Saturday, 27 April 2024
พิจิตร

พิจิตร - พบผู้ติดเชื้อโควิดเป็นชายอายุ 31 ปี 1 ราย มีประวัติเที่ยวผับย่านทองหล่อ

วันที่ 9 เม.ย. 2564 นายรังสรรค์  ตันเจริญ  ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และ นายกมล กัญญาประสิทธิ์. นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าวว่าในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งปลอดจากเชื้อไวรัสโควิด19  มาเป็นเวลาถึง 93 วัน แต่วันนี้ได้พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19  เป็นชายอายุ 31 ปี  1 ราย จากการสอบประวัติมีอาชีพเป็นพนักงานขายทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเปิดเผยไทม์ไลน์ 

ว่าเมื่อวันที่ 2 เม.ย 64 ไปหาเพื่อนที่คอนโด จากนั้นไปเที่ยวผับย่านทองหล่อกับเพื่อน  ออกจากผับก็ไปพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งเพียงคนเดียว  

วันที่ 4 เม.ย. 64  เดินทางกลับมาบ้านที่พิจิตรโดยรถยนต์ส่วนตัว  ซึ่งบ้านอยู่ ต.ในเมือง อ.เมืองพิจิตร นอนที่บ้านกับภรรยาและลูกสาว   

วันที่ 5 เม.ย. 64 อยู่บ้านกับภรรยาและลูก   พบกับญาติพี่น้องและลูกจ้างที่ร้านเสริมสวยของแม่ จำนวน 3 คน  จากนั้นเวลา 15.00 น. ลูกสาวไม่สบายจึงขับรถส่วนตัวพาลูกไปหาหมอที่ รพ.ชัยอรุณ     ตนเองจึงนอนพักกับแม่และลูกที่โรงพยาบาล

วันที่ 6 เม.ย. 64    ก็ขับรถไปพบลูกค้าที่อำเภอเขาค้อ และ ที่ภูทับเบิก ร่วมกับเพื่อนพนักงานในเครือบริษัท 9 คน และได้มีการสังสรรค์ร่วมกัน      

วันที่ 7 เม.ย. 64 เวลา 08.00 น. รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวแต่ก็ยังพอขับรถไหว   จึงไปติดต่องานกับลูกค้าซึ่งเป็นไร่กระหล่ำปลีที่ภูทับเบิก  และแวะกินขนมจีนที่อำเภอหล่มสัก 

จนกระทั่งเวลา 15.00 น. ก็ทราบข่าวว่าเพื่อนป่วยและไปตรวจหาเชื้อโควิด 19 ที่ รพ.เวชธานี  กทม.  ตนเองจึงเริ่มกังวลใจเมื่อกลับมาบ้านที่พิจิตรจึงจะไปตรวจที่ รพ.พิจิตร แต่ก็เปลี่ยนใจขอไปที่ รพ.ตะพานหิน   ซึ่งก่อนที่จะไป รพ.ตะพานหิน แวะรับประทานก๋วยจั๋บหน้า รพ.พิจิตร  ก็ได้รับทราบข่าวว่าเพื่อนที่ไปตรวจพบว่าผลเป็นบวก ติดเชื้อโควิด 19  ตนจึงรีบไปขอรับการตรวจที่ รพ.ตะพานหิน  พบบุคลากรทางการแพทย์ 3 คน และรู้ว่าผลตรวจพบเชื้อโควิด 19 เมื่อ เวลา 18.00 น. ของวันที่  8 เม.ย. 64 จึงรีบบอกกับแม่และคนในครอบครัว จำนวน 9 คน ทั้งหมดจึงได้ขอเข้ารับการตรวจหาเชื้อที่ รพ.พิจิตร  ก็ปรากฏว่า ทุกคนปลอดภัย ผลออกมาเป็นลบ นั่นหมายความถึงไม่มีเชื้อโควิด 19 ในร่างกายแต่อย่างใด ส่วนบุคคลอื่น ๆ ตามไทม์ไลน์ที่ปรากฏรวมแล้ว 36 คน ก็ต้องรอลุ้นผลตรวจว่าจะออกมาเป็นเช่นไร

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าว นายรังสรรค์  ตันเจริญ  ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และ นายกมล กัญญาประสิทธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ขอให้ชาวพิจิตรอย่าได้ตื่นตระหนกตกใจ  ขอให้ใช้ชีวิตและทำมาค้าขายตามปกติ แต่ขอให้การ์ดอย่าตก  สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ต้องพบกับผู้คนแปลกหน้าหรือไปในที่  ที่มีผู้คนเยอะ ๆ รวมถึงขอให้ปฏิบัติตามที่แพทย์และ อสม. แนะนำ ล่าสุดข้อมูลผู้ที่มาจากต่างจังหวัดลงทะเบียนแนแอพพลิเคชั่น “ปกป้องพิจิตร” มาจากพื้นที่ควบคุม  9 จังหวัด 1,553 คน พื้นที่เฝ้าระวังสูง 14 จังหวัด 226 คน พื้นที่เฝ้าระวังจาก 53 จังหวัด 180 คน รวม 1,999 คน  ซึ่งบุคคลทั้งหมดนี้อยู่ในการเฝ้าระวังของ อสม. ด้วยแล้ว


