Friday, 29 March 2024
เพชรบูรณ์

ทนไม่ไหว ! ชาวบ้านเพชรบูรณ์ร้องศูนย์ดำรงธรรม เร่งแก้ปัญหากลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้านไม่โปร่งใส

ที่วัดศรีจันดาธรรม หมู่ 12 ตำบลปากช่อง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ นายชาครินทร์ อินอิ่มวรปราชญ์ นายอำเภอหล่มสักเป็นประธานการประชาคมชาวบ้านเพื่อหาข้อยุติ ในกรณี นายกิจสุพัฒน์ ฉัตรวิโรจน์ ผู้ร้องขอความเป็นธรรมต่อศูนย์ดำรงธรรมอำเภอหล่มสัก

กล่าวว่า นายสุเทพ พั้วพวง ประธานกลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้านน้ำดุกป่าฉำฉา (น้ำดุกหลังศูนย์ฯ) พร้อมคณะกรรมการ ปฏิบัติหน้าที่ไม่โปร่งใส เลือกปฏิบัติเป็นสองมาตรฐาน มีพฤติกรรมฉ้อฉล ไม่เคยจัดการประชุมสมาชิกในแต่ละปี ให้รับทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของกลุ่มรวมฌาปนกิจหมู่บ้านทั้งไม่ชี้แจงรายละเอียดการเงินกับสมาชิก

ทางผู้ร้องจึงได้จัดประชุมสมาชิกกลุ่ม และกรรมการกลุ่มฯ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาโดยสันติวิธีร่วมกัน โดยมีสักขีพยานได้แก่นายอำเภอหล่มสัก นายปรัชญา ปิยะวงษ์ ปลัดอำเภอหล่มสัก ผู้กำกับการ สภ.บ้านกลาง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอหล่มสัก นายไกร แรงงาน กำนัน ต.ปากช่อง ผู้ใหญ่บ้านในตำบลปากช่อง ผู้สังเกตการณ์จากหลายหน่วยงาน ฯลฯ และสมาชิกที่เข้าร่วมกลุ่มฯจาก 7 หมู่บ้านใน ตำบลปากช่อง กว่า 400 ครอบครัว

ทั้งนี้ผู้ร้องขอความเป็นธรรมได้กล่าวในที่ประชุมว่านายสุเทพ พั้วพวง ประธานกลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้านน้ำดุกป่าฉำฉา (น้ำดุกหลังศูนย์ฯ) ปฏิบัติหน้าที่ไม่โปร่งใส เลือกปฏิบัติเป็นสองมาตรฐานต่อสมาชิกที่สูญเสียบุคคลในครอบครัว มีพฤติกรรมฉ้อฉลส่อแววทุจริต เช่นการพิจารณาจ่ายเงินค่าทำศพมีความเหลื่อมล้ำ บางศพได้รับ บางศพไม่ได้รับ  โดยนายกิจสุพัฒน์ ฉัตรวิโรจน์  ซึ่งเป็นผู้เสียหาย กล่าวว่า ตนเองสมัครเป็นสมาชิกของกลุ่มและส่งเงินสมทบค่าทำศพมาตลอด จนเมื่อปลายปี 2563 บุตรชายของตนซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้เสียชีวิตลง ทางคณะกรรมการกลุ่มฌาปนกิจไม่จ่ายเงินให้

โดยอ้างว่า บุตรชายตนเองไปตั้งถิ่นฐานอยู่ กทม นานแล้ว เสมือนได้แยกครอบครัวออกไปจากครอบครัวของตนเองที่เป็นสมาชิกกลุ่มอยู่ ซึ่งทำให้สมาชิกจำนวนมากเกิดความกังวลว่าจะเจอกับเหตุการณ์แบบนี้หรือไม่ เพราะมีหลายครอบครัวที่ลูกหลานได้ออกไปทำงานอยู่ต่างถิ่น หากเสียชีวิตทางกลุ่มจะจ่ายเงินให้หรือไม่ รวมทั้งที่ผ่านมาทางกลุ่มไม่เคยมีการประชุมชี้แจงการดำเนินงานให้สมาชิกทราบ รวมถึงสถานะทางการเงินกับสมาชิก ตนจึงร้องขอความเป็นธรรมกับทางศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ทางศูนย์ดำรงธรรมได้เชิญนายสุเทพ พั้วพวง มาให้ปากคำเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 และได้ชี้แจงข้อร้องเรียนให้ผู้ร้องได้รับทราบเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564

