Wednesday, 7 May 2025
RUSSIA

โดรนอิหร่าน บอลลูนจีน มิสไซล์รัสเซีย ย้อนคำอ้างที่ไร้มูลความจริงของสหรัฐฯ

(16 ธ.ค. 67) เมื่อไม่กี่วันก่อนสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน เจฟเฟอร์สัน แวน ดรูว์ ได้กล่าวในตอนหนึ่งของรายการทางช่อง Fox News ว่าพบโดรนต้องสงสัยบินเหนือน่านฟ้ารัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งคาดว่าโดรนดังกล่าวถูกส่งมาจากเรือแม่ของอิหร่านที่ลักลอบสอดแนมนอกชายฝั่งสหรัฐ โดยนายแวน ดรูว์ ได้อ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อถึงกิจกรรมสอดแนมดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ อเลฮานโดร มายอร์คัส เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า ไม่พบหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่ามีกิจกรรมโดรนสอดแนมจากต่างชาติบนแผ่นดินสหรัฐฯ ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐออกมาให้ข่าวสร้างความหวาดกลัวที่ไร้มูลควาจริงต่อสาธารณะ

จากการตรวจสอบของสำนักข่าวสปุตนิกพบว่า เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่าน ก็มีรายงานจากคำอ้างของวุฒิสมาชิกริค สก็อตต์ ที่ส่งถึงรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ โดยว่า กระเทียมที่นำเข้าจากจีนอาจปลูกในสภาพที่ไม่สะอาดและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในสหรัฐ อาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ จึงสมควรมีการสอบสวน แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์สหรัฐไม่ได้มีการสั่งระงับการนำเข้ากระเทียมจากจีนแต่อย่างใด

ก่อนหน้านั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 มีประเด็นเรื่อง บอลลูนอากาศจากจีนหลุดเข้ามาในอากาศเขตสหรัฐฯ โดยขณะนั้นรัฐบาลไบเดนออกมากล่าวโทษว่า บอลลูนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสอดแนมรัฐบาลปักกิ่ง แต่ในภายหลังจากนั้น กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ยอมรับว่า บอลลูนดังกล่าวไม่ได้ทำการเก็บข้อมูลข่าวกรองใดๆ ขณะบินอยู่ในเขตอเมริกา  และก็ยังไม่ทราบถึงที่มาว่าบอลลูนดังกล่าวถูกส่งมาจากที่ใด

อีกหนึ่งภัยคุกคามที่สปุตนิกพบว่ารัฐบาลสหรัฐมักกล่าวอ้างคือ นิวเคลียร์จากอวกา โดยในดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สื่อของสหรัฐฯ ได้ออกมาส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับแผนการที่อ้างว่า รัสเซียมีแผนที่จะนำอาวุธต่อต้านดาวเทียมที่มีพลังนิวเคลียร์ไปใช้ในอวกาศ โดยอ้างหลักฐานเดียวคือคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลไบเดน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหน่วยงานด้านอวกาศแห่งอื่นใดออกมาให้ข้อมูลดังกล่าว ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวในระหว่างการกล่าวปราศรัยในรัฐสภา โดยระบุว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง 

สังหาร 'พลโท อิกอร์ คิริลอฟ' หัวหน้าฝ่ายนิวเคลียร์ เผยคนร้ายขี่สกู๊ตเตอร์ซุกระเบิดจอดหน้าบ้าน สงสัยเอี่ยวยูเครน

(17 ธ.ค. 67) คณะกรรมการสอบสวนของรัสเซียเปิดเผยว่า เกิดเหตุระเบิดรุนแรงจากอุปกรณ์แสวงเครื่องซุกซ่อนในสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า บริเวณถนน Ryazansky Prospekt ในกรุงมอสโก ส่งผลให้ พลโท อิกอร์ คิริลลอฟ ผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันนิวเคลียร์ ชีวภาพ และเคมีของกองทัพรัสเซีย พร้อมผู้ช่วยเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ

คณะกรรมการสอบสวนของรัสเซียระบุว่า ได้เปิดสอบสวนทางอาญาเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้อย่างเป็นทางการแล้ว โดยเจ้าหน้าที่สืบสวน นักนิติวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดกำลังปฏิบัติงานในจุดเกิดเหตุอย่างเร่งด่วน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและค้นหาผู้ก่อเหตุ

