Monday, 29 April 2024
เพชรบูรณ์

‘ลุงป้อม’ ชื่นชม การแก้ไขปัญหานำร่องที่ดินคืบหน้า ย้ำ ต้องเร่งช่วยเหลือ ให้ทั่วถึงทุกภาค

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีพร้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ดินทำกิน และการบริหารจัดการน้ำให้ทั่วถึงตามนโยบายของรัฐบาล

โดย พล.อ. ประวิตร และคณะ ได้เดินทางไปที่ว่าการ อ.หนองไผ่ มี ผวจ. เพชรบูรณ์ และ หน.ส่วนราชการต่างๆให้การต้อนรับ เพื่อรับทราบความคืบหน้าการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล จาก ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งในภาพรวมพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ สามารถบริหารจัดการพื้นที่จาก ป่าห้วยทินและป่าคลองตีบ ป่าลุ่มน้าป่าสักฝั่งซ้าย ป่าห้วยน้าโจนและป่าวังสาร ป่าวังโป่ง ชนแดนและป่าวังกำแพง ให้ชุมชนได้แล้วถึง 12,224 ไร่ ประชาชนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าร่วมกันได้เกือบ 1,215 ราย

ต่อจากนั้นได้กระทำพิธีมอบหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยภายในป่าสงวนแห่งชาติ ให้กับประชาชนที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำกินในชุมชน และมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ( ส.ป.ก. 4-01) กับประชาชน ป่าเขาโปลกหล่น ต.ทุ่งสมอ และ ต.แคมป์สน อ.เขาค้อ รวมจำนวน 231 คน พื้นที่ 261 แปลง รวม 1,722 ไร่

พล.อ. ประวิตร’ กล่าวชื่นชมและพอใจ การทำงานร่วมกันของ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และส่วนราชการต่างๆที่ร่วมกับขับเคลื่อนแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน จากความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน ตามนโยบายรัฐบาล

โดยย้ำขอให้ เร่งเข้าไปช่วยเหลือประชาชนอีกมาก ที่ยังไม่มีที่ดินทำกินให้ทั่วถึงทุกภาค โดยให้บริหารความสมดุลของการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ และให้ตามไปส่งเสริมพัฒนาอาชีพและสาธารณูปโภค เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน

ต่อจากนั้น บ่ายวันเดียวกัน ได้เดินทางไปติดตามความคืบหน้า การก่อสร้างระบบส่งน้ำ อ่างเก็บน้ำคลองลำกง ต.วังดี เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 5,000 ไร่

‘ลุงป้อม’ แก้ปัญหาน้ำ สานต่อโครงการตามแนวพระราชดำริฯ ป้องกันราษฎรขาดแคลนน้ำ อุปโภค-บริโภค-เกษตรกรรม

วันนี้ (12 มิ.ย.66) เวลา14.00 น. พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ ลงพื้นที่ปฏิบัติราชการต่อเนื่อง จ.เพชรบูรณ์ หลังจากในช่วงเช้าได้เป็นประธานมอบหนังสืออนุญาต เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในป่าสงวนแห่งชาติ ตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) โดยในช่วงบ่าย พล.อ. ประวิตร และคณะ ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการ เพื่อตรวจ ติดตามความคืบหน้า โครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำ อ่างเก็บน้ำคลองลำกุง ต.วังท่าดี อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ 

พล.อ.ประวิตร และคณะ ได้รับฟังการบรรยายสรุปและรับทราบผลการดำเนินงานจาก  นายสุชาติ กาญจนวิลัย ผอ.โครงการชลประทานเพชรบูรณ์ ซึ่งโครงการดังกล่าว เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2519 โดยความรับผิดชอบของกรมชลประทาน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรจากการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และการเกษตรกรรม ในขณะนั้น ต่อมาในปี 2547 - 2548 รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริ ว่า " ควรพิจารณาวางโครงการเก็บกักน้ำตอนบน ของลำน้ำสาขาแม่น้ำป่าสัก ไว้ให้มากเพื่อใช้ในด้านการเกษตร และป้องกันอุทกภัย เนื่องจากน้ำเหนือเขื่อนป่าสักมีจำนวนมาก โดยให้พิจารณาจัดเก็บกักให้เหมาะสม " ทั้งนี้กรมชลประทานได้น้อมนำมาปฏิบัติ ซึ่งโครงการดังกล่าว มีระบบส่งน้ำแบ่งเป็นประเภท ระบบท่อส่งน้ำและระบบคลองส่งน้ำ มีความยาวรวม 99 ก.ม. และหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะมีพื้นที่รับประโยชน์ที่เป็นพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝน จำนวน 50,000 ไร่ และในฤดูแล้ง จำนวน 22,000 ไร่ รองรับพื้นที่ 4 ตำบล ของ อ.หนองไผ่ จ. เพชรบูรณ์ ซึ่งการก่อสร้าง งป. ปี 62-70 ได้ดำเนินการไปแล้ว 78.93 % (1,250 ล้านบาท)