ผลสรุปว่าผู้ถูกร้องยอมเจรจาว่าจะจ่ายเงินสงเคราะห์ศพให้ทางผู้ร้องแต่ต้องรอมติจากสมาชิกในการประชุมใหญ่  ที่จะประชุมกันในวันที่ 18 มีนาคมนี้ก่อน โดยทางผู้ร้องมีข้อต่อรอง 2 ประการคือให้ปลดล็อคการสืบทอดอำนาจของประธานและกรรมการโดยให้มีการเลือกตั้งเป็นวาระ ให้ประธานและกรรมการกล่าวขอโทษในการทำงานผิดพลาดต่อสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม แต่พอมาวันที่ 14 มีนาคม ทางผู้ร้องมีพฤติกรรมที่ส่อว่าจะไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงโดยออกแบบกฎกติกาข้อบังคับของกลุ่มฌาปนกิจขึ้นมาใหม่และแจกให้สมาชิกบางส่วน ซึ่งทางผู้ร้องเกรงว่าเหตุการณ์จะบานปลายและจะจบด้วยสันติวิธีไม่ได้

ในการประชุมทางกลุ่มฌาปนกิจได้ชี้แจงข้อสงสัยต่าง ๆ ของผู้ร้องและสมาชิก แต่ก็ยังไม่กระจ่างในหลายกรณี โดยนายประสิทธิ์ จงธรรม์ กรรมการกลุ่มได้กล่าวกลางที่ประชุมว่า สมาชิกอย่ากังวลกับการทำงานของกรรมการ หากมีการเสียชีวิตของสมาชิกสามารถจ่ายเงินได้ทันที 3 ศพ ส่วนกรณีการเสียชีวิตบุตรชายของนายกิจสุพัฒน์ เนื่องจากบุตรชายของนายกิจสุพัฒน์ไม่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนของกลุ่มจึงไม่สามารถจ่ายเงินให้ได้ หากสมาชิกอยากให้จ่ายก็ให้สมาชิกรับผิดชอบหาเงินมาจ่ายเอง ไม่เกี่ยวกับคณะกรรมการ พร้อมทั้งประกาศยุติการดำเนินงานของกลุ่มฌาปนกิจที่ตั้งมานนกว่า 25 ปีลง และจะเปิดกลุ่มใหม่ หากใครสนใจจะเข้าให้มายื่นความจำนงกับกรรมการแต่ละเขตต่อไป

ทางด้านนายอำเภอหล่มสัก กล่าวว่า ในส่วนกรณีของปัญหาการจ่ายเงินค่าศพของสมาชิก เป็นสิทธิ์ที่ทางคณะกรรมการจะพิจารณา ทางอำเภอจะเข้าดูในด้านเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น รายชื่อคณะกรรมการ หลักฐานทางการเงินและการจดแจ้งขึ้นทะเบียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับกลุ่มให้มีชัดเจน ถูกต้องและโปร่งใส โดยจะให้ปลัดอำเภอเข้ามาให้คำแนะนำและดำเนินการให้ถูกตามตามระเบียบทางราชการภายในสองอาทิตย์ ทั้งนี้กลุ่มฌาปนกิจหมู่บ้านน้ำดุกป่าฉำฉา (น้ำดุกหลังศูนย์ฯ) รวมตัวดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2538 มีสมาชิกแรกเริ่ม 100 ครอบครัว ในพื้นที่ หมู่ 2,5,11,12,13,14,17 ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ปัจจุบันมีสมาชิก 458 ครอบครัว


ภาพ/ข่าว  มนสิชา  คล้ายแก้ว

บรรยากาศสุดฟินที่เพชรบูรณ์ กับสีสัน ช้อปเพลิน เดิน กิน ที่ถิ่นท้ายดง “TAIDONG WALKING STREET”

นายนาวิน สังฆมาตร นายอำเภอวังโป่ง เป็นประธานเปิด “TAIDONG WALKING STREET”( ถนนคนเดินท้ายดง ) ช้อปเพลิน เดิน กิน ที่ถิ่นท้ายดง ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในแนวคิดในการพัฒนาชุมชน ให้เป็นที่รู้จักและการกำหนดให้แหล่งเรียนรู้ของตำบล เป็นแหล่งตลาดใหม่

