Saturday, 18 May 2024
นิรโทษกรรม

จับตา!! ‘เพื่อไทย’ ขอตั้ง กมธ.วิสามัญ ศึกษานิรโทษกรรม หวังยืดเวลาเพื่อใคร?

เมื่อสัปดาห์ก่อน พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้ยื่นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในชื่อ ‘ร่างพ.ร.บ.เสริมสร้างสันติสุข พ.ศ....’ นับเป็นร่างนิรโทษกรรมฉบับที่ 3 ต่อจากพรรคก้าวไกลและพรรคครูไทยเพื่อประชาชน หลายคนก็ลุ้นกันว่า แล้วพรรคเพื่อไทยที่ชูธงนโยบายจะสร้างความปรองดองสมานฉันท์ จะเอาไง…ว่าอย่างไร

ล่าสุดก่อนปั่นต้นฉบับชิ้นนี้ตอนเที่ยงวันที่ 30 ม.ค. ‘เล็ก เลียบด่วน’ ได้รับแจ้งว่าพรรคเพื่อไทยยืนยัน นั่งยันที่จะขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาแนวทางการปรองดอง-นิรโทษ โดยจะปฏิบัติการให้จบในวันนี้ พรุ่งนี้

แบบว่า…ยื่นปุ๊บ วันนี้ อีกวันก็ขอให้สภาฯ ลัดคิวเอาญัตตินี้ขึ้นมาพิจารณา เมื่อตั้ง กมธ.วิสามัญแล้วก็ศึกษากันไป 3-4 เดือนตามสูตรสำเร็จ แล้วรายงานต่อสภาฯ จากนั้นสภาฯ ก็ส่งรายงานให้รัฐบาล รัฐบาลก็จะนำไปส่องดูว่าควรดำเนินการอย่างไร

พูดไปทำไมมี…เรื่องนี้แทบไม่ต้องวิเคราะห์กันให้เมื่อยตุ้ม ฟันธงลงไปเลยว่า เป็นเกมยืดเวลา...ขอเวลาตั้งหลักของพรรคเพื่อไทยนั่นเอง...

ขยายความว่า...นาทีนี้พรรคเพื่อไทยยังคิดไม่ตกว่าจะเอาอย่างไรกับกรณีความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งตามร่างของพรรครทสช. และพรรคครูไทยนั้นไม่เอาด้วย แต่พรรคเพื่อไทยหลายส่วนเห็นว่าน่าจะครอบคลุมไปด้วย นายใหญ่ที่ชื่อ ‘ทักษิณ’ ที่ติดบ่วงคดี 112 อยู่ด้วยจะได้รับอานิสงส์ไปด้วย

เช่นเดียวกันกับความผิดคดีทุจริต ตามร่างของพรรครทสช. และพรรคครูไทย ยืนยันว่าจะไม่นิรโทษกรรมให้…ดังนั้นใครต่อใครที่ติดบ่วงคดีนี้ รวมทั้งคนชื่อ ‘ยิ่งลักษณ์’ ก็จะไม่ได้รับอานิสงส์...

อันที่จริงผลการศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการปรองดองสมานฉันท์ในห้วง 10 ปีมานี้ มีการศึกษากันมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ครั้งในช่วง สปช .และ สปท. หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 และล่าสุด กมธ.กฎหมายและยุติธรรมของสภาฯ ชุดที่แล้ว ก็ศึกษารายงานรัฐบาลลุงตู่ไปเก็บไว้บนหิ้งด้วยเช่นกัน…

ว่ากันตามเนื้อหาของสถานการณ์จริง ๆ ในขณะนี้ การนิรโทษกรรมกลายเป็นของร้อนขึ้นมาก็เพราะความเห็นต่างกรณีจะนิรโทษกรรมให้ความผิดมาตรา 112 ด้วยหรือไม่นั่นเอง พรรคเพื่อไทยไม่อยากถือเรื่องนี้ไว้ในมือ จึงโยนเผือกร้อนไปที่สภา…ซื้อเวลา...เพราะในมือยังมีเผือกร้อนอีกเรื่องที่ต้องจัดการ…

ถึงบรรทัดนี้แทบจะสรุปได้ว่า…มหกรรมการปรองดองภายใต้ดีลลับหรือดีลเปิดจนถึงนาทีนี้คนที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือคนชื่อ ‘ทักษิณ’ แม้จะได้ไม่เต็มร้อย...แต่ก็ถือว่า..วิน...

