Friday, 9 May 2025
World

อังกฤษและเยอรมนีเตือนพลเรือนที่เดินทางไปสหรัฐฯ อาจถูกส่งกลับ หลังจากนโยบายการเข้าเมืองเข้มงวดขึ้น

(21 มี.ค. 68) อังกฤษและเยอรมนีออกคำเตือนพลเรือนของตัวเองที่มีแผนจะเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาในช่วงนี้ โดยระบุว่า พลเรือนเหล่านี้อาจเผชิญกับความเสี่ยงสูงในการถูกปฏิเสธการเข้าประเทศ หลังจากหลายรายได้รับผลกระทบจากนโยบายการเข้าเมืองที่เข้มงวดขึ้นภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

คำเตือนดังกล่าวมีขึ้นหลังจากกรณีที่มีการรายงานว่า พลเรือนจากหลายประเทศได้เผชิญสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจากการตรวจสอบที่เข้มงวดจากเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติหรือความคิดเห็นที่อาจถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกปฏิเสธหรือถูกเนรเทศออกจากประเทศ

โดยมีกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐเทกซัส พลเรือนจากฝรั่งเศสประสบปัญหาคล้ายกันเมื่อกลุ่ม กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากแดนน้ำหอมที่เดินทางไปประชุมวิชาการในสหรัฐฯ ได้ประสบปัญหาถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างละเอียด และถูกจับกุมภายหลังการสอบสวน

หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ถูกส่งกลับประเทศฝรั่งเศส หลังจากพบว่ามีชื่ออยู่ในระบบฐานข้อมูลของ FBI โดยเหตุผลในการจับกุมและเนรเทศนั้น เกิดจากการวิจารณ์ประธานาธิบดีทรัมป์ในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าเป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิด เพื่อลงโทษบุคคลที่มีความเห็นต่างทางการเมือง

ต่อมาเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ชี้แจงว่า นักวิทยาศาสตร์คนดังกล่าวถูกจับกุม เนื่องจากได้รับแจ้งจากทาง FBI ตรวจสอบแล้วว่า เป็นบุคคลที่อาจมีพฤติกรรมเสี่ยงหรือไม่พึงประสงค์ต่อความมั่นคงของประเทศ

กรณีนี้สร้างความวิตกกังวลในหมู่ผู้ที่เดินทางไปสหรัฐฯ โดยเฉพาะนักวิจัยและผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่าง เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการควบคุมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่เข้มงวดมากขึ้นในสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของทรัมป์ ซึ่งสร้างคำถามเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของบุคคลในประเทศที่มีชื่อเสียงในเรื่องของเสรีภาพและสิทธิพลเมือง

ด้านทางการฝรั่งเศสแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสได้ออกแถลงการณ์ประณามการปฏิบัติต่อพลเรือนฝรั่งเศสและเรียกร้องให้มีการทบทวนกระบวนการตรวจสอบของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิของพลเมืองจากพันธมิตร

ทั้งนี้ อังกฤษและเยอรมนีจึงได้ออกคำเตือนต่อพลเรือนของตนว่า ควรเตรียมตัวให้พร้อมหากเดินทางไปสหรัฐฯ โดยต้องระวังเสี่ยงที่จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมือง หากมีประวัติหรือความคิดเห็นที่อาจเข้าข่ายการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากทางการสหรัฐฯ

นอกจากนี้ มีรายงานว่าผู้ถือกรีนการ์ด ก็ไม่รอดจากการถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ (ICE) โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความตื่นตระหนกในสังคมอเมริกัน

หนึ่งในกรณีที่ได้รับการรายงานจากสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษคือ การจับกุม มาห์มู๊ด คาลิล (Mahmoud Khalil) นักศึกษาชาวซีเรียจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เขาถือกรีนการ์ดและเพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทในสหรัฐฯ เขายังเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชาวปาเลสไตน์ และได้เข้าร่วมการประท้วงหลายครั้งเพื่อเรียกร้องสิทธิของชาวปาเลสไตน์ ในที่สุดเขาก็ถูกเจ้าหน้าที่ ICE จับกุมในอพาร์ทเมนท์ของเขาในมหาวิทยาลัย