โดยองค์การบริหารส่วนตำบลท้ายดง ให้ความสำคัญของเด็กและเยาวชนพร้อมด้วยผู้สูงอายุในสังคมปัจจุบัน โดยการพยายามหาแนวทางในการขับเคลื่อนกลุ่มของสภาเด็กเยาวชนตำบลท้ายดง และโรงเรียนสร้างสุขผู้สูงวัยตำบลท้ายดง จึงจัดกิจกรรม “TAIDONG WALKING STREET”( ถนนคนเดินท้ายดง ) ช้อปเพลิน เดิน กิน ที่ถิ่นท้ายดง โดยมีนางสาวฉัตรนภา เมืองแป้น นายก อบต.ท้ายดง เป็นผู้กล่าวรายงาน  เพื่อเป็นการผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวของตำบลท้ายดง และสนับสนุนการแสดงกิจกรรม สืบทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและการแสดงของกลุ่มเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน

นอกจากนี้ ภายในกิจกรรม ก็ได้มีอีกหนึ่งสีสันและไฮไลท์เด็ด ให้ผู้ร่วมงานและนักท่องเที่ยวได้รับชม โดยมีการแสดงของสภาเด็กและเยาวชนตำบลท้ายดง ที่ออกมาโชว์สเต๊ปการเต้นเข้าจังหวะ ด้วยท่วงท่าที่หลากหลาย น่ารัก สมวัย สร้างความสนุกสนาน และตามด้วยการแสดงที่อ่อนช้อย ของโรงเรียนสร้างสุขผู้สูงวัยตำบลท้ายดง ที่ต่างพร้อมใจกันแต่งกายด้วยผ้าซิ่น สวมใส่เสื้อสีชมพู มีผ้าขาวม้าพาดไหล่ สะพายกระติ๊บข้าวเหนียว ออกมาโชว์ในชุด เซิ้งกระติ๊บอย่างพร้อมเพียง งดงาม

และนอกจากนั้น ยังมีร้านขายอาหาร ร้านขายของฝาก ของที่ระลึก ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านเสริมความงาม รวมทั้งกิจกรรมกีฬาและสันทนาการต่างๆ มาคอยให้บริการอย่างครบครัว และที่จะขาดไม่ได้เลยทีเดียว เมื่อใครได้มาถึงที่นี่แล้ว จะต้องมาร่วมเช็คอิน ถ่ายรูปกับมุมเซลฟี่ต่างๆ ที่ทางถนนคนเดินท้ายดง ได้จัดแต่งไว้ให้อย่างหลากหลาย โดยจะเปิดให้บริการ ในทุกวันพฤหัสบดี เริ่มตั้งแต่เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป จนถึงช่วงเวลา 19.00 น.


ภาพ/ข่าว : เดชา มลามาตย์ และ ยุทธ ศรีทองสุข

เพชรบูรณ์ เกษตรอำเภอวังโป่ง จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานที่ อาคารคัดแยกมะขามหวาน วิสาหกิจชุมชนไม้ผลตำบลซับเปิบ หมู่ที่ 2 ตำบลซับเปิบ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์  นายนาวิน สังฆมาตร นายอำเภอวังโป่ง เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field  Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่  โดยมี นางชรินรัตน์ ตีทอง เกษตรอำเภอวังโป่ง  กล่าวรายงาน หัวหน้าส่วนราชการอำเภอวังโป่ง นายกองค์การบริหาร ส่วนตำบลซับเปิบ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านตำบลซับเปิบ สำนักงานตรวจบัญชีและสหกรณ์  ชลประทานจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สถานีพัฒนาที่ดินเพชรบูรณ์ เข้าร่วม และสาธารณสุขอำเภอวังโป่ง ได้มีการคัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโรคโควิด-19

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับเกษตรกรทั่วประเทศ จึงได้มีนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมของเกษตรกรที่จะเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลผลิตใหม่ และได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นแกนหลักในการจัดงาน โดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จำนวน 882 ศูนย์ หรือศูนย์เครือข่ายในพื้นที่เป็นสถานที่จัดงาน เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ ช่วยในการลดต้นทุนการผลิต  การเพิ่มผลผลิต และการพัฒนาคุณภาพผลผลิต เป็นการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอาชีพ ให้เกษตรกรทุกท่านที่มาร่วมงาน  ให้ความสนใจเรียนรู้จากฐานเรียนรู้และองค์ความรู้จากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการเกษตรสาขาต่าง ๆ ตลอดจนข่าวสารที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มาให้บริการข้อมูลข่าวสาร  เพื่อนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรายอื่นได้ทราบ เพื่อพัฒนาการเกษตรของอำเภอวังโป่งต่อไป

