Friday, 25 April 2025
Politics

‘ชัยชนะ’ ยันทำงานฝ่ายค้านร่วม ‘พรรคประชาชน’ ได้เหมือนเดิม ไร้ปัญหา แต่หากยังเดินหน้าแก้ ม.112 ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ชัดเจน!! ไม่สนับสนุน

(10 ส.ค.67) นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำงานร่วมกับพรรคประชาชน ว่า การทำงานในฐานะฝ่ายค้านก็ทำร่วมกันตามปกติ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากพรรคก้าวไกลโดนยุบพรรค ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องหาพรรคสังกัดใหม่ ซึ่งวันนี้เราก็เห็นแล้วว่าวิกฤติการเมืองมันเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราจะเห็นว่างูเห่าจากพรรคก้าวไกลไม่มีเลย ทุกคนที่ยังเหลืออยู่ก็ย้ายไปสังกัดพรรคประชาชน เพราะฉะนั้นการทำงานร่วมกันในสภาฯ ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ไม่มีอะไรแตกต่างเรายังทำงานกันเหมือนเดิม

เมื่อถามว่าการที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิเป็นหัวหน้าพรรคประชาชน จะทำให้การทำงานร่วมกันมีปัญหาหรือไม่ นายชัยชนะกล่าวต่อว่า ไม่มีปัญหาอะไรเพราะนายณัฐพงษ์ เราก็ได้ทำงานร่วมกันมา ตั้งแต่การทำงานในวิปฝ่ายค้าน และคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณ ซึ่งนายณัฐพงษ์ก็ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคให้เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานร่วมกันก็ไม่ได้ติดขัดอะไร และนายณัฐพงษ์ ก็เป็นคนที่ความสามารถ และมีบทบาทในสภาฯอยู่แล้ว

ต่อข้อถามว่า พรรคประชาชนประกาศว่าจะเดินหน้าแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ทางพรรคประชาธิปัตย์จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร นายชัยชนะกล่าวว่า เรื่อง มาตรา 112 ถือเป็นสิทธิของพรรคเขา ที่เขาจะเดินหน้าในจุดยืนของเขา แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เรายืนยันอย่างชัดเจนว่า การแก้ไขกฎหมายถ้าไปกระทบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เราไม่สนับสนุนอยู่แล้ว

“วันนี้ทำงานในพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ใช่ว่าเราเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้วจะเห็นชอบด้วยทุกเรื่อง ฉะนั้นเรื่องไหนที่ขัดต่ออุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และขัดกับจุดยืนของเรา เราก็ไม่เห็นด้วย เช่นกฎหมายที่เสนอให้เปิดร้านเซ็กส์ทอยให้ถูกกฎหมาย เราก็โหวตไม่เห็นด้วย แต่เรื่องหลักการทำงานขับเคลื่อนฯ ต้องทำร่วมกันอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหาอะไร” นายชัยชนะ กล่าวทิ้งท้าย

‘ประชาชน’ หวั่นนำคำว่า ‘ประชาชน’ ไปแอบอ้าง ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ ร่วมเคลื่อนไหวในโซเชียลฯ แชร์ข้อความ ย้ำ!! จุดยืน ไม่ร่วมล้มล้างการปกครอง

(10 ส.ค.67) จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคก้าวไกล ทำให้สส.จำนวน 143 คนของพรรคก้าวไกล ย้ายสังกัดพรรคใหม่ ในชื่อพรรคว่า ‘พรรคประชาชน’ โดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ยืนยันยังคงยึดมั่นอุดมการณ์เดิมของพรรคก้าวไกล และจะเดินหน้าแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อไป

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในโซเชียลฯ โดยชาวเน็ตมีการแชร์ต่อข้อความที่ว่า ข้าพเจ้า ขอประกาศ ณ ที่นี่ว่า คำว่า ‘ประชาชน’ ของพรรคประชาชน ไม่ได้รวมถึงข้าพเจ้าและครอบครัว แต่อย่างใด

ทั้งนี้เพื่อป้องกันการถูกนำไปแอบอ้างในการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันหลักของชาติ อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในอนาคต

ย้อนอดีต ‘พรรคประชาชน’ กับ ‘กลุ่ม 10 มกราฯ’ ในพรรคประชาธิปัตย์ คนอกหักทางการเมือง ที่ไม่มีใครเห็นหัว สุดท้ายก็ยุบตัว ในสถานการณ์ที่ร่อแร่

