Thursday, 15 May 2025
World

การเดินทางของ ‘ทุเรียนไทย’ สดใหม่ สู่ ‘ตลาดจีน’ ในไม่กี่วัน หลังรับอานิสงส์หลายด้าน ‘พิธีการศุลกากร-เก็บรักษา-วิธีขนส่ง’

เมื่อวานนี้ (14 พ.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ภาพคนงานปีนต้นทุเรียนใช้มีดตัดผลผลิตบนยอดสูงชะลูด ก่อนโยนให้เพื่อนคนงานที่รอรับใต้ต้นอย่างชำนิชำนาญด้วยถุงกระสอบ ส่งสัญญาณการเริ่มต้นฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งถือเป็นแหล่งเพาะปลูกทุเรียนแห่งสำคัญของไทย

ศศิธร เจ้าของสวนทุเรียนมากกว่า 2,000 ต้น ผู้ทำธุรกิจซื้อขายทุเรียนมานานกว่า 10 ปี เล่าว่าเธอจ้างคนงานตัดผลผลิตทุกวันมากกว่า 40 คนในฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนปีนี้ โดยผลผลิตของปีนี้ลดลงเพราะภัยแล้ง สวนทางกับความต้องการทุเรียนของตลาดจีนที่ยังคงสูง

"เราส่งออกทุเรียนหลายสายพันธุ์ ทั้งพันธุ์กระดุมที่สุกพร้อมเก็บเกี่ยวก่อนหน้านี้และพันธุ์หมอนทองที่ชาวจีนนิยม" ศศิธรกล่าว โดยทุเรียนจากสวนของศศิธรถูกขนส่งสู่โรงงานแปรรูปใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว เพื่อคัดเลือก ชั่งน้ำหนัก บรรจุหีบห่อ และเคลื่อนย้ายสู่สายส่ง

วีระชัย ผู้จัดการโรงงานแปรรูปทุเรียน บอกกับสำนักข่าวซินหัวว่า จีนเป็นตลาดสำคัญมาก โดยปีนี้ส่งออกทุเรียน 23 ตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ส่วนใหญ่ส่งออก 3 ทาง แบ่งเป็นทางอากาศร้อยละ 20 ทางทะเลร้อยละ 40 และทางบกร้อยละ 40

อนึ่ง ไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของโลก โดยข้อมูลจากสำนักบริหารศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่า จีนนำเข้าทุเรียนสดในปี 2023 รวม 1.426 ล้านตัน ซึ่งเป็นทุเรียนสดจากไทย 929,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 65.15 การนำเข้าทุเรียนสดทั้งหมดของจีน

ก่อนหน้านี้ผลไม้เมืองร้อนที่ผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียนมักเข้าสู่ตลาดจีนได้ยาก เนื่องจากมีอายุการเก็บรักษาที่สั้น กอปรกับข้อจำกัดด้านการขนส่งและคลังสินค้า ทว่าปัจจุบันทุเรียนและผลไม้อื่น ๆ จากอาเซียนสามารถถูกขนส่งสู่ตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกข้างต้นเป็นผลจากการเสริมสร้างเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน การบังคับใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ตลอดจนโครงการเชื่อมต่อจำนวนมาก เช่น ระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลใหม่ (สายตะวันตก) และการพัฒนาอันรวดเร็วของระบบโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นและอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน

ขณะด่านโหย่วอี้หรือด่านมิตรภาพในเมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ซึ่งมีพรมแดนติดกับเวียดนาม ได้รับรองการนำเข้าทุเรียนไทยในปี 2023 รวม 282,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 162.4 เมื่อเทียบปีต่อปี และรับรองการนำเข้าทุเรียนสดในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปีนี้ ราว 48,000 ตัน ซึ่งเป็นทุเรียนสดจากไทย 13,000 ตัน

