Wednesday, 14 May 2025
Region

สตูล - ผู้ว่าราชการจังหวัด ยกระดับมาตรการป้องกัน COVID 19 ปรับจริงผู้ไม่ใส่แมสก์ !! ตั้งด่านคัดกรอง ทุกตำบล , 7 อำเภอ ห้ามข้าราชการออกนอกพื้นที่เว้นที่จำเป็นเท่านั้น

นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เปิดเผยภายหลังประชุม ศบค.จังหวัดสตูล ว่าเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID 19 ในปัจุบันมีการแพร่ระบาดออกไปและจังหวัดโดยรอบของสตูล มีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมาก ซึ่งได้มีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด โดยสิ่งที่จะทำให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคคือต้องไปมาหาสู่ให้น้อยที่สุด มีการเดินทางน้อยที่สุด ซึ่งอาจจะกระทบเศรษฐกิจและสังคมบ้าง แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับขึ้นมา โดยที่ประชุมมีมติดังนี้

1.การยกระดับการบังคับใช้กฎมายเรื่องการสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกเคหสถาน โดยมอบหมายผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูลร่วมกับฝ่ายปกครอง ในการดำเนินการเรื่องจับ/ปรับผู้ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ปรับไม่เกิน 20,000 บาท 

2.การจัดตั้งด่านคัดกรอง COVID19 ทุกตำบล รวม 36 ตำบล/ด่าน ซึ่งด่านเหล่านี้จะคัดกรองบุคคลนอกพื้นที่ทุกจังหวัด เพราะตอนนี้ทุกพื้นที่ถือว่าเสี่ยงหมดแล้ว

3.จัดระบบมาตรการเข้าไปสืบสวนโรคแบบเข้มข้น แบบรวงผึ้ง ประกอบด้วย กำนันผู้ใหญ่บ้าน อสม. รับผิดชอบดูและครัวเรือน 10-15 หลัง เพื่อดูว่าบ้านไหนมีลูกหลาน พี่น้อง เข้ามาในพื้นที่โดยไม่แจ้ง หรือไม่สแกน QR หรือไม่ หากไทม์ไลน์มีความเสี่ยงสูง จะนำเข้า LQ แต่ถ้ามีความเสี่ยงต่ำให้เข้า HQ และต้องรายงานผลทุกวัน

4.ข้าราชการห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่โดยเด็ดขาด หากไม่มีความจำเป็น แต่ถ้ามีความจำเป็น หลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ขออนุญาตผู้บังคับบัญชาและให้เขียนไทม์ไลน์รายงานผู้บังคับบัญชาเมื่อเดินทางกลับมาปฏิบัติหน้าที่ 

5.มาตรการปิดจุดเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น ร้านเกมส์ ร้านสนุกเกอร์หรือบิลเลียด และฟิตเนส และขอความร่วมมือในการงดจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ทั้งหมดและงดการดื่มกิน หรือการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก ยกเว้นกิจกรรมด้านประเพณีวัฒนธรรม เช่น งานศพ งานบวช งานแต่ง เท่าที่จำเป็นและผู้เข้าร่วมน้อยที่สุด

6.มาตรการการเข้าสู่จังหวัดสตูล โดยยกระดับอย่างเต็มที่ ซึ่งเมื่อก่อนสามารถเดินทางเข้ามาได้และตอนนี้ให้ล็อคตั้งแต่ต้นทาง คือ คนที่เข้ามาในจังหวัดสตูล ต้องผ่านการตรวจ COVID 19 ไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง หากผลปกติสามารถเข้ามาได้ แต่หากไม่มีผลตรวจ แต่เมื่อเข้ามาในพื้นที่ หากชุดปฏิบัติการควบคุมโรคประจำตำบลตรวจพบเจอก็จะนำไปสู่ LQ ดังนั้น ถ้าไม่จำเป็นขอให้อยู่กับที่ ส่วนเรื่องอื่น ๆ เช่น รถส่งของ ผลไม้ ของสด ก็ไม่มีปัญหา

ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะทดลองใช้ 14 วัน แล้วจะประเมินให้มีความเหมาะสมว่ากระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่  สำหรับวันนี้สตูลยอดเพิ่ม 1 ราย รวม 11 ราย พบในเด็กหญิงไทยอายุ  5 ปี


ภาพ/ข่าว  นิตยา แสงมณี / ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล

ยะลา – นายอำเภอเบตง ตรวจเข้มจุดคัดกรองสกัดโควิด-19 เข้าพื้นที่หลังผู้ติดเชื้อเสียชีวิตลงภายใต้ “ร่วมใจเบตงสู้ไปด้วยกัน”

นายอำเภอเบตงตรวจเข้มจุดคัดกรองเดินทางข้ามอำเภอ ตำบล  พื้นที่รอยต่อระหว่างพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการของจังหวัดยะลาภายใต้ “ร่วมใจเบตงสู้ไปด้วยกัน” หลังผู้ติดเชื้อเสียชีวิตรายแรกของอำเภอเบตง

เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2564 นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง  จ.ยะลาพร้อมด้วย พ.ต.ท.ทศพล พลอยงาม รองผกก.ป.สภ.เบตง พร้อมด้วย สมาชิกแม่บ้านมหาดไทยอำเภอเบตง  พัฒนาการอำเภอ  สมาชิกสภาเทศบาลเมืองเบตง  ผู้นำชุมชนและประชาชนจิตอาสา ออกเยี่ยมเยียนเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ จุดคัดกรองการเดินทางข้ามอำเภอ ตำบล  พื้นที่รอยต่อระหว่างพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการของทางราชการ พร้อมทั้งมอบน้ำดื่มและแอลกอฮอล์  เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ณ จุดตรวจ/จุดคัดกรอง เข้าพื้นที่ อ.เบตง  พร้อมกันนี้ นายอำเภอเบตงยังได้ตรวจเยี่ยมบ้านผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงโดยให้คำแนะนำ ตามมาตรการป้องกันโรคโควิด - 19 และให้ อสม.ประจำตำบล ติดตามในการปฏิบัติตัวให้เป็นตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง  เปิดเผยว่า มาตรการของจังหวัดยะลา ได้ดำเนินการเข้มทุกมาตรการ ประชาชนโดยส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ยังมีชาวบ้านบางส่วน ที่อาจมีความจำเป็นต้องทำภารกิจในพื้นที่เสี่ยงพื้นที่ระบาด ส่งผลให้การตรวจหาเชื้อบุคคลกลุ่มเสี่ยง ในเชิงรุกโดยในพื้นที่มีผู้เดินทางกลับมาในพื้นที่จำนวน 240 คนโดยมี อสม.ประจำตำบลติดตามในการปฏิบัติตัวให้เป็นตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด สำหรับผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงทางอำเภอเบตงได้ขอความร่วมมือ หากหลีกเลี่ยงไม่ไปไม่ได้ในการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงกลับมา ก็ต้องป้องกันตัวเอง และเมื่อกลับมาต้องกักตัวเองอยู่บ้าน 14 วัน และรีบเข้ารับการตรวจเชื้อเพื่อความปลอดภัย

นอกจากนี้ นายอำเภอเบตง พร้อมด้วย สมาชิกแม่บ้านมหาดไทยอำเภอเบตง  พัฒนาการอำเภอ  สมาชิกสภาเทศบาลเมืองเบตง  ผู้นำชุมชนและประชาชนจิตอาสา ลงพื้นที่เยี่ยมเยียน และมอบถุงยังชีพของอำเภอเบตง  ให้กับญาตผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 รายแรกของอำเภอเบตงและ มอบถุงยังชีพของอำเภอเบตง  ให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีฐานะยากจน ยากไร้ ผู้ป่วยติดเตียง มีความยากลำบากในการดำรงชีวิต ในพื้นที่ หมู่ที่ 1และ หมู่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ประชาชนและ ขอเป็นกำลังใจให้ อสม.และเจ้าหน้าที่ทุกคน  ช่วยกันฝ่าวิกฤตโรคติดต่อโควิด 19 ไปให้ได้ควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยให้ยึดหลัก D-M-H-T-T  D : Distancing คือ เว้นระยะห่างระหว่างกัน M : Mask Wearing คือ สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัยตลอดเวลา H : Hand Washing คือ ล้างมือบ่อย ๆ T : Testing คือ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้างาน T : Thai Cha Na คือ เช็กอินผ่านแอปพลิเคชัน "ไทยชนะ" ทุกครั้ง เมื่อเข้าไปในสถานที่ต่าง ๆโดยในพื้นที่อำเภอเบตงจะไม่มีการสูญเสียเพิ่มขึ้นอีก ภายใต้ “ร่วมใจเบตงสู้ไปด้วยกัน”


