Tuesday, 8 July 2025
Politics

‘ไตรรงค์’ แฉ พรรคการเมือง ฮั้วต่างชาติค้ายา-เปิดพนัน นำเงินสกปรกมาซื้อเสียง วอน หยุดหนุนนักการเมืองชั่ว

(25 ก.พ. 66) เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 66 นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ประธานที่ปรึกษาพรรครวมไทยสร้างชาติ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุถึงปัญหาของประเทศไทยในปัจจุบัน ว่า ศัตรูตัวใหม่ของเราไม่ใช่มหาอำนาจนักล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก แต่เป็นยาเสพติด และของผิดกฎหมาย เช่น การพนันออนไลน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นและคงอยู่ได้ ก็เพราะทั้งคนไทยและต่างชาติร่วมมือกันให้มันเกิดขึ้น ต่างชาติ มีทั้ง จีน, ลาว, พม่า, เขมร, รัสเซีย และไนจีเรีย คำถามคือ ทำไมคนพวกนี้จึงกล้ามาทำชั่ว และทำผิดกฎหมายบั่นทอนความมั่นคงของชาติได้ ก็คงเพราะอย่างที่นายตู้ห่าวเคยพูดว่า “มีเงินเสียอย่าง อะไร ๆ ก็สามารถซื้อได้ทำได้ในประเทศไทย ก็เป็นจริงอย่างที่เขาพูด เพราะประเทศไทยเต็มไปด้วยข้าราชการชั่ว และนักการเมืองเลวที่คอยให้ความสะดวก และคุ้มครองธุรกิจเทาดำเหล่านี้ จึงเจริญกว้างขวางยิ่งขึ้นมาก

“ปัญหาของชาติในปัจจุบัน ก็คือ มีนักการเมืองของบางพรรคได้แอบร่วมกันกับต่างชาติในการค้ายาเสพติดและการพนันออนไลน์ และนักการเมืองเหล่านั้น ก็นำเงินสกปรกที่ได้มาเข้าไปใช้ในพรรค มีการเชื่อมต่อเพื่อนำเงินชั่วเข้าพรรคอยู่หลายวิธี เช่น ผู้ใหญ่เจ้าของพรรคทำหมู่บ้านจัดสรรขายให้พวกค้ายาเสพติดเพื่อฟอกเงิน โดยขายในราคาแพงเกินจริง เพื่อทำกำไรส่วนนี้มาใช้ในการซื้อเสียงในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น หรือบางพรรคก็มีบุคคลสำคัญของพรรคเป็นตัวเชื่อมนำเงินสกปรกเหล่านี้ ส่งให้หัวหน้าพรรคก็จะใช้เงินพวกนี้ในการซื้อความภักดีของ ส.ส.ของพรรค เชื่อหรือไม่ว่า ที่บางคนไม่ยอมย้ายพรรค ไม่ใช่มีอุดมการณ์อะไร แต่เพราะเกิดอาการเสพติดจากเงินค้ายาเสพติด และเงินที่ได้จากรัฐมนตรีของมันโกงกันมา ที่มีการแจกกันเป็นประจำทุก ๆ เดือน”

นายไตรรงค์ ยังระบุต่อว่า “เราคนไทยที่ต้องการตอบแทนบุญคุณต่อวิญญาณของบรรพบุรุษที่เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตปกป้องแผ่นดินนี้ไว้ให้ เราก็สามารถจะกระทำได้โดยการร่วมกันไม่สนับสนุนนักการเมืองเลว ข้าราชการชั่ว และพรรคการเมืองอุบาทว์ในคราบของนักบุญ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เราคนไทยต้องร่วมกันลงโทษ ไม่เลือกพรรคมัน เพื่อป้องกันมิให้พวกมันสามารถใช้เงินสกปรกจากธุรกิจเทา-ดำ เช่น การค้าเฮโรอีนและยาบ้า มาซื้ออำนาจรัฐ เพื่อขอเป็นรัฐบาลบริหารประเทศอย่างเด็ดขาด”


ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9660000018121

'ซูเปอร์โพล' เผย 'ลุงตู่' เด่นด้านความสงบสุข-มั่นคง ฟาก 'ลุงหนู' ผลงานด้าน สธ.-จงรักภักดี เป็นที่ประจักษ์

(25 ก.พ. 66) สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง ลุงตู่ กับ หมอหนู กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,223 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20 – 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95

