Sunday, 27 April 2025
TheStatesTimes

‘เอกนัฏ’ ลั่น ไม่ว่าผลสอบตึกถล่มจะออกมาอย่างไร แต่เหล็กของซิน เคอ หยวน ถือว่าสอบตก พร้อมปรับแผนส่งทีมสุดซอย ร่วมเจ้าหน้าที่ DSI เข้าตรวจสอบเก็บข้อมูลบริษัทฯแล้ว

(11 เม.ย. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ขอปรับแผน ให้ชุดสุดซอยนำหมายศาลเข้าค้นบริษัท ซิน เคอ หยวน (SKY) พร้อม DSI และตำรวจสอบสวนกลาง

“สำหรับผม ไม่ว่าผลสอบสาเหตุของตึกถล่มโดยคณะกรรมการสอบสวนจะออกมาเป็นอย่างไร ผลทดสอบของเหล็ก SKY หรือ ซิน เคอ หยวน ถือว่าสอบตกไปแล้ว”

1. ตัวอย่างเหล็กใหม่ที่เก็บจากโรงงานที่ถูกปิดช่วงธันวาคม(จนถึงวันนี้) สอบตกไปสองรอบ และไม่อนุญาตให้ทดสอบใหม่อีกเป็นรอบที่สาม

2. ตัวอย่างที่ผมได้นำทีมไปเก็บจากบริเวณตึกถล่ม ท่ามกลางสื่อฯ ซึ่งในวันนั้น ผมไม่รู้ด้วยซํ้าว่าจะเจอเหล็กยี่ห้ออะไร ตัดเหล็กด้วยอุปกรณ์จากเหล็กท่อนยาวที่ประเมินว่าไม่ได้รับผลกระทบจากการถล่ม (ได้ถ่ายคลิปเก็บไว้ด้วย) ปรากฏว่าเหล็กข้ออ้อยของ SKY สอบตกไปสองรายการ ในขณะที่เหล็กของยี่ห้ออื่นผ่าน

สอบตกก็คือตก แม้ผลสอบสาเหตุตึกถล่มจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ผลทดสอบของเหล็ก SKY ก็ไม่ผ่านอยู่ดี 

แต่หากทางเจ้าพนักงานจะประสานเจ้าหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมไปร่วมเก็บหลักฐานเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ ก็ยินดีให้ความร่วมมือครับ

อย่างไรก็ตาม จะต้องเร่งสืบค้นข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะเหล็กที่ถูกนำออกสู่ตลาดไปก่อนหน้าที่โรงงานจะถูกปิดในช่วงธันวาคมที่ผ่านมา ให้ปรากฏต่อสาธารณะโดยเร็วที่สุด ระงับยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายต่อไป

ซึ่งก่อนหน้า ทีมสุดซอยได้เข้าไปที่บริษัท SKY เพื่อตรวจสอบโรงงาน และได้ขอข้อมูลเกี่ยวกับเหล็กที่ถูกจำหน่ายออกไป 

แต่กลับพบความผิดปกติเกี่ยวกับกาก 'ฝุ่นแดง' ที่ปรากฏอยู่ในปริมาณมาก ราว ๆ 40,000-50,000 ตัน เกินปริมาณที่เคยได้แจ้งไว้ในระบบไปหลายเท่า จึงได้มีคำสั่งให้ทางบริษัทชี้แจง

แต่จนถึงวันนี้ ข้อมูลที่ได้รับจากบริษัทเกี่ยวกับการจำหน่ายเหล็กกลับไม่เป็นประโยชน์ ส่วนเรื่องฝุ่นแดง ก็ไม่ได้รับคำชี้แจงภายในระยะเวลาที่กำหนด

ผมจึงให้ชุดสุดซอยปรับภารกิจในวันนี้ จากเดิมจะไปร่วมเก็บหลักฐานที่บริเวณตึกถล่ม 

แต่เปลี่ยนให้นำหมายศาล ไปเข้าค้นบริษัท SKY พร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง และ DSI เพื่อนำคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด มาสืบค้นหาข้อมูลให้ได้

ซึ่งในขณะนี้ ทีมงานได้อยู่ในพื้นที่ปฏิบัติการแล้วครับ

13 เมษายน ของทุกปี ‘วันผู้สูงอายุแห่งชาติ’ และ ‘วันสงกรานต์’ ร่วมสืบสานประเพณีไทย

อย่างที่ทราบกันดีว่าวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี คือวันมหาสงกรานต์ ตามประเพณีไทยที่สืบทอดมายาวนาน ขณะเดียวกันในวันนี้ ยังถือเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2525 ได้มีการประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุ (World Assembly on Aging) ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษา พร้อมกำหนดให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เป็นผู้สูงอายุ (Elderly) ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก

ดังนั้น ทางคณะรัฐมนตรีไทยจึงได้ลงมติ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็น วันผู้สูงอายุแห่งชาติ พร้อมทั้งได้กำหนดให้ “ดอกลำดวน” เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เนื่องจากต้นลำดวน หรือ หอมหวล (Melodorum fruticosum Lour) ตามชื่อไทยพื้นเมือง เป็นพืชยืนต้นที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ดอกสีเหลืองนวล กลิ่นหอมเย็น กลีบแข็งแรงไม่ร่วงง่าย เปรียบเสมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิที่คงคุณธรรม คุณงาม ความดีให้กับลูกหลานไว้เป็นแบบอย่างสืบต่อไป

14 เมษายน พ.ศ. 2520 ในหลวง รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระพันปีหลวง เสด็จฯ เยี่ยมชมเขื่อนลำตะคอง จ. นครราชสีมา

วันนี้เมื่อ 48 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เยี่ยมชมเขื่อนลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

ทรงประทับบ้านพักรับรองบนเขื่อนลำตะคอง ของกรมชลประทาน สร้างความปลาบปลื้ม ปิติให้กับข้าราชการ และพสกนิกรที่มารอรับเสด็จในครั้งนั้น โดยในช่วงที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จเยี่ยมชมเขื่อนลำตะคอง ในครั้งนั้น พระองค์ท่านทรงชี้แนะเรื่องการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนลำตะคอง ให้ทางกรมชลประทาน นำไปจัดการบริหารน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเป็นภาพประวัติศาสตร์ของเขื่อนลำตะคอง และชาวจังหวัดนครราชสีมา

สำหรับเขื่อนลำตะคอง ตั้งอยู่ที่ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2507 แล้วเสร็จในปี 2512 โดยกรมชลประทาน ได้มีโครงการทดและส่งน้ำลำตะคอง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกทั้ง 2 ฝั่งลำตะคอง ในพื้นที่อำเภอเมือง กับบางส่วนของอำเภอขามทะเลสอ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็น 1 ใน 16 แห่ง ที่กรมชลประทานได้เลือกไว้ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ

จีนตอบโต้ศึกการค้า ประกาศลดนำเข้าหนังฮอลลีวูด ผู้เชี่ยวชาญชี้เป็นการลงโทษที่แยบยล เจ็บตัวน้อยแต่ทำให้วอชิงตันต้องคิดหนัก

(11 เม.ย. 68) จีนประกาศแผนลดการนำเข้าภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในวันนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสองประเทศ ที่ยังคงร้อนแรงและไม่มีวี่แววผ่อนคลาย

โฆษกของ China Film Administration (CFA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมการอนุมัติฉายภาพยนตร์ในประเทศจีน กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อ “ปรับสมดุลทางการตลาด” และ “สะท้อนความนิยมของผู้ชมชาวจีน” โดยชี้ว่าการที่สหรัฐฯ เพิ่มอัตราภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากจีน รวมถึงภาพยนตร์ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสนใจของผู้บริโภคในจีน

“เราจะยังคงสนับสนุนภาพยนตร์ที่มีคุณภาพจากทั่วโลก และเปิดรับเนื้อหาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดภาพยนตร์จีน ซึ่งกำลังเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว” โฆษก CFA กล่าว

คริส เฟนตัน ผู้เขียนหนังสือ Feeding the Dragon: Inside the Trillion Dollar Dilemma Facing Hollywood, the NBA, and American Business กล่าวว่า การลดจำนวนภาพยนตร์จากสหรัฐฯ ถือเป็น “วิธีที่โดดเด่นอย่างยิ่งในการแสดงออกถึงการตอบโต้ โดยแทบจะไม่มีผลเสียใดๆ ต่อจีนเลย”

“การลงโทษฮอลลีวูดอย่างโจ่งแจ้งเช่นนี้เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงความแข็งแกร่งของปักกิ่ง ซึ่งวอชิงตันจะต้องสังเกตเห็นอย่างแน่นอน” เฟนตันกล่าว

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แทบไม่ได้ออกมาปกป้องฮอลลีวูด โดยตอบคำถามสื่อเกี่ยวกับข้อจำกัดใหม่ของจีนว่า “ผมคิดว่าผมเคยได้ยินเรื่องที่แย่กว่านี้”

แม้จะมีข้อจำกัดใหม่ แต่แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมบันเทิงระบุว่า ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์บางเรื่องที่มีฐานแฟนคลับในจีนยังสามารถเข้าฉายได้ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง 'Thunderbolts' ของ Marvel Studios ที่จะเข้าฉายในจีน วันที่ 30 เมษายน 2568

บริษัท IMAX ซึ่งมีธุรกิจทั้งในจีนและต่างประเทศ ระบุว่า ข้อจำกัดดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ โดยกล่าวในแถลงการณ์ว่า “เราคาดว่าปีนี้จะเป็นปีที่แข็งแกร่งสำหรับ IMAX ในจีน โดยไตรมาสแรกของปีนี้ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์”

