Friday, 17 May 2024
กระทรวงกลาโหม

‘พลเอก ประยุทธ์’ เป็นประธานในพิธี ถวายกฐินพระราชทาน ประจำปี 2564 ณ วัดนางนองวรวิหาร

ในวาระที่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานผ้าพระกฐินให้กระทรวงกลาโหมนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา ณ วัดนางนองวรวิหาร ถนนวุฒากาศ แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพฯ ในวันพุธที่ 17 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14.30 นาฬิกา

โดยมี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธี โดยกระทรวงกลาโหมขอถวายปัจจัยสี่ อันควรแก่สมณะบริโภคเพื่อบำรุงพระอารามเป็นมูลค่า จำนวน 5,010,999 บาท และมอบอุปกรณ์การศึกษาให้กับโรงเรียนวัดนางนอง (พิพัฒน์) มูลค่า 100,858 บาท และโรงเรียนอนุบาลวัดนางนอง มูลค่า 5,280.- บาท นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นสิริมงคลอันใหญ่หลวงแก่บรรดาข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างของกระทรวงกลาโหม

 

‘โฆษกกลาโหม’ แจง ทบ.ตั้งงบจ้างสวทช. ผ่าพิสูจน์  GT200 เก๊หรือไม่ กว่า 7.5 ล้านบาท เป็นไปตามคำแนะนำของอัยการสูงสุด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ก่อนรับเงินค่าเสียหายกว่า 683 ล้านบาท  

4 มิ.ย.2565 - พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจง ภายหลังที่ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายงบกลาโหม ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณว่า ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กองทัพบกทำสัญญาจ้าง มูลค่ารวม 7,570,000 บาท ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 757 เครื่อง ตกเครื่องละ 10,000 บาท ว่า ทราบเรื่องจากกองทัพบก ที่ตั้งงบประมาณไว้ เนื่องจาก เป็นไปตามคดีอาญา ที่กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขาย กับพวก รวม 5 คน ต่อศาล ฐานร่วมโกง และศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ก็ตัดสินชี้มูลมาแล้วว่าจำเลยมีความผิด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แต่ขณะเดียวกันคดีในทางปกครอง กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขาย โดยศาลปกครองกลางได้สั่งให้ต้องชำระหนี้กับกองทัพบก เป็นเงินกว่า 683,000,000 บาท แต่เมื่อต่อมา ทางบริษัทได้ยื่นอุทรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นว่า การตรวจเครื่อง GT200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่อง ทั้ง 757 เครื่อง เป็นสาระสำคัญของคดี จึงมีความจำเป็นให้กองทัพบกตรวจสอบทุกเครื่องว่าใช้งานได้หรือไม่

ทั้งนี้ให้ตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญมีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบ ทั้งการวัดวัตถุไฟฟ้าสถิต การแพร่คืนแม่เหล็กไฟฟ้า การวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง การวิเคราะห์ผลรวมถึงการผ่าพิสูจน์ตัวเครื่อง กองทัพบกจึงได้ดำเนินการจ้างไปที่ สวทช. ตามที่เสนอราคามาโดยในปี 2564 ใช้งบประมาณประมาณ 3.2 ล้านบาท และในปี 2565 อีก 4.37 ล้านบาท ก็ได้ทยอยตรวจสอบ

'บิ๊กตู่' สั่งกำลังทหารรับมือน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมขอบคุณที่ช่วยกันทำให้ประชาชนปลอดภัย

 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 ก.ย. 65 พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม พร้อม รมช.กลาโหม และ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยาและการปฏิบัติงานของศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพในพื้นที่

โดยรมว.กลาโหม ได้เดินทางไปยังวัดกษัตราธิราชเจ้า รับฟังสถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมทั้งการเตรียมการป้องกันสถานที่สำคัญๆ ชุมชนและการรับมือกับปริมาณน้ำในแม่น้ำที่เพิ่มขึ้น ก่อนที่จะเดินทางต่อไปสังเกตการณ์สถานการณ์น้ำและการสนับสนุนของหน่วยทหารในพื้นที่พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย และพื้นที่บริเวณพระตำหนักสิริยาลัย พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่

'ไทย-ลาว' หารือ พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ เสริมเสถียรภาพ กระชับความสัมพันธ์ครอบคลุมทุกมิติ

