Thursday, 22 May 2025
TheStatesTimes

ด่วน แม่ทัพปุ๊ ลงพื้นที่ควบคุมและสั่งการจับกุม 2 เรือประมง อินโดนีเซีย

(20 พ.ค.68) เวลา 10.00 น. พลเรือโทสุวัจ ดอนสกุล ผอ.ศรชล.ภาค 3 เดินทางไปยังท่าเทียบเรือทับละมุ ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เพื่อควบคุมและสั่งการดูแลความเรียบร้อย ในการจับกุมสอบสวนและดำเนินคดี การจับกุมเรือประมงอินโดนีเซีย จำนวน 2 ลำพร้อมผู้ต้องหา 18 คน ที่ลักลอบทำการประมงในน่านน้ำไทย บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของเกาะภูเก็ต ระยะประมาณ 80 ไมล์

ตามที่ได้รับรายงานการจับกุม 2 เรือประมงอินโดนีเซีย พร้อมผู้ต้องหา 18 คน ลักลอบทำการประมงในน่านน้ำไทย ไปก่อนหน้านี้นั้น ชุดปฏิบัติการของ ร.ล.ล่องลม ได้ควบคุมเรือประมงทั้ง 2 ลำกลับเข้าสู่ฝั่ง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ที่ท่าเทียบเรือทับละมุ โดยคาดหมายจะเดินทางถึงท่าเรือเวลา 03.00 น ของวันที่ 20 พ.ค.68 แต่เนื่องจากสภาพคลื่นลมแรงและสภาพของเรือประมงที่ถูกจับได้ทั้ง 2 ลำ ทำความเร็วได้น้อย จึงเดินทางมาถึงท่าเรือทับละมุ ช้ากว่ากำหนด โดยเดินทางมาถึงเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 20 พ.ค.68 

จากนั้น เจ้าหน้าที่จัดชุดสหวิชาชีพและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการตามกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการ หากมีความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป

เหตุด่วน เหตุร้าย ภัยทางทะเล ต้องการความช่วยเหลือทางทะเล โทร  1465 แจ้ง ศรชล.ภาค 3 ตลอด 24 ชั่วโมง
น.อ.พิเชษฐ์ ซองตัน ผอ.กองสารนิเทศ/โฆษก ศรชล.ภาค 3 รายงาน
#ศรชลจวพังงา
#ศคทจวพังงา
#ศรชลภาค3
#สายด่วน1465

จีนเปิดตัว ‘Jiu Tan’ เครื่องบินไร้คนขับรุ่นใหม่ ปล่อยโดรนกามิกาเซ่พร้อมกันได้สูงสุด 100 ลำ

(21 พ.ค. 68) จีนเตรียมเปิดตัวเครื่องบินไร้คนขับชื่อ “Jiu Tan” ซึ่งมีความสามารถในการปล่อยโดรนกามิกาเซ่ได้พร้อมกันนับ 100 ลำ ถือเป็นหมัดเด็ดใหม่ของจีนในการเพิ่มศักยภาพทางทหารและรับมือระบบป้องกันทางอากาศแบบเดิม

ตามรายงานจากสื่อรัฐของจีน เครื่องบินลำนี้พัฒนาโดยบริษัท Shaanxi Unmanned Equipment Technology โดยต้นแบบรุ่นที่ 4 อยู่ระหว่างการทดสอบ และเตรียมบินครั้งแรกในเดือนหน้า หลังเปิดตัวครั้งแรกในงานแสดงการบินจูไห่ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567

สำหรับ Jiu Tan มีระยะปีกกว้าง 25 เมตร บินได้นานถึง 12 ชั่วโมง และระยะทางไกลกว่า 7,000 กิโลเมตร รองรับน้ำหนักบรรทุกได้ถึง 6 ตัน ทั้งอุปกรณ์สอดแนม อาวุธ และขีปนาวุธ จุดเด่นคือการโจมตีแบบฝูง “barrage attack” ซึ่งทำให้ยากต่อการสกัดจากระบบป้องกันของศัตรู

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การพัฒนา Jiu Tan สะท้อนเป้าหมายของจีนที่ต้องการท้าทายอำนาจทางอากาศของสหรัฐฯ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ RQ-4 Global Hawk และ MQ-9 Reaper ของอเมริกา ซึ่งยังไม่มีความสามารถในการโจมตีฝูงขนาดใหญ่แบบเดียวกัน

กฟผ. – สวีเดน ผสานกำลังหนุนพลังงานสีเขียว หวังตอบโจทย์ลดโลกร้อนด้วยพลังงานสะอาด

กฟผ. ร่วมกับสถานทูตเอกอัครราชทูตสวีเดนและภาคเอกชนสวีเดน ขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสะอาด จัดงาน “Pioneer the Possible Thailand 2025” แลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือด้านพลังงานสีเขียวสู่ความยั่งยืน

