Sunday, 27 April 2025
TheStatesTimes

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#6 เมื่อสมรภูมิ 'เคห์ซาน' ไม่ใช่ 'เดียนเบียนฟู'

หลังจากรัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่าน “มติอ่าวตังเกี๋ย” ในปี 1964 ประธานาธิบดี Johnson มีอำนาจมากขึ้น จึงเริ่มส่งกำลังทหารสหรัฐฯ ในฐานะ “หน่วยรบ” เข้ามาแทนที่ “ที่ปรึกษาทางทหาร” ในเวียตนามใต้ ซึ่งทำให้รูปแบบการรบในเวียตนามใต้ในบริบทของกองทัพสหรัฐฯ และเวียตนามใต้เปลี่ยนไปจาก “การรบนอกแบบ” จากการฝึกกองกำลังอาสาสมัครขนาดเล็กเป็นนักรบแบบกองโจรโดยบรรดา “ที่ปรึกษาทางทหาร” ชาวอเมริกัน กลายเป็น “การรบในแบบ” โดยกำลังทหารของสหรัฐฯ เวียตนามใต้ และชาติพันธมิตรอื่น ๆ ในเวลาต่อมา

กองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ เป็นหน่วยรบหน่วยแรกที่เข้าสู่เวียตนามในปี 1965 โดยแต่เดิม “ที่ปรึกษาทางทหาร” ชาวอเมริกัน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากหน่วยรบพิเศษของกองทัพบกอเมริกัน อาทิ หน่วย Green beret เข้าทำหน้าที่ฝึกอาสาสมัครชาวเวียตนามใต้ให้เป็นนักรบกองโจรในหน่วยรบขนาดเล็ก กำลังทหารสหรัฐฯ ในสถานะเป็น “หน่วยรบ” จึงมีการตั้งฐานทัพกระจายไปทั่วดินแดนเวียตนามใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับเวียตนามเหนือ ลาว และกัมพูชา ด้วยเหตุที่กองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งสามชาติมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันเป็นอย่างมาก และมักใช้ดินแดนของประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานที่มั่นเพื่อข้ามพรมแดนไปโจมตีที่ตั้งของฝ่ายรัฐบาล

หมู่บ้านเคห์ซานเป็นที่มั่นของรัฐบาลเวียตนามใต้ในทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดกวางตรี พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าบรูมองตานญาร์และไร่กาแฟ ห่างจากชายแดนลาวไปประมาณ 7 ไมล์ บนเส้นทาง 9 ซึ่งชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมากทอดยาวจากบริเวณชายฝั่งผ่านที่ราบสูงทางตะวันตกและข้ามพรมแดนเข้าไปในลาว ฐานปฏิบัติการรบเคห์ซานมีต้นกำเนิดมาจากการสร้างสนามบินของกองกำลังพิเศษของกองทัพสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม 1962 ซึ่งมีป้อมปราการเก่าตั้งแต่ยุคฝรั่งเศส  และต่อมากลายเป็นฐานทัพของอาสาสมัครพลเรือนที่ทำหน้าที่เฝ้าจับตาการแทรกซึมของกองทัพเวียตนามเหนือตามแนวชายแดนและคุ้มครองชาวบ้านในพื้นที่

กองกำลังหลักของสหรัฐฯ ที่ประจำอยู่ในฐานปฏิบัติการเคห์ซาน (KSCB) ได้แก่ กำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ สองกองพัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพบกสหรัฐฯ กองทัพอากาศสหรัฐฯ และกองทัพอากาศเวียดนามใต้ รวมถึงกองกำลังของกองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม (ARVN) จำนวนไม่มาก กำลังทหารเหล่านั้นต้องเผชิญหน้ากับกองกำลังขนาดกองพลสองถึงสามกองพลของกองทัพประชาชนเวียดนามเหนือ (PAVN) ในตอนแรกกองบัญชาการสหรัฐฯ ในกรุงไซง่อนเชื่อว่า ปฏิบัติการรอบ ๆ KSCB เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการรบขนาดเล็กของ PAVN ในพื้นที่ชายแดน แต่เมื่อพบว่า PAVN กำลังเคลื่อนกำลังหลักเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว กองกำลังสหรัฐฯ ที่ประจำใน KSCB จึงได้รับการเสริมกำลัง 

นายทหารระดับสูงของเวียตนามเหนือเชื่อมั่นว่า “สมรภูมิเคห์ซาน” คงจะไม่แตกต่างไปจาก “สมรภูมิเดียนเบียนฟู” ในอดีตที่กองทัพประชาชนเวียดนามเหนือสามารถทำการรบและเอาชนะกองทหารฝรั่งเศสอดีตเจ้าอาณานิคมได้ในที่สุด แต่การรบใน “สมรภูมิเคห์ซาน” ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะ “ฐานปฏิบัติการเคห์ซาน” ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกองทัพอากาศสหรัฐฯ ด้วยการปฏิบัติการ “ไนแองการา” ซึ่งเป็นการทิ้งระเบิดทางอากาศครั้งใหญ่ วันที่ 21 มกราคม 1968 กองกำลัง PAVN ได้ทำการปิดล้อม KSCB ในช่วงห้าเดือนต่อมา กองกำลัง KSCB และฐานทัพบนยอดเขาที่อยู่รอบๆ ฐานทัพถูกโจมตีด้วยปืนใหญ่ ปืนครก และจรวดของกองกำลัง PAVN ทุกวัน รวมถึงการโจมตีของทหารราบหลายครั้ง โดยในช่วงสามเดือนแรก เครื่องบินรบของสหรัฐฯ และพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดมากกว่า 114,810 ตัน และยิงปืนใหญ่มากกว่า 158,900 นัดในการปฏิบัติการป้องกันฐานฯ ดังกล่าว ในเดือนมีนาคม 1968 กองกำลังพิเศษผสมระหว่างนาวิกโยธิน-กองทัพบก สหรัฐฯ และ ARVN ได้ส่งหน่วยบรรเทาทุกข์ทางบก (ปฏิบัติการ “เพกาซัส”) ซึ่งในที่สุดก็สามารถบุกทะลวงไปยังฐานปฏิบัติการเคห์ซานได้