ภาพ/ข่าว  ธานินทร์  โพธิทัพพะ / ปื๊ด เบตง

ตาก - ฝ่ายปกครองอำเภอแม่สอด บูรณาการร่วมหลายหน่วยงาน ลงพื้นที่ตรวจร้านอาหาร เน้นย้ำตามมาตรการคำสั่งของจังหวัดตาก

นายชัยพฤกติ์ เชียรธานรักษ์ นายอำเภอแม่สอด ได้มอบหมายให้ นายสัญญา เพชรเศษ ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง นายภัทรดนัย อุทัยรัตน์ ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานความมั่นคง นายธวัชชัย  อ่อนสาร ปลัดอำเภองานป้องกัน พร้อมด้วยสมาชิก อส.อ.แม่สอด ที่ 3  ร่วมกับสาธารณสุขอำเภอแม่สอด และเทศบาลนครแม่สอด ได้ร่วมกันตรวจร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มตามร้านอาหาร ร้านบุฟเฟต์ ชาบู หมูกระทะ จำนวน 5 ร้าน ดังนี้

         1.ร้านหมูกระทะ 2 in 1

         2.ร้านฅนเก็บฟืน

         3.ร้านชาบูหมูตอน

         4.ร้านชาบูบ้านเพื่อน

         5.ร้านย่างเนย@แม่สอด

โดยได้เน้นย้ำประชาสัมพันธ์กับเจ้าของร้านให้ดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. และให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มได้จนถึงเวลา 23.00 น. ในลักษณะของการนำไปบริโภคที่อื่น กรณี ร้านอาหารที่ ต้องให้ลูกค้าบริการตนเอง เช่น บุฟเฟต์ ชาบู หมูกระทะ หรือ ร้านที่มีลักษณะคล้ายกัน ห้ามลูกค้าลุกเดินไปตักอาหารเองโดยให้พนักงานบริการเสริฟอาหารตามโต๊ะ และจัดสถานที่ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด และห้ามมีการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในบริเวณดังกล่าว


ภาพ/ข่าว  วรภา พันลุตัน

ขอนแก่น - ตำรวจภูธรภาค 4 รับมอบกรมธรรม์ประกันโควิด ครั้งที่ 2 สร้างความมั่นใจให้กับผู้ปฏิบัติงานในสังกัด

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4  พล.ต.ท.ยรรยง เวชโอสถ ผบช.ภ.4 พร้อมด้วย พล.ต.ต.วรัตม์ชัย ศรีรัตนวุฑฒิ รอง ผบช.ภ.4 พล.ต.ต.พุฒิพงศ์ มุสิกูล ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น และผู้บริหารกลุ่มบริษัท น้ำตาลเอราวัณ จำกัด ได้จัดกิจกรรมพิธีรับมอบกรมธรรม์ประกันโควิด จากกลุ่มบริษัท น้ำตาลเอราวัณ จำกัด ให้กับข้าราชการตำรวจ ในสังกัดตำรวจภูธรภาค 4

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID – 19) ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการระบาดในรอบที่ 3 ทำให้มีข้าราชการตำรวจและครอบครัว ติดเชื้อและอยู่ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ และขวัญกำลังใจของข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่