(23 ก.พ. 66) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้ พลเอกสนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ พลตรีพันแสง บุนพัน รองหัวหน้ากรมใหญ่เสนาธิการกองทัพประชาชนลาว (เทียบเท่าผู้บัญชาการทหารบก) ณ ห้องพระบารมีปกเกล้า ในศาลาว่าการกลาโหม

โดยพลเอกสนิธชนก ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวต้อนรับ รองหัวหน้ากรมใหญ่เสนาธิการกองทัพประชาชนลาว ในโอกาสเดินทางเยือนไทย ในฐานะแขกของกองทับบก และยินดีที่จะได้ร่วมหารือ เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น สำหรับความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศนั้น มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในทุกมิติ อาทิ ความร่วมมือในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี, ความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ชายแดน, การเสริมสร้างเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาคและภูมิภาค รวมถึงการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำรัฐบาล

ราชกิจจาฯ เผยแพร่คำสั่งกระทรวงกลาโหม  เลื่อนปลดประจำการ ‘ทหารเกณฑ์’ คราวละ 1 ปี

(30 มี.ค.66) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 275/2566 เรื่อง การเลื่อนกําหนดเวลาปลดทหารกองประจําการที่สมัครใจรับราชการในกองประจำการต่อเพื่อทดแทนการเรียกเกณฑ์ ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ด้วยกระทรวงกลาโหมมีเหตุจำเป็นเลื่อนกำหนดปลดทหารกองประจำการ เพื่อพัฒนาการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจําการไปสู่ระบบทหารกองประจําการอาสาสมัคร โดยให้ทหารกองประจําการที่รับราชการครบกําหนดเวลาปลด รับราชการในกองประจําการต่อเพื่อทดแทนการเรียกเกณฑ์

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2479 และความในมาตรา 24 วรรค 5 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 จึงกำหนดการปฏิบัติในการเลื่อนกำหนดเวลาปลดประจำการ ดังนี้

- ยกเลิกคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 1388/2555 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2555 เรื่อง การเลื่อนกำหนดเวลาปลดทหารกองประจำการที่สมัครใจรับราชการในกองประจำการต่อเพื่อทดแทนการเรียกเกณฑ์

- ให้เลื่อนกำหนดเวลาปลดทหารกองประจำการเพื่อทดแทนการเรียกเกณฑ์ คราวละ 1 ปี เว้นแต่มีกรณีจำเป็นที่ไม่สามารถส่งทหารกองประจำการเข้ารับราชการได้ตามวงรอบปกติ ให้เลื่อนกำหนดเวลาปลดเพื่อทดแทนการเรียกเกณฑ์ให้ตรงตามวงรอบการปลดได้ แต่ต้องมีเวลารับราชการในกองประจำการในการเลื่อนกำหนดเวลาปลดทหารกองประจำการเพื่อทดแทนการเรียกเกณฑ์ไม่น้อยกว่า 6 เดือน

- ให้ทหารกองประจำการที่รับราชการด้วยความขยันหมั่นเพียร มีความประพฤติดี และมีอายุไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์ ในปี พ.ศ.ที่จะเลื่อนปลดนั้น สมัครขอรับราชการในกองประจำการต่อเพื่อทดแทนการเรียกเกณฑ์ได้

กลาโหม เลื่อนรายงานตัว ‘ทหารเกณฑ์’ ผลัด 1 จากเดิม 1 พ.ค. เป็น 15 พ.ค. หลังเลือกตั้งเสร็จ

(7 เม.ย. 66) เมื่อวันที่ 6 เม.ย 66 มีการเผยแพร่ หนังสือกระทรวงกลาโหม เรื่อง การกำหนดวันรายงานตัวเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ผลัดที่ 1/2566 ลงนามโดย พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหมทำการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปถึง รมว.มหาดไทย มีเนื้อหาระบุถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 2566 นั้นเนื่องด้วยพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497มาตรา 34 กำหนดให้ "ทหารกองเกินที่ถูกเข้ากองประจำการผู้ใด จักต้องเริ่มเข้ารับราชการทหารกองประจำการเมื่อใด ให้นายอำเภอท้องที่ที่รับเข้าตรวจเลือกเป็นผู้กำหนด และให้นายอำเภอออกหมายนัดเพื่อให้ทหารกองเกินผู้นั้นมา ณ ที่อำเภอท้องที่ตามที่ได้กำหนดไว้นั้น เพื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ถ้าทหารกองเกินผู้นั้นไม่มาตามนัดให้ถือว่าหลีกเลี่ยงขัดขืน"

