Friday, 4 July 2025
TheStatesTimes

ออมสินคาดปล่อยกู้จำนำทะเบียนรถทะลุ 2 หมื่นล้าน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ประชาชนที่มีรายได้น้อย จำนวนมากร่วม 800,000 ราย ได้รับอนุมัติสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ “เงินสดทันใจ” ทั้งที่เป็นสินเชื่อใหม่และรีไฟแนนซ์ วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 16,000 ล้านบาท ซึ่งช่วยเติมสภาพคล่องในการนำเงินกู้ไปหมุนเวียนใช้จ่ายและแก้ปัญหาการเงิน ด้วยต้นทุนเงินกู้ที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดอยู่ที่ประมาณ 5-8% สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้ลูกค้าคิดประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยในปี 2565 นี้ ประเมินว่า จะอนุมัติสินเชื่อรวมกว่า 20,000 ล้านบาท ทั้งประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 

สำหรับการดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามที่รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายธนาคารออมสินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ ด้วยต้นทุนที่เป็นธรรมและถูกลง โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา ธนาคารได้เข้าร่วมทุนในบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด เปิดตัวสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำช่วงเปิดตัวที่ 11% ต่อปี ส่งผลให้หลังจากนั้นไม่นานตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ได้ทยอยปรับลดโครงสร้างดอกเบี้ยจาก 28% ณ เวลานั้น ลงเหลือ 19% ในปัจจุบัน 

‘วิโรจน์’ ตีโจทย์สิ่งแวดล้อม กทม. ในเวทีดีเบต พร้อมชู 4 นโยบายเร่งด่วนรับมือ PM 2.5

‘วิโรจน์’ เสนอจะแก้ปัญหาขยะ น้ำ อากาศ และเมืองยั่งยืนได้ ต้องเริ่มจากปรับฐานคิดว่าคนเท่ากัน พร้อมตีโจทย์ กทม. ฝุ่นบรรเทาได้ หากผู้ว่าฯ ไล่บี้ พร้อมตั้งคำถามทวนกรุงเทพควรจัด ULEZ (Ultra Low Emission Zone) พื้นที่ชั้นในได้หรือยัง ยันคนตัวเล็กตัวน้อยต้องได้รับการปกป้องและนึกถึงอันดับแรก

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล ตอบคำถามกลางวงเสวนาสาธารณะในชื่อ “งานเสวนาว่าที่ผู้ว่า กทม. กับการบริหารจัดการขยะ น้ำ อากาศ และเมืองยั่งยืน” ณ ห้องประชุมวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ วันที่ 28 มีนาคม 2565 วิโรจน์ได้อธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในกทม. ว่า คนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะมักเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย และเป็นคนที่ไม่ได้ก่อมลภาวะด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานกลางแจ้ง เป็นคนเดินถนนที่ต้องแบกรับปัญหามลภาวะต่างๆ วิโรจน์ย้ำว่ากทม. เมืองจะยั่งยืนได้ ต้องดูแลคนทุกคนอย่างเสมอภาคกัน

ป.ป.ช.ฉะเชิงเทรา ลงพื้นที่ตรวจสอบอาหารกลางวัน

(28 มี.ค.65)​ นายสมชาย ยิ้มแฉล้ม ผู้อำนวยการสำนักงานป.ป.ช.ประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา ลงพื้นที่ตรวจสอบอาหารกลางวัน เพื่อป้องกันการทุจริตในลักษณะเชิงรุก มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ทำให้เด็กนักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ โดยมีนายสุริยา ศรีโภคา ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบางแสม ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้การต้อนรับ จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพบว่ามีการสับเปลี่ยนแบ่งเวลาให้นักเรียนระดับชั้นอนุบาล และระดับชั้นประถมลงมารับประทานอาหารคนละเวลาและมีรายการอาหารกำหนดไว้ล่วงหน้า

 

เดียวดายปลายปากเหว!! ในใจ ‘เซเลนสกี้’ ความหวั่นใจสงครามกับรัสเซีย เมื่อยูเครนอาจถูกแบ่ง ‘เหนือ-ใต้’ แบบเกาหลี

โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครนยอมรับว่า การทำสงครามกับรัสเซียเป็นเรื่องที่เกินกำลังของกองทัพยูเครนมาก และยากที่จะเอาชนะได้อย่างเบ็ดเสร็จ แม้จะสามารถยันกองทัพรัสเซียที่พยายามจะพิชิตกรุงเคียฟได้ แต่ก็จะไม่สามารถที่จะผลักดันทหารรัสเซียออกไปจากยูเครนได้

เช่นเดียวกับกองทัพรัสเซีย ที่เริ่มเข้าใจแล้วว่าการที่จะยกทัพมาบุกยึดยูเครนทั้งประเทศ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ แล้วในยุคสมัยนี้เช่นกัน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูง ว่ารัสเซียอาจต้องปรับลดเป้าหมายลง แต่ยังคงวัตถุประสงค์เดิมที่ตั้งไว้ 

ประเด็นดังกล่าวตรงกับความเห็นของหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของยูเครน ว่ารัสเซียอาจใช้ ‘เกาหลีโมเดล’ แบ่งประเทศเป็น 2 ส่วน แล้วทางรัสเซียจะยึดครองไปส่วนหนึ่ง เหลืออีกฝั่งเป็นเขตปกครองของรัฐบาลยูเครนปัจจุบันไป 

เรื่องนี้อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถยุติการสู้รบในครั้งนี้ได้ ในจังหวะที่รัสเซียพิชิตยูเครนทั้งประเทศไม่ไหว ยูเครนก็ไม่มีกำลังพอจะขับไล่กองทัพรัสเซียได้ และการเรียกให้กองกำลังต่างชาติเข้ามาผสมโรง ถล่มรัสเซียในยูเครนก็ยิ่งทำให้ประเทศบอบช้ำ แถมอาจลุกลามกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิด

นอกจากนี้ หากยูเครนจะใช้กลยุทธ์สงครามแบบกองโจร ก็ยิ่งทำให้สงครามยืดเยื้อแบบสงครามในอัฟกานิสถาน และสุดท้ายยูเครนก็อาจจะไม่ได้แตกแค่ 2 ประเทศ เพราะในยูเครนก็มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอีกจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะลุกฮือขึ้นมาประกาศแยกตนเป็นรัฐอิสระ สุดท้ายยูเครนอาจแตกเป็นประเทศเล็ก ประเทศน้อยอย่างที่เกิดขึ้นในยูโกสลาเวีย

เพราะโดยนัยแล้ว ดูเหมือนเป้าหมายหลักของสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ใช่การสนับสนุนยูเครน แต่เป็นการโค่นล้ม ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ ผู้นำรัสเซีย โหมแรงให้สงครามรุกลามใหญ่โต ซึ่งไม่เป็นผลดีกับยูเครนเลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ จึงเหมือนยืนอยู่เดียวดายปลายปากเหว และต้องคิดให้หนักว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป เพราะเชื่อได้ว่า คงไม่มีผู้นำคนไหนอยากทำหินแตก หรืออยากแยกแผ่นดินในยุคสมัยของตนเองอย่างแน่นอน


เรื่อง : อรุณรัตน์

อ้างอิง : Sky News

โบว์ ณัฏฐา ชี้ การใส่มาตรการกระตุ้นที่ไม่ถึง ก็เหมือนการเข็นรถขึ้นเขา ถ้าเข็นเบาๆ ก็อาจถูกรถไหลทับ ต้องใส่แรงมากพอที่จะส่งรถขึ้นไปได้ มัน คือ การใส่ เพื่อให้เกิดการหมุนต่อ

จากสถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงาน อันเป็นผลพวงของความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ที่ทำให้ต้นทุนการผลิต การค้า-บริการต่างๆ ราคาดีดตัวสูงขึ้น ทำให้ค่าครองชีพเองก็มีการปรับตัวสูงขึ้นจนเกิดปรากฏการณ์ ‘แพงทั้งแผ่นดิน’ โดยรัฐบาลเองก็ได้เห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้กำหนด 10 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือประชาชนขึ้น ดังนี้ 

