Saturday, 4 May 2024
นิรโทษกรรม

ย้อนอดีต 'นิรโทษกรรม' ใครผิด เดี๋ยวพลิกให้ 'ถูก' แบบไม่ต้องกลับตัว

'นิรโทษกรรม' หวนกลับมาให้ติดหูอีกครั้งท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองระอุในช่วงนี้ บางคนอาจจะเข้าใจความหมายกันบ้างทั้งเชิงลึกและเชิงผิว

แต่ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้วจะสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ก่อนเลยว่า 'นิรโทษกรรม' คืออะไร?

.

- นิรโทษกรรมเป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นเพื่อลบล้างความผิดให้กับผู้ที่กระทำผิด โดยไม่ต้องรับโทษ

- ส่งผลให้สิ่งต่าง ๆ ที่ทำไปนั้นถือว่าไม่เป็นความผิด

- ไม่สามารถขุดคดีเก่าๆ มาสืบสวนได้ ถ้าหากว่าคดีเหล่านั้นได้ถูกนิรโทษกรรมไปแล้ว

- การนิรโทษกรรมจึงเป็นเหมือนกฎหมายที่สามารถทำให้ผู้กระทำผิดนั้นเป็นเหมือนผู้ไม่เคยกระทำผิดมาก่อน

.

เรียกว่าดูดีสำหรับคนมีคดีติดตัวกันเลยทีเดียว เพราะพลิกผิดเป็นถูกได้ชิลล์ ๆ มิน่าคนบางกลุ่มจึงอยากให้เกิดการนิรโทษกรรมกันนักกันหนา!! แล้วทราบหรือไม่ว่าในประเทศไทยก็มีการ 'นิรโทษกรรม' กันในช่วงอดีตมามากมายพอตัว

แล้วเกิดขึ้นมากันกี่ครั้ง?

.

การนิรโทษกรรมในบ้านเราเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 23 ครั้ง

- แบ่งเป็นพระราชกำหนดนิรโทษกรรม 4 ฉบับ

- และพระราชบัญญัตินิโทษกรรม 19 ฉบับ

.

***ลองไล่เลียงกันไปโดยเริ่มที่พระราชกำหนดนิรโทษกรรม 4 ฉบับ***

ปี พ.ศ. 2475

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินประกาศโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ โดยให้การกระทำของคณะราษฎรที่ละเมิดกฎหมาย ไม่ถูกนับเป็นการละเมิดบทกฎหมายใด ๆ เลย

.

ปี พ.ศ. 2488

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล ออกโดยนายควง อภัยวงศ์ มีการปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมดเป็นอิสระ โดยผู้กระทำผิดไม่ว่าจะถูกฟ้องหรือไม่ให้ นับว่าพ้นการกระทำผิดทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2524

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2524 ออกโดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จากเหตุการณ์พยายามรัฐประหารรัฐบาลพลเอก เปรม โดยกลุ่ม 'ยังเติร์ก' แต่ไม่สำเร็จ หลังจากนั้น พลเอกเปรม จึงได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมกลุ่มเหล่านี้ทั้งหมด เพื่อความสามัคคีของคนในชาติ

.

ปี พ.ศ. 2535

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ออกโดย พลเอก สุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนั้นพ้นผิดทั้งหมด ทั้งประชาชนที่ชุมนุมและทหารที่ทำการปราบปรามประชาชน

.

***คราวนี้มาถึงพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม 19 ฉบับกันบ้าง***

ปี พ.ศ. 2476

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 ออกโดย พระยาพหลพลลพยุหเสนา โดยคณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนาหลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

.

ปี พ.ศ. 2489

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น ออกโดยนายปรีดี พนมยงค์ โดยยกโทษให้แก่ผู้ที่ต่อต้านญี่ปุ่นเมื่อตอนที่ญี่ปุ่นเข้ามาไทย ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

.

