Tuesday, 7 May 2024
พิจิตร

ป.ป.ช.พิจิตรข้องใจลงพื้นที่ตรวจงานกรมชลประทานก่อสร้างปตร.วังจิกงบ 231 ล้านใช้เวลา 7 ปีแล้วสร้างไม่เสร็จเสียที

ชาวนาลุ่มน้ำยมเมืองชาละวันชะเง้อคอรอคอยหวังได้ใช้น้ำจากโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำวังจิก อ. โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ที่กรมชลประทานจ้างผู้รับเหมาดำเนินการด้วยงบประมาณ 231 ล้านบาทเศษ แต่เจอเหตุผู้รับเหมาขาดสภาพคล่อง ละทิ้งงาน 7 ปีแล้วสร้างไม่แล้วเสร็จเสียที ล่าสุดมีคำชี้แจงรอผู้รับจ้างบอกเลิกสัญญาหรือจะขอทำต่อ 28 มี.ค. 66 มีคำตอบบอกชาวบ้านว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

วันที่ 24 มีนาคม 2566  นายวราพงษ์ อินต๊ะโมงค์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดพิจิตร  พร้อมเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต ผู้แทนนายอำเภอโพธิ์ประทับช้าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่และเครือข่ายภาคประชาชนชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริตโพธิ์ประทับช้าง ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้ากรณีโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านวังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ที่ดำเนินการโดยกรมชลประทานตามสัญญาว่าจ้างด้วยงบ 231 ล้านบาทเศษ ระบุในสัญญาจ้างเริ่มงาน 15 พ.ย. 2559 สิ้นสุดสัญญา 1 ส.ค. 2562 แต่ปรากฎว่าจากวันนั้นถึงวันนี้ผู้รับจ้างทำงานไม่เป็นไปตามแผนงาน ทำไป หยุดไป ล่าสุดทิ้งงานขนเครื่องจักร อุปกรณ์ ออกจากพื้นที่ก่อสร้างไปจนหมดสิ้น คิดเนื้องานที่ทำแล้วประมาณ 60% และยังมีเงินที่สามารถเบิกได้อีก 80 ล้านบาท หากทำจนแล้วเสร็จ 

โดย นายธนบดี  รักสัตย์  ผอ.สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 เปิดเผยว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าของโครงการอยู่ที่ 60% ซึ่งเป็นการทำงานก่อสร้างเทคอนกรีตฐานล่างที่อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดินเหลือแค่เพียงงานอาคารส่วนบนและการติดบานประตูแต่ด้วยสาเหตุ เนื่องจากผู้รับเหมาเดิมขาดสภาพคล่อง รวมถึงตอนที่เข้าประมูลแข่งขันก็ฟันราคาต่ำกว่าราคากลางเกือบ 80 ล้านบาท จึงทำให้เหลือครอสต้นทุนในการทำงานเพียงแค่ 231 ล้านบาทเศษ เรียกได้ว่าในส่วนที่จะเป็นกำไรหายไปจากการฟันราคา ดังนั้นเมื่อถึงตอนดำเนินงานจริงจึงเป็นเหตุขาดสภาพคล่อง ซึ่งผู้รับเหมารายดังกล่าวสร้างปัญหาในลักษณะนี้กับงานรับจ้างของกรมชลประทานในหลายแห่ง และถูกขึ้นบัญชีว่าเป็นผู้ละทิ้งงาน

แต่ในส่วนโครงการก่อสร้าง ปตร.วังจิก กรมชลประทานได้พยายามติดต่อผู้รับจ้างรายเดิมนี้เพื่อขอทราบความชัดเจนว่าจะทำต่อหรือจะยกเลิกยอมทิ้งงาน ซึ่งคงต้องรอฟังคำตอบอีกครั้งในวันที่ 28  มี.ค  2566 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายกำหนดตามมาตรการบอกเลิกสัญญา ซึ่งถ้าผู้รับเหมารายเดิมแสดงเจตนาจะขอทำงานต่อก็จะมีระยะเวลาให้ทำงานได้ยาวถึง 827 วัน และจะได้เงินค่าจ้าง 80 ล้านบาทในส่วนที่เหลือ ซึ่งตรงกันข้ามหากผู้รับเหมารายเดิมทิ้งงานกรมชลประทานก็ต้องใช้ระยะเวลาหาผู้รับจ้างรายใหม่ ภายในเดือน ก.ย. 2566 เพื่อดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 365 วัน