‘สุทิน’ พบ ‘สุกำพล’ ขอคำแนะนำคุมกลาโหม เผย!! กองทัพพร้อมปรับลดกำลังพล แต่ต้องไม่กระทบต่อศักยภาพ

(4 ก.ย. 66) นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าพบ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 ของนายทักษิณ ชินวัตร ที่บ้านสุวรรณทัต จังหวัดปทุมธานี เพื่อพูดคุยขอคำแนะนำในการทำงานร่วมกับกองทัพ โดยนายสุทินได้นำพวงมาลัยดอกมะลิมามอบให้ พล.อ.อ.สุกำพล ก่อนเข้าไปภายในบ้าน

ระหว่างการหารือ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่พลเรือนแท้ ๆ มาคุมกระทรวงกลาโหม นายสุทินได้ตอบว่า มาทำงานตรงนี้เลือกไม่ได้ จึงอยากจะขอคำแนะนำ เพราะพลเรือนแม้จะศึกษามามาก แต่ก็ไม่สู้คนที่ทำมาก่อน โดยเฉพาะความเป็นรัฐมนตรี จึงต้องมาขอคำแนะนำ ซึ่งพล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่มาขอคำแนะนำ เพราะบางคนอยากทำก็ทำเลย ทำไปแล้วผิดก็ไปเลย

ภายหลังการพูดคุย นายสุทินกล่าวกับสื่อมวลชนว่า วันนี้มาหาอดีตรัฐมนตรีได้ทั้งความรู้และสิ่งที่สำคัญคือกำลังใจ ซึ่ง พล.อ.อ.สุกำพลได้ให้ความเชื่อมั่นและคำแนะนำ เรื่องการลำดับความสำคัญในการบริหาร การวางตัวต่อกองทัพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ให้รายละเอียดที่เป็นประโยชน์มาก

ส่วนกำหนดการเข้ากระทรวงกลาโหม นายสุทินกล่าวว่ายังไม่ได้กำหนด ต้องไปหารือกับที่ประชุมของพรรคเพื่อไทยก่อน และอาจจะต้องรอความชัดเจนหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา คาดว่าจะเป็นช่วงหลังวันที่ 11 ก.ย.

นายสุทินกล่าวอีกว่า การเดินสายพบผู้นำเหล่าทัพก่อนหน้านี้เป็นไปด้วยดี ทั้งการพูดคุยแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผย ได้เห็นสัญญาณจากกองทัพเองว่า กองทัพเปิดใจกว้างที่จะรับพลเรือน ซึ่งถ้าเราเข้าใจเขาและมีความชัดเจนถึงแนวปฏิบัติต่าง ๆ และเขาเชื่อว่าเราทำเพื่อชาติจริง ๆ กองทัพก็จะไม่มีปัญหา

นายสุทินกล่าวว่า การทำงานในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตนเองไม่ได้รู้สึกลำบากใจ แต่ก็ไม่ได้ประมาท หมายความว่าจะเข้าไปบริหารแบบไม่เตรียมตัวใด ๆ จะวางใจมากเกินไป คิดว่าเราชำนาญรู้ดีแล้วไม่ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องการรัฐประหารเหมือนที่พรรคเพื่อไทยเคยโดนมาแล้ว เรื่องอย่างนั้นไม่ได้เป็นประเด็นที่ต้องมาคิด

นายสุทินเปิดเผยอีกว่า เรื่องการปรับการเกณฑ์ทหารให้เป็นระบบสมัครใจและงบประมาณกองทัพเกี่ยวกับเรือดำน้ำนั้น ได้มีการพูดคุยกับผู้นำเหล่าทัพไปแล้ววานนี้ (3 ก.ย.) แต่ไม่ได้ลงรายละเอียด ซึ่งเรื่องการเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจทางกองทัพคิดมานานและก็ทำมาอย่างเป็นขั้นตอน เพียงแต่ว่าถ้าจะทำให้รวดเร็วให้ทันกับที่สังคมต้องการ รัฐบาลจะต้องให้การสนับสนุนกองทัพ อย่างไรก็ดี การเกณฑ์ทหารระบบสมัครใจสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่เดือนนี้ เมื่อได้พลทหารระบบสมัครใจเต็มจำนวน เดือนเมษายนก็ไม่จำเป็นจะต้องมีการเกณฑ์ทหารอีก