กิจกรรมวันนี้มีบุคคลเป้าหมายเข้าร่วมงานเป็นเกษตรกรที่อยู่ ในพื้นที่อำเภอวังโป่ง จำนวน  130  ราย โดยแบ่งเกษตรกรเข้าฐานเรียนรู้ กลุ่มละ 25 ราย โดยใช้เวลาเรียนรู้ฐานละ 30 นาที หมุนเวียนการเรียนรู้ จนครบทุก 4 ฐาน แล้วจึงสรุปผลการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมี ฐานเรียนรู้ที่ 1 การผลิตและแปรรูปมะขามหวานคุณภาพ  ,ฐานที่ 2 การผลิตสารชีวภัณฑ์ สอนวิธีการขยายเชื้อราบิวเวอร์เรีย ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทางการเกษตรใช้ควบคุมแมลงศัตรพืชเช่นเพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ มวนเขียว ด้วงแรด ด้วงหนวดยาว ฯลฯ ,ฐานที่ 3 การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ (หนูนา) ให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการเลี้ยงหนูแบบแยกคลอด การเตรียมบ่อเลี้ยง และวิธีการเลี้ยงหนูขุน ,ฐานที่ 4 การผลิตข้าวคุณภาพดี ให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้มีมาตรฐานและคุณภาพที่ดี

ด้าน นางชรินรัตน์ ตีทอง เกษตรอำเภอวังโป่ง  กล่าวว่า ในวันนี้เราได้ให้พี่น้องเกษตรกรจำนวน 100 กว่ารายมาแลกเปลี่ยนความรู้ กับพี่น้องเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จด้านการเกษตรแล้ว  ซึ่งหวังว่างานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field  Day) เพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ในครั้งนี้น่าจะมีส่วนที่ดีที่พี่น้องเกษตรกรได้มาพบปะกัน สิ่งสำคัญที่สุดเกษตรกรอยู่ในพื้นที่เดียวกันซึ่งเขาจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อกันได้เป็นอย่างดี


ภาพ/ข่าว  เดชา  มลามาตย์ / มนสิชา  คล้ายแก้ว

เพชรบูรณ์ - “เหมืองทองอัครา” มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลในเพชรบูรณ์ เพื่อร่วมฝ่าวิกฤติ COVID-19

เพื่อให้การบริหารจัดการในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19 ในจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์  และสำนักงานสาธารณสุขประจำจังหวัด จึงเร่งลงพื้นที่ตรวจเชิกรุก เตรียมความพร้อมของสถานที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ในการรักษา พร้อมทั้งให้กำลังใจบุคคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นนักรบด่านหน้าในการก้าวผ่านวิกฤกติโควิดครั้งนี้

ในโอกาสนี้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ขอเป็นส่วนหนึ่งในการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์มูลค่า 150,000 บาท ให้กับโรงพยาบาลวังโป่งและโรงพยาบาลชนแดน เพื่อให้นักรบด่านหน้าของเรามีอุปกรณ์เพียงพอในการต่อสู้กับโควิด โดยได้รับเกียรติจากนายสมศักดิ์ เกี้ยวเกิด นายอำเภอวังโป่ง นายนาวิน สังฆมาตร นายอำเภอชนแดน นายณัฐพัชร์ ภัทรพิศิษฐ์ ปลัดอาวุโสอำเภอวังโป่ง พร้อมด้วยคณะแพทย์พยาบาลของโรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งเป็นผู้รับมอบเมื่อวันที่  22 กรกฎาคมที่ผ่านมา #เพราะเราต้องรอดไปด้วยกัน


ภาพ/ข่าว  ยุทธ ศรีทองสุข / มนสิชา คล้ายแก้ว

เพชรบูรณ์ - นพค.16 นำกำลังพลผลิตน้ำดื่มสะอาด ออกแจกจ่ายพี่น้องประชาชนส่วนราชการ ที่เข้ามารับการฉีดวัคซีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นาวาอากาศเอก กรเอก ศรีสมบุญ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 16 สำนักงานพัฒนาภาค 1 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา  ซึ่ง หน่วย ได้จัดกำลังพลผลิตน้ำดื่มสะอาด 1,500 ขวด และ ออกแจกจ่าย ให้การสนับสนุน แก่บุคลากรทางการแพทย์ ส่วนราชการ  รวมทั้งพี่น้องประชาชน ที่เข้ามารับการฉีดวัคซีน ในเขตพื้นที่ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ อย่างต่อเนื่องตลอดมา ซึ่ง เป็นไปตามข้อห่วงใย ของผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาที่ให้ทหารเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชน ในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งนี้  