การจับกุมมาห์มู๊ด คาลิลสร้างความตกใจและความหวาดกลัวในหมู่ผู้ถือกรีนการ์ดและพลเมืองที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ เนื่องจากการดำเนินการนี้เกิดขึ้นหลังจากการปรับนโยบายของทรัมป์ที่เน้นการเข้มงวดต่อการตรวจสอบและกักกันผู้ที่ถือกรีนการ์ด รวมทั้งผู้ที่มีกิจกรรมทางการเมืองที่รัฐบาลไม่เห็นด้วย

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของทรัมป์ยังคงยึดมั่นในนโยบายที่มุ่งเน้นความมั่นคงของประเทศ และการควบคุมการเข้าเมืองอย่างเข้มงวด โดยมักมีการตรวจสอบผู้เดินทางที่มีท่าทีหรือความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสายตาของรัฐบาล

สถานการณ์นี้จึงเป็นที่จับตามองในระดับสากลและอาจสร้างความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับพันธมิตรบางประเทศ ที่ถูกมองว่าอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเข้าเมืองของสหรัฐฯ

‘แม็คเกรเกอร์’ ลั่นพร้อมชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีไอร์แลนด์ ชูจุดยืนต้านข้อตกลงผู้อพยพ EU

(21 มี.ค. 68) คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ (Conor McGregor) อดีตนักสู้ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (UFC) เจ้าของฉายา ‘ไอ้หมาบ้า’ ประกาศสร้างแรงสั่นสะเทือนในเวทีการเมืองไอร์แลนด์ ด้วยการเปิดตัวลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา พร้อมชูจุดยืนที่ชัดเจนต่อต้านข้อตกลงผู้อพยพฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป (EU)

แม็คเกรเกอร์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับความนิยมในไอร์แลนด์มาอย่างยาวนาน ไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักในฐานะนักกีฬาชื่อดัง แต่ยังเป็นบุคคลที่แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมและการเมือง โดยเขาประกาศว่า จะยืนหยัดเพื่อ “อธิปไตยของชาติ” และปกป้องไอร์แลนด์จากนโยบายที่เขามองว่าอาจเป็นภาระเกินไปสำหรับประเทศ

“เราต้องควบคุมอนาคตของเราเอง ไอร์แลนด์ต้องตัดสินใจเรื่องผู้อพยพด้วยตัวเอง ไม่ใช่ให้บรัสเซลส์ (สื่อถึง EU) เป็นผู้กำหนด” แม็คเกรเกอร์กล่าวในการแถลงข่าวเปิดตัว

ทั้งนี้ ข้อตกลงใหม่ของ EU ที่อดีตนักสู้วัย 36 ปี คัดค้านนั้น คือการกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องรับภาระพิจารณาคำร้องขอลี้ภัยจากผู้อพยพ หรือหากปฏิเสธ ต้องมีส่วนร่วมในโครงการให้เงินสนับสนุนแทน ซึ่งแม็คเกรเกอร์มองว่าเป็นการบังคับให้ไอร์แลนด์ต้องแบกรับภาระเกินความจำเป็น

แม้ว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าเส้นทางทางการเมืองของแม็คเกรเกอร์จะดำเนินไปในทิศทางใด แต่การลงสมัครของเขาสร้างความฮือฮาในวงการเมือง และทำให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางว่า อดีตนักสู้ UFC รายนี้จะสามารถเปลี่ยนเวทีมวยเป็นเวทีการเมืองได้สำเร็จหรือไม่

สำหรับ ​คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ เป็นนักศิลปะการต่อสู้แบบผสม (MMA) ชาวไอริชที่มีชื่อเสียงระดับโลก พ่วงสถิติการต่อสู้ตลอดชีพ ชนะ 22 ครั้ง แพ้ 6 ครั้ง ซึ่งเจ้าตัวประกาศแขวนนวมไปแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2020