ปี พ.ศ. 2490

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร ออกโดยนายควง อภัยวงศ์ ในขณะนั้นมีการทำการรัฐประหาร พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น ซึ่งนำการรัฐประหารโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ แต่ท้ายสุดได้ให้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (พรรคฝ่ายค้าน) ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนิรโทษกรรมกับผู้ทำการรัฐประหารในครั้งนั้นทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2475

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ.2475 แต่กลับมาใช้ช่วงปี พ.ศ.2494 ออกโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อการรัฐประหารของจอมพลป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นการรัฐประหารตัวเองเป็นครั้งแรก

.

ปี พ.ศ. 2499

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ ออกโดยจอมพลป. พิบูลสงครามเนื่องจากพระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมาครบ 25 ศตวรรษ จึงมีการอภัยทานความผิดฐานกบฏจลาจล จึงได้นิรโทษกรรมทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2500

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 ออกโดยนายพจน์ สารสิน เป็นการรัฐประหาร จอมพลป.พิบูลสงคราม นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากความไม่พอใจของประชาชนต่อการเลือกตั้งที่ทุจริตและสมาชิกพรรคมนังคศิลาของจอมพลป. เสนอให้จัดการเด็ดขาดกับจอมพลสฤษดิ์ ที่แถลงให้จอมพลป.ลาออกจากตำแหน่ง จอมพลสฤษดิ์จึงทำการรัฐประหารตัดหน้าและให้นายพจน์ สารสินขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้ง

.

ปี พ.ศ. 2501 – พ.ศ.2502

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 - พ.ศ.2502 ออกโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เหตุจากเนื่องจากการประกาศยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยอ้างถึงความมั่นคงของประเทศ จากคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ การรัฐประหารในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการรัฐประหารเงียบซึ่งก้คือการยึดอำนาจตัวเอง และได้ออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้ จอมพลสฤษดิ์ ใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างเบ็ดเสร็จและเด็ดขาด ด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 17

.

ปี พ.ศ. 2514 – พ.ศ. 2515

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 - พ.ศ. 2515 ออกโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นการรัฐประหารอีกครั้งในประเทศไทย ซึ่งเป็นการยึดอำนาจตัวเอง โดยมีการนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ทำการปฏิวัติหรือร่วมทำการปฏิวัติพ้นจากความผิดทั้งสิ้น

.

ปี พ.ศ. 2516

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียนนิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ออกโดยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ จากเหตุที่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนเดินขบวนเรียกร้อง ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หลังจากเหตุการณ์จึงมีการนิรโทษกรรมทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2515 – พ.ศ. 2517

พระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2515 - พ.ศ. 2517 ออกโดยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นการนิรโทษกรรมบุคคล โดยให้ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ที่ให้ควบคุมตัวนายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคำ

.

ปี พ.ศ. 2519

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ออกโดยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร จากเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ คณะนายทหาร 3 เหล่าทัพและอธิบดีกรมตำรวจ นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองไว้ และให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และมีการนิรโทษกรรมสำหรับผู้ทำการรัฐประหารในครั้งนั้น

.

ปี พ.ศ. 2520

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 ออกโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จากเหตุการณ์กบฏในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2520 ซึ่งเป็นความพยายามก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นำโดย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง แต่กระทำไม่สำเร็จ หลังจากนั้นจึงได้มีการนิรโทษกรรมทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2520

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ออกโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เนื่องมาจากการรัฐประหารนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐประหารนายธานินท์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นการกระชับอำนาจตนเอง ซึ่งเป็นการรัฐประหารตัวเอง และได้นิรโทษกรรมทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2519 – พ.ศ.2521

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2521 ออกโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เนื่องจากเล็งเห็นว่าการดำเนินคดีแก่ผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 จะทำให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีต้องเสียอนาคตในทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ จึงมีการนิรโทษกรรม

.

ปี พ.ศ. 2528 – พ.ศ. 2531

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2531 ออกโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จากเหตุพยายามรัฐประหารของนายทหารนอกราชการ เรียกเหตุการณ์นี้ว่า 'กบฏทหารนอกราชการ' หรือ 'กบฏ 9 กันยา' แต่หลังจากนั้นก็ได้มีการนิรโทษกรรมเพื่อความสามัคคีของคนในชาติ

.

ปี พ.ศ. 2532

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2532 ออกโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์

.