หน่วยฉุกเฉินของรัสเซียเปิดเผยว่า พลังระเบิดของอุปกรณ์มีความแรงเทียบเท่า TNT ประมาณ 200 กรัม ซึ่งส่งผลให้กระจกของอาคารใกล้เคียงแตกเสียหาย ขณะเดียวกัน กองกำลังความมั่นคงกำลังตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดในพื้นที่เพื่อหาข้อมูลเบาะแสเพิ่มเติม

หนึ่งวันก่อนหน้าเกิดเหตุ หน่วยความมั่นคงยูเครน (SBU) ได้ตั้งข้อหากับพลโทคิริลลอฟ โดยกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธเคมีต้องห้ามจำนวนมากในแนวหน้า  ขณะที่ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ดำเนินมาตรการตอบโต้ เนื่องจากคิริลลอฟมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลการใช้อาวุธเคมีในยูเครน

ด้านนาง มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ระบุว่าพลโทคิริลลอฟเป็นผู้ที่กล้าหาญในการเปิดโปงอาชญากรรมและยั่วยุของกลุ่มนาโต้อย่างต่อเนื่อง ด้านคอนสแตนติน โคซาเชฟ รองประธานสภาสูงของรัสเซีย กล่าวไว้อาลัยว่า “นี่คือการสูญเสียที่ไม่อาจทดแทนได้ ฆาตกรต้องถูกลงโทษอย่างไร้ความปรานี”

สมาชิกรัฐสภารัสเซีย อเล็กซี จูราฟเลฟ กล่าวกับสำนักข่าวสปุตนิกว่า หน่วยข่าวกรองยูเครนอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ โดยอ้างว่ายูเครนอาจพยายามสร้างผลกระทบเชิงโฆษณาชวนเชื่อจากการเสียชีวิตของคิริลลอฟ พร้อมระบุว่า การดำเนินการในลักษณะนี้สะท้อนถึงการสนับสนุนการก่อการร้ายจากชาติตะวันตก

ทัพรัสเซียตั้งกองกำลังโดรนพลีชีพ เสริมทัพแนวหน้าศึกยูเครน

เมื่อวันที่ (16 ธ.ค. 67) นายอังเดร เบโลโซฟ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมรัสเซียเผยว่า ได้อนุมัติการจัดตั้งกองกำลังรบรูปแบบใหม่ที่ใช้การโจมตีด้วยอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ภายใต้หน่วยที่ชื่อ 'Unmanned Systems Forces' โดยหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้นอกจากเป็นกองกำลังด้านการรบโดยใช้โดรนในแนวหน้าแล้ว ยังรับผิดชอบด้านการฝึกอบรม จัดหายุทโธปกรณ์ จัดหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านโดรนโดยเฉพาะต่อหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลรัสเซียด้วย

Dmitry Kornev ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวสารทางทหารของรัสเซียกล่าวกับสปุตนิก ว่า หนึ่งในวิธีการบริหารกองทัพที่มีประสิทธิภาพคือการจัดตั้งหน่วยงานที่เสมือนกองทัพขนาดย่อมๆ แยกต่างหาก เพื่อดำเนินการงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยที่ผ่านกองทัพรัสเซียเริ่มมีการใช้และจัดหาโดรนและอากาศยานไร้คนขับด้านการทหารมากขึ้น

Kornev ยังคาดการณ์กับสปุตนิกว่า โดรนที่คาดว่ากองทัพรัสเซียจะใช้ในภารกิจการรบและเฝ้าระวังในแนวหน้าแถบยูเครนมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่โดรนติดมิสไซส์ Ovod (Gadfly) และ Upyr ที่มามารถบรรทุกอาวุธ เช่น หัวรบจาก RPG-7 และระเบิดขนาดเล็กได้ ไปจนถึง โดรนสังหารแบบกามิกาเซ่ที่นอกจากใช้ลาดตระเวนแล้วยังสามารถเปลี่ยนให้เป็นโดรนทำลายเป้าหมายได้ด้วยเช่น 

