Saturday, 24 May 2025
NewsFeed

ทบ. ปรับรูปแบบการฝึกทหารใหม่ พร้อมดูแลความเป็นอยู่ของทหารใหม่อย่างใกล้ชิด สอดคล้องแนวทาง ศบค. สู่การเป็นหน่วยทหารปลอดโควิด

พ.ท.หญิง นุชระวี แจ่มจำรัส ผู้ช่วยโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ทหารกองประจำการผลัด 1/64 ที่เข้าประจำการเมื่อต้นเดือน ก.ค. 64 ที่ผ่านมาได้ทำการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และได้รับการฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ไปตลอดทั้ง 6 สัปดาห์ หน่วยฝึกจะเริ่มดำเนินการฝึกควบคู่การดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ภายใต้แนวทางการควบคุมโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ด้วยมาตราการ Bubble and Seal โดยครูฝึกและทหารใหม่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทุกนายจะถูกจำกัดให้อยู่แต่ภายในหน่วยฝึกที่เป็นระบบปิด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและปลอดเชื้อภายในหน่วยทหารอย่างสูงสุด 
  
ในส่วนของการฝึกจะทำการแยกฝึกเป็นกลุ่มย่อยในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก โดยจะฝึกจากขั้นพื้นฐานในเรื่องระเบียบวินัย แบบธรรมเนียมทหาร การฝึกบุคคลท่ามือเปล่า การฝึกทางยุทธวิธี หน้าที่พลเมือง การบรรเทาสาธารณภัย และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น พร้อมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ควบคู่กับการออกกำลังพัฒนาสมรรถภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์เพื่อให้มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจ
  
สำหรับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ด้านปัจจัย 4 ของทหารใหม่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นอกจากทหารใหม่จะได้รับแจกจ่ายเครื่องแต่งกาย เครื่องนอน และของใช้ทั่วไป อาทิ เครื่องแบบสนามฯ ชุดนอน เสื้อยืด รองเท้าผ้าใบ รองเท้าแตะ ที่นอน หมอน มุ้ง หน่วยฝึกยังได้จัดเตรียมหน้ากากอนามัย และเจลแอลกออฮล์แจกจ่ายเป็นอุปกรณ์สำหรับดูแลและป้องกันตัวระดับบุคคลด้วย 

หน่วยฝึกได้ปรับอาคาร สถานที่ รวมถึงรูปแบบการดำเนินกิจวัตรประจำวันให้สอดรับกับมาตราการป้องกันโควิด-19 ในการแยกรับประทานอาหารด้วยถาดหลุม กระบอกน้ำและช้อนส้อมส่วนตัว ควบคุมการประกอบเลี้ยงให้ถูกสุขอนามัย และเน้นอาหารที่มีประโยชน์ครบ5หมู่ เสริมด้วยเครื่องดื่มหรืออาหารเสริมที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ไข่ต้ม น้ำเต้าหู้ น้ำกระชาย น้ำผึ้งมะนาว และผักผลไม้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย พร้อมจัดรายการอาหารพิเศษสัปดาห์ละหนึ่งครั้งเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับทหารใหม่ในห้วงการฝึก 

และในห่วงการฝึกได้ขอความร่วมมือผู้ปกครองงดเยี่ยมเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยหน่วยฝึกได้เปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ระหว่างหน่วยฝึก ทหารใหม่และผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองได้ทราบถึงชีวิตและความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิด คลายความกังวลใจและความห่วงใยที่มีต่อบุตรหลาน 
  
ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมในการดูแลทหารกองประจำการผลัด 1/64 ในเรื่องการฝึกและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ควบคู่กับแนวทาง ศบค. นั้น เป็นนโยบายที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้ความสำคัญและเน้นย้ำมาโดยตลอดสู่การเป็นหน่วยทหารปลอดโควิด เพื่อสร้างความปลอดภัย เสริมความมั่นใจให้กับทหารใหม่และครอบครัวอย่างดีที่สุด เพราะเราคือครอบครัวเดียวกัน 

นายกฯ สั่ง ทุกส่วนบูรณาการการทำงานร่วมกัน ให้ เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชน รวดเร็ว-ทั่วถึง เน้น ผู้สูงอายุ-กลุ่มเปราะบาง-หญิงตั้งครรภ์ - ขอบคุณบุคลากร ทำงาน อดทน เสียสละ ช่วยคนไทย ต่อสู้กับความท้าทาย

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยและได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ เพื่อลดอัตราการป่วยหนัก และเสียชีวิต 

นายอนุชา กล่าวว่า โดยในช่วงที่ผ่านมา กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) สำนักอนามัย กทม. สำนักงานเขตในพื้นที่ ทหาร ตำรวจ และ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) จัดทีมลงพื้นที่เร่งบริการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ เป็นลำดับแรกก่อน ในชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ รวมทั้งได้ให้คำแนะนำแนวทางการป้องกันโรคโควิด-19 ตามมาตรการ D-M-H-T-T ของสาธารณสุข เพื่อลดอัตราการแพร่กระจายของเชื้อ

“จํานวนยอดสะสมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไทยถึงวันที่ 25 ก.ค. 2564 รวมทั้งสิ้น 15,994,842 ราย จําแนกเป็น ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จํานวน 12,339,985 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จํานวน 3,654,857 ราย สำหรับการฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มียอดสะสม 5,318,434โดส แบ่งเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 3,341,846 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มจำนวน 988,294 ราย” นายอนุชา กล่าว

นายอนุชา กล่าวว่า เนื่องจากสถิติของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำและมักมีโรคประจำตัว ถือเป็นกลุ่มเปราะบางอาจทำให้เมื่อรับเชื้อแล้วมีอาการหนัก มีความเสี่ยงจากการเสียชีวิต หน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ ภายใต้การดำเนินนโยบายของรัฐบาล จึงได้เร่งสำรวจเชิงรุกและฉีดวัคซีนให้อย่างครอบคลุม เพื่อปกป้องประชาชนกลุ่มนี้ และนอกจากนี้ โฆษกรัฐบาลกล่าวถึงคำแนะนำเพื่อดูแลผู้สูงอายุ 

นายอนุชา กล่าวว่า โดยให้ยึดหลัก 5 อ. ของ กระทรวงสาธารณสุข ที่ประกอบไปด้วย 1. อาหาร สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ เลี่ยงอาหารหวาน หรือเค็มจนเกินไป โปรตีนสูง เสริมภูมิคุ้มกัน และรักษาสุขภาพช่องปาก 2. อารมณ์ อย่ารับข่าวสารมากเกินไป ทำกิจกรรมที่ผู้สูงอายุชื่นชอบ 3. ออกกำลังกาย ออกกำลังกายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ หรือเท่าที่ทำได้ตามสภาพร่างกาย 4. เอนกายพักผ่อน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมง 5. ออกห่างจากสังคมนอกบ้าน ทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลควรเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ 

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับทราบ และขอบคุณการทำงานของทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน เเละ ภาคประชาสังคม ที่เป็นกำลังสำคัญร่วมกัน อดทน เสียสละ และมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อช่วยประชาชนคนไทยต่อสู้กับความท้าทายในครั้งนี้ 

“วิโรจน์” แนะ ศบค.เร่งทำ 3 ข้อ เพื่อประคับประคองสถานการณ์ ซัด บริหารสถานการณ์บกพร่องร้ายแรง ย้ำ ต้องอย่าทำให้ระเบียบราชการและการรอคอยทำปชช.เสียชีวิต 

เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิสร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีที่รัฐบาลบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดที่บกพร่องอย่างร้ายแรง โดยข้อเสนอดังกล่าวส่งตรงไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ล่าสุด มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 14,000-15,000 ราย และเป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 รายต่อวัน ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาถึง 10 วันแล้ว โดยการระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ระยะเวลา 15 วัน จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากระดับ 7,000 เป็น 14,000 รายต่อวัน

นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการบริหารจัดการ การจัดหา และจัดฉีดวัคซีน แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้กล้าหาญที่จะออกมากล่าวคำขอโทษกับประชาชนด้วยตนเอง แต่เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าการออกมาขอโทษประชาชนของผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และเปลี่ยนการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ COVAX Facility เมื่อวันที่ 21 ก.ค. การที่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีมติให้จัดหาวัคซีนที่สามารถตอบสนองต่อเชื้อกลายพันธุ์ได้จำนวน 120 ล้านโดส ในปี 2565 พร้อมกับเร่งรัดให้จัดหาวัคซีนภายในปีนี้ ให้ได้ 100 ล้านโดส เมื่อวันที่ 14 ก.ค. การที่ อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำหนังสือถึง AstraZeneca เพื่อขอให้เขาส่งมอบวัคซีนให้ได้เดือนละ 10 ล้านโดส เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตลอดจนการยื่นข้อเสนอซื้อวัคซีน Pfizer เพิ่มเติมอีก 50 ล้านโดส เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ก็คือ การที่รัฐบาลได้สารภาพผิดโดยพฤตินัย เพราะจำนนต่อหลักฐาน ซึ่งประชาชนและสังคมก็ได้พิพากษา พล.อ.ประยุทธ์ ,นายอนุทิน และรัฐบาลนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“การบริหารจัดการด้านวัคซีน ผมก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะสำนึกในบาปบุญคุณโทษ ที่ได้ก่อกรรมทำเข็ญเอาไว้กับประชาชน และเร่งใช้ความสามารถทางการทูต และการเร่งรัดติดตามอื่นๆ เพื่อนำเอาวัคซีนที่มีประสิทธิผลต่อสถานการณ์การระบาด มาฉีดให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด การดำเนินการดังกล่าว แม้ว่ารัฐบาลจะกลับเนื้อกลับตัวได้แล้ว ก็ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีมากกว่าผู้ที่หายป่วยกลับบ้านถึงวันละ 5,000-8,000 ราย สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การประคับประคองให้จำนวนผู้ติดเชื้อชะลอตัวลง และลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชนให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่นี้ให้ได้”โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าว 

