Friday, 4 July 2025
Politics

“ดอน” แจงกต.แค่ติดต่อเจรจา ตปท.หาวัคซีนเข้าไทย “โยน” สธ.ชี้ขาดรับของหรือไม่  ยัน 2 กระทรวงไร้ปัญหา 

ที่ทำเนียบรัฐบาล  นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลกำลังเจรจาสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากสหภาพยุโรป (อียู) เพิ่มอีก ว่า  กระทรวงการต่างประเทศได้รับมอบหมายเป็นเพียงฝ่ายติดต่อ โดยเราถือเป็นจุดเริ่มต้นในการไปหาว่าประเทศไหนมีวัคซีนอะไร และประเทศไหนพร้อมจะขาย โดยเราจะให้ทูตไปติดต่อประสานงาน  ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ตัดสินใจเลือกว่าจะซื้อวัคซีนนั้นๆหรือไม่  และเมื่อเราติดต่อได้แล้ว กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องมาพิจารณาว่าเข้าแผนที่ได้วางไว้หรือไม่  อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีระบบการจัดสรรวัคซีน 3 ระบบ คือ 1.การรับบริจาค 2.การแลกเปลี่ยน และ3.การซื้อ  ทั้งนี้ เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ถ้าประเทศไหนบอกว่าไม่ต้องการเงิน และพร้อมจะให้เรา  เราก็ยินดีรับ  หรือบางประเทศที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ แต่เขาต้องการขายเพื่อเอาเงิน เราก็ซื้อ ขณะที่การแลกเปลี่ยนนั้น ถ้าประเทศใดมีวัคซีน เขาให้เราก่อน แล้วถ้าเรามีวัคซีนเหลือ เราก็เอาไปใช้คืนเขา 
 
เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่ากระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงสาธารณสุขไม่ค่อยจะลงรอยกันเท่าไหร่  นายดอน กล่าวว่า  คนพูดกันไปเอง ขอยืนยันว่าไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกัน กระทรวงการต่างประเทศมีทูตอยู่ทั่วโลก เรามอบหมายให้ทูตไปติดต่อแล้วมาแจ้งกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งเขาจะไปวางแผนเรื่องการใช้วัคซีน

 “เป็นเรื่องแปลกที่มีคนพยายามพูดโยงอย่างนั้นอย่างนี้ให้มีปัญหากัน ทั้งที่ไม่มีปัญหา  ผมเข้าใจว่าเป็นเรื่องการเมือง เพราะเห็นมีปัญหาอยู่อย่างเดียวที่พยายามทำให้เกิดปัญหา คือการเมืองในบ้านเรานั่นเอง หลายประเทศบอกว่าเขาไม่มาหรอก ให้พวกคุณไปทะเลาะกันให้เรียบร้อยก่อน” นายดอน กล่าว

เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีได้กำชับอะไรในเรื่องการประสานกับต่างประเทศหรือไม่  นายดอน กล่าวว่า  ไม่มี เพราะที่ผ่านมา เราติดต่อทำความตกลงเองมา 7 ปีอยู่แล้ว ซึ่งราบรื่นมาตลอด และเรารายงานนายกรัฐมนตรีให้รับทราบตลอดเช่นกัน  นายกรัฐมนตรีจึงไม่ต้องห่วง เพราะอะไรอยู่แล้ว ตอนนี้ถือว่าการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศในการติดต่อกับประเทศต่างๆ มีความเสถียรและรู้ว่าจะต้องทำอะไร จังหวะไหน อย่างไร เพื่ออะไร  แต่ตนอยากให้สื่อมวลชนช่วยทำความเข้าใจกับคนในประเทศเราด้วย อย่าให้มีปัญหา มิฉะนั้นจะทำให้เรื่องที่ควรจะเดินต่อ ไม่สามารถเดินหน้าได้  จึงต้องช่วยกันออกข่าวเตือนประชาชนบ้าง เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ  เพราะถ้าเราทำให้มีปัญหาอยู่ตลอดเวลา ก็จะทำให้เกิดปัญหาอีกในอนาคต  

ก.แรงงาน เร่งระดมสมองวางแผนพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve 