ป.ป.ช.พิจิตร ลงพื้นที่ตรวจชลประทานสร้าง ปตร.งบ20ล้านเหตุชาวบ้านร้องทุกข์อยากได้น้ำทำนา

เหมือนจะเป็นเรื่องโอละพ่อ เมื่อป.ป.ช.พิจิตร ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านด้วยความวิตกกังวล เหตุชลประทานพิจิตร ใช้งบ 20 ล้าน สร้างประตูระบายน้ำในคลอง แต่ยังไม่แล้วเสร็จ จึงเกรงว่าเมื่อถึงฤดูฝน โครงการส่งน้ำฯวังบัว จะผันน้ำจากแม่น้ำปิงมาให้ทำนาไม่ได้สุดท้าย ป.ป.ช.พิจิตร ลงพื้นที่ งานนี้ไม่มีเรื่องทุจริตแต่เป็นเรื่องที่ชาวนาจาก 3 ตำบล เกรงพื้นที่ลุ่มจะเกิดน้ำท่วม จึงอยากได้น้ำทำนาเร็วๆ  

วันที่ 6 เมษายน 2566 นายวราพงษ์  อินต๊ะโมงค์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วยกลุ่มงานป้องกันการทุจริต และชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตอำเภอสามง่าม ลงพื้นที่สังเกตการณ์โครงการท่อระบายน้ำคลองหนองคล้า-รังนก บ้านไผ่ใหญ่ ม.7 ต.หนองโสน อำเภอสามง่าม จ.พิจิตร หลังได้รับทราบปัญหาจากประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับการก่อสร้างจะเกิดการล่าช้าไม่ทันช่วงการปล่อยน้ำจากคลองส่งน้ำวังบัว ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการเกษตรในพื้นที่ 3 ตำบล ฝั่งตะวันตกของพิจิตร คือ ต.หนองโสน ต.เนินปอ ต.รังนก จึงมีการร้องเรียนไปยัง สนง.ป.ป.ช.พิจิตร    

เมื่อตรวจสอบข้อมูล นายวราพงษ์  ผอ. ป.ป.ช.ประจำจังหวัดพิจิตร และคณะ รวมถึงชมรมจิตพอเพียงต้านทุจริตอำเภอสามง่าม จึงได้ประชุมและลงพื้นที่ร่วมกันระหว่างตัวแทนภาคประชาชนจาก 3 ตำบลดังกล่าว พร้อมกับ นายจักรพันธ์ จารุวัฒน์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว จ.กำแพงเพชร , นายศิริวิทย์ แพงพฤกษ์ภูมิ  หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 โครงการชลประทานพิจิตร , นายณัฐภูมิ อนันตภูมิ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน

ซึ่งได้ชี้แจงรายละเอียดของโครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำดังกล่าวว่าเป็นโครงการก่อสร้างขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง งบประมาณก่อสร้าง 20 ล้านบาท (งานดำเนินการเองทั้งโครงการ) ในปีงบประมาณ 2566 เป็นการก่อสร้างอาคารอัดน้ำกลางคลอง พร้อมติดตั้งบานระบายขนาด 2.4x2.4 เมตร 3 บาน และส่วนประกอบ 1 แห่งและการก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก U-shape กว้าง 5x3.x140 เมตร จำนวน 1 แห่ง และการขุดลอกคลองด้านหน้าและท้ายอาคาร เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะถ่ายโอนอาคารชลประทานให้กับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว จ.กำแพงเพชร เพื่อดูและบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรต่อไป 

พิจิตร-อบจ.พิจิตร จับมือขนส่งคุมเข้มรถบัสรถทัวร์พาผู้โดยสารกลับบ้านสงกรานต์

บรรยากาศการเดินทางกลับบ้านด้วยรถบัส-รถทัวร์ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ของจังหวัดพิจิตร เริ่มคึกคักแล้ว อบจ.พิจิตร จัดทีมงานบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ สถานีขนส่งผู้โดยสารสากเหล็ก เพื่อพร้อมใช้ให้บริการประชาชน ขนส่งพิจิตร  ตรวจเข้มสภาพรถ-สภาพคนขับ คาดการณ์ปีนี้คนแห่กลับบ้านมากกว่าปีที่ผ่านมา
  
