Friday, 16 May 2025
World

BMW Brilliance เปิดตัวโครงการ 'พลังงานความร้อนใต้พิภพ' บนแผ่นดินจีน มลพิษเป็น 0 ลดการปล่อยคาร์บอน 1.8 หมื่นตันต่อปี

(22 ต.ค. 67) บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู บริลเลียนส์ ออโตโมทีฟ หรือบีบีเอ (BBA) กิจการร่วมค้าของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ปในจีน เปิดตัวโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพที่มุ่งเป้าผลิตความร้อนจากพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลร้อยละ 100 สำหรับกลุ่มโรงงานของบริษัทฯ ในนครเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

รายงานระบุว่าบีบีเอจะเจาะบ่อความร้อนใต้พิภพระดับกลาง-ลึก จำนวน 28 บ่อ ซึ่งจะสร้างแล้วเสร็จภายในช่วงฤดูการจ่ายพลังงานเพื่อให้ความร้อนปี 2025 พร้อมด้วยพื้นที่การทำความร้อนราว 5.8 แสนตารางเมตร

ไต้เฮ่อเซวียน ประธานและซีอีโอของบีบีเอ กล่าวว่าเราเชื่อว่าการลงทุนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือการลงทุนเพื่ออนาคต และบริษัทจะเริ่มเข้าสู่บทใหม่ของการสำรวจพลังงานความร้อนใต้พิภพนับแต่วันนี้เป็นต้นไป
อนึ่ง พลังงานความร้อนใต้พิภพเป็นพลังงานหมุนเวียนที่มีเสถียรภาพและปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยมีปริมาณสำรองมหาศาลและกระจายตัวอยู่ทั่วจีน

บีบีเอคาดการณ์ว่าจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชั้นนำของอุตสาหกรรมเพื่อเก็บสะสมพลังงาน ณ ความลึกประมาณ 2,900 เมตรใต้ดินแบบไม่ก่อมลพิษและปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ อีกทั้งจะดำเนินการสำรวจพลังงานด้วยกระบวนการแบบปิด โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอน 18,000 ตันต่อปี

ทั้งนี้ บีเอ็มดับเบิลยูเดินหน้าเพิ่มการลงทุนในเสิ่นหยางในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2023 บีบีเอได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารหลักของโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งใหม่แล้วเสร็จ ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 1 หมื่นล้านหยวน (ราว 4.7 หมื่นล้านบาท) ซึ่งพลังงานความร้อนใต้พิภพจะถูกนำมาใช้จ่ายความร้อนให้กับโรงงานและโรงประกอบของบริษัทฯ ในช่วงฤดูหนาวเป็นหลัก

‘แบงก์ชาติอินโดนีเซีย’ โดดอุ้ม ‘ค่าเงินรูเปียห์’ จากปัจจัย ‘ทรัมป์’ มีโอกาสเข้าวิน ปธน.สหรัฐ

(22 ต.ค. 67) สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย เข้า “แทรกแซง” ตลาดเงินตราต่างประเทศเพื่อพยุง ค่าเงินรูเปียห์ ท่ามกลางการคาดการณ์ของเหล่านักลงทุนว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีโอกาสชนะการเลือกตั้งสหรัฐมากขึ้น และ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มชะลอการลดอัตราดอกเบี้ย

การเข้าแทรกแซงครั้งนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียดำเนินการทั้งในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแบบสปอตและตลาดอนุพันธ์ เพื่อบรรเทาความผันผวนของค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในวันอังคารนี้ (22 ต.ค.) ตามที่เอดี ซูเซียนโต ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการเงินของธนาคารกลางได้เปิดเผย

เงินรูเปียห์ อ่อนค่าลงมากถึง 0.5% มาอยู่ที่ระดับ 15,568 ต่อดอลลาร์ในการซื้อขายช่วงเช้าของวันนี้ (22 ต.ค.) ซึ่งเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม โดยธนาคารกลางอินโดนีเซียต้องเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อพยุง ค่าเงินรูเปียห์

ซูเซียนโตระบุว่า การอ่อนค่าของเงินรูเปียห์ในครั้งนี้มีสาเหตุมาจากถ้อยแถลงล่าสุดของเจ้าหน้าที่เฟดที่แสดงท่าทีไม่เอื้ออำนวยต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และความไม่แน่นอนที่เกิดจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการบริหารท่านนี้ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ค่าเงินรูเปียห์ ยังคงอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากคาดว่าผู้ประกอบการส่งออกจะยังคงมีการนำเงินดอลลาร์เข้ามาในตลาด ซึ่งจะช่วยพยุงค่าเงินรูเปียห์ได้ในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ ค่าเงินในเอเชียอ่อนค่าลงในช่วงเปิดตลาดวันอังคารนี้ท่ามกลางการแข็งค่าของดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนต่างจับตาผลการเลือกตั้งสหรัฐในเดือนพฤศจิกายน และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดที่บ่งชี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น

ความผันผวนของค่าเงินรูเปียห์ อาจทำให้การลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมโดยธนาคารกลางต้องล่าช้าออกไปในปีนี้ โดยเพอร์รี วาร์จิโย ผู้ว่าการธนาคารกลางกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า

“ยังมีพื้นที่สำหรับการผ่อนคลายเพิ่มเติม แต่ในขณะนี้ ธนาคารกลางให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของค่าเงินรูเปียห์มากกว่า” ซึ่งธนาคารอินโดนีเซียคงอัตราดอกเบี้ยสำคัญไว้ที่ 6% ในเดือนนี้

ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีความพร้อมในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินรูเปียห์ เนื่องจากมีปริมาณสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับสถิติสูงสุดในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

‘คาซัคสถาน’ เตรียมฉลอง!! จัดงานใหญ่ใน ‘วันสาธารณรัฐ’ เผย!! เป็นก้าวแรกสู่ความเป็นอิสระ มีอธิปไตยของประเทศ

(23 ต.ค. 67) ประเทศคาซัคสถาน เตรียมจัดงานใหญ่ ในวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคมนี้ เพื่อฉลองวันหยุดสำคัญของประเทศ ‘วันสาธารณรัฐ’ ซึ่งในวันนี้ในปี 1990 ได้มีการประกาศเอกราชของสาธารณรัฐโซเวียตคาซัค ซึ่งถือเป็นก้าวแรกสู่ความเป็นอิสระของประเทศ วันนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นเส้นทางของคาซัคสถานสู่การมีอธิปไตยและการเสริมสร้างความเป็นอิสระของชาติ มีบทบาทสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติของประเทศ

“เอกสารที่มีความสำคัญอย่างยิ่งนี้เป็นการประกันความไม่แบ่งแยกและความไม่ละเมิดของดินแดนของเรา และการยืนยันที่จะเสริมสร้างอัตลักษณ์ของชาติและรับประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หลักการพื้นฐานเหล่านี้ได้ถูกสะท้อนในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และแนวทางยุทธศาสตร์ของคาซัคสถานในปัจจุบัน” ประธานาธิบดีโตกาเยฟกล่าว

ในด้านเศรษฐกิจ คาซัคสถานมุ่งแสวงหาเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจที่แข็งแกร่ง สะท้อนถึงวิสัยทัศน์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การเสริมสร้างความสัมพันธ์กับมหาอำนาจหลักทั่วโลกในภาคส่วนสำคัญ เช่น พลังงานหมุนเวียน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของคาซัคสถานในการกระจายเศรษฐกิจและส่งเสริมนวัตกรรม เศรษฐกิจของคาซัคสถานมีขนาดใหญ่เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศ ทั้งแร่ธรรมชาติ น้ำมัน และแร่หายาก และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอย่างมหาศาลในอุตสาหกรรมเหล่านี้

ต้นปี 2024 การผลิตน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน (bpd) เพิ่มขึ้น 15,000 bpd ในขณะที่การผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวและคอนเดนเสทอยู่ที่ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง 10,000 bpd เป้าหมายการผลิตน้ำมันในปี 2024 กำหนดไว้ที่ 90.3 ล้านตัน ซึ่งมีการสำรองน้ำมันที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 78 พันล้านตัน

ในปี 2023 การค้าระหว่างประเทศของคาซัคสถานมีมูลค่ารวม 139.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (การส่งออก 78.7 พันล้าน การนำเข้า 61.1 พันล้าน) เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

‘เมียนมา’ เตรียมเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม ‘BRICS’ เพื่อยกระดับ!! บทบาทของตน ในเวทีระดับโลก

(23 ต.ค. 67) ไม่นานมานี้มีสำนักข่าวหลายสำนักไม่ว่าจะมาจากฝั่งอินเดียหรือจีนรายงานตรงกันว่าเมียนมากำลังดำเนินการสมัครเข้าเป็นประเทศในกลุ่ม BRICS  ก่อนอื่นที่เราจะมารู้ว่าทำไมเมียนมาถึงสมัครเข้า BRICS เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า BRICS คืออะไร

BRICS เป็นการรวมกลุ่มกันของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ก่อตั้งขึ้นโดยสมาชิกผู้ก่อตั้ง 4 ประเทศ คือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน ในปี 2009 ซึ่งเริ่มแรกใช้ชื่อกลุ่มว่า BRIC โดยเป็นการนำอักษรตัวแรกของแต่ละประเทศมาเรียงต่อกัน ต่อมาได้รับแอฟริกาใต้เพิ่มเข้ามาในปี 2010 ทำให้เปลี่ยนไปเป็น BRICS และใช้มาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าต้นปี 2024 จะรับสมาชิกเพิ่มมาอีก 5 ประเทศอันได้แก่  อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และล่าสุดมี 34 ประเทศที่ยื่นคำร้องขอเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการแล้ว อันได้แก่ แอลจีเรีย อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บังกลาเทศ เบลารุส โบลิเวีย คิวบา ชาด สาธารณรัฐคองโก อิเควทอเรียลกินี เอริเทรีย ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย คาซัคสถาน คูเวต ลาว มาเลเซีย เมียนมา โมร็อกโก นิการากัว ไนจีเรีย ปากีสถาน เซเนกัล ซูดานใต้ ศรีลังกา ปาเลสไตน์ ซีเรีย ไทย ตุรกี ยูกันดา อุซเบกิสถาน เวเนซุเอลา เวียดนาม และซิมบับเว

ข้อดีของการเป็นสมาชิกใน BRICS มีหลายประการกล่าวโดยสรุปคือ

1. การเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะช่วยยกระดับบทบาทของประเทศตนในเวทีระหว่างประเทศ 

2. ทำให้ประเทศที่เป็นสมาชิกมีจุดยืนในฐานะพหุภาคีและความสมดุลระดับโลก 

3. โอกาสที่จะเข้าถึงการลงทุนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อันยกระดับให้ประเทศมีการพัฒนามากขึ้น

4. สร้างความมั่นคงและเสถียรภาพในระดับภูมิภาค

5. ได้รับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า

เฉกเช่นเดียวกันกับไทยที่มองหาโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ รัฐบาลทหารเมียนมาก็แสวงหาลู่ทางในการที่จะลืมตาอ้าปากจากการถูกแซงชั่นจากประเทศตะวันตกและประเทศพันธมิตรของตะวันตกโดยมีหัวหอกเป็นอเมริกาด้วยเช่นกัน  จากที่เอย่าคาดการณ์แล้วหากเมียนมาเข้าเป็นสมาชิก BRICS ได้สำเร็จ เมียนมาจะบรรลุถึงการส่งออกสินค้าเกษตรของตนไปยังตลาดใหม่ๆโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศของ BRICS เอง  อีกทั้ง BRICS ยังเปิดโอกาสทางการค้าที่เสรีโดยไม่จำเป็นต้องค้าขายผ่านสกุลเงินใครเป็นสกุลเงินหลักแต่เปิดโอกาสให้ทำธุรกิจผ่านสกุลเงินของประเทศตนเองได้โดยตรงอันจะช่วยให้ลดปัญหาการได้เปรียบหรือเสียเปรียบอันเนื่องมาจากการใช้ระบบ SWIFT

อีกอย่างเมียนมาจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่จะช่วยในการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนได้มากขึ้นหลังถูกโดดเดี่ยวมาตั้งแต่รัฐประหารและประเทศในกลุ่ม BRICS ก็น่าจะเข้ามาลงทุนในเมียนมามากขึ้นด้วยเหตุที่ค่าแรงถูกและยังมีที่ดินเป็นจำนวนมากที่ที่สามารถพัฒนาได้

สุดท้ายหากเกิดสงครามขึ้นมาประเทศในกลุ่ม BRICS ก็จะได้รับการช่วยเหลือทางอาหารจากประเทศในกลุ่มสมาชิกที่มีการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลักซึ่งนอกจากไทยแล้วเมียนมาก็เป็นอีกประเทศที่มีการส่งออกสินค้าทางการเกษตรในราคาถูกและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้ดีเช่นกัน

South China Morning Post ระบุในถ้อยแถลงว่าทางรัฐบาลทหารเมียนมาแสดงความปรารถนาของเมียนมาที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มประเทศ BRICS ในฐานะผู้สังเกตการณ์ระหว่างการเยือนมอสโคว์เมื่อไม่นานมานี้ และจากท่าทีของจีนและรัสเซียที่เป็นหัวเรือใหญ่ใน BRICS เชื่อว่าสามารถนำพาเมียนมาเข้าเป็น 1 ในสมาชิกของ BRICS ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

การที่ทางรัฐบาลเมียนมาคิดแบบนี้น่าจะเป็น 1 ในแผนระยะยาวในการสร้างเสถียรภาพของประเทศและสร้างความเจริญที่ยั่งยืนในประเทศอันจะส่งผลให้ความขัดแย้งในประเทศจบลงไวขึ้นนั่นเอง และนั่นก็รวมถึงการผลักดันผู้คิดต่างให้ออกไปอยู่นอกวงและกลายเป็นคนไร้สัญชาติในที่สุด

‘หนุ่มวิชาการจีน’ อ้าง จบ 2 อภิมหาบัณฑิต 4 ป. เอก 4 ป. โท ชาวเน็ตสวมวิญญาณโคนัน ตามสืบ!! ‘ปริญญาจริงหรือจกตา’

(23 ต.ค. 67) จ้าว จือเจี้ยน นักวิชาการจีนป้ายแดง วัย 29 ปี ได้ปลุกสัญชาตญาณโคนันของชาวเน็ตจีนทั่วประเทศไปแล้ว เมื่อประวัติการศึกษาของเขาถูกเผยแพร่หลังจากได้รับตำแหน่งนักวิจัยของสถาบัน Inner Mongolian National Culture and Art Research Institute ที่เต็มไปด้วยวุฒิการศึกษามากมายเหลือเชื่อ อันประกอบด้วย งานวิจัยหลังปริญญาเอก 2 ใบ, ปริญญาเอก 4 ใบ, ปริญญาโท 4 ใบ และเป็นสมาชิกองค์กรทางวิชาการอีกมากกว่า 20 แห่ง 

นอกจากจะเป็นนักวิชาการมากปริญญาแล้ว ยังมาจากหลากหลายสาขาวิชาอีกด้วย โดย จ้าว จือเจี้ยน อ้างว่า เขาได้รับปริญญาเอกในสาขา ศิลปะการแสดง, จิตวิทยา, การศึกษา และ พระคัมภีร์ศึกษา อีกทั้งยังระบุถึงสถาบันที่จบมาด้วยว่า ได้ปริญญาเอกมาจากมหาวิทยาลัยคาทอลิคแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้ และ Lyceum of the Philippines University ที่เป็นสถาบันเอกชน

นอกจากนี้ เขายังจบปริญญาโทจากหลายสถาบัน ในสาขาการสื่อสาร, พุทธศาสนา, จิตและสมาธิศึกษา จาก University of Hong Kong, Baptist University และ University of Zaragoza,  Miguel de Cervantes European University ในสเปน

ไม่เพียงแค่ใบปริญญาในปริมาณน่าสะพรึงเท่านั้น เขายังเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์กรวิชาการถึง 22 แห่ง ในสาขาต่างแขนง ตั้งแต่เศรษฐศาสตร์ ยันแพทยศาสตร์ และยังเคยตีพิมพ์บทความทางวิชาการระดับสูงอีก 24 ชิ้น ที่ได้รับคะแนนความถี่ในการอ้างอิงระดับ 28+ 

แต่ถึงจะมีหลักฐานอ้างอิง แต่ประวัติการศึกษาของ จ้าว จือเจี้ยน ก็เต็มไปด้วยคำถาม เพราะการจบวุฒิปริญญาเอกสักใบ ต้องใช้เวลาศึกษาค้นคว้าอย่างหนักไม่ต่ำกว่า 4 ปี ไม่น่าเชื่อที่นักวิชาการหนุ่มวัยเพียง 29 ปี จะเรียนได้หมดครบทุกปริญญาที่อ้างมา

