Wednesday, 7 May 2025
RUSSIA

ทูตจีนย้อนเกล็ดสหรัฐ หนุนเอกราชไต้หวัน ลืมสัญญาปี 1978 แล้วหรือ ย้ำรบจีนยังไงก็ไม่ชนะ

(3 ม.ค. 68) จาง ฮานฮุย เอกอัครราชทูตจีนประจำรัสเซีย กล่าวผ่านสำนักข่าวสปุตนิกว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ควรหยุดใช้ 'ไต้หวัน' ในการสร้างวาทะกรรมที่ทำให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เกิดความไม่มั่นคง เพราเมื่อใดที่ไต้หวันเผชิญหน้ากับจีน ก็แพ้พลังของกองทัพจีนอยู่ดี

"การเล่นกับไฟจะทำให้เกิดการล้มเหลวในที่สุด ถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ ควรหยุดใช้ 'ไต้หวัน' ซึ่งเป็นสิ่งที่มีแนวโน้มจะพ่ายแพ้" จางกล่าวในบทความที่เขียนสำหรับสปุตนิก

นายจางยังกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ "มองข้ามข้อเท็จจริงและแทนที่ด้วยคำโกหก" โดยสหรัฐให้การสนับสนุนการแยกตัวของไต้หวันอย่างเปิดเผย

"สหรัฐฯ เคยให้คำมั่นอย่างชัดเจนในแถลงการณ์ร่วมระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เมื่อปี 1978 เกี่ยวกับการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และในคำแถลงร่วมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 1982 ว่าสหรัฐฯ 'ยอมรับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นตัวแทนของจีนทั้งหมด' และ 'เข้าใจจุดยืนของจีนที่มีเพียงจีนเดียวในโลกและไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน' ซึ่งเป็นหลักการที่ชัดเจนและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้"

จางยังกล่าวว่า วอชิงตันสนับสนุนความทะเยอทะยานของนายไล่ชิงเต๋อผู้นำไต้หวัน ในการแยกตัว "แม้จะมีความเสี่ยงที่จะทำลายความสงบและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับคำมั่นทางการเมืองของพวกเขา"

"สิ่งนี้ยิ่งยืนยันว่า สหรัฐฯ มีแผนการที่ซับซ้อนในการเล่น 'การ์ดไต้หวัน' และใช้ 'แรงกดดันสูงสุด' ด้วยการละเมิดหลักการจีนเดียวอย่างต่อเนื่อง โดยหวังผลจากการสร้างความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันและปกปิดเจตนาที่จะใช้ไต้หวันเป็นเครื่องมือในการยับยั้งจีน ซึ่งที่แท้จริงแล้วคือต้องการขัดขวางการพัฒนาของจีนและรักษาความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ที่กำลังเลือนหายไป เมื่อเผชิญกับพลังอันเป็นหนึ่งเดียวของชาวจีน 1.4 พันล้านคน พวกเขาจะต้องพ่ายแพ้" เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงมอสโกระบุ 

Leopard 2 สุดยอดรถถังของยุโรป กลายเป็นเศษเหล็ก หลังเผชิญหน้ารถถังรัสเซีย ในสมรภูมิยูเครน

(6 ม.ค. 68) สงครามระหว่างกับรัสเซีย-ยูเครนจะครบ 3 ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ปัจจัยที่ทำให้ยูเครนยังคงสามารถยืนหยัดต่อต้านกองกำลังของรัสเซียได้นั้น ส่วนใหญ่ที่สุดมาจากการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร NATO สมาชิกองค์การ NATO จำนวนมากมายมหาศาลตั้งแต่อาวุธเบาเช่นปืนเล็กยาว ปืนกล ขีปนาวุธนานาชนิด ปืนใหญ่ รถถัง รถหุ้มเกราะ สารพัดชนิด กระทั่งเครื่องบินขับไล่แบบ F-16 (จนอาวุธยุทโธปกรณ์ในคลังสำรองของประเทศเหล่านั้นแทบจะหมดเกลี้ยง) อีกทั้งรัสเซียเองก็ไม่ได้ทุ่มสรรพกำลังเต็มที่ในการทำสงครามครั้งนี้ ด้วยยังคงกองกำลังส่วนใหญ่ไว้ในประเทศเพื่อป้องกันประเทศจากการรุกรานของชาติต่าง ๆ ที่เป็นปรปักษ์ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้