ส่วนใครที่วาดหวังว่าดีลลับดีลลึก...เมื่อเอาทักษิณกลับบ้านแล้วจะวิน-วิน กันทุกฝ่าย นิรโทษกรรมคดีกันไป เพื่อปลดล็อกความขัดแย้งของประเทศนั้น...ดูท่าจะมืดมัว

และดูเหมือนเมฆหมอกความขัดแย้งจะก่อตัวขึ้นมาอีกครั้ง…เว้นแต่คนชั้น 14 คิดยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตัว กดปุ่มให้พรรคเดินหน้า พ.ร.บ.นิรโทษในสมัยประชุมหน้า...หลัง กมธ.วิสามัญศึกษาสำเร็จ...
เพื่อวิน วิน…กันทุกพรรค วิน..วิน กันทุกฝ่าย!!

เปิดฉาก!! 'แก้นิรโทษกรรม-ประชามติ-รธน.' ปฏิบัติการ 'กึ่งยิงกึ่งผ่าน' ของ 'เพื่อไทย'

ครับ!! เป็นไปตามที่ 'เล็ก เลียบด่วน' รายงานไว้เมื่อต้นสัปดาห์ว่า พรรคเพื่อไทยเขาจะ 'หักเหลี่ยมโหด' เสนอญัตติด่วนเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม และขอลัดคิวพิจารณา...ซึ่งวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ทุกอย่างก็จบลงด้วยความเรียบร้อยโรงเรียนเพื่อไทย...มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมา 35 คน เวลาศึกษา 2 เดือน...

ทำใจเป็นกลางก็พอจะพูดได้ว่า...เพื่อไทยต้องการให้รอบคอบ และคงมีความตั้งใจที่จะออกกฎหมายนี้อยู่พอประมาณ...สังเกตจากชื่อญัตติด่วนชื่อ ‘ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม’

แบ่บว่า...มีการยกระดับขึ้นมานิดหนึ่ง ไม่ใช่ศึกษาแนวทางปรองดอง แต่ศึกษา 'การตรากฎหมาย'

พูดก็พูดเหอะ 'เล็ก เลียบด่วน' เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับผู้สันทัดกรณีที่มองว่า...ลีลาฝ่ายกฎหมายและการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่มี 'ชูศักดิ์ ศิรินิล' เป็นเสนาธิการใหญ่...เป็นลีลาเกมฟุตบอลช็อตที่เรียกว่า 'กึ่งยิงกึ่งผ่าน' มีแต่ได้กับได้ เป็นการเช็กกระแสพรรคการเมืองและกระแสสังคมไปในตัว...และได้ยืดเวลาไปตั้งสติได้อีกเล็กน้อย

ไม่เพียงกึ่งยิงกึ่งผ่านเรื่องนิรโทษกรรมเท่านั้น วันเดียวกันพรรคเพื่อไทยนำโดย อ.ชูศักดิ์ แอบไปจัดดีลเล็ก ๆ กับพรรคก้าวไกล ยื่นขอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ. 2558 เป้าหมายลึกเป็นที่รู้ ๆ กันมานานว่าต้องการแก้มาตรา 13 ที่บัญญัติการใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้นหรือ Double Majority ว่า...

“การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้ใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น”

แปลไทยเป็นไทยสมมุติผู้มีสิทธิออกเสียง 50 ล้าน ด่านแรก ต้องมาออกมาใช้สิทธิ์อย่างน้อย 25 ล้านคน ด่านสอง ใน 25 ล้านคนนั้นต้องเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหรือ 12.5 ล้าน...

ซึ่งทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลเกิดอาการป๊อดว่า...ถ้าไม่แก้กฎหมายประชามติ อาจจะตกม้าตายตั้งแต่ด่านแรก...การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเดินต่อไม่ได้ เสียหายหลายแสน เพราะไปหาเสียงเอาไว้ใหญ่โต...!!

