Saturday, 24 May 2025
ไฟป่า

'เฉลิมชัย' บินตรวจทุ่งใหญ่นเรศวร วอน ทุกฝ่ายเฝ้าระวังไฟป่า สร้างความเข้าใจให้ 'ชุมชน คน ป่า อยู่ร่วมกันได้'

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จ.กาญจนบุรี ภายใต้มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ ศูนย์ประสานงานโครงการฯ บ้านสาละวะ หมู่ที่ 4 ต.ไร่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาความเป็นอยู่ให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ติดชายแดนเมียนมาร์ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีการจัดทำ MOU การใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าร่วมกันระหว่างชุมชน กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อให้เกิดการดูแลรักษาป่าร่วมกัน และมีการกำหนดการถือครองที่ดินที่ชัดเจนรายละ 20 ไร่ พร้อมทั้งจัดทำแปลงสาธิตเพื่อการพัฒนาอาชีพ และพื้นที่ส่วนร่วมเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันในชุมชน พร้อมกันนี้ รมว.ทส. ยังได้ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยพิทักษ์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก และมอบถุงยังชีพให้กับเจ้าหน้าที่

ในระหว่างเส้นทางการตรวจเยี่ยม ดร.เฉลิมชัย ยังได้แวะเยี่ยมนักเรียนและครู โรงเรียนกองม่องทะ สาขาบ้านสาละวะ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทิไล่ป้า และโรงเรียนบ้านหินตั้ง พร้อมมอบอุปกรณ์กีฬาให้แก่นักเรียน เพื่อเป็นของขวัญเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ  จากนั้น รมว.ทส. ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากร ฯ บินสำรวจสภาพป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ฝั่งตะวันตก และสังเกตการณ์สถานการณ์การเฝ้าระวังไฟป่า และหมอกควันที่เข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ซึ่งต้องมีการเฝ้าระวังป้องกันไฟป่า รวมถึงการป้องกันการเผาในที่โล่งในทุกพื้นที่อย่างเข้มข้น

ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า การมาลงพื้นที่ในครั้งนี้ นอกจากมาสร้างขวัญกำลังให้กับเจ้าหน้าผู้ปฏิบัติงานถึงในพื้นที่แล้ว ยังเป็นการมาดูสภาพพื้นที่การทำงานจริงเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย “ชุมชน คน ป่า อยู่ร่วมกันได้“ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการบูรณาการความร่วมมือช่วยกันเฝ้าระวังป้องกันไฟป่า เพราะเมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญสนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหาให้กับทุกหน่วยงานแล้ว เราต้องช่วยกัน โดยเฉพาะ ทส. ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นหลักในการเข้าไปพูดคุยสร้างความเข้าใจและความร่วมมือร่วมกับทุกฝ่าย ปัญหาไฟป่าแม้จะแก้ยาก แต่ถ้าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันเชื่อว่าจะสามารถผ่านไปได้อย่างเห็นผลในเชิงประจักษ์

ประกันอ่วม!! จ่ายเงินชดเชย ‘ไฟป่าแอลเอ’ สูงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ คาดพุ่งทะลุถึง 5.2 ล้านล้านบาท เหตุ!! ลามถึงเขตอสังหาริมทรัพย์ ราคาแพง

(12 ม.ค. 68) ไฟป่าลอสแอนเจลิส ที่ปะทุขึ้นยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่อง แต่คาดการณ์ว่าจะเป็นไฟป่าที่สร้างความเสียหายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ และสูงติดอันดับต้นๆ ของกลุ่มภัยธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา

ไฟป่าแอลเอ ครั้งนี้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 11 ราย และทำลายอาคารบ้านเรือนไปกว่า 12,000 หลัง ตั้งแต่วันอังคารที่ 7 ม.ค. ส่งผลให้ชุมชนที่เคยเป็นที่ตั้งของทรัพย์สินมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ต้องพังทลายไปทั้งชุมชน แม้จะยังเร็วเกินไปที่จะสรุปมูลค่าความเสียหายได้อย่างแม่นยำ แต่จากการประมาณการต่างๆ บ่งชี้ว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจนถึงขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่เคยเกิดไฟป่าสหรัฐมา