Orlan-10 โดรนอเนกประสงค์สำหรับการลาดตระเวน ซึ่งสามารถบูรณาการกับระบบเรดาร์เฝ้าระวังอิเล็กทรอนิกส์แบบ RB-341V Leer-3 ได้ มีพิสัยการบินไกล 600 กม. และบินอยู่กลางอากาศได้นาน 18 ชั่วโมง 

โดรนแบบ  HESA Shahed 136 เป็นโดรนโจมตีระยะไกลแบบกามิกาเซ่ที่โจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางทหาร มีเครื่องยนต์ไอพ่น บินได้เร็วถึง 800 กม./ชม. มีพิสัยการบิน 2,500 กม. และบรรทุกวัตถุระเบิดได้มากถึง 50 กก.

และโดรนแบบZALA Kub-BLA  ซึ่งเป็นโดรนสำหรับ ภารกิจ ลาดตระเวนและโจมตีแบบพลีชีพ โดยสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ 3 กิโลกรัม บินด้วยความเร็วสูงสุด 130 กม./ชม. นาน 30 นาที ขณะที่รุ่นปรับปรุงใหม่สามารถโจมตีได้ไกลกว่า 50 กม. และสามารถโจมตีเป็นกลุ่มได้พร้อมกัน

รัสเซียเชื่อมือบงการสังหารนายพลฝ่ายนิวเคลียร์ เป็นฝรั่งผิวขาวพูดอังกฤษ มั่นใจลากตัวลงโทษให้ได้

(18 ธ.ค.67) กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียออกแถลงการณ์ ยืนยันว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางนำตัวผู้เกี่ยวข้องในเหตุสังหารพลโท อิกอร์ คิริลอฟ หัวหน้าหน่วยป้องกันทางชีวภาพ, เคมี และรังสีของกองทัพรัสเซีย มาลงโทษให้ได้

คำแถลงจากมาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงต่างประเทศรัสเซียระบุว่า "เรามั่นใจว่าผู้ที่เป็นผู้จัดการและผู้ลงมือฆ่านายพลอิกอร์ คิริลอฟ จะต้องถูกจับกุมและนำตัวมาลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นใครที่ไหนก็ตาม และเราขอประกาศไปยังผู้สนับสนุนระบอบเคียฟ, ผู้ที่เกลียดชังรัสเซียทุกรูปแบบว่า ในฐานะประเทศและประชาชน เราจะไม่ถูกข่มขู่ เรากำลังปกป้องความจริง"

ซาคาโรวา ยังกล่าวอีกว่า ผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุเป็นชนชาติแองโกล-แซกซอน (ฝรั่งผิวขาวพูดภาษาอังกฤษ) เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์หลักจากการโจมตีทางการก่อการร้ายในมอสโกครั้งนี้ โดยกล่าวว่า ระบอบเคียฟเพียงแค่ "เป็นเครื่องมือ" เท่านั้น โดยรัสเซียจะยกประเด็นการสังหารนี้ในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ด้วย

สำหรับพลโทคิริลอฟและผู้ช่วยของเขาถูกฆ่าตายจากการระเบิดในมอสโกเมื่อเช้าวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเจ้าหน้าที่จากบริการความมั่นคงของยูเครน (SBU) ยืนยันกับ The New York Times ว่ายูเครนเป็นผู้รับผิดชอบในการสังหารครั้งนี้

ขณะที่ทางหน่วยงานความมั่นคงแห่งรัฐรัสเซีย (FSB) ระบุเมื่อวันพุธว่าได้จับกุมชายผู้ต้องสงสัยเป็นชาวอุซเบกิสถานวัย 29 ปี ในข้อหาวางระเบิดและจุดระเบิดจากระยะไกล โดยผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าวให้การซัดทอดว่า ผู้ว่าจ้างชาวยูเครนที่ให้ลงมือจุดระเบิดสัญญาว่าจะให้เงินรางวัล 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมให้สัญชาติเป็นพลเมืองสหภาพยุโรป

