Monday, 26 May 2025
นิรโทษกรรม

เอกฉันท์!! 'ร่างพรบ.นิรโทษกรรม' 65% ต่อ 35% ไม่เห็นด้วยนิรโทษกรรม คดีอาญามาตรา 112

จากกรณีที่ เว็บไซต์รัฐสภา เปิดรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 รัฐธรรมนูญ ของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. …. ที่ น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 36,723 คน ร่วมกันเสนอ ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นวันสุดท้ายนั้น

ล่าสุด (13 มิ.ย.67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ หรือ 'ลอรี่' รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า...

มันจบละครับ.. ไม่เห็นด้วย 65.0% 🔴

สรุปผลการรับฟังความเห็น ร่างพรบ.นิรโทษกรรม ฉบับประชาชน

ผลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 88,565 
✅ เห็นด้วย 35%
❌ ไม่เห็นด้วย 65% 
ซึ่งคิดเป็นจำนวนสูงถึง 57,567คน

สำหรับกระบวนการพิจารณาต่อไป ร่างนี้จะถูกนำเสนอให้มีการปรับแก้ ยังไม่จบครับ.. รอติดตามกันต่อไปครับ

ขอบคุณที่แสดงสิทธิตามกรอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ..นอนหลับฝันดีครับทุกท่าน

‘ธนกร’ ยกผลโพล ‘นิรโทษกรรมฯ ฉบับปชช.’ ไม่เห็นด้วย 64.66% เชื่อ!! เจตจำนงคนส่วนใหญ่ต้องการยึดหลักกฎหมายที่ควรจะเป็น

(14 มิ.ย. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีการเมือง พ.ศ.(ฉบับประชาชน) ซึ่งรวมมาตรา 112 ผ่านเว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร ระหว่าง 13 พ.ค. - 13 มิ.ย. 2567 รวม 1 เดือนเต็ม ซึ่งมีประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นทั้งหมด 90,533 ราย โดยมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย 64.66% ส่วนที่เห็นด้วยเพียง 35.34 % ถือเป็นความตื่นตัวของประชาชนที่ให้ความสนใจต่อเรื่องดังกล่าวอย่างมาก และส่วนใหญ่เสียงที่ออกมาสะท้อนถึงเจตจำนงในการยึดหลักกฎหมายที่ควรจะเป็น 

พร้อมมองว่า ส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมคดีการเมืองฉบับประชาชน มีการเสนอให้รวมคดีที่มีผู้กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เกี่ยวกับการดูหมิ่นก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ คดีทุจริตประพฤติมิชอบของนักการเมือง และคดีความผิดที่ถึงแก่ชีวิต ซึ่งล้วนแต่เป็นคดีที่มีโทษร้ายแรงและความผิดที่ประชาชนไม่สามารถรับได้หากมีการนิรโทษกรรม

เมื่อถามว่า ผลสำรวจความเห็นเรื่องนิรโทษกรรมคดีการเมืองฉบับประชาชนสะท้อนอะไรถึงร่างนิรโทษกรรมที่กรรมาธิการกำลังพิจารณาอยู่นั้น นายธนกร กล่าวว่า มองสะท้อนภาพใหญ่ ถึงความคิดเห็นประชาชน ทั้งประเทศที่ต้องการบอกเจตจำนงว่า การพิจารณากฎหมายสำคัญโดยเฉพาะเรื่องการนิรโทษกรรมต้องอยู่ในกรอบที่เป็นคดีการเมืองจริง ๆ แม้ว่าบางคดีอาจจะมีการอ้างเรื่องแรงจูงใจทางการเมือง แต่ไปเกี่ยวโยงกับคดีมาตรา 112 ตนคิดว่ากรรมาธิการเองก็ต้องรับฟังเสียงประชาชน เพราะกฎหมายอะไรที่ผ่านสภาออกไป ต้องเป็นที่ยอมรับของสังคมด้วย เพราะหากค้านสายตาประชาชนอาจเป็นการสร้างข้อขัดแย้งใหม่ขึ้นในประเทศได้

“กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ควรเปิดรับฟังความเห็นทุกฝ่ายรอบด้าน เช่นเดียวกับฉบับประชาชนที่สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดให้แสดงความเห็นตลอด1 เดือนเต็ม ผ่านเว็บไซต์ของสภามาแล้ว เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นที่ยอมรับของสังคม เพราะคดี ม.112 คดีทุจริตประพฤติมิชอบ และคดีที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต ถือเป็นคดีอาญาร้ายแรงและไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง เชื่อว่าคนไทยรับไม่ได้หากมีการรวมด้วย กมธ.จึงไม่ควรที่จะลังเลนำเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนกระทบจิตใจคนไทยแบบนี้ เข้าไปพิจารณารวมอยู่ในร่างนิรโทษกรรมด้วย“ นายธนกร ย้ำ

'ธนกร-รวมไทยสร้างชาติ' ดักทาง 'กมธ.นิรโทษกรรม' ถอยปลดล็อก ม.112 เชื่อ!! คนไทยทั้งชาติรับไม่ได้ หากให้มีการนิรโทษฯคนหมิ่นสถาบันฯ

(12 ก.ค. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์หลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน โดยกมธ.ไม่สามารถหาข้อยุติเรื่องนิรโทษกรรมคดีมาตรา 110 และ คดีมาตรา 112 ซึ่งถือเป็นคดีที่มีความอ่อนไหว และ คดีที่มีความรุนแรง ตามมาตรา 289 ด้วยการลงมติได้ ว่า 

“ตนขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการได้พิจารณาตามหลักการกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในหมวด 2 มาตรา 6 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ระบุว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ หากกรรมาธิการฝืนให้ลงมติให้คดีที่ผู้กระทำผิดเกี่ยวกับสถาบันฯ ให้ได้รับการนิรโทษกรรม อาจเสี่ยงต่อการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญได้”

เมื่อถามว่า การที่กมธ. ไม่สามารถลงมติได้ว่าไม่รวมคดีที่มีความอ่อนไหว ม.110, ม.112 และคดีร้ายแรง สะท้อนถึงความไม่ชัดเจนเรื่องข้อกฎหมายหรือไม่ นายธนกร กล่าวว่า 

“ความจริงแล้วถ้ายึดหลักการกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมถึงจารีตประเพณีรากเหง้าของประเทศแล้ว ตนเชื่อว่า กรรมาธิการจะไม่เสียงแตกแบบนี้ เพราะทุกคนต่างทราบดีอยู่แล้วว่า หากเราไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์คงไม่มีประเทศไทยในวันนี้ ซึ่งการจะนิรโทษกรรมผู้ที่หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์จึงไม่ควรเกิดขึ้น ควรจะใช้ช่องทางอื่นเพื่อจะขอพระราชทานอภัยโทษจะเป็นทางออกที่ดีกว่า”

“แม้ว่ากมธ.นิรโทษกรรม ไม่มีข้อยุติเรื่องคดีม.110,112 โดยมีข้อสรุปให้ส่งเรื่องเสนอต่อสภาฯ และให้สส. เป็นผู้พิจารณาในรายละเอียด ของการบัญญัติเป็นกฎหมายก็ตาม ผมมองว่า การที่กมธ.ไม่ชี้ชัด ไม่มีข้อสรุปว่าจะไม่รวมคดีอ่อนไหวในการนิรโทษกรรมนั้น ก็ทำให้สังคมคิดได้ว่า เป็นการอะลุ่มอล่วย เห็นด้วยในการกระทำผิดโดยปริยายหรือไม่ ส่วนตัวขอคัดค้าน และหากถูกเสนอกฎหมายเข้าสภา ผมและสส.พรรครวมไทยสร้างชาติก็จะลงมติไม่เห็นด้วยให้มีการนิรโทษฯ ให้คนหมิ่นสถาบัน และเชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศก็รับไม่ได้เช่นกัน” นายธนกร ย้ำ

‘บิ๊กป้อม’ ยันจุดยืน ‘พปชร.’ ปกป้องสถาบัน ค้าน!! ‘กม.นิรโทษกรรม’ หากรวม ‘ม.112’