เซธ เชเฟอร์ นักวิเคราะห์จาก S&P Global Market Intelligence Kagan ให้ข้อมูลว่า แม้จะมีข้อจำกัด แต่ในปัจจุบัน ภาพยนตร์จากต่างประเทศที่ได้เข้าฉายในจีนมีเพียงราว 25% เท่านั้น และเปอร์เซ็นต์นี้ยังคงลดลงเรื่อยๆ อันเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศจีนเอง

“แม้จะได้เข้าฉายในจีน รายได้บ็อกซ์ออฟฟิศจากจีนก็มีสัดส่วนน้อยกว่า 10% ของรายได้รวมทั่วโลก” เขากล่าว พร้อมยกตัวอย่างภาพยนตร์ 'Captain America: Brave New World' ซึ่งออกฉายในเดือนกุมภาพันธ์ และทำรายได้ในจีนเพียง 14.4 ล้านดอลลาร์ จากยอดรวมทั่วโลกที่ 413 ล้านดอลลาร์

ในอดีต ภาพยนตร์อย่าง 'ไททานิค' และ 'อวตาร' ประสบความสำเร็จมหาศาลในจีน ทำให้ดาราอย่าง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และผู้กำกับอย่าง เจมส์ คาเมรอน เป็นที่รู้จักในหมู่แฟนภาพยนตร์จีนทุกวัย

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2020 ภาพยนตร์ที่ผลิตโดยจีนเองสามารถครองสัดส่วนตลาดถึง 80% ของรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศประจำปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณ 60% ในปีก่อนหน้า

ในรายชื่อภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาลของจีน มีเพียงเรื่องเดียวจากต่างประเทศที่ติดอยู่ใน 20 อันดับแรก นั่นคือ 'Avengers: Endgame' ที่ทำรายได้กว่า 4.25 พันล้านหยวน หรือราว 579.8 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ภาพยนตร์ที่เหลือล้วนเป็นผลงานจากจีน

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า แม้จะเป็นมาตรการเชิงสัญลักษณ์ แต่ก็สะท้อนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลก ที่กำลังมุ่งสู่การกระจายตัวมากขึ้น และลดการพึ่งพา 'อุตสาหกรรมภาพยนตร์สหรัฐ' ลงอย่างต่อเนื่อง

15 เมษายน พ.ศ. 2567 ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ‘พลังงานไทย’ กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุน 'นำเข้า-ส่งออก'

ครบรอบ 1 ปี กับนโยบายกำกับควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ราคาจำหน่ายเป็นไปตามต้นทุนจริงและให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนคนไทย ภายหลัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย!!

โดยประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ต้องรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายในวันที่ 15 ของเดือน ถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน โดยราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าวเมื่อ 13 มีนาคม 2567 และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

หมายความว่า ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และในกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันมีการปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลจะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายใน 7 วัน โดยข้อมูลที่ได้รับมาจะถือเป็นข้อมูลลับของทางราชการและจะมีการเก็บรักษาเป็นความลับอย่างที่สุด

สำหรับต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสมนั้น ประกอบด้วย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความรวมถึงน้ำมันดิบ, ก๊าซธรรมชาติ, ก๊าซปิโตรเลียมเหลว, น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และต้นทุนอื่นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อและขายน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ค่าขนส่ง, ค่าประกันภัย, ค่าตอบแทนนายหน้า, ค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนและโอนเงิน, ค่าภาษี, อากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นใด ซึ่งผู้ประกอบการได้บันทึกบัญชีและมีหน้าที่ต้องชำระ โดยคำนวณเฉลี่ยเป็นหน่วยต่อลิตรในแต่ละรายไตรมาสของปีบัญชี

ทั้งนี้ ด้วยเพราะน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลักของภาคธุรกิจในการประกอบกิจการ หากน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายภายในประเทศนั้น มีการค้ากำไรเกินสมควร มีปริมาณการจัดจำหน่ายที่ไม่เพียงพอ หรือไม่ได้คุณภาพแล้ว ย่อมจะส่งผลกระทบในทางลบและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งต่อประชาชน และระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม 

ดังนั้นประกาศกระทรวงพลังงานฉบับดังกล่าว จึงมีความจำเป็นต่อการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานมีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับกำหนดนโยบายด้านพลังงานให้เกิดความถูกต้องเหมาะสม อันจะทำให้ราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศนั้นมีความยุติธรรม ด้วยมีการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นการคุ้มครองไม่ให้มีการค้ากำไรเกินสมควรในการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อมิให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันที่ไม่ถูกต้องและเป็นธรรม เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกระดับให้มีขีดความสามารถอย่างเท่าเทียมสำหรับการแข่งขันทางการค้าในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น ในวันที่ 15 เมษายน 2567 จึงเป็นวันแรกและครั้งแรกของประเทศไทยที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องแจ้งข้อมูลต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทุกเดือน โดยประกาศฉบับนี้จะช่วยดำเนินการจัดการให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของราคาจำหน่ายของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องอิงกับราคาตลาดโลกนั่นเอง