ปี พ.ศ. 2534

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ออกโดยนายอานันท์ ปันยารชุน จากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ทำการรัฐประหารพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยให้นิรโทษกรรมผู้ที่ร่วมในการรัฐประหารทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2534

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ออกโดย นายอานันท์ ปันยารชุน เพื่อยกโทษให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่กระทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

.

ปี พ.ศ. 2535

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ออกโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร เพื่อนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมพฤษภาทมิฬทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ทหารที่ปราบปรามประชาชน รวมทั้งผู้ชุมนุม

.

จะเห็นได้ว่าบ้านเรานั้นได้มีการนิรโทษกรรมมาหลายครั้งหลายคราว ซึ่งการนิรโทษกรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเราล้วนเกิดจากเรื่องของการบ้านการเมืองทั้งนั้น โดยหวังที่จะให้การอภัยและล้างความผิดทั้งหลายของผู้ที่เคยกระทำผิด เป็นบันไดก้าวไปสู่ความสามัคคีในชาติ ช่วยลดความบาดหมางและสร้างความปรองดองแก่กันได้

แต่นั่นหมายความว่าผู้กระทำผิดที่จะได้รับโอกาสนั้น ๆ ก็ต้องทำตัวให้ถูกต้องตามกฎหมาย และสำนึกในโอกาสจากการนิรโทษกรรมที่ได้รับมาเช่นกัน

ฉะนั้นจุดประสงค์ของการนิรโทษกรรม ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่ในทางปฏิบัตินั้น การนิรโทษกรรมควรจะใช้กับคนที่ควรได้รับแค่ไหน? นั่นคือ Fact มากกว่า...

‘ไพศาล’ เผย ‘บิ๊กจิ๋ว’ แนะต้องนิรโทษกรรม ทั้งคดีการเมือง - ม.112 เริ่มนับหนึ่งประเทศไทย

‘ไพศาล’ เผย ‘บิ๊กจิ๋ว’ แนะต้องนิรโทษกรรมให้ผู้ต้องคดีทางการเมือง - ม.112 ทั้งหมด เพื่อนับหนึ่งประเทศไทย กลับมาร่วมกันฟื้นฟูชาติบ้านเมือง

นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วย รองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า วิกฤตรัฐธรรมนูญ-วิกฤติบ้านเมือง

1. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องขอให้วินิจฉัยว่ากฎหมายเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่แล้ว และส่อว่าจะเป็นโมฆะตามคำร้องด้วย แป๊ะวางหมากเอาไว้แยบยลมาก เพราะถ้าตกเป็นโมฆะขึ้นมา กำหนดการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมปีหน้าก็อาจจะทำไม่ได้ และอย่าลืมว่า กกต.ชุดปัจจุบันนี้กำลังต้องคดี ในเดือนหน้า ถ้าศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็จะไม่มีผู้จัดการเลือกตั้งซ้ำเข้าไปอีก!!!

แผนแป๊ะล้ำลึกจริง ๆ ทำให้บรรยากาศการเตรียมการเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ ต้องอยู่ในสภาพขวัญผวาอีกครั้งหนึ่ง แต่ทุกเรื่องมีทางออกเสมอ เมื่อถึงเวลาจะเฉลยให้ได้ทราบกัน เดินหน้าโลดได้เลย

2. ขณะนี้มีกระแสความวิตกกังวลเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พลเอกประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีแล้ว ถ้าหากรักษาการไม่ได้ก็จะเกิดวิกฤตทางการเมืองซ้ำซ้อนเพิ่มขึ้นอีก เพราะมีปัญหาว่าจะสรรหานายกกันอย่างไร?

'เพื่อไทย' เสนอเพิ่มโทษ 'รัฐประหาร' ถือเป็นกบฏ คดีไม่มีอายุความและนิรโทษกรรมไม่ได้

เพื่อไทย อ่านแถลงการณ์ เนื่องในโอกาสวันรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. ระบุ ชัดในกฎหมาย 'รัฐประหาร' ถือเป็นกบฏ พร้อมมุ่งแก้รธน.มาตรา 272 เลือกนายกฯ ต้องเป็นธรรม

(10 ธ.ค. 65) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรค นำโดยนายชัยเกษม นิติสิริ, นายชูศักดิ์ ศิรินิล, นายจาตุรนต์ ฉายแสง และน.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ อ่านแถลงการณ์พรรคเพื่อไทย เนื่องในโอกาสวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม ว่า...