รถถังหลัก (Main battle tank : MBT) แบบ Leopard 2 ก็เช่นเดียวกัน รถถังรุ่นนี้ถือเป็นรถถังหลักที่ล้ำหน้าที่สุดรุ่นหนึ่งของโลก ด้วยเชื่อว่า รถถังหลักแบบ Leopard 2 จะเป็นรถถังหลักที่จะช่วยยูเครนเปลี่ยนรูปโฉมของสงครามกับรัสเซียได้ ดังนั้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2022 รัฐบาลยูเครนได้ร้องขอให้ชาติพันธมิตรได้ให้การสนับสนุนด้วยการส่งมอบรถถังหลักแบบต่าง ๆ ที่ผลิตในประเทศตะวันตก ซึ่ง โปแลนด์ ฟินแลนด์ และประเทศอื่น ๆ ต่างประกาศความตั้งใจที่จะสนับสนุนรถถังหลักแบบ Leopard 2 จากคลังสำรองของประเทศเหล่านั้นในเบื้องต้นประมาณ 100 คันให้กับยูเครน อย่างไรก็ตาม เมื่อเยอรมนีส่งออกรถถังไปยังประเทศเหล่านี้ เยอรมนีได้กำหนดให้การส่งออกซ้ำต้องมีเงื่อนไขได้รับอนุญาตจากรัฐบาลเยอรมนีก่อน จึงเกิดเป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อรัฐบาลเยอรมนีพยายามบ่ายเบี่ยงการอนุญาตดังกล่าว อีกทั้งยังเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาให้คำมั่นในการจัดหารถถัง M1 Abrams ก่อนที่จะส่งรถถังหลักแบบ Leopard 2 ที่ผลิตในเยอรมนีไปยังยูเครน

หลังจากที่ประธานาธิบดี Joe Biden ของสหรัฐฯ ตัดสินใจส่งมอบรถถังหลักแบบ M1 Abrams ให้กับยูเครน เนื่องจากเยอรมนียืนกรานที่จะดำเนินการร่วมกับพันธมิตร NATO ซึ่งการตัดสินใจส่งมอบรถถังหลักแบบ M1 Abrams ให้กับยูเครนของประธานาธิบดี Biden ก่อนหน้านี้เคยถูกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ คัดค้านมาแล้ว ปัจจุบัน ยูเครนได้รับมอบรถถังหลักแบบ Leopard 2 รุ่นต่าง ๆ จากชาติพันธมิตร NATO อาทิ เยอรมนี โปแลนด์ นอร์เวย์ แคนาดา สเปน โปรตุเกส กรีซ สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ รวมแล้วกว่า 200 คัน ซึ่งจาการสู้รบที่ผ่านมา Oryx เว็บไซต์ข่าวด้านความมั่นคงของเนเธอร์แลนด์ระบุว่า จากการยืนยันด้วยภาพ รถถังหลักแบบ Leopard 2 ของยูเครนถูกกองกำลังรัสเซียทำลายไปแล้วกว่า 40 คัน เป็น Leopard 2 รุ่น 2A4 จำนวน 21 คัน, 2A6 จำนวน 13 คัน และ Strv 122 จำนวน 7 คัน (Leopard 2 รุ่น 2A5 ของสวีเดน) หรือราว 20% จากที่มีอยู่ และอีกหลายคันทั้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และเศษซากจากการทำลายโดยกองกำลังรัสเซีย ถูกยึดและส่งไปยังสหพันธรัฐรัสเซีย

รถถังหลักแบบ Leopard 2 ทั้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และเศษซากจากการทำลายถูกนำไปตั้งแสดงในอนุสรณ์สถาน Patriot Park และ Leopard 2 ที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์คันหนึ่งได้ถูกส่งไปยังโรงงาน UVZ (UralVagonZavod : โรงงานผลิตยานยนต์แห่งเทือกเขาอูรัล) ในเมือง Nizhny Tagil ซึ่งเป็นโรงงานที่มีหน่วยงานวิจัย พัฒนา และผลิตอุปกรณ์ทางการทหาร รวมถึงรถถังหลักและรถบรรทุกรถถังบนรางรถไฟ เพื่อทำการถอดชิ้นส่วนเพื่อทำการศึกษาวิจัยต่อไป นอกจากนั้นแล้ว โรงงาน UVZ เป็นโรงงานรถยนต์ รถบรรทุก เพื่อการเกษตร ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องมือ และสินค้าอุปโภคบริโภค โดยการผลิตรถถังหลักแบบ T-90 คิดเป็น 18-20% ของการผลิตทั้งหมดของบริษัท 