โดยที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท น้ำตาลเอราวัณ จำกัด ได้อนุเคราะห์มอบกรมธรรม์ประกันโควิด ให้กับข้าราชการตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรภาค 4 (ส่วนกลาง) อันได้แก่ กองบังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 4 ,กองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 4 ,กองบังคับการกฎหมายและคดีตำรวจภูธรภาค 4, ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 4 ,ตำรวจภูธรจังหวัดเลย และตำรวจภูธรจังหวัดหนองบัวลำภู รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,960 คนจำนวน 2,960 กรมธรรม์ เป็นเงิน จำนวน 3,010,320 บาท ซึ่งได้ทำสัญญาเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2564 มีผลคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 2564 เป็นต้นมา

และในครั้งนี้ กลุ่มบริษัท น้ำตาลเอราวัณ จำกัด ได้ให้ความอนุเคราะห์มอบกรมธรรม์ประกันโควิด เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับข้าราชการตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรภาค 4 อีกครั้งหนึ่ง โดยมอบให้กับตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น จำนวน 3,363 คน และตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี จำนวน 2,159 คน รวมทั้งสิ้น 5,522 คน เป็นเงินทั้งสิ้น 5,615,874 บาท ได้ทำสัญญาไว้

วันที่ 20 เมษายน 2564 มีผลคุ้มครองในวันที่ 5 พ.ค. 2564พล.ต.ท.ยรรยง เวชโอสถ ผบช.ภ.4 กล่าวว่า การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจซึ่งถือเป็นด่านหน้าที่สำคัญที่ทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานทั้งในด้านของการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชน ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย ที่เป็นงานประจำที่ต้องดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ขณะเดียวกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ตำรวจก็เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าวดังนั้นการดูแลและคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ผู้บังคับบัญชาจะต้องดูแลในเรื่องดังกล่าว ตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ตำรวจเราถือว่ามีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกลุ่มบริษัท น้ำตาลเอราวัณ จำกัด ซึ่งได้เล็งเห็นอันตรายจากความเสี่ยงดังกล่าว จึงได้ประสานการมีส่วนร่วมกับ ตำรวจภูธรภาค 4 ในการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัย ในประเภทประกันโควิด เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับข้าราชการตำรวจภูธร ภาค 4

ด้าน พล.ต.ต.พุฒิพงศ์  มุสิกูล ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น กล่าวว่าการแพร่ระบาด โควิด-19 ในรอบนี้ ตอนนี้เราได้ดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข กำชับไปยังผู้กำกับทุกสถานีและหน่วยในสังกัดต้องยึดถือมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด สำหรับบางโรงพักหรือบางหน่วยที่มีข้าราชการตำรวจติดเชื้อในส่วนของตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่นที่มีข่าวว่ามีการติดเชื้อซึ่งไม่ใช่หน่วยงานที่พบปะประชาชนโดยตรงเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจซึ่งทำงานเฉพาะด้านดังนั้นจึงไม่มีผลต่อการให้บริการประชาชนในสถานีตำรวจ ดังนั้นต้องปฏิบัติตนไม่ว่าจะอยู่บ้านหรือที่ทำงานหรือผู้ใกล้ชิดต่าง ๆ ให้ดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขถึงแม้จะไม่ใช่ช่วงในเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม

ยโสธร – แมลงปีกแข็งจำนวนมาก บุกเข้าบ้านจนเจ้าของบ้านเดือดร้อน

วันที่ 26 เมษายน 2564 ที่จังหวัดยโสธรผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีฝูงแมลงปีกแข็งสีดำ หรือ มอดกระเบื้อง หลายหมื่นตัว พากันเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านพักของชาวบ้านรายหนึ่งที่บ้านเอราวัณ ตำบลกุดชุม อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร จนสร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของบ้านไม่สามารถที่จะพักอาศัยอยู่ในบ้านพักได้เนื่องจากกลัวว่าจะได้รับอันตรายจากแมลงปีกแข็งดังกล่าว ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางไปที่บ้านเลขที่ 194 หมู่ 12 บ้านเอราวัณ ตำบลกุดชุม อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร

ซึ่งเป็นบ้าน 2 ชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ปลูกกลางทุ่งนา ค่อนข้างห่างชุมชน บริเวณบนบ้านชั้น 2 พบว่ามีแมลงปีกแข็งสีดำไต่เต็มพื้นบ้านและบริเวณโครงหลังคาบ้านยังพบว่ามีแมลงปีกแข็งสีดำจำนวนมากเกาะอยู่และยังมีอีกบางส่วนที่หล่นลงไปยังพื้นด้านล่างจนสร้างความรำคาญให้กับเจ้าของบ้าน โดยก่อนหน้านี้เจ้าของบ้านก็พยายามใช้น้ำมันดีเซลฉีดพ่นทำลายซึ่งก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งแต่แมลงปีกแข็งสีดำดังกล่าวก็ยิ่งพากันเข้าไปอยู่ในบ้านเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการสังเกตุพบว่าแมลงปีแข็งสีดำดังกล่าวจะมีกลิ่นฉุนเมื่อสูดดมกลิ่นของแมลงเข้าไปมาก ๆ จะมีอาการเวียนหัวทันที จนสร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของบ้านไม่สามารถที่จะพักอาศัยอยู่ในบ้านได้เพราะหวั่นเกรงว่าแมลงจะไต่เข้าหูโดยเฉพาะเด็กๆที่อาศัยอยู่ในบ้านเจ้าของบ้านจึงพาสมาชิกในครอบครัวอพยพไปอาศัยหลับนอนที่นอกตัวบ้านแทนเป็นการชั่วคราวก่อนในระยะนี้เพื่อความปลอดภัย

นางคำปุ่น  ชื่นบาน อายุ 59 ปี เจ้าของบ้าน บอกว่า ก่อนหน้านี้เมื่อหลายปีก่อนฝูงแมลงปีกแข็งเหล่านี้ก็เคยเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านของตนทุกปีในช่วงเดียวกันนี้ หรือประมาณหน้าร้อนของทุกปีและในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งแมลงปีกแข็งสีดำได้พากันเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านของตนเมื่อประมาณ 3 วันที่แล้ว จนสร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและสมาชิกในบ้านไม่สามารถจะอยู่อาศัยภายในบ้านได้เพราะเกรงว่าแมลงจะไต่เข้าหูและแมลงเหล่านี้ยังมีกลิ่นฉุนเมื่อสูดดมมาก ๆ จะมีอาการเวียนหัวทันทีโดยเฉพาะในบ้านของตนมีหลานเล็ก ๆ พักอาศัยอยู่ด้วยจึงเกรงว่าอาจจะได้รับอันตรายไปด้วย ซึ่งปกติทุกปีที่ผ่านมาตนจะไปแจ้งให้กับ อบต.กุดชุม ทราบ ซึ่งก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยฉีดสารเคมีกำจัดให้พอทุเลาลงได้บ้าง แต่ในปีนี้ก็ได้แจ้งให้ทราบแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปฉีดพ่นสารเคมีกำจัดให้

โดยขณะนี้ ตนก็ให้ลูกชายนำน้ำมันดีเซลไปฉีดพ่นกำจัดเป็นการชั่วคราวไปก่อน จึงวอนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าให้การช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนด้วย ส่วนสาเหตุที่ฝูงแมลงปีกแข็งบุกเข้าบ้านของตนทุกปีนั้น ตนก็ไม่ทราบสาเหตุชัดเจนแต่พอถึงช่วงเวลาดังกล่าวก็จะพากันเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านของตนทันทีและจะอาศัยอยู่ในบ้านยาวไปจนถึงช่วงเข้าพรรษาของทุกปีฝูงแมลงปีกแข็งก็จะพากันหนีไปเอง


ภาพ/ข่าว  สมัย  คำแก้ว  ผู้สื่อภูมิภาคจังหวัดยโสธร

ชุมพร - ระดมรับบริจาคเลือด แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ขาดแคลนเลือดเข้าขั้นวิกฤต