(10 ส.ค.67) เมื่อคณะอดีตพรรคก้าวไกลที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี ได้อพยพกันไปอยู่พรรคใหม่ “ถิ่นกาขาวชาววิไล และเปลี่ยน ชื่อพรรคมาเป็น 'พรรคประชาชน'

ถามว่าพรรคประชาชนเคยมีตัวตนอยู่จริงไหม คนรุ่น 50-60 ขึ้นไปจะตอบได้ว่า “มี” อันก่อกำเนิดมาจากกลุ่ม 10 มกราฯในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นกลุ่มอกหักทางการเมือง ถูกถีบส่งออกมา มี 'เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์-วีระ มุสิกพงศ์' เป็นแกนนำหลัก ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ มาตั้งพรรคใหม่ ใช้ชื่อว่า 'พรรคประชาชน' ใช้คำขวัญพรรคว่า 'ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน'

พรรคประชาชนมีชื่อเดิมว่าพรรครักไทย จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2526 ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 พรรครักไทยได้เปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็น พรรคประชาชน

คณะพรรคประชาชนมาเปิดที่ทำการพรรคอยู่ริมคลองประปา ตั้งอยู่ข้ามกระทรวงการคลัง ไม่ไกลจากที่ทำการของพรรคประชาธิปัตย์มากนัก ถ้าเป็นต่างจังหวัดพูดได้ว่า ตะโกนกันได้ยิน

กลุ่ม 10 มกราฯก่อตัวมาจากความขัดแย้งในการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล ในยุคที่ 'พิชัย รัตตกุล' เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีดร.พิจิตต รัตตกุล ลูกชายได้รับการคัดเลือกให้เป็นรัฐมนตรี ในขณะที่สายของ 'เฉลิมพันธ์-วีระ' ถูกมองข้าม แม้กระทั่งในกลุ่มวาดะห์ ก็ไม่มีใครเห็นหัว ไม่มีตำแหน่งใด ๆ

ความขัดแย้งขยายผลมาถึงการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ แบ่งเป็นสองทีมลงแข่งขันกันชัดเจน สายของ 'เฉลิมพันธ์-วีระ' พ่ายแพ้ศึกชิงหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค

กลุ่มของ 'เฉลิมพันธ์-วีระ' ถูกเฉดหัวออกมาอย่างไม่มีปรานีปราศรัย ตัดญาติขาดมิตรต่อกัน กลุ่มก้อนการเมืองสายนี้จึงก่อเกิดเป็น 'พรรคประชาชน'

พรรคประชาชนยุคเปลี่ยนผ่านจึงมีหัวหน้าชื่อเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เลขาธิการชื่อวีระ มุสิกพงศ์ คำขวัญ ของพรรคประชาชน คือโดยประชาชน เพื่อประชาชน

สถานการณ์ทางการเมือง ทำให้พรรคประชาชนไปยุบรวมกับพรรคการเมือง อื่นๆอีก 4 พรรค เช่นพรรคกิจประชาคม พรรคก้าวหน้า เป็นต้น ก่อกำเนิดเป็น 'พรรคเอกภาพ' 

แกนนำของพรรคประชาชนในยุคนั้นนอกจากเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ เป็นหัวหน้าพรรค และวีระ มุสิกพงศ์ เป็นเลขาธิการพรรค ยังมีแกนนำคนสำคัญ อาทิ เดโช สวนานนท์ ไกรสร ตันติพงศ์ เลิศ หงษ์ภักดี อนันต์ ฉายแสง สุรใจ ศิรินุพงศ์ ถวิล ไพรสณฑ์ พีรพันธุ์ พาลุสุขสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ กริช กงเพชร กลุ่มวาดะห์ในสามจังหวัดชายแดนใต้

เลือกตั้งครั้งแรก ปี 2532 พรรคประชาชนกวาดที่นั่งในสภามาร่วม 40 ที่นั่งในสถานการณ์ที่พรรคร่อแร่ 'วีระ มุสิกพงศ์' เลขาธิการพรรคติดคุกในช่วงหาเสียงเลือกตั้งคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถวิล ไพรสณฑ์ ขึ้นมารักษาการเลขาธิการพรรคแทน

มาถึงวันนี้อดีตคนพรรคก้าวไกลตัดสินใจใช้ชื่อ 'พรรคประชาชน' อีกครั้งกับโฉมใหม่ โลโก้เป็นไป คำขวัญเป็นไป จุดยืนทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน มีเป้าหมายชัดเจนว่า เลือกตั้งปี 70 ต้องได้เกินครึ่งของสภา จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