การยื่นแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติหนนี้จึงเป็นหนึ่งในปฏิบัติการ...กึ่งยิงกึ่งผ่าน...เช่นเดียวกัน

แต่จะว่าไป...กึ่งยิงกึ่งผ่านของพรรคเพื่อไทยก่อนหน้านี้ก็ค่อนข้างชัดเจน นั่นคือการที่ อ.ชูศักดิ์ นำทีม 122 สส.ย่องไปยืนแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขจัดทำรัฐธรรมนูญซึ่งต้องถามประชามติ...เป้าหมายส่วนลึก อ.ชูศักดิ์ยอมรับว่า ประธานรัฐสภาคงไม่กล้าบรรจุเป็นวาระประชุม เพื่อไทยจะได้ใช้เป็นข้ออ้างในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าใครถูกใครผิด และจะได้ถามในคราวเดียวกันไปเลยว่าการจัดทำประชามติต้องทำกี่ครั้งกันแน่ แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยเห็นว่าสองครั้งเท่านั้น ประหยัดงบประมาณได้ 3-4 พันล้านบาท...

ก็ได้แต่ภาวนาว่า...ขอให้ปฏิบัติการกึ่งยิงกึ่งผ่าน 3 ลูกของพรรคเพื่อไทยประสบความสำเร็จหรือเข้าประตูได้สักลูก...โดยเฉพาะกรณีนิรโทษกรรมที่ชายชั้น 14 สามารถไถ่บาปให้ตัวเองได้ด้วยการส่งสัญญาณให้พลพรรคเพื่อไทยเดินหน้า ปลดล็อกความขัดแย้งให้ได้ แม้ปลดได้ไม่ทั้งหมดแต่ก็ยังดีกว่าไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย..

ฝากคุณหนูอุ๊งอิ๊งไปกระซิบข้างหูคุณพ่อด้วยนะจ๊ะ!!

‘ธนกร’ หนุน กมธ.นิรโทษกรรม แต่ย้ำ ไม่ยกโทษให้พวกคนผิด ม.112 เพราะไม่ใช่คดีทางการเมือง แต่เป็นการหมิ่นสถาบันเบื้องสูงของคนไทย

(9 มี.ค.67) นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้ข้อยุติเริ่มนับเหตุการณ์ทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยจะเชิญทุกฝ่ายการเมืองที่มีคดีความจากการชุมนุม มาแสดงความคิดเห็น ว่า ตนเห็นด้วย หากจะเริ่มนับ 1 ในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยเฉพาะความเห็นต่างทางการเมือง ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในชาติ ซึ่งอาจจะต้องดูข้อกฎหมายเกี่ยวกับแต่ละคดีประกอบอย่างละเอียด เพราะหลายเหตุการณ์ที่เกิดการชุมนุมทางการเมืองขึ้น ยอมรับว่า ไม่ได้ชุมนุมโดยสงบ มีการใช้อาวุธทำลายสิ่งของและสถานที่ราชการด้วย จึงต้องดูให้ละเอียดรอบคอบเพราะเป็นคดีอาญา การเชิญตัวแทนกลุ่มการเมืองฝ่ายต่างๆ มาร่วมประชุมแสดงความเห็นถือเป็นนิมิตหมายที่ดีทางการเมือง

นายธนกร ย้ำว่า ขอสนับสนุน กมธ.นิรโทษกรรมฯ ที่ยังไม่พิจารณาคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะไม่ใช่คดีการเมือง แต่เป็นคดีหมิ่นประมาทอาฆาตมาตร้ายพระมหากษัตริย์ ไม่ควรเหมารวมกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ รวมกับความเห็นต่างทางการเมือง และเชื่อว่า หากมีการรวมคนที่ทำผิดมาตรา 112 ให้รับการนิรโทษกรรม ตนเองและคนไทยทั้งชาติไม่มีใครยอมได้แน่นอน

