ย้อนไทม์ไลน์เหมืองทองอัครา กับ คำถามน่าคิด!! หาก ‘คิงส์เกต’ มั่นใจ ชนะคดี รับค่าชดเชย 30,000 ล้านบาท เหตุใดทางบริษัทยังคิดจะมาเจรจากับรัฐบาลไทยต่อ?
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 65 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้ลุกขึ้นชี้แจงกรณีเหมืองทองอัครา จากข้อท้วงถามของ ‘จิราพร สินธุไพร’ ส.ส.เพื่อไทย ที่จี้ถามถึงความเสียหายที่ประเทศต้องจ่าย หากแพ้คดีเหมืองทองอัครา ว่า…
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ฝ่ายไทยไม่ได้เป็นผู้เริ่มขอเจรจาเกี่ยวกับคดีเหมืองทองอัครา แต่คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ให้คำแนะนำให้ไทยเจรจากับบริษัทคิงส์เกต ซึ่งที่ผ่านมามีการเลื่อนการเจรจามาแล้ว 3 ครั้ง เนื่องจาก COVID-19 โดยเป็นการตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย แต่การเจรจามีความคืบหน้า และมีทิศทางในทางบวก ซึ่งจะมีประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย
“ประเด็นเลื่อนออกคำชี้ขาดที่ถูกกล่าวหาว่า การเลื่อนแต่ละครั้งจะมีการให้สิทธิประโยชน์เหมืองทองอัคราทุกครั้ง ยืนยันว่า เป็นความเท็จ การเลื่อนออกคำชี้ขาดไม่เกี่ยวกับการให้สิทธิประโยชน์หรือการอนุญาตใดๆ”
ส่วนกรณีบริษัทคิงส์เกต เปิดเผยข้อมูลได้ แต่ฝ่ายไทยไม่เปิดเผยข้อมูล ขอชี้แจงว่า ตราบใดที่ยังไม่ออกคำชี้ขาด ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการได้ ส่วนข้อมูลที่บริษัทคิงส์เกตนำมาเปิดเผย มาจากข้อมูลการเจรจายุติข้อพิพาทที่ฝ่ายบริษัทคิงส์เกตอยากจะได้ และเรียกร้อง ไม่ใช่การตกลงจากทั้ง 2 ฝ่าย
สำหรับข้อกล่าวหาว่า ฝ่ายไทยจะแพ้และต้องเสียค่าโง่กว่า 30,000 ล้านบาทนั้น จากข้อมูลงบการเงินของบริษัทอัครา ซึ่งได้ประกอบกิจการเหมืองทองในประเทศตั้งแต่ 2543 จนถึง 2558 หรือ 15 ปี พบว่า มีกำไรตกปีละ 800 ล้านบาท เมื่อเทียบกับค่าเสียหายที่ ส.ส.จิราพรอ้างมา บริษัทจะต้องประกอบกิจการถึง 38 ปี
“หากบริษัทมั่นใจว่าจะชนะคดีแน่ๆ และได้รับเงิน 30,000 ล้านบาท บริษัทจะมาเจรจากับรัฐบาลไทยได้อย่างไร”
>> ไล่ไทม์ไลน์อาชญาบัตรสำรวจแร่ 44 แปลง
ส่วนการอนุญาตต่างๆ ทั้งให้สิทธิสำรวจแร่ และให้ขนผงทองคำออกไปขาย เป็นการประนีประนอมเพื่อขอถอนฟ้องคดี โดยกรณีการให้ประทานบัตร 4 แปลงนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2544 เมื่อบริษัทเริ่มเปิดเหมืองและผลิตทองคำเชิงพาณิชย์ ตรงกับสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และมีการยื่นคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่ 44 แปลง
บริษัทได้ทยอยยื่นมาตั้งแต่ 2546-2548 และในปี 2549 คำขออยู่ระหว่างการพิจารณามาตามลำดับ เตรียมเสนอขออนุมัติ แต่เกิดรัฐประหารก่อน จนมาปี 2550 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มี ครม. ให้ชะลอการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำไว้ก่อน เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายทองคำที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำนโยบายทองคำให้แล้วเสร็จ
จากนั้นผ่านมาหลายรัฐบาลมีการปรับปรุงนโยบายทองคำอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปี 2557 มีการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองว่า ประสบปัญหาสุขภาพจากการทำเหมือง อีกทั้งความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ มีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุน
พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. จึงส่งเจ้าหน้าที่ส่งไปตรวจสอบ และมีข้อเสนอให้ยุติการทำเหมืองไว้ก่อน โดยพล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่ง คสช. ให้ยุติการขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ และการทำเหมืองชั่วคราว และให้ไปปรับปรุงนโยบายทำเหมืองใหม่ โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน เพื่อให้มีมาตรการป้องกันปัญหาสุขภาพในประชาชนที่รัดกุม
1 ส.ค. 60 ครม. มีมติรับทราบนโยบายทองคำ มีผลให้บริษัทอัคราสามารถยื่นขออาชญาบัตรพิเศษได้ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ไม่ได้มาเดินเรื่องต่อเพราะกลัวจะกระทบต่อรูปคดีนั้น และตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นเป็น 2 เท่า ทำให้บริษัทอัคราตัดสินใจมายื่นขออาชญาบัตรสำรวจแร่ ก่อนจะนำไปสู่การอนุมัติตามขั้นตอน
ทั้งนี้ หากบริษัทอัคราสำรวจแร่และสามารถประกอบการทำเหมืองทองคำได้ รัฐจะได้รับประโยชน์จากค่าภาคหลวงแร่ และค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยจากข้อมูลการประกอบการของบริษัทอัครา ในอดีต 2546-2559 รัฐได้รับประโยชน์ทางด้านภาษีทั้งหมด 5,596 ล้านบาท รวมทั้งมีการจ้างงานในพื้นที่กว่า 2,000 คน
