Friday, 26 April 2024
PoliticsQUIZ

กลัวโดนแกง!! จนท. เอาชัวร์ จัด3 จีโน่ พร้อมตรึงกำลังรอบสำนักงานทรัพย์สินฯ 

ถึงแม้ว่าม็อบ 25 พ.ย. จะย้ายพิกัดกะทันหัน จากหน้าสถาบันทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามกำหนดเดิม แล้วเปลี่ยนไปที่ SCB สำนักงานใหญ่แทน
.
แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ดูจะยังไม่วางใจเท่าไรนัก โดยช่วงเช้ามานี้ได้มีการวางกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนไว้หลายกองร้อย 
.
อีกทั้งยังได้ส่งรถฉีดน้ำ ‘จีโน่’ ไปประจำในพื้นที่รอบสถาบันทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 3 คัน พร้อมวางตู้คอนเทรนเนอร์ปิดถนนโซนราชดำเนินตรงสะพานมัฆวานซ้อนกัน 2 ชั้น รวมถึงที่สะพานขาวด้วย 
.
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังมีการปิดการจราจรแยกอุรุพงษ์ เส้นทางมุ่งหน้าสนามม้านางเลิ้ง ถนนหลานหลวง-ถนนพิษณุโลก-ทำเนียบ โดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและจราจร สน.นางเลิ้งอำนวยการจราจรบริเวณดังกล่าว 
.
พร้อมนำตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ และรั้วสังกาสี - ลวดหนามปิดการจราจรก่อนถึงทางลงทางด่วนอุรุพงษ์ 
.
จะเกิดเหตุแกงไปแกงมาหรือไม่ แต่นาทีนี้เจ้าหน้าที่คงหวังเพลย์เซฟไว้ก่อน เอาชัวร์!!

‘กรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์’ แบงก์เป็ดขวัญใจหนู แต่ลุงตู่อาจไม่โอ!!

แหม่!! ก็เหตุเพราะพี่เสื้อเหลืองเขาหาว่าหนูไม่รักสถาบัน ก็เลยบอกว่าอย่าใช้แบงค์ที่มีรูปสถาบัน น้องหนูสายคณะราษฎรเลยจัด ‘ธนบัตรเป็ดเหลือง’ ออกมาใช้เองซะเลยไงค้าบ!! 
.
ไอเดียสุดปั่นนี้เกิดขึ้นเมื่อเหล่าคณะราษฎรมองว่าพวกเขาควรถูกกีดกันในการใช้เงินปกติที่มีรูปสถาบัน 
.
พอเจอแบบนี้เข้า ก็เลยผลิตแบงค์ ขึ้นมาใช้กันเองซะเลย
.
โดยเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เพจคณะราษฎร ได้ปล่อยภาพคูปอง ที่ดูละม้ายคล้ายธนบัตร โดยบนหน้าธนบัตรมีภาพของ ‘กรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์’ หรือ ‘น้องเป็ดยางตัวเหลือง’ ที่ช่วงนี้ฮอตปรอทแตกและมีบทบาทไม่ใช่น้อยในม็อบช่วงนี้ 
.
ในธนบัตรดังกล่าวแสดงให้เห็นทั้งตราคณะราษฎร อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีพิราบขาวบินอยู่เหนือด้านบน เงื่อนไขการใช้ธนบัตร และทิ้งความแสบกวนของคณะราษฎรด้วยประโยค ‘ข้าพระพุทธเจ้า ราษฎรผู้อิ่มแก๊สน้ำตาและน้ำสารเคมีจากภาษีประชาชน’ ทิ้งไว้ที่มุมขวาล่างของธนบัตร
.
แต่ไอเดียธนบัตรเป็ดเหลืองนี่ไม่ได้มาเล่นๆ หรือเอาไว้ล้อรั่วๆ เพราะธนบัตรน้องเป็ดเหลืองนี้สามารถใช้ได้จริง!!
.
โดยธนบัตรเป็ดเหลือง จะเป็นเหมือนคูปองแทนเงินสด ที่ชาวม็อบสามารถนำไปใช้แลกซื้ออาหารต่างๆ ได้กับเหล่ารถ CIA หรือรถขายอาหารที่ร่วมรายการในม็อบ ซึ่งมูลค่าของคูปองใช้ได้ตามมูลค่าหน้าบัตร อยู่ที่ใบละ 10บาท
.
ส่วนกำหนดการใช้งานนั้น ทางเพจคณะราษฎร ได้ประกาศว่า คูปองดังกล่าวพร้อมประกาศใช้วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 โดยเบื้องต้นจะเริ่มประเดิมแจกที่ด้านหน้าสำนักงานใหญ่ SCB จำนวนทั้งสิ้น 3,000 ใบ
.
อย่างไรก็ตามธนบัตรดังกล่าว ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกของโซเชี่ยลถึงความไม่เหมาะสม และอาจจะผิดกฎหมายหากมีการจำหน่ายจ่ายต่อในอนาคต แต่อีกมุมก็มองว่าธนบัตรเป็ดเหลือง เป็นเหมือนคูปองในการใช้แลกอาหารที่เข้าร่วม รวมถึงเป็นการแสดงออกเชิง ‘สร้างสรรค์’ ที่แสนกวนเสียมากกว่า