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 4/2564 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล และผ่านระบบ Video Conference โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้แทนสภาองค์การนายจ้าง ผู้แทนสภาองค์การลูกจ้าง ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนร่วมประชุม โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเสนอ 4 เรื่องให้      ที่ประชุมพิจารณา ได้แก่ การเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กพร.ปจ. แทนตำแหน่งที่ว่างลง การแก้ไขเพิ่มเติมรายชื่ออนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กพร.ปจ. (ร่าง) แผนพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve (พ.ศ.2565-2570) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการเพื่อรองรับการประกอบอาชีพ (พ.ศ.2564-2570)  

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพของกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสานแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างระบบการศึกษากับระบบการพัฒนากำลังแรงงาน ประสานนโยบายแผนการพัฒนาฝีมือแรงงาน และแผนการฝึกอาชีพของ ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อความเป็นเอกภาพในการพัฒนาแรงงาน ขจัดปัญหาความซ้ำซ้อนและความสิ้นเปลือง รวมถึงติดตามและประเมินผลการดำเนินงานการพัฒนาแรงงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพ โดยมีคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) เป็นกลไกระดับจังหวัดในการขับเคลื่อนติดตามและดำเนินงานตามแผนการพัฒนากำลังแรงงานในพื้นที่จังหวัด 

การประชุมในวันนี้ นอกจากเรื่องที่เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอแล้ว กพร. ได้รายงานถึงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ได้ปรับปรุงคำสั่งให้เป็นปัจจุบัน เพิ่มองค์ประกอบของ กพร.ปช. และปรับปรุงอำนาจหน้าที่แล้ว 
การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ขณะนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมการบินและ   โลจิสติกส์จัดทำแผนพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแล้วเสร็จ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ นั้น อยู่ระหว่างการประชุมร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อยกร่างแผนผังตำแหน่งงานและแนวโน้มการจ้างงานใน   แต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมายในรูปแบบการระดมความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 

การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการเพื่อรองรับการประกอบอาชีพ สรุปการจัดงานสัมมนาออนไลน์ “ให้กลไกตลาดทุน เกื้อหนุนผู้พิการ สร้างงานสร้างอาชีพ” เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ผ่านระบบไมโครซอฟท์ทีม และถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุ๊ค ของ กลต. กระทรวงแรงงาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน  ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาประกอบด้วยผู้บริหาร ผู้แทนบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ องค์กร สมาคมคนพิการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จำนวน 524 คน โดยมีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์สนใจทำ CSR ด้านคนพิการ จำนวน 75 แห่ง ซึ่ง กพร. จะติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานต่อไป และการสนับสนุนซิมการ์ดพัฒนาฝีมือแรงงานออนไลน์ 500 ซิม จาก บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

ในการนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดพิธีแถลงข่าวและรับมอบซิมการ์ด จำนวน 500 ชุด เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ณ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดย กพร. ร่วมกับสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ดำเนินการแจกจ่ายซิมการ์ดให้แก่กลุ่มแรงงานคนพิการและกลุ่มเปราะบางเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ยกระดับศักยภาพด้านดิจิทัล ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผลการช่วยเหลือแรงงานกลุ่มเปราะบาง ประจำปี 2564 กระทรวงแรงงานเป้าหมาย 72,150 แห่ง ผลการสำรวจแล้ว 22,370 แห่งและการเตรียมรองรับการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 อีกด้วย “คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) มีองค์ประกอบมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมกันบูรณาการและวางแผนการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อความเป็นเอกภาพในการพัฒนาแรงงาน เพื่อให้แรงงานมีความรู้และทักษะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ให้แรงงานไทยสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป ภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ และเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง” อธิบดี กพร. กล่าวทิ้งท้าย

‘บิ๊กป้อม’ ยืนยัน ให้สิทธิ์สมาชิกพรรคโหวตแก้รธน. ปัดตอบดีล ‘เพื่อไทย’ เกรงถูกเขียนไปในอย่างอื่น

เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 9 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแนวทางการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ของพรรคพปชร. ว่า แล้วแต่สมาชิกพรรค เพราะเป็นสิทธิของเขา

