Friday, 4 July 2025
World

‘ยูเครน’ เตรียมจ่ายค่าศพทหารเสียชีวิต รายละ 11 ล้าน ครอบครัวลุ้นหนักเงินชดเชย…จะถึงมือจริงไหม??

(6 มิ.ย. 68) ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ได้ลงนามให้จ่ายเงินชดเชยครั้งเดียวมูลค่า 15 ล้านฮรีฟยา (ราว 11.8 ล้านบาท) แก่ครอบครัวทหารยูเครนที่เสียชีวิตในหน้าที่ โดยมาตรการนี้ถูกกำหนดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2022 เพื่อเป็นการสนับสนุนขวัญกำลังใจแก่ทหารและครอบครัวท่ามกลางความขัดแย้งกับรัสเซีย

รัสเซียตกลงส่งคืนศพทหารยูเครนจำนวน 6,000 รายที่ถูกแช่แข็งภายใต้ข้อตกลงที่อิสตันบูล ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การจ่ายเงินชดเชยรวมสูงถึง 90 พันล้านฮรีฟยา (ราว 89,100 ล้านบาท) 

แม้กฎหมายกำหนดเงินชดเชยทหารเสียชีวิตอย่างชัดเจน แต่ยังมีเสียงวิจารณ์ว่า “ขาดความโปร่งใส” และมีคำกล่าวหาว่าเซเลนสกีและผู้ใกล้ชิดอาจรับผลประโยชน์โดยไม่ถูกตรวจสอบ เนื่องจากผู้สนับสนุนต่างชาติยังคงให้การสนับสนุนยูเครนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เซเลนสกี ยังถูกตั้งคำถามว่า ครอบครัวของทหารที่ได้รับศพคืนทั้งหมดจะได้รับเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ แหล่งข่าวบางแห่งระบุว่าขั้นตอนการรับรองศพยังล่าช้า และเกณฑ์การจ่ายเงินยังมีเงื่อนไขอีกมาก อนาคตการจ่ายเงินที่ยาวนานและกระบวนการเชิงราชการอาจทำให้ครอบครัวหลายรายไม่ได้รับสิทธิทันที

‘ทรัมป์’ ตอบตกลงเยือนจีน ตามคำเชิญ ‘สี จิ้นผิง’ ถกการค้า-ลดภาษี หลังโทรคุยกันในรอบหลายเดือน

(6 มิ.ย. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยืนยันเตรียมเยือนประเทศจีน หลังได้รับคำเชิญจาก สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์ที่เน้นเรื่องการค้าเป็นหลัก ทั้งสองฝ่ายยังเชิญกันไปเยือนประเทศของอีกฝ่ายด้วย

การสนทนาในวันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน 2568 ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำทั้งสองประเทศพูดคุยโดยตรง นับตั้งแต่เริ่มสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยสำนักข่าวซินหัวของจีนระบุว่า การพูดคุยนี้เกิดขึ้นตามคำขอของฝ่ายสหรัฐฯ

ทรัมป์โพสต์บน Truth Social ว่าการพูดคุยเป็นเวลา 1 ชั่วโมงครึ่งเน้นเรื่องการค้าและมีผลลัพธ์เชิงบวกสำหรับทั้งสองประเทศ พร้อมระบุว่าเขาจะเดินทางไปจีนพร้อมสุภาพสตรีหมายเลข 1 และเชิญสี จิ้นผิง เยือนทำเนียบขาวเช่นกัน

ซินหัวรายงานว่า สี จิ้นผิง เรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการด้านลบที่กระทำต่อจีน และเน้นย้ำว่าจีนจะรักษาข้อตกลงลดกำแพงภาษีซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงกันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯ กับจีนจะลดภาษีสินค้านำเข้าลง 15% เป็นเวลา 90 วัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยกล่าวหาจีนละเมิดข้อตกลงลดภาษีและหยุดส่งแร่ธาตุหายาก ขณะที่จีนปฏิเสธข้อกล่าวหา และในวันเดียวกัน ทรัมป์ยืนยันว่านักศึกษาจีนสามารถเดินทางมาเรียนในสหรัฐฯ ได้ แต่จะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ขณะที่สี จิ้นผิง เตือนให้สหรัฐฯ ระมัดระวังเรื่องไต้หวันอย่างรอบคอบในบริบทความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้

‘ยูเครน’ เจอขีปนาวุธ โดรนถล่ม ดับ-เจ็บเพียบ หลังโจมตีฐานทัพ และสนามบินของ ‘รัสเซีย’

(6 มิ.ย. 68) รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนระลอกใหญ่ในช่วงเช้ามืดวันศุกร์ โดยใช้ทั้งโดรนและขีปนาวุธพิสัยไกลพุ่งเป้าหลายเมืองทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเคียฟ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 คน และบาดเจ็บราว 40 คนทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ยูเครนระบุว่าเป็นการตอบโต้หลังจากที่เคียฟโจมตีฐานทัพทิ้งระเบิดของรัสเซียลึกเข้าไปในแดนศัตรูเมื่อต้นสัปดาห์

การโจมตีสร้างความเสียหายในกรุงเคียฟ โดยมีอาคารที่พักอาศัยหลายหลังถูกไฟไหม้และผนังถล่ม ขณะที่หน่วยกู้ภัยเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตท่ามกลางซากปรักหักพัง รายงานระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเสียชีวิต 3 นาย ส่วนเมืองเชอร์นีฮิฟใกล้ชายแดนเบลารุสถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธรวม 14 ลูก และเมืองลุตสค์ทางตะวันตกเฉียงเหนือใกล้โปแลนด์มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย

กองทัพอากาศยูเครนระบุว่า รัสเซียยิงขีปนาวุธครูซอย่างน้อย 38 ลูก ขีปนาวุธพิสัยใกล้ 6 ลูก และโดรนอีกกว่า 400 ลำ ขณะที่ในวันเดียวกัน ยูเครนใช้โดรนโจมตีโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองเอนเกลส์ของรัสเซีย สร้างความเสียหายบริเวณฐานทัพทางใต้ ซึ่งอยู่ห่างจากพรมแดนยูเครนถึง 460 กิโลเมตร

การโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากยูเครนโจมตีสะพานเคิร์ช จุดเชื่อมหลักระหว่างรัสเซียกับแหลมไครเมีย ด้วยวัตถุระเบิดน้ำหนักกว่า 1 ตันที่ซุกไว้ใต้น้ำ ด้านประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ให้คำมั่นว่าจะตอบโต้ และย้ำจุดยืนในสายตรงกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งไม่ได้แสดงท่าทีห้ามปรามผู้นำรัสเซีย

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เตือนว่ารัสเซียอาจใช้ขีปนาวุธรุ่นใหม่ที่มีหัวรบหลายลูกโจมตียูเครนอีกในอนาคต โดยที่ผ่านมาเคยใช้อาวุธชนิดนี้ถล่มเมืองดนิโปรมาแล้ว การขยายการผลิตโดรนและขีปนาวุธในรอบปีของรัสเซีย ทำให้สามารถเปิดฉากโจมตีขนาดใหญ่พร้อมกันหลายแนวรบ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ใหม่เพื่อเจาะระบบป้องกันทางอากาศของยูเครนที่ยังพึ่งพาเทคโนโลยีสหรัฐฯ เป็นหลัก

จีนเปิดข้อมูลลับ ขีปนาวุธข้ามทวีป DF-5 ครั้งแรก ยิงไกล 12,000 กม. ครอบคลุมแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ

(6 มิ.ย. 68) สื่อทางการจีน CCTV เปิดเผยรายละเอียดสำคัญของขีปนาวุธข้ามทวีปแบบติดหัวรบนิวเคลียร์ DF-5 เป็นครั้งแรก ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายครั้งสำคัญ หลังจากจีนเคยเก็บงำข้อมูลด้านยุทธศาสตร์นิวเคลียร์มาอย่างเข้มงวด โดยนักวิเคราะห์มองว่าการเปิดเผยครั้งนี้อาจเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนมีขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ที่เหนือกว่าที่โลกเคยรับรู้

รายงานระบุว่า ขีปนาวุธ DF-5 เป็นจรวดสองขั้นตอนที่สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ลูกเดียว ซึ่งมีอานุภาพระเบิดสูงถึง 3-4 เมกะตัน หรือมากกว่าระเบิดปรมาณูที่สหรัฐฯ ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงกว่า 200 เท่า มีพิสัยยิงไกลถึง 12,000 กิโลเมตร ครอบคลุมทั้งแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก พร้อมค่าความแม่นยำเฉลี่ยภายในรัศมี 500 เมตร

จรวดรุ่นนี้มีความยาว 32.6 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.35 เมตร และน้ำหนัก 183 ตัน โดยพัฒนาขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1970 และเข้าประจำการในปี 1981 นายซ่ง จงผิง อดีตผู้ฝึกสอนในกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ระบุว่า DF-5 เป็นรากฐานสำคัญของการสร้าง “อำนาจยับยั้งนิวเคลียร์” ของจีน และเป็นสัญลักษณ์ว่า จีนมีศักยภาพตอบโต้ในระดับสากล

นักวิเคราะห์คาดว่า การเปิดเผยข้อมูล DF-5 อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทยอยปลดระวางระบบเก่า และเตรียมเปิดตัวยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยยิ่งขึ้น เช่น DF-31 และ DF-41 ซึ่งสามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์หลายลูก และมีระบบเคลื่อนที่ได้ ขณะที่เพนตากอนประเมินว่า ปัจจุบันจีนมีหัวรบนิวเคลียร์พร้อมใช้งานกว่า 600 ลูก และอาจทะลุ 1,000 ลูกภายในปี 2030

ทั้งนี้ จีนยังคงยืนยันนโยบาย 'ไม่ใช้ก่อน' ต่ออาวุธนิวเคลียร์ และจะไม่ใช้งานกับประเทศที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ท่ามกลางการแข่งขันด้านยุทโธปกรณ์ระหว่างชาติมหาอำนาจที่ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ

ถอดรหัสความเงียบของชายแดน เมื่อเขมรแสดงสิทธิ์ แต่คนไทยกลับถอย

(7 มิ.ย. 68) เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเอย่าได้นัดแนะกับพี่ทหารที่ชายแดนแม่สอด พี่เค้าบอกว่าจะพาเอย่าไปที่ปราสาทตาเมือนธมและช่องบก 

