Tuesday, 30 April 2024
ไฟป่า

จันทบุรี - ประชุมเตรียมพร้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง - ไฟป่า - หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก ลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

วันนี้ ( 17 พ.ย.64 ) ที่ห้องประชุม 1 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี นายอลงกรณ์ แอคะรัจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีเป็นประธานการประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดจันทบุรี ปี พ.ศ.2564 – 2565 ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กโดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรีได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทหาร ตำรวจ พลเรือน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนนายอำเภอทั้ง 10 อำเภอ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชนร่วมประชุม

ทั้งนี้ สถานีอุตุนิยมวิทยาได้สรุปสถานการณ์น้ำฝนในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาพบว่าที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกมากและเกษตรกรได้น้ำเพื่อใช้ทางการเกษตรแต่ต้องบริหารจัดการอย่างเป็นระบบให้เพียงพอเนื่องจากฤดูหนาว และแล้งจะยาวนาน ขณะที่ชลประทานจังหวัดได้รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ

ข้อมูลวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 พบว่าที่อ่างเก็บน้ำคลองศาลทราย อ.เขาคิชฌกูฏ มีปริมาณน้ำในอ่างกักเก็บได้ 111.43 %  / อ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธปริมาณน้ำในอ่าง 111.58 % / อ่างเก็บน้ำคลองประแกดมีปริมาณน้ำในอ่าง 105.32 % / เขื่อนคิรีธารมีประมาณน้ำ ณ ปัจจุบัน 99.11 % และเขื่อนพลวงมีประมาณน้ำ 99.32 % 

 

เชียงใหม่ - ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ร่วมสนับสนุนโครงการ ‘ป้องกันไฟป่าและหมอกควัน บ้านดอยปุย’ ประจำปี 2565

นาวาอากาศโท มัธยัณห์ ไกรสรทองศรี รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ (สายปฏิบัติการ) นำผู้บริหารและพนักงานท่าอากาศยานเชียงใหม่ ร่วมกิจกรรม “โครงการป้องกันไฟป่าและหมอกควัน บ้านดอยปุย ประจำปี 2565” ณ บ้านดอยปุย หมู่ 11 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทั้งสนับสนุนน้ำดื่มตราสัญลักษณ์ ทอท.จำนวน 3,000 แก้ว/ขวด และงบประมาณจำนวน 5,000 บาท สมทบกองทุนในการจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นยานพาหนะหลักที่ใช้ในการเข้าถึงพื้นที่เพื่อดับไฟป่าได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที 

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการบูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาชนจิตอาสาในชุมชน เพื่อลดและป้องกันปัญหาหมอกควันไฟป่า ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี ด้วยการจัดทำแนวกันไฟเป็นระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ โดยในช่วงฤดูร้อนตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี มักจะเกิดไฟป่า ทำให้ต้นไม้และทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย เกิดปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจของประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ และบางครั้งยังมีผลต่อทัศนวิสัยการขึ้นลงของอากาศยานอีกด้วย

สุพรรณบุรี - "นิพนธ์" ตรวจภัยแล้งสุพรรณฯ มั่นใจ! ปีนี้ไม่ขาดแคลนน้ำใช้อุปโภค -บริโภค และน้ำเกษตร พร้อมกำชับป้องกันไฟป่า-หมอกควันอย่างใกล้ชิด

ที่อ่างกักเก็บน้ำเขื่อนกระเสียว ตำบลด่านช้าง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างกักเก็บน้ำเขื่อนกระเสียว โดยมีนายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ปลัดจังหวัดสุพรรณบุรี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุพรรณบุรี ผอ.ศูนย์.ปภ.เขต 2 สุพรรณบุรี ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากระเสียว นายอำเภอด่านช้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมติดตามสถานการณ์