ส่วนการปรับลดกำลังพล ทางกองทัพเองมีแผนในการดำเนินการอยู่ และมีเป้าหมายว่าปี 2570 ขนาดกองทัพจะเปลี่ยนไป ตนในฐานะรัฐมนตรีก็ต้องให้การสนับสนุนกองทัพไปสู่เป้าหมายนั้น ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงที่สังคมต้องยอมรับ คือประเทศต้องมีทหาร และกองทัพมีการประเมินจำนวนกำลังพลที่เหมาะสมไว้ ซึ่งยอดกำลังพลตอนนี้มากไป ทางกองทัพก็ยินดีจะปรับลด เพียงแต่จะต้องไม่กระทบกับศักยภาพของกองทัพ

นายสุทินกล่าวอีกว่า สำหรับการจะส่งเสริมให้คนมาสมัครเป็นพลทหารจำนวนมากๆ นั้น ต้องสร้างแรงจูงใจ ซึ่งในความคิดของตนจะต้องทำ 2 อย่าง คือ 1.ปรับสวัสดิการให้ทหาร 2.ปรับทัศนคติเชิงลบของสังคมต่อทหารเกณฑ์ เช่น ผู้ปกครองของพลทหารมักมีภาพจำต่อการฝึกของกองทัพว่ามีความโหดร้ายทารุณ ส่งผลให้พลทหารบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แม้จะมีกรณีตัวอย่างไม่มาก แต่เรื่องเหล่านี้มักจะเป็นข่าว หรือเงินเดือนที่พลทหารได้รับจริงถูกหักออก ไม่เป็นไปตามที่เสนอไว้ ดังนั้น จึงต้องมีการปรับความเชื่อ และทำให้ระบบโปร่งใสยิ่งขึ้น

นายสุทินกล่าวได้กล่าวถึงเรื่องการพิจารณาเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำที่สั่งซื้อจากจีนว่า มีทางออกที่ดีอยู่ เพียงแต่ต้องรอความชัดเจนหลังแถลงการนโยบาย คำว่าดีก็คือ กองทัพต้องพอใจ และประชาชนและสังคมรับได้ มีเหตุผลอธิบายได้ และต้องพูดคุยกับกองทัพให้ละเอียด ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ก่อน โดยต้องคุยกับ ผบ.ทร.และคณะ ต้องฟังคนที่เขาจะใช้ด้วย ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะยกเลิกเพื่อเปลี่ยนไปใช้ของชาติอื่นหรือจะเดินหน้า

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หากมีโอกาสจะไปพูดคุยกับ 2 ป. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) หรือไม่ นายสุทินตอบว่า หากมีโอกาสก็อยากเข้าพบ เพราะไม่ได้ถือตนว่าเป็นฝ่ายใด

ทั้งนี้ ในลำดับถัดไป นายสุทินมีกำหนดการเข้าพบ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และอดีต รมว.กลาโหม พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ สว. และ อดีต รอง ผบ.ทบ. ส่วนสายวิชาการ จะมีการหารือกับ นายสุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการรัฐศาสตร์อาวุโส และ นายปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง

‘บิ๊กทิน’ เข้า ‘กลาโหม’ วันที่ 13 เวลา 13.13.13 น. พร้อมสักการะศาลหลักเมือง-สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในกระทรวงฯ

(12 ก.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 13 ก.ย.66 นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหมจะเข้ากระทรวงเป็นวันแรก โดยเดินทางมายังศาลหลักเมืองในเวลา 12.45 น. เพื่อทำพิธีสักการะศาลหลักเมือง จากนั้นเดินทางเข้าไปภายในกระทรวงกลาโหม เพื่อถวายสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาลาว่าการกลาโหม

จากนั้นขบวนรถ รมว.กลาโหม จะเคลื่อนขบวนจากศาลหลักเมือง เข้าประตูหน้ากระทรวงกลาโหม โดยมีทหารกองรักษาการ ยืนแถวจากนั้นให้พลแตรเป่าเคารพ ขณะที่รถของรมว.กลาโหม เคลื่อนเข้าประตูกระทรวงกลาโหม ในเวลา 13 นาฬิกา 13 นาที 13 วินาที (13.13.13. น.) 