เมื่อถามถึง นักการเมืองผู้มีผลงานเด่น ด้านความมั่นคงชาติ ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.6 ระบุ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รองลงมาหรือร้อยละ 17.3 ระบุ นายอนุทิน ชาญวีรกูล, ร้อยละ 9.5 ระบุ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ, ร้อยละ 6.5 ระบุ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร, ร้อยละ 5.3 ระบุ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ตามลำดับ

นอกจากนี้ เมื่อถามถึง นักการเมืองผู้มีผลงานเด่น ด้านระบบสาธารณสุข นโยบายสุขภาพ แก้ปัญหาคุณภาพชีวิต ลดความเดือดร้อนของประชาชนช่วงวิกฤตโควิด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.1 ระบุ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองลงมาคือร้อยละ 10.4 ระบุ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, ร้อยละ 6.5 ระบุ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ร้อยละ 4.2 ระบุ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร และร้อยละ 2.9 ระบุ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึง ภาพจำของประชาชน ต่อคุณธรรมการเมืองของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.1 คือ ความจงรักภักดีต่อสถาบันสูงสุดของชาติ รองลงมาคือ ร้อยละ 60.6 ระบุ กล้าคิดกล้าตัดสินใจ เป็นผู้นำไทยบนเวทีโลก ด้านสาธารณสุข สุขภาพเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจไทยในอาเซียน ร้อยละ 60.6 ระบุ มีผลงานทั่วโลกยอมรับ รับมือวิกฤตโควิดในประเทศไทย ร้อยละ 60.4 ระบุ ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่มีประวัติด่างพร้อย ทุจริตคอรัปชัน ร้อยละ 57.9 ระบุ มีความรู้ ประสบการณ์ ภาคธุรกิจ เคยล้มเหลว ฟื้นฟูตัวเอง กลับมาสำเร็จได้ ร้อยละ 57.6 ระบุ มุ่งมั่น ขยัน ตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน

นิพนธ์ - เดชอิศม์ -ไพเจน นายก อบจ. จับมือ สจ. หนุน ปชป.พร้อมสู้ศึกเลือกตั้งสงขลา

นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้อำนวยการเตรียมการเลือกตั้งพรรคปชป. ประชุมร่วมกับนายเดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ภาคใต้ นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และสมาชิกสภาอบจ.สงขลา 28 คน ประกาศจุดยืนเตรียมความพร้อมหนุน พรรคปชป.สู้ทุกเขตเลือกตั้ง ณ บ้านพักเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

ทั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของการเตรียมการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเร็ววันนี้ โดยนายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคปชป. ผนึกกำลัง 3 ฝ่าย จับมือกับ นายเดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคปชป.ภาคใต้ ร่วมกับนายไพเจน มากสุวรรณ์ และสมาชิกสภา อบจ.สงขลาทั้ง 28 คน ในการเตรียมความพร้อมติดตามสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ และพร้อมลงช่วยเหลือผู้สมัครของพรรคปชป.ทุกเขตเลือกตั้ง

ซึ่งนายนิพนธ์กล่าวช่วงหนึ่งว่า วันนี้ผมอยากเห็นพวกเราชาวประชาธิปัตย์ทั้งหมด ผนึกกำลังรวมตัวเป็นหนึ่งเดียว เพื่อเตรียมความพร้อมในการสู้ศึกเลือกตั้ง เพื่อเป้าหมายสู่ชัยชนะการเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดสงขลาทั้ง 9 เขต ของพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นจึงอยากให้ท่านสมาชิกสภา อบจ.สงขลาทั้ง 28 คนที่มาร่วมประชุม ได้ติดตามสถานการณ์การเลือกตั้งในพื้นที่ของตนเอง เพื่อทำการประมวลผล อันจะนำมาซึ่งการพิจารณาหาแนวทางการทำงานของผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคในแต่ละเขตเลือกตั้ง ว่าขณะนี้ผู้สมัครแต่ละเขตกำลังเดินไปในทิศทางใด เพื่อจะนำปัญหาทั้งหมดมาร่วมกันแก้ไขต่อไป

'ชัยวุฒิ' ชี้ช่องดึง 'เว็บพนันออนไลน์-บุหรี่ไฟฟ้า' ขึ้นมาบนดิน แก้กฎหมาย เปลี่ยนส่วยเป็นภาษี พารัฐกระเป๋าตุง

จากคอลัมน์ 'เจ้าพระยา' ในสยามรัฐ ได้พูดถึงกรณีทุนสีเทาที่บานปลาย และแนวทางในการแก้ปัญหา โดยมีการเสนอแนวคิดจาก นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่า...