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

 

พิจิตร - ส.ส.พรชัย พปชร.นำชุด PPE และอุปกรณ์มอบให้ รพ.พิจิตร ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่สู้โควิด-19

วันที่ 26 เม.ย. 64  นายพรชัย  อินทร์สุข  ส.ส.พปชร.พิจิตร เขต 1 ได้นำชุด PPE จำนวน 100 ชุด  ชุดกราวน์ 60 ชุด  เจลล้างมือ 1 ลัง  ไปมอบให้กับนายรังสรรค์  ตันเจริญ  ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เพื่อมอบส่งต่อให้กับ นายสุรชัย แก้วหิรัญ  ผอ.รพ.พิจิตร โดยทำพิธีมอบที่โรงพยาบาลพิจิตร เพื่อให้นำอุปกรณ์เหล่านี้มอบให้บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลพิจิตร เพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ในระลอก 3 เดือนเมษายน 64  พบว่าขณะนี้จังหวัดพิจิตร มีผู้ป่วย มีผู้ติดเชื้อโควิดแล้วรวมจำนวน 41 ราย นอกจากนี้ก็ยังมีผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เนื่องจากมีพฤติกรรมใกล้ชิดกับผู้ป่วยอีกจำนวนมากเกือบ 300 คน  ที่ต้องเข้าสู่ระบบการกักกันตัว 14 วันเพื่อเฝ้าดูอาการ

นายพรชัย  อินทร์สุข  ส.ส.พปชร.พิจิตร เขต 1 เปิดเผยว่า ในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎรมองเห็นปัญหาและการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ของ รพ.พิจิตร แล้วรู้สึกชื่นชมในความเสียสละ รวมถึงห่วงใยบุคลากรทางการแพทย์จำนวนเกือบ 40 คน ที่ต้องถูกกักตัวเนื่องจากตกเป็นกลุ่มเสี่ยง เหตุเพราะให้บริการผู้ป่วยที่บอกไทม์ไลน์ของตนเองไม่ชัดเจนและต่อมาจึงรู้ว่าติดเชื้อโควิด 19 โดย ส.ส.พรชัย กล่าวทิ้งท้ายว่าขอให้เชื่อมั่นนโยบายของรัฐบาลที่พร้อมจะดูแลบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนชาวพิจิตรได้อย่างทั่วถึงแน่นอน


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

พิจิตร – ผู้ว่าฯ จับมือนายกอบจ.พิจิตร เปิดรพ.สนามพร้อมปฏิบัติการเชิงรุก ปิด 2 หมู่บ้าน ตรวจหาเชื้อกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง400 คน

ผู้ว่าฯ นายก อบจ.พิจิตร  สสจ.พิจิตร. ผนึกกำลังเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งแรกของพิจิตร รองรับ 44 เตียง ห้องแอร์อุปกรณ์ครบครัน รองรับแผนปฏิบัติการเชิงรุก ปิด 2 หมู่บ้าน ลุยตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากชาวบ้านกลุ่มเสี่ยงกว่า 400 คน  ที่เมื่อช่วงสงกรานต์มีญาติพี่น้องกลับมาบ้านแล้วเอาเชื้อโควิดมาฝาก ทำเอาป่วยกันทั้งหมู่บ้าน คาดถ้าลุยตรวจยกหมู่บ้าน คาดการณ์อาจเจอผู้ติดเชื้อเพิ่ม จึงต้องเตรียมพร้อมด้วยการเปิดโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ล่าสุดเมื่อเวลา 19.00 น.ของวันนี้ได้มีการส่งผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวจำนวน 4 รายเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามแห่งนี้เป็นชุดแรกแล้ว

วันที่  27  เม.ย. 64 เวลา 17.00 น. นายรังสรรค์  ตันเจริญ  ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้เป็นประธานในพิธีเปิด “ศูนย์ปกป้องชาวพิจิตร” หรือโรงพยาบาลสนาม ที่อุทยานบัว บึงสีไฟ โดยมี พ.ต.อ.กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ , นายก อบจ.พิจิตร และ นายแพทย์กมล กัญญาประสิทธิ์ , นายแพทย์ สสจ.พิจิตร พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ของ อบจ.พิจิตร  ร่วมในพิธีเปิดแบบเรียบง่าย สำหรับโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ เป็นสถานที่อยู่ในความดูแลของ อบจ.พิจิตร ซึ่งการตั้ง “ศูนย์ปกป้องชาวพิจิตร” หรือโรงพยาบาลสนาม ในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณและการดำเนินการต่าง ๆ แบบครบวงจรจาก อบจ.พิจิตร ซึ่งโรงพยาบาลสนามแห่งนี้มีอาคาร 3 หลัง รองรับผู้ป่วยหรือผู้ที่จะมาใช้บริการได้ 44 เตียง ล่าสุดเมื่อเวลา 19.00 น.ของวันนี้ได้มีการส่งผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวจำนวน 4 รายเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามแห่งนี้เป็นชุดแรกแล้ว

สำหรับอาคารโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ แบ่งเป็นอาคารผู้ป่วย ชาย-หญิง และอาคารศูนย์ปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะใช้เฝ้าดูอาการผ่านกล้อง CCTV ทั้ง 33 ตัว และมีศูนย์สั่งการในอาคารที่แยกเป็นสัดส่วน ติดแอร์ มีห้องน้ำเป็นส่วนตัวทุกอาคาร มีทางเข้า-ออก เพียงทางเดียว ห่างไกลจากชุมชนจึงเหมาะสมในการใช้เป็นโรงพยาบาลสนามดังกล่าว

นายรังสรรค์  ตันเจริญ  ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ให้สัมาษณ์กับผู้สื่อข่าวภายหลังพิธีเปิด เปิดเผยว่า จังหวัดพิจิตรพบผู้ป่วยโควิด-19 ในระลอก 3 เดือนเมษายน 64 วันนี้พบอีก 8 ราย สรุปยอดรวม 50 ราย ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้นอนพักรักษาตัวอยู่ในห้องความดันลบในโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ขณะนี้จะเต็มจนล้นแล้ว

ดังนั้นจึงต้องเปิดโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ที่มีอาการดีขึ้น (กลุ่มสีเขียว) หรือ ผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ ไม่ใช่ผู้สูงอายุ  ไม่ใช่เด็ก ไม่ใช่ผู้ตั้งท้อง และเป็นผู้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็จะถูกนำตัวให้มาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ดังกล่าว ในส่วนของแผนปฏิบัติการเชิงรุกในการค้นหาผู้ติดเชื้อ ขณะนี้ได้สั่งการให้นายอำเภอสามง่าม และ สาธารณสุขอำเภอสามง่าม ปิด 2 หมู่บ้าน คือ หมุ่ 4 บ้านมาบกะเปา และ หมู่ 13 บ้านทรายคลอง  ต.หนองโสน  อ.สามง่าม  เพื่อปฏิบัติการปูพรมในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 กับราษฎรทั้ง 2 หมู่บ้าน ที่มีประมาณ 400 คน ที่เป็นผู้มีความเสี่ยงสูง เหตุเพราะมีการสัมผัสกับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดที่เป็นญาติพี่น้องหรือลูกหลานที่เดินทางกลับบ้านมาเมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์ ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่า หากมีการปฏิบัติการปูพรมในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 คาดว่าอาจพบเจอผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุให้ต้องเร่งเปิดโรงพยาบาลสนามเพื่อเตรียมความพร้อมดังกล่าว


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์   พิจิตร

พิจิตร - นายก อบต.โพธิ์ประทับช้าง ปลุกพลังชาวบ้านฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อป้องกันโควิด

วันที่ 31 พ.ค. 2564 นายปิติพล  ปานทิม  นายก อบต.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร และ เรืออากาศตรี บุญเกิด มีทวี  รองนายก อบต.โพธิ์ประทับช้าง รวมถึง นายปุณยวัจน์ เหลืองวิจิตร รองนายก อบจ.พิจิตร ได้ร่วมกันทำกิจกรรมในการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อไวรัสโควิด โดยมีประชาชน กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และ สมาชิก อบต. รวมเกือบ 100 คน ที่นำเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ใช้ฉีดพ่นไม้ผลหรือสวนส้มโอมาดัดแปลงเป็นเครื่องฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อไวรัสโวิด รวมถึง อบจ.พิจิตร ก็นำเครื่องฉีดพ่นที่เป็นนวัตกรรมมาร่วมดำเนินการในครั้งนี้ด้วย  

ซึ่งการรณรงค์ในครั้งนี้เนื่องจาก ต.โพธิ์ประทับช้าง เป็นพื้นที่ตั้งของวัดโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งเป็นโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว อบต.โพธิ์ประทับช้างจึงได้ดำเนินการดังกล่าว สำหรับพื้นที่ ต.โพธิ์ประทับช้าง ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม และทำสวนปลูกส้มโอ โดยที่ผ่านมาพื้นที่แห่งนี้ไม่เคยพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเลยแม้แต่รายเดียว สาเหตุเนื่องจากชาวบ้านให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง จึงทำให้รอดพ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดดังกล่าว

