Saturday, 17 May 2025
PoliticsQUIZ

‘บิ๊กตู่’ แจง ครม. ย้ำจองวัคซีนโควิดแล้ว 63 ล้านโดส เพียงพอให้ประชาชนไทยครึ่งประเทศได้ฉีด เผยบางส่วนผ่านการรับรองจาก อย.แล้ว

นายอนุชา บูรพไชยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แจ้งให้ที่ประชุมครม.รับทราบ นโยบายการให้วัคซีนแก่ประชาชนคนไทย

โดยผลการประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ข้อสรุปว่า ไทยจะได้วัคซีนของบริษัทซิโนแวค จำนวน 2 ล้านโดส จากบริษัท แอสตราเซเนก้า อีก 26 ล้านโดส และมีการจองเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวม 63 ล้านโดส โดยจะทยอยฉีดให้กับประชาชนคนไทยเพื่อให้ครอบคลุมประมาณร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

แบ่งการฉีดเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก จะฉีดให้กับ 5 กลุ่ม ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนที่มีโรคประจำตัว ประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย และแรงงานในพื้นที่ที่มีการระบาด

ระยะที่สองจะฉีดให้กับประชาชน 7 กลุ่ม คือ ประชาชนทั่วไป แรงงานภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว ผู้เดินทางระหว่างประเทศ นักธุรกิจระหว่างประเทศ นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ และกลุ่มเป้าหมายในระยะที่หนึ่งในส่วนที่เหลือ ซึ่งวัคซีนจะทยอยเข้ามา โดยบางส่วนได้ผ่านการขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและยา (อย.) แล้ว

ประธานทีดีอาร์ไอ ‘ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์’ วิเคราะห์โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ส่อเค้าลากยาว แนะรัฐทำงานเชิงรุก ซัดทำงานเช้าชามเย็นชามแบบราชการ ไม่เหมาะรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) โพสต์เฟซบุ๊ก Somkiat Tangkitvanich Page ระบุว่า

ผมได้ติดตามปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่สมุทรสาครและในประเทศไทยมาโดยตลอด โดยพยายามหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งจากบุคลากรทางการแพทย์ ข้าราชการและฝ่ายการเมืองเพื่อให้ทราบสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แต่พบว่าทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ไม่ครบถ้วน และให้ภาพที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ การสื่อสารของรัฐก็ยังไม่เป็นระบบและให้ข้อมูลที่ละเอียดมากพอ ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า ภาพรวมของสถานการณ์ที่แท้จริงคืออะไร และการรับมือของประเทศไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพียงพอแล้วหรือไม่

ผมพยายามกลั่นกรองจากข้อมูลต่าง ๆ ที่ไม่สมบูรณ์ดังกล่าว และเชื่อว่า การระบาดในสมุทรสาครน่าจะยังอยู่ในขาขึ้น ไม่ใช่ขาลงอย่างที่เข้าใจกัน และน่าจะใช้เวลาอีกหลายเดือนในการควบคุม เพราะแม้แต่กรณีของสิงคโปร์ ซึ่งเคยมีการระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจำนวนน้อยกว่าในประเทศไทย ก็ยังต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือนในการแก้ปัญหา ทั้งที่มีการลงทุนต่างๆ มากมายเช่น การสร้างหอพักใหม่ให้แรงงานต่างด้าวอยู่

การระบาดในวงกว้างของโควิด-19 ที่สมุทรสาครน่าจะทำให้การควบคุมการระบาดในประเทศไทยโดยรวมต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนมาก และยากที่คนไทยจะกลับมาใช้ชีวิตในลักษณะใกล้เคียงกับความเป็นปกติ และสามารถเปิดการเดินทางกับต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าจะเลวร้ายกว่าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหลายคนที่ผมได้พบเชื่อกัน ถึงจุดนี้ ผมเชื่อว่า ยากที่เราจะสามารถควบคุมการระบาดในวงกว้างครั้งนี้ ด้วยวิธีการตรวจสอบและคัดแยกผู้ติดเชื้อแบบเดิม ที่เคยประสบความสำเร็จในการระบาดรอบแรก โดยทางออกในการแก้ปัญหา น่าจะหนีไม่พ้นการใช้ตัวช่วยที่สำคัญคือ วัคซีน

ผมมีความเห็นว่า การบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยในปัจจุบัน ยังมีลักษณะเหมือนการบริหารราชการปกติ (business as usual) มากกว่าการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์เร่งด่วน เช่น ศบค. ก็ประชุมกันเพียง 2 สัปดาห์ต่อครั้ง

ผมอยากเห็นรัฐบาลตื่นตัวมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยดำเนินการดังต่อไปนี้

- เร่งตรวจสอบและคัดแยกผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาคร ด้วยความเร็วที่มากกว่านี้ โดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในวงกว้าง หากเห็นว่าเกินกว่าขีดความสามารถของภาครัฐจะดำเนินการได้เองโดยลำพัง เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามไปมาก

- สื่อสารอย่างชัดเจนเป็นระบบ เช่น แสดงแผนที่การตรวจและการระบาดในสมุทรสาครทุกวัน โดยแจ้งจำนวนการตรวจ และอัตราการพบผู้ติดเชื้อ และอธิบายแนวทางในการจัดการเมื่อพบผู้ติดเชื้อแล้ว

