ย้อนอดีต 'นิรโทษกรรม' ใครผิด เดี๋ยวพลิกให้ 'ถูก' แบบไม่ต้องกลับตัว

'นิรโทษกรรม' หวนกลับมาให้ติดหูอีกครั้งท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองระอุในช่วงนี้ บางคนอาจจะเข้าใจความหมายกันบ้างทั้งเชิงลึกและเชิงผิว

แต่ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้วจะสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ก่อนเลยว่า 'นิรโทษกรรม' คืออะไร?

.

- นิรโทษกรรมเป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นเพื่อลบล้างความผิดให้กับผู้ที่กระทำผิด โดยไม่ต้องรับโทษ

- ส่งผลให้สิ่งต่าง ๆ ที่ทำไปนั้นถือว่าไม่เป็นความผิด

- ไม่สามารถขุดคดีเก่าๆ มาสืบสวนได้ ถ้าหากว่าคดีเหล่านั้นได้ถูกนิรโทษกรรมไปแล้ว

- การนิรโทษกรรมจึงเป็นเหมือนกฎหมายที่สามารถทำให้ผู้กระทำผิดนั้นเป็นเหมือนผู้ไม่เคยกระทำผิดมาก่อน

.

เรียกว่าดูดีสำหรับคนมีคดีติดตัวกันเลยทีเดียว เพราะพลิกผิดเป็นถูกได้ชิลล์ ๆ มิน่าคนบางกลุ่มจึงอยากให้เกิดการนิรโทษกรรมกันนักกันหนา!! แล้วทราบหรือไม่ว่าในประเทศไทยก็มีการ 'นิรโทษกรรม' กันในช่วงอดีตมามากมายพอตัว

แล้วเกิดขึ้นมากันกี่ครั้ง?

.

การนิรโทษกรรมในบ้านเราเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 23 ครั้ง

- แบ่งเป็นพระราชกำหนดนิรโทษกรรม 4 ฉบับ

- และพระราชบัญญัตินิโทษกรรม 19 ฉบับ

.

***ลองไล่เลียงกันไปโดยเริ่มที่พระราชกำหนดนิรโทษกรรม 4 ฉบับ***

ปี พ.ศ. 2475

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินประกาศโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ โดยให้การกระทำของคณะราษฎรที่ละเมิดกฎหมาย ไม่ถูกนับเป็นการละเมิดบทกฎหมายใด ๆ เลย

.

ปี พ.ศ. 2488

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล ออกโดยนายควง อภัยวงศ์ มีการปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมดเป็นอิสระ โดยผู้กระทำผิดไม่ว่าจะถูกฟ้องหรือไม่ให้ นับว่าพ้นการกระทำผิดทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2524

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2524 ออกโดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จากเหตุการณ์พยายามรัฐประหารรัฐบาลพลเอก เปรม โดยกลุ่ม 'ยังเติร์ก' แต่ไม่สำเร็จ หลังจากนั้น พลเอกเปรม จึงได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมกลุ่มเหล่านี้ทั้งหมด เพื่อความสามัคคีของคนในชาติ

.

ปี พ.ศ. 2535

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ออกโดย พลเอก สุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนั้นพ้นผิดทั้งหมด ทั้งประชาชนที่ชุมนุมและทหารที่ทำการปราบปรามประชาชน

.

***คราวนี้มาถึงพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม 19 ฉบับกันบ้าง***

ปี พ.ศ. 2476

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 ออกโดย พระยาพหลพลลพยุหเสนา โดยคณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนาหลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

.

ปี พ.ศ. 2489

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น ออกโดยนายปรีดี พนมยงค์ โดยยกโทษให้แก่ผู้ที่ต่อต้านญี่ปุ่นเมื่อตอนที่ญี่ปุ่นเข้ามาไทย ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

.

ปี พ.ศ. 2490

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร ออกโดยนายควง อภัยวงศ์ ในขณะนั้นมีการทำการรัฐประหาร พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น ซึ่งนำการรัฐประหารโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ แต่ท้ายสุดได้ให้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (พรรคฝ่ายค้าน) ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนิรโทษกรรมกับผู้ทำการรัฐประหารในครั้งนั้นทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2475

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ.2475 แต่กลับมาใช้ช่วงปี พ.ศ.2494 ออกโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อการรัฐประหารของจอมพลป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นการรัฐประหารตัวเองเป็นครั้งแรก

.

ปี พ.ศ. 2499

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ ออกโดยจอมพลป. พิบูลสงครามเนื่องจากพระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมาครบ 25 ศตวรรษ จึงมีการอภัยทานความผิดฐานกบฏจลาจล จึงได้นิรโทษกรรมทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2500

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 ออกโดยนายพจน์ สารสิน เป็นการรัฐประหาร จอมพลป.พิบูลสงคราม นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากความไม่พอใจของประชาชนต่อการเลือกตั้งที่ทุจริตและสมาชิกพรรคมนังคศิลาของจอมพลป. เสนอให้จัดการเด็ดขาดกับจอมพลสฤษดิ์ ที่แถลงให้จอมพลป.ลาออกจากตำแหน่ง จอมพลสฤษดิ์จึงทำการรัฐประหารตัดหน้าและให้นายพจน์ สารสินขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้ง

.

