Saturday, 17 May 2025
Region

พิจิตร - นราพัฒน์ผู้ช่วย รมต.เกษตรลงพื้นที่เร่งชลประทาน ก่อสร้าง ปตร.ในแม่น้ำยม

สภาพแม่น้ำยมยังคงวิกฤตแห้งขอดแต่เป็นโอกาสของงานก่อสร้างของกรมชลประทานที่กำลังดำเนินการสร้างประตูระบายน้ำทั้ง4 แห่งในเขตพื้นที่พิษณุโลก-พิจิตร ล่าสุด นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วย รมต.เกษตรฯ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้างที่คืบหน้าไปแล้ว 50-60% คาดปลายปี 66 หรือต้นปี 67 สร้างเสร็จแน่ นาข้าวกว่า 3 แสนไร่ ได้ประโยชน์เต็ม ๆ แน่นอน

วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2564 ความคืบหน้าของสถานการณ์แม่น้ำยมในเขตพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก-พิจิตร สภาพของแม่น้ำยมยังคงวิกฤตแห้งขอด แต่ในวิกฤตก็ยังเป็นโอกาสให้กรมชลประทานเร่งมือในการก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำยมเพื่ออนาคตของเกษตรกร ล่าสุด นายนราพัฒน์  แก้วทอง ผู้ช่วย รมต.เกษตรและสหกรณ์  ได้ลงพื้นที่เพื่อเร่งรัดการดำเนินการก่อสร้างของกรมชลประทาน โดยมี นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 และ นายเสกโสม  เสริมศรี ผู้อำนวยการก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับโดยจุดแรกไปดูโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำท่านางงาม ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ 10 ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 460 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 5 หมื่นไร่เศษ จุดที่ 2 ไปดูโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำท่าแห ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 350 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 8 หมื่นไร่เศษ จากนั้นจุดที่ 3 ไปดูโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำวังจิกซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.โพธิ์ประทับช้าง อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 231 ล้านบาทเศษ พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 37,397 ไร่ รวมถึงไปดูประตูระบายน้ำสามง่าม ซึ่งเป็นฝายไฮดรอลิกพับได้ ที่สร้างเสร็จสมบูรณ์และใช้งานได้แล้ว

โดย นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรมต.เกษตรและสหกรณ์  ได้ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์น้ำในขณะนี้ต้องยอมรับว่าเกิดฝนทิ้งช่วงน้ำเหนือเขื่อนมีน้อยยังไม่สามารถส่งน้ำให้เกษตรกรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยแต่ก็ได้ประสานให้กรมฝนหลวงบินขึ้นทำฝนเทียมเหนือเขื่อนในทุกวันแล้ว ส่วนการลงพื้นที่ในครั้งนี้จะไปติดตามเร่งรัดการสร้าง ปตร.ทั้งหมด 7 แห่ง ในเขต พิษณุโลก  พิจิตร นครสวรรค์  ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างรุดหน้าไปแล้ว 50-60% ซึ่งคาดว่าปลายปี 66/67 ทั้งหมดจะก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่นาข้าวกว่า 3 แสนไร่ ได้รับประโยชน์เต็ม ๆ อีกด้วย


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

นนทบุรี - เขาทราย แกแล็คซี่ และ นายธงชัย ล้อสกุล สองอดีตแชมป์โลกขวัญใจชาวไทย มอบข้าวกล่องให้ทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่รพ.สนามที่ดูแลผู้ป่วยโควิด หลังล่าสุดมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด เพิ่มสูงสุดถึงวันละ 5,000 กว่าราย

โครงการมอบข้าวกล่องแชมป์โลก ซีซั่น 2 ของ ชมรมวีรบุรุษแชมป์โลกไทย ยังคงเดินหน้าต่อไป ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.64 มีการนำข้าวกะเพราไก่ไข่ดาว,ข้าวไก่กระเทียม รวม 200 กล่อง และน้ำดื่ม 20 แพ็ค ไปมอบให้ทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่รพ.สนามที่ดูแลผู้ป่วยโควิด ที่ โรงพยาบาลบางใหญ่ จ.นนทบุรี