วันที่ 11 เมษายน 2566 พ.ต.อ. กฤษฎา  ภัทรประสิทธิ์  นายก อบจ.พิจิตร ,  นายพิศ  วิริยะอารีธรรม ประธานสภา อบจ.พิจิตร  บูรณาการการทำงานร่วมกับ นายประไพ สวนกูล  ขนส่งจังหวัดพิจิตร , นายทองสุขวัฒน์ หลากสุขถม นายกเทศมนตรีตำบลสากเหล็ก กำลังตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรสากเหล็ก, หน่วยกู้ภัยสากเหล็กร่วมกันทำกิจกรรม บิ๊กคลีนนิ่งเดย์ สถานีขนส่งผู้โดยสารสากเหล็ก ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของ อบจ.พิจิตร โดยการทำกิจกรรมครั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการให้บริการรถขนส่งสาธารณะ ที่เดินทางจากกรุงเทพฯ ขึ้นสู่ภาคเหนือ และจากภาคเหนือไปยังกรุงเทพฯ และภาคอีสาน ที่ในแต่ละวันมีรถบัสทั้งเที่ยวขึ้นและเที่ยวล่อง จอดใช้บริการที่สถานีขนส่งสากเหล็กแห่งนี้วันละ 40-50 เที่ยว เป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวและประชาชนใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเพื่อเดินทางกลับบ้านและท่องเที่ยวจึงทำให้สถานีขนส่งแห่งนี้ต้องเพิ่มการให้บริการประชาชนมากขึ้นหลายเท่าตัว ดังนั้นเพื่อเป็นการบริการประชาชน อบจ.พิจิตร จึงได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการทำความสะอาดอาคาร สถานที่ ห้องสุขา และพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งสากเหล็ก ทั้งนี้เพื่อต้อนรับและพร้อมให้บริการ รถบัส รถทัวร์ และประชาชน ที่ใช้บริการรถขนส่งสาธารณะกลับบ้านเทศกาลวันสงกรานต์

หมี่อากง สูตรก๋วยเตี๋ยวโบราณ 3 ชั่วอายุคนแห่งพิจิตร เหนียว นุ่ม แบบไม่ต้องปรุงเพิ่ม

‘ร้านหมี่อากง’ เปิดขายอยู่ที่ ‘หลังศาลเจ้าแม่ทับทิม’ ในตำบลท่าฬ่อ (ท่า-ล่อ) อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ความพิเศษของร้านนี้ ก็คือ เส้นของบะหมี่ และเส้นเกี้ยว ทางร้านจะทำเอง โดยได้สูตร จากอากง ที่สมัยก่อน กว่า 80 ปี ที่ใช้แบบหาบขาย ในตลาดเก่าแก่ ของตลาดท่าฬ่อ (ท่า-ล่อ) จากรุ่นแรก จนมาถึงรุ่นที่ 3 นำสูตรมาเปิดขายให้กับชาวบ้านได้เลือกรับประทานกัน

นางอุดมพร ชูประสิทธิ์ หรือ เจ้ปอย ลูกหลานรุ่นที่ 3 เล่ามให้ฟังว่า สมัยก่อน อากง กับ อาม่า จะนำก๋วยเตี๋ยว ใส่ภาชนะ ทั้งหม้อก๋วยเตี๋ยว และ เตา หาบขาย ในบริเวณศาลเจ้า และตลาด ราคาชามละ 50 สตางค์ จากนั้นจึงได้นำสูตรการทำเส้นบะหมี่ และสูตรก๋วยเตี๋ยวแบบโบราณมาเปิดร้านเอง ซึ่งการทำเส้นบะหมี่ สมัยก่อนจะใช้การตีด้วยมือ และปัจจุบันมีเครื่องทำเส้น จึงประหยัดเวลา แต่ก็ยังคงรักษาสูตรแบบโบราณ ทำวันต่อวัน และไม่มีการใส่สารกันบูด

‘ดร.หิมาลัย’ พร้อม ‘สส.สัญญา-สุรชาติ’ ลงพื้นที่บรรเทาทุกข์ ปชช. มอบถุงยังชีพ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน จ.นครสวรรค์-พิจิตร

จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดพิจิตร โดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนและเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก พร้อมมอบให้ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่เร่งช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าวนั้น