การนำเข้าและส่งออกที่เฟื่องฟูนี้เป็นผลประโยชน์จากนโยบายปลอดภาษีศุลกากรและการเพิ่มประสิทธิภาพพิธีการศุลกากร โดยหวงเฟยเฟย เจ้าหน้าที่ศุลกากรด่านโหย่วอี้ เผยว่ามีการอัปเกรดจุดกำกับดูแลอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการสร้างช่องทางพิเศษสำหรับทุเรียนนำเข้า และดำเนินมาตรการเกื้อหนุนพิธีการศุลกากร เช่น ช่องทางด่วนสำหรับผลไม้นำเข้า ส่วนตลาดไห่จี๋ซิงในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งผลไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในกว่างซี ได้รับรองการนำเข้าทุเรียนสดจากไทยเช่นกัน โดยโม่เจียหมิง พ่อค้าคนหนึ่ง นำเข้าทุเรียนจากไทยราว 50 ตันทุกวัน และจัดจำหน่ายสู่ตลาดในประเทศผ่านหลายช่องทาง เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ร้านค้าปลีก และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

โม่เล่าว่าปีนี้นำเข้าทุเรียนราว 1,800 ตันแล้ว โดยทุเรียนจากไทยถูกขนส่งมาป้อนตลาดจีนได้เร็วขึ้นภายใน 3-5 วัน เนื่องด้วยอานิสงส์จากการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรและเทคโนโลยีการเก็บรักษาแบบห่วงโซ่ความเย็น รวมถึงมีวิธีการขนส่งให้เลือกเพิ่มขึ้น ทั้งทางบก ทางทะเล ทางอากาศ และทางราง

ทั้งนี้ โม่ที่ทำธุรกิจนำเข้าทุเรียนมานาน 6 ปีแล้ว เชื่อว่าตลาดทุเรียนของจีนยังคงมีศักยภาพมหาศาล โดยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-อาเซียนที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น บวกกับนโยบายและมาตรการเกื้อหนุนต่าง ๆ จะช่วยฟื้นฟูและพัฒนาตลาดผู้บริโภค ทำให้ทุเรียนและผลไม้อื่น ๆ จากอาเซียนคว้าโอกาสจากตลาดจีนเพิ่มขึ้นในอนาคต

'ปูติน' เตรียมสังคายนา 'กองทัพ' ปรับกลยุทธ์ ใช้นักวิชาการนำการทหาร

วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียสร้างเสียงฮือฮาอีกครั้ง หลังจากเสร็จสิ้นงานพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียในสมัยที่ 6 ด้วยแผนการปรับโครงสร้างกองทัพครั้งใหญ่ อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบเกือบ 20 ปี ด้วยการแต่งตั้ง 'อังเดร เบโรซอฟ' ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ และนักรังสีเคมี ขึ้นรับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ โดยปูตินตัดสินใจลองใช้นักวิชาการนำการทหาร ที่จะส่งผลต่อแผนปฏิบัติการทางทหารครั้งใหม่ในยูเครนต่อจากนี้ไป

ข่าวการปรับเปลี่ยนตำแหน่งผู้นำกระทรวงกลาโหมในรัสเซีย เริ่มมีมาตั้งแต่หลังการเลือกตั้งใหญ่ของรัสเซียเมื่อ เดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมาแล้ว แต่ไม่มีใครคาคดิคเลยว่าปูตินจะตัดสินใจให้นักวิชาการพลเรือนคนหนึ่ง ที่ไม่มีพื้นเพด้านการทหารมาก่อน มาแทน เซอร์เก ชอยกุ รัฐมนตรีกลาโหมที่อยู่คู่บุญปูตินมาถึง 12 ปี

อังเดร เบโรซอฟ เป็นชาวมอสโควโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 1959 ปัจจุบันอายุ 65 ปี เรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์จาก Moscow State University ด้วยคะแนนระดับเกียรตินิยม และทำงานด้านวิชาการอย่างเข้มข้นมาตลอด 

โดยทำงานเป็นนักวิจัยในห้องปฏิบัติการจำลองระบบมนุษย์และเครื่องจักรของสถาบัน Central Economic Mathematical Institute ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการในสถาบันพยากรณ์เศรษฐกิจของสถาบัน  Russian Academy of Sciences ในปี 1991 

ในขณะเดียวกัน เขาได้รับการทาบทามให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษในสำนักนายกรัฐมนตรีของรัฐบาล มอสโควไปด้วย ทำงานวิชาการไปด้วย และ ยังทำวิจัยระดับปริญญาเอกไปด้วย ที่สามารถประสบความสำเร็จทั้ง 3 ด้าน เป็นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ และ เทคโนโลยีที่หาตัวจับยาก