ติดตามกันต่อไปครับว่า พรรคประชาชนอันมีรากเหง้ามาจากพรรคก้าวไกล จะเดินไปบรรลุเป้าหมายหรือไม่ หรือเป็นฝ่ายค้านต่อไป ไม่มีใครร่วมด้วย (ถ้าได้ไม่ถึงครึ่ง)

‘ผู้เขียนบท 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ เผยคำพูด ‘พระองค์เจ้าบวรเดช’ ทูลต่อในหลวง ร.7 หากไม่พระราชทานรัฐธรรมนูญ จะเกิดการปฏิวัติ

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 67 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้จัดกิจกรรมเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' และรับชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

สำหรับการเสวนาในหัวข้อ 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' นั้น หนึ่งในวิทยากรที่ขึ้นบรรยายได้แก่ นางสาวปัณฑา สิริกุล ผู้เขียนบทภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ได้เล่าถึงเส้นเรื่องของประวัติศาสตร์และตั้งข้อสังเกตถึงบางช่วงบางตอนของประวัติศาสตร์ที่ไม่ปรากฏในตำราและหนังสือใด ๆ โดยเฉพาะการฉ้อโกง และดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมืองของคณะราษฎร ประกอบกับการนำข้อมูลของศาลพิเศษของหลวงพิบูลสงครามมาเป็นข้อมูลประกอบในหนังสือซึ่งขาดความน่าเชื่อถือ เพราะจากการสืบค้นและตรวจสอบข้อมูลพบว่า การให้การภายในศาลพิเศษนั้น ล้วนเต็มไปด้วยคำให้การเท็จเป็นจำนวนมาก

โดยนางสาวปัณฑาได้เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพระองค์เจ้าบวรเดช เข้ากราบทูลต่อในหลวง รัชกาลที่ 7 เกี่ยวกับการพระราชทานรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า “พระองค์เจ้าบวรเดช เคยทูลรัชกาลที่ 7 ว่า…ถ้าท่านไม่พระราชทานรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะมีการปฏิวัติเกิดขึ้น”

‘ผู้เขียนบท 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ เผยความโชคร้ายของไทยคือการเกิด ‘ศาลพิเศษ’ ในยุคของ จอมพล ป.

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 67 พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้จัดกิจกรรมเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' และรับชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

สำหรับการเสวนาในหัวข้อ 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' นั้น หนึ่งในวิทยากรที่ขึ้นบรรยายได้แก่ นางสาวปัณฑา สิริกุล ผู้เขียนบทภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ได้เล่าถึงเส้นเรื่องของประวัติศาสตร์และตั้งข้อสังเกตถึงบางช่วงบางตอนของประวัติศาสตร์ที่ไม่ปรากฏในตำราและหนังสือใด ๆ โดยเฉพาะการฉ้อโกง และดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมืองของคณะราษฎร ประกอบกับการนำข้อมูลของศาลพิเศษของหลวงพิบูลสงครามมาเป็นข้อมูลประกอบในหนังสือซึ่งขาดความน่าเชื่อถือ เพราะจากการสืบค้นและตรวจสอบข้อมูลพบว่า การให้การภายในศาลพิเศษนั้น ล้วนเต็มไปด้วยคำให้การเท็จเป็นจำนวนมาก

ในบางช่วงบางตอน โดยนางสาวปัณฑาระบุถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุกบฏบวรเดชว่า “ความโชคร้ายของประเทศไทย คือ…กบฏบวรเดชทำให้เกิดหลวงพิบูลสงครามขึ้น และต่อมาก็เกิดศาลพิเศษ ที่จำเลยไม่มีทนาย ไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา เมื่อพิพากษาเสร็จให้บังคับคดีได้เลย”

‘นิพิฏฐ์’ โพสต์ให้ความรู้ ม.112 ย้ำชัด!! กฎหมายนี้ แก้ไขได้ ในอดีตก็เคยทำมาแล้ว ตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

(11 ส.ค. 67) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ทนายความ และอดีต ส.ส.พัทลุง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ...