พอไปถึงพี่แกก็พาเอย่าไปพบเพื่อนเขาที่เป็นทหารคุมชายแดนแถวนั้น เอย่าก็ไม่รอช้าถามพี่เขาเลยว่าทำไมไม่เห็นมีคนไทยมาเที่ยวเลย มีแต่คนเขมรมาและคำตอบที่ได้ก็ทำให้เอย่าอดจะตกใจไม่ใช่น้อย พี่เขาบอกว่า

“คนเขมรเขาไม่คิดหรอกว่าจะมีสงคราม เขารู้ว่าฝั่งไทยไม่อยากรบ” เอย่าเลยถามต่อ

“อ้าวงั้นทำไมคนไทยไม่มาเที่ยวละ”

คำตอบที่ได้นั้นน่าสนใจยิ่ง พี่เขาบอกว่า คนไทยไม่ไว้ใจพวกเขมร มีแต่คนเขมรเท่านั้นที่เขาคิดว่าทหารเขมรจะไม่ยิง แต่คนไทยไม่มีใครพร้อมสู้นะ คนไทยนะเอาจริงๆเก่งก็แค่ในโซเชียล มาถึงวันนี้ความใจกล้า บ้าบิ่นต่างจากฝั่งเขมรเยอะ ต้องยอมรับว่าหลายสิบปีมานี้ที่ฮุนเซนมีอำนาจ เขาได้สร้างชุดความคิดหนึ่ง การเคลมซอฟต์พาวเวอร์ต่างๆ จากไทย เป็นแผนการสร้างชาติของเขมรยุคใหม่ที่ใช้ทฤษฎีแบบขโมยเอามาแบบดื้อๆ ส่วนผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไทย ณ วันนี้ก็เห็นแค่ผลประโยชน์ทางธุรกิจของคนบางกลุ่มแต่กลับไม่ได้สนใจที่จะแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วยซ้ำ

เอย่าแย้งต่อทันทีคะ ว่าก็นี่เขาประชุม JBC กันไงคะ พี่ทหารส่วนกลับทันทีเช่นกัน ว่าฝั่งพม่าประชุม TBC มากี่รอบแล้วแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง ถามว่าฝั่งไทยรู้ทั้งรู้ว่ายาเสพติดอยู่จุดไหน ค้ามนุษย์ตรงไหน แล้วแก้อะไรได้บ้าง สิ่งที่โชคดีของฝั่งชายแดนพม่าคือพวกกะเหรี่ยงยังไม่มายึดดินแดนไทยแบบเอิกเกริกเท่านั้นเอง เขาใช้วิธีกองทัพมดเปลี่ยนสัญชาติแทน

คำตอบนี้ยอมรับว่าทำให้เอย่าอึ้งไปไม่น้อย สุดท้ายก่อนจากกันพี่ทหารย้ำว่า คนไทยเก่งแต่บริจาคแต่ให้มาช่วยปกป้องทำสิ่งที่ถูกต้องน้อยคนจะทำ เก่งสุดคือในโซเชียล ดูได้จากยามเขมรที่ทำงานในไทยมันโพสต์เฟซบุ๊กขู่ฟ่อๆ รัฐบาลไทยไม่เห็นทำอะไรเลย ลองไปทำในประเทศอื่นสิป่านนี้มันโดนดำเนินคดีและเนรเทศไปนานแล้ว คนไทยพึ่งพาพวกแรงงานชาติข้างๆ จนลืมไปว่าคนพวกนี้เขาอยากมีตัวตนในประเทศเรามากแค่ไหน และนั่นทำให้การแก้ปัญหาของไทยถึงป้อแป้เแบบนี้ไง 

คำตอบนี้แม้เป็นการสะท้อนความเห็นของคนเพียงคนเดียวแต่มันเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า คนไทยเรากำลังถูกคนต่างชาติเข้ามาลิดรอนสิทธิ์หรือไม่ บางทีการใช้นโยบาย Thai First แก้การจัดการกับพวกคนต่างชาติอย่างจริงจังอาจจะแก้ปัญหาเหล่านี้ในระยะยาว ก่อนที่คนไทยจะสิ้นชาติและสูญพันธุ์

‘เยอร์มัค’ ลั่นรัสเซียไม่มีวันชนะ ยูเครนยังเข้มแข็งแม้สงคราม 3 ปี เร่ง ‘สหรัฐ-อียู’ คว่ำบาตรรัสเซียเต็มกำลัง

(7 มิ.ย. 68) อันดรีย์ เยอร์มัค หัวหน้าสำนักงานประธานาธิบดียูเครน ยืนยันว่ารัสเซียไม่มีทางชนะในสงครามครั้งนี้ แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 3 ปี แต่ยูเครนยังคงยืนหยัดและต่อสู้ได้อย่างเข้มแข็ง พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้นและประสานงานร่วมกันเพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซีย

เยอร์มัค เน้นย้ำว่าการคว่ำบาตรต่อรัสเซียควรครอบคลุมภาคพลังงาน น้ำมัน และภาคการธนาคาร ซึ่งจะทำให้ประธานาธิบดีปูตินต้องเผชิญกับ “ราคาที่แท้จริง” และถูกบีบให้เข้าสู่โต๊ะเจรจาอย่างจริงจัง นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงแผนการขอความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติมจากสหรัฐ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและการป้องกันประเทศของยูเครน