พล.อ.ประวิตร ได้มอบนโยบายจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกำชับ กรมชลประทาน ให้เร่งรัดการก่อสร้างระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองลำกง ให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามแผนงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ ป้องกันการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และเพื่อการเกษตรกรรม ตามแนวพระราชดำริฯ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจท้องถิ่น จ.เพชรบูรณ์ และ จังหวัดใกล้เคียงด้วย จากนั้นได้พบปะพี่น้องประชาชนที่มาให้การต้อนรับ อย่างเป็นกันเอง ก่อนเดินทางกลับ กทม.

‘อัคร’ ว่าที่ ส.ส.พปชร. เร่งพัฒนาการเกษตร-ผลักดันผลิตภัณฑ์ กระตุ้น ศก. ลั่น!! ขอทุ่มเทเพื่อชาวเพชรบูรณ์ เพราะที่นี่คือบ้าน

(16 มิ.ย. 66) นายอัคร ทองใจสด ว่าที่ ส.ส.เขต 6 จังหวัดเพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการทำหน้าที่ในช่วงนี้ว่า ตนยังลงพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อพูดคุยกับพี่น้องประชาชนถึงปัญหาในพื้นที่ ซึ่งพื้นที่อำเภอวิเชียรบุรี และอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องแก้ไขอีกหลายจุด โดยต้องเร่งสำรวจว่า มีจุดไหนบ้างที่ต้องประสานกับหน่วยงานให้เข้ามาดูแลซ่อมบำรุง โดยเฉพาะเรื่องของถนน ที่ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการสัญจร และไม่มีความปลอดภัย

นายอัคร กล่าวต่อว่า อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะในเรื่องการผลักดันผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีชื่อเสียงของวิเชียรบุรี และศรีเทพ นอกจากขึ้นชื่อเรื่องของไก่ย่างวิเชียรบุรี ที่เป็นที่รู้จักแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ชูเป็นสินค้าเด่น ทั้งผ้าไหมทอ ซึ่งจำเป็นต้องสร้างตลาด เชื่อมกับแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากเส้นทางวิเชียรบุรี และศรีเทพ เป็นเส้นทางก่อน เข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวเขาค้อ ต้องมีการประสานงานกับหน่วยงานจังหวัด เพื่อดำเนินการจัดสร้างศูนย์จัดจำหน่ายของทีระลึก เพื่อเป็นแหล่งศูนย์ร่วมให้ชาวบ้านมาวางจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดการสร้างรายได้ ให้กับประชาชนได้อีกทางหนึ่ง และรักษาวัฒนธรรมของท้องถิ่น

นายอัคร ยังกล่าวต่อว่า เรื่องน้ำก็เป็นปัญหาที่สำคัญที่ต้องประสานกับหน่วยงาน จัดสร้างแหล่งน้ำ อ่างเก็บน้ำ หรือฝาย เพื่อกั้นน้ำ ใช้ทางการเกษตร ประชากรส่วนใหญ่กว่า 50% ประกอบอาชีพทางการเกษตร เนื่องจากพื้นที่ของ อ.วิเชียรและศรีเทพ เป็นพื้นที่ลาดชัน ทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเรายังมีแนวทางที่จะส่งเสริมให้ภาคเกษตร เป็นเกษตรสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพด ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์การบริหารจัดการเพาะปลูก เพื่อให้สามารถคาดการณ์ปริมาณการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำ รวมถึงต้นทุนของการเพาะปลูกทั้งในเรื่อง การใช้ปุ๋ย เพื่อการวางเป้าหมายและผลลัพธ์ทางการเกษตรที่จะเกิดขึ้น ทำให้สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้อย่างแท้จริง