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตนมีข้อเสนอแนะต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. จำนวน 3 ข้อ คือ 1.เร่งใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ตรวจประชาชนให้มากที่สุด และจัดสรรให้ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่สีแดง สามารถนำเอาบัตรประชาชนมาขอรับ เพื่อนำไปใช้ตรวจวินิจฉัยตนเองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ได้สัปดาห์ละ 1 ชุด โดยสามารถลงทะเบียนขอรับผ่านทางไปรษณีย์ หรือขอรับด้วยตนเอง ได้ที่หน่วยงานท้องถิ่น หรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย  เช่น สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข พร้อมจุดบริการเสริมต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล องค์กาบริหารส่วนจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ในต่างจังหวัด ทั้งนี้เพื่อลดภาระของกระทรวงสาธารณสุขลง พร้อมให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาอุดหนุน เพื่อให้ราคาของชุดตรวจ Antigen Test Kit อยู่ที่ไม่เกินชุดละ 50 บาท และเร่งจัดหามาให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อได้ตามร้านขายยามาตรฐานทั่วไป

2.ให้รัฐบาลกระจายอำนาจจากกระทรวงสาธารณสุขให้กับหน่วยงานท้องถิ่น และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียว และเหลืองอ่อน เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถทุ่มเท ดูแลรักษาผู้ติดป่วยในกลุ่มสีเหลือง สีแดง และผู้ป่วยในภาวะวิกฤติได้ โดยให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ คือ เร่งจัดทำศูนย์พักคอยเพื่อติดตามอาการ หรือ Community Isolation Center ให้มากที่สุด โดยใช้พื้นที่วัด ศาสนสถาน โรงเรียน ค่ายทหาร และสวนสาธารณะ ตลอดจนสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว และเหลืองอ่อน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 70-75% ที่ไม่สามารถกักตัวรักษาตนเองที่บ้านได้ ระจายเป็นจุดต่างๆ อย่างครอบคลุม ในระดับแขวงเขต ตำบล และอำเภอ

ให้รัฐบาลกระจายอำนาจให้กับหน่วยงานท้องถิ่น หรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ในการดูแลศูนย์พักคอยเพื่อติดตามอาการ เช่น ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้สำนักอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข และสำนักเทศกิจ ทำหน้าที่ดูแล และในพื้นที่ต่างจังหวัดให้ อบต. และอบจ. เป็นผู้ดูแล เป็นต้น

สำหรับผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ และไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาล หากพบว่ากักตัวมาเป็นระยะเวลา 10 วันแล้ว ไม่มีอาการของโรค และสภาพปอดปกติ ให้ผู้ป่วยกลับไปกักตัวรักษาตนเอง หรือทำ Home Isolation ที่บ้าน ให้โรงพยาบาลรับผู้ป่วยในกลุ่มที่เปลี่ยนจากสีเขียว เป็นสีเหลือง จากศูนย์พักคอยติดตามอาการ Community Isolation Center หรือ Home Isolation หรือกรณีใดๆ มารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ภายใต้การกำกับดูแลของโรงพยาบาล โดยห้ามมิให้ปฏิเสธ

และ 3.ให้รัฐบาลตรวจสอบอุปสรรคหน้างานอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงยาต้านไวรัสอย่างล่าช้า เร่งแก้ไขระเบียบ ลดขั้นตอน และลดงานเอกสารงานธุรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลและการเข้าถึงยาลง ในกรณีที่จำเป็น ก็ต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการแก้ไขปัญหาคอขวดที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ที่เริ่มมีอาการ ตลอดจนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว ได้เข้าถึงยา Favipiravir ได้เร็วที่สุด โดยการวินิจฉัยของแพทย์ ภายใน 4 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการ ซึ่งเป็นไปตามแนวเวชปฏิบัติ ของกรมการแพทย์ ฉบับวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถทำได้เป็นการทั่วไป นี่คือ สิทธิการมีชีวิตรอดของประชาชน ซึ่งไม่ควรต้องสูญเสียไป จากระบบงานธุรการ ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติ

โดยให้ผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว และสีเหลืองอ่อน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 75% ควรลงทะเบียน โดยได้รับหมายเลขผู้ป่วยนอก (HN) หรือหมายเลขผู้ป่วยใน (AN) โดยเร็วที่สุด ลดเรื่องงานเอกสารธุรการลงทั้งหมด สำคัญที่สุด เมื่อประชาชนพบว่าตนเองติดเชื้อ จากการตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ประชาชนควรเข้าถึงการรักษาได้ทันที แพทย์สามารถจ่ายยา Favipiravir และยารักษาตามอาการได้โดยทันที การตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR และการตรวจวินิจฉัยอื่นๆ ตลอดจนการตระเตรียมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำ Home Isolation การทำ Community Isolation หรือการรับเข้ารักษาที่โรงพยาบาล
.
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า  รัฐบาลควรจะแก้ไขกฎระเบียบ ให้อาสาสมัครต่างๆ ที่ช่วยประสานหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ศูนย์พักคอยติดตามอาการ Community Isolation Center สามารถที่จะประสานงานกับโรงพยาบาล เพื่อลงทะเบียนให้กับผู้ติดเชื้อได้ และสามารถรับยาที่แพทย์สั่ง มาจ่ายให้กับผู้ป่วยที่อยู่ในศูนย์พักคอยติดตามอาการ รวมทั้ง ‘นำส่งยาที่แพทย์สั่ง’ ให้กับผู้ติดเชื้อที่ทำ Home Isolation หรืออยู่ระหว่างการรอเตียง เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิต ให้น้อยลงที่สุดเท่าที่จะทำได้