วันที่ 27 เมษายน 2564 เวลา 09.00 น. พล.ต.เสนีย์ ศรีหิรัญ ผบ.มทบ.44มอบหมายให้คุณพิไลพรรณ ศรีหิรัญ ประธานสมาคมแม่บ้าน ทบ. สาขา มทบ.44 พร้อมด้วยสมาชิกแม่บ้าน สม.ทบ. สาขา มทบ.44 ร่วมกับ เหล่ากาชาดจังหวัดชุมพร

ดำเนินโครงการจิตอาสาร่วมบริจาคโลหิตเพื่อชาติ ตามนโยบายของ ผบ.ทบ. ซึ่งเนื่องมาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ขาดแคลนเลือดเข้าขั้นวิกฤตทั่วประเทศ ด้วยศูนย์ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย วอนให้คนไทยที่มีสุขภาพดี ช่วยกันบริจาคโลหิต ครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ สืบเนื่องมาจาก การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19  ระลอกใหม่ ทำให้ผู้บริจาคเลือดมีจำนวนลดลง ถึง 50 % 

  

ผบ.ทบ.มีแนวความคิดให้กำลังพล ทำการบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่อง ทุก 3 เดือนตามวงรอบของตัวเอง เพื่อให้โรงพยาบาลต่าง ๆ มีโลหิตสำรองอย่างต่อเนื่อง และจัดให้รับบริจาคโลหิตขึ้น 2วัน ในวันที่ 27 -28 เมษายน 2564  ณ สโมสรนายทหารค่ายเขตอุดมศักดิ์ ต.วังใหม่ อ.เมือง จ.ชุมพร

ในวันนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก และมีน้องกำลังพล มทบ.44 และนักศึกษาวิชาทหาร.มทบ.44 เข้าจำนวนมาก ขอแจ้งให้ทราบจะทำการรับบริจาคโลหิตในวันที่ 28 เมษายน 2564 อีก 1วัน


ภาพ/ข่าว  ธนากร โกศลเมธี รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร

ชลบุรี – สวนนงนุชพัทยา ผ่ามะพร้าวก้นสาว…หายากที่สุดในโลก มีมูลค่าเกือบแสน ให้นักท่องเที่ยวชิมฟรี

นายกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา ได้นำมะพร้าวก้นสาว ซึ่งเป็นมะพร้าวที่หายากที่สุดในโลก น้ำหนัก 3.9 กิโลกรัม ผ่าให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลองชิมรสชาติของน้ำ และเนื้อมะพร้าว แบบฟรี ๆ โดยต้นมะพร้าวก้นสาวที่นำลูกมาผ่าในครั้งนี้มีอายุประมาณ 30 กว่าปี  และเป็นต้นที่มีลูกมะพร้าวสุกในทะลายเดียวมาแล้ว 1 ลูก  ซึ่งได้มีการนำไปขยายพันธุ์แล้วในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งนี้มะพร้าวก้นสาว 1 ลูก จะมูลค่าที่ประมาณ เกือบ แสนบาท ส่วนที่เป็นต้นมะพร้าวก้นสาวราคาอยู่ที่ประมาณ 400,000 – 500,000 บาท