โดยในวันนี้ มีสมบทบอาหารเพิ่มเติมจากทางพรสวรรค์ ป.ประมุข และภรรยา คุณปรางฉัตร สีทา และเพื่อน ๆ ชาวตลาดแสงจันทร์ ,คุณสมเด็จ ถิ่นรอด, คุณจรุญ โม้แพน, คุณไพฑูรย์ โม้แพน, คุณอรทัย ข้าวเต็มอิ่ม, จารุวรรณ ศรีอ่อนจันทร์ เป็นข้าวไก่พริกแกงเพิ่มอีก 100 กล่อง จากเดิมที่เรามอบ 100 กล่อง เป็น 200 กล่อง โดยมี ทพ.หญิง สุพิชฌาย์ พิทักษ์สกุล เป็นตัวแทนรับมอบ

ซึ่งรวมทั้งรายนามผู้สนับสนุนเดิมจาก เขาทราย แกแล็คซี่ และ นายธงชัย ล้อสกุล มอบข้าวหอมมะลิรวม 180 กก  และน้ำดื่มร่วมอีก 60 แพ็ค ,คุณนริส สิงห์วังชา มอบทุนทรัพย์ 30,000 บาท ,นายสุภชัย ฉัตรทัน กรรมการผู้จัดการ บ.ออก้า สปอร์ต มอบเสื้อให้ทีมชมรมวีรบุรุษแชมป์โลกไทย ,ยอดสนั่น ศิษย์ยอดธง พร้อมด้วย นายโอเล็กซ์ กาบาลีนอฟ และ นายอันตน ซาฟคอฟ เป็นตัวแทนจากสหพันธ์แฮนด์ทูแฮนด์ (ศิลปะการต่อสู้แบบประชิดตัวจากประเทศรัสเซีย) ร่วมสนับสนุนทุนทรัพย์ รวม 6,000 บาท และ น้ำดื่ม จาก พรสวรรค์ ป ประมุข และศูนย์การเรียนรู้มวยไทยต้านภัยยาเสพติดหมู่บ้านพระปิ่น 3  และชาวตลาดนัดแสงจันทร์ถาวร และ คุณศิวาพร เตชะวัฒนา, นายอรรถพล แซ่แต้, คุณถวิล ร้านน้ำดื่ม, คุณไพทูรจ๋า โม้แพน ตลาดแสงจันทร์ถาวร ,คุณอนุศักดิ์ พัววรานุเคราะห์ ร่วมมอบน้ำดื่ม และสนับสนุนน้ำดื่ม รวม 2,500 บาท

จากสถานการณ์ล่าสุดเมื่อ 28 มิ.ย. 64 มียอดผู้ติดเชื้อโควิดเพียงแค่วันเดียว เพิ่มขึ้นถึง 5,406 ราย ด้าน เขาทราย เผยถึง เรื่องนี้ว่า รู้สึกเป็นห่วงไม่น้อย ตนได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลที่เราเข้าไปมอบอาหารว่า มีแพทย์และเจ้าหน้าที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากกระบวนการรักษาผู้ป่วยโควิดน่าจะหลายแห่งแล้ว ตอนนี้มันเหมือนสงครามไวรัสทีมแพทย์เป็นด่านหน้าที่ต้องเผชิญหน้ากับโรคร้าย น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่เหล่านั้นเป็นอย่างมาก

ที่ รพ.ไทรน้อย ก็หยุดรับคนไข้ผู้ป่วยนอกแล้ว แต่ทาง รพ. ก็ยังรับข้าวกล่องทางเราเวลาเดินทางไปมอบก็ต้องรีบมอบและรีบออกมา ผมเองไม่ทานข้าวนอกบ้านมาหลายเดือนแล้ว พยายามป้องกันพอสมควร ก็กังวลเหมือนกันครับ เราตั้งใจทำงานกิจกรรมจิตอาสาของชมรมฯอย่างเต็มความสามารถ และอยากเชิญชวนให้พี่น้องชาวไทยมาร่วมช่วยเหลือเป็นกำลังใจให้กัน