ผู้สื่อข่าวถามว่ามุมมองส่วนตัวอยากให้เป็นไปในทิศทางใด พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ส่วนตัว เดี๋ยวจะไปถามกันอีก เมื่อถามถึงความกังวลในส่วนของพรรคเล็กในการโหวตหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่กังวลแล้วแต่ เมื่อถามต่อว่าในส่วนของส.ว.กังวลหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มี เป็นสิทธิของเขา

เมื่อถามย้ำว่ามีกระแสข่าวตั้งข้อสังเกตพล.อ.ประวิตรเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่าน พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ตอบแล้วเดี๋ยวจะเขียนไปกันอย่างอื่น

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวการย้ายที่ทำการพรรคพปชร. พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่คิดจะย้าย ยังไม่คิด เมื่อถามถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นของพรรคพปชร.พร้อมหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า พร้อมอยู่แล้ว ส่วนอบต.จะส่งทั่วประเทศหรือส่งเฉพาะบางพื้นที่ต้องขอดูก่อน

‘หมอวรงค์’ ซัด ‘ไพบูลย์’ ความจำสั้น ทำไมงง ‘ระบอบทักษิณ’ เป็นอย่างไร ทั้งที่เคยขึ้นเวที กปปส. ไล่มาด้วยกัน

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ในหัวข้อ #ความจำสั้น โดยระบุว่า

ผมไปออกรายการ Topnews Talk คืนวันที่ 8 กันยายน 64 ไม่เห็นด้วย เรื่องบัตร 2 ใบ ผมกังวลว่าระบอบทักษิณจะกลับมา เพราะเขาถนัดเกมนี้

อ.ไพบูลย์งงว่า ระบอบทักษิณเป็นอย่างไร ทั้ง ๆ ที่เคยขึ้นเวทีกปปส.ไล่มาด้วยกัน

แสดงว่าบัตรสองใบ นอกจากนายทุน และโจรจะครองเมืองแล้ว ยังทำให้คนความจำสั้นด้วย


ที่มา : https://www.facebook.com/therealwarong/posts/2997063637231334

'ร.อ.ธรรมนัส' ยื่นหนังสือลาออกจากรมช.เกษตรฯ มีผลตั้งแต่ 8 ก.ย. เหตุไม่สบายใจ

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เปิดแถลงข่าวที่รัฐสภา ประกาศลาออกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยส่งหนังสือถึงนายกฯ ตั้งแต่ 8 ก.ย. 64 หลังมีกระแสข่าวต่าง ๆ รวมถึงปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ ตั้งแต่ในช่วงศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ร.อ.ธรรมนัส ย้ำว่า ไม่ทำเพื่อใครบางกลุ่ม และขอกลับไปอยู่จุดเดิม คือการทำหน้าที่ส.ส. ทำการเมืองให้เข้มแข็ง ไม่ใช่มารองรับหรือทำอะไรเพื่อคนบางกลุ่ม จึงได้ข้อสรุปว่าจะลาออกจากตำแหน่งรมช.เกษตรฯ

“ตนขอลาออกจากตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ ยื่นใบลาออก ต่อนายกฯ ยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ไม่จบ จึงไม่สบายใจ และใช้เวลาคิดมาหลายคืนก่อนที่จะตัดสินใจยื่นใบลาออก หลังจากนี้จะกลับไปทำงานที่จังหวัดพะเยา ในฐานะส.ส.และเรื่องนี้ได้แจ้งให้พล.อประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค รับทราบแล้ว”

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศ โปรดเกล้าฯ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

'นายกตู่' ลั่น ตัดสินใจเอง ปมให้ 'ธรรมนัส-นฤมล' พ้นเก้าอี้รัฐมนตรี

9 ก.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.20 น. ที่โรงพยาบาลปิยะเวท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังราชกิจจานุเบกษาประกาศ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี

โดย พล.อ.ประยุทธ์ถอนหายใจ พร้อมกล่าวว่า ได้ข่าวเมื่อกี้นี้รัฐมนตรีลาออก เขาก็เคยพูดไว้อยู่แล้วไม่ใช่หรอ ร.อ.ธรรมนัส ว่าไม่ได้เป็นรัฐมนตรีก็ออกไปเป็นส.ส ก็สามารถช่วยประชาชนได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ช่วยงานกันมาโดยตลอด เดี๋ยวคงเป็นเรื่องของพรรคที่จะไปหารือกันว่าจะทำอย่างไร แต่ยืนยันว่างานทุกงานไม่มีหยุดยั้ง มีคนทำงานให้อยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าจะไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปจะมีการปรับครม.หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เดี๋ยวคอยดู คอยฟังข่าว 

เมื่อถามย้ำว่าถ้าปรับจะปรับกี่ตำแหน่ง นายกฯ กล่าวว่า ตนยังไม่ปรับใครในตอนนี้ เมื่อมีรัฐมนตรีลาออกก็ทำให้มีตำแหน่งว่าง ซึ่งตนก็ยังไม่ปรับคนเข้า 

ถามว่าถือว่าเป็นการลาออกหรือว่าปลดออก นายกฯ กล่าวว่า ก็เขาลาออก 

ซักว่าแต่ตอนนี้มีราชกิจจานุเบกษาให้พ้นตำแหน่งประกาศแล้ว นายกฯ กล่าวว่า "เอาแหละ ยังไงเขาก็ไม่อยู่แล้ว จะมายังไง จะไปยังไง ผมไม่ตอบ"

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่าแต่เนื้อหาในราชกิจจานุเบกษาระบุว่า นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กราบบังคมทูลให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการ เท่ากับเป็นการปลดออกใช่หรือไม่ นายกฯ ชี้แจงว่า "ของผม ทำของผม"

พอถามว่า ร.อ.ธรรมนัส และนางนฤมล มาลาออกกับนายกฯ ก่อนแล้วใช่หรือไม่ นายกฯ บอก "ผมไม่ได้แจ้งใครทั้งสิ้น มันอยู่ที่ผม ผมทำของผมเอง" 

เมื่อถามอีกว่ามีเหตุผลอะไร นายกฯ กล่าวว่า "เหตุผลของผม ก็คือเหตุผลของผมสิ เอ้อ"

ถามว่าเป็นการทำงานไม่ได้เป้าหรือเปล่า นายกฯ กล่าวว่า เอาละเป็นเรื่องของตน 

ถามย้ำว่าการทำงานในฐานะรัฐมนตรีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ประชาชนก็ดูเอาแล้วกัน 

ต่อข้อถามที่ว่า เป็นผลพวงจากการอภิปรายหรือไม่ที่จะโค่นล้มนายกฯ นายกฯ กล่าวว่า ทั้งหมดข่าวก็มาจากสื่อทั้งนั้น โอเคนะ ขอบพระคุณนะจ๊ะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างนี้นายกฯ ได้เดินออกจากโพเดียม ท่ามกลางสื่อมวลชนที่พยายามสอบถามคำถาม จนทำให้นายกฯ ย้อนกลับมาที่โพเดียมอีกครั้ง ซึ่งผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อปรับออก 2 คนแล้วจะมีใครมาแทน นายกฯ กล่าวว่า ปรับออกแล้วเป็นยังไงล่ะ แหมจะให้เอาออกหมดเลยไหม 

เมื่อถามว่าร.อ.ธรรมนัสถือเป็นทายาท 3 ป.ทางการเมือง ตอนนี้เหตุการณ์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 ป.หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า มันมีเกณฑ์อะไรนักหนาล่ะ

จากนั้นนายกฯ ได้เดินหนีออกจากโพเดียมอีกครั้ง ขณะที่สื่อมวลชนยังพยายามถามอีกหลายคำถาม และถามย้ำว่าสรุปว่าการลาออกของ 2 รัฐมนตรีเป็นผลจากการอภิปรายหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่าไม่เกี่ยวกับการอภิปราย พร้อมเอามือตบที่หน้าอก และกล่าวว่า ทำเพื่อประชาชน ทำเพื่อการบริหารงาน ไม่ต้องยืนยันนอนยันอะไรทั้งนั้นแหละ เป็นเรื่องของนายกฯ

'พิธา' ยืนยัน พรรคก้าวไกลงดออกเสียง แก้รัฐธรรมนูญ วาระที่ 3

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่อาคารรัฐสภา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำทีม ส.ส.พรรคก้าวไกล เเถลงข่าวต่อสื่อมวลถึงจุดยืนของพรรคก้าวไกลของการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ที่จะเกิดภายในวันนี้ 

พิธา กล่าวว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกลในการที่จะโหวตในวาระ 3 ครั้งนี้ คือ งดออกเสียง ด้วยเหตุผลในหลายประเด็น 