ทั้งนี้ ตนข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาศูนย์ล้างไตให้กับผู้ป่วยโควิด-19 การหารือกับ กสทช. ร่วมกับค่ายโทรศัพท์มือถือต่างๆ ให้งดเว้นการตัดสัญญาณโทรศัพท์ และสัญญาณอินเตอร์เน็ต ที่ค้างชำระค่าบริการในช่วงนี้ ซึ่งการระบาดของโรคอย่างรุนแรง เนื่องจาก กระบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การประสานงานเพื่อหาเตียง หรือการติดตามอาการผู้ป่วยที่ทำ Home Isolation ล้วนจำเป็นต้องใช้สัญญาณโทรศัพท์ หรือสัญญาณอินเตอร์เน็ต ทั้งสิ้น

“ผมขอฝากไปถึงรัฐบาลก็คือ ยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่จำเป็น เช่น ยา Favipiravir ยา Remdesivir หรือยาที่จำเป็นต้องใช้ในห้อง ICU เช่น ยา Nimbex, Propofol หรือ Midazolam รัฐบาลต้องดูแลไม่ให้สต๊อกยา และเวชภัณฑ์เหล่านี้ขาดแคลน และถ้าเป็นไปได้ รัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์ ในการพิจารณานำเข้ายาต้านไวรัสประเภทอื่นที่ผ่านการรับรองมาแล้ว เช่น ภูมิคุ้มกันสังเคราะห์ ที่เรียกว่า Monoclonal Antibody เพื่อให้แพทย์เลือกใช้ในการรักษาชีวิตของประชาชน นี่ไม่ใช่เวลาที่รัฐบาลจะมาประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ ”นายวิโรจน์ กล่าว

มูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม จัดความร่วมมือสามประสานกับ กมธ.วิสามัญพิทักษ์สถาบัน วุฒิสภา และภาคเอกชน ดำเนินโครงการ “Save Thai Fight Covid” เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด-19   

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ที่กำลังระบาดหนักในประเทศทั่วโลกขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชากรโลกเป็นอย่างมาก สำหรับในประเทศไทยวิกฤติโควิด-19ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วประเทศ โดยในขณะนี้ทุกภาคส่วนได้เร่งดำเดินการเพื่อให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ซึ่งด้วยความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้มูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม (KPISE) ร่วมกับกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา  บริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชั่นส์ จำกัด และสมาคมการค้าธุรกิจศูนย์บริการทางโทรศัพท์ไทย จัดทำโครงการ “Save Thai Fight Covid” 
เพื่อช่วยเหลือและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 การปฏิบัติตัว และการดูแลผู้ป่วยให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 และครอบครัว โดยมี ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานมูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม (KPISE) ประสานความร่วมมือกับนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา ร่วมกับ นางกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา ประธานคณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมของเยาวชน วุฒิสภา นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ด้านการปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา นายนพพล ชูกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชั่นส์ จำกัด และนายศรัณย์ เวชสุภาพร นายกสมาคมการค้าธุรกิจศูนย์บริการทางโทรศัพท์ไทย ร่วมดำเนินโครงการ ฯ ภายใต้วิสัยทัศน์ “รวมใจคนไทยสู้โควิด” ผ่านโครงการ “Save Thai Fight Covid” โดยมีเยาวชนพลังบวก SEED Thailand เยาวชนอาสาผู้นำท้องถิ่นจิตสาธารณะที่ผ่านการอบรมบ่มเพาะในโครงการ SEED Project เป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนดำเนินโครงการสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างเร่งด่วน โดยมีรายละเอียดการดำเนินโครงการ ฯ ดังนี้

1) ดำเนินการช่วยผู้ป่วยที่รอความช่วยเหลือเพื่อเข้ารับการรักษาตามกระบวนการทางสาธารณสุข ด้วยการจัดชุดยาสมุนไพรและอาหารเสริม อาทิ ยาฟ้าทลายโจร และวิตามินต่าง ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ตลอดจนเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ที่จำเป็น อาทิ เครื่องวัดออกซิเจน ปรอทวัดไข้ ถุงสำหรับใส่ขยะติดเชื้อ อาหารแห้งและอื่น ๆ ในจำนวนเพียงพอสำหรับการดูแลตนเองภายใน 7 วัน โดยดำเนินการจัดส่งชุดกล่อง Save Thai Fight Covid ถึงบ้านผู้ป่วย

2) จัดทำสื่อและช่องทางการสื่อสารเพื่อให้ความรู้กับผู้ป่วย ในการปฏิบัติตนเพื่อการดูแลตัวเอง และป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างการรอความช่วยเหลือ อาทิ วิธีการกำจัดขยะติดเชื้อจากผู้ป่วย การป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้ที่พักอยู่อาศัยร่วมกัน เป็นต้น

3)   จัดทำ Application รับข้อมูลการขอความช่วยเหลือ เพื่อนำข้อมูลประสานขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อส่งกำลังใจให้กับผู้ป่วย 

4)   จัดทำอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงพยาบาลสนาม อาทิ เตียงสนาม ฉากกั้น ชั้นเก็บของ ตู้อบฆ่าเชื้อไวรัสด้วยแสงยูวีซี และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้สนับสนุนในกิจกรรมของโรงพยาบาลสนาม 