เมื่อวันที่ (20 พ.ค. 68) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย และ The Swedish Trade & Invest Council (Business Sweden) จัดงาน Pioneer the Possible Thailand 2025 เพื่อขยายความร่วมมือด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานสีเขียว โดยมีนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. และนางอันนา ฮัมมาร์เกรน (H.E. Mrs. Anna Hammargren) เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย ร่วมเปิดงาน พร้อมด้วยผู้แทน กฟผ. และบริษัทชั้นนำของสวีเดน ร่วมงานฯ ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี

นางอันนา ฮัมมาร์เกรน เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือนี้เป็นการดำเนินการร่วมกันเพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวอย่างเป็นรูปธรรม โดยสวีเดนถือเป็นประเทศผู้นำที่มีการพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกที่ยั่งยืน มีบริษัทที่เป็นผู้นำด้าน Solutions เรื่องไฮโดรเจนและพลังงานแสงอาทิตย์ บริษัทที่พร้อมสนับสนุนระบบ Smart Grid ด้วย Solutions 4G และ 5G ที่ทันสมัย ช่วยยกระดับการผลิตและส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมดิจิทัล ที่นำระบบดิจิทัลมาใช้ในการจัดการระบบพลังงานและปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพอีกด้วย

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. เผยว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กฟผ. และ Business Sweden ที่มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงานชีวมวลและไฮโดรเจนในอนาคต รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิด นวัตกรรม และความร่วมมือในการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานสีเขียว ร่วมผลักดันแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนระหว่างสองประเทศ มุ่งมั่นสร้างแรงบันดาลใจและกำหนดอนาคตด้านพลังงานที่ยั่งยืน โดยภายในงานมีการหารือร่วมกัน 3 หัวข้อ คือ 1) เชื้อเพลิงสีเขียว (ชีวมวลและไฮโดรเจน) กับศักยภาพในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 2) สมาร์ทกริด (เทคโนโลยีดิจิทัล กังหันก๊าซ และการบูรณาการพลังงานหมุนเวียน) และ 3) การแปลงกระบวนการผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าเป็นดิจิทัล และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้า

การจัดงาน Pioneer the Possible Thailand 2025 ถือเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างไทยและสวีเดนในการขับเคลื่อนสู่อนาคตพลังงานสะอาด โดยเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อยกระดับระบบพลังงานของไทยให้มีความยั่งยืน มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับโลก

‘อังกฤษ’ หั่นสัมพันธ์การค้า ตอบโต้ปฏิบัติการกาซา คว่ำบาตรผู้นำนิคมเวสต์แบงก์–เรียกทูตอิสราเอลพบด่วน

(21 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ปราชญ์ สามสี โพสต์ข้อความว่า…อังกฤษฟาดแรง! ระงับเจรจาการค้าอิสราเอล-คว่ำบาตรผู้นำตั้งถิ่นฐาน ตอบโต้ความโหดร้ายในกาซา

รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศระงับการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับอิสราเอล พร้อมเรียกเอกอัครราชทูตอิสราเอลเข้าพบ เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการปฏิบัติการทางทหารที่รุนแรงในฉนวนกาซา และการปิดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ยืดเยื้อกว่า 11 สัปดาห์

นายเดวิด แลมมี รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักร กล่าวในรัฐสภาว่า การกระทำของรัฐบาลอิสราเอลในกาซาและเวสต์แบงก์นั้น 'ไม่สามารถยอมรับได้' และ 'ขัดต่อค่านิยมของประชาชนชาวอังกฤษ'

พร้อมกันนี้ สหราชอาณาจักรได้ประกาศคว่ำบาตรบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลในเวสต์แบงก์ รวมถึงอดีตนายกเทศมนตรีของนิคม Kedumim และองค์กรที่สนับสนุนการตั้งถิ่นฐานใหม่ในพื้นที่พิพาท

นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ กล่าวเสริมว่า "ระดับความทุกข์ทรมานของเด็กๆ ในกาซานั้นไม่สามารถยอมรับได้" และเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันที รวมถึงการเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่พื้นที่

ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอลตอบโต้โดยระบุว่า "แรงกดดันจากภายนอกจะไม่ทำให้อิสราเอลเปลี่ยนเส้นทางในการต่อสู้เพื่อดำรงอยู่และความมั่นคงของตนจากศัตรูที่พยายามทำลายล้าง"