ภาพ/ข่าว  ราเมธ บงแก้ว / มนสิชา  คล้ายแก้ว

เพชรบูรณ์ - โครงการทหารพันธุ์ดี ค่ายพ่อขุนผาเมือง (กองพลทหารม้าที่ 1) มอบพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ จำนวน 13 ครัวเรือน

กองพลทหารม้าที่ 1 ได้จัดพิธีมอบพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ให้กับเครือข่ายเกษตรกร กำลังพลและทหารพันธุ์ดีที่มีความประสงค์ ขอรับพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ จำนวนทั้งสิ้น 13 ครัวเรือน ประกอบด้วยต้นพันธุ์สมุนไพรฟ้าทะลายโจร กบนา ไก่ดำ และหมูป่า

ตามที่ กองพลทหารม้าที่ 1 ได้ดำเนินโครงการทหารพันธุ์ดี ค่ายพ่อขุนผาเมือง (กองพลทหารม้าที่ 1) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อผลิตพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่มีสายพันธุ์ที่ดีตอบสนองต่อ ความต้องการของเกษตรกร ตลอดจนการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช ส่งเข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ จังหวัดพิษณุโลก สำหรับนำไปช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และพระราชทานแก่ราษฎรทั่วไป

ซึ่งในห้วงที่ผ่านมา การดำเนิน โครงการมีความก้าวหน้ามาโดยต่อเนื่อง มีพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่เพียงพอสำหรับแจกจ่าย ให้กับเครือข่ายเกษตรกรแนวร่วม โครงการทหารพันธุ์ดี กำลังพลและทหารพันธุ์ดีของหน่วย นำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ เพื่อสร้างแหล่งอาหาร สำหรับใช้บริโภคในครัวเรือน และนำไปต่อยอดในการสร้างอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ สร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวต่อไป 


ภาพ/ข่าว  ราเมธ บงแก้ว / มนสิชา คล้ายแก้ว

เพชรบูรณ์ - มณฑลทหารบกที่ 36 จัดกิจกรรมบริจาคโลหิต ดวงตา อวัยวะ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 89 พรรษา

ที่ มณฑลทหารบกที่ 36 จัดกำลังพลจิตอาสาร่วมบริจาคโลหิต ดวงตา อวัยวะ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 89 พรรษา 12 สิงหาคม 2564 ณ อาคารอเนกประสงค์ มณฑลทหารบกที่ 36 ร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์

โดยมีผู้ร่วมบริจาคโลหิต 104 ราย คิดเป็นปริมาณโลหิต 41600 cc , บริจาคดวงตา 4 ราย และบริจาคอวัยวะ 4 ราย

ในการนี้ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 36 พร้อมด้วยประธานสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขามณฑลทหารบกที่ 36  และคณะได้เดินทางตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้มาร่วมบริจาค


ภาพ/ข่าว  ราเมธ บงแก้ว / มนสิชา คล้ายแก้ว

เพชรบูรณ์ - มณฑลทหารบกที่ 36 นำกำลังพลหน่วยฝึกทหารใหม่บริจาคโลหิต เพื่อช่วยเหลือการขาดแคลนโลหิตสำรอง ห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019

ณ อาคารอเนกประสงค์ มณฑลทหารบกที่ 36 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 36 พร้อมคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกำลังพลหน่วยฝึกทหารใหม่ ที่มาร่วมบริจาคโลหิต ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการฝึกทหารใหม่และปัจจุบันอยู่ในห้วงการฝึกทหารใหม่เฉพาะหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือในการขาดแคลนโลหิตสำรอง ห้วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

โดยมี ครูฝึก และทหารใหม่ ผลัดที่ 1 / 64 ของหน่วยฝึกทหารใหม่ มณฑลทหารบกที่ 36 และหน่วยฝึกทหารใหม่กองพันทหารสื่อสารที่ 11 รวม 106 นาย ปริมาณโลหิต 42,400 cc