‘ทรัมป์’ ขู่ขึ้นภาษีนำเข้าและคว่ำบาตร ‘เม็กซิโก’ ปมไม่แบ่งปันน้ำจาก ‘แม่น้ำริโอแกรนด์’ ให้เกษตรกรเท็กซัส

(11 เม.ย. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ขู่ว่าจะใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าและการคว่ำบาตรต่อเม็กซิโก หากรัฐบาลเม็กซิโกยังคงไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเรื่องการแบ่งปันน้ำจากแม่น้ำริโอแกรนด์ ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1944

ทรัมป์โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน ระบุว่า “บรูก โรลลินส์ รัฐมนตรีเกษตรของผม กำลังยืนหยัดเพื่อเกษตรกรเท็กซัส และเราจะเดินหน้าบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ต่อไป ทั้งการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม และอาจรวมถึงการคว่ำบาตร จนกว่าเม็กซิโกจะเคารพสนธิสัญญา และส่งน้ำที่เป็นของเท็กซัสคืนมา”

ตามสนธิสัญญาปี 1944 เม็กซิโกมีพันธกรณีต้องส่งมอบน้ำจากแม่น้ำริโอแกรนด์ให้แก่สหรัฐฯ ประมาณ 1.75 ล้านเอเคอร์-ฟุต ภายในรอบระยะเวลา 5 ปี โดยผ่านระบบเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่เชื่อมต่อกันระหว่างสองประเทศ

อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทเรื่องน้ำระหว่างสองประเทศมีประวัติความตึงเครียดยาวนาน โดยเฉพาะในช่วงปี 2020 ซึ่งความขัดแย้งได้ปะทุจนกลายเป็นความรุนแรง เมื่อเกษตรกรชาวเม็กซิโกจำนวนมากเข้ายึดเขื่อนในพื้นที่ชายแดน เพื่อพยายามปิดกั้นการส่งน้ำไปยังสหรัฐอเมริกา

สถานการณ์ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นและภัยแล้งที่ยาวนานทำให้ทรัพยากรน้ำขาดแคลน น้ำจากแม่น้ำที่ทั้งสองประเทศใช้ร่วมกันจึงกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่าอย่างยิ่ง

ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการเขตแดนระหว่างประเทศและน้ำ ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านน้ำระหว่างเม็กซิโกและสหรัฐฯ ระบุว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 ถึงเดือนตุลาคม 2024 เม็กซิโกสามารถจัดส่งน้ำได้เพียงประมาณ 400,000 เอเคอร์ฟุต ซึ่งต่ำกว่าระดับที่กำหนดในสนธิสัญญาอย่างมาก โดยยังขาดอยู่อีกกว่า 1.4 ล้านเอเคอร์ฟุต ส่งผลให้หนี้ค้างชำระสะสมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ด้านผู้นำเม็กซิโก ประธานาธิบดีคลอเดีย เชนบาม ได้ตอบโต้ผ่านโพสต์บนเอ็กซ์ (X) ว่า เม็กซิโกยังคงพยายามปฏิบัติตามข้อผูกพันตามสนธิสัญญา “เท่าที่ทรัพยากรน้ำจะเอื้ออำนวย” และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงเกษตรของเม็กซิโกเริ่มการเจรจากับสหรัฐฯ อย่างเร่งด่วน

นักวิเคราะห์เตือนว่า หากไม่มีทางออกอย่างชัดเจน ความตึงเครียดเรื่องน้ำอาจกลายเป็นประเด็นทางการทูตที่บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศพันธมิตรทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในระยะยาว

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#5 'มติอ่าวตังเกี๋ย' ผลักสหรัฐฯ ก้าวเข้าสู่สงครามเวียตนามเต็มตัว

ก่อนการเข้าสู่สงครามเวียตนามแบบเต็มตัวนั้น สหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนเวียตนามใต้ด้วยการมอบอาวุธยุทโธปกรณ์และที่ปรึกษาทางทหารประจำกองทัพ เวียตนามใต้ราว 1,500 นาย และด้วยความรุนแรงในเวียตนามที่ทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว ประธานาธิบดี Kennedy ได้สั่งให้เพิ่มจำนวนที่ปรึกษาของสหรัฐฯ ประจำกองทัพเวียตนามใต้อีกกว่าสิบเท่าเป็น 16,000 นาย