ปูตินลั่นนาโต้สกัดมิสไซล์ Oreshnik ไม่ได้ ท้าชาติตะวันตกลองดวลกัน แล้วจะรู้ฤทธิ์

(19 ธ.ค.67) ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้กล่าวในตอนหนึ่งของการแถลงข่าวช่วงสิ้นปีต่อบรรดาผู้สื่อข่าวในกรุงมอสโก โดยหนึ่งในผู้สื่อข่าวได้ถามผู้นำรัสเซียว่า รู้สึกกังวลหรือไม่ที่บรรดาชาติตะวันตกสมาชิกนาโต้ นำขีปนาวุธหลากชนิดเข้ามาประจำการทางตอนเหนือของโปแลนด์และโรมาเนีย

เรื่องดังกล่าวผู้นำรัสเซียตอบว่า "สมมติว่าระบบ Oreshnik ของเราตั้งอยู่ห่างจากพิกัดขีปนาวุธของพวกเขา 2,000 กิโลเมตร (1,243 ไมล์)  แม้แต่ขีปนาวุธต่อต้านที่ตั้งอยู่ในโปแลนด์ก็จะไม่สามารถทำลายมันได้" ผู้นำรัสเซียกล่าวโดยนัยว่า ยังไม่มีระบบขีปนาวุธชนิดใดของตะวันตกที่สามารถยิงไกลและมีความเร็วมากพอจะสกัดขีปนาวุธ Oreshnik ของรัสเซียได้

ปูตินยังกล่าวอีกว่า "งั้นลองให้พวกเขา (นาโต้) ลองใช้เทคโนโลยีจากตะวันตกหรือสหรัฐ มาดวลกับ Oreshnik ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21 ให้พวกเขา (นาโต้) ลองระบุเป้าหมายของเราดู แล้วรวมสรรพกำลังโจมตี ส่วนเราจะตอบกลับด้วย Oreshnik แล้วดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น" 

นอกจากนี้ในการแถลงข่าว ผู้นำรัสเซียยังได้ยกย่องอาวุธมิสไซล์ความเร็วเหนือเสียงนี้ว่า "Oreshnik นี้เป็นอาวุธใหม่ที่ทันสมัยมาก ระบบขีปนาวุธนี้ถูกสร้างขึ้นโดยอ้างอิงการออกแบบขีปนาวุธทุกรูปแบบที่รัสเซียเคยใช้" เมื่อถามว่าเหตุใดถึงตั้งชื่อว่า Oreshnik ปูตินตอบเชิงติดตลกว่า แม้เขาจะอนุมัติสร้าง แต่ก็ไม่ทราบเหมือนกันเหตุใดจึงชื่อนี้

ปูตินแถลงข่าว 4 ชม. ลั่นควรบุกยูเครนเร็วขึ้น พร้อมถกทรัมป์จบขัดแย้งเคียฟ

เมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.67) นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แถลงข่าวสิ้นปีผ่านทางโทรทัศน์เป็นเวลานานกว่า 4 ชั่วโมง ซึ่งเป็นธรรมเนียมประจำปีที่ผู้นำรัสเซียเปิดเวทีให้ประชาชนและสื่อมวลชนซักถาม โดยมีประเด็นสงครามในยูเครนเป็นหัวข้อสำคัญ พร้อมแสดงจุดยืนเปิดกว้างต่อการเจรจากับยูเครนและว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ

ปูตินกล่าวถึงการรุกรานยูเครนที่เริ่มเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยยอมรับว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ รัสเซียควรเปิดฉากปฏิบัติการพิเศษทางทหารให้เร็วและมีการเตรียมพร้อมที่เป็นระบบมากกว่านี้ พร้อมเสริมว่าสถานการณ์สงครามเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรัสเซียยังคงรุกคืบและยึดครองพื้นที่ใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาที่แน่นอนได้ว่าการยึดคืนดินแดนจะเสร็จสิ้นเมื่อใด

เมื่อถูกถามถึงความสัมพันธ์กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปูตินระบุว่าไม่ได้พูดคุยกับทรัมป์มานานกว่า 4 ปี แต่พร้อมเปิดการเจรจาทันทีหากอีกฝ่ายต้องการ พร้อมแสดงความมั่นใจว่าการสนทนาจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เนื่องจากทรัมป์เคยให้คำมั่นระหว่างการหาเสียงว่าจะยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครนโดยเร็ว