ผู้บัญชาการของสหรัฐฯ ถือว่า การป้องกัน “ฐานปฏิบัติการเคห์ซาน” ประสบความสำเร็จ อย่างดีเยี่ยม แต่หลังจากที่การปิดล้อมสิ้นสุดลงไม่นาน กองบัญชาการสหรัฐฯ ในกรุงไซง่อนก็ตัดสินใจที่จะรื้อถอน “ฐานทัพปฏิบัติการเคห์ซาน” แทนที่จะเสี่ยงต่อการสู้รบในลักษณะเดียวกันอีกในอนาคต วันที่ 19 มิถุนายน 1968 การอพยพและการทำลาย KSCB ก็เริ่มขึ้น ท่ามกลางการโจมตีอย่างหนัก นาวิกโยธินพยายามทำลายทุกสิ่งที่เหลืออยู่ก่อนที่พวกเขาจะอพยพถอนกำลังออกมา การโจมตีเล็กน้อยยังคงดำเนินต่อไปก่อนที่ KSCB จะปิดตัวลงอย่างถาวรในวันที่ 5 กรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ยังมีกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ อยู่รอบ ๆ เนินเขา 689 และการสู้รบในบริเวณใกล้เคียงยังคงดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 1968  จนกระทั่งการอพยพถอนกำลังจบลงและทำให้การสู้รบสิ้นสุดลงด้วย

ภายหลังจากนั้น กองทัพประชาชนเวียดนามเหนือประกาศชัยชนะใน “สมรภูมิเคห์ซาน” ขณะที่กองกำลังสหรัฐฯ อ้างว่า ถอนกำลังจนหมดแล้ว เพราะไม่ต้องการใช้ประโยชน์จาก “ฐานปฏิบัติการเคห์ซาน” อีกต่อไป นักประวัติศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า “สมรภูมิเคห์ซาน” อาจทำให้ความสนใจขอสหรัฐฯ และเวียตนามใต้เสียไปจากการเพิ่มกำลังของเวียตกงทางตอนใต้ก่อนการรุก Tet (ตรุษญวณ) ในช่วงต้นปี 1968 อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ในเวียตนามใต้ พลเอกวิลเลียม เวสต์มอร์แลนด์ ยืนยันว่าเจตนาที่แท้จริงของการรุก Tet คือการเบี่ยงเบนกำลังออกจาก “ฐานทัพปฏิบัติการเคห์ซาน” โดยกองทัพสหรัฐฯ สูญเสียเครื่องบิน KC-130 ลำหนึ่ง เครื่องบิน C-123 ลำสามลำ และเฮลิคอปเตอร์ 35 ลำ ในขณะที่เครื่องบิน 23 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 123 ลำได้รับความเสียหาย ทหารสหรัฐฯ เสียชีวิต 274 นาย และบาดเจ็บมากกว่า 2,500 นาย ทหาร ARVN เสียชีวิต 229 นาย และบาดเจ็บ 436 นาย ทหาร PAVN เสียชีวิต 5,500 นาย (กองบัญชาการสหรัฐฯ ในกรุงไซง่อน) 2,469 นาย (PAVN) และบาดเจ็บ 1,436 นาย นอกจากนี้ยังมีทหารของกองทัพลาวบาดเจ็บและเสียชีวิตอีกจำนวนหนึ่งด้วย ตลอดปฏิบัติการกองกำลังของสหรัฐฯ ได้ใช้เทคโนโลยีล่าสุดในการค้นหาและกำหนดเป้าหมายที่เป็นกองกำลัง PAVN และนวัตกรรมด้านการขนส่งเพื่อสนับสนุนฐานปฏิบัติการเคห์ซานอย่างเต็มที่

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

ครั้งหนึ่งสหรัฐฯ เคยคิดสร้าง 'อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย' หวังโชว์เสรีภาพให้โลกเห็น แต่สุดท้ายได้เพียงภาพร่างและพิมพ์เขียว

รู้ไหมว่า… สหรัฐอเมริกาไม่เคยมี 'อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย'?