(19 ก.ค. 67) ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงว่าตนได้รับมอบหมายจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เกี่ยวกับจุดยืนของพรรคต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม พรรคมีมติคัดค้านการรวมคดี 112 ร่วมอยู่ในร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากการกระทำดังกล่าวจะเป็นการฝ่าฝืนบรรทัดฐานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ที่ระบุว่า “ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดการกระทำความผิด บุคคลที่หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ และเป็นกฎหมายคุ้มครองที่ไม่ให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและเป็นสถาบันหลักของประเทศ ตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้”

ดังนั้น การให้ผู้กระทำความผิดที่ถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม แต่มาออกกฎหมายเพื่อให้นิรโทษกรรมความผิดดังกล่าว จึงเป็นการขัดต่อคำวินิจฉัยต่อศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ดังนั้น การที่จะเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมีมาตรา 112 ร่วมด้วย โดยมีเจตนาทางการเมืองไม่ได้ ถือเป็นการมีเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลาย สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดโทรมและอ่อนแอ นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

“การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ให้ผู้กระทำผิดในมาตรา 112 เป็นการออกกฎหมายที่มีความร้ายแรงมากกว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ด้วยซ้ำ เราจึงคัดค้านไม่เห็นด้วย และพล.อ.ประวิตร ก็มีนโยบายชัดเจนที่จะปกป้องสถาบัน จึงต้องมาบอกให้ชัดเจนว่าพรรคพลังประชารัฐ ขอคัดค้านเรื่องนี้และท่านยังกำชับว่าหากมีการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภาฯ ในวาระ 1 ไม่ว่าจะกี่ฉบับ สส.พรรคพลังประชารัฐทุกคน จะลงมติไม่เห็นด้วยทุกฉบับ เพื่อให้ร่างกฎหมายที่จะมีการนิรโทษกรรมมาตรา 112 ตกไปตั้งแต่วาระ 1 ”

เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่พรรคเพื่อไทยอาจจะให้รวมมาตรา 112 กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เข้าไปด้วย นายไพบูลย์ กล่าวว่า ใครจะอย่างไรก็สุดแล้วแต่ แต่พรรคพลังประชารัฐ เราจะคัดค้านทุกวิถีทางที่จะไม่ให้มีการเห็นชอบร่างกฎหมายนิรโทษกรรมมาตรา 112 ส่วนเรื่องพรรคไหนจะทำแบบไหนก็แล้วแต่ เราไม่เกี่ยว แต่พรรคเราแน่วแน่ และมั่นคงในหลักการนี้ 

ถามต่อว่า ที่ระบุว่าการแก้กฎหมายนิรโทษกรรม โดยรวมมาตรา 112 ร้ายกว่าการเสนอแก้มาตรา 112 หากพรรคการเมืองดึงดันที่จะให้มี 112 จะส่งผลต่อสถานะของพรรคการเมืองเหมือนกรณีของพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนได้พยายามย้ำไปแล้วในประเด็นนี้ ขอให้แต่ละพรรคการเมืองไปตีความเอาเอง

‘ธนกร-รวมไทยสร้างชาติ’ ค้านสุดลิ่ม!! นิรโทษกรรม สอดไส้ ‘ม.110-112’ เชื่อ!! คนทำผิดหาข้ออ้างรอดไม่ยากและสุดท้ายก็ได้นิรโทษกรรม

(20 ก.ค.67) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เตรียมจัดทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมสภาภายในเดือนก.ค.นี้ 

โดยมองว่า หากจะมีการเสนอสภาให้ตรากฎหมายนิรโทษกรรม แก่การกระทำที่มีเหตุแรงจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดต่อชีวิต และความผิดที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง 2 ประเด็นแรกนั้น ตนเห็นด้วย หากเป็นการกระทำที่ไม่รุนแรงถึงขั้นชีวิต แต่ควรพิจารณาในรายละเอียดอย่างรอบคอบ ตามหลักกฎหมาย เชื่อว่าจะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายได้

