Thursday, 15 May 2025
PoliticsQUIZ

รมว.พาณิชย์ เร่งหามาตรการเชิงรุกช่วยเหลือชาวไร่กระเทียม 9 จังหวัดภาคเหนือ กรณีที่มีพ่อค้ากดราคาหรือตกเขียวกระเทียม และการซื้อขายล่วงหน้าในราคาต่ำส่งผลให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน

นายแทนคุณ จิตต์อิสระ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในนำเรื่องร้องเรียนกรณีที่มีพ่อค้ากดราคาหรือตกเขียวกระเทียม หรือการซื้อขายล่วงหน้าในราคาต่ำส่งผลให้เกษตรกร ได้รับความเดือดร้อน

ซึ่งนายสมบัติ ยะสิน อดีต ส.ส. แม่ฮ่องสอน พรรคประชาธิปัตย์ และนายขยัน วิพรหมชัย อดีตนายกเทศมนตรี ลำพูน มาหารือ และได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเร่งรัดหามาตรการเชิงรุกเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรทั้งในจังหวัดเชียงใหม่เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และอุตรดิตถ์

โดยเร่งดำเนินมาตรการการคุ้มครองไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบ ให้มีราคาดีขึ้นกว่าราคาตกเขียว พร้อมสั่งการให้พาณิชย์จังหวัดดำเนินการประสานงาน ติดตามสอดส่องตลาดทุกระดับ ทั้งตลาดระดับจังหวัด ห้างโมเดิร์นเทรด ตลาดในภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้นายจุรินทร์ จะเดินทางไปประชุมและพบกับเกษตรกรรวมทั้งผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนและแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยตนเองในวันเสาร์ที่ 23 มกราคม 2563 ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

‘เทพไท’ ชี้ ‘สุพัฒนพงษ์ - อาคม’ ไม่เข้าใจชีวิตคนยากจนในชนบท ทั้งลำบากในการซื้อสมาร์ทโฟน และขั้นตอนยุ่งยากในการลงทะเบียน แนะรัฐใช้ระบบการเยียวยา 2 ประเภท ผ่านแอพพลิเคชั่นและใช้แบบฟอร์มของราชการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว มีข้อความว่า ตนได้ฟังการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรี 2 ท่านในรัฐบาลชุดนี้ พูดถึงการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น โครงการ เราชนะ เพื่อรับเงินเยียวยาจากผลกระทบของการระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ได้พูดถึงประชาชนระดับรากหญ้า ที่ไม่สามารถเข้าถึงแอพพลิเคชั่นได้ เพราะ ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ที่จะใช้กับสมาร์ทโฟนได้

ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า “เดี๋ยวนี้ราคาโทรศัพท์ก็ไม่แพง คิดว่าคนไม่มีโทรศัพท์ไม่น่าจะเยอะ โครงการนี้ครอบคลุมประชาชน 31 ล้านคน ถ้า 2 ล้านคนไม่มีโทรศัพท์ ก็แสดงว่า 90% ได้ประโยชน์ไปแล้ว อีก 2 ล้านคนที่เหลือ ก็จะต้องมาดูแล”

และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า “การแจกเงิน 3,500 บาท จะต้องใช้จ่ายผ่านแอพฯ เป๋าตัง อย่างเดียวเท่านั้น เพราะต้องการสนับสนุนสังคมไร้เงินสด ส่วนคนไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เชื่อว่าจะเป็นส่วนน้อย เพราะบางส่วนก็ถือบัตรสวัสดิการอยู่แล้ว แต่หากใครไม่มีก็ต้องขอรบกวน เพราะตอนนี้ราคาไม่แพงแล้ว”

ถ้าพิจารณาดูจากคำให้สัมภาษณ์ของทั้ง 2 ท่านแล้ว จะเห็นได้ว่าบุคคลที่เป็นรัฐมนตรีทั้ง 2 ท่าน ไม่ได้เป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในสังคมเมือง เป็นนักธุรกิจ มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูง และเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จึงไม่มีโอกาสสัมผัสชีวิตประชาชนในพื้นที่ชนบท

จึงไม่เข้าใจว่าคนยากคนจนในชนบท มีความยากลำบากในการจะซื้อโทรศัพท์มือถือชนิดที่ทันสมัยใช้ระบบสมาร์ทโฟนได้ เพราะมีราคาค่อนข้างสูง และแม้ว่าจะมีแล้วก็ตาม ก็ยังไม่มีสามารถใช้ระบบสมาร์ทโฟนได้ เพราะมีขั้นตอนยุ่งยากมากมายในการลงทะเบียน และพบว่าบางคนก็ยังใช้โทรศัพท์ไม่เป็น

จึงอยากจะให้ ผู้บริหารระดับรัฐมนตรีได้เข้าใจถึงชีวิตความเป็นจริงของคนในชนบทด้วย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลอาจจะใช้ระบบการเยียวยาออกเป็น 2 ประเภท คือประเภทลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น กับการลงทะเบียนตามแบบฟอร์มของทางราชการตามปกติ แล้วค่อยนำไปคีย์ข้อมูลลงในระบบของกระทรวงการคลังภายหลัง เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนคนรากหญ้า ได้รับโอกาสเยียวยาจากรัฐบาลอย่างเท่าเทียมกัน

หลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างเกี่ยวกับโครงการ ‘เราชนะ’ ที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากที่ไม่มีสมาร์ทโฟนต้องขาดโอกาสในการเข้าถึง และรวมถึงคนที่ได้สิทธิก็ไม่สามารถกดเงินสดออกมาใช้ได้ ทำให้ไม่สะดวกต่อการจ่ายค่าภาระที่จำเป็นเฉพาะในแต่ละคน

จึงเริ่มมีการขอให้ภาครัฐทบทวนการรับสิทธิตามมาตรการเราชนะกันใหม่

แล้วดูหมือนเสียงต่างๆ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ‘เราชนะ’ เข้าให้จริงๆ โดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า…

แม้ไม่มีสมาร์ทโฟน ก็สามารถใช้ “เราชนะ” ได้

มีคนเป็นห่วงว่า ประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน จะไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิในโครงการเราชนะ

ตอนที่เราทำแผนกัน ทีมงานคิดละเอียดทุกเรื่อง เพื่อไม่ให้คนที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือตกหล่นไป เราได้วางรูปแบบไว้แล้วว่า แม้จะไม่มีสมาร์ทโฟน ก็สามารถใช้ “เราชนะ” ได้

ทั้งนี้ เราดูจากผลสำรวจเรื่องการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่าประเทศไทยมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 56.7ล้าน คน คิดเป็นร้อยละ 89.6 ของประชากรที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป และผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน เข้าถึงอินเตอร์เน็ตค่อนข้างสูงคือ ร้อยละ 96.4

สำหรับประเด็นนี้ กลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.8 ล้านคน ซึ่งไม่ต้องลงทะเบียนเราชนะ แต่จะได้รับเงินโอนเข้าบัตรโดยตรง

คนที่อาจจะไม่มีบัตรสวัสดิการและไม่มีสมาร์ทโฟน เราก็ได้ประสานงานกับ ‘ธนาคารของรัฐ’ ที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ ให้ช่วยอำนวยความสะดวกให้คนกลุ่มนี้ลงทะเบียนได้ ซึ่งได้รับการยืนยันมาแล้วว่าทำได้

ทั้งนี้ก็เพราะเราได้วางรูปแบบให้มีเวลาลงทะเบียน 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม-12 กุมภาพันธ์ ดังนั้น คนที่มีสิทธิตามเงื่อนไขโครงการ เช่น ไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม มีรายได้พึงประเมินไม่เกิน 3 แสนบาท ฯลฯ ‘จะมีเวลาพอที่จะไปรับความช่วยเหลือในการลงทะเบียน’

มีคำถามอีกว่า ทำไมไม่จ่ายเงินเข้าบัญชี แล้วให้ถอนเป็นเงินสดได้ จะได้ใช้จ่ายเงินได้ตามใจชอบ

เรื่องแรกเลยคือ เรื่องกำลังอยู่ในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด การสัมผัสธนบัตร จึงเป็นเหตุที่อาจติดเชื้อโควิดได้ ไม่เพียงแต่เท่านั้น เรายังคิดถึงเรื่องลดการแออัดที่ประชาชนจำนวนมาก ที่จะไปต่อคิวกดเงินสดออกจากตู้ ATM ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสนับสนุนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ เหตุผลสำคัญอีกประการก็คือ ความต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า และให้เงินหมุนเวียนอยู่ในชุมชน เพราะร้านค้าที่รับซื้อหรือรับบริการจะเป็นร้านเล็กๆ เรามีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือคนตัวเล็ก และให้เงินหมุนหลายรอบในระบบเพื่อช่วยเหลือการใช้เงินในชีวิตประจำวันของคนตัวเล็กให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

และครั้งนี้จะเปิดกว้างให้เป็นบริการทั่วไปได้ ซึ่งรวมถึง ‘มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่’ และอื่นๆ อีกมาก ‘คนที่จะจ่ายค่าเช่าบ้าน ก็สามารถให้ผู้รับเงินเปิด แอปฯ ถุงเงิน’ เพื่อให้เราใช้เงินในแอปฯ เป๋าตังจ่ายได้ หรือแม้แต่นำเงินสดที่ประหยัดได้จากการใช้วงเงินเราชนะ ที่นำไปใช้จ่ายในส่วนนั้นได้

สิ่งที่เป็นประโยชน์มากอีกอย่างก็คือ การสร้างสังคมไร้เงินสด ซึ่งโครงการ “คนละครึ่ง” เริ่มต้นไว้แล้ว…“เราชนะ” ก็มาทำให้ต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งอนาคตเราหนีเรื่องนี้ไม่พ้น

อย่างไรก็ดี ผมขอขอบคุณสำหรับคำถาม ข้อสงสัยต่างๆ ทำให้เรามองเห็นเรื่องที่อาจจะเป็นปัญหา หรือที่เราอาจจะมองข้ามไป เราจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อที่ประเทศไทยจะเดินต่อได้ วันนี้พวกเราต้องร่วมมือกันครับ


ที่มา: เฟซบุ๊ก สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

ท่ามกลางข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทำให้ ‘ม.112’ หรือ ‘กฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์’ กลับมาเป็นปมของการเมืองไทยอีกครั้ง

ไอติม - พริษฐ์ วัชรสินธุ กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้าได้ออกมาให้มุมมอง เกี่ยวกับข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยมุ้งเป้าไปที่ ‘ม.112’ หรือ ‘กฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์’ ซึ่งกลับมาเป็นปมของการเมืองไทยอีกครั้ง

โดย ไอติม มองว่า มาตรา 112 กำลังส่งผลกระทบต่อทั้งต่อประชาธิปไตยและสถาบันกษัตริย์เอง

"มาตรา 112 ของไทยขัดกับหลักสากลที่ใช้กันทั่วไปในประเทศที่อยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่สามมิติ

มิติที่หนึ่ง คือความหนักของโทษ มาตรา 112 ของไทยกำหนดโทษจำคุกอยู่ที่ 3 - 15 ปี ซึ่งถือว่าเป็นโทษที่หนักมาก ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับมิติไหนก็ตาม ถ้าเทียบกับกฎหมายอื่นๆ ของไทย จะเห็นว่าโทษของมาตรา 112 เทียบเท่ากับการฆ่าคนโดยไม่เจตนา

ถ้าเทียบกับกฎหมายของไทยในอดีตที่มีลักษณะเดียวกัน โทษของมาตรา 112 ในปัจจุบันหนักกว่าโทษในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก ซึ่งในสมัยนั้นได้กำหนดโทษไว้ที่จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ 7 ปี แล้วแต่ช่วงเวลา จนกระทั่งถูกยกระดับขึ้นมาเป็น 3 - 15 ปี ตั้งแต่ปี 2519 และใช้เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

หรือหากลองเทียบกับกฎหมายลักษณะเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 112 ของเราก็หนักกว่าอีกหลายชาติเช่นกัน เช่น โมนาโกกำหนดโทษจำคุกครึ่งปี-5 ปี สวีเดนที่ 0-6 ปี เดนมาร์ก 0-8 เดือน และเนเธอร์แลนด์ 0-4 เดือน ขณะที่ประเทศอย่างสหราชอาณาจักร นอร์เวย์ และญี่ปุ่น ไม่ได้กำหนดเป็นกฎหมายอาญา แต่เป็นกฎหมายแพ่ง จึงไม่มีโทษจำคุก มีแต่เพียงการเรียกร้องค่าเสียหาย

มิติที่สอง คือ ปัญหาในเชิงการบังคับใช้ ซึ่งไม่ได้มีการวางขอบเขตชัดเจนระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต กับการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย ในเชิงกฎหมาย การวิจารณ์โดยสุจริตไม่น่าจะเข้าข่ายความผิด เพราะมาตรา 112 เขียนถึงแค่ความผิดจากการที่ “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย..” แต่ในทางปฏิบัติ หลายคนที่แม้จะวิจารณ์โดยสุจริต ก็ถูกตัดสินว่าผิด

ปัญหาหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนตรงนี้ อาจเป็นเพราะในขณะที่กฎหมายอาญามาตรา 329, 330 ระบุไว้ชัดเจนสำหรับการหมิ่นบุคคลธรรมดา ว่าการ ‘วิจารณ์โดยสุจริต’ หรือการกล่าว ‘ความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน’ เป็นข้อยกเว้นที่ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท แต่ข้อยกเว้นเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกเขียนกำกับกรณีการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ทั้งที่จริงแล้วการเปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตอาจเป็นประโยชน์ต่อสถาบันเองด้วย

นอกจากนี้มาตรา 112 ยังมีความไม่แน่นอนในการบังคับใช้ เช่น กรณีการแชร์บทความของสำนักข่าวบีบีซี ซึ่งผู้แชร์ถูกตัดสินว่าผิดมาตรา 112 (ทั้งที่ไม่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท) แต่สำนักข่าวก็ไม่ได้โดนข้อหานี้แต่อย่างใด (ซึ่งถูกต้องแล้วที่ไม่โดนข้อหา และยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าเนื้อหาในบทความไม่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท)

มิติที่สาม คือการที่มาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคง ทำให้เป็นคดีที่ยอมความกันไม่ได้ ใครๆ จึงสามารถกล่าวโทษและฟ้องคนอื่นได้ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในสองมิติ มิติแรกคือคนบางกลุ่มอาจตัดสินใจฟ้องมาตรา 112 ด้วยเจตนาที่ต้องการปกป้องสถาบันฯ แต่เมื่อจำเลยถูกตัดสินว่าผิด ความคับแค้นใจก็ไปตกอยู่ที่สถาบันฯ ส่งผลให้สถาบันฯ กลายเป็นคู่กรณี แม้ในบางครั้งสถาบันฯ อาจจะไม่รับรู้หรือไม่ได้ต้องการที่จะเอาผิดก็ตาม และอีกมิติหนึ่งก็คือการที่สถาบันฯ ถูกนักการเมืองบางกลุ่มจงใจนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองกลั่นแกล้งฝั่งตรงข้าม หรือการนำสถาบันฯ ไปใช้ปกปิดการทุจริต เช่น การระบุว่าเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ จนทำให้คนไม่กล้าเข้าไปตรวจสอบ

ปัญหาของการใช้มาตรา 112 เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อหัวใจสำคัญของระบอบการปกครองของประเทศถึงสองอย่าง ทั้งต่อประชาธิปไตย-หลักสิทธิมนุษยชน และต่อเสถียรภาพ-เกียรติยศของสถาบันกษัตริย์เอง


ที่มา: เพจ The101.world

‘วราวุธ’ กราบขออภัยชาวกรุงเทพฯ ตื่นมาเจอหมอก PM 2.5 เหตุเกิดจากการเผาพื้นที่การเกษตร บวกกับอากาศที่พัดเข้ากรุง เตือน 4 - 5 วันใส่แมสป้องกันทั้งฝุ่น-โควิด สั่งผู้ว่าฯ ห้ามเกษตรกรให้หยุดเผา แนะนำเศษพืชอัดก้อนขาย สร้างรายได้เสริม

ที่รัฐสภา นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนมากว่า ต้องกราบขออภัยพี่น้องชาว กทม. ที่ตื่นมาแล้วพบกับสภาพอาการที่ขมุกขมัว เนื่องจากตามสภาพอากาศที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์เอาไว้ว่าในช่วง 4-5 วันจากนี้ไป เป็นช่วงที่ลมค่อนข้างสงบ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ฝาชีครอบในพื้นที่กรุงเทพฯ

และสาเหตุที่มีฝุ่นมากขณะนี้ แม้ปริมาณฝุ่น PM และการใช้รถในกรุงเทพฯ จะลดลง แต่เราได้รับอิทธิพลจากการเผาไหม้ในพื้นที่โล่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตร มาจากทางตอนเหนือ และทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ ซึ่งเรื่องทางกระทรวงฯ ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ให้สั่งการไปยังเกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอ พร้อมกำชับผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ให้เผาเศษพืช เช่น อ้อย ฟางข้าว หากไม่ได้ผลในอนาคตอาจจะต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น

แต่จากการเผาที่เกิดนอกพื้นที่กรุงเทพฯ บวกกับกระแสลม จึงทำให้เกิดสถานการณ์หมอกควันที่ค่อนข้างจะรุนแรงในวันนี้ แต่หากจะดูปริมาณฝุ่น PM สามารถตรวจสอบได้จากแอปพลิเคชั่นที่กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำขึ้นมา ก็จะทราบว่าจุดไหนมีปริมาณฝุ่น PM เท่าไหร่

“กราบขออภัยชาวกรุงเทพฯ และขอฝากว่า ช่วงนี้นอกจากช่วงโควิด-19 แล้ว ต้องใส่หน้ากากเพื่อป้องกันการสูดดมเอาควันเข้าไป และลดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ทั้งออกกำลังกาย วิ่ง ปั่นจักรยาน ขอให้ใช้หน้ากากป้องกันในช่วง 3-4 วันนี้ และเมื่อพ้นจากช่วงนี้ไปแล้ว และมีลมพัดมาใหม่ปริมาณควันที่เกิดขึ้นก็จะกระจายตัวออกไป

และต้องขอบคุณกรมอุตุฯ ที่พยากรณ์อากาศได้แม่นยำ ทำให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือปัญหาฝุ่นที่จะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ได้ ดังนั้นขอให้แต่ละคนติดตามพยาการณ์อากาศในแต่ละวัน ว่าสภาพอากาศในพื้นที่ที่ท่านอยู่เป็นอย่างไร และสภาพอากาศที่เคลื่อนไหวเป็นอย่างไร เพราะจากธรรมชาติบวกกับพื้นที่กรุงเทพฯ มีตึกสูงจำนวนมาก และลมที่พัดเข้ามาจากทั่วสารทิศ จะมาหยุดอยู่ที่กรุงเทพฯ จึงทำให้ฝุ่นที่พัดมาจากต่างจังหวัดมาหยุดอยู่ที่กรุงเทพฯ และไม่ได้กระจายตัวไปไหน” รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าว

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ในเบื้องต้น หากยังมีฝุ่น PM 2.5 กระทบอยู่มากอาจจะต้องมีการปิดโรงเรียน โดยทางกระทรวงศึกษาได้มอบให้ผู้บริหารสถานศึกษาแต่ละพื้นที่ พิจารณาว่าจะเลื่อนเวลาเปิดเรียน หรือหยุดเรียนชั่วคราวในช่วง 2-3 วันนี้หรือไม่ เพราะหากปิดเรียนก็เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วจึงมาป้องกัน

ในส่วนแต่ละจังหวัดได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ตัดสินใจว่าจะสั่งเกษตรกรห้ามเผา หรือจะออกเป็นนโยบายภาพรวมทั้งประเทศ เป็นสิ่งที่อาจจะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะแต่ละจังหวัดมีปัญหาจุดกำเนิด PM 2.5 และหมอกควันที่ต่างกัน บางจังหวัดเกิดจากพื้นที่การเกษตร บางจังหวัดเกิดจากพื้นที่ป่า ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเฝ้าระวัง แต่ยังไม่ใช่ช่วงเผาป่า จึงเป็นหมอกควันจากการเผาพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่

“ในอนาคตอาจจะมีนโยบายในการส่งเสริมเกษตรกรนำเศษพืช ทั้งซังอ้อย ซังข้าวโพด ฟางข้าว มาอัดก้อนขายแทนการเผา เพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง จึงอยากให้เกษตรกรเลือกว่า จะเอาเงิน หรือจะเผาเงินทิ้ง” นายวราวุธ กล่าว

อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา โพสต์เฟซบุ๊ก ต่อจิ๊กซอว์ขบวนการดิสเครดิต ปล่อยข่าวให้ร้ายสถาบัน เหมือนขบวนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในลาว

นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา โพสต์เฟซบุ๊ก โดยแชร์ข้อความระบุว่า...

วางแผนทำกันเป็นขบวนการ ตีทุกอย่างที่เกี่ยวกับในหลวง ร.9 เพื่อดิสเครดิตพระองค์ท่านให้ด้อยค่าในสายตาเด็กรุ่นใหม่

ลองไล่เรียงดูสิว่ามันวางแผนตีอะไรบ้าง เริ่มด้วยตีเรื่องฝนหลวง ตีเรื่องปลานิล ตีเรื่องโครงการหลวง ตีเรื่องเขื่อน ตีเรื่องโซล่าเซลล์ ตีเรื่องดอยคำ ล่าสุดตีเรื่อง สยามไบโอไซเอนส์

เห็น “จิ๊กซอว์” หรือยัง ? ลองทายกันดูว่าต่อไปพวกมันจะหยิบเอาเรื่องใดมาตีกระทบสถาบันอีก ?

แผนการแบบนี้ทำให้นึกถึงช่วงก่อนที่ลาวจะเปลี่ยนแปลงการปกครองล้มระบอบกษัตริย์ ก็มีการปล่อยข่าวให้ร้ายสถาบันกษัตริย์ของลาวแบบนี้เช่นกัน


ที่มา: เฟซบุ๊ก Fuangrabil Narisroj

‘บิ๊กป้อม’ ลั่น “ผมยังอยู่” พลังประชารัฐเป็นเอกภาพ ไม่มีแตก เผย สนามผู้ว่าฯ กทม.ไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรค หวั่นผิดมาตรา34 พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ให้สัมภาษณ์ถึงการเรียกประชุมคณะกรรมการบริหาร(กก.บห.) พรรคพปชร.เพื่อวางแนวทางส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ว่า ยังไม่ได้คิดอะไร และยังไม่ได้คุยกับกก.บห.พรรค ต้องนัดประชุมกันก่อนและเวลานี้ยังไม่ได้กำหนดวันประชุมเนื่องจากมีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

เมื่อถามถึงกระแสข่าวมีชื่อนางทยา ทีปสุวรรณ ภรรยานายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และรองหัวหน้าพรรคพปชร.จะลงสมัครชนกับพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผบ.ตร. รองนายกฯกล่าวว่า ไม่มี ๆ ตอนนี้ยังไม่มีชื่อใครเลย และตามมาตรา 34 แห่งพ.ร.บ.การการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กำหนดห้ามไม่ให้ข้าราชการเมือง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง ฉะนั้นพรรคจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการส่งผู้สมัครไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย ดังนั้นแนวทางของพรรคควรจะเหมือนเมื่อครั้งเลือกตั้งอบจ.คือไม่ส่งผู้สมัครในนามของพรรค

เมื่อถามย้ำว่าพรรคพปชร.จะไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรคใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่รู้ รอคุยกับกก.บห.พรรคก่อน เมื่อถามย้ำว่าคนที่มีชื่อตามกระแสข่าวจะลงในนามอิสระแทนได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ไม่รู้ ยังไม่รู้ แต่เดี๋ยวก็จะมาบอกว่าผมไม่รู้ ๆ อีก”

ผู้สื่อข่าวถามถึงข่าวมีชื่อนางทยาและพล.ต.อ.จักรทิพย์ จะสะท้อนถึงความเป็นเอกภาพของพรรคหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ไม่มี พรรคเป็นเอกภาพดี รับรองในพรรคไม่มีอะไรแตก อย่าไปคิดว่าแตก ผมยังอยู่ไม่มีแตก”

กระทรวงคมนาคม เร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขอใช้พื้นที่ของกรมทางหลวงและเวนคืนพื้นที่บริเวณทางออกสุวรรณภูมิ

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ครั้งที่ 1/2564 เปิดเผยว่า

เป็นการรับทราบและติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานของคณะทำงานฯ ได้แก่ การขอใช้พื้นที่ของกรมทางหลวงและเวนคืนพื้นที่บริเวณทางออกสุวรรณภูมิ ซึ่งรูปแบบแนวเส้นทางของโครงการรถไฟความเร็วสูงขาออกจากสถานีสุวรรณภูมิไปยังอู่ตะเภาจะก่อสร้างอยู่ระหว่างโครงสร้างของโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เดิมกับถนนต่างระดับขาเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของกรมทางหลวง

อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการเวนคืนพื้นที่ในช่วงทางโค้งเข้าบรรจบกับทางวิ่งหลัก โดยมีการเวนคืนพื้นที่ 1 ไร่ 89 ตารางวา ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบตามแนวทางดังกล่าว โดยเอกชนคู่สัญญาตกลงปรับรูปแบบโครงสร้างบริเวณจุดตัดทางต่างระดับ เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างทางยกระดับศรีนครินทร์ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (M7) ตามที่กรมทางหลวงออกแบบ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้า ปัญหาอุปสรรค และแนวทางดำเนินการของฝ่ายรัฐ ได้แก่ การรังวัดโฉนดที่ดินในเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน การทำสัญญาจ่ายค่าทดแทนการเวนคืน การขอใช้พื้นที่หน่วยงานรัฐในพื้นที่เวนคืน ได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ประสานงานกับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ ส่วนการโยกย้ายผู้บุกรุกในช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา จากทั้งหมด 302 หลัง ได้ดำเนินการไปแล้ว 300 หลัง และฝ่ายเอกชนได้เริ่มดำเนินการล้อมรั้วเพื่อป้องกันผู้บุกรุกแล้ว และให้การรถไฟแห่งประเทศไทยติดตามตรวจสอบไม่ให้มีประชาชนบุกรุกเข้าพื้นที่ พร้อมทั้งให้รายงานต่อที่ประชุมทุก ๆ เดือน

