Wednesday, 7 May 2025
RUSSIA

ส่องคลังแสงปราการป้องมอสโก เทคโนโลยียุคโซเวียต ระบบป้องกันขีปนาวุธที่ปูตินสั่งเตรียมพร้อมสูงสุด

(25 พ.ย.67) ดูเหมือนสถานการณ์ความรุนแรงในยูเครนจะคุกรุ่นมากขึ้น จากการที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทิ้งทวนคำสั่งก่อนหมดวาระการดำรงตำแหน่งด้วยการมอบขีปนาวุธแบบ ATACMS  ซึ่งเป็นสุดยอดขีปนาวุธโจมตีพิสัยกลางให้แก่ยูเครน 

ส่งผลให้ล่าสุดประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ออกคำสั่งใช้ขีปนาวุธ Oreshnik ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นขีปนาวุธเหนือเสียง เดินทางเร็วกว่าเสียง 10 เท่า พิสัยการยิง 5,000 กิโลเมตร ซึ่งสามารถโจมตียุโรปได้ทั้งหมด และรวมไปถึงบางส่วนของฝั่งตะวันตกของสหรัฐ โดยเป้าหมายแรกที่ปูตินสั่งให้ขีปนาวุธ Oreshnik คือเมือง Dnepropetrovsk ของยูเครนซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งของ สถานประกอบการด้านการป้องกันยูเครน

คำสั่งโจมตีดังกล่าวของผู้นำมอสโก ทำให้กระทรวงกลาโหมรัสเซียต้องออกมาเปิดเผยถึงความพร้อมในการรับมือโจมตีระรอกใหม่ หากว่ายูเครนใช้อาวุธที่นาโต้มอบให้ โจมตีแผ่นดินรัสเซียด้วยการออกมาเปิดเผยระบบป้องกันขีปนาวุธที่รัสเซียเตรียมพร้อมรับมือ

พล.ท. Aytech Bizhev อดีตรองผู้บัญชาการระบบป้องกันภัยทางอากาศร่วมของ CIS กองทัพอากาศรัสเซีย กล่าวกับสำนักข่าว Sputnik โดยให้ความเห็นเกี่ยวกับวิธีการที่มอสโกว์มีไว้เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากขีปนาวุธของนาโต้ว่า รัสเซียมีระบบป้องกันขีปนาวุธหลายรูปแบบที่เตรียมพร้อมรับมือ อาทิ 

S-300V ซึ่งถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี 1988 เป็นการอัปเกรดระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศระยะไกล S-300 ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1978 มีระยะยิงต่อเป้าหมายขีปนาวุธ 30-40 กิโลเมตร S-400 ขีปนาวุธที่พัฒนาในช่วง1980-1990 เปิดตัวในปี 2007 สามารถตรวจจับเป้าหมายขีปนาวุธได้ไกลถึง 200 กิโลเมตร และทำลายได้ในระยะ 60 กิโลเมตร

S-500 ระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศรุ่นล่าสุดของรัสเซีย เริ่มใช้งานในปี 2021 สามารถตรวจจับเป้าหมายได้ไกลถึง 600 กิโลเมตร และทำลายได้ในระยะ 200 กิโลเมตร นอกจากนั้นยังมี A-135 Amur และ A-235 Nudol ระบบสกัดกั้นขีปนาวุธแบบฐานยิง ถูกออกแบบมาเพื่อจัดการกับภัยคุกคามจากขีปนาวุธความเร็วสูงและอวกาศ ใช้งานตั้งแต่ปี 1995 และ 2019 ตามลำดับ มีระยะตรวจจับสูงสุด 6,000 กิโลเมตรด้วยเรดาร์ Don-2N และระยะยิงประมาณ 350-900 กิโลเมตร

อีกหนึ่งระบบคือ Tor ระบบขีปนาวุธระยะสั้น เริ่มใช้งานในปี 1986 ถูกออกแบบมาเพื่อจัดการกับเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ ขีปนาวุธร่อน และโดรน รวมถึงขีปนาวุธระยะสั้น ระยะตรวจจับและติดตาม 25 กิโลเมตร ระยะยิงสูงสุด 16 กิโลเมตร