อย่างไรก็ตามโครงการ “Save Thai Fight Covid” จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการส่งต่อกำลังใจและการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย แบบขั้นพื้นฐานที่ไม่ขัดต่อกระบวนการบำบัดรักษาทางการแพทย์และระบบสาธารณสุข เพื่อประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาโรคโควิด-19 และความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด และมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการบำรุงร่างกายและจิตใจ ตลอดจนการให้ความรู้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จากผู้ป่วยที่รอการรักษาอย่างถูกต้อง ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน และสำหรับผู้มีจิตศรัทธาท่านใด ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวผู้ติดเชื้อระหว่างรอการรักษา สามารถร่วมบริจาคในโครงการนี้ โดยสนับสนุนได้ทั้งเงิน อุปกรณ์ อาหาร หรือสิ่งของอื่น ๆ ที่จำเป็นได้ที่โครงการ “Save Thai Fight Covid” ชื่อบัญชี มูลนิธิ สปส. ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 405-523655-3 หรือโทรศัพท์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 084-668-7822 , 094-423-4852

“ในวิกฤติโควิด ทุกชีวิตไม่ทอดทิ้งกัน”

“บิ๊กช้าง” ย้ำ ทหาร-ตร. คุมเข้มเฝ้าระวังชายแดนต่อเนื่อง สั่ง หนุนเสริม กทม. เร่ง จัดตั้งพื้นที่แยกรักษาตัวในชุมชน 50 เขต 

พล.ท.คงชีพ  ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่าพล.อ.ชัยชาญ  ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ประชุมร่วมกับ กอ.รมน. หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม  เหล่าทัพ และ ตร. ผ่านระบบ VTC เพื่อติดตามการสนับสนุนแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19

 โดยภาพรวมการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคง ทหารและตำรวจ ในพื้นที่ชายแดน ยังคงพบจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายได้ต่อเนื่อง โดย ก.ค.64 ที่ผ่านมา จับกุมได้ถึง 3,552 คน โดยพบชาวกัมพูชาและลาวมากขึ้น สำหรับพื้นที่ชั้นใน กำลังทหารตำรวจ ยังคงกระจายกำลังควบคุมโรคใน 593 แคมป์คนงาน และจัดตั้งจุดตรวจร่วมตามเส้นทางต่างๆกว่า 230 จุด พบประชาชนให้ความร่วมมือเดินทางลดลง แต่ยังพบผู้ฝ่าฝืนมาตรการรวมตัวกันตามสถานที่ต่างๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน ขณะเดียวกันพบเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในการดูแลแคมป์คนงานติดเชื้อมากขึ้น

ทั้งนี้รมช.กลาโหม ได้เน้นย้ำ ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้แสดงความขอบคุณและให้กำลังใจทหารตำรวจทุกคนที่สนับสนุนปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งที่ผ่านมา  และได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพ คงความต่อเนื่องคุมเข้มเฝ้าระวังพื้นที่ชายแดนมากขึ้นในสถานการณ์ที่ประเทศรอบบ้าน ยังพบการแพร่ระบาดของโรคที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะเมียนมา  และขอให้สนับสนุน กทม.เร่งจัดตั้งพื้นที่พักแยกรักษาตัวในชุมชน ( Community Isolation ) ให้ได้ทั้ง 50 เขตใน กทม.โดยเร็ว เพื่อรองรับผู้ป่วยจาก รพ.ระดับต่างๆ

โดยพล.อ.ชัยชาญ ยังได้กำชับการทำงานของกำลังทหาร ที่กระจายกันจัดตั้ง “จุดบริการประชาชน” ทั้ง 72 จุดในชุมชนต่างๆ ของ กทม.และปริมณฑล ให้สามารถประสานเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และขอให้เร่งดำเนินการขยายขีดความสามารถ รพ.สนามและจัดตั้งเพิ่มเติม ในพื้นที่ กทม.ปริมณฑล และ จว.สีแดงเข้ม เพื่อดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีมากขึ้นโดยเร็ว

 พร้อมกันนี้ ขอให้ทุกค่ายทหาร จัดตั้งพื้นที่พักแยกรักษาตัว ( Community Isolation ) เพื่อช่วยเหลือดูแลกำลังพล ครอบครัวและชุมชนรอบข้างในทุกหน่วยทหาร และช่วยลดภาระทางสาธารณสุข  พร้อมทั้งให้ประสานขอรับวัคซีนมาสนับสนุนการทำงานของกำลังพลด่านหน้าในพื้นที่เสี่ยงสูงให้เพียงพอ เพื่อรักษาสถานภาพกำลังพลสนับสนุนวิกฤตสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น

‘ทอ.’ ส่งผู้แทน ร่วมรับแสดงความยินดี ‘น้องเทนนิส’ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ที่ท่าอากาศยานภูเก็ต

พล.อ.อ.แอร์บูล  สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) มอบหมายให้ พล.อ.ท.ฐานัตถ์  จันทร์อำไพ โฆษกกองทัพอากาศ พร้อมด้วย พล.อ.ต.กีรติ  ปิงเมือง ประธานอนุกรรมการแผนกกีฬาศิลปะป้องกันตัวกองทัพอากาศ และ นาวาอากาศเอก วิวัฒน์  จุลกะ กรรมการวิจัยและพัฒนากีฬากองทัพอากาศ ร่วมให้การต้อนรับและแสดงความยินดีกับ เรืออากาศตรีหญิง พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ หรือน้องเทนนิส นักกีฬาทีมชาติสังกัดกองทัพอากาศที่คว้าเหรียญทองเทควันโดเหรียญแรกให้ประเทศไทย ซึ่งเดินทางกลับจากญี่ปุ่นโดยสายการบินสิงค์โปร์แอร์ไลน์มายังท่าอากาศยานภูเก็ต

ซึ่งเมื่อน้องเทนนิสและคณะเดินทางมาถึงท่าอากาศยานภูเก็ต โฆษกกองทัพอากาศเป็นผู้แทนผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวแสดงความยินดีและมอบช่อดอกไม้ให้แก่น้องเทนนิส โดยหลังจากการกักตัวที่ภูเก็ตครบ ๑๔ วัน น้องเทนนิสเข้าพบผู้บัญชาการทหารอากาศเพื่อรายงานตัว และร่วมกิจกรรมแสดงความยินดีแบบนิวนอร์มอล ณ กองบัญชาการกองทัพอากาศ

 

อดีตดาราหนุ่มช่อง 7 ‘อะตอม สัมพันธภาพ’ ประสบอุบัติเหตุที่ลำปาง อาการบาดเจ็บสาหัส

ทำเอาช็อกไปตาม ๆ กัน เมื่ออดีตดาราหนุ่มช่อง 7 ‘อะตอม สัมพันธภาพ’ ประสบอุบัติเหตุที่ลำปาง รถกระบะชนต้นไม้ พลิกคว่ำพังยับ คาร่องกลางถนน เจ็บหนัก เจ้าหน้าที่เร่งปั๊มหัวใจ และหามส่ง รพ. อาการสาหัส

โดยเมื่อเวลา 16.45 น. วันที่ 26 ก.ค. 64 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เถิน รับแจ้งอุบัติเหตุรถชนต้นไม้ มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 ราย ทราบชื่อคือ ‘นายอะตอม สัมพันธภาพ’ อายุ 36 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัสติดอยู่ภายในรถ

เจ้าหน้าที่กู้ภัยนำเครื่องตัดถ่างเข้าช่วยเหลือ โดยใช้เวลากว่า 10 นาที จึงสามารถนำผู้ได้รับบาดเจ็บออกมาได้ พบผู้บาดเจ็บไม่รู้สึกตัว เจ้าหน้าที่จึงช่วยเหลือด้วยการทำ CPR และนำส่ง รพ.เถิน ก่อนจะถูกส่งตัวไปรักษาต่อ ที่ รพ.ลำปาง เนื่องจากอาการสาหัส

และจากการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่า ก่อนเกิดเหตุผู้ได้รับบาดเจ็บ ขับรถมาตามถนนสายดังกล่าว เมื่อถึงที่เกิดเหตุซึ่งมีฝนตกลงมา ทำให้รถเกิดเสียหลักและประสบอุบัติเหตุดังกล่าว ส่วนสาเหตุที่แท้จริงนั้น อยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ศรีสุวรรณ จี้ ป.ป.ช. สอบ จ.บุรีรัมย์ทั้งจังหวัด ปมฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ตำรวจ บอก อนุทิน ต้องอธิบายสังคม

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า กรณีเพจเฟซบุ๊ก สภ.บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์ โพสต์ข้อความระบุว่า มีข้าราชการตำรวจ 11 นาย ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กับทางสาธารณสุขอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ โดยมีเจ้าหน้าที่ รพ. ดำเนินการให้ จนมีประชาชนจำนวนมากในโชเชียลตั้งคำถามว่า ทำไมตำรวจถึงได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 3 พร้อมบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ทั้งๆที่คนไทยกว่า 50 ล้านคนยังไม่ได้ฉีกเลยสักเข็มเดียวนั้น

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวแม้ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์จะแก้เกี้ยวโดยการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาแล้ว แต่ทว่าจากการให้สัมภาษณ์ของผู้บังคับการตำรวจบุรีรัมย์กลับชี้แจงว่า เป็นการใช้วัคซีนเหลือก้นขวด และใช้ฉีดให้กับตำรวจด่านหน้าที่ไปรับผู้ป่วยกรุงเทพฯกลับบ้านตามโครงการทำดีด้วยหัวใจสู้ภัยโควิดด้วยศรัทธาเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมยังแคลงใจและฟังไม่ขึ้น

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างไม่ต้องสงสัย และเป็นการตอกย้ำข้อเท็จจริงที่ก่อนหน้านี้รายงานของทีดีอาร์ไอที่ระบุว่า “การกระจายวัคซีนบิดเบี้ยวไม่เป็นไปตามลำดับความสำคัญตามยุทธศาสตร์ ดังปรากฏว่า บางจังหวัดเช่นบุรีรัมย์มีการฉีดวัคซีนมากเป็นลำดับที่ 11 ของประเทศ ณ วันที่ 7 ก.ค. โดยมีการฉีดวัคซีนทั้งหมดประมาณ 3 แสนเข็มหรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากร แม้ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดสูง ไม่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลักและไม่อยู่ในกลุ่มจังหวัดที่มีความเร่งด่วนในการได้รับวัคซีนตามแผนการกระจายวัคซีนที่กรมควบคุมโรคได้ประกาศ” ซึ่งกรณีดังกล่าว รมว.สาธารณสุข และหน.พรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีฐานที่มั่นทางการเมืองอยู่ จ.บุรีรัมย์ต้องมีคำตอบให้กับสังคมในเรื่องนี้

