สัจธรรมแห่งอนิจจัง รู้จัก!! อารยธรรมซาโปเทก แห่งมอนเต อัลบาน อีกหนึ่งความเฟื่องฟูก่อนสูญหายตามกาลเวลา

อนุสรณ์สถานและโบราณสถานทั้งหลายเป็นหลักฐานสำคัญ บ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ และเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงมนุษยชาติในแต่ละช่วงของประวัติศาสตร์แห่งการเปลี่ยนผ่านจากอารยธรรมหนึ่งไปสู่อีกอารยธรรม

เมื่อพูดถึงอารยธรรมเก่าแก่แห่งทวีปอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมโสอเมริกา (Mesoamerica) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทางเหนืออย่างเม็กซิโก ไกลไปจนถึงประเทศคอสตาริกา เรามักจะคุ้นเคยกับอารยธรรมของชาวโอลเมก (Olmec People) ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดแห่งความเจริญของทวีปนี้ เพราะเก่าแก่กว่าใครอื่นใด ที่โดดเด่นมากด้วยในยุคถัดมา คือชาวมายา (Maya People) กับรูปแบบสังคมอันซับซ้อน รวมถึงพีระมิดมากมายของพวกเขา ไม่ก็ชาวแอซเท็ก (Aztec People) ซึ่งแผ่ขยายอำนาจได้กว้างไกลมาก เหล่านี้ล้วนได้รับการเล่าขานกันในวงกว้าง แต่ยังมีอีกชนชาติโบราณแห่งทวีปนี้ที่รุ่งเรืองไม่แพ้กันมาตั้งแต่ยุคก่อนคริสตกาล ซึ่งอยู่ในยุคไล่เลี่ยกันกับมายาและแอซเท็กเช่นกัน ครอบครองพื้นที่ยาวนานพันกว่าปี คือกลุ่มคนที่เรียกขานกันว่าชาวซาโปเทก (Zapotec People) นั่นเอง

ศูนย์กลางของอารยธรรมกับอาณาจักรซาโปเทก คือเมืองซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาความสูงราวสองพันเมตรจากระดับน้ำทะเล ชื่อมอนเต อัลบาน พิกัดในปัจจุบันนี้คือภูเขานอกเมืองวาฮากา (Oaxaca City) อันเป็นเมืองหลวงของรัฐวาฮากาแห่งประเทศเม็กซิโก หลักฐานชี้ชัดว่าก่อร่างสร้างเมืองเมื่อราว 4-5 ศตวรรษก่อนคริสตกาล ได้รับการออกแบบ วางผังเมือง และก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำของสมัยนั้น เป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครอง ศาสนา และเศรษฐกิจ นับว่าเป็นโบราณสถานสำคัญที่สุดและใหญ่ที่สุดในรัฐวาฮากา 

เชื่อกันว่าในช่วงเจริญสูงสุดนั้น ประชากรเมืองหลวงแห่งนี้เคยมีมากถึงสองหมื่นห้าพันคน โดยมีหมู่บ้านนับพันแห่งอยู่รอบมอนเต อัลบาน ปัจจุบันโบราณสถานแห่งนี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซม เปิดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้าชม เป็นหนึ่งในสิ่งที่พลาดไม่ได้เมื่อไปเที่ยววาฮากา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คงไม่ถึงขั้นอยากรู้รายละเอียดทุกอย่างของมอนเต อัลบาน แต่น่าจะพากันไปเพื่อเห็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์กับตาตัวเอง เพื่อถ่ายรูปพีระมิด นอกจากนี้ข้างบนนั้นยังมองเห็นวิวของหุบเขาด้านล่างอีกด้วย ใครไปเองก็เดินอ่านป้ายตามจุดต่าง ๆ ซึ่งมีคำอธิบายคร่าว ๆ 

ส่วนคนที่ใช้บริการทัวร์ก็มักจะได้ไกด์ท้องถิ่นเดินอธิบายอะไรต่อมิอะไร ได้รสชาติและการท่องเที่ยวในแง่มุมที่ลึกซึ้งมากกว่า 

บรรดานักโบราณคดีและนักวิจัยทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม พยายามไขข้อสงสัย รวมถึงหาความเชื่อมโยงกันระหว่างอาณาจักรซาโปเทกกับอาณาจักรอื่น ๆ ทางตอนเหนืออย่างแอซเท็กและมายาซึ่งครอบครองอยู่ทางตอนใต้ของดินแดนเมโสอเมริกา ได้รับความกระจ่างในหลายด้าน แต่บางเรื่องก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่จนถึงทุกวันนี้ด้วยเช่นกัน