นายนิพนธ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญปัญหาภัยแล้งมาโดยตลอด และตนในฐานะกำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่ในการ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้แก่พี่น้องประชาชน นั้น มีความตั้งใจจะลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด จากการรับฟังรายงานสรุปสถานการณ์ปริมาณเก็บกักน้ำในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำเขื่อนกระเสียว มีความจุที่ระดับน้ำสูงสุด 299,000 ล้าน ม.3 โดยวันนี้มีปริมาตรน้ำเก็บกัก 296 ล้าน ลบ.ม. (99.29%) และปริมาณการใช้น้ำ 256 ล้าน ลบ.ม. (99.18%)  ซึ่งคาดการณ์ว่ามีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งในด้านการอุปโภคบริโภค และการทำการเกษตร จึงไม่มีความกังวลในประเด็นดังกล่าว ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือโดยจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ภัยแล้ง ปี 2565 และศูนย์อำนวยการและประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ภัยแล้ง) ระดับพื้นที่  จัดเตรียมกำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้มีความพร้อมปฏิบัติงานตามแผนเผชิญเหตุ ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังติดตามและเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ด้วยทุกปี พื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีมักจะประสบปัญหาความแห้งแล้งทำให้เอื้อต่อการเกิดไฟป่าได้ง่าย ซึ่งการเกิดไฟป่าแต่ละครั้งเป็นอันตรายและสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินทั้งของประชาชนและราชการ และยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตมลพิษหมอกควัน ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต สุขภาพอนามัยของประชาชน จึงให้ทุกฝ่ายบูรณาการร่วมกันดูแลให้คำแนะนำและประสานการปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้ทั่วถึงและรวดเร็ว รวมถึงเผยแพร่ความรู้ ให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากอัคคีภัย ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย

ลำปาง - จิตอาสา มทบ.32 ร่วมกิจกรรมวันรณรงค์ ‘ปลอดควันพิษจากไฟป่า’

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์​ 2565 เวลา​ 10.00​ น.​ พลตรีอโณทัย​ ชัยมงคล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 32 มอบหมายให้วิทยากรจิตอาสา 904 จัดกำลังพลจิตอาสา มณฑลทหารบกที่ 32, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดลำปาง , สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง ,หน่วยงานกรมอุทยาน และกรมป่าไม้ ในพื้นที่จังหวัดลำปาง, ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง, สถานีตำรวจภูธรเขลางค์,ชุดปฏิบัติการรณรงค์ป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน มณฑลทหารบกที่ 32 และเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกิจกรรมวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า 

โดยร่วมกันทำแนวกันไฟ และบริหารจัดการเชื้อเพลิง และสร้างความตระหนักรู้ ร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันของจังหวัดลำปาง โดยมีนาย นฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ทสจ.ลป.เป็นประธานฯ ณ​ สวนรุกขชาติ อุทยานเขลางค์บรรพต ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง

 

“บิ๊กป้อง” สั่งสนับสนุนอากาศยานปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าและบินสำรวจจุดความร้อน (Hotspot) บริเวณพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ

พล.อ.ต. ประภาส  สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยว่า ในห้วงเดือนมีนาคม - เมษายน ของทุกปี ภาคเหนือของไทยมักจะประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยมีสถิติพบจุดความร้อนในพื้นที่ป่ามากกว่าปกติ จึงได้มีการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ในการปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ป่าและคุณภาพชีวิตของประชาชน

สำหรับการปฏิบัติของกองทัพอากาศในปีนี้ พล.อ.อ.นภาเดช  ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพอากาศ จัดอากาศยานพร้อมกำลังพลของกองทัพอากาศ เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจบินดับไฟป่าและบินสำรวจจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย ตามที่กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ร้องขอ

