Sunday, 18 May 2025
Region

สมุทรปราการ - ผู้บริหาร บริษัท อริยะ ถวายข้าวสาร 2,000 ถุง น้ำดื่ม เนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันเกิด

ที่ศาลาพูลเกตุ ณ วัดบางพลีใหญ่กลาง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ นายสมชาย เลิศอริยานันท์ ประธานกรรมการบริหาร  บริษัท อริยะอีควิปเม้นท์ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักรกลหนักรถขุด KOBELCO และรถบด SAKAI พร้อมศูนย์อะไหล่และศูนย์บริการครบวงจร 30 สาขา ทั่วประเทศไทย 

เดินทางพาครอบครัวเลิศอริยานันท์ เข้ากราบขอพรจากท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ (พระครูแจ้) เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง พร้อมทั้งจัดพิธีทำบุญเลี้ยงพระ เนื่องในโอกาสครบรอบวันคลายวันเกิด อีกทั้งยังได้มอบข้าวสาร จำนวน 2,000 ถุง และน้ำดื่มอีก จำนวน 2,000 แพ็ค โดยมอบให้กับทางวัดบางพลีใหญ่กลาง และมอบให้กับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ มอบข้าวสารให้วัดบางพลีใหญ่กลาง จำนวน 1000 ชุด มอบข้าวสารให้โรงพยาบาลบางพลี จำนวน 400 ชุด  มอบข้าวสารให้ที่ว่าการอำเภอบางพลี จำนวน 200 ชุด

มอบข้าวสารให้เทศบาลตำบลบางพลี จำนวน 200 ชุด และมอบข้าวสารให้สถานีตำรวจภูธรบางพลี จำนวน 200 ชุด รวมทั้งสิ้น 2,000 ชุด จากนั้น ทางผู้บริหาร บริษัท อริยะอีควิปเม้นท์ จำกัด โดยนายสมชาย เลิศอริยานันท์ พร้อมด้วย นางปิยะนาถ เลิศอริยานันท์ และนายเลิศศักดิ์ เลิศอริยานันท์ และครอบครัวเลิศอริยานันท์ ตลอดจนพนักงานร่วมประกอบพิธีทำบุญเลี้ยงพระ ถวายภัตตาหารเพล  และถวายจตุปัจจัยเครื่องไทยธรรม แด่พระภิกษุสงฆ์ภายในศาลาพูลเกตุ  โดยนิมนต์พระสงฆ์วัดบางพลีใหญ่กลาง จำนวน 9 รูป ประกอบพิธี  ซึ่งได้รับความเมตตาจากท่าน  พระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ  เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นำคณะสงฆ์วัดบางพลีใหญ่กลาง  ประกอบพิธีสวดเจริญพระพุทธมนต์ ชัยมงคลคาถา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัวเลิศอริยานันท์

ท่านพระครูปลัดสุวัฒนศีลคุณ เจ้าอาวาสวัดบางพลีใหญ่กลาง ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ มอบวัตถุมงคล เป็นพญาครุฑ รุ่น จ.ขนาด 3 นิ้ว มอบแก่นายสมชาย เลิศอริยานันท์ เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล โดยในพิธีมีนายสมศักดิ์ แก้วเสนา นายอำเภอบางพลี พร้อมด้วย นพ.พิเชษฐ พัวพันกิจเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางพลี ดร.พัฒนพงศ์  จงรักดี นายกเทศมนตรีตำบลบางพลี  พ.ต.อ.วิโรจน์  ตัดโส ผกก.สภ.บางพลี พ.ต.อ.พรณรงค์ เจริญวัฒนวิญญู หน.พฐ.จว.สมุทรปราการ  พ.ต.อ.พิสุทธิ์ จันทรสุวรรณ ผกก.สภ.บางปู พ.ต.อ.รักศักด์ เมฆจินดา ผกก.สภ.คลองด่าน ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติต่างเดินทางมาร่วมอวยพรและร่วมในพิธี พร้อมทั้งมอบกระเช้าอวยพร เนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันเกิดของนายสมชาย เลิศอริยานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อริยะอีควิปเม้นท์ จำกัด


ภาพ/ข่าว  คิว-ข่าวสมุทรปราการ  รายงาน

นราธิวาส - จับมือมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 5 จำนวน 380 เตียง

ด้านผู้ว่าฯนราธิวาส ตรวจเยี่ยมสถานที่ในพื้นที่อำเภอเมืองนราธิวาส เตรียมตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่ม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ให้เพียงพอ

วันที่ 25 มิ.ย. 64 นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 5 ที่โรงยิมเนเซี่ยม สนามกีฬามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตำบลโคกเขือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยมี นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 ปลัดจังหวัดนราธิวาส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส  ผอ.โรงพยาบาลนราธิวาสฯ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธีฯ

ทางด้านนายแพทย์วิเศษ สิรินทรโสภณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ ณ ปัจจุบัน  มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันในโรงพยาบาล สะสมจำนวน 1,745 ราย กำลังรักษาจำนวน 543 ราย แยกเป็น รักษาตัวในโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดนราธิวาส จำนวน 192 ราย และ รักษาตัวโรงพยาบาลสนาม 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลสนาม ศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพยาเสพติด และ โรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักพิงร่วมใจอุ่นไอรัก จำนวน 351ราย

ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากผู้ป่วยยืนยันคลัสเตอร์มัรกัส ซึ่งขีดความสามารถของโรงพยาบาลสนามทั้ง 2 แห่งของจังหวัดนราธิวาส ไม่เพียงพอ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ในฐานะฝ่ายรับผิดชอบทางด้านการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จึงได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม แห่งที่ 5 ณ โรงยิมเนเซี่ยม มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วย COVID-19 คลัสเตอร์มัรกัสเป็นการเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยยืนยันจำนวน 180 ราย โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ประกอบด้วย แพทย์ 5 คน พยาบาลวิชาชีพ 7 คน และพนักงานทำความสะอาด 2 คน โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย บุคลากรปลอดภัย และจังหวัดนราธิวาสปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเร็ว

ขณะที่จังหวัดนราธิวาสมีผู้ป่วยรายใหม่ตกประมาณวันละ 100 คน เพราะฉะนั้นในภาพรวมเรามีความจำเป็นที่จะต้องใช้เตียงประมาณ 1,400 เตียง ซึ่งตอนนี้เรามีเตียงทั้งหมด 1,000 เตียง ซึ่งหลังจากที่เปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 5 วันนี้ ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 380 เตียง เราถึงจำเป็นที่จะต้องหาพื้นที่เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนามอีก 500 เตียง ซึ่งในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้จัดไว้เพื่อดูแลกลุ่มผู้ป่วยที่มาจากมัรกัสยะลา มัรกัสยี่งอ และมัรกัสศรีสาคร จึงออกแบบเพื่อให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมและการดำรงชีวิตที่ไม่กระทบกับวิถีชีวิตปกติ 

และในส่วนของการกระจายวัคซีนจากส่วนกลางมาที่จังหวัดนราธิวาสมีวัคซีนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจังหวัดนราธิวาสก็เป็นจังหวัดลำดับต้น ๆ ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน ซึ่งโดยภาพรวมก็เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้จัดตั้งไว้ โดยศักยภาพเต็มที่ของโรงพยาบาลทั้ง 13 แห่ง สามารถฉีดได้ประมาณวันละ 7,500 คน ซึ่งตอนนี้ฉีดไปแล้ว 40,000 กว่าคน ส่วนพื้นที่ที่มีการระบาดก็จะเพิ่มเติมก็จะมีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นด้วย

และขณะนี้มีการเปิดรับบริจาคสิ่งของที่จำเป็น ที่ใช้ในโรงพยาบาลสนามฯ เช่น เตียงนอน หมอน มุ้ง ขนมขบเคี้ยวต่าง  สามารถมาร่วมบริจาคสมทบได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ได้ในวันและเวลาราชการ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 073-532059

นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ระลอกเดือนเมษายน 2564 จนถึงปัจจุบัน เกิดการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในกลุ่มคลัสเตอร์ต่าง ๆ และคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากคลัสเตอร์มัรกัส และในกลุ่มประชาชนทั่วไป ซึ่งขีดความสามารถของโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่ ทั้ง 2 แห่งของจังหวัดนราธิวาส รองรับในการรับดูแลรักษาผู้ป่วยอาจไม่เพียงพอและมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนการควบคุม ป้องกันโรค และการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ทำอย่างไรที่จะสามารถควบคุม จำกัดการแพร่ระบาดไม่ให้กระจายไปสู่พื้นที่วงกว้างในชุมชน และกระจายไปทั่วจังหวัด

ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมบริเวณสวนเปี่ยมสุขนราธิวาส และหอประชุมกองร้อย อส.อำเภอเมืองนราธิวาส เพื่อเตรียมใช้เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งใหม่ ในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างเพียงพอ


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

ชุมพร - "จับจริง" ลงตรวจสอบทุเรียนอ่อน เตรียมพร้อมลงกล่องส่งต่างประเทศ

จับจริง ฝ่าฝืนมีโทษ ทั้งจำทั้งปรับ  ลงตรวจทุเรียนอ่อนเตรียมพร้อมบรรจุลงกล่องส่งต่างประเทศระบาดหนัก  พร้อมให้ทีมงานไปค้นหาทุเรียน อ่อนหนีไปบรรจุลงกล่องส่งต่างประเทศที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี อีกด้วย

วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน 2564 ภายใต้การอำนวยการของนายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร, นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายสัมฤทธิ์ กองเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายปกาสิต พรประสิทธิ์ นายอำเภอหลังสวน ได้มอบหมายให้ นาย ชยันต์รัฐ รุ่งโรจวรารักษ์ ปลัดอาวุโสอำเภอหลังสวน พร้อมด้วย นายดุสิต ศักดิ์รกานต์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชุมพร ปลัดอำเภอหลังสวน เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดชุมพร และสมาชิก อส.

ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบสถานประกอบการรับซื้อ - ส่งออกทุเรียน  "ทรัพย์สิริพงศ์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด โกดังมาโนช ระยอง" โดยได้ทำการสุ่มตรวจวิเคราะห์ปริมาณแป้งในเนื้อทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่บรรจุลงกล่องเพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศ จำนวน 4 ตัวอย่าง ผลตรวจพบว่า ตัวอย่างที่ 1 วัดค่าได้ 25 เปอร์เซ็นต์  ตัวอย่างที่ 2 วัดค่าได้ 33 เปอร์เซ็นต์ ตัวอย่างที่ 3 วัดค่าได้ 30 เปอร์เซ็นต์ มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ และดำเนินการทางกฎหมายต่อไป


ภาพ/ข่าว  ธนากร โกศลเมธี รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร

กระบี่ - สื่อท้องถิ่นจิตอาสา ร่วม สาธารณสุขคลองท่อม ประชาสัมพันธ์เชิงรุก สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ สสอ.คลองท่อม พร้อมเผยทาง สสจ.กระบี่ กำลังรวบรวมหลักฐานสาวโรงงานซิอิ้ว จ.ตรัง แจ้งความเอาผิดฝ่าฝืน พรบ.ควบคุมโรคติดต่อ

วันที่ 28 มิถุนายน 2564 ที่หน้าโรงเรียนคลองท่อมราษฎร์รังสรรค์ นายอนันต์ ลู่เกียง สาธารณสุขอำเภอคลองท่อม พร้อมด้วยสื่อท้องถิ่น สถานีวิทยุกระเสียง รถแห่ เจ้าหน้าที่กู้ชีพคลองท่อม ได้ร่วมกันปล่อยรถแห่ประชาสัมพันธ์เชิงรุก จำนวน 4 คัน เพื่อประชาสัมพันธ์คำสั่งประกาศคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดกระบี่ ในพื้นที่อำเภอคลองท่อม เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารข้อมูลได้อย่างถูกต้อง พร้อมกันนั้นได้กระจายเสียงตามสถานีวิทยุท้องถิ่น หลาย ๆ คลื่น เช่น Fm 91.0 เหนือคลอง 95.0 พรุดินนา 102.75 คลองท่อม 101.0 ลำทับ ในกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนตระหนัก และให้ความร่วมือเข้าใจต่อสถานการณ์ในพื้นที่  

สืบเนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาด โควิด-19 คัตเตอร์ใหม่พบผู้ป่วยจำนวนมากในกลุ่มผู้ที่มาร่วมงานบำเพ็ญกุศลศพ วัดคลองท่อมซึ่งจัดงานในระหว่างวันที่ 12 ถึง 17 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาและมีความเชื่อมโยงระหว่างการระบาดในพื้น อ.คลองท่อม จ.กระบี่

ผลการตรวจวิเคราะห์ การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 11/1 ภูเก็ต จากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก(Active case finding) ณ.วัดคลองท่อม วันที่ 26 มิถุนายน 2564 จำนวน 1287 ราย ผลปกติ 1286 ราย ติดเชื้อ 1 ราย ทางสาธารณสุขได้ดำเนินการประสานและดำเนินการเข้าสู่กระบวนการรักษา และสอบสวนโรค เรียบร้อยแล้ว

ด้านนายอนันต์ ลู่เกียง สาธารสุขอำเภอคลองท่อม พร้อมเผยทาง สสจ.กระบี่ กำลังรวบรวมหลักฐานสาวโรงงานซิอิ้ว จ.ตรัง แจ้งความเอาผิดฝ่าฝืน พรบ.ควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งได้ฝ่าฝืนเดินทางมาร่วมงานบำเพ็ญกุศลศพ ที่วัดคลองท่อม เมื่อวันที่ 12-17 มิย 2564 ที่ผ่านมา และมีความเชื่อมโยงระหว่างการระบาดไปยังผู้ปกครองครูพี่เลี้ยงเด็กและผู้ที่ไปร่วมงานบำเพ็ญกุศลศพในพื้นที่ อ.คลองท่อม ตามวันเวลาสถานที่ดังกล่าว และยังคงรักษามาตรการอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือบ่อย ๆ จนกว่าผ่านสถานการณ์นี้ จนถึงวันที่ 9 กรกฏาคม 2564 จากคำสั่งประกาศคณะกรรมการควบคุมโรค จ.กระบี่ ฉบับที่ 23/2564 โดย พ.ต.ท มล.กิติบดี ประวิตร  ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ 


ภาพ/ข่าว  มโนธรรม ใจหาญ จ.กระบี่  รายงาน

กระบี่ - ธนบัตร 500 ปลอมระบาด !! ซ้ำเติมแม่ค้าขายน้ำเต้าหู้ ในพื้นที่ ต.คลองหิน อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ โดนไป 1 ใบ

วันที่ 28 มิ.ย.64 นางอำสา สกุลหลัง อ.58 แม่ค้าขายน้ำเต้าหู้ อยู่บ้านเลขที่ 25/1 ม.1 ต.คลองหิน อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ได้นำธนบัตรฉบับละ 500 บาท ที่ได้จากลูกค้ามาให้ผู้สื่อข่าวดู ซึ่งลักษณะสีคล้ายของจริงมาก แต่ขนาดเล็กกว่า ใกล้เคียงกับธนบัตรใบละ 100 บาท ไม่มีลายน้ำ และหากไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่รู้ว่าเป็นแบงก์ปลอม ตอนแรกเข้าใจว่า เป็นธนบัตรใบละ 500 บาท ออกใหม่ แต่เมื่อตรวจสอบดูอย่างละเอียดพบว่าเป็นของปลอม ถึงกับเข่าอ่อน เพราะช่วงนี้อยู่ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ลูกค้ามีน้อย

ผู้เสียหาย เล่าว่า ได้ตั้งแผงขายน้ำเต้าหู้และปลาท่องโก่ อยู่บริเวญตลาดคลองหิน ม.1ต.คลองหิน โดยแต่ละวันมีทั้งลูกค้าขาจรและขาประจำ แวะเวียนมาอุดหนุน มากบ้างน้อยบ้างไม่แน่นอน เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้นำเงินจากกระเป๋าที่ได้จากการขายน้ำเต้าหู้ ฉบับละ 500 บาท ออกมาให้ลูกไปซื้อของที่ตลาด หลังจากนั้นลูกก็กลับมาบอกว่า ธนบัตรฉบับดังกล่าว มีลักษณะแปลก ๆ ได้ช่วยกันตรวจดูอย่างละเอียด โดยเทียบกับธนบัตรของจริง จึงพบว่าเป็นธนบัตรปลอม

เชื่อว่าเป็นของลูกค้าที่มาซื้อน้ำเต้าหู้อย่างแน่นอน เพราะตนไม่มีรายได้จากอื่นนอกจากการขายน้ำเต้าหู้และปลาท่องโก่ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าได้มาเมื่อใด เพราะตนไม่ได้สังเกตุ มารู้ตอนที่ลูกสาวกลับมาบอก จึงได้สังเกตดู และแน่ใจว่าเป็น ธนบัตรปลอม เบื้องต้นได้แจ้งลงบันทึกประจำวันไว้ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจป้อมยามคลองหิน และอยากฝากเตือนพ่อค้าแม่ค้าให้ระมัดระวัง เพราะไม่อย่างนั้นจะตกเป็นเหยื่อได้เหมือนกับตน


ภาพ/ข่าว  ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง รายงาน

สุรินทร์ – สองสามีภรรยาเมืองช้าง ผลิกชีวิตปลูกต้นอินทผลัม 3 ไร่ ยอดขายวันเดียวทะลุเกือบ 3 หมื่นบาท

อําเภอโนนนารายณ์ สองสามีภรรยาลาออกจากบริษัทใน กทม.นําเงินที่เก็บหอมลอมริบหันมาปลูกต้นอินทผลัมในไร่เนื้อที่ 3 ไร่ ใช้เวลาปลูกดูแลรักษาเพียง 3 ปี สามารถเก็บผลผลิตสู่ท้องตลาด เพียงเปิดไร่ให้ลูกค้ามาแวะมาชมมาซื้อเพียงวันเดียวมีลูกค้าในอําเภอ และอําเภอข้างเคียงแห่จองขายวันเดียวยอดขายทะลุเกือบ 3 หมื่นบาท

วันที่ 28 มิถุนายน 64 ช่วงเช้านี้ ผู้สื่อข่าวลงไปที่บ้านเลขที่ 69/1 หมู่ 2 บ้านระเวียง ต.โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์ โดยมีนายธนกฤต ไสว อายุ 48 ปีและนางชัทราณี สุขประสงค์ อายุ 40 ปี สองสามีภรรยา ได้ทําสวนอินทผลัม ในเนื้อที่ 3 ไร่ ใช้เวลาปลูกเพียง 3 ปี ก็เก็บผลผลิตส่งขายลูกค้าสั่งจองวันเดียวยอดขายทะลุเกือบ 3 หมื่นบาท

นายธนกฤต ไสว อายุ 48 ปี เจ้าของสวนเล่าว่า ตนและภรรยาเคยทํางานบริษัทในแถว กทม.ก่อนจะลาออกจากงานได้เงินมาก้อนหนึ่ง พาภรรยากลับมาอยู่บ้านแล้วหันมาทําไร่ที่พ่อแม่แบ่งมรดกให้ทํากิน 3 ไร่ โดยครั้งแรกตนและภรรยาปลูกมันสําประหลังแต่ราคามันตกตํ่าขายไม่ได้กําไรและต้นทุน จึงหันมาปลูกต้นทุเรียนแต่ก็ไม่ประสบความสําเร็จ เพราะต้นทุเรียนตายหมด

จากนั้นตนไม่หมดความพยายามได้ศึกษาพืชเศรษกิจตัวใหม่ในเน็ต จึงมีแรงจูงใจอีกครั้งพบว่าอินทผลัมคือพืชเศรษกิจตัวใหม่เหมาะสําหรับพื้นที่และอากาศบ้านเราจึงได้เดินทางไปขอดูงานที่สวนอินทผลัมในเขตอําเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา จนชื่นชอบและก็ได้สั่งซื้อเนื้อเยื้อพันธุ์บาฮีและพันธุ์อัมเดนดาฮาน มาปลูกจํานวน 150 ต้นในเนื้อที่ 3 ไร่ โดยใช้ระยะเวลาปลูกและดูแลรักษาเพียง 3 ปี ก็สามารถเก็บผลผลิตชุดแรกได้ผลโตรสชาติหวานติดลิ้น กรอบอร่อย เปิดขายในราคาลูกอินทผลัมพันธุ์บาฮี ขายกิโลละ 400 บาท

ลูกอินทผลัมพันธุ์อัมเดนดาฮาน ขายกิโลละ 600 บาท  ชึ่งทางตนได้เปิดไร่สวนอาชาผาลัมขายวันอาทิตย์ 27 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา วันเดียวมีลูกค้ามาสั่งจองและแวะมาเที่ยวชมมาซื้อที่สวนจนคึกคักตลอดทั้งวัน จนมียอดขายวันเดียวทะลุเกือบ 3หมื่นบาทเลยทีเดียว และหากท่านใดสนใจสั่งซื้อหรือจะมาดูงานชมสวนติดต่อมาได้ที่ เบอร์ 092-692-6259 (ขาว) ยินดีต้อนรับ


ภาพ/ข่าว  บุญเรือง เกสรจันทร์

ตราด - พบคลัสเตอร์ใหม่ ในพื้นที่อำเภอคลองใหญ่ เป็นคนขนส่งผลไม้ไปประเทศกัมพูชา ผลตรวจติดเชื้อ 6 รายแล้ว เจ้าหน้าที่ระดมฆ่าเชื้อ ตรวจโควิดกลุ่มเสี่ยงสูง

นายชูเกียรติ แซ่เอี้ย สาธารณสุขอำเภอคลองใหญ่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อบต.คลองใหญ่ เจ้าหน้าที่ อสม.อ.คลองใหญ่ ลงพื้นที่ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโควิด-19 ตามสถานที่สาธารณะ ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร และพื้นที่สุ่มเสี่ยงในชุมชนบริเวณ ม.8 บ้านคลองจาก ต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ หลังจากตรวจพบผู้ติดเชื้อที่บ้านคลองจาก ม.8 ต.คลองใหญ่ จำนวน 5 ราย อยู่ในครอบครัวเดียวกัน เมื่อวันที่ผ่านมา ขณะนี้นำตัวส่งรักษาที่ รพ.คลองใหญ่แล้ว ส่วนในวันนี้ผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์นี้รวม 6 รายด้วยกัน

โดยวันนี้เป็นการระดมเจ้าหน้าที่ออกฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในสถานที่ต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยไปสัมผัสมา ทั้งปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร ร้านค้า และบ้านเพื่อน เพื่อป้องกันเชื้อแพร่ระบาดไปสู่ชุมชน อาจทำให้เพิ่มยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก ขณะเดียวกันสาธารณสุขอำเภอคลองใหญ่ ยังนำกลุ่มผู้ขับรถขนส่งผลไม้ไปประเทศกัมพูชา พร้อมครอบครัว จำนวน 125 คน มาทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ตึกแรงงานโรงพยาบาลคลองใหญ่ โดยจะต้องรอผลการตรวจในวันพรุ่งนี้ต่อไป

ทั้งนี้เนื่องจากผู้ติดเชื้อทั้ง 5 คนในชุมชนบ้านคลองจาก สองสามีภรรยาขับรถส่งผลไม้เข้าไปในกัมพูชา และเจ้าหน้าที่กัมพูชาตรวจพบว่าติดเชื้อ ทั้ง ๆ ฝั่งไทยก็มีการตรวจตรงด่านจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก แต่ไม่พบเชื้อ เจ้าหน้าที่กัมพูชาจึงส่งตัวกลับมาฝั่งไทย

นอกจากนี้ยังมีคนขับรถขนผลไม้ไปกัมพูชา ติดเชื้ออีก 1 รายเป็นชาวตำบลเนินทราย อ.เมือง จ.ตราด  รอส่งตัวกลับมาอำเภอเมืองตราด วันนี้สาธารณสุขอำเภอคลองใหญ่ และ อบต.คลองใหญ่ จึงเร่งทำความสะอาดและตรวจหาเชื้อจากกลุ่มเสี่ยงสูงและประชาชนที่ไกล้ชิดดังกล่าวต่อไป


ภาพ/ข่าว วิเชียร ม่วงสี ผู้สื่อข่าว จ.ตราด

นายพรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

พัทลุง - ทำนาริมทะเล 1 เดียวในประเทศไทย ความภาคภูมิใจของลูกหลานชาวบ้านปากประ

บ้านปากประ หมู่ที่ 8 ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง  ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ชีวิตออกเรือหาปลาเป็นอาชีพหลัก หารายได้มาเลี้ยงครอบครัวตั้งแต่บรรพบุรุษ บ้านเรือนก็ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลสาบ ซึ่งแต่ละรายมีที่ดินบนฝั่งเพื่อประกอบอาชีพเพาะปลูกน้อยมาก จึงคิดค้นหาวิธีการเพาะปลูกพืชในทะเลสาบ หรือริมฝั่งริมทะเลสาบเพื่อเป็นผลผลิตเลี้ยงครอบครัว บรรพบุรุษของชาวประมงนับร้อยปี  จึงได้คิดทำนาข้าวในทะเล โดยใช้พื้นที่ริมชายฝั่งทะเลสาบที่ทอดยาวกว่า 9 กิโลเมตร และถ่ายทอดความรู้วิธีการปลูกข้าวในทะเลสาบมาจนถึงยุคปัจจุบัน

นายสายัณ รักดำ กรรมการสถานศึกษาโรงเรียนวัดปากประ ดูแลงานกิจกรรมโรงเรียนและการทำนาเล เผยว่า การทำนาเลของจังหวัดพัทลุงเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย ฤดูกาลในการทำนาเลเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงต้นเดือนกรกฎาคมและจะเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายน เราจะเริ่มหว่านต้นกล้าจะเป็นช่วงต้นเดือนมิถุนายนเว้นต้นกล้าอายุ 1 เดือน แล้วไปปักในทะเลใช้เวลาไม่เกิน 90 วันก็จะเก็บเกี่ยวได้เลย ทำไมเราต้องอาศัยช่วงนี้เป็นเพราะช่วงนี้ลมตะวันตกพัดมาฝั่งตะวันออกหรือที่บ้านเรียกกันว่าลมพลัด จะทำให้น้ำทะเลลดและหาดโคลนก็จะปรากฏขึ้นเป็นโคลนตมที่เหมาะกับการทำนาริมเล ส่วนพื้นที่ที่เหมาะในการทำนาเลก็คือแนวทะเลสาบสงขลาฝั่งจังหวัดพัทลุง ตั้งแต่หมู่ที่ 7 8 และ 11 ของตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ทำได้ปีละ 1 ครั้ง โดยไม่ต้องฉีดยาไม่ต้องใส่ปุ๋ย อาศัยแร่ธาตุและซากพืชซากสัตว์จากโคลนตมที่น้ำทะเลพัดขึ้นมา

ในปีนี้พันธุ์ข้าวที่ใช้จะเป็นข้าวพัฒนาสายพันธุ์ได้แก่พันธุ์ กข.55 เพราะปีที่แล้วเราทดลองระหว่างพันธุ์ กข.43 กับ กข.55 ปรากฏว่าข้าวพันธุ์กข.55 ได้ผลผลิตมากกว่า ปีนี้เลยเน้นเป็นพันธุ์ กข.55 เหมาะสำหรับพื้นที่ทำนาเลตรงนี้ การทำนาเลนี้เป็นอาชีพเสริมรายได้ที่ทำก็เพื่อนำข้าวมาเก็บไว้ใช้กินเองในครัวเรือนไม่ได้ทำไว้ทางการพาณิชย์ ซึ่งปกติแล้วคนทะเลสาบสงขลาจะประกอบอาชีพรับจ้างและการทำประมง ส่วนการทำนาริมเลทำมาเป็น 100 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเป็นการสืบสานวัฒนธรรมทางการเกษตรในด้านการทำนาริมเล อีกอย่างที่นี่ชาวบ้านเขาก็ทำกันมานมนานแล้ว ซึ่งทางสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพัทลุงก็จะมาเน้นเป็นการท่องเที่ยวและเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ในแก่นักเรียนในเรื่องการทำนาเล ส่วนโรงเรียนที่มาเป็นประจำก็คือโรงเรียนสตรีพัทลุงและมหาวิทยาลัยทักษิณวิทยาเขตพัทลุงรวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาเยอะพอสมควร ในด้านผลกระทบในการทำนาเลตรงนี้จะเป็นเรื่องดินและฝนฟ้าอากาศมากกว่า สมมติว่าปีไหนที่พายุเข้าเร็วแล้วข้าวยังไม่สุกดีข้าวก็จะล้ม แล้วถ้าน้ำเค็มเข้าข้าวก็จะลีบไม่เป็นเม็ด แต่โชคดีหน่อยปีที่ผ่านมาน้ำท่วมทำให้น้ำจืดดันน้ำเค็มไปในทะเล และผลจากการน้ำท่วมคลื่นในทะเลแรงเลยพัดเอาตมขึ้นมากองริมขอบชายฝั่งเยอะเลยเหมาะที่จะทำนาเป็นอย่างมาก

ส่วนปริมาณข้าวจะได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ชาวนาริมทะเลสาบสงขลา ไม่ต้องซื้อข้าวกิน และบางรายยังเหลือสามารถขายได้ด้วย “การทำนาริมทะเลแห่งเดียวในประเทศไทย ที่นักท่องเที่ยวหากมีเวลาต้องไปสัมผัส” นี่คือความภาคภูมิใจของลูกหลานชาวบ้านปากประ ที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้

ชลบุรี - เปิดประชุมสภาเมืองพัทยา เตรียมจัดระเบียบครั้งใหญ่ธุรกิจเรือท่องเที่ยวพัทยา กว่า 1,600 ลำ

วันที่ 28 มิ.ย.64 เมืองพัทยา ได้จัดประชุมสภาเมืองพัทยา สมัยสามัญ สมัยที่ 2 ครั้งที่ 1 พ.ศ.2564 ที่ห้องประชุมตากสิน ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี โดยนายสินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร สมาชิกสภาเมืองพัทยา ได้ยื่นกระทู้ข้อมูลการแก้ไขปัญหาและการใช้ท่าเทียบเรือท่องเที่ยวพัทยา (แหลมบาลีฮาย) ของผู้ประกอบการสปีดโบ้ท หลังจากมีการร้องเรียนถึงการบริการที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เพราะไม่มีราคากลางในการควบคุมการจำหน่ายตั๋ว ให้บริการเดินเรือข้ามฟาก

ทั้งนี้ นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า ปัญหาเรื่องดังกล่าวมีมานานแล้ว และเมืองพัทยาก็ได้มีการจัดระเบียบมาโดยตลอด จนมาเข้าสู่ภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง กลุ่มผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยว จึงหาวิธีเอาตัวรอดเพื่อต่อชีวิตธุรกิจ จนอาจทำให้เกิดผลกระทบในเรื่องมาตรฐานค่าบริการตามมา

ที่ผ่านมาเมืองพัทยา ทางนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงพื้นที่เพื่อดูข้อมูลการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมในเรื่องของการจัดระเบียบอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่มีพบว่า น่านน้ำอ่าวพัทยา มีกลุ่มธุรกิจเรือท่องเที่ยวให้บริการอยู่มากกว่า 1,600 ลำ นอกจากนี้การได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลยังพบจุดจำหน่ายตั๋วมีเป็นจำนวนมาก ทำให้เห็นภาพรวมในการประกอบการว่า มีความเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยอย่างไร

นายสนธยา คุณปลื้ม ยังได้ขอให้ผู้ประกอยการเรือทั้งหมดอยู่ในระเบียบ และรอความเป็นรูปธรรมของการสั่งการและการประกาศของเมืองพัทยา เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งลดความขัดแย้งด้วยการอยู่อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นี้ เมืองพัทยา จะได้เตรียมแผนในการวางระเบียบเรื่องนี้ครั้งใหญ่ โดยเรือทั้งหมดจะต้องขึ้นทะเบียนตามประกาศของเมืองพัทยา เพื่ออัพเดทล่าสุด

และจะได้จัดทำจุดจำหน่ายตั๋วเดินเรือ ที่มีการกำหนดราคาที่ชัดเจนมากขึ้น โดยในขณะนี้ตามที่มีผู้ประกอบการตั้งจุดจำหน่ายตั๋วอยู่บริเวณต่าง ๆ เป็นจำนวนมากนั้น เมืองพัทยา ได้อนุโลมให้ทำมาหากินไปก่อน จนกว่าจะมีคำสั่งจัดระเบียบอย่างเป็นทางการ อีกครั้ง

ชลบุรี - การท่าเรือ มอบเงินเยียวยากลุ่มประมงที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ทั้ง 6 กลุ่ม จำนวนเงินกว่า 125 ล้านบาท

เมื่อวันที่  28 มิ.ย. 64 เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีจ่ายเงินค่าชดเขยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ให้กับประมงเรือเล็ก จำนวน 6 กลุ่ม ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 302 รายโดยจ่ายค่าชดเชยเยียวยาในครั้งนี้จำนวน 290 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 125,144,699 บาท โดยมี นายวุฒิศักดิ์ สิงหเดโช นายอำเภอบางละมุง และผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบัง เข้าร่วม ณ ห้องแตรทอง 1 ศูนย์สวัสดิการ ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง ในการรองรับเรือตู้สินค้าระหว่างประเทศ และเป็นการเพิ่มศักยภาพในการให้บริการการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งโครงการดังกล่าว ได้ทำการศึกษาการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA ในพื้นที่โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยมาตรการในรายงาน EHIA กำหนดให้มีการชดเชยเยียวยากับกลุ่มประมงผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังประสงค์จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมในลักษณะการจ่ายเงินค่าชดเชยเยียวยาให้แก่กลุ่มประมงเรือเล็ก จำนวน 6 กลุ่ม ซึ่งมีสมาชิก จำนวน 302 ราย โดยจ่ายค่าชดเชยเยียวยาในครั้งนี้ จำนวน 290 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 125,144,699 บาท สำหรับอีก 12 ราย จะทำการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาเมื่อได้รับเอกสารที่ครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป โดยการจ่ายค่าชดเขยเยียวยานั้น จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือช่วงระยะเวลาการก่อสร้าง 4 ปี และช่วงระยะเวลาการฟื้นฟู 2 ปี ภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ รวมระยะเวลาจ่ายค่าชดเขยเยียวยา จำนวน 6 ปี คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 780,720,894 บาท


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top