ส่วนการกระทำผิดที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และ มาตรา 112 ที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาทฯ นั้น กรรมาธิการมีเสียงแตก เห็นเป็น 3 แนวทาง แนวทางแรก เห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรม แนวทางที่ 2 นิรโทษกรรมให้โดยไม่มีเงื่อนไข และแนวทางที่ 3 นิรโทษกรรมให้แบบมีมาตรการเงื่อนไขนั้น 

โดยนายธนกร เห็นว่า หากจะมีการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิด ที่ก้าวล่วงสถาบันฯ ตามมาตราดังกล่าว อาจเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ในหลายมาตรา เช่น มาตรา 6 ที่ระบุชัดว่า ‘องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้’ ซึ่งจะเท่ากับว่ากฎหมายที่สภาจะตราออกมาใหม่เรื่องการนิรโทษกรรม ส่อไปขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง และทำให้ไม่ผ่านการพิจารณาถูกตีตกในสภาได้ 

นอกจากนั้น อาจเป็นการเปิดช่องให้คนนำเหตุผลมาอ้างว่า ทำลงไปเพราะมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ถูกชักจูงโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนทำให้คนไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทำผิดซ้ำอีก เพราะสุดท้ายก็ได้นิรโทษกรรม แบบนี้ถือว่าเป็นความลักลั่นทางกฎหมาย เปิดช่องให้คนทำผิดมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องที่เปราะบาง เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะเป็นความมั่นคงของชาติ

“พรรครวมไทยสร้างชาติ นำโดยนายพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค ได้ย้ำจุดยืนมาตลอดแล้วว่า กฎหมายนิรโทษกรรม เราคัดค้าน จะต้องไม่รวมคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ 112 เด็ดขาด เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ใครจะดูหมิ่นก้าวล่วงไม่ได้ ซึ่งการจะตรากฎหมายใดออกมาก็ตาม ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ยึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก ไม่เอาพวกพ้องเป็นใหญ่ หากดันทุรังผลักดันเรื่องนี้ในสภา เชื่อว่าสส.ผู้แทนที่มาจากประชาชนทุกคน ไม่ยอมแน่ หากกระทำความผิดก็ต้องยอมรับและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” นายธนกร ระบุ

'ลอรี่ รวมไทยสร้างชาติ' เผยเหตุผล 4 ข้อสำคัญ ไม่หนุนนิรโทษกรรม ม.112 ชี้!! ขัดแย้งหลักปรองดอง-เสี่ยงทำผิดซ้ำ แนะ!! ขออภัยโทษเป็นรายกรณี

เมื่อวานนี้ (30 ก.ค. 67) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ หรือ 'ลอรี่' รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้เปิดเผย ผลการศึกษาของคณะ กมธ.นิรโทษกรรม ตลอดการประชุม19 สัปดาห์ว่า

ตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติ ทั้ง 3 ท่าน มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ ที่จะไม่เห็นชอบให้มีการรวมนิรโทษกรรมคดี ม.112 และ ม.110 ได้แก่ นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส. ชุมพร เขต 1 พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ, นายเจือ ราชสีห์ กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ และนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการ

นายพงศ์พล กล่าวสรุปว่า ตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่เห็นด้วยที่จะรวมคดีอ่อนไหวทางการเมืองอย่าง ม.112, ม.110  ในการนิรโทษกรรม ด้วยเหตุผลหลัก ๆ ดังนี้

1. ปัญหาเชิงคุณภาพ ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตั้งต้น ที่จะต้องการสร้างความปรองดองสังคม เพราะอาจเป็นการสร้างความขัดแย้งครั้งใหม่

2. ปัญหาเชิงปริมาณ ในแง่ของจำนวนคดีม.112 คิดเป็นจำนวนน้อย ไม่ถึง 2% เทียบกับคดีทั้งหมด แต่อาจทำให้การนิรโทษกรรมคดีที่เหลือ 98% มีปัญหาได้