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและอิสราเอล ท่ามกลางวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่รุนแรงในฉนวนกาซา

22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 วันสวรรคต สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระองค์ทรงเป็นพระอัครมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมเหสีพระองค์แรกตามแบบยุโรปและระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย หลังจากพระราชสวามีสละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2477 พระองค์ประทับอยู่ประเทศอังกฤษจวบจนพระราชสวามีเสด็จสวรรคต และเสด็จนิวัติกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2492 ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลในขณะนั้น

ในอดีตกล่าวกันว่าพระองค์เป็นสตรีชาวไทยที่ทรงพระสิริโฉมสามารถเลือกฉลองพระองค์ยุโรปมาสวมใส่ได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังมีพระจริยวัตรนุ่มนวล พระพักตร์แจ่มใส แย้มพระสรวลอยู่เนืองนิตย์ ทั้ง ๆ ที่พระองค์ประสบกับโลกธรรมและความสูญเสียอันใหญ่ยิ่งมาแล้ว

พระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะพระบรมราชินีในการเสด็จพระราชดำเนินไปยังหัวเมือง รวมทั้งต่างประเทศเพื่อเป็นการเชื่อมพระราชไมตรีระหว่างประเทศ ภายหลังการนิวัติประเทศไทยหลังการสวรรคตของพระราชสวามีแล้ว พระองค์ได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชหลายครั้ง 

เมื่อเสด็จย้ายไปประทับ ณ จังหวัดจันทบุรี ทรงดำเนินกิจการในด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และทรงพัฒนาการทอเสื่อ เพื่อเป็นโครงการตัวอย่างและนำความรู้นั้นออกเผยแพร่แก่ประชาชน นอกจากนี้ พระองค์ยังมีส่วนในการพัฒนาการสาธารณสุขและการศึกษาของชาวจันทบุรี โดยรับเป็นพระราชภาระในการปรับปรุงโรงพยาบาลพระปกเกล้า รวมทั้งทรงตั้งมูลนิธิพระปกเกล้าเพื่อสนับสนุนกิจการต่าง ๆ ของโรงพยาบาลพระปกเกล้า วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

พระองค์ทรงเริ่มมีพระอาการประชวรด้วยพระโรคความดันพระโลหิตสูง ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 และวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 เวลา 15.50 นาฬิกา พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยพระหทัยวายโดยพระอาการสงบ ณ พระตำหนักวังศุโขทัย รวมพระชนมายุได้ 79 พรรษา 5 เดือน 2 วัน

เกาหลีใต้ดันหนังสือเรียน AI ใช้จริงแล้ว 30% ของโรงเรียน หวังยกระดับการศึกษา ปรับการสอนตามนักเรียนแต่ละคน

(21 พ.ค. 68) หลังจากกระทรวงศึกษาธิการเดินหน้าผลักดันการศึกษาแบบดิจิทัลในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โรงเรียนระดับประถม มัธยมต้น และมัธยมปลายในเกาหลีใต้กว่า 30% ได้เริ่มนำหนังสือเรียนที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการเรียนการสอน

ซอฟต์แวร์จากภาคเอกชนและรัฐช่วยให้ AI แจกโจทย์การบ้านเฉพาะบุคคล รวมถึงเขียนรายงานประเมินผลตามระดับความเข้าใจของนักเรียนแต่ละคน เพื่อให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แม้เทคโนโลยีจะเปิดทางสู่การเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล แต่ครูบางส่วนกังวลว่าอาจกลายเป็นภาระเพิ่มเติม ขณะที่ผู้ปกครองตั้งคำถามว่า AI จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ได้จริงหรือแค่ทำให้เด็กติดหน้าจอมากขึ้น

รัฐจึงตัดสินใจคงการใช้หนังสือกระดาษไว้ในบางวิชา เช่น ภาษาเกาหลีและหน้าที่พลเมือง พร้อมเลื่อนการใช้ AI ในวิชาอื่นออกไปก่อน และเตรียมอบรมครู 160,000 คน รวมถึงส่งติวเตอร์ดิจิทัลกว่า 1,200 คนลงพื้นที่ช่วยโรงเรียนทั่วประเทศ

ปตท. ตั้งวอร์รูมเตรียมรับมือสงครามเศรษฐกิจโลก มั่นใจเดินมาถูกทางพร้อมสร้างการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