บานปลายกลายเป็นมหากาพย์กระทบต่อผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้ สำหรับกรณี 'ทุนจีนสีเทา' หลังนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.ก้าวไกลรับข้อมูลจากนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ไปอภิปรายในศึกซักฟอกรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทว่า ที่เจอแรงกระแทกมากสุด กลับเป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมฝ่ายค้านไปเสียงั้น 

“ปัญหาเรื่องทุนสีเทาเป็นปัญหาที่มีมานานแล้วหลายสิบปี เป็นปัญหาที่เราก็รู้กันอยู่ว่าธุรกิจที่ผิดกฎหมายในเมืองไทยมันมีเยอะ แล้วก็ทุกคนก็วิ่งเข้าหาผู้มีอํานาจ เพื่อจ่ายส่วย หรือว่าหาคนมาดูแลคุ้มครอง โดยรัฐบาลไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง รัฐบาลพยายามแก้ปัญหานี้อยู่ ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ก็เห็นตรงกันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่นอกจากแก้ด้วยการให้เจ้าหน้าที่ลงไปเอาจริงเอาจังในการปราบปรามแล้ว บางเรื่องอาจต้องมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อเปลี่ยนส่วยเป็นภาษี เพราะต้องยอมรับว่า บางสิ่งบางอย่างในต่างประเทศเขาถูกกฎหมาย เช่น เรื่องธุรกิจบริการ ผับบาร์ที่เปิดตอนกลางคืน ประเทศอื่นเปิดหลังเที่ยงคืนได้ ขายเหล้าหลังเที่ยงคืนได้ เป็นเมืองไทยทําไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย ก็ทําให้ชาวต่างชาติที่มาลงทุน มาท่องเที่ยวในเมืองไทย หรือชาวต่างชาติที่ต้องการดื่มหลังเที่ยงคืนจะต้องจ่ายส่วยเพื่อจะได้เปิดบริการกันได้ก็เกิดทุนสีเทา เกิดธุรกิจผิดกฎหมายขึ้นมา เรื่องนี้เป็นตัวอย่างว่า เราควรต้องทบทวน ปรับแก้กฎหมายเพื่ออะไรที่เราคิดว่ารับได้ อะไรคิดว่าเป็นเรื่องสากล"

'ชวน' กรีด!! ส.ส.ย้ายพรรค 'เอาเปรียบ-คบไม่ได้' เตือนเพื่อน ส.ส. รู้ทัน 'พรรคเฉพาะกิจ' ไม่ยั่งยืน!!

'ลุงชวน' เชื่อประชาธิปัตย์ภาคใต้ไม่สูญพันธุ์ แฉมีการจ่าย 200 ล้านบาท ดึงตัวคนประชาธิปัตย์ หวังกวาด ส.ส.ยกจังหวัด กรีด ส.ส.ย้ายพรรคหวังเป็นรัฐมนตรี เอาเปรียบ-คบไม่ได้

รายการ 'ชั่วโมงข่าวเสาร์อาทิตย์' ทางไทยพีบีเอส ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายชวนกล่าวยอมรับว่า "เป็นห่วงความนิยมของพรรค โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้บางจุด แต่มั่นใจว่าไม่น่าจะถึงขั้นสูญพันธุ์ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์มีชาวบ้านเป็นฐานเสียงสำคัญ ที่ยังศรัทธาในความซื่อสัตย์สุจริตของพรรคประชาธิปัตย์"

เมื่อถามว่า ยุคนี้ถือเป็นยุคตกต่ำของประชาธิปัตย์ และมีปัญหาที่เกิดจากปัญหาภายในของพรรคมากน้อยแค่ไหน นายชวน ยอมรับว่า "ปัญหาภายในพรรคมีบ้าง เช่น มีบางคนในพรรคอยากให้มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค บางคนมาเจรจาขอให้ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรค ซึ่งได้ปฏิเสธไป เนื่องจากเป็นมติพรรคที่เลือกนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค ทุกคนในพรรคก็ต้องช่วยกันทำงาน อีกทั้งการเปลี่ยนม้ากลางทางอาจไม่เหมาะสม ดังนั้น ทางเดียวคือหากต้องการเปลี่ยนแปลง ต้องรอให้ครบวาระและเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่"

ทั้งนี้ นายชวน เชื่อด้วยว่าเหตุผลความไม่พอใจตัวหัวหน้าพรรค ไม่ใช่เหตุผลของการย้ายสังกัดพรรค แต่เหตุผลสำคัญ คือ การกลัวแพ้เลือกตั้ง และการเจรจาทาบทามให้มีการย้ายพรรค