ประเด็นแรก พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าวตั้งแต่วาระแรก และยืนยันว่าปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นถูกผูกด้วยรัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องแก้ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยมี สภาร่างรัฐธรรมนูญ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง สามารถแก้ไขได้ทุกหมวดและทุกมาตรา ถึงจะเป็นการแก้ปัญหาถูกผูกด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งหากประชาชนยังจำได้ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ ผ่านเพียงร่างของพรรคประชาธิปัตย์ร่างเดียว และให้สามารถแก้ได้เพียง 2 มาตรา 

ประเด็นที่สอง หลังจากที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับถูกลดทอน เหลือเพียงการแก้ไขระบบการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลมีความเห็นว่า ควรที่จะแก้ไขระบบเลือกตั้งเพื่อที่จะให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้า และถอดบทเรียนจากระบบเลือกตั้งที่ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตทางการเมืองในอดีต เราเห็นด้วยกับการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ เพื่อที่จะขจัดการเหมารวมเจตจำนงของประชาชน ดังนั้นการเลือก ส.ส. 1 ใบ และพรรค 1 ใบ จึงมีความชัดเจน 

ในขณะเดียวกัน เรื่องการคำนวณ​ เราสนับสนุนให้มีการคำนวณจำนวน ส.ส.ในระบบที่โปร่งใสเป็นธรรม และทำให้การเมืองเข้มแข็ง เป็นการเมืองที่โอบรับความหลากหลายจากทุกภาคส่วนของประเทศไทย ซึ่งผลลัพธ์ออกมาอย่างที่ประชาชนได้เห็นชัดเจนว่า ไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของพรรคก้าวไกล จนกระทั่งวันนี้ (10 ก.ย. 64) ที่จะมีการลงมติโหวตในวาระ 3  

“พรรคก้าวไกล ยืนยันว่าเราไม่เห็นด้วยกับ รัฐธรรมนูญปี 60 ในการสืบทอดอำนาจ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) แต่ในขณะเดียวกัน เราก็มิอาจเห็นชอบกับผลลัพธ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ทั้งในวาระ 1 และวาระ 2 พรรคก้าวไกลจึงของดออกเสียง เพื่อเป็นการชี้ชะตาของผู้ที่ต้องการที่จะเสนอเงื่อนไขให้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่าจะมีเสียงสนับสนุนมากน้อยเพียงใด"

พิธา กล่าวต่อไปว่า สุดท้ายที่สุด ตนในฐานะหัวหน้าพรรคและ ส.ส.ของพรรคก้าวไกล พร้อมที่จะสู้ในทุกกติกา ในทุกสนาม ในทุกเมื่อ พร้อมที่จะเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนในการแก้ไขปัญหาให้บ้านเมือง ทั้งปัญหาวิกฤตบ้านเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองต่อไปในอนาคต 

เมื่อถามถึงกรณี พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐที่มีกระแสขัดแย้งกันภายในพรรค ภายหลังการลาออกของ 2 รัฐมนตรีช่วยนั้น หัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุว่า เสถียรภาพภายในพรรคและของรัฐบาล และที่เป็นผลตามมาต่อความไร้เสถียรภาพของพรรคและรัฐบาล คือคุณภาพในการแก้ไขบ้านเมืองในปัจจุบัน พรรคก้าวไกลขอส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลว่าช่วยให้ความสำคัญอย่างตรงจุดคือเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มากกว่าปัญหาของศึกภายในพรรคของตัวเอง

‘สุชาติ’ ชี้!! ไม่มีกลุ่มใดออกตาม ‘ธรรมนัส’ ยัน ทุกคนเข้าร่วม พปชร. เพราะเชื่อใน ‘ประยุทธ์-ประวิตร’

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาภายในพรรคพปชร. จนมีกระแสข่าวว่าจะปรับโครงสร้างพรรคว่า ในเรื่องของการเมืองไม่ว่า จะการประชุมพรรคหรือตำแหน่งต่าง ๆ ในพรรคต้องให้เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ในพรรคตัดสินใจ ตนเป็นเพียงแค่สมาชิก ทั้งนี้เราในฐานะนักการเมืองก็ทำหน้าที่เพื่อประเทศไทย จุดยืนอยู่ตรงไหนก็ทำงานตรงนั้นให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