วันที่ 31 กรกฎาคม 1964 เรือพิฆาต USS Maddox ได้เริ่มภารกิจรวบรวมข่าวกรองในอ่าวตังเกี๋ย โดยมีนาวาเอก George Stephen Morrison เป็นผู้บัญชากองกำลังอเมริกันในพื้นที่ดังกล่าวจากเรือธง USS Bon Homme Richard โดย USS Maddox อยู่ภายใต้คำสั่งไม่ให้เข้าใกล้ชายฝั่งทางเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือน้อยกว่า 4 ไมล์ จากเกาะ Hon Nieu Mê โดยมีเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Ticonderoga ลอยลำอยู่ใกล้ ๆ วันที่ 1 สิงหาคม 1964 เรือลาดตระเวนของเวียตนามเหนือที่ติดตาม USS Maddox ซึ่งอยู่ในภารกิจลับเพื่อสนับสนุนการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (DESOTO) ใกล้น่านน้ำเวียตนามเหนือ และมีการรบกวนการสื่อสารของ USS Maddox หลายครั้งชี้ให้เห็นว่า เวียตนามเหนือกำลังเตรียมการที่จะโจมตี USS Maddox จึงถอยห่างออกมา แต่ในวันรุ่งขึ้น 2 สิงหาคม USS Maddox ซึ่งมีความเร็วสูงสุด 28 นอตกลับมาลาดตระเวนอีกครั้ง แต่มีเรือตอร์ปิโด P-4 ของ เวียตนามเหนือ 3 ลำ แล่นด้วยความเร็วสูงสุด 50 นอต ได้แสดงท่าทีที่เป็นการคุกคาม USS Maddox มีการก่อกวนการสื่อสารแสดงให้เห็นว่า เรือตอร์ปิโด P-4 ของ เวียตนามเหนือตั้งใจจะโจมตี USS Maddox เมื่อเรือเวียตนามเหนือแล่นมาจากทางตะวันตกเฉียงใต้ USS Maddox จึงเปลี่ยนเส้นทางจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นทิศตะวันออกเฉียงใต้ และเพิ่มความเร็วเป็น 25 นอต 

ตอนบ่ายของวันที่ 2 สิงหาคม 1964 ขณะที่เรือตอร์ปิโดเข้ามาใกล้ USS Maddox ก็ยิงเตือนไป 3 นัด จากนั้นเรือ เวียตนามเหนือก็เปิดฉากโจมตี USS Maddox ได้ส่งสัญญาณวิทยุแจ้งว่า กำลังถูกโจมตีจากเรือ 3 ลำ ในระยะ 10 ไมล์ทะเล ขณะที่แล่นอยู่ห่าง 28 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งเวียตนามเหนือในน่านน้ำสากล USS Maddox แจ้งว่า กำลังหลบหลีกการโจมตีด้วยตอร์ปิโดและได้เปิดฉากยิงโต้ตอบด้วยปืน 5 นิ้ว (127 มม.) เพื่อบังคับให้เรือตอร์ปิโดถอยออกไป แต่มีเรือตอร์ปิโด 2 ลำแล่นเข้ามาใกล้ไม่ถึง 5 ไมล์ทะเล และปล่อยตอร์ปิโดลำละลูก ซึ่งไม่เป็นผลเพราะแต่ละลูกไม่เข้าใกล้ USS Maddox เกินกว่า 100 หลาเลย ขณะที่ USS Maddox กำลังหลบอยู่นั้น เรือเวียตนามเหนือลำหนึ่งถูกยิงด้วยปืน 5 นิ้วของ USS Maddox การปล่อยตอร์ปิโดเริ่มผิดพลาด เครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบ F-8 4 ลำจากเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Ticonderoga จากนั้น 15 นาทีหลังจาก USS Maddox ได้ยิงกระสุนเตือนก็เปิดฉากโจมตีเรือตอร์ปิโด P-4 ซึ่งกองทัพเรือสหรัฐฯ อ้างว่า จมเรือตอร์ปิโด P-4 ได้หนึ่งลำ และเสียหายหนักอีกหนึ่งลำ และ USS Maddox ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยจากกระสุนขนาด 14.5 มม. จากปืนกลหนัก KPV ของเรือ P-4 เพียงนัดเดียวถูกตัวลำเรือ เมื่อกลับไปยังน่านน้ำเวียตนามใต้ USS Maddox ก็เข้าร่วมกับเรือพิฆาต USS Turner Joy ขณะที่ เวียตนามเหนืออ้างว่า USS Maddox ถูกยิงด้วยตอร์ปิโดหนึ่งลูก และมีเครื่องบินรบอเมริกันถูกยิงตก

การโจมตีระลอกที่ 2 ในวันที่ 4 สิงหาคม  1964 หน่วยลาดตระเวนตามภารกิจ DESOTO ลาดตระเวนนอกชายฝั่ง เวียตนามเหนือ โดย USS Maddox และ USS Turner Joy เพื่อ ทำการ "อวดธง" หลังจากเหตุการณ์โจมตีครั้งแรก คราวนี้มีคำสั่งให้เรือจะไม่เข้าใกล้เกินกว่า 11 ไมล์จากชายฝั่งของ เวียตนามเหนือ ในช่วงเย็นและเช้าตรู่ของสภาพอากาศที่รุนแรงและทะเลหนัก เรือพิฆาตได้รับสัญญาณเรดาร์ โซนาร์ และสัญญาณวิทยุที่เชื่อว่า เป็นการส่งสัญญาณเพื่อโจมตีอีกครั้งโดยกองเรือของเวียตนามเหนือ เป็นเวลา 4 ชั่วโมงที่เรือรบสหรัฐฯ ทั้งสองลำยิงไปยังเป้าหมายที่ปรากฏบนเรดาร์ และการรบดำเนินไปอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตามกองทัพเรือสหรัฐฯ อ้างว่า ได้จมเรือตอร์ปิโดโจมตีได้ 2 ลำ แต่ไม่ปรากฏซากปรักหักพัง และร่างลูกเรือ เวียตนามเหนือที่เสียชีวิต หรือหลักฐานทางกายภาพอื่น ๆ ในที่เกิดเหตุการสู้รบที่ถูกกล่าวอ้างแต่อย่างใด 