3. กระทำผิดซ้ำ มีโอกาสในการกระทำผิดซ้ำสูง หลังการได้รับนิรโทษกรรม ซึ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมถอย

4. คดีลักษณะเฉพาะ คดีม.112, 110 เป็นคดีลักษณะเฉพาะพิเศษ ไม่สามารถแก้โดยนิรโทษกรรมได้ คล้ายกับความผิดต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คดีม.135 ควรให้เป็นการพระราชทานอภัยโทษเป็นรายกรณีไป

คณะกรรมาธิการฯ ศึกษาแนวทางทางการตราพรบ.นิรโทษกรรม คดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ได้มีมติสุดท้าย ใช้กระบวนการ 'ผสมผสาน' นิรโทษกรรมโดยกรอบกฎหมาย ร่วมกับการมีคณะกรรมการ คอยวินิจฉัยและอุทธรณ์ 

ความเห็นคณะ กมธ.นิรโทษกรรม แบ่งออกเป็น 3 แนวทาง โดยเป็นการบันทึกความเห็นอย่างมีอิสระ ไม่มีการโหวต

ผลความเห็นล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 67 จากคณะ กมธ.นิรโทษกรรม 36 ท่าน ไม่รวมประธาน 1 ท่าน และคณะกรรมาธิการถอนตัว 1 ท่าน เหลือ จำนวน 34 เสียง ดังนี้

-  ไม่นิรโทษ 112 จำนวน 13เสียง
-  นิรโทษ 112 จำนวน 3 เสียง
-  นิรโทษ 112 โดยห้ามกระทำผิดซ้ำ จำนวน 12 เสียง 

“โดยผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ เตรียมยื่นให้ประธานสภาฯ ในสัปดาห์นี้ เพื่อพิจารณาบรรจุเข้าในวาระการประชุมสภา ในลำดับต่อไป ฝากถึงพี่น้องคนไทยที่รักสถาบัน และเชื่อมั่นในความถูกต้อง ติดตามเรื่องนี้ไปด้วยกันอย่างใกล้ชิด” นายพงศ์พล กล่าวทิ้งท้าย

‘ธนกร’ ลั่น!! ไม่รวม ‘ม.112’ ในร่างนิรโทษกรรม ย้ำ!! จะทำละเมิดสถาบันไม่ได้ ชี้!! เป็นความมั่นคงของประเทศ แต่หากสภาฯ พิจารณาขัด รธน. ก็ต้องมีผู้รับผิดชอบ

(22 ก.ย. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ  อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เตรียมเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาฯ ในวันที่ 26 ก.ย.นี้ ซึ่งให้สภาร่วมกันพิจารณาในความเห็นต่างเรื่องคดีมาตรา 112 จะรวมอยู่ในการนิรโทษกรรมหรือไม่ ซึ่งทราบว่าในคณะกมธ.เองไม่สามารถหาข้อสรุป จึงให้สมาชิก กมธ.แต่ละคน บันทึกความเห็นไว้ในรายงานแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.ไม่รวม มาตรา112 เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง 2.รวม อย่างมีเงื่อนไข และ3.รวมโดยไม่มีเงื่อนไข   โดยส่วนตัว ได้ยืนยันมาตลอด ว่าไม่เห็นด้วยและคัดค้านถึงที่สุด ไม่สมควรรวมคดีความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญระบุชัดเจน ในมาตรา 6 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระนามพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้  และสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เกี่ยวข้องการเมือง  หากจะนิรโทษกรรมให้ก็เสี่ยงที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

ทั้งนี้ จากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2567 ก็ชี้ชัดแล้วว่า มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครอง ซึ่งเป็นการ รณรงค์หาเสียง รวมถึงการยื่นแก้ไขมาตรา 112  ซึ่งเมื่อมองเทียบเคียงกับ ผู้ที่กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว ยิ่งมีน้ำหนักรุนแรงกว่าพรรคก้าวไกลเสียด้วยซ้ำ  ดังนั้นในการประชุมสภาเรื่องนี้ ตนจะขอใช้เอกสิทธิ์สส. เลือกข้อ1. ไม่รวมมาตรา 112  ซึ่งเห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่ไม่มีความรุนแรงหรือถึงแก่ชีวิต รวมทั้งไม่รวมคดีทุจริตคอรัปชั่นด้วย แต่ควรจะมีเงื่อนไขในการพิจารณาการนิรโทษกรรมอย่างละเอียดรอบคอบ  เชื่อว่าสภาเองก็ต้องมีการพิจารณาอย่างรัดกุม ไม่ทำให้เกิดการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญเสียเอง

“ยกคดียุบพรรคก้าวไกลมาเทียบ ก็ทำให้เห็นได้ชัดเจน ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างละเอียดว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง หากจะนิรโทษกรรมให้ผู้มีความผิดตามมาตรา 112 สภาต้องคิดให้ดีและรอบคอบ ส่วนตัวขอคัดค้านและไม่เห็นด้วยที่จะรวมมาตรานี้ให้ได้รับนิรโทษกรรม เพราะไม่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจทางการเมือง แต่หากที่ประชุมสภาในวันที่ 26ก.ย.มีการพิจารณาออกมาอย่างไร หากขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ควรจะต้องมีผู้รับผิดชอบ” นายธนกร กล่าวทิ้งท้าย

‘รวมไทยสร้างชาติ’ สวนกระแส ย้ำ จุดยืนไม่นิรโทษมาตรา 112 เด็ดขาด ‘เพื่อไทย’ ไร้ข้อสรุปโยนประชุมวิปรัฐบาลอีกรอบ ด้านพรรคอื่นยังสงวนท่าที

(16 ต.ค. 67) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรประจำสัปดาห์นี้คงไม่มีเรื่องไหน วาระไหนที่จะสำคัญไปกว่าการเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่ในเนื้อในมีการให้ความเห็นถึงการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญารวมอยู่ด้วย 

THE STATES TIMES ได้ทำการสำรวจความเห็นจากทุก ๆ พรรค และทุกฝ่ายทางการเมือง ดูเหมือนหลาย ๆ พรรคพยายามสงวนท่าที แต่หนึ่งพรรคแม้จะอยู่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนนั้นคือพรรครวมไทยสร้างชาติ

‘อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ออกมาแถลงหลังจากการประชุมพรรค ย้ำชัด ๆ ว่า

พรรครวมไทยสร้างชาติจึงขอสงวนสิทธิ์ที่จะมีมติงดออกเสียงในการลงมติรายงานฉบับดังกล่าว ทั้งในชั้นการรับทราบ และการเห็นชอบรายงานฉบับดังกล่าวเพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ

ด้วยเหตุผลว่าเป็นการยืนยันในมติเดิมของพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่า จะไม่เห็นชอบในรายงานฉบับดังกล่าว เนื่องจากไม่มีความสมบูรณ์ ขาดข้อสรุปที่ชัดเจน ดังที่เคยได้แจ้งไปเมื่อมีมติพรรครวมไทยสร้างชาติในวันที่ 26 กันยายน 2567 ซึ่งในครั้งนี้รายงานที่พิจารณาก็ยังมีเนื้อหาเช่นเดิม

นอกจากนี้นายอัครเดชยังมีการย้ำจุดยืนและหยิบยกเอาอุทาหรณ์ข้อเท็จจริงที่เคยเกิดมาแล้วออกมา 

จุดยืนของพรรครวมไทยสร้างชาติชัดเจนว่าจะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและละเมิดต่อสถาบันหลักของชาติ

หากจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่รวมเอาผู้กระทำความผิดมาตรา 112 ด้วยแล้วมีความเสี่ยงว่าการกระทำดังกล่าวจะละเมิดต่อกฎหมาย เช่นที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเรื่องในทำนองเดียวกันมาแล้ว 

ขณะที่อีกฟากฝั่งทางการเมืองพรรคประชาชน โดยนายณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อ และกรรมการบริหารพรรคออกมาแถลงว่า พรรคยังยืนยันในการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดมาตรา 112 