“ขอให้กมธ.นิรโทษกรรมพิจารณาให้ดี ให้รอบคอบ ไม่ควรหยิบเอาคดีทำผิดหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ มาพิจารณารวมกับคดีการเมือง เพราะไม่เกี่ยวกัน แม้ว่าจะมีบางพรรค พยายามชี้ให้เห็นว่าเป็นความเห็นต่างทางการเมืองก็ตาม ซึ่งความจริงแล้ว สถาบันฯอยู่เหนือการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกัน เป็นการสร้างชุดข้อมูล สร้างความเข้าใจที่ผิดๆให้กับบางกลุ่มและประชาชน จึงจำเป็นที่ กมธ.นิรโทษกรรม จะต้องมีจุดยืนทางกฎหมาย หากมีการเหมารวมและยกโทษให้กับผู้กระทำความผิดมาตรา 112 เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศ ไม่มีใครยอมได้” นายธนกร ระบุ

‘ธนกร’ ค้าน!! นิรโทษกรรม คนผิด ม.112 ยัน!! เป็นคดีด้านความมั่นคง ไม่ใช่การเมือง

(15 มี.ค. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และสส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำนปช.มองคดี ม.112 เป็นเงื่อนไขทางการเมือง หากอยากคลี่คลายความขัดแย้งควรขยายพื้นที่การนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมถึงความผิดมาตรานี้ด้วยนั้น ว่า ก่อนอื่นบุคคลในฝ่ายการเมืองต้องตั้งหลักให้ถูกต้องก่อน เพราะคดีชุมนุมทางการเมือง กับ คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เป็นการหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ เป็นคนละเรื่องที่จะนำมาเหมารวมว่าเป็นการเมืองไม่ได้

“ยกตัวอย่างหากมีใครมาด่าว่า หมิ่นประมาทบุพการีของเรา แบบเสีย ๆ หาย ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมือง เจ้าตัวจะยอมหรือไม่ ผมเข้าใจว่าที่หลายคนมองเรื่องนี้ผิดไปเป็นเรื่องการเมืองนั้น เนื่องจากมีบางพรรคการเมืองให้การสนับสนุนกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ ออกมาเคลื่อนไหว เมื่อมีความผิดก็คิดว่าเป็นคดีทางการเมืองซึ่งไม่ใช่ และที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ชี้ชัดแล้วว่าการออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรานี้ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง ผมจึงอยากให้ทุกฝ่ายทางการเมืองตั้งสติ แยกประเด็นให้ถูกต้อง” นายธนกร กล่าว 

เมื่อถามว่าหากนิรโทษกรรมไม่รวมคดี ม.112 จะมีการแก้ปัญหาความเห็นต่างในบ้านเมืองอย่างไร นายธนกร กล่าวว่า สังคมไทยมีหลายเวทีให้แสดงความคิดเห็นตามหลักประชาธิปไตย ทั้งเวทีสาธารณะและเวทีสภา ซึ่งตนมองว่าควรที่จะเคารพความเห็นต่างของทุกฝ่าย แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมือง หรือ บางกลุ่ม ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน สมควรที่ปัญญาชนต้องเคารพสิทธิเสรีภาพคนอื่นในสังคม ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น โดยอ้างเหตุผลของกลุ่มตนเองฝ่ายเดียวมากกว่านั้น พรรคการเมืองหรือผู้ใหญ่ต้องชี้แนะ และให้คำปรึกษาที่ถูกต้องแก่คนรุ่นใหม่ ไม่เป็นการให้ท้ายในทางที่ผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เป็นความมั่นคงของรัฐ ต้องให้ความสำคัญใครจะละเมิดไม่ได้ ถือว่าเป็นการสร้างความแตกแยกและบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ

“คุณณัฐวุฒิ ควรยึดหลักการให้ดี ไม่ใช่เห็นว่าเป็นการชุมนุมแล้วเหมารวมว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองไปเสียหมด ต้องมาดูว่าเจตนาและเป้าหมายของการชุมนุมและการแสดงความเห็นต่าง ๆ นั้น ต้องการอะไรกันแน่ ความคิดเห็น ความชื่นชอบทางการเมืองแตกต่างกันได้ แต่ต้องไม่สร้างความแตกแยก ทำกิจกรรมโดยความสงบ และต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย หากทำผิดเรื่องความมั่นคงของรัฐ ไปแตะต้องเบื้องสูงเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ไม่ถูกต้อง และศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยชี้ชัดมาแล้ว ซึ่งนายณัฐวุฒิก็ยอมรับเองว่าไม่เคยมีการเคลื่อนไหวแบบนี้มาก่อน จึงมองว่าเรื่องนี้ก็ไม่ควรที่จะได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่ใช่การเมือง” นายธนกร กล่าว