ใช่—อเมริกามีเทพีเสรีภาพ มีอนุสรณ์สถานประธานาธิบดี มีอาคารรัฐสภา และเทพีต่าง ๆ ที่ยืนถือคบเพลิงหรือคัมภีร์กฎหมาย แต่... ไม่มีอนุสาวรีย์แห่ง 'ประชาธิปไตย' โดยตรงเลยสักแห่ง

นั่นคือเหตุผลที่ในปี 1954 มีคนกลุ่มหนึ่งฝันจะสร้างมันขึ้นมาที่ซานเปโดร
ฝั่งตะวันตกของประเทศ ที่ซึ่งผืนน้ำแปซิฟิกทอดตัวยาวออกสู่เอเชีย ออสเตรเลีย และทั่วโลก

โครงการนี้มีชื่อว่า Monument to Democracy — อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

มันไม่ได้เป็นแค่โครงสร้างเหล็กและทองสัมฤทธิ์ แต่มันเป็นถ้อยแถลงของอุดมการณ์ เป็นคำตอบที่อเมริกาต้องการจะมอบให้โลก ในยุคที่กำลังต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์เพื่อจิตวิญญาณของมนุษยชาติ

ผู้ผลักดันคือ John Anson Ford สมาชิกสภาเขตลอสแองเจลิส ที่เชื่อมั่นว่า

> “ประชาธิปไตยไม่ควรเป็นสิ่งสงวนของคนผิวขาว... ประชาชนจากทุกเชื้อชาติกำลังจับตามองอเมริกา ว่าจะรักษาคำมั่นแห่งเสรีภาพไว้ได้จริงหรือไม่”

รูปแบบอนุสาวรีย์ถูกออกแบบโดย Millard Sheets และ Albert Stewart อย่างวิจิตรยิ่งใหญ่ รูปปั้นสูงกว่าเทพีเสรีภาพถึงเท่าตัว ตั้งอยู่บนฐานพิพิธภัณฑ์ศิลปะและประวัติศาสตร์ ที่บอกเล่าเส้นทางของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในการไขว่คว้าสู่เสรีภาพ

แต่... ความฝันนี้ถูกพับเก็บ
ถูกกลืนหายไปกับการเมือง งบประมาณ และความเฉยชา
สหรัฐฯ จึงยังคงไม่มี "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" จนถึงทุกวันนี้
ไม่มีสถานที่ที่บอกกับเด็ก ๆ ว่า ประชาธิปไตยคืออะไร และใครเป็นเจ้าของมัน
ไม่มีพื้นที่ที่คนผิวดำ ผิวเหลือง หรือผิวแดงจะรู้สึกว่า “ที่นี่ของฉันด้วย”

สิ่งที่หลงเหลือมีเพียงภาพร่าง พิมพ์เขียว และความเศร้าลึกในใจของนักประวัติศาสตร์ ว่าอเมริกา... อาจเคยใกล้จะมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่สุดในโลกแล้ว — แต่กลับปล่อยให้มันสูญหายไปในม่านหมอกของอดีต

🌍💸 ประเทศที่ประชากรรวยที่สุดในโลก ปี 2025

อันดับ 1 คือ ลักเซมเบิร์ก ตามด้วย สวิตเซอร์แลนด์ และ ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ ตัวแทนอาเซียน ติดท็อป 5 ด้วย

หลายประเทศในลิสต์นี้อาจตัวเล็ก แต่เศรษฐกิจกลับทรงพลัง เพราะโฟกัสที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ 💼📈

อ่านแล้วอยากให้ไทยโตแบบยั่งยืนบ้างเนอะ 🇹🇭✨

'ไซบีเรียที่กำลังลุกไหม้' วิกฤตไฟป่ารัสเซียทวีความรุนแรง ท่ามกลางภาวะสงครามและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไฟป่าได้กลายเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงและต่อเนื่องในรัสเซีย โดยเฉพาะในภูมิภาคไซบีเรียที่มีพื้นที่ป่าอันกว้างใหญ่ ความรุนแรงของไฟป่าในปี ค.ศ. 2024 และต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 2025 ได้จุดกระแสความวิตกกังวลทั้งในประเทศและในเวทีระหว่างประเทศ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางบริบทของสงครามรัสเซีย–ยูเครนที่ยังดำเนินอยู่ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ไฟป่าในไซบีเรียจึงมิใช่เพียงแค่ภัยธรรมชาติ หากแต่เป็นภาพสะท้อนของความเปราะบางในเชิงนโยบายรัฐ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในยุคแห่งความไม่แน่นอน

ภูมิภาคไซบีเรียมีลักษณะเป็นพื้นที่ทุนธรรมชาติที่สำคัญของโลกโดยเฉพาะป่าทุนดราและไทกาซึ่งทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ แต่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในภูมิภาคนี้เร็วกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึงสองเท่าส่งผลให้แหล่งพีตและดินเยือกแข็ง (permafrost) เริ่มละลายทำให้เชื้อไฟเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันฝุ่นควันจากไฟป่าได้แพร่กระจายไกลถึงแคนาดาและยุโรปส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์และคุณภาพอากาศโลก

จากรายงานจากหน่วยงานควบคุมป่าไม้ของรัสเซีย «Рослесхоз» ระบุว่า ในช่วงเมษายน ค.ศ. 2025 พื้นที่ป่าที่ได้รับความเสียหายจากไฟมีมากกว่า 500,000 เฮกตาร์ในไซบีเรียตะวันออกและตะวันตก โดยเฉพาะในแคว้นครัสโนยาสค์ «Красноярский край»  แคว้นอีร์คุตสค์ «Иркутск» สาธารณรัฐบูเรียทเทีย «Бурятия» และสาธารณรัฐซาฮาหรือยาคูเทีย «Республика Саха (Якутия)» สาเหตุหลักเกิดจากอุณหภูมิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยและความแห้งแล้งยาวนาน ซึ่งเป็นผลจากภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ไฟป่าไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในไซบีเรีย แต่ขอบเขตของมันในช่วงหลังเริ่มมีลักษณะเรื้อรังและควบคุมได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ไฟป่าส่วนใหญ่เกิดจากการเผาหญ้าในไร่ที่ควบคุมไม่ได้ ผนวกกับสภาพอากาศแห้งจัดและลมแรง ทำให้ไฟลุกลามรวดเร็ว หลายหมู่บ้านถูกตัดขาด การอพยพดำเนินได้อย่างจำกัดเพราะทรัพยากรฉุกเฉินไม่เพียงพอ