ในปี 2008 โรงงาน UVZ ผลิตรถถังประมาณ 175 คัน รวมถึง T-90A 62 คันสำหรับกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย และ T-90S 60 คันสำหรับกองทัพบกอินเดีย ซึ่งถือเป็นระดับการผลิตรถถังสูงสุดของโรงงาน UVZ และในรัสเซียโดยรวม ตามรายงานของ Moscow Defense Brief ระบุว่า ในปี 2008 จำนวนรถถังที่บริษัทผลิตได้มากกว่าจำนวนรถถังหลักที่ผลิตโดยประเทศอื่น ๆ ทั่วทั้งโลกรวมกัน และตั้งแต่เดือนธันวาคม 2016 โรงงาน UVZ ได้ถูกโอนไปอยู่ภายใต้ Rostec ซึ่งเป็นวิสาหกิจที่มีลักษณะเป็นบริษัท Holding ของรัฐบาลรัสเซียตามคำสั่งของประธานาธิบดี ในปี 2020 บริษัทรายได้มากถึง 28 พันล้านรูเบิล ในปี 2022 โรงงาน UVZ ถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้มาตรการการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ชาติพันธมิตร และสหภาพยุโรป อันเป็นผลมาจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

รถถังหลักแบบ Leopard 2 ที่มีใช้ในประเทศใกล้บ้านเราได้แก่ สิงคโปร์ (247 คัน) และอินโดนีเซีย (113 คัน) นอกจากรถถังหลักแบบ Leopard 2 แล้ว อาวุธยุทโธปกรณ์ของยูเครนที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร NATO ทั้งรถถังหลัก (รวมทั้งรถถังหลักแบบ M 1 Abrams ของสหรัฐฯ) รถหุ้มเกราะ นานาชนิด ถูกกองทัพรัสเซียทำลายและยึดเอาไว้เป็นจำนวนมาก โดยรูปแบบของการรบในสงครามครั้งนี้เปลี่ยนโฉมไปมาก เมื่อทั้งสองฝ่ายนำโดรนโจมตี (Attack/Killer drone) เข้ามาปฏิบัติการ ดังนั้นนอกจากจาก เครื่องยิงจรวดต่อสู้รถถัง ทุ่นระเบิดดักรถถัง และปืนใหญ่รถถังด้วยกันเองแล้ว กำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากของทั้งสองฝ่ายได้ถูกทำลายโดยโดรนโจมตี ดังนั้นสงครามต่อไปในอนาคตโดรนจะมีบทบาทที่สำคัญในการรบทั้ง การลาดระเวน ตรวจการณ์ ชี้เป้า และโจมตี ฯลฯ 

รัสเซียซัดทรัมป์เล็งฮุบกรีนแลนด์ แต่ยังมองเป็นแค่ 'วาทกรรม' ไร้จริงจัง

(10 ม.ค.68) นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน เผยว่ารัสเซียกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ แสดงความสนใจในเขตปกครองตนเองกรีนแลนด์ของเดนมาร์ก โดยระบุว่าเรื่องนี้ยังคงอยู่ในระดับวาทกรรม แต่รัสเซียย้ำความมุ่งมั่นในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่ พร้อมเรียกร้องให้รับฟังเสียงของชาวกรีนแลนด์  

เปสคอฟยังกล่าวว่า รัสเซียมีบทบาทในภูมิภาคอาร์กติกมาอย่างยาวนาน และยืนยันว่าจะยังคงอยู่ต่อไป  

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีเมตเต เฟรเดอริกเซน ผู้นำเดนมาร์ก ได้เรียกประชุมแกนนำพรรคการเมืองและสมาชิกรัฐสภาจากกรีนแลนด์ เพื่อหารือเกี่ยวกับท่าทีของทรัมป์ แม้มีรายงานการติดต่อไปยังทรัมป์ แต่รัฐบาลเดนมาร์กยืนยันว่าไม่มีการสนทนาโดยตรงระหว่างเฟรเดอริกเซนกับว่าที่ผู้นำสหรัฐ  

ทั้งนี้ สหรัฐมีฐานทัพถาวรในกรีนแลนด์ตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น และทรัมป์เคยแสดงความต้องการครอบครองกรีนแลนด์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2562 แต่ก็ถูกปฏิเสธโดยรัฐบาลเดนมาร์กอย่างชัดเจน