ในด้านปฏิบัติการทางทหาร เยอร์มัคชี้แจงว่ากองกำลังยูเครนโจมตีเฉพาะเป้าหมายทางทหารเท่านั้น เช่น ฐานทัพอากาศที่รัสเซียใช้ในการโจมตีพลเรือน ขณะที่รัสเซียยังคงโจมตีเป้าหมายพลเรือนอย่างต่อเนื่อง โดยยูเครนพยายามหลีกเลี่ยงความสูญเสียในหมู่ประชาชน

เยอร์มัคยังได้พบปะหารือกับเจ้าหน้าที่สหรัฐในวอชิงตันเกี่ยวกับสถานการณ์ในแนวรบ ความคืบหน้าการเจรจาที่อิสตันบูล และความจำเป็นในการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร พร้อมย้ำความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสหรัฐและยุโรปเพื่อสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่

ฝรั่งหัวทองเมินช่วยไทย ตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ต่างจากเพื่อนเอเชีย ยื่นมือพยุงเศรษฐกิจไทย

(7 มิ.ย. 68) ย้อนกลับไปในวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ประเทศไทยต้องเผชิญภาวะเงินทุนไหลออก ค่าเงินบาทพังทลาย ธนาคารล้มหลายแห่ง รัฐบาลไทยในขณะนั้นต้องกู้เงินกว่า 17.2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงเศรษฐกิจ

เงินช่วยเหลือนั้นส่วนใหญ่มาจาก IMF (4 พันล้านดอลลาร์), ญี่ปุ่น (4 พันล้าน), จีน, ฮ่องกง, สิงคโปร์, และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน รวมถึงธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยเป็นเงินที่ไทยมีสิทธิเข้าถึงในฐานะประเทศสมาชิก แต่สิ่งที่หลายคนยังจำฝังใจคือ สหรัฐอเมริกาและยุโรป ไม่ได้ช่วยเหลือไทยเลยแม้แต่สลึงเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาบริษัทการเงินจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะกองทุนเฮดจ์ฟันด์และบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง GE Capital กลับรีบเข้ามาซื้อกิจการไทยในราคาต่ำเหมือน "แร้งลง" ช่วงวิกฤต บางรายทำกำไรมหาศาลจากการเข้าซื้อหนี้เสียและหุ้นในตลาดทุนไทย ขณะที่ประชาชนและธุรกิจไทยจำนวนมากล้มละลาย

อีกหนึ่งจุดที่ถูกวิจารณ์หนักคือ การเก็งกำไรโจมตีค่าเงินบาทของกลุ่มทุนต่างชาติ โดยเฉพาะ “จอร์จ โซรอส” ที่ถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังการถล่มค่าเงินบาท สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง และจุดชนวนให้เกิดวิกฤตในเอเชียเป็นลูกโซ่

สหรัฐฯ ส่งทีมตรวจสอบบัญชีถึงเคียฟ ตรวจการใช้งบช่วย ‘ยูเครน’ ทุกดอลลาร์

(7 มิ.ย. 68) ทีมผู้ตรวจสอบบัญชีจากสหรัฐฯ ได้เดินทางถึงกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน เพื่อดำเนินการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินช่วยเหลือด้านการทหารและมนุษยธรรมที่สหรัฐฯ มอบให้ยูเครนอย่างต่อเนื่อง โดยพวกเขาวางแผนจะพักอยู่ในเคียฟจนถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้

การตรวจสอบนี้มีเป้าหมายเพื่อประเมินประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบว่าการใช้จ่ายเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ ก่อนหน้านี้ สำนักงานผู้ตรวจการทั่วไปของ USAID ได้ดำเนินการตรวจสอบและให้คำแนะนำเกี่ยวกับความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ต่อยูเครน

นอกจากนี้ สำนักงานความรับผิดชอบของรัฐบาลสหรัฐฯ (GAO) ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการกำกับดูแลความช่วยเหลือที่มอบให้ยูเครน โดยระบุว่าจำเป็นต้องมีการติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายอย่างเข้มงวด

การดำเนินการตรวจสอบดังกล่าวสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการรับรองว่าความช่วยเหลือที่มอบให้ยูเครนถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส เพื่อสนับสนุนความพยายามของยูเครนในการรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน

เทรนด์โลกออนไลน์ นักศึกษาจีนจบใหม่ ตลกร้ายที่อาจดูขำแต่น้ำตาตกใน จุดเปลี่ยนขาลง ของระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม ผลิตบัณฑิต ล้นตลาดแรงงาน

(8 มิ.ย. 68) เข้าสู่ฤดูรับปริญญาของจีน ซึ่งตรงกับช่วงเดือน มิ.ย. - ก.ค. ของทุกปี เป็นช่วงที่จะได้เห็นคอนเทนท์รับปริญญาของนักศึกษาจบใหม่มากมายบนสื่อโซเชียล เช่นเดียวกับที่อื่น ๆ บนโลก การรับปริญญาเป็นเรื่องที่น่ายินดี สำหรับตัวนักศึกษาจบใหม่เอง หรือจากคนรอบตัวที่แห่แสดงความยินดีในรูปแบบต่าง ๆ กลายเป็นเทรนด์บนโลกโซเชียลมากมายที่สะท้อนสังคมในยุคปัจจุบัน