และสุดท้าย Buk ระบบขีปนาวุธระยะกลาง พัฒนาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถูกนำมาใช้ในกองทัพตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 สามารถโจมตีขีปนาวุธยุทธวิธี ขีปนาวุธร่อน และขีปนาวุธต่อต้านเรือในระยะ 3-20 กิโลเมตร และที่ระดับความสูงสูงสุด 16 กิโลเมตร

Bizhev กล่าวว่า ระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียล้ำหน้ากว่าวิธีการโจมตีที่มันถูกออกแบบมาป้องกันอยู่ประมาณ 5-10 ปี ขาเล่าถึงยุคปลายทศวรรษ 1980 ที่สหภาพโซเวียตเริ่มพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธเป็นครั้งแรก ในขณะที่ NATO กำลังติดตั้งอาวุธขีปนาวุธยุคใหม่ที่มีความแม่นยำสูง ในยุคนั้น ภารกิจหลักของระบบป้องกันขีปนาวุธของโซเวียต (และรัสเซียหลังปี 1991) คือการป้องกันมอสโกและภูมิภาคอุตสาหกรรมตอนกลาง

ลือสะพัดไบเดนทิ้งทวน จ่อมอบนิวเคลียร์ให้ยูเครน

(27 พ.ย.67) นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน แถลงตอบโต้รายงานของ นิวยอร์กไทมส์ ที่อ้างคำพูดเจ้าหน้าที่ระดับสูงในทำเนียบขาวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจพิจารณาส่งมอบอาวุธนิวเคลียร์ให้ยูเครนก่อนหมดวาระดำรงตำแหน่ง  

เปสคอฟระบุว่า หากรายงานดังกล่าวเป็นจริง ถือเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง พร้อมกล่าวว่า “นี่คือการถกเถียงที่ขาดความเข้าใจในความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง และแสดงให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบจากผู้ที่ไม่เปิดเผยตัวตน”  

ขณะเดียวกัน ดมิทรี เมดเวเดฟ เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงระดับสูงของรัสเซีย เตือนว่า หากชาติตะวันตกจัดหาอาวุธนิวเคลียร์ให้ยูเครน รัสเซียจะถือว่าเป็นการโจมตีโดยตรงต่อมอสโก และอาจเป็นเหตุให้รัสเซียตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์  

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน กล่าวเมื่อเดือนที่ผ่านมา ว่าการส่งอาวุธนิวเคลียร์ให้ยูเครนและการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต คือวิธีเดียวที่จะป้องปรามรัสเซียได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

สื่อแฉไบเดนกดดันยูเครน ลดอายุเกณฑ์ 18 ปี สู้ศึกรัสเซีย

(28 พ.ย.67) สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อวันพุธ โดยอ้างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลโจ ไบเดน ที่ไม่ประสงค์ออกนาม ระบุว่า สหรัฐฯ เรียกร้องให้ยูเครนเพิ่มกำลังพลด้วยการลดอายุเกณฑ์ทหารจาก 25 ปี เหลือ 18 ปี พร้อมปรับปรุงกฎหมายเพื่อขยายฐานกำลังพลให้เพียงพอต่อการสู้รบกับรัสเซียที่มีกำลังทหารมากกว่า  

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวเผยว่า ยูเครนต้องการกำลังพลเพิ่มอีก 160,000 นาย จากปัจจุบันที่มีกำลังทหารรวมกว่า 1 ล้านนาย แต่สหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกมองว่ายังไม่เพียงพอ และชี้ว่ากำลังพลมีความสำคัญมากกว่าปัญหาอาวุธในสงครามนี้  

ประเด็นการเกณฑ์ทหารยังคงอ่อนไหวในยูเครน ตลอดสงครามที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 3 ปี โดยประชาชนบางส่วนกังวลว่าการลดอายุเกณฑ์จะส่งผลกระทบต่อแรงงานและเศรษฐกิจหลังสงคราม  

ด้านเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่ายูเครนสามารถบริหารจัดการกำลังพลที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยแก้ปัญหาผู้หลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารหรือไม่เข้ารายงานตัว

เปิดประวัติ คีธ เคลล็อกก์ อดีตนายพล ทรัมป์ตั้งเป็นทูตสหรัฐฯ ประจำยูเครนคนใหม่

(28 พ.ย.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศว่าเขาได้เสนอชื่อพลเอก คีธ เคลล็อกก์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประธานาธิบดีและทูตพิเศษประจำยูเครนและรัสเซียคนใหม่ 

"ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เสนอชื่อพลเอกคีธ เคลล็อกก์ (Keith Kellogg) ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประธานาธิบดีและทูตพิเศษสำหรับยูเครนและรัสเซีย คีธเป็นผู้นำในอาชีพทหารและธุรกิจที่โดดเด่น รวมถึงรับหน้าที่ด้านความมั่นคงแห่งชาติที่ละเอียดอ่อนในรัฐบาลชุดแรกของผม" ทรัมป์ ระบุว่าแพลตฟอร์ม Truth Social

สำนักข่าวสปุตนิกได้เผยประวัติที่น่าสนใจของนายพลเคลล็อกก์ โดยเขามียศเป็นนายพลสามดาวของกองทัพสหรัฐฯ ที่เกษียณอายุราชการแล้วและได้รับการยกย่องอย่างสูง โดยเขามีประสบการณ์ด้านการทหารและกิจการระหว่างประเทศมากมาย

ก่อนเกษียณเคลล็อกก์ ดำรงตำแหน่งสุดท้ายในปี 2003 คือ ผู้บัญชาการกองบัญชาการ การควบคุม การสื่อสาร และคอมพิวเตอร์ เขายังทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้ระหว่างการโจมตีด้วยการก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายนอีกด้วย

ล่าสุด เคลล็อกก์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติให้กับอดีตรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ และดำรงตำแหน่งอื่น ๆ อีกหลายตำแหน่งในช่วงวาระแรกของทรัมป์

เมื่อเดือนเมษายน เขาร่วมเขียนงานวิจัยที่สนับสนุนการยุติความขัดแย้งในยูเครนด้วยสันติภาพ และเสนอเงื่อนไขในการจัดหาเสบียงทางทหารให้กับยูเครนโดยขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลเคียฟจะเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับรัสเซียหรือไม่

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเคียฟสามารถเจรจากับรัสเซียเพื่อเปลี่ยนจากจุดยืนที่แข็งกร้าว และหารือถึง การเก็บภาษีการขายพลังงานของรัสเซียเพื่อจ่ายสำหรับการฟื้นฟูยูเครน

เคลล็อกก์ระบุเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่าการที่ทรัมป์กลับเข้าทำเนียบขาวอาจทำให้สมาชิกนาโต้บางส่วนซึ่งจ่ายด้านการป้องกันประเทศไม่ถึง 2% ของ GDP อาจเสียสิทธิ์ในการคุ้มกันประเทศหากถูกโจมตีตามมาตรา 5 นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่า หากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง เขาสามารถจัดการประชุมสุดยอดนาโต้ในเดือนมิถุนายน 2025 เพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตของพันธมิตร

ตามคำกล่าวของเคลล็อกก์ นาโต้อาจกลายเป็น 'พันธมิตรแบบแบ่งชั้น' ซึ่งสมาชิกบางส่วนได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ตามอัตราการบริจาคเงินที่ให้กับนาโต้

ไบเดนทิ้งทวน อัดฉีดยูเครนอีก 725 ล้านดอลลาร์ ส่งสารพัดอาวุธให้เซเลนสกีสู้ศึกรัสเซีย

(28 พ.ย. 67) รอยเตอร์รายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมจัดส่งอาวุธมูลค่า 725 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 24,934 ล้านบาท) ให้ยูเครนสู้ศึกรัสเซีย ก่อนหมดวาระในเดือนมกราคมนี้  

ตามรายงานจากเจ้าหน้าที่สหรัฐ แพ็กเกจดังกล่าวประกอบด้วยขีปนาวุธต่อต้านรถถัง ทุ่นระเบิด โดรน ขีปนาวุธสติงเกอร์ และกระสุนสำหรับเครื่องยิงจรวด HIMARS โดยมีเป้าหมายลดความรุกคืบของรัสเซีย และช่วยเสริมแสนยานุภาพให้กองกำลังยูเครน  

คาดว่าแพ็กเกจนี้จะรวมถึงระเบิดลูกปราย (Cluster Munitions) ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงในระดับนานาชาติ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อพลเรือน แม้ว่าระเบิดรุ่นใหม่ของสหรัฐจะเป็นแบบสลายตัวเองเพื่อลดผลกระทบระยะยาว  