รัสเซียเผยทหารเชลยยูเครน ติดพนันออนไลน์ แถมดื่มสุราอย่างหนัก ผลพวงเพราะเครียดสงคราม

(16 ม.ค.68) เจ้าหน้าที่ความมั่นคงทางชายแดนรัสเซียเผยกับสำนักข่าวสปุตนิกว่า ช่วงคืนวันคริสต์มาสออร์โธดอกซ์ บริเวณชายแดนกับเขตเบลโกโรดในทิศทางของเมืองคาร์คิฟ (Kharkov) มีกลุ่มทหารฝ่ายยูเครนเข้ายอมจำนนกับทางฝ่ายรัสเซีย ซึ่งต่อมาได้ให้การกับทางเจ้าหน้าที่รัสเซียถึงสภาพความเป็นอยู่ในช่วงสงคราม 

โดยระบุว่า ด้วยความตึงเครียดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อ ทำให้ทหารยูเครนจำนวนมากติดเล่นพนันออนไลน์กันอย่างแพร่หลาย ถึงขนาดที่แม้แต่ผู้บังคับบัญชาหน่วยยังมีส่วนร่วมในเรื่องดังกล่าว

ยูโรสลาฟ เชเวลยุค หนึ่งในทหารยูเครนที่ยอมจำนนมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่รัสเซียเผยว่า ทหารยูเครนบางรายถึงกับขโมยเงินของทหารด้วยกันเองเพื่อไปซื้อสุราและเล่นพนันออนไลน์เพื่อแก้เครียด โดยหนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ถูกระบุว่าติดพนันออนไลน์คือ อดีตผู้บัญชาการหน่วยของเขา ร.ต. ซาบิยากา

"เขายืมเงินจากคนในหน่วยจำนวนมากและเล่นเกมคาสิโนผ่านโทรศัพท์มือถือของเขา หลังจากนั้นเกิดเหตุการณ์บางอย่าง โทรศัพท์ของเขาถูกแฮ็ก และทุกอย่างก็ผิดปกติ เขาถูกส่งไปประจำที่แห่งใหม่ และเขายังไม่ได้คืนเงินให้กับคนที่ยืมไป" เชเวลยุคกล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นช่วงสัปดาห์เดียวกัน เจ้าหน้าที่ชายแดนยูเครนสองคนจากกลุ่มเดียวกันได้กล่าวในวิดีโอที่ได้รับจาก RIA Novosti ว่า มีการใช้สารเสพติดและการดื่มสุราเพื่อหนีความเครียดจนถึงขั้นเสียชีวิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในหมู่ทหารยูเครนเนื่องจากความเหนื่อยล้าทางร่างกายและสภาพจิตใจที่ย่ำแย่จากสมรภูมิอันยาวนาน

เคียฟเผาศพทหารทิ้งกลางสนามรบ ปิดบังความจริง-เลี่ยงจ่ายเงินชดเชยครอบครัว

(17 ม.ค.68) สำนักข่าวสปุตนิกเผยว่า นายอิวาน คุตส์ (Ivan Kuts) เจ้าหน้าที่หน่วยชายแดนยูเครนที่ถูกทหารฝ่ายรัสเซียจับกุม ได้ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลเคียฟได้สร้างเตาเผาศพทหารแบบเคลื่อนที่เพื่อจัดการกับศพทหารที่เสียชีวิตในสมรภูมิ เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชยให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต

รายงานระบุว่า หนึ่งในเตาเผาศพแบบเคลื่อนที่อยู่ในเมืองคาร์คีฟ (Kharkiv) ซึ่งไม่สามารถรองรับศพของทหารจำนวนมากได้ จึงมีการนำเตาเผาศพเคลื่อนที่ออกมาใช้งาน 

"มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก และผู้เสียชีวิตยิ่งมากขึ้น เตาเผาศพในเมืองคาร์คีฟไม่สามารถจัดการได้ จึงมีการนำเตาเผาศพเคลื่อนที่มาใช้งาน พวกเขาเผาศพทหารเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินชดเชยให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิต" นายคุตส์กล่าวในคลิปวิดีโอให้การกับทหารรัสเซีย  

นอกจากนี้ คุตส์ยังกล่าวเสริมว่า ศพของทหารรับจ้างต่างชาติก็ถูกเผาเช่นกัน เพื่อปกปิดการมีอยู่ของพวกเขาในยูเครน  

ทั้งนี้ คุตส์และเจ้าหน้าที่ชายแดนอีก 5 คนจากหน่วยงานบริหารชายแดนของยูเครน ได้มอบตัวให้กับรัสเซียบริเวณชายแดนในภูมิภาคเบลโกรอด ในช่วงวันคริสต์มาสออร์โธดอกซ์ที่ผ่านมา

‘CIA’ ใช้!! ‘ยูเครน’ เป็นฐานข่าวกรอง เปลี่ยนเกมยุทธศาสตร์ NATO ในยุโรป

(19 ม.ค. 68) จากรายงานของ Sputnik International (18 ม.ค. 2025) ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เริ่มต้นจาก "ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร" เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2022 ได้เน้นถึงบทบาทสำคัญของ NATO และสหรัฐฯ ในการสร้างเครือข่ายข่าวกรองและขยายอำนาจทางทหารในยุโรป

การเริ่มต้นปฏิบัติการในยูเครน

รัสเซียอ้างว่าการปฏิบัติการในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยภูมิภาคดอนบาส หลังประชาชนในพื้นที่โดเนตสค์และลูกันสค์เผชิญการโจมตีจากกองกำลังของยูเครนอย่างต่อเนื่อง โดยความขัดแย้งนี้มีรากฐานมาจากเหตุการณ์รัฐประหาร Euromaidan ในปี 2014 ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลยูเครนมีแนวโน้มสนับสนุนตะวันตกอย่างชัดเจน

ความร่วมมือระหว่าง CIA และยูเครน

หลังรัฐประหารในปี 2014 หน่วยข่าวกรองของยูเครนกลายเป็นพันธมิตรสำคัญของ CIA รายงานเผยว่ามีการส่งมอบเอกสารลับของรัสเซียให้กับ CIA อย่างต่อเนื่อง รวมถึงข้อมูลอาวุธลับ เทคโนโลยีสงครามอิเล็กทรอนิกส์ และแผนการตัดสินใจทางการทหาร

CIA ได้สร้างฐานปฏิบัติการลับ 12 แห่งใกล้ชายแดนรัสเซีย และจัดตั้งโครงการฝึกอบรมหน่วยพิเศษยูเครนในชื่อ ‘Operation Goldfish’ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการต่อต้านรัสเซีย

อดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เปิดเผยว่าข้อมูลเหล่านี้มีมูลค่าสูงถึง "หลายร้อยล้านดอลลาร์" โดยมีความสำคัญต่อการพัฒนายุทธวิธีของ NATO

การติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ B61-12 ในยุโรป

สหรัฐฯ ได้เริ่มติดตั้งระเบิดนิวเคลียร์รุ่น B61-12 ซึ่งเป็นรุ่นปรับปรุงล่าสุดในฐานทัพยุโรป โดยได้รับการอนุมัติให้ใช้งานภายใต้โครงการ "การแบ่งปันนิวเคลียร์" ของ NATO ระเบิดรุ่นนี้สามารถปรับพิสัยการทำลายล้างได้ตั้งแต่ 0.3-50 กิโลตัน

Jill Hruby หัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงนิวเคลียร์แห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่าการติดตั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณไปยังรัสเซียว่า NATO พร้อมรับมือทุกภัยคุกคาม

ความคิดเห็นนักวิเคราะห์

Michael Maloof อดีตนักวิเคราะห์กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ วิจารณ์ว่า NATO กำลังเปลี่ยนจากพันธมิตรป้องกันตัวเป็นองค์กรเชิงรุก และการติดตั้งอาวุธนี้ทำให้ยุโรปมีความเสี่ยงต่อความขัดแย้งทางนิวเคลียร์มากขึ้น

Maloof ระบุว่าการเคลื่อนไหวของ NATO อาจกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งที่ยากต่อการควบคุม โดยยุโรปอาจกลายเป็นเป้าหมายสำคัญหากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและตะวันตกเพิ่มสูงขึ้น

บทสรุป

รายงานจาก Sputnik International ชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นมากกว่าการต่อสู้ในพื้นที่ แต่ยังเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ระดับโลกของ NATO และสหรัฐฯ ที่อาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงในระยะยาว

นักวิชาการไทยชี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนไร้ทางจบเร็ว แฉลึก ‘ธุรกิจอาวุธ’ สหรัฐฯ ฟันกำไรจากวิกฤติ