“ผมพร้อมทุ่มเททั้งแรงกาย และแรงใจเพื่อชาวเพชรบูรณ์อย่างเต็มที่ เพราะที่นี้คือบ้านของผม สำหรับผมการเมืองคือ ประชาชน การสร้างตัวตนหรือภาพลักษณ์คือ เรื่องรอง สิ่งแรกที่ต้องทำคือเข้าถึงให้จริง รู้จักจริงๆ ทำความเข้าใจปัญหา และนำสิ่งนั้นมาศึกษาเพื่อนำไปแก้ไขอย่างตรงจุด” นายอัคร กล่าว

‘พยาบาลสาว’ รุดช่วยคนเจ็บจากอุบัติเหตุรถล้ม ไม่แคร์แม้ชุดขาวจะเปื้อน สนใจแค่ ‘ช่วยชีวิตคน’

เมื่อวานนี้ (7 ส.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ‘ขวัญดาว ตรีศูนย์’ ได้โพสต์ข้อความว่า “ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนหัวใจก็ยังเป็นพยาบาล…ขณะที่ขับรถอยู่ก็มองเห็นไกล ๆ ว่ามีคนขับมอเตอร์ไซด์ข้ามเลน ขับตัดหน้ารถบรรทุก แบบเฉียดฉิว จากนั้นก็ตกลงไปในร่องหลุมลึกข้างทาง คนขับน่าจะวูบจากโรคประจำตัว…ใด ๆ นั้นคือคนขับรถผ่านไปมาบริเวณนั้นไม่มีใครมองเห็นผู้บาดเจ็บเลย…รถมอไซด์และคนเจ็บตกลงไปในหลุมซะลึกทำให้ขาซ้ายผิดรูปมีบาดแผลที่ศีรษะ ดีใจที่ได้ช่วยเหลือนะคะ ขอบคุณทีมร่มโพธิ์คะ” 

พร้อมกันนี้ได้โพสต์ภาพของตนเอง ในขณะที่กำลังให้การช่วยเหลือหญิงรายหนึ่ง ที่ประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เสียหลักตกข้างทาง จนทำให้ได้รับบาดเจ็บ

เวลาต่อมาทราบว่า ผู้ที่กำลังให้การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บชื่อ น.ส.ขวัญดาว ตรีศูนย์ เป็นพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งกำลังจะเดินทางไปทำธุระส่วนตัว ได้ผ่านมาเจอเหตุการณ์ และได้ให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ หลังจากภาพและข้อความดังกล่าว ถูกโพสต์ออกไปได้ไม่นาน ก็ได้มีผู้เข้ามาแสดงความชื่นชมในการกระทำดังกล่าวเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เข้ามาแสดงความชื่นชมว่า “I see เก่งจัง ชื่นชมครับ ความเป็นพยาบาล เป็น 24 ชั่วโมง ตลอดอายุไข”

ทั้งนี้ น.ส.ขวัญดาว เล่าว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 14.00 น. ขณะที่ตนกำลังขับรถเพื่อที่จะไปทำธุระส่วนตัวที่ ต.น้ำร้อน อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ โดยขับรถไปเพียงคนเดียว ขณะนั้นได้ขับรถตามหลังรถบรรทุกมาห่าง ๆ และได้สังเกตเห็นคนขี่รถจักรยานยนต์ขับสวนทาง โดยรถมีลักษณะส่าย ๆ จากนั้นก็ได้ตัดหน้ารถบรรทุก และพุ่งลงไปข้างทาง ตกลงไปในท้องร่องข้างถนน จึงได้จอดรถห่างออกไปประมาณ 200 เมตร จากนั้นก็ได้วิ่งมาดูก็พบว่ามีรถจักรยานยนต์ตกอยู่ในท้องร่อง และมีผู้บาดเจ็บเป็นผู้หญิงนอนสลบซุกเข้าไปในท่อ และมีเลือดออกบริเวณศรีษะ ตนจึงรีบวิ่งกลับไปที่รถเพื่อหาผ้าสะอาดมาทำการห้ามเลือด และทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

‘ยูเนสโก’ ประกาศขึ้นทะเบียน ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทยแล้ว