‘ธนกร’ ซัด ‘ปิยบุตร’ สนแต่ปลุกนิรโทษฯ คนผิด ม.112 แต่ไม่เคยหนุนจัดการ ‘คนบิดเบือน-เบื้องหลังเยาวชน’

(17 พ.ค.67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจและรัฐบาล ตรากฎหมายนิรโทษกรรมโดยรวมคดีผู้กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าด้วย หลังเกิดเหตุ ‘บุ้ง ทะลุวัง’ เสียชีวิตในเรือนจำ โดยอ้างว่าคดีนี้มีแรงจูงใจจากการเมือง ว่า ส่วนตัว ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัว ‘บุ้ง’ ด้วย เชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น แต่ตนก็ไม่เห็นด้วยกับทั้งการแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดในคดีมาตรา 112 ดังกล่าว เพราะถือเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ และย้ำมาโดยตลอด ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงขอคัดค้านหากมีผู้เสนอให้รวมคดีนี้ เป็นคดีการเมือง เพราะมาตราดังกล่าวถือเป็นความมั่นคงของชาติที่ต้องมีไว้ปกป้องประมุขแห่งรัฐ ซึ่งผู้ใดจะละเมิดมิได้ ซึ่งควรมุ่งไปแก้ไขที่ต้นเหตุ คือผู้ที่ให้ข้อมูลบิดเบือน และอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวมากกว่า หากไม่มีผู้ใหญ่กลุ่มนี้ คอยยุยง ส่งเสริมให้ข้อมูลผิด ๆ คงไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น

เมื่อถามว่า กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวต้องการให้มีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับการประกันตัวนั้น? นายธนกร กล่าวว่า กฎหมายให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่ผู้ต้องหาตามกฎหมายอยู่แล้ว ซึ่งในกรณีของ ‘บุ้ง’ นั้น ต้องแยกส่วน เรื่องศาลถอนประกันกับการประกาศอดอาหาร เป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งการถอนประกัน ตนเชื่อว่า ศาลมีการวินิจฉัยที่รอบคอบพิจารณาจากหลักฐานและพฤติการณ์การกระทำความผิดซ้ำหรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นดุลยพินิจของศาล ตนไม่ขอก้าวล่วง

ทั้งนี้ตนเห็นด้วยที่ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมมีคดีที่มาจากแรงจูงใจทางการเมือง มีข้อสรุปออกมาค่อนข้างชัดเจนแล้ว ว่า เรื่องการกระทำความผิดตาม ป.อาญา ม.112 นั้น ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย การจะนิรโทษกรรม ควรเป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ทั้งที่เป็นแกนนำและมวลชนที่ร่วมชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน หากเป็นคดีที่ไม่ร้ายแรง ก็เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมได้

“คนที่พูดกล่าวหา ให้ร้ายดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำผิดมาตรา 112 แบบซ้ำซาก หากมีการเหมารวมยกเข่งนิรโทษกรรมให้คนเหล่านี้ ถือเป็นการ เหยียบย่ำหัวใจคนไทยมากเกินไป เพราะกฎหมายนี้ มีไว้ปกป้องประมุขของประเทศไม่ให้ถูกละเมิด เชื่อว่า ถ้านิรโทษฯ ให้ไม่มีใครรับได้แน่นอน” นายธนกร กล่าว

‘ก้าวไกล’ ออกแถลงการณ์ กรณี ‘บุ้ง’ เสียชีวิต เรียกร้องรัฐบาล 4 ข้อ ย้ำ!! ต้อง ‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม-สร้างประชาธิปไตยเข้มแข็ง’ ให้ปชช.