- จัดทำและประกาศ Road Map ในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยโดยรวม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ทราบสถานการณ์ตามความเป็นจริง และทราบแนวทางในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมที่ทำงานกับแรงงานต่างด้าวสามารถช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาได้มากขึ้น ที่สำคัญ เมื่อภาคธุรกิจและประชาชนได้ทราบ Road Map และจังหวะเวลาในการแก้ไขปัญหาแล้ว ก็จะสามารถวางแผนธุรกิจและวางแผนชีวิตของตนได้ดีขึ้น

- เร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม นอกเหนือจากส่วนที่ได้สั่งจองไปแล้ว ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศได้ และแน่นอนว่าไม่เพียงพอต่อการทำให้ทุกคนได้รับการป้องกันและมีความอุ่นใจที่จะดำเนินชีวิตตามปกติ โดยควรตั้งเป้าให้สามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนและผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยครบทั้งหมดภายในปี 2564 นี้

- เร่งจัดทำแผนในการฉีดวัคซีนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยจัดลำดับว่าจะฉีดให้แก่กลุ่มใดก่อน (นอกเหนือจากบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง) ในประเด็นนี้ ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของบางฝ่ายที่ว่า ควรเร่งฉีดในจังหวัดที่มีการติดเชื้อในระดับสูง เช่น สมุทรสาคร ก่อน โดยฉีดให้แก่แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว โดยในกรณีของแรงงานต่างด้าว รัฐบาลอาจให้นายจ้างช่วยออกค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีนบางส่วนด้วยก็ได้

- เร่งขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะส่วนที่ยังไม่มีนายจ้าง ซึ่งยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก โดยยังน่าจะตกหล่นอยู่หลายแสนคน เพื่อให้สามารถประเมินสถานการณ์และบริหารความเสี่ยงได้อย่างถูกต้อง

อย่างที่กล่าวมาแล้ว ความเข้าใจของผมต่อสถานการณ์ในปัจจุบันมาจากความพยายามติดตามข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ หากผมเข้าใจประเด็นใดผิด ผมก็หวังที่จะได้รับคำชี้แจง และหวังว่า อย่างน้อยภาครัฐจะได้ทราบถึงปัญหาในการสื่อสารและปรับปรุงให้ดีขึ้น


ที่มา : เพจ Somkiat Tangkitvanich

‘รมว.แรงงาน’ เคลียร์ชัดโครงการ ‘ม33เรารักกัน’ ทั้งเงื่อนไข ไทม์ไลน์ และขั้นตอน การลงทะเบียนผู้ประกันตน รับสิทธิ์เงินเยียวยา 4 พันบาท คาดมีคนเข้าข่ายได้รับเงินเยียวยา 9.27 ล้านคน วงเงินประมาณ 37,100 ล้านบาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความชัดเจนถึงคุณสมบัติ ผู้ประกันตนมาตรา 33 ในโครงการ ม33 เรารักกัน เพื่อช่วยเหลือเยียวยาแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด - 19 โดยรัฐบาลจะจ่ายเยียวยา รายละ 4,000 บาท

พร้อมย้ำเงื่อนไขคุณสมบัติ คือ เป็นผู้มีสัญชาติไทย เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคม ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และไม่ได้รับสิทธิโครงการ “เราชนะ” และไม่มีเงินฝากในสถาบันการเงินรวมกันเกิน 500,000 บาท (ณ วันที่ 31 ธ.ค.63) โดยจะเปิดให้ผู้ประกันตนที่มีคุณสมบัติ สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ได้ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ - 7 มีนาคม 2564 ผู้ประกันตนสามารถยืนยันตัวตนผ่านช่องทางการให้บริการ Application “เป๋าตัง” ในวันที่ 15 - 21 มีนาคม 2564

จากนั้น รัฐบาลจะเริ่มโอนเงินผ่าน Application “เป๋าตัง” ในทุกๆ วันจันทร์ที่ 22, 29 มีนาคม และ 5, 12 เมษายน 2564 ครั้งละ 1,000 บาท จนครบ 4,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ประกันตน สามารถเริ่มใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้าภายใต้โครงการ “เราชนะ” ได้ในวันที่ 22 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2564

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ไม่สามารถลงทะเบียนโครงการ ม33เรารักกัน ในรอบแรกได้ จะมีการเปิดให้ยื่นขอทบทวนสิทธิอีกครั้งผ่านทาง www.ม33เรารักกัน.com ได้ตั้งแต่ 15 – 28 มีนาคม 2564 และกดใช้งานและยืนยันตัวตนผ่าน Application “เป๋าตัง” ในวันที่ 5 – 11 เมษายน 2564 ซึ่งรัฐบาลจะโอนเงินเข้า Application “เป๋าตัง” ในวันจันทร์ที่ 12 และ 19 เมษายน 2564 จำนวน 2 ครั้งๆ ละ 2,000 บาท พร้อมให้ผู้ประกันตนเริ่มใช้จ่ายซื้อสินค้าภายใต้โครงการ “เราชนะ” ได้ในวันที่ 12 เมษายน - 31 พฤษภาคม 2564