ท่ามกลางบรรยากาศที่ขมุกขมัว ทำให้พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลยังคงวุ่น จับต้นชนปลายไม่ถูก การประชุมพรรคที่นำโดยสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรค ยังหาข้อสรุปในเรื่องรายงานนิรโทษกรรมไม่ได้ 

โดยที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมีมติให้นำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล ที่จะจัดขึ้นในวันนี้(16 ต.ค. 67)เพื่อหาข้อสรุป 

เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการเมืองไทยในอนาคต เนื่องจากรายงานฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการตรากฎหมายนิรโทษกรรมในอนาคต ว่าจะรวมเอาผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 อยู่ในการนิรโทษกรรมหรือไม่

ผู้ที่สนใจการเมืองไทยกรุณาติดตามโดยพลัน

‘เพื่อไทย’ มีมติหนุนข้อสังเกต-รายงานนิรโทษกรรม ด้าน ‘นพดล’ ย้ำ พท.ไม่มีความคิดล้างผิด ม.110 และ 112

(24 ต.ค. 67) นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสส.พรรค ถึงการลงมติวาระพิจารณาการลงมติโหวตจะรับข้อสังเกตรายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม หรือไม่ ว่า รายงานนี้ไม่ใช่การพิจารณากฎหมาย ไม่ใช่การพิจารณาว่าจะมีหรือไม่มีมาตรา 112 รายงานนี้เป็นเพียงผลการศึกษาว่าหากต้องทำกฎหมายนิรโทษกรรมต้องทำอย่างไร ซึ่งตนพยายามอธิบายมาหลายครั้งและนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ก็พูดชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 จากการฟังในที่ประชุมทั้งหลายก็มีแนวโน้มไปในทิศทางนั้น ฉะนั้น จึงได้ย้ำว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 เพียงแค่ตอนนี้ไม่ใช่การพิจารณากฎหมาย เพียงแค่เป็นวาระการศึกษากฎหมาย 

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่ประชุมจะลงมติกันในวันนี้ได้หรือไม่นั้น นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานสส.พรรค พท. ได้ถามความเห็นอย่างรอบด้าน จึงมีข้อสรุปว่าร่างรายงานนี้ที่เป็นรายงานที่เสนอโดยพรรค พท. และได้มีการประชุมกมธ.มา 19 ครั้ง ซึ่งกมธ.ไม่มีใครคัดค้านในรายงานนี้ว่าไม่ถูกต้อง ฉะนั้น ในที่ประชุมพรรค พท.จึงมีความเห็นว่าเราจะรับทราบรายงาน รวมถึงเห็นชอบกับข้อสังเกต ส่วนพรรคอื่นจะไม่เห็นชอบ ก็แล้วแต่แต่ละพรรค แต่พรรค พท.ควรเห็นชอบเพราะเป็นรายงานของพรรค พท.ที่เสนอ แต่เมื่อถึงเวลาจะไม่เห็นชอบมันผิดข้อเท็จจริง แต่หากสมาชิกจะเห็นแตกต่างกันไป เราก็ไม่ว่าอะไร ให้เป็นดุลยพินิจแต่ละคน แต่โดยหลักจะไปในแนวทางที่เห็นชอบ 

เมื่อถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลควรโหวตไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า การโหวตเป็นเอกสิทธิ์ การที่พรรคร่วมรัฐบาลจะมีความเห็นอย่างไร ตนทราบ แต่ถือว่าเป็นเอกสิทธิ์ของเขา เราไม่ได้ว่าอะไรกัน 

ด้านนายนพดล กล่าวว่า จากที่ตนเคยอภิปรายไปและพรรค พท. ก็มีจุดยืนที่ชัดเจนว่าพรรค พท.ไม่มีนโยบายและไม่มีความคิดที่จะนิรโทษกรรมความผิดในมาตรา 110 และมาตรา 112 ฉะนั้น การที่มีบางสื่อนำเสนอไปว่าพรรค พท.จะดันนิรโทษกรรมมาตรา 112 จึงไม่ต้องกับข้อเท็จจริง ย้ำว่าพรรค พท.จะไม่นิรโทษกรรมมาตรา 112 