เวลา 13.45 น. พิธีถวายราชสักการะและถวายสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในศาลาว่าการกลาโหม

เวลา 14.00 น. พิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศผสม 3 เหล่าทัพ ณ ลานอเนกประสงค์ ในศาลาว่าการกลาโหม

เวลา 14.30 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับฟังการบรรยายสรุปภารกิจของกระทรวงกลาโหม ณ ห้องภาณุรังษี

จากนั้นจะเดินทางไปยังกระทรวงกลาโหม (ศรีสมาน) ปากเกร็ด เพื่อไปถวายสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่5 

สำหรับนายสุทิน คลังแสง เป็นรมว.กลาโหม ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ที่เรียกว่า รมว.กลาโหม เป็นคน 42 เพราะก่อนหน้าเป็นเสนาบดีกลาโหม เป็น รมว.กลาโหมพลเรือนคนที่ 6 ต่อจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรมว.กลาโหม

‘สุทิน’ ชี้ การยุบ ‘กอ.รมน.’ มีปัจจัยหลายอย่างต้องพิจารณา คนที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลก็พูดได้ทุกอย่าง แต่ต้องดูความเป็นจริงด้วย

(2 พ.ย. 66) นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ออกมาเรียกร้องให้ยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ว่าคนที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลก็พูดได้ แต่การจะยุบต้องประเมินปัจจัยหลายๆ อย่าง บางเรื่องพูดได้แต่บางเรื่องก็เปิดเผยข้อมูลไม่ได้ เพราะฉะนั้น คนที่ยังไม่ได้เป็นรัฐบาลก็พูดได้ทุกอย่าง แต่เมื่อมาเป็นแล้ว ก็ต้องมาดูความเป็นไปได้อีกทีว่าทํายากแค่ไหน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับโครงสร้างกำลังพลของกองทัพ มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง นายสุทิน กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานที่พิจารณาเรื่องดังกล่าวกำลังสรุปมาให้เป็นระยะๆ ตอนนี้อยู่ขั้นตอนการสรุปแนวทางว่าจะปรับอย่างไร เพราะฉะนั้นยังไม่เห็นแนวทางการปรับลดอย่างเป็นรูปธรรม เพราะยังไม่มีการปฏิบัติ ทั้งนี้ ตามแผนเดิมที่กองทัพได้ทำมาคือปรับตามแผนราชการที่ทำไว้ คาดว่าปี 2570 จะสามารถปรับกำลังพลได้เยอะ และจะมีการเพิ่มมาตราการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดแบบใหม่ น่าจะเป็นแรงจูงใจที่ทำให้พลทหารที่ไม่ใช่สายหลักเข้าสู่ระบบเยอะ และจะทำให้กำลังพลลดลงมาก

เมื่อถามว่า มีเป้าหมายที่จะทำให้กำลังพลลดลงเท่าไหร่ นายสุทิน กล่าวว่า ตัวเลขยังไม่ชัดเจน กำลังทำอยู่ แต่ยืนยันว่าลดลงเยอะ ในปี 2570 เชื่อว่ากำลังพลโดยเฉพาะระดับนายพล จะลดลงไม่น้อยกว่า 20-30% ขณะเดียวกันก็ต้องคำนวณงบประมาณที่จะไปใช้ในการจ่ายให้กับผู้ที่ขอเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด กับเงินที่จะใช้หากกำลังพลขออยู่ต่อ ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าการจ่ายให้กำลังพลที่เกษียณก่อนกำหนดจะคุ้มกว่า จะช่วยให้ทั้งงบประมาณและกําลังพลลดลง

ถามว่า เมื่อกำลังพลลดลงแล้ว ภารกิจของกองทัพจะปรับเปลี่ยนหรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ก็ต้องมีการปรับตามบริบทเดิม โดยเฉพาะภัยคุกคามใหม่