ดีกรีแชมป์รุ่นเฟเธอร์เวท (Featherweight) ของ UFC และ แชมป์รุ่นไลต์เวท (Lightweight) ในสถาบันเดียวกัน ส่วนไฟต์ที่น่าจดจำคือ การเอาชนะ โชเซ่ อัลโด้ (José Aldo) ในเวลาเพียง 13 วินาที ในศึก UFC 194 ซึ่งถือเป็นการชนะที่เร็วที่สุดในการชิงแชมป์ และการคว้าแชมป์รุ่นไลต์เวทด้วยการเอาชนะ เอ็ดดี้ อัลวาเรซ (Eddie Alvarez) ในศึก UFC 205 ทำให้เขาเป็นนักสู้คนแรกที่ครองแชมป์สองรุ่นน้ำหนักของ UFC พร้อมกัน

นอกจากนี้ แม็คเกรเกอร์ยังเคยเข้าร่วมการแข่งขันมวยสากลกับ ‘เดอะมันนี่’ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ (Floyd Mayweather Jr.) สุดยอดนักมวยชาวอเมริกันในปี 2017 แม้ว่าเขาจะแพ้ด้วยการถูกน็อกเอาต์ทางเทคนิค (TKO) แต่แมตช์นี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากสื่อและแฟนๆ ทั่วโลก

ญี่ปุ่นประกาศยังคงมีความมุ่งมั่นในการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แม้วอชิงตัน อาจปรับแผนการขยายกำลังทหารเพื่อลดค่าใช้จ่าย

(21 มี.ค. 68) ญี่ปุ่นประกาศยังคงมุ่งมั่นที่จะกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แม้จะมีรายงานว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจยกเลิกแผนขยายกำลังทหารสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น เพื่อประหยัดงบประมาณราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 33.64 พันล้านบาท)

เก็น นากาทานิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น แถลงต่อสื่อมวลชนในวันนี้ (21 มีนาคม) ว่า “ไม่มีการเปลี่ยนแปลง” ในแผนความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ได้ตกลงกันระหว่างการพบปะของนายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่นยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสองประเทศว่า “เราจำเป็นต้องทุ่มเทมากขึ้นเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของพันธมิตร” ซึ่งถือเป็นท่าทีที่ชัดเจนของรัฐบาลญี่ปุ่น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในนโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐฯ

การแถลงดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่ทั่วโลกแสดงความกังวลเกี่ยวกับท่าทีของสหรัฐฯ ต่อพันธมิตรในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงยืนหยัดในการรักษาความร่วมมือทางทหารและความมั่นคงระดับภูมิภาคให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ แหล่งข่าวจากรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ทางการโตเกียวกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมระบุว่า “ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ และจะยังคงทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค”

ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ ตัดสินใจยกเลิกแผนการขยายกำลังทหารในญี่ปุ่น อาจส่งผลกระทบต่อความสมดุลของอำนาจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มาก 

โดยเฉพาะในช่วงที่จีนกำลังเพิ่มกิจกรรมทางทหารในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความตึงเครียดระหว่างจีนและประเทศอื่นๆ รวมถึงในช่วงที่เกาหลีเหนือยังคงทดสอบขีปนาวุธ ทำให้การตัดสินใจของสหรัฐฯ อาจกระทบต่อการรักษาเสถียรภาพ และดุลอำนาจในภูมิภาคนี้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่ได้รับการแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการจากสหรัฐฯ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว และยังคงเดินหน้ากระชับความร่วมมือทางทหารกับวอชิงตันต่อไป

‘ยุโรป’ เผชิญวิกฤติอาวุธ!! โรงงานผลิตกระสุน ขาดแคลนวัตถุดิบ ท่ามกลางแรงกดดัน!! จาก ‘สงครามยูเครน’ ซึ่งมีความตึงเครียด