พรรคเพื่อไทย ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นรากฐานของประเทศชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่า ในประเทศเสรีประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศมีความสำคัญ ทั้งในเชิงการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม หากบ้านเมืองมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ก็จะส่งเสริมให้ระบบการเมือง มีความเข้มแข็ง ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีความเจริญเติบโตและพัฒนาการ ประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของประเทศก็ย่อมได้รับประโยชน์ โดยทั่วถึง แต่หากได้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และขาดการยอมรับจากประชาชนที่นอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ยังเป็นผู้ได้รับผลกระทบด้วย 

ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีความเป็นประชาธิปไตยสูงมีหลักนิติรัฐนิติธรรม ต้องได้รับการเคารพและปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ จะต้องได้รับการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และการจัดสรรอำนาจองค์กรต่าง ๆ ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่มีองค์กรใดอยู่เหนือองค์กรอื่นจนขาดการตรวจสอบการใช้อำนาจ

‘โรม’ ย้อน ‘ตู่’ คสช. เคยนิรโทษกรรมตัวเอง แซะ!! เลิกสั่งสอนความสามัคคีจอมปลอมให้ ปชช.

‘โรม’ ย้อน ‘ประยุทธ์’ จำได้ไหม คสช. นิรโทษกรรมตัวเอง เลคเชอร์ความปรองดอง ไม่ใช่สร้างสามัคคีแบบปลอม ๆ แต่ต้องนิรโทษกรรมประชาชน ไม่นิรโทษกรรมผู้มีอำนาจ

(10 ก.พ. 66) รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นกรณี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนในประเด็นการนิรโทษกรรม ระบุทุกคนที่ทำผิดกฎหมาย ต้องยอมรับกระบวนการยุติธรรม ถ้านิรโทษกรรมให้คนบางกลุ่ม แสดงว่าต้องนิรโทษกรรมให้คนทั้งคุกเลยหรือไม่

รังสิมันต์ กล่าวว่า ต้องถือเป็นความกล้าหาญของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่สอนคนอื่นให้เคารพกฎหมาย ทั้งที่ตัวเองเป็นอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ กระทำความผิดที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง แต่ยังลอยหน้าลอยตาเป็นนายกฯ มาได้จนถึงปัจจุบัน เพราะเขียนนิรโทษกรรมตัวเองและพวกลงในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 แม้ประชาชนนับแสนคนเคยเข้าชื่อขอแก้รัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว เพื่อเปิดทางให้มีการดำเนินคดีกับคณะรัฐประหาร แต่ก็ถูก ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ปัดตก จึงไม่รู้ว่าตอนที่พูดประโยคเหล่านั้นออกมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ฉุกคิดถึงสิ่งที่ตัวเองเคยทำมาก่อนบ้างหรือไม่

‘ทักษิณ’ เปิดใจสื่อญี่ปุ่น พร้อมรับโทษจำคุก เผย อยากใช้เวลาที่เหลือในชีวิตกับลูกหลาน

ทักษิณ เปิดใจสื่อนอก พร้อมรับโทษ บอกลูก อย่ายอมให้พท. ออกกม.นิรโทษกรรมอีก

(24 มี.ค. 66) สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงานว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศว่า เขาพร้อมที่จะรับโทษจำคุกในไทยแลกกับการที่จะได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับครอบครัว ไม่ว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปในไทย ที่กำหนดจะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จะออกมาจะเป็นอย่างไรก็ตาม

นายทักษิณ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกรุงโตเกียวกล่าวว่า เขากำลังพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งอาจจะเป็นภายในปีนี้หลังการเลือกตั้ง และพร้อมที่จะรับโทษจำคุก โดยเขาหวังว่าจะยื่นอุทธรณ์ในบางคดี