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 66 น.ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) พร้อมด้วย นายสัญญา นิลสุพรรณ สส.เขต 3 นครสวรรค์/ประธานคณะ กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน รวมทั้ง นายสุรชาติ ศรีบุศกร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และ น.อ.ชัยสม ร่มโพธิ์ทอง พร้อมคณะศิษย์เก่าโรงเรียนนครสวรรค์ ร่วมลงพื้นที่ ณ วัดบางไซ ต.พิกุล อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ เพื่อพบปะพูดคุยให้กำลังใจกับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม พร้อมมอบถุงยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในพื้นที่ ต.พิกุล ต.พันลาน และ ต.หนองกระเจา อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ จำนวน 574 ชุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

จากนั้น ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ร่วมเดินทางไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลบางเคียน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ เพื่อพบปะพูดคุยให้กำลังใจกับพี่น้องประชานชน ผู้ประสบภัยในพื้นที่ ต.บางเคียน ต.ทำไม้ และ ต.โคกหม้อ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ พร้อมมอบถุงยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง จำนวน 842 ชุด ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป

โดยมี นายสุวัฒน์ จันทร์สุข ปลัดจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยโท อุทิศ คงรอด นายอำเภอชุมแสง, สจ.กัลย์ชพร รอดบำรุง, สจ.ไพฑูรย์ อินทร์นาง, นายสุพัฒน์ กันสุข นายกอบต.หนองกระเจา, นายสนอง วงษ์ละม้าย นายกอบต.พิกุล, นายงาม แสนมุข นายกอบต.พันลาน, นายสุทัศน์ สิงห์กวาง นายกอบต.ฆะมัง, นายวิรัติ เหมันต์ กำนันตำบลพิกุล, นายจักรพงษ์ เพ่งผล นายกอบต.บางเคียน, นางสาวศิริ ยิ้มสาระ นายกอบต.ท่าไม้, นายสิริชัย ศรีสิทธิการ นายกอบต.โคกหม้อ, นายอำนาจ บุญเกษม กำนันตำบลท่าไม้ พร้อมพี่น้องประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับและร่วมรับมอบ

ต่อมา ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้เดินทางยัง วัดบางลายใต้ ต.บางลาย อ.บังนาราง จ.พิจิตร เพื่อมอบถุงยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ ต.บางลาย อ.บึงนาราง จ.พิจิตร อีกจำนวน 520 ชุด

โดยมี นายธงชัย ขิมมากทอง นายอำเภอบึงนาราง,นายมนัส ชมพูพื้น ปลัดอาวุโสอำเภอบึงนาราง พร้อมด้วย ผู้นำท้องท้องถิ่น นำโดย นายจักรัตน์ จันทโรทัย สจ.เขต 2 อ.บึงนาราง, นายธรรมนูญ เทศอินทร์ ประธานชมรม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อ.บึงนาราง, คุณภัทราภรณ์ จันทโรทัย รองนายก อบต.บางลาย, พ.ต.ท มานิตย์ จิตรเอก สว.สภ.บางลาย, นายวิรัตน์ สุขเหม กำนันตำบลบึงนาราง, นายชุติชัย ตังสุวรรณ์ กำนันตำบลท้ายน้ำ, นายสุพจน์ อ่อนเนียม กำนันตำบลโพทะเล พร้อมพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับและร่วมรับมอบครั้งนี้

พิจิตร-อัยการพิจิตรใช้กฎหมายช่วยชาวนาบีบสหกรณ์คายเงิน7ล้านจ่ายหนี้ค่าข้าวเปลือกแนะแจ้งความดำเนินคดี

ทุกข์ของชาวนาพิจิตรที่ไว้วางใจนำข้าวเปลือกมาขายให้สหกรณ์การเกษตรหวังได้ราคาแต่สุดท้ายนานข้ามปีก็ยังไม่ได้เงินรวมตัวร้องทุกข์ผ่านสื่อจึงได้อัยการฝ่ายคุ้มครองสิทธิ์เข้ามาโอบอุ้มบังคับใช้กฎหมายไกล่เกลี่ยเป้าหมายอยากให้ชาวนาได้เงิน วันนี้เบื้องต้นได้บทสรุปสหกรณ์ยอมคายจ่ายหนี้ 7 ล้าน จาก 122 ราย รวมยอดเงิน 22 ล้านบาทเศษ วันนี้เฉลี่ยจ่ายเอาไปก่อน 30% ต่อจากนี้ ชมรมทนายอาสาพิจิตร รับหน้าที่พาชาวนาแจ้งความฟ้องดำเนินคดี