(22 มี.ค. 68) อุตสาหกรรมการทหารของยุโรปกำลังประสบปัญหาร้ายแรง เนื่องจาก การขาดแคลนวัตถุดิบหลักในการผลิตกระสุนและวัตถุระเบิด ท่ามกลางแรงกดดันในการส่งอาวุธไปยังยูเครน

รายงานระบุว่า ในยุโรปมีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่สามารถผลิตไนโตรเซลลูโลส ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของดินขับกระสุน ทำให้กำลังการผลิตอาวุธของทวีปนี้ติดขัด ขณะเดียวกัน โรงงานผลิต TNT ขนาดใหญ่ในยุโรปก็มีอยู่เพียงแห่งเดียว ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับความต้องการของอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ แหล่งผลิตวัตถุดิบหลักของไนโตรเซลลูโลสคือ ฝ้าย ซึ่งจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก สิ่งนี้กลายเป็น ปัญหาทางยุทธศาสตร์ที่ยุโรปไม่อาจมองข้าม เนื่องจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหภาพยุโรปและจีน

แม้ว่าบริษัทอาวุธยักษ์ใหญ่อย่าง Rheinmetall ของเยอรมนีจะประกาศเพิ่มกำลังการผลิตดินขับกระสุนขึ้น 50% ภายในปี 2028 แต่ Bloomberg ยืนยันว่า ตัวเลขนี้ยังไม่เพียงพอ ต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ยุโรปยังคง ผลักดันสงครามในยูเครนให้ยืดเยื้อ ด้วยการส่งอาวุธและกระสุนไปให้กองทัพยูเครน ทว่าในทางกลับกัน อุตสาหกรรมของยุโรปเองอาจเป็นฝ่ายล่มสลายก่อนที่สงครามจะยุติ

ยุโรปจะสามารถรักษาการสนับสนุนยูเครนได้นานแค่ไหนในภาวะที่กำลังผลิตของตัวเองกำลังถึงขีดจำกัด!!

‘เจ้าชายวิลเลียม’ ทรงสวมชุดทหารเต็มยศ เยี่ยมกองทัพอังกฤษในเอสโตเนีย เพื่อเน้นย้ำ!! การสนับสนุนของสหราชอาณาจักร ต่อปฏิบัติการของ NATO

(22 มี.ค. 68) เจ้าชายวิลเลียม มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ และพระโอรสองค์โตของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ เสด็จไปยังค่ายทหารในเมืองทาปา ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนรัสเซียประมาณ 200 กิโลเมตร (125 ไมล์) โดยทรงตรวจสอบยานเกราะรบของทหารราบและทรงขึ้นรถถัง ขณะสวมชุดลายพรางของกองทัพ

อังกฤษมีทหารประมาณ 900 นายประจำการในเอสโตเนียและโปแลนด์ ภายใต้ 'Operation Cabrit' ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมกำลังของ NATO บริเวณแนวรบด้านตะวันออก เพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครนของรัสเซีย

การเสด็จเยือนเป็นเวลา 2 วันของเจ้าชายวิลเลียมมีขึ้นในขณะที่อังกฤษและพันธมิตรยุโรปกำลังเพิ่มงบประมาณกลาโหม เพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ชาติ NATO อื่น ๆ มีส่วนร่วมมากขึ้นในการรักษาความมั่นคงของยุโรป

เจ้าชายทรงยืนอยู่หน้าลวดหนามและควันสีเหลืองขณะทอดพระเนตรการฝึกซ้อมรบในสนามเพลาะ และทรงร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีส่งมอบกำลังพลจาก Royal Dragoon Guards ที่เพิ่งสิ้นสุดภารกิจ ให้แก่ Mercian Regiment ซึ่งจะเข้าประจำการเป็นเวลาหกเดือน โดยเจ้าชายวิลเลียมทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกิตติมศักดิ์ของกองพันดังกล่าว

"ตั้งแต่การฝึกภาคสนามไปจนถึงการใช้อาวุธ ระบบปฏิบัติการภาคสนามนี้มีความสำคัญมาก!! น่าทึ่งที่ได้เห็นความทุ่มเท และความสามารถของทหารของเราในการปฏิบัติงาน" สำนักงานของพระองค์ที่พระราชวังเคนซิงตันโพสต์ข้อความลงใน X (Twitter เดิม)

การเสด็จเยือนครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของเจ้าชายในรัฐบอลติก ก่อนหน้านี้เมื่อสองปีที่แล้ว พระองค์เคยเสด็จไปยังโปแลนด์เพื่อเยี่ยมทหารอังกฤษที่ให้การสนับสนุนยูเครน

นอกจากนี้ เจ้าชายยังทรงพบปะกับทหารเพื่อรับฟังประสบการณ์ของพวกเขาระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ และหารือเกี่ยวกับสวัสดิการด้านสุขภาพจิตกับเจ้าหน้าที่สนับสนุนทางสังคมของกองทัพ

‘ก.ต่างประเทศ’ แถลงการณ์!! แสดงความผิดหวังต่อการใช้กำลังใน ‘ฉนวนกาซา’ เรียกร้อง!! ให้มีการปล่อยตัวประกัน ส่งคืนร่าง ‘ชาวไทย’ ที่เสียชีวิต กลับประเทศ

(22 มี.ค. 68) ‘กระทรวงการต่างประเทศ’ ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า ...

แถลงการณ์: ประเทศไทยขอแสดงความผิดหวังยิ่งต่อการกลับมาใช้กำลังในฉนวนกาซา

ประเทศไทยรู้สึกห่วงกังวลและผิดหวังอย่างยิ่งต่อการกลับมาสู่การสู้รบในฉนวนกาซา ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2568 อันส่งผลกระทบให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากเสียชีวิตและบาดเจ็บ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคได้รับความเสียหายอย่างหนัก 

ประเทศไทยร้องขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้นสูงสุด ยุติการสู้รบ และกลับสู่การเจรจาเพื่อปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงและปล่อยตัวประกัน รวมทั้งอำนวยการขนส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเข้าสู่ฉนวนกาซา เพื่อทำให้มั่นใจว่าภูมิภาคตะวันออกกลางจะมีเสถียรภาพและความมั่นคงที่ยั่งยืน

ประเทศไทยเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทุกคนที่เหลืออยู่ในฉนวนกาซาโดยเร็วที่สุด ซึ่งรวมถึงชาวไทย 1 คน และการส่งคืนร่างตัวประกันชาวไทยที่เสียชีวิต 2 ร่างกลับประเทศไทย

Statement: Thailand Is Profoundly Disappointed at the Return to Hostilities in the Gaza Strip

Thailand is profoundly concerned about and disappointed at the return to hostilities in the Gaza Strip since 18 March 2025, resulting in heavy casualty of innocent civilians, injuries, and severe damage to critical infrastructure and public utilities.

Thailand urges all sides to exercise utmost restraint, cease the hostilities and resume negotiations to implement the ceasefire and hostage agreement, as well as facilitate humanitarian assistance into the Gaza Strip to ensure stability and security in the Middle East. 

Thailand calls for the release of the remaining hostages in the Gaza Strip soonest, including one Thai national, and the retrieval of bodies of two Thai nationals.

‘ปูติน’ ลงนามคำสั่ง!! ให้คนยูเครนที่อยู่ในรัสเซีย ต้อง!! ย้ายออกนอกพื้นที่ 10 ก.ย. ปีนี้

(22 มี.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Ethan Hunts’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

ปธน.ปูตินลงนามคำสั่ง ให้คนยูเครนที่พักอาศัยในรัสเซีย รวมถึงแผ่นดินที่ควบรวมกับรัสเซีย อันได้แก่ ดอนเสนก์, ลูฮันส์, ซาโปโรเชีย และเคอร์ซอน ต้องย้ายออกนอกพื้นที่ หรือไม่ต้องมาดำเนินการเอกสารทางกฎหมาย (วีซ่า) ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2025 เป็นต้นไป