นายกัมพล  กล่าวว่า  ปัจจุบันสวนนงนุชพัทยามีต้นมะพร้าวแฝด หรือมะพร้าวทะเลอยู่ในความดูแล จำนวน 36 ต้น เป็นต้นตัวผู้ 4 ต้น และต้นตัวเมีย 7 ต้น ต้นที่ยังไม่ทราบเพศอีก 25 ต้น  ซึ่งอนาคตมีแนวโน้มจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับมะพร้าวทะเล หรือมะพร้าวแฝด (LODOICEA MALDIVICA) จัดเป็นปาล์มชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่บนเกาะเล็ก ๆ ในประเทศซีเซลล์ ในมหาสมุทรอินเดีย เป็นเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และหนักที่สุดในโลก มีความยาวมากถึง 12 นิ้ว และน้ำหนักประมาณ 40 ปอนด์ ลักษณะผลเหมือนมะพร้าว 2 ลูกติดกัน จนเป็นที่มาของชื่อ มะพร้าวแฝด หรือมะพร้าวก้นคน เป็นชื่อสามัญของปาล์มชนิดนี้ ใช้เวลา 6 ปีกว่า เมล็ดจะสุก และใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2-3 ปี ในการงอก และอีก 1 ปี สำหรับให้ใบแรก ถือเป็นพืชหายากชนิดหนึ่ง ปาล์มชนิดนี้จากสถิติพบมีความสูงถึง 100 ฟุต ความยาวใบ 20 ฟุต และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 ฟุต แม้ชื่อสามัญจะมีชื่อว่า มะพร้าวแฝด แต่ก็ไม่ใช่มะพร้าว มีการเจริญเติบโตเหมือนปาล์มที่มีรูปพัด โดยมีเพศแยกออกไปคนละต้น ต้นเพศเมีย จะไม่ให้ผลจนกว่าจะมีอายุ 30 ปีขึ้นไป และบางต้นอาจมีระยะเวลาถึง 100 ปีในอดีตผู้คนนิยมเอากะลาของมะพร้าวทะเลไปทำเป็นลูกประคำ เช่น เป็นเครื่องรางของขลัง เป็นยารักษาสารพัดโรค คือเชื่อว่าเป็นผลไม้จากสวรรค์และเป็นผลไม้แห่งความอมตะ

สงขลา - วางศิลาฤกษ์พระมหาเจดีย์ ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ เชื่อว่าอานิสงส์ จะช่วยให้คนไทยผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19

วันนี้ 27 เม.ย. 64 ที่วัดมัชฌิมเขต (วัดนาปรือ) ตำบลคู อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา นาย ไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา  เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์พระมหาเจดีย์ใหญ่ที่สุดในภาคใต้  โดยมี คุณจีรณัฐ. ศรีสนิท เจ้าของกิจการบ้านดอกไม้พรหมจักร์สงขลา คุณแม่พักตร์พิมล วิภาตะไวทยะ เจ้าของธุรกิจส่วนตัวรายใหญ่เมืองสงขลา ร้านดอกไม้พรหมจักร์สงขลาได้เป็นสะพานบุญใหญ่นำทีมงานพร้อมคณะสายบุญจากเจ้ากิจการร้านดังในภาคใต้ อาทิเช่น ร้าน Theprincess wedding studio hatyai , ร้านเฝอหม้อเงิน 66 หาดใหญ่ , ร้านสูทอู๊วลั๊ลลา สงขลา , ร้าน once eatery by ประเทือง ยะลา , ร้านราดหน้าพารวย สงขลา , ร้านดอกไม้บานไม่รู้โรย สงขลา , พร้อมคณะสายบุญทั่วสงขลามาร่วมบุญปฐมฤกษ์หอบเงินมาประเดิมวางศิลาฤกษ์มหาเจดีย์  1.8 ล้านบาท ร่วมสร้างมหาเจดีย์ 2 ชั้น ณ วัดมัชฌิมเขต (นาปรือ) อำเภอจะน จังหวัดสงขลา โดยมี พระเดชพระคุณ พระราชวรเวที เจ้าคณะจังหวัดสงขลาประธานฝ่ายสงฆ์ และพระครูเกษมโชติวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดมัชฌิมเขต (วัดนาปรือ) พระใบฏีกาภูวนนท์  ยสินุธโร  รองเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมเขต ( วัดนาปรือ )

ผู้ประสานงานในการจัดงานในครั้งนี้ พระใบฏีกาภูวนนท์ ยสินุธโร รองเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมเขต (วัดนาปรือ)  กล่าวว่า การสร้างเจดีย์ในครั้งนี้ โดยจะใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูป พระไตรปิฎก และพระโชคดีประจำวัดที่อายุ 157 ปี พระประจำวัด ที่ประชาชนทั้วไปให้ความศรัทธา ขณะเดียวกันต้องการให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในอำเภอจะนะและคนไทย และเชื่อว่าอานิสงส์ ผลบุญที่ได้จากการร่วมสร้างพระมหาเจดีย์จะช่วยให้คนไทยผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นได้ โดยจะใช้งบฯในการจัดสร้างประมาณ 30 ล้านบาท ผู้มีจิตศรัทธา สามารถเข้านมัสการที่วัดได้แต่ขอให้เว้นระยะห่างแต่ทางวัดได้มีเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโควิด-19 ทุกวันและมี่การคัดกรองก่อนเข้าวัด