Q&A ลุงตู่!! เคลียร์ปมประเด็นร้อน...หลังเกิดเหตุยิงสนั่นหน้า SCB

จากเหตุการณ์ยิงกันที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ หรือ SCB ภายหลังการชุมนุมเมื่อวานนี้ (25 พ.ย.) ทำให้นักข่าวต่างกรูกันไปสอบถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จนลุงตู่ต้องออกมาพูดถึงการชุมนุมของกลุ่มราษฎรในหลายประเด็น

.

“ตนเคยพูดหลายครั้งแล้วว่า หากเป็นการชุมนุมที่ถูกกฎหมายก็ห้ามอะไรไม่ได้ แต่ต้องเป็นการชุมนุมที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตามต้องเคารพกฎหมาย อย่าทำผิดกฎหมาย กฎหมายเขียนว่าอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามนั้น รัฐบาลก็มีหน้าที่จะดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน ไม่ว่าจะกี่พวกก็ตาม แต่ไม่ว่าจะพวกไหน ก็ต้องไม่ทำผิดกฎหมาย ใครทำผิดก็ต้องถูกดำเนินคดีเหมือนกัน” นายกกล่าวและว่า

.

“สำหรับเหตุการณ์ยิงกันหลังการชุมนุมที่ SCB ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่น่าเสียใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ตนกำลังให้เจ้าหน้าที่สอบสวนติดตามอยู่ เห็นว่ามีภาพถ่ายมีอะไรตลอด สื่อก็ได้บันทึกไว้ ก็จะได้พิสูจน์ได้ว่าใครทำกันแน่ ไม่อย่างนั้นก็โยนกันไปโยนกันมาว่าอีกพวกหนึ่งทำ ว่ารัฐบาลทำ ทั้งที่รัฐบาลมีแต่ทำหน้าที่ดูแลให้ทุกคนปลอดภัย มันเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เข้าใจหรือไม่ การชุมนุมจะต้องช่วยกัน อย่าให้เกิดขึ้นอีก จะต้องเป็นการชุมนุมที่ปลอดภัย ถ้าคนไปร่วมชุมนุม ไปแล้วไม่ปลอดภัยเขาก็ไม่ไป”

.

ทั้งนี้มีการสอบถามลุงคู่เพิ่มเติมถึงกรณีการลดความขัดแย้งตรงนี้ว่าจะทางยุติได้อย่างไรต่อไป

.

Q: ควรจะดำเนินการแก้ไขและธรรมนูญให้เสร็จสิ้นโดยเร็วหรือไม่?

ลุงตู่: “การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการของรัฐสภา ซึ่งประธานสภาดูแลอยู่แล้วในเรื่องนี้ รัฐบาลจะไม่ก้าวล่วง เพราะเราเป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งการแก้ไขตรงโน้น เป็นเรื่องของพรรคการเมือง ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน อะไรก็แล้วแต่ เราไม่มีส่วนร่วมตรงนั้น อย่าเอาปัญหานี้ไปใส่ปัญหานั้น เราเป็นฝ่ายบริหาร ตรงนั้นเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เรื่องแก้รัฐธรรมนูญเราเพียงอำนวยความสะดวกให้มีการแก้ไขเท่านั้นก็จบแล้ว สั่งใครได้ที่ไหนล่ะ”

.

Q: นายกฯได้ประเมินหรือไม่ว่าการชุมนุมจะยืดเยื้อจะส่งผลกระทบมากแค่ไหน?

