น

Hsiao ออกจากสภานิติบัญญัติหยวน หลังจากวาระของเธอหมดลงในวันที่ 31 มกราคม 2008 เธอทำหน้าที่เป็นโฆษกของการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2008 ซึ่งเป็นปีที่พรรค DPP ไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้ง เธอยังเป็นรองประธานมูลนิธิแลกเปลี่ยน ‘ทิเบต-ไต้หวัน’ เป็นสมาชิกของคณะกรรมการมูลนิธิไต้หวันเพื่อประชาธิปไตย และเป็นสมาชิกของคณะกรรมการบริหารของสภาเสรีนิยมและเดโมแครตแห่งเอเชีย และสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมสตรีกีฬาแห่งไต้หวัน ตั้งแต่ปี 2010

Hsiao ใช้เวลาหนึ่งทศวรรษในการเป็นตัวแทนของพรรค DPP ในเทศมณฑลฮัวเหลียน ซึ่งเป็นภูมิภาคอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋งอย่างเข้มแข็ง ในปีเดียวกันนั้น เธอพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมด้วยคะแนนเสียงที่น้อยกว่าไม่มาก แต่ก็ยังถือว่าได้ทำลาย ‘คะแนนเสียงเหล็ก’ ของพรรคก๊กมินตั๋ง จากนั้นเธอก็ตั้งสำนักงานในฮัวเหลียน และเดินทางไปมาระหว่างไทเปและฮัวเหลียนทุกสัปดาห์

Hsiao กลับมาสู่สภานิติบัญญัติไต้หวันในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2012 โดยได้รับเลือกผ่านการเป็นตัวแทนตามสัดส่วนของบัญชีรายชื่อพรรค ในปี 2016 Hsiao สืบทอดตำแหน่งต่อจาก ‘Wang Ting-son’ ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติของเทศมณฑลฮัวเหลียน ในปี 2018 มีการจัดให้รณรงค์เพื่อต่อต้าน Hsiao เนื่องจากเธอได้รับการสนับสนุนอย่างมาก ในการทำให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมาย

Hsiao ไม่ยอมแพ้ต่อความกดดัน และยังคงหาเสียงในฮัวเหลียนต่อ ในเดือนสิงหาคม 2019 เธอได้รับการเสนอชื่อจากพรรค DPP เพื่อลงสมัครรับตำแหน่ง สส.ต่อไปในเทศมณฑลฮัวเหลียน เธอเสียที่นั่งให้กับ ‘Fu Kun-chi’ ในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติปี 2020

Hsiao ออกจากสภานิติบัญญัติไต้หวันเมื่อหมดวาระในปี 2020 และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของสภาความมั่นคงแห่งชาติในเดือนมีนาคม 2020 ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันนั้นเอง Hsiao ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของไต้หวัน (หัวหน้าสำนักงานผู้แทนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป) ประจำสหรัฐอเมริกา โดยเธอรับช่วงต่อจาก ‘Stanley Kao’ และเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับบทบาทนี้

โดย Hsiao สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2020 Hsiao ได้รับเชิญอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ‘Joe Biden’ ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2021 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ตัวแทนของไต้หวันประจำสหรัฐฯ ได้เข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการนับตั้งแต่สหรัฐฯ ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันเมื่อปี 1979 เธอยืนอยู่หน้ารัฐสภาสหรัฐฯ (The US Capitol) ในพิธีสาบานตน และกล่าวว่า “ประชาธิปไตยเป็นภาษากลางของเรา และเสรีภาพคือเป้าหมายร่วมกันของเรา”

ในเดือนพฤศจิกายน 2000 เดอะเจอร์นัลลิสต์ ซึ่งเป็นนิตยสารแท็บลอยด์ท้องถิ่นได้เสนอข่าวซึ่งอ้างอย่างผิด ๆ ว่า ได้ข่าวจากรองประธานาธิบดี ‘Annette Lu’ ว่า Hsiao มีความสัมพันธ์กับประธานาธิบดี ‘Chen Shui-bian’ ซึ่งไม่มีหลักฐานสนับสนุนการกล่าวอ้างที่เป็นเท็จนี้ และรองประธานาธิบดี Annette Lu ได้ ฟ้องนิตยสารดังกล่าวในข้อหาหมิ่นประมาทในศาลแพ่ง จนในที่สุด นิตยสารก็ได้รับคำสั่งให้ขอโทษและแก้ไขประเด็นดังกล่าว โดยยอมรับว่าเป็นการสร้างเรื่องราวขึ้น