ชาวต่างชาติที่พักอาศัยในดอนบาส และโนโวโรสิย่า ต้องแสดงผลตรวจเลือด HIV และต้องเป็นลบเท่านั้น และแสดงประวัติการใช้ยาย้อนหลัง 10 ปี และต้องดำเนินการก่อนวันที่ 10 มิถุนายนนี้

‘ทรัมป์’ ปรับนโยบาย!! ตัดงบทหารในญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ลด คชจ.กว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ ผู้เชี่ยวชาญ ชี้!! เป็นกลยุทธ์ กดดันพันธมิตร เพิ่มค่าใช้จ่าย ด้านความมั่นคงมากขึ้น

(22 มี.ค. 68) IMCT News Thai Perspectives on Global News ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) กำลังพิจารณาปรับลดขนาดกองทัพอย่างมีนัยสำคัญ ตามนโยบายของรัฐบาลทรัมป์ที่ต้องการลดขนาดรัฐบาลกลาง โดยข้อเสนอสำคัญรวมถึงการระงับการขยายกองกำลังสหรัฐฯ ในญี่ปุ่น (USFJ) ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้เอกสารจะระบุถึงความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้น 

แผนการนี้สอดคล้องกับนโยบายที่ผลักดันให้พันธมิตรในอินโด-แปซิฟิกใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศมากขึ้น นักวิเคราะห์ชี้ว่าแผนดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า 'กลุ่มเหยี่ยวงบประมาณ' อาจมีอิทธิพลเหนือกว่า 'กลุ่มเหยี่ยวจีน' ในรัฐบาลทรัมป์ โดยอาจส่งผลให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต้องเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศและเพิ่มขีดความสามารถทางทหารของตนเอง ซึ่งจะเกิดความท้าทายในการประสานงานกับสหรัฐฯ ท่ามกลางภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากจีนและเกาหลีเหนือ 

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การกระทำดังกล่าวอาจบั่นทอนการยับยั้งร่วมกันของพันธมิตรสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน ทำให้ภูมิภาคนี้ไร้เสถียรภาพมากขึ้นเมื่อจีนดำเนินปฏิบัติการในพื้นที่สีเทามากขึ้น ในขณะที่จีน เกาหลีเหนือ และรัสเซียอาจใช้สถานการณ์อันละเอียดอ่อนนี้เพื่อสร้างความแตกแยกระหว่างพันธมิตร

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ใจป้ำ!! เสนอให้จ่าย ‘ค่าล่วงเวลา’ สองนักบินอวกาศ ที่ติดอยู่ในอวกาศ!! นาน 9 เดือน

(23 มี.ค. 68) หลังจากที่สองนักบินอวกาศ Barry 'Butch' Wilmore และ Sunita 'Suni' Williams เดินทางกลับมาสู่โลกจากที่ต้องติดอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เป็นเวลานานถึง 9 เดือน โดยแผนการเดินทางที่กำหนดเอาไว้เพียง 8 วันเท่านั้น  

หลังจากออกเดินทางสู่ ISS เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2024 เพื่อ 'การเดินทางระยะเวลา 8 วัน' แต่ในที่สุดแล้ว Wilmore และ Williams ก็ลงเอยด้วยการกลับคืนสู่พื้นโลกเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 มีนาคม 2025) แม้ว่าทั้งคู่จะถูกบังคับให้ขยายเวลาในการอยู่ในอวกาศโดยไม่มีทางเลือก แต่โฆษกของ NASA ระบุว่า "เมื่อนักบินอวกาศของ NASA อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) พวกเขาจะได้รับเงินเดือนจากการทํางาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยไม่ได้รับค่าล่วงเวลาหรือวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดอื่น ๆ สําหรับเวลาในอวกาศที่ไม่ได้มีการวางแผนเอาไว้”

อย่างไรก็ตาม การที่ต้องติดอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เป็นเวลานานถึง 9 เดือนย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตของนักบินอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว แผนการ จิตใจ และหรือสุขภาพร่างกาย สาเหตุที่ทั้งคู่ไม่สามารถกลับสู่โลกได้นั้น เป็นผลมาจากความผิดปกติของยานอวกาศที่จะนำทั้งคู่กลับมาและต้องได้รับการช่วยเหลือจากยาน SpaceX Crew Dragon โฆษกของ NASA กล่าวเสริมว่า "พวกเขายังอยู่ในภารกิจชั่วคราวระยะยาว (Temporary Duty : TDY) และได้รับเบี้ยเลี้ยง TDY ตามจำนวนวันที่พวกเขาอยู่ในอวกาศ ซึ่งเบี้ยเลี้ยง TDY สําหรับการเดินทางไปยังสถานที่ใด ๆ ในปัจจุบันคือ วันละ $5"

Cady Coleman อดีตนักบินอวกาศของ NASA เปิดเผยว่า เธอเคยได้รับเบี้ยเลี้ยง TDY 'ประมาณ $4 ต่อวัน' จากสถานการณ์ในลักษณะเดียวกัน โดยอิงจากภารกิจ 159 วันของเธอในปี 2010-11 ซึ่งเธอได้รับเบี้ยเลี้ยง TDY ประมาณ $636 ต่อมาลูกสาวของ Wilmore ได้โพสต์ TikTok อ้างว่า พ่อของเธอถูกกําหนดให้ได้รับเบี้ยเลี้ยง TDY $5 พิเศษ รวมเป็น $1,430 บวกกับเงินเดือนคร่าว ๆ อีกประมาณ '$152,258.00 ต่อปี' 

ประธานาธิบดี Trump ได้กล่าวถึงเรื่องนี้โดยบอกกับผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อเช้าวันที่ 21 มีนาคม 2025 ว่า นับเป็นครั้งแรกที่เขาได้ยินว่านักบินอวกาศไม่ได้รับเงินค่าล่วงเวลา และหาก NASA ทำไม่ได้ เขายินดีที่จะจ่ายเงินค่าล่วงเวลาให้นักบินอวกาศทั้งสองด้วยเงินส่วนตัว ประธานาธิบดี Trump บอกว่า: "ไม่มีใครเคยบอกถึงเรื่องนี้กับผมเลย ถ้าจําเป็นผมจะใช้เงินส่วนตัวของผมจ่ายเอง” นักบินอวกาศทั้งคู่กลับบ้านหลังจากผ่านไป 286 วัน โดยประธานาธิบดี Trump ได้ขอให้ Elon Musk 'ไปรับ' Wilmore และ Williams ผู้ที่ประธานาธิบดี Trump อ้างว่าถูก 'ทอดทิ้งโดยฝ่ายบริหารของ Biden ในอวกาศ' ซึ่งตอนนั้น ประธานาธิบดี Trump ได้โพสต์สรุปใน Truth Social ของเขาว่า "พวกเขารออยู่ที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) มาหลายเดือนแล้ว Elon จะดำเนินการเร็ว ๆ นี้ หวังว่าทุก ๆ อย่างจะเรียบร้อยและปลอดภัย ขอให้โชคดีนะ Elon!!!" 

‘จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้’ เห็นพ้อง!! เสริมสร้างความไว้วางใจ กระชับความร่วมมือ เน้น!! สร้างเสถียรภาพ การพัฒนาระดับภูมิภาค ท่ามกลาง เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า

(22 มี.ค. 68) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ‘หวังอี้’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่าจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เห็นพ้องที่จะเสริมสร้างการสื่อสาร เพิ่มความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และกระชับความร่วมมือให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

หวังกล่าวถ้อยคำข้างต้นขณะพบปะกับสื่อมวลชนร่วมกับทาเคชิ อิวายะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น และโช แทยูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้ หลังจากเข้าร่วมการประชุมระดับไตรภาคีของรัฐมนตรีต่างประเทศจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 11 ในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น