จนเมื่อวลาดิมีร์ ปูตินขึ้นสู่อำนาจในรัสเซียในปี 2000 อังเดร เบโรซอฟ ถูกดึงตัวไปเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจในรัฐบาลของเขา และได้รับตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 ในปี 2020 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า อังเดร เบโรซอฟ เป็นหนึ่งในคนสนิทข้างกายที่ปูตินไว้ใจ และมีอิทธิพลอย่างมากในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของรัสเซีย 

ดังนั้นการวางเบโรซอฟ ในตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมในครั้งนี้ จึงถูกมองว่าเป็นการสังคายนาครั้งสำคัญภายในกองทัพรัสเซีย และการเปลี่ยนมุมมองใหม่ในสถานการณ์สงครามในยูเครน ที่รัสเซียจำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการงบประมาณที่รัดกุมขึ้น เพื่อจะสามารถทำสงครามได้นานกว่าแรงสนับสนุนของชาติตะวันตกที่ส่งให้กับยูเครน 

คอนสแตนติน คาลาเชฟ นักวิเคราะห์การเมืองรัสเซียมองว่า การแต่งตั้ง อังเดร เบโรซอฟ เข้ามาคุมกระทรวงกลาโหมรัสเซียถือเป็นข่าวร้ายของพันธมิตรชาติตะวันตกเหมือนกัน เพราะถึง อังเดร เบโรซอฟ จะไม่ใช่นักการทหาร และ คงไม่ได้มีอิทธิพลในการวางแผนยุทธศาสตร์การรบของรัสเซียมากนัก แต่เขาเป็นนักการเงิน ที่จะดูแลงบประมาณทุกบาท ทุกสตางค์ในกองทัพไม่ให้รั่วไหล ตั้งแต่คลังอาวุธ ไปจนถึงเงินสวัสดิการทหาร 

เช่นเดียวกับ Rybar Telegram Channel สื่อรัสเซียที่เกาะติดข่าวในกองทัพรัสเซีย ก็รายงานว่า อังเดร เบโรซอฟ ถูกส่งมาเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและปรับโครงสร้างหลัก ในด้านการเงิน และ ระบบการจัดซื้อจัดจ้างในกองทัพ ที่มีข่าวอื้อฉาวเรื่องการคอร์รัปชันอย่างมโหฬารในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

และทันทีที่มีข่าวการเข้ารับตำแหน่งใหม่ของนักวิชาการด้านเศรษฐกิจ ก็มีการเข้าจับกุม พลโท ยูรี คุซเนตซอฟ  ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคลหลักของกระทรวงกลาโหม ที่เป็นการจับกุมแบบสายฟ้าแล่บ ขณะที่เขากำลังพักผ่อนอยู่ในบ้าน และสามารถยึดของกลางเป็นเหรียญทอง สินค้าแบรนด์เนมหรู และ เงินสดมากกว่า 100 ล้านรูเบิล (ประมาณ 36 ล้านบาท) ภายในบ้านของเขา 

ยูรี คุซเนตซอฟ ถูกตั้งข้อหารับสินบน และมีสิทธิถูกจำคุกนานถึง 15 ปี นับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพรัสเซียคนที่สองในรอบ 1 เดือนที่โดนจับข้อหาคอร์รัปชัน รับสินบนก้อนใหญ่ต่อจาก  ติมูร์ อิวานอฟ รัฐมนตรีช่วยกลาโหม ที่เป็นผู้ช่วยคนสำคัญของอดีตรัฐมนตรีกลาโหม เซอร์เก ชอยกุ ที่เพิ่งถูกย้ายในวันนี้ 

หน้าที่รับผิดชอบของ อังเดร เบโรซอฟ ไม่ได้มีแค่การตรวจสอบการใช้งบประมาณอย่างโปร่งใสเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมา เขาได้รับมอบหมายให้ปกป้องเศรษฐกิจรัสเซียจากผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก และยังมีบทบาทสำคัญในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีโดรนในประเทศ โดยเป้าหมายหลักของ อังเดร เบโรซอฟ คือ การส่งเสริมให้รัสเซียมีอธิปไตยทางเทคโนโลยี ที่เหนือชั้นยิ่งขึ้นไปในอนาคต 

จึงเป็นที่น่าจับตาในยุทธศาสตร์ 'นักวิชาการนำการทหาร' ของปูตินในครั้งนี้ ที่อาจเป็นเพราะเล็งเห็นแล้วว่าสงครามยูเครนคงยืดเยื้อยาวนาน ดังนั้นจึงต้องเป็นฝ่ายที่อึดที่สุดเท่านั้นจึงจะสามารถพิชิตชัยในท้ายที่สุดนั่นเอง 

‘ญี่ปุ่น’ เตรียมทำลาย ‘ยารักษาโควิด-19’ ชนิดกิน หลังจากเหลือ-ไม่ได้ถูกนำมาใช้ ราว 77%

(15 พ.ค.67) สื่อท้องถิ่นญี่ปุ่นรายงานว่า ญี่ปุ่นเตรียมทำลายยารักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดรับประทานราวร้อยละ 77 ที่ซื้อมาสำรองไว้ เนื่องจากยังคงเหลือและไม่ได้ถูกนำมาใช้

สื่ออ้างอิงการคาดการณ์ของรัฐบาลญี่ปุ่น รายงานว่า รัฐบาลฯ ได้จัดหายาชนิดรับประทานสำหรับประชาชน 5.6 ล้านคนในช่วงเกิดโรคระบาดใหญ่ แต่ยังคงเหลือยาสำหรับประชาชนอีกจำนวน 4.3 ล้านคน

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าญี่ปุ่นซื้อยาเม็ดโซโควา (Xocova) ซึ่งผลิตโดยชิโอโนกิ แอนด์ โค (Shionogi & Co.) สำหรับผู้ป่วย 2 ล้านคน ยาแคปซูลลาเกวริโอ (Lagevrio) ที่ผลิตโดยเมอร์ค แอนด์ โค (Merck & Co.) สำหรับผู้ป่วย 1.6 ล้านคน และยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ที่ผลิตโดยไฟเซอร์ อิงก์ (Pfizer Inc.) สำหรับผู้ป่วย 2 ล้านคน ทว่าไม่มีการเปิดเผยมูลค่าของยาที่ซื้อมาทั้งหมด

อย่างไรก็ดี การคำนวณตัวเลขที่เกี่ยวข้องพบว่าญี่ปุ่นยังคงมียาเม็ดโซโควาเหลือสำหรับผู้ป่วย 1.77 ล้านคน ยาแคปซูลลาเกวริโอเหลือสำหรับผู้ป่วย 780,000 คน และยาแพกซ์โลวิดเหลือสำหรับผู้ป่วย 1.75 ล้านคน เมื่อนับถึงสิ้นเดือนมีนาคม ซึ่งคาดว่ายาที่เหลือทั้งหมดมูลค่าราว 3 แสนล้านเยน (ราว 7.04 หมื่นล้านบาท) จะถูกทำลายเนื่องจากหมดอายุแล้ว

ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นได้กำจัดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ไม่ได้ใช้ไปแล้ว 240 ล้านโดส ซึ่งมีมูลค่ารวม 6.65 แสนล้านเยน (ราว 1.56 แสนล้านบาท)

‘มาเลเซีย’ แซง ‘ไทย’ ขึ้นแท่นเบอร์ 2 ตลาดรถยนต์ของอาเซียน หลังยอดขายไทยฮวบ ไตรมาสล่าสุดร่วง 25% สวนทางมาเลฯ

(15 พ.ค. 67) นิกเคอิเอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า มาเลเซียแซงหน้าไทยขึ้นเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภูมิภาคซึ่งได้กลายเป็นสมรภูมิสำคัญที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในทวีปเอเชียใช้ห้ำหั่นกัน

นิกเคอิเอเชียรวบรวมข้อมูลยอดขายที่เผยแพร่โดยกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ในอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ไทย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม พบว่ายอดขายรถยนต์ในมาเลเซียซึ่งก่อนหน้านี้ครองอันดับ 3 ของอาเซียนมายาวนาน ได้แซงหน้ายอดขายในประเทศไทยแล้ว 3 ไตรมาสติดต่อกัน นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 มาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2024

จากข้อมูลของสมาคมยานยนต์แห่งมาเลเซีย (Malaysian Automotive Association) ยอดขายรถยนต์ในมาเลเซียในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 202,245 คัน เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) หลังจากที่มีทำยอดขายรวมในปี 2023 ได้ 799,731 คัน เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อนหน้า

การยกเว้นภาษีรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมาเลเซีย เป็นแรงหนุนยอดขายรถยนต์ของแบรนด์ระดับชาติของมาเลเซีย อย่าง เปโรดัว (Perodua) และโปรตอน (Proton) ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันอยู่ประมาณ 60%

การยกเว้นภาษีรถยนต์ของมาเลเซียเริ่มต้นในปี 2020 และแม้ว่ามาตรการนี้จะสิ้นสุดลงในช่วงกลางปี 2022 แต่ยอดจองรถยนต์ในช่วงปลอดภาษียังคงเพิ่มตัวเลขยอดขายในปี 2023

“การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่หลายรุ่น รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่เปิดตัวในราคาที่แข่งขันได้สูง ช่วยกระตุ้นยอดขาย” สมาคมยานยนต์แห่งมาเลเซียระบุในแถลงการณ์

ในทางตรงกันข้ามยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยซึ่งครองอันดับ 2 ของภูมิภาคมาอย่างยาวนานกลับตกต่ำลง ถึงขั้นที่ยอดขายในไตรมาสแรกของปีนี้ลดลง 25% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า

ยอดขายรถยนต์รายเดือนของประเทศไทยเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2023 เนื่องจากปัญหาสินเชื่อรถยนต์ที่ไม่ก่อรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้การปล่อยสินเชื่อรถยนต์เข้มงวดขึ้น บวกกับการบริโภคที่ซบเซาลงโดยทั่วไป

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน อีวีจีน

ส่วนอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนยังขาดแรงผลักดัน ยอดขายรถยนต์ในไตรมาสแรกของปีนี้ลดลง 24% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคลังเลในการซื้อรถ

'เยอรมนี' เตรียมออกกฎหมายเกณฑ์ทหารเพิ่ม เพื่อสู้ศึกกับรัสเซีย เล็งคนอายุ 18 ปีทั้งหมด ส่วนจะทั้ง 'ชาย-หญิง' หรือไม่? ต้องรอลุ้น!!

ไม่นานมานี้ เยอรมนีกำลังพิจารณาทางเลือกที่เป็นไปได้ในการออกกฎหมายเกณฑ์ทหารเพิ่มสามแนวทาง คือ...

ประการแรกการพยายามเพิ่มการสมัคร โดยให้เข้าเป็นทหารแบบสมัครใจ ด้วยการส่งแคมเปญข้อมูลไปยังเด็กอายุ 18 ปี 

ประการที่สอง กฎหมายนี้จะใช้กับผู้ชายอายุ 18 ปีเท่านั้น โดยกฎหมายกำหนดให้พวกเขาต้องลงทะเบียนในแบบฟอร์มออนไลน์ จากนั้นจึงอาจได้รับเลือกเข้าเป็นทหาร

ทางเลือกที่สาม จะต้องรับราชการทหารเป็นเวลาหนึ่งปีสำหรับชายหนุ่มและหญิงสาวทุกคน เมื่ออายุครบ 18 ปี

นายบอริส พิสโตเรียส รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า กองทัพเยอรมันหรือบุนเดสแวร์ จะต้อง ‘พร้อมทำสงคราม’ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากรัสเซีย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหมของเยอรมนีกล่าวว่าประเทศสามารถเพิ่มการใช้จ่ายทางทหารได้มากถึง 3.5% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจ

เยอรมนีได้ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มขนาดกองทัพจากประมาณ 180,000 นายในปัจจุบันเป็นมากกว่า 200,000 นาย

‘บริษัทจีน’ เปลี่ยน ‘ฟางพืช’ เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ 6-7 แสนตันต่อปี

(16 พ.ค. 67) จีนกำลังเดินหน้าผลักดันการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพลังงานชีวมวล เพื่อช่วยบรรลุเป้าหมายคาร์บอนคู่ขนาน (dual carbon) ซึ่งบริษัทแห่งหนึ่งในนครจี่หนาน มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีนก็ได้ทำตามแผนการนี้ ด้วยการเปลี่ยนฟางพืชประเภทต่าง ๆ สู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เกาเส้าเฟิง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยชีวมวลของเซิ่งเฉวียน กรุ๊ป (Shengquan Group) กล่าวว่าส่วนประกอบหลักในฟาง ได้แก่ เฮมิเซลลูโลส (hemicellulose) ลิกนิน (lignin) และเซลลูโลส (cellulose) ส่วนประกอบเหล่านี้สามารถนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ได้หลายแบบ อาทิ สารทดแทนปิโตรเลียมและถ่านหิน เมทานอลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เอทานอลจากเซลลูโลส น้ำมันก๊าดสำหรับการบิน น้ำมันดีเซลและน้ำมันก๊าดชีวภาพ และอื่น ๆ