ในระหว่างอาชีพทางการเมืองของเธอ Hsiao และเพื่อนสมาชิกสภานิติบัญญัติ ‘Cheng Li-chun’ และ ‘Chiu Yi-ying’ ได้รับฉายาว่า ‘S.H.E ของ DPP’ Hsiao เป็นผู้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิ LGBT ในไต้หวันมายาวนาน Hsiao เป็นคนรักแมว โดยเธอกล่าวในเดือนกรกฎาคม 2020 ว่า เธอวางแผนจะพาแมวทั้ง 4 ตัว ติดตามไปด้วยเมื่อเธอย้ายไปที่สหรัฐอเมริกา ในฐานะหัวหน้าสำนักงานผู้แทนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปของไต้หวันประจำประเทศนี้ ในฐานะทูตของไต้หวัน เธอกล่าวว่า เธอจะต่อสู้กับการทูตที่ถูกกล่าวหาว่าก้าวร้าวแบบ ‘นักรบหมาป่า’ ของจีน โดยใช้การทูตแบบ ‘นักรบแมว’ (cat warrior) ที่เป็นแบรนด์ของเธอเอง

ในวันที่ 17 สิงหาคม 2022 หลังจากการเยือนไต้หวันของ ‘Nancy Pelosi’ ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ระหว่างวันที่ 2–3 สิงหาคม จีนได้ขึ้นบัญชีดำเจ้าหน้าที่ไต้หวัน 7 คน รวมทั้ง Hsiao เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า ‘สนับสนุนเอกราชของไต้หวัน’ โดยบัญชีดำสั่งห้ามไม่ให้พวกเขาเข้าไปในจีนแผ่นดินใหญ่ และเขตบริหารพิเศษของฮ่องกง รวมถึงมาเก๊า และจำกัดไม่ให้ทำงานกับเจ้าหน้าที่จีนอีกด้วย หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ของรัฐบาลจีน โกลบอลไทมส์ ตราหน้า Hsiao และเจ้าหน้าที่ทั้ง 6 คนว่าเป็น ‘คนหัวแข็งที่แบ่งแยกดินแดน’

ในเดือนเมษายน 2022 Hsiao ถูกจีนคว่ำบาตรเป็นครั้งที่สอง ภายหลังการประชุมระหว่างประธานาธิบดี ‘Tsai Ing-wen’ แห่งไต้หวัน และ ‘Kevin McCarthy’ ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา ในสหรัฐอเมริกา มาตรการคว่ำบาตรชุดที่สองยังรวมถึงการป้องกันไม่ให้นักลงทุน และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ถูกคว่ำบาตร ความร่วมมือกับองค์กรและบุคคลในจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย

และวันที่ 20 พฤศจิกายน 2023 พรรค DPP ได้เสนอชื่อเธอให้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ปี 2024 โดยเธอได้ประกาศว่า “ฉัน Hsiao Bi-khim กลับมาแล้ว ฉันจะแบกรับความรับผิดชอบอันแน่วแน่ในการสนับสนุนไต้หวัน” หลังจากเดินทางกลับจากกรุงวอชิงตันไม่ถึงหนึ่งวัน ในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ (20 พ.ย.) ที่ผ่านมา เพื่อเปิดตัวผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน ที่สำนักงานใหญ่หาเสียงของ Lai Ching-te ในกรุงไทเป

ด้วยบทบาทหน้าที่ของ Hsiao Bi-khim ที่ผ่านมา เชื่อว่า เธอสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวันอย่างแน่นอน และมีความเป็นไปได้สูงที่เธอน่าจะเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรค DPP ต่อจาก Lai Ching-te ด้วย ซึ่งท้ายที่สุดจะสร้างความขุ่นเคืองใจอย่างมากมายแก่รัฐบาลปักกิ่ง

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล