Thursday, 15 May 2025
PoliticsQUIZ

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ออกแนวปฏิบัติให้องค์กรแรงงานดำเนินกิจกรรมที่มีความจำเป็น อาทิ การจัดประชุมใหญ่ การเลือกตั้งคณะกรรมการ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อบังคับ และไม่ขัดต่อกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินของการแพร่ระบาด COVID-19

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า องค์กรแรงงาน เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อสร้างสรรค์ความสัมพันธ์อันดี ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจ ร่วมมือ ร่วมแรง แบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน สภาองค์กรลูกจ้าง เป็นต้น ซึ่งจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และจัดทำข้อบังคับขององค์กรแรงงาน โดยมีกิจกรรมที่จำเป็นต้องดำเนินการ อาทิ การจัดประชุมใหญ่ การเลือกตั้งคณะกรรมการแทนคณะกรรมการที่พ้นวาระ

ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID–19 ระลอกใหม่อาจจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินการในกิจกรรมข้างต้นได้ ด้วยมีประกาศห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามการจัดกิจกรรมในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย เช่น การประชุม การสัมมนา

ดังนั้น กรมจึงได้ออกแนวปฏิบัติองค์กรแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ในสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น เพื่อให้องค์กรแรงงานดำเนินกิจกรรมได้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง ครบถ้วน สอดคล้องกับข้อบังคับ และไม่ขัดต่อกฎหมายแรงงานสัมพันธ์

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวปฏิบัติดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.) องค์กรแรงงานที่ดำเนินการจัดประชุมใหญ่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดโดยมีมาตรการทางสาธารณสุขรองรับ และการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค หรืออาจใช้วิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (กรณีข้อบังคับองค์กรแรงงานกำหนดให้กระทำได้)

2.) กรณีองค์กรแรงงานไม่อาจจัดประชุมใหญ่ได้ให้แจ้งกำหนดการจัดประชุมใหญ่ให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้า โดยมิชักช้าเมื่อสามารถดำเนินการได้หรือสถานการณ์ผ่อนคลาย และประกาศแจ้งให้สมาชิกองค์กรแรงงานทราบด้วย

3.) คณะกรรมการองค์กรแรงงาน ที่พ้นวาระการดำรงตำแหน่งในระหว่างที่ยังไม่อาจดำเนินการจัดประชุมใหญ่ เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการทดแทนให้ผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนพ้นวาระปฏิบัติหน้าที่แทน เพื่อจัดให้มีการประชุมใหญ่และดำเนินกิจการขององค์กรแรงงานเท่าที่จำเป็นตามที่กำหนดในข้อบังคับเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) สิ้นสุดลง หรือภาครัฐยกเลิกข้อกำหนดการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคแล้ว องค์กรแรงงานควรเร่งรัดดำเนินการจัดประชุมใหญ่ตามข้อบังคับ ต่อไป

‘เทพไท’ ยัน พรรคประชาธิปัตย์ส่งสมัครผู้ว่าฯ กทม.ชัวร์ เรียกร้องทุกพรรค ส่งผู้สมัคร ดีกว่าลงสมัครในนามกลุ่มหรือตัวบุคคล หวั่นเกิดความผิดพลาดในการบริหาร จะไม่มีองค์กรใดแสดงความรับผิดชอบ

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ความคืบหน้าการเตรียมยื่นข้อเสนอให้คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์มีมติส่งผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในนามพรรคว่า

จากการที่ตนได้แสดงความเห็น เรื่องการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ และได้เสนอรายชื่อผู้เหมาะสมจำนวน 4 คน คือนายองอาจ คล้ามไพบูลย์,ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์,นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ และนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ปรากฎว่ามีเสียงตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี และส่วนใหญ่สนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์ ส่งผู้สมัครลงแข่งขันในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ด้วย

ซึ่งในที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา(19 ม.ค.) ตนได้ลุกขึ้นวิเคราะห์สถานการณ์การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ให้ที่ประชุมได้รับฟัง และขอความชัดเจนจากคณะกรรมการบริหารพรรคในเรื่องนี้ ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวยืนยันกับที่ประชุมว่า พรรคมีจุดยืนอย่างชัดเจน และพูดมาหลายครั้งแล้วว่า จะส่งผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ในนามพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน

ขณะนี้ได้มีรายชื่อผู้เหมาะสมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่รอจังหวะการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเปิดตัวในวันเปิดรับสมัครเลือกตั้งเลย รวมถึงผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(สก.) ก็มีตัวผู้สมัครครบทุกเขตแล้ว ซึ่งได้เตรียมความพร้อม และทำงานประสานกับนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร มาโดยตลอด

ส่วนตัวสนับสนุนให้พรรคการเมืองทุกพรรคส่งตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. เพื่อเป็นการสนับสนุนการเมืองระดับท้องถิ่นขนาดใหญ่ ให้มีผู้บริหารที่สังกัดพรรคการเมือง เพราะสามารถนำนโยบายของพรรคไปปฏิบัติได้ และพรรคการเมืองจะต้องรับผิดชอบ ต่อการบริหารงานของผู้ว่าฯกทม. ในสังกัดพรรคด้วย เพราะถ้าหากลงสมัครในนามกลุ่ม หรือตัวบุคคล ถ้าหากเกิดความผิดพลาดในการบริหาร ก็จะไม่มีองค์กรใดแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้ประชาชนคนกรุงเทพฯ ไม่สามารถทวงถามความรับผิดชอบทางการเมืองได้

ตนจึงขอเรียนต่อสมาชิกพรรค ผู้สนับสนุนพรรค พี่น้องประชาชนทั่วไป ให้มีความสบายใจ และมั่นใจได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในนามพรรคอย่างแน่นอน ขอให้เตรียมพร้อมหาเสียงให้กับพรรคได้ จะไม่มีการหลีกทางให้แก่ บุคคล กลุ่มการเมือง หรือพรรคการเมืองใด จนเกิดภาพการฮั้วทางการเมืองอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ตาม พรรคจะรักษาสัจจะที่ให้กับประชาชน ตามคำขวัญของพรรคที่มีมา 75 ปี คือ “สัจจัง เว อมตา วาจา ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย”

‘โฆษกเพื่อไทย’ เปรียบ ‘บิ๊กตู่’ อยู่ 7 ปี ประสิทธิภาพการทำงานต่ำกว่า ‘ไบเดน’ ที่ทำงาน 1 วัน เชื่อหากวิสัยทัศน์ผู้นำไม่มี ประเทศไทยจะพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศยากจน

นางสาวอรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของนายโจ ไบเดน เพียงในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง นายไบเดนได้เซ็นคำสั่งพิเศษ 10 ฉบับ เพื่อรับมือกับการจัดการโรคโควิด-19 โดยให้ความสำคัญเร่งด่วนเทียบเท่ากับแผนรับมือสถานการณ์ในภาวะสงคราม

สิ่งที่ไบเดนให้ความสำคัญเป็นอย่างแรกคือการเร่งหาวัคซีน และการเยียวยาความเดือดร้อนให้ประชากรในประเทศ  ในขณะที่ประเทศไทยซึ่งติดเชื้อโควิดครบรอบ 1 ปี  สิ่งที่ได้เห็นจากรัฐบาลคือการตั้งคณะทำงานเกือบ 10 ชุด สวนทางกับคณะทำงานแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระดับโลกจะมอบอำนาจให้ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขดูแล

แต่ของไทยทำงานข้ามหัวรัฐมนตรี ไปรายงานและขออนุมัติโดยตรงที่พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งผูกขาดคำสั่งการไว้เพียงผู้เดียวในฐานะหัวหน้า ศบค. ซ้ำยังปล่อยให้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงซึ่งเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดระลอก 2 มาควบคุมสถานการณ์และออกมาตรการ โครงสร้างแบบนี้ต่อให้มีนายกรัฐมนตรีเป็นร้อยคนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 

นอกจากนี้ในด้านแก้ปัญหาเศรษฐกิจยังล้มเหลว  เวลานี้ธนาคารพาณิชย์ทยอยประกาศผลประกอบการ เกือบทุกแห่ง 'กำไรลดลง'​ แต่แบงค์ยังคงมีกำไรเพียงแค่ลดลงจากที่เคยได้  แต่ประชาชนและเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารกำลังจะอดตาย พล.อ. ประยุทธ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทำอะไรได้บ้างนอกจากให้กู้ ขณะที่นายไบเดนประกาศพักหนี้-ดอกเบี้ย 3 เดือน  ทั้งหมดอยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้นำที่มองประชาชนเป็นนาย ไม่ใช่ผู้รับใช้

"ผู้นำไทยด้อยความสามารถ ทำทุกอย่างสวนทางผู้นำโลก หากยังคงทำหน้าที่ต่อไปประเทศไทยจะหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศยากจนอย่างเต็มตัว แล้วอาจจะกลายเป็นประเทศด้อยพัฒนาในที่สุด" นางสาวอรุณี กล่าว

‘ทิพานัน’ อบรมโฆษกเพื่อไทย อย่านั่งเทียนมโนดิสเครดิต ‘บิ๊กตู่’ ยันนายกฯไม่รวบอำนาจศบค.- มีรมต. ทุกกระทรวง และรับฟังรอบด้าน ชี้แนวโน้มรัฐบาลคุมโควิดดีขึ้น ยันไทยไม่กลายเป็นประเทศยากจน

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัครส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย วิจารณ์การทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่าผูกขาดคำสั่งการใน ศบค.ไว้เพียงผู้เดียวว่า

เป็นการแสดงความเห็นของนักการเมือง ควรอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล ข้อเท็จจริง ไม่ใช่การมโน เนื่องจากโครงสร้างของศบค.นั้น มีรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงร่วมอยู่ด้วย จะผูกขาดได้อย่างไร ที่สำคัญ ศบค. ยังกระจายอำนาจในการตัดสินใจ จากประกาศคำสั่งนายกรัฐมตรี 39/2563 ได้มีการปรับปรุงเพิ่มศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย ที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าศูนย์ เพื่อช่วยในการบริหารจัดการ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดควบคุมพื้นที่จังหวัดของตัวเอง มีอำนาจสั่งการต่างๆในพื้นที่คล่องตัวขึ้น

จะเห็นได้ว่า การดำรงตำแหน่ง ผอ.ศบค.ของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นไปเพื่อความคล่องตัว เนื่องจากนายกฯมีอำนาจสูงสุด สามารถตัดสินใจในเรื่องเร่งด่วน ฉุกเฉินได้ ซึ่งเป็นผลดีกับคนทำงาน ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี โดยจะเห็นว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 เริ่มทรงตัว ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ในระดับ 300 กว่ารายบวกลบ จึงมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เห็นได้จากการที่กรุงเทพมหานคร เริ่มผ่อนปรนมาตรการใน 13 กิจการและกิจกรรมแล้ว

"โฆษกพรรคเพื่อไทยจึงไม่ควรนั่งเทียนมโนสร้างข่าวเพื่อดิสเครดิตพล.อ.ประยุทธ์อย่างไม่ตรวจสอบข้อมูล หรือเห็นว่าแนวโน้มการจัดการโควิดเริ่มดีขึ้น จึงกังวลว่า จะถูกประชาชนลืม อาจต้องสร้างข่าวขึ้นมา การจะทำให้ประชาชนจดจำ คือผลงานที่ทำ นักการเมืองควรทุ่มเทให้ความช่วยเหลือประชาชนมากกว่า ใช้วาทะกรรมป้ายสี" น.ส.ทิพานัน กล่าว

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมาของพล.อ.ประยุทธ์ ยังรับฟังความเห็นรอบด้าน เห็นได้จากการรับฟังข้อเรียกร้องของสมาคมภัตตาคารไทย ซึ่งเป็นการสร้างสมดุลระหว่างมาตรการที่เข้มข้นกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบกับมาตรการในการช่วยเหลือต่างๆ กำลังเข้ามาเสริมสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจไทย

ไม่ว่าจะเป็นมาตรการพักชำระหนี้ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ย เงินกู้ลูกค้า ที่ได้รับผลกระทบ โครงการ "ชำระดีมีคืน" และการลดภาระหนี้สำหรับลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อีกทั้งโครงการ "เราชนะ" ที่จะให้ความช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน 3,500 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 2 เดือนคือ มกราคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งเมื่อเม็ดเงินกระจายลงไปก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปได้ นี่คือข้อมูลเบื้องต้น ที่โฆษกพรรคเพื่อไทยควรหาข้อมูลก่อนวิจารณ์

"เราไม่ไปสู่ประเทศที่ยากจนอย่างที่โฆษกพรรคเพื่อไทยกังวลอย่างแน่นอน ขนาดเราต้องสูญเสียงบประมาณไปมหาศาลหลายแสนล้านกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ประเทศไทยเรายังแข็งแกร่ง และประเทศไทยเราไม่จำเป็นต้องเดินตามชาติใด เพราะเราเคยชนะสงครามโควิดมาแล้วในรอบแรก จนเป็นตัวอย่างให้ประเทศทั่วโลกให้การยอมรับ และเชื่อมั่นว่าเราจะชนะอีกรอบ "น.ส.ทิพานัน กล่าว

‘นายกรัฐมนตรี’ รับทราบข้อมูลประชาชนช่วยแจ้งเบาะแสเรื่องแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย บ่อนการพนัน และกิจกรรมใดๆ ที่จะสุ่มเสี่ยงให้เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ผ่าน 1111 ทั้ง 5 ช่องทางแล้ว เป็นจำนวน 237 เรื่อง

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับทราบข้อมูลที่ประชาชนช่วยแจ้งเบาะแส เรื่องแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย บ่อนการพนัน และกิจกรรมใดๆ ที่จะสุ่มเสี่ยงให้เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ผ่าน 1111 ทั้ง 5 ช่องทางแล้วเป็นจำนวนถึง 237 เรื่อง

ทั้งนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รายงานการรับแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือปล่อยปละละเว้นการกระทำผิดกฎหมาย บ่อน ค้าประเวณี แรงงานผิดกฎหมาย รวมทั้งเรื่องราวร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือ สอบถามข้อมูล เสนอความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโควิด-19 ผ่านทั้ง 5 ช่องทาง 1111 ได้แก่

1) สายด่วน 1111

2) ตู้ ปณ. 1111 ทำเนียบรัฐบาล

3) เว็บไซต์ www.1111.go.th

4) แอปพลเคชัน PSC1111

5 ) จุดบริการประชาชน 1111 ทำเนียบรัฐบาล

ตั้งแต่วันที่ 7 -22 มกราคม 2564 จำนวน 32,245 เรื่อง แบ่งเป็นเบาะแสแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย 25 เรื่อง เบาะแสบ่อนการพนัน 132 เรื่อง เบาะแสการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ฯ 80 เรื่อง ส่วนอีกจำนวน 32,008 เรื่องนั้น เป็นการที่ประชาชนได้แจ้งเรื่องร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือ รวมถึงสอบถามข้อมูล เสนอความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะทั่วไปเกี่ยวกับโควิด-19

โดยขอให้ประชาชนผู้ให้ข้อมูล/แจ้งเบาะแส วางใจและมั่นใจว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส โดยจะปกปิดชื่อผู้แจ้ง กำหนดเป็นเรื่องลับ ไม่ให้ผู้แจ้งต้องได้รับภัยจากการแจ้งเบาะแสหรือการให้ข้อมูล

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังเน้นถึงประสิทธิภาพกระบวนการส่งข้อมูลเบาะแส โดยให้แจ้งข้อมูลและเบาะแสการเข้าเมืองผิดกฎหมาย แรงงานผิดกฎหมาย ไปยังคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดกรณีการเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ส่วนข้อมูลและเบาะแสเกี่ยวกับบ่อนการพนันให้แจ้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดกรณีสถานที่เล่นการพนันเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในส่วนข้อมูลการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 9 พ.ร.บ. ฉุกเฉินฯ จะส่งไปยังส่วนศูนย์ปฏิบัติการด้านความมั่นคง (ศปม.) ซึ่งมีกองบัญชาการทหารสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยปฏิบัติ รวมทั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ให้รายงานผลการดำเนินงานให้นายกรัฐมนตรีทราบในทุกระยะด้วย

‘รมว.แรงงาน’ แจงชัด 'หมอบูรณ์' กรณีขอเงินชราภาพคืน ยันเจ้าตัวเป็นอนุกรรมการด้วย วอนช่วยสื่อสารให้คนในกลุ่มเข้าใจความคืบหน้า ขณะนี้ สปส.กำลังดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งมีระยะเวลาและขั้นตอนที่ชัดเจน

ที่ห้องประชุมกลุ่มงานคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ชั้นล่าง อาคารกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ น.สพ.บูรณ์ อารยพล แกนนำกลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน นำตัวแทนกลุ่มเข้าพบ ยื่นข้อเรียกร้องให้คืนเงินสมทบชราภาพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนจากผลกระทบโควิด-19 ว่า

ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ใช้แรงงานและผู้ประกันตน ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ให้สามารถนำเงินกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ได้บางส่วน ในเรื่องนี้ ผมจะขอกล่าวว่า ในเรื่องที่จะนำเงินชราภาพออกมาช่วยเหลือ ผู้ประกันตนบางส่วนก่อนนั้น นโยบายรัฐบาล โดย ท่าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการกำชับมาที่ผมตั้งแต่รับตำแหน่งแรก ๆ แล้ว

และผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการสั่งการให้ สำนักงานประกันสังคม รีบไปดำเนินการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากข้อเรียกร้องกรณีผู้ประกันตนเรียกร้องให้สามารถนำเงินกองทุนประกันสังคม (กองทุนชราภาพ) ออกมาใช้บางส่วน และเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล การแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประกันตนดังกล่าวข้างต้น ความคืบหน้าล่าสุดขณะนี้ สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เป็นเรื่องเร่งด่วนทันที เพื่อหาแนวทางดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกันตน

โดยคณะกรรมการประกันสังคมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงานในการขอใช้เงินกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพก่อนกำหนด (เฉพาะกิจ) โดยแต่งตั้งให้ น.สพ.บูรณ์ อารยพล หรือ 'หมอบูรณ์' ร่วมเป็นอนุกรรมการด้วย และมีการประชุมติดตามรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามขั้นตอนของกรอบกฎหมายมาโดยตลอด

ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการประชุมหลายครั้งและได้พิจารณาศึกษาแนวทางการช่วยเหลือใน 2 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น จะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ส่วนในระยะยาว สำนักงานประกันสังคมจะต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถนำเงินกองทุนชราภาพของผู้ประกันตนมาใช้บางส่วนก่อนกำหนดได้ ภายใต้กรอบขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งในขั้นตอนของสำนักงานประกันสังคม ขั้นตอนของกระทรวงแรงงาน และขั้นตอนของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ซึ่งแต่ละขั้นตอนมีระยะเวลาที่ชัดเจน

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าขณะนี้สำนักงานประกันสังคมได้ประชุมคณะทำงานดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นแนวทางในการขอใช้เงินกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพก่อนกำหนด ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา และจะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ต่อไป

"ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคนทุกกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน โดยท่านได้กำชับให้ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงมาติดตามปัญหาด้วยตนเอง เพื่อดูแลพี่น้องแรงงานให้เหมือนคนครอบครัว

การที่หมอบูรณ์ แกนนำกลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน ยื่นข้อเรียกร้องให้คืนเงินสมทบชราภาพเพื่อนำเงินบางส่วนมาใช้นั้น ยืนยัน ว่า ได้ติดตามเร่งรัดการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคมมาอย่างใกล้ชิด แต่ไม่เข้าใจว่า'หมอบูรณ์' ซึ่งก็ร่วมเป็นอนุกรรมการศึกษาข้อเรียกร้องของกลุ่มแรงงานในการขอใช้เงินกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพก่อนกำหนด (เฉพาะกิจ) ด้วย เข้าร่วมประชุมทุกครั้ง รู้ขั้นตอนการดำเนินงานทุกอย่างแต่ทำไมไม่สื่อสารกับเพื่อนสมาชิก กลับเป็นแกนนำ นำเพื่อนสมาชิกไปเที่ยวเรียกร้องตามที่ต่างๆ

จึงขอให้หมอบูรณ์ช่วยนำความคืบหน้าจากที่ประชุมที่ตนเป็นคณะทำงานอยู่ไปสื่อสารให้เพื่อนในกลุ่มได้รับรู้ถึงขั้นตอนการดำเนินการของสำนักงานประกันสังคมภายใต้กฎหมายซึ่งมีกรอบของระยะเวลาที่ชัดเจนอยู่แล้ว" นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด

‘แรมโบ้’ ซัด ‘ธนาธร’ ปลาหมอตายเพราะปาก ยันนายกฯ ไม่ได้พูดถึงวัคซีนพระราชทาน อย่าพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงให้ประชาชนเข้าใจผิด เพื่อหวังผลทางการเมือง

นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ระบุคำว่าวัคซีนพระราชทาน นั้นไม่ได้พูด แต่เป็นคำพูดของนายกฯ ว่า หากนายธนาธรได้ฟังคำพูดของนายกฯที่แถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 พ.ย.63 หลังเป็นประธานในพิธี ลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19

ซึ่งนายกฯระบุตอนหนึ่งว่า “เราต้องมีการเตรียมการภายในประเทศคือ เมื่อรับวัคซีนมาแล้ว จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งอันนี้ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย อยู่ในขั้นตอน คือเมื่อรับวัคซีนเข้ามาแล้วจะมีการบรรจุ แจกจ่าย"

นายสุภรณ์ กล่าวว่า ในคำพูดของนายกฯเป็นการพูดถึง การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 เข้ามาเป็นผู้ร่วมผลิตวัคซีนโควิดแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) บริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน และไม่ได้บอกว่าเป็นวัคซีนพระราชทานเพื่อจะนำมาฉีดให้กับประชาชน

นายสุภรณ์ กล่าวว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย มีวัตถุประสงค์ที่อยากจะผลิตยาเพื่อให้ประชาชนคนไทยได้ใช้ยาที่มีราคาถูกกว่ายาที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยไม่คิดถึงกำไรเลยแม้แต่น้อย ต้องการให้ประชาชนคนไทยได้เข้าถึงยาที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด เพื่อสุขภาพที่ดี

นายสุภรณ์ กล่าวว่า การที่นายธนาธรบิดเบือนคำพูดของนายกฯคือสิ่งที่เลวทรามที่สุดไร้จรรยาบรรณความรับผิดชอบ และยังกล้าก้าวล่วงพาดพิงไปถึงสถาบัน เพื่อให้คนสำคัญผิด และยังดูหมิ่น เยี่ยงนี้ พวกผมทนไม่ได้ต้องทำหน้าที่ดำเนินคดีไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป

ไม่ใช่เป็นการเตะตัดขาหรือทำลายเครดิตทางการเมืองของนายธนาธร แต่ทุกอย่างนายธนาธรพูดเองทำเองต้องรับผิดชอบเอง คนประเภทนี้เหมือนสุภาษิต"ปลาหมอตายเพราะปาก" ซึ่งนายธนาธรก็ควรสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณด้วย ที่ท่านทรงมีเมตตา ทำเพื่อประเทศชาติและประชาชนมาโดยตลอดจวบจนถึงทุกวันนี้ มากกว่าที่จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ พูดจาบจ้วงสถาบันไม่หยุด เพราะไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งนั้น

นายสุภรณ์ กล่าวว่า การที่นายธนาธรออกมาพูดเรื่องวัคซีนพระราชทาน ตนเองเชื่อว่านายธนาธรได้ฟังคำพูดของนายกฯอย่างละเอียดแล้ว และทราบดีว่านายกฯ ไม่ได้พูดถึงวัคซีนพระราชทาน แต่นายธนาธรมีความพยายามที่จะบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้ประชาชนเข้าใจในตัวนายกฯและรัฐบาลผิดๆ เพื่อหวังผลทางการเมือง โดยไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชน การที่ตนและพวกไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายธนาธร มาตรา 112 จึงเป็นเรื่องที่ทำถูกต้องแล้ว เพราะคนประเภทนี้ต้องได้รับกรรมตามที่ทำไว้

"ในสมองวัน ๆ มีแต่ความอาฆาตแค้น เพราะไม่สนใจความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่เคยมีจิตสำนึกว่า ครอบครัวนายธนาธรร่ำรวยบนผืนแผ่นดินไทย แทนที่จะช่วยกันตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ตรงข้ามมีแต่จะสร้างปัญหาความแตกแยกวุ่นวายให้เกิดขึ้นตลอดเวลา พยายามที่จะยุยงให้คนออกมาทำลายสถาบัน นี่คือสิ่งที่คนไทยเกลียดที่สุด สวรรค์มีตา กรรมจะตามสนองคนอย่างนายธนาธรอย่างแน่นอน" นายสุภรณ์ กล่าว

‘บิ๊กป้อม’ สั่งการส่วนราชการและทุกจังหวัด บูรณาการแก้ไขปัญหา PM 2.5 พุ่งเกินมาตรฐาน เร่งจัดชุดเฉพาะกิจ กระจายลงพื้นที่ สำรวจและหยุดสาเหตุหลักจากการเผาในที่โล่งทุกพื้นที่ทันที

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศปิดที่ไม่เอื้อต่อการกระจายตัวของฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นปัจจุบัน ต่อเนื่องไปจนถึง 24 ม.ค.64 ส่งผลให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็กและค่า PM 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพในหลายพื้นที่ของทุกภาค ยกเว้น ภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคกลาง สาเหตุหลักมาจากการเผาในที่โล่ง

ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย รวมทั้ง กทม. ประสานกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยทุกจังหวัดถึงระดับท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนแผนเฉพาะกิจ เพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของจังหวัดที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน

โดยให้เร่งจัดชุดเฉพาะกิจ กระจายลงพื้นที่สำรวจและหยุดสาเหตุหลักจากการเผาในที่โล่งที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทันที โดยเฉพาะพืชผลการเกษตร โดยให้ขอความร่วมมือประชาชนและบังคับใช้กฎหมายควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่องและจริงจัง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ให้ประสานกับสาธารณสุขจังหวัด ลงพื้นที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ รวมทั้งให้ประชาสัมพันธ์สร้างการตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน ลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดควันในห้วงเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้หากพบเห็นการเผาในที่โล่ง ขอให้แจ้งเบาะแส 1650 โดยระหว่างนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (23 มกราคม พ.ศ. 2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 198 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 13,302 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 72ราย รักษาหายเพิ่ม 224 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 10,448 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2,782 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 198 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากสวีเดน 1 ราย ,อินเดีย 1 ราย ,อิตาลี 1 ราย ,สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2 ราย ,อียิปต์ 1 ราย ,รัสเซีย 1 ราย ,สหรัฐอเมริกา 1 ราย ,บาห์เรน 4 ราย ,สหราชอาณาจักร 5 ราย ,สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย

ผู้ป่วยรายใหม่ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ จำนวน 69 ราย

ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 111 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 175 ราย รักษาหายแล้ว 169 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 456 ราย รักษาหายแล้ว 403 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 9.65 แสน ราย รักษาหายแล้ว 7.81 แสน เสียชีวิต 27,453 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 41 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.76 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.33 แสน ราย เสียชีวิต 660 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.37 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.21 ราย เสียชีวิต 3,031 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 5.1 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.68 แสน ราย เสียชีวิต 10,136 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 59,250 ราย รักษาหายแล้ว 58,983 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1,548 ราย รักษาหายแล้ว1,411 ราย เสียชีวิต 35 ราย

ศบค.ชุดเล็ก จ่อปูพรม ตรวจเชิงรุก กทม.-มหาชัย เพิ่มขึ้น สั่งเข้มเว้นระยะห่าง หวั่นติดเชื้อ 1 คน เสี่ยงสูงต่อครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน ย้ำปัจจัยเสี่ยงในที่ทำงานคือ การนั่งรับประทานอาหารร่วมกัน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หรือ ศบค. ชุดเล็ก ที่มีพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. เป็นประธานการประชุม ว่า ในวันนี้ได้หารือกันในเรื่องหลักการ ซึ่ง พล.อ.ณัฐพล ก็ได้เห็นด้วยในหลักการ

อย่างไรก็ตามต้องดูข้อมูลรายละเอียดในสัปดาห์หน้า เพื่อดูว่าข้อมูลมีความสอดคล้องกับแนวโน้มที่เราคิดไว้หรือไม่ ถ้าสอดคล้องกัน ก็แสดงว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่เหลือจุดที่เราต้องให้ความสำคัญคือ ที่จ.สมุทรสาคร และที่ประชุมก็เน้นหนักไปที่จ.สมุทรสาคร ส่วนมาตรการที่เราจะผ่อนคลายต่างๆ ก็ต้องดูสถานการณ์สัปดาห์หน้าเช่นกัน

เมื่อถามว่า มีแนวโน้มว่าจะเปิดตลาดกลางกุ้ง ที่จ.สมุทรสาคร หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า แนวทางที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. มอบมาคือ พยายามยึดหลักของการแพทย์ และสาธารณสุขเป็นหลัก และที่ประชุมก็เห็นพ้องต้องกันว่า น่าจะมีการเพิ่มมาตรการต่างๆ เข้าไป เพื่อให้สถานการณ์ที่ดีขึ้นอยู่แล้ว ดีขึ้นได้เร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งหลังจากนี้ก็จะมีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติม

เมื่อถามว่า มีแนวโน้มว่าจะคลายล็อก จ.สมุทรสาคร ด้วยใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนนี้ก็ต้องดูข้อมูลของสัปดาห์หน้าอีกครั้ง ที่จะมีมาตรการตรวจปูพรมเพิ่มขึ้น รวมทั้งให้ทางเอกชน และโรงงานต่างๆ มาร่วมด้วยช่วยกันมากขึ้น

เมื่อถามว่า สถานการณ์ในพื้นที่กทม. ยังมีความกังวลอยู่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า จากข้อมูลที่นำมาเสนอในที่ประชุมวันนี้ พบว่าสถานการณ์ในกทม. ยังค่อนข้างคงตัว อยู่ในระดับที่เราค่อนข้างพอใจ อย่างไรก็ตามพื้นที่กทม. ที่เป็นพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ ก็จะมีการตรวจพื้นที่เชิงรุกมากขึ้นเช่นเดียวกัน

สิ่งที่สำคัญไม่ใช่เรื่องการตรวจอย่างเดียว แต่ต้องมีความร่วมมือของประชาชนด้วย เช่น เรื่องการเว้นระยะห่างก็ต้องมีเพิ่มเติม โดยจุดที่เราเห็นเป็นปัญหาของ กทม. คือ เมื่อมีคนติดเชื้อ 1 คน คนในครอบครัวจะเป็นกลุ่มเสี่ยง และเพื่อนร่วมงานในที่ทำงาน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงในที่ทำงานคือ การนั่งรับประทานอาหารร่วมกัน ดังนั้น แต่ละองค์กรจะต้องจัดพื้นที่ให้กับเจ้าหน้าที่ และพยายามหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกันหลายๆ คน เพราะเป็นจุดเสี่ยงที่เราเห็นได้ค่อนข้างชัด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top