ถือเป็นข่าวที่คนไทย โดยเฉพาะชาวเพชรบูรณ์ได้ร่วมกันแสดงความยินดี หลังที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 10-25 ก.ย.นี้ ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประกาศขึ้นทะเบียน ‘เมืองโบราณศรีเทพ’ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย

ทั้งนี้ ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2447 ประมาณ 118 ปีที่ผ่านมา สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงค้นพบเมืองโบราณศรีเทพ ที่ถูกทิ้งร้างอยู่กลางป่า ซึ่งเดิมชาวบ้านเรียกว่า เมืองอภัยสาลี ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พบเมืองโบราณขนาดใหญ่ใกล้กับเมืองวิเชียรบุรี ซึ่งเมืองวิเชียรบุรีนั้น มีชื่อเดิมว่า เมืองท่าโรง และเมืองศรีเทพจึงทรงมีพระวินิจฉัยว่า ชื่อเมืองโบราณแห่งนี้น่าจะเป็นต้นเค้าของการเรียกชื่อเดิมของเมืองวิเชียรบุรีว่า ‘เมืองศรีเทพ’

ต่อมากรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ และพัฒนาจนกระทั่ง จัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ.2527

ตลอดเวลาดังกล่าวได้มีการศึกษาวิจัย โดยนักวิชาการทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญของเมืองโบราณแห่งนี้ จึงมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพอย่างต่อเนื่อง

สำหรับเส้นทางสู่การขึ้นทะเบียน เมืองโบราณศรีเทพ และแหล่งต่อเนื่องนำเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลก จำนวน 3 แหล่ง ได้แก่…

>> เมืองโบราณศรีเทพ
>> โบราณสถานเขาคลังนอก
>> โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์

ภายใต้เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ด้วยเกณฑ์ข้อที่ 2 คือความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่งหรือในพื้นที่ในวัฒนธรรมใดๆ ของโลกผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยีอนุสรณ์ศิลป์ ขณะที่การวางแผนผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์และเกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นพยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยมหรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณีวัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ หรือสูญหายไปแล้ว

กระทั่งนำไปสู่การเสนอเมืองโบราณศรีเทพ เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม (Tentative List) เมื่อพ.ศ.2562 และจัดทำเอกสารนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพขึ้นบัญชีแหล่งมรดกโลกฉบับสมบูรณ์แล้วเสร็จ นำส่งยังศูนย์มรดกโลกเมื่อ 28 ก.พ.2565

ต่อมาสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจประเมินเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 12-17 ก.ย.2565

เมื่อผ่านการตรวจประเมินของผู้เชี่ยวชาญแล้ว เมืองโบราณศรีเทพจึงได้ถูกบรรจุเข้าในวาระการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ระหว่างวันที่ 10-25 ก.ย.นี้ ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย

อย่างไรก็ตาม ภารกิจของรัฐบาล ยังไม่สิ้นสุดเพียงการเฉลิมฉลองการประกาศให้เมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกเท่านั้น กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้จัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ ศรีเทพ เพื่อรองรับการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองโบราณศรีเทพภายหลังจากการได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก

โดยแผนดังกล่าวได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ และการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในพื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่อง การอนุรักษ์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม แผนบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว การจัดทำแผนชุมชนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และ การจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในด้านการอนุรักษ์ ทั้งเรื่องการอนุรักษ์ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในด้านการอนุรักษ์
30 ปีมรดกโลกแห่งที่ 4 ของไทย...

สำหรับแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทย ก่อนหน้านี้เคยมีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกไว้ 3 แหล่ง ได้แก่…

1. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2534
2. อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และ กำแพงเพชร เป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2534
3. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก เมื่อปี 2535

ดังนั้นการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมืองโบราณศรีเทพ แห่งที่ 4 จึงห่างกันนานถึง 30 ปี

ไม่เพียงเท่านี้ ปัจจุบันประเทศไทย ยังได้นำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อขึ้นบัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลก (Tentative List) ซึ่งคาดว่าจะเข้าที่ประชุมมรดกโลกของยูเนสโกในปี 2567 อีกด้วย อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี

‘เมืองโบราณศรีเทพ’ แน่น!! นทท.ปักหลักตั้งแต่ประตูยังไม่เปิด แห่ชมความยิ่งใหญ่อลังการสมเป็น ‘มรดกโลก’ ทางวัฒนธรรม

(23 ก.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการท่องเที่ยวภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และเขาคลังนอก แหล่งโบราณคดีสำคัญของเมืองโบราณศรีเทพมรดกโลก อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นไปด้วยความคึกคัก โดยมีนักท่องเที่ยว รวมทั้งประชาชนชาวเพชรบูรณ์พาครอบครัว แห่ไปเที่ยวชมและสัมผัสกับโบราณสถานที่มีอารยธรรมเก่าแก่กว่า 1,000 ปี กันอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะรถรางนักท่องเที่ยวถึงกับต่อแถวรอคิวใช้บริการยาว นอกจากนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต่างงัดมือถือขึ้นมาเพื่อถ่ายรูปเซลฟี่คู่โบราณสถาน เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่ทางยูเนสโกประกาศให้เมืองศรีเทพเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

นายวีระวัฒน์ วัฒนวงศ์พฤกษ์ นายอำเภอศรีเทพ กล่าวว่า เมื่อเช้านี้หลังจากได้รับรายงานว่านักท่องเที่ยวพากันแห่มาเที่ยวชมโบราณสถานที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพหนาแน่น โดยเฉพาะมีรถนักท่องเที่ยวถึงกับไปจอดรอบริเวณทางเข้าก่อนเวลา 08.00 น. หรือก่อนอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพจะเปิดให้เข้าชม จึงเดินทางไปดูบรรยากาศดังกล่าว พบนักท่องเที่ยวมากันค่อนข้างหนาแน่น

“ในขณะที่ทางอุทยานเปิดให้เข้าชมฟรี โดยนักท่องเที่ยวดูให้ความสนใจเรื่องราวของเมืองโบราณศรีเทพมาก โดยเฉพาะโบราณสถานหลักๆ อาทิ ปรางค์ศรีเทพ, ปรางค์สองพี่น้อง, เขาคลังใน และรูปปั้นคนแคระที่บริเวณส่วนฐาน ซึ่งสังเกตว่านักท่องเที่ยวจะพากันถ่ายรูปเซลฟี่กันถ้วนหน้า”

นายวีระวัฒน์กล่าวว่า ส่วนที่เขาคลังนอกมีท่องเที่ยวหนาตาเช่นเดียวกัน โดยบรรยากาศไม่แตกต่างมากนัก แต่นักท่องเที่ยวยังไม่มากเท่าภายในอุทยานฯ ศรีเทพ อย่างไรก็ตามคาดว่าช่วงบ่ายนักท่องเที่ยวน่าจะเข้าไปชมเขาคลังนอกกันมากขึ้น

ในขณะที่นักท่องเที่ยวสาวจาก กทม.รายหนึ่ง กล่าวว่า เพราะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ จึงวางโปรแกรมพาครอบครัวมาเที่ยวที่ จ.เพชรบูรณ์ โดยเฉพาะตั้งใจมาชื่นชมเมืองโบราณศรีเทพมรดกโลก โดยเข้าชมโบราณสถานของเมืองศรีเทพ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพก่อน จากนั้นจะเดินทางไปชมเขาคลังนอก แล้วค่อยเดินทางไปที่เขาค้อและพักค้างคืน

“ยอมรับว่าโบราณสถานเมืองศรีเทพน่าตื่นตาตื่นใจและยิ่งใหญ่สมกับเป็นมรดกโลกมาก ในฐานะคนไทย ภาคภูมิใจที่ประเทศเรามีแหล่งโบราณคดีที่มีอารยธรรมเก่าแก่กว่า 1,000 ปี โดยเฉพาะได้รับการยอมรับจากสังคมโลกอีกด้วย” นักท่องเที่ยวรายนี้กล่าว

‘บิ๊กป้อม’ นำทีม พปชร.สัญจร เยือนถิ่นมะขามหวาน พบปะปชช. เผย ผอมลง เพราะงดข้าวเย็น แต่ออกกำลังกาย จึงดูสดใสขึ้น

(7 ม.ค.67) หอประชุมเทศบาลเมืองวิเชียรบุรี (หลังใหม่) บริเวณศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกิจกรรมพรรคพลังประชารัฐสัญจร ครั้งที่1/2567 โดยมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรค น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รองหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และ สส.เพชรบูรณ์ทั้ง 6 เขต  และ สส.พรรคพลังประชารัฐ ร่วมกิจกรรม