(23 ม.ค.68) ภายหลังที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนกลับขึ้นมาดำรงตำแหน่งในฐานะผู้นำสหรัฐสมัยที่สองอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าทรัมป์อาจผลักดันให้ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซียสิ้นสุดเร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จากความเห็นของ ผศ.ดร.กฤษฎา พรหมเวค จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว TASS ของรัสเซีย เชื่อว่าความขัดแย้งในยูเครนไม่น่าจะคลี่คลายอย่างรวดเร็วภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่  

ผศ.ดร.กฤษฎา ในฐานะ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า

“ภายใต้การบริหารงานของโดนัลด์ ทรัมป์ ผมไม่เชื่อว่าความขัดแย้งนี้จะคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว เรายังไม่เห็นแผนที่ชัดเจนในการยุติสงครามจากเขาหรือทีมงานของเขา การแก้ไขความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ เงื่อนไขที่ทั้งยูเครนและรัสเซียยอมรับได้” 

เขาเสริมว่า “อย่างไรก็ตาม เราสามารถเห็นได้ว่าจุดยืนปัจจุบันของทั้งสองฝ่ายยังไม่สอดคล้องกัน ซึ่งทำให้การเจรจาเป็นไปได้ยาก”  

กฤษฎา ยังมองว่า กลุ่มอำนาจรัฐพันลึกในสหรัฐฯ (Deep State) อาจไม่อนุญาตให้โดนัลด์ ทรัมป์ ยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ “ปัจจุบัน เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการเมืองภายในและนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ถูกกำหนดและควบคุมโดยกลุ่มอำนาจรัฐพันลึก โดยเฉพาะบริษัทอาวุธที่มองว่าสงครามเป็นผลประโยชน์ของพวกเขา โดยเฉพาะในด้านการค้าอาวุธ”  

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงยังให้ความเห็นอีกว่า มีแนวโน้มที่บางประเทศยุโรปที่  'เริ่มถอนการสนับสนุนจากยูเครน' โดยเขากล่าวว่า “วาทกรรมที่มุ่งต่อต้านรัสเซีย (Russophobia) ของประเทศในยุโรปทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถยอมรับได้ว่ารัสเซียจะเป็นฝ่ายชนะในสงครามรัสเซีย-ยูเครน เรามักได้ยินการโฆษณาชวนเชื่อจากสื่อชาติตะวันตกว่า รัสเซียจะไม่หยุดที่ยูเครน แต่จะบุกประเทศอื่นต่อไป วาทกรรมนี้ทำให้ประเทศตะวันตกยังคงสนับสนุนยูเครนอย่างต่อเนื่อง”  

ตามรายงานของ Wall Street Journal ทรัมป์ได้มอบหมายให้ คีธ เคลล็อก ผู้แทนพิเศษด้านยูเครนของเขาเป็นผู้รับผิดชอบในการยุติความขัดแย้งในยูเครนภายใน 100 วัน อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า “การเจรจากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย อาจเป็นเรื่องยากกว่าที่ทรัมป์สัญญาไว้ระหว่างการหาเสียง โดยเขาเคยกล่าวว่าจะยุติความขัดแย้งนี้ก่อนเข้ารับตำแหน่ง” ขณะที่คีธ เคลล็อก กล่าวว่าเขาต้องการทำตามเป้าหมายภายใน 100 วัน  

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ไม่นานหลังเสร็จสิ้นพิธีสาบานตน ทรัมป์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าสหรัฐฯ อาจหยุดการส่งอาวุธให้ยูเครน และย้ำถึงความพร้อมที่จะพบกับปูติน อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังระบุด้วยว่าสหรัฐฯ อาจเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย หากรัสเซียปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพ  

ด้านปูตินกล่าวก่อนหน้านี้ว่า รัสเซียพร้อมที่จะเจรจาเกี่ยวกับความขัดแย้งในยูเครนกับรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของวิกฤติ พร้อมยืนยันว่ารัสเซียกำลังจับตาถ้อยแถลงของทรัมป์และทีมงานที่แสดงถึงความต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ และการทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันสงครามโลกครั้งที่ 3

ชาติตะวันตกส่งทหารล็อตใหญ่ 50,000 นาย ช่วยรับมือสู้ศึกรัสเซีย ปูทางสู่การยุติสงคราม