ลุงตู่: “ผมอยากฝากคนทั้งประเทศให้กังวลด้วยแล้วกัน เพราะผมกังวลอยู่แล้ว ยิ่งชุมนุมนานไป ก็ยิ่งเสียหายมากขึ้น ยิ่งนานไปเศรษฐกิจก็ขับเคลื่อนไม่ได้ ยิ่งนานไปการจราจรก็ติดขัดมากขึ้น ขอถามหน่อยว่า ได้ประโยชน์กับใคร เขาอาจจะได้ประโยชน์ของเขา แต่หาวิธีการอื่นไม่ได้หรือ ที่ดีกว่า ที่มันสงบ ไม่ให้เกิดอันตราย หรือไปล่วงละเมิดใคร ผมว่ามันควรมองตรงนั้นมากกว่า สื่อช่วยกันพูดหน่อย”

 

รู้จัก ‘ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’ ใน ‘10 บรรทัด’ (A4)

1.‘ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’ คือ ทรัพย์สินที่ตกทอดมาตั้งแต่ราชวงศ์จักรี

2.เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้ตกมาเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน

3.จากนั้นจะถูกตั้งเป็น ‘สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’ ที่มีกระทรวงการคลังดูแล

4.ทรัพย์สินส่วนนี้จะถูกนำไปใช้กับการช่วยเหลือประชาชน

5.อีกส่วนหนึ่งนำมาลงทุนเมื่อได้ผลกำไรจะนำมาถวายต่อในหลวงตามสมควร

6.นอกเหนือจากนั้นจะนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน

7.ส่วน ‘ทรัพยสินส่วนพระองค์’ คือ ทรัพย์สินส่วนตัวของในหลวง ที่นำไปใช้ได้ตามพระราชอัธยาศัย

8.แต่ก็ต้องเสียภาษีอากรให้แก่รัฐรวมไปถึงมูลนิธิต่างๆ ที่ในหลวงก่อตั้งขึ้นด้วย

9.ส่วน ’ทรัพย์สินของราชวงศ์จักรี’ อยู่ใต้การดูแลจาก ‘กรมธนารักษ์’ เช่น ทรัพย์สมบัติส่วนพระองค์ของในหลวงรัชกาลต่างๆ

10.ทรัพย์สินส่วนนี้มีงบปีละ 2,000 ล้านบาทให้แก่สำนักพระราชวัง แต่ยังคงอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกฯ โดยตรง

ผิดกฎหมายชัด!! ศรีสุวรรณ ชี้ คูปองเป็ดเหลือง ผิดหนักโทษแรงถึงจำคุกตลอดชีวิต

หลังจากเมื่อวาลุ่มคณะราษฎร หรือ ม็อบ 25 พฤศจิกายน ได้นัดรวมตัวชุมนุมกันบริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ถนนรัชดาภิเษก

.

โดยมีการผลิตธนบัตรหรือแบงค์เป็ด หรือ คูปองเป็ดเหลือง 3,000 ใบ แจกจ่ายให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมในกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งคูปองเป็ดเหลืองมีมูลค่าใบละ 10 บาท หน้าคูปองประกอบด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย – ลูกชิ้นทอด – นกพิราบขาว – หมุดราษฎร – เป็ดยาง โดยสามารถใช้ได้เฉพาะวันที่ 25 พ.ย. 63 และใช้ได้กับร้านค้าที่ร่วมรายการประมาณ 10 ร้านเท่านั้น

.

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องแล้วกับผู้ที่นำคูปองดังกล่าวไปใช้ หลังจาก นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกมาชี้ชัดว่า การผลิต การจ่ายแจก หรือนำออกมาใช้ซึ่งธนบัตรเป็ดดังกล่าว เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งผู้ผลิต ผู้จ่ายแจก ผู้นำไปใช้ และร้านค้าผู้รับธนบัตรดังกล่าว

.

เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายที่ควบคุมเรื่องดังกล่าวไว้ คือ พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 ซึ่งในมาตรา 9 ได้บัญญัติไว้ว่า ห้ามผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใดๆ แทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีการกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนไว้ คือ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

.

นอกจากนั้นยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 อีกด้วย โดยบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกระษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือทำปลอมขึ้นซึ่งพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้นๆ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา ‘ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต’ หรือจำคุกตั้งแต่ 10 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 บาทถึง 400,000 บาท

.