'บิ๊กป้อม' เปิดใจ เหตุผล ที่ยังไม่หยุดเล่นการเมือง และทำไมต้อง ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’

(27 ก.พ. 66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) เผยแพร่ผ่านเพจ ‘พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ เรื่อง ทำไมต้อง ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ เนื้อหาระบุ เพราะแม้จะมีเหตุผลมากมายที่หลายคนเห็นว่าผมควรจะหยุด และกลับไปใช้ชีวิตสบาย ๆ ซี่งจะทำให้ผมมีความสุขมากกว่า เนื่องจากชีวิตไม่ได้รู้สึกขาดแคลนอะไรแล้ว

และนั่นทำให้ผมคิดแล้ว คิดอีกอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ในที่สุดแล้ว ผมตัดสินใจที่จะทำงานต่อ แน่นอนว่าเหตุผลหนึ่งคือ ผมผูกพันกับคนที่ร่วมสร้าง ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ขึ้นมาจนประสบความสำเร็จ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศมาเกือบครบ 4 ปีเต็ม ๆ

ทุกคนล้วนมีความหวัง ความฝันที่จะทำงานการเมืองต่อไป ทุกคนต่างร่วมทำงานหนักกันมา เมื่อถึงวันที่จะต้องลงเลือกตั้งกันใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันที่เข้มข้น การต่อสู้รุนแรงมาก ใครไม่พร้อมก็ยากที่จะเดินต่อไปได้ ผมจะคิดแค่เอาตัวรอด ทิ้งเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ร่วมสร้าง ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ที่ยังมีความฝันอยู่เต็มเปี่ยมได้อย่างไร

นั่นเป็นเหตุผลแรก

แต่ลึกไปในใจ ในความรู้สึกนึกคิด ผมมีเหตุผลส่วนตัวที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเหตุผลที่เกิดจากการทบทวนครั้งแล้ว ครั้งเล่า ถึงทางออกของชาติบ้านเมือง ว่าควรจะทำอย่างไรกันดี เป็นการทบทวนที่มองผ่านเข้าไปในประสบการณ์ชีวิตของผมทั้งหมด แล้วหาข้อสรุปว่าเกิดอะไรกับประเทศ

ผมจะค่อย ๆ เล่าให้ฟังว่า อะไรที่ผมพบเจอ รับรู้ และเกิดความคิดอย่างไรในแต่ละช่วงชีวิต จนสุดท้ายตัดสินใจทำงานการเมืองต่อ ด้วยความคิดว่าตัวเองจะทำประโยชน์ด้วยการคลี่คลายปัญหาให้ประเทศเดินหน้าไปสู่ความสดใส ผมจะเริ่มจากการเล่าให้เห็นประสบการณ์รับราชการทหารตั้งแต่ ‘นายทหารผู้น้อย’ ค่อย ๆ เติบโตมาถึง ‘ผู้บัญชาการกองทัพ’ ได้รับการหล่อหลอมให้ ‘จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’ มาทั้งชีวิต

จนผลึกความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา เป็น ‘จิตวิญญาณที่เปี่ยมด้วยความจงรักภักดีของผม’ อย่างมั่นคง ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ในห้วงเวลาเกือบทั้งชีวิตในราชการทหาร ด้วยจิตสำนึกดังกล่าว ผมได้รับรู้ความห่วงใยของคนในวงการต่าง ๆ ที่มีต่อความเป็นไปทางการเมืองของประเทศ อาจจะเป็นเพราะผมเป็น ‘ผู้บังคับบัญชากองทัพ’ เสียงความห่วงใยส่วนใหญ่จึงมีเป้าหมายไปที่ ‘นักการเมือง’

คนกลุ่มหนึ่ง ซี่งมีบทบาทสูงต่อความเป็นไปของประเทศ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายว่า ‘กลุ่มอิลิท’ ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดความเป็นไปของประเทศ มอง ‘ความเป็นมาและพฤติกรรมของนักการเมือง ด้วยความไม่เชื่อถือ’ และความไม่เชื่อมั่นลามไปสู่ความข้องใจใน ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘ความรู้ความสามารถของประชาชน ในการเลือกนักการเมืองเข้ามาครอบครองอำนาจบริหารประเทศ’ ความไม่เชื่อมั่นต่อนักการเมือง และการเลือกของประชาชนนั้น ทำให้ผู้มีบทบาทกำหนดความเป็นไปของประเทศเหล่านี้ เห็นดีเห็นงามกับการ ‘หยุดประชาธิปไตย’ เพื่อ ‘ปฏิรูป’ หรือ ‘ปฏิวัติ’ กันใหม่ หวังแก้ไขให้ดีขึ้น

คนในกลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่หวังดี อยากเห็นประเทศพัฒนาไปสู่ความรุ่งเรือง เป็นผู้มีประสบการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่ามีความรู้ความสามารถ หากสามารถชักชวนเข้ามาทำงานให้กับประเทศได้จะเป็นประโยชน์  แต่เป็นที่น่าเสียดายยิ่งว่า คนที่ประสบความสำเร็จในการใช้ความรู้ ความสามารถเหล่านี้ ไม่มีโอกาสเข้ามาช่วยประเทศชาติในช่วงที่ ‘ระบบการเมือง’ จัดสรรผู้เข้ามามีอำนาจบริหารตามโควต้าจำนวน ส.ส. ที่ประชาชนเลือกเข้ามา โอกาสที่จะเข้ามาช่วยประเทศชาติ มีเพียงช่วงที่ ‘รัฐบาลมาจากอำนาจพิเศษ’ หรือการปฏิวัติ รัฐประหารเท่านั้น การรับราชการทหารมาเกือบทั้งชีวิต ทำให้ผมรู้จัก เข้าใจ และแทบจะมีความคิดในทางเดียวกับคนที่หวังดีต่อประเทศชาติเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นความคิดในช่วงแรก แม้จะครอบคลุมเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต แต่หลังจากเข้ามาทำงานร่วมกับนักการเมือง และตั้งพรรคการเมือง ทั้งในช่วงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็น ‘ผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ’ จนมาเป็น ‘หัวหน้าพรรค’ ผมได้รับประสบการณ์อีกด้าน อันทำให้เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องนำพาประเทศไปด้วย ‘ระบอบประชาธิปไตย’

เพราะในความเป็นจริงทางการเมือง ไม่ว่านักการเมืองส่วนใหญ่จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ที่สุดแล้วอำนาจการบริหารประเทศต้องกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผู้ที่อำนาจตัดสินว่าจะให้ใครเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ก็คือ ‘ประชาชน’ มีความจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ แม้ในการเลือกตั้งทุกครั้ง ‘ผู้ยึดครองอำนาจด้วยวิธีพิเศษ’ จะตั้ง ‘พรรคการเมือง’ ขึ้นมาสู้ ซึ่งแม้จะหาทางได้เปรียบในกลไกการเลือกตั้ง แต่ผลที่ออกมา ‘ฝ่ายอำนาจนิยม’ จะพ่ายแพ้ต่อ ‘ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม’ ทุกคราว

ความรู้ ความสามารถของ ‘กลุ่มอิลิท’ ทำให้ประชาชนศรัทธาได้ไม่เท่ากับนักการเมือง ที่คลุกคลีกับชาวบ้านจนได้รับความรัก ความเชื่อถือมากกว่า นี่คือต้นตอของปัญหาที่สร้างความขัดแย้ง ขยายเป็นความแตกแยก ระหว่าง ‘ฝ่ายอำนาจนิยม’ กับ ‘ฝ่ายเสรีนิยม’ ที่หาจุดลงตัวร่วมกันไม่ได้ เพราะพยายามหาทางให้ฝ่ายตัวเอง ‘ชนะอย่างเด็ดขาด-ทำลายอีกฝ่ายให้สิ้นสูญ’ กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ กระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ

‘วัชระ’ จี้ ‘ชัชชาติ’ จัดการ ‘หนู-แมลงสาบ’ หลังพบวิ่งว่อนทั่วตลาดสนามหลวง 2

(27 ก.พ. 66) นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส. และผู้สมัคร ส.ส. เขตหนองแขม-ทวีวัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่พร้อมกับว่าที่ร้อยตรีบัณฑิต ศุภพิสุทธิ์ ตัวแทนผู้ค้าสนามหลวง 2 พบปะเยี่ยมเยียนพ่อค้าแม่ค้า และประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของ

โดยนายวัชระ กล่าวว่า พบปัญหาหลายอย่างที่ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงขอเรียกร้องให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร เข้ามาดูแลแก้ปัญหาให้หลังได้รับการร้องเรียนจากพ่อค้าแม่ค้าว่า ตลาดแห่งนี้ยังมีสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคจำนวนมากทั้งหนู แมลงสาบ รวมทั้งไฟส่องสว่างทางเดินที่ดวงเล็กมาก และลูกระบายอากาศที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาตลาดมีเสียงดังมาก โดยเฉพาะเวลาที่มีลมพัดแรงเกิดเสียงดังจนพ่อค้าแม่ค้าเปรียบเหมือนเสียงหมาโดนรถทับ ป้ายชื่อตลาดแตกชำรุด เป็นต้น จึงขอให้ผู้ว่าฯ กทม.สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว หรือลงมาดูพื้นที่ด้วยตนเอง

‘จตุพร’ ท้าเพื่อไทย ตอบปมดีล ‘บิ๊กป้อม’ ชี้!! ควรพูดความจริง อย่าปลิ้นปล้อน ตลบตะแลง

‘อย่าปลิ้นปล้อน ตลบตะแลง ดิ้นหนี’ จตุพร ท้าใจเพื่อไทย กล้าๆ หน่อย ใช้ความจริงตอบคำถามวัดกันไปเลย ย้ำจับมือ พปชร.หรือไม่ อ่านไต๋พูดแต่โวหาร ตอบไม่ตรงคำถาม ซัดออกลีลาดิ้นหนี โชว์ปลิ้นปล้อน งัด ปวศ.ตลบตะแลง ยันได้เสียงมากสุดกลับเสนอแคนดิเดตนายกฯ พรรคอื่นถึงสองคราว ยันอย่างนี้จะให้เชื่อไม่จับ ‘ประวิตร’ ตามดีลนายกฯ เอื้อประโยชน์ตัวเองได้อย่างไร

(27 ก.พ.66) นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน ‘วัดกันไปเลย’ โดยระบุให้แกนนำเพื่อไทยใช้ใจกล้ามาตอบคำถามด้วยความจริง จะจับมือ พปชร.หรือไม่ พร้อมติงที่ตอบมานั้นแค่โวหาร พูดกั๊ก ๆ แสดงลีลา ดิ้นหนีความจริง กลัวเสียงหาย หรือถูก พปชร.รุมย่ำความปลิ้นปล้อน

นายจตุพร กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยังไม่ตอบคำถามว่า จะจับมือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ-พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือไม่ แต่สิ่งที่ผู้นำของพรรคพูดมานั้นเป็นเพียงโวหาร อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาประวัติศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยแล้ว แม้ที่ผ่านมาเป็นพรรคมีเสียงอันดับหนึ่งในสภา แต่เคยเลือกบุคคลจากพรรคอื่นเป็นนายกฯ มาแล้วถึงสองครั้ง โดยครั้งแรก ธันวาคม 2551 เลือก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก (หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน) ชิงนายกฯ กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แต่ก็แพ้ไป

ส่วนครั้งที่สอง หลังเลือกตั้งปี 2562 เลือกนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) เป็นนายกฯ ก็แพ้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มี ส.ว.เทเสียงหนุนอย่างเป็นเอกภาพถึง 249 เสียงจากทั้งหมด 250 คน ดังนั้น ประวัติศาสตร์จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า พรรคเพื่อไทยทั้งที่ได้เสียงเลือกตั้งมากที่สุด ยังไม่เคยได้เลือกแคนดิเดตนายกฯ ของตัวเองมาเลย กลับไปลงมติเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคอื่นแทน

ดังนั้น เมื่อมาถึงการเลือกตั้งปี 2566 กรณีแกนนำเพื่อไทยบอกต้องโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคตัวเอง ถ้าเลือกคนจากพรรคอื่นจะตอบประชาชนได้อย่างไรนั้น นายจตุพร กล่าวว่า ตอบตามที่เคยตอบและก็อยู่มาได้ตามที่เคยอยู่แล้วไง แต่ปัญหาทางการเมืองนั้น ถ้าไม่จับมือกัน ไม่ดีลกันก็ต้องต้องตอบให้เด็ดขาด เหมือนพรรคก้าวไกลกับไทยสร้างไทยประกาศชัดเจนไม่จับมือกับ พปชร. และรวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อีกทั้งพรรคภูมิใจไทยจะไม่จับมือกับก้าวไกล

นายจตุพร ย้ำว่า คำถามที่ตนถาม และชูวิทย์ (กมลวิศิษฎ์) นำไปถามต่อว่า จะจับมือกับ พล.อ.ประวิตร และ พปชร.หรือไม่ ซึ่งไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร ถ้าคนทั้งสามคนของเพื่อไทยมีความเป็นจริงในใจแล้ว ควรตอบมาง่ายๆ ว่า ไม่มีวันจับมือกับ พปชร. ก็เป็นที่ยุติแล้ว

“เพราะความตลบตะแลตั้งแต่เรื่องสุดซอย (กม.นิรโทษกรรมที่เพื่อไทยปรับเปลี่ยนไปคลุมถึงคดีทุจริต) มติพรรคเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา 3 รอบ ดังนั้น ความไม่อยู่กับร่องกับรอยในทุกเรื่อง พร้อมประวัติศาสตร์ได้อธิบายอยู่ทุกวัน โดยความเป็นจริงคุณตอบคำถามเรื่องนี้ได้ง่ายที่สุด ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน แล้วทำไมต้องตอบไม่ตรงกับคำถามด้วย”

อีกทั้งย้ำว่า ถ้าเพื่อไทยตอบตรงคำถามง่าย ๆ ว่า ไม่มีวันจับมือกับ พปชร.เด็ดขาดไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไรก็ตามก็เท่านั้น แต่ไม่ตอบจึงทำให้นึกย้อนถึงร่องรอยสายสัมพันธ์ตั้งแต่การแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร เป็น ผบ.ทบ. รวมถึงความสัมพันธ์ช่วงก่อน และหลังวันยึดอำนาจปี 2557 ซึ่งปิดบังตนไม่มิด เพียงแต่ยังไม่ได้อธิบายในรายละเอียดว่า ใครประสานกับใคร อย่างไร และวางคนของตัวเองไว้ตรงไหนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการดีลหลังวันยึดอำนาจด้วยการเจรจาเป็นตอนๆ ไป ทั้งในเรื่องกลับบ้าน หรือคดีอื่น ๆ พอไม่สำเร็จก็ดีลให้เดินทางออกนอกประเทศ

“ดีลยึดอำนาจยังดีลเลย นับประสาอะไรกับการดีล (จับมือประวิตร หนุนให้เป็นนายกฯ) ที่ตอบไม่เต็มปากเต็มคำ เพราะการจับมือกับประวิตรยังมีฤทธิ์เดชอยู่ แม้ไม่มีการปฏิเสธกัน แต่มีความพยายามจะเอานายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย มากลบข่มประวิตร แต่สุรเกียรติ์ก็ไม่มา”

จุตพร กล่าวว่า เพื่อไทยยังมีสิทธิ์ตอบคำถามง่ายๆ นี้ แต่กลับเล่นลีลาลากไปลากมา ออกอาการพูดปลี้นปล้อน โยนหลักการมาอธิบาย แต่ไม่ยอมใช้ภาษาง่ายๆแบบไพร่พูดให้ชัดเจนตรงไปตรงมา ไม่ต้องตีความความ หรือพูดเปิดช่องดิ้นหนีคำถาม ถึงที่สุดก็ยังไม่ได้คำตอบที่ตรงกับคำถามจนบัดนี้ ดังนั้น จึงคิดเป็นอื่นไม่ได้ เพราะต้องพึ่งพา พล.อ.ประวติร กับ องค์กรอิสระทั้ง 5 และ ส.ว. ยิ่งถ้าประกาศจับมือ พล.อ.ประวิตร เสียงก็จะหายไปทันที หรือหากประกาศเด็ดขาดไม่จับมือ พปชร. ก็จะเจอสงครามและเจอปฏิบัติการกันอีกหลากหลาย จึงจำเป็นต้องอ้ำอึ้ง แล้วพูดกั๊กกันไว้เช่นทุกวันนี้ เพราะเป็นแค่ลีลา ซึ่งไม่ใช่ความจริง

‘ก้าวไกล’ มีมติคว่ำ ‘พ.ร.ก. อุ้มหาย’ หวังคุ้ม ปชช. จี้!! ส.ส. หนุนอย่าทำสภาล่ม เตะถ่วงเพื่อตู่

‘ก้าวไกล’ มีมติโหวตคว่ำ พ.ร.ก. อุ้มหาย จี้ ส.ส. รัฐบาลต้องปกป้องประชาชน อย่าทำสภาล่มหรือยื่นศาล รธน. เตะถ่วงเพื่ออุ้มประยุทธ์

(27 ก.พ. 66) นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึง กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรจะประชุมเพื่อพิจารณา พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ ในวันพรุ่งนี้ (28 ก.พ. 66) นั้น ตนได้แจ้งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ว่ามีมติโหวตคว่ำ พ.ร.ก. ฉบับนี้ของรัฐบาล และไม่เห็นด้วยกับการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการออก พ.ร.ก. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