ทั้งนี้ กองทัพกาศได้จัดอากาศยาน พร้อมด้วยชุดอุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่สำหรับปฏิบัติภารกิจ ได้แก่ 
- เครื่องบินไร้คนขับตรวจการณ์และฝึกแบบที่ 1 (UAV แบบ RTAF U1) ฝูงบิน 301 กองบิน 3 
- เครื่องบินตรวจการณ์และฝึก แบบที่ 20 (DA-42 MNG) ฝูงบิน 402 กองบิน 4 
- เฮลิคอปเตอร์แบบที่ 11 (EC-725) หน่วยบิน 2033 ฝูงบิน 203 กองบิน 2 
- ศูนย์สนับสนุนทางอากาศโดยตรงที่ 3 (ศสอต.3)
- ชุดเจ้าหน้าที่ควบคุมทางอากาศยุทธวิธี
- เจ้าหน้าที่แปลความภาพถ่ายทางอากาศ
- เจ้าหน้าที่สนับสนุนอื่นๆ 

'วราวุธ' เปิดแผนรับมือไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 66 ผนึกกำลังทุกภาคส่วน ยกระดับการป้องกัน มุ่งนโยบาย '3 พื้นที่ 7 มาตรการ'

วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2565) เวลา 16.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานมอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2566 แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด 76 จังหวัด โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เข้าร่วมรับฟัง ณ ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษ และผ่านระบบการประชุมทางไกล Video Conference เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในปี 2566 ที่คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีแนวโน้มที่จะมีสภาวะแห้งแล้งมากขึ้น จากสภาพอากาศที่หนาวเย็น มีปริมาณฝนน้อย และปรากฏการณ์ 'ลานีญา' ที่เริ่มน้อยลง 

นายวราวุธ เปิดเผยว่า สำหรับเมืองใหญ่ อย่างเช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีสาเหตุหลักมาจากการจราจร ซึ่งนอกจากแผนเฉพาะกิจฯ แล้ว ยังได้เสริมมาตรการร่วมกับผู้ประกอบการค้าน้ำมัน ที่จะนำน้ำมันที่มีปริมาณกำมะถันต่ำมาจำหน่ายให้กับพี่น้องประชาชนในราคาปกติ ในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อช่วยคุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ให้ดีขึ้น รวมถึงยังได้รับความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประสานงานกับผู้ประกอบการยานยนต์กว่า 11 บริษัท เปิดให้ประชาชนนำรถเข้าทำความสะอาดเครื่องยนต์และเปลี่ยนไส้กรองในราคาพิเศษ นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้เข้มงวดกับรถยนต์ของส่วนราชการ ที่ต้องมีมาตรฐานเข้มงวดกว่ามาตรฐานที่มีต่อประชาชน ซึ่งหากตรวจพบและไม่มีการแก้ไขภายใน 30 วัน จะมีการติดตามผลไปยังหน่วยงานเจ้าของยานพาหนะนั้นด้วย

ในส่วนของต่างจังหวัด สาเหตุหลักของปัญหาไฟป่า หมอกควัน ยังคงมาจากการเผาไหม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และพื้นที่เกษตร ในปีนี้ จึงได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรเพื่อลดปริมาณการเผาในพื้นที่ ทั้งการเคาะประตูบ้านแจ้งข่าวทำความเข้าใจ การประชาสัมพันธ์เชิงรุก และการแจ้งเตือนล่วงหน้า ตลอดจนยังคงกำชับให้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในแต่ละพื้นที่แบบครบวงจร ทั้งการชิงเก็บ ลดเผา และการใช้แอปพลิเคชัน Burn Check เพื่อลงทะเบียนและจองเวลาในการเผาล่วงหน้า เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ยังคงมีการประสานงานผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอให้ประสานงานเรื่องหมอกควันข้ามแดน กับสำนักเลขาธิการอาเซียนอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนจากประเทศใกล้เคียง

แม่ฮ่องสอน เกิดเหตุ ‘ไฟป่า’ ลุกไหม้หลังวัดพระธาตุปางหมู ตรวจพบจุดความร้อน 547 จุด สามารถคุมเพลิงได้แล้ว