เมื่อถามถึงนโยบายการเกณฑ์ทหาร หรือการรับสมัครทหารทางออนไลน์ นายสุทิน กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (1 พ.ย.) เป็นการรายงานตัวรอบแรกของทหารที่สมัครใจ พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลานี้ของปีที่แล้ว พบว่าปีนี้มีการสมัครมากขึ้น ซึ่งจากที่ผ่านมาจะพบว่าเมื่อถึงวันรายงานตัวมีคนเปลี่ยนใจเยอะ แต่ปีนี้ไม่มี ทั้งนี้ ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจำนวนตัวเลขเท่าไหร่ ต้องรอให้จบโครงการแล้วจะสรุปให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดี และขอฝากไปยังลูกหลานเยาวชนที่เดิมคิดว่า 2 ปีที่เข้ามาเป็นทหารเกณฑ์จะเป็นการเสียโอกาส เป็นการสะดุดชีวิต แต่วันนี้เรากำลังทำให้เป็น 2 ปีแห่งการเพิ่มโอกาสของชีวิต เมื่อทุกคนเข้ามาเป็นทหารเกณฑ์แล้วจะได้รับโอกาสใหม่ๆ และดีๆ ซึ่งทางกองทัพกำลังเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากที่เอาคนมาฝึกทหารมาเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยจะเติมการพัฒนาทุกมิติ รวมถึงการซ้อมรบและการศึกษา คนที่มาเป็นทหารเกณฑ์ในสมัยนี้จะสามารถเรียนต่อได้ และจบพร้อมกับผู้อื่นที่ไม่ได้มาเป็นทหาร

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะใช้วิชาทหารโอนมาเป็นหน่วยกิตใช่หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ไม่ใช่แบบนั้น แต่ตอนนี้มีระบบเรียนออนไลน์ที่สามารถใช้เทียบวุฒิได้ เพราะฉะนั้นใครกำลังศึกษาอยู่ก็สามารถเรียนต่อได้เลยแม้ต้องเกณฑ์ทหาร ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ เมื่อถามอีกว่า ทางกองทัพจะประสานกับทางมหาวิทยาลัยใช่หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ได้มีการคุยไว้แล้ว และจะทําเอ็มโอยูกับทบวงมหาวิทยาลัย โดยจะเริ่มนำร่องบางแห่งก่อน และจะพยายามให้ครอบคลุมทั้งหมด เพราะขณะนี้สถาบันการศึกษาก็ต้องการนักศึกษา และผู้ที่มาเป็นทหารเกณฑ์ ก็มีโอกาสที่จะเป็นข้าราชการประจำมากขึ้น

‘สุทิน’ ลุยศรีสะเกษ ตรวจเยี่ยมค่ายสุรนารี-เปิดอนุสรณ์สถานพิทักษ์ไทย เล็งพัฒนาพื้นที่การค้า หวังกระตุ้นเศรษฐกิจชายแดนไทย-กัมพูชา

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 66 นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของกำลังป้องกันชายแดน ในพื้นที่กองกำลังสุรนารี โดยมี พลตรี พรชัย มาหลิน รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2, พลตรี ณัฏฐ ศรีอินทร์ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี, นายอนุพงค์สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ, นายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์, พันเอก จิรัฏฐ์ ช่วงฉ่ำ รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี และผู้บังคับหน่วย พร้อมทั้งส่วนราชการในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ

โดย นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ ไปยังสนาม ฮ.ชั่วคราว โรงเรียนภูมิซรอลวิทยา อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จากนั้น คณะเดินทางไปยังศาลาวัฒนธรรม อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปการปฏิบัติงานของกองกำลังสุรนารี พร้อมทั้งตรวจภูมิประเทศบริเวณจุดตรวจการณ์ผามออีแดง ให้โอวาทและมอบสิ่งของบำรุงขวัญแก่กำลังพลของกองกำลังสุรนารี ที่ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันชายแดนในพื้นที่ จังหวัดศรีสะเกษ

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิด ‘อนุสรณ์สถานพิทักษ์ไทย’ ซึ่งกองกำลังสุรนารี จัดสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมความกล้าหาญของวีรชน ที่ได้เสียสละเลือดเนื้อ ในการรักษาประเทศชาติและอธิปไตย ณ ฐานปฏิบัติการฟ้าลั่น อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ

ต่อมา นายสุทิน และคณะ เดินทางไปยังจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของด่านศุลกากรช่องจอม พบปะประชาชนที่มาคอยต้อนรับ พร้อมทั้งรับฟังบรรยายสรุป การส่งเสริมการค้าชายแดนตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เสริมสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชายแดนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top