เปิดข้อมูล ‘แกนนำม็อบปี 63’ โดน 112 ไปแล้วอย่างน้อย 12 คน ลี้ภัย 2 ราย เพนกวิน-ไมค์ ระยอง จับตา หลังรายงานนิรโทษล่มในสภา

(24 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากข้อมูลในฐานข้อมูลของ 'ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน' ที่รับทำคดีให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม ผู้เสียหาย หรือเหยื่อทางการเมือง เผยแพร่ข้อมูลสถิติว่า นับตั้งแต่ 24 พ.ย. 2563 เป็นต้นมา ถึง 20 ต.ค. 2567 มีบุคคลถูกจับกุมข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 275 คน ใน 307 คดี โดยสรุปมีคดีที่สิ้นสุดแล้ว จำนวน 77 คดี คดีที่อยู่ในชั้นศาลจำนวน 163 คดี

โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็น ประชาชนไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 162 คดี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร้องทุกข์ 11 คดี คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไปร้องทุกข์ 9 คดี คดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ร้องทุกข์ 1 คดี ส่วนที่เหลือคือคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหา

โดยพฤติการณ์ส่วนใหญ่ที่ถูกตั้งข้อหามาจาก การปราศรัยในที่ชุมนุม 59 คดี การแสดงออกอื่น ๆ เช่น การติดป้าย พิมพ์หนังสือ แปะสติ๊กเกอร์ เป็นต้น 72 คดี คดีเกี่ยวกับการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ 169 คดี และยังไม่ทราบสาเหตุ 7 คดี

สำหรับบรรดาแกนนำมวลชนเมื่อปี 2563 นั้นถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 มีอย่างน้อย 12 คน เช่น 'อานนท์ นำภา' มี 25 คดี ปัจจุบันศาลตัดสินไปแล้ว 4 คดี รวมโทษจำคุก 14 ปี 20 วัน 'พริษฐ์ ชิวารักษ์' หรือ 'เพนกวิน' มี 14 คดี โดยศาลตัดสินแล้ว 1 คดี โทษจำคุก 2 ปี แต่เจ้าตัวได้หลบหนี และลี้ภัยอยู่ต่างประเทศในขณะนี้ เช่นเดียวกัน 'ไมค์' ภาณุพงศ์ จาดนอก ที่มีคดีติดตัว 9 คดี ตัดสินแล้ว 1 คดีโทษจำคุก 4 ปี แต่เจ้าตัวหลบหนีลี้ภัยไปแล้วเช่นกัน

ขณะที่ 'รุ้ง' ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล มี 10 คดี เบนจา อะปัญ 8 คดี ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 6 คดี พรหมศร วีระธรรมจารี 6 คดี ชูเกียรติ แสงวงค์ วรรณวลี ธรรมสัตยา เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ 4 คดี ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี ส่วน 'ไบรท์' ชินวัตร จันทร์กระจ่าง อดีตแกนนำม็อบช่วงปี 2563-2564 แต่ปัจจุบันเขาอ้างว่ากลับตัวกลับใจ และยอมรับคำสารภาพทุกข้อหา มีคดีติดตัว 8 คดี

นี่ยังไม่นับบรรดา 'มวลชน' ที่ติดสอยห้อยตาม 'ม็อบราษฎร' อีกหลายคนที่ต้องโทษติดคุกในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และคดีตามมาตรา 112 อีกหลายคดีเช่นเดียวกัน

ทั้งหมดคือบุคคลที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 โดยคดีทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ดังนั้นกลุ่มคนข้างต้น จะได้รับอานิสงส์ในการ 'นิรโทษกรรม' หรือไม่ 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งมีการศึกษาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิด ม.112 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น

ผลการพิจารณาปรากฏว่าสภาผู้แทนราษฎร มีมติไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยมีผู้ลงมติ 428 คน ลงมติเห็นด้วย 152 คน ไม่เห็นด้วย 270 คน งดออกเสียง 5 คน และไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top