ปี พ.ศ. 2501 – พ.ศ.2502

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 - พ.ศ.2502 ออกโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เหตุจากเนื่องจากการประกาศยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยอ้างถึงความมั่นคงของประเทศ จากคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ การรัฐประหารในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการรัฐประหารเงียบซึ่งก้คือการยึดอำนาจตัวเอง และได้ออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้ จอมพลสฤษดิ์ ใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างเบ็ดเสร็จและเด็ดขาด ด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 17

.

ปี พ.ศ. 2514 – พ.ศ. 2515

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 - พ.ศ. 2515 ออกโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นการรัฐประหารอีกครั้งในประเทศไทย ซึ่งเป็นการยึดอำนาจตัวเอง โดยมีการนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ทำการปฏิวัติหรือร่วมทำการปฏิวัติพ้นจากความผิดทั้งสิ้น

.

ปี พ.ศ. 2516

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียนนิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ออกโดยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ จากเหตุที่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนเดินขบวนเรียกร้อง ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หลังจากเหตุการณ์จึงมีการนิรโทษกรรมทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2515 – พ.ศ. 2517

พระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2515 - พ.ศ. 2517 ออกโดยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นการนิรโทษกรรมบุคคล โดยให้ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ที่ให้ควบคุมตัวนายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคำ

.

ปี พ.ศ. 2519

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ออกโดยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร จากเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ คณะนายทหาร 3 เหล่าทัพและอธิบดีกรมตำรวจ นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองไว้ และให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และมีการนิรโทษกรรมสำหรับผู้ทำการรัฐประหารในครั้งนั้น

.

ปี พ.ศ. 2520

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 ออกโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จากเหตุการณ์กบฏในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2520 ซึ่งเป็นความพยายามก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นำโดย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง แต่กระทำไม่สำเร็จ หลังจากนั้นจึงได้มีการนิรโทษกรรมทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2520

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ออกโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เนื่องมาจากการรัฐประหารนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐประหารนายธานินท์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นการกระชับอำนาจตนเอง ซึ่งเป็นการรัฐประหารตัวเอง และได้นิรโทษกรรมทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2519 – พ.ศ.2521

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2521 ออกโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เนื่องจากเล็งเห็นว่าการดำเนินคดีแก่ผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 จะทำให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีต้องเสียอนาคตในทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ จึงมีการนิรโทษกรรม

.

ปี พ.ศ. 2528 – พ.ศ. 2531

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2531 ออกโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จากเหตุพยายามรัฐประหารของนายทหารนอกราชการ เรียกเหตุการณ์นี้ว่า 'กบฏทหารนอกราชการ' หรือ 'กบฏ 9 กันยา' แต่หลังจากนั้นก็ได้มีการนิรโทษกรรมเพื่อความสามัคคีของคนในชาติ

.

ปี พ.ศ. 2532

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2532 ออกโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์

.

ปี พ.ศ. 2534

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ออกโดยนายอานันท์ ปันยารชุน จากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ทำการรัฐประหารพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยให้นิรโทษกรรมผู้ที่ร่วมในการรัฐประหารทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2534

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ออกโดย นายอานันท์ ปันยารชุน เพื่อยกโทษให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่กระทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

.

ปี พ.ศ. 2535

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ออกโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร เพื่อนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมพฤษภาทมิฬทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ทหารที่ปราบปรามประชาชน รวมทั้งผู้ชุมนุม

.

จะเห็นได้ว่าบ้านเรานั้นได้มีการนิรโทษกรรมมาหลายครั้งหลายคราว ซึ่งการนิรโทษกรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเราล้วนเกิดจากเรื่องของการบ้านการเมืองทั้งนั้น โดยหวังที่จะให้การอภัยและล้างความผิดทั้งหลายของผู้ที่เคยกระทำผิด เป็นบันไดก้าวไปสู่ความสามัคคีในชาติ ช่วยลดความบาดหมางและสร้างความปรองดองแก่กันได้

แต่นั่นหมายความว่าผู้กระทำผิดที่จะได้รับโอกาสนั้น ๆ ก็ต้องทำตัวให้ถูกต้องตามกฎหมาย และสำนึกในโอกาสจากการนิรโทษกรรมที่ได้รับมาเช่นกัน

ฉะนั้นจุดประสงค์ของการนิรโทษกรรม ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่ในทางปฏิบัตินั้น การนิรโทษกรรมควรจะใช้กับคนที่ควรได้รับแค่ไหน? นั่นคือ Fact มากกว่า...