ยกตัวอย่างเช่นคลิปไวรัลของนักศึกษาจบใหม่ที่ทำคลิปขอบคุณ ChatGPT ที่ช่วยเขาในการทำการบ้าน ที่ถ้าหากผมเป็นนายจ้างหรือเจ้าของบริษัท ก็คงจะตั้งคำถามกับตัวเองว่าถ้าเด็กยุคนี้ใช้ ChatGPT จนเรียนสามารถเรียนจบได้ ถ้างั้นแทนที่เราจะจ่ายเงินจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ เราจ่ายเงินค่า subscribtion รายเดือนให้ ChatGPT ทำงานให้ไปเลยไม่ดีกว่าหรือ ถูกกว่า เร็วกว่า ฟังก์ชั่นกว่า เพราะหากจ้างเด็กจบใหม่ในยุคนี้ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเขาก็จะใช้ ChatGPT ทำงานให้อยู่ดี

แม้จะเป็นแค่มุกตลก แต่ว่ากันว่ามุกตลกนั้นสะท้อนภาพสังคมในแต่ละยุคสมัยได้เช่นกัน 

ในกรณีที่ยกตัวอย่างตามข้างต้นนี้ สะท้อนภาพเศรษฐกิจสังคมยุคใหม่ และการแทนที่มนุษย์โดย AI 

นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายเทรนด์คอนเทนท์รับปริญญาบนโลกโซเชียล ทั้งในจีนและทั่วโลก ที่สะท้อนสภาพสังคมและปัญหาที่แก้ได้ยาก ยังมีอีกหลายเทรนด์ที่ยังเป็นไวรัลอย่างต่อเนื่องอีกมากมาย….

“To truly laugh, you must be able to take your pain, and play with it.”
“เพื่อที่จะหัวเราะได้อย่างแท้จริง คุณต้องกล้าเอาความเจ็บปวดของคุณมาเล่นกับมันให้ได้”
— Charlie Chaplin

"毕业快乐!欢迎加入美团。"  
“ยินดีด้วยที่เรียนจบ ยินดีต้อนรับสู่เหม่ยถวน (Meituan)”

— หนึ่งในคำโปรยจากวิดีโอสั้นใน Douyin (Tiktok ของจีน) ที่ถูกแชร์นับล้านครั้ง

เนื้อหาในวิดีโอความยาวไม่ถึง 30 วินาที เป็นภาพนักศึกษาจีนหนุ่มคนหนึ่งเดินออกจากพิธีรับปริญญาในชุดครุย เขาหยุดกลางถนน ถอดชุดครุยออก ก่อนจะเผยให้เห็นเสื้อของแพลตฟอร์มส่งอาหาร “Meituan - เหม่ยถวน” อยู่ข้างใน ใส่หมวกกันน็อก หิ้วกระเป๋าส่งของ แล้วหันมายิ้มกล้องพร้อมพูดออกมาว่า “หางานได้แล้ว!”

เทรนด์ดังกล่าวถูกเรียกว่าเทรนด์ “毕业即失业 - เรียนจบแต่ตกงาน” ซึ่งมักปรากฏในรูปแบบของวิดีโอเปลี่ยนชุดครุยเป็นชุดไรเดอร์ พนักงานร้านสะดวกซื้อ หรือแรงงาน Gig economy อื่น ๆ นี่เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังมาแรงในจีน และจะเป็นกรณีหลักในการวิเคราะห์ของบทความนี้ 

คลิปเหล่านี้ไม่ได้แค่เป็นไวรัล แต่ยังเป็นพื้นที่ที่ผู้ชมใช้ในการระบาย เช่นคอมเมนต์ทำนองว่า “ฉันก็จบจากมหาวิทยาลัย 985 (คล้าย ๆ กับ Ivy League ในสหรัฐฯ) เหมือนกัน ตอนนี้ส่งอาหารอยู่” คอนเทนท์ในเทรนด์นี้ค่อนข้างหลากหลาย มีผู้คนนำมาดัดแปลงรูปแบบการตัดต่อ ใส่เพลง และวิธีเล่า และไม่ได้มีแค่อาชีพส่งอาหาร ยังมีอาชีพอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นส่วนหนึ่งของคอนเทนท์ในเทรนด์ ตัวอย่างเช่นกรณีหนุ่มเรียนจบมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยอันดับที่ 1 ของจีน (จากการจัดอันดับในปี 2024) แต่กลับต้องเป็นคนขายเต้าหู้เหม็น

ซึ่งจริง ๆ เทรนด์การทำคลิปประมาณนี้ก็ฮิตมาถึงที่ไทย ผมเห็นคลิปคนไทยถอดชุดครุยแล้วสวมแจ็กเก็ตแอปสั่งอาหารสีเขียว บ้างก็ขายหมูปิ้ง บ้างก็ใส่ชุดพนักงาน 7-11 แตกต่างกันไป

วิดีโอเหล่านี้ กลายเป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ที่ใช้เสียงหัวเราะเป็นเกราะป้องกันความเจ็บปวด และเป็นการสะท้อนปัญหาที่ฝังรากลึกในโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนยุคใหม่ ความตลกกลายเป็นสื่อกลางในการสะท้อนความสิ้นหวัง — หรืออย่างที่นักแสดงตลกชาวอังกฤษ ผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งอย่าง Charlie Chaplin เคยกล่าวเอาไว้ว่า “To truly laugh, you must be able to take your pain, and play with it. – เพื่อที่จะหัวเราะได้อย่างแท้จริง คุณต้องกล้าเอาความเจ็บปวดของคุณมาเล่นกับมันให้ได้”