สำหรับสถานการณ์ของจังหวัดพิจิตรประจำวันที่ 31 พ.ค. 64 วันนี้ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ติดต่อกันมาเป็นเวลา 2 วันแล้ว ผู้ป่วยสะสมระลอก 3 เดือนเมษายน 64 จนถึงวันนี้มีผู้ป้วยสะสม 144 รายรักษาหายแล้ว 95 ราย  ผู้ป่วยยังรักษาตัวอยู่ 47 ราย มีเสียชีวิต 2 ราย 


ภา/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

พิจิตร – ฝนทิ้งช่วง นาข้าวนับหมื่นไร่จ่อเข้าขั้นวิกฤต ชาวนาวิงวอนชลประทานหาทางช่วยด่วน

ชาวนาพิจิตรถามหาคนพูดที่บอกว่าปีนี้จะมีฝนและมีปริมาณน้ำมากสุดในรอบ30 ปีชาวนาเชื่อกระแสข่าวแห่ลงมือทำนา ไถหว่านปลูกข้าว แต่ถึงวันนี้มีประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแต่ยังไม่มีฝนตก ล่าสุดพบนาข้าวในพื้นที่ส่งน้ำชลประทานพิจิตร นาข้าวนับหมื่นไร่กำลังจ่อเข้าขั้นวิกฤต ชาวนารวมตัวเรียกร้องวิงวอนชลประทานหาทางช่วยด่วน

วันที่ 9 มิ.ย. 2564  นายสุบิน  ศรีบุศกร  รองนายกอบจ.พิจิตร ได้รับมอบจาก พ.ต.อ. กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ นายก อบจ.พิจิตร ให้ลงพื้นที่เนื่องจากมีชาวนาในเขต ต.ดงป่าคำ อ.เมืองพิจิตร และในเขต ต.วังหว้า อ.ตะพานหิน ซึ่งเป็นเกษตรกรและนาข้าวในเขตส่งน้ำชลประทานที่รับน้ำจากคลอง C78 รวมนาข้าวนับหมื่นไร่ร้องทุกข์ว่า จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงทำให้นาข้าวขาดน้ำส่อเค้าว่าจะได้รับความเสียหาย จึงลงพื้นที่และได้พบกับ นางเหลา บุญประเสริฐ อายุ 72 ปี เป็นชาวนาอยู่บ้านเลขที่ 78/3 หมู่ 3 ต.ดงกลาง อ.เมืองพิจิตร จ.พิจิตร เล่าว่า นาข้าวของตนจำนวนหลายสิบไร่ ขณะนี้กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง เหตุจากฝนทิ้งช่วงนาข้าวส่อเค้าว่าจะแห้งตาย ตนจึงต้องไปกู้เงินมา 5 หมื่นบาท เพื่อเตรียมที่จะเจาะบ่อน้ำบาดาลเนื่องจากน้ำในคลองชลประทานที่เคยส่งมาให้ปีนี้เจ้าหน้าที่บอกว่าน้ำมีน้อยจึงไม่สามารถส่งน้ำมาช่วยชาวนาได้ ดังนั้นชาวนาจึงต้องพึ่งตนเอง

จากนั้น นายสุบิน  ศรีบุศกร  รองนายกอบจ.พิจิตร ได้ไปพบกับ นางสาวนงลักษณ์ วิบูลย์ญาณ  รอง ปธ.อบจ.พิจิตร ซึ่งเป็น สจ.ในพื้นที่ ต.ดงป่าคำ ที่กำลังประชุมร่วมกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และชาวนากลุ่มผู้ใช้น้ำจำนวนกว่าร้อยคน ซึ่งประชุมกันที่ ศาลาประชาคม หมู่ 8ตำบลดงป่าคำ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตรโดยมี  นายภะกิต ไม้ตะเภา หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำที่ 1 ท่าบัว ดูแลน้ำและคลองชลประทานตอนบนในเขต อ.เมือง อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.ตะพานหิน  , นายจิรโรจน์ สมบัติใหม่ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำที่ 2 ท่าบัว ดูแลน้ำและคลองชลประทานตอนกลาง อ.ตะพานหิน อ.โพทะเล อ.บางมูลนาก , นายวิทยา วังวิเศษ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำที่ 3 ท่าบัว ดูแลน้ำและคลองตอนล่าง อ.โพทะเล อ.บางมูลนาก  จ.พิจิตร และ อ.ชุมแสง จ.นคนสวรรค์ มาร่วมชี้แจงถึงสถานการณ์น้ำและนโยบายส่งน้ำ