(23 ม.ค.68) เว็บไซต์สปุตนิกรายงานว่า รัฐบาลยูเครนเชื่อว่าบรรดาชาติพันธมิตรตะวันตกอาจส่งทหารอีกจำนวน 50,000 นาย มายังยูเครนเพื่อช่วยรับมือศึกรัสเซีย อันเป็นส่วนหนึ่งของการยุติความขัดแย้งระหว่างสองชาติ

ตามรายงานของไฟแนนเชียลไทมส์ ที่อ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลเคียฟระบุว่า 
ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ได้กล่าวเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรตะวันตกส่งทหารไปยูเครนเพื่อรักษาความปลอดภัยหากมีข้อตกลงสันติภาพกับรัสเซีย ในขณะเดียวกัน เขากล่าวว่า ทหารต่างชาติจะไม่ได้ถูกส่งไปยังเคียฟตามที่บางประเทศในยุโรปต้องการ พร้อมเสริมว่า ยูเครนต้องการกองทัพขนาดหนึ่งล้านนายซึ่งต้องรักษาไว้

รายงานจากไฟแนนเชียลไทมส์ อ้างอิงแหล่งข่าวที่มีส่วนร่วมในการหารือระหว่างเคียฟและพันธมิตรตะวันตก ว่า เจ้าหน้าที่ของยูเครนเชื่อว่า ตะวันตกอาจส่งทหารระหว่าง 40,000 ถึง 50,000 นายเพื่อรักษาความปลอดภัยบนแนวรบยาว 1,000 กิโลเมตร (621.4 ไมล์) 

อย่างไรก็ตามมีการประเมินว่า กำลังทหารประมาณ 40,000 นายอาจไม่เพียงพอที่จะสร้างความแข็งแกร่งจนไม่ตกเป็นเป้าโจมตีของรัสเซีย และอาจไม่มีขนาดใหญ่พอที่จะไม่ต้องการกำลังเสริม หากว่าต้องเผชิญหน้ากับรัสเซีย ซึ่งทหารจำนวน 50,000 นายนี้จะต้องไม่ถูกมองว่าเป็นการผูกมัดลับของนาโต้ด้วย

ด้าน Camille Grand อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาโต้ เสริมว่า กองทัพนี้น่าจะเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มชั่วคราวที่นำโดยสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ พร้อมด้วยการเข้าร่วมจากประเทศในแถบบอลติกและนอร์ดิก

อย่างไรก็ตาม โฆษกเครมลิน ดมิทรี เพสคอฟ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การหยุดความขัดแย้งในยูเครนไม่สามารถยอมรับได้สำหรับรัสเซีย ในเดือนธันวาคม 2024 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินกล่าวว่า รัสเซียไม่ต้องการแค่การหยุดยิง แต่ต้องการสันติภาพที่ยั่งยืนโดยมีการรับประกันความปลอดภัยที่เชื่อถือได้สำหรับประเทศและประชาชนของตน

โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวถึงประเด็นให้การสนับสนุนยูเครนเพื่อสู้ศึกรัสเซีย

เมื่อวันที่ (3 ก.พ. 68) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่า เขายังคงต้องการบรรลุข้อตกลงกับยูเครนในการสนับสนุนสู้ศึกรัสเซียแต่ต้องเป็นภายใต้เงื่อนไขที่ยูเครน ต้องอนุมัติการเข้าถึงแร่หายาก  (Rare Earth) ภายในประเทศ

ขณะผู้คุยกับผู้สื่อข่าวในห้องทำงานรูปไข่ ทรัมป์กล่าวว่า ที่ผ่านมาสหรัฐส่งความช่วยเหลือยู่เครนทางด้านการททหารและเศรษฐกิจมากกว่าประเทศพันธมิตรใดๆ ในยุโรป พร้อมเสริมว่า “เรากำลังมองหาข้อตกลงที่ยูเครนจะจัดหาแร่ธาตุหายากและทรัพยากรอื่น ๆ ให้แก่เรา”  

เขายังเผยว่า ทางการยูเครนแสดงความพร้อมที่จะทำข้อตกลงเพื่อให้สหรัฐฯ สามารถเข้าถึงแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง  

“ผมต้องการให้แน่ใจว่าเรามีแร่ธาตุหายากอย่างเพียงพอ เรามีงบประมาณหลายแสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ยูเครนมีทรัพยากรเหล่านี้ในปริมาณมาก และพวกเขายินดีที่จะร่วมมือกับเรา” ทรัมป์กล่าว  