เมื่อถามว่า มองผลต่อเนื่องทางการเมืองหลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ ลาออก จะมีการลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคพปชร. รวมทั้งตำแหน่งอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า เราคิดแทนคนอื่นไม่ได้ ในทางการเมือง ส.ส. ทุกคน มีพื้นที่มาจากเสียงของประชาชน ทุกคนรู้ว่า เข้ามาเพื่อทำงาน และทุกคนที่มากับพรรคพลังประชารัฐ ก็ถือว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และมีหัวหน้าพรรค ณ วันนี้คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของทุกคนอยู่แล้ว

“ผมคิดว่า ทุกคนไม่ได้มีประเด็นปัญหาอะไร เพราะเรามีศูนย์รวมจิตใจอยู่แล้ว คือพล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรค ส่วนการทำงานในภาพรวมของพรรค ก็ต้องมีการหารือกัน ซึ่งหัวหน้าพรรคก็คงจะได้พิจารณา ซึ่งวันนี้ถือว่า ไม่มีประเด็นอะไร” นายสุชาติ กล่าว

เมื่อถามว่า มีการมองกันว่า อาจจะต้องมีการปรับโครงสร้างพรรค นายสุชาติ กล่าวว่า ตนไปพูดเกินเลยตรงนั้นไม่ได้ เพราะตนเป็นแค่หนึ่งในคณะกรรมการบริหาร หนึ่งเสียงเท่านั้น ทั้งหมดอยู่ที่หัวหน้าพรรค และสมาชิก ส.ส. แต่อย่าลืมว่า ทุกคนมาด้วยเสียงของประชาชนที่เลือกตั้งเข้ามา และการพูดคุยทุกคนต่างก็รู้ว่ามีหน้าที่ของตัวเอง อย่างวันนี้ก็ต้องทำหน้าที่ในสภา

เมื่อถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งให้พรรคพลังประชารัฐกลับมาสามัคคีกันหรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่พรรคมีความเหนียวแน่น เพราะเรามีหัวหน้าพรรคที่ทุกคนให้ความเคารพ ในส่วนของเลขาธิการพรรค ก่อนหน้านี้เรามีนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเลขาธิการพรรค ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร พอเปลี่ยนมาเป็นร.อ.ธรรมนัส ก็เหมือนเดิม เพราะหัวหน้าพรรคเราคือ พล.อ.ประวิตร เราอาจจะไม่เหมือนกับพรรคอื่น แม้จะเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ระยะเวลา 2-3 ปี แต่ความแข็งแรงความสามัคคี ความเข้มแข็งของส.ส.ทุกคน ก็มีมากขึ้น และทุกคนต่างรู้บทบาทหน้าที่ ส.ส. ในพรรคก็มีทั้ง ส.ส.ใหม่และส.ส.เก่า ซึ่งตนเชื่อว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย

“เพราะทุกคนที่มาอยู่กับพรรคนี้ เพราะพรรคเสนอชื่อคนเดียว คือ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ผมจึงเชื่อว่า ไม่มีอะไร การเมืองก็ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เหมือนเราเปลี่ยนผู้บริหารบริษัท ลักษณะคล้ายกัน ส่วนจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรคหรือไม่นั้น ผมยังไม่ทราบและยังไม่ถึงเวลา” นายสุชาติ กล่าว