1.) การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาท เป็น 100 บาท/เดือน
2.) ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนประมาณ 5,500 คน
3.) ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้ประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม 
4.) คงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม
5.) ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาท/กิโลกรัม
6.) ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า Ft ลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือนพ.ค. - ส.ค.
7.) ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเม.ย. 2565 หลังจากนั้น รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง
8.) กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มในช่วงตั้งแต่เดือนเม.ย.- มิ.ย. โดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป
9.) ลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่ายและผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป
10.) ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42-180 บาทต่อเดือน

หากแต่ว่าการกำหนดมาตรการเหล่านี้จากรัฐบาล ดูจะสร้างความกังขาต่อประชาชนทั่วไป ว่าแท้จริงแล้ว 10 มาตรการนี้ จะช่วยเหลือประชาชนจริงหรือไม่? โดย ‘โบว์ - ณัฏฐา มหัทธนา’ ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ไว้ว่า..

ทั้ง 10 มาตรการที่พูดถึงนั้น คือ มาตรการเดียว นั่นก็คือ ‘มาตรการลดค่าครองชีพ’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการลดภาระ แต่การลดภาระนั้น ต้องลดลงไปให้รู้สึกได้ว่าภาระนั้น มันถูกยกออกไปมากพอสมควรหรือเปล่า แต่ 10 ข้อที่ไล่มา หากแปลงออกมาเป็นเงินมันได้คนละกี่บาทต่อวัน

อย่างของแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ให้เขาเดือนละร้อย เดือนละร้อย 3 เดือน คือ ส่วนลดค่าแก๊ส หารออกมาต่อวันตกวันละ 3 บาท แม่ค้าได้รับการลดภาระค่าครองชีพตกวันละ 3 บาท คำถามคือ ‘เขาจะรู้สึกอะไรไหม?’ ได้รู้สึกว่า ‘ภาระลดลงไปบ้างไหม?’ ประเด็นของโบว์ก็คือ ‘มันคือการลดภาระ ที่ไม่รู้สึกถึงการลดภาระเลย’ 

กรณีค่าไฟก็เช่นกัน การที่ออกมาบอกว่า 300 หน่วย ลด Ft 22 สตางค์ ถามว่าพอแปลงออกมาเป็นเงินแล้วได้กี่บาท เพราะเทียบดูแค่คิดจากค่าแก๊สวันละ 3 บาท ก็รู้แล้ว เพราะฉะนั้นมันเป็นการลดภาระแบบไม่รู้สึก คนรับเขาไม่รู้สึกอะไรเลย เหมือนน้ำซึมบ่อทราย คือเทไปเท่าไหร่ก็ซึมหายหมดไม่รู้สึก

ประเด็น คือ การจะช่วยก็ช่วยไป แต่ถ้าลองถามแม่ค้า เขาอยากให้ลดค่าแก๊สวันละ 3 บาท หรืออยากให้มีลูกค้าเข้ากันแน่ คุณลดให้ค่าแก๊ส 3 บาท แต่มันไม่มีลูกค้าเข้าร้าน เพราะคนไม่มีเงินไปจับจ่าย มันก็จะไม่มีผลในการที่จะทำชีวิตดีขึ้นจริงๆ

กลับกันหากไปมองอย่างนโยบาย ‘คนละครึ่ง’ / ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ นโยบายพวกนี้ คือ นโยบายที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพียงแต่นโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจต้องมีที่ได้ผลมากกว่าเดิม เพราะตอนนี้สถานการณ์ไม่ได้มีแค่โควิด- 19 มันมีเรื่อง รัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกับน้ำมัน แล้วมันเลยยิ่งทำให้เศรษฐกิจแย่ลงไปอีก

"นายกฯ" ห่วง สถานการณ์ปุ๋ยขาดแคลน สั่ง ทุกหน่วยงาน เร่งบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร-ไม่ให้กระทบความมั่นคงด้านอาหารของไทย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยสถานการณ์ปุ๋ยขาดแคลน กำชับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดูแลปัญหาบรรเทาภาระของประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ สำรวจปริมาณปุ๋ยที่มีอยู่ในสต๊อก และการจัดหาปุ๋ยเพิ่มเติมให้เพียงพอแล้ว แต่ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ประกอบกับราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น จากหลายปัญหาในเวลาเดียวกันทั้งจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศโดยเฉพาะความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