ปูตินยอมรับว่า สถานการณ์เงินเฟ้อและปัญหาข้าวยากหมากแพงเป็นประเด็นที่น่าวิตกสำหรับรัสเซียในปัจจุบัน โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างในปี 2567 อยู่ที่ 9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 9.3% ส่งผลให้เศรษฐกิจรัสเซียยังคงเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศและวิกฤตสงคราม

ปูตินยังเน้นย้ำถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับจีน ซึ่งทั้งสองประเทศมุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเวทีโลก พร้อมระบุว่าความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรอื่น ๆ ยังคงพัฒนาไปในทิศทางที่ดี

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า พร้อมเปิดกว้างต่อการเจรจาเพื่อยุติสงคราม แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าการปรองดองที่พูดถึงจะมีรูปแบบใด ทั้งนี้การเจรจาทั้งหมดต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้นำที่ชอบธรรมของยูเครนเช่นกัน

การแถลงข่าวครั้งนี้สะท้อนถึงความหวังในการหาทางออกของวิกฤตที่ยืดเยื้อ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

สื่อแฉ 'ทรัมป์' ส่งข้อความหา 'เซเลนสกี' แนะสละดินแดนยูเครนแลกหยุดยิง

(23 ธ.ค.67) El Pais สื่อของสเปนรายงานอ้างแหล่งข่าวว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ส่งข้อความถึง โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ขอให้พิจารณาทบทวนเกี่ยวกับข้อตกลงหยุดยิงและยอมรับการละทิ้งดินแดนบางส่วนที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย ตามรายงานจากหนังสือพิมพ์เอลปาอิส เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม

ทรัมป์ยืนยันคำสัญญาที่ว่า เขาจะยุติความขัดแย้งในยูเครนภายในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง แต่ยังไม่ได้ให้รายละเอียดว่าแผนการของเขาจะสำเร็จได้อย่างไร คำประกาศของเขาทำให้เกิดความกังวลในเคียฟ โดยเฉพาะเรื่องความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ที่อาจลดลง และการตรวจสอบเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ที่ยูเครนได้รับจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

“หากคุณมองไปที่เมืองต่าง ๆ เหล่านั้น บางเมืองไม่มีอาคารหลงเหลืออยู่ในสภาพดีเลยแม้แต่สักอาคารเดียว ดังนั้น เมื่อคุณพูดถึงการฟื้นฟูประเทศ ฟื้นฟูอะไร? การฟื้นฟูต้องใช้เวลามากกว่า 110 ปี” ทรัมป์กล่าวในข้อความที่ส่งถึงเซเลนสกี จากกอล์ฟคลับของเขาในฟลอริดา เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ในช่วงกลางเดือนธันวาคม ทรัมป์เรียกร้องให้ทั้งยูเครนและรัสเซียบรรลุข้อตกลงหยุดยิงทันที โดยเขาโพสต์ข้อความบนทรัสต์โซเชียล แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ของเขาหลังจากที่ได้พบกับเซเลนสกีและประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสในกรุงปารีส

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่าในต้นเดือนธันวาคม ทรัมป์ได้กล่าวว่า ยุโรปตะวันตกควรประจำการทหารในยูเครน เพื่อสังเกตการณ์ข้อตกลงหยุดยิง และว่าอียูควรมีบทบาทหลักในการป้องกันและสนับสนุนยูเครน ในขณะที่สหรัฐฯ จะสนับสนุนทางการเงิน แต่ไม่ส่งกำลังพล

ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้เน้นย้ำในการแถลงข่าวสิ้นปีว่า มอสโกยังคงเปิดกว้างในการเจรจากับเคียฟโดยไม่ต้องวางเงื่อนไขล่วงหน้า ยกเว้นเงื่อนไขที่เคยตกลงกันในโต๊ะเจรจาที่อิสตันบูลในปี 2022 โดยพิจารณาสถานะความเป็นกลางของยูเครนและข้อจำกัดการประจำการอาวุธต่างชาติ