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าว หากปล่อยให้การจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นไปโดยอำเภอใจของฝ่ายการเมืองและข้าราชการเส้นใหญ่บางจำพวกหรือพวกมือที่มองไม่เห็น การกระจายวัคซีนที่ควรจะเป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมให้กับคนทั้งประเทศก็คงจะบิดเบี้ยวต่อไป การป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ก็คงจะยากและมีผลสัมฤทธิ์น้อยเต็มที หากสังคมไม่ร่วมกันกระชากหน้ากากของผู้ที่สั่งการ และหรือผู้ที่ชอบเชลียร์เอาใจนายจนมองข้ามความจำเป็นเร่งด่วนที่คนไทยกว่า 50 ล้านคนยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เลยแม้สักเข็มเดียวได้

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ม.27 ประกอบ ม.47 โดยตรง อีกทั้งอาจเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฯ ตามกฎหมายของ ป.ป.ช.โดยชัดแจ้ง สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงส่งเรื่องไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้ไต่สวนและวินิจฉัยเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่สั่งการให้มีการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กับตำรวจในจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างของความไม่เป็นธรรมตามครรลองของกฎหมาย

ศปฉ. ปชป. ตัวกลางประสาน รพ.ต้นสังกัด- ชุมชนคลองเตย เร่งหารือกรณีรักษาส่งต่อผู้ป่วยโควิด และทำความเข้าใจร่วมกัน สร้างโมเดลชุมชนเข้มแข็ง ผนึกกำลังชุมชน-โรงพยาบาล

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าทีมประสานข้อมูลผู้ติดเชื้อเพื่อการส่งต่อ ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 พรรคประชาธิปัตย์ (ศปฉ.ปชป.) และนายปานชัย แก้วอัมพรดี ประธาน อพม. กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่คลองเตย เมื่อวานนี้ (26 ก.ค.) เพื่อเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างตัวแทนชาวชุมชนคลองเตย และโรงพยาบาลต้นสังกัดย่านกล้วยน้ำไท ที่ประชาชนส่วนใหญ่ถือสิทธิบัตรทองอยู่ เพื่อเร่งหารือและทำความเข้าใจร่วมกันถึงแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หลังผู้ป่วยเคสสีเหลือง-แดงในพื้นที่ประสบปัญหาเรื่องการตรวจ PCR และประสานเตียง

สืบเนื่องจากกรณีที่ก่อนหน้านี้มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อแบบ Rapid Test ในชุมชนคลองเตยเป็นผู้สูงอายุจำนวน 2 ราย ที่มีอาการเหนื่อยหอบ และต้องการเข้าไปรับการรักษาต่อในสถานพยาบาลอย่างเร่งด่วนซึ่งจำเป็นต้องใช้ผลการตรวจแบบ PCR เพื่อทำเรื่องประสานเตียง แต่ทางโรงพยาบาลต้นสังกัดยังไม่มีคิวให้ตรวจ และทางผู้ป่วยไม่สามารถกลับเข้าสู่ชุมชนได้ เนื่องจากอยู่รวมกันอย่างแออัด อาจเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย และนายปานชัย แก้วอัมพรดี จึงได้ลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นที่เรียบร้อย

ทั้งนี้นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ในฐานะผู้ที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนคลองเตยมาโดยตลอด ได้รับทราบถึงความเดือดร้อนดังกล่าว จึงได้เป็นตัวกลางในการจัดพื้นที่พูดคุยระหว่างประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลย่านกล้วยน้ำไทและตัวแทนชุมชนคลองเตย เพื่อรับทราบถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งข้อจำกัดของโรงพยาบาล เพื่อหาทางออกร่วมกัน ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการรุนแรงขึ้น ไม่สามารถกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ได้อีกต่อไป ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ขณะนี้โรงพยาบาลประสบปัญหาเตียงเต็ม หากผู้ป่วยอาการอยู่ในระดับสีเขียว ยังคงขอความร่วมมือให้กักตัวอยู่บ้าน แต่หากมีอาการอยู่ในระดับสีเหลือง - แดง ทางโรงพยาบาลจะทำการตรวจ PCR ให้ตามคิว เพื่อทำเรื่องส่งต่อผู้ป่วยให้เข้ารับการรักษาโดยจะพิจารณาตามความต้องการเร่งด่วน