หรืออีกหนึ่งเทรนด์ไวรัลที่เรียกว่า “孔乙己文学” (วรรณกรรมข่งอี้จี๋) ซึ่งกลายเป็นคำฮิตในโลกออนไลน์จีนในช่วงปี 2023–2024 โดยพูดถึงตัวละคร “ข่งอี้จี๋” จากเรื่องสั้นของหลู่ซิ่น ซึ่งเป็นชายมีการศึกษา แต่ยากจน ถูกสังคมเย้ยหยัน และไร้ที่ยืน เปรียบเทียบคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษา แต่ไม่สามารถหางานที่เหมาะสมได้ 

โดยเยาวชนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นเพราะโครงสร้างสังคมไม่เปิดทางให้พวกเขา และพวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากมองให้เป็นเรื่องตลกและนำมาทำเป็นคอนเทนท์ประชดสังคม

เทรนด์นี้คือการที่เยาวชนนำเอาเรื่องราวชีวิตของตัวเองมาเขียนเล่าในแบบวรรณกรรม โดยดัดแปลงจากเรื่อง “ข่งอี้จี๋” ใช้ภาษาแบบกวี แต่เล่าให้เป็นเรื่องราวของตัวเอง ใช้ตัวเองเป็นตัวละครหลัก บอกเล่าถึงการเรียนอย่างหนักตั้งแต่เด็กจนจบมหาวิทยาลัย แต่ไม่สามารถหางานทำได้ ชีวิตมีอุปสรรคมากมาย ทำได้แค่เกาะพ่อแม่กิน แม้ต้องทนได้ยินคำดูถูกจากป้าข้างบ้าน

บางคนเอามาอัดคลิป ลงเสียง ตัดต่อเป็นเรื่องเป็นราว แต่งเป็นเพลงแร็พแสดงความเข้าอกเข้าใจ “ข่งอี้จี่” กลายเป็นสีสันช่วงวันรับปริญญาในปีที่แล้วไป….

“We were poor, but we didn’t know it. Then I got a degree, and I was broke — now I knew it.”
“เราเคยยากจนตอนเด็ก ๆ แต่เราไม่รู้ตัว หลังจากนั้นผมก็ได้ใบปริญญา ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าผมมันจน”
—Chris Rock

ในอดีต ใบปริญญาถือเป็น "ตั๋วทอง" สู่อนาคตที่มั่นคง โดยเฉพาะในสังคมจีนที่ให้คุณค่ากับการศึกษาอย่างสูง แต่ในยุคที่มหาวิทยาลัยขยายจำนวนรับนักศึกษาอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “การศึกษาสำหรับทุกคน” แต่ในทางกลับกัน ตลาดแรงงานไม่สามารถดูดซับผู้สำเร็จการศึกษาได้เท่าทัน ทำให้การศึกษากลายเป็นสินค้าที่ล้นตลาด

จากรายงาน 2023 China College Graduates Employment Competitiveness Report ของ Tencent Research Institute ระบุว่า ในปี 2023 จีนมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจำนวน 11.58 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่อัตราการว่างงานในกลุ่มเยาวชนอายุ 16–24 ปีพุ่งสูงถึง 21.3% ในเดือนมิถุนายน 2023 การสำรวจยังพบว่า 64% ของนักศึกษาจีนต้องการทำงานในภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ชี้ให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่สนใจอาชีพที่ให้ความมั่นคง มากกว่าอาชีพที่ให้ความมั่งคั่งแต่การแข่งขันสูง

ซึ่งหากมองให้สอดคล้องกับยุคสมัยนั้น สองตัวแปรสำคัญที่ควรนำมาตั้งคำถามเพื่อศึกษาปัญหาปัญหานี้ คือเรื่องระบบการศึกษา และกระแสความต้องการของตลาดแรงงาน

ประเด็นคน “จบปริญญา” แต่ทำงาน “รายได้ต่ำ” หรือการที่ผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนมากต้องประกอบอาชีพที่ไม่ได้สอดคล้องกับสาขาที่เรียนมา ไม่ใช่เพราะขาดความสามารถ แต่เพราะตลาดแรงงานมีข้อจำกัดในการรองรับทักษะและความหลากหลายของแรงงานในยุคเปลี่ยนผ่าน ในขณะเดียวกัน ระบบการศึกษาเองก็ไม่ได้ผลิตบุคคลากรที่ตรงกับความต้องการตลาดเสมอไป

รายงานของ Tencent Research Institute ระบุถึงความคาดหวังของบัณฑิตรุ่นใหม่ว่าบัณฑิตระดับปริญญา บัณฑิตระดับปริญญาตรีคาดหวังเงินเดือนเริ่มต้นเฉลี่ย 10,792 หยวน (ประมาณ 50,000 บาท) ต่อเดือน

ในรายงานยังระบุอีกว่า ความต้องการบัณฑิตระดับปริญญาเอกเพิ่มขึ้น 202.1% และปริญญาโทเพิ่มขึ้น 142.6% ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ในทางตรงกันข้าม ความต้องการสำหรับบัณฑิตระดับอนุปริญญาหรือต่ำกว่าลดลงเกือบ 40% 

ส่วนความต้องการบัณฑิตระดับปริญญาตรีในตำแหน่งงานใหม่เพิ่มขึ้นจาก 28.8% ในปี 2021 เป็น 42.9% ในปี 2023 ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มที่ตลาดแรงงานยังคงให้ความสำคัญกับบัณฑิตระดับปริญญาตรี