วันที่ 23 มกราคม 2567  นายอนันต์  คลังเพชร  อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดพิจิตร มอบให้ นายประเสิรฐ  ใจสนธิ์   อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ลงพื้นที่เพื่อไปทำหน้าที่ในการใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาจากกรณีที่ชาวนาในเขตอำเภอวังทรายพูน จ.พิจิตร จำนวน 101 ราย ที่นำข้าวเปลือกไปขายให้กับ สหกรณ์การเกษตรวังทรายพูน ตั้งแต่เดือน พ.ย. 66 คิดเป็นมูลค่า 22 ล้านบาทเศษ ชาวนาไปทวงถามสหกรณ์ฯ ก็ผลัดผ่อนประวิงเวลาไม่มีเงินจ่ายให้ชาวนา โดยอ้างว่าสหกรณ์ฯรับซื้อรวมรวมผลผลิตแล้วขายส่งต่อให้กับโรงสีแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.ดงเจริญ และรายอื่นๆ แต่ปรากฏว่าโรงสีไม่นำเงินมาจ่าย ดังนั้นสหกรณ์ก็จึงไม่มีเงินจ่ายชาวนากลุ่มดังกล่าวจึงได้ส่งตัวแทนมาร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือกับอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดพิจิตร ซึ่งได้รับเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียนดังกล่าว

โดยในวันนี้ นายประเสิรฐ  ใจสนธิ์   อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ลงพื้นที่ไปยังสหกรณ์การเกษตรวังทรายพูน โดยได้เชิญ นางสุจินดา  อินทร์สุข   ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรวังทรายพูน และประธานสหกรณ์ฯ รวมถึง นายจอมชัย รอดทัดทาน สหกรณ์จังหวัดพิจิตร , นายวิศิษฎ์  มานะคิด   นายอำเภอวังทรายพูน , นายกมลยุทธิ์  บุสดี  ทนายความ และ นายกิจชัย บุญปู่ ทนายความ ตัวแทนจาก ชมรมทนายอาสาพิจิตร รวมถึงผู้นำส่วนท้องถิ่นและตัวแทนเกษตรกรเข้าร่วมรับฟังการไกล่เกลี่ยระหว่างอัยการกับผู้จัดการสหกรณ์ โดยมีการสืบค้นข้อมูลหาเงินสดและทรัพย์สินต่างๆ ของสหกรณ์ฯ ที่สามารถจะรวบรวมเป็นเงินว่ามีเท่าไหร่ที่จะจ่ายหนี้ให้กับชาวนาทั้งหมด 101 ราย 

ซึ่งได้ข้อสรุปว่าสหกรณ์มีเงินสด-มีสลาก ธกส.และสามารถหยิบยืมจากเครือข่ายสหกรณ์รวมแล้วมีเงินสดพร้อมจ่ายให้ชาวนาในวันนี้ได้ 7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30% ของยอดรวมหนี้สินที่สหกรณ์ฯ จะต้องจ่ายให้กับชาวนาทั้งหมด คือ 101 ราย 22 ล้านบาทเศษ ซึ่งหลังจากได้ผลสรุปก็ได้แจ้งให้ชาวนาทราบว่าขอให้รับเงินก้อนแรกไปก่อนและหลังจากนี้ให้แต่งตั้งตัวแทนชาวนา 15 ราย ประสานกับ นายกมลยุทธิ์  บุสดี  ทนายความ และ นายกิจชัย บุญปู่ ทนายความ ตัวแทนจาก ชมรมทนายอาสาพิจิตร เพื่อไป สภ.วังทรายพูน เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรวังทรายพูน ซึ่งถ้าหาเงินมาจ่ายได้ก็ถอนแจ้งความได้ แต่ถ้าหาเงินมาไม่ได้ก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยชาวนาต่างพึงพอใจที่วันนี้ได้เงินบางส่วนและจัดคิวเพื่อเข้ารับเงินสด ซึ่งจะจ่ายกันภายในวันนี้ที่สหกรณ์ฯ ดังกล่าวอีกด้วย สำหรับความคืบหน้าผู้สื่อข่าวจะได้รายงานต่อไปเพื่อสาวให้ถึงว่าโรงสีที่เอาข้าวเปลือกจากสหกรณ์ไปคือโรงสีอะไรจึงได้มีพฤติกรรมที่ทำให้ชาวนาและสหกรณ์เดือดร้อนดังกล่าว