ทั้งนี้ รอมติ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง อย่างไรก็ดีโครงการฯ ดังกล่าว คาดว่าจะมีผู้ประกันตนมาตรา 33 เข้าข่ายมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาในครั้งนี้ 9.27 ล้านคน รัฐบาลใช้วงเงินประมาณ 37,100 ล้านบาท

“ตนได้กำชับไปยัง นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ให้รีบดำเนินการเตรียมความพร้อมรองรับ ในเรื่องของข้อมูลผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้เป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกันตน ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันให้ตรงจุด ได้รับสิทธิอย่างทันท่วงที”

'บิ๊กตู่' ขอบคุณผู้ว่าฯ กทม.- มหาดไทย ชะลอขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท ช่วยเหลือประชาชน ลดค่าใช้จ่ายช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha’ โดยมีข้อความระบุว่า "ตามที่ทางกรุงเทพมหานครได้ออกประกาศ เลื่อนการเก็บค่าตั๋วรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว 104 บาทตลอดสายออกไปก่อน

หลังจากที่ได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้พิจารณาทบทวนโดยให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ผมขอขอบคุณกรุงเทพมหานคร ท่านผู้ว่าฯ รวมถึงกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ช่วยกันใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิดอยู่ ณ ตอนนี้ ขอบคุณครับ #รวมไทยสร้างชาติ"

บันทึกหน้าใหม่ ปลูกกัญชา บ้านละ 6 ต้น เกิดขึ้นจริง ‘อนุทิน’ นำทีมมอบต้นกล้ากัญชา ใน ‘งานปลูกกัญชา 6 ต้น โนนมาลัยโมเดล’ จ.บุรีรัมย์ วันพรุ่งนี้ (11 ก.พ.64)

นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีกำหนดการ มอบต้นกล้ากัญชา ใน “งานปลูกกัญชา 6 ต้น โนนมาลัยโมเดล” ที่ บ้านโคกนาค ตำบลหินเหล็กไฟ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ในวันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมีนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกิจกรรม

น.พ.กิตติ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรไทยโนนมาลัย จ.บุรีรัมย์ ร่วมกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านโนนมาลัย ได้รับต้นแม่พันธุ์กัญชาสายพันธุ์หางกระรอก จากโรงพยาบาล (รพ.) เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี เพื่อเตรียมนำไปปลูกในพื้นที่วิสาหกิจชุมชนบ้านละ 6 ต้น

และนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และสุขภาพ โดยจะทำการปลูกในวันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 โครงการดังกล่าวเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการในการนำนโยบายมาปฏิบัติจริง ว่ามีปัญหาในเชิงข้อกฎหมาย ระเบียบใดบ้าง มีปัญหาในเชิงสังคมและความคุ้มค่าอย่างไร

“ขณะนี้เราได้ต้นแม่พันธุ์แล้ว และกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะขยายพันธุ์โดยใช้วิธีปักกิ่ง เพื่อนำมามอบให้เกษตรกรในวิสาหกิจชุมชน และจะเริ่มลงแปลงปลูกกัญชาในพื้นที่ของชาวบ้าน เมื่อปลูกแล้ว รพ.คูเมือง จะรับส่วนดอก ไปผลิตยาเพื่อประคับประคอง ดูแลผู้ป่วย

ส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ยาเสพติด ได้แก่ ใบ ราก ต้น เราจะร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ อบรมวิสาหกิจชุมชนให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ เพื่อจำหน่ายต่อไป” นพ.กิตติ กล่าว

ทั้งนี้ พรรคภูมิใจไทย เคยรับปากกับพี่น้องประชาชน ในการจะแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชา บ้านละ 6 ต้น เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ตามนโยบายหลัก ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เพื่อปากท้องประชาชน พรรคภูมิใจไทย พูดแล้วทำ

“ปิยบุตร” ชี้รัฐสภาโหวตเห็นชอบส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความแก้รัฐธรรมนูญ ทำระบบถ่วงดุลเสียหาย เหน็บ 366 คน ที่โหวตเห็นชอบ พอจะแก้รัฐธรรมตามระบบทำออกมาค้าน ทีตอนรัฐประหารฉีกทิ้งทั้งฉบับไปเป่าสากอยู่ที่ไหน?

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า จัดเฟซบุ๊กไลฟ์ รายการ “สนามกฎหมาย” วิเคราะห์ถึงกรณีรัฐสภา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเพิ่งมีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ได้ยื่นญัตติเข้ามา

โดยนายปิยบุตร กล่าวว่ามติวันนี้ ประเด็นแรก เป็นการส่งไปตามมาตรา 210 (2) ที่ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ซึ่งผูู้ยื่นญัตติเห็นว่าเป็นเรื่องต้องวินิจฉัย ว่ารัฐสภามีอำนาจในการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

ซึ่งเป็นอำนาจที่มีต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540, 2550, และ 2560 คู่กับศาลรัฐธรรมนูญไทยมาตั้งแต่มีศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาในประเทศไทย ระบบศาลรัฐธรรมนูญในหลากหลายประเทศก็มีหน้าที่เช่นนี้เป็นเรื่องปกติ รวมทั้งการพิจารณาวินิจฉัยปัญหา เมื่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆมีปัญหาขัดแย้งกันเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กร ว่าอำนาจและหน้าที่หนึ่งๆเป็นขององค์กรใดกันแน่ ศาลรัฐธรรมนูญก็จะเป็นผู้ชี้ขาดว่าอำนาจและหน้าที่นั้น เป็นขอองงค์กรใดกันแน่