มาตรา 112 กับระบบปกครอง และ สถาบันพระมหากษัตริย์ (ตอนที่ 1)

ผมพยายามเขียนให้อ่านง่าย โดยยึดหลักกฎหมายและหลักระบอบการปกครอง สถาบันพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับระบบการปกครองด้วยแต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยพูดถึงระบบการปกครองกัน

ใครจะเห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่ไม่ควรแสดงความเห็นในที่นี้ (เพราะความเห็นที่ปราศจากความรู้) อาจมีความผิดตามกฎหมายได้ ทางที่ดีอ่านอย่างเดียวจะดีกว่า

คำถามแรก: คือ มาตรา 112 แก้ไขได้หรือไม่

ตอบ: แก้ไขได้ เพราะตั้งแต่มีประมวลกฎหมายอาญา ตั้งแต่ปี 2500 มาตรา 112 ก็เคยแก้ไขมาแล้ว คือ แก้ไขตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519

คำถามที่สอง: การแก้ไขมาตรา 112 แก้ให้โทษหนักขึ้นได้หรือไม่ ตอบว่า ‘ได้’ / หรือ แก้ให้โทษน้อยลงได้หรือไม่ ตอบว่า ‘ได้’

มาตรา 112 แก้ได้ ทั้งแก้ให้โทษสูงขึ้นหรือน้อยลง แล้วแต่ดุลพินิจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่เราเลือกเข้าไป

คำถามต่อไป คือ เมื่อแก้ไขได้ ทำไมพรรคการเมืองที่ทำการแก้ไข จึงถูกยุบพรรคคำถามนี้ ไว้ตอบตอนต่อไปครับ/

‘หมอวรงค์’ เดินหน้าเสนอให้ยุบ ‘พรรคประชาชน’ หลังพบหลักฐานสำคัญ ชี้!! ‘ถิ่นกาขาว’ มีสาขาไม่ครบ เป็นพรรคที่สิ้นสภาพ เอามาดำเนินการไม่ได้

(11 ส.ค. 67) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า ... 

#ทำไมต้องเสนอยุบพรรคประชาชน

ตามที่สื่อเสนอข่าวว่า พรรคประชาชนเกิดจาก การที่นำพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล มาเปลี่ยนชื่อพรรค เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นสถาบันสำคัญ ของระบอบประชาธิปไตย ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้

จากการตรวจสอบผ่านเว็บกกต. พบว่าพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ซึ่งเป็นพรรคต้นกำเนิด ของพรรคประชาชน มีสาขาพรรค3สาขา ภาคเหนือ 2สาขา และภาคกลาง 1 สาขา ไม่มีสาขาภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กฎหมายพรรคการเมือง กำหนดไว้ว่าพรรคการเมืองย่อมสิ้นสภาพ ถ้ามีสาขาพรรคการเมือง เหลือไม่ถึงภาคละ1สาขา เป็นระยะเวลาติดต่อกัน1ปี นั่นหมายความว่า พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ต้องมีสาขาครบทั้ง4ภาค ห้ามขาดหายไปติดต่อกัน1ปี ถ้าไม่ครบพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลต้องสิ้นสภาพ

ข้อมูลหน้าเว็บกกต. พบว่าพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล มีสาขาพรรคเพียงแค่ 2ภาค ซึ่งไม่ครบ4ภาค และจัดตั้งตั้งแต่ปี 2555 เพื่อความโปร่งใส กกต.ต้องตรวจสอบและชี้แจง ให้ประชาชนได้รับทราบ รายละเอียดการมีสาขาในแต่ละปี

ถ้าพรรคถิ่นกาขาวมีสาขาไม่ครบ4ภาค ติดต่อกัน1ปี จะเข้าข่ายการสิ้นสภาพของพรรคตามกฎหมาย นั่นหมายความว่าพรรคประชาชน จะไม่สามารถนำพรรคที่สิ้นสภาพ มาดำเนินการเปลี่ยนชื่อพรรคได้

พรรคไทยภักดีจะไปยื่นเรื่องดังกล่าว ให้กกต.ตรวจสอบ และดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามกฎหมาย

‘เทพไท’ ชี้!! พรรคการเมืองต้องมีอุดมการณ์ จุดยืนชัดเจน ไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อเสียง มอง!! พรรคประชาชน ไม่ลดเพดาน ม.112 ต้องรับความเสี่ยง เคลื่อนไหวอย่างมีบทเรียน

(11 ส.ค. 67) นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส. นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊ก เทพไท เสนพงศ์-คุยการเมือง ระบุว่าพรรคการเมืองต้องแข่งกันที่อุดมการณ์