ส่วนผู้ที่นำธนบัตรเปิดออกใช้จ่ายก็มีความผิดตาม มาตรา 244 ที่บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งสิ่งใดๆ อันตนได้มาโดยรู้ว่าเป็นของปลอมตามมาตรา 240 หรือของแปลงตามมาตรา 241 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 300,000 บาท

.

ดังนั้น การผลิตและนำออกมาจ่ายแจกให้ผู้ชุมนุมและร้านค้าใช้ธนบัตรเป็ด จึงเข้าข่ายความผิดทั้งหมด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถดำเนินการจับกุมดำเนินคดีได้ทันที

สงครามกลางเมือง!! ประตูแห่งการเลี่ยงคุกของนักการเมืองคดีอ่วม

ต่อให้เห็นต่างกันแค่ไหน ต่อให้มีม็อบกันกี่รอบ หรือกี่ครั้งยังไง
.

แต่เชื่อว่าตอนนี้ คนไทยน่าจะไม่ต้องการเห็นสิ่งที่เรียกว่า ‘สงครามการเมือง’ ในรูปแบบของม็อบชนม็อบที่อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งแบบวันประชุมรัฐสภาที่เกียกกาย
.

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตให้ดี จะพบว่าเริ่มมีการกำหนดเป้าหมายในการเคลื่อนไหว ที่สะท้อนความพยายามแบบยั่วยุปลุกปั่นจากม็อบราษฎรออกมาสารพัดแนวมากขึ้น ซึ่งทุกๆ ครั้งก็ทวีความดุเดือดจนเริ่มทำให้ประชาชนอีกฟากที่เห็นต่างเริ่มเกิดความไม่พอใจ 
.

...และก็หวังที่จะให้เกิดความรุนแรงแบบ ‘ม็อบชนม็อบ’ 
.

พอเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ‘นักการเมืองบางกลุ่ม’ ที่มีคดีรอให้ขาก้าวเข้าตาราง ก็อาจจะหยิบยกมาเป็นข้ออ้างในการขอลี้ภัยไปต่างประเทศ เพื่อหลบหนีคดีอาญาต่างๆ ได้โดยง่าย
.

เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าขบคิด หลังจาก ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกมากล่าว โดยอิงกรณีที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าออกมาระบุถึงการทำนำมาตรา 112 มาบังคับใช้เป็นการราดน้ำมันบนกองไฟของสถานการณ์ต่อจากนี้
.

ทิพานัน มองว่า “พฤติกรรมนี้มาจากกลุ่มบุคคลที่คอยฉกฉวยผลประโยชน์จากการชุมนุม โดยเฉพาะการวางแผนให้กลุ่มผู้ชุมนุม เคลื่อนไหวไปในสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์และการแสดงออกที่เข้าข่ายคุกคาม อาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันและฝ่ายตรงข้าม ซึ่งส่งผลให้กลุ่มประชาชนผู้จงรักภักดี เกิดความไม่สบายใจ และทนไม่ไหว ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกับการนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาบังคับใช้ นายธนาธรจึงไม่ควรเบี่ยงเบนประเด็นไปใส่ร้ายว่ามาตรา 112 เป็นชนวนเหตุ เช่นเดียวกับที่นายธนาธรมักจะอ้างว่าถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง ทั้งที่นายธนาธรรู้ตนเองดีว่ากระทำผิดกฎหมายในการถือครองหุ้นสื่อ ให้เงินกู้ผิดกฎหมายกับพรรค”
.

ฉะนั้นเกมนี้ หากจะเป็นการเปิดศึก เพื่อกรุยทางให้รอดจากคดีส่อคุกที่ติดตัว มันก็มีความเป็นไปได้ทั้งหมดเหมือนกัน เพียงแต่คนที่เจ็บตัว จะรู้หรือไม่ว่า พวกเขาทำไปเพื่อใคร?
.

แน่นอนว่านาทีนี้กระแสสังคมในโลกโซเชียลไม่ต้องการให้เกิดการเผชิญหน้า เรียกว่า ‘ไม่เอาทุกม็อบ’ และพยายามเตือนให้กลุ่มประชาชนปกป้องสถาบันอยู่ในที่ตั้ง ไม่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะเสี่ยงอาจมีผู้ไม่หวังดี สร้างสถานการณ์ 
.