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (21 มกราคม พ.ศ. 2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 142 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 12,795 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 71 ราย รักษาหายเพิ่ม 221 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 9,842 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2,882 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 142 ราย เป็น ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากเมียนมา 2 ราย ,สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย ,สวีเดน 1 ราย ,ตุรกี 3 ราย ,ญี่ปุ่น 1 ราย ,อินเดีย 3 ราย ,สหรัฐอเมริกา 3 ราย ,มาเลเซีย 3 ราย

ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 88 ราย

ติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก 37 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 174 ราย รักษาหายแล้ว 169 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 453 ราย รักษาหายแล้ว 396 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 9.4 แสน ราย รักษาหายแล้ว 7.64 แสน เสียชีวิต 26,857 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 41 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.69 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.28 แสน ราย เสียชีวิต 630 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.36 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.19 แสน ราย เสียชีวิต 2,997 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 5.06 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.67 แสน ราย เสียชีวิต 10,042 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 59,197 ราย รักษาหายแล้ว 58,926 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมติดเชื้อ 1,544 ราย รักษาหายแล้ว 1,406 ราย เสียชีวิต 35 ราย

‘บิ๊กป้อม’ ห่วงใยประชาชน สั่งเร่งแก้ปัญหาน้ำ ประชุม กนช. ผลักดันโครงการขนาดใหญ่ แก้ภัยแล้ง-น้ำท่วม ซ้ำซาก เห็นชอบโครงการ ป้องกันน้ำท่วม กทม. และพัฒนาเมืองต้นแบบ จ.ปัตตานี ย้ำนโยบายรายได้ท้องถิ่น พัฒนากลับคืนสู่ ประชาชนช่วยแก้ปัญหายั่งยืน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่1/2564 โดยมี นาย วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

กนช. ได้รับทราบสถานการณ์น้ำ ในปัจจุบันจากแหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ จำนวน 48,558 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ปริมาณน้ำใช้การ 24,456 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และได้มีการพิจารณาเห็นชอบ โครงการขนาดใหญ่ งป.ปี65 ของ กทม.จำนวน 4 โครงการ ได้แก่

1) โครงการก่อสร้างเขื่อน คลองบางไผ่จากบริเวณ คลองพระยาราชมนตรี ถึงบริเวณสุดเขต กทม.

2) โครงการ ก่อสร้างเขื่อน พร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบบริเวณประตู ระบายน้ำมีนบุรี ถึงประตูระบายน้ำหนองจอก

3) โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองบางนา จากคลองเคล็ดถึงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา

และ 4) โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากถนนรัชดาภิเษก ถึงคลองลาดพร้าว และเนื่องจากเป็นโครงการ ที่เป็นคลองซอยเพื่อการระบายน้ำในพื้นที่กทม. ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้กทม.ใช้งบรายได้ ของกทม.เองในการดำเนินโครงการ ต่อไป

นอกจากนั้น กนช. ยังได้เห็นชอบให้ อบจ.ปัตตานี ดำเนินโครงการสถานีสูบน้ำดิบ พร้อมระบบท่อส่งน้ำ โดยให้ใช้รายได้ของตนเองในการเชื่อมต่อระบบ และดูแลบำรุงรักษา เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จ.ปัตตานี เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟู และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ของภาคใต้ ต่อไปด้วย

พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ กนช.ให้กำกับ ติดตาม การดำเนินโครงการ ที่ผ่านความเห็นชอบแล้วในวันนี้ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และกรอบเวลาที่กำหนด พร้อมมอบให้ สทนช. เร่งประสานงาน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการบูรณาการทำงานร่วมกัน ในการขับเคลื่อนโครงการ ดังกล่าวให้บังเกิดผล เป็นรูปธรรม ต่อไป

พล.อ.ประวิตร ยังได้กล่าวย้ำว่าโครงการต่าง ๆ ที่ได้มีการเสนอขึ้นมานั้น โดยเฉพาะ หน่วยงานหรือท้องถิ่นที่มีรายได้ควรจะต้องใช้งบประมาณของตนเอง กลับมาพัฒนาท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ให้มากขึ้นด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top