หากเป็นยุคสมัยก่อน สาขาอย่างเช่น วรรณกรรม ปรัชญา ประวัติศาสตร์ การจัดการ ภาษาศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นสาย Social/Humanities ผู้ที่จบสาขาเหล่านี้อาจถูกมองว่าเป็นปัญญาชน หารายได้ได้มากกว่าชนชั้นแรงงาน แต่ในปัจจุบัน คนที่เรียนจบจากสายสังคม แม้จะมีความรู้รอบด้าน มีทักษะการสื่อสารที่แข็งแรง แต่ขาดทักษะและความเชี่ยวชาญในการสร้างหรือผลิตสินค้าตลาดใหม่หรือและบริการด้านเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงในปัจจุบัน

เมื่อวิเคราะห์จากข้อมูลในตลาดแรงงานของจีน จะพบว่าสาขาที่มีความต้องการสูงอย่างต่อเนื่องคือสาย STEAM ได้แก่ Science, Technology, Engineering, Arts และ Mathematics โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science), เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech), วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Automation)

จากรายงานของ Tencent ยังมีการระบุว่าบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เสนอเงินเดือนระดับเริ่มต้นให้กับนักศึกษาจบใหม่ในสาย Data Science สูงถึง 20,000 หยวนต่อเดือน ในขณะที่สาย Humanities ได้เริ่มต้นเฉลี่ยเพียง 6,000–8,000 หยวน แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของตลาดแรงงาน โดยมีความต้องการสูงในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในขณะที่สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มีความต้องการลดลง

ผลกระทบของความไม่สมหวังทางวิชาชีพของเหล่าเด็กจบใหม่ กลายเป็นกระแสที่คนรุ่นใหม่เริ่มลดแรงจูงใจในการแสวงหาความก้าวหน้า และเข้าสู่โหมด "躺平" (นอนราบ) หมายถึง การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย หลีกเลี่ยงการแข่งขัน ไม่พยายามไล่ตามมาตรฐานความสำเร็จตามระบบ เช่น ไม่ซื้อบ้าน ไม่แต่งงาน ไม่ทำงานหนัก หรือโหมด "摆烂" (ปล่อยให้พัง) ซึ่งเป็นการยอมแพ้แบบประชดตัวเอง คือแม้รู้ว่าทุกอย่างกำลังแย่ ก็ไม่พยายามจะแก้ไขอีกแล้ว คล้าย ๆ กับการ “ปล่อยวางแบบขมขื่น”

"They say follow your dreams. So I went back to bed."
"เขาบอกให้ทำตามความฝัน… งั้นฉันก็เลยกลับไปนอนต่อ"
— Some viral Internet meme

ในทางทฤษฎี คำถามสำหรับตลาดแรงงานในวันนี้คือ : เป็นเพราะ “เศรษฐกิจไม่ดี” หรือ “เทคโนโลยีแย่งงาน” ที่ทำให้ความต้องการนักศึกษาจบใหม่ในตลาดแรงงานลดลง ?

คำตอบคือ : ทั้งสองอย่างผสมกัน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

แน่นอนว่าปัญหาในภาพรวมเกิดขึ้นจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัว และความล้ำหน้าของเทคโนโลยีที่สามารถแทนที่แรงงานบางประเภทได้แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ผมกลับมองว่าเป็นเรื่องของโครงสร้างตลาดแรงงานเปลี่ยนเร็วมากในปัจจุบัน เราอาจอาจเลือกเรียนในคณะหรือสาขาที่คิดว่ามีความสำคัญและหาเงินได้ แต่ภายใน 4 ปีที่เรียนนั้น เกิดนวัตกรรมใหม่ที่ส่งผลต่อตลาด ทำให้คณะหรือสาขาที่เลือกเรียนไปมีความสำคัญน้อยลง ความรู้จากการเรียน 4 ปีที่ผ่านมาอาจไม่สำคัญอีกต่อไป ในจุดนี้ เป็นสิ่งที่ต้องนำไปตั้งคำถามต่อกับระบบการศึกษาที่ผลิตบุคคลากรป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

อีกหนึ่งคำถามสำคัญ : “เรียนจบแล้วหางานไม่ได้” – แล้วการระบบศึกษายังสำคัญอยู่หรือไม่ ?

คำตอบคือ : ยังสำคัญอยู่ แต่ไม่ใช่ในแบบเดิม 

กล่าวคือ ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อ “ได้ใบปริญญา” แต่ต้องเรียนเพื่อ “พัฒนาทักษะ + ความสามารถที่ตลาดต้องการ”

แม้ระบบการเรียนเพื่อ “ได้ใบปริญญา” ซึ่งเน้นวิชาการ ท่องจำ และการวัดผลตามระบบ จะเคยตอบโจทย์ในอดีต เพราะด้วยโครงสร้างทางสังคม จำนวนคนเรียนสูงยังไม่มาก คนมีปริญญาจึง “มีค่าหายาก” ในจังหวะที่ เศรษฐกิจขยายตัว สร้างตำแหน่งงานใหม่ ต้องการคนมีความรู้จำนวนมาก