นายธนกร กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ไทยยังไม่สามารถผลิตปุ๋ยเคมีที่เป็นอาหารพืช และปุ๋ยยูเรียได้เอง เพราะไม่มีวัตถุดิบ ต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ไม่ใช่ราคาปุ๋ยสูงเฉพาะในประเทศไทย จึงขอให้ประชาชนเข้าใจ 

นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ดำเนินโครงการปุ๋ยสั่งตัด ที่เหมาะกับสภาพดินและความต้องการของพืช อีกทั้งเร่งการผลิต ปุ๋ยหมักปุ๋ยอินทรีย์เสริมให้ประชาชนใช้ เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุน อีกทั้งได้มีมาตรการหลาย ๆ อย่าง เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านพลังงาน และมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนไปบ้างแล้ว ในส่วนของมาตรการปุ๋ยแพงนั้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประสานงานกับภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจนำเข้า เพื่อหาหนทางนำเข้าเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุด พร้อมกับออกแนวคิดช่วยเหลือประชาชนบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ เช่น ใช้มาตรการทางการเงิน ช่วยปล่อยเงินกู้พิเศษ เงินกู้ระยะยาว ดูแลเรื่องดอกเบี้ย 

“ชัยวุฒิ” ไม่ขอออกความเห็น หลังมีข่าวอนุทิน โดดร่มครม. แสดงจุดยืนโครงรถไฟฟ้าสายสีเขียว “ระบุ” หากต่อขยายผู้ประกอบการรายเดิมสะดวกประชาชน พร้อมลุยขอคำสั่งศาลเพื่อปิดกั้นเว็บไซต์ “มังกรฟ้า” วันนี้ ยัน ขายสลากออนไลน์ได้แต่ต้องขายของจริง

เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประขุม ครม.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวการนำ เรื่องการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ตนยังไม่ทราบในรายละเอียด ขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะพิจารณาอย่างไร ส่วนกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายศักดิ์สยามชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะไม่เข้าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้นั้น ตนไม่ทราบและไม่ขอออกความเห็น โดยขอดูที่ประชุมก่อนว่าจะว่าอย่างไร

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า เรื่องการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นสิ่งที่รัฐบาลในอดีตกับกรุงเทพฯดันร่วมกัน ในการสร้างส่วนต่อขยายจากระบบเดิม ไปยังจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดปทุมธานี เมื่อมีส่วนต่อขยายขึ้นมาก็ต้องหาคนมาเดินรถ เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่ต่อเนื่อง เพราะหากทำไม่ได้ประชาชนก็จะลำบาก เพราะไม่มีการให้บริการรถไฟฟ้า โดยเฉพาะหากไม่ให้ผู้บริการเจ้าเดิม คือ BTS ขยายการเดินรถออกไป รถก็จะต้องเปลี่ยนสีเปลี่ยนคัน เมื่อประชาชนใช้บริการมาถึงสุดโครงการเดิม ก็ต้องเปลี่ยนรถคันใหม่ ทำให้ไม่สะดวกสบายมีปัญหาในการจราจรอย่างแน่นอน จึงเป็นที่มา ว่าต้องมีการขยายโครงการ ให้ผู้เดินรถเจ้าเดิมได้เดินรถต่อ ขอให้เข้าใจบริบทด้วย ว่าไม่ใช่เรื่องที่มีปัญหาอะไรแต่เป็นการพยายามทำ เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนชาวกรุงเทพฯปทุมธานีและสมุทรปราการ