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้ไฟป่ามีความรุนแรงมาจาก 1) สภาพอากาศแห้งแล้งและอุณหภูมิสูงผิดปกติ: ภูมิภาคไซบีเรียเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างมากในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ทำให้พื้นดินแห้งและเป็นเชื้อเพลิงที่ดีสำหรับไฟป่า 2) ไฟซอมบี้ (Zombie Fires) หรือที่บางครั้งเรียกว่า “Holdover Fires” หรือ “Overwintering Fires” คือไฟป่าที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ใต้ดินในชั้นพีต (peat) หรืออินทรียวัตถุในดินแม้ผ่านฤดูหนาวไปแล้วกลับมาปะทุอีกครั้งเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นในฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูร้อนที่มีสภาพอากาศแห้งและมีเชื้อเพลิงเพิ่มเติม โดยแทบไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ไฟเหล่านี้สามารถปะทุขึ้นมาอีกครั้งและลุกลามอย่างรวดเร็ว โดยคำว่า “ซอมบี้” ใช้อุปมาว่าไฟพวกนี้เหมือนซากที่ไม่ยอมตายแม้จะถูกฝัง (ด้วยหิมะหรือความเย็น) แต่ก็ยังคง “มีชีวิต” อยู่ในความมืดใต้พื้นดิน แล้วกลับมา “ลุกขึ้น” ใหม่อย่างเงียบเชียบและอันตราย โดยนักวิทยาศาสตร์จาก Copernicus Atmosphere Monitoring Service (CAMS) และ University of Alaska ได้ระบุว่าไฟซอมบี้อาจกลายเป็นปรากฏการณ์ประจำปีของไซบีเรีย 3) การขาดแคลนทรัพยากรในการดับไฟ: เนื่องจากรัสเซียมีการส่งทหารจำนวนมากไปยังแนวรบในยูเครน ทำให้กำลังพลและอุปกรณ์ในการควบคุมไฟป่ามีจำกัด ส่งผลให้การดับไฟเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่ทั่วถึง

ภายใต้ยุคของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน การจัดการไฟป่ามีลักษณะเฉพาะ 3 ประการ
1) การรวมศูนย์อำนาจ (Centralization) นับตั้งแต่การปฏิรูปรัฐบาลภูมิภาคในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินพยายามลดบทบาทของผู้ว่าการท้องถิ่น โดยให้รัฐบาลกลางควบคุมการแต่งตั้งบุคลากรเจ้าหน้าที่และทรัพยากร ส่งผลให้เมื่อเกิดไฟป่าหน่วยงานท้องถิ่นมีอำนาจจำกัดในการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพ
2) การจัดการเชิงภาพลักษณ์ (Symbolic Leadership) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินมักลงพื้นที่หรือมีการประชุมวิดีโอแสดงความห่วงใยทุกครั้งที่เกิดไฟป่าใหญ่ เช่น เหตุการณ์ในแคว้นครัสโนยาสค์ หรือยาคูเทีย แต่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ตามมา ทำให้เกิดคำวิจารณ์ว่าภาวะผู้นำของปูตินเป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
3) การโยนความรับผิดชอบ (Blame Deflection) รัฐบาลมักอ้างว่าสาเหตุของไฟป่ามาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือ พฤติกรรมมนุษย์ โดยหลีกเลี่ยงการพูดถึงข้อจำกัดของกลไกรัฐ ในบางกรณีประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินออกมาตำหนิรัฐบาลท้องถิ่นและสั่งการผ่านสื่อโดยไม่มีกลไกสนับสนุนอย่างเป็นระบบ

ท่ามกลางภาวะสงครามงบประมาณรัฐจำนวนมากถูกเบนไปยังการทหาร ทำให้ขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติลดลงอย่างเห็นได้ชัด ข้อมูลจาก Greenpeace Russia ระบุว่าในปี ค.ศ. 2023 พื้นที่ไฟป่าในไซบีเรียเกิน 4 ล้านเฮกตาร์ ขณะที่รัฐสามารถควบคุมได้เพียงไม่ถึงครึ่ง เนื่องจากหน่วยงานดับเพลิงในบางพื้นที่ขาดงบประมาณและบุคลากรเนื่องจากทรัพยากรถูกเบนไปสนับสนุนการทำสงครามในยูเครน จากรายงานของสื่ออิสระ The Insider มีการเปิดเผยว่าเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์สำหรับดับเพลิงในบางภูมิภาคถูกปรับใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหารในยูเครน  เจ้าหน้าที่ภาคสนามจำนวนมากถูกส่งไปเป็นทหารหรือขาดงบในการฝึกอบรม ส่งผลให้ไฟป่าหลายแห่งลุกลามโดยไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าไปควบคุมได้ทันท่วงที ทำให้เจ้าหน้าที่ดับไฟในหลายภูมิภาคต้องทำงานภายใต้ทรัพยากรจำกัด ในขณะที่การสื่อสารกับสาธารณะเกี่ยวกับภัยไฟป่ากลับไม่โปร่งใส ระบบเตือนภัยและการสื่อสารชำรุดล้าสมัยไม่ได้รับการพัฒนา เนื่องจากงบประมาณด้านความมั่นคงเน้นที่การทหาร ทั้งนี้วิกฤตไฟป่าจึงสะท้อนความล้มเหลวของรัฐในการวางนโยบายสิ่งแวดล้อมและจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน  สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามว่า “รัฐบาลของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินสามารถรักษาความมั่นคงภายในได้จริงหรือไม่ ขณะที่ประเทศกำลังสู้รบภายนอก?”