ภายใน 30 นาทีหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคมประธานาธิบดี Johnson ตัดสินใจโจมตีตอบโต้ (ตามปฏิบัติการ "Operation Pierce Arrow") ในวันเดียวกันนั้นเองประธานาธิบดี Johnson มีการใช้ "สายด่วน" (Hot Line) คุยกับกรุงมอสโก และได้รับคำรับรองว่าโซเวียตไม่มีเจตนาในการขยายสงครามในเวียตนามให้รุนแรงขึ้น ดังนั้นเช้าวันที่ 5 สิงหาคม 1964 ประธานาธิบดี Johnson ได้มีการปราศรัยต่อสาธารณชนเอเมริกันเกี่ยวกับมาตรการตอบโต้โดยระบุว่า "ความมุ่งมั่นของชาวอเมริกันทุกคนที่จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่เรามีต่อประชาชนและรัฐบาล เวียตนามใต้จะทวีความรุนแรงขึ้น" ในวันที่ 5 สิงหาคม เวลา 10:40 น. หนึ่งชั่วโมงสี่สิบนาทีหลังจากการปราศรัยของประธานาธิบดี Johnson เครื่องบินรบของสหรัฐฯ ก็ไปถึงเป้าหมายใน เวียตนามเหนือ เครื่องบินทิ้งระเบิดฐานทัพเรือ 4 แห่ง และคลังน้ำมันในเมือง Vinh

หลังจากนั้น รัฐสภาอเมริกันได้ทำการออก "มติอ่าวตังเกี๋ย" (Gulf of Tonkin Resolution) อันมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ในเวลาต่อมาโดยเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งกำลังทหารสหรัฐฯ เข้าไปใน เวียตนามใต้ เพราะมติดังกล่าวมอบอำนาจแก่ ประธานาธิบดี Johnson ให้ใช้กำลังทหารเต็มรูปแบบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่ต้องรอมติการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการจากรัฐสภาเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มติดังกล่าวมอบอำนาจแก่ประธานาธิบดีในการกระทำการใด ๆ ที่จำเป็นเพื่อสนับสนุน "สมาชิกหรือรัฐภาคีใด ๆ ของสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" (SEATO) ซึ่งรวมไปถึงการใช้กำลังทหารด้วย มติดังกล่าวได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ในสภาผู้แทนราษฎร ต่อมารัฐบาลของประธานาธิบดี Johnson อาศัยอำนาจตามมติดังกล่าวเริ่มต้นการยกระดับความเกี่ยวข้องทางทหารของสหรัฐใน เวียตนามใต้ และเป็นการทำสงครามโดยเปิดเผยระหว่างเวียตนามเหนือกับสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งสหรัฐฯ ถอนทหารจาก เวียตนามใต้ใน ปี 1973 ตามข้อตกลงสันติภาพปารีส 1973 (ลงนามเมื่อ 27 มกราคม 1973) เชลยศึกอเมริกันได้รับการปล่อยตัวโดยเวียตนามเหนือเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ และกำลังทหารอเมริกันถอนออกจากเวียตนามใต้ในวันที่ 29 มีนาคมในปีเดียวกัน 

ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) เกี่ยวกับเหตุการณ์การรบทางเรือที่อ่าวตังเกี๋ย ปี 1964 โดย John White อดีตนายทหารเรือได้เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการ New Haven (CT) Register ในปี 1967 ว่า "ผมขอยืนยันว่าประธานาธิบดี Johnson รัฐมนตรีกลาโหม McNamara และประธานเสนาธิการร่วมได้ให้ข้อมูลเท็จแก่รัฐสภา ในรายงานของพวกเราเกี่ยวกับเรือพิฆาตสหรัฐฯ ซึ่งถูกโจมตีในอ่าวตังเกี๋ย" ต่อมาในปี 1968 White ได้เดินทางมามาวอชิงตันเพื่อพบกับวุฒิสมาชิก Fulbright เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อกังวลของเขาโดยเฉพาะรายงานความผิดพลาดของโซนาร์ ต่อมาในปี 1981 นาวาเอก Herrick และ Robert Scheer นักข่าวตรวจสอบบันทึกปูมเรือของ Herrick อีกครั้ง เพื่อหาความจริงในการถูกยิงด้วยตอร์ปิโดจากรายงานครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 1964 ซึ่ง Herrick ได้ระบุว่า "เกิดการโจมตี" ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีมูลความจริง บทความในปี 1981 ของ Herrick และ Scheer สรุปความไม่ถูกต้องของรารยงานครั้งแรกซึ่งแสดงว่า ไม่มีการโจมตีโดยเรือรบของเวียตนามเหนือในขณะนั้น แต่ผบ.และลูกเรือของ USS Maddox ทั้งหมดกล่าวว่า พวกเขามั่นใจว่ามีการโจมตีเกิดขึ้น เป็นผลให้มีการโจมตีฐานทัพเรือของเวียตนามเหนือ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกด้านเชื้อเพลิงในระหว่างปฏิบัติการ Operation Pierce Arrow 