'รมต.ภท.' เข้าประชุมครม.ตามปกติ หลังช่วงเช้า ลือสะพัด โดดประชุม ไม่สังฆกรรมสายสีเขียว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในช่วงเช้าก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี มีกระแสข่าวว่า ในการประชุม ครม. ครั้งนี้ จะมีการนำวาระ สัญญา โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เข้าสู่การพิจารณา ในขณะที่รัฐมนตรีพรรคจะไม่เข้าร่วมประชุมเหมือนครั้งก่อน โดยจะใช้วิธีลาประชุม แต่ ปรากฏว่าก็ยังมีรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยทยอยเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีตามปกติเว้นแต่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลาที่ประชุมครม. เนื่องจากไปฉีดวัคซีนบูธตอร์เข็ม4 และมีอาการป่วยเล็กน้อย มาเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา และน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ยื่นใบลาป่วยต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ต่อมาเวลา 08.45 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวดังกล่าวว่า รมต.ของพรรคหลายคนก็มา ผู้สื่อข่าวถามว่าแต่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย จะไม่เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีในวันเดียวกันนี้ใช่หรือไม่ นาง กนกวรรณกล่าวว่า วันนี้ตนยังไม่ทราบ เมื่อถามย้ำว่าวันนี้มีวาระ รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าที่ประชุมครม. ใช่หรือไม่   นางกนกวรรณ กล่าวว่า ไม่ทราบ เมื่อถามย้ำว่า นายอนุทินได้แจ้งหรือไม่ว่าจะให้เข้าร่วมประชุมหรือไม่ นางกนกวรรณ กล่าวว่า เข้าประชุมปกติ พร้อมกับ ขอตัวเข้าห้องประชุมครม.ก่อน

“ศักดิ์สยาม” ยันจุดยืน ภท.เหมือนเดิม เผย วันนี้ ครม. ไม่มีพิจารณาต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยันจุดยืนเดิม ด้าน “อนุทิน” ไม่ร่วมประชุมครม. เพราะเมื่อวานไปฉีดวัคซีนเข็ม 4 

วันนี้ (29 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า วันนี้ไม่มีวาระการประชุมการต่อขยายสัมปทานรถไฟสายสีเขียว และไม่ทราบว่าจะมีการหยิบหยกเรื่องดังกล่าวมาหารือหรือไม่ เพราะในวาระไม่มี ส่วนจุดยืนตนยังเหมือนเดิม ทั้งนี้ แม้หากมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ตนก็จะไม่ลุกออกจากห้องประชุม  ส่วนที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้ารรคภูมิใจไทยไม่ได้เข้าร่วมประชุม ครม. วันนี้เนื่องจากวานนี้ (28มี.ค.) ได้ไปฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 มา ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเรื่อง ครม. จะพิจารณาการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวแต่อย่างใด

รัฐบาลเร่งดันการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าเป็นฮับ EV อาเซียน 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ติดตามบรรยากาศการจัดงานบางกอก อินเตอร์ เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2022 ครั้งที่ 43 (Motor Show 2022) หรือ งานมอเตอร์โชว์ ณ เมืองทองธานี พร้อมรับทราบความคืบหน้าการจัดแสดงอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในปี 2565 เริ่มกลับมาตั้งหลักและฟื้นตัวอีกครั้งจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่เริ่มคลี่คลาย ยืนยันภาครัฐเร่งพลิกฟื้นภาคเศรษฐกิจทั้งระบบ เล็งออกมาตรการส่งเสริมรอบด้านเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมรถ EV ในประเทศให้มากยิ่งขึ้น พร้อมชูจุดเด่นด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ทั้งนี้ รัฐบาลยังได้มองการขยายช่องทางสู่ตลาดยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงจะมีการประเมินสถานการณ์และนโยบายการสนับสนุนการใช้รถ EV ของประเทศเพื่อนบ้าน และมีแผนออกมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV ของภูมิภาคอาเซียนให้ได้ ขณะที่ก็มีเป้าหมายชัดเจนในการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งานรถ EV อย่างเป็นรูปธรรม 

โดยรัฐบาลตั้งเป้าภายใน 5 ปีจากนี้ จะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไม่น้อยกว่า 360,000 คัน โดยแบ่งเป็นใช้ในประเทศ 260,000 คัน และส่งออก 100,000 คัน นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ได้ตั้งเป้าให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท รวมกว่า 1.05 ล้านคันภายในปี 2568

 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top