(25 มี.ค.66) นายสังคม คัดเชียงแสน นายอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า เมื่อคืนวันที่ 24 มี.ค.66 ที่ผ่านมาช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. ทางอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ได้จัดส่งกำลังอาสารักษาดินแดน กองร้อยที่ 2 อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ร่วมกับหน่วยไฟป่าแม่ฮ่องสอน สจป.1 ชาวบ้านปางหมู รถน้ำราชภัฏ รถน้ำเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน รถน้ำ ปภ.ช่วยกันดับไฟป่าและควบคุมไฟป่าที่ลุกไหม้ด้านหลังวัดพระธาตุปางหมู บ้านปางหมู และสามารถควบคุมเพลิงได้หลังจากเวลาผ่านไป 1 ชั่วโมง

เชียงใหม่-ระดม!! อากาศยานทุกรูปแบบ ปฏิบัติภารกิจเข้าควบคุมไฟป่า

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 น. ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ภาค 3 บูรณาการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน ภาคเหนือ

พล.ต.วีรวัฒน์ วิวัฒน์วานิช เลขาธิการ กอ.รมน.ภาค 3 /รองผู้อำนวย การศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ภาค 3 กล่าวว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานี้ คงทราบกันดีว่า สภาพอากาศมีคุณภาพที่ตกต่ำลงอย่างรวดเร็วแล้วก็ค่อนข้างแย่ นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใย พี่น้องประชาชนประกอบกับ เราทำงานปฏิบัติการทางอากาศ เพื่อควบคุมไฟป่า ภาคเหนืออยู่ทุกวันแล้ว แต่ว่า ประชาชนไม่ค่อยจะทราบเลยว่าเราทำอะไร  

ถือโอกาสที่วันนี้ มีจุดความร้อนค่อนข้างเยอะแล้วก็ชัดเจนว่าจะต้องมาร่วมกันดับไฟป่า โดยใช้อากาศยานเข้าไปช่วยหน่วยภาคพื้น ถือโอกาสรวมอากาศยาน ที่ปกติจอดกระจายอยู่ ในที่ต่างๆ เอามารวมกัน แล้วเชิญสื่อมวลชนมา ให้เห็นว่าจริงๆเรามียุทโธปกรณ์มากขนาดไหน พร้อมทั้งสื่อมวลชนขึ้น เฮลิคอปเตอร์ MI-17 เพื่อติดตามทำการใช้เฮลิคอปเตอร์ KA-32 กรม ปภ. ดับไฟป่า อ.เชียงดาว 

ในขณะเดียวกันวันนี้ ยังได้เชิญภาคประชาชนมาร่วมดูข้อเท็จจริงที่การทำงานของเราด้วย มีทั้งผู้นำชุมชน และภาคส่วนที่กำลังทำเรื่องการจัดการเชื้อเพลิง ที่จะช่วยเราทในำโครงการแก้ปัญหาระยะยาว ในการเก็บรวบรวมเชื้อเพลิง ต้นเหตุ  ไฟป่า หมอกควัน ออกจากป่า ออกมาใช้ประโยชน์ในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ก็เลยเป็นที่มาของการรวมอากาศยานในวันนี้ 

'บิ๊กป้อม' สั่งการไว ขอกองทัพช่วงเร่งดับไฟป่า สั่ง สธ.ช่วยดูสุขภาพชาวบ้าน-อพยพหากจำเป็น

บิ๊กป้อม' รุดลงดูพื้นที่เขาแหลม 31 มี.ค.66 คุมแก้ปัญหาไฟป่า สั่ง มท.ประสาน กองทัพ ระดมอากาศยานช่วยดับไฟ พร้อมให้ สธ.เข้าไปช่วยดูสุขภาพชาวบ้าน หากจำเป็นให้อพยพออกชั่วคราว