เจ้าหน้าที่เผยว่ามีงบประมาณ PDA (Presidential Drawdown Authority) เหลือประมาณ 4,000-5,000 ล้านดอลลาร์ที่รัฐสภาอนุมัติไว้ และคาดว่าไบเดนจะใช้งบส่วนนี้ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2025

ไบเดนเหลือเงินอัดฉีดยูเครนกว่า 6.5 พันล้านดอลลาร์ หลังทิ้งทวนรีบแจกอาวุธให้เซเลนสกีไม่อั้น

(29 พ.ย.67) ประธานาธิบดีโจ ไบเดนในช่วงเดือนสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งกำลังเร่งอัดฉีดทั้งเงินและอาวุธให้กับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการรับมือกับสงครามจากรัสเซีย เนื่องจากโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีจุดยืนไม่สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน

ล่าสุด ไบเดนได้อนุมัติงบประมาณและอาวุธมูลค่า 725 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 24,934 ล้านบาท) ให้กับยูเครน เพื่อช่วยให้สามารถสู้ศึกรัสเซียได้ก่อนที่วาระการดำรงตำแหน่งของเขาจะสิ้นสุดในเดือนมกราคมนี้ การช่วยเหลือดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในหลายครั้งที่ไบเดนเร่งมอบให้ยูเครนในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่ที่กมลา แฮร์ริส แพ้การเลือกตั้ง

งบประมาณดังกล่าวมาจาก 'อำนาจเบิกจ่ายอาวุธของประธานาธิบดี' หรือ Presidential Drawdown Authority (PDA) ซึ่งอนุญาตให้สหรัฐฯ เบิกจ่ายอาวุธจากคลังของตนเพื่อช่วยเหลือพันธมิตรในกรณีฉุกเฉิน ปัจจุบันสหรัฐฯ มีงบประมาณภายใต้ PDA ไม่น้อยกว่า 6.5 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 223,957 ล้านบาท ที่ไบเดนสามารถใช้ในการส่งมอบอาวุธให้กับยูเครนในช่วงที่เหลือของการดำรงตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า เพนตากอนได้ถึงขีดจำกัดในการส่งอาวุธให้ยูเครนทุกเดือนโดยไม่กระทบต่อความสามารถในการป้องกันของกองทัพสหรัฐฯ และการขนส่งยุทโธปกรณ์ไปยังยูเครนก็เริ่มประสบปัญหาด้านโลจิสติกส์

หากไบเดนต้องการใช้เงิน 6.5 พันล้านดอลลาร์ให้หมดภายในเวลาที่เหลือในตำแหน่ง นั่นหมายความว่าเขาจะต้องใช้เงินมากกว่า 110 ล้านดอลลาร์ต่อวันในการจัดหาอาวุธ ซึ่งเกินขีดความสามารถของโรงงานผลิตอาวุธในสหรัฐฯ และยังมีข้อจำกัดในการส่งมอบอาวุธไปยังแนวหน้า

ในรายงานของ WSJ เจ้าหน้าที่รัฐสภาสหรัฐฯ กล่าวยืนยันว่า แม้ไบเดนจะเร่งรัดการแจกจ่ายเงินให้ยูเครนมากแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถใช้เงินทั้งหมดได้ทันภายในเวลาน้อยกว่าเดือน เนื่องจากมีข้อจำกัดทั้งจากผู้ผลิตอาวุธและการขนส่งของกองทัพสหรัฐฯ

จีนเดินเกมส่งจนท.ดูงานมอสโก ศึกษารับมือตะวันตกคว่ำบาตรปมไต้หวัน

(2 ธ.ค. 67) The Wall Street Journal รายงานว่า รัฐบาลจีนได้ส่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานพิเศษ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก และวิธีการรับมือของธนาคารกลางรัสเซียให้เศรษฐกิจรัสเซียได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยรัฐบาลจีนมองว่ารัสเซียเป็นกรณีศึกษาชั้นเยี่ยมที่จีนสามารถเรียนรู้กลไกการคว่ำบาตรจากพันธมิตรตะวันตกได้