โดย พล.อ.ประวิตร ได้ทักทายสื่อมวลชนว่า เป็นยังไง พร้อมระบุว่า ตนเองสบายดี ผู้สื่อข่าวจึงถามว่า ไม่ได้เจอกันนาน แต่ยังดูสดใสแข็งแรง ผอมลงใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ตอบกลับว่า อดข้าว งดข้าวเย็น เมื่อถามว่า สีหน้าดูสดใสขึ้นมาก พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็สบายดี เมื่อถามอีกว่า สื่อคิดถึง ไม่ได้เจอนาน พล.อ.ประวิตร ได้ตอบกลับว่า “คิดถึง”

ผู้สื่อข่าวถามถึงการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ประวิตร หลังจากที่มีหนี้สินปรากฎ 757.26 บาท คืออะไร เหตุใดไม่ชำระหนี้ แต่พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่รู้ ต้องไปถามคนทำ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน

จากนั้น พล.อ.ประวิตร ได้ขึ้นรถยนต์ ก่อนที่จะเปิดประตูรถ มาคุยกับผู้สื่อข่าวอีกครั้ง โดยยอมรับว่าสุขภาพดีขึ้น ผอมลง เพราะว่าอดข้าว แต่ไม่ได้ทำ IF อดข้าวเย็น และข้าวเช้าอย่างเดียว มีออกกำลังกายนิดหน่อย ทำหน้าตาดูสดใสขึ้น

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตรมีน้ำหนักลดลง 14 กิโลกรัม หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจเลือกตั้งที่ผ่านมา

เพชรบูรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่เมืองโบราณศรีเทพติดตามการเตรียมงานพิธีเปิด และรับมอบใบประกาศการขึ้นทะเบียนมรดกโลก

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567  ที่โบราณสถานเขาคลังนอก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ  อำเภอศรีเทพ  จังหวัดเพชรบูรณ์   พลตำรวจเอก พัชรวาท  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย  นายจตุพร  บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และ ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง  ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตาม ความพร้อมในการเตรียมการจัดงานพิธีเปิดและพิธีรับมอบใบประกาศการขึ้นทะเบียนมรดกโลก เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง  

ทั้งนี้ เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานสมัยทวารวดี ที่เกี่ยวข้อง ได้รับการรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2566  ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ที่ขยายออกมา ณ กรุงริยาด  ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย นับเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแหล่งที่ 4  และเป็นแหล่งมรดกโลกแหล่งที่  7 ของประเทศไทย

เพชรบูรณ์ เตรียมจัดงานเดินแบบผ้าไทย “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน เหล่าไทเพชรบูรณ์” ในงานมะขามหวาน นครบาลเพชรบูรณ์ ประจำปี 2567

นายวัชระ ธรรมปัญญาสกุล พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่าสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกับ ชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเพชรบูรณ์ จัดกิจกรรมเดินแบบผ้าไทยสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน เหล่าไทเพชรบูรณ์ ในงานมะขามหวานนครบาลเพชรบูรณ์ ประจำปี 2567  ซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รณรงค์และเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าทอ ผ้าพื้นถิ่น ให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทยแก่ประชาชน และสนับสนุนการสร้างงานสร้างอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้กับกลุ่มทอผ้าในจังหวัดเพชรบูรณ์ 

นอกจากนี้เป็นการขับเคลื่อนประชาสัมพันธ์ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา น้อมสำนึกในพรมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงพระราชทานลายผ้า “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ””ผ้าบาติกลายพระราชทาน” และ “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา”เพื่อให้ช่างทอผ้าได้นำไปเพิ่มมูลค่าผ้าทอ ซึ่งจังหวัดเพชรบูรณ์ มีนโยบายในการส่งเสริมการใช้และสวมใส่ผ้าไทยตามมติคณะรัฐมนตรีโดยให้ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน สวมใส่ผ้าพื้นถิ่นประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ทุกวัน รวมทั้งหารายได้เพื่อมอบให้กับชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเพชรบูรณ์สำหรับนำไปใช้ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ช่วยเหลือผู้ยากไร้ 

พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับในปี 2567 ได้กำหนดการจัดกิจกรรมเดินแบบผ้าไทยสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน เหล่าไทเพชรบูรณ์ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ณ บริเวณเวทีกลางการจัดงานฯ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป 

สำหรับ ประเภทชุดการเดินแบบจำนวน 3 ชุด ได้แก่ ชุดราชธานีแห่งอารยธรรม ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก เพชรบูรณ์สร้างสรรค์ มหัศจรรย์ผ้าไทย หลากหลายคุณค่า ภูมิปัญญาผ้าพื้นเมือง และ ชุดสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน 
เงื่อนไขการสมัครดังนี้

1. เดินเดี่ยว คนละไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท หรือตามกำลังศรัทธา
2. เดินคู่ ๆ ละ ไม่ตำกว่า 3,000 บาท หรือตามกำลังศรัทธา
3. เด็กคนละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท หรือตามกำลังศรัทธา  
4. กลุ่ม/เซท (ไม่เกิน 5 คน) ไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท หรือตามกำลังศรัทธาผู้สนใจสนับสนุนกิจกรรมร่วมเดินแบบผ้าไทยสามารถสมัครได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบูรณ์ ชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเพชรบูรณ์ ชมรมแม่บ้านมหาดไทยอำเภอทุกอำเภอ และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทุกอำเภอ

ทั้งนี้เบื้องต้นนายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายชนก มากพันธุ์ นายสืบพงษ์ นิ่มพูลสวัสดิ์ นางพัชรี ศาลาศิลป์ นายจิรวัตร์  มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์และหัวหน้าส่วนราชการบางส่วน ได้ตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมเดินแบบผ้าไทยสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน เหล่าไทเพชรบูรณ์ ในงานมะขามหวานนครบาลเพชรบูรณ์ ประจำปี 2567 เรียบร้อยแล้วและคาดว่าจะมีนักธุรกิจ เซเลปของจังหวัดตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อนำรายได้เพื่อมอบให้กับชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเพชรบูรณ์สำหรับนำไปใช้ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ช่วยเหลือผู้ยากไร้ต่อไป 

เพชรบูรณ์ - กองพลทหารม้าที่ 1 กระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล เนื่องในวันกองทัพไทย ประจำปี 2567

18 มกราคม 2567 เวลา 15.30 น. พลตรี ประพัฒน์ พบสุวรรณ ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 1 ค่ายพ่อขุนผาเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล เนื่องในวันกองทัพไทย ประจำปี 2567 ของหน่วยกองพลทหารม้าที่ 1 ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีนายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์  พล.ต.วัชรพงศ์ แก้วแจ้ง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 36 พล.ต.ต.สารนัย คงเมือง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบูรณ์ดร.ประทิน นาคสำราญ นายก อบต.สะเดียง หัวหน้าส่วนราชการ  ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ บริเวณหน้าแหล่งสมาคมนายทหารค่ายพ่อขุนผาเมือง กองพลทหารม้าที่ 1 ค่ายพ่อขุนผาเมือง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์

โดยภายในงานมีการจัดพิธีสงฆ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 1 นำกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล และอ่านสาส์นของผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยมีกำลังพลของกองพลทหารม้าที่ 1 ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 8 กองพัน เข้าร่วมพิธีจากนั้นได้จัดขบวนสวนสนามแสดงแสนยานุภาพทางทหาร โดยมีครอบครัวและญาติของทหารเข้าร่วมชมการแสดงและการสวนสนามด้วย

สำหรับความเป็นมาวันกองทัพไทยนั้น ในปีพุทธศักราช 2502 กะทรวงกลาโหม ได้กำหนดวันที่ 8 เมษายนของทุกปี เป็นวันกองทัพไทยต่อมา พ.ศ. 2522 สมัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เห็นว่าวันกองทัพไทยควรเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ จึงได้กำหนดวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถี ได้รับชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา เป็นวันกองทัพไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี ต่อมาได้มีการคำนวนวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง และกระทรวงกลาโหมเห็นสมควรเปลี่ยนแปลง วันกองทัพไทย จาก 25 มกราคม เป็น 18 มกราคม ของทุกปีและอนุมัติให้เป็นวันหยุดราชการของกระทรวงกลาโหม 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top