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศฮังการี ปีเตอร์ ซิยาร์โต ได้กล่าวกับ RIA Novosti ของรัสเซีย ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่จำเป็นต้องการตัวกลางในการแก้ไขวิกฤตยูเครน “ถ้าจำเป็นต้องมีตัวกลาง ก็ต้องได้รับการเห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย หรือทุกฝ่าย และผมไม่เห็นการเห็นชอบเช่นนั้นในตอนนี้” ซิยาร์โตกล่าว และเสริมว่า ทรัมป์สามารถติดต่อโดยตรงกับประธานาธิบดีของยูเครนหรือประธานาธิบดีของรัสเซียได้

รัสเซียแฉกลาโหมสหรัฐฯ ตั้งหน่วยด้านชีวภาพในแอฟริกา

(24 ธ.ค. 67) พลโท อเล็กเซย์ ริติเชฟ รองหัวหน้ากองกำลังป้องกันรังสี เคมี และชีวภาพของกองทัพรัสเซีย เปิดเผยในรายงานโดยระบุว่า พบความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยะสำคัญของกองทัพสหรัฐฯ บริเวณทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะการตั้งฐานทัพทางทหารและหน่วยวิจัยด้านชีวภาพ

พลโท ริติเชฟ กล่าวว่า "เรามีเอกสารหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า การมีอยู่ของทหารสหรัฐและหน่วยด้านชีวภาพในแอฟริกากำลังขยายตัวมากขึ้นอย่างรวดเร็ว" โดยนายพลรัสเซียเชื่อว่า สหรัฐได้ส่งหน่วยงานด้านการแพทย์ไปยังกานาและจิบูตี 

พลโท ริติเชฟ กล่าวเพิ่มเติมว่า  “พบกิจกรรมที่กำลังดำเนินการอย่างเข้มข้นในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐ อาทิ  การตั้งสาขาของศูนย์การแพทย์ทางทหารของกองทัพเรือในกานาและจิบูตี ซึ่งมีการทำงานอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของโรค การแยกและการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อโรค"

คำกล่าวของนายพลรัสเซียสอดคล้องกับรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ที่ระบุว่า สหรัฐกำลังดำเนินโครงการวิจัยเพื่อการแพทย์ในพื้นที่แอฟริกา ได้แก่ ไนจีเรีย ได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยทางการแพทย์ร่วมและห้องปฏิบัติการทางการแพทย์สำหรับกองทัพในปี 2024

เคนยา ก่อตั้งศูนย์การแพทย์ทหารของสหรัฐฯ ได้ตั้งเครือข่ายสถานีสนามเพื่อเฝ้าติดตามการแพร่กระจายของโรคติดต่อทั่วแอฟริกาตอนกลาง เซเนกัล การก่อสร้างห้องปฏิบัติการมูลค่า 35 ล้านดอลลาร์ใกล้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งมีผู้รับเหมาเดียวกันกับที่ทำงานในสหภาพโซเวียตเดิม รวมถึงอาร์เมเนีย จอร์เจีย คาซัคสถาน และยูเครน กานาและจิบูตี สหรัฐฯ ได้จัดตั้งสาขาของศูนย์การแพทย์ทางทะเลแห่งชาติและกำลังจัดการการระบาดของโรคตามธรรมชาติและการแยกเชื้อโรค

พลโท รติชฟ กล่าวเสริมว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มองว่าแอฟริกาเป็นแหล่งรวมของเชื้อโรคที่อันตรายและเป็นพื้นที่ทดสอบยารักษาโรคใหม่ๆ โดยที่วอชิงตันใช้เชื้อโรคชนิดใหม่ที่ทดสอบแล้วในสมรภูมิยูเครนและที่จอร์เจีย

นายพลรัสเซีย กล่าวเพิ่มเติมว่า วอชิงตันกำลังใช้ประโยชน์จากความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ประเทศในแอฟริกาประสบปัญหาโดยเฉพาะในด้านสาธารณสุขเพื่อการวิจัยบางอย่าง ขณะที่สหรัฐเกรงว่ารัสเซียกับจีนจะเปิดโปงการวิจัยดังกล่าว

"สหรัฐฯ มักจะไม่เปิดเผยวัตถุประสงค์สุดท้ายของการทดลองให้กับชาติพันธมิตร" พลโท ริติเชฟ กล่าวทิ้งท้าย