สรุปได้ว่าจังหวัดพิจิตรรับน้ำมาจากโครงการส่งน้ำเขื่อนนเรศวรในปริมาตรน้ำ 15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากนั้นก็กระจายน้ำไปยังโครงการส่งน้ำพลายชุมพล 5 ลูกบาศก์เมตร  โครงการส่งน้ำดงเศรษฐี 5 ลูกบาศก์เมตร  โครงการส่งน้ำท่าบัว 5 ลูกบาศก์เมตร ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ทั้ง 3 โครงการ  พื้นที่ประมาณ 5 แสนไร่ แต่เนื่องจากมวลน้ำมีอยู่แค่ก้อนเดียว เจ้าหน้าที่ชลประทานต้องใช้หลักการบริหารจัดการดูแลนาข้าวในพื้นที่รับน้ำเฉพาะโซนนี้คือคลอง C 1 C40  C78  จำนวนนับแสนไร่ จึงทำให้เกิดการแย่งน้ำกันทำนา ซึ่งขณะนี้ก็ได้ออกหลักเกณฑ์ให้ชาวนาสลับแบ่งรอบเวรกันสูบน้ำเข้านา สลับกันเป็นรอบกลางวันและรอบกลางคืน แต่ก็มีชาวนาบางคนไม่เคารพกฏกติกา จึงทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปด้วยความยุ่งยาก ส่วนที่ชาวนาร้องขอให้กรมชลประทานเพิ่มปริมาณการจ่ายน้ำให้มากขึ้นนั้นพวกตนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานก็จะได้รายงานไปยังผู้บังคับบัญชาต่อไป

นายสุบิน ศรีบุศกร รองนายกอบจ.พิจิตรกล่าวชี้แจงกับชาวนากลุ่มนี้ว่า อบจ.พิจิตร พร้อมให้การสนับสนุนในทุกภารกิจที่จะทำให้ชาวนามีน้ำทำนาแต่ขอเพียงอยู่ในข้อที่กรอบระเบียบที่กฎหมายอนุญาตเท่านั้นและจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการบริการจัดการน้ำให้ทั่วถึงเป็นธรรมอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

พิจิตร - นายกอบจ.พิจิตร ปล่อยพันธุ์ปลาเยียวยาโควิด เลี้ยงให้โตแล้วค่อยจับกินเป็นอาหาร

วันที่ 10 มิ.ย.2564  พ.ต.อ. กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วยผู้บริหารและสมาชิกสภาอบจ.พิจิตร ได้ร่วมกันทำกิจกรรมแจกพันธุ์ปลาและปล่อยปลาลงแหล่งน้ำสาธารณะที่บึงห้วงตะกวน โดยมี นายภาณุวัฒน์  ยุทธนาระวีศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลหอไกร อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร และผู้นำซึ่งประกอบด้วย นายก อบต.- กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน จาก 9 ตำบล ของ อ.บางมูลนาก มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ สำหรับการปล่อยพันธุ์ปลาที่บึงห้วงตะกวนที่เป็นแหล่งน้ำใหญ่มีพื้นที่ 400 ไร่ ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 5,8,9  ต.หอไกร อ.บางมูลนาก

ในส่วนของ พ.ต.อ.กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า อบจ.พิจิตร ได้จัดสรรงบประมาณ 1.7 ล้านบาท เพื่อเพาะพันธุ์ปลาจำนวน 7.72 ล้านตัว ซึ่งประกอบไปด้วยปลาตะเพียนขาว , ปลายี่สกเทศ , ปลานวลจันทร์เทศ , ปลาหมอตาล , ปลาสวาย , ปลาสร้อยขาว , ปลาบึก , ปลาสลิด และกบนา ฯลฯ

โดยให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดพิจิตรเป็นผู้ผลิตพันธุ์ปลา –กบ เพื่อมอบให้กับประชาชน 1,000 ราย ที่สนใจเลี้ยงปลา-กบ จำนวน 1 ล้านตัว ส่วนอีก 6.69 ล้านตัว ก็จะนำไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะหรือแหล่งน้ำธรรมชาติรวมถึงบึงสีไฟด้วย ทั้งนี้เพื่อหวังว่าพันธุ์ปลา-กบเหล่านี้จะเจริญเติบโตเป็นอาหารโปรตีนของชุมชนคนในท้องถิ่น รวมถึงก่อให้เกิดรายได้ในช่วงสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโควิด สำหรับระยะเวลาในการดำเนินการก็จะใช้เวลาในช่วงฤดูฝนนี้ไปจนถึงเดือน ก.ย. 2564  ในการปล่อยพันธุ์ปลาลงแหล่งน้ำต่าง ๆ ดังกล่าวอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

พิจิตร – กรมชลประทาน ทุ่มงบ 580 ล้านบาท สร้างประตูระบายน้ำ ในแม่น้ำยมพื้นที่พิจิตร