 

อุทัยธานี - เจ้าอาวาสวัดสั่งปิดด่วน!! หลังชาวบ้านแห่มารักษา ลูบน้ำมันหลวงพ่อองค์ดำ รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ก่อนที่จะเกิดคลัสเตอร์ครั้งใหม่

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 64 เวลา 09.00.น.ณ วัดหายทรายงาม หมู่ 8 ต.ระบำ อ.ลานสัก โดยพระใบฏีกาประครอง สีลธมโม เจ้าอาวาสวัดหาดทรายงาม ได้เปิดเผย ว่าขณะนี้ได้มีการแพร่ระบาดขึ้นมาใหม่ ทำให้ประชาชนหวาดกลัวกับโรคระบาดของโควิด ครั้งล่าสุด ที่พบในเมืองไทย นอกจากนี้การที่พระสงฆ์ต้องรับกิจนิมนต์ต่าง ๆ เช่นในงานศพของผู้ป่วย ก็ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้พระติดเชื่อได้ง่าย เนื่องด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ทางวัดหาดทรายงาม จากการรักษาหลวงพ่อองค์ดำ ที่เล่าขานตามตำนาน และความเชื่อ ของพระพุทธเจ้าด้วยการใช้น้ำมันงา มาทาตรงที่เจ็บปวด จึงขอไม่ให้พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปกราบไหว้ เป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลง และจางลง ทั้งนี้ทางเจ้าอาวาสวัดหาดทรายงาม ได้ห่วงใยประชาชนในพื้นที่ และนอกพื้นที่

ทั้งนี้ทางวัดหาดทรายงาม ได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และร่วมแนวทางมาตราการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ตลอดจนการดำรงชีพของประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติดังกล่าว

ซึ่งก่อนนี้ ได้มีชาวบ้านต่างทั่วสารทิศ ได้เข้ามากราบไหว้หลวงพ่อพระพุทธเจ้าองค์ดำ หรือพระพุทธเจ้าหมอยา  แห่งนาลันทา สร้างในสมัยพระเจ้าเทวาปาล ณ วัดหายทรายงาม โดยสร้างจากนิลดำทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 3.5 เมตร  ซึ่งชาวบ้านนับถือและศรัทธา ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บของพระพุทธเจ้าองค์ดำเป็นอย่างมาก เป็นความเชื่อ ความร่ำลือของชาวบ้านว่าหากชาวบ้านหรือผู้สูงอายุ เด็กเล็กหรือคนในครอบครัวเกิดเจ็บป่วย ก็จะนำน้ำมันเนยมาอฐิฐานจิตให้ท่านรักษาโรคแล้วนำน้ำมันมาทา และชโลมให้ทั่วองค์ท่านก่อน แล้วถึงจะมาลูบน้ำมันเนยนั้นกลับมาทาตัวเองหรือคนเจ็บ จะช่วยทำให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ กินข้าวได้ แข็งแรง และอ้วนท้วนสมบูรณ์ จึงถวายพระนามว่า หลวงพ่อน้ำมัน

(เสียงสัมภาษณ์ พระใบฏีกาประครอง สีลธมโม เจ้าอาวาสวัดหาดทรายงาม)


ภาพ/ข่าว  ภาวิณี ศรีอนันต์ รายงาน  

 

สุรินทร์ - แถลงข่าวและประมูลทุเรียนเมืองช้างการกุศล สบทบทุนจัดซื้อรถยนต์รับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่

ที่ห้องประชุมช้างใหญ่ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ นายสุวพงศ์ กิตติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วย นางจันทร์เพ็ญ กิตติภัทย์พิบูลย์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์ และแพทย์หญิงดวงแก้ว  ตัณฑประภา รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ ร่วมกันแถลงข่าว กิจกรรมสาธารณกุศล การประมูลทุเรียนเมืองช้าง โดยจังหวัดสุรินทร์ได้จัดขึ้น เพื่อสมทบทุนจัดซื้อรถยนต์รับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ มอบให้แก่โรงพยาบาลสุรินทร์ โดยทุเรียนที่จะนำมาประมูลเป็นทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่ของจังหวัดสุรินทร์เป็นต้นแรก ๆ

ในขณะเดียวกันจังหวัดสุรินทร์ ได้ขับเคลื่อนโครงการ สุรินทร์รุ่งเรือง เมืองเกษตรอินทรีย์  และกิจกรรมอีกโครงการที่สำคัญคือ การส่งเสริมการปลูกทุเรียนเมืองช้าง โดยจังหวัดสุรินทร์เริ่มมีเกษตรกรปลุกทุเรียนครั้งแรกในพื้นที่อำเภอบัวเชด มาเป็นเวลากว่า 20 ปี และปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่ 13 อำเภอ ส่วนใหญ่จะปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และพันธุ์ก้านยาว ซึ่งทุเรียนเมืองช้างของจังหวัดสุรินทร์จะมีเอกลักษณ์สำคัญคือ “สีนวลดั่งงาช้าง รสสัมผัส หอมเย็น หวานละมุน

โดยในการประมูลจะจัดขึ้นจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการประมูลย่อยจัดขึ้นในวันนี้ (29 มิ.ย. 64) ที่ห้องประชุมช้างใหญ่ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ โดยมีผลทุเรียนมาจาก 5 สวน  เข้าร่วมประมูลจำนวนทั้งสิ้น 13 ลูก ซึ่งสามารถประมูลลูกทุเรียนได้ในราคาตั้งแต่ลูกละ 25,000 – 110,000 บาท ได้เงินเข้าการกุศลในครั้งนี้รวมเป็นเงินกว่า 498,000 บาท โดยทุเรียนที่ประมูลได้ราคาสูงที่สุดคือ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จากสวน นางฉลอม  จุดาบุตร บ้านโคกกะลัน ตำบลปาสารททนง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ประมูลได้ในราคา 110,000 บาท และจะมีการประมูลทุเรียนเมืองช้างอีกครั้ง โดยจะมีการประมูลครั้งใหญ่ในงานเปิดตัวทุเรียนเมืองช้าง ในวันที่ 15 กรกฏาคม 2564 ที่บริเวณปราสาทศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์  โดยจะมีกิจกรรม การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านสุรินทร์  การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์ของชุมชน และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การประมูลทุเรียนเมืองช้าง การจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนเมืองช้าง และที่เป็นไฮไลท์ของงานคือการแข่งขัน ปอกทุเรียนลีลา สร้างความสนุกสนาน และให้ทุกคนรู้จักกับทุเรียนเมืองช้างในครั้งนี้ด้วย


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

 

มุกดาหาร - แถลงข่าวการจัดงานมหัศจรรย์มุกดาหาร 3 พิภพ ณ วัดรอยพระพุทธบาทภู โดยงานมหัศจรรย์มุกดาหาร 3 พิภพ Miracle Mukdahan จะจัดขึ้น 3 แห่ง คือ ลานกิจกรรมแก่งกะเบา, ลานกิจกรรมสะพานมิตรภาพไทย-ลาว, และวัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 เวลา 18.30 น นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ได้ร่วมแถลงข่าวจัดงานมหัศจรรย์มุกดาหาร 3 พิภพ พร้อมผู้ร่วมแถลงข่าว พระราชรัตนโมลี เจ้าคณะจังหวัดมุกดาหาร นายศศิพงศา จันทรสาขา รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดมุกดาหาร และนายกสมาคมเครือข่ายมุกดาหาร เมืองสามธรรม นายสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ททท. นางสาวกนกวรรณ ดุงศรีแก้ว ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครพนม และประชาชนชาวมุกดาหารเกือบ 200 คน ทั้งนี้ภายในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรม นาฏยนาคีศรีมุกดา การแสดงศิลปวัฒนธรรมรำมวยโบราณ และฟ้อนหางนกยูง เพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมที่สวยงามของจังหวัดมุกดาหารอีกด้วย

สำหรับการจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวเมืองสามธรรม "ย้อนตำนาน พญานาคราชออนซอนกลุ่มชาติพันธุ์ลุ่มน้ำโขงจังหวัดมุกดาหาร" และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยว เมืองสามธรรมในวิถีชีวิตลุ่มน้ำโขงจังหวัดมุกดาหารสู่ความยั่งยืน ก่อให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวที่หลากหลาย สำหรับนักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไป ที่มีความเชื่อความศรัทธา เรื่องพญานาคในลุ่มแม่น้ำโขงเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 รวมทั้งรุ่งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเมือง 3 ธรรม (ธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม) ในวิถีชีวิตลุ่มน้ำโขงจังหวัดมุกดาหารสู่ความยั่งยืนสืบไป


ภาพ/ข่าว  ชุด ฉก.พญาอินทรีย์ / เดวิท โชคชัย จ.มุกดาหาร

พิจิตร – สาธารณสุขและฝ่ายปกครองเมืองพิจิตร กวาดต้อนแรงงานก่อสร้าง1,389 ราย จับตรวจหาเชื้อโควิด

โควิดระบาดกรุงเทพและปริมณฑลรัฐบาลสั่งล็อกดาวน์รวมถึงพื้นที่ต่าง ๆ ในเมืองใหญ่หรือเมืองท่องเที่ยวก็ล้วนหากินยากลำบากส่งผลแรงงานก่อสร้างและชาวพิจิตรที่ไปทำมาหากินต่างถิ่นแห่กลับบ้านนับรวมจาก12อำเภอของพิจิตร1,389ราย ล่าสุดสาธารณสุขจับมือฝ่ายปกครอง ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม.ระดมกวาดต้อนจับตรวจหาเชื้อโควิดปฏิบัติการเชิงรุก

วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2564 ที่โรงพยาบาลพิจิตร นายแพทย์กมล กัญญาประสิทธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร,นายแพทย์สุรชัย แก้วหิรัญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิจิตร ,นายแพทย์โสภณ โฆษิตวานิชย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิจิตร พร้อมด้วย นายไชยา สมถวิล นายอำเภอเมืองพิจิตร ได้ร่วมกันปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิดที่เป็นกลุ่มแรงงานก่อสร้างและผู้ประกอบอาชีพสาขาอื่นที่ไปทำงานในกรุงเทพฯและปริมณฑลรวมถึงจังหวัดใหญ่ ๆ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวแต่หลังจากที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ไซต์งานก่อสร้างและกิจการร้านอาหารและสถานบันเทิง ส่งผลให้ชาวพิจิตรที่ไปทำงานยังที่ต่างๆ ต่างเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองพิจิตรกันเป็นจำนวนมาก โดยมีสถิติของฝ่ายปกครองและสาธารณสุขแจ้งจำนวนผู้เข้ามาในพิจิตรเมื่อ 29 มิ.ย. 64  พบว่าจากพื้นที่ 12 อำเภอของพิจิตรมีผู้เดินทางเข้ามา 1,388 ราย และเป็นผู้ที่มาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจำนวน 550 คน  กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี  สมุทรปราการ และมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด 11 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตรัง นครปฐม ปัตตานี เพชรบุรี สงขลา สมุทรสาคร สระบุรี ยะลา นราธิวาส  อีกจำนวน 391 ราย  รวมถึงมาจากพื้นที่ควบคุม 9 จังหวัด 177 ราย  พื้นที่เฝ้าระวัง 53 จังหวัด 271 ราย

โดยในวันนี้ นายไชยา สมถวิล นายอำเภอเมืองพิจิตร ได้ให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านและ อสม.เมืองพิจิตร ไปทำการค้นหาตัวและกวาดต้อนชุดแรกจำนวน 41 คน มาทำการ Swap หาเชื้อโควิดและวันพรุ่งนี้ก็จะนำพามาอีก 35 คน เช่นเดียวกับอำเภออื่น ๆ ก็ดำเนินการด้วยวิธีแบบนี้ด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ นายสมชาย (นามสมมุติ) เล่าว่าตนเองเป็นชาวบ้านอยู่  ต.บ้านบุ่ง อ.เมืองพิจิตร ไปขี่วินมอเตอร์ไซด์รับจ้างอยู่ที่จังหวัดระยองให้บริการคนงานก่อสร้างและผู้ใช้บริการทั่วไป ขณะนี้แคมป์คนงานก่อสร้างสั่งหยุดงานกิจการร้านค้า  ร้านอาหาร ก็ต้องปิดกิจการไปตาม ๆ กัน ทำให้ไม่มีผู้ใช้บริการจึงทำให้ขาดรายได้ ฝืนอยู่ที่ จ.ระยอง บ้านต้องเช่า ข้าวต้องซื้อ รายได้ก็ไม่พอกิน จึงตัดสินใจพาตัวเองและภรรยากลับพิจิตรบ้านเกิด แต่ก่อนที่จะเดินทางมาก็โทรประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านทุกระยะและเมื่อกลับมาก็ปฏิบัติตามนโยบายของทางราชการไม่ได้ไปมั่วสุมกับใคร วันนี้ อสม.-ผู้ใหญ่บ้าน ชี้แจงชักชวนให้มา Swapหาเชื้อโควิดตนเองก็เต็มใจมาทั้งนี้เพื่อจะได้นำผลตรวจไปแสดงให้เพื่อนบ้านและญาติพี่น้องได้รู้ได้เห็นแล้วจะได้สบายใจ ซึ่งถือว่านโยบายของจังหวัดพิจิตรดูแลชาวพิจิตรได้เป็นอย่างดีอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

อุบลราชธานี - พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็น Premium OTOP

นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พบปะกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็น Premium OTOP กิจกรรมที่ 3 สร้างการรับรู้ภูมิปัญญาผ้าและเครื่องแต่งกาย  ณ หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี

โครงการดังกล่าวกรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบหมายให้จังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการ กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้ผลิต ผู้ประกอบการจากจังหวัดอุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มุกดาหาร บึงกาฬ อำนาจเจริญ และจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 50 กลุ่ม/ราย เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ และพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็นผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยม เป็นที่ต้องการของตลาด

พร้อมนี้รองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้กล่าวขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนและคณะวิทยากร เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการ ตลอดจนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วน บูรณาการการดำเนินงานโครงการให้สำเร็จตามวัถุประสงค์ที่ตั้งไว้


ภาพ/ข่าว  กิตติภณ เรืองแสน

ลำพูน – อธิบดีกรมสุขภาพจิต ติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหา ‘การฆ่าตัวตาย’ ภายใต้กิจกรรม 4 Plilar

แพทย์หญิง พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิตพร้อมคณะฯ ติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย ภายใต้กิจกรรม 4 Plilar ณ ห้องประชุมจามเทวี ศาลากลางจังหวัดลำพูน ถนนอินทยงยศ ตำในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน และประชุมติดตามผลการดำเนินงานสุขภาพจิตชุมชนในโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย (4 pillar) จังหวัดลำพูน ในวันนี้ (30 มิ.ย. 64) เมื่อเวลา 09:30 น.

นอกจากนี้ ยังได้มีการอภิปรายหัวข้อการป้องกันแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายประเด็น

1. นโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายของจังหวัดลำพูน โดย นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน

2. สถานการณ์การฆ่าตัวตายของประเทศไทย และแนวทางแก้ไขปัญหา โดย แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต

3. บทบาทของพระสงฆ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย โดย พระเทพรัตนนายก เจ้าคณะจังหวัดลำพูน

4. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายโดยใช้ลำพูนโมเดล (4 pillar) โดย นายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูน

ดำเนินรายการ โดย นายแพทย์ กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง และ นางบุษบา อนุศักดิ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน

จากนั้น อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมคณะฯ เดินทางไปยังเทศบาลตำบลทากาศเหนือ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เพื่อติดตามผลการดำเนินงานสุขภาพจิตชุมชน และ มอบทุนประกอบชีพให้กับผู้เปราะบาง โดย แพทย์หญิงพรรณพิมลฯ ก่อนเดินทางกลับ

นางพรรณพิมล อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า "จากสถานการณ์การฆ่าตัวตายประเทศไทย ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา พบมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จต่อแสนประชากรสูงอยู่ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง , 2540 โดยในปี 2540-2542 พบร้อยละ 6.92-8.12 และสูงสุดในปี 2542 ร้อยละ 8.59 ส่วนในปี 2563 อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ต่อแสนประชากร อยู่ที่ร้อยละ 7.37 และจากการรวบรวมข้อมูลตามเขตสุขภาพ ในช่วงเดือน ตุลาคม 2563 ถึง พฤษภาคม 2564 พบเขตสุขภาพที่ 18 จังหวัดภาคเหนือตอนบน) มีอัตราการฆ่าตัวตายสําเร็จต่อแสนประชากร ร้อยละ 10.01 และ สูงสุดในจังหวัดลำพูน ถึงร้อยละ 14.22"

สำหรับ การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายและการลดอัตราการฆ่าตัวตายจะสำเร็จได้นั้น เกิดจากแรงขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน โดยมีคณะกรรมการระดับจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ภาคส่วนต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันช่วยเหลือ ค้นหา ผู้ที่มีความเสี่ยงการฆ่าตัวตายในกลุ่มนายจ้าง ลูกจ้าง และแรงงานในชุมชน ด้วยการใช้เครื่องมือ Mental Health Check-In เพื่อตรวจเช็คสุขภาพใจ สำรวจผู้ที่มีภาวะเครียด ซึมเศร้า ภาวะหมดไฟ เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โดยข้อมูลที่ได้จะส่งต่อทีมสุขภาพจิตให้คำปรึกษา จะลดผลกระทบดังกล่าวได้ หรืออีกหนึ่งช่องทางการติต่อเพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต สามารถติดต่อสายตรง 1323 หรือปรึกษาช่องทางออนไลน์ผ่านแฟนเพจ  Facebook  สายด่วนสุขภาพจิต 1323

ทั้งนี้ การใช้วัคซีนใจในชุมชน 4 สร้าง 2 ใช้ คือ สร้างชุมชนปลอดภัย สร้างชุมชนให้สงบ สร้างชุมชน ให้มีความหวัง สร้างชุมชนที่เข้าใจและให้โอกาส ใช้ศักยภาพชุมชน และใช้สายสัมพันธ์ในชุมชน รวมถึงการสอดส่อง มองหา ใส่ใจรับฟัง และส่งต่อเชื่อมโยง ในหลัก 3 ส. จะช่วยส่งเสริมป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายได้อย่างยั่งยืน อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยในที่สุด


ภาพ/ข่าว  กรรณิการ์  วิจิตรสกลการ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดลำพูน

สุรินทร์ – เริ่มวันแรก บรรยากาศการฉีดวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" ที่จังหวัดสุรินทร์คึกคัก ประธานหอการค้าสุรินทร์ เผยว่า ยังมีโอกาสนำเข้าวัคซีนยี่ห้ออื่น เพื่อเป็นทางเลือก

วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่ ศูนย์ฉีดวัคซีน ชั้น 2 โรงพยาบาลรวมแพทย์หมออนันต์ นายเสริมศักดิ์ สีสันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยนายวีรศักดิ์ พิษณุวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ และแพทย์หญิง มนัสลักษ์ อริยะชัยพาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรวมแพทย์ (หมออนันต์) เข้าสังเกตการณ์การให้กำลังใจประชาชน และทีมงานจุดฉีดวัคซีนวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม วันแรก ให้แก่ประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์

โดยหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ได้สั่งจองวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 1,200 โดส โดยกลุ่มที่ได้รับการฉีดส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคณะครูโรงเรียนเอกชน ห้างร้าน บริษัท และผู้สูงอายุ ทั้งนี้ นายนายวีรศักดิ์ พิษณุวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ เผยว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม ที่ได้รับการจัดสรรมาจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 1,200 โดส ในล็อตแรกนี้ ได้นำมาฉีดให้กับประชาชน ภาคเอกชน ในจังหวัดสุรินทร์ ที่มีความต้องการวัคซีนทางเลือก 

โดยหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ได้ร่วมกับโรงพยาบาลรวมแพทย์หมออนันต์ จัดตั้งเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม วัคซีนทางเลือกในครั้งนี้ ซึ่งอาจจะพอบรรเทาความต้องการ จากภาคเอกชนลงได้ไม่มากก็น้อย โดยเห็นได้ว่ามีประชาชนสนใจเข้าจองวัคซีนเป็นอีกจำนวนมาก โดยทางหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ จะทำการสำรวจความต้องการวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์ม และยี่ห้ออื่น ๆ ของประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์อีกครั้ง


ภาพ/ข่าว  ปุรุศักดิ์ แสนกล้า 

ชลบุรี - ร่วมให้และแบ่งปัน มูลนิธิจำรัส-สุพัตรา สส.สัตหีบ มอบถุงยังชีพ 200 ชุด ให้ชาวบ้านช่องแสมสาร

ที่วัดช่องแสมสาร ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ร่วมให้และแบ่งปัน มูลนิธิจำรัส-สุพัตรา ร่วมกับ ดร.สะถิระ เผือกประพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 8 อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี นำถุงยังชีพที่ประกอบไปด้วย ข้าวสาร หน้ากากอนามัย น้ำดื่ม มามอบให้กับประชาชนชาวแสมสาร จำนวน 200 ชุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนช่วง วิกฤตโควิด-19 โดยมี นายเสน่ห์ พิทักษ์กรณ์ ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นายประเสริฐ พิทักษ์กรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร นายสมประสงค์ วังแก้วหิรัญ ผู้ช่วย สส.เขต 8 ชลบุรี สมาชิกทีมงาน ผู้ใหญ่ใจดี มาร่วมมอบถุงยังชีพให้ประชาชน

ในการนี้ พระครูวิสารทสุตากร เจ้าคณะตำบลพลูตาหลวง เจ้าอาวาสวัดช่องแสมสาร มาร่วมมอบถุงยังชีพเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ให้ประชาชน สู้กับพิษโควิด-19 ท่ามกลางรอยยิ้มและความปลาบปลื้มใจของประชาชน

ดร.สะถิระ เผือกประพันธุ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของ ชาวบ้าน จากสถานการณ์ โควิด-19 ในอำเภอสัตหีบ ที่ยังรุนแรงอยู่ทุกวัน ทาง มูลนิธิจำรัส-สุพัตรา ร่วมกับ ผมดร.สะถิระ เผือกประพันธุ์ และผู้มีจิตศรัทธา เล็งเห็นความเดือดร้อน ในช่วงวิกฤตแบบนี้ จึงจัดถุงยังชีพ จำนวน 200 ชุด มามอบให้กับประชาชน และด้วยความห่วงใยขอความร่วมมือกับประชาชนให้ป้องกันตนเองให้มากขึ้น ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อออกไปพบปะผู้คน ล้างมือด้วยเจลล้างมือทุกครั้ง และควรทำบ่อย ๆ ให้เกิดความชิน ไม่ไปอยู่ในพื้นที่ที่มาความเสี่ยง หรือแออัดจนเกินไป ดังนั้น เราทุกคนต้องสู้ไปด้วยกัน เราจะไม่ทอดทิ้งกัน 


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล  ทิพย์ศรี  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top