ในการนี้โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และเหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นหน่วยมารับบริจาคโลหิต


ภาพ/ข่าว  ราเมธ บงแก้ว / มนสิชา คล้ายแก้ว

เพชรบูรณ์ - ประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2564 รักษาแก่นแท้ของประเพณี พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์

6 ตุลาคม 2564 เวลา 09.39 น. ที่บริเวณท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยกรมการเมืองทั้ง 4 คือ เวียง วัง คลัง และนา ได้ร่วมอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ จากวัดไตรภูมิ แห่องค์พระล่องไปตามแม่น้ำป่าสัก ไปยังท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร เพื่อประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2564 โดยในปีนี้จังหวัดเพชรบูรณ์กำหนดจัดงานเพื่อ รักษาแก่นแท้ของประเพณีเท่านั้น งดการจัดกิจกรรมที่รวมคนเป็นจำนวนมากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 

โดยพิธีเริ่มจากนายกฤษณ์  คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์  ได้อัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาขึ้นประดิษฐานบนเรือ จากวัดไตรภูมิมายังแม่น้ำป่าสัก และแห่องค์พระพุทธมหาธรรมราชาล่องไปตามสายน้ำ ถึงท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร เพื่อประกอบพิธี อุ้มพระดำน้ำ ที่ปฏิบัติสืบทอดมานาน และเชื่อกันว่าเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์อันจะนำความสุข ความสงบร่มเย็นมาสู่เมือง ส่งผลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชผลการเกษตรอุดมสมบูรณ์ และทำให้ชาวเพชรบูรณ์มีความเจริญรุ่งเรือง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยกรมการเมืองทั้ง 4 คือ เวียง วัง คลัง และนา ได้ร่วมกันอุ้มพระดำน้ำจำนวน 6 ครั้ง ครั้งแรกและครั้งที่สองทำพิธีอุ้มในทิศใต้  ครั้งที่สามครั้งที่สี่ทำพิธีอุ้มในทิศเหนือ ครั้งที่ห้าทำพิธีอุ้มในทิศใต้ และครั้งที่หกทำพิธีอุ้มในทิศเหนือ  ซึ่งภายหลังจากเสร็จพิธี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ และผู้ร่วมประกอบพิธี ได้แจกจ่ายเครื่องบวงสรวง กระยาสารท ข้าวต้มลูกโยน กล้วย ที่ผ่านพิธีอันเป็นมงคล ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมพิธีนำกลับไปรับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง

ประเพณีอุ้มพระดำน้ำมีตำนานที่ถูกเล่าขานมานานเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ออกหาปลาในแม่น้ำป่าสัก แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น โดยกระแสน้ำในบริเวณวังมะขามแฟบ มีพรายน้ำผุดขึ้นมาทีละน้อยจนแลดูคล้ายน้ำเดือด จากนั้นกลายเป็นวังวนดูดเอาองค์พระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ทำให้ชาวประมงต้องลงไปอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ แต่ในปีถัดมาตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 วันประเพณีสารทไทย พระพุทธรูปดังกล่าวหายไป ชาวบ้านต่างพากันระงมหา สุดท้ายไปพบพระพุทธรูปกลางแม่น้ำป่าสัก บริเวณที่พบพระพุทธรูปองค์นี้ในครั้งแรกกำลังอยู่ในอาการดำผุดดำว่าย

 

เพชรบูรณ์ - มอบถุงยังชีพพระราชทานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ แก่ราษฎรที่ประสบอัคคีภัย

ที่บ้านเลขที่ 53 หมู่ 18 ต.ลาดแค อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เชิญถุงยังชีพพระราชทานในมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ ไปมอบให้กับนางอำพร จุ้ยวงษ์ ที่บ้านที่อยู่อาศัยประสบอัคคีภัยเสียหายทั้งหลัง โดยมี คณะกรรมการ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ นายอำเภอชนแดน หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม พร้อมมอบเงินและสิ่งของเพื่อเป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น

ทั้งนี้ นางอำพร จุ้ยวงษ์ อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 53 หมู่ 18 ต.ลาดแค อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ ได้ประสบเหตุเพลิงไหม้จากสาเหตุเตาถ่านหุงข้าว เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ทำให้บ้านพักที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลัง โดยในเบื้องต้น ภาคราชการได้เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top