สิทธิพจน์/พิจิตร/0818872449

พิจิตร-ป.ป.ท.เขต 6 ลุยตรวจเมืองชาละวันเห็นแล้วทึ่งผู้รับเหมาเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 64.73%

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 นายสุภาพ ศิริ ผอ.ปปท. เขต 6 พร้อมเจ้าหน้าที่ ปปท.เขต 6 ร่วมกับ กอ.รมน.จังหวัดพิจิตร , ท้องถิ่นจังหวัดพิจิตร และคณะทำงานเครือข่ายศูนย์ประสานงานต่อต้านการทุจริตจังหวัดพิจิตร ลงพื้นที่ตรวจสอบเฝ้าระวังเชิงรุกการดำเนินโครงการก่อสร้างถนน คสล. และการขุดคลอง ซึ่งเป็นงบประมาณของ อบจ.พิจิตร , เทศบาลตำบลวังกรด อ.เมืองพิจิตร , อบต.สากเหล็ก โดยได้เข้าดำเนินการตรวจสอบงานก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงระหว่างวันที่ 12-14 ก.พ. 67 ที่ผ่านมา

โครงการแรกเป็นการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กบ้านดงป่าคำหมู่ 3 คอนกรีตเสริมเหล็กสายบ้านดงป่าคำ หมู่ที่ 3 เทศบาลตำบลดงป่าคำ - บ้านดงป่าคำใต้ หมู่ที่ 5 ตำบลดงกลาง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร , โครงการขุดลอกลำคลองคต บ้านหนองโสน หมู่ที่ 10 เทศบาลตำบลหนองปล้อง-บ้านบ่อแต้ หมู่ที่ 3 ตำบลหนองพระ อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตร เป็นหน่วยรับผิดชอบดำเนินการ โดยวิธีการประกวดราคา อิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งเป็นการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการขุดลอกลำคลองคตบ้านหนองโสนหมู่ 10  เทศบาลตำบลหนองปล้อง –บ้านบ่อแต้ หมู่ 3 ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน ผู้รับจ้างเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางถึง 64.73% , การก่อสร้างถนน คสล. พจ.ถ. 89-002 สายหมู่ 2-หมู่ 5 ของ อบต.สากเหล็ก ซึ่งงานอยู่ระหว่างผู้รับจ้างกำลังจะส่งมอบงานงวดสุดท้าย , โครงการของเทศบาลตำบลวังกรด ก่อสร้างถนน คสล. สายรอบหนองพระนาค หมู่ 4 ต.บ้านบุ่ง งบ 4,590,000 บาท ผู้รับเหมาฟันงานเหลือ 3,846,441.02 บาท ต่ำกว่าราคากลาง 25% 

โดยการตรวจครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายป้องกันการทุจริตที่อาจก่อเกิดจากความผิดพลาดของการตรวจรับงาน ทั้งนี้ ป.ป.ท.เขต 6 มีนโยบายป้องกันสำคัญกว่าการปราบปราม เพราะการป้องกันตั้งแต่ต้นด้วยการตรวจเข้มให้ความรู้กับผู้บริหารท้องถิ่น คณะกรรมการตรวจงานจ้าง นายช่างผู้ควบคุมงาน เพื่อให้เพิ่มการใส่ใจและรายละเอียดที่ต้องให้เป็นไปตามสัญญา ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันกับข้าราชการในทุกระดับมิให้กระทำการผิดพลาดจนเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเมื่อถึงขั้นนั้นแล้วจะแก้ไขเนื้องานก่อสร้างไม่ได้ก็กลับกลายเป็นจะต้องไปแก้ต่างในชั้นศาล ซึ่ง ป.ป.ท.เขต 6  ไม่ได้มุ่งหวังอยากให้ใครต้องกระทำผิดพลาดถึงขั้นนั้น จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเฝ้าระวังเชิงรุกอย่างเข้มข้นเพื่อให้คำแนะนำในการปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของระเบียบ กฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการเข้าตรวจโครงการต่างๆ ไม่พบการทุจริต แต่พบการทำงานของผู้รับเหมาที่มีจุดบกพร่อง ซึ่งสามารถแก้ไขได้เพราะงานยังอยู่ระหว่างดำเนินการและในประกันสัญญาจ้าง งานบางโครงการก็ยังไม่ได้เบิกจ่ายจึงให้ข้อสังเกตและคำแนะนำให้ช่างผู้ควบคุมงานและผู้รับจ้างเข้ามาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้งานออกมามีคุณภาพตามสัญญาจ้าง  ประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์คุ้มค่ากับเงินภาษีของประชาชนดังกล่าวนั่นเอง