ไฟป่าในไซบีเรียมีผลกระทบของต่อความมั่นคงและทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก ไฟป่าได้เผาทำลายพื้นที่ป่าไทกา (Taiga) ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญของโลก นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายต่อแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของรัสเซีย เช่น น้ำมัน แร่ และไม้ ซึ่งไซบีเรียมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจพลังงาน ไฟป่าอาจกระทบต่อเส้นทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเชื่อมระหว่างรัสเซีย จีน และเอเชียตะวันออกไฟป่ายังส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นที่พึ่งพาการทำป่าไม้ การล่าสัตว์ และการเกษตร ทั้งยังทำลายระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนและเครือข่ายไฟฟ้า ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลจำนวนมากต้องอพยพ โดยไม่มีการชดเชยหรือการดูแลอย่างเป็นระบบ ในระดับมหภาคเศรษฐกิจรัสเซียที่เผชิญการคว่ำบาตรจากตะวันตกอยู่แล้วยิ่งได้รับผลกระทบซ้ำจากภัยพิบัติดังกล่าว สถานการณ์นี้ยิ่งเลวร้ายลงในพื้นที่ที่มีความตึงเครียดเชิงชาติพันธุ์ เช่น แคว้นที่อยู่ทางด้านตะวันออกที่ประชากรเป็นชนกลุ่มน้อย 

การปล่อยให้ไฟป่าลุกลามในพื้นที่กว้างโดยไม่สามารถควบคุมได้ อาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงในหลายระดับ ดังนี้ 
1) ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม: ไฟป่าทำลายระบบนิเวศ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก และเร่งให้เกิดภาวะโลกร้อน 
2) ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ: สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมไม้ การเกษตร และสุขภาพของประชาชน
3) ความมั่นคงทางสังคมและการเมือง: ความไม่พอใจของประชาชนในภูมิภาคที่รู้สึกว่าไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลกลาง โดยเฉพาะในบริบทของสงครามอาจจุดชนวนให้เกิดการต่อต้านหรือกระแสชาตินิยมระดับภูมิภาคได้

โดยดานิล เบซโซนอฟ «Даниил Безсонов» นักรัฐศาสตร์ชาวรัสเซียเคยชี้ว่า “ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติที่ไม่สามารถควบคุมได้นั้นเป็นเหมือนสัญญาณอ่อนแอ (weak signal) ที่บ่งบอกถึงการเสื่อมถอยของกลไกรัฐในระดับภูมิภาค” นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศหลายคนได้ออกมาเรียกร้องให้รัสเซียหันมาสนใจปัญหาภายในประเทศก่อน โดยเฉพาะเรื่องไฟป่าในไซบีเรีย ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่จัดการอย่างจริงจัง อาจกลายเป็นมหันตภัยรุนแรงซ้ำรอยอดีตอีกครั้ง องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและประชาชนทั่วไปมีการเปิดคำร้องผ่านเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้ทางการจัดการไฟป่าอย่างจริงจัง ซึ่งล่าสุดมีการรวบรวมลายมือชื่อมากกว่า 800,000 คน

การจัดการไฟป่าที่ล้มเหลวกลายเป็นแหล่งความไม่พอใจในบางภูมิภาคของไซบีเรีย เช่น การประท้วงในยาคูเตียและคราสโนยาร์สค์ที่ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลกลางสนับสนุนการดับไฟมากขึ้น รวมถึงการวิจารณ์จาก NGOs และสื่ออิสระที่ถูกจำกัดการนำเสนอข้อมูลโดยรัฐ องค์กร NGOs เช่น Greenpeace Russia ที่นำเสนอข้อมูลด้านลบถูกประกาศเป็น 'องค์กรต่างชาติ' (foreign agent)

การรับมือกับไฟป่าในไซบีเรียยังมีมิติเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากฝุ่นควันจากไฟป่าได้เคลื่อนข้ามพรมแดน และรัสเซียเองก็เป็นภาคีในความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่การบริหารจัดการภายในประเทศกลับสวนทางกับพันธะสัญญานานาชาติ ทำให้ภาพลักษณ์ของรัสเซียในเวทีโลกเสื่อมถอยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัญหาไฟป่าในไซบีเรียกลายมาเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากองค์กรสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ซึ่งใช้เป็นหลักฐานวิพากษ์นโยบายรัฐรัสเซียที่ให้ความสำคัญกับสงครามมากกว่าการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยรัสเซียถูกกล่าวหาว่าละเลยพันธะในสนธิสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยเฉพาะเมื่อไฟป่าในไซบีเรียเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูงต่อเนื่องกันหลายปี