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในญัตตินี้ จะพบเห็นได้ว่าไม่มีกรณีที่รัฐสภาขัดแย้งกับใครเลย ว่าอำนาจหน้าที่ในการแก้รัฐธรรมนูญเป็นของใคร เพียงแค่อยู่ดีๆวันหนึ่งนายสมชายและนายไพบูลย์ตื่นขึ้นมาก็มานั่งคิดว่ารัฐสภาสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่

กรณีเช่นนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ถ้าทำกันเช่นนี้สม่ำเสมอ ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญอีกต่อไป แต่กลายมาเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับรัฐสภา ไม่ใช่ผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแล้ว เราต้องไม่ลืมว่าศาลรัฐธรรมนูญก็คือองค์กรตุลาการ มีหน้าที่และภารกิจในการลงไปวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท

แต่กรณีนี้รัฐสภาเพียงแต่สงสัย ยังไม่ได้มีข้อพิพาทกับใคร ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นเหมือนคณะกรรมการกฤษฎีกา และที่เลวร้ายไปกว่านั้น ยังส่งผลต่อระบบการแบ่งแยกอำนาจตามรัฐธรรมนูญ จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรที่ใหญ่ที่สุด เหนือทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๆ ที่แต่ละองค์กรมีแดนอำนาจของตนเอง

ประเด็นที่สอง นายปิยบุตร กล่าวต่อ ไปถึงข้อถกเถียงที่ถูกยกขึ้นมาโดยกลุ่มของนายสมชายและนายไพบูลย์ ที่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญ แต่เป็นการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะจะเป็นการไปแก้ให้มี สสร.ขึ้นมาทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จึงไม่สามารถทำได้

.

ซึ่งตนก็จำเป็นต้องชี้ให้เห็น ว่าประเทศไทยเคยเปลี่ยนรัฐธรรมนูญมาหลายครั้ง มาจนถึงฉบับ 2560 เป็นฉบับที่ 20 แล้ว หลายๆครั้งก็มีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้ไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญแบบอารยชน ที่ไม่ใช่การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการรัฐประหารที่ไร้อารยะ แต่ประเทศไทยก็เปลี่ยนรัฐธรรมนูญในลักษณะเช่นนี้บ่อยครั้งกว่ามาก

คำถามก็คือ ตกลงถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญกันในระบบเพื่อนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่ดันมีสมาชิกรัฐสภามาสงสัยในอำนาจนี้ ว่าการแก้รัฐธรรมนูญกันในระบบให้มี สสร.เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ แปลว่าสุดท้ายประเทศนี้จะยอมรับให้มีแต่คณะรัฐประหารเท่านั้น ที่สามารถยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญ ถึงจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้อย่างนั้นหรือ?

“ก็น่าคิดนะครับ ว่าสมชาย แสวงการ และไพบูลย์ นิติตะวัน รวมทั้งอีก 366 คนที่โหวตวันนี้ ไอ้วันที่ยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 ฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ทิ้งทั้งฉบับ แล้วเกิดรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แล้วกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 เนี่ย ไปอยู่ที่ไหนกันมา? ได้ทักท้วงกันบ้างไหม? แล้วพอมาแก้ในระบบ อยู่ดีๆเกิดฉงนสนเท่ขึ้นมาทันที ดังนั้นใครบอกว่าการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาทำไม่ได้นั้นไม่จริง ประเทศไทยเคยทำมาแล้วสองครั้ง ถ้าคนไหนบอกว่าทำไม่ได้ ต้องถามเขากลับไปดังๆ ว่าแล้วทำไมรัฐประหารทำกันได้ล่ะ? แก้รัฐธรรมนูญในระบบนี่ทำไม่ได้ใช่ไหม? รัฐประหารนี่ทำกันได้ ฉีกทิ้งทั้งฉบับนี่ทำได้ใช่ไหม?” นายปิยบุตร กล่าว

ประเด็นต่อมา นายปิยบุตร กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการอ้างถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ตอนมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อเปิดทางให้มี สสร.มาทำใหม่ทั้งฉบับ ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเพียงบอกว่าเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านการทำประชามติมา ดังนั้นก่อนที่จะไปทำกันใหม่ทั้งฉบับ ควรถามประชาชนด้วยการทำประชามติก่อน

ศาลรัฐธรรมนูญใช้คำว่า “ควรจะได้ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่?” แต่ถึงกระนั้นรัฐธรรมนูญปี 2550 และรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ไม่เหมือนกัน การแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องจบที่ประชามติอยู่แล้วตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ อย่างไรก็ต้องไปจบที่การลงประชามติอยู่แล้ว

นอกจากนี้ นายสมชายและนายไพบูลย์ยังระบุว่านี่คือการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่การแก้ไข แต่จริงๆแล้วมันคือการแก้ เป็นการแก้รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา แล้วใช้กระบวนการตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไปสร้าง สสร.ไปทำใหม่ทั้งฉบับ ก่อนที่จะไปจบด้วยการลงประชามติ แล้วจึงจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาแทน

นี่คือกระบวนการของการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การทำใหม่ ซึ่งต้องเอารัฐธรรมนูฉบับนี้ออกไปแล้วเอาอีกฉบับเข้ามาเสียบแทนเลย แต่นี่คือกระบวนการแก้ไขตามปกติ แก้เพื่อให้มี สสร.ไปทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา จึงเป็นที่ยืนยันได้ว่าญัตติที่เสนอกันเข้าไปในสภาคือญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ญัตติทำรัฐธรรมนูญใหม่แต่อย่างไร

ประเด็นต่อมา ในทางทฤษฎีกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีข้อถกเถียงเรื่องหนึ่ง ว่าด้วยอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ หรือก็คืออำนาจทีไปก่อตั้งรัฐธรรมนูญขึ้นมานั่นเอง ซึ่งประกอบไปด้วยสองส่วน คืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญลำดับแรก เป็นจุดเริ่มต้นจากไม่มีรัฐธรรมนูญ จนประชาชนได้ร่วมกันสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นมา

กับอีกส่วนหนึ่ง ก็คืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญลำดับที่สอง หลังจากที่รัฐธรรมนูญได้ถูกก่อตั้งขึ้นมาแล้ว สิ่งที่รัฐสภากำลังทำอยู่ทุกวันนี้ ก็คืออำนาจนาจแบบที่สอง เป็นการไปแก้รัฐธรรมนูญ รัฐสภามีอำนาจนี้ได้ก็เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 บอกให้มี ที่ทำได้เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ทำ ไม่ใช่เป็นการไประเบิดรัฐธรรมนูญทิ้ง แต่เป็นการแก้ให้มี สสร. และไม่ใช่การถ่ายโอนอำนาจในการแก้รัฐธรรมนูญให้กับ สสร.ไปเลย แต่สสร.ที่จะเกิดขึ้นคือผู้จัดทำร่างฉบับใหม่ แต่ระหว่างทาง รัฐสภาก็แก้รัฐธรรมนูญรายมาตราได้อยู่เสมอ

“ดังนั้น ทำแล้วในท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร จะผ่านหรือไม่ผ่าน มันจะไปจบที่ประชามติ แล้วประชามติใครเป็นคนชี้ขาด? ก็คือประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นกระบวนการครั้งนี้ในท้ายที่สุดมันจะไปจบที่ประชาชน ในฐานะเจ้าของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ที่จะต้องเป็นผู้ชี้ขาดอยู่ดี” นายปิยบุตร กล่าว

หลังจากนั้น นายปิยบุตรได้ตั้งข้อกังเกตต่อไป ว่า มติที่ออกมาวันนี้ แสดงออกให้เห็นถึงการถ่วงเวลา-สกัดกั้น และความไม่จริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางไปสู่การทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีความพยายามมาแล้วหลังการรัฐประหารปี 2549 ที่จะแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ให้มี สสร.ขึ้นมาทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ครั้งนั้นก็โดนขัดขวาง มีการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ คนคัดค้านก็หน้าตาเดิม ๆ จนรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ถูกฉีกทิ้งไปจากการทำรัฐประหาร 2557

พอมีการทำรัฐธรรมนูญ 2560 ใหม่ ฝ่ายที่ต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขจัดผลพวงของการรัฐประหาร ก็ต้องพบกับกลุ่มคนหน้าเดิมที่ออกมาขัดขวางอีก มีกลเม็ดที่จะขัดขวางไม่ให้เกิดการแก้ไขตลอดเวลา ทำให้เป็นเรื่องยากลำบาก

“การอยากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชนทั้งทีมันยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกิน แต่วันที่ทหารเข็นรถถังออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว ยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ คนพวกนี้หายกริบ บางคนก็ไม่ได้หายกริบ กลับยินดีปรีดา แล้วเข้าไปสังฆกรรมกับคณะรัฐประหารด้วย กระบวนการนี้คือภาพใหญ่ แสดงให้เห็นถึงซากเดนของเผด็จการ ซากเดนของระบอบรัฐประหาร มันยังมีชีวิตอยู่ แล้วก็จะพยายามขัดขวางทุกวิถีทาง” นายปิยบุตรกล่าว

ข้อสังเกตประการต่อมา นายปิยบุตรกล่าวว่า ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร เรื่องนี้ได้ส่งผลสะเทือนต่อระบบรัฐธรรมนูญในประเทศไทยไปแล้ว สมมุติว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ทำไม่ได้ นั่นหมายความว่าประเทศไทยจะไม่มีโอกาสร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเลย จะทำได้เพียงแก้รายมาตราไปเรื่อย ๆ ประชาชนทุกคนก็จะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ไปตลอดกาล ทำได้อย่างมากก็แค่แก้ทีละมาตราเท่านั้น เว้นเสียแต่ว่ามีการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญนี้เกิดขึ้น

แต่ถ้าเกิดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้สามารถทำได้ โดยให้เหตุผลว่าเพราะยังคงหมวด 1 - 2 เอาไว้ ไม่ใช่การทำใหม่ทั้งฉบับ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญใช้เหตุผลดังนี้ ผลที่ตามมาก็คือการแก้รัฐธรรมนูญแต่ละครั้งต่อๆไป ก็จะต้องเว้นหมวด 1 - 2 เอาไว้ มิเช่นนั้นจะเข้าข่ายการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