“ตอนนี้ผมติกคุกใหญ่มา 16 ปีแล้ว เพราะพวกเขากีดกันไม่ให้ผมอยู่กับครอบครัว ผมทรมานมามากพอแล้ว ถ้าผมต้องไปทนทุกข์ในคุกเล็กอีกก็ไม่เป็นไร แม้มันไม่ใช่ราคาที่ผมจำเป็นจะต้องจ่าย แต่ผมยอมจ่าย เพราะผมอยากอยู่กับหลาน ๆ ผมควรใช้เวลาที่เหลือในชีวิตกับลูก ๆ หลาน ๆ” นายทักษิณ กล่าว

ทักษิณ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของเขาก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณา เพราะเขาเผชิญกับความพยายามในการลอบสังหารมาแล้วถึง 4 ครั้ง เมื่อครั้งบยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยืนยันว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมไม่ใช่ทางเลือกเพื่อพาเขากลับบ้าน

“ผมบอกกับลูกสาวว่า อย่ายอมให้พรรคเพื่อไทยผลักดันให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผม เพราะมันไม่จำเป็น คนที่ต่อต้านผมจะไม่พอใจ และกฎหมายต้องมีไว้สำหรับคนทุกคน ไม่ใช่เพื่อคนคนเดียว ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาเพื่อให้ทหารสามารถครองอำนาจอยู่ต่อไป” นายทักษิณ กล่าว

ปิยบุตร’ ชง เสนอรื้อคดี ‘ทักษิณ’ ใหม่ทั้งหมด ชี้ โทษไม่เป็นธรรม หากต้องติดคุกด้วยผลพวงรัฐประหาร

(25 มี.ค. 66) จากกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าวเกียวโด สื่อดังจากญี่ปุ่น ว่าเขาพร้อมที่จะรับโทษจำคุกในไทยแลกกับการที่จะได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับครอบครัว โดยกำลังพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมกลับประเทศไทย ไม่ว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จะออกมาอย่างไรก็ตาม

ล่าสุด นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้เผยแพร่ข้อเขียนผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า…

เรื่อง [กรณีคุณทักษิณ : ไม่ติดคุก ไม่นิรโทษ ต้องลบล้างผลพวงรัฐประหาร ดำเนินคดีใหม่อย่างเป็นธรรม]

สำนักข่าวจากประเทศญี่ปุ่น รายงานข่าว เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ความว่า คุณทักษิณ ชินวัตร พร้อมกลับมาติดคุก และไม่ต้องการให้พรรคเพื่อไทยผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ตนเอง

ประเด็นปัญหา ‘กลับบ้าน’ ของคุณทักษิณอยู่ในสังคมไทยมาเกือบสองทศวรรษ เมื่อไรที่มีการเลือกตั้ง เมื่อไรได้รัฐบาลใหม่จากขั้วเพื่อไทย ก็จะมีผู้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเสมอ

หากใครได้ติดตามการแสดงความเห็นของผมตั้งแต่ปี 2548/49 คงจำได้ว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เรียกร้อง งนายกพระราชทาน มาตรา 7’ ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ผมและเพื่อนอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. รวม 5 คน ในเวลานั้นได้ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ในเวลาต่อมา พวกเรายังได้แถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยและวิจารณ์การดำเนินคดีคุณทักษิณในหลายกรณี รวมทั้งคำพิพากษากรณียึดทรัพย์ด้วย

หลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุมปี 53 พวกเราได้รวมตัวก่อตั้ง ‘คณะนิติราษฎร์’

18 กันยายน 2554 คณะนิติราษฎร์ เสนอข้อเสนอ ‘ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549’ ดังนี้

หนึ่ง ให้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการกระทำของ คปค. ตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 ถึง 30 กันยายน 2549 เป็นโมฆะ

สอง ให้รัฐธรรมนูญ 49 มาตรา 36 (ซึ่งรับรองให้การกระทำทั้งหลายของคณะรัฐประหารชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย) ตกเป็นโมฆะ ทำให้การกระทำทั้งหลายของคณะรัฐประหารถูกโต้แย้งได้ว่าขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