บทสรุป ไฟป่าในไซบีเรียคือวิกฤตซ้อนวิกฤตที่เชื่อมโยงกันระหว่างสงคราม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการบริหารจัดการของรัฐในระยะยาว หากไม่มีการปฏิรูประบบจัดการสิ่งแวดล้อมและคืนอำนาจแก่ท้องถิ่นในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ไฟป่าจะไม่เพียงเผาผลาญต้นไม้ แต่จะกัดกร่อนเสถียรภาพของรัฐและความมั่นคงในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมกันนั้นสถานการณ์นี้ยังสะท้อนถึงความลักลั่นในการจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลกลางที่ให้ความสำคัญกับสงครามภายนอกมากกว่าสวัสดิภาพของประชาชนภายใน หากรัฐไม่สามารถหาจุดสมดุลระหว่าง “ความมั่นคงทางทหาร” กับ “ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมและมนุษย์” ได้ในระยะยาว ปัญหาอย่างไฟป่าอาจกลายเป็นชนวนเรื้อรังที่คุกคามเสถียรภาพของรัสเซียจากภายในต่อไปในอนาคต

สี จิ้นผิง ลั่น! จีนไม่หวั่นสงครามการค้า ไม่ยอมแพ้ต่อแรงกดดันจากสหรัฐฯ

(11 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ออกแถลงการณ์ตอบโต้ความตึงเครียดจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ โดยย้ำว่า จีนจะไม่ขอความช่วยเหลือจากใคร และจะไม่ยอมถอยท่ามกลางแรงกดดัน

“จีนไม่เคยพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการพัฒนาประเทศตลอด 70 กว่าปีที่ผ่านมา เราฝ่าฟันทุกอย่างด้วยความพยายามของตัวเอง” สี จิ้นผิงกล่าว พร้อมเน้นว่าจีนจะไม่ยอมอ่อนข้อ หรือ 'กะพริบตา' ให้กับความไม่ยุติธรรม

แม้สงครามการค้าจะยังร้อนแรง แต่ผู้นำจีนยืนยันว่า จีนจะยังคงมุ่งมั่นบริหารประเทศอย่างมั่นคงและพึ่งพาตนเอง พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงจากภายนอก

สำหรับ คำกล่าวของประธานาธิบดีจีนมีขึ้นในช่วงที่ความตึงเครียดกับสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากมาตรการภาษีนำเข้าและข้อพิพาทด้านเทคโนโลยีที่กำลังปะทุอย่างต่อเนื่อง

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน 2568

ผีร้ายทำลายชาติ
ประเทศใด ชาติใดก็ตาม
ถ้ารัฐส่งเสริมให้มีการพนัน
ไม่ว่าประเภทใด
ก็เรียกว่าเปิดประตู
แห่งความเสื่อมความเสีย
ให้เกิดขึ้นแก่คนในชาตินั้น

หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

สงกรานต์สุขใจแต่ต้องไม่เสียสุขภาพ อย่าลืมดูแลตัวเอง ‘เช็ก 5 โรคเสี่ยง’ ที่แฝงมากับความสนุกของเทศกาล

(14 เม.ย. 68) เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่หลายคนรอคอยในการเล่นน้ำสนุกสนานและทำกิจกรรมกับครอบครัว แต่การเล่นน้ำในช่วงกลางแดดร้อนอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางชนิดที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในช่วงที่อุณหภูมิสูงและความชื้นสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้หลายอย่าง ประกอบไปด้วย 

1. โรคลมแดด (Heatstroke) การเล่นน้ำท่ามกลางแสงแดดร้อนจัด อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกิดภาวะลมแดดได้ หากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้เพียงพอ อาจส่งผลให้มีอาการเวียนศีรษะ อ่อนแรง หน้ามืด หรือแม้กระทั่งหมดสติได้ ดังนั้นจึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำในช่วงกลางวันที่มีแสงแดดจัดที่สุด

2. โรคผิวหนังจากแสงแดด การเล่นน้ำท่ามกลางแดดจัดอาจทำให้ผิวหนังเสียหายจากแสงแดด รังสี UV จากแสงแดดสามารถทำลายผิวหนังได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดผิวไหม้ แดง หรือผิวหนังแก่ก่อนวัย ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง และสวมหมวกหรือเสื้อแขนยาวเพื่อป้องกัน

3. โรคตาแดง (Conjunctivitis) การเล่นน้ำที่มีฝุ่นหรือสารเคมีอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในตาได้ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคตาแดง โดยเฉพาะเมื่อเล่นน้ำในพื้นที่ที่ไม่สะอาดหรือมีสารเคมีปนเปื้อน ควรระมัดระวังการสัมผัสน้ำและตา

4. โรคน้ำกัดเท้า หรือโรคเชื้อราที่เท้า ซึ่งการแช่เท้าในน้ำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเมื่อน้ำไม่สะอาด อาจทำให้ผิวหนังเท้าเกิดการติดเชื้อราได้ เชื้อราจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่อับชื้น อาจทำให้เกิดอาการคัน ผิวลอก แดง หรือแตกระแหง หากไม่รักษาอย่างเหมาะสมอาจลุกลามและติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย แนะนำให้สวมรองเท้าพลาสติกหรือรองเท้าแตะกันลื่นขณะเล่นน้ำ และรีบล้างเท้าให้สะอาดพร้อมเช็ดให้แห้งทันทีหลังเล่นน้ำ