เมื่อถามว่า แสดงว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรคใช่หรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรค โดยหัวหน้าพรรคต้องใช้องคาพยพทั้งหมด ทั้งพวกตน สมาชิก และกรรมการบริหารพรรค ทุกคนก็รักกันดีอยู่แล้ว พรรคมีความสามัคคี และเชื่อว่า จะไม่มีเอฟเฟกต์ตามมา ไม่ว่า จะเป็น 2 ช. 3 ช. โดยภาพรวมนักการเมืองทุกคนมีความสนิทสนมกัน แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องแบ่งเป็นกลุ่มเป็นก๊วน เพียงแต่มีความสนิทสนมกันบ้าง อย่างตนอยู่ภาคกลางก็มีเพื่อนอยู่ภาคกลาง แต่ทุกคนฟังหัวหน้าพรรคและนโยบายของพรรค ถ้าเราอยู่ในพรรคแล้วไม่เคารพหัวหน้าพรรคหรือมติพรรค ก็คงอยู่ด้วยกันไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่หรือไม่ในเหตุการณ์ครั้งนี้ นายสุชาติ กล่าวว่า จะไปพูดตรงนั้นไม่ได้เพราะตนไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่อย่างตนที่มาอยู่พรรคพลังประชารัฐ เพราะรู้ว่าพรรคเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ตนถึงเข้ามา เพราะเราต้องดูก่อนว่า เราจะมาอยู่พรรคนี้เพราะอะไร เพราะยังไม่รู้เลยว่า มาอยู่พรรคนี้แล้วจะได้เป็นรัฐบาลหรือเปล่า แต่ถ้าได้เป็นรัฐบาลเราก็รู้ว่า นายกรัฐมนตรีคือ พล.อ.ประยุทธ์ เราถึงมา อย่างเพื่อนของตนที่มาจากหลายจังหวัดและชักชวนกันมาก็เพราะเรื่องนี้

เมื่อถามว่า คิดว่า นายกรัฐมนตรีมีระยะห่างระหว่างส.ส.มากไปหรือเปล่า นายสุชาติ กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ วันนี้นายกฯ ทำงานหนักมาก ขณะที่พล.อ.ประวิตร ก็ดูแลลูกพรรคเป็นอย่างดี พล.อ.ประยุทธ์ มีอะไรก็คุยผ่านหัวหน้าพรรคอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด ต้องยอมรับว่า ขนาดเป็นรัฐมนตรีอย่างเดียวงานก็หนักและเหนื่อยมาก มีเวลาน้อยที่จะได้พบกับเพื่อน แต่ทุกคนเข้าใจว่า อยู่บนพื้นฐานการทำงานเพื่อประเทศ

เมื่อถามว่า การที่ร.อ.ธรรมนัสลาออกไป คิดว่าจะมีกลุ่มก๊วนใดตามออกไปบ้างหรือไม่ นายสุชาติกล่าวว่า นักการเมืองไม่มีอย่างนั้นแน่นอน

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าในพรรคจะไม่มีใครตามร.อ.ธรรมนัสไป นายสุชาติ กล่าวว่า “วันนี้ท่านก็ยังอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ และผมคิดว่า ผู้แทนทุกคนที่มาอยู่กับพรรค มาอยู่เพราะเลือกนายกฯ และหัวหน้าพรรคลุงป้อม ไม่ได้มาเพราะร.อ.ธรรมนัส เป็นหัวหน้าพรรค จึงอย่าไปกังวลเพราะเรื่องนี้ ยืนยันว่า ไม่มีความกังวล และคิดว่า ไม่มีประเด็นในเรื่องนี้ เพียงแต่เดี๋ยวรอเวลาหน่อย” 


ที่มา : https://www.naewna.com/politic/601144

“จุรินทร์” ขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันทำให้ ร่างแก้ไข รธน. ผ่านความเห็นชอบวาระสาม สะท้อนว่า รธน.ฉบับนี้แม้แก้ยาก แต่สามารถแก้ได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภายหลังประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่บริเวณชั้น 1 อาคารรัฐสภา (วาระลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3) 

ซึ่งได้กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะเจ้าของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพิ่งผ่านที่ประชุมรัฐสภาไปเมื่อสักครู่ ซึ่งต้องขอถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกฝ่ายทั้งในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา ที่ได้ให้ความร่วมมือในการทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบไปได้ด้วยดี ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็สะท้อนให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้จะแก้ยาก แต่ก็สามารถแก้ได้ ถ้าทุกฝ่ายให้ความร่วมมือร่วมใจซึ่งกันและกัน ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมมั่นใจว่าจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมือง และระบอบประชาธิปไตยในอนาคตมากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนอยากเห็น