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า จีนได้จัดตั้งหน่วยงานพิเศษนี้หลังจากที่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครนเมื่อปี 2022 ได้ไม่นาน เพื่อศึกษาผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกโดยเฉพาะ ต่อมาก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดูงานจริงในรัสเซีย และนัดพบกับตัวแทนจากธนาคารกลางรัสเซีย, กระทรวงการคลัง และหน่วยงานอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งรายงานตรงถึงรัฐบาลจีนเป็นประจำ  

ซึ่งรัฐบาลจีนแสดงความสนใจในทุกๆ แง่มุมที่เกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตร รวมถึงผลดีที่อาจเกิดขึ้นกับผลผลิตภายในประเทศ โดยสื่อต่างชาติตั้งข้อสังเกตว่า จีนอาจใช้รัสเซียเป็นกรณีศึกษาสำหรับมือการคว่ำบาตรต่อจีนที่อาจเกิดขึ้นได้ ในกรณีข้อพิพาทไต้หวัน ที่รัฐบาลจีนประกาศที่จะตอบโต้ หลังรัฐบาลสหรัฐฯอนุมัติการขายอาวุธล็อตใหม่ให้แก่ไต้หวัน 

เศรษฐกิจของรัสเซียสามารถยืนเด่นอย่างท้าทาย หลังถูกชาติตะวันตกรวมพลังคว่ำบาตรอย่างหนักจากกรณีสงครามในยูเครน ด้วยตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังทรงตัวอยู่ได้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสูงขึ้น และ อัตราค่าจ้างแรงก็เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

แต่ทว่า รัฐเซียก็กำลังเจอปัญหาค่าเงินรูเบิลที่ตกต่ำลงอย่างกะทันหัน จนสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปี  ที่สร้างความกังวลให้แก่รัฐบาลจีน ที่มีเงินสำรองต่างประเทศมากที่สุดในโลกถึงกว่า 3.3 ล้านล้านดอลลาร์  และหากจีนต้องเจอมาตรการคว่ำบาตรอย่างเช่นที่รัสเซีย อาจทำให้สินทรัพย์ และ ทุนสำรองของจีนในต่างประเทศตกอยู่ในความเสี่ยงได้ 

การถอดบทเรียนของรัสเซียจะช่วยให้จีนได้เรียนรู้ที่จะกระจายทุนสำรองต่างประเทศ ลดการถือครองพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐ และ เงินดอลลาร์ และรับมือกับนโยบายคว่ำบาตรในรูปแบบต่างๆ ที่อาจถูกหยิบยกมาใช้กับจีนในอนาคต 

แต่ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศจีนย้ำว่า การที่จีนกำลังศึกษาผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรในรัสเซีย ไม่ได้หมายความว่าจีนกำลังวางแผนที่จะรุกรานไต้หวันอย่างที่สื่อตะวันตกพยายามนำเสนอ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ และความร่วมมือกับรัฐบาลรัสเซียบนพื้นฐานของความเสมอภาค และผลประโยชน์ร่วมกันเท่าน้้นเอง 

เซเลนสกี ส่งสัญญาณยอมรัสเซีย ยึดดินแดนบางส่วนแลกจบสงคราม

(3 ธ.ค. 67) โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน แสดงความประสงค์ที่จะยุติสงครามกับรัสเซียในเร็ววัน พร้อมระบุว่ายูเครนอาจสามารถฟื้นกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดครองได้ผ่านการเจรจาทางการทูต หากได้รับการยืนยันสถานะสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต)

ถ้อยแถลงดังกล่าวสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของเซเลนสกี ซึ่งก่อนหน้านี้ยืนกรานว่าสงครามจะยุติลงได้ก็ต่อเมื่อรัสเซียคืนดินแดนทั้งหมดที่ยึดครองจากยูเครน  

ในการให้สัมภาษณ์กับ **สกายนิวส์** ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน เซเลนสกีระบุว่าความขัดแย้งสามารถยุติได้ หากนาโตให้คำมั่นในการค้ำประกันความมั่นคงของยูเครนในดินแดนที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลยูเครนในปัจจุบัน  

เซเลนสกีย้ำว่าข้อตกลงหยุดยิงใดๆ จะต้องมีการรับประกันว่ารัสเซียจะไม่กลับมายึดครองดินแดนยูเครนเพิ่มเติม หลังจากที่รัสเซียได้ครอบครองดินแดนยูเครนไปแล้วราว 20% โดยเฉพาะการผนวก คาบสมุทรไครเมีย ในปี 2014 รวมถึง แคว้นโดเนตสก์ ลูฮันสก์ เคอร์ซอน และ ซาปอริซเซีย ในปี 2022  