เมื่อประวัติการศึกษาของ จ้าว จือเจี้ยน กลายเป็นประเด็นถกเถียง ทางสถาบันต้นสังกัดที่รับเขาเข้าทำงานจึงต้องระงับการจ้างเพื่อตรวจสอบ

โดยเมื่อ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา หยิน ฟู่จุน หัวหน้าของสถาบันกว่าผ่านสื่อ China Newsweek ว่า จึงตอนนี้ยังไม่พบ ‘การปลอมแปลงที่ชัดเจน’ ของใบปริญญาโททั้ง 4 ใบของจ้าว จากการตรวจสอบของหน่วยงานบริการด้านการศึกษาแลกเปลี่ยนของจีน (CSCSE) จึงเชื่อได้ว่าปริญญาโททั้ง 4 ใบ เป็นของจริง 

ส่วนวุฒิปริญญาเอก 1 ใบก็ผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว และยังรอผลการตรวจอีก 1 ใบ ส่วนปริญญาเอกใบอื่นๆที่เหลือ จ้าว จือเจี้ยน ไม่ประสงค์ยื่นตรวจสอบ แต่ทั้งนี้ หยิน ฟู่จุน หัวหน้าสถาบันระบุว่า จ้าว ผ่านขั้นตอนการประเมินของสถาบันในตำแหน่งนักวิชาการเรียบร้อยแล้ว และรู้สึกเสียใจที่เกิดดรามาในประวัติการศึกษาของเขา

แต่นักวิจารณ์ชาวเน็ตยังไม่จบง่ายๆ และได้โต้แย้งในประเด็นเรื่องความถูกต้องตามกฎหมายของวุฒิการศึกษาของเขา เนื่องจากใบปริญญาบางส่วนของเขาได้รับจากหลักสูตรออนไลน์ และ มหาวิทยาลัย อย่าง Miguel de Cervantes European ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อสถาบันที่ใช้ตรวจสอบด้วยซ้ำ (ซึ่งในบ้านเราจะเรียกว่า สถาบันที่ กพ. ไม่รับรอง)

มิหนำซ้ำ CSCSE เพิ่งจะระบุเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า สถาบัน Lyceum of the Philippines University วิทยาเขตบันทังกัส ที่จ้าวจบมา เป็นหนึ่งใน 13 สถาบันต่างประเทศที่อยู่ในระดับล่าง ที่จำเป็นต้องตรวจสอบวุฒิการศึกษาอย่างเข้มงวด 

ส่วนองค์กรวิชาการ 22 แห่งที่จ้าว จือเจี้ยน อ้างว่าเป็นสมาชิก หลายแห่งเป็นสมาคมสาธารณะ หรือไม่ก็ก่อตั้งโดยกลุ่มนักศึกษา ที่แค่จ่ายเงินค่าสมาชิกก็เข้าร่วมได้

และตอนนี้ รัฐบาลจีนได้เพิ่มความเข้มข้น ในการปราบปรามนักวิชาการหลายคนที่พยายามหาทางลัดในการเพิ่มวุฒิการศึกษาเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพของตน 

โดยเมื่อปี 2022 อธิการบดีของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในมณฑลหูหนานถูกไล่ออก หลังพบว่าสถาบันได้ใช้เงินกว่า 18 ล้านหยวน ส่งบุคลากร 23 คนไปเรียนหลักสูตรปริญญาเอกฉบับเร่งรัด การันตีจบได้ภายใน 28 เดือนที่มหาวิทยาลัยอดัมสันในฟิลิปปินส์

ด้วยเหตุนี้ ทำให้อาจารย์ และนักวิชาการหน้าใหม่ที่โชว์ปริญญาเวอร์วัง หรือมีประวัติการศึกษาน่าเหลือเชื่อ ชวนสงสัย จึงกลายเป็นเป้าสายตาของเหล่าบรรดานักสืบโซเชียลจีน ไม่ว่าจะมีกี่สิบปริญญาขุดหมด ถ้าไม่สลด ขุดต่อ 

นักวิชาการไทยในอิหร่าน โพสต์!! ไทยน่าจะได้ใช้ ‘น้ำมันราคาถูก’ ถ้าไม่เกรงกลัวอิทธิพล ประเทศมหาอำนาจ แล้วรับส่วนลดจากอิหร่าน

(23 ต.ค. 67) ดร.เลอพงษ์ ซาร์ยีด นักวิชาการคนไทย ที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอิหร่าน ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับ ‘ราคาน้ำมัน’ โดยมีใจความว่า ...

อิหร่านยังครองแชมป์น้ำมันถูกที่สุดในโลกมาหลายสิบปี

ถ้ามีบัตรน้ำมัน ราคาเบนซินต่อลิตร 70 สตางค์ ถ้าไม่มีบัตรน้ำมัน ราคา 1.40 สตางค์ ครับ

รถผมเติมเต็มถังน้ำมันเบนซิน 65 ลิตร เสียค่าน้ำมันเป็นเงินไทยประมาณ 45 บาท

ถูกขนาดนี้ ประเทศไทยยังไม่กล้าซื้อ เพราะเกรงกลัวมหาอำนาจ ถึงแม้ว่าน้ำมันจะมีราคากลางของตลาดโลก แต่ส่วนลดที่น่าสนใจ ทำให้ชาติที่ไม่กลัวมหาอำนาจเป็นลูกค้าหลักของอิหร่าน

ปล.ผมใช้ชีวิตอยู่อิหร่านนะครับ

‘Huawei’ เปิดตัว ‘HarmonyOS NEXT’ สลัด!! ‘Android’ ทิ้งอย่างสิ้นเชิง

(23 ต.ค. 67) แกนหลักของ HarmonyOS เป็นการพัฒนาของ Huawei ด้วยตนเองทั้งหมด ซึ่งทำให้จีนสามารถหลุดพ้นจากการพึ่งพา Android และจะสามารถพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีภายในประเทศ ต่อยอดตามความต้องการของตนเองได้ โดยไม่ถูกจำกัดจากปัจจัยอื่นๆ

ตามข้อมูลที่เปิดเผยในงานแถลงข่าวผลิตภัณฑ์ใหม่ HarmonyOS เวอร์ชันก่อนหน้านี้ยังคงใช้โค้ดบางส่วนจากโครงการ Android Open Source Project (AOSP) ทำให้ต้องรองรับแอปพลิเคชัน Android บางส่วน

แต่ HarmonyOS NEXT ที่เพิ่งเปิดตัวได้พัฒนาระบบพื้นฐานขึ้นเองทั้งหมด ทำให้บรรลุเป้าหมายการพึ่งพาตนเองและการควบคุมระบบปฏิบัติการภายในประเทศ ในขณะเดียวกัน ความลื่นไหลของระบบ ประสิทธิภาพ และคุณสมบัติด้านความปลอดภัยก็ได้รับการปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญ

ตามรายงานของสื่อ มีแอปพลิเคชันและบริการเมตามากกว่า 15,000 รายการที่เปิดตัวบน HarmonyOS NEXT ครอบคลุม 18 อุตสาหกรรม และแอปพลิเคชันสำนักงานทั่วไปได้ครอบคลุมบริษัทมากกว่า 38 ล้านแห่งทั่วประเทศ

ตามรายงาน HarmonyOS NEXT ลดอุปสรรคและต้นทุนในการเข้าถึงระบบ โดยได้ปรับปรุงให้มีความคล่องตัวขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ และแอปพลิเคชันจำนวนมากได้รับการอัปเดตแบบต่อเนื่องวันละครั้ง

หยู เฉิงตง (Yu Chengdong) หรือ Richard Yu กรรมการบริหารของ Huawei และประธานคณะกรรมการของกลุ่มธุรกิจผู้บริโภค กล่าวระหว่างการประชุมว่า "HarmonyOS NEXT ที่เปิดตัวในครั้งนี้ ถือเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี ในแง่ของอายุการใช้งานแบตเตอรี่ ความปลอดภัย และการปกป้องความเป็นส่วนตัว ปัจจุบัน แอปพลิเคชันที่เปิดตัวบนแพลตฟอร์มได้รับการอัปเดตเกือบทุกวัน สามารถเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์และสถานการณ์หลากหลาย เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และห้องโดยสารรถยนต์

ปัจจุบัน จำนวนอุปกรณ์ที่รองรับ HarmonyOS มีมากกว่า 1 พันล้านเครื่อง มีนักพัฒนาที่ลงทะเบียน 6.75 ล้านคน ในขณะเดียวกัน Huawei ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมากกว่า 300 แห่งทั่วประเทศจีนเพื่อเร่งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี

HarmonyOS เปิดตัวครั้งแรกในปี 2019 โดยใช้กับจอแสดงผลอัจฉริยะของ Huawei   และเริ่มใช้กับโทรศัพท์มือถือ Huawei ในปี 2021

ในไตรมาสแรกของปี 2024 HarmonyOS ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่ง และส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกเกิน 4 เปอร์เซ็นต์ ตามสถิติจาก Counterpoint บริษัทวิจัยตลาดเทคโนโลยีระดับโลก

ในตลาดจีน ด้วยความนิยมในผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ของ Huawei ทำให้ HarmonyOS มีส่วนแบ่งตลาด 17 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสแรก และ iOS ของ Apple มีส่วนแบ่งตลาด 16 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่าส่วนแบ่งตลาดของ HarmonyOS แซงหน้า iOS เป็นครั้งแรก กลายเป็นระบบปฏิบัติการอันดับสองในตลาดจีน ตามรายงานของ Counterpoint

ตามรายงานการวิเคราะห์ของ Zhongtai Securities เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมระบุว่า ระบบนิเวศแอปพลิเคชันของ HarmonyOS กำลังเติบโต  และการทำตลาดในวงกว้างของ HarmonyOS กำลังจะมาถึงในปี 2024 ซึ่งคาดว่าจะผลักดันให้ผู้ผลิตซอฟต์แวร์แอปพลิเคชันจำนวนมากปรับตัว ย้ายแพลตฟอร์ม และพัฒนาต่อยอด

จับตาประชุมกลุ่ม BRICS ร่วมประเทศพันธมิตร 34 ประเทศ กลุ่มมหาอำนาจใหม่ท่ามกลางความขัดแย้งสองซีกโลกในทุกมิติ

(24 ต.ค. 67) ในสัปดาห์นี้กำลังมีการประชุมใหญ่ในสองซีกโลกที่สะท้อนให้เห็นถึง 'การแบ่งขั้ว' ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้นในยุคปัจจุบัน กับการประชุม BRICS และ IMF-World Bank

ฝั่ง 'สหรัฐ' เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่ทยอยเรียกความสนใจไปแล้วตั้งแต่การออกรายงานหนี้สาธารณะทั่วโลกที่พุ่งทะลุ 100 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก มาจนถึงการออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดเดือน ต.ค. ที่เตือนเรื่องความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และการกีดกันทางการค้าซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนในฝั่ง 'รัสเซีย' จะเปิดบ้านในเมืองคาซาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ จัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ 'บริกส์' (BRICS) ที่มีสมาชิกดั้งเดิม 4+1 ประเทศคือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ และผู้นำ/ผู้แทนจาก 34 ประเทศเข้าร่วมระหว่างวันที่ 22 - 24 ต.ค. โดยมีไฮไลต์ที่การเข้าร่วมประชุมครั้งแรกของเหล่า 'สมาชิกใหม่' 5 ประเทศ และการสะท้อนนัยยะทางการเมืองครั้งสำคัญของรัสเซียภายใต้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน

อัสลี อัยดินทัสบาส ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศจากตุรกี กล่าวกับสถาบันคลังสมองบรูกกิงส์ในสหรัฐว่า ภายหลังสงครามในฉนวนกาซา (ซึ่งสหรัฐส่งอาวุธไปให้กับอิสราเอล) รัสเซียและจีนได้ใช้ประโยชน์จากความรู้สึกต่อต้านตะวันตกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาศัยความผิดหวังจากการกระทำสองมาตรฐานของตะวันตก รวมถึงความไม่พอใจจากคว่ำบาตรและบีบบังคับทางเศรษฐกิจของตะวันตก 

"เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มประเทศตรงกลางจะแปรพักตร์จากอิทธิพลของสหรัฐไปซบจีนแทน แต่ประเทศเหล่านี้กำลังเปิดใจให้จีนและรัสเซียมากขึ้น เพื่อให้โลกมีอิสระและกระจายขั้วอำนาจมากขึ้น"

>>> จับตาสมาชิกใหม่ BRICS+

ขณะที่ซีเอ็นบีซีรายงานว่า รัสเซียพยายามใช้วาทกรรมการรวมกลุ่มของประเทศซีกโลกใต้ (Global South) ในเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา เพื่อต่อกรท้าทายระเบียบโลกใหม่กับซีกโลกเหนือที่นำโดยสหรัฐ ซึ่งจะเป็นวาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ ตัวปูตินเองได้เปรยเอาไว้เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า การขยายสมาชิกกลุ่มบริกส์เป็น 'ตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มและบทบาทในกิจการระหว่างประเทศ' พร้อมส่งสัญญาณว่าเขาตั้งใจที่จะนำเสนอรูปแบบการรวมกลุ่มที่เรียกว่า 'BRICS+' (บริกส์พลัส) เพื่อท้าทายตะวันตกทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ

ปูตินจะใช้วันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์ 10 ประเทศ จัดการประชุมคู่ขนาน BRICS and Outreach หรือ BRICS Plus ควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่จากประเทศต่างๆ ในเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกาเกือบ 40 ประเทศเข้าร่วม และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของกลุ่มในการขยายความสัมพันธ์กับประเทศในซีกโลกใต้

"ประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์กำลังกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และในอนาคตอันใกล้นี้ เศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์จะเป็นกลไกหลักในการเพิ่ม GDP โลก และเศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์จะเป็นอิสระจากอิทธิพลภายนอกมากขึ้น" ปูตินกล่าวในการประชุมภาคธุรกิจกลุ่มบริกส์เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว

นอกจากผู้นำของกลุ่มประเทศก่อตั้ง 5 ประเทศ ยกเว้นเพียงบราซิลที่ส่งผู้แทนมาร่วมประชุมเนื่องจากประธานาธิบดี ลูลา ดา ซิลวา ประสบอุบัติเหตุ ผู้นำของ 5 ประเทศสมาชิกใหม่ต่างมาร่วมประชุมบริกส์อย่างคึกคัก อาทิ ประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ยูเออี) อิหร่าน อียิปต์ และเอธิโอเปีย ส่วนซาอุดีอาระเบียส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมแทน 

นอกจากนี้ยังมีผู้นำประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมด้วย อาทิ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และแม้แต่อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ส่วน 3 ประเทศที่แสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศบริกส์ไปแล้ว ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และตุรกีนั้นมีรายงานว่าประธานาธิบดีเรย์เซบ เตย์ยิป เออร์ดวน ของตุรกี รัฐมนตรีเศรษฐกิจของมาเลเซีย ราฟิซี รัมลี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ จะเข้าร่วมการประชุมด้วย

ทิโมธี แอช นักวิชาการในโครงการรัสเซียและยูเรเซียของสถาบันชัทแธมเฮ้าส์ในลอนดอน กล่าวว่าในฉากหลังนั้น ปูตินกำลังคาดหวังถึงชัยชนะด้านการประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่เหนือยูเครนและตะวันตก โดยพยายามส่งสารว่า แม้จะมีสงครามและถูกคว่ำบาตรจากตะวันตก แต่รัสเซียก็ยังคงมีพันธมิตรระหว่างประเทศจำนวนมากที่เต็มใจจะคบค้าและค้าขายด้วยกับรัสเซีย

ทั้งนี้หลังจากที่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเปิดฉากขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในเดือนก.พ. 2565 รัสเซีย ปูติน และบรรดาแกนนำในรัฐบาลต่างก็ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และบรรดาประเทศพันธมิตร เช่น แคนาดา ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหราชอาณาจักรต่างออกมาตรการคว่ำบาตรธุรกิจพลังงาน ธนาคาร และกลาโหมของรัสเซีย ท่ามกลางแรงกดดันให้ประเทศอื่นๆ คว่ำบาตรรัสเซียตามมาหลังจากนั้น 

ไม่เพียงแต่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเท่านั้น ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในกรุงเฮกได้อนุมัติการออกหมายจับปูตินในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามเมื่อปี 2566 ทำให้ผู้นำรัสเซียไม่สามารถเดินทางไปประเทศที่มีธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศได้ และเคยต้องงดการไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำประเทศบริกส์ครั้งก่อนที่แอฟริกาใต้มาแล้ว และงดเข้าร่วมแม้แต่การประชุมจี20 ในปีที่แล้วที่ประเทศอินเดีย แม้จะไม่มีข้อตกลงกับ ICC ก็ตาม 

"การประชุมสุดยอดที่คาซานมีความสำคัญทั้งในเชิงสัญลักษณ์และเชิงปฏิบัติต่อระบอบการปกครองของปูติน" แองเจลา สเตส่วนนต์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษายูเรเซีย รัสเซีย และยุโรปตะวันออกแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวกับสถาบันบรูกกิงส์ "การประชุมสุดยอดครั้งนี้จะแสดงให้เห็นว่า รัสเซียไม่ได้โดดเดี่ยวเพียงลำพัง แต่ยังมีพันธมิตรที่สำคัญ เช่น อินเดีย จีน และประเทศตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญๆ"

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ตอกย้ำให้เห็นภาพนี้ด้วยการจับมือกับปูตินอย่างแน่นแฟ้นในงานและส่งสารอย่างชัดเจนถึงการรวมกลุ่มครั้งนี้ว่า ความร่วมมือในกลุ่มบริกส์เป็น "เวทีสำคัญที่สุดสำหรับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและร่วมมือกันระหว่างประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในโลกวันนี้ เป็น “พลังหลักในการส่งเสริมให้เกิดการตระหนักรู้ถึงโลกหลากขั้วอย่างเท่าเทียมและเป็นระเบียบ รวมถึงโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและอดกลั้น”

4 ชาติอาเซียน ‘ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย’ ตบเท้าเข้าร่วม BRICS ส่อเข้าทางจีน เพิ่มโอกาสสร้างอาณาจักร Global South

รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีการประชุมของกลุ่มบริกส์ในปีนี้ ว่า 

BRICS ขยายสมาชิกอีกนับสิบประเทศ แถมมุ่งมั่นสะสมทองคำเพื่อผลักดันสกุลเงินใหม่ The Unit

ว่ากันว่า สงครามอิสราเอล-ฮามาส เป็นอีกหนึ่งแรงผลักให้สองชาติมุสลิมในอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย และมาเลเซีย  ตัดสินใจร่วมวงกับจีนในกลุ่ม #BRICS ในครั้งนี้

สำหรับ เวียดนาม ในยุคอยู่เป็น ก็พร้อมจะร่วมวงกับจีนในกลุ่ม BRICS แบบไม่ลังเล แปลงจีนให้เป็นโอกาส

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 4 ชาติอาเซียน ทั้งไทย ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เข้าเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรของ BRICS แต่ยังไม่ใช่สมาชิกเต็มตัวแต่อย่างใด

‘โตเกียว เมโทร’ ทำ IPO สูงที่สุดในรอบ 6 ปี ระดมทุนกอบกู้ภัยพิบัติจากสึนามิของ ‘ญี่ปุ่น’

(25 ต.ค. 67) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา Tokyo Metro ได้เริ่มต้นเส้นทางการเปลี่ยนแปลงจากผู้ให้บริการสาธารณะไปสู่ตั๋วร้อนสำหรับนักลงทุน โดยราคาหุ้นพุ่งขึ้น 45% ในวันแรกที่เปิดตัวบนส่วน Prime ของตลาดหลักทรัพย์หลักของญี่ปุ่น

ผู้ให้บริการระบบรถไฟใต้ดินที่มีอายุเก่าแก่ถึง 104 ปีของกรุงโตเกียวแห่งนี้ ตั้งเป้าที่จะใช้ประโยชน์จากตำแหน่งของตนในฐานะผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเมืองที่มีประชากร 14 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์กลางสำคัญของการท่องเที่ยวขาเข้า ศูนย์กลางการเงินระดับโลก และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เฟื่องฟู

หุ้นปิดการซื้อขายวันแรกที่ 1,739 เยน สูงขึ้น 45% จากราคาเสนอขายครั้งแรกที่ 1,200 เยน หลังจากเปิดที่ 1,630 เยนบนส่วน Prime ของตลาดหลักทรัพย์โตเกียว
ราคาเสนอขายทำให้มูลค่าบริษัทอยู่ที่ 697,200 ล้านเยน (4,600 ล้านดอลลาร์) แต่การพุ่งขึ้นในวันพุธทำให้มูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.01 ล้านล้านเยน ในช่วงหนึ่งวัน ราคาหุ้นแตะระดับสูงสุดที่ 1,768 เยน

ราคาหุ้นครั้งแรก 'สูงกว่าที่คาดไว้' นายชินโง อิเดะ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ด้านหุ้นของสถาบันวิจัยเอ็นแอลไอกล่าวหลังจากเปิดการซื้อขาย "ราคาหุ้นอ่อนตัวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งอาจทำให้ความต้องการหุ้นเมโทรเพิ่มขึ้น โดยมีกำไรที่มั่นคง"

ราคาหุ้นโตเกียวเมโทรอาจร่วงลงมาเหลือประมาณ 1,500 เยนในที่สุด เนื่องจากอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลในปัจจุบันลดลงเหลือประมาณ 2% นายอิเดะกล่าว อัตราผลตอบแทนที่ราคาเสนอขายครั้งแรกจะอยู่ที่ 3.3%

การซื้อขายในช่วงเช้า "เริ่มต้นได้ดี เนื่องจากเราเห็นความต้องการซื้อในระดับหนึ่ง" นายโทโมอิจิโร คูโบตะ นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสจากบริษัท Matsui Securities กล่าว บริษัท Tokyo Metro เป็นหุ้นที่มีการซื้อขายมากที่สุดในกลุ่ม Prime ในวันนี้ โดยมี "นักลงทุนรายย่อยหลากหลายกลุ่ม" ที่ลงทุนทั้งในระยะยาวและระยะสั้นเข้าร่วมด้วย เขากล่าว

IPO ดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ โดยการเปิดบัญชีกับบริษัท Matsui Securities เพิ่มขึ้นในเดือนกันยายนและตุลาคม ในขณะที่นักลงทุนที่มีประสบการณ์มากขึ้นระมัดระวังในการใช้เงินของตนในขณะที่รอผลการเลือกตั้งทั่วไปของญี่ปุ่น แต่ความสนใจจากนักลงทุนรายใหม่ "เป็นหนึ่งในปัจจัยบวกไม่กี่ประการ" สำหรับตลาดหุ้น คูโบตะกล่าว

ไม่มีการระดมทุนใหม่เป็นส่วนหนึ่งของการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรก การเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรกมีขึ้นเพื่อให้รัฐบาลสามารถขายหุ้นที่ถืออยู่ 53% ในบริษัทผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินได้ครึ่งหนึ่ง และชำระหนี้คืนสำหรับการก่อสร้างบางส่วนของประเทศหลังจากภัยพิบัติสึนามิในปี 2011

รัฐบาลกรุงโตเกียวเป็นเจ้าของหุ้น 47% ที่เหลือ การเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรกได้ลดหุ้นที่รัฐบาลกลางและกรุงโตเกียวถืออยู่เหลือ 50% และหุ้นที่เหลืออีก 50% จะถูกขายออกไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

การเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรกนี้ "สร้างรากฐานสำหรับการปฏิรูปองค์กรต่อไป" นายอาคิโยชิ ยามามูระ ประธานบริษัทโตเกียวเมโทรกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังตลาดปิด "การเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรกนี้จะช่วยเพิ่มความเป็นอิสระและความโปร่งใสในการบริหารจัดการบริษัท และเร่งความเร็วในการตัดสินใจ"

เมื่อถูกถามว่าราคาเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรกต่ำเกินไปหรือไม่ ยามามูระปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น การเปิดตัวครั้งนี้ถือเป็นการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก (IPO) ครั้งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นนับตั้งแต่การจดทะเบียนของ SoftBank Corp. ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมภายในประเทศของ SoftBank Group ในปี 2018 และเป็นโครงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก (IPO) ของ Japan Post ในปี 2015

เดิมทีมีกำหนดเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรกในช่วงฤดูร้อน ตามรายงานของ Nikkei ในเดือนพฤษภาคม แต่ดูเหมือนว่าจะถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากตลาดเกิดความปั่นป่วนหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ในเดือนสิงหาคม Nikkei รายงานว่า IPO จะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคมก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน โดยวันที่จดทะเบียนในวันที่ 23 ตุลาคมได้รับการประกาศเมื่อวันที่ 21 กันยายน

แต่ความผันผวนของตลาดกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ Shigeru Ishiba ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ตลาดได้รับผลกระทบจากความกลัวว่าพรรคเสรีประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของ Ishiba จะประสบกับความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้ในวันที่ 27 ตุลาคม

Tokyo Metro ยังคงดึงดูดความสนใจของนักลงทุนในฐานะผู้ประกอบการโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคง

"Tokyo Metro มีฐานรายได้ที่มั่นคงซึ่งสามารถต้านทานภาวะเศรษฐกิจได้" Yusuke Maeyama นักวิเคราะห์จาก NLI Research Institute กล่าว "ความสามารถในการจ่ายเงินปันผลที่มีเสถียรภาพจะน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ"

ในปีงบประมาณ 2020 บริษัทประสบภาวะขาดทุนเนื่องจากภาวะฉุกเฉินที่เกิดจาก COVID และการปิดทำการทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม นับจากนั้นมา การที่พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศในญี่ปุ่นได้ดำเนินไปพร้อมๆ กับที่การท่องเที่ยวขาเข้าเติบโตจนเกินระดับก่อนเกิดโรคระบาด โดยปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารโดยรวมอยู่ที่ 95% ของระดับก่อนเกิดโควิด-19

โตเกียวเมโทรกำลังขยายขอบเขตการดำเนินงานไปสู่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกโดยใช้ทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทเป็นเจ้าของตามเส้นทางรถไฟใต้ดิน บริษัทมีอัตรากำไรสูงสำหรับผู้ประกอบการรถไฟ

สำหรับปีสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2025 บริษัทคาดการณ์อัตรากำไรจากการดำเนินงานที่ 21.6% โดยมีกำไรสุทธิ 52,300 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อน และรายได้ 407,500 ล้านเยน เพิ่มขึ้น 4.7%

“อารมณ์ของตลาดไม่เอื้ออำนวยต่อการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรกในขณะนี้ เนื่องจากความผันผวนของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นและความไม่แน่นอนทางการเมืองในญี่ปุ่นและสหรัฐฯ” Maeyama กล่าว“

“แต่สำหรับนักลงทุนรายย่อย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องการรับเงินปันผลเป็นประจำ Tokyo Metro ถือเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ”

Tokyo Metro ก่อตั้งขึ้นในปี 2004 แต่บริษัท Tokyo Underground Railway Company ซึ่งเป็นบริษัทก่อนหน้าก่อตั้งขึ้นในปี 1920 ปัจจุบัน บริษัทผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินแห่งนี้มีเส้นทางทั้งหมด 9 สาย รวมระยะทาง 195 กิโลเมตร ขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยวันละประมาณ 6.5 ล้านคน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top