พลเรือตรี James Stockdale อดีตเชลยศึกใน เวียตนามเหนือ ผู้เป็นหนึ่งในนักบินของสหรัฐฯ ที่บินโจมตีในระลอกที่สอง เขียนไว้ในหนังสือ Love and War ปี 1984 ว่า "ผมอยู่ในที่นั่งที่ดีที่สุดเพื่อดูเหตุการณ์นั้น เรือพิฆาตของเราก็ยิงไปที่เป้าหมายผี เพราะไม่มีเรือ P-4 ที่นั่น ไม่มีอะไรที่นั่นเลย ทะเลที่มืดสนิทสว่างไปด้วยอำนาจการยิงของเรือรบอเมริกัน" โดย Stockdale ระบุอีกครั้งว่า “เห็น USS Turner Joy เล็งปืนไปยัง USS Maddox” Stockdale กล่าวว่า “เขาถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้ปกปิดเรื่องนี้” หลังจากที่ถูกยิงตก กลายเป็นเชลยศึกในเวียตนามเหนือ เรื่องนี้กลายเป็นภาระหนัก เขาได้กล่าวในภายหลังว่า เขากังวลว่าผู้ที่จับกุมจะบังคับให้เขาเปิดเผยสิ่งที่เขารู้เกี่ยวกับเหตุการณ์โจมตีในระลอกที่ 2 

ปี 1995 Võ Nguyên Giáp อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของเวียดนามได้พบกับอดีตรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ McNamara โดย Võ Nguyên Giáp ปฏิเสธว่า เรือรบเวียตนามเหนือไม่ได้โจมตีเรือพิฆาตอเมริกันในวันที่ 4 สิงหาคม 1964 ในขณะที่ยอมรับการโจมตีในวันที่ 2 สิงหาคม เทปการสนทนาของการประชุมหลายสัปดาห์หลังจากมติอ่าวตังเกี๋ย ถูกเผยแพร่เมื่อ ปี 2001 แสดงว่า McNamara ได้อธิบายข้อสงสัยให้กับประธานาธิบดี Johnson ว่า มีการโจมตีเรือรบอเมริกันเกิดขึ้น ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1999 Eugene Poteat อดีตเจ้าหน้าที่ CIA เขียนว่า เขาถูกถามในต้นเดือนสิงหาคม 1964 เพื่อตรวจสอบรายงานของเจ้าหน้าที่เรดาร์แสดงถึง การโจมตีของเรือตอร์ปิโดเวียตนามเหนือว่า เป็นจริงหรือเป็นการจินตนาการ เขาได้ขอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเวลาสภาพอากาศและสภาพผิวน้ำ แต่ไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด ในท้ายที่สุดเขาได้สรุปว่า ไม่มีเรือตอร์ปิโดในคืนที่สงสัย และทำเนียบขาวให้ความสนใจในการยืนยันว่า "มีการโจมตี ไม่ใช่ ไม่มีการโจมตี "

ในเดือนตุลาคม 2012 พลเรือตรี Lloyd "Joe" Vasey (เกษียณ) ถูกสัมภาษณ์โดย David Day ใน Asia Review และได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคม พลเรือตรี Vasey ซึ่งอยู่บนเรือ USS Oklahoma City เรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธชั้น Galveston ซึ่งแล่นอยู่ในอ่าวตังเกี๋ยด้วย และเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้บัญชาการกองเรือที่ 7 โดย USS Turner Joy ทำการส่งสัญญาณวิทยุรบกวนวิทยุสื่อสารของเวียตนามเหนือ ซึ่งสั่งการให้เรือตอร์ปิโดเปิดฉากโจมตี USS Turner Joy และ USS Maddox หลังจากนั้นไม่นานเรดาร์ได้รับ "หลายรายสัญญาณความเร็วสูง" ถูกล็อกและบันทึกโดย USS Turner Joy ซึ่งได้ยิงทำลายเป้าหมายที่ล็อกได้ โดยมีพยาน 18 นายทั้งลูกเรือและนายทหารซึ่งรายงานทุกแง่มุมในการโจมตี อาทิ ควันจากเรือตอร์ปิโดที่ถูกยิง (รายงานโดยบุคคลที่แยกกัน 4 นาย บนเรือพิฆาตแยกลำสอบสวน) การพบเห็นเรือตอร์ปิโดที่แล่นผ่าน ตลอดจนแสงไฟต่าง ๆ พยานทั้ง 18 นายเป็นพยานในการพิจารณาคดีที่เมืองโอลองกาโป ประเทศฟิลิปปินส์ โดยคำให้การของพวกเขาถูกจัดเก็บเป็นบันทึกสาธารณะ ในปี 2014 ซึ่งครบรอบ 50 ปีของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น John White ได้เขียน เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ย – ห้าสิบปีต่อมา : เชิงอรรถเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสงคราม เวียตนาม ได้สรุปยืนยันว่า รายงานโซนาร์ของ USS Maddox ทำงานผิดพลาด โดยที่ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี Johnson เองก็รับรู้ ดังนั้น เหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ยตามเรื่องนี้จะ ถูก ผิด เท็จ จริง เป็นเช่นไรนั้น คงเป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาค้นคว้าหาความจริงกันต่อไป แต่สิ่งที่เรียกคืนไม่ได้ก็คือ ชีวิตของมนุษยชาติหลายล้านคนที่สูญสิ้นไปด้วยผลของสงครามที่เกิดจากเหตุการณ์นี้