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กล่าวว่า ความสำเร็จในการพูดคุยกันวันนี้ คือสามารถช่วยประสานงานให้ทางโรงพยาบาลมีตัวกลางที่ชาวชุมชนคลองเตยสามารถติดต่อสื่อสารได้ตลอดเวลา และช่วยปรับความเข้าใจระหว่างคนในพื้นที่ รวมถึงความคลายกังวลของประชาชนลงไปได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ปัญหาการขาดแคลนเตียงยังคงมีอยู่ ประชาชนต้องกักตัวที่บ้านเป็นหลัก จึงอยากเน้นย้ำให้รัฐบาลเร่งการนำเข้าและแจกจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ให้แก่ผู้ติดเชื้อระดับสีเขียวโดยเร็วก่อนที่จะแย่ลงและจำเป็นต้องใช้เตียงในภาวะที่ขาดแคลน

ด้านนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจตรงกัน ชุมชนเข้มแข็งจะสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิดในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ทั้งการประสานงานเรื่องเตียงได้เป็นระบบ แยกผู้ติดเชื้อออกจากครอบครัว และลดการแพร่เชื้อในชุมชนได้ ช่วยสร้างโมเดลความร่วมมือระหว่างชุมชนกับโรงพยาบาล และชุมชนก็พร้อมดูแลตัวเองรวมถึงรับเคสสีเหลืองที่รักษาหายจนกลายเป็นเขียวกลับไปรักษาตัวต่อในชุมชนจนหายดี ช่วยลดภาระโรงพยาบาลและภาระทางด้านสาธารณสุขของภาครัฐอีกด้วย

“องอาจ” เสนอเร่งเพิ่ม Community Isolation รองรับผู้ติดเชื้อที่ผ่านการตรวจ ATK แล้ว

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคและประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดตรวจหาเชื้อแบบ ATK (Rapid Antigen Test Kit) แล้วพบว่ามีผลเป็นบวกให้เข้าระบบกักตัวที่บ้าน หรือกักตัวที่ชุมชนเลย โดยไม่ต้องผ่านการตรวจแบบ RT-PCR ก่อน เหมือนที่ผ่านมาว่า เห็นด้วยกับวิธีการนี้ที่จะช่วยทำให้ผู้ติดเชื้อจากการตรวจ ATK เบื้องต้นมีที่แยกตัวไปอยู่เฉพาะในฐานะเป็นผู้ติดเชื้ออยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสจะนำเชื้อไปแพร่ระบาดที่อื่นต่อไปได้ถ้าไม่มีที่รองรับที่ชัดเจน

เพราะที่ผ่านมาผู้ผ่านการตรวจ ATK จะเข้าสู่การรักษาได้ต้องผ่านการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการตรวจและต้องรอผลตรวจ 1-2 วัน จึงทำให้ผู้ติดเชื้อจากการตรวจ ATK ไม่มีที่รองรับระหว่างที่รอ ต้องกลับบ้านไปใช้ชีวิตปกติ ถ้าเป็นคนยากคนจนที่ต้องหาเช้ากินค่ำก็ต้องออกไปทำงานหารายได้ ทำให้มีโอกาสออกไปแพร่เชื้อเพิ่มมากขึ้น

ที่ผ่านมาพวกเราอดีต ส.ส. อดีต สก. สข. ตัวแทนพรรคที่ทำงานดูแลชาวบ้านในพื้นที่พบเห็นปัญหานี้มาโดยตลอด และพยายามแจ้งให้ผู้รับผิดชอบรีบแก้ไข วันนี้จึงเห็นด้วยที่ ศบค. แก้ไขให้ผู้ป่วยที่ตรวจหาเชื้อแบบ ATK หากผลเป็นบวกให้ติดต่อโรงพยาบาลที่ทำการตรวจเพื่อนำเข้าสู่ระบบ Home Isolation หรือการกักตัวที่บ้าน และ Community Isolation หรือการแยกกักตัวที่ชุมชน

แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก็คือผู้ติดเชื้อที่อยู่ในชุมชนแออัดซึ่งมักอยู่แออัดกันหลายคนในห้องเล็กๆ ทำให้ใช้ระบบกักตัวที่บ้านไม่ได้แน่นอน คนกลุ่มนี้จึงควรนำเข้าระบบ Community Isolation หรือการแยกกักตัวที่ชุมชน โดยมีข้อเสนอให้ ศบค. พิจารณาดังนี้

1. เร่งเพิ่มจำนวนสถานที่แยกกักตัวที่ชุมชนให้เพียงพอ เพราะมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่ผ่านการตรวจหาเชื้อแบบ ATK จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
2. สถานที่แยกกักตัวที่ชุมชนต้องมีความพร้อมที่จะดูแลผู้ติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ
3. สถานที่แยกกักตัวที่ชุมชนบางแห่งอาจมีผู้ติดเชื้อที่รอผลตรวจ RT-CPR อยู่ก่อนแล้ว เมื่อมีผู้ติดเชื้อเข้ามาใหม่ อาจต้องมีการจัดการไม่ให้ปะปนกัน เพราะคนกลุ่มนี้ทั้งหมดเมื่อตรวจ RT-PCR อย่างละเอียดแล้วอาจมีผลเป็นผู้ไม่ติดเชื้อก็ได้

เชื่อมั่นว่าข้อเสนอจากการพบเห็นปัญหาจากการปฏิบัติจริงในพื้นที่เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของทางราชการและผู้เกี่ยวข้องเพื่อช่วยให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ชะลอตัวลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อันจะทำให้สถานการณ์วิกฤตโควิดคลี่คลายได้ในที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top