สาม ให้รัฐธรรมนูญ 49 มาตรา 37 (ซึ่งนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร) ตกเป็นโมฆะ ทำให้ การนิรโทษกรรมรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นโมฆะ สิ้นผลไป เหมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เมื่อไม่มีการนิรโทษกรรมการรัฐประหาร ทำให้การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ยังคงมีความผิดฐานกบฏในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมย่อมสามารถดำเนินคดีเอาคณะรัฐประหารมาลงโทษได้

สี่ ให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตกเป็นโมฆะ

ห้า ให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณา ที่เกิดจากการริเริ่มของ คตส. ยุติลง

ข้อเสนอทั้งหมดนี้ ต้องทำโดยผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากข้อเสนอเหล่านี้สำเร็จ ผลที่ตามมา คือ ดำเนินคณะรัฐประหารได้ทันที

ส่วนคดีความของคุณทักษิณและนักการเมืองอีกหลายคน ที่สืบเนื่องจากรัฐประหาร 49 ก็ไม่ได้นิรโทษหรืออภัยโทษแต่อย่างใด เพียงแต่ลบล้างคำพิพากษาเหล่านั้นทิ้ง และสามารถดำเนินคดีต่อไปตามกระบวนการปกติ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาและจำเลย

‘ทักษิณ’ มั่นใจ!! ‘พท.’ ครองเสียงข้างมาก ชนะเลือกตั้ง แต่อาจต้องตั้ง ‘รัฐบาลผสม’ ยัน!! ไม่ต้องการนิรโทษกรรม

เมื่อวันที่ (25 มี.ค. 66)  นิกเคอิเอเชีย สื่อญี่ปุ่นรายงานบทสัมภาษณ์ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า นายทักษิณคาดการณ์ว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่จะมาบริหารประเทศไทยต่อไปจะเป็นรัฐบาลผสม ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งและสามารถคว้าเสียงข้างมากในสภาฯ ได้ก็ตาม

“ผมเชื่อว่าจะเป็นรัฐบาลผสมอย่างแน่นอน” นายทักษิณกล่าว พร้อมเสริมว่า เขามีความมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะได้ที่นั่งในสภาฯ อย่างน้อย 250 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง และเขาไม่ต้องการให้รัฐบาลใหม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับเขา โดยเขาจะเดินทางกลับประเทศไทยด้วยตนเอง แม้ว่านั่นจะหมายถึงการต้องติดคุกก็ตาม

นอกจากนี้ นายทักษิณปฏิเสธที่จะกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยกำลังตกลงกับพรรคอื่น ๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่หรือไม่ “ผมเป็นแค่ผู้ก่อตั้งพรรค ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ดังนั้น สิ่งที่ผมสามารถทำได้ คือ การสังเกตการณ์การเลือกตั้งอยู่ห่าง ๆ” นายทักษิณกล่าว

‘ชัยธวัช’ อ้าง!! นิรโทษกรรมคดี ม.112 นำไปสู่ความปรองดอง พร้อมธำรงรักษาให้พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ

(1 ธ.ค. 66) นายธชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง ‘นิรโทษกรรม 112’ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ข้อเสนอการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดอง หรือการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อถกเถียงสำคัญสำหรับการนิรโทษกรรมคดีการเมืองในปัจจุบันคือ เราควรนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดีในความผิดตามกฎหมายอาญา ม.112 ด้วยหรือไม่

เหตุผลของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งเราควรนำมาพิจารณาร่วมกันคือ หากเรานิรโทษกรรมคดี 112 ไปแล้ว จะเป็นการไม่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ หรือจะเป็นการปล่อยให้เกิดการแสดงความคิดเห็น หรือการแสดงออกทางการเมืองที่กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไปอีกหรือไม่

สำหรับประเด็นนี้ ผมยังเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จะสามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคงในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ได้ ก็ด้วยความรักความศรัทธาหรือความยินยอมพร้อมใจของประชาชน ไม่ใช่ด้วยการใช้อำนาจกดบังคับหรือการสร้างความกลัว ดังนั้น การบังคับใช้ ม.112 อย่างรุนแรงดังที่เป็นอยู่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงไม่ใช่การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างยั่งยืน ซ้ำร้ายยังจะส่งผลบ่อนทำลายสายใยความสัมพันธ์อันดี ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนในระยะยาวอีกด้วย