โดยเนื้อหาสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก ประเด็นที่ 1 ก็คือเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ 2. ปรับจำนวนผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนราษฎรแบบเขตเลือกตั้ง 400 เขต หรือ 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน และประเด็นที่ 3 ก็คือในเรื่องการคำนวนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อซึ่งมีอยู่ 100 คนนั้น ก็ให้นับคะแนนบัตรใบที่สองที่ลงคะแนนเลือกพรรค แล้วนำมาเทียบสัดส่วนกับผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่มีอยู่จำนวน 100 คน ถ้าพรรคการเมืองไหนได้คะแนนพรรค 100% ก็จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คนไปเลย แต่ถ้าพรรคไหนได้คะแนนพรรค 60% ก็จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 60 คน เป็นต้น ซึ่งเป็นหลัก 3 ข้อ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 

ขั้นตอนต่อไปนับจากนี้ก็คือจะต้องรอไว้ 15 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งระหว่าง 15 วันนี้ถ้ามีสมาชิกรัฐสภาสงสัยในเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเที่ยวนี้ ก็สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่รับเรื่อง ถ้าทุกอย่างผ่านตามขั้นตอนกระบวนการจนกระทั่งทรงลงพระปรมาภิไธย และถือว่าผ่านกระบวนการเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญทุกประการแล้ว ขั้นต่อไปก็คือจะต้องมีการยกร่างกฎหมายลูก หรือพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขต่อไป

ซึ่งเนื้อหาในนั้นคงประกอบด้วยวิธีการสมัครรับเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การนับคะแนน การประกาศผล รวมไปจนกระทั่งถึงการที่จะต้องกำหนดมาตรการที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรมต่อไปด้วย ซึ่งจะเป็นเนื้อหาหลักๆ สำหรับกฎหมายลูกที่จะต้องดำเนินการต่อไป 

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จะได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องของกฎหมายลูกต่อไป และขณะเดียวกันก็จะมอบให้วิปของพรรค หารือร่วมกับวิปสามฝ่าย ทั้งในส่วนของวิปพรรคร่วมรัฐบาล วิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา เพื่อที่จะร่วมมือร่วมใจกันในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง หรือกฎหมายลูกให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วต่อไป 

ซึ่งในการแถลงข่าวดังกล่าวมีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ นายประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมอยู่ด้วย

‘รัฐสภา’ โหวตผ่านฉุยแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีระเบียบวาระการประชุมสำคัญ คือ การลงคะแนนเสียงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และมาตรา 91 ในวาระสาม โดยที่ประชุมใช้เวลาขานชื่อ 2 ชั่วโมง และใช้เวลานับคะแนน 20 นาที

จากนั้นเวลา 11.50 น. นายชวน ได้ประกาศผลการนับคะแนน ว่าที่ประชุมเห็นชอบ 472 เสียง แบ่งเป็นเสียงจากส.ส. 323 คะแนน และจากส.ว. 149 คะแนน ไม่เห็นชอบ 33 คะแนน แบ่งเป็นของ ส.ส. 23 เสียง และส.ว. 10 เสียง งดออกเสียง 187 คะแนน แบ่งเป็นของ ส.ส. 121 เสียง และส.ว. 66 คะแนน  ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดเกณฑ์ผ่านร่างแก้ไขไว้ 3 เงื่อนไข 

ดังนั้นผลการลงมติที่ประชุมมีคะแนนเสียงเห็นชอบ 472 คะแนน มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา กึ่งหนึ่งคือ 365 คะแนนดังนั้นคะแนน 472 คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งจึงผ่านเงื่อนไขที่ 1 ส่วนเงื่อนไขที่ 2 ในจำนวนนี้มีสมาชิกสภาฯ จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ เห็นชอบด้วย 142 คะแนน มากกว่าร้อยละ 20 คือ 49 คะแนน 

ดังนั้นคะแนนที่ได้เกินกว่าที่กำหนดเอาไว้ ถือว่าผ่านเงื่อนไขที่ 2 และเงื่อนไขที่ 3 คะแนนดังกล่าวมีส.ว.เห็นชอบ 149 คะแนน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของส.ว. คือไม่น้อยกว่า 84 คน 

ดังนั้น ถือว่าที่ประชุมได้ลงมติผ่านทั้ง 3 เงื่อนไขเป็นการเห็นชอบให้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ..... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป โดยกระบวนการต่อไปจะเป็นไปตามมาตรา 256 (7) คือรอไว้ 15 วัน แล้วจึงจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ทูลเกล้าฯ โดยนายกรัฐมนตรี และมีผลบังคับตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 81 เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top