สรุปว่ามติรัฐสภาวันนี้ ทั้ง 366 เสียงที่เห็นชอบได้สร้างมติอัปยศขึ้นมา เป็นมติที่รัฐสภายอมจำนนต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตนเองมีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่ยอมใช้ กลับไปถามศาลรัฐธรรมนูญว่าทำได้หรือไม่ ไปยื่นดาบให้ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญมาบั่นคอตัวเอง ซึ่งตนขอประชาชนทุกคนจำไว้ให้ดีว่าใครบ้าง ที่เป็น ส.ส.และ ส.ว.ผู้ร่วมลงมติอัปยศในครั้งนี้

‘ก้าวไกล’ ยื่นชุดร่างกฎหมาย 5 ชุด แก้ไข ม.112 ด้าน ‘พิธา’ ยกวลีเด็ด ‘ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง’ หวังสถาบันพ้นการเมือง - ลดโทษรุนแรงเกินจริง ย้ำเพื่อไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ยืนยัน ยึดมั่นธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ เพียงปรับให้เข้ากับยุคสมัย

วันที่ 10 ก.พ. ที่รัฐสภา ส.ส.พรรคก้าวไกล นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงว่าพรรคเตรียมเสนอชุดร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … โดยสาระสำคัญส่วนแรกจะเป็นการยกเลิกโทษจำคุกให้คงเหลือแต่โทษปรับ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลทั่วไป

รวมถึงดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ศาล หรือผู้พิพากษา และส่วนที่สองคือย้ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไปกำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่ คือ ลักษณะความผิดที่เกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท

และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อใหมีความเหมาะสม ทั้งในแง่โครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ การยกเว้นความผิด การยกเว้นโทษ และผู้ร้องทุกข์ จึงกำหนดให้ยังมีโทษจำคุก แต่ลดอัตราโทษลงมาไม่ให้รุนแรงเกินไป ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำไว้ รวมทั้งสามารถพิจารณาลงโทษปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อให้ได้สัดส่วนกับสภาพความผิด 2.ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … 3.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … 4.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่…) พ.ศ. … และ5.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา

นายพิธา กล่าวว่า "พรรคก้าวไกลมีจุดยืนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยให้สถาบันปลอดจากคำติฉินนินทา ปลอดจากคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆของสาธารณชน ซึ่งต้องดึงสถาบันให้พ้นการเมือง เรามีหน้าที่ป้องกันไม่ให้กลุ่มบุคคลเข้ามาฉกฉวยแอบอ้างความจงรักภักดีเพื่อใช้โจมตีอีกฝ่าย โดยเฉพาะการใช้กฎหมายมาตรา 112 เป็นเครื่องมือฟ้องร้องกลั่นแกล้ง ปิดปากผู้อื่น"

"เมื่อวานนี้ (9 ก.พ.) ศาลไม่ให้ประกัน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นายอานนท์ นำภา นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข หมายความว่าจำเลยทั้ง 4 อาจถูกจองจำไม่มีกำหนดจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ทั้งที่เป็นการแสดงออกทางการเมืองโดยสันติ ไม่ใช่การก่ออาชญากรรมร้ายแรง วันนี้ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ต่อการชุมนุม แต่จำเลยในคดีมาตรา 112 ควรมีสิทธิ์ในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ภายใต้หลักการจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะพิพากษาถึงที่สุด กรณีนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้มาตรา 112 ซึ่งกระทบเสรีภาพสิทธิประชาชนในยุคสมัยใหม่" นายพิธา กล่าว

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ แสดงความกังวลการใช้มาตรา 112 ในประเทศไทย ที่มีการจับกุมมากขึ้น มีการลงโทษที่รุนแรง เขาย้ำว่า ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ บุคคลสาธารณะย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ แม้จะมีการดูหมิ่นแต่ไม่มีเหตุที่จะลงโทษอย่างรุนแรง โดยขอให้ไทยทบทวนยกเลิกการดำเนินคดี และให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังในผู้ที่ใช้เสรีภาพแสดงออกอย่างสงบ

ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคก้าวไกล ขอย้ำว่าการธำรงไว้ซึ่งสถาบันให้อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตย จะไม่สามารถบรรลุได้ด้วยการใช้กฎหมายบังคับ และการปราบปราม แต่ดำรงอยู่ด้วยความชอบธรรม และความยินยอมพร้อมใจจากประชาชน ดังนั้น ก่อนจะสายไปกว่านี้เราต้องแสวงหากุศโลบายที่สอดคล้องกับยุคสมัย ทำให้สถาบันพ้นจากการเมือง ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง เพราะนอกจากปัญหามาตรา 112 แล้ว ปีที่ผ่านมายังมีการใช้กฎหมายอื่นๆเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกด้วย

เมื่อถามว่า ทุกครั้งที่หยิบยกเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ขึ้นมา จะมีผู้ออกมาคัดค้าน และกังวลหรือไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่นำไปสู่การยุบพรรคการเมือง นายพิธา กล่าวว่า "ในระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องปกติที่มีความเห็นต่างกัน แต่เราต้องคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ ส่วนจะเป็นไปถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่ เราก็ต้องแก้กันไป แต่คงไม่พูดไม่ได้ซึ่งคิดว่าคุ้มค่า