(21 พ.ค. 68) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ปักหมุดความสำเร็จครบรอบ 1 ปี เดินหน้าตามวิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” เผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2568 สะท้อนทิศทางการบริหารใน 2 เรื่องหลัก คือ เน้นธุรกิจ Hydrocarbon ที่ถนัด ปรับพอร์ตธุรกิจสู่สมดุลใหม่ และเร่งสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ จํานวน 23,315 ล้านบาท นำส่งรายได้เข้ารัฐในรูปแบบภาษี จำนวน 7,256 ล้านบาท 

ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าการดำเนินงานตามกลยุทธ์ที่สำคัญ ประกอบด้วย การมุ่งเน้นธุรกิจหลัก Hydrocarbon สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ โดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) เพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งอาทิตย์ เป็น 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการสินภูฮ่อม แหล่งปิโตรเลียมบนบกที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ช่วยให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทยเพิ่มขึ้น  พร้อมขยายการเติบโตของธุรกิจปัจจุบันในต่างประเทศ โดยเข้าถือหุ้น 10% ใน Ghasha หนึ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาติใหญ่ที่สุดของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้ง บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) มีการขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดียและไต้หวัน สอดรับกับความต้องการใช้พลังงานสะอาดที่เติบโตพร้อมกันนี้ยังสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจ LNG ให้เกิดประโยชน์สูงสุด วิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ในภูมิภาค 

โดยใช้จุดแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมนำเข้า LNG รวมปริมาณ 11 ล้านตันต่อปี ครอบคลุมทั้งสัญญาระยะยาวและสัญญาซื้อขายแบบ Spot LNG Hub ของภูมิภาค ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่มีความท้าทายจาก Industry Landscape ที่เปลี่ยนไป จึงต้องเร่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบปิโตรเคมีในระยะยาว โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) จะนำเข้าอีเทนจากสหรัฐอเมริกา ปริมาณ 400,000 ตันต่อปี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ  การสร้างมูลค่าเพิ่มจากความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ P1 และ D1 ซึ่งเป็นการบริหารจัดการ supply & market ร่วมกัน นอกจากนี้ ปตท. ยังเร่งแสวงหา Strategic Partner เพื่อเสริมแกร่งธุรกิจ ซึ่งจะเป็นผลดีกับ ปตท. และ flagship โดย ปตท. ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 

ปรับพอร์ตธุรกิจ Non-Hydrocarbon โดยประเมินธุรกิจใน 2 มุม คือ 1) ธุรกิจต้องมีความน่าสนใจ (Attractiveness) และ 2) ปตท. มี Right to Play มีความถนัดหรือมีจุดแข็ง สามารถเข้าไปต่อยอดในธุรกิจนั้นๆ ได้ และมี Partner ที่แข็งแรง หลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง ทั้งนี้ ปตท. มีแนวทางการลงทุนในธุรกิจ Non-Hydrocarbon ดังนี้ 1) ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ EV Value Chain ปตท. จะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจบรรจุกระแสไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดสัดส่วนการถือหุ้นใน Horizon Plus และธุรกิจที่มีความเสี่ยง 2) ธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่ง ปตท. ออกจากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของกลุ่ม ปตท. มุ่งเน้นเฉพาะที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก และสามารถสร้าง Synergy ภายในกลุ่มได้  3) ธุรกิจ Life Science ปรับพอร์ตมุ่งเน้นเฉพาะ Pharmaceutical และ Nutrition มีแผนการเติบโตที่ชัดเจนร่วมกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญ และสามารถพึ่งพาตัวเองได้ทางการเงิน (Self-funding) ทั้งนี้จากการปรับกลยุทธ์ธุรกิจ Non-Hydrocarbon ข้างต้น ทำให้สามารถรักษาเงินลงทุน (Capital Preservation) ไว้ได้ แทนที่จะนำเงินไปลงทุนในธุรกิจที่มีความเสี่ยงและไม่สร้างผลกำไร

การดำเนินงานด้านความยั่งยืน กลุ่ม ปตท. ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยดำเนินการอย่างบูรณาการร่วมกันทั้งกลุ่ม ปตท. ทั้งนี้ได้มีการ Reconfirm เป้าหมาย Net Zero 2050 และกำหนดแผนงานชัดเจน มีการพิจารณาปัจจัยรอบด้าน อาทิ ต้นทุนของการลดคาร์บอนด้วยวิธีต่างๆ เทียบกับค่าใช้จ่ายของการปล่อยคาร์บอน เช่น ภาษีคาร์บอนที่จะเกิดขึ้น โดยจะต้องมีความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนได้อย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ยังมีความก้าวหน้าในการศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) รวมถึงพัฒนา CCS Hub Model เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ซึ่งจะเป็นต้นแบบสำคัญในการขยายผลเทคโนโลยี CCS ระดับประเทศในอนาคต สำหรับการศึกษาด้านธุรกิจไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรมปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือกับพันธมิตรทั้งในด้านการจัดหาไฮโดรเจนและแอมโมเนียคาร์บอนต่ำ และการประยุกต์ใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าเพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลเชิงธุรกิจ ตลอดจนสนับสนุนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan: PDP) ของประเทศไทยในอนาคต