5. อาการท้องเสียและอาหารเป็นพิษ น้ำที่ใช้ในการเล่นสงกรานต์บางครั้งอาจไม่สะอาด ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้ท้องเสียและมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำจากแหล่งที่ไม่แน่ใจว่าสะอาด และควรทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ

สำหรับ คำแนะนำในการป้องกัน ควรดื่มน้ำให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดนานเกินไป ทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกแดด ใช้หมวกหรือเสื้อแขนยาวเพื่อป้องกันแสงแดด เลือกเล่นน้ำในแหล่งน้ำที่สะอาดและปลอดภัย หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ไม่สะอาดหรืออาจมีการปนเปื้อน

ถอดรหัสฉลากเบียร์ Carlsberg ปี 1938 ที่จัดส่งมายังสยาม สะท้อนการยอมรับ ‘พระมหากษัตริย์’ องค์น้อยบนเส้นทางประชาธิปไตย

ฉลากเบียร์กับพระราชาองค์น้อย: Carlsberg และการต้อนรับรัชกาลที่ 8 สู่สยาม 
> År. 1938 – i anledning af, at den 13 årige barnekonge af Siam (det tidligere navn for Thailand), kong Ananda Mahidol, i nær fremtid vender hjem til Siam, har Carlsberg i forståelse med ØK ladet sine ølsorter bestemt for Siam forsyne med denne etiket.
นี่คือข้อความในภาษาดัตช์ (Danish) ที่อธิบายข้อมูลฉลากเบียร์ Carlsberg ฉบับหนึ่ง โดยมีความหมายว่า:

> “ในปี ค.ศ. 1938 เนื่องในโอกาสที่กษัตริย์พระองค์น้อยวัย 13 พรรษาแห่งสยาม (ชื่อเดิมของประเทศไทย) คือ พระเจ้าอานันทมหิดล จะเสด็จกลับสู่สยามในอนาคตอันใกล้ ทาง Carlsberg จึงร่วมกับบริษัท ØK (East Asiatic Company) จัดทำฉลากพิเศษนี้สำหรับเบียร์ที่จัดส่งมายังสยาม”

แม้จะเป็นเพียงคำอธิบายสั้น ๆ ประกอบฉลากเบียร์หนึ่งใบ แต่ข้อความนี้เปิดประตูสู่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของไทยในช่วงเวลาหนึ่ง — ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และช่วงที่ราชาธิปไตยกำลังแปรเปลี่ยนรูปเข้าสู่ “พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” อย่างเต็มตัว

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8 ทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2477 ขณะมีพระชนมพรรษาเพียง 9 พรรษา หลังการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 พระองค์ยังมิได้เสด็จกลับสู่สยามทันที แต่พำนักอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2481 (ค.ศ. 1938) ที่มีข่าวว่าพระองค์จะเสด็จนิวัติพระนครเป็นครั้งแรก

ในห้วงเวลาแห่งการรอคอยนี้เอง บริษัทเบียร์ Carlsberg จากเดนมาร์ก ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับบริษัทค้าต่างชาติอย่าง ØK ได้จัดทำ ฉลากเบียร์พิเศษ สำหรับส่งเข้าสู่สยาม โดยมีการพิมพ์คำว่า:
> 'สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรัฐธรรมนูญ จงเจริญ'
พร้อมภาพพานรัฐธรรมนูญแวดล้อมด้วยฉัตรหลวงและธงไตรรงค์

ฉลากเบียร์ฉบับนี้จึงไม่ใช่เพียงผลิตภัณฑ์เพื่อการค้า หากแต่เป็น สื่อวัฒนธรรมที่สื่อความหมายทางการเมืองและจิตวิญญาณแห่งยุคสมัย กล่าวคือ มันสะท้อนการยอมรับพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ของไทย และระบอบใหม่ที่รัฐธรรมนูญมีบทบาทร่วมกับพระราชอำนาจอย่างชัดเจน

น่าสังเกตว่า การออกฉลากนี้มิใช่เพียงแค่การ 'ต้อนรับกษัตริย์องค์ใหม่' เท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งสารว่า โลกภายนอก โดยเฉพาะภาคธุรกิจต่างชาติก็รับรู้และให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสยาม เช่นกัน

สรุป:
ฉลากเบียร์ Carlsberg ปี 1938 เป็นมากกว่าฉลากเครื่องดื่ม — มันคือ หลักฐานทางวัฒนธรรม ที่บันทึกไว้ถึงช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ที่โลกกำลังจับตา 'พระมหากษัตริย์องค์น้อยแห่งรัฐธรรมนูญ' และประเทศเล็ก ๆ ในเอเชียที่กำลังเรียนรู้จะเดินต่อไปบนเส้นทางประชาธิปไตย

ผบช.สตม. สั่งการ ตม. ปล่อยแถวพร้อมกันทั่วประเทศ สร้างความเชื่อมั่นเทศกาลสงกรานต์ 68 เตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศวันละ 1.5 แสนคน 