กรมชลประทานให้สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่3 นำงบ 580 ล้านบาท ลงมือสร้างประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้างในแม่น้ำยมเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร เริ่มลงมือแล้วคาดแล้วเสร็จปี67มั่นใจช่วยชาวนาลุ่มน้ำยมเกือบ 3 หมื่นไร่ ให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์ โครงการนี้มีการจ้างแรงงานชาวบ้านนับร้อยคนในท้องถิ่นทำให้มีรายได้มีงานทำในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโควิดอีกด้วย

วันที่ 14 มิ.ย. 2564 นายเสกโสม เสริมศรี ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ นายพิรัฐภัช พานทอง หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม สนง.ก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 พาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ดูความคืบหน้าของการก่อสร้างประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้างที่ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 580 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างที่อยู่ในแผนปี64-67 ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำยม พิกัด  ต.ไผ่ท่าโพ  อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ซึ่งเมื่อสร้างแล้วเสร็จประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้างแห่งนี้ จะสามารถกักเก็บน้ำไว้ในแม่น้ำยมได้ประมาณ 5.10 ล้านลูกบาสก์เมตร  (ห้าล้านหนึ่งแสนลูกบาศก์เมตร) ระยะกักเก็บน้ำ 19.20 กิโลเมตร พื้นที่รับประโยชน์ครอบคลุม 3 ตำบล 2 อำเภอ ได้แก่ ต.วังจิก  ต. ไผ่ท่าโพ อ.โพธิ์ประทับช้าง , ต.บางลาย อ. บึงนานาง ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 28,863  ไร่

สำหรับการก่อสร้างที่เห็นในภาพเป็นการก่อสร้างเขื่อนกันแนวตลิ่งบริเวณหน้าวัดประดาทอง ซึ่งอยู่ตอนท้ายของ ปตร.โพธิ์ประทับช้าง โดยการก่อสร้างครั้งนี้มีการแจ้งงานที่เป็นชาวบ้านและคนในท้องถิ่น จำนวนนับร้อยคนที่สลับสับเปลี่ยนกันมาทำงานวันละ 40-50 คน ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านให้มีงานทำในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโควิด รวมถึงช่วงนี้นาข้าวของเกษตรกรก็ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงอีกทั้งน้ำในแม่น้ำยมก็ยังแห้งขอดทำให้เกษตรกรต้องหาอาชีพเสริมด้วยการมาเป็นคนงานก่อสร้างของโครงการดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านที่มาเป็นคนงานก่อสร้างภายในโครงการก็มีมาตรการป้องกันโควิดโดยทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยรวมถึงต้องเอากระติกน้ำหรือน้ำดื่มมาดื่มกินเป็นของส่วนตัวห้ามใช้ภาชนะหรือแก้วน้ำร่วมกัน จึงทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น

การก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำยมขณะนี้กรมชลประทานก็กำลังสร้างพร้อม ๆ กันถึง 4 แห่ง คือที่ ปตร.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ถัดลงมาก็คือ ปตร.ท่าแห ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม , ปตร.วังจิก ต.โพธิ์ประทับช้าง และ ปตร.โพธิ์ประทับช้าง ต.ไผ่ท่าโพ อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ซึ่งคาดว่าทั้ง 4 แห่ง จะแล้วเสร็จตามแผนในราวปี 2567 ซึ่งจะทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำยมของ จ.พิษณุโลก – จ.พิจิตร จะมีน้ำให้นาข้าวนับแสนไร่ได้มีน้ำทำนาอย่างอุดมสมบูรณ์ ซึ่งทั้งหมดนี้เกษตรกรต่างขอบคุณรัฐบาลและกรมชลประทานที่ดำเนินการสร้างประตูระบายน้ำทั้ง 4 แห่งดังกล่าว

 


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

 

พิจิตร - นราพัฒน์ผู้ช่วย รมต.เกษตรลงพื้นที่เร่งชลประทาน ก่อสร้าง ปตร.ในแม่น้ำยม

สภาพแม่น้ำยมยังคงวิกฤตแห้งขอดแต่เป็นโอกาสของงานก่อสร้างของกรมชลประทานที่กำลังดำเนินการสร้างประตูระบายน้ำทั้ง4 แห่งในเขตพื้นที่พิษณุโลก-พิจิตร ล่าสุด นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วย รมต.เกษตรฯ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้างที่คืบหน้าไปแล้ว 50-60% คาดปลายปี 66 หรือต้นปี 67 สร้างเสร็จแน่ นาข้าวกว่า 3 แสนไร่ ได้ประโยชน์เต็ม ๆ แน่นอน

วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ความคืบหน้าของสถานการณ์แม่น้ำยมในเขตพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก-พิจิตร สภาพของแม่น้ำยมยังคงวิกฤตแห้งขอด แต่ในวิกฤตก็ยังเป็นโอกาสให้กรมชลประทานเร่งมือในการก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำยมเพื่ออนาคตของเกษตรกร ล่าสุด นายนราพัฒน์  แก้วทอง ผู้ช่วย รมต.เกษตรและสหกรณ์  ได้ลงพื้นที่เพื่อเร่งรัดการดำเนินการก่อสร้างของกรมชลประทาน โดยมี นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 และ นายเสกโสม  เสริมศรี ผู้อำนวยการก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับโดยจุดแรกไปดูโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำท่านางงาม ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ 10 ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 460 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 5 หมื่นไร่เศษ จุดที่ 2 ไปดูโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำท่าแห ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 350 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 8 หมื่นไร่เศษ จากนั้นจุดที่ 3 ไปดูโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำวังจิกซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.โพธิ์ประทับช้าง อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 231 ล้านบาทเศษ พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 37,397 ไร่ รวมถึงไปดูประตูระบายน้ำสามง่าม ซึ่งเป็นฝายไฮดรอลิกพับได้ ที่สร้างเสร็จสมบูรณ์และใช้งานได้แล้ว

โดย นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรมต.เกษตรและสหกรณ์  ได้ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์น้ำในขณะนี้ต้องยอมรับว่าเกิดฝนทิ้งช่วงน้ำเหนือเขื่อนมีน้อยยังไม่สามารถส่งน้ำให้เกษตรกรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยแต่ก็ได้ประสานให้กรมฝนหลวงบินขึ้นทำฝนเทียมเหนือเขื่อนในทุกวันแล้ว ส่วนการลงพื้นที่ในครั้งนี้จะไปติดตามเร่งรัดการสร้าง ปตร.ทั้งหมด 7 แห่ง ในเขต พิษณุโลก  พิจิตร นครสวรรค์  ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างรุดหน้าไปแล้ว 50-60% ซึ่งคาดว่าปลายปี 66/67 ทั้งหมดจะก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่นาข้าวกว่า 3 แสนไร่ ได้รับประโยชน์เต็ม ๆ อีกด้วย


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

พิจิตร – สาธารณสุขและฝ่ายปกครองเมืองพิจิตร กวาดต้อนแรงงานก่อสร้าง1,389 ราย จับตรวจหาเชื้อโควิด

โควิดระบาดกรุงเทพและปริมณฑลรัฐบาลสั่งล็อกดาวน์รวมถึงพื้นที่ต่าง ๆ ในเมืองใหญ่หรือเมืองท่องเที่ยวก็ล้วนหากินยากลำบากส่งผลแรงงานก่อสร้างและชาวพิจิตรที่ไปทำมาหากินต่างถิ่นแห่กลับบ้านนับรวมจาก12อำเภอของพิจิตร1,389ราย ล่าสุดสาธารณสุขจับมือฝ่ายปกครอง ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม.ระดมกวาดต้อนจับตรวจหาเชื้อโควิดปฏิบัติการเชิงรุก

วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2564 ที่โรงพยาบาลพิจิตร นายแพทย์กมล กัญญาประสิทธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร,นายแพทย์สุรชัย แก้วหิรัญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิจิตร ,นายแพทย์โสภณ โฆษิตวานิชย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิจิตร พร้อมด้วย นายไชยา สมถวิล นายอำเภอเมืองพิจิตร ได้ร่วมกันปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิดที่เป็นกลุ่มแรงงานก่อสร้างและผู้ประกอบอาชีพสาขาอื่นที่ไปทำงานในกรุงเทพฯและปริมณฑลรวมถึงจังหวัดใหญ่ ๆ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวแต่หลังจากที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ไซต์งานก่อสร้างและกิจการร้านอาหารและสถานบันเทิง ส่งผลให้ชาวพิจิตรที่ไปทำงานยังที่ต่างๆ ต่างเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองพิจิตรกันเป็นจำนวนมาก โดยมีสถิติของฝ่ายปกครองและสาธารณสุขแจ้งจำนวนผู้เข้ามาในพิจิตรเมื่อ 29 มิ.ย. 64  พบว่าจากพื้นที่ 12 อำเภอของพิจิตรมีผู้เดินทางเข้ามา 1,388 ราย และเป็นผู้ที่มาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจำนวน 550 คน  กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี  สมุทรปราการ และมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด 11 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตรัง นครปฐม ปัตตานี เพชรบุรี สงขลา สมุทรสาคร สระบุรี ยะลา นราธิวาส  อีกจำนวน 391 ราย  รวมถึงมาจากพื้นที่ควบคุม 9 จังหวัด 177 ราย  พื้นที่เฝ้าระวัง 53 จังหวัด 271 ราย