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุคพรรคก้าวไกลไปแล้ว ได้ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคไป 10 คน ทำให้ส.ส.พรรคก้าวไกล เหลืออยู่ 143 คน และได้ย้ายไปสังกัดพรรคประชาชนทั้งหมด ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานา ทั้งชื่อของพรรค โลโก้ตราสัญลักษณ์ของพรรค รวมถึงนโยบาย จุดยืน อุดมการณ์ ประกาศเดินหน้านโยบายแบบไม่ลดเพดานลง แต่ได้เรียกเสียงสนับสนุนจากผู้ศรัทธาต่ออุดมการณ์พรรคได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเห็นได้จากยอดผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคหลายหมื่นคน และมียอดเงินบริจาคภายในเวลา 9 ชั่วโมง ยอดบริจาคหลัก10ล้านบาท ซึ่งเป็นกระแสความศรัทธาอย่างแท้จริง

ผมในฐานะนักการเมืองอิสระ ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด แต่ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรค ได้หันมาต่อสู้แข่งขันกันในเรื่องจุดยืน อุดมการณ์และนโยบาย มากกว่าเรื่องการหาประโยชน์ สะสมทุนเพื่อซื้อเสียงในการเลือกตั้ง เพราะถ้าหากพรรคการเมืองมีจุดยืน อุดมการณ์ถูกใจประชาชนแล้ว สามารถเรียกคะแนนนิยมและศรัทธาจากประชาชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อเสียงเลย

ในอดีตที่ผ่านมาผมได้ตัดสินใจเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ก็เพราะพรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนที่ชัดเจน ในเรื่องหลักการประชาธิปไตย เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา มีความซื่อสัตย์และเป็นมืออาชีพในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับประชาชน ไม่ใช้เงินซื้อเสียง และต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นอุดมการณ์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนและอุดมการณ์ไปทั้งหมด จนทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำมากที่สุดในยุคนี้

ส่วนพรรคประชาชนที่ประกาศไม่ลดเพดานการแก้ไขมาตรา112 ก็เป็นจุดขายหนึ่งของพรรค ที่ทำให้ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนมากถึง 14 ล้านคน เป็นนโยบายที่พรรคประชาชนต้องรับความเสี่ยงทางการเมือง ต้องสรุปบทเรียนการเคลื่อนไหว เพื่อไม่ให้สุ่มเสี่ยงต่อการยุบพรรคเป็นครั้งที่3 และเป็นสิทธิ์ของพรรคประชาชน ที่จะเสนอนโยบาย จุดยืน อุดมการณ์ของพรรคต่อสาธารณชน เพราะผู้ที่ตัดสินใจแท้จริง คือคนไทยทั้งประเทศ ว่าเห็นด้วยหรือยอมรับต่อนโยบายของพรรคประชาชนหรือไม่

ถ้าเสียงส่วนใหญ่ของประเทศยอมรับ เลือกพรรคประชาชนเป็นเสียงข้างมาก ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน ตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย อย่าใช้อำนาจนอกระบบมาแทรกแซงกันอีก

‘พรรคประชาชน’ เคาะส่ง ‘โฟล์ค ณฐชนน’ ชิงเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลกแทน ‘หมออ๋อง’ เผย!! มีความมั่นใจในอุดมการณ์ที่ชัดเจน พร้อมลงพื้นที่แก้ไขปัญหาให้ประชาชน

(11 ส.ค. 67) นายศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารพรรคมีมติส่ง นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ หรือโฟล์ค รับสมัครเลือกตั้งซ่อมสส.จังหวัดพิษณุโลก เขต 1 แทนตำแหน่งที่ว่างลง  

“นายณฐชนน เป็นเจ้าของธุรกิจ และร่วมทำงานการเมืองกับอดีตพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลมาตลอด โดยพรรคประชาชนมีความมั่นใจในอุดมการณ์และจุดยืนของนายณฐชนน เพราะมีความชัดเจนและทำงานใกล้ชิดกับนายปดิพัทธ์ สันติภาดา โดยเฉพาะงานพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนแทนหมออ๋อง" นายศรายุทธิ์ กล่าว

ทางด้านประวัติของ นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ นั้นได้จบการศึกษาจาก โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม  ปี 2551 และมหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาลัยนานาชาติ สาขานิติศาสตร์ ปี 2556

ประกอบธุรกิจส่วนตัว หจก.พิษณุโลกไทยนครหล่อยาง

ประสบการณ์ที่ผ่านมา อดีตประธาน YEC หอการค้า จังหวัดพิษณุโลก อดีตประธาน Young FTI สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก ผู้ชำนาญการประจำตัว สส.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา คณะทำงานประจำตัวรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ตำแหน่งนักวิชาการ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการทหารประจำจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งนำโดย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร

‘วิสุทธิ์’ รับโควตา ‘รองประธานฯ คนที่ 1’ เป็นของ ‘ภูมิใจไทย’ ‘เพื่อไทย’ ไม่ส่งใครไปแย่ง ชี้!! ‘พิเชษฐ์’ ไม่ขอสลับ-ไม่ขอลาออก

(11 ส.ค. 67) นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กล่าวถึงโควตาตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่1 ว่า โควตาดังกล่าวเป็นของพรรคภูมิใจไทย แต่ขณะนี้พรรคภูมิใจไทยยังไม่ได้แจ้งมาว่าจะให้ใครดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งใครไปชิงตำแหน่งนี้ และไม่จำเป็นต้องสลับตำแหน่งรองประธานสภาฯคนที่1กับรองประธานสภาฯคนที่ 2 ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคภูมิใจไทย เพราะนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 พรรคเพื่อไทย ไม่ขอสลับ และไม่ขอลาออกจากตำแหน่ง ตอนนี้โควตารองประธานสภาฯคนที่1 เป็นของพรรคภูมิใจไทย แต่ต้องรอการหารือวิปรัฐบาล ในวันที่ 13 ส.ค อีกครั้ง

"มั่นใจไม่มีปัญหาในการทำงานร่วมกัน การเป็นรองประธานสภาคนที่ 1หรือคนที่ 2 ไม่ต่างกัน เท่าเทียมกัน การทำงานใกล้เคียงกัน ต่างกันแค่สำนักงานที่อยู่ในความดูแลที่ขึ้นอยู่กับประธานสภาผู้แทนราษฎร จะมอบให้ใครดูแลงานด้านไหน  ไม่มีการก้าวก่ายกันอยู่แล้ว เชื่อมั่นการทำงานจะเป็นไปด้วยความราบรื่น" นายวิสุทธิ์ กล่าว

นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาปรับโควตาตำแหน่งประธานกรรมาธิการสามัญ สภาผู้แทนราษฎร หลังจากเสียงสส.ของพรรคประชาชนลดลง 5 เสียงนั้น ส่วนตัวเห็นว่า จำนวนสส.ของพรรคประชาชนที่หายไป 5 คน ลดลงแค่เล็กน้อย ดูแล้วคงยากที่จะให้มาสลับตำแหน่งกันใหม่ อัตราส่วนยังคงใกล้เคียงของเดิมอยู่ คงไม่ถึงขั้นมีผลกระทบให้ตำแหน่งประธานกรรมาธิการสามัญของพรรคประชาชนต้องมาทบทวนกันใหม่ อย่างไรก็ตามเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของตนเท่านั้น จะต้องมาคุยกันในที่ประชุมวิปรัฐบาลวันที่ 13 ส.ค.ก่อน พรรคร่วมรัฐบาลอื่น อาจเห็นไม่เหมือนตนก็ได้ เราทำงานในนามพรรคร่วมรัฐบาล ต้องรับฟังความเห็นร่วมกัน

ส่วนกรณีพรรคประชาชนมีผู้สมัครสมาชิกพรรคจำนวนมาก และสามารถระดมเงินบริจาคได้มากกว่า 20 ล้านบาท ในระยะเวลาดำเนินการเพียงไม่กี่วันนั้น นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้รู้สึกหนักใจ เอฟซีของใครก็ย่อมสนับสนุนพรรคของตัวเอง เป็นเรื่องปกติ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับนโยบายพรรคจะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนมากน้อยแค่ไหน การที่พรรคประชาชนประกาศความเชื่อมั่นจะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวในการเลือกตั้งปี 2570นั้น ก็ต้องดูถึงเวลาจะทำได้จริงหรือไม่ เหลือเวลาอีก 3 ปี สถานการณ์ในอนาคตคาดการณ์ไม่ได้อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แต่พรรคเพื่อไทยมั่นใจในนโยบายและการแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน จะทำให้ได้รับความเชื่อมั่นและเสียงตอบรับจากประชาชนในการเลือกตั้งสมัยหน้า โดยเฉพาะขณะนี้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตใกล้จะแจกเงินถึงมือประชาชนในปลายปี ทำให้เสียงตอบรับของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยดีขึ้นมาก รวมถึงราคาพืชผลการเกษตรหลายอย่างก็ดีขึ้น ทำให้คะแนนพรรคเพื่อไทยกลับมาดีขึ้นอย่างมาก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top