แต่ในปัจจุบัน เกิด “academic inflation” การมีใบปริญญากลายเป็นเรื่องธรรมดา ใคร ๆ เขาก็มีกัน ในขณะที่เศรษฐกิจก็ชะลอตัว ตำแหน่งงานลดลง เทคโนโลยีก้าวหน้า แต่การแข่งขันก็ยังสูง ทำให้ตลาดต้องการคนที่ “ทำได้จริง” ไม่ใช่แค่ “สอบได้ดี”

สิ่งที่เปลี่ยนไปไม่ใช่ “คุณค่าของความรู้” แต่คือ “วิธีเรียนรู้” และ “สิ่งที่ต้องรู้” ที่จะต้องเน้นภาคปฏิบัติมากขึ้น ที่สำคัญ คือต้องไม่สอนให้เด็กเป็น “เครื่องมือของระบบเดิม”

ในส่วนนี้ รัฐบาลจีนพยายามใช้นโยบายปฏิรูปการศึกษาด้วยแนวคิด Key Competencies-Based Education Reform และ TVET Reform สนับสนุนให้นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกงานมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในสนามจริง ทั้งยังส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะข้ามสาย เพื่อรับมือกับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงความต้องการทางทักษะอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ให้เด็กมีความสามารถในการแก้ปัญหาใหม่ ๆ พร้อมปรับตัวกับอาชีพที่ยังไม่เคยมีในโลกวันนี้

อีกหนึ่งคำถามที่สำคัญคือ ประเทศไทยสามารถถอดบทเรียนจากเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง ? เพราะจริง ๆ แล้วทั่วโลก รวมถึงเราเองก็เผชิญกับปัญหาในลักษณะที่คล้ายกัน อาจต่างกันในเชิงบริบท แต่ในเมื่อใจความสำคัญของระบบการศึกษาคือการสร้างบุคคลากรที่มี “ทักษะ” (skill) แล้วทักษะไหนสำคัญที่สุด ระหว่าง “ทักษะแข็ง” (hard skills) ที่เน้นความสามารถเชิงเทคนิค หรือ “ทักษะอ่อน” (soft skills) ที่เน้นความสามารถทางสังคมและการสื่อสาร ?

ส่วนตัวผม ไม่ว่าจะทักษะไหนก็สำคัญทั้งนั้น แต่ในวันนี้ มีอีกหนึ่งทักษะที่ต้องบรรจุเพิ่มเข้าไปใน capacity ของคนรุ่นใหม่ นั่นก็คือ “ทักษะระดับเหนือ” หรือ “ทักษะกรอบใหญ่” ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Meta Skills” ซึ่งนอกจากจะเน้นเรื่องการเรียนรู้ด้วยตนเอง ยังต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับความล้มเหลว การรู้จักตัวเอง การรู้จุดแข็ง จุดอ่อน สามารถวิเคราะห์ความสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบ รวมถึงความสามารถในการปรับตัวต่อสถานการณ์ใหม่ ความสามารถและเจตจำนงในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life long learning) และความเชื่อว่าความสามารถสามารถพัฒนาได้ (Lifelong Learning)

โดยสรุป แม้ว่าวิดีโอแนวไวรัลที่เปลี่ยนจากชุดครุยเป็นเสื้อไรเดอร์จะดูขบขันในแวบแรก แต่มันสะท้อนเสียงเงียบของคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามถึงระบบการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ความหวังที่เคยผูกไว้กับการเรียนสูงเริ่มสั่นคลอน กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่จีนเองก็จำเป็นต้องปฏิรูปหลักสูตร ส่งเสริมความยืดหยุ่นในการแนะแนวอาชีพ 

ที่สำคัญ คือต้องสร้างคุณค่าใหม่ให้กับสังคม โดยลดทัศนคติแบบ “มีปริญญา = ประสบความสำเร็จ” และให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะในสนามจริงที่เป็นที่ต้องการในปัจจุบัน

"The only thing that interferes with my learning is my education."
"สิ่งเดียวที่ขัดขวางการเรียนรู้ของฉันคือการศึกษา"
— Albert Einstein

‘สหรัฐอเมริกา’ เตือน!! ‘เซเลนสกี’ การตอบโต้ของรัสเซีย ยังไม่หยุดแค่นี้

(8 มิ.ย. 68) การยิงขีปนาวุธถล่มเคียฟเมื่อวันศุกร์ยังไม่ใช่การตอบโต้ที่แท้จริง นั่นเป็นเพียงการ "อุ่นเครื่อง" ของรัสเซียก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายลงไปอีก

เจ้าหน้าที่สหรัฐคาดว่าจะมีการโจมตีด้วยขีปนาวุธ โดรน และการตอบโต้ที่รุนแรงยิ่งกว่านั้น โดยจะมุ่งเป้าไปที่ศูนย์ข่าวกรองและระบบการป้องกันของยูเครน

สหรัฐยังคาดการณ์ไปถึงการโจมตีเป้าหมายที่เป็นสัญลักษณ์ของยูเครน ซึ่งอาจจะเป็นอาคารของรัฐบาล เพราะจะเป็นการสื่สารจากรัสเซียได้อย่างตรงไปตรงมาว่า "ไม่มีที่ใดปลอดภัยอีกต่อไปในยูเครน"

ขณะที่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ เผยว่าเครื่องบินรบของรัสเซียถูกทำลายมากกว่า 10 ลำ จากการโจมตีของโดรนยูเครน 117 ลำ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top