ในสภาพการณ์เช่นนี้ ผู้ที่ปรารถนาดีหรือจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างจริงใจ ควรต้องร่วมกันตั้งหลักในการพิจารณากุศโลบาย ที่สอดคล้องกับสถานการณ์และพลวัตของสังคมไทย เราต้องช่วยกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ เข้าไปเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองได้ จัดวางพระราชสถานะอย่างประณีตภายใต้รัฐธรรมนูญ ระมัดระวังอย่าให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างพระราชอำนาจกับหลักการ ‘ปกเกล้า แต่ไม่ปกครอง’ ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ผมเชื่อมั่นว่า มีแต่หนทางนี้เท่านั้น ที่จะธำรงรักษาให้องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะตามรัฐธรรมนูญอย่างมั่นคง สังคมไทยในห้วงยามนี้ต้องการทุกคนมาร่วมกันคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมีสติ มิใช่การอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์และ ม.112 มาคุ้มครองผลประโยชน์หรืออำนาจของตนเอง

‘รทสช.’ ย้ำ!! ไม่สนับสนุนนิรโทษกรรม ‘ม.112-ทุจริต-กระทำต่อชีวิต’ เตรียมชงร่าง 'พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข' ประกบ ตามจุดยืนพรรค

(13 ธ.ค.66) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ หรือ ‘ลอรี่’ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมพรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมตามวาระการประชุมสภาฯ โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค ขอให้ สส. และสมาชิก เตรียมทำงานให้เข้มข้นกว่าเดิม  

นายพงศ์พล กล่าวว่า ประเด็นที่สังคมให้ความสนใจเกี่ยวกับจุดยืนเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ มีจุดยืนชัดเจนอยู่แล้วว่า ไม่สนับสนุนการนิรโทษกรรม แต่พรรคเห็นด้วยหากจะให้ประชาชนที่มีเจตนาบริสุทธิ์ในการใช้สิทธิเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 -2565 ไม่ต้องรับผิด โดยยกเว้น 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ ผู้ที่มีความผิดในมาตรา 112, ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกลุ่มที่กระทำผิดต่อชีวิตผู้อื่นจนทำให้ถึงแก่ความตาย ซึ่งขณะนี้ทางพรรครวมไทยสร้างชาติ โดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ได้เป็นผู้ร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งใช้ชื่อว่าพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข เพื่อนำเสนอประกบไปด้วย โดยเนื้อหารายละเอียดทั้งหมดได้ดำเนินการภายใต้จุดยืนหลักของพรรค คือการสร้างความสามัคคีปรองดอง 

“ท่าทีของพรรครวมไทยสร้างชาติต่อประเด็นนิรโทษกรรม เรายืนยันว่าจะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมความผิดกับผู้ที่กระทำผิดในมาตรา 112 ซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน, ผู้กระทำผิดในข้อหาทุจริตและประพฤติมิชอบ  และผู้ที่กระทำผิดที่ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แต่เราต้องการให้ยกเว้นโทษกับประชาชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยเจตนาบริสุทธิ์ เพื่อสร้างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสร้างสังคมที่สันติสุข” นายพงศ์พล กล่าว 

‘นิรโทษกรรม’ ไม่ง่าย!! หาก ‘ก้าวไกล’ สอดแทรก 112 ‘พท.-รทสช.’ เดินหน้าปรองดอง แค่ไม่แตะสถาบันฯ

ว่าจะขยับเรื่อง 120 วันของนักโทษเทวดา ว่าจะเดินหน้าถอยหลังหรือออกข้างอย่างไร? แต่ขอขยักกั๊กไว้วันศุกร์สุดสัปดาห์ดีกว่า…

วันนี้ขอเคลียร์คัตชัดเจนเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม ซักหน่อย!!