กรณียังมีคนจำนวนมากเข้าใจว่าพรรคก้าวไกลมีจุดประสงค์อื่นในการแก้มาตรา 112 นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตลอดชีวิตของตนเห็นการล้มล้างการปกครองแบบเดียวคือการทำรัฐประหาร ตนยังไม่เคยเห็นการแก้ไขกฎหมายเป็นการล้มล้างการปกครอง

ซึ่งการเสนอลดโทษมาตรา 112 ยังไม่ได้เป็นการยกเลิกกลไกการคุ้มครองเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ แต่ปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งเป็นการปรับลดเพื่อให้ได้สัดส่วนไม่ใช่โทษรุนแรงเกินกว่าความเป็นจริง และแน่นอนว่าสิ่งที่เราเสนอคงไม่ถูกใจคนที่เห็นว่าควรยกเลิกไปเลย แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันเราพยายามเสนอข้อเสนอที่จะรับกันได้มากที่สุด"

"ส่วนกรณีกลุ่มไทยภักดีได้ยื่นคัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 แล้ว นายชัยธวัช กล่าวว่า เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งทุกเรื่องในสังคมไม่มีทางเห็นร่วมกันหมดอยู่แล้ว ส่วนกลัวถูกยุบพรรคหรือไม่ เราในฐานะพรรคการเมืองจะหลับตาไม่มองปัญหาความเป็นจริงในสังคมไม่ได้ ซึ่งปัญหาเรื่องอื่นๆเราก็ทำด้วย

และในฐานะผู้แทนไม่ใช่เวลาที่เราจะกลัว แต่เป็นช่วงที่เราต้องแสดงความกล้าเรียกร้องมโนสำนึกโดยเอาความกลัวไว้ข้างหลัง ต้องทำหน้าที่ผู้แทนดีที่สุด เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน ซึ่งเวทีก็รัฐสภาน่าจะเป็นทางออก"

เมื่อถามว่า หากไม่กระทำผิดก็ไม่จำเป็นต้องเดือดร้อนกับบทลงโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย นายชัยธวัช กล่าวว่า "เป็นการมองด้านเดียว เพราะความจริงตัวกฎหมาย และการบังคับใช้มีปัญหา ดังนั้นพวกเราจึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขให้เข้ากับยุคสมัย"

‘กรณ์’ นำทัพพรรคกล้า ลงพื้นที่นครฯ ก่อนพา ‘สราวุฒิ’ ลงสมัครรับเลือกตั้งวันพรุ่งนี้ ชี้ในพื้นที่ยังมีปัญหาระบบประปา - สาธารณูปโภคพื้นฐาน หวังปักธงเขต 3 นครฯ เป็นจุดเริ่มต้นพรรคกล้า ย่างก้าวเป็นพรรคใหญ่

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า พร้อมด้วยนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรค และคณะผู้บริหารพรรค ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อพบปะประชาชนและให้กำลังใจนายสราวุฒิ สุวรรณรัตน์ ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมเขต 3 นครศรีธรรมราช ที่จะสมัครรับเลือกตั้งวันพรุ่งนี้

นายกรณ์ กล่าวว่า มาเที่ยวนี้ได้พบประชาชนจำนวนมาก 4 อำเภอ เขต 3 นครศรีธรรมราช เรามีทีมงานลงพื้นที่ล่วงหน้า และมาที่นครศรีธรรมราชหลายทริป พบว่ายังมีเรื่องที่ประชาชนมีปัญหา ดังนั้นการเลือกตั้งซ่อมถือเป็นโอกาสของประชาชน

ทำให้ปัญหาคาราคาซังมานานได้รับการดูแล เช่น ระบบน้ำประปาไม่สมบูรณ์ อ.พระพรหม อ.จุฬาภรณ์ แหล่งน้ำมีมากมายหาศาล แต่ขาดการบริหารจัดการ ประชาชนยังขาดน้ำประปา ต้องเสียเงินซื้อน้ำดื่มน้ำใช้ แบกภาระค่าใช้จ่าย จึงเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามผู้มีอำนาจ ส.ส. และรัฐบาล

นายกรณ์ กล่าวว่า หน้าที่ของ ส.ส. คือการสะท้อนปัญหาให้ถึงหูผู้มีอำนาจ นำไปสู่ลงมือทำ พรรคกล้าขอเป็นกระบอกเสียง เป็นตัวแทนพี่น้องประชาชน ที่พร้อมลงมือทำทันที เช่นการสร้างโอกาส หาตลาดให้เกษตรกร ไม่ต้องผ่านคนกลาง ทำให้ชาวบ้านลงมือทำ สร้างโอกาสให้ประชาชน แม้จะเป็นพรรคใหม่ แต่พร้อมสู้อย่างสร้างสรรค์ เน้นการสร้างโอกาส ปากท้อง ช่องทางทำมาหากิน ซึ่งพรรคกล้าเชี่ยวชาญด้านนี้

หัวหน้าพรรคกล้า ย้ำว่า สิ่งที่พบคือความอึดอัดของชาวบ้านต่อประเด็นที่ขาดการดูแล ยังไม่นับรวมความอึดอัดกับสภาพบ้านเมืองโดยทั่วไป เพราะฉะนั้นเราก็พร้อมเป็นพรรคใหม่ เสนอตัวเป็นแนวทางสร้างสรรค์ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