นอกจากนี้ ปตท. มีการบริหารทางเงินที่เป็นเลิศ โดยมีการจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2567 ที่ 2.10 บาทต่อหุ้น นับเป็นการจ่ายเงินปันผลสูงสุดตั้งแต่ ปตท. เข้าตลาดฯ และ ปตท. ได้มีการขยายระยะเวลาเครดิตทางการค้า (ETC) เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แก่บริษัทในกลุ่ม โดยยังคงยึดหลักการรักษาวินัยทางการเงิน (Financial Discipline) อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ในปี 2568 ปตท. มีการซื้อหุ้นคืนเพื่อเป็นการบริหารสภาพคล่องอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ถือหุ้น และเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น

จากสัญญาณสถานการณ์พลังงานที่มีความผันผวน และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเผชิญภาวะถดถอย อันเนื่องจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ปริมาณการผลิตน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลก และความต้องการใช้พลังงานที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปตท. จึงได้ดำเนินเชิงรุกจัดตั้งวอร์รูม เตรียมแผนรับมือเศรษฐกิจถดถอยครอบคลุมการดำเนินงานใน 5 ด้าน ได้แก่ 1. Strategy ทบทวนกลยุทธ์เดิมพร้อมพิจารณาความท้าทายใหม่ที่จะเข้ามากระทบ พบว่ากลยุทธ์กลุ่ม ปตท. มาถูกทาง เหมาะสม สามารถรับมือกับปัจจัยภายนอกและความท้าทายจากเรื่องสงครามการค้าได้ เพียงแต่บางเรื่องต้องเร่งให้เร็วขึ้น เช่น การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. 2. Financial Management รักษาวินัยการเงิน บริหารต้นทุนการเงิน เสริมสภาพคล่องกระแสเงินสด รักษาระดับ Credit Rating 3. Supply Chain & Customer ดูแลคู่ค้า ลูกค้า เพื่อสร้างความต่อเนื่องตลอด Supply Chain พร้อมเร่งดำเนินโครงการสร้างมูลค่าเพิ่ม 4. Project Management ทบทวนความเป็นไปได้ของโครงการและการลงทุน โดยต้องพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ รวมถึงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (Asset Monetization) ของ flagship  5. Communication สื่อสารและสร้างความเข้าใจการดำเนินธุรกิจแก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง 

ดร.คงกระพัน เปิดเผยว่า “1 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ ปตท. ได้ปรับกลยุทธ์ มั่นใจว่ากลยุทธ์มาถูกทาง สะท้อนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งท่ามกลางความท้าทายจากปัจจัยภายนอก นอกจากนี้กลุ่ม ปตท. พร้อมเร่งสร้างความแข็งแรงภายใน สร้างมูลค่าเพิ่มจากความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. ผ่านโครงการสำคัญได้แก่ โครงการ P1 และ D1 ซึ่งเป็น PTT Group Synergy บริหารงานแบบ Centralized Supply and Market Management มีเป้าหมาย 3,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2028 โครงการ MissionX ยกระดับ Operational Excellence เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าทั้งกลุ่ม ปตท. ประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2027 มีแผนงานชัดเจนและเป้าหมายเป็นรูปธรรมซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว โครงการ Axis นำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งจะสร้างมูลค่าได้อีก 11,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2029 รวมถึงการทำ Asset Monetization ของกลุ่ม ปตท. ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน รวมทั้งเสริมความแข็งแกร่งด้วยการรักษาวินัยทางการเงินและการลงทุนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนบริหารสภาพคล่องกระแสเงินสดภายในกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างคุณค่าให้กับสังคมและผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน” 

นอกจากภารกิจในด้านพลังงาน กลุ่ม ปตท. ยังคงยืนหยัดเคียงข้างสังคมไทย โดยส่งเจ้าหน้าที่ PTT Group SEALs ร่วมภารกิจค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหว สนับสนุนอาหาร เครื่องดื่ม และอุปกรณ์ที่จำเป็นให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนแก่สภากาชาดเมียนมา เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาด้วย 

ปตท. ยึดมั่นพันธกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างการเติบโต ควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล สร้างผลตอบแทนที่เหมาะสม และสร้างคุณค่าสู่สังคม เพื่อให้ ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top