สรุปความตามท้องเรื่อง…เรื่องการนิรโทษกรรมมีการพูดถึงและเคลื่อนไหวกันอย่างกว้างขวางพอประมาณ แต่ในส่วนของการขับเคลื่อนที่จะให้เป็นจริงนั้นยังต้องรอดูของจริงกันต่อไป ในชั้นนี้พอจะสรุปได้ดังนี้…

1) พรรคก้าวไกล ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว ชื่อ “ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองพ.ศ....” โดยร่างนี้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นหรือทำประชาพิจารณ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 เรียบร้อยแล้ว มีผู้เห็นด้วยเพียงร้อยละ 28.37 แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามที่จะนำไปบรรจุเป็นวาระการประชุม

ประเด็นที่มีเสียงคัดค้านร่างของพรรคก้าวไกลก็คือ การเปิดทางให้มีการนิรโทษกรรมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์-สถาบันฯ

2) พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ยกร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ...เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับ 20 สส.ได้ลงชื่อแล้วด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแก้ข้อความให้กระชับสมบูรณ์กว่าเดิม ทั้งนี้ร่างของพรรครทสช.มี 12 มาตรา นอกเหนือการนิรโทษกรรมให้กับความผิดอันเกี่ยวเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองแล้ว...จุดเน้นหนักคือ จะไม่นิรโทษกรรมกับ3 ความผิดคือ 1.คดีทุจริต 2.คดีความผิดตามมาตรา 112 และ 3.ความผิดอาญาร้ายแรงทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

กล่าวได้ว่าในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลพรรค รทสช.กล้าหาญชาญชัยกว่าพรรคอื่นๆ ในการแสดงจุดยืนให้บ้านเดินหน้าปรองดองสมานฉันท์ โดยไม่ออกอาการ ‘แหยง’ จนออกอาการ ‘กั๊ก’ กับคำว่านิรโทษกรรม...แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าพรรค รทสช.จะยื่นร่างในสมัยประชุมนี้เลยหรือชะลอเอาไว้ก่อน รอไปพร้อมกับขบวนใหญ่ของพรรคร่วมรัฐบาล

3) ในส่วนของพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย เลือกหนทางให้เสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการนิรโทษกรรม ในสมัยประชุมนี้นัยว่าเพื่อจะได้หาข้อสรุปเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ในสมัยประชุมหน้า (เดือน ก.ค.-ต.ค.2567) ซึ่งหากไม่มีข้อถกเถียงกันมากรัฐบาลอาจเสนอร่างกฎหมายในนาม ครม.หรือรัฐบาลเลยก็เป็นได้…

4) อย่างไรก็ตาม...เนื่องจากรัฐบาลแทบจะไม่มีกฎหมายเสนอต่อสภาฯ นอกจากกฎหมายใหญ่อย่างร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีฯ 2567 ดังนั้นร่างกฎหมายที่รอคิวการพิจารณาส่วนใหญ่จะเป็นร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล เช่น ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นต้น...ทำให้ขณะนี้วิปฝ่ายรัฐบาลบางส่วนรู้สึกเป็นฝ่ายตั้งรับฝ่ายค้าน หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกลถึงคิวการประชุมสมัยนี้ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลไม่มีร่างกฎหมายประกบ ซึ่งหนทางเดียวก็คือ ต้องคว่ำร่าง พ.ร.บ.ของพรรคก้าวไกล...อันจะมีทั้งผลดีและผลเสีย…

กรณีดังกล่าว เสียงข้างน้อยในวิปรัฐบาล จึงอยากให้มีการเสนอร่างนิรโทษประกบเอาไว้แบบเผื่อเหลือเผื่อขาด ถ้าไม่ทันสมัยประชุมนี้ ก็ไม่มีอะไรเสียหายประมาณนั้น...

ดังที่ได้วิสัชนามา...ก็พอจะสรุปได้ว่า...การนิรโทษกรรมเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ก็พอจะเห็นแสงสว่างอยู่ วิบๆ วับๆ...ไม่เจิดจ้าแจ่มชัดเหมือนเส้นทางสู่คุกนอกเรือนจำอันหรูหราก่อนที่จะถึงวันเวลาพักโทษปลายเดือน ก.พ.ของชายไทยวัย 74 ที่อยู่ชั้น 14 มาจะครบ 4 เดือนในอีกวันสองวันนี้

สวัสดีประเทศไทย

เรื่อง: เล็ก เลียบด่วน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top