แม้ก่อนหน้านี้เขาเคยให้คำมั่นว่าจะเร่งยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่ทรัมป์ระบุว่าการเจรจากำลังดำเนินไป โดยกล่าวว่า “เรามีความคืบหน้าอย่างมากในเรื่องรัสเซียและยูเครน รอดูกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะยุติสงครามที่ไร้เหตุผลนี้ให้ได้”  

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ย้ำเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ว่า การเจรจาใด ๆ ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียที่ไม่มียูเครนอยู่ในวงหารือถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้  

“พวกเขาอาจมีความสัมพันธ์ในแบบของตนเอง แต่หากจะพูดถึงยูเครนโดยไม่มีเรา นั่นเป็นอันตรายสำหรับทุกฝ่าย” เซเลนสกีกล่าว  

ทั้งนี้ เขาระบุว่าทีมงานของเขาได้มีการติดต่อกับรัฐบาลทรัมป์แล้ว แต่เป็นเพียงการหารือในระดับเบื้องต้น และคาดว่าจะมีการพบปะกันโดยตรงในเร็ว ๆ นี้เพื่อกำหนดรายละเอียดของข้อตกลงต่อไป

โสมใต้เผยคิมสั่งถอนทหารพ้นแนวหน้ายูเครน หลังสูญเสียหนัก ดับ-เจ็บนับพัน

(5 ก.พ. 68) หน่วยข่าวกรองเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ทหารเกาหลีเหนือได้ถอนตัวออกจากแนวหน้าการสู้รบในภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซียเรียบร้อยแล้ว หลังจากปฏิบัติภารกิจสนับสนุนกองทัพรัสเซียเพื่อสู้ศึกยูเครนมาหลายเดือน

สำนักข่าวกรองแห่งชาติเกาหลีใต้ (NIS) รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ากองกำลังเกาหลีเหนือยังคงมีบทบาทในพื้นที่สู้รบทางตะวันตกของรัสเซีย หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อาจนำไปสู่การถอนกำลังคือการสูญเสียทหารจำนวนมากจากการปะทะกับยูเครน

ก่อนหน้านี้ ในช่วงต้นเดือนมกราคม NIS ได้แจ้งต่อรัฐสภาเกาหลีใต้ว่า มีรายงานการเสียชีวิตของทหารเกาหลีเหนือประมาณ 300 นาย และบาดเจ็บอีกกว่า 2,700 นายจากการสู้รบในภูมิภาคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับชะตากรรมของทหารที่ได้รับบาดเจ็บว่าพวกเขาได้รับการรักษาหรือถูกส่งตัวไปยังพื้นที่ปลอดภัยอื่น

หน่วยข่าวกรองของเกาหลีใต้กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงของการถอนกำลังครั้งนี้ โดยข้อมูลล่าสุดสอดคล้องกับรายงานจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพยูเครน ซึ่งระบุว่า ไม่พบความเคลื่อนไหวทางทหารของกองทัพเกาหลีเหนือในภูมิภาคเคิร์สก์ตลอดช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวด้านความมั่นคงจากชาติตะวันตกเปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือนของการเข้าร่วมปฏิบัติการรบในรัสเซีย เกาหลีเหนือสูญเสียทหารไปแล้วราว 4,000 นาย จากกำลังพลที่ถูกส่งไปทั้งหมดประมาณ 11,000 นาย ซึ่งการสูญเสียนี้รวมถึงทหารที่เสียชีวิต บาดเจ็บ สูญหาย และถูกจับเป็นเชลยศึก โดยมีการประเมินว่า ทหารที่เสียชีวิตมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 นายจนถึงกลางเดือนมกราคม

ในอีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครนให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษ โดยกล่าวว่าหากยูเครนไม่สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ได้ ประเทศพันธมิตรตะวันตกควรจัดหาแนวทางรับประกันความมั่นคงของยูเครนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ ระบบขีปนาวุธ งบประมาณด้านการทหาร หรือแม้แต่การส่งกำลังทหารเข้ามาช่วยดูแลพื้นที่

นอกจากนี้ ผู้นำยูเครนยังยืนยันว่าพร้อมเปิดการเจรจากับรัสเซีย หากการพูดคุยสามารถนำไปสู่การยุติสงครามและลดการสูญเสียชีวิตของประชาชน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top