สิทธิพจน์/พิจิตร/

พิจิตร-อนุทิน มท.1 ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาบึงสีไฟพิจิตรเพื่อความพร้อมเตรียมการรับเสด็จ

ชาวจังหวัดพิจิตรสุดปลาบปลื้มปิติเร่งรัดพัฒนาบึงสีไฟเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีที่จะเสด็จเปิดสนามจักรยานสราญสุขมงคลจิต ซึ่งเป็นสนามจักรยาน BMX สนามจักรยานขาไถและสนามจักรยาน Pump Track และจะทรงปั่นจักรยานในพิธีเปิด 23 มีนาคม 2567 

วันที่ 20 มีนาคม 2567 ความคืบหน้าความพร้อมเพื่อเตรียมการรับเสด็จฯ ล่าสุดเมื่อวันวานที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะลงพื้นที่ จังหวัดพิจิตร เพื่อติดตามความพร้อมการเตรียมรับเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ที่จะเสด็จฯไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ในวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2567 ณ สนามจักรยานสราญจิตมงคลสุขบึงสีไฟจังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นชื่อสนามนามพระราชทาน

โดยการลงพื้นที่ติดตามความพร้อม การสร้างสนามจักรยาน BMX และสนามจักรยานขาไถและสนามจักรยาน Pump Track ในครั้งนี้พบว่าการก่อสร้างหรือการเตรียมความพร้อมต่างๆ ทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์เกือบครบร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว เหลือแค่เพียงการเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ให้สวยสมบูรณ์สมพระเกียรติเท่านั้นเองก็จะสมบูรณ์ครบถ้วนทุกอย่าง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นหลักในการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่สู่การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชน 

สำหรับการพัฒนาบึงสีไฟที่ดำเนินการ โดย พ.ต.อ. กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ นายก อบจ.พิจิตร ที่เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก นายอดิเทพ กมลเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และส่วนราชการรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งของพิจิตรที่ประสานพลังความร่วมมือกันดำเนินการจนสามารถพัฒนาบึงสีไฟให้เป็นสวนสาธารณะและสนามจักรยานดังกล่าวนี้อีกด้วย

ในการพัฒนาบึงสีไฟที่จะทำให้สวยสดงดงามอีกหน่วยงานหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญให้เส้นทางจักรยานรอบบึงสีไฟระยะทาง 10.28 กม. คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยในการนี้นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้บริหาร ซึ่งได้ร่วมลงพื้นที่ติดตามงานการติดตั้งระบบแสงสว่างในฐานะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) สังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างระยะทางจักรยานรอบบึงสีไฟ โดย PEA ดำเนินการปักเสาคอนกรีตอัดแรง ขนาด 8 เมตร จำนวน 609 ต้น และติดตั้ง Street Light LED 150 W จำนวน 609 ดวง ติดตั้งเสาโครงเหล็ก Solar Cell ขนาด 6 เมตร จำนวน 115 ต้น และเปลี่ยนโคม Solar Cell LED ขนาด 100 วัตต์ เป็น Street Light LED 150 W จำนวน 115 ดวง สามารถวัดค่าแสงสว่างได้ตามมาตรฐานการออกแบบการก่อสร้างทางจักรยานสำหรับประเทศไทย เพื่อให้ความสว่างแก่ประชาชนที่มาเยี่ยมชมความสวยงามของบึงสีไฟ เพื่อพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย ซึ่งบึงสีไฟเป็นบึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่อันดับ 3 ของประเทศและเป็นแหล่งเศรษฐกิจ แหล่งรายได้จากการทำประมงและค้าขาย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

สิทธิพจน์/พิจิตร/


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top