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียตนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

เศรษฐกิจในยุค 'ทรัมป์' ป่วนโลก

‘ดร.อมรเทพ จาวะลา’ แนะแนวทางการรับมือเศรษฐกิจยุค ‘ทรัมป์’ ป่วนโลก พร้อมคู่มืออยู่รอด มีอะไรต้องเตรียมพร้อมบ้างไปดูกัน 

17 เมษายน พ.ศ. 2518 เขมรแดงยึดพนมเปญ สิ้นสุดสงครามกลางเมือง แต่กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่แสนเจ็บปวดของประเทศกัมพูชา

วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) กองกำลังเขมรแดง (Khmer Rouge) ซึ่งนำโดย พอล พต (Pol Pot) ได้เคลื่อนกำลังเข้าสู่ กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของประเทศกัมพูชา และสามารถเข้ายึดครองเมืองได้สำเร็จ นับเป็นการสิ้นสุดสงครามกลางเมืองกัมพูชาที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 5 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 หลังการโค่นล้มพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ

สงครามกลางเมืองในกัมพูชาเป็นการสู้รบระหว่างรัฐบาลฝ่ายสาธารณรัฐเขมร ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา กับกองกำลังคอมมิวนิสต์เขมรแดงที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนและเวียดนามเหนือ ความขัดแย้งทวีความรุนแรงโดยมีพลเรือนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากได้รับผลกระทบ

หลังยึดครองพนมเปญได้ กองกำลังเขมรแดงได้ดำเนินนโยบายรุนแรงทันที โดยสั่งอพยพประชาชนทั้งหมดออกจากเมืองหลวงภายในไม่กี่วัน ด้วยข้ออ้างว่าเป็นมาตรการทางยุทธศาสตร์และเพื่อเริ่มต้น “การปฏิวัติทางเกษตรกรรม” ประเทศถูกรีเซ็ตสู่ 'ปีศูนย์' (Year Zero) ซึ่งเป็นแนวคิดในการล้มล้างทุกสิ่งจากอดีต เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ไม่มีชนชั้น

ประชาชนในเมืองหลวงต่างออกมาต้อนรับกองกำลังด้วยความโล่งใจ หวังว่าสงครามจะสิ้นสุดลงและความสงบสุขจะกลับมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นกลับกลายเป็น จุดเริ่มต้นของหนึ่งในโศกนาฏกรรมทางมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดในศตวรรษที่ 20

ภายใต้การปกครองของเขมรแดงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518–2522 กัมพูชาต้องเผชิญกับระบอบเผด็จการสุดโต่ง ประชาชนถูกบังคับให้ทำงานในไร่นาและถูกแยกออกจากครอบครัว โรงเรียน โรงพยาบาล และศาสนสถานถูกปิด ผู้ที่ถูกมองว่าเป็น 'ศัตรูของรัฐ' ไม่ว่าจะเป็นผู้รู้ ปัญญาชน พระสงฆ์ หรือแม้แต่ผู้ใส่แว่นตา ถูกประหารชีวิตอย่างโหดเหี้ยม

ซึ่งมีการคาดการณ์ว่ามีประชาชนเสียชีวิตจากความอดอยาก การถูกทรมาน หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มากถึง 2 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดราว 8 ล้านคนในขณะนั้น

บทสรุป เหตุการณ์วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 เป็นจุดจบของสงครามกลางเมือง แต่เป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งความโหดร้าย ที่เขมรแดงนำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงสังคมกัมพูชาอย่างรุนแรง การยึดครองพนมเปญของเขมรแดงไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคอินโดจีน แต่ยังทิ้งร่องรอยลึกในจิตใจของชาวกัมพูชาหลายชั่วอายุคน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top