หวังระบุว่าทั้งสามประเทศเห็นพ้องถึงความคืบหน้าเชิงบวกที่เกิดขึ้นในความร่วมมือ นับตั้งแต่การประชุมสุดยอดไตรภาคีจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 9 และตระหนักถึงความจำเป็นและความรับผิดชอบในการเสริมสร้างการสื่อสาร เพิ่มความไว้วางใจซึ่งกันและกัน กระชับความร่วมมือ และจัดสรรปัจจัยที่เอื้อต่อการสร้างเสถียรภาพสำหรับสันติภาพและการพัฒนาระดับภูมิภาค ท่ามกลางฉากหลังของภูมิทัศน์ระหว่างประเทศที่สลับซับซ้อนและปั่นป่วน กอปรกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า

ประการแรก หวังกล่าวว่าทั้งสามฝ่ายตกลงเสริมแกร่งแนวโน้มความร่วมมือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้จะยึดมั่นในเจตนารมณ์เดิมของความร่วมมือ มุ่งเน้นที่วิสัยทัศน์ความร่วมมือไตรภาคีสำหรับทศวรรษหน้า (Trilateral Cooperation Vision for the Next Decade) รวมถึงขยับขยายพื้นที่ใหม่ บ่มเพาะแรงขับเคลื่อนการเติบโตใหม่ และสร้างจุดเด่นใหม่ของความร่วมมือ บนพื้นฐานของความร่วมมือที่มุ่งเน้นประเด็นสำคัญ 6 ด้านซึ่งกำหนดโดยการประชุมผู้นำเมื่อปีที่แล้ว อีกทั้งมีการหารือถึงการจัดการประชุมสุดยอดไตรภาคีจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 10 ภายในปีนี้ และจะมุ่งมั่นสร้างเงื่อนไขและบรรยากาศที่เอื้ออำนวยเพื่อจุดประสงค์ข้างต้น

ประการที่สอง ทั้งสามฝ่ายตกลงส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยจะเดินหน้าติดต่อสื่อสารเกี่ยวกับการเริ่มต้นการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีไตรภาคีใหม่ ส่งเสริมการขยายตัวของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) พร้อมรักษาเสถียรภาพและความราบรื่นของห่วงโซ่การผลิตและอุปทานในภูมิภาค จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้จะก้าวตามยุคสมัยเพื่อสร้างพื้นที่ด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเอเชีย และส่งเสริมการพัฒนาพลังการผลิตใหม่ที่มีคุณภาพ

ประการที่สาม ทั้งสามฝ่ายตกลงกระชับการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ร่วมกันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยจะจัดปีแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้อย่างราบรื่นในปี 2025-2026 มุ่งมั่นเพิ่มการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนเป็น 40 ล้านคนภายในปี 2030 และส่งเสริมฐานความคิดเห็นสาธารณะสำหรับความร่วมมือไตรภาคี อีกทั้งเล็งเห็นว่าการเสริมสร้างความร่วมมือด้านสวัสดิการสังคม การพัฒนาสีเขียวและคาร์บอนต่ำ และด้านอื่นๆ จะเอื้อประโยชน์มากขึ้นแก่ประชาชนของสามฝ่าย

ประการที่สี่ ทั้งสามฝ่ายตกลงเสริมสร้างความร่วมมือพหุภาคี โดยจะยกระดับการประสานงานและความร่วมมือภายใต้หลายกลไก เช่น อาเซียนบวกสาม และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ส่งเสริมความร่วมมือไตรภาคีร่วมกับภูมิภาคโดยรอบ และขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกันในภูมิภาค พร้อมสนับสนุนกันและกันในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ส่งเสริมภูมิภาคนิยมแบบเปิด ยึดมั่นในพหุภาคีและการค้าเสรี ทั้งผลักดันโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์และครอบคลุมมากขึ้น

หวังกล่าวเสริมว่าจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เห็นพ้องกับการทำงานของสำนักงานเลขาธิการความร่วมมือไตรภาคี และตกลงขยายระยะเวลาดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการที่ปรึกษาสำนักงานฯ โดยหวังว่าสำนักงานเลขาธิการจะมีบทบาทมากขึ้นในการส่งเสริมความร่วมมือไตรภาคี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top