การประมาณการเบื้องต้นโดย AccuWeather ระบุว่า ความเสียหายและความสูญเสียทางเศรษฐกิจจนถึงขณะนี้อยู่ที่ระหว่าง 135,000 - 150,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.2 ล้านล้านบาท) ในขณะที่ความเสียหายจากพายุเฮอริเคนเฮเลน เมื่อปี 2024 ซึ่งพัดถล่ม 6 รัฐทางตะวันออกเฉียงใต้เมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่แล้ว อยู่ที่ 225,000 - 250,000 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ จากการเปรียบเทียบข้อมูลจนถึงปัจจุบันพบว่า ไฟป่าแอลเอในครั้งนี้คาดว่าจะสร้างความเสียหายเป็นวงเงินสูงที่สุด ทุบสถิติของไฟป่า Camp Fire ในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2018 ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 1.25 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนความเสียหายจาก ‘ภัยธรรมชาติ’ ที่คิดเป็นมูลค่าสูงที่สุดในสหรัฐนั้นยังคงเป็นกลุ่ม ‘พายุเฮอร์ริเคน’ นำโดยเฮอร์ริเคนแคทรีนา เมื่อปี 2005 ที่ความเสียหาย 2.01 แสนล้านดอลลาร์

ทางด้านบริษัทโบรกเกอร์ประกันภัย Aon PLC เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า ไฟป่าในเขตลอสแอนเจลิสมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นไฟป่าที่สร้างความเสียหายสูงสุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ แม้ว่าจะไม่ได้ออกประมาณการก็ตาม Aon จัดอันดับไฟป่าที่รู้จักกันในชื่อ Camp Fire ในเมืองพาราไดซ์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี 2018 ให้เป็นไฟป่าที่สร้างความเสียหายสูงสุดในประวัติศาสตร์สหรัฐจนถึงขณะนี้ โดยมีมูลค่า 12,500 ล้านดอลลาร์เมื่อปรับตามอัตราเงินเฟ้อ คร่าชีวิตผู้คนไป 85 ราย และทำลายบ้านเรือนไปประมาณ 11,000 หลัง

สำหรับสถานการณ์เมื่อวันเสาร์ ไฟป่าในแอลเอซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากพายุลม Santa Ana และภัยแล้งรุนแรง ยังคงไม่สามารถควบคุมได้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหมายความว่ายอดรวมความเสียหายจากไฟป่ามีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก

ทางด้านบริษัทจัดอันดับเครดิต ‘มูดีส์’ (Moody's) เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ไฟป่าครั้งนี้จะเป็นไฟป่าที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ เนื่องจากได้ลุกลามไปยังพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นและมีอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์ แม้ว่ารัฐนี้จะเคยประสบกับไฟป่าครั้งใหญ่มาบ้างแล้ว แต่โดยทั่วไป ไฟป่าจะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ตอนในที่ไม่มีประชากรหนาแน่น ส่งผลให้มีการทำลายล้างต่อเอเคอร์น้อยลง และส่วนใหญ่จะสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนที่มีราคาถูกกว่า

แต่ในครั้งนี้ ไฟป่าได้ทำลายทรัพย์สินหลายพันหลังในเขตแปซิฟิก พาลิเซดส์ (Pacific Palisades) และมาลิบู (Malibu) ซึ่งเป็นบ้านของดาราฮอลลีวูดและผู้บริหารระดับสูงหลายคนที่มีทรัพย์สินมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ โดยมีดาราดังหลายคนสูญเสียบ้านเรือนไปจากไฟไหม้ในครั้งนี้

ผลงานชัด!! 'เฉลิมชัย' เพิ่งทำงาน 4 เดือน บริหารเชิงรุกทุกปัญหา ปกป้องป่าไม้ – สู้ไฟป่าสำเร็จ ลดขั้นตอนอนุญาตให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน 'อภิชาติ' ชี้คำวิจารณ์คลาดเคลื่อนข้อเท็จจริง

นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ที่ปรึกษา รมว.ทส.) กล่าวถึงกรณีมีผู้วิพากษ์วิจารณ์พาดพิงการทำงานของรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า 1 ปี 3 เดือน แล้ว ป่าสงวนถูกบุกรุกทำลาย ปล่อยไฟไหม้เป็นแสนๆ ไร่ มีปัญญาป้องกันรักษาหรือไม่ หรือจะปล่อยให้ป่าอนุรักษ์ถูกบุกรุกทำลายอย่างนี้ทุกวัน เรื่องนี้ขอชี้แจงว่า เป็นการวิจารณ์ที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทส. เข้ามารับผิดชอบบริหารราชการแผ่นดิน ในรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2567 นับเวลาถึงบัดนี้เป็นเวลาเพียง 4 เดือนเศษ ได้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งไม่พบว่ามีการบุกรุกทำลายป่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ 

โดยจากสถิติของสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ พบการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ คดีบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นข้อมูลระหว่างวันที่ 10 กันยายน 2567 ถึงปัจจุบัน (21 มกราคม 2568) มีทั้งหมด 388 คดี รวมพื้นที่บุกรุก เป็นจำนวน 3,845.52 ไร่ แยกเป็นป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เน้นการควบคุมการทำไม้หวงห้าม การควบคุมการเก็บหาของป่า และการควบคุมการบุกรุกยึดถือครอบครองป่า จำนวน 61 คดี พื้นที่ 398.52 ไร่ ป่าชุมชน จำนวน 7 คดี พื้นที่ 54.82 ไร่ ป่าถาวร จำนวน 12 คดี พื้นที่ 65.24 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 297 คดี พื้นที่ 2,944.72 ไร่ และพื้นที่นอกเขตป่า 11 คดี พื้นที่ 382.23 ไร่ ทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่เป็นการบุกรุก กระทำผิดรายเล็ก รายน้อย มีเพียง 9 คดีที่เป็นการบุกรุกรายใหญ่ ซึ่งทุกคดีเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ขณะเดียวกัน ดร.เฉลิมชัย ได้เร่งรัดแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนในพื้นที่ป่าอย่างจริงจังตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้แนวทาง “คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน” โดยมุ่งอำนวยความสะดวกในการพิจารณาเห็นชอบของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าของกรมป่าไม้ตามขั้นตอนให้รวดเร็วขึ้น ในเรื่องการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ เดิมนั้นต้องยื่นคำขอกับสำนักงานทรัพยากรป่าไม้ท้องที่ และให้อธิบดีกรมป่าไม้เป็นผู้ลงนามอนุมัติ ขณะนี้ได้ปรับปรุงกระบวนการให้รวดเร็วขึ้นโดยมอบอำนาจให้ สำนักงานป่าไม้เขต 13 เขตทั่วประเทศ หรือตัวแทนป่าไม้เขตอีก 10 สาขา สามารถลงนามอนุมัติได้ ทำให้กระบวนการอนุมัติคำขอสั้นลงและมีความรวดเร็วภายใต้กรอบกฎหมาย ซึ่งไม่ได้เป็นเหตุทำให้พื้นที่ป่าไม้ ทั้งป่าสงวน และป่าอนุรักษ์ ถูกบุกรุกทำลายเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด 

ทั้งนี้เมื่อ ดร.เฉลิมชัย เข้ารับตำแหน่ง พบว่ามีการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ จากหน่วยงานของรัฐ รอการพิจารณาอนุมัติ มากถึง 137,000 คำขอ จึงได้เร่งรัดการพิจารณาอนุญาตจนสำเร็จไปแล้วเป็นจำนวนมาก โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท 

ประเภทที่ 1 เป็นการขออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 – ปัจจุบัน ซึ่งได้ดำเนินการอนุญาตไปแล้ว จำนวน 8,162 คำขอ รวมเนื้อที่ประมาณ 7,336,787 ไร่ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 7,486 คำขอ รวมเนื้อที่ประมาณ 7,167,801 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าตามมาตรา 4 (1) จำนวน 676 คำขอ รวมเนื้อที่ประมาณ 168,986 ไร่ 

ประเภทที่ 2 เป็นการอนุญาตตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ที่มีการออกหนังสืออนุญาตแล้วจำนวน 523 คำขอ รวมเนื้อที่ประมาณ 2,807,424 ไร่ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา จำนวน 144 คำขอ รวมเนื้อที่ประมาณ 842,871 ไร่ 

ประเภทที่ 3 เป็นคำขอตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เพื่อให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ได้เข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ โดยมีการยื่นคำขออนุญาตจำนวน 137,444 คำขอ มีการอนุญาตแล้ว จำนวน 2,582 คำขอ แบ่งเป็นคำขอที่ยื่นตามมติ ครม.ฯ จำนวน 2,430 คำขอ และเป็นคำขอที่ยื่นก่อนมติ ครม.ฯ จำนวน 152 คำขอ 

ประเภทที่ 4 คณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ได้เห็นชอบคำขอตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 กรณีส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ที่ได้เข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต ในคราวประชุมฯ ครั้งที่ 12/2567 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 จำนวน 5,407 คำขอ แบ่งเป็น คำขอที่คณะกรรมการฯ เห็นชอบ จำนวน 64 คำขอ และคำขอที่คณะกรรมการฯ เห็นชอบในหลักการ จำนวน 5,343 คำขอ 

ที่ปรึกษา รมว. ทส. กล่าวว่า จากการดูรายละเอียดคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าไม้ พบว่าเป็นคำขอจากหน่วยงานราชการ ตั้งแต่ระดับกรม ไปจนถึงระดับ อบต. สถาบันการศึกษาของรัฐ กฟผ. และเมื่อพิจารณาที่วัตถุประสงค์ของการใช้พื้นที่พบว่า เป็นการขออนุญาตเพื่อเข้าทำประโยชน์ให้กับประชาชนในวงกว้าง ตั้งแต่ การก่อสร้างโรงพยาบาล สถานบริการสาธารณสุข รพ.สต. ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ถนน สะพาน ทางรถไฟ ทางสาธารณประโยชน์ กิจการโทรคมนาคม ก่อสร้างโรงเรียน ขยายระบบประปาหมู่บ้าน สร้างอ่างเก็บน้ำ ขยายเขตไฟฟ้า และเป็นโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลเป็นการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐในลักษณะแปลงรวม ดำเนินการภายใต้ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) อันจะเห็นได้ว่าเป็นการเร่งรัดคำขอทั้งหมดเป็นไปเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนโดยเร็ว 

นายอภิชาต ยังเพิ่มเติมต่อไปว่า สำหรับปัญหาไฟป่า เมื่อ ดร.เฉลิมชัย  เข้ารับตำแหน่งช่วงแรก ๆ เห็นว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งมักเกิดปัญหาไฟป่า ในเดือนพฤศจิกายน 2567  จึงได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อซักซ้อมการป้องกันและรับมือปัญหาไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ ตลอดจนเปิดศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อคอยเฝ้าระวัง ควบคุมไฟป่า และหมอกควันที่มักเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าที่ประสบปัญหาไฟป่าซ้ำซาก 140 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 129 แห่ง และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 11 แห่ง ใน 39 จังหวัด และยังครอบคลุมพื้นที่ป่าแปลงใหญ่เสี่ยงเผาไหม้ทั้ง 14 กลุ่มป่า ในรอบ 4 เดือนเศษ พบว่า มีเพียง 1 ครั้งที่จัดว่าเป็นเหตุการณ์ใหญ่ คือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาเสียดอ้า ป่าเขานกยูง และป่าเขาอ่างหิน บริเวณ "เขาลอย" ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่เกิดเหตุไฟไหม้ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2568 สร้างความเสียหายกว่า 1,500 ไร่ สาเหตุของไฟป่าครั้งนี้อาจเกิดจากการเผาป่าเพื่อต้อนสัตว์ป่าสำหรับลักลอบล่าสัตว์ ส่วนไฟไหม้ที่บริเวณป่าอื่นๆ เจ้าหน้าที่สามารถดับไฟได้ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ละแห่งมีพื้นที่เสียหายไม่เกิน 30 ไร่ 

“ทุกครั้งที่เกิดไฟป่า ดร.เฉลิมชัย ได้สั่งการให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ เข้าปฏิบัติการดับไฟป่าทันที พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือ และงบประมาณที่จำเป็นอย่างเพียงพอ จนสามารถดับไฟป่าได้เสร็จสิ้นในระยะเวลาอันสั้น และจำกัดความเสียหายในระดับต่ำสุด” นายอภิชาต กล่าวและว่า นอกจากนี้ ดร.เฉลิมชัย ยังทำงานเชิงรุก แก้ไขปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล โดยการลงพื้นที่พร้อมสั่งการให้หน่วยปฏิบัติซักซ้อมแผนปฏิบัติการเพื่อรับมือในทุกกรณีอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกระทรวง ทส. ยังได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องกับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ นโยบายและการปฏิบัติงานในเรื่องดังกล่าวข้างต้นเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางผ่านสื่อมวลชน และยังใช้อีกหลายโอกาสตอบชี้แจงกระทู้ถามของ สส. ในสภาตลอดมา 

นายอภิชาต กล่าวด้วยว่า ในรอบ 4 เดือนเศษ ขอยืนยันว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การบริหารจัดการอย่างจริงจังและต่อเนื่องของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้มีผลงานมากมาย อาทิ การช่วยน้ำท่วมภาคเหนือ ภาคใต้หลายจังหวัด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ส่งรถทำอาหารเคลื่อนที่ พร้อมน้ำดื่มช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเข้าติดตามสถานการณ์หลังน้ำลด เพื่อสนับสนุนการกำจัดขยะหลังน้ำท่วม และแหล่งน้ำขังเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย อนุรักษ์พะยูน-ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติพะยูนเกยตื้น เฝ้าติดตามการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างจริงจัง ตั้งวอร์รูมเร่งผลักดันช้างกลับเข้าป่า เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ปรับปรุงสวัสดิการเสี่ยงภัย และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในสังกัดเพื่อรับมือเผชิญเหตุสัตว์ป่า การติดตั้งเครื่องตรวจติดตามการเคลื่อนตัวของมวลดิน ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงกว่า 600 สถานีทั่วประเทศ พร้อมป้องกัน เฝ้าระวัง และเตือนภัย ในพื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่ม ลดความเสี่ยงจากธรณีพิบัติภัยแก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง เสริมเขี้ยวเล็บ กรมอุทยานฯ โดยขอรับการสนับสนุนอาวุธปืน เสริมประสิทธิภาพการป้องกัน และดำเนินคดีอย่างจริงจังกับผู้ลักลอบตัดไม้ ล่า-ค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย โดยกำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดได้ปฏิบัติงานอย่างเข้มข้น เพื่อปราบปรามการกระทำผิด ต่อต้านขบวนการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติอย่างเข้มข้น และนำไปสู่การส่งคืน “ลีเมอร์ - เต่า” สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์กว่า 900 ตัว กลับสู่ถิ่นกำเนิด “มาดากัสการ์” สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนในการประชุม COP29 พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ฯลฯ 

เราจะร่วมกันลดฝุ่นโรงงาน โรงไฟฟ้า ไฟป่า ไฟไร่ ฝุ่นเมือง และฝุ่นการจราจร ช่วยเพื่อนบ้าน ลดฝุ่นข้ามแดน แบบไม่ชี้นิ้วใส่ใคร โดยไม่รู้จักทิศทางของลม

ไทยเราควบคุมให้ลดจุดความร้อนได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

แต่เราคงต้องช่วยเพื่อนๆให้มากๆขึ้นด้วย

สภาลมหายใจภาคประชาชนในทุกท้องที่ท้องถิ่น จะเป็นทางออกที่เจ้าของปอด เข้าถึงความรู้ความรอบและความจริง รายสัปดาห์

เพราะว่าลมใหญ่เปลี่ยนทิศทาง
ลมย่อยประจำถิ่นก็เปลี่ยนตามบริบทของตัวเอง

ช่วยกันเชียร์ให้สถาบันการศึกษาประจำพื้นที่โดดเข้ามาเป็นแกนช่วยเหลือทางหลักวิชา
เชิญให้สื่อประจำพื้นที่ได้เข้ามาติดตามรายงานเผยแพร่ต่อ

เพื่อปลุกและแนะให้เจ้าของปอดทุกคน มีความรู้และสู้ร่วมกันอย่างมีความหวังและเท่าทัน

ใช้สูตร 1เดือนหลังฤดูฝุ่นมาถอดบทเรียนว่าเราน่าจะทำอะไรในพื้นที่ให้เกืดผลที่ดีขึ้นในฤดูฝุ่นหน้า

แล้วลงมือลุยทำไปต่อตลอด8เดือนถัดมา

เมื่อ3เดือนแห่งฝุ่นขึ้นฟ้ามาอีกครั้ง

เราจะได้ลดค่าความอันตรายลงไปได้ต่อเนื่องทุกๆปีนับแต่นี้

สูตรทำงานสู้ฝุ่น #1-3-8

เราจะร่วมกันลดฝุ่นโรงงาน โรงไฟฟ้า ไฟป่า ไฟไร่ ฝุ่นเมืองและฝุ่นการจราจร

และช่วยเพื่อนบ้านลดฝุ่นข้ามแดนแบบไม่ชี้นิ้วใส่ใครโดยไม่รู้จักทิศทางของลม

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ

'ไซบีเรียที่กำลังลุกไหม้' วิกฤตไฟป่ารัสเซียทวีความรุนแรง ท่ามกลางภาวะสงครามและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไฟป่าได้กลายเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงและต่อเนื่องในรัสเซีย โดยเฉพาะในภูมิภาคไซบีเรียที่มีพื้นที่ป่าอันกว้างใหญ่ ความรุนแรงของไฟป่าในปี ค.ศ. 2024 และต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 2025 ได้จุดกระแสความวิตกกังวลทั้งในประเทศและในเวทีระหว่างประเทศ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางบริบทของสงครามรัสเซีย–ยูเครนที่ยังดำเนินอยู่ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ไฟป่าในไซบีเรียจึงมิใช่เพียงแค่ภัยธรรมชาติ หากแต่เป็นภาพสะท้อนของความเปราะบางในเชิงนโยบายรัฐ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในยุคแห่งความไม่แน่นอน

ภูมิภาคไซบีเรียมีลักษณะเป็นพื้นที่ทุนธรรมชาติที่สำคัญของโลกโดยเฉพาะป่าทุนดราและไทกาซึ่งทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ แต่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในภูมิภาคนี้เร็วกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึงสองเท่าส่งผลให้แหล่งพีตและดินเยือกแข็ง (permafrost) เริ่มละลายทำให้เชื้อไฟเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันฝุ่นควันจากไฟป่าได้แพร่กระจายไกลถึงแคนาดาและยุโรปส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์และคุณภาพอากาศโลก

จากรายงานจากหน่วยงานควบคุมป่าไม้ของรัสเซีย «Рослесхоз» ระบุว่า ในช่วงเมษายน ค.ศ. 2025 พื้นที่ป่าที่ได้รับความเสียหายจากไฟมีมากกว่า 500,000 เฮกตาร์ในไซบีเรียตะวันออกและตะวันตก โดยเฉพาะในแคว้นครัสโนยาสค์ «Красноярский край»  แคว้นอีร์คุตสค์ «Иркутск» สาธารณรัฐบูเรียทเทีย «Бурятия» และสาธารณรัฐซาฮาหรือยาคูเทีย «Республика Саха (Якутия)» สาเหตุหลักเกิดจากอุณหภูมิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยและความแห้งแล้งยาวนาน ซึ่งเป็นผลจากภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ไฟป่าไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในไซบีเรีย แต่ขอบเขตของมันในช่วงหลังเริ่มมีลักษณะเรื้อรังและควบคุมได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ไฟป่าส่วนใหญ่เกิดจากการเผาหญ้าในไร่ที่ควบคุมไม่ได้ ผนวกกับสภาพอากาศแห้งจัดและลมแรง ทำให้ไฟลุกลามรวดเร็ว หลายหมู่บ้านถูกตัดขาด การอพยพดำเนินได้อย่างจำกัดเพราะทรัพยากรฉุกเฉินไม่เพียงพอ

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้ไฟป่ามีความรุนแรงมาจาก 1) สภาพอากาศแห้งแล้งและอุณหภูมิสูงผิดปกติ: ภูมิภาคไซบีเรียเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างมากในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ทำให้พื้นดินแห้งและเป็นเชื้อเพลิงที่ดีสำหรับไฟป่า 2) ไฟซอมบี้ (Zombie Fires) หรือที่บางครั้งเรียกว่า “Holdover Fires” หรือ “Overwintering Fires” คือไฟป่าที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ใต้ดินในชั้นพีต (peat) หรืออินทรียวัตถุในดินแม้ผ่านฤดูหนาวไปแล้วกลับมาปะทุอีกครั้งเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นในฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูร้อนที่มีสภาพอากาศแห้งและมีเชื้อเพลิงเพิ่มเติม โดยแทบไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ไฟเหล่านี้สามารถปะทุขึ้นมาอีกครั้งและลุกลามอย่างรวดเร็ว โดยคำว่า “ซอมบี้” ใช้อุปมาว่าไฟพวกนี้เหมือนซากที่ไม่ยอมตายแม้จะถูกฝัง (ด้วยหิมะหรือความเย็น) แต่ก็ยังคง “มีชีวิต” อยู่ในความมืดใต้พื้นดิน แล้วกลับมา “ลุกขึ้น” ใหม่อย่างเงียบเชียบและอันตราย โดยนักวิทยาศาสตร์จาก Copernicus Atmosphere Monitoring Service (CAMS) และ University of Alaska ได้ระบุว่าไฟซอมบี้อาจกลายเป็นปรากฏการณ์ประจำปีของไซบีเรีย 3) การขาดแคลนทรัพยากรในการดับไฟ: เนื่องจากรัสเซียมีการส่งทหารจำนวนมากไปยังแนวรบในยูเครน ทำให้กำลังพลและอุปกรณ์ในการควบคุมไฟป่ามีจำกัด ส่งผลให้การดับไฟเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่ทั่วถึง

ภายใต้ยุคของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน การจัดการไฟป่ามีลักษณะเฉพาะ 3 ประการ
1) การรวมศูนย์อำนาจ (Centralization) นับตั้งแต่การปฏิรูปรัฐบาลภูมิภาคในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินพยายามลดบทบาทของผู้ว่าการท้องถิ่น โดยให้รัฐบาลกลางควบคุมการแต่งตั้งบุคลากรเจ้าหน้าที่และทรัพยากร ส่งผลให้เมื่อเกิดไฟป่าหน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจจำกัดในการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพ
2) การจัดการเชิงภาพลักษณ์ (Symbolic Leadership) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินมักลงพื้นที่หรือมีการประชุมวิดีโอแสดงความห่วงใยทุกครั้งที่เกิดไฟป่าใหญ่ เช่น เหตุการณ์ในแคว้นครัสโนยาสค์ หรือยาคูเทีย แต่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ตามมา ทำให้เกิดคำวิจารณ์ว่าภาวะผู้นำของปูตินเป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
3) การโยนความรับผิดชอบ (Blame Deflection) รัฐบาลมักอ้างว่าสาเหตุของไฟป่ามาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือ พฤติกรรมมนุษย์ โดยหลีกเลี่ยงการพูดถึงข้อจำกัดของกลไกรัฐ ในบางกรณีประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินออกมาตำหนิรัฐบาลท้องถิ่นและสั่งการผ่านสื่อโดยไม่มีกลไกสนับสนุนอย่างเป็นระบบ

ท่ามกลางภาวะสงครามงบประมาณรัฐจำนวนมากถูกเบนไปยังการทหาร ทำให้ขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติลดลงอย่างเห็นได้ชัด ข้อมูลจาก Greenpeace Russia ระบุว่าในปี ค.ศ. 2023 พื้นที่ไฟป่าในไซบีเรียเกิน 4 ล้านเฮกตาร์ ขณะที่รัฐสามารถควบคุมได้เพียงไม่ถึงครึ่ง เนื่องจากหน่วยงานดับเพลิงในบางพื้นที่ขาดงบประมาณและบุคลากรเนื่องจากทรัพยากรถูกเบนไปสนับสนุนการทำสงครามในยูเครน จากรายงานของสื่ออิสระ The Insider มีการเปิดเผยว่าเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์สำหรับดับเพลิงในบางภูมิภาคถูกปรับใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหารในยูเครน  เจ้าหน้าที่ภาคสนามจำนวนมากถูกส่งไปเป็นทหารหรือขาดงบในการฝึกอบรม ส่งผลให้ไฟป่าหลายแห่งลุกลามโดยไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าไปควบคุมได้ทันท่วงที ทำให้เจ้าหน้าที่ดับไฟในหลายภูมิภาคต้องทำงานภายใต้ทรัพยากรจำกัด ในขณะที่การสื่อสารกับสาธารณะเกี่ยวกับภัยไฟป่ากลับไม่โปร่งใส ระบบเตือนภัยและการสื่อสารชำรุดล้าสมัยไม่ได้รับการพัฒนา เนื่องจากงบประมาณด้านความมั่นคงเน้นที่การทหาร ทั้งนี้วิกฤตไฟป่าจึงสะท้อนความล้มเหลวของรัฐในการวางนโยบายสิ่งแวดล้อมและจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน  สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามว่า “รัฐบาลของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินสามารถรักษาความมั่นคงภายในได้จริงหรือไม่ ขณะที่ประเทศกำลังสู้รบภายนอก?”

ไฟป่าในไซบีเรียมีผลกระทบของต่อความมั่นคงและทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก ไฟป่าได้เผาทำลายพื้นที่ป่าไทกา (Taiga) ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญของโลก นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายต่อแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของรัสเซีย เช่น น้ำมัน แร่ และไม้ ซึ่งไซบีเรียมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจพลังงาน ไฟป่าอาจกระทบต่อเส้นทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเชื่อมระหว่างรัสเซีย จีน และเอเชียตะวันออกไฟป่ายังส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นที่พึ่งพาการทำป่าไม้ การล่าสัตว์ และการเกษตร ทั้งยังทำลายระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนและเครือข่ายไฟฟ้า ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลจำนวนมากต้องอพยพ โดยไม่มีการชดเชยหรือการดูแลอย่างเป็นระบบ ในระดับมหภาคเศรษฐกิจรัสเซียที่เผชิญการคว่ำบาตรจากตะวันตกอยู่แล้วยิ่งได้รับผลกระทบซ้ำจากภัยพิบัติดังกล่าว สถานการณ์นี้ยิ่งเลวร้ายลงในพื้นที่ที่มีความตึงเครียดเชิงชาติพันธุ์ เช่น แคว้นที่อยู่ทางด้านตะวันออกที่ประชากรเป็นชนกลุ่มน้อย 

การปล่อยให้ไฟป่าลุกลามในพื้นที่กว้างโดยไม่สามารถควบคุมได้ อาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงในหลายระดับ ดังนี้ 
1) ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม: ไฟป่าทำลายระบบนิเวศ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก และเร่งให้เกิดภาวะโลกร้อน 
2) ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ: สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมไม้ การเกษตร และสุขภาพของประชาชน
3) ความมั่นคงทางสังคมและการเมือง: ความไม่พอใจของประชาชนในภูมิภาคที่รู้สึกว่าไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลกลาง โดยเฉพาะในบริบทของสงครามอาจจุดชนวนให้เกิดการต่อต้านหรือกระแสชาตินิยมระดับภูมิภาคได้

โดยดานิล เบซโซนอฟ «Даниил Безсонов» นักรัฐศาสตร์ชาวรัสเซียเคยชี้ว่า “ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติที่ไม่สามารถควบคุมได้นั้นเป็นเหมือนสัญญาณอ่อนแอ (weak signal) ที่บ่งบอกถึงการเสื่อมถอยของกลไกรัฐในระดับภูมิภาค” นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศหลายคนได้ออกมาเรียกร้องให้รัสเซียหันมาสนใจปัญหาภายในประเทศก่อน โดยเฉพาะเรื่องไฟป่าในไซบีเรีย ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่จัดการอย่างจริงจัง อาจกลายเป็นมหันตภัยรุนแรงซ้ำรอยอดีตอีกครั้ง องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและประชาชนทั่วไปมีการเปิดคำร้องผ่านเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้ทางการจัดการไฟป่าอย่างจริงจัง ซึ่งล่าสุดมีการรวบรวมลายมือชื่อมากกว่า 800,000 คน

การจัดการไฟป่าที่ล้มเหลวกลายเป็นแหล่งความไม่พอใจในบางภูมิภาคของไซบีเรีย เช่น การประท้วงในยาคูเตียและคราสโนยาร์สค์ที่ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลกลางสนับสนุนการดับไฟมากขึ้น รวมถึงการวิจารณ์จาก NGOs และสื่ออิสระที่ถูกจำกัดการนำเสนอข้อมูลโดยรัฐ องค์กร NGOs เช่น Greenpeace Russia ที่นำเสนอข้อมูลด้านลบถูกประกาศเป็น 'องค์กรต่างชาติ' (foreign agent)

การรับมือกับไฟป่าในไซบีเรียยังมีมิติเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากฝุ่นควันจากไฟป่าได้เคลื่อนข้ามพรมแดน และรัสเซียเองก็เป็นภาคีในความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่การบริหารจัดการภายในประเทศกลับสวนทางกับพันธะสัญญานานาชาติ ทำให้ภาพลักษณ์ของรัสเซียในเวทีโลกเสื่อมถอยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัญหาไฟป่าในไซบีเรียกลายมาเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากองค์กรสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ซึ่งใช้เป็นหลักฐานวิพากษ์นโยบายรัฐรัสเซียที่ให้ความสำคัญกับสงครามมากกว่าการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยรัสเซียถูกกล่าวหาว่าละเลยพันธะในสนธิสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยเฉพาะเมื่อไฟป่าในไซบีเรียเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูงต่อเนื่องกันหลายปี

บทสรุป ไฟป่าในไซบีเรียคือวิกฤตซ้อนวิกฤตที่เชื่อมโยงกันระหว่างสงคราม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการบริหารจัดการของรัฐในระยะยาว หากไม่มีการปฏิรูประบบจัดการสิ่งแวดล้อมและคืนอำนาจแก่ท้องถิ่นในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ไฟป่าจะไม่เพียงเผาผลาญต้นไม้ แต่จะกัดกร่อนเสถียรภาพของรัฐและความมั่นคงในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมกันนั้นสถานการณ์นี้ยังสะท้อนถึงความลักลั่นในการจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลกลางที่ให้ความสำคัญกับสงครามภายนอกมากกว่าสวัสดิภาพของประชาชนภายใน หากรัฐไม่สามารถหาจุดสมดุลระหว่าง “ความมั่นคงทางทหาร” กับ “ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมและมนุษย์” ได้ในระยะยาว ปัญหาอย่างไฟป่าอาจกลายเป็นชนวนเรื้อรังที่คุกคามเสถียรภาพของรัสเซียจากภายในต่อไปในอนาคต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top