ถ้อยแถลงของเซเลนสกีสะท้อนถึงความพยายามในการหาทางออกทางการทูตท่ามกลางความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ ขณะที่นาโตยังคงมีบทบาทสำคัญในสมรภูมิทางการเมืองระหว่างยูเครนและรัสเซีย

ไบเดนเล็งเพิ่มคว่ำบาตรรัสเซีย มุ่งตัดช่องการเงินทำสงครามยูเครน

(3 ธ.ค.67) ทำเนียบขาวเผยว่าสหรัฐฯ เตรียมประกาศคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม โดยเน้นโจมตีภาคการเงินของมอสโก ก่อนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ

นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ระบุในแถลงการณ์ว่า “สหรัฐฯ ได้เตรียมดำเนินมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหญ่กับภาคการเงินของรัสเซียแล้ว เพื่อทำลายศักยภาพในการสนับสนุนกลไกสงครามของประเทศ และยังมีแผนดำเนินการเพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้นี้”

อย่างไรก็ตาม นายซัลลิแวน ไม่ได้ระบุว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อมุ่งเป้าตัดช่องทางการเงินของรัฐบาลมอสโกตามแถลง

การประกาศครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการกดดันมอสโกให้ยุติการสนับสนุนสงคราม ในห้วงเวลาอีกราวหนึ่งเดือนสุดท้ายก่อนประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะหมดวาระลง

'อัสซาด' ผู้นำซีเรียพร้อมครอบครัวลี้ภัยในมอสโก หลังกลุ่มกบฏบุกยึดกรุงดามัสกัสสำเร็จ

(9 ธ.ค. 67) ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย พร้อมครอบครัว ได้ลี้ภัยไปยังรัสเซียภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่กลุ่มกบฏสามารถยึดครองกรุงดามัสกัสได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการปิดฉากการปกครองระบอบอัสซาดที่ยาวนานกว่า 50 ปี  

สำนักข่าวทาสส์ อ้างแหล่งข่าวจากรัฐบาลรัสเซีย ระบุว่า อัสซาดและครอบครัวได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในรัสเซียด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม “ประธานาธิบดีอัสซาดและครอบครัวเดินทางถึงกรุงมอสโกแล้ว โดยรัสเซียได้ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่พวกเขา”  

เจ้าหน้าที่รัสเซียยังย้ำว่า ประเทศสนับสนุนการหาทางออกทางการเมืองต่อวิกฤตในซีเรียมาโดยตลอด พร้อมแสดงความหวังให้มีการกลับมาเจรจาภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ  

ในขณะเดียวกัน ชาวซีเรียต่างออกมาเฉลิมฉลองตามท้องถนนและจัตุรัสสำคัญในกรุงดามัสกัส พร้อมโบกธงปฏิวัติ ท่ามกลางบรรยากาศที่ชวนให้นึกถึงช่วงแรกของการลุกฮือในอาหรับสปริง ก่อนที่สงครามกลางเมืองจะปะทุยาวนานถึง 14 ปี  

อาบู โมฮัมเหม็ด อัล-โกลานี อดีตผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่มกบฏหลัก กล่าวว่าการล่มสลายของอัสซาดถือเป็น “ชัยชนะของชาติอิสลาม” และเป็นโอกาสสำคัญในการกำหนดอนาคตของซีเรียใหม่  

จากเหตุการณ์นี้ ดมิทรี โพลีอันสกี รองผู้แทนถาวรรัสเซียประจำสหประชาชาติ เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) จัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือสถานการณ์ในซีเรีย ขณะที่รัสเซียได้เริ่มเจรจากับตัวแทนกลุ่มต่อต้านติดอาวุธในซีเรีย เพื่อรับประกันความปลอดภัยของฐานทัพและคณะผู้แทนทางการทูตรัสเซียในภูมิภาคนี้  

มอสโกแสดงจุดยืนชัดเจนว่าพร้อมสนับสนุนการเจรจาทางการเมือง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวซีเรียและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในอนาคต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top