ซึ่งผู้สมัครของเราลงพื้นที่ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว ก็ได้รับการตอบรับอบอุ่นมาก และพรรคภาคภูมิใจที่ได้ส่งผู้สมัครคนแรกที่นครศรีธรรมราช สะท้อนความผูกพันกับชาวนครฯ และในอนาคตพรรคกล้าต้องการเป็นพรรคใหญ่ เป็นทางเลือกหลัก ซึ่งพี่น้อง 4 อำเภอ เขต 3 จะเป็นกลุ่มแรกได้พิจารณาผู้สมัครของพรรคกล้า

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า กล่าวว่า แม้พรรคกล้าจะอายุไม่ถึง 1 ปี แต่ก็พร้อมชนทั้ง ส.ส.เก่าในพื้นที่ หรือจะรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ เราพร้อมสู้นครศรีธรรมราชมีของดี แต่ที่จะเสียไปคือโอกาส ซึ่งพรรคกล้าจะนำเสนอของดีที่นครศรีธรรมราชมี และโอกาสที่เสียไปจากการเมืองเก่า

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่จริง ที่น่าเหลือเชื่อมากที่สุดคือมีพื้นที่ห่างจากตัวเมือง 10 กิโลกว่าๆ แต่น้ำประปายังไม่มี เรื่องเหล่านี้ถูกทอดทิ้งในนครศรีธรรมราช จึงต้องสร้างโอกาส ให้การเมืองใหม่ การเมืองที่ดี เริ่มที่นครศรีธรรมราช

ป.ป.ช. แจงยิบ เหตุส่งศาลฎีกาวินิจฉัยถอดถอน ‘ปารีณา’ จากตำแหน่ง ส.ส. ผิดจริยธรรมร้ายแรง กรณีรุกป่ากว่า 700 ไร่ ชี้ประพฤติตัวไม่เหมาะเป็นตัวแทนประชาชน

นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. แถลงว่า ตามที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงกับ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ หลังจากยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเมื่อเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.ปรากฎรายการที่ดิน 29 แปลง พื้นที่รวม 853-0-73 ไร่ ใน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี

ทั้งนี้ พยานหลักฐานจากข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2548 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 1069 (พ.ศ.2527) ออกตามความใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 โดยในปี 36 และปี 37 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) ให้ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดิน ต่อมาปี 54 มี พ.ร.ฎ.กำหนดให้พื้นที่ อ.รางบัว อ.จอมบึง ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน และ ส.ป.ก.ให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว

จากการไต่สวนปรากฏว่า น.ส.ปารีณา ร่วมกับนายทวี ไกรคุปต์ บิดา เข้ายึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ พื้นที่จำนวน 711-2-93 ไร่ โดยเบื้องต้นได้กระจายการถือครองที่ดินดังกล่าวโดยอาศัยชื่อบุคคลอื่นมาถือครอง แต่ในปี 55 ได้มีการโอนกลับมาเป็นชื่อของน.ส.ปารีณา ทั้งหมด ต่อมา อบต.รางบัว ได้ยกเลิกการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ดังกล่าว

เนื่องจากกรมการปกครองได้แจ้งให้ยกเลิกแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท.5) เพราะเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือที่สาธารณประโยชน์ที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่ น.ส.ปารีณา ก็ยังคงยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว โดยไม่มีสิทธิครอบครองและมิได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ และ ส.ป.ก.แต่อย่างใด

ในปี 55 - 62 น.ส.ปารีณา ได้ขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อ อบต.รางบัว และใบรับรองมาตรฐานฟาร์ม “เขาสนฟาร์ม” และ “เขาสนฟาร์ม 2” บนที่ดินดังกล่าวต่อกรมปศุสัตว์ และในปี 61 ได้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ปารีณา ไกรคุปต์ จำกัด เพื่อประกอบกิจการดังกล่าว

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พ.ค.62 น.ส.ปารีณา ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. โดยยังคงยึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐดังกล่าวโดยอ้างเอกสารแบบแสดงรายการที่ดินฯ (ภ.บ.ท.5) ทั้ง 29 แปลงที่ถูกยกเลิกไปแล้ว และมิได้รับอนุญาต

จนกระทั่งถูกตรวจสอบการครอบครองที่ดินจาก ส.ป.ก.และกรมป่าไม้ โดย ส.ป.ก.ได้แจ้งให้ น.ส.ปารีณา ส่งคืนที่ดินที่ครอบครอง และทำประโยชน์ดังกล่าวทั้งหมด อีกทั้งกรมป่าไม้ได้ร้องทุกข์ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ให้ดำเนินคดีอาญากับ น.ส.ปารีณา ในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ เป็นพื้นที่ 711-2-93 ไร่ และคำนวณค่าเสียหายเป็นตัวเงิน จำนวน 36,224,791 บาท

ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนแล้วเห็นว่า น.ส.ปารีณา เป็น ส.ส. ในฐานะผู้แทนของประชาชน ไม่ยึดถือระเบียบ หลักเกณฑ์ กฎหมาย และไม่ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม

ซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ หรือเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินที่มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความเดือดร้อน และลดความเหลื่อมล้ำในฐานะของบุคคลในทางเศรษฐกิจและสังคม

ดังนั้น จึงมีมติว่า น.ส.ปารีณา ยึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเป็น ส.ส.กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง

และก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ข้อ 11 ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสอง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top