ที่สำคัญคณะกรรมการสมานฉันท์ เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางทางการเมืองกำลังเริ่มเดินหน้า โดยมีการประกาศโครงสร้างของคณะกรรมการออกมาแล้ว ซึ่งมี ‘โควต้าตัวแทนของกลุ่มผู้ชุมนุม’ ด้วย 
.

ฉะนั้นหากมีกลไกที่ถูกต้องแล้ว ควรยุติความขัดแย้งด้วยกระบวนการเจรจาจะเป็นผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนมากกว่า...

คมนาคมลุยลงนาม 5 สัญญารถไฟความเร็วสูงหนองคาย

ไม่นานมานี้ ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงคุณธรรมและลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง

เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ - หนองคาย (ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ - นครราชสีมา) จำนวน 5 สัญญา ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทคู่สัญญา วงเงินลงทุนรวม 40,275 ล้านบาท มีระยะทางรวม 101.15 กิโลเมตร คาดว่าเปิดให้บริการปีพ.ศ.2568

สำหรับสัญญาก่อสร้างงานโยธา 5 สัญญา ประกอบด้วย...

1.) สัญญาที่ 3 - 2 งานโยธาสำหรับงานอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) ดำเนินการ โดยบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีจุดเด่นคืองานก่อสร้างอุโมงค์ยาวรวม 8 กิโลเมตร และการก่อสร้าง ทางรถไฟระยะทางรวม 12.23 กิโลเมตร

2.) สัญญาที่ 3 - 3 งานโยธาสำหรับช่วงบันไดม้าลำตะคอง ดำเนินการโดย บริษัท ไทยเอ็นยิเนียร์และอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งมีงานก่อสร้างสถานีปากช่อง และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทาง รวม 26.10 กิโลเมตร

3.) สัญญาที่ 3 - 4 งานโยธาสำหรับช่วงลำตะคอง - สีคิ้ว และช่วงกุดจิก - โคกกรวด ดำเนินการโดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีจุดเด่น คือ มีงานก่อสร้างทางรถไฟระยะทางยาวที่สุดในโครงการถึง 37.45 กิโลเมตร

4.) สัญญาที่ 3 - 5 งานโยธาสำหรับช่วงโคกกรวด - นครราชสีมา ดำเนินการโดยบริษัท กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค จำกัด ประกอบด้วย บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด บริษัท ทิมเชคาร์ตาร์ เอสดีเอ็น บีเอชดีจำกัด และบริษัท บิน่า พรี่ เอสดีเอ็น บีเอชดี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นงานก่อสร้างสถานีนครราชสีมาและการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.38 กิโลเมตร

5.) สัญญาที่ 4 - 7 งานโยธาสำหรับช่วงสระบุรี - แก่งคอย ดำเนินการโดย บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีจุดเด่นคืองานก่อสร้างสถานีสระบุรี และการก่อสร้างทาง รถไฟระยะทางรวม 12.99 กิโลเมตร

ย้อนอดีต 'นิรโทษกรรม' ใครผิด เดี๋ยวพลิกให้ 'ถูก' แบบไม่ต้องกลับตัว

'นิรโทษกรรม' หวนกลับมาให้ติดหูอีกครั้งท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองระอุในช่วงนี้ บางคนอาจจะเข้าใจความหมายกันบ้างทั้งเชิงลึกและเชิงผิว

แต่ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้วจะสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ก่อนเลยว่า 'นิรโทษกรรม' คืออะไร?

.

- นิรโทษกรรมเป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นเพื่อลบล้างความผิดให้กับผู้ที่กระทำผิด โดยไม่ต้องรับโทษ

- ส่งผลให้สิ่งต่าง ๆ ที่ทำไปนั้นถือว่าไม่เป็นความผิด

- ไม่สามารถขุดคดีเก่าๆ มาสืบสวนได้ ถ้าหากว่าคดีเหล่านั้นได้ถูกนิรโทษกรรมไปแล้ว

- การนิรโทษกรรมจึงเป็นเหมือนกฎหมายที่สามารถทำให้ผู้กระทำผิดนั้นเป็นเหมือนผู้ไม่เคยกระทำผิดมาก่อน

.