“พ.ร.บ. อุ้มหายฯ เป็นกฎหมายที่ ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลผลักดันร่วมกันกับภาคประชาสังคม เพื่อคุ้มครองไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิและร่างกายของประชาชนระหว่างถูกควบคุมตัว ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เคยยืนยันต่อ กมธ. ของสภาเองว่า เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ทันแน่นอน ดังนั้น เมื่อถึงกำหนดที่ พ.ร.บ. อุ้มหายฯ จะต้องบังคับใช้แล้ว การออก พ.ร.ก. เพื่อเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ จึงรับฟังไม่ได้ และชัดเจนอยู่แล้วโดยไม่ต้องถามศาลรัฐธรรมนูญ ว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ออกโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะมิได้เป็นกรณีฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด”

‘เสี่ยหนู’ ลั่น!! ไม่สนใจ ‘ชูวิทย์’ ตามบี้ ‘ภูมิใจไทย’ ชี้ มีคนหนุนหลัง เผย ไม่หวั่น หากร่วมงานในอนาคต

(27 ก.พ. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ จองกฐินพรรคภูมิใจไทย โดยจะติดตามการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ว่า ยังไม่ทราบ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะพูดหรือทำอะไร เราต้องรับฟัง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเมินหรือไม่ว่า ทำไมนายชูวิทย์ ถึงพุ่งเป้ามาที่พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ไม่ได้ประเมิน เราก็ทํางานของเรา ทุกคนมีสิทธิที่จะทําอะไรตามที่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายเปิดทางให้

เมื่อถามว่า มองว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า มีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเป็นช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อคะแนนเสียงของพรรค ภท. เพราะเรามีนโยบายที่ชัดเจน และผลงานชัดเจน ไม่เคยไปลอกเลียนผลงานของคนอื่นมา เรามีผลงานเป็นของตัวเอง ทำอะไรเรารู้ ประชาชนก็รู้

เมื่อถามว่า พอรู้หรือไม่ว่ากลุ่มการเมืองที่อยู่เบื้องหลังนายชูวิทย์คือ กลุ่มใด นายอนุทิน กล่าวว่า ทราบหมดแหละ แต่ทําไมจะต้องมาพูดกัน เราก็ทำงานของเราไป และเรื่องนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น เพียงแต่เราไม่ทำแบบนี้

เมื่อถามว่า มีการพูดคุยกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือไม่ ว่าทำไมถึงมารับเรื่องจากนายชูวิทย์ด้วยตัวเอง นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ต้องคุย คุยไปก็ไม่มีประโยชน์ พอเลือกตั้งเสร็จใครมี ส.ส.เท่าไหร่ ถึงจะเป็นตัวชี้ว่าใครจะต้องคุยยังไงกับใคร มีเงื่อนไขอะไร ตอนนี้ทุกอย่างเป็นไปตามไทม์ไลน์ แต่ละคนก็ต้องไปทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อถ้าได้รับความไว้วางใจจากประชาชน พรรค ภท.คิดอยู่แค่นี้ ใครจะทำอะไรก็แล้วแต่

เมื่อถามว่า บรรยากาศเป็นแบบนี้จะมองหน้ากันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้หรือ นายอนุทินกล่าวว่า ก็มองกันอีกแค่ไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ ไม่เป็นไร ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับ ครม.ต้องแยกออกจากัน และไม่ได้อึดอัดอะไร เพราะเราทํางาน การมาประชุม ครม.คือการทำงาน ต่างคนต่างมีหน้าที่ของตัวเอง ถ้าไม่ทำงาน คนก็หาว่าละเลยละเว้น

เมื่อถามว่า จะไม่ส่งผลต่อการร่วมรัฐบาลในอนาคตใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการกระทำของแต่ละพรรค พูดถึงก็ดีเหมือนกัน ก่อนเลือกตั้งคนจะได้ไปทำงานอย่างเต็มที่ ปลดแอกปลดพันธนาการทั้งหลาย ทําให้เราอยากเป็นตัวของเราเองอย่างเต็มที่ จะได้คิดอะไรของเราเอง โดยไม่ต้องมีความเกรงอกเกรงใจหรือวิตกกังวลอะไร เพราะบางที เราต้องนึกถึงตัวเราเอง มัวแต่ไปคิดถึงคนอื่นมาก ๆ ก็จะเป็นสิ่งที่ไม่ดีกับตัวเรา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top