ไม่เฉพาะมอนเต อัลบานเท่านั้น แต่ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ยังคงปรากฏในพื้นที่อื่น ๆ ในหุบเขาวาฮากา ที่เมืองมิทลา (Mitla) ซึ่งอยู่บนพื้นที่ราบด้านตะวันออก ในขณะที่ทางด้านตะวันตกนั้นเป็นที่ตั้งของเมืองเอทลา (Etla) ส่วนทางทิศใต้มีเมืองโอคอทลาน (Ocotlan) ตั้งอยู่ กินพื้นที่กว้างนับร้อยตารางกิโลเมตร ชาวบ้านในยุคนั้นสร้างบ้าน ประกอบอาชีพเพาะปลูก อาศัยกันอยู่ภายในหุบเขานั้น พืชพันธุ์หลัก ๆ ได้แก่ ข้าวโพด ถั่ว พริก แตง และอีกหลายชนิดที่เหมาะกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ บ้างหาของป่า ล่าสัตว์ หรือหาปลาตามลำน้ำด้วย


ศาสนาของชาวเมโสอเมริกาโดยรวมแล้วเป็นความเชื่อดั้งเดิม ซาโปเทกนับถือเทพเจ้าหลายองค์ เชื่อในเทพแห่งพืชพันธุ์ที่พวกเขาปลูก อย่างเช่น เทพเจ้าแห่งข้าวโพด เทพเจ้าผู้ควบคุมพลังของธรรมชาติ อย่างเทพแห่งสายฝน มีแม้กระทั่งเทพเสือ หรือเทพแห่งสงคราม เป็นต้น 

แน่นอน มีการทำพิธีบูชายัญเพื่อให้เทพเจ้าเหล่านี้พึงพอใจและอวยพรการงานของพวกเขา หรือในกรณีทำผิดต่อเทพก็ต้องทำการไถ่โทษด้วยการบูชายัญด้วยเช่นกัน

บ้านเมืองไหนก็ตามที่ผู้คนอยู่อาศัยกันอย่างค่อนข้างลงหลักปักฐาน มักพัฒนาศิลปะแขนงต่าง ๆ เช่นเดียวกับชาวซาโปเทกที่สร้างสรรรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นผ้าทอ การจักสาน ในยุคที่รุ่งเรืองนั้น อาณาจักรนี้แผ่ขยายอำนาจออกไปโดยรอบ นำเอาศิลปวัฒนธรรมไปครอบงำด้วย เช่นลวดลายเครื่องปั้นดินเผาและเซรามิกตามแบบซาโปเทกแทนที่เส้นสายลายเดิมของชนพื้นเมืองอื่น ๆ ที่พวกเขาแผ่อำนาจไปถึง แต่ก็มีหลักฐานด้วยว่า มีการแลกเปลี่ยนกันด้านศิลปะแขนงต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน 

ในอาณาจักรแอซเท็กเองก็รับเอาศิลปินซาโปเทกเพื่อผลิตชิ้นงานอัญมณีให้แก่ชนชั้นปกครองแห่งแอซเท็กด้วย ในอาณาจักรซาโปเทกเองก็มีการพัฒนารูปแบบภาษาและอักขระขึ้นมา ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมโอลเมกซึ่งเคยดำรงอยู่ก่อนหน้า เป็นอักษรภาพซึ่งสื่อสารเข้าใจกันเป็นภาษาเขียนในยุคนั้น

จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามแต่ ก่อนการมาถึงของพวกตะวันตกอย่างสเปนในช่วงศตวรรษที่ 15 มอนเต อัลบานก็ถูกทิ้งร้างไปเรียบร้อยแล้ว นักวิชาการปัจจุบันไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเป็นเพราะเหตุใด ได้แต่สันนิษฐานกันไปต่าง ๆ นานา สิ่งที่แน่นอนกว่า คือสัจธรรมแห่งอนิจจัง ไม่มีสิ่งใดยั่งยืนได้ตลอดไป ทุกอย่างมีช่วงเติบโต รุ่งเรือง และเสื่อมถอยไปในที่สุด 

จากข้อมูลการสำรวจ พบว่าปัจจุบันยังคงมีประชากรชาวซาโปเทกอยู่เกินครึ่งล้านคน อาศัยเป็นชุมชนกระจายกันอยู่ในรัฐวาฮากา รวมถึงรัฐข้างเคียงในประเทศเม็กซิโก นอกจากนั้น ยังมีชาวซาโปเทกซึ่งอพยพไปลงหลักปักฐานในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาและยังคงรักษาภาษากับวัฒนธรรม คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของพวกเขา 

หนึ่งในประธานาธิปดีเม็กซิโก เป็นคนวาฮากา ผู้มีเชื้อสายซาโปเทก (และเป็นคนพื้นเมืองเต็มร้อย) คือเบนิโต ฮวาเรซ (Benito Juarez) 

แม้อาณาจักรซาโปเทกโบราณจะล่มสลายไปแล้ว แต่อารยธรรมในแง่ของการรักษาภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ โดยผสมผสานให้สอดรับกับยุคสมัย เช่นนี้แล้วความเป็นซาโปเทกก็ไม่สาบสูญไปแน่นอน 


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์สว่าง ทองดี เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/สว่าง%20ทองดี