(10 เม.ย.68) เวลา 16.00 น. ที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พล.ต.ท.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ ผบช. สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.เชิงรณ ริมผดี ผบก.ตม.2  ปล่อยแถวระดมกวาดล้างอาชญากรรมช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่การท่าอากาศยาน สั่งการ ตม.ทั่วประเทศปล่อยแถวพร้อมกัน พร้อมอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติและพี่น้องประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ 

พล.ต.ท.ภาณุมาศฯ กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ตนจึงได้สั่งการ ตม.ทั่วประเทศปล่อยแถวบูรณาการร่วมกับส่วนราชการต่างๆ ระดมกวาดล้างอาชญากรรมพร้อมกันทุกจังหวัด เพื่อดูแลความปลอดภัย สร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวที่ดี ส่งเสริมให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ โดยได้มอบหมาย รอง ผบช.สตม. ร่วมปล่อยแถวบูรณาการกับส่วนราชการในพื้นที่ จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ดังนี้

ใจกลางกรุงเทพมหานคร บริเวณท้องสนามหลวง ร่วมกับกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา โดยมี นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธี  ภาคเหนือ ได้มอบหมาย พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. ร่วมกับ บก.ตม.5 ที่ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ ภาคอีสาน พล.ต.ต.ธนิต ไทยวัชรามาศ รอง ผบช.สตม. ร่วมกับ บก.ตม.4 ที่ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 จ.นครพนม และ ภาคใต้ พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ รอง ผบช.สตม. ร่วมกับ บก.ตม.6 ที่ด่านพรมแดนสะเดา จ.สงขลา โดยเน้นการสืบสวน หาข่าวในพื้นที่ ดูแลความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ผบช.สตม. กล่าวอีกว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ เป็นช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินเข้ามาเป็นจำนวนมากถึงวันละ 1.5 แสนคน เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว สตม. จึงต้องเตรียมพร้อมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง สนามบิน บริเวณช่องตรวจทุกระบบ พิจารณาลดขั้นตอนในการตรวจหนังสือเดินทาง เตรียมความพร้อมแก้ปัญหาอาจเกิดขึ้นในช่วงที่มีผู้มาใช้บริการหนาแน่นมากๆ ประสานความร่วมมือกับบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) และสายการบิน ในการดูแลอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้โดยสารที่ต้องใช้ช่องทางเร่งด่วน หรือ priority ต่างๆ เช่น ผู้พิการ เด็กเล็ก เป็นต้น

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียตำรวจ สภ.เมืองเลย ถูกคนร้ายคดียาเสพติดยิงเสียชีวิต พร้อมสั่งเร่งติดตามจับกุมคนร้ายโดยเร็ว

(10 เมษายน 2568) พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แสดงความเสียใจและอาลัยต่อการสูญเสียตำรวจกล้า “ร.ต.ต.ไพโรจน์  พรหมอินทร์ รอง สว.(ป.) สภ.เมืองเลย”

จากกรณี วันนี้ เวลาประมาณ 12.00 น. ร.ต.ต.ไพโรจน์ พรหมอินทร์ รอง สว.(ป.) สภ.เมืองเลย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบปรามยาเสพติด สภ.เมืองเลย ออกทำการสืบสวน ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด บริเวณสวนยางพาราพื้นที่บ้านกอไผ่โทน ต.กกดู่ อ.เมือง จ.เลย ขณะเข้าทำการตรวจสอบ พบผู้ต้องสงสัย 1 คน เมื่อบุคคลดังกล่าวเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้วิ่งหลบหนี โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจวิ่งติดตาม แต่ผู้ต้องสงสัยได้หันกลับมา พร้อมใช้อาวุธปืนยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถูก ร.ต.ต.ไพโรจน์ฯ ล้มลง แล้วหลบหนีไป ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังติดตามจับกุม ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกส่วนได้เข้ามาดูอาการ ร.ต.ต.ไพโรจน์ฯ พบว่านอนนิ่งไม่ได้สติ จึงโทรแจ้งรถพยาบาลเพื่อเข้าช่วยเหลือ แต่ ร.ต.ต.ไพโรจน์ฯ ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา 

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของ ร.ต.ต.ไพโรจน์ พรหมอินทร์ และขอสดุดีในการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ มุ่งมั่นปราบปรามยาเสพติดเพื่อความสงบสุขของประชาชนอย่างเต็มกำลัง ทุ่มเท กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต พร้อมสั่งการดูแลสิทธิประโยชน์และสวัสดิการอย่างเต็มที่ 

พร้อมกันนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติชื่นชมเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบปรามยาเสพติด สภ.เมืองเลย ที่ปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้ ซึ่งจากการตรวจค้นที่เกิดเหตุ พบของกลาง ยาบ้า 1,000 เม็ด , ปืนลูกซองยาว 1 กระบอก พร้อมกระสุนปืนอีก 4 นัด และปืนแก๊ปยาวอีก 1 กระบอก จึงได้กำชับให้ พล.ต.ท.ฉัตรชัย สุรเชษฐพงษ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 และ พล.ต.ต.วีระเดช เลขะกุล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย ลงพื้นที่ควบคุมอำนวยการด้วยตนเอง ให้ติดตามจับกุมผู้ต้องหารายนี้โดยเร็ว ซึ่งล่าสุดพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเลย ขอศาลอนุมัติออกหมายจับ นายบุญเกิดฯ ผู้ต้องหารายนี้แล้ว กำลังเร่งติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top