โดยในวันนี้ นายไชยา สมถวิล นายอำเภอเมืองพิจิตร ได้ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านและ อสม.เมืองพิจิตร ไปทำการค้นหาตัวและกวาดต้อนชุดแรกจำนวน 41 คน มาทำการ Swap หาเชื้อโควิดและวันพรุ่งนี้ก็จะนำพามาอีก 35 คน เช่นเดียวกับอำเภออื่น ๆ ก็ดำเนินการด้วยวิธีแบบนี้ด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ นายสมชาย (นามสมมุติ) เล่าว่าตนเองเป็นชาวบ้านอยู่  ต.บ้านบุ่ง อ.เมืองพิจิตร ไปขี่วินมอเตอร์ไซด์รับจ้างอยู่ที่จังหวัดระยองให้บริการคนงานก่อสร้างและผู้ใช้บริการทั่วไป ขณะนี้แคมป์คนงานก่อสร้างสั่งหยุดงานกิจการร้านค้า  ร้านอาหาร ก็ต้องปิดกิจการไปตาม ๆ กัน ทำให้ไม่มีผู้ใช้บริการจึงทำให้ขาดรายได้ ฝืนอยู่ที่ จ.ระยอง บ้านต้องเช่า ข้าวต้องซื้อ รายได้ก็ไม่พอกิน จึงตัดสินใจพาตัวเองและภรรยากลับพิจิตรบ้านเกิด แต่ก่อนที่จะเดินทางมาก็โทรประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านทุกระยะและเมื่อกลับมาก็ปฏิบัติตามนโยบายของทางราชการไม่ได้ไปมั่วสุมกับใคร วันนี้ อสม.-ผู้ใหญ่บ้าน ชี้แจงชักชวนให้มา Swapหาเชื้อโควิดตนเองก็เต็มใจมาทั้งนี้เพื่อจะได้นำผลตรวจไปแสดงให้เพื่อนบ้านและญาติพี่น้องได้รู้ได้เห็นแล้วจะได้สบายใจ ซึ่งถือว่านโยบายของจังหวัดพิจิตรดูแลชาวพิจิตรได้เป็นอย่างดีอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

พิจิตร – ผู้ว่าฯ เผย แรงงานติดเชื้อโควิดขอกลับบ้านเพียบ ล่าสุดวันนี้พบผู้ป่วย 11ราย รอลุ้นผลตรวจ 213 ราย

วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้เป็นประธานในพิธีรับมอบรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย  Biosafety Mobile Unit ที่ พ.ต.อ. กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ นายก อบจ.พิจิตร ได้ดำเนินการใช้งบประมาณ 3.8 ล้านบาท จัดซื้อรถตรวจหาเชื้อโควิดเคลื่อนที่จำนวน 2 คัน ที่ติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัยเพื่อมอบให้ นพ.กมล กัญญาประสิทธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร นำไปบริหารจัดการปฏิบัติการเชิงรุกในการตรวจหาเชื้อโควิด ซึ่งรถทั้งสองคันดังกล่าวนับเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการ Swab ให้กับกลุ่มเสี่ยงและเป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่จะให้บริการประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดที่เกิดขึ้น

ซึ่งภายหลังจากรับมอบรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยแล้ว นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้มีชาวพิจิตรที่ไปทำงานในกรุงเทพและปริมณฑลต่างติดต่อขอกลับบ้านกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสงสัยตัวเองว่าจะติดเชื้อโควิดซึ่งตอนนี้หาที่ตรวจก็ไม่ได้ หาที่รักษาหรือหาเตียงเพื่อนอนรักษาก็ไม่มีที่ใดว่างดังนั้นจึงประสานขอกลับมาในแต่ละวันก็มีประมาณ 10-20 ราย ซึ่งจังหวัดพิจิตรก็ต้องอ้าแขนรับเนื่องจากเป็นคนพิจิตรกลับมาก็ต้องดูแลกัน ล่าสุดได้มีการประชุมวางแผนให้เพิ่มเตียงใน รพ.สนาม-รพ.พิจิตร-รพ.ชุมชนต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ยังมีเตียงว่างประมาณ 100 เตียง รวมถึงได้ขอให้ อบจ.พิจิตร เพิ่มเตียงในโรงพยาบาลสนามเพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ที่ส่อเค้าว่าจะหยุดไม่อยู่แต่มั่นใจว่าช่วงนี้ยังคงรับมือได้

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร ตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. 64 จนถึงวันนี้พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดเดินทางมาจากพื้นที่สีแดงมีกว่า 50 คนแล้ว ทำให้ล่าสุดวันนี้ จงพิจิตรมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 11 ราย ผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 80 ราย และต้องรอลุ้นผลตรวจกลุ่มเสี่ยง 213 ราย ทำให้ขณะนี้พิจิตรมีผู้ป่วยสะสมแล้ว 233 ราย รักษาหาย 141 ราย อีกด้วย


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top