เรียกว่าดูดีสำหรับคนมีคดีติดตัวกันเลยทีเดียว เพราะพลิกผิดเป็นถูกได้ชิลล์ ๆ มิน่าคนบางกลุ่มจึงอยากให้เกิดการนิรโทษกรรมกันนักกันหนา!! แล้วทราบหรือไม่ว่าในประเทศไทยก็มีการ 'นิรโทษกรรม' กันในช่วงอดีตมามากมายพอตัว

แล้วเกิดขึ้นมากันกี่ครั้ง?

.

การนิรโทษกรรมในบ้านเราเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 23 ครั้ง

- แบ่งเป็นพระราชกำหนดนิรโทษกรรม 4 ฉบับ

- และพระราชบัญญัตินิโทษกรรม 19 ฉบับ

.

***ลองไล่เลียงกันไปโดยเริ่มที่พระราชกำหนดนิรโทษกรรม 4 ฉบับ***

ปี พ.ศ. 2475

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินประกาศโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ โดยให้การกระทำของคณะราษฎรที่ละเมิดกฎหมาย ไม่ถูกนับเป็นการละเมิดบทกฎหมายใด ๆ เลย

.

ปี พ.ศ. 2488

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล ออกโดยนายควง อภัยวงศ์ มีการปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมดเป็นอิสระ โดยผู้กระทำผิดไม่ว่าจะถูกฟ้องหรือไม่ให้ นับว่าพ้นการกระทำผิดทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2524

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2524 ออกโดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จากเหตุการณ์พยายามรัฐประหารรัฐบาลพลเอก เปรม โดยกลุ่ม 'ยังเติร์ก' แต่ไม่สำเร็จ หลังจากนั้น พลเอกเปรม จึงได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมกลุ่มเหล่านี้ทั้งหมด เพื่อความสามัคคีของคนในชาติ

.

ปี พ.ศ. 2535

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ออกโดย พลเอก สุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนั้นพ้นผิดทั้งหมด ทั้งประชาชนที่ชุมนุมและทหารที่ทำการปราบปรามประชาชน

.

***คราวนี้มาถึงพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม 19 ฉบับกันบ้าง***

ปี พ.ศ. 2476

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 ออกโดย พระยาพหลพลลพยุหเสนา โดยคณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนาหลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

.

ปี พ.ศ. 2489

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น ออกโดยนายปรีดี พนมยงค์ โดยยกโทษให้แก่ผู้ที่ต่อต้านญี่ปุ่นเมื่อตอนที่ญี่ปุ่นเข้ามาไทย ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

.

ปี พ.ศ. 2490

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร ออกโดยนายควง อภัยวงศ์ ในขณะนั้นมีการทำการรัฐประหาร พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น ซึ่งนำการรัฐประหารโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ แต่ท้ายสุดได้ให้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (พรรคฝ่ายค้าน) ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนิรโทษกรรมกับผู้ทำการรัฐประหารในครั้งนั้นทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2475

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ.2475 แต่กลับมาใช้ช่วงปี พ.ศ.2494 ออกโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อการรัฐประหารของจอมพลป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นการรัฐประหารตัวเองเป็นครั้งแรก

.

ปี พ.ศ. 2499

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ ออกโดยจอมพลป. พิบูลสงครามเนื่องจากพระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมาครบ 25 ศตวรรษ จึงมีการอภัยทานความผิดฐานกบฏจลาจล จึงได้นิรโทษกรรมทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2500

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 ออกโดยนายพจน์ สารสิน เป็นการรัฐประหาร จอมพลป.พิบูลสงคราม นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากความไม่พอใจของประชาชนต่อการเลือกตั้งที่ทุจริตและสมาชิกพรรคมนังคศิลาของจอมพลป. เสนอให้จัดการเด็ดขาดกับจอมพลสฤษดิ์ ที่แถลงให้จอมพลป.ลาออกจากตำแหน่ง จอมพลสฤษดิ์จึงทำการรัฐประหารตัดหน้าและให้นายพจน์ สารสินขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้ง

.

ปี พ.ศ. 2501 – พ.ศ.2502

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 - พ.ศ.2502 ออกโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เหตุจากเนื่องจากการประกาศยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยอ้างถึงความมั่นคงของประเทศ จากคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ การรัฐประหารในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการรัฐประหารเงียบซึ่งก้คือการยึดอำนาจตัวเอง และได้ออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้ จอมพลสฤษดิ์ ใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างเบ็ดเสร็จและเด็ดขาด ด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 17

.