(30 มี.ค.66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงใยจากสถานการณ์ไฟไหม้ป่าเขาแหลม ที่ยังมีกระแสลมแรงไฟลุกลามเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว ประชาชนในพื้นที่ ต.พรหมณี และ ต.เขาพระ จ.นครนายก เริ่มได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากหมอกควันไฟ โดยมีแผนลงดูสถานการณ์ในพื้นที่วันที่ 31 มี.ค.นี้ ทั้งนี้ได้ย้ำสั่งการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เสริมและสนับสนุนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) วางแผนร่วมระดมสรรพกำลัง ทั้งคน เครื่องมือช่างและจัดอากาศยาน เข้าช่วยเหลือดับไฟพื้นที่ป่าเขาแหลม ต.พรหมณี เป็นการเร่งด่วน โดยให้ประสานกองทัพ ขอรับการสนับสนุนอากาศยานและเครื่องมือช่างเพิ่มเติม เข้าปฏิบัติการร่วมกัน เน้นปฏิบัติการเวลากลางวันและให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานทุกคน เพื่อช่วยกันลดความรุนแรงและจำกัดการขยายตัวของไฟป่าพื้นที่เขาแหลมให้ได้โดยเร็ว

'ปลอดประสพ' แนะรัฐ หยุดไฟป่า หยุด PM2.5 ควรเร่งตั้ง 'สำนักดับไฟป่า' และลงมือทำทันที

(30 มี.ค.66) ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจากสถานการณ์ไฟป่าขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ คือพื้นที่จังหวัดนครนายก และจังหวัดเชียงราย รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พรรคเพื่อไทยมีความเป็นห่วงต่อความปลอดภัยของประชาชนอย่างสูงสุด และได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจติดตามสถานการณ์ โดยที่ประชุมเห็นควรให้ข้อมูลประชาชนถึงข้อเท็จจริงของสถานการณ์ และข้อเสนอแนะต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการรับมือสถานการณ์ทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว ดังนี้...

1. ข้อเท็จจริง ขณะนี้  สถานการณ์ไฟป่าขณะนี้ รุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี (สาเหตุเพราะเชื้อเพลิงถูกสะสมมานาน ไม่มีการจัดการ) ซึ่งไฟป่าขนาดใหญ่ อุณหภูมิจะสูงถึง 1,000 องศาเซลเซียล อากาศจะระเบิด และไฟจะไปไกลถึงเมือง หากปล่อยไป จะดับไฟไม่ได้เลย ต้องรอฝนเท่านั้น และสถานการณ์ไฟป่านี้ เป็นเหตุให้ PM2.5 เพิ่มขึ้นเท่าตัว

2. ข้อเสนอแนะ ภาครัฐจะต้องเร่งจัดตั้งสถาปนา สำนักดับไฟป่า ในกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ จะต้องมีการจัดตั้ง อาสาสมัครไฟป่าประจำหมู่บ้านริมเขา มีงบประมาณหรือกองทุนไฟป่าสนับสนุน มีการทำประกันชีวิตให้เจ้าหน้าที่ไฟป่า มีการจัดตั้งคลังเครื่องมือ (Depo) ในพื้นที่เสี่ยงภัย สร้างถังน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยในส่วนของกำลังพลนั้น สามารถใช้กำลังทหารเข้าเผชิญไฟป่าช่วย และควรจัดทำที่จอดเฮลิคอปเตอร์ในพื้นที่สูง เพื่อใช้ในการเข้าถึงพื้นที่ไฟ และในอนาคต ต้องจัดทำ Green Belt (ป่าไม่ผลัดใบ) เป็นแนวกันไฟ 

ในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ควรให้ผู้ตรวจราชการสำนักงานนายกรัฐมนตรี (C11) ไปประจำพื้นที่ไฟ เพื่อการประสานงานบัญชาการแก้ไขปัญหา 

พรรคเพื่อไทยให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้แก้ไขปัญหาได้อย่างลุล่วงปลอดภัยทุกคน


ที่มา: https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0h42NrvsDnS1X3gVRkpxYYwn3EPwMjou7SoeAMJq8RBiGEUWZsaotWrMGs86uP6uUl&id=100044569743646&mibextid=Nif5oz 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top