รัสเซียเผยอีก 20 ชาติขอเข้ากลุ่ม กัมพูชา ลาว เมียนมา ขอร่วมวงด้วย

(25 ธ.ค. 67) ยูริ อูชาคอฟ ผู้ช่วยประธานาธิบดีรัสเซีย เปิดเผยว่า นอกเหนือจากประเทศพันธมิตรที่ได้รับการคัดเลือกก่อนหน้านี้ ยังมีอีกกว่า 20 ประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมการหารืออย่างเป็นระบบกับกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่  

อูชาคอฟระบุว่า BRICS ยังคงเปิดกว้างสำหรับประเทศที่มีแนวคิดสอดคล้องกัน โดยรายชื่อประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมกลุ่มเพิ่มอีก 20 ชาติ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บังกลาเทศ บูร์กินาฟาโซ กัมพูชา ชาด โคลอมเบีย สาธารณรัฐคองโก อิเควทอเรียลกินี ฮอนดูรัส ลาว คูเวต โมร็อกโก เมียนมา นิการากัว ปากีสถาน ปาเลสไตน์ เซเนกัล เซาท์ซูดาน ศรีลังกา ซีเรีย เวเนซุเอลา และซิมบับเว นอกจากนี้ เอริเทรียยังแสดงความกระตือรือร้นที่จะร่วมงานกับ BRICS เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม อูชาคอฟเน้นย้ำว่า การขยายกลุ่มต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยกล่าวว่า “การขยายกลุ่มอย่างไร้การควบคุมอาจทำลายโครงสร้างที่มีอยู่ เราจึงต้องดำเนินการทีละขั้นตอนอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสอดคล้องกับแนวทางที่เราใช้มาตลอด”

ไทยในฐานะชาติพันธมิตรกลุ่ม BRICS ปีหน้า 68 'บราซิล' เป็นเจ้าภาพจัดประชุม

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยเมื่อ 26 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยได้รับหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการจากรัสเซียตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ซึ่งรัสเซียในฐานะเป็นประธานกลุ่ม BRICS ประจำปี 2567 ให้เข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS และในวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบว่า ไทยจะมีหนังสือตอบรับการเชิญดังกล่าว โดยในวันเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เพื่อตอบรับการเข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนกลุ่ม BRICS

กลุ่ม BRICS ได้กำหนดบทบาทของประเทศพันธมิตรไว้ในเอกสาร Modalities of BRICS Partner Country Category โดยในฐานะที่ไทยเป็นชาติหุ้นส่วน มีประเด็นหลักสำคัญที่ต้องมีส่วนร่วม เช่น ประเทศหุ้นส่วนจะต้องเข้าร่วมการหารือระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS กับประเทศหุ้นส่วนในระดับต่าง ๆ ได้แก่ (1) การประชุมระดับผู้นำ (2) การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ และ (3) การประชุมรัฐมนตรีรายสาขาที่ได้รับเชิญอย่างแข็งขัน นอกจากนี้ ประเทศหุ้นส่วนยังสามารถให้การสนับสนุนเอกสารผลลัพธ์จากการประชุมผู้นำและรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม BRICS ได้ด้วย

การที่ไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนกลุ่ม BRICS ถือเป็นก้าวสำคัญในการที่ไทยจะสามารถเข้าเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของกลุ่ม BRICS ในอนาคต โดยไทยมีเป้าหมายในการยกระดับความร่วมมือกับกลุ่ม BRICS เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างบทบาทของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาและเสริมสร้างระบบพหุภาคีที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนา

กระทรวงการต่างประเทศมีแผนที่จะหารือเพิ่มเติมกับหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ของไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS ต่อไป โดยในวันที่ 1 มกราคม 2568 บราซิลจะรับตำแหน่งประธานกลุ่ม BRICS ต่อจากรัสเซีย โดยจะใช้หัวข้อหลักในการประชุมคือ “การเสริมสร้างความร่วมมือของประเทศโลกใต้เพื่อธรรมาภิบาลที่ครอบคลุมและยั่งยืนขึ้น” (Strengthening Cooperation in the Global South for More Inclusive and Sustainable Governance) ซึ่งไทยเตรียมจะเข้าร่วมการหารือดังกล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top