ปี พ.ศ. 2514 – พ.ศ. 2515

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 - พ.ศ. 2515 ออกโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นการรัฐประหารอีกครั้งในประเทศไทย ซึ่งเป็นการยึดอำนาจตัวเอง โดยมีการนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ทำการปฏิวัติหรือร่วมทำการปฏิวัติพ้นจากความผิดทั้งสิ้น

.

ปี พ.ศ. 2516

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียนนิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ออกโดยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ จากเหตุที่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนเดินขบวนเรียกร้อง ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หลังจากเหตุการณ์จึงมีการนิรโทษกรรมทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2515 – พ.ศ. 2517

พระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2515 - พ.ศ. 2517 ออกโดยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นการนิรโทษกรรมบุคคล โดยให้ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ที่ให้ควบคุมตัวนายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคำ

.

ปี พ.ศ. 2519

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ออกโดยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร จากเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้ คณะนายทหาร 3 เหล่าทัพและอธิบดีกรมตำรวจ นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองไว้ และให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และมีการนิรโทษกรรมสำหรับผู้ทำการรัฐประหารในครั้งนั้น

.

ปี พ.ศ. 2520

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 ออกโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จากเหตุการณ์กบฏในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2520 ซึ่งเป็นความพยายามก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร นำโดย พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง แต่กระทำไม่สำเร็จ หลังจากนั้นจึงได้มีการนิรโทษกรรมทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2520

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ออกโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เนื่องมาจากการรัฐประหารนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐประหารนายธานินท์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นการกระชับอำนาจตนเอง ซึ่งเป็นการรัฐประหารตัวเอง และได้นิรโทษกรรมทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2519 – พ.ศ.2521

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 - พ.ศ. 2521 ออกโดยพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เนื่องจากเล็งเห็นว่าการดำเนินคดีแก่ผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 จะทำให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีต้องเสียอนาคตในทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ จึงมีการนิรโทษกรรม

.

ปี พ.ศ. 2528 – พ.ศ. 2531

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2531 ออกโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จากเหตุพยายามรัฐประหารของนายทหารนอกราชการ เรียกเหตุการณ์นี้ว่า 'กบฏทหารนอกราชการ' หรือ 'กบฏ 9 กันยา' แต่หลังจากนั้นก็ได้มีการนิรโทษกรรมเพื่อความสามัคคีของคนในชาติ

.

ปี พ.ศ. 2532

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2532 ออกโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์

.

ปี พ.ศ. 2534

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ออกโดยนายอานันท์ ปันยารชุน จากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ทำการรัฐประหารพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยให้นิรโทษกรรมผู้ที่ร่วมในการรัฐประหารทั้งหมด

.

ปี พ.ศ. 2534

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ออกโดย นายอานันท์ ปันยารชุน เพื่อยกโทษให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่กระทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

.

ปี พ.ศ. 2535

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ออกโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร เพื่อนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมพฤษภาทมิฬทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ทหารที่ปราบปรามประชาชน รวมทั้งผู้ชุมนุม

.

จะเห็นได้ว่าบ้านเรานั้นได้มีการนิรโทษกรรมมาหลายครั้งหลายคราว ซึ่งการนิรโทษกรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเราล้วนเกิดจากเรื่องของการบ้านการเมืองทั้งนั้น โดยหวังที่จะให้การอภัยและล้างความผิดทั้งหลายของผู้ที่เคยกระทำผิด เป็นบันไดก้าวไปสู่ความสามัคคีในชาติ ช่วยลดความบาดหมางและสร้างความปรองดองแก่กันได้

แต่นั่นหมายความว่าผู้กระทำผิดที่จะได้รับโอกาสนั้น ๆ ก็ต้องทำตัวให้ถูกต้องตามกฎหมาย และสำนึกในโอกาสจากการนิรโทษกรรมที่ได้รับมาเช่นกัน

ฉะนั้นจุดประสงค์ของการนิรโทษกรรม ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่ในทางปฏิบัตินั้น การนิรโทษกรรมควรจะใช้กับคนที่ควรได้รับแค่ไหน? นั่นคือ Fact มากกว่า...


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top