เมื่อวานนี้ (17 พ.ค. 67) พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง) นักกิจกรรมทางการเมือง เรียกร้องต่อรัฐบาลให้มีบทบาทในการสร้างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน สร้างหลักประกันในการประกันตัว และคลี่คลายสถานการณ์เพื่อนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ของสังคม

ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประสบพบเจอกับการรัฐประหาร อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สังคมไทยแตกแยกอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ประชาชนจึงตั้งความหวังว่า การนิรโทษกรรมทางการเมือง ตลอดจนการปรับปรุงกฎหมายที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะเป็นวาระที่สำคัญของรัฐบาลนี้

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ปรากฏ การเสียชีวิตของ เนติพร เสน่ห์สังคม จากการอดอาหารประท้วงต่อการไม่ได้รับประกันตัว ย่อมส่งผลให้ความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรมเสียหายเป็นอย่างมาก พรรคก้าวไกลจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อดำเนินการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อกระบวนการยุติธรรมอันเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชน

1) ต่อการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของตำรวจ ควรกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาลในการชะลอคดีทางการเมือง เพื่อไม่สร้างความขัดแย้งเพิ่มเติมจนกว่าจะได้ความชัดเจนในการจัดทำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และต้องกำหนดให้สิทธิในการประกันตัว การไม่คัดค้านการประกันตัว หรือมีความเห็นไม่ให้ถอนการประกันตัวของตำรวจในคดีการเมือง ซึ่งสามารถทำได้ทันที เนื่องจากตำรวจอยู่ในการกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง

2) ข้อเสนอต่อการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ขององค์กรอัยการ ให้นายกรัฐมนตรีมีความเห็น หรือรัฐบาลมีมติ ครม. เสนอไปยังอัยการสูงสุด ให้พิจารณาให้สั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องได้ตามมาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ 2553 ประกอบข้อ 7 ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ 2554

ทั้งนี้ ข้อ 7 (4) เหตุผลตามความเห็นของรัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีถึงผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์สำคัญของประเทศ และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2561, ข้อ 7 (5) เหตุผลตามความเห็นของนายกรัฐมนตรีหรือหน่วยงานอื่นถึงผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ข้อ 7 (6) ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือความสามัคคีของคนในชาติ

ซึ่งนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีสามารถดำเนินการให้บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางการเมืองทั้งหลาย ให้คดีเป็นอันยุติลงไป

3) ข้อเสนอต่อคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 108/1 ให้อำนาจศาลยุติธรรมในการใช้ดุลพินิจพิจารณาให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ทั้งนี้ การประกันตัว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ การไม่ให้ประกันตัวตามกฎหมายดังกล่าว จะต้องปรากฏว่ามีพฤติการณ์บางอย่าง เช่น มีพฤติกรรมหลบหนี หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

ซึ่งรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี สมควรมีการปรึกษากับประธานศาลฎีกา ในฐานะประมุขของศาลยุติธรรม เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ เมื่อรัฐบาลมีแนวนโยบายที่จะนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองให้กับประชาชน การชะลอคดีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องหารือกับทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดการดำเนินคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม

4) การนิรโทษกรรมมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน แม้ว่าปัจจุบันจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ของสภาผู้แทนราษฎร แต่ผลการศึกษาดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายที่จะนำไปสู่การสร้างความปรองดองของสังคมในตอนนี้ได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงสมควรเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยเร่งด่วน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างความสมานฉันท์ในสังคมต่อไป

นอกจากการนิรโทษกรรมแล้ว รัฐบาลสามารถเสนอร่างกฎหมายอื่นที่จะนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้เกิดการปกป้องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนให้ความคุ้มครองในการประกันตัวของประชาชนที่จะสามารถต่อสู้คดีปกป้องสิทธิของตนเองได้อย่างเต็มที่ต่อไป

“สุดท้ายนี้ พรรคก้าวไกลตั้งความหวังว่า รัฐบาลจะดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง เหตุการณ์เสียชีวิตอย่างกรณีคุณเนติพร เสน่ห์สังคม ไม่สมควรจะเกิดขึ้นอีกแล้ว ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทย จะได้กลับมาทบทวน การฟื้นฟูรากฐานกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ตามที่ประชาชนพึงได้รับ” แถลงการณ์พรรคก้าวไกลระบุ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top