บริษัทเซิ่งเฉวียน ดำเนินโครงการกลั่นชีวมวลระดับล้านตันแบบบูรณาการระยะแรกมาตั้งแต่ปี 2023 จนขณะนี้สามารถแปรรูปฟางพืชได้ 500,000 ตันต่อปี ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 600,000-700,000 ตันต่อปี

ด้านถังเจิงหยวน กรรมการผู้จัดการฝ่ายธุรกิจระหว่างประเทศของเซิ่งเฉวียน กรุ๊ป กล่าวว่าปัจจุบัน สินค้าส่งออกหลักคือฟีนอลิกเรซิน (phenolic resin) และเรซินสำหรับหล่อ โดยมีประเทศปลายทางส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป และอเมริกา พร้อมเสริมว่าเมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจในต่างประเทศของบริษัทฯ มีอัตราการเติบโตอยู่ที่กว่าร้อยละ 20 ต่อปี และมีอัตราการเติบโตสูงสุดราวร้อยละ 30 เมื่อปีก่อน 

'อิสราเอล' เผย!! 2 ตัวประกันไทยในกาซาตายแล้ว คาดตั้งแต่เหตุโจมตี 7 ต.ค. ด้าน 'รมว.กต.ไทย' ลั่น!! ขอให้ปล่อยอีก 6 ตัวประกันคนไทยโดยทันที

(17 พ.ค. 67) กองทัพอิสราเอลเปิดเผยในวันพฤหัสบดี (16 พ.ค.) ตัวประกันไทย 2 คน ที่เดิมทีเชื่อว่ามีชีวิตรอดอยู่ในกาซา แท้จริงแล้วเสียชีวิตในเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม และศพของทั้งคู่ถูกกักอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยรุดออกมาแสดงความเสียใจ และบอกว่าจะติดต่อประสานงานให้ความช่วยเหลือครอบครัวในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

"เราได้แจ้งกับครอบครัว 2 พลเมืองไทยที่ถูกลักพาตัว ซึ่งทำงานในภาคเกษตรกรรมในที่เพาะปลูกแห่งหนึ่งใกล้กับคิบบุตซ์บีรี (นิคมการเกษตรบีรี) ว่าพวกเขาถูกฆาตกรรมในเหตุโจมตีก่อการร้ายเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม และศพของพวกเขาถูกกักไว้โดยพวกฮามาส" จากการเปิดเผยของดาเนียล ฮาการี โฆษกของกองทัพอิสราเอล

กองทัพอิสราเอลกับกลุ่มครอบครัวตัวประกันและผู้สูญหาย (Hostages and Missing Families Forum) ระบุชื่อชายทั้ง 2 คน ได้แก่นายสนธยา อัครศรี และนายสุทธิศักดิ์ รินทลักษ์ ซึ่งได้รับการยืนยันจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยเช่นกัน

จากการนับของเอเอฟพีบนพื้นฐานข้อมูลของฝั่งอิสราเอล สำนักข่าวเอเอฟพีเชื่อว่าตอนนี้เหลือตัวประกันไทยที่ยังถูกควบคุมในกาซา อยู่ 6 คน

Hostages and Missing Families Forum ระบุในถ้อยแถลงว่า "ในขณะที่เราเศร้าโศกต่อเหตุฆาตกรรมอันน่าเศร้าของ 2 ตัวประกันไทย มันเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับประชาคมนานาชาติที่ต้องตระหนักว่าวิกฤตตัวประกันมีขอบเขตเกินเลยมากไปกว่าการเป็นประเด็นปัญหาของอิสราเอลแต่เพียงฝ่ายเดียว" พร้อมเรียกร้องการตอบสนองด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกัน

เอเอฟพีรายงานว่า ไทยมีพลเมืองในอิสราเอลราว 30,000 คน ส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตรกรรม

เหตุโจมตีของพวกฮามาส เล่นงานทางภาคใต้ของอิสราเอลอย่างไม่ทันตั้งตัวเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,170 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน มันกระตุ้นให้อิสราเอลแก้แค้นด้วยการเปิดปฏิบัติการทางทหารในกาซา สังหารผู้คนไปแล้ว 35,272 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนเช่นกัน

ด้านกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้เผยแพร่ถ้อยแถลงเรื่องการเสียชีวิตของตัวประกันไทย 2 ราย ในกาซา ระบุว่ากระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟว่า คณะกรรมการด้านการประเมินสถานภาพตัวประกันของรัฐบาลอิสราเอล ได้พิจารณาหลักฐานแวดล้อมที่เชื่อถือได้ และแจ้งว่า ตัวประกันคนไทย 2 ราย จากจำนวนที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว 8 ราย ได้เสียชีวิตแล้ว ประกอบด้วย นายสนธยา อัครศรี และนายสุทธิศักดิ์ รินทลักษ์ โดยคาดว่าเป็นการเสียชีวิตตั้งแต่ช่วงต้นของเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2023

ถ้อยแถลงระบุต่อว่า รัฐบาลไทยขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยสถานเอกอัครราชทูต และกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้ติดต่อครอบครัวทั้ง 2 แล้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประสานงานในการให้ความช่วยเหลือครอบครัวในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

รัฐบาลไทยขอย้ำการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันที่เหลือทั้งหมดโดยเร็วที่สุด รวมถึงตัวประกันคนไทยอีก 6 คน ให้กลับคืนสู่มาตุภูมิโดยปลอดภัย รวมถึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความพยายามอย่างสูงสุดเพื่อบรรลุการเจรจา และนำไปสู่การแก้ไขวิกฤตด้านมนุษยธรรมในกาซาโดยทันที ถ้อยแถลงของกระทรวงการต่างประเทศระบุ

'พาณิชย์จีน' ค้าน 'สหรัฐฯ' ขึ้นภาษีนำเข้า 'อีวี-โซลาร์เซลล์' ชี้!! เป็นการขัดระเบียบการค้าโลก ควรยกเลิกทันที

(17 พ.ค.67) จากเพจเฟซบุ๊ก ‘Salika’ โพสต์ข้อความระบุว่า…

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (14 พ.ค.67) กระทรวงพาณิชย์ของจีนออกมาแสดงการคัดค้านและประท้วงกรณีสหรัฐฯ ปรับขึ้นการจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมกับสินค้าจีนบางส่วน และจะดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของจีน

สหรัฐฯ มีมติปรับขึ้นการจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมกับการนำเข้าสินค้าจีน ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า ในอัตรา 102.5% จากปัจจุบันที่เก็บอยู่ในอัตรา 27.5% ส่วน แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน, โซลาร์เซลล์, แร่ธาตุสำคัญ, เซมิคอนดักเตอร์, เหล็กและอะลูมิเนียม และเครน เป็น 25% จากปัจจุบันที่อยู่ระหว่าง 0 - 7.5% ภายใต้มาตรา 301

ทั้งนี้ทางโฆษกกระทรวงฯ ระบุว่าจีนไม่พึงพอใจอย่างยิ่งกับกระบวนการทบทวนการจัดเก็บภาษีศุลกากรตามมาตรา 301 โดยมิชอบของสหรัฐฯ ซึ่งมีแรงผลักดันจากประเด็นทางการเมืองภายในประเทศและการปรับขึ้นภาษีศุลกากรเพิ่มเติมกับสินค้าจีนบางส่วน

"การดำเนินการนี้ของสหรัฐฯ ใช้การค้ามาสร้างประเด็นทางการเมืองและใช้เป็นเครื่องมือ 'ชักใยทางการเมือง' ตามแบบฉบับ ทั้งที่องค์การการค้าโลก (WTO) ชี้ชัดแล้วว่าการจัดเก็บภาษีศุลกากรตามมาตรา 301 ขัดต่อระเบียบข้อบังคับขององค์การฯ แต่สหรัฐฯ ยังคงทำผิดต่อไป"

สำหรับการปรับขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ยังขัดกับฉันทามติที่ผู้นำของสองประเทศเห็นพ้องต้องกัน รวมถึงสวนทางกับคำมั่นสัญญาของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อบรรยากาศความร่วมมือทวิภาคี