เชียงใหม่ - ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เข้มตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก

ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ให้กับกลุ่มพนักงานลูกจ้างที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสผู้ป่วย รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงจากการปฏิบัติงาน โดยได้รับการสนับสนุนรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่

วันที่ 26 เมษายน 2564 นายอมรรักษ์ ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้บริหารท่าอากาศยานเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่ส่วนการแพทย์ ร่วมกันอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ ที่นำรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน มาให้บริการตรวจคัดกรองผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 รวมถึงพนักงาน ลูกจ้าง พนักงานสายการบิน ส่วนราชการและผู้ปฏิบัติงาน ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงจากการทำงาน ณ อาคารอเนกประสงค์ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยมีผู้มารับการตรวจคัดกรองจำนวนทั้งสิ้น 263 คน

ทั้งนี้รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยเป็นรถที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้พระราชทานให้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ณ สำนักงานเขตสุขภาพ ที่ 1-12 ทั่วประเทศ ตั้งแต่ช่วงเดือน กรกฎาคม 2563 เสริมความพร้อมการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยใช้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในการเก็บตัวอย่างโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้แก่ประชาชนเชิงรุก เช่น ในโรงเรียน วัด ชุมชนแออัดและกลุ่มอาชีพเสี่ยงทั่วประเทศ


ภาพ/ข่าว  นภาพร / เชียงใหม่

แม่ฮ่องสอน – สั่งปิดกั้นพื้นที่ หวั่นอันตรายจากการสู้รบ อพยพราษฏรไทย 450 คน โดนลูกหลง 1 คนจากการสู้รบฝั่งประเทศเมียนมา

ภายหลังจากที่ทางกองกำลังกะเหรี่ยง KNU บุกตีฐานพม่าซอแลท่า พัน.คร.341 ริมฝั่งน้ำสาละวิน ตรงข้ามบ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ด้านฝ่ายความมั่นคงปิดกันพื้นที่ไม่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าบริเวณบ้านแม่สามแลบริมฝั่งสาละวิน เนื่องจากเสี่ยงอันตรายจากการสู้รบ รวมถึงประสาน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการดูแลประชาชนฝั่งไทย  ขณะนี้หน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ปิดพื้นที่บริเวณปากทางเข้าบ้านแม่สามแลบ ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อความปลอดภัยของราษฎร

เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า ยังได้ยินเสียงปืนเป็นระยะ ซึ่งราษฎรจากบ้านแม่สามแลบ ทยอยอพยพออกมาจากพื้นที่ ขนของใช้จำเป็นมารวมตัว อยู่ที่บริเวณโรงเรียนบ้านห้วยกองก้าด 450 คน โดย หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 จัดกำลังร่วมกับฝ่ายปกครองอำเภอสบเมย สถานีตำรวจภูธรสบเมย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอสบเมย ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับราษฎรดังกล่าว

ทั้งนี้การสู้รบฝั่งประเทศเมียนมา ได้ส่งผลกระทบเบื้องต้นกับราษฏรในพื้นที่ บ.แม่สามแลบ ได้รับผลกระทบโดนลูกหลงจากการสู้รบฝั่งประเทศเมียนมา 1 ราย คือ นางเดมึ ( ถือบัตร บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน อาศัยบ้านเลขที่ 0/89  ม.1 ต.แม่สามแลบ ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนเล็ก จำนวน 1 นัด ฝัง เหนือหัวเข่าด้านซ้าย ปัจจุบันได้เดินทางเข้ารับการรักษาตัว ณ โรงพยาบาลแม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน  และจะส่งตัวไปผ่าตัดเอา  กระสุนออก ณ รพ.ศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน ต่อไป


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top