Friday, 17 May 2024
ไฟป่า

‘ก้าวไกล’ เผย ข้อจำกัดดับไฟป่าเขาแหลม ขาดอุปกรณ์-แผนรับมือ ชี้ ต้องกระจายอำนาจ เปลี่ยนงบในกระทรวงเป็นเงินหนุนท้องถิ่น

(1 เม.ย. 66) พล.ท. วีรากร ประกอบ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นครนายก เขต 1 พรรคก้าวไกล กล่าวถึงสถานการณ์ไฟป่าที่เขาแหลมและรอบบริเวณหลังโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ไฟยังคงลามไหม้กินพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่มีหญ้าแห้ง กอไผ่แห้ง ยิ่งในเวลากลางคืนมีกระแสลม ทำให้ไฟปะทุขึ้นมา

จากการลงพื้นที่ ตนรู้สึกเห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอย่างเหน็ดเหนื่อยทุ่มเท และเห็นข้อจำกัดในการแก้ไขรับมือสถานการณ์ อย่างน้อย 2 เรื่อง

1.) การขาดความพร้อมของอุปกรณ์ เครื่องมือที่จำเป็นต่อการดับไฟยังขาดหรือมีไม่เพียงพอ โดยตนเสนอว่าควรใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) เพื่อบินลาดตระเวนในเวลากลางคืน ถ่ายภาพเรียลไทม์ส่งมาที่ศูนย์บัญชาการสถานการณ์ ให้ทราบพิกัดที่ชัดเจนของจุดที่ไฟป่าปะทุขึ้น ทั้งเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเพื่อสวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่

2.) การเตรียมหรือซักซ้อมแผนเผชิญเหตุเพื่อความพร้อมในการดับไฟป่า ทั้งที่เหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และทั้งที่ล่วงเลยหน้าฝนมาแล้วหลายเดือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด หรือกรมอุทยานแห่งชาติฯ ควรมีประสบการณ์ในการเตรียมรับมือภัยที่มาในช่วงหน้าร้อน ไม่ว่าจะเป็นการทำแนวกันไฟป่า ประชาสัมพันธ์ประชาชนที่จะเข้าไปในพื้นที่ป่าเพื่อดักสัตว์ ซึ่งอาจกระทำบางอย่างเป็นต้นเหตุของไฟป่าได้ เช่น สูบบุหรี่

เชียงใหม่-ศอ.ปกป.ภาค 3 ส่งกำลังทหารสนับสนุน จ.เชียงใหม่ หลังพบไฟไหม้ป่าไหม้ลุกลามบนดอยสุเทพ

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 น. ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ภาค 3 (ศอ.ปกป.ภาค3) ได้สนับสนุนชุดปฏิบัติการลาดตระเวนและดับไฟป่า กองทัพภาคที่ 3 ให้กับจังหวัดเชียงใหม่ 2 ชุดปฏิบัติการ จำนวน 30 นาย พร้อมอุปกรณ์ดับไฟ สนธิกำลังร่วมกับ ชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำนวน 100 นาย หลังจากเกิดเหตุไปไหม้ป่าบนพื้นที่ป่าภูเขาสูง ของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ในพื้นที่ของ อ.สะเมิง , อ.หางดง และ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยจะจัดชุดเดินเท้าทางภาคพื้นดินเข้าไปดับไฟและสร้างแนวกันไฟ ไม่ให้ลุกลามไปยังพื้นที่ของประชาชนโดยรอบ พร้อมกันนี้ ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้สั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จัดรถบรรทุกน้ำจำนวน 3 คัน จากเทศบาลตำบลสุเทพและเทศบาลเมืองแม่เหียะ เตรียมความพร้อม หากลุกลามเข้ามาในพื้นชุมชนและหมู่บ้าน

นอกจากนี้ยังได้ประสานขอเฮลิคอปเตอร์ขี้นบินสนับสนุนด้วยการบรรทุกน้ำจากแหล่งน้ำที่ใกล้ที่สุดขึ้น บินโปรยน้ำดับไฟเพื่อจำกัดวงของไฟไม่ให้ลุกลามขยายเป็นวงกว้าง จำนวน 18 เที่ยว ปริมาณ 9,000 ลิตร ซึ่งคาดว่าจากการปฏิบัติทางภาคพื้นและอากาศยาน สามารถควบคุมจุดไฟป่าส่วนใหญ่ได้แล้ว ยังคงปฏิบัติการพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกัน ต่อเนื่อง

นภาพร/เชียงใหม่

ฝนหลวงเท ดับไฟป่า 'นครนายก' สำเร็จ หลังมีฝนตก ‘เขาแหลม - เขาพระ - เขาตะแบก’

บ่ายนี้มีฝนตก ‘นครนายก’ ช่วยพื้นที่ไฟไหม้ป่าสำเร็จ ขณะเดียวกัน ฝนหลวงฯ ยังอำนวยพื้นที่เกษตร-อ่างเก็บน้ำ ด้วยการขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือไม่มีวันหยุดอีกด้วย

(2 เม.ย.66) นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าและช่วงบ่ายของวันนี้ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ไฟไหม้ป่าบริเวณเขาชะพลูและเขาแหลม จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นการทำงานทุกวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงและหมอกควันจากสถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าว 

โดยเมื่อช่วงเวลาประมาณ 15.30 น. ตรวจสอบจากเรดาร์ฝนหลวงพบว่ามีกลุ่มฝนเคลื่อนตัวเข้าไปยังบริเวณพื้นที่เกิดไฟป่าเขาแหลม, เขาพระ และเขาตะแบก พร้อมกับได้รับรายงานจากอาสาสมัครฝนหลวงและอาสาสมัครกู้ภัยในพื้นที่จังหวัดนครนายก พบว่า มีปริมาณฝนตกปริมาณเล็กน้อย-ปานกลาง เป็นเวลาประมาณ 30 นาที ซึ่งทางกรมฝนหลวงฯ ได้มอบหมายให้หน่วยฯ จันทบุรีติดตามสภาพอากาศทุกวันอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อช่วยเหลือจนกว่าสถานการณ์ไฟไหม้ป่าในพื้นที่จะคลี่คลายลง

กรมอุทยานฯ เร่งแก้ปัญหาไฟป่า สำรวจการเลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ใกล้เคียงหวั่นเผาป่าเพื่อเลี้ยงปศุสัตว์ และขอความร่วมมือไม่เลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่อนุรักษ์หากฝ่าฝืนดำเนินการตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ได้รับการรายงานสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความเสียหายแก่ป่าอนุรักษ์ ตลอดจนเกิดฝุ่นละอองและหมอกควันเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม และกระทบกับสุขภาพอนามัยของประชาชน สำหรับสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตรจนลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่า การเผาป่าเพื่อเก็บหาของป่าและล่าสัตว์ รวมถึงการเผาป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ เป็นต้น 

‘ฮาวาย’ เผชิญภัย ‘ไฟป่า’ สังเวย 80 ศพ-สูญหายหลายร้อยราย ครึ่งเมืองเหลือแต่เถ้าถ่าน จี้สอบทางการ ปมแผนรับมือหละหลวม

(12 ส.ค. 66) สำนักข่าวบีบีซี รายงานถึงความคืบหน้าสถานการณ์ ‘ไฟป่า’ ใน รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา หลังปะทุลุกลามเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา และไม่กี่วันไฟก็โหมลุกไหม้เผาวอดพื้นที่กว่าร้อยละ 80 ของเมืองลาไฮนา บนเกาะเมาวี ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็นอย่างน้อย 80 ราย อีกหลายร้อยคนยังคงสูญหาย ท่ามกลางความหวาดวิตก ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ทางการท้องถิ่นเมืองลาไฮนา อนุญาตให้ชาวเมืองที่มีเอกสารยืนยันที่อยู่อาศัยสามารถกลับเข้ามาในเมือง เมื่อวันศุกร์ที่ 1 ส.ค.ตามเวลาท้องถิ่น

เกือบทั้งเมืองเหลือเพียงเศษซากกองเถ้าที่ถูกไฟเผาวอด และซากรถยนต์ที่โดนเพลิงเผาทำลายกลายเป็นเศษเหล็กจอดเรียงรายตามถนนหนทาง นอกจากนี้ยังประกาศมาตรการเคอร์ฟิวระหว่างเวลา 22.00-06.00 น. ในบางพื้นที่ซึ่งเสี่ยงภัยจากไฟป่าที่ยังเผาไหม้

ขณะเดียวกันสำนักงานอัยการสูงสุดรัฐฮาวายจะเปิดการสอบสวนการตอบสนองของทางการต่อเหตุไฟป่ารุนแรงในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ของรัฐฮาวาย และเลวร้ายที่สุดในรอบ 63 ปีนับตั้งแต่เหตุคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มฮาวายจนมีผู้เสียชีวิต 61 ราย เมื่อปี 2503

น.ส.แอนน์ โลเปซ จากสำนักงานอัยการสูงสุดระบุจากแถลงการณ์ว่า “สำนักงานอัยการสูงสุดจะดำเนินการทบทวนอย่างครอบคลุม เกี่ยวกับการตัดสินใจที่สำคัญและนโยบายทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดไฟป่าบนเกาะเมาวีและเกาะฮาวายในสัปดาห์นี้”

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการรับมือของทางการ โดยชาวเมืองตำหนิว่าไม่มีคำเตือนเกี่ยวกับไฟป่าที่ลุกลามตีวงล้อม และส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากติดอยู่ในเมือง

น.ส.โลเปซยังระบุอีกว่า “สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเศร้าใจเช่นเดียวกับที่ทุกคนในฮาวายรู้สึก และขอส่งกำลังใจให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ สำนักงานมุ่งมั่นที่จะทำความเข้าใจกับการตัดสินใจที่เกิดขึ้นก่อน รวมถึงระหว่างไฟป่า และจะแบ่งปันผลการตรวจสอบนี้ต่อสาธารณชน”

‘ไบเดน’ ลงพื้นที่ ‘ฮาวาย’ ติดตามความเสียหายจากไฟป่า พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัย หลังถูกวิจารณ์รับมือล่าช้า

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 66 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ ของสหรัฐฯ เดินทางเยือนฮาวาย เพื่อตรวจตราความเสียหายจากภัยพิบัติไฟป่าเมื่อไม่นานมานี้ ที่เผาวอดเมืองทั้งเมือง และพบปะบรรดาผู้ประสบเหตุที่รอดชีวิต

ไบเดนและภริยา พร้อม ‘จอช กรีน’ ผู้ว่าการรัฐฮาวาย เดินสำรวจความเสียหายของเมือง หลังผ่านไปเกือบสองสัปดาห์ที่ไฟป่าได้เผาทำลายเมืองประวัติศาสตร์ลาไฮนา และคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 114 ราย

เปลวไฟลุกลามอย่างรวดเร็วจนชาวบ้านไม่ทันระวังตัว และต้องกระโดดลงทะเล เพื่อหลบหนีภัยพิบัติไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดของสหรัฐอเมริกา ในรอบกว่า 100 ปี

หลังการสำรวจความเสียหายโดยรวม ไบเดนมีกำหนดจะประกาศมอบเงินทุนบรรเทาทุกข์เพิ่มเติม และแต่งตั้งผู้ประสานงานจากรัฐบาลกลางเพื่อประจำการช่วยเหลือในพื้นที่

บรรดานักวิจารณ์ รวมถึงผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติดังกล่าวในฮาวาย และฝั่งตรงข้ามอย่างพรรครีพับลิกัน ต่างระบุว่า ความช่วยเหลือในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ และยังไม่มีการกำหนดมาตรการและวิธีการช่วยเหลือฟื้นฟูที่ดีพอ

แม้กระทั่งอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังกล่าวโจมตีว่า เป็นเรื่องน่าอับอายที่ประธานาธิบดีเพิ่งปรากฏตัวในพื้นที่ ทั้งๆ ที่เหตุจบไปแล้วเป็นสัปดาห์ ขณะที่ทำเนียบขาวชี้แจงว่า ไบเดนชะลอการเดินทางของเขา เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่และหน่วยกู้ภัยที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ต้องเสียสมาธิ

การเดินทางไปฮาวายครั้งนี้ ไบเดนกล่าวว่า “ผมรู้ว่าไม่มีอะไรสามารถทดแทนการสูญเสียชีวิตได้ ผมจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อช่วยให้เมาวีฟื้นตัว และถูกสร้างขึ้นใหม่จากโศกนาฏกรรมครั้งนี้” พร้อมหวังว่าการเยือนของเขาจะสร้างความมั่นใจในการฟื้นตัวให้กับฮาวาย

ชาวเมืองเมาวีกล่าวว่า กระบวนการตามหาผู้ที่ยังสูญหาย รวมทั้งการระบุตัวตนผู้เสียชีวิตนั้นดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เพราะรัฐบาลตอบสนองช้า

“แม้ว่าการค้นหาผู้สูญหายจะดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ไปกว่า 85%แล้ว แต่อีก 15% ที่เหลืออาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ เพราะความร้อนจัดของไฟที่เผาไหม้ อาจทำให้ซากใดๆ สูญสลายไปเกินกว่าจะค้นเจอได้” จอช กรีน ผู้ว่าการรัฐฮาวาย ชี้แจงประเด็นดังกล่าว พร้อมเสริมว่ารัฐบาลกลางได้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากเอฟบีไอ, กระทรวงกลาโหม และกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ มาเพื่อช่วยในกระบวนการระบุตัวตนที่ต้องใช้ความละเอียดอดทนสูง

‘ชิลี’ ประกาศภาวะฉุกเฉิน หลังยังไม่สามารถควบคุมเหตุไฟป่าได้ ถือเป็นภัยพิบัติร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่เหตุแผ่นดินไหวเมื่อปี 2010

(4 ก.พ.67) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานสถานการณ์ไฟป่าในประเทศชิลี ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ทางการชิลีแจ้งเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากไฟป่าที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ของประเทศชิลี ทั้งตอนกลางและตอนใต้ ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างน้อย 51 รายแล้ว และคาดว่ายอดผู้เสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ขณะที่ไฟป่าเริ่มลุกลามเข้าพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นแล้ว

วันเดียวกัน ประธานาธิบดี ‘กาเบรียล บอริก’ แห่งชิลี ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้น ในภูมิภาคตอนกลางและตอนใต้ของประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ไฟป่าที่ลุกลามและยังควบคุมไม่ได้ ท่ามกลางสภาพอากาศที่แห้ง และอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็น 40 องศาเซลเซียส ยิ่งส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าในชิลีย่ำแย่ลงไปอีก

ข่าวระบุว่า พื้นที่โดยรอบของเมืองริมชายหาดอย่าง ‘วินา เดล มาร์’ ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบหนักสุดจากเหตุไฟป่า ซึ่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว

โดยก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีบอริก แจ้งว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุไฟป่าแล้ว 46 ราย ก่อนที่จะมีการปรับยอดเพิ่มขึ้นเป็น 51 ราย ซึ่ง ‘นางคาริลินา โทฮา’ รัฐมนตรีมหาดไทยของชิลี เปิดเผยว่า ยอดผู้เสียชีวิตได้เพิ่มขึ้น หลังจากมีการพบร่างผู้เสียชีวิตบนท้องถนนเพิ่มขึ้นอีก 5 ราย และคาดว่า จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะที่เมืองวาลปาไรโซ ที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์เปราะบางมากที่สุด โดยนางโทฮายังกล่าวด้วยว่า ชิลี กำลังเผชิญกับภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อปี 2010 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 500 ราย

แม่ทัพภาคที่ 3 ร่วม แถลงผลงานไฟป่าหนึ่งเดือน จุดความร้อนลดลงอย่างเห็นได้ชัด คุณภาพอากาศดีขึ้นต่อเนื่อง

จังหวัดเชียงใหม่ แถลงผลงานไฟป่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา จุดความร้อนลดลงต่อเนื่อง ค่าคุณภาพอากาศดีขึ้น 93 เปอร์เซ็นต์ เผยปีหน้าเตรียมปรับแผนบริหารจัดการจุดโม่ข้าวโพดไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ลุกลามเป็นวงกว้าง 

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ ห้องประชุม ตะวัน กังวานพงศ์ ชั้น 4 อาคารยุทธศาสตร์ สำนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  พลโท ประสาน แสงศิริรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 3 /ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการไฟป่ากองทัพภาคที่ 3 พร้อมด้วย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พลตรี วิทยา แก้วพรม รองแม่ทัพภาคที่ 3/ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานภาค 3 /รองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการไฟป่ากองทัพภาคที่ 3 ,พลตรี ธีระ ผดุงสุนทร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33/ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานมณฑลทหารบกที่ 33 ร่วมกันประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แบบบูรณาการ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม จากนั้น ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมดังกล่าวแล้ว ได้มอบหมายให้ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน 

โดยในปีนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้ปรับแผนการดำเนินงานจากปีที่ผ่านมาให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่โดย แบ่งพื้นที่การดำเนินงานเป็น 7 กลุ่มป่า และ 1 พื้นที่ป่าพิเศษ เพื่อจัดทำแผนป้องกันไฟป่าและบริหารจัดการเชื้อเพลิง ขณะเดียวกันได้มีการปรับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในที่โล่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 30 เมษายน 2567 ให้สามารถเผาได้หากมีความจำเป็น โดยผู้ที่มีความประสงค์จะเผาต้องลงทะเบียนขอรับบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านระบบ Fire-D และต้องได้รับการอนุมัติจากศูนย์บัญชาการระดับอำเภอก่อน ประกอบกับการปฏิบัติการเชิงรุก “เดินเข้าหาไฟ” เป็นการดึงเชื้อเพลิงออกจากแปลงเกษตรลดการเผา ด้วยวิธีการไทยกลบหรือการรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตร เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนด้วยหลัก เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา 

จากการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้สถานการณ์หมอกควันไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ในห้วงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 8 กุมภาพันธ์ 2567 เกิดจุดความร้อนเพียง 111 จุด ลดลงจากปี 2566 มากถึง 747 จุด ลดลงถึง 87 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ค่าคุณภาพอากาศที่เกินมาตรฐานคือ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงจาก 30 วัน เหลือเพียง 2 วัน เท่านั้น หรือลดลงมากถึง 93 เปอร์เซ็นต์  ถือว่าดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน สอดคล้องกับจำนวนสถิติผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจก็ลดลงด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงเดือนเมษายน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงที่สถานการณ์จะรุนแรงมากที่สุดนั้น นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือโดยการให้ทุกหน่วยเข้มงวดกวดขันในการลาดตระเวนเฝ้าระวังในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่า เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่ชาวบ้านว่างจากการทำการเกษตรมักจะเข้าป่า เพื่อหาของป่าตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน ขณะเดียวกันให้ในช่วงที่จะมีการเผาซังข้าวโพดนั้นได้สั่งการให้เกษตรจังหวัดเข้าไปควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งในปีถัดไปจะมีการควบคุมการโม่ข้าวโพดอย่างเข้มข้นขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ซังข้าวโพดลุกลามไปในวงกว้าง 

'พัชรวาท' มอบเสื้อกันไฟ 250 ตัว ให้ 'ชุดเสือไฟ' เนื่องในวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า วอนทุกฝ่ายร่วมมือลดควันพิษ

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า 24 ก.พ.ของทุกปีว่า ไฟป่าเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ และทำให้เกิดมลพิษด้านฝุ่น PM 2.5  ดังนั้นการกำหนดให้มีวันดังกล่าวเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงความสำคัญของไฟป่าและเพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชน เกษตรกร งดการจุดไฟเผาป่า ลดควันไฟที่เกิดจากการเผาป่า สร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักให้แก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา หน่วยราชการ องค์กรเอกชน ถึงอันตรายและผลกระทบของควันที่เกิดจากไฟป่า เพื่อป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ จากการจุดไฟเผาป่า และเพื่อลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 จากควันไฟ 

ซึ่งได้กำชับเรื่องนี้ในการมอบนโยบายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยให้มีการยกระดับ การสื่อสารเชิงรุก ในรูปแบบ เคาะประตูบ้านเพื่อเข้าไปสื่อสาร ทำความเข้า ใจ กับประชาชน เรื่องผลกระทบจากการเผาอย่างเข้มข้น และร่วมมือ ชุมชน หน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมกันประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวง มหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และเครือข่ายต่างๆ เพื่อเป้าหมาย การลด Hotspot โดยเฉพาะในเขตป่าให้ได้ร้อยละ 50 และที่สำคัญที่สุด คือ ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ด้านป้องกันไฟป่า เพราะปฏิบัติการดับไฟป่าเป็นงานหนักและเสี่ยงต่ออันตรายต่อชีวิตและร่างกาย

ดังนั้นจึงต้องสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อให้ชุดเสือไฟมีความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อให้มีความปลอดภัย จึงได้มอบเสื้อกันไฟ จำนวน 250 ตัว ให้กับเจ้าหน้าที่ชุดเสือไฟ เนื่องจากจะต้องไปสนับสนุนการดับไฟป่าขนาดใหญ่ มีความรุนแรงสูงหรือเกิดไฟป่าในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ยากลำบากต่อการเข้าถึง มีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตามการจะให้ปลอดควันพิษจากไฟป่านั้นจะอาศัยเพียงหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดคงไม่สำเร็จ ต้องอาศัยมือของทุกคนมาช่วยกันเพื่อลดควันพิษจากไฟป่า ผืนป่าอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าก็ไม่สูญพันธุ์”

ระทึก!! หาม ‘จนท.ดับไฟป่า’ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ส่งรพ. หลังช่วยดับไฟป่าใน จ.พิษณุโลก นานหลายชั่วโมง

(18 มี.ค. 67) นายโกเมศ พุทธสอน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) ได้สั่งการให้ ศูนย์สั่งการและติดตามสถานการณ์ไฟป่าฯ (War Room สบอ.11) ได้แจ้งว่ามีเหตุไฟไหม้ป่า ที่บริเวณพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาประดู่ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ตามที่ได้รับแจ้งพบจุด Hotspot ในพื้นที่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาประดู่ จำนวน 2 จุด จึงได้ร่วมกับสถานีควบคุมไฟป่าภูหินร่องกล้า เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ จุดสกัด และจุดเฝ้าระวัง (ภาคประชาชน) เข้าดำเนินการตรวจสอบและควบคุมไฟป่า จุดที่ 1 บริเวณบ้านป่าคาย ม. 2 ต.บ้านยาง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ตรวจสอบแล้วเป็นไฟไหม้ติดตอไม้ และกอไผ่ สถานะดับแล้ว และ จุดที่ 2 บ้านใหม่พนมทอง หมู่ที่ 14 ต.บ้านกลาง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก สถานะสามารถควบคุมไฟได้แล้วบางส่วน โดยไฟป่าดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา

ต่อมา นายสรวิชญ์ สีดารักษ์ เจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าภูหินร่องกล้า ตำแหน่งบุคคลภายนอก (ปฏิบัติงานควบคุมไฟป่า) อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่มีอาการอ่อนแรง หน้าซีด ล้มลง และกล้ามเนื้อเกร็งลักษณะเป็นตะคริวช่วงหน้าท้องลงไปถึงช่วงขา ชุดปฏิบัติงานจึงได้ช่วยกันเร่งนำตัวลงจากเขา และแจ้งให้หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าภูหินร่องกล้าทราบ และเร่งประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำป้อมยามบ้านนาขาม นำรถกู้ชีพ รพ.วัดโบสถ์ เพื่อรอรับตัว แต่เนื่องจากใช้เวลาเดินเท้าออกมาจากป่าระยะทางทางไกล

หลังจากนั้นได้นำตัวผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลวัดโบสถ์ อ.วัดโบสถ์จ.พิษณุโลก เพื่อตรวจอาการ แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นอาการกล้ามเนื้อสลาย หากขาดการรักษาจะทำให้มีอาการโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด และเมื่อเวลา 21.30 น. แพทย์ตรวจพบมีค่าไตผิดปกติ ขณะนี้อาการปลอดภัย แพทย์ลงความเห็นว่าให้นอนโรงพยาบาลเพื่อดูอาการ อย่างน้อย 2-3 คืน

ทั้งนี้นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สั่งการให้หัวหน้าหน่วยงานดูแลอาการเจ็บป่วยของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้หัวหน้าชุดลาดตระเวน ต้องตรวจสอบสมรรถภาพร่างกายก่อนปฏิบัติงาน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องสลับกันเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง เข้าดับไฟป่าทำงานหักโหม บางคนอาจมีอาการอ่อนล้าสะสม โดยขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ ล่าสุดอาการของนายสรวิชญ์ สีดารักษ์ อาการปลอดภัยแล้ว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top