ทางกระทรวงฯ ยังเน้นย้ำว่าฝ่ายสหรัฐฯ ควรแก้ไขข้อผิดพลาดโดยทันที และยกเลิกมาตรการจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมกับจีน

สหรัฐฯ ต้องมุ่งพัฒนาสินค้าที่…ล้ำกว่า เริ่ดกว่า เพื่อแข่งขันกับจีนแล้วปล่อยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเอง

(17 พ.ค.67) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ผู้นำสหรัฐฯ 🇺🇸 ใช้มุขเดิมๆ มุขโบราณ ๆ ที่ตัวเองถนัดในการเตะสะกัดคนอื่น!! ทั้ง ๆ ที่มาตรการขึ้นภาษีเพื่อใช้สะกัดสินค้าจีน 🇨🇳 ไม่เคยได้ผล!! จีนไม่ยอมแพ้ เน้นพัฒนาสินค้า/เน้นนวัตกรรมให้ดีวันดีคืน 

‘โลกแห่งอนาคต’ คือ การมุ่งสู่ พลังงานสะอาด คือ การใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV แทนรถยนต์เติมน้ำมันแบบเดิม ๆ ใน ‘โลกยุคเก่า’ 

แทนที่สหรัฐฯ 🇺🇸 จะมุ่งไปพัฒนาสินค้าให้ดีกว่าจีน เก่งกว่าจีน เน้นแข่งขันกันที่คุณภาพ 🇺🇸 กลับเลือกใช้มุกโบราณ ๆ เดิม ๆ คือ ไล่บี้ขึ้นภาษีสินค้าจีน แบบซ้ำไปซ้ำมา 

แบบนี้ชัดเจนนะคะ ใครจะแพ้ ใครจะชนะ ในเกมแห่งอนาคต

หากต้องการ ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ ตามวาทกรรมที่ท่องทุกวัน ก็ต้องส่งเสริมการพัฒนาสีเขียว  #GreenDevelopment และมุ่งสู่การพัฒนารถยนต์พลังงานสะอาด ไม่สร้างมลพิษแบบเดิมนะคะ  

คนเก่งจริงก็ต้องพัฒนาสินค้าแนวคุณภาพมาแข่งกับจีน ต้องล้ำกว่า ต้องเริ่ดกว่า แล้วให้ ‘ผู้บริโภค’ ตัดสินใจเอง ว่าจะซื้อสินค้าชาติไหน จะซื้อสินค้าจีนหรือไม่? แต่ไม่ใช่ไปไล่บี้ขึ้นภาษีรถยนต์ EV จีนและแบตตารี่ EV จีน เพื่อเตะสะกัดจีนแบบนี้นะคะ

‘จีน’ เดินหน้าสร้าง ‘ห้องปฏิบัติการ AI’ หวังงัดเทคโนโลยี ช่วยเหลือผู้พิการ

(17 พ.ค. 67) สหพันธ์คนพิการแห่งประเทศจีน และไอฟลายเทก (iFlytek) หนึ่งในบริษัทปัญญาประดิษฐ์ (AI) ชั้นนำของจีน ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือในนครเหอเฝย เมืองเอกของมณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน เพื่อสร้างห้องปฏิบัติการร่วมด้านปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป สำหรับให้ความช่วยเหลือผู้พิการ

ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการจะช่วยพัฒนาองค์ประกอบด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์-คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ช่วยเหลือการฟื้นฟูสมรรถภาพอัจฉริยะ ดำเนินการวิจัยหลายหมวดหมู่เกี่ยวกับความช่วยเหลืออัจฉริยะสำหรับผู้พิการ และสร้างสถานการณ์การใช้งานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้พิการ

โจวฉางขุย ประธานคณะกรรมการบริหารของสหพันธ์ฯ กล่าวว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถือเป็นความช่วยเหลือที่สำคัญสำหรับการสร้างชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ผู้พิการ และส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงสำหรับประชากรกลุ่มนี้

อนึ่ง วันอาทิตย์ (19 พ.ค.) ที่กำลังจะถึงนี้ ตรงกับวันคนพิการแห่